พระพุทธนิมิต
ประวัติการสร้างพระพุทธนิมิต
H12003
กระผมเขียนเรื่องนี้
เพราะได้ทราบเรื่องราวที่กล่าวขานในเรื่องหลวงพ่อพระพุทธนิมิตมามาก รวมทั้งตัวกระผมเองก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมในพิธีเททองในครั้งนั้น
ได้ประสบพบเห็นสิ่งอัศจรรย์ใจเหล่านั้นมาด้วยตนเอง กระผมจึงหาข้อมูลต่าง ๆ
โดยสอบถามจากบุคคลที่เข้าร่วมในพิธีในครั้งนั้น
ซึ่งทุกคนที่ผมเข้าไปสัมภาษณ์ก็ยังคงจดจำเหตุการณ์ในวันนั้นได้เป็นอย่างดี
ความคิดที่จะสร้างพระพุทธนิมิต
มาจากการที่ทางศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน ได้ก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมหลังใหญ่ขึ้น
แต่ก็ไม่เคยนึกว่า จะต้องสร้างพระประธานแต่อย่างใด
สาเหตุแท้จริงนั้นเริ่มมาจากการปิดทองหลวงพ่อพระพุทธชินราช
เมื่อครั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวันเริ่มก่อสร้างใหม่ ๆ
ในสมัยนั้นยังคงมีสภาพเป็นป่าอยู่ ไฟฟ้าและสิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่มี
ทางศูนย์ได้อัญเชิญ พระพุทธชินราช จากวัดอัมพวัน มาประดิษฐานไว้ ณ
ศาลาเอนกประสงค์พุทธชินราช ในสมัยนั้นมีพระภิกษุจากวัดอัมพวันจำนวน ๒ รูป
มาเป็นผู้ดูแลศูนย์ คือ พระวรพจน์ กาญจโน และพระสิงห์ไชย นิมฺมโท ท่านได้เล่าไว้ว่า
ในคืนหนึ่งเวลาประมาณเที่ยงคืนเศษ ขณะที่ท่านกำลังพักผ่อนกันอยู่คนละห้อง
ได้มีเสียงสวดมนต์ดังขึ้นข้างนอก
ท่านทั้งสองก็นึกว่าคงจะเป็นอีกท่านหนึ่งกำลังสวดมนต์อยู่
แต่ต่างก็นึกเอะใจว่าทำไมถึงมาสวดมนต์ตอนนี้ และเสียงสวดมนต์ทำไมเป็นเช่นนี้
ท่านทั้งสองต่างก็เปิดประตูออกมาดู ก็เห็นว่าไม่ได้สวดมนต์ด้วยกันทั้งคู่
ก็นึกประหลาดใจและหาคำตอบไม่ได้ จากนั้นจึงเป็นที่เล่าขานกันว่า
พระประธานสวดมนต์ได้
เรื่องนี้ทราบไปถึงวัดอัมพวัน
จนมีพระนวกะรูปหนึ่งได้เดินทางมาและขอเป็นเจ้าภาพปิดทองพระพุทธชินราช
แต่ทุนทรัพย์ท่านไม่เพียงพอ
จึงบริจาคไว้ส่วนหนึ่งและตั้งเป็นกองทุนปิดทองพระประธานขึ้น
ภายหลังได้มีผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสบทบจนเห็นว่าเพียงพอแล้ว พระจิรยุทธิ์
อธิฉนฺโท จึงได้ดำเนินการหาช่างมาปิดทองและได้โรงหล่อปฏิมาประทีป
จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นผู้ดำเนินการ การปิดทองต้องปิดถึงสามครั้งจึงเสร็จ
เพราะพอปิดไปใกล้เสร็จในแต่ละครั้ง ทองที่ปิดเกิดเพี้ยนต้องเริ่มปิดใหม่อีก
พอครั้งที่สองก็เพี้ยนอีก พอมาครั้งที่สาม ช่างต้องทำพิธีคล้าย ๆ
กับเป็นการบวงสรวงย่อม ๆ ขึ้น เพื่อขออนุญาตท่านจึงปิดทองสำเร็จด้วยดี
เจ้าของโรงหล่อคือ คุณมยุรี ป้อมแก้ว จึงเกิดศรัทธา
ได้ขอปิดทองพระประธานในศาลาปฏิบัติธรรมหลังเล็กให้ด้วย
ค่าปิดทองทั้งสององค์รวมเป็นเงินประมาณ ๙๐,๐๐๐ บาท
และหลังจากนั้นมาประมาณหนึ่งปี คุณมยุรี ป้อมแก้ว ก็ได้ทราบข่าวจากพระจิรยุทธิ์ว่า
ทางศูนย์ฯ ลังจะก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมหลังใหญ่ จึงขอเป็นเจ้าภาพถวายพระประธาน
แต่ท่าน พระครูสมุห์ธีรวัฒน์ ท่านมีความต้องการที่จะหล่อพระในแบบที่แตกต่างออกไป
ไม่เหมือนที่สร้างออกจากโรงหล่อทั่วไป เพื่อที่จะให้เป็นสัญลักษณ์
และดูมีความสวยงาม มีคุณค่า เป็นเอกลักษณ์ประจำศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวันต่อไป
ในที่สุด
ท่านก็ไปถูกใจ พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ ที่วัดหน้าพระเมรุ
จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านได้นำกล้องเข้าไปถ่ายรูป
และขออนุญาตท่านเจ้าอาวาสวัดหน้าพระเมรุเพื่อขอสร้างองค์จำลองขึ้น ก็ได้รับอนุญาต
พร้อมทั้งแนะนำว่า ถ้าจะถ่ายรูปหลวงพ่อพระพุทธนิมิต ต้องจุดธูปขออนุญาตท่านก่อน
เพราะท่านเจ้าอาวาสเพิ่งพบเหตุการณ์อัศจรรย์ขึ้นกับตนเอง คือ
เมื่อท่านขึ้นไปถ่ายรูปเพื่อประกอบเรื่องของบประมาณมาบูรณะวัดส่งไปกรมศิลปากร
แต่ได้ได้ขออนุญาตก่อน ท่านเจ้าอาวาสได้เป็นผู้ถ่ายรูปเอง พอกดชัตเตอร์ปุ๊บ
ได้ยินเสียงกล้องลั่นดัง เปรี๊ยะ
ชัตเตอร์ค้างกดไม่ลง ถ่ายต่อไม่ได้
เมื่อท่านพระครูท่านได้พบกับเหตุการณ์เช่นนี้
จึงได้จุดธูปอธิษฐานจิตขออนุญาต ก็ได้ภาพหลวงพ่อพระพุทธนิมิตสมความประสงค์
จากนั้นท่านนำรูปที่ถ่ายไว้ไปเรียนปรึกษาหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคลที่วัดอัมพวัน
หลวงพ่อพิจารณาแล้วก็บอกกับท่านพระครูสมุห์ว่า ให้สร้างได้เลย
องค์นี้พระอู่ทอง อู่ข้าว อู่น้ำ สร้างเลย ศูนย์เวฬุวันจะได้เจริญ อู่ทอง
นี่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ไม่อด ไม่ใช่อยุธยา
องค์นี้ปางพระยาชมพูบดีปางพระมหาจักรพรรดิ์ องค์นี้กษัตริย์สร้าง ไม่ใช่คนธรรมดาสร้าง
คนธรรมดาสร้างไม่ได้
ต่อมาเมื่อท่านได้ไปปรึกษากับทางเจ้าภาพ
ก็ได้ประเมินราคาการสร้างพระตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุดพิธีเททองไว้ประมาณ
๗๐๐,๐๐๐ บาท ท่านพระครูสมุห์เห็นว่าเป็นราคาที่สูงเกินไป
ท่านจึงระงับความคิดที่จะสร้างพระไว้ก่อน
ภายหลังเมื่อท่านพระครูสมุห์ธีรวัฒน์
ได้พบกับอาจารย์ อิทธิพร ธงอินทร์เนตร และได้เล่ารายละเอียดต่าง ๆ ให้ฟัง
อาจารย์อิทธิพรจึงได้กลับไปศึกษาหาข้อมูลต่าง ๆ และกลับมาพูดกับท่านพระครูสมุห์ว่า
อาจารย์เชื่อใจผมไหม ผมจะทำให้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะออกมาดีไหม
เพราะผมไม่เคยปั้น ไม่เคยทำ แต่เป็นเพราะว่าผมชอบหลวงพ่อวัดหน้าพระเมรุนี้มาก
ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ อาจารย์พาผมไปวาดรูปองค์ท่าน ผมประทับใจท่านตั้งแต่นั้นมา
ถ้าท่านพระครูจะสร้าง ผมจะทำให้ งบประมาณการสร้างพระ รวมทั้งฐานชุกชี
และการตกแต่งผนังด้านหลังพระประธานจะไม่ให้เกิด ๒๕๐,๐๐๐ บาท
ท่านพระครูสมุห์ก็อนุญาตด้วยความยินดี
จากนั้น พระสุปรีชา
ปริชาโน และพระจิรยุทธิ์ อธิฉนฺโท ได้ไปหาชนวนในการสร้างพระมาให้
เป็นแผ่นทอง แผ่นเงิน แผ่นนาก ที่ได้รับการจาร ลงอักขระ จากพระเถระผู้ใหญ่
และพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศ เช่นสมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชฯ วัดบวรนิเวศ, สมเด็จพระพุฒาจารย์วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร,
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ, พระธรรมญาณมุนี
วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา, พระธรรมมุนี วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี, พระธรรมมหาวีธรานุวัฒน์
วัดป่าเลไลย์ จ.สุพรรณบุรี, พระเทพสุธาธิโมลี วัดเสนาสนาราม
จ.พระนครศรีอยุธยา, พระราชสุทธิญาณมงคล วัดอัมพวัน
สิงห์บุรี. หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา, หลวงปู่โง่น
วัดพระพุทธบาทเขารวก จ.พิจิตร. หลวงปู่ฟัก วัดเขาวงพระจันทร์ จ.ลพบุรี
และพระเกจิเถรานุเถระผู้ใหญ่อีก รวมทั้งสิ้น ๗๙ รูป
ภายหลังเมื่อการปั้นองค์พระผ่านไปด้วยดีแล้ว
ท่านพระครูสมุห์ก็เตรียมการพิธีเททองหล่อพระ ท่านได้นิมนต์พระสมุห์ ถนอม พทฺธฌาโน
สำนักสงฆ์พระธาตุเขาเจ้า จ.ชลบุรี มาเป็นเจ้าพิธี ก่อนหน้าวันพิธีเททอง
ท่านพระสมุห์ถนอมได้จัดเตรียมพิธีบวงสรวง เป็นพิธีการบวงสรวงใหญ่
(พิธีบวงสรวงจตุรทิศ) คือ ตั้งศาลเพียงตา ๔ ทิศ ตั้งที่บวงสรวง ๕ ที่ ตั้งฉัตร ๙
ชั้น ที่บวงสรวงทั้ง ๔ ทิศ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทวดา เทพาอารักษ์ พระภูมิเจ้าที่
และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ส่วนอีก ๑ ที่ ๆ อยู่ตรงกลาง
จัดขึ้นเพื่อบวงสรวงฤกษ์งามยามดี นับเป็นพิธีใหญ่
ซึ่งน้อยครั้งนักที่จะมีการจัดพิธีใหญ่ในลักษณะนี้
เมื่อบวงสรวงเสร็จ
ในช่วงกลางคืนตั้งแต่สองทุ่มถึงประมาณตีหนึ่ง
ท่านก็พาคณะสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์บทสำคัญ ๆ ต่าง ๆ เช่น พระธัมมจักกัปปวัตนสูตร
ยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก พาหุงมหากาฯ ชัยมงคลคาถา ชินบัญชร บารมีสิบทัศ มหาเมตตาใหญ่
และบทสำคัญ ๆ อีกหลายบท
พอเช้าวันรุ่งขึ้น
พิธีเททองหล่อหลวงพ่อพระพุทธนิมิตและหลวงปู่โต พรหมรังสี ก้ได้เริ่มขึ้น
พิธีนี้เป็นพิธีใหญ่จัดแบบโบราณ มีการเชิญพราหมณ์เป็นเจ้าพิธี
และมีการย่ำฆ้องระฆัง วันนั้นเป็นวันสำคัญมาก เพราะเป็นวัดทอดกฐินประจำปี พ.ศ.
๒๕๓๙ ด้วย ช่วงเช้าเมื่อหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคลเข้าสู่บริเวณปะรำพิธี
พระภิกษุสงฆ์จากวัดอัมพวัน ๙ รูป ได้เริ่มเจริญพระพุทธมนต์บทธัมมจักกัปปวัตนสูตร
และพระสงฆ์อีก ๔ รูป มีพระครูสมุห์ถนอม พระบรรหาร ปภาธโร และเจ้าคณะตำบลจาก
จ.ขอนแก่น อีก ๒ รูป ขึ้นนั่งบนปะรำพิธีทั้งสี่ทิศ ซึ่งในช่วงนี้
ผู้เข้าไปร่วมพิธีในวันนั้นหลายคนได้สังเกตพบเห็นสิ่งอัศจรรย์และรู้สึกเหมือนกันว่า
สภาพบรรยากาศรอบข้างได้เปลี่ยนไป จากสภาพที่ท้องฟ้าโปร่งมีแดดจัด อากาศร้อนมาก
แต่เมื่อเริ่มพิธี ทุกคนก็รู้สึกร่มรื่นเย็นสบายขึ้น จากนั้นเมื่อหลวงพ่อจรัญ
ลุกขึ้นจากที่นั่งเพื่อตรงเข้าไปจับชนวนเททอง จะมีลมพายุพัดแรง
และลักษณะของลมที่พัดก็จะพัดหวนหมุนวนเป็นเกลียวขึ้นไปบนอากาศ
เมื่อสังเกตขึ้นไปบนท้องฟ้าจะเหมือนมีกลุ่มหมอกควัน ช่วยบดบังแสงแดดให้อ่อนแสงลง
ยิ่งถ้าช่วงนี้หากใครสังเกตเงาของตัวเองบนพื้นแล้ว จะไม่เห็นเงาของตัวเองเลย
เมื่อสังเกตดูเทียนชัยที่จุดทั้งสี่สิศ ก็จะถูกลมพัดจนลู่เอนขนานไปกับพื้นดิน
แต่ก็ไม่มีเล่มไหนดับ และเมื่อเททองลงไปแล้ว ทองที่เตรียมไว้ ๕ เบ้า ก็ปรากฏว่า
เทไปเพียงเบ้าครึ่งก็เต็มองค์พระ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้เกิดในช่วงเวลาที่ทำพิธีเททองในวันนั้น
ปัจจุบันหลวงพ่อพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ
(จำลอง) องค์นี้ได้ตั้งประดิษฐานอยู่ ณ ศาลาสุทธิญาณมงคล
ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน จ.ขอนแก่น
เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามตามลักษณะของพระพุทธรูปปางมหาจักรพรรดิ์ ทรงสวมมงกุฎ
และทรงเครื่องราชาภรณ์ คล้ายพระแก้วมรกตทรงเครื่องฤดูร้อน อยู่ในลักษณะปางมารวิชัย
คือ องค์พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก)
พระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงที่พระชานุ (เข่า) นิ้วชี้พระธรณี ได้รับการตกแต่งฐานชุกชี
และแผ่นผนังด้านหลังองค์พระเป็นงานศิลปะแบบอีสาน มีความสวยงามกลมกลืน
นับเป็นเอกลักษณ์
และศูนย์รวมจิตศรัทธาของศิษยานุศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล ณ
ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน ได้เป็นอย่างดี
กระผมและครอบครัวมีความตั้งใจที่จะหาที่ปฏิบัติ
ก็พยายามศึกษาและหาสถานที่ ๆ จะปฏิบัติไปเรื่อย ๆ จนอยู่มาวันหนึ่ง
กระผมได้มีโอกาสขับรถเข้าไปที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน
และเข้าไปสนทนาธรรมกับท่านพระอาจารย์ธีรวัฒน์ ฐานุตฺตโร ด้วยความที่ท่านเป็นพระหนุ่มแต่มีความสำรวม
และสามารถตอบปัญหาเกี่ยวกับข้อธรรมต่าง ๆ ได้กระจ่าง กระผมจึงมีความรู้สึกประทับใจ
หลังจากนั้นกระผมก็ได้เข้าไปที่ศูนย์เป็นประจำ
กระผมและท่านอาจารย์ก็มีความสนิทสนมกันขึ้นเรื่อย
ๆ กระผมจึงเริ่มที่จะอาสาช่วยงานต่าง ๆ ของศูนย์
เริ่มด้วยการเขียนรูปไว้ที่หลังพระประธาน ณ ศาลาปฏิบัติธรรมหลังเล็ก
ไว้เมื่อประมาณ ๖ ปีที่แล้ว จากนั้นก็ไปเขียนที่ศาลาพระพุทธชินราช
วันหนึ่ง
ท่านพระอาจารย์ก็เข้ามาบอกกระผมว่า กำลังจะสร้างศาลาหลังใหญ่ขึ้นหลังหนึ่ง
และอยากให้มีพระประธาน ซึ่งท่านเองก็ได้กำหนดแบบไว้แล้ว
เพราะท่านได้ไปดูมาจากวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อกระผมทราบอย่างนั้นก็เกิดชอบใจ
เพราะผมประทับใจพระองค์นี้มาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่ศิลปากร
ได้มีโอกาสไปเที่ยวตระเวนเขียนรูปกับอาจารย์
ไปเห็นพระองค์นี้เข้าก็เกิดความประทับใจมาตั้งแต่นั้น
พอทราบจากพระอาจารย์ว่าจะจำลองพระองค์นี้ มาเป็นพระประธานประจำศูนย์ฯ
ได้ไปติดต่อขออนุญาตสร้าง และได้ไปหาช่างที่จะทำแล้ว
แต่ติดอยู่ที่ว่าต้องใช้ทุนทรัพย์สูงมาก
ผมก็เรียนท่านอาจารย์ว่า
พระองค์นี้ผมชอบมาก แต่ผมไม่ทราบว่าจะทำได้หรือเปล่า แต่อยากทำ
ท่านจึงให้ผมลองไปศึกษาข้อมูลต่าง ๆ มา ผมจึงไปปรึกษาเพื่อน ๆ ที่ชำนาญในด้านนี้
เพราะผมจะชำนาญด้านงานเขียน แต่ก็พอมีพื้นฐานทางงานปั้นมาบ้าง
หลังจากได้ปรึกษาพูดคุยในเรื่องต่าง ๆ แล้ว
ก็ติดตรงที่ว่าราคาการสร้างพระองค์นี้ยังคงสูงอยู่
บังเอิญทราบข่าวว่า
มีพ่อของลูกศิษย์ผม เป็นช่างที่ชำนาญเรื่องนี้ ชื่อช่างชาลี
เคยทำงานอยู่โรงหล่อที่กรมศิลปากร ตอนนี้อาศัยอยู่ที่ขอนแก่น
ผมจึงไปสนทนาถึงรายละเอียดการสร้างพระกับช่างชาลี และขอให้ช่วยกันทำ
ซึ่งช่างชาลีก็รับปาก จากนั้นเราคุยกันถึงขั้นตอนวิธีสร้างต่าง ๆ
รวมถึงระยะเวลาในการสร้าง พร้อมจำนวนเงินที่ต้องใช้จนกว่าจะเสร็จงาน
ก็เห็นว่าผมสามารถทำได้ จึงไปเรียนพระอาจารย์ว่า ผมยินดีทำงานนี้
แม้จะเป็นงานปั้นงานแรกที่ถือว่าเป็นงานใหญ่ของผม
เมื่อเริ่มงานปั้นพระ
ผมก็ตั้งต้นถือศีลห้าเป็นอย่างน้อย มีโอกาสก็จะถือศีลแปด และปฏิบัติธรรม
แม้แต่ลูกศิษย์และคนที่มาช่วยก็ร่วมถือศีลกันทุกคน เพราะการปั้นพระที่มีคุณค่าและความงามระดับนี้
ผมคิดว่า คนที่จะทำต้องมีจิตใจที่ดีงาม
ในช่วงสามเดือนแรกร่วมกันสร้างจนเป็นรูปเป็นร่าง
แต่พอเปิดเทอมงานก็หยุดชะงักไปบ้าง แต่ก็ทำกันเป็นช่วง ๆ เรื่อยไป
จนพักหลังนี้ต้องหยุดไปเพราะหน้าที่การงานของกระผม
และสุขภาพของนายช่างชาลีที่ไม่ค่อยจะดีนัก จนกระทั่งเหลือเวลาอีกประมาณ ๓ ๔
เดือน จะถึงพิธีเททอง ลุงชาลีเกิดต้องย้ายบ้านไปโดยไม่บอกผม
ผมไปหาที่บ้านเห็นเหลือแต่ตอ เป็นที่ว่าง ๆ โล่ง ๆ ไป
ถามคนแถวนั้นก็บอกว่าย้ายไปจากจังหวัดขอนแก่นแล้ว ผมก็คิดว่าแย่ละซิ
เหลือตัวคนเดียวแล้วทีนี้ ก็พยายามตามหานายช่างชาลีจนพบ ก็ตามกลับมาช่วย
แต่ลุงชาลีกลับงอ ๆ แง ๆ บ่นป่วยกระปอดกระแปดอยู่ตลอด
พอใกล้วันหล่อผมก็ถามลุงจะหล่อให้ผมได้ไหมนี่ ลุงก็อ้ำ ๆ อึ้ง ๆ
ผมคิดในใจว่าเอาละซิ ถ้าจะไม่ได้การแล้ว ผมจึงต้องรีบไป จ.พิษณุโลก
ไปที่โรงหล่อจ่าทวี ไปถามว่าจะไปทำให้ได้ไหม ทางนั้นก็ตอบว่าทำได้
แต่พอเอาเข้าจริง ๆ ก็มีปัญหามาหล่อไม่ได้อีก ผมก็ต้องรีบติดต่อเพื่อนเป็นการด่วน
ว่าโรงหล่อที่ไหนจะทำได้บ้าง แต่พอรู้ว่าต้องไปหล่อข้างนอก
อีกทั้งทางโรงหล่อเองไม่ได้เป็นคนปั้นเองด้วย ก็เลยไม่มีโรงหล่อที่ไหนรับปาก
ถ้าหล่อออกมาเสีย ก็จะเสียชื่อโรงหล่อเองด้วย
จนในที่สุดผมก็ไปพบกับช่างตุ้ม
ซึ่งเป็นช่างที่รับผิดชอบในการหล่อ หลวงปู่โต พรหมรังสี
ซึ่งจะร่วมทำพิธีเททองหล่อพร้อมกับพระพุทธนิมิตในวันนั้นด้วย
ผมก็เลยไปติดต่อช่างตุ้ม ในครั้งแรกก็ปฏิเสธ ผมพยายามเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง
แต่ช้างตุ้มก็ไม่ยอม เพราะเกรงว่าจะหล่อออกมาเสีย ผมก็บอกว่าออกมาเสียก็ไม่เป็นไร
ขอให้หล่อเถอะ ในที่สุดด้วยความที่ช่างตุ้มเคารพหลวงพ่อจรัญ
จึงยอมรับปากทำงานนี้
พอถึงวันเคลื่อนพระออกจากที่บ้านของผมไปยังศูนย์เวฬุวัน
ผมได้ติดต่อรถเครนที่จะยกพระไว้ก่อนแล้ว เมื่อรถไม่มา อาจารย์ปิยะศักดิ์
ก็รีบไปตามหารถ ก็ไปพบรถเครนคันหนึ่งจอดอยู่ข้างทาง คนขับกำลังโทรศัพท์อยู่
จึงเข้าไปติดต่อขอให้มาช่วยยกพระไปศูนย์ฯ
คนขับจึงขอถามทางไปทางอาเฮียร้านน้ำพองค้าไม้ ที่เป็นเจ้าของรถก่อน
เมื่อโทรหาอาเฮียแกก็รีบตอบทันทีว่า รับเลย
ช่วยเขาไป และไม่ต้องไปเองเงินเขาด้วย เรื่องทำบุญนี่ต้องช่วยไว้ก่อน
เมื่อยกพระขึ้นรถแล้ว
ก็เคลื่อนรถไปสู่ศูนย์เวฬุวัน น่าแปลกตลอดทางมีฝนตกให้ความชุ่มฉ่ำอยู่ตลอดทาง
แต่พอไปถึงศูนย์ฯ ฝนก็หยุด ทำให้คนที่ร่วมไปในครั้งนั้นต่างคนต่างงง
ไม่รู้ว่าฝนมาได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเค้าฝนมาก่อน
เมื่อมาถึงศูนย์ฯ
ช่างตุ้มก็มาตรวจดูด้วยท่าทางที่ไม่ค่อยสบายใจนัก
จากนั้นช่างตุ้มก็เอาไฟมารุมสุมขี้ผึ้งให้ละลายออกไป แกอังอยู่นาน
แต่ปรากฏว่าขี้ผึ้งก็ไหลออกมานิดเดียว แกก็ใจไม่ดี
ต่างจากพระหลวงพ่อโตที่แกทำมาเอง ขี้ผึ้งไหลออกมาก
ช่างตุ้มก็ยิ่งไม่สบายใจขึ้นไปอีก แต่แกก็ไม่พูดอะไรให้ผมไม่สบายใจ
พอถึงวันเททอง
หลวงพ่อจรัญก็มา ลูกศิษย์ของท่านก็ตามมาและนำทองมาช่วยกันหล่อเป็นจำนวนมาก
พอเริ่มพิธีก็เริ่มเททองลงที่พระพุทธนิมิตก่อน ทองที่เตรียมอยู่ ๕ เบ้า
ปรากฏว่าเทไปได้เพียงเบ้าครึ่ง ทองก็ขึ้นมาเสมอเต็มองค์พระ ช่างก็เริ่มหันมองหน้ากัน
ผมก็รู้ถึงความผิดปกตินี้ ก็เกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก
จากนั้นช่างก็ไปเทหลวงปู่โตต่อ ก็ปรากฏว่าปกติดี
ในช่วงที่เททองมีเรื่องอัศจรรย์ใจสำหรับผมมากเรื่องหนึ่ง
คือในวันนั้นอากาศร้อนมาก แต่พอเริ่มต้นพิธี พนักงานเริ่มตีฆ้องดังโหม่งปั๊บ
ก็เกิดมาเมฆหมอกไม่ทราบมาจากไหน ทำให้บรรยากาศเย็นวูบขึ้นมาทันที
คุณเนาที่อยู่ใกล้ผมก็สะกิดถามผมว่า อาจารย์ครับ
เมฆมาจากไหน ผมก็ขนลุกซู่ เพราะไม่ใช่ว่าจะไม่มีแดด
แต่บริเวณพิธีกลับร่มเย็นดี ใจผมก็รู้สึกเย็นใจ สบายใจขึ้น
จากนั้นเมื่อเสร็จพิธี
ผมก็ขึ้นไปนั่งพักบนศาลา คุณตุ้มก็มากระซิบบอกผมว่า อาจารย์ผมว่าเศียรขาดนะ
ผมได้ยินก็ตกใจวูบ แสดงว่าทองที่เทคงลงไปไม่ถึงเศียร ช่างตุ้มก็ชวนผมลงไปเคาะดู
เมื่อสกัดดูพระโมลี ก็ปรากฏว่าทองมาถึง ช่างตุ้มก็บอกผมว่า สบายใจได้ครับ
แต่คงต้องปะกันเยอะ ผมจึงขอให้ช่างตุ้มเคาะออกเลย
แต่ช่างตุ้มปฏิเสธ บอกผมว่า อย่าเลยอาจารย์ เพราะว่าถ้าออกมาไม่ดี
ชาวบ้านที่ร่วมพิธีจะใจเสีย ให้ผมนำกลับไปกรุงเทพฯ ดีกว่า แล้วผมจะส่งข่าวมา
เมื่อช่างตุ้มนำพระไปเคาะออกที่กรุงเทพฯ
ได้สองวัน ช่างตุ้มก็โทรมาบอกผมว่า อาจารย์ครับนี่ผมขนลุกไปหมดเลยนะครับ
พระที่ปั้นมาของอาจารย์สมบูรณ์ถึงเก้าสิบเปอร์เซ็นต์
มีนิดหน่อยเท่านั้นเองที่ต้องแก้ไข ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ที่เป็นเช่นนี้ได้
คงเป็นเพราะอาจารย์ทำบาง ปั้นบางเททองก็เลยเต็มเร็ว เสียทองไปน้อยมาก
เมื่อผมได้ยินดังนี้ก็เกิดปีติ ดีใจมาก ก็รีบไปเรียนท่านพระอาจารย์ให้ทราบ
และชวนให้ท่านไปดูพระด้วยกัน
ผมพอจะสรุปได้คือ
หนึ่งลุงชาลีปั้นพระด้วยวิธีขึ้นรูปด้วยดินก่อน และพอกด้วยขี้ผึ้ง
และมาแต่งขี้ผึ้ง ซึ่งไม่เหมือนคนอื่นที่ต้องปั้นดิน หล่อปูน พอกขี้ผึ้ง ใส่ดินใน
แล้วจึงนำไปหล่อ กรรมวิธีจะต่างกัน ภายหลังผมจึงทราบจากเพื่อนที่เป็นอาจารย์ว่า วิธีที่ทำนี้เป็นวิธีการปั้นแบบสุโขทัย
กรรมวิธีจะน้อยกว่า เสียทองน้อยกว่า องค์พระจะบางและสวย
ซึ่งผมก็แปลกใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลวงพ่อจรัญท่านทราบ ท่านบอกผมว่า อาจารย์น่ะเป็นลูกพระร่วง
เป็นคนสุโขทัยมากเกิด นี่ปั้นแบบสุโขทัย รู้ไหม ผมตกใจ
หลวงพ่อท่านไม่ได้มีความรู้เฉพาะธรรมะอย่างเดียว หลวงพ่อรู้เรื่องวิธีการ
รู้เรื่องศิลปะ
จากนั้นผมก็รับอาสาทำฐานพระ
และตกแต่งผนังด้านหลังพระประธาน จนเป็นรูปแบบเฉพาะของทางภาคอีสาน
ดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้
ได้มีผู้ติดต่อผ่านลุงเส็ง
เพื่อหล่อพระพุทธรูป และหลวงปู่โต พรหมรังสี ปางพรมน้ำมนต์
ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าจะให้ทำการหล่อที่โรงงาน แต่พอตกลงกันจริง ๆ
ก็ขอให้ไปหล่อที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน จ.ขอนแก่น
เพราะต้องมีการทำพิธีกรรมต่าง ๆ ด้วย
ท่านอาจารย์อิทธิพร
ธงอินทร์เนตร ได้เข้ามาติดต่อกระผมว่าได้ปั้นพระไว้องค์หนึ่ง
แต่เกิดมีปัญหาที่ตัวช่างที่ขอนแก่นไม่สามารถมาทำการหล่อพระได้ จึงมาขอให้ผมช่วย
ตอนแรกผมต้องปฏิเสธเพราะว่ายังไม่เห็นของ
ยังไม่เห็นพระพุทธรูปที่จะหล่อเป็นอย่างไร
และช่างหล่อพระด้วยกันก็ต้องมีความเกรงใจกัน ถ้าใครเป็นคนทำก็ต้องทำจนกระทั่งเสร็จเรียบร้อย
ถ้าผมจะไปหล่อให้ก็เกรงจะเป็นการข้ามหน้าข้ามตากัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ
แต่ท่านอาจารย์ท่านก็บอกว่า เรื่องนี้ไม่มีปัญหาเพราะช่างที่จะทำเกิดป่วย
ไม่ทราบสาเหตุอะไร จึงไม่สามารถมาทำการหล่อพระได้ ผมจึงตกลงตามท่านไปดูองค์พระ
พอผมไปเห็นของซึ่งก็ได้เข้าลวดเข้าดินไว้เสร็จแล้ว
ทำให้ผมไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้ ทำให้ผมลำบากใจจึงต้องบอกกับท่านอาจารย์ไปว่า
มันเสี่ยงมากพอสมควร ห้าสิบห้าสิบนะครับ เพราะผมไม่รู้ว่าเขาเข้าแบบอย่างไร
แกนในเป็นอย่างไร ขี้ผึ้งเป็นอย่างไร หุ่นเป็นอย่างไร แต่ท่านอาจารย์ก็ตอบกลับมาว่า
ไม่เป็นไรขอให้เทได้ก็แล้วกัน เสร็จแล้วค่อยว่ากันใหม่
สังเกตอาจารย์ดูท่านตั้งใจมาก
บอกผมว่าอยากได้พระองค์นี้เป็นพระประจำศูนย์เวฬุวัน
ท่านได้พยายามศึกษาหาความรู้ต่าง ๆ ผมเห็นความตั้งใจจริงของท่านอย่างนี้ ผมจึงตัดสินใจรับปากท่านไป
ถึงแม้ว่ามันเสี่ยงมากก็ตาม ผมยังบอกกับท่านว่า ถึงวันนั้นอย่างไรก็ช่วยกันอธิษฐาน
ขอบารมีหลวงพ่อเอาก็แล้วกัน
พอตอนหล่อพระผมก็ต้องตกใจ
เพราะองค์พระขนาดหน้าตัก ๔๐ นิ้วนี้
ตามปกติต้องใช้ทองในการหล่อถึงสามเบ้าครึ่งถึงสี่เบ้า แต่พอหล่อพระองค์นี้ไปได้เบ้ากว่า
ๆ ก็เต็มแล้ว เห็นสภาพขี้ผึ้งซึ่งสำรอกออกมานิดเดียว
ผมก็คิดว่าแกนในที่ตอกตะปูไว้อาจจะทรุดก็ได้ ผมจึงต้องบอกท่านอาจารย์ว่า อาจารย์ยังไงก็ไม่สามารถมาทุบพระตรงนี้ได้
เพราะพระองค์นี้ต้องเสียแน่นอน และตัวอาจารย์เองก็ต้องเสียหน้าแน่ ต้องนำลงไปทุบที่กรุงเทพฯ
อย่างเดียวเท่านั้น และองค์พระออกมาเป็นอย่างไร ก็อย่าว่ากันก็แล้วกัน
แต่ในช่วงที่หล่อพระ
ผมได้สะกิดใจอะไรบางอย่าง ตอนที่หลวงพ่อจรัญท่านมาถือสายเทหล่ออยู่
ตอนนั้นเทไปเบ้ากว่า ๆ เต็มองค์พระ พวกผมก็กำลังลังเลใจกันอยู่
จำได้เป็นอย่างดีว่าหลวงพ่อจรัญท่านได้กล่าวออกมาว่า เสร็จ...เรียบร้อยแล้ว
ไม่มีปัญหาอะไรหรอก ใช้ได้ เสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกผมกับลูกน้องมองหน้ากันเลิกลั่ก
เพราะกะว่าจะต้องเทกันอย่างน้อย ๆ สามเบ้า แต่นี่แค่เทไปเบ้ากว่า ๆ
ทองขึ้นมาเสมอกันเลยแบบนี้ ก็คิดไว้ในใจกันแล้ว ว่าพระองค์นี้คงไม่มีเศียรแน่
เพราะเทยังไม่ถึงเศียร
เมื่อเสร็จแล้วผมก็บอกท่านอาจารย์ว่า
อย่างไรก็คงต้องนำไปแกะออกที่กรุงเทพฯ
เพราะมิฉะนั้นจะเสียความรู้สึกของคนที่มาร่วมพิธี
ท่านอาจารย์ก็บอกว่าไม่เป็นไร ถ้าเกิดมีปัญหาอะไรก็มาปั้นหล่อกันอีกที
ผมยังบอกท่านว่า อาจารย์เตรียมตัวปั้นองค์พระใหม่ได้เลย
ผมมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์เลยว่าต้องเสียแน่นอน และพระองค์นี้เป็นพระลายด้วย
หากส่วนไหนหายไปก็ต้องมานั่งปั้นกันใหม่หมด จะมาหล่อเสริมไม่ได้ เพราะลายไม่ต่อกัน
หลังจากผมนำองค์พระมาที่โรงงานผม
คือโรงงานหล่อพระพุทธรูปพิจิตรพุทธปฏิมา ผมก็ลงมือทุบ เมื่อทุบและแกะออกมาดู
ก็ต้องขนลุก เพราะทุบไปทางไหนก็ปรากฏว่ามี หน้าก็มี แขนก็มี มือก็มี ลำตัวก็มี
พวกผมงงกันไปหมด ส่วนที่เสียหายแทบจะไม่มีเลย มีก็แค่รอยตะปูเท่านั้น
ความสมบูรณ์ขององค์พระ ถ้าจะคิดก็ประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ เพราะตั้งแต่ผมเป็นช่างหล่อพระมา
ไม่เคยพบเหตุการณ์อย่างนี้ ที่พระหน้าตัก ๔๐ นิ้ว ใช้ทองเทหล่อไปแค่เบ้ากว่า ๆ
มันเป็นไปไม่ได้แน่นอน องค์พระที่ออกมาบางเสมอกันหมดเลย
และไม่มีการแตกชำรุดที่จะทำให้เสียโลหะส่วนหนึ่งส่วนใดออกไปเลย
และช่างก็ไม่ต้องทำอะไรมากด้วย
ความรู้สึกที่ผมได้หล่อพระองค์นี้
ผมมีความตั้งใจมากและประกอบกับที่หลวงพ่อจรัญที่ไปหล่อในวันนั้น
ท่านเป็นพระที่มีเมตตามาก ไม่ใช่ว่าต้องกำหนดเวลาเป๋งแน่นอน แต่ท่านถือฤกษ์สะดวก
เป็นฤกษ์ที่ช่างพร้อม ทุกฝ่ายพร้อมก็ให้หล่อได้ ไม่ใช่ว่า กำหนดไว้สามโมงเก้านาที
ก็ต้องเก้านาทีเป๋งอะไรแบบนั้น ท่านเป็นพระที่ไม่ถือเรื่องฤกษ์เรื่องดวงอยู่แล้ว
งานวันนั้นจึงเสร็จไปได้ด้วยดี พาญาติโยมให้มีปีติยินดีกันทั่ว
สาเหตุที่ผมคิดว่าที่พระองค์นี้หล่อออกมาเสร็จเรียบร้อยด้วยดีก็คือ
ช่างที่ปั้นมีความตั้งใจมาก ตัวท่านอาจารย์เองก็ปั้นพระหล่อพระมาก่อน
อีกทั้งอุตส่าห์ไปศึกษาหาความรู้มาตรงนี้ควรจะปั้นอย่างไร
ปั้นไม่ได้ก็อุตส่าห์ไปหาแบบมาเทียบไปดูแบบหลวงพ่อที่วัดหน้าพระเมรุ
จ.พระนครศรีอยุธยามาปั้น
และคงเป็นเพราะบารมีหลวงพ่อจรัญด้วยที่ทำให้การหล่อพระองค์นี้
เสร็จสิ้นเรียบร้อยเป็นอย่างดี
กระผมนายพอน
เชื้อบุญเกิด ผู้จัดการร้านนักรบชูส์ จ.ขอนแก่น
จะขอเล่าถึงวันเททองหล่อพระประธานหลวงพ่อพุทธนิมิต ก่อนอื่นในนามของคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน
และคณะศิษย์ของพระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ) ทุก ๆ ท่าน ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์อิทธิพร
อาจารย์มณฑา ธงอินทร์เนตร และลูก ๆ
พร้อมด้วยลูกศิษย์ของท่านทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจอันบริสุทธิ์ปั้นหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อพุทธนิมิต
ทุกท่านได้ถือศีลแปดมาตลอด จนกระทั่งถึงวันเททองหล่อพระประธานหลวงพ่อพุทธนิมิต
จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี กระผมได้มีโอกาสไปกราบเรียนหลวงพ่อพร้อมด้วยพระครูสมุห์ธีรวัฒน์
ฐานุตฺตโร และคุณไชยา เกษมวิลาศ และคณะศิษย์หลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม
เพื่อจะไปกราบนิมนต์พระเดชพระคุณหลวงพ่อมาเป็นประธานในพิธีเททองหล่อหลวงพ่อพุทธนิมิต
และหลวงปู่โต พรหมรังสี ชาวคณะของเราเดินทางถึงวัดอัมพวัน และเข้ากราบนมัสการหลวงพ่อ
ท่านได้เมตตารับนิมนต์และให้ธรรมะแก่คณะของกระผมเป็นที่ชื่นใจ
ในช่วงหนึ่งหลวงพ่อท่านได้หันมาทางกระผมและมีคำสั่งกับกระผมไว้ว่า โยมพอน
ช่วยไปบอกท่านพญานาคาหรือพญานาค
ว่าหลวงพ่อจรัญเชิญมาร่วมอนุโมทนาในการเททองหล่อพระประธานหลวงพ่อพุทธนิมิต และหลวงปู่โต
พรหมรังสีด้วยนะ และตอนท้ายท่านยังได้กำชับผมอีกทีว่า อย่าลืมนะโยมพอน
หลวงพ่อจรัญท่านเมตตาอบรมสั่งสอนชาวคณะจนดึกพอสมควร ท่านพระครูสมุห์ธีรวัฒน์
ท่านจึงนำคณะที่ติดตามกราบลาหลวงพ่อเดินทางกลับสู่ขอนแก่น
วันต่อมา
กระผมได้ไปซื้อผลไม้ ๙ อย่าง โดยได้รับความร่วมมือร่วมใจจากชาวคณะกรรมการของศูนย์เวฬุวัน
ออกเงินคนละเล็กคนละน้อย ซื้อผลไม้ ๙ อย่าง เพื่อถวายเทพทั้ง ๑๖ พระองค์
และพญานาคา โดยกระผมได้จุดธูป ๑๖ ดอก และอธิษฐานบอกว่า พระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญ
ท่านอัญเชิญเทพทั้ง ๑๖ พระองค์ และท่านพญานาคา เข้ามาร่วมในพิธีเททองในครั้งนี้
ขอให้ท่านจงบันดาลช่วยให้ฟ้าสว่าง ไม่ร้อน ไม่มีฝน
ครั้นถึงวันงานพิธีเททองหล่อพระประธานหลวงพ่อพุทธนิมิตและหลวงปู่โต
พรหมรังสี กระผมเป็นกรรมการคนหนึ่งที่รับผิดชอบรับทองและเงินที่ญาติโยมบริจาค
ร่วมสร้างพระประธานและหลวงปู่โต พรหมรังสี ได้เงินและทองเป็นจำนวนมาก
และกระผมจำได้ว่าช่วงเวลาประมาณ ๙ โมงถึง ๙ โมงครึ่ง กระผมได้พบผู้หญิงประหลาด ๒
คน เดินมาทางด้านหลังของกระผม ผู้หญิงทั้งสองท่านนี้เข้ามายืนอยู่ข้างกระผม
พอผมหันไปเห็นก็จำได้ติดตา เพราะว่าลักษณะการแต่งตัว และท่าทางผิดปกติกว่าคนทั่วไป
ทั้งสองไม่ได้ใส่รองเท้า ผู้หญิงท่านหนึ่งอายุประมาณ ๖๐ ปี
มีผิวสีขาวเหมือนคนประเทศลาว หน้าตาอิ่มเอิบ มวยผมเหมือนคนทางเหนือ
แต่แปลกตรงที่มวยผมเข้าด้านใน อีกท่านหนึ่งอายุอ่อนกว่า ประมาณ ๕๐ ปี ผิวดำแดง
สูงประมาณ ๑๖๐ ซม. ใบหน้าของเขายิ้มนิด ๆ ท่าทางใจดี แต่เสื้อผ้าที่สวมใส่สีดำสนิท
ไม่มัน แต่จะออกด้าน ๆ ดูแล้วแปลกยิ่งนัก กระผมจึงเข้าไปทักท่านทั้งสองว่า คุณแม่มาร่วมอนุโมทนาบุญสร้างพระประธานกับหลวงพ่อหรือครับ ผู้หญิงทั้ง
๒ คนไม่พูด แต่หันหน้าเข้าหากันแล้วยิ้ม ๆ กระผมเลยบอกว่า พานสีทองทางด้านซ้ายหล่อพระประธานหลวงพ่อพุทธนิมิต
เพื่อที่จะประดิษฐานบนศาลาหลังใหม่ ศาลาสุทธิญาณมงคล
พานด้านขวาสีเงินหล่อหลวงปู่โต พรหมรังสี
ผู้หญิงทั้งสองคนไม่พูดเลยสักคำ มีเพียงแต่รอยยิ้มที่ปลาบปลื้ม
แล้วล้วงมือลงไปในกระเป๋าเสื้อแบบเฉียง แล้วนำทองออกมา
เป็นสร้อยข้อมือทองคำคนละเส้น ดูทองแล้วเหมือนทองลูกบวบ แต่ตัน คงเก็บไว้นาน
แล้วคนทั้งสองนั่งคุกเข่าอธิษฐานอยู่นาน แล้วนำทองใส่ลงไปในพาน (หญิงอายุ ๖๐
ปีใส่ลงไปในพานพระประธาน ส่วนผู้หญิงอายุ ๕๐ ปี ใส่ทองลงไปในพานหลวงปู่โต
พรหมรังสี แล้วผมได้ถามท่านว่า คุณแม่เคยกราบหลวงพ่อจรัญแล้วหรือยัง
แล้วคนทั้งสองก็ส่ายหน้าพร้อมกัน ผมเลยบอกว่า ผมจะพาไปกราบหลวงพ่อนะครับ
แล้วผู้หญิงอายุ ๕๐ ปี ก็กล่าวออกมาว่า ไม่เป็นไร
ผู้หญิงมีอายุอีกคนจึงมองหน้า แล้วชี้มือไปทางป่ายูคาลิปตัส
แล้วทั้งสองก็มองหน้ากระผม กระผมยังพูดว่า ขออนุโมทนาบุญกับคุณแม่ทั้งสองด้วยครับ คนทั้งสองยิ้มอย่างมีความสุขที่ได้ร่วมบุญครั้งนี้
แล้วก็เดินไปทางป่ายูคาลิปตัส ผมคิดว่าเขาคงไปหลบแดด ผมจึงทำหน้าที่ต่อไป
พอดีกับทิดเฉลิมพล พี่ชายท่านพระครูสมุห์ธีรวัฒน์ เดินมาจะถ่ายรูป
ผมเลยพูดกับทิดเฉลิมพลว่า เมื่อสักครู่ มีผู้หญิง ๒ คน
มาทำบุญด้วยทอง ๒ เส้น น้ำหนักประมาณเส้นละ ๓ บาท แต่งตัวแบบชาวบ้านธรรมดา
รองเท้าก็ไม่สวม ทำไมมีศรัทธาแรงกล้าถึงเพียงนี้ พอผมหันไปมองหาผู้หญิงทั้ง ๒ คน
ก็ปรากฏว่าได้หายไปแล้ว ซึ่งก็น่าแปลกที่ผู้หญิงที่มีอายุมากแล้ว
จะเดินได้รวดเร็วขนาดนั้น อีกทั้งป่ายูคาลิปตัสดังกล่าวเป็นแนวตรง
และการที่จะมีคนเดินเข้าไปก็น่าจะมองเห็นได้ง่าย ๆ แต่มองหาไม่เห็นเลย
กระผมกับทิดเฉลิมพลได้ติดตามหาผู้หญิงทั้งสองคนนี้ตลอดงาน
ถามใครก็ไม่มีใครเห็นผู้หญิงลักษณะนี้เลย
จนกระทั่งถึงเวลาพระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญขึ้นเทศน์บนศาลาหลังใหม่
ท่านก็พูดขึ้นมาว่า ในพิธีเททองหล่อพระประธานวันนี้
มีพญานาคมาร่วมอนุโมทนาบุญด้วย
ภาพของผู้หญิงทั้งสองคน
ยังคงติดตากระผมอยู่มิรู้ลืมเลย หากท่านทั้งสองเป็นพญานาคจริง
ก็นับเป็นบุญตาของกระผมมิใช่น้อย.