H12002
ยุวพุทธกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้อาราธนาพระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคลรับโล่เกียรติคุณ ในฐานะผู้เผยแผ่วิปัสสนาดีเด่น จากสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ผู้แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในงานฉลองอายุครบ ๔๘ ปี แห่งการก่อตั้งยุวพุทธิกสมาคมฯ เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๑
คำประกาศเกียรติคุณ
พระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม)
พระเถระผู้เปี่ยมด้วยเมตตาอนุเคราะห์สาธุชนทั้งกลางวันกลางคืน
พระราชสุทธิญาณมงคล
(จรัญ ฐิตธมฺโม) เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ณ
ตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี อุปสมบทเมื่อ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ณ
วัดพรหมบุรี อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี โดยมีท่านเจ้าคุณพรหมนคราจารย์
วัดแจ้งพรหมนคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูถาวรวิริยคุณ วัดพุทธาราม เป็นพระกรรมวาจารย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว
พระภิกษุจรัญได้ศึกษาพระธรรมวินัย ณ สำนักวัดพรหมบุรี และสอบได้นักธรรมโท
หลังจากบวชได้เพียงพรรษาเดียว ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ศึกษาวิชากรรมฐานกับ พระครูนิวาสธรรมขันธ์
(หลวงพ่อเดิม) ณ วัดหนองโพธิ์ จังหวัดนครสวรรค์ ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ศึกษาวิชากรรมฐานกับ หลวงพ่อลี
และท่านเจ้าคุณอริยคุณาธร จังหวัดขอนแก่น ศึกษาวิชาสมถวิปัสสนากับพระภาวนาโกศลเถร
(สด จันทสโร) ณ วัดปากน้ำ อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖
ปีต่อมาได้ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับ พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ)
ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ จังหวัดพระนคร
นอกจากนี้ท่านยังได้เรียนวิปัสสนากรรมฐานกับพระในป่าที่จังหวัดขอนแก่น
และเดินธุดงค์รอนแรมหาที่สงบ เพื่อบำเพ็ญภาวนาตามป่าเขาลำเนาไพรทางภาคเหนือ
ท่านเป็นผู้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติทั้งด้านสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน
เพราะได้ใช้เวลาศึกษามานับสิบปีจนเชี่ยวชาญ สามารถสอนผู้อื่นได้
ท่านเริ่มสอนวิปัสสนากรรมฐานให้กับญาติโยมและศิษยานุศิษย์ที่วัดอัมพวัน
อำเภอพรหมบุรี จ.สิงห์บุรี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐
อันเป็นปีที่ท่านมารักษาการเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดแห่งนี้ ท่านได้พัฒนาวัดอัมพวันให้เจริญรุ่งเรือง
โดยการสร้างศาลาปฏิบัติธรรมขึ้นสองหลัง คือ ศาลาภาวนา-กรศรีทิพา
และศาลาสุธรรมภาวนา กุฏิที่พักสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรม มีห้องน้ำสะอาดสะอ้านจำนวน
กว่าสามร้อยห้อง ปีหนึ่ง ๆ มีผู้เข้าปฏิบัติทั้งที่เป็นพระภิกษุ สามเณร แม่ชี
และคฤหัสถ์ ที่เป็นคฤหัสถ์ก็มี ทั้งข้าราชการ ประชาชน นิสิต นักศึกษา นักเรียน
ซึ่งใน ปีหนึ่ง ๆ มีจำนวนนับหมื่นคน และทางวัดต้องใช้จ่ายเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ
และค่าอาหาร เดือนหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนหลายแสนบาท
ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่
พระราชสุทธิญาณมงคล เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖ ก่อนหน้านี้ก็ได้รับพระราชทานรางวัลและโล่เกียรติคุณเป็นอันมาก สถาบันต่าง ๆ เช่น
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ก็ได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เพราะเหตุแห่งคุณความดีของท่าน ท่านได้อุทิศชีวิตให้กับพระศาสนาและสังคมมาโดยตลอด
เมื่อมีญาติโยมมาถวายปัจจัยท่านก็นำไปบริจาคให้โรงพยาบาล โรงเรียน
และสถาบันการศึกษา และถวายเข้ากองทุนมูลนิธิ ชัยพัฒนา
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชสุทธิญาณมงคล
ท่านมีเมตตาต่อผู้คนทุกถ้วนหน้า แม้กับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
ท่านก็สงเคราะห์ช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้
ท่านตั้งปณิธานมุ่งมั่นในการสร้างคนแทนการสร้างวัตถุ จึงทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ
กำลังสติปัญญา ให้กับงานวิปัสสนากรรมฐานอันเป็นงานสร้างคน
ชีวิตของท่านมีแต่ให้กับช่วย ดังที่ท่านมักพูดเสมอว่า เรามีแต่ให้กับช่วย
ไม่เคยอยากได้ของใคร
เมื่อท่านได้รับนิมนต์ไปดูงานยังต่างประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกา
ท่านก็ได้ให้การสงเคราะห์ช่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ
เชื้อชาติ หรือศาสนา ศิษยานุศิษย์ของท่านจึงมีทั้งที่นับถือศาสนาพุทธ คริสต์
และอิสลาม เมื่อท่านกลับมายังประเทศไทยแล้วก็ยังมีชาวต่างประเทศบินตามมาเรียนธรรมะกับท่าน
และที่โทรศัพท์มาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสนทนาธรรม
ถามปัญหาและขอความช่วยเหลือทั้งกลางวันและกลางคืน
ท่านก็เมตตาช่วยเหลือแม้ท่านเองแทบไม่มีเวลาได้พักผ่อนก็ตาม
ด้วยเหตุที่ท่านเป็นผู้ที่เมตตาอย่างล้นเหลือเช่นนี้ จึงเป็นที่เคารพสักการะของมวลศิษย์ทุกถ้วนหน้า
ในวันสำคัญ ๆ เช่น วันคล้ายวันเกิดของท่าน (วันที่ ๑๕ สิงหาคม)
วันกตัญญูต่อบรรพบุรุษ (วันที่ ๑๕ เมษายน)
และวันที่ท่านประสบอุบัติเหตุรถคว่ำคอหัก (วันที่ ๑๔ ตุลาคม)
ที่วัดอัมพวันจะมีการบำเพ็ญกุศล มีศิษยานุศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือท่านมาร่วมงานเป็นจำนวนหมื่น
เพราะระลึกถึงคุณความดีของท่านที่มีเมตตาต่อมวลมนุษย์ทั้งโลก
ท่านทุ่มเทให้กับการเผยแผ่วิปัสสนามากว่า
๔๐ ปี โดยทำงานอย่างหนักทั้งกลางวันกลางคืน
เป็นที่พึ่งของสาธุชนจำนวนนับแสนคนที่ได้หมุนเวียนเข้าปฏิบัติวิปัสสนาที่วัดอัมพวัน
สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูในฐานะ ผู้เผยแผ่วิปัสสนาดีเด่น