คุณแม่เจิม
จรรยารักษ์
โยมมารดาพระราชสุทธิญาณมงคล
เมื่อคุณย่าเจิม
จรรยารักษ์ ถึงแก่กรรมนั้น ท่านมีอายุถึง ๑๐๑ ปี สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ท่านเจ้าคณะใหญ่หนกลาง
วัดชนะสงคราม กล่าวถึงคุณย่าเจิมว่า ...คนที่จะมีอายุได้ถึง
๑๐๐ ปีนั้น ตามหลักพระพุทธศาสนาถือว่า เป็นผู้มีเมตตากรุณามาในชาติก่อนภพก่อน
และให้ทานชีวิตแก่สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีมือเปื้อนด้วยโลหิตคิดพยาบาท
ไม่คิดที่จะทำลายผู้อื่นสัตว์อื่น มีน้ำใจเป็นบุญเป็นกุศล คุณย่าเจิมมีอายุยืนถึง
๑๐๑ ปี เป็นเพราะกุศลของท่านที่ทำไว้...
ในภพหน้าชาติหน้า
ท่านก็คงจะมีอายุยืนเป็นร้อยปีด้วยบุญกุศลที่ท่านบำเพ็ญไว้ในชาตินี้
คุณย่าเจิม
จรรยารักษ์ ได้รับพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ พร้อมไตรพระราชทาน เมื่อวันที่ ๑๑
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพวงมาลัยและผ้าไตร
และได้รับพระกรุณาจากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
ประทานพวงมาลาวางหน้าหีบศพ
อายุ ๑๐๐ ปี ๖
เดือน
แม่ท่านได้บอกว่า ...จะอยู่ครบ ๑๐๐
ปีแล้วจะขอลา... ซึ่งการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของแม่ เมื่อวันจันทร์ที่ ๕
กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๔ เวลา ๒๑.๐๐ น. และถึงแก่กรรมอย่างสงบ
สติสัมปชัญญะครบบริบูรณ์ ยังความเศร้าโศกเสียใจอย่างที่สุดจะพรรณนา
แม่
คือ ผู้ให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูก แม้ว่าจะต้องลำบากขนาดไหน เพียงใด แม่ไม่เคยบ่น
แม่มีแต่จะคอยตักเตือนทุกครั้งเมื่อลูกทำผิด
แม่ใช้ความเมตตา
กรุณา และความโอบอ้อมอารี เป็นเครื่องมือในการสั่งสอนลูกอย่างได้ผลดีที่สุด
พระคุณแม่มากล้นคณานับ
ลูกขอกราบเท้าขอบพระคุณแม่จากเบื้องลึกของหัวใจ สำหรับทุก ๆ สิ่งที่แม่มอบให้
ลูกระลึกอยู่เสมอว่า แม่คือ แม่พระ...ผู้รักลูกเป็นที่สุด
การจากไปของแม่
คือ การสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของลูก
ตลอดชีวิตของแม่ทั้ง
๓ วัย คือ วัยต้น วัยกลาง และวัยปลาย แม่มีศรัทธาความเชื่อถือ
มีปสาทะความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จัดเป็น อุบาสิกาผู้นั่งใกล้
เข้าถึงพระรัตนตรัย ได้อุปถัมภ์ขวนขวายให้ลูกได้บรรพชาอุปสมบท
อีกทั้งแม่ยังมีใจศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทำบุญด้วยการถวายทาน รักษาศีล
เจริญจิตภาวนา ตามโอกาสที่ถึงทำได้ประพฤติได้เสมอมา
จากประวัติของแม่เจิม
จรรยารักษ์ ประกอบด้วยจริยาอันงดงาม ซึ่งมีไว้เป็นต้นทุน
กับทั้งบุญกุศลที่ลูกและผู้ที่มีความเคารพนับถือได้รั่วมกันกระทำบำเพ็ญอุทิศเฉพาะจักเป็นบุญนำให้เกิดผลดี
มีกมลปราโมทย์แด่คุณแม่เจิม จรรยารักษ์ ในสัมปรายภพสมตามเจตนาปรารถนาทุกประการ
พระราชสุทธิญาณมงคล
(จรัญ ฐิตธมฺโม)
คุณย่าเจิม
จรรยารักษ์
คุณย่าเจิม
เป็นบุตรคุณตาเหล็ง คุณยายอิ่ม สุขประเสริฐ แต่งงานกับคุณปู่แพ
จรรยารักษ์ มีบุตรธิดา ๑๐ คน ได้แก่
๑. นางจรัส
จรรยารักษ์ (ถึงแก่กรรม)
๒. ด.ช. จำรูญ
จรรยารักษ์ (ถึงแก่กรรม)
๓. นายจำลอง
จรรยารักษ์ (ถึงแก่กรรม)
๔. นายจำเริญ
จรรยารักษ์ (ถึงแก่กรรม)
๕. พระราชสุทธิญาณมงคล
(หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)
๖. นายฉลวย
จรรยารักษ์ (ถึงแก่กรรม)
๗. นางเฉลียว
บัวสรวง อายุ ๖๘ ปี
๘. นางเฉลิม
ตั้งสมพงษ์ อายุ ๖๓ ปี
๙. นางแฉล้ม
พิมพ์สุวรรณ อายุ ๖๒ ปี
๑๐. นางสุชาติ
ชั้นเฟื้องฟู อายุ ๕๘ ปี
คุณย่าเจิม
จรรยารักษ์ นามสกุลเดิม สุขประเสริฐ มีอาชีพค้าขาย
ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านเกาะ-บางประทุน ปัจจุบันคือ ตำบลม่วงหมู่ อ.เมือง
จ.สิงห์บุรี
คุณปู่แพ
จรรยารักษ์ ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านโพธิ์ศรี อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี
มีอาชีพเดิมคือค้าข้าว นำข้าวส่งกรุงเทพฯ และอาชีพดนตรีไทย คุณปู่แพ จรรยารักษ์อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ และได้มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ มีอายุได้ ๖๓ ปี ณ วัดพรหมบุรี
จังหวัดสิงห์บุรี
คุณย่าเจิม
จรรยารักษ์ เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ ณ บ้านเหนือตลาดปากบาง ต.พรหมบุรี อ.พรหมบุรี
จ.สิงห์บุรี ด้วยโรคชรา รวมอายุได้ ๑๐๑ ปี และได้รับพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ
พระเดชพระคุณหลวงพ่อ
ได้จัดงานบำเพ็ญกุศลศพ และงานพิธีพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ให้กับคุณย่าเจิม
จรรยารักษ์ อย่างสมเกียรติ โดยได้จัดงานบำเพ็ญกุศล เมื่อวันที่ ๖, ๗, ๙, ๑๐
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ได้จัดคณะสงฆ์สวดมาติกา บังสุกุล
และประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันอาทิตย์ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.
๒๕๔๔
นอกจากนั้นได้จัดทำบุญครบ
๕๐ วัน ในวันที่ ๒๘ มีนาคม และทำบุญครบ ๑๐๐ วัน ในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๔
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
เจ้าคณะใหญ่หนเหนือวัดปากน้ำ
แสดงพระธรรมเทศนา
เรื่อง เทวธรรม
ในงานบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่ คุณแม่เจิม
จรรยารักษ์
๑๐ กุมภาพันธ์
๒๕๔๔
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต
สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ
หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา สนฺโต สปฺปุริสา
โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเรฯ
ณ
บัดนี้อาตมภาพจักได้แสดงพระธรรมเทศนาโดยอนุรูป แก่กุศลจริยาสัมมาปฏิบัติ
เนื่องในงานบำเพ็ญกุศล เพื่ออุทิศกัลปนาผล ส่งผลให้แด่ท่านผู้ล่วงลับ คือ
คุณแม่เจิม จรรยารักษ์ ในวันนี้ การบำเพ็ญกุศลนั้น
ได้มีโดยลำดับมาตั้งแต่วันที่คุณแม่ได้ถึงมรณกรรม สำหรับวันนี้
มีท่านทานบดีมากด้วยกัน เห็นจะต้องขอโอกาสทูลถวายแด่เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งพระองค์ได้ทราบข่าวการมรณกรรมของคุณแม่เจิม จรรยารักษ์
และได้โปรดประทาน เรื่องกองการบำเพ็ญกุศลในวันนี้ โดยมอบหมายให้หม่อมราชวงศ์รัชนี
เกษมสันต์ พร้อมด้วยคณะศิษย์วัดบวรฯ ให้นำมาบำเพ็ญกองการกุศลในพระนามของพระองค์
ท่านทั้งหลายได้มาพร้อมกันในการบำเพ็ญกองการกุศลทุก
ๆ คืน และคืนนี้ก็เป็นคืนสุดท้าย ซึ่งในวันพรุ่งนี้ คุณแม่เจิม จรรยารักษ์
ก็จะได้รับพระราชทานเพลิง ในวันนี้ก็เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งซึ่งคณะสงฆ์
และญาติโยม ศรัทธาสาธุชนเป็นจำนวนมาก พร้อมกันทั้งฝ่ายวัด และฝ่ายบ้าน
ทางฝ่ายวัดก็คือ พระสงฆ์ สามเณร ณ ที่นี้มีท่านเจ้าคุณพระบรมราชานุวัตร
แห่งวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เจ้าคณะภาค ๓ เป็นประธาน ในฝ่ายญาติโยมประชาชน
ท่านทั้งหลายก็มีหม่อมราชวังศ์รัชนี เกษมสันต์ เป็นประธาน
เพราะเป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ท่านทั้งหลาย
เห็นความพร้อมทั้งฝ่ายคณะสงฆ์และญาติโยม ประชาชน
เนื่องในงานบำเพ็ญกองการกุศลนี้ที่มาพร้อมเช่นนี้เพราะอะไร เพราะความดีของคน ๒ คน
คือ คนเป็นหนึ่ง คนตายหนึ่ง คนทั้งสองนี้เป็นผู้มีคุณงามความดี
เป็นที่เคารพนอบนบบูชาทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์
คนเป็นก็หมายถึง ท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล
เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งท่านทั้งหลายเรียกว่า หลวงพ่อจรัญ ท่านเป็นมหาเถระผู้ทรงคุณงามความดี
เป็นที่เคารพนอบนบบูชาของเราท่านทั้งหลาย ทั้งสงฆ์และญาติโยมทั่วไป เรียกว่าคนเป็น
ส่วนคนตายก็คือ
คุณแม่เจิม จรรยารักษ์ เป็นคนดีอีกคนหนึ่ง
คุณแม่เจิม จรรยารักษ์ เจริญอยู่ในโลกนี้หนึ่งร้อยกับหนึ่งปี ซึ่งไม่ใช่น้อย ใครต้องการอะไรขอแม่เจิมก็แล้วกัน
ท่านทั้งหลาย แม่เจิมเป็นคนดี เป็นที่เคารพนับถือบูชาของเราท่านทั้งหลายทุกท่าน
แม่เจิมเป็นโยมมารดาท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล หรือ หลวงพ่อจรัญ บางท่านอาจจะไม่เคยเห็นแม่เจิม
บางท่านอาจไม่รู้จัก บางท่านอาจไม่รู้ ไม่เห็นว่าแม่เจิมมีปฏิปทา
มีคุณงามความดีอย่างไร ดูพระลูกชายของแม่เจิมก็แล้วกัน
ท่านทั้งหลายเคารพนอบนบบูชาหลวงพ่อจรัญ
ก็เพราะหลวงพ่อจรัญทำความดีด้วยประการทั้งปวง ชื่อเสียงปรากฏไปทั่วสารทิศ
ทั้งในประเทศและนานาประเทศ
ชาวต่างประเทศที่เข้ามาสู่ประเทศไทยก็ยังเข้ามาสู่วัดอัมพวันนี้
หลวงพ่อจรัญเป็นผู้มีปกติยิ้มแย้มแจ่มใส เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูล
ใจเย็น เป็นพระที่เปี่ยมไปด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม อาตมากับหลวงพ่อจรัญนั้นชอบพอกันมานาน
อาตมาชอบท่าน แต่ท่านจะชอบอาตมาหรือเปล่าไม่รู้ คงต้องชอบ
เพราะอาตมาชอบท่านท่านต้องชอบอาตมา อาตมาเคยเป็นเจ้าคณะภาค ๓ อยู่ ๒ สมัย ๘ ปี
ปกครองจังหวัดลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัย หลวงพ่อจรัญอยู่ที่วัดอัมพวัน
อาตมาเคยไปเคยมา เคยฉัน เคยนอนที่นี่ อาตมาจะพูดว่าเป็นเพื่อนกัน
หลวงพ่อจรัญคงไม่ว่า เพราะอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน พรรษาก็รุ่นราวคราวเดียวกัน
เคยกินเคยนอนด้วยกัน อาตมาเคยมาตรวจภาคบ้าง มางานบ้าง ก็อยู่ด้วยกัน อีกองค์หนึ่งก็คือพระครูสังฆราชาวาสที่ไปมาอยู่ด้วยกัน
ท่านทั้งหลาย
ถ้าใครไม่เคยเห็นแม่เจิม ก็ดูพระลูกชายของท่าน คือหลวงพ่อจรัญนี้
อาตมาพูดได้ว่าแม่เจิมนั้นมีจิตใจแจ่มใส เยือกเย็น สุขุมคัมภีรภาพ โดยที่สุดว่า
ผู้ใดใครผู้หนึ่งจะมาด่า มาว่า มาพูดเสียดสี เสียดแทง ด้วยประการใดก็ตาม
แม่เจิมยิ้มรับ แทนที่จะหน้าบึ้ง ขึงตึง ขุ่นเคือง ขุ่นแค้น แม่เจิมเป็นอย่างนี้
ท่านทั้งหลายที่รู้จักแม่เจิม ก็เห็นอยู่รู้อยู่ ไม่เคยมีใครเห็นแม่เจิมโกรธ
เรียกว่าแม่เจิมเป็นคนมีจิตใจสูงส่ง ที่แม่เจิมเป็นคนที่มีจิตใจสูงส่งนี้
ก็เพราะแม่เจิมประพฤติมั่นปฏิบัติมั่นอยู่ด้วยเทวธรรม แม่เจิมมีคุณธรรม
เพราะมีเทวธรรมอยู่ในน้ำจิตน้ำใจของแม่เจิม จึงมีจิตใจเหมือนเทวดา เทวธรรมก็คือ
ธรรมของเทพ หรือธรรมของเทวดา อาตมาจึงจะนำคุณธรรมที่แม่เจิมปฏิบัติอยู่มาแสดงแก่ท่านทั้งหลาย
ณ ที่นี้ พอสมควรแก่เวลา
อาตมาได้ยกเทวธรรมเป็นบทอุเทศไว้ว่า
หิริโอตฺตปฺสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา สนฺโต
สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ
วุจฺจเรฯ
แปลเป็นภาษาไทยว่า
ผู้ถึงพร้อมด้วยหิริโอตตัปปะ ผู้ตั้งมั่นอยู่ในสุกกธรรม ผู้เป็นสันตบุคคล
ผู้เป็นสัปปุริสชนในโลก เราเรียกผู้เป็นเช่นนั้นว่า ผู้ทรงเทวธรรม ดังนี้
พระบาลีพุทธภาษิตนี้ องค์สมเด็จพระมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดประทานแสดงเทวธรรมว่า
เทวธรรมนั้นคือ ธรรมของเทพ หรือของเทวดา ดังที่ว่าแล้ว เทพมี ๓ ชั้น
๑. สมมติเทพ
๒. อุปปัตติเทพ
๓. วิสุทธิเทพ
สมมติเทพ หมายถึง
พระราชา พระราชินี ราชกุมารา ราชกุมารี เป็นต้น พระองค์ทั้งหลาย โลกสมมติเป็นเทพ
เรียกว่า สมมติเทพ
อุปปัติเทพ หมายถึง
ท่านผู้ไปอุบัติเป็นเทวดา โดยกำเนิด
วิสุทธิเทพ หมายถึง
ท่านผู้มีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง คือ ท่านอรหันตขีณาสพทั้งหลาย
พระราชามหากษัตริย์ถือว่าเป็นเทพ
เป็นเทวดา หรือ ไปเกิดเป็นเทพโดยตรง ก็ถือว่าเป็นเทพ เป็นเทวดา
หรือพระอรหันตขีณาสพเจ้าทั้งหลาย ผู้มีความบริสุทธิ์จากกิเลสาสวะด้วยประการนั้น ๆ
ก็ชื่อว่าเป็นเทพเป็นเทวดา และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์โปรดประทานว่า
ท่านทั้งหลาย ทุกคนก็สามารถที่จะเป็นเทพได้ด้วยประการนั้น ๆ
โดยนัยนี้ท่านทรงแสดงธรรมให้ผู้ประพฤติปฏิบัติได้ชื่อว่า เป็นเทพ หรือว่าทรงธรรมของเทพ
ไว้ถึงคุณธรรม ๔ ประการ คือ
หิริโอตตัปปะธรรม
สุกกธรรม
สันติธรรม
สัปปุริสธรรม
สี่ประการนี้เป็นคุณธรรมที่ทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติเป็นเทพ
ท่านทั้งหลายมาศึกษาในคุณธรรมนี้สักเล็กน้อย
หิริโอตตัปปะ
หิริ ความละอาย
โอตตัปปะ ความเกรงกลัว หิริเป็นชื่อของเจตนาที่ละอายต่อความประพฤติชั่ว
โอตตัปปะเป็นชื่อของเจตนาที่เกรงกลัวต่อผลของการกระทำชั่ว คุณธรรมทั้ง ๒ ประการนี้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นธรรมคุ้มครองโลก โลกคือหมู่สัตว์ มนุษย์
บุคคลเราเมื่อมีคุณธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ จะอยู่เย็นเป็นสุข ไม่ทุกข์เดือนร้อย
สบายอกสบายใจ การโกงกินจะไม่มี โลกก็จะไม่เดือดร้อนเหมือนทุกวันนี้
เมื่อมีหิริก็มีความละอายต่อความชั่ว คือไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักขโมย ปล้นสะดม
หรือโกงกินต่าง ๆ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทำใหนสิ่งที่ชั่วเพราะละอาย
ท่านเปรียบไว้เหมือนหญิงสาวที่แต่งตัวสวย ๆ
เมื่อเห็นสิ่งสกปรกเลอะเทอะเปรอะเปื้อนก็จะหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้
กลัวจะมาเปรอะเปื้อนตัว เปรอะเปื้อนเครื่องประดับ ผ้าผ่อนท่อนสไบ
หญิงสาวที่แต่งตัวแล้วก็จะหลีกเลี่ยงสิ่งสกปรกโสโครกนั้น
ท่านเปรียบว่าเป็นคนที่มีหิริ
โอตตัปปะ ความเกรงกลัว
หมายความว่า ความเกรงกลัวต่อผลของความชั่ว ไม่ว่าจะเป็นความชั่วหรือความดีก็ตาม ที่เรากระทำแล้วย่อมจะเป็นของเราโดยตรงแน่นอน
กมฺมสฺสโกมฺหิ กมฺมทายาโท กมฺมพนฺธุ กมฺมปฏิสรโณ ยํ กมฺมํ กริสฺสามิ กลฺยาณํ วา
ปาปกํ วา ตสฺส ทายาโท ภวิสฺสามิฯ
รวมความว่า
กรรมที่เราทำไว้ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ย่อมเป็นของผู้นั้น เป็นของผู้กระทำนั้นทุกคน
โอตตัปปะนั้นท่านเปรียบเหมือนบุคคลกลัวต่ออสรพิษ คนที่กลัวต่ออสรพิษ งูถึงแม้ตัวเล็กเราก็ไม่กล้าเข้าใกล้
เพราะกลัวมันกัดเรา เมื่อกัดเราก็เป็นอันตรายต่อชีวิต
คนที่มีโอตตัปปะก็เหมือนกับคนที่กลัวงู ไม่เข้าใกล้งูฉะนั้น
ก็ย่อมเป็นเหตุให้มีคุณธรรมข้อต่อไป คือ สุกกธรรม
สุกกธรรม หมายถึง
ธรรมที่ทำให้ผ่องแผ้ว ถ้าพูดโดยตรงก็คือศีลนั่นเอง
ศีลก็คือไม่ทำชั่วด้วยประการทั้งปวง รักษากายดี วาจาดี เรียกว่าเป็นผู้มีศีล
เรื่องศีลนั้นท่านทั้งหลายรู้จักกันดีอยู่แล้ว
เพราะรับศีลรักษาศีลกันอยู่เป็นประจำ ศีล ๕ ก็มี ศีล ๘ ก็มี ศีล ๒๒๗ ก็มี ตามส่วน
วิธีรักษาศีลนั้น
คือ รักษากายให้ดี ที่ว่ารักษากายให้ดีไม่ใช่เพียงแต่อาบน้ำชำระร่างกาย
ประดับตกแต่งน้ำอบน้ำหอม หรือมีผ้าผ่อนท่อนสไบที่สวยงาม ไม่ใช่เพียงแค่นั้น
ที่ว่ารักษากายให้ดีหมายความว่า ไม่ทำชั่วทางกาย ไม่ทำความผิด
ไม่ทำทุจริตที่เกิดจากทางกาย ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักขโมย ปล้น หรือประพฤติผิดในสิ่งหวงแหนแห่งกันและกันทุกอย่าง
อะไรก็ตามที่เป็นความชั่ว เป็นความไม่ดี เป็นความเสียหาย
ที่จะเกิดจากทางกายของเราแล้วเราจะไม่กระทำ ก็จะเกิดเป็นศีล ทางวาจาก็เหมือนกัน
รักษาคำพูดให้ดี พูดแต่คำไพเราะเสนาะโสต คำที่อ่อนหวาน คำที่สมัครสมานสามัคคี
คำที่ดี ๆ เว้นจากคำหยาบ คำส่อเสียด คำเพ้อเจ้อ ไม่พูดจาปราศรัยในคำไม่ดี
ท่านทั้งหลาย
การรักษาศีลนั้น รักษากันเพียงแต่กาย วาจา ๒ อย่างนี้ ถ้ารักษา ๒ อย่างนี้ดีแล้ว
ได้แล้ว จะรักษาศีลทั้งหมดดีทุกอย่าง แต่ว่าบางคนก็รักษาไม่ไหว ดังมีตัวอย่างในสมัยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มีคนคนหนึ่งเป็นพระสงฆ์สามเณรก็นึกว่าบวชเป็นพระเป็นเณรนี่ไม่ต้องทำอะไร
ไม่ต้องลำบากตรากตรำ ประชาชนเขาทำไร่ไถนา ทำสวน รับราชการ กินเบี้ยหวัดเงินเดือน
พระนี่ไม่ต้องทำอะไร อยู่สบาย ไม่ต้องทำอะไรเลยก็มีกินมีใช้ นึกอย่างนี้
เราบวชดีกว่า บวชแล้วสบายดี นึกว่าเป็นพระแล้วสบาย บวชเพื่อความสบาย
พอเข้ามาบวชแล้ว อาจารย์สอนโน่นสอนนี่ แล้วต้องรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ทำโน่นก็ไม่ได้
ทำนี่ก็ไม่ได้ อาหารก็รับประทานจำกัดเวลา อยากรับประทานของร้อน ๆ โยมให้ของเย็น ๆ
ก็ต้องรับประทานของเย็น อยากรับประทานของเย็น โยมก็ให้ของร้อน ๆ
ก็ต้องรับประทานของร้อน การบวชเป็นเพระไม่สบายเสียแล้ว ก็ไปหาพระอาจารย์บอก ไม่ไหวแล้ว
ต้องรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ผมรักษาไม่ไหวหรอก ผมขอลาสึก
อาจารย์ก็พาไปหาอุปัชฌาย์ คือ พระสารีบุตร พระสารีบุตรบอกว่า ๒๒๗ ข้อมากนัก รักษา
๔ ข้อได้ไหม คนนั้นบอกค่อยน้อยหน่อย ๔ ข้อ จึงรับปาก ได้ขอรับ
พระสารีบุตรก็บอกให้รักษา
๑. ปาฏิโมกขสังวรศีล
๒. อินทรียสังวรศีล
๓. อาชีวปาริสุทธิศีล
๔. ปัจจัยสันนิสิตศีล
ความจริงสี่ข้อนี่มันมากกว่า
๒๒๗ แต่ว่าย่นลงแล้วเหลือ ๔ ข้อ คนนั้นรับมาสองสามวันก็ไม่ไหว ๔
ข้อนั้นมากไปอีกแล้ว ก็ไปบอกพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็เลยพาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าตรัสว่า เธอรักษาศีลไม่ไหว ก็รักษาอย่างเดียวได้ไหม
คือ รักษาใจให้ดี รักษาใจให้ดีหมด โยมทุกคนที่นั่งอยู่นี่รักษาใจให้ดี
อย่าทำใจให้ประทุษร้าย เช่นคิดว่า เทศนามานานแล้ว
เมื่อไรจะจบซักที เมื่อยจะตายไป รักษาใจไว้อย่าคิดประทุษร้าย เมื่อยก็เฉย ๆ
เอาไว้ อาตมาก็เมื่อยเหมือนกัน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระรูปนั้นรักษาใจอย่างเดียว
พระรูปนั้นตกลง ว่าง่ายดี ต่อมาก็ได้บรรลุอรหัตตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ไม่ต้องสึก
กลับเป็นพระอรหันต์ นี่แหละโยมทุกคน เรื่องศีลนั้นโยมรู้อยู่แล้ว ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีล
๒๒๗ ขอพูดแต่เพียงว่ารักษาศีลไม่ยาก เพียงแค่นี้เรียกว่าตั้งอยู่ในสุขธรรม
คือรักษาศีลนั่นเอง
สันติธรรม นั้นคือ ความสงบ
ความสงบเป็นที่ประสงค์ของทุกคน สงบกาย สงบวาจา สงบใจ ทั้งสามอย่างนี้
สงบใจเป็นเลิศ คือ เป็นความสงบภายใน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีปุจฉาวิสัชนาด้วยพระองค์เอง ถึงความสงบว่า
กถํ ทสฺสี
กถํ สีโล อุปสนฺโตติ วุจฺจเร ฯ
ผู้ปฏิบัติมีความเห็นอย่างไร
มีศีลอย่างไร ท่านจึงเรียกว่า เป็นคนสงบ แล้วพระองค์ทรงตอบว่า
ยสฺส โลเก
สกํ นตฺถิ
อสตา จ น
โสจติ
ธมฺเมสุ จ น
คจฺฉติ
ส เว สนฺโต
วุจฺจตีติ ฯ
ผู้ไม่ยึดถือว่าเป็นของเราในโลก
๑
ผู้ไม่เศร้าโศกเพราะสัตว์สังขารเสื่อมไป
๑
ผู้ไม่ถืออคติในธรรมทั้งหลาย
๑
ผู้เช่นนั้นเราตถาคตเรียกว่าเป็นคนสงบดังนี้
ความสงบตามพระบาลีที่ว่านี้
ต้องประกอบด้วยคุณธรรมต่อไปนี้ คือ
ประการแรก
ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเราในโลกนี้
หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่าโน้นก็องเรานี่ก็ของเรา
อย่าไปยึดถือว่าเป็นของเรา ทำไมพระองค์ไม่ให้ยึดถือ เพราะว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา
และเราก็จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ถ้าหากว่าบุคคลผู้ใดใครผู้หนึ่งไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดแล้ว
ถ้าหากถึงคราวพลัดพรากจะทำให้เศร้าโศกเสียใจด้วยประการนั้น ๆ ดังที่ปรากฏอยู่ เมื่อไม่ยึดมั่นแล้วก็สบายอกสบายใจได้
ประการที่สอง ไม่เศร้าโศกเพราะสัตว์สังขารเสื่อมไป สัตว์ก็หมายความว่าบุคคล
ตัวตน เราเขาทั้งหลายนั้น สังขารคือสิ่งต่าง ๆ ที่เราปรุงแต่งขึ้น
หรือที่ว่าธรรมดาปรุงขึ้นหรือตามที่บุคคลปรุงแต่งขึ้นก็ตาม ที่เป็นสัตว์
เป็นสังขาร มีอันเสื่อมสิ้นเป็นธรรมดาก็อย่าเศร้าโศกเสียใจ
อีกอย่างหนึ่ง
ไม่ให้ถืออคติ จะเป็นฉันทา โทสา โมหา ภยา ความรัก ความโกรธ ความหลง
และความกลัวก็ตาม ไม่ถืออคติในธรรมทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธรับสั่งว่าเป็นคนสงบในโลก
ดั่งนี้
สัปปุริสธรรม
หมายความว่า เป็นธรรมของสัปบุรุษ เป็นธรรมของคนดี
อาตมาจะชี้เพียงหัวข้อว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงไว้ ๗ ประการฃ
ธัมมัญญตุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ
อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล
อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน
มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ
กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา
ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักชุมชน
บุคคลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักบุคคล
ทั้ง ๗ ประการนี้
เรียกว่า สัปปุริสธรรม เป็นธรรมของสัปบุรุษ
อันว่าคุณธรรมทั้ง ๔
ประการนี้ หิริโอตตัปปธรรม สุกกธรรม สันติธรรม และสัปปุริสธรรม ชื่อว่าเทวธรรม ผู้ที่ประพฤติ
ผู้ที่ปฏิบัติอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงคุณธรรม
เป็นผู้ทรงเทวธรรม ท่านทั้งหลายได้รู้อยู่แล้วว่า คุณแม่เจิมนั้นเป็นผู้มีหิริโอตตัปปธรรม
เป็นผู้มีสุกกธรรม คือรักษาศีลเป็นประจำ จะพูดว่าตั้งแต่เป็นเด็กก็ว่าได้
เมื่อเป็นเด็กเล็กก็ไปทำบุญกับคุณพ่อ คุณแม่ คุณตา คุณยาย
จนกระทั่งแต่งงานมีครอบครัว ถึงแก่เฒ่าชราก็เห็นอยู่แล้วว่า คุณแม่เจิมรักษาศีลอยู่เป็นประจำ
และคุณแม่เจิมเป็นผู้มีสันติธรรม คือ เป็นคนสงบ มีจิตใจอันสงบ เยือกเย็นแจ่มใส
ตามที่ได้แสดงมานี้ และคุณแม่เจิมเป็นผู้มีสัปปุริสธรรม ด้วยคุณธรรม ๗ ประการของคนดีนั้น
คุณแม่เจิม จึงชื่อว่าเป็นผู้ทรงเทวธรรม เป็นผู้ปฏิบัติในเทวธรรม หรือชื่อว่าเป็นเทพผู้หนึ่งก็ได้
ท่านทั้งหลายซึ่งได้พร้อมจิตพร้อมใจกันมาในงานกองการบำเพ็ญกุศลนี้
ขอท่านทั้งหลายจงกำหนดในคุณธรรมที่คุณแม่เจิมได้ประพฤติปฏิบัติแล้ว
ท่านทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติตาม คุณแม่เจิมเป็นผู้มีหิริโอตตัปปธรรม ท่านทั้งหลายก็ประพฤติปฏิบัติ
สร้างหิริโอตตัปปธรรมให้เกิดขึ้น คุณแม่เจิมมีสุกกธรรม
ท่านทั้งหลายก็ต้องตั้งใจปฏิบัติอยู่ในสุกกธรรม คุณแม่เจิมมีสันติธรรม
ท่านทั้งหลายก็ปฏิบัติอยู่ในสันติธรรม คุณแม่เจิมมีสัปปริสธรรม ท่านทั้งหลายก็ปฏิบัติอยู่ในสัปปุริสธรรม
เมื่อท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติตามในคุณธรรมที่คุณแม่เจิมได้ปฏิบัติแล้ว ก็จะได้ชื่อว่าบูชาคุณแม่เจิมด้วยปฏิบัติบูชา
การบูชาด้วยการปฏิบัติ การปฏิบัติตามในคุณธรรมที่คุณแม่เจิมได้ปฏิบัติแล้ว หรือได้ระลึกคุณธรรมครั้งใดคราวใด
ก็ชื่อว่าไม่ลืมคุณแม่เจิมครั้งนั้น และแล้วท่านทั้งหลายก็จะมีความสุข มีความสงบ
มีความเจริญ มีความร่มเย็นสืบต่อไป
อิมินา กตปุญฺเญน ขออำนาจบุญกุศลผลบุญ
ซึ่งคณะท่านเจ้าภาพ มีท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานในกองการบำเพ็ญกุศลในคืนนี้
และท่านทั้งหลายอีกเป็นจำนวนมาก ขอทุกท่านจงตั้งกัลยาณจิตอุทิศกัลปนาผลส่วนนี้
ส่งให้แก่คุณแม่เจิม จรรยารักษ์
เมื่อคุณแม่เจิมได้ทราบด้วยญาณวิถีอันใดแล้วอนุโมทนา ก็จะได้รับส่วนบุญส่วนกุศล
ก็ได้เจริญด้วยทิพยสมบัติในสัมปรายภพ
หรือคุณแม่เจิมไม่ได้ทราบก็ขอให้เทพยดาเจ้าจงนำไปป่าวประกาศ เมื่อได้ทราบและอนุโมทนาก็จะได้เจริญด้วยทิพยสมบัติในสัมปรายภพ
สมเจตนาปรารภของคณะท่านเจ้าภาพทุกประการ