๗๒ ปี พระราชสุทธิญาณมงคล
ดร.สมพร แมลงภู่
H14001
พระราชสุทธิญาณมงคล
ได้เข้าอุปสมบทสู่ร่มกาสาวพัสตร์เป็น พระภิกษุจรัญ เมื่ออายุครบ ๒๐
ปีบริบูรณ์ (ตามหลักการนับอายุตามพระวินัย) ตั้งแต่ ๑๕
กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ณ พัทธสีมา วัดพรหมบุรี อ.พรหมบุรี
จ.สิงห์บุรี ท่านตั้งใจจะลาสิกขาบทหลังจากเสร็จสิ้นการรับกฐินแล้วในปีเดียวกัน
แต่คงเป็นเพราะวาสนาบารมีเดิมที่ทำให้ไม่ถึงวาระที่จะสึก
จึงเกิดนิมิตเป็นเสียงประหลาดดังขึ้นทักท้วงไว้
ท่านจึงเปลี่ยนใจออกเดินธุดงค์ในป่าก่อน แล้วกลับมาลาสิกขาบทในภายหลัง บุญพาให้ได้พบ
หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์ และได้อยู่อุปัฏฐากหลวงพ่อเดิมเป็นเวลานานถึง
๖ เดือน จนกระทั่งหลวงพ่อเดิมมรณภาพ ท่านเป็นศิษย์องค์เดียวที่หลวงพ่อเดิมถ่ายทอด วิชาคชสาร ให้
ท่านใช้เวลาศึกษาถึง ๓ เดือน จึงได้เรียนสำเร็จ และได้ซึมซับแบบอย่างของพระที่ดีจากหลวงพ่อเดิม
ทำให้ท่านตั้งปณิธานไว้ในใจว่า จะบวชไม่สึก และจะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ในบวรพระพุทธศาสนาและสงเคราะห์ผู้ทุกข์ยากต่อไป
ในปี
พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของ หลวงพ่อดำ พระธุดงค์ในป่า
จังหวัดขอนแก่น ได้รับการฝึกฝนให้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน และ ได้ศึกษาธุดงค์ภาคปฏิบัติ
หลวงพ่อดำได้ให้ปริศนาธรรมในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานไว้ให้หลวงพ่อคิด
และถ้าคิดได้เมื่อใด ให้ไปพบท่านได้ทันที พร้อมทั้งแนะนำให้หลวงพ่อ เข้ากรุงเทพมหานคร
เพื่อศึกษาสติปัฏฐานสี่ทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติ
หลวงพ่อสนใจที่จะศึกษาวิชา
ธรรมกาย ก่อน จึงได้ไปศึกษากับ หลวงพ่อสด
ที่วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านฝึกอยู่นานถึง ๖ เดือน จึง สำเร็จวิชาธรรมกาย
ท่านได้ปรนนิบัติหลวงพ่อสดอย่างใกล้ชิด ทำให้ เห็นแบบอย่างที่ดี
ของหลวงพ่อสด ได้แก่ การบริจาคทาน การแผ่เมตตาช่วยผู้ทุกข์ยาก และ ท่านได้นำแบบอย่างของหลวงพ่อสดมาใช้จนทุกวันนี้
ในปี
พ.ศ. ๒๔๙๕ หลวงพ่อได้ฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับ พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก
ญาณสิทธิ) วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร ตามคำสั่งของ เจ้าคุณพิมลธรรม (อาจ
อาสภเถระ) ที่มีคำสั่งว่า ใครที่จะรับเป็นอุปัชฌาย์
โปรดไปเข้ากรรมฐานที่วัดมหาธาตุ
ท่านอยู่ที่วัดมหาธาตุเป็นเวลา ๖ เดือน และได้ไปเรียนพระอภิธรรมกับ
พระอาจารย์เตชิน ชาวพม่า ที่วัดระฆัง ด้วย
หลวงพ่อปฏิบัติจนได้รับเลือกให้เข้าฟังเทศน์ลำดับญาณได้ ไม่น้อยกว่า ๒ ครั้ง
และท่านได้มีโอกาสได้ร่วมฟังเทศน์ลำดับญาณพร้อมกับหลวงพ่อสด
โดยอาจารย์พม่าเป็นผู้เทศน์ และ มีทูตมาแปลเป็นภาษาไทยให้ฟัง
เมื่อว่างจากการศึกษาเล่าเรียนแล้ว
หลวงพ่อจะออกธุงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรตามภาคต่าง ๆ ทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน
ระหว่างการธุงค์ หลวงพ่อได้พบครูอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาการให้หลายองค์
ได้แก่ หลวงพ่อลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ และ ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร สำนักปฏิบัติเขาส่วนกวาง
จ.ขอนแก่น เป็นต้น ทำให้หลวงพ่อมีสมาธิกล้าแข็งขึ้น
ในปี พ.ศ.
๒๔๙๙ พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ) ได้ให้หลวงพ่อไปช่วยงานที่
จ.ร้อยเอ็ด เป็นเวลา ๖ เดือน เมื่อกลับมาแล้ว ท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน เมื่อมาอยู่วัดอัมพวันแล้ว หลวงพ่อไม่ได้ออกธุดงค์อีก
แต่ยังคงปฏิบัติอยู่ที่วัดอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งคิดปริศนาธรรมที่หลวงพ่อดำให้ไว้ได้
ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านได้กลับไปพบหลวงพ่อดำบนยอดเขาภูคา จังหวัดน่าน
ตามที่ได้นัดหมายไว้ ท่านพักอยู่บนยอดเขาภูคาได้ ๑ คืน
จากนั้นได้เดินธุดงค์กับหลวงพ่อดำไปทางภาคเหนือ เข้าไปทางประเทศพม่า
ซึ่งท่านต้องเดินทางผ่านภูเขาหลายลูก และปักกลดอยู่บนยอดเขาอยู่หลายครั้ง
มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านไม่ได้ฉันภัตตาหารอยู่นานถึง ๗ วัน
เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกัน ๗ วัน ๗ คืน ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้
ท่านได้เดินทางไปถึงเมืองเบกอง และ เมืองหงสาวดี
ซึ่งการเดินธุดงค์ในครั้งนี้กินเวลานานกว่า ๒ เดือน ซึ่งท่านได้รับคำสั่งสอนแนะนำแนวทางการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดจากหลวงพ่อดำ
ตลอดระยะทาง และได้วิชาคชสาร ช่วยให้รอดพ้นอันตรายจากฝูงช้างป่าได้
จากการปฏิบัติอย่างเข้มแข็งบนพื้นฐานของความเข้าใจที่ถูกต้อง
และมีครูอาจารย์คอยแนะนำอย่างใกล้ชิด เป็นผลให้ท่านมีประสบการณ์ในการปฏิบัติสูง
และได้รู้จริงว่า ทางสายเอก ที่ควรดำเนินเพื่อความพ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนานั้นควรปฏิบัติอย่างไร
ทำให้ท่านมีความมั่นใจและมีหลักในการตรวจสอบการปฏิบัติมากขึ้น
หลวงพ่อได้เริ่มสอนลูกศิษย์ให้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน
๔ ตั้งแต่อยู่ที่วัดพรหมบุรี โดยสอนญาติโยมที่มาทำบุญในวันพระ
เมื่อท่านย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน
ท่านยังคงสอนพระกรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ต่อไป ลูกศิษย์ซึ่งเคยสอนที่วัดพรหมบุรี
ก็ตามมาเรียนกับท่านที่วัดอัมพวันด้วย และปีเดียวกันนี้ ท่านได้รับอนุญาตจาก พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก
ญาณสิทธิ) ให้เปิดสำนักวิปัสสนากรรมฐานได้
หลวงพ่อได้สอนพระกรรมฐานในวันพระที่โรงอุโบสถ
ตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ น. ถึง ๒๒.๐๐ น. โดยนำญาติโยมปฏิบัติศาสนพิธีในช่วงแรก
เทศน์อบรมกรรมฐานให้ญาติโยมปฏิบัติเองเป็นรายบุคคล
ต่อจากนั้นจึงได้เทศน์สอบอารมณ์อีกครั้งหนึ่งตั้งแต่เวลา ๒๑.๐๐ น. ถึง ๒๒.๐๐ น.
ลูกศิษย์ที่มาปฏิบัติได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ และบางคนยังเป็นกำลังสำคัญช่วยหลวงพ่อสอนและแนะนำผู้ปฏิบัติใหม่ต่อไปอีกด้วย
ซึ่งจะขอเอ่ยนามไว้ ณ ที่นี้ ๒ ท่านคือ คุณแม่สุ่ม ทองยิ่ง และ คุณแม่ยุพิน
บำเรอจิต
เมื่อวันที่ ๑๔
ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ หลวงพ่อได้ประสบอุบัติเหตุร้ายแรง
ถึงกับคอหักพับลงมาด้านหน้า แต่ท่านได้อธิษฐานจิตขอให้กลับมาใช้หนี้ในโลกมนุษย์ให้หมด
เมื่อได้ฟื้นคืนกลับมา
ท่านได้ตั้งปณิธานอันแรงกล้าปรารถนาที่จะทำงานชิ้นสำคัญของชีวิต
โดยการสร้างคนให้สูงด้วยคุณธรรม ซึ่งเป็นงานจรรโลงพระพุทธศาสนา และพัฒนาชาติไทยไปพร้อมกัน
ท่านได้เริ่มก่อสร้างถาวรวัตถุที่เป็นสัปปายะสำหรับผู้ปฏิบัติ
โดยเริ่มสร้างศาลาภาวนา กรศรีทิพา แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕
และเริ่มรับผู้เข้าอบรมเป็นหมู่คณะจำนวนไม่น้อยที่แวะมาฟังธรรมบรรยายแล้วกลับไป
ผู้ที่สนใจก็กลับมาปฏิบัติในภายหลังทั้งเป็นหมู่คณะ และส่วนบุคคลในฝ่ายคฤหัสถ์
สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ นำโดย คุณสมพร
เทพสิทธา ได้นำนักศึกษาเข้าอบรมปฏิบัติธรรมที่ศาลาภาวนา กรศรีทิพา
เป็นคณะแรก เมื่อวันที่ ๒๐ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๕
และจัดอีกครั้งหนึ่งในวันที่ ๒๘ ๓๐ ตุลาคม ในปีเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้
สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติได้มีบทบาทในการนำนักศึกษาเข้าปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันหลายครั้ง
ตั้งแต่ ๒๘ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๖ ถึง ๑๗ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๒๔
โดยจัดเป็นโครงการค่ายปฏิบัติธรรมพัฒนาจิต และ โครงการอบรมผู้นำเยาวชน และ
ได้ขอความร่วมมือมายังวิทยาลัยครู (สถาบันราชภัฎ) ต่าง ๆ
ส่งอาจารย์และตัวแทนนักศึกษาเข้ารับการอบรม โดยทางวัดอัมพวัน
ได้จัดให้อบรมปฏิบัติธรรมที่โรงอุโบสถ และ
ปักกลดค้างคืนบริเวณป่ามะม่วงภายในบริเวณวัด และ ในการจัดการอบรมครั้งหลังสุด สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช ได้เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดค่ายพัฒนาจิตใจด้วย
สถาบันราบภัฏเทพสตรี หรือ วิทยาลัยครูเทพสตรี สมัยนั้น
ได้นำนักศึกษาเข้ารับ
การอบรมเป็นคณะที่สอง
และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนนำนักศึกษาเข้ารับการอบรมหมดทุกคน จัดเป็นรุ่น
ไม่น้อยกว่าปีละ ๕ รุ่น และได้จัดติดต่อกัน ๓ ปีซ้อน
จากนั้นจึงได้จัดอบรมเฉพาะนักศึกษาใหม่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบันนี้
นอกจากนี้ยังมีสถาบันราชภัฎอื่น
ๆ ตามมา ได้แก่ สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา สถาบันราชภัฏนครสวรรค์
สถาบันราชภัฎธนบุรี สถาบันราชภัฏสวนดุสิต เป็นต้น
ได้นำนักศึกษาเข้ารับการอบรมพัฒนาจิตใจที่วัดอัมพวันด้วย จนถึงปัจจุบันนี้
มีสถาบันราชภัฎพานักศึกษาเข้ารับการอบรมพัฒนาจิตใจที่วัดอัมพวัน เป็นจำนวนถึง ๑๕
สถาบัน
ในปีพุทธศักราช
๒๕๒๖ หลวงพ่อได้จัดโครงการสัปดาห์แห่งการปฏิบัติธรรมระดับอาจารย์ปรัชญาและศาสนา
และจัดอบรมบุคลากรหลักของหน่วยงานต่าง ๆ ผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วยอาจารย์
อนุศาสนาจารย์ทั้งสามเหล่าทัพ ตลอดกระทั่งตำรวจและกรมราชทัณฑ์ คณะต่าง ๆ
นี้ได้เป็นผู้บุกเบิกนำหมู่คณะเข้ารับการอบรมพัฒนาจิตใจต่อไป
จนถึงปัจจุบันนี้มีบุคลากรในกองทัพบกเข้ารับการอบรมพัฒนาจิตใจถึง ๒๑ สังกัด
รวมถึงโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กองทัพอากาศ ๓ สังกัด ได้แก่
โรงเรียนจ่าอากาศดอนเมือง โรงเรียนนายเรืออากาศ และกองบิน ๔ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
กองทัพเรือ ๒ สังกัด ได้แก่ โรงเรียนนายเรือ และ อนุศาสนาจารย์
กรมยุทธศึกษาทหารเรือ และข้าราชการตำรวจจาก ๘ สังกัด ได้แก่ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
โรงเรียนตำรวจภูธรภาค ๖ และตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น
พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย
ได้จัดอบรมวิทยากรประจำพุทธสมาคมจังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๘
โดยจัดอบรมปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน ปีละ ครั้ง ๆ ละ ประมาณ ๗ วัน
เมื่อดำเนินการจัดอบรมปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
โดยรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมปฏิบัติธรรมผ่านทางพุทธสมาคมจังหวัดต่าง ๆ
ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย
จัดอบรมวิปัสสนากรรมฐานที่วัดอัมพวัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘
โดยนำคณะบุคคลที่สนใจปฏิบัติธรรมเข้ารับการอบรม และ
จัดสนใจปฏิบัติธรรมเข้ารับการอบรม และ จัดอบรมทำนองเดียวกันนี้ต่อมาอีกถึง ๘ ปี
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้เป็นเจ้าภาพบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน
โดยหลวงพ่อเป็นพระอุปัชฌาย์และปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน
ในช่วงปิดเทอมหน้าร้อนเป็นเวลา ๑ เดือน จึงลาสิกขาบท
กิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนนี้ ทางยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย
ได้จัดต่อเนื่องติดต่อกันมาทุกปีจนกระทั่งปัจจุบัน
กรมการศาสนา เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่จัดอบรมร่วมกับวัดอัมพวันหลายครั้ง
โดยจัดอบรมภิกษุสามเณร เปรียญ ๓ ถึง เปรียญ ๙ ตามหลักสูตรครูสอนปริยัติ
แผนกบาลีหลายรุ่น และนำข้าราชการในสังกัดเข้ารับการอบรม ตลอดจนจัดอบรมพระวิทยากร
และพระภิกษุสามเณรจากจังหวัดต่าง ๆ ในการพัฒนากิจการคณะสงฆ์นี้
หลวงพ่อเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอพรหมบุรี
ได้จัดโครงการอบรมธรรมทายาทพระนวกะ เขตอำเภอพรหมบุรี ในช่วงเข้าพรรษา ติดต่อกันถึง
๑๒ ครั้ง นอกจากนี้ยังรับหมู่คณะพระภิกษุ สามเณร เข้ารับการอบรมอีกด้วย เช่น
มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และพระธรรมจาริกภาคเหนือวัดศรีโสดา
สถาบันที่นำนักศึกษาเข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่องอีกสถาบันหนึ่ง
ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี
นอกจากจะพานักศึกษาเข้ารับการอบรมปฏิบัติธรรมแล้ว ยังนำสถาบันต่าง ๆ เข้าร่วมปฏิบัติธรรมด้วย
ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยี วิทยาเขตต่าง ๆ วิทยาลัยอาชีวศึกษาจังหวัดต่าง ๆ
วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยพลศึกษา และ โรงเรียนสารพัดช่าง นับรวมถึงปัจจุบันมีถึง ๕๐
สถาบัน
โรงเรียนที่พานักเรียนเข้ารับการอบรมเป็นคณะแรก
ได้แก่ โรงเรียนนครหลวงอุดมรัชต์วิทยา อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
ซึ่งได้นำนักเรียนเข้ารับการอบรมเมื่อวันที่ ๒๖ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๕
และมีโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งสังกัดกรมสามัญ สำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ และ
โรงเรียนราษฎร์ นำนักเรียนเข้ารับการอบรมถึง ๑๗๐ โรงเรียน จาก ๒๕
จังหวัดในละแวกใกล้เคียง
หน่วยงานต่าง
ๆ ที่พาหมู่คณะเข้ามารับการอบรมพัฒนาจิตใจที่วัดอัมพวัน มีอีกหลายหน่วยงาน
พอจำแนกได้ดังต่อไปนี้
คณะผู้บริหาร
ครู อาจารย์ สังกัด สปอ. และ สปจ. ต่าง ๆ ๑๕
หน่วยงาน
พยาบาลและข้าราชการจากโรงพยาบาลต่าง
ๆ ๑๓ แห่ง
นักศึกษา
อาจารย์ ข้าราชการจากมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ๑๒ แห่ง
ข้าราชการจาก
กรม กอง ต่าง ๆ กระทรวงสาธารณสุข ๑๑ หน่วยงาน
ผู้ปกครอง
เจ้าหน้าที่ และ เด็ก ในสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ ๗ แห่ง
นักศึกษาพยาบาลจากวิทยาลัยพยาบาล ๕ แห่ง
พนักงานบริษัทต่าง
ๆ ๔ แห่ง
นอกจากนี้ยังมีข้าราชการจากรมที่ดิน
กรมป่าไม้ กรมปศุสัตว์ กรมสงเสริมการเกษตร และ กลุ่มผู้สูงอายุคณะต่าง ๆ อีกด้วย
รวมจำนวนผู้ที่เข้ามาอบรมปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ๒๕๔๒ ดังนี้
ผู้รับการฝึกปฏิบัติฝ่ายคฤหัสถ์ จำนวนคน ๑๕๘,๗๘๓ คน
ในด้านการพัฒนาถาวรวัตถุ
หลวงพ่อได้สร้างโบสถ์ และ ศาลาถึง ๕ หลัง ได้ซ่อมแซม ปฏิสังขรณ์
และก่อสร้างเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา และเป็นที่สัปปายะสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรม
เท่าที่บันทึกไว้จำแนกดังนี้
๑. สร้างพระอุโบสถวัดพรหมบุรี เป็นเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท
๒. สร้างพระอุโบสถวัดอัมพวัน เป็นเงิน ๙๙๐,๐๐๐ บาท
๓. สร้างถาวรวัตถุวัดอัมพวัน
พ.ศ. ๒๕๐๐ ๒๕๒๔ เป็นเงิน ๑,๗๐๐,๐๐๐ บาท
๔. สร้างถาวรวัตถุวัดอัมพวัน
พ.ศ. ๒๕๒๕ ๒๕๔๐ เป็นเงิน ๗๖,๒๑๓,๓๕๙ บาท
๕. สร้างถาวรวัตถุวัดอัมพวัน
พ.ศ. ๒๕๔๑ ๒๕๔๒ เป็นเงิน ๑๐,๗๒๔,๐๐๐ บาท
รวมเป็นเงินค่าก่อสร้าง ทั้งสิ้น ๙๐,๑๒๗,๓๕๙ บาท
(เก้าสิบล้านหนึ่งแสนสองหมื่นเจ็ดพันสามร้อยห้าสิบเก้าบาทถ้วน)
นอกจากนี้หลวงพ่อยังได้บริจาคปัจจัยส่วนตัวบำรุงโรงเรียน
และ ช่วยเหลือสาธารณกุศล ๆ เท่าที่จดบันทึกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนี้
ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้บริจาคปัจจัย
เป็นจำนวนเงิน ๓,๘๕๓,๒๘๐ บาท
ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้บริจาคปัจจัย
เป็นจำนวนเงิน ๙,๑๓๔,๓๖๐ บาท
ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้บริจาคปัจจัย
เป็นจำนวนเงิน ๒๔,๐๐๐,๙๐๕ บาท
ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้บริจาคปัจจัย
เป็นจำนวนเงิน ๑๑,๙๕๔,๑๘๐ บาท
ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้บริจาคปัจจัย
เป็นจำนวนเงิน ๒๓,๕๘๐,๑๘๐ บาท
ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บริจาคปัจจัย
เป็นจำนวนเงิน ๒๑,๔๓๘,๐๔๗ บาท
รวมการบริจาคปัจจัยของหลวงพ่อ ทั้งสิ้น ๙๓,๙๖๐,๙๕๒ บาท
(เก้าสิบสามล้านเก้าแสนหกหมื่นเก้าร้อยห้าสิบสองบาทถ้วน)
รวมผลงาน
การก่อสร้างถาวรวัตถุ และ การบริจาคปัจจัยส่วนตัวของหลวงพ่อทั้งสิ้น
๑๘๔,๐๘๘,๓๑๑ บาท
(หนึ่งร้อยแปดสิบสี่ล้านแปดหมื่นแปดพันสามร้อยสิบเอ็ดบาทถ้วน)
นอกจากนี้
พระเดชพระคุณหลวงพ่อ ได้มีปณิธานแน่วแน่
ที่จะนำของดีกลับคืนให้กับประชาชนชาวขอนแก่น
เพื่อเป็นการกตัญญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์ของท่าน
ท่านจึงได้ก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรม อันเป็นสาขาของวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี
และให้ชื่อว่า ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน โดยเมื่อ
๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖ ผศ.ดร.ลำไย โกวิทยากร ได้ถวายที่ดินแก่หลวงพ่อ จำนวน ๒๒ ไร่
ให้เป็นธรณีสงฆ์ เพื่อจัดสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมตามปณิธานของหลวงพ่อ
ซึ่งได้พัฒนาและปรับปรุงขยายพื้นที่ พัฒนาถาวรวัตถุ และ สภาพแวดล้อม
จนกระทั่งศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน มีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๑๓๗ ไร่ ๑ งาน ๗๖ ตารางวา
มีศาลาปฏิบัติธรรม ที่พัก ห้องน้ำ โรงครัว โรงอาหาร
และสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน
ณ
ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน แห่งนี้ ได้รับผู้มาปฏิบัติธรรมเป็นรายบุคคล หรือ
มากันเป็นหมู่คณะต่อเนื่องกันตลอด คณะที่เข้ามาปฏิบัติ ประกอบด้วย นักเรียน นิสิต
นักศึกษา ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และ ประชาชน จากจังหวัดใกล้เคียง
หลวงพ่อได้สร้างศาลาหลังใหญ่ และ สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ
เพื่อเป็นที่สัปปายะสำหรับผู้ที่มาเข้าอบรม ทำให้รองรับผู้ปฏิบัติธรรมได้มากขึ้น
สมกับเจตนารมณ์ของหลวงพ่อที่ตั้งใจจะนำของดีที่ได้รับจากหลวงพ่อดำ
กลับคืนสู่จังหวัดขอนแก่น
ผลงานการพัฒนาของศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๖
๒๕๔๒ จำแนกได้ดังนี้
๑.
ด้านการพัฒนาขยายพื้นดิน สิ่งปลูกสร้าง และ ถาวรวัตถุ
ปรับปรุงขยายพื้นที่ดิน
รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๗,๗๑๐,๗๖๐ บาท
ค่าก่อสร้าง และ ถาวรวัตถุ ๒๑,๓๐๕,๘๓๙ บาท
รวมมูลค่าทั้งสิ้น
๒๙,๐๑๖,๕๙๙ บาท
(ยี่สิบเก้าล้านหนึ่งหมื่นหกวันห้าร้อยเก้าสิบเก้าบาทถ้วน)
๒.
ด้านการอบรมพัฒนาจิต
คณะหน่วยงานราชการ สถาบัน คณะบุคคล ๒๗,๖๓๒ คน
กรรมฐานบุคคลทั่วไป ๑๐,๔๗๖ คน
รวมผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น ๓๘,๑๐๘ คน
(สามหมื่นแปดพันหนึ่งร้อยแปดคน)
งานชิ้นสำคัญของชีวิตหลวงพ่อที่ตั้งปณิธานไว้ได้บรรลุผลแล้ว
หลวงพ่อได้เพียรพยายามสร้างคน ให้สูงด้วยคุณธรรม พร้อม ๆ
กับจรรโลงพระพุทธศาสนาไปพร้อมกันมานานกว่า ๒๐ ปี ถึงแม้ท่านจะสูงอายุแล้ว
แต่ก็ยังอบรมสั่งสอนชาวไทยทั้งพุทธ คริสต์ และอิสลาม
และยังเอื้อเฟื้อไปถึงต่างประเทศอีกด้วย มีปราชญ์ชาวตะวันตกมาสนทนาธรรมกับหลวงพ่อหลายราย
และ ยอมรับในปฏิภาณ ไหวพริบ และความมีเหตุผลของหลวงพ่อ
ในวาระอันเป็นมหามงคลที่หลวงพ่อเจริญอายุ
๗๒ พรรษา ขอกราบอาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และ
ขอบุญกุศลจากการสร้างคนให้สูงด้วยคุณธรรม ความมีเมตตาธรรมของหลวงพ่อ
และการบริจาคปัจจัยส่วนตัว เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และ ช่วยเหลือสาธารณกุศล
ได้โปรดอภิบาลรักษาพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ให้มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง
และมีความสุขกับการสร้างคนให้สูงด้วยคุณธรรมตามปณิธานที่หลวงพ่อได้มุ่งหวังไว้ทุกประการ....