แรงอธิษฐานจิต

ของ

พระราชสุทธิญาณมงคล

ปรีดี ทองรวีวงศ์

H13004

 

เหตุที่มาวัดอัมพวัน

          ครอบครัวข้าพเจ้ามีอยู่ ๓ คน ตัวข้าพเจ้านายปรีดี, นางอรพิน (ภรรยา), นายคณาธิป (บุตร) และยังมีน้องสาวอีกคนหนึ่งคือ น.ส. ศรีวัน ทองอยู่ หลวงพ่อท่านไม่รู้จักข้าพเจ้าทั้ง ๔ คน แต่พวกข้าพเจ้ารู้จักหลวงพ่อ ในรายการแสดงธรรมทางโทรทัศน์ในวันอาทิตย์ เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๖

          ฟังท่านแสดงธรรมวันนั้นแล้ว มีความรู้สึกว่าฟังเข้าใจง่าย น้ำเสียงน่าฟัง มีข้อคิดเตือนใจในการดำเนินชีวิต เมื่อตัวซ้อนปรากฏที่จอโทรทัศน์ ก็จดจำไว้ว่าหลวงพ่อองค์นี้อยู่วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี จึงแอบเป็นศิษย์ในทางธรรมอย่างเงียบ ๆ โดยไปที่วัดอัมพวันครั้งแรกปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ตอนเช้าประมาณ ๙.๐๐ น. เศษ ได้พบหลวงพ่อเดินออกจากกุฏิที่ใช้รับแขก ข้าพเจ้าและภรรยาจึงนั่งลง แสดงความเคารพท่าน ท่านกล่าวว่า “คุณโยมตามมาที่ศาลา” ส่วนภรรยาของข้าพเจ้าได้ยินท่านกล่าวว่า “คุณโยมรอที่กุฏิ” มาด้วยกัน ๒ คน ได้ยินคนละอย่าง เป็นอันว่าเพียงแต่ได้เห็นหลวงพ่อ ยืนมองท่านเดินมุ่งไปทางศาลาสุธรรมภาวนา ตรงที่ข้าพเจ้ายืนอยู่เป็นร้านขายหนังสือ ได้ซื้อหนังสือกฎแห่งกรรมเล่ม ๖, บทสวดมนต์, พัฒนาคำกลอนสอนจิตฯ แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา จากหนังสือดังกล่าว ทำให้มาวัดอัมพวันบ่อยขึ้น และก็จะซื้อหนังสือกฎแห่งกรรมเพิ่มจนครบชุด บางเล่มก็ได้รับแจกจากญาติธรรมที่มีเกินชุด ก็แจกผู้ที่สนใจไปมากพอสมควร และเป็นเหตุให้ผู้ที่ได้รับหนังสือกฎแห่งกรรมไปอ่านได้มาปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันกันหลายท่าน

 

คำสั่งของครูบัว – ครูผ่อง ทองอยู่   วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๓๕

          ครูบัวและครูผ่องเป็นบิดา – มารดาของข้าพเจ้า เมื่อท่านถึงแก่กรรมแล้ว ข้าพเจ้าและน้องสาวได้พบคำสั่งซึ่งท่านเขียนใส่ซองไว้มอบหมายงานบุญงานกุศลไว้ ๒ งานคือ

๑.     สร้างศาลาบำเพ็ญกุศล ที่วัดเศวตฉัตร แขวงบางลำภู่ล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

๒.    ตั้งมูลนิธิ เพื่อเอาดอกผลเป็นค่าอาหารกลางวันเด็กยากจน และทุนการศึกษาเด็กยากจน ของนักเรียนโรงเรียนวัดเศวตฉัตร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร (ได้จัดทำไว้แล้วเมื่อ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๗)

เรื่องการสร้างศาลาบำเพ็ญกุศลนั้น มีอุปสรรคมาก เพราะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสจึงจะสร้างได้ เจ้าอาวาสวัดเศวตฉัตรในขณะนั้นคือ พระเทพเมธี (ชื่อเดิม บุญนาค จูงาม) จากที่ได้รับคำสั่งวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๓๕ ผ่านมาถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสวัดเศวตฉัตร คือ พระธรรมญาณมุนี (ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์ จากพระเทพเมธี เป็นพระธรรมญาณมุนี เมื่อ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ วันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ) ให้สร้างศาลาในที่ว่าติดกับถนนเจริญนคร เรือนศาลาชั้นเดียว กว้าง ๙ เมตร ยาง ๒๔ เมตร โครงสร้างของหลังคาให้เป็นสถาปัตยกรรมเดียวกันกับหลังคาพระอุโบสถ ข้าพเจ้าได้ให้ช่างเขียนแบบมาวัดสถานที่และออกแบบ ในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๓๙ วันรุ่งขึ้นน้องสาวของข้าพเจ้าได้แจ้งมาว่า พระธรรมญาณมุนีได้มรณภาพเสียแล้ว เมื่อค่ำวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๓๙ โดยเป็นลมในขณะอยู่ในพระราชพิธี พระบรมศพของ “สมเด็จย่า” ในพระบรมมหาราชวัง และได้มรณภาพภายหลังจากถูกนำส่งไปโรงพยาบาลศิริราช

การสร้างศาลาบำเพ็ญกุศลจึงต้องชะลอไป จนกระทั่งงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมญาณมุนีเสร็จแล้ว เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๐ และได้มีเจ้าอาวาสองค์ใหม่มาครองวัด เจ้าอาวาสองค์ใหม่ไม่อนุญาตให้สร้างในสถานที่ ๆ เขียนแบบไว้แล้ว ให้ไปสร้างที่ใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างพระอุโบสถและพระวิหาร ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เหมาะ เพราะพระอุโบสถและพระวิหารของวัดเศวตฉัตรนั้นอยู่ในบริเวณกำแพงเดียวกัน ต้องชะลอการสร้างศาลาบำเพ็ญกุศลไปอีก

เวลาผ่านไปหลายปี ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้สร้างศาลาตามคำสั่ง ทำให้บุญกุศลไม่ถึงบิดา – มารดา จนถึงต้นปี ๒๕๔๑ คุณอรพิน ทองรวีวงศ์ ภรรยาของข้าพเจ้า ให้ความเห็นว่า ควรนำเงินจำนวนนี้ไปถวายหลวงพ่อจรัญ (พระราชสุทธิญาณมงคล) วัดอัมพวัน เพื่อสร้างศาลาหรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ เพราะวัดอัมพวันมีคนมาปฏิบัติธรรมมาก จะได้บุญมากและได้บุญทุกวัน ข้าพเจ้าเห็นด้วย แต่นึกถึงน้องสาว คือ คุณศรีวัน ทองอยู่ ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะน้องสาวของข้าพเจ้านั้น พ่อ – แม่ สั่งไว้อย่างไร เขาจะทำอย่างนั้น เรื่องจึงยังหาข้อยุติไม่ได้ จากวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๓๕ จนถึงต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ความเป็นไปได้ที่จะมาสร้างที่วัดอัมพวันก็เป็นจริงขึ้น เพราะหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล ได้มาร่วมพิธีหล่อพระ จะมาอย่างไรกรุณาติดตามต่อไป

 

วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๑ คุณศรีวัน ทองอยู่ ฝันถึงหลวงพ่อ

          คุณศรีวัน ทองอยู่ ได้ตั้งใจไว้ว่า จะนำภาชนะทองเหลือเก่า, ทองแดงเก่า, ตลอดจนทองรูปพรรณของบิดา – มารดา และของญาติมิตร ไปสร้างพระพุทธรูปอุทิศกุศลให้ บิดา – มารดา เขาคิดอยู่หลายปี พร้อม ๆ กันจะสร้างศาลาบำเพ็ญกุศลนี้เช่นกัน จนปลายปี ๒๕๔๐ คุณศรีวัน ทองอยู่ ได้มาอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน ๗ วัน เริ่มมีความเคลื่อนไหวในการที่จะหล่อพระจริงจังมากขึ้น โดยเริ่มติดต่อโรงหล่อที่จังหวัดราชบุรี ราว ๆ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๑ โดยกำหนดพุทธลักษณะของพระที่จะหล่อ จำลองแบบของพระพุทธสิหิงค์ ขนาดหน้าตัก ๑๕ นิ้ว แต่ไม่สำเร็จ

          ต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๑ จึงได้โรงหล่อแห่งใหม่ โดยการแนะนำของคุณวิชัย เอนกลาภากิจ และช่วยเป็นธุระประสานงานให้จนเป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยโรงหล่อออกแบบให้ขนาดองค์พระได้หน้าตักเพียง ๙ นิ้ว รวม ๒ องค์ ระหว่างนี้ข้าพเจ้ากับน้องสาวปรึกษากันว่า หล่อแล้วจะเอาไปไว้ไหน จะเอาไว้บูชากันเองหรือคิดกันอยู่ ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ในที่สุดโรงหล่อปั้นหุ่นเสร็จ จึงได้กำหนดเททอง วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๑ เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ

            ตอนเช้าของวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๑ น้องสาวของข้าพเจ้าได้โทรมาเล่าว่า เมื่อคืนตอนตี ๔ “ฝันว่าไปทำพิธีเททองหล่อพระในวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๑ เมื่อไปถึงโรงหล่อ พบหลวงพ่อจรัญ (พระราชสุทธิญาณมงคล) นั่งอยู่แล้วได้พูดว่า ยังขาดเทียนอยู่ ให้ไปเอามา ขณะเดินทางไปเอาเทียนชัยตามคำบอกของหลวงพ่อ ก็นึกว่าจะไปอย่างไรคนเดียว พอดีมีคนเดินผ่านมา พี่ชายจึงบอกฝากบุคคลผู้นั้นให้เป็นเพื่อนเดินทางไปเอาเทียนชัยด้วย พอบุคคลนั้นเดินทางมาใกล้กลับกลายเป็นผู้หญิงที่รู้จักกันดีก็เลยเดินไปด้วยกัน ไปในที่แห่งหนึ่งเป็นโรงหล่อพระ และมีพระสงฆ์นั่งอยู่องค์หนึ่ง ปรากฏว่าเป็นหลวงพ่อจรัญตอนหนุ่ม จึงเข้าไปเพื่อขอเทียนชัย”

            เมื่อน้องสาวของข้าพเจ้าเล่าฝันจบลง ข้าพเจ้าบอกให้จดฝันไว้ก่อน เพราะที่ฝันนั้นห่างกำหนดฤกษ์เททองหล่อพระเพียง ๒๑ วัน ข้าพเจ้าบอกน้องสาวว่า “...เป็นนิมิต เมื่อหล่อเสร็จแล้วก็อัญเชิญไปถวายหลวงพ่อเถิด...”

            วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๑ ได้ฤกษ์เททองเวลาบ่าย ๒ โมง ๒๙ นาที เจ้าหน้าที่ชุดขาวเริ่มเททององค์แรกก่อน ตักทองจากเบ้าหลอมค่อย ๆ เท พระสงฆ์ ๙ รูป เจริญพระพุทธมนต์ ปรากฏว่าทองที่ตักมาเหลือ บรรดาผู้ที่เข้าร่วมพิธีเททอง และร่วมออกทุนทรัพย์ในการหล่อพระครั้งนี้ต่างคิดว่าทองคงไม่เต็มองค์พระที่สองแน่นอน ดูจากปริมาณทองที่เทองค์แรกกับองค์ที่สองไม่เท่ากัน คิดว่าเมื่อแกะหุ่นแล้วคงต้องหล่อใหม่ ปรากฏว่าเมื่อแกะหุ่นออกแล้ว ทั้งสององค์มีความสมบูรณ์ พุทธลักษณะสวยงามมาก ไม่มีตำหนิเลย น้องสาวของข้าพเจ้าจึงอยากปิดทองให้งดงามยิ่งขึ้น จึงมอบหมายให้โรงหล่อเรียกช่างมาปิดทอง เมื่อเสร็จแล้วได้ฝากไว้ที่โรงหล่อ

 

ลงมตินำเงินมาถวายหลวงพ่อ “พระราชสุทธิญาณมงคล”

          ต้นเดือนกันยายน ๒๕๔๑ คุณอรพิน ทองรวีวงศ์ ได้ปรึกษาหารือกันกับนางสาวศรีวัน ถึงเรื่องสร้างศาลาบำเพ็ญกุศลอีกครั้ง และในที่สุดมีความเห็นสอดคล้องกันทั้ง ๔ คน คือ ข้าพเจ้า ภรรยา บุตรชาย และน้องสาวของข้าพเจ้า ว่าจะนำเงินมาถวายหลวงพ่อ เพื่อสร้างถาวรวัตถุใดก็ได้

          วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๑ ข้าพเจ้าเขียนจดหมายนมัสการมายังหลวงพ่อ แจ้งความประสงค์พร้อมกับให้หลวงพ่อหาทางออกให้ ถึงเรื่องเงินจำนวนนี้ว่าจะสร้างอะไร บุญกุศลจะได้ตกถึงบิดา – มารดาเสียที

          วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๑ หลวงพ่อท่านเมตตาตอบจดหมายมา เป็นจดหมายด่วนพิเศษ ถึงข้าพเจ้าวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๑ ความตอนหนึ่งว่า “...มีวัด ๆ หนึ่งไฟไหม้กุฏิ, หอสวดมนต์ หมดวัดเลย อาตมารับสร้างวัดนี้ไว้ ถ้าตกลงให้มาปรึกษาหารือกับอาตมาต่อไปได้เลย”

          วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๑ หลวงพ่อท่านกรุณาตอบจดหมายมาอีกครั้ง ความตอนหนึ่งว่า... “อาตมาจะรับจัดการให้ แต่ปัจจัยยังไม่ต้องจ่ายในขณะนี้ โปรดเก็บไว้ก่อน ถ้าลงมือจะสร้างค่อยจัดการต่อไป...”

จดหมายลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๑ ของหลวงพ่อมาถึงข้าพเจ้าเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๑ ทราบความแล้ว ก็รอวันนัดถวายเงิน จนถึงต้นมกราคม ๒๕๔๒ ขึ้นปีใหม่แล้ว คุณศรีวัน ทองอยู่ ได้โทรศัพท์ถามว่าหลวงพ่อนัดให้ไปถวายเงินหรือยัง และยังโทรศัพท์มาถามอีกหลายครั้ง ข้าพเจ้าจึงบอกว่าถ้าวัดลงมือก่อสร้างแล้ว หลวงพ่อจะแจ้งมาเอง อย่าไปรบกวนท่านเพราะท่านมีงานมาก

          วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๑ (วันทำบุญคล้ายวันที่หลวงพ่อได้ประสบอุบัติเหตุ) คุณสุชาติ ปิยะศุภสิทธิ์ ได้มาปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันเป็นครั้งที่ ๒ กำหนด ๗ วัน ลงทะเบียนวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๑ วันโกนแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๑ กำหนดลาการปฏิบัติธรรมวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๑  ได้เล่าว่า...หลวงพ่อได้แสดงธรรม ณ ศาลาสุธรรมภาวนา ให้อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหมดในวัดและญาติโยมที่มาทำบุญฟัง เนื่องในวันคล้ายวันที่หลวงพ่อได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ครั้งร้ายแรงที่สุดในชีวิต

          หลวงพ่อได้แสดงธรรมไประยะหนึ่ง ก็ได้กล่าวถึงวัดจินดามณีที่เกิดไฟไหม้ ทำให้พระที่วัดเดือดร้อนมาก เจ้าอาวาสวัดจินดามณีจึงมาขอให้หลวงพ่อช่วยเหลือ หลวงพ่อจึงได้อธิษฐานจิตว่า ถ้าหากมีผู้มีบุญก็ขอให้ได้มาร่วมสร้างกับหลวงพ่อ แต่ถ้าไม่มีหลวงพ่อก็จะสร้างเองทั้งหมด เพราะพระที่วัดจินดามณีเขาเดือนร้อนมากไม่มีที่อยู่ กุศลที่ทำนี้มากเพราะพระเดือดร้อนจริง ๆ แล้วหลวงพ่อก็หันไปพูดกับผู้ว่าราชการจังหวัดท่านหนึ่ง “ผู้ว่า ตอนนี้ได้สองล้านบาท จากที่อาตมาอธิษฐานจิต โดยมี คุณโยมปรีดี ได้เสนอเงินจำนวน ๒ ล้านบาท มาให้อาตมาสร้างสาธารณประโยชน์ หรือ กุฏิที่วัดอัมพวัน อาตมาได้ตอบจดหมายไปถึงคุณโยมปรีดีว่า เงินจำนวนนี้ขอให้สร้างที่วัดจินดามณี เพราะทางวัดถูกไฟไหม้ บุญกุศลที่ทำนี้จะได้มากจริง ๆ เพราะทางวัดเดือดร้อนที่อยู่ ผู้ว่า เงินสองล้านได้แน่ ๆ อยู่ในกระเป๋าแล้ว แต่ไม่ใช่ใครเสนอมาก็จะรับเสียหมดนะ อาตมาก็ต้องเช็คที่มาที่ไปของเงินก่อนที่จะรับมา ส่วนเงินคุณโยมปรีดี ล้านแปดบวกดอกเบี้ยสองแสน เป็นเงินสองล้านบาทได้แน่นอน”

          “นี่...คุณโยมแม่ทองใบ ซึ่งมาทำบุญที่วัดอัมพวันเป็นประจำทุกปีได้ข่าวว่า ที่วัดจินดามณีไฟไหม้ ได้มาขอให้อาตมาช่วยสร้าง คุณโยมแม่ทองใบเสนอกับอาตมาว่า ขอสร้างทั้งหมดเลย แต่ขอให้หลวงพ่อมาที่บ้าน หลวงพ่อพูดว่า แต่พระองค์นี้หยิ่ง คุณโยมแม่ทองใบแกอายุมากแล้ว อยากให้อาตมาไปบ้านแก โยมเขาก็ใจบุญบริจาคข้าวสารมาที่วัดเป็นประจำทุกปี” แล้วหลวงพ่อก็แสดงธรรมต่อ...

          ข้อความข้างบนนี้ คุณสุชาติ ปิยะศุภสิทธิ์ ได้เล่าให้ฟังจึงขอนำมาเล่าต่อ เพราะตอนนี้เองจึงได้ทราบว่าท่านอธิษฐานจิต หาผู้ร่วมสร้างกุฏิสงฆ์วัดจินดามณีกับหลวงพ่อ ท่านคงอธิษฐานจิตหลังจากไฟไหม้กุฏิสงฆ์และหอสวดมนต์ที่วัดจินดามณีแล้ว ข้าพเจ้าเองไม่ทราบเรื่องนี้เลย จนวันนี้ (๒๖ มกราคม ๒๕๔๒) ก็ยังไม่ทราบว่าไฟไหม้เมื่อไร

          ได้พบรายการบริจาคปัจจัยส่วนตัวของหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล ประจำปี ๒๕๔๑ ในหนังสือแสงธรรมปีที่ ๓ ฉบับที่ ๖ มกราคม – มีนาคม ๒๕๔๒ (ได้หนังสือมาจากคุณเสนอ..) หน้า ๑๙ วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๑ บริจาคเงินช่วยวัดจินดามณีประสบอัคคีภัย วัดจินดามณี จังหวัดสิงห์บุรี จำนวนเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาท) ความตอนนี้พอจะคาดเดาได้ว่าไฟไหม้ก่อน ๒๙ เมษายน ๒๕๔๑ หรืออย่างช้าก็ไหม้วันที่ ๒๙  เมษายน ๒๕๔๑ ถ้าท่านเริ่มอธิษฐานจิตในวันไฟไหม้ ไม่นานนักข้าพเจ้าก็ติดต่อกับท่านมาทางจดหมายด่วนพิเศษ โดยที่หลวงพ่อท่านไม่รู้จักนายปรีดี ทองรวีวงศ์ และครอบครัวเลย นับเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่ข้าพเจ้าได้พบ

          ที่หลวงพ่อได้เล่าเรื่องอธิษฐานจิตในวันนี้ (๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๑) เป็นเหตุพอดีกับผู้ที่มาปฏิบัติธรรมท่านนี้เป็นคนกรุงเทพฯ และรู้จักกับข้าพเจ้า จึงได้จดจำคำพูดของหลวงพ่อไว้ ข้าพเจ้าได้ขอให้ถ่ายทอดมาสู่ท่านทั้งหลาย ถึงแรงอธิษฐานจิตของหลวงพ่อ

          วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๑ เป็นวันอาทิตย์ ที่คุณสุชาติ ปิยะศุภสิทธิ์ ครบกำหนดปฏิบัติธรรมแล้ว คอยนมัสการลาหลวงพ่อเพื่อรับพรที่กุฏิชั้นล่าง ระหว่างเวลาประมาณบ่ายโมง คุณสุชาติได้เล่าให้ฟังว่า...”หลวงพ่อลงรับแขกญาติโยมประมาณบ่ายโมง ได้รับการถวายปัจจัยจากญาติโยมแล้วหลวงพ่อก็ได้ให้พร และได้แสดงธรรมต่อจนถึงบ่าย ๔ โมง ผมก็ได้เข้าไปกราบหลวงพ่อ ยังไม่ทันได้กล่าวอะไร หลวงพ่อได้หันมาแล้วพูดขึ้นว่า “จากคุณโยมปรีดา” (ซึ่งในใจผมตั้งใจว่าจะถามเรื่องวัดจินดามณีสักเล็กน้อยแล้วก็จะกราบลา ยังไม่ทันได้ถาม ท่านกล่าวออกมาก่อนว่า “จากคุณปรีดา?”) ผมก็ตอบรับ “..ครับจากคุณปรีดี..” หลวงพ่อกล่าวว่า “ฝากบอกคุณโยมปรีดีนะว่าแบบแปลนที่วัดจินดามณีออกมาแล้วไม่ถูกแบบ จึงให้เขาเปลี่ยนอยู่ อาตมาว่าจะสร้างเป็นสองชั้น กุฏิชันบนเป็นที่อยู่ของสงฆ์ ชั้นล่างว่าจะให้เป็นหอฉัน มีห้องน้ำในตัว ส่วนเรื่องชื่อโยมบิดามารดาของคุณปรีดีจะให้ติดไว้ด้านบน จะไม่ให้ติดไว้ด้านล่างเหมือนวัดอื่น ซึ่งไม่ถูก เดี๋ยวสุนัข แมว ปัสสาวะรดใส่ไปหมด จะให้ติดทั้งหลังเป็นการส่วนตัว”

          “ฝากบอกคุณโยมปรีดีว่า อันนี้ได้บุญมากเลยนะ ส่วนเรื่องเงินเก็บไว้ก่อน ให้แบบแปลนเรียบร้อยก่อน หรือก่อสร้างแล้วอาตมาจะเขียนจดหมายไปบอก ส่วนค่าก่อสร้างที่เกินอาตมาจะออกเอง เออ..น้องสาวคุณโยมปรีดีชื่อ...” ผมก็บอกหลวงพ่อว่า “ชื่อคุณติ๋ว (ศรีวัน ทองอยู่) ได้เคยมาปฏิบัติที่วัดครั้งหนึ่งแล้ว เจ็ดวันครับ” แล้วหลวงพ่อก็หยุดอยู่พักหนึ่ง ผมก็ขออนุญาตกราบลา หลวงพ่อถามว่าจะกลับเมื่อไร ผมกราบเรียนว่า “กลับเลยครับ” หลวงพ่อถามว่า “กลับยังไง” ผมบอกว่า “เอารถมาครับ” หลวงพ่อก็บอกว่า “เดี๋ยวรอรับพรก่อน” แล้วหลวงพ่อก็ให้พร พอหลวงพ่อสวดให้พรเสร็จก็พูดขึ้นว่า “ฝากบอกคุณโยมปรีดีนะ ว่าเงินให้ฝากธนาคารไว้ก่อน กินดอกเบี้ยไปก่อน” ผมก็กราบลาหลวงพ่อ ส่วนหลวงพ่อก็ยังคุยกับญาติโยมต่อ...

            การที่ท่านถามถึงคุณศรีวัน ทองอยู่ น้องสาวของข้าพเจ้านั้น เพราะท่านได้เคยไปให้นิมิตน้องสาวข้าพเจ้า เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ก่อนที่จะถึงฤกษ์เททองหล่อพระเพียง ๒๑ วัน ว่ายังขาดเทียนชัย ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น (นิมิตนี้แหละที่เห็นเหตุหนึ่งที่คุณศรีวัน ทองอยู่ เห็นด้วยกับข้าพเจ้าและครอบครัวที่จะนำเงินดังกล่าวมาถวายหลวงพ่อ เพื่อสร้างกุฏิสงฆ์และหอสวดมนต์ที่วัดจินดามณี จังหวัดสิงห์บุรี)

            วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๒ ข้าพเจ้าโทรศัพท์มาวัดอัมพวัน สามเดือนสามวัน หลังจากรับจดหมายฉบับที่ ๒ ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๑ และคุณศรีวัน ทองอยู่ ได้โทรศัพท์มาถามข้าพเจ้าบ่อยครั้งว่า หลวงพ่อนัดให้มาพบหรือยัง ในที่สุดข้าพเจ้าได้โทรศัพท์มาที่วัดอัมพวัน เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. พระธเนศ หิตกาโม รับสายข้าพเจ้า จึงฝากกราบเรียนหลวงพ่อถึงเรื่องจะนำเงินมาถวาย พระธเนศ หิตกาโม ได้รับฝากข่าวนี้ต่อคุณเสนอ...

          วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๒ ได้รับจดหมายด่วนพิเศษ ลงวันที่ ๑๔ มกราคม ๑๕๔๒ จากหลวงพ่อ ความตอนหนึ่งว่า... “ถ้าจะสะดวก อาตมาก็ว่างในวันอังคารที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๒ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ระยะเพลแล้ว.” ข้าพเจ้ามนัสการเรียนไปทางจดหมายว่าจะมาตามที่หลวงพ่อกำหนด

วันแห่งความเมตตา ๒๖ มกราคม ๒๕๔๒

          ข้าพเจ้านายปรีดี, นางอรพิน, นายคณาธิป ทองรวีวงศ์ รวม ๓ คน ออกจากบ้านราษฎร์บูรณะ ประมาณ ๑๐.๐๐ น. เศษ ๆ มาถึงวัดอัมพวันก่อน ๑๒.๐๐ น. เล็กน้อย ได้พบกับพระธเนศ หิตกาโม ที่กุฏิชั้นล่างของหลวงพ่อ เมื่อเท่านทราบความประสงค์จึงให้ไปรับประทานอาหารที่ตึกคุณหญิงน้อย รุจิรวงศ์ ข้าพเจ้าขอเลือกที่จะไปรับประทานอาหารที่โรงอาหาร แต่ท่านบอกว่าหลวงพ่อได้จัดอาหารไว้ให้แล้ว เมื่อเป็นความประสงค์ของหลวงพ่อ ข้าพเจ้า, ภรรยา, บุตรชาย ปฏิบัติตาม โดยมีเจ้าหน้าที่จัดดูแลใกล้ชิด ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง (รู้สึกอึดอัดเพราะกลัวบาป รับประทานอยู่ที่บ้านก็ช่วยกัน) มีลูกศิษย์หลวงพ่อนั่งรับประทานอาหารอยู่อีกโต๊ะหนึ่ง ๔ ท่าน ก่อนรับประทานอาหารได้รับปฏิสันถารจากอีกโต๊ะหนึ่งด้วยไม่ตรี มีคุณเสนอ.. คุณนงเยาว์.. คุณจำเนียร.. ทุกท่านต่างกล่าวอนุโมทนาแก่ข้าพเจ้าและครอบครัวที่ได้มาถวายเงินแด่หลวงพ่อ เพื่อนำไปสร้างกุฏิสงฆ์ – หอสวดมนต์ ที่วัดจินดามณี จังหวัดสิงห์บุรี

          เสร็จจากรับประทานอาหารมื้อวิเศษนี้แล้ว (ทราบภายหลังว่าเป็นสำรับของหลวงพ่อ) ก็เตรียมรอพบหลวงพ่อเพื่อรับฟังโอวาท และเรื่องราวต่าง ๆ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้เข้านมัสการอย่างใกล้ชิด พร้อมคุณอรพินและนายคณาธิป (บุตรชาย)

          ประมาณ ๑๓.๐๐ น. หลวงพ่อลงมาเข้าที่เรียบร้อยแล้ว (สังเกตดูรู้สึกว่าท่านไม่ค่อยสบาย) ได้นมัสการท่านพร้อม ๆ กันกับญาติธรรมที่มารอพบ แล้วข้าพเจ้าได้แนะนำตนเอง, ภรรยา และบุตรชาย ให้ท่านรู้จักพร้อมความประสงค์ที่มาด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษร ประโยคแรกท่านกล่าวว่า “อาตมานัดมาวันนี้ (๒๖ มกราคม ๒๕๔๒) ก็ตรงกับวันเกิดคุณโยม อาตมาตั้งใจเลี้ยงวันเกิดโยม โดยเฉพาะ...โยมปรีดี” (หลวงพ่อกล่าวถึงตอนนี้ก็ได้ชี้มือมายังข้าพเจ้า) ข้าพเจ้า, ภรรยา และบุตรชาย ต่างตื้นตันจนกล่าวอะไรไม่ได้ มีเพียงสายตาและจิตใจเท่านั้นที่สำนึกในเมตตาของหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านมองมาเปี่ยมด้วยความรักความปราณี ดุจดังสายตาของพ่อแม่ที่ให้ความอบอุ่นแก่ลูก ผ่านวัยคล้ายวันเกิดมาแล้ว ๖๒ ครั้ง (เกิดจริง ๑ ครั้ง) วันนี้ย่างเข้าปีที่ ๖๓ นับเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวเป็นที่สุด ความทุกข์ที่มีมาประมาณ ๗ ปี ได้หลุดออกจากอกไป ณ นาทีนี้เลย

          “อาตมาจะขอเล่าเรื่องเก่า ๆ ของอาตมาให้ฟังเล็กน้อย” ท่านได้เล่าว่า ท่านจะลาสิกขาจึงไปหาหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จังหวัดนครสวรรค์ จะขอเรียนวิชาคาถามหานิยมแล้วก็จะสึก แต่กลับต้องไปเรียนตำราพิชัยสงคราม เรียนวิชาคชศาสตร์ (ต่อช้างป่า) เริ่มต้นเรียนวิชา กสิณ ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ ก่อน ท่านสอนให้หมด (ภายหลังก็ได้ใช้ประโยชน์ในวิชานี้ เมื่อครั้งไปยุโรป ช่วยเครื่องบิน ซึ่งมีผู้โดยสารถึง ๓๐๐ – ๔๐๐ ชีวิตไม่ให้ตก) จะมีเสียงประหลาดคอยเตือนว่า “นะโมยังไม่ได้ นะโมยังไม่ได้ ได้นะโมแล้วค่อยสึก นะโมยังไม่ได้จะสึกหรือ น่าเสียดาย”

          เรื่องจะลาสิกขาไม่สมประสงค์ มีเหตุต้องไปหาหลวงพ่อดำพระในป่า และมีนัดหมายเมื่ออายุถึง ๔๕ ปี ให้มาหา ได้พบและให้เจริญ “สติปัฏฐาน ๔” เป็นทางพ้นทุกข์ ผลสุดท้ายต้องดำรงสมณเพศจนปัจจุบันนี้ แล้วท่านจึงเริ่มสอนเป็นเครื่องเตือนสติหลายเรืองที่สำคัญจะนำมาเล่ากล่าวไว้ คือ การแผ่เมตตาให้คนที่เกลียดกันเป็นศัตรูกัน ความเกลียดชังจะหมดไป ความรักความไมตรีจะมาแทนที่ ศัตรูก็จะหมดไป พบคนสติไม่ดี, คนบ้า แม้ในพุทธกาลก็มี จะทำอย่างไร? ท่านเฉลยว่า แผ่เมตตาจะได้ผล ถ้าเป็นคนดื้อจะทำอย่างไร คนเช่นนี้แผ่เมตตาไม่ได้ผล ต้องใช้วิธีลงโทษ ท่านยกสุภาษิตว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี แต่ไม่ใช่ตีให้ตาย ต้องตีเป็นแบบอย่างจึงจะได้ผล

            อีกเรื่องหนึ่ง ท่านเล่าถึงการสอบเข้ามหาวิทยาลัย คนใดเคยสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ในอดีต มาชาตินี้ก็จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ วิชาเป็นสมบัติติดตัวไปได้ นับว่าเป็นอุทาหรณ์แก่บุตรหลานของท่านทั้งหลาย เมื่อถึงวัยจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย จะได้ควบคุมความสมหวังและไม่สมหวัง ไม่ให้ทำลายตนเอง และท่านได้กล่าวถึงเรื่องปัญญา หรือระดับปัญญามีอยู่ ๓ อย่าง

๑.     สุตตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการดู การอ่าน การฟัง

๒.    จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิด

๓.    ภาวนามยปัญญา คือการฝึกให้รู้โดยไม่ต้องคิด รู้ด้วยสมาธิซึ่งทำให้เกิดปัญญาญาณ อันเป็นที่สุดของปัญญา มนุษย์โดยต้องเพียรปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะจบปริญญาเอก ก็มิอาจวัดระดับของปัญญาได้

หลวงพ่อท่านได้กรุณาเล่าเรื่องต่าง ๆ ทั้งที่ท่านไม่ค่อยสบาย ข้าพเจ้าจึงตั้งใจฟังและพยายามจดจำไว้ เพราะแต่ละเรื่องของท่านจะต่อเนื่องกัน จนมาถึงการดำเนินชีวิตปัจจุบันของบุตรชายข้าพเจ้าซึ่งอยู่ในวัยเรียน จะได้นำเรื่องของระดับปัญญาไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตน

เป็นเวลาชั่วโมงเศษที่หลวงพ่อได้ให้คำสั่งสอนต่าง ๆ ขณะที่ท่านแสดงคำสอนอยู่นั้นดูท่านเปลี่ยนไป จากความอ่อนเพลียเปลี่ยนเป็นเข้มแข็ง ทำให้นึกถึงวิธีสู้เวทนา หลวงพ่อท่านได้บรรยายไว้ในกฎแห่งกรรม – ธรรมปฏิบัติเล่ม ๒ หน้า ๑๒๘ “แยกเวทนาออกเป็นสัดส่วนแล้วฝากไว้”

ได้เวลาอันสมควร ข้าพเจ้าพร้อมภรรยาและบุตรได้ถวายปัจจัยเพื่อนำไปสร้างกุฏิสงฆ์ และหอสวดมนต์ที่วัดจินดามณี เมื่อเสร็จรับพรจากหลวงพ่อแล้ว หลวงพ่อท่านได้ขึ้นไปบนกุฏิขั้นบน เพื่อดูวันเวลาที่จะให้คุณศรีวัน ทองอยู่ มาถวายพระพุทธรูป

ระหว่างที่รอท่านอยู่ก็มีญาติธรรม (เป็นเจ้าหน้าที่ของหลวงพ่อ) ได้ยกกาแฟมา ๒ ถ้วย ให้ข้าพเจ้าและภรรยา อีกสักครูหนึ่งก็ยกมาอีกหนึ่งถ้วยให้บุตรชายของข้าพเจ้า ปรากฏว่าเป็นโอวัลติน บุตรชายกับภรรยาของข้าพเจ้ามองหน้ากันแล้วยิ้ม ทำให้ข้าพเจ้าต้องสนใจอยากทราบว่ายิ้มทำไม? ปรากฏว่ามิใช่แต่เกิดจากแรงอธิษฐานจิตหาผู้ร่วมสร้างกุฏิสงฆ์ – หอสวดมนต์ วัดจินดามณีกับหลวงพ่อเท่านั้น แต่ท่านยังมี “ความรู้ยิ่ง” คือรู้ใจบุตรชายของข้าพเจ้าว่า ไม่ดื่มกาแฟอีกด้วย นับเป็นบุญของข้าพเจ้าที่ได้ประสบ หลังจากที่ดื่มกาแฟเสร็จแล้วสักครู่ ท่านกลับลงมาอีกครั้งพร้อมกับนัดวันเสาร์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ให้คุณศรีวัน ทองอยู่ มาถวายพระพุทธรูป ๒ องค์ ดังที่ได้กล่าวเรื่องหล่อพระไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

 

เงินที่มาจากแรงอธิษฐานจิตของหลวงพ่อ และได้ถวายท่าน เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๒ มีดังนี้

๑.     คุณปรีดี ทองรวีวงศ์ และครอบครัว ถวายแทนครูบัว – ครูผ่อง ทองอยู่ ๒,๒๙๗,๕๙๗.๒๐ บาท (สองล้านสองแสนเก้าหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยเก้าสิบเจ็ดบาทยี่สิบสตางค์)

๒.    นายคณาธิป ทองรวีวงศ์ ๖,๔๐๒.๘๐ บาท (หกพันสี่ร้อยสองบาทแปดสิบสตางค์)

๓.    อาจารย์รัตนาภรณ์ ทองอยู่ ๖,๐๐๐ บาท (หกพันบาท)

๔.    คุณศรีวัน ทองอยู่ ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) (ถวายเมื่อ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒)

เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ เป็นวันที่คุณศรีวัน ทองอยู่ อัญเชิญพระพุทธรูป ๒ องค์ มาถวาย ได้มีผู้ถวายเงิน ร่วมสร้างกุฏิสงฆ์ – หอสวดมนต์ วัดจินดามณี เพิ่มเติม ดังนี้

๑.     คุณสุชาติ ปิยะศุภสิทธิ์ ๑,๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาท)

๒.    คุณสมพิศ ปิยะศุภสิทธิ์ ๑,๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาท)

๓.    เด็กหญิงโสรดา ปิยะศุภสิทธิ์ ๑,๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาท)

๔.    เด็กหญิงจันทกานต์ ปิยะศุภสิทธิ์ ๑,๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาท)

๕.     อาจารย์รัตนาภรณ์ ทองอยู่ ถวายเพิ่มอีก ๕๐๐ บาท (ห้าร้อยบาท)

๖.     นายคณาธิป ทองรวีวงศ์ ถวายเพิ่มอีก ๓๐,๐๐๐ บาท (สามหมื่นบาท)

อานิสงส์ (ผลแห่งกุศลกรรมหรือผลบุญ) ที่ข้าพเจ้าและครอบครัวได้รับและขอน้อมรับใส่กระหม่อมไว้ เพื่อความเป็นศรี เป็นสิริมงคล เพราะไม่เคยได้รับหรือได้รู้จากที่ใดมาก่อนเลย สิ่งที่ได้รับคือ ความเมตตาจากหลวงพ่อ (พระราชสุทธิญาณมงคล) สิ่งที่ได้รู้นั้นได้รู้ว่า หลวงพ่อเป็นพระอริยะ พระผู้บรรลุธรรมวิเศษ เช่น บรรลุในอภิญญา ๖ คือ ๑. แสดงฤทธิ์ได้ ๒. หูทิพย์ ๓. รู้จักกำหนดใจผู้อื่น ๔. ระลึกชาติได้ ๕. ตาทิพย์ ๖. รู้จักขจัดกิเลสให้สิ้นไป เป็นเบื้องต้น แต่หลวงพ่อท่านกล่าวไว้ว่า สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ต้องเรียนรู้คู่กันไปทั้งสองอย่าง ผลของสมถกรรมฐานเป็นอบายสงบใจ แต่ผลของวิปัสสนากรรมฐานนั้นเป็นอบายเรืองปัญญา โอวาทแต่ละตอนของหลวงพ่อที่ให้แก่ข้าพเจ้าและญาติธรรมอื่น ๆ จึงเกิดจากปัญญาในตัว หรือปัญญาญาณของหลวงพ่อนั่นเอง

          ในที่สุดงานที่ข้าพเจ้าได้รับมอบหมาย จากพ่อบัว – แม่ผ่อง ทองอยู่ ได้บรรลุผล ผลนี้เกิดจากแรงอธิษฐานจิตของหลวงพ่อดังได้กล่าวมาแล้ว ทำให้อุปสรรคที่มีมาได้ยุติลงอย่างบริบูรณ์ ความทุกข์ใจที่ข้าพเจ้าและครอบครัวมีมา ๗ ปีเศษ ได้หลุดออกจากอกไป รออรุณแห่งความสำเร็จในเมตตาบารมีของหลวงพ่อ ที่จะได้เนรมิตกุฏิสงฆ์และหอสวดมนต์ที่วัดจินดามณีให้สำเร็จก่อนที่จะเข้าพรรษานี้ (ปี ๒๕๔๒) เพื่อพระสงฆ์และสามเณรจะได้มีสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ และมีกุฏิอาศัย เพื่อสืบพระศาสนาต่อไป

          บุญกุศลที่ข้าพเจ้า, ภรรยา และบุตรชาย ได้บำเพ็ญมาในอดีตชาติและปัจจุบันชาติ ขอถวายแด่หลวงพ่อ พระราชสุทธิญาณมงคล เป็นนิตย์ – นิรันดร....

 

๒๖ มกราคม ๒๕๔๒