พุทธศาสนาในพุทธวิทัศน์ของหลวงพ่อ
โดย... รศ.ดร. พินิจ รัตนกุล
H17001
หลวงพ่อเป็นพระนักปฏิบัติและเป็นผู้ใฝ่หาความรู้แสวงหาความจริงยากที่จะหาใครมาเปรียบได้ ประสบการณ์การปฏิบัติธรรมที่ยาวนานและการแสวงหาความรู้ตลอดเวลาทำให้หลวงพ่อเป็นพระสงฆ์ที่พร้อมไปด้วยความเมตตาและดวงปัญญาที่ใสสว่าง
เป็นเสมือนเพชรน้ำหนึ่งโนวงการพระสงฆ์ปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าประหลาดใจว่าทำไมผู้คนทุกประเภทตั้งแต่ชาวบ้านไปจนถึงครูอาจารย์จำนวนมากมาย
จึงเดินทางจากสารทิศมาวัดอัมพวัน เพื่ออาศัยกระแสเมตตาของหลวงพ่อบำบัดทุกข์และอาศัยแสงสว่างจากปัญญาของหลวงพ่อช่วยให้เข้าใจพระธรรมคำสอนและมองเห็นวิธีการที่จะนำพระธรรมนั้นมาแก้ไขปัญหาในชีวิตส่วนตัว
และในหน้าที่การงาน
วัดอัมพวันเป็นสถานที่แห่งความสุขสำหรับทุกคน ความสุขของผู้มาวัดอัมพวันเริ่มต้นเมื่อได้รับการต้อนรับด้วยสันถวไมตรีอันดียิ่งจากหลวงพ่อ และ/หรือจากลูกศิษย์ที่มาช่วยงานด้วยความเต็มอกเต็มใจ
ความสุขจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อหลวงพ่อแก้ไขข้อข้องใจต่างๆ ของผู้นั้นได้หมดสิ้นและยังแถมธรรมะเป็นยารักษาใจควบคู่ไปด้วย ด้วยเหตุนี้วัดอัมพวันจึงเป็นเสมือนแดนสุขาวดีของคนจำนวนมากที่ต้องการหนีทุกข์หาสุข หลวงพ่อเป็นความหวังของคนทุกคนที่แสวงหาที่พึ่งทางใจท่ามกลางคลื่นลมของทะเลสังสารวัฏ
ผู้ที่ได้ฟังหรืออ่านคำสอนต่าง ๆ ของหลวงพ่อจะมีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมคำสอนถูกต้องมากขึ้น หลวงพ่ออธิบายธรรมะแต่ละเรื่องด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและนิยมนำตัวอย่างจากชีวิตจริงของบุคคลประเภทต่างๆ ที่หลวงพ่อได้รับทราบมาประกอบคำอธิบายตลอดเวลา
สิ่งนี้ทำให้คำอธิบายธรรมะแต่ละข้อเป็นประโยชน์ มีชีวิตชีวาและสนุกเพลิดเพลิน
การฟังธรรมะที่หลวงพ่อสอนด้วยความสนอกเพลิดเพลินอาจทำให้ผู้ฟังมองไม่เห็นแก่นธรรมที่หลวงพ่อด้วยการสื่อให้ทราบได้แก่นธรรมนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของพุทธวิทัศน์หรือความรู้ความเข้าใจในพระธรรมคำสอนของพุทธศาสนาที่เป็นผลรวมของการปฏิบัติและการศึกษาหาความรู้ของหลวงพ่อ
การมองไม่เห็นแก่นธรรมที่อยู่ในพุทธวิทัศน์ของหลวงพ่อ จะทำให้ผู้ฟังไม่ได้รับประโยชน์จากธรรมะมากเท่าที่ควรและจะทำให้การไปวัดอัมพวัน
เป็นการทำบุญทำทานเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ได้เป็นการแสวงหาธรรมะมาใส่ใจให้เป็นบุญกุศลที่ใหญ่หลวง
แก่นธรรมที่แสดงให้เห็นในพุทธวิทัศน์ของหลวงพ่อเป็นประโยชน์ทั้งในการแก้ไขปัญหาส่วนตัวและปัญหาต่างๆ
ที่สังคมและโลกกำลังประสบอยู่ นอกจากนั้นยังช่วยให้เราเข้าถึงสัจจะธรรมได้มากขึ้นด้วย
ดังนั้นการที่หลวงพ่อนำแก่นธรรมมาเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ นั้นจึงเป็นความเมตตาที่มีคุณค่ามหาศาล
แก่นธรรมในพุทธศาสนาเป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะศาสนุพทธเป็นศาสนาแห่งความจริงคือไม่ได้เป็นศาสนาที่มองโลกและชีวิตในแง่ร้ายหรือในแง่ดี
คนมองโลกในแง่ร้ายคือคนที่มองเห็นแต่สิ่งไม่ดีแล้วนำสิ่งนั้นมาขยายให้ใหญ่โตเกินความเป็นจริงจนดูเหมือนว่าโลกทั้งโลกมีแต่ความเลวร้ายหรือความมืดมิดที่ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ในขณะที่คนมองโลกในแง่ดีจะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างดีไปหมด ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม โลกจะยังคงเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดีอยู่นั่นเอง
ในทางตรงข้ามกับทัศนะทั้งสอง พุทธศาสนามองดูชีวิตตามความเป็นจริงทุกแง่ทุกมุม คำสอนที่ว่าชีวิตคือความทุกข์นั้นไม่ได้สร้างขึ้นมาจากจิตนาการหรือทฤษฎีหนึ่งทฤษฎีใด แต่เกิดจากการที่พระพุทธเจ้าทรงวิเคราะห์ประสบการณ์ของมนุษย์อย่างละเอียดถี่ถ้วนจนทรงรู้แจ้งในธรรมชาติแท้จริงของชีวิต
พระองค์ไม่ได้ทรงปฏิเสธว่าชีวิตมนุษย์มีทั้งความสุขและความทุกข์ผสมกันแต่ทรงชี้ให้เห็นว่าความสุขในชีวิตมีปริมาณน้อยมากเมี่อเทียบกับความทุกข์ที่ประสบอยู่แม้แต่ความสุขก็มีความทุกข์แอบแฝงอยู่ด้วยเหมือนตัวหนอนที่ซ่อนอยู่ในผลไม้ที่ดูสวยงามน่ากิน
ความทุกข์ดูเหมือนจะเป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของมนุษย์ เพราะสามารถทำอันตรายใหญ่หลวงให้แก่มนุษย์ได้ ศาสนาพุทธไม่ต้องการให้เราทำตัวแบบนกกระจอกเทศที่ชอบซุกหัวในทรายทุกครั้งที่มีอันตราย แต่ต้องการให้เรามองดูความทุกข์ที่เป็นเสมือนศัตรูให้เต็มหน้าแล้วพยายามค้นหาแนวทางที่จะเอาชนะศัตรูให้ได้ ถ้าหากว่าพระองค์ทรงสอนแต่เพียงว่าชีวิตคือความทุกข์อย่างเดียว เราก็อาจกล่าวได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงมองดูชีวิตในแง่ร้ายไม่ตรงตามความเป็นจริงและศาสนาพุทธเป็นศาสนาของความเศร้าสร้อย
หรือความมืดมิด แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงหยุดอยู่ที่ความทุกข์ที่ทรงพบเห็นเท่านั้น เมื่อทรงมองเห็นความทุกข์ในรูปแบบต่างๆ
แล้วก็ทรงค้นหาสาเหตุ ของความทุกข์เหล่านั้นและวิธีปฏิบัติที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงต่อไป
หลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงประกาศอย่างอาจหาญว่าศาสนาของพระองค์ แตกต่างจากศาสนาอื่นทั้งหลายเพราะเป็นศาสนาที่สอนเรื่องเดียวคือ
ความทุกข์และวิธีพ้นทุกข์เช่นเดียวกับน้ำทะเลที่มีรสเดียวคือรสเค็ม การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจึงเป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพราะเป็นการค้นพบสาเหตุรากเหง้าของความทุกข์ของมนุษย์และวิธีการดับทุกข์ที่จะทำให้มนุษย์มีโอกาสได้สัมผัสกับความสุขและเสรีภาพที่แตกต่างจากที่เคยประสบมาโดยสิ้นเชิง
โดยนัยนี้ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาที่ยอมรับความจริงของชีวิต เพราะความจริงเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดเปลี่ยนแปลงได้
ในระหว่างความฝันที่สวยงามและความจริงที่ไม่น่าชื่นชมยินดี ศาสนาพุทธสอนเราให้เลือกความจริงเพราะความฝันจะสลายได้เมื่อเราตื่นขึ้นมาเผชิญหน้ากับความจริง ศาสนาพุทธต้องการให้เรามองดูชีวิตให้ทะลุปรุโปร่ง และใช้ความจริงเป็นพื้นฐานของการสร้างความสุขให้เกิดขึ้น
แก่นธรรมที่หลวงพ่อเน้นเป็นพิเศษเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสุขความทุกข์ของมนุษย์ความสุขและความทุกข์ของมนุษย์เป็นเรื่องที่ศาสนาทุกศาสนากล่าวถึงด้วยกันทั้งนั้นแต่ศาสนาพุทธแตกต่างจากศาสนาอื่นในข้อที่ไปขุดค้นและพบสาเหตุรากเหง้าของความทุกข์ภายในจิตใจของมนษย์สาเหตุภายนอกของความทุกข์ เช่น ภัยธรรมชาติ (อุทกภัย วาตภัย)เป็นเรื่องของธรรมชาติที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้เต็มที่ เพราะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยธรรมชาติที่เป็นของมันอย่างนั้น แต่สาเหตุของความทุกข์ที่อยู่ภายในจิตของมนุษย์เป็นสิ่งที่ควบคุมและกำจัดได้ด้วยความสามารถของมนุษย์เอง
ไม่มีศาสนาใดที่เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์มากกว่าศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธเชื่อว่ามนุษย์มีความสามารถที่จะช่วยตัวเองให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้จนหมดสิ้น จนในที่สุดสามารถพบความสุขและเสรีภาพที่สมบูรณ์แบบได้ด้วยตัวเอง ความเชื่อมั่นนี้ไม่ได้เป็นความเพ้อฝันที่ให้ความสำคัญแก่มนุษย์มากกว่าที่เป็นจริง เพราะเป็นความเชื่อที่ได้ผ่านการทดสอบแล้วจากประสบการณ์ของพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย
นอกจากนั้นศาสนาพุทธยังมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนให้เราแต่ละคนใช้พิสูจน์ความเชื่อดังกล่าวด้วยประสบการณ์ของตัวเองอีกด้วย
คนทุกคนแสวงหาความสุขให้แก่ตัวเอง
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ช่วยคนให้ประสบความสำเร็จในการแสวงหาดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่มีผู้พบเห็นว่าชาวพุทธเป็นคนมีความสุข มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสและสดชื่นรื่นเริง ไม่มีใบหน้าดำคร่ำเครียดหรือหดหู่เช่นที่เข้าใจ
(ผิด) กัน ยิ่งปฏิบัติตามคำสอนของศาสนามากเท่าไร ชาวพุทธก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น
ถ้าหากจะพูดว่าชาวพุทธเป็นคนที่มีความสุขที่สุดในโลก ก็คงจะไม่เกินความจริง ทั้งนี้เพราะศาสนาพุทธมีคำสอนที่ช่วยให้คนทุกคนที่อยู่ในความทุกข์มีความสุขได้ตามความสามารถและความต้องการ เช่น ศาสนาพุทธมีคำสอนสำหรับผู้ครองเรือนให้ปฏิบัติเพื่อจะได้มีความสุขจากสิ่งต่าง
ๆ ที่โลกถือว่ามีความสำคัญต่อชีวิต
เช่นการมีอำนาจการมีทรัพย์ การใช้ทรัพย์ การรักษาทรัพย์ การมีมิตรภาพ เกียรติยศชื่อเสียง ชีวิตแต่งงานและครอบครัว
และการมีความสำเร็จในอาชีพการงาน ความสุขจากการมีสิ่งเหล่านี้เป็นความสุขทางโลกที่ไม่คงทนถาวร แต่มีความสำคัญต่อชีวิตของคนทั่วไปที่มีความทุกข์อยู่แล้วโดยธรรมชาติ
ทำให้คนมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ การปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาพุทธ จะช่วยให้เรามีความสุขจากสิ่งต่างๆ
ที่กล่าวมานานที่สุดที่จะเป็นได้ คำสอนเรื่องสันโดษจะทำให้เราพอใจในความสุขที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะมากหรือน้อยหรือจะยาวนานแค่ไหน
เลิกยึดความสุขในอดีตที่เกิดขึ้นและสิ้นสุดลงแล้วหรือเลิกเพ้อฝันถึงความสุขในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นแเละเมื่อความสุขทางโลกประเภทต่างๆ หายไป (ซึ่งจะต้องหายไปอย่างแน่นอนเช่นเดียวกับดอกไม้ที่จะต้องโรยรา) เราก็ไม่เศร้าโศกเสียใจจน
กินไป เพราะสามารถใช้ความพยายามแสวงหาความสุขอื่นมาทดแทนได้
สำหรับผู้ที่ต้องการมีความสุขที่คงทนถาวรกว่าความสุขทางโลกศาสนาพุทธมีคำสอนอีกประเภทหนึ่งเพื่อบุคคลดังกล่าวนี้โดยเฉพาะ
โดยให้เรามีความสุขเป็นระยะ ๆ เริ่มต้นจากการที่เรามีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะแสวงหาความสุขที่สูงกว่าความสุขทางโลก ความตั้งใจแน่วแน่นี้เป็นความสุขาประเภทหนึ่งที่เกิดจากการมีใจแช่มชื่นเมื่อรู้ว่าตนทำถูกที่หันเหมาแสวงหาสิ่งที่ดีงามในศาสนาพุทธ เมื่อมีศรัทธาในพระรัตนตรัยเราก็จะมีความสุขมั่นคงขึ้น ความสุขที่เกิดจากการมีศรัทธานี้ไม่ใช่เป็นความสุขจากความงมงาย เพราะศรัทธาในศาสนาพุทธเป็นผลจากการใช้ประสบการณ์ทดสอบคำสอนของพุทธศาสนาที่ว่าชีวิตคือความทุกข์ว่ามีความจริงมากน้อยเพียงใด เมื่อได้วิเคราะห์ทดสอบแล้วว่าชีวิตที่แท้จริงเป็นดังคำสอนของพระพุทธเจ้า ความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธองค์จึงเกิดตามมา การมีศรัทธาดังกล่าวทำให้เกิดความสุขที่เรียกว่าโสมนัสหรือความแช่มชื่นสบายใจที่เกิดจากการรู้ว่าหนทางที่จะพ้นทุกข์นั้นมีอยู่แน่นอน ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง
ดังนั้น หากเราปฏิบัติตามแล้วเราจะพ้นทุกข์ได้เช่นกัน เมื่อเราลงมือปฏิบัติตามคำสอนเราจะมีความสุขเพิ่มขึ้นเรื่อย
ๆ ตามลำดับ เริ่มจากมีปีติหรือความอิ่มเอิบใจ มีความสงบกายสงบใจ
(ปัสสัทธิ) มีจิตปลอดโปร่งเป็นอุเบกขา (อยู่ในสภาวะธรรมชาติ) ไม่มีทั้งอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ มีความสุขที่เกิดจากการมีจิตสงบและมีเอกัคคตารมณ์ (สมาธิ) มีปัญญารู้แจ้งเข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง
(ทิฏฐิวิสุทธิ) มีความหน่าย (ไม่เพลิดเพลินติดใจ) ในสังขารทั้งปวงที่เป็นโทษ
(นิพพิทา) มีความไม่ติดพันไม่ยึดติดในสิ่งใด (วิราคะ) มีความหลุดพ้นจากอวิชชา(วิมุตติ) และมีการดับกิเลสตัณหาอุปาทาน (อรหัตผล) ความสุขระดับต่าง ๆ นี้เป็นความสุขที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยวัตถุ เริ่มต้นจากความสุขระดับธรรมดาที่เกิดจากความอิ่มเอิบใจ ความสงบกายใจไปจนถึงความสุขที่ สมบูรณ์แบบ คือการหลุดพ้นจากโลภโกรธหลงที่ร้อยรัดชีวิตเข้ากับสังสารวัฏความสุขประเภทต่าง
ๆ เหล่านี้เป็นความสุขท่ามกลางความทุกข์และมีความเกี่ยวพันกันเป็นสายโซ่เป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทั้ง ๆ ที่ชีวิตคือความทุกข์ ชาวพุทธสามารถมีความสุขได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ครองเรือน
อุบาสก อุบาสิกา หรือพระภิกษุสงฆ์ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาเดียวที่ช่วยให้มนุษย์มีความสุขได้จากการกระทำของตัวเอง
ไม่ต้องอาศัยอำนาจภายนอกหรืออำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น เช่น ในเรื่องของความสุขทางโลก
เราต้องรู้จักใช้สิ่งที่มีอยู่อย่างฉลาด เช่นใช้อำนาจจากการมีฐานะตำแหน่งช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์หรือเมื่อมีทรัพย์สิน
เงินทองก็รู้จักแบ่งทรัพย์ที่มีออกเป็น ๔ ส่วนคือ ส่วนหนึ่งใช้เลี้ยงตนและทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นอีก
๒ ส่วนใช้ลงทุนเพื่อเพิ่มพูนทรัพย์และเก็บอีกส่วนหนึ่งไว้ใช้ยามจำเป็น และถ้าหากในการใช้ทรัพย์นั้นเราไม่ใช้ให้เกินฐานะหรือรายได้เราก็
จะมีความสุขยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องเป็นหนี้สินผู้ใด
นอกจากนั้นความสุขทางโลกจะมีมากขึ้น ถ้าหากเรามีความประพฤติดีงามมีศีลและรู้จักให้ทานสงเคราะห์ผู้อื่นตามกำลังที่เราจะทำได้ ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวไว้ว่า "สีเลน สุคติง ยันติ สีเลน โภคสัมปทา" บุคคลใดปฏิบัติศีลย่อมมีความสุขเป็นธรรมดา
บุคคลใดรักษาศีลบริสุทธิ์แล้ว บุคคลนั้นจะมีทรัพย์สินเยือกเย็นบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ ในทำนองเดียวกันในเรื่องของความสุขทางธรรมที่
ไม่อาศัยวัตถุ เราต้องสร้างขึ้นมาเองด้าย
การกระทำของเราเช่นกัน โดยเริ่มจากการมีศรัทธาในพระรัตนตรัย การสงบกาย สงบใจและการมี
ปัญญารู้ว่าชีวิตที่แท้จริงเป็นอย่างไร ไปจนถึงการไม่หลงใหลยึดติดในสิ่งสมมติต่าง
ๆ Ltละการมีจิตอิสระจากกิเลสตัณหาอุปาทาน
จึงอาจสรุปได้ว่าในพุทธวิทัศน์ของหลวงพ่อความสุขเป็นสิ่งที่คนแต่ละคนสร้างขึ้นมาเองไม่มีผู้ใดจะช่วยให้ผู้อื่นมีความสุขได้
ผู้ใดต้องการมีความสุขผู้นั้นต้องทำใจของตนให้มีความสุขเอง ตัวอย่างที่มองเห็นได้ง่ายในชีวิตประจำวันคือความจริงที่ว่าความทุกข์มักเกิดจากการมีคนอารมณ์ที่ไม่ดี เช่น ความโกรธ ความเกลียด ความวิตกกังวล และจากการมีทัศนคติ
คับแคบมองดูสิ่งต่าง ๆ ในแง่มุมเดียวเดียว ในเรื่องความโกรธและความเกลียดนั้น อารมณ์นี้เป็นเหมือนศัตรูภายในที่สามารถทำอันตรายให้แก่เราได้มากที่สุดทั้งทางกายและทางใจ ดังนั้นเราจึงควรหาทางควบคุมและกำจัดอารมณ์นี้ก่อนที่จะสายเกินไป ก่อนที่เราจะเป็นคนก้าวร้าวและใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหาต่างๆ การที่จะห้ามไม่ให้คนโกรธและเกลียดนั้นคงทำไม่ได้แน่นอน แต่ถ้าหากเราเก็บอารมณ์นี้ ไว้โดยไม่หาทางทำอะไรเลยความโกรธ และความเกลียดก็จะมีกำลังมากขึ้นจนควบคุมไม่ได้ เมื่อเราโกรธและเกลียดอะไร คนมักจะแนะนำให้เราระบายความโกรธและความเกลียดออกมา
เช่นด้วยการขว้างปาสิ่งของต่าง ๆ หรือตะโกนด่าว่าคนที่เราโกรธและเกลียดเมื่อเราอยู่คนเดียว เพราะเชื่อว่าวิธีดังกล่าวนี้จะทำให้ความโกรธและความเกลียดลดปริมาณลง เช่นเดียวกับไอน้ำที่เมื่อถูกปล่อยออกไปบ้างจะไม่อัดแน่นจนทำให้หม้อระเบิด
แต่พุทธศาสนามองเห็นว่า วิธีดังกล่าวไม่ได้ทำให้ความโกรธและความเกลียดหายไป ความโกรธและความเกลียดที่มีอยู่ในตัวเราและที่มีการแสดงออกนั้น สามารถจะเกิดขึ้นมาอีกได้ภายหลัง การปล่อยให้อารมณ์นี้มีการแสดงออกเหมือนกับเป็นการเลี้ยง
อารมณ์นี้ให้อยู่ต่อไปในตัวเรา เมื่อมีอะไรมากระตุ้นก็จะแสดงตัวให้ปรากฏอีก วิธีที่ศาสนาพุทธใช้ในกรณีนี้คือการเตรียมตัวให้ดีก่อนที่อารมณ์โกรธและเกลียดจะเกิดขึ้น เช่นด้วยการฝึกจิตให้รู้จักสงบโดยมีความเมตตาและขันติเป็นพื้นฐาน
เมื่อความโกรธและความเกลียดเกิดขึ้น จิตที่ฝึกฝนไว้แล้วจะสามารถเผชิญหน้ากับความโกรธและความเกลียดด้วยความสงบและสามารถวิเคราะห์ธรรมชาติของอารมณ์นี้อย่างถี่ถ้วน เมื่อมองเห็นว่าความโกรธและความเกลียดเป็นอารมณ์ที่เป็นพิษเป็นภัยแก่ตัวเรา
ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่เราจะมีอารมณ์นี้ นอกจากนั้นการมีความเมตตา ความอดทนและขันติที่บ่มเลี้ยงมาจะช่วยให้อารมณ์โกรธและเกลียดหายไปได้ง่ายขึ้น เพราะความเมตตาทำให้เรามีความปรารถนาดีต่อผู้ที่ทำให้เราโกรธและเกลียด ขันติทำให้เรามีความอดทนต่อคำพูดที่ร้ายแรงของคนอื่น ทำให้เราเป็นคนมีเหตุผลและเคารพความแตกต่างของผู้อื่น
ไม่ยึดตัวเองเป็นใหญ่ ดังนั้นถ้าหากเราต้องการให้ตัวเองมีความสุขเราจึงต้องปรับเปลี่ยน
อารมณ์ที่ไม่ดีเช่นความโกรธและความเกลียดให้เป็นอารมณ์ที่ดีเช่นความเมตตาด้วยตัวเอง เมื่อจิตทรงอารมณ์ที่ดี ปฏิกิริยาหรือ ทัศนคติที่เรามีต่อสิ่งต่าง
ๆ ก็ดีไปด้วย ไม่นำความทุกข์มาให้แก่ตัวเราและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ในเรื่องของความหวาดกลัวและวิตกกังวลนั้นก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ความวิตกกังวลเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุทั้งทางกายและทางใจ ในกรณีที่มีฐานจากกาย (เช่นจากประสาทหรือการขาดสารเคมีในสมอง)
การใช้ยารักษาเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้จิตไม่เอนเอียงไปทางอารมณ์นี้ แต่ในกรณีที่ความหวาดกลัวและความวิตกกังวลเป็นเรื่องของจิตใจอย่างเดียว พุทธศาสนาแนะนำให้เราแก้ไขด้วยการใช้ปัญญาและการปรับเปลี่ยนอารมณ์ เช่นเมื่อเราทำอะไรลงไปแล้วมีความหวาดกลัวและวิตกกังวลว่าคนอื่นจะมองดูเราหรือมีความคิดเกี่ยวกับเราในแง่ไม่ดี เราก็ต้องหันมาพิจารณาดูที่เจตนาของการกระทำนั้นเป็นสำคัญ
ถ้าหากว่าเราทำสิ่งนั้นด้วยความปรารถนาดีหรือความเมตตาที่มีต่อผู้อื่นอย่างแท้จริงการกระทำนั้นไม่ได้เกิดจากความเห็นแก่ตัวหรือมุ่งร้ายผู้ใด และเราได้ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองแล้วอย่างรอบคอบที่สุดที่มนุษย์ปุถุชนจะทำได้
เราก็ไม่ควรหวาดกลัวหรือ วิตกกังวลว่าจะมีผู้พูดถึงเราอย่างไร หรือผลจากการกระทำจะเป็นอย่างไร เจตนาที่ดีมีความสำคัญมากในพุทธศาสนาและเป็นที่มาของความสุข
ถึงแม้ว่าภายหลังเราพบว่าเราไม่ประสบความสำเร็จตามความคาดหมาย แต่เราก็สามารถมีความสุขได้เพราะมีความเมตตาเป็นฐานแต่ถ้าหากเราทำได้สำเร็จจนมีผู้ยกย่องความสุขที่ประณีตจะไม่เกิดขึ้นถ้าหากเราทำสิ่งนั้นเพราะความเห็นแก่ตัวแต่อย่างเดียว
ความหวาดกลัวและความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ จะหายไป
ถ้าหากเรายอมรับความจริงว่าขึ้นชื่อว่ามนุษย์แล้วทุกคนย่อมทำความผิดพลาดได้
ในกรณีที่มีความผิดพลาดเกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่ได้ทำดีที่สุดแล้ว เราต้องพยายามแก้ไขเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้าหากไม่มีทางแก้ไขได้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรจะไปวิตกกังวล เพราะถึงจะวิตกกังวลมากเพียงใดก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา ในกรณีเช่นนี้เราต้องปรับเปลี่ยนอารมณ์วิตกกังวลให้เป็นอารมณ์อุเบกขาจึงจะมีความสุข
สำหรับทัศนคติคับแคบที่เป็นสาเหตุหนึ่งของความทุกข์นั้น เกิดจากการยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างเช่นกัน
อันมีผลให้เรามีจิตใจคับแคบ มองดูสิ่งต่าง ๆ จากมุมมองของเราเท่านั้น
เมื่อทำอะไรลงไปก็วิตกกังวลว่าการกระทำนั้นจะไม่เกิดผลตามที่เราต้องการ
และเมื่อผิดหวังที่สิ่งนั้นไม่เป็นไปตามความต้องการหรือความคิดที่เรายึดถือ เราก็โมโหและมีความทุกข์ ในกรณีเช่นนี้ศาสนาพุทธกล่าวว่าสาเหตุของความทุกข์ คือความหลงผิดที่ทำให้เกิดการยึดมั่นใน "อัตตา"
หรือใน "ตัวกู ของกู" ซึ่งเป็นสิ่งสมมุติและเกิดอุปาทานหรือการหลงใหลในสิ่งต่างๆ
ยิ่งมี อุปาทานมากเท่าใด ความหวาดกลัวและวิตกกังวลว่าจะสูญเสียสิ่งนั้นย่อมมีมากขึ้น
ในขณะเดียวกันก็หวาดกลัวและวิตกกังวลว่าจะพบสิ่งที่ไม่น่าชื่นชมยินดีเช่นกลัวความมืด
กลัวความสูง กลัวผี ความหวาดกลัวและวิตกกังวลต่าง
ๆ ที่เรามีอยู่เป็นเรื่องของการยึดมั่นในอัตตา ความต้องการที่จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามความต้องการของเรา
แต่ถ้าหากจิตได้รับการฝึกฝนมาแล้วจะมีปัญญารู้แจ้งตามความเป็นจริง
เราจะรู้ว่าการพลัดพรากจากสิ่งที่น่าชื่นชมยินดีหรือคนรักเป็นเรื่องที่หลีกหนีไม่ได้
และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ไม่มีผู้ใดห้ามหรือบังคับให้เป็นอย่างอื่นได้
ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีการสิ้นสุดลงในเวลาใดเวลาหนึ่ง
ดังนั้นการวิตกกังวลว่าเมื่อเราไม่อยู่แล้วหน่วยงานเราจะอยู่ไม่ได้จึงเป็นการสร้างความทุกข์ให้แก่ตัวเอง
เพราะในโลกนี้ไม่มีผู้ใดที่แทนกันไม่ได้ แม้จะไม่มีผู้นั้นอยู่โลกก็จะหมุนต่อไป
ดังนั้นการมีจิตใจเปิดกว้าง ไม่มองดูสิ่งต่าง ๆ ตามมุมมองของเราเท่านั้น
ยอมรับความเป็นจริงของโลกและยอมปรับเปลี่ยนมุมมองให้สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตที่มีความสุข จิตใจที่เปิดกว้างไม่มีตัวเราเป็นศูนย์กลาง นอกจากจะทำให้ไม่มีความหวาดกลัวและวิตกกังวลแล้ว ยังเป็นที่มาของความสุขจากมนุษยสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นชีวิตครอบครัวหรือชีวิตในสังคมทั่วไปด้วย ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าความสุขและความทุกข์ของมนุษย์ขึ้นอยู่กับการกระทำของมนุษย์เอง
ศาสนาพุทธเรียกการกระทำที่เป็นบ่อเกิดของความสุขและความทุกข์ว่ากรรม
แก่นธรรมอีกอย่างหนึ่งที่เป็นหัวใจของคำสอนของหลวงพ่อคือกฎแห่งกรรม คำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมเป็นคำสอนที่เข้าใจได้ยากสำหรับคนที่นับถือ
"พระเจ้า" เป็นสรณะสูงสุด และเชื่อว่า "พระเจ้า"
เป็นผู้สร้างโลกและมนุษย์ขึ้นมา และเป็นผู้กำหนดทิศทางความเป็นไปของโลกและชะตากรรมของมนุษย์แต่ละคนไว้ล่วงหน้า ทำให้มนุษย์ไม่สามารถลิขิตชีวิตให้เป็นไปตามความต้องการของตัวเอง หรือช่วยตัวเองให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ด้วยความสามารถของตัวเอง
พุทธศาสนามีคำสอน ตรงข้ามกับความเชื่อที่กล่าวมาทั้งหมด คือไม่สนับสนุนส่งเสริมให้มนุษย์นับถือ "พระเจ้า" เป็นต้น แต่เน้นความสำคัญของกฎธรรมชาติ (นิยาม)
และความสามารถของมนุษย์ที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นอริยบุคคล และมีอิสรภาพสมบูรณ์ได้
พุทธศาสนาสอนให้มนุษย์มีความรับผิดชอบต่อชะตากรรมของตนเอง และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
ด้วยสติปัญญาของตนเองการกำหนดให้กฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติ ทำให้ศาสนาพุทธไม่ต้องอธิบายต่อไปว่ากฎแห่งกรรมเกิดขึ้นได้อย่างไร
อยู่ที่ไหน ทำไมจึงมีอำนาจเช่นนั้น เพราะกฎแห่งกรรมมีลักษณะเหมือนกฎธรรมชาติอื่น
เช่น กฎแห่งความโน้มถ่วง คือเป็นสิ่งที่เป็นของมันอย่างนั้น (อิทัปปัจจยตา)
อย่างไรก็ตามมีผู้สงสัยว่าทำไมกรรมหรือการกระทำที่จงใจจึงมีผลกรรมที่มีอำนาจมากมายเช่นสามารถข้ามกาลเวลาและอวกาศไปสร้างนามรูปในภพภูมิต่าง
ๆ ให้มีลักษณะหนึ่งลักษณะใดได้
นอกจากนั้นหากการกระทำไม่ส่งผลดีหรือผลชั่วเช่นการกระทำของพระอรหันต์ กรรมยังมีอำนาจที่จะตัดสายใยของชีวิตที่ผูกติดกับสังสารวัฏได้เด็ดขาด ทำให้ชีวิตนั้นไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป อำนาจและการทำงานของกรรมเป็นเรื่องที่คนทั่วไปไม่เข้าใจและสงสัยว่า
ถ้าหากไม่มีดวงวิญญาณอยู่ในตัวคนที่จะตาย อะไรไปเกิดใหม่ แม้แต่ชาวพุทธเองก็ยังเชื่อว่าสิ่งที่ไปเกิดใหม่คือดวงวิญญาณโดยมีกรรมเป็นสิ่งกำหนดนามรูปให้แก่ชีวิตใหม่ดังที่เราชอบพูดกันในงานศพว่า "ขอให้วิญญาณของผู้ตายไปสวรรค์" ความเชื่อเช่นนี้ขัดแย้งกับคำสอนเรื่องอนัตตาของพุทธศาสนาที่ปฏิเสธว่าในขันธ์
๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) มีดวงวิญญาณที่เป็นอมตะอยู่ ในคำสอนของศาสนาพุทธ วิญญาณหรือจิตเป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ ๕ (วิญญาณขันธ์)
ดังนั้นจึงเป็นสิ่งไม่เที่ยงไม่คงทนโดยธรรมชาติเช่นเดียวกับขันธ์อื่น ๆ
การที่ศาสนาพุทธอธิบายเรื่องของการเกิดใหม่ว่าเป็นเรื่องของกรรมวิบากหรือพลังกรรมเท่านั้น ไม่มีอะไรไปเกิดใหม่ (อนัตตา) และพลังกรรมนี้ปรากฏอยู่ในการสืบต่อไประหว่างจิตที่กำลังเคลื่อนจากสภาวะปัจจุบัน
(จุติจิต) และจิตที่อยู่ในสภาวะใหม่ (ปฏิสนธิจิต)
นั้นเกินความสามารถที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ ดังนั้นความเชื่อเรื่องดวงวิญญาณไปเกิดใหม่จึงยังคงมีอยู่ในบรรดาชาวพุทธที่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม
นอกจากพุทธศาสนาจะใช้กฎแห่งกรรมอธิบายการเกิดใหม่แล้วศาสนาพุทธยังใช้กฎแห่งกรรมอธิบายความแตกต่างของมนุษย์ในเรื่องต่าง ๆ ทั้งทางกายและทางใจ เช่นอธิบายว่าการที่มนุษย์มีร่างกาย ความสามารถและฐานะความเป็นอยู่แตกต่างกันเพราะทำกรรมมาไม่เหมือนกัน
กฎแห่งกรรมจึงทำหน้าที่เป็นกฎทางจริยธรรมที่ค้ำจุนความยุติธรรมให้มีอยู่ในโลก
ด้วยการแยกความดีความชั่วออกจากกันอย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งกำหนดให้คนแต่ละคนได้รับ
"ผล" จากการกระทำของตนเป็นสัดส่วนกับความดีความชั่วที่มีอยู่ การที่พุทธศาสนาโยงกฎแห่งกรรมเข้ากับการเวียนว่ายตายเกิดในชาติต่าง
ๆ ทำให้ความสงสัยว่าคำสอนเรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั้นเป็นความจริงหรือไม่หายไป เพราะผลของกรรมดีและกรรมชั่วนั้นมีหลายสาเหตุ และอาจแสดงให้เห็นในปัจจุบันหรือในชาติภพต่อไปได้ นอกจากนั้นความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดยังทำให้มนุษย์มีโอกาสที่จะแก้ตัว " จากความผิดพลาดในอดีตได้หลายครั้ง ถ้าหากไม่มีการเวียนว่าย ตายเกิดแล้ว คนดีจะได้รับผลตอบแทนดีชั่วนิรันดร
และคนชั่วก็จะถูกลงโทษชั่วนิรันดรเช่นกัน วิธีอธิบายเรื่องต่าง ๆ
ที่กล่าวมาโดยใช้กฎแห่งกรรมเป็นพื้นฐาน
เป็นของใหม่สำหรับชาวตะวันตกที่เติบโตมาในวัฒนธรรมของศาสนาคริสต์ มีจิตใจความนึกคิดหล่อหลอมด้วยคำสอนในศาสนานี้ ดังนั้นจึงเข้าใจเรื่องกฎแห่ง
กรรมและสังสารวัฏได้ยาก และมักเข้าใจ
(ผิด) กันว่าในพุทธศาสนากฎแห่งกรรมเป็น
"พระเจ้า"
ที่บังคับคนแต่ละคนให้มีชีวิตเป็นไปตามชะตากรรมที่กำหนดไว้ล่วงหน้าและเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ นอกจากนั้นการที่พุทธศาสนาเน้นกรรมส่วนบุคคลโดยสอนให้คนแต่ละคนรับผิดชอบชีวิตของคนเองเต็มที่นั้น
ทำให้เข้าใจ (ผิด) ด้วยว่าพุทธศาสนาปัดความรับผิดชอบที่สังคมและรัฐบาลพึงมีต่อคนในสังคมออกไป เพราะสอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนแต่ละคนนั้นเป็นเรื่องของ
"กรรม" ที่ผู้นั้นได้ทำไว้เอง ความเข้าใจผิดนี้จะหมดไปเมื่อเราศึกษาคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมให้ลึกซึ้ง เพราะคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมในศาสนาพุทธเน้นความสำคัญูของสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับผลหรือแรงกรรมกล่าวคือสอนว่าวิบากกรรมในอดีตของคนแต่ละคนจะแสดงผลให้ปรากฎในปัจจุบัน มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการที่ตัวเราและ/หรือผู้อื่นสร้างขึ้นมาในปัจจุบัน
เช่นความทุกข์จากความยากจนที่เรากำลังประสบอยู่
และเป็นผลจากการกระทำไม่ดีของเราในอดีตจะลดน้อยลง ถ้าหากสิ่งแวดล้อมในสังคมที่อยู่ดี เช่น มีองค์กรเอกชนและรัฐบาลให้ความช่วยเหลือเรืองสวัสดิการแก่คนยากจน
ดังนั้น ในกรณีของคนยากจน สังคมและรัฐบาลจึงมีพันธะหน้าที่ที่จะสร้างปัจจัยต่าง ๆ
ในสังคมขึ้นมาบรรเทาความทุกข์ยากลำบากของคนจน ในทำนองเดียวกันโรงงานต่างๆ ก็มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่คนงาน และให้ความช่วยเหลือแก่คนงานที่ประสบอันตรายในการปฏิบัติงาน ในเรื่องของทารกที่พิการแต่กำเนิดบิดามารดามีหน้าที่เลี้ยงดูลูกที่พิการให้มีคุณภาพชีวิตมากที่สุดด้วยการให้ความรักและความเอื้ออาทรอย่างเต็มที่
แก่นธรรมต่อมาที่พบในพุทธวิทัศน์ของหลวงพ่อต่อจากกฎแห่งกรรมคือวิธีทางของการหลุดพ้นหรือบรรลุนิพพานคำสอนเรื่องนิพพานเป็นคำสอนที่เข้าใจได้ยากสำหรับคนทั่วไปเช่นเดียวกัน
เพราะคำสอนนี้เกี่ยวข้องกับคำสอนเรื่องอนัตตาที่สวนทางกับความเชื่อเรื่อง
"อัตตา" หรือความเป็นอมตะของวิญญาณที่คนทั่วไปมักจะยึดถือ พุทธศาสนาถือว่า"อัตตา"
เป็นสิ่งสมมุติไม่มีอยู่ตามธรรมชาติ เพราะเมื่อวิเคราะห์แยกองค์ประกอบของขันธ์ ๕
หรือนามรูปแล้วไม่พบ "อัตตา" หรือ "ดวงวิญญาณ"
ที่มีลักษณะเที่ยงแท้ไม่เปลี่ยนแปลงเช่นที่เชื่อกันในศาสนาฮินดูและศาสนาคริสต์
แต่พบว่าองค์ประกอบทุกส่วนมีไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง
และอนัตตาเป็นธรรมชาติทั้งนั้น คำสอนเรื่องอนัตตาเป็นคำสอนที่ไม่มีอยู่ในศาสนาใด
ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจและยอมรับได้ยาก แม้แต่ชาวพุทธเองก็มีปัญหาเกี่ยวกับคำสอนนี้
ศาสนาพุทธเห็นว่าการยึดติดในอัตตาทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ
และความหลงที่เป็นอกุศลมูล หรือบ่อเกิดของกิเลสต่างๆ วิบากกรรมจากกิเลสต่างๆ นี้ทำให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ
ในสังสารวัฏ ดังนั้นถ้าหากจะตัดขาดจากสังสารวัฏ เราจึงต้องกำจัดความโลภ ความโกรธ
ความหลงให้หมดจากจิตใจ แต่โดยเหตุที่อกุศลมูลทั้งสามนี้เกิดขึ้นจากการยึดมั่นใน
"อัตตา" ดังนั้นในการกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง
เราจึงต้องเลิกยึดมั่นใน "อัตตา" และเนื่องจาก "อัตตา"
เป็นสิ่งสมมุติที่เราสร้างขึ้นมาจาก "อวิชชา"
หรือการขาดความรู้เรื่องไตรลักษณ์ที่เป็นธรรมชาติที่แท้จริงของสรรพสิ่งทั้งหลาย ดังนั้นเราจะกำจัด
"อัตตา" ได้ด้วย "วิชชา" หรือไตรลักษณ์
"วิชชา" ทำให้ "อัตตา" กลับคืนไปอยู่ในสภาวะดังเดิมคือเป็นสิ่งสมมุติไม่มีอยู่จริง
เมื่อ "อัตตา" ที่เป็นเหมือนเสาหลักให้กิเลสต่างๆ เกาะอยู่หายไป
กิเลสตัณหาต่าง ๆ ก็พลอยหายไปด้วยเหมือนกับความมืดที่หายไปเมื่อมีแสงสว่าง ศาสนาพุทธเรียกสภาวะของจิตที่ปราศจากอัตตาและกิเลสว่า
"นิพพาน" และเรียกผู้มีจิตในสภาวะนี้ว่า "พระตถาคต" (พระพุทธเจ้า) หรือ
"พระอรหันต์" ผู้ที่มีจิตในสภาวะนิพพาน (สอุปาทิเสสนิพพาน) มีชีวิตอยู่ต่อไป
เพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่น และชื่นชมชีวิตที่มีอิสรภาพสมบูรณ์
เมื่อสิ้นชีวิตลงจิตที่ไม่มีอัตตาและกิเลสต่าง ๆ
ก็จะดับไปเหมือนกับตะเกียงที่ดับเพราะไส้ตะเกียงและน้ำมันหมด (อนุปาทิเสสนิพพาน) ดังนั้น ปัญหาที่ว่าจิตที่กล่าวมายังคงอยู่หรือไม่เมื่อนามรูปดับไปแล้ว
จึงเป็นปัญหาที่ไม่สมควรจะถาม
เพราะในทัศนะของพุทธศาสนาการเกิดเป็นเรื่องของแรงกรรมที่มีอัตตาและกิเลสเป็นฐาน เมื่อไม่มีปัจจัยให้เกิด การเกิดก็ไม่สามารถมีขึ้นได้
การที่พุทธศาสนานิกายมหายานเรียกจิตในสภาวะนิพพานว่า "สุญตา" หรือ "ธรรมชาติของพุทธ" หรือ
"จิตเดิม" ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าจิตที่มีความสงบในลักษณะดังกล่าวที่ไม่มีตัวตนไม่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งใดนั้นเป็นความว่าง
คำอธิบายความหมายของนิพพานที่กล่าวมาทำให้นักวิชาการหลายคนกล่าวหาว่าพุทธศาสนามีปรัชญาความคิดแบบ
นัตถิวาท (nihilism)
ที่สอนว่าไม่มีอะไรมีอยู่ ตายแล้วสูญ
ซึ่งตรงข้ามกับปรัชญูาสัสสตาวาท (etem81ism) ที่เชื่อว่าวิญญาณหรืออัตตามีลักษณะนิรันดร์ ที่จริงแล้วศาสนาพุทธไม่ได้เอนเอียงไปทางปรัชญาสำหนักหนึ่งสำนักใด พระพุทธเจ้าทรงสอนเรืองปฏิจจสมุปบาท เพื่อชี้ให้เห็นว่าตามความเป็นจริงแล้วทุกสิ่งที่มีอยู่ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในฐานะเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน
สิ่งที่เป็น "ผล" จากการเกิดของสิ่งหนึ่งจะเป็น "เหตุ"
ที่ทำให้อีกสิ่งหนึ่งเกิดมีขึ้น อัตตาหรือดวงวิญญาณอมตะไม่มีอยู่ในธรรมชาติ
ทุกสิ่งที่มีอยู่นอกจากจะเป็นเหตุปัจจัยกันแล้วยังมีธรรมชาติเป็นไตรลักษณ์ด้วย
และถึงแม้ว่านิพพานที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของศาสนาพุทธจะเป็นสภาวะของจิตที่ว่างจากอัตตา แต่ก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์สว่างและสงบซึ่งเป็นคุณสมบัติทางสร้างสรรค์ทั้งนั้น
นอกจากนั้นนิพพานในพุทธศาสนายังไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายสิ่งต่าง ๆ ที่ปรัชญานัตถิวาท ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ
อัตตาเป็นสิ่งสมมุติไม่มีตัวตนจริง ดังนั้นจึงทำลายไม่ได้
นิพพานเกิดขึ้นเมื่อเราเลิกหรือปล่อยวางความยึดมั่นในอัตตาด้วย "วิชชา"
หรือไตรลักษณ์ ดังนั้นนิพพานจึงไม่ได้เป็นสิ่งลึกลับแต่อย่างใด
แต่กระนั้นก็มีผู้พยายามอธิบายนิพพานให้มีลักษณะตรงข้ามโดยปราศจากไตรลักษณ์เป็นฐาน เช่นอธิบายนิพพานในแนวความคิดเรื่องความเป็นอมตะของอาตมันที่สอนในปรัชญาเวทานตะของศาสนาฮินดูมาเป็นฐานของคำอธิบายโดยกล่าวว่านิพพานเป็นสภาวะที่อาตมัน
ไปรวมกับสิ่งสูงสุดหรือปรมาตมันหรือพระพรหม ในศาสนาฮินดูสภาวะนี้เกิดมีขึ้นเมื่อเราเพ่งพินิจไปในตัวเองจนพบอัตตา
(อาตมัน) ที่เป็นอมตะซ่อนเร้นอยู่ในรูปนาม คำอธิบายนี้ขัดแย้งกับคำสอนในพุทธศาสนาเรื่องอนัตตาและปฏิจจสมุปบาทเพราะเป็นการนำปรัชญาความคิดของศาสนาฮินดูมาอธิบายปรัชญาความคิดในพุทธศาสนาที่มีลักษณะตรงข้าม
อย่างไรก็ตามเราคงจะต้องยอมรับว่าปัญหาเกี่ยวกับความหมายของนิพพานยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะในคัมภีร์ต่าง ๆ ในพุทธศาสนามีคำอธิบายความหมายของนิพพานหลายอย่าง
แล้วแต่ว่าคำนี้จะอยู่ในบริบทใด
นิพพานจึงเป็นเสมือนดวงจันทร์ที่มีเมฆหมอกบังมองเห็นไม่ชัดแจ้ง
แต่เมื่อเราปฏิบัติตามหลักของไตรสิกขาหรือมรรค ๘ ที่เป็นทางไปสู่เป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนาได้ครบถ้วน เราจะทราบเองว่านิพพานหมายถึงอะไรแน่ เพราะเมื่อถึงเวลานั้นเมฆหมอกที่บังดวงจันทร์จะหายไปเอง ทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์ใสสว่างในท้องฟ้า
การปฏิบัติเป็นหัวใจของพุทธศาสนา
เพราะเป็นเครื่องมือให้พระธรรมคำสอนซึมซาบเข้าไปในจิตใจเหมือนกับลิ้นที่ได้ลิ้มรสอาหาร
การปฏิบัติที่สำคัญที่สุดคือการปฏิบัติตามมรรค ๘ ที่นำไปสู่นิพพาน
ศาสนาพุทธไม่ได้ต้องการให้เราปฏิบัติเพื่อเอาตัวรอดอย่างเดียว
แต่ให้เราใช้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้รับจากการปฏิบัติให้เป็นประโยชน์แก่ผ้อื่นและสังคมที่อยู่ด้วย การช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นทุกข์เป็นสิ่งสำคัญูที่สุดในชีวิตของชาวพุทธนิกายมหายาน เพราะเป็นการดำเนินชีวิตในแนวทางของพระโพธิสัตว์
แต่สำหรับชาวพุทธนิกายเถรวาท การบำเพ็ญภาวนาต้องมาก่อนการช่วยเหลือผู้อื่น เพราะเมื่อจิตบริสุทธิแล้วการช่วยเหลือผู้อื่นจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นอย่างแท้จริง ไม่มีเจตนาที่เห็นแก่ตัวแฝงอยู่ เราอาจยอมรับว่าการให้ความสำคัญแก่จิตภาวนามากกว่าการช่วยเหลือผู้อื่นเป็นความเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง
แต่ก็เป็นความเห็นแก่ตัวที่ไม่เป็นอันตรายแก่ผู้ใด และเป็นการเห็นแก่ตัวเพื่อจะได้ทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นเต็มที่ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งสังคมนิยมสอนให้เราทำตัวเองให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นและสังคมให้มากที่สุด
เช่น ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ไม่ได้สอนให้ทอดทิ้งสังคมเช่นที่เข้าใจ
(ผิด) กัน
ถึงแม้ว่าพระสงฆ์นิกายเถรวาทจะถือว่าจิตภาวนาเป็นหน้าที่สำคัญของพระสงฆ์แต่ในขณะเดียวกันพระสงฆ์นิกายนี้ก็ไม่ได้บำเพ็ญภาวนาจนถึงกับทอดทิ้งสังคมและไม่ช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่น ดังเห็นได้จากการที่นอกเหนือจากการสอนและการให้คำปรึกษาหารือแก่ชาวบ้านเรื่องปัญหาชีวิตเป็นประจำแล้ว พระสงฆ์จะทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อยกคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ
ให้ดีขึ้นด้วย เช่น เป็นผู้นำในการสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ธนาคารข้าว
ธนาคารกระบือ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติในการจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้
พระสงฆ์ (หรือที่รู้จักกันว่าพระพัฒนา) มีวัตถุประสงค์ที่จะให้ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองให้ได้เป็นสำคัญ
และเมื่อเห็นว่ากิจกรรมใดที่ชาวบ้านทำเองได้ พระสงฆ์ก็ถอนตัวออกจากกิจกรรมนั้นและหันไปปฏิบัติทางจิตภาวนาต่อไป
แต่เมื่อชาวบ้านไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ พระสงฆ์นิกายเถรวาทก็จะหยุดบำเพ็ญภาวนาชั่วคราว
และใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่แนะนำให้ชาวบ้านร่วมมือกันแก้ไขปัญูหาเหล่านั้นด้วยตัวเอง
เช่นกระตุ้นและส่งเสริมให้ชาวบ้านมีความมั่นใจในตัวเองให้มากขึ้น
ไม่ให้ท้อแท้หมดหวังเมื่อไม่ได้รับความช่วยเหลือจากราชการ
เมื่อชาวบ้านช่วยตัวเองได้พระสงฆ์ก็จะถอนตัวไปภาวนาต่อไป
เราอาจสรุปได้ว่าศาสนาพุทธที่ปรากฏในพุทธวิทัศน์ของหลวงพ่อที่แสดงออกในคำสอนต่างๆ นั้นเป็นศาสนาแห่งความเป็นจริงมุ่งสอนเราให้รู้แจ้งในธรรมชาติแท้จริงของชีวิตพร้อมทั้งสนับสนุนส่งเสริมให้เราเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่าชีวิตคือความทุกข์
และใช้ความจริงนั้นเป็นฐานของความสุข โดยนัยนี้ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาแห่งความสุข
มีคำสอนเกี่ยวกับความสุขระดับต่างๆ ที่เราสามารถมีได้
ตั้งแต่ความสุขจากการมีวัตถุไปจนถึงความสุขที่เกิดจากการมีจิตที่สงบ สว่างเบิกบาน
และเป็นอิสระ การที่ศาสนาพุทธให้ความสำคัญแก่การพัฒนาจิตให้มีสภาวะดังกล่าว
โดยไม่ให้อยู่ในอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง และให้มีความรักความเมตตา
ศาสนาพุทธจึงได้เชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งสันติภาพสอนคนให้อยู่ด้วยกันด้วยความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทรต่อกัน และการเคารพความแตกต่างของกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางลัทธิการเมืองหรือทางความเชื่อศาสนา ความรักความเมตตาเป็นฐานของคุณธรรมต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ด้วยสันติสุข เช่นขันติธรรมหรือการเป็นคนใจกว้างไม่ยึดถือความคิดเห็นและความเชื่อของตนเป็นสำคัญ
ความปรารถนาดีต่อกัน และการช่วยเหลือสงเคราะห์กัน นอกจากนั้นศาสนาพุทธยังเป็น ศาสนาแห่งมนุษยนิยมมีความมั่นใจในศักยภาพของมนษย์ที่จะช่วยตัวเองให้พ้นทกข์ และมีความสุขที่แท้จริงได้ด้วยการกระทำของตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจภายนอกตัว
ดังเห็นได้จากคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมหรือกรรมนิยาม ที่ให้กรรม
(หรือการกระทำที่มีเจตนาเป็นองค์ประกอบ)
ของคนแต่ละคนเป็นสิ่งกำหนดชะตากรรมของผู้กระทำ ในทำนอง "หว่านพืชไว้อย่างไรย่อมได้รับผลอย่างนั้น"
การใช้เจตนาเป็นฐานสำคัญของการกระทำที่เป็นกรรม
มีผลให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งทางสายกลาง ไม่สุดโต่งเกินความจริง
เช่นสอนว่าในการบำเพ็ญเพียรภาวนา ปัญญาที่รู้แจ้งจะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่หมกมุ่นอยู่กับกามสุข
(กามสุขัลลิกานุโยค)
หรือไม่ทรมานกายให้เดือดร้อนขั้นอุกฤษฏ์ (อัตตกิลมถานุโยค)
และสอนว่าความตายไม่ได้เป็นตายแล้วสูญ (นัตถิวาท)
หรือเป็นการที่ดวงวิญญาณที่เป็นอมตะออกจากร่าง (สัสสตาวาท)
แต่เป็นการที่จิตดวงปัจจุบันที่ใกล้ดับ(จุติจิต)
และจิตดวงใหม่ (ปฏิสนธิจิต) มีความสืบเนื่องกัน ศาสนาพุทธถือว่าชีวิตที่มีความสุขเป็นชีวิตที่อยู่ในทางสายกลางหรือความพอดี
คุณธรรมพื้นฐานในพุทธศาสนามีลักษณะเช่นนี้ เช่นความกล้าหาญอยู่ระหว่างความกล้าแบบบ้าบิ่น
และความขี้ขลาดตาขาว
สันโดษอยู่ระหว่างความไม่พอใจอะไรสักอย่างและความโลภหรือความอยากได้ไม่สิ้นสุด การที่จะรู้ว่าความพอดีอยู่ที่ไหนนั้น เราต้องใช้ปัญญาพิจารณาเอง
ซึ่งจะทำให้เรามีความคิดกว้าง ไม่ติดอยู่ที่ประโยชน์ ระยะสั้นเท่านั้น
แต่คำนึงถึงประโยชน์ระยะไกลควบคู่ไปด้วยเช่นศาสนาพุทธไม่ได้ห้ามไม่ให้เราใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
แต่เตือนให้เราใช้ด้วยความระมัดระวังและประหยัดมัธยัสถ์ ไม่ให้ใช้ด้วยความโลภ
ลักษณะอีกอย่างหนึ่งของศาสนาพุทธที่ปรากฏในพุทธวิทัศน์ของหลวงพ่อคือเป็นศาสนาแห่งเหตุผล
พุทธธรรมไม่ได้สร้างขึ้นมาจากจินตนาการของพระพุทธเจ้า แต่จากประสบการณ์และปัญญารู้แจ้งของพระองค์ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ศึกษาวิเคราะห์ได้ ด้วยเหตุนี้พุทธธรรมจึงแตกต่างจากคำสอนของศาสนาอื่นที่เป็นเรื่องของ
"ศรัทธา" อย่างเดียว พระพุทธเจ้าทรงเน้นให้พุทธศาสนิกชน ใช้เหตุผลและประสบการณ์ในการศึกษาพระธรรมให้มากและไม่ต้องการให้ผู้ใดนับถือศาสนาพุทธด้วย
"ศรัทธา" แต่อย่างเดียว เพราะความเชื่อศาสนาที่มีแต่ "ศรัทธา"
อย่างเดียวย่อมนำอันตรายมาสู่ศาสนิกชนและสังคมได้
เนื่องจาก "ศรัทธา" และ "ความงมงาย" มักจะอยู่ด้วยกัน
แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าพุทธศาสนาไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ "ศรัทธา"
หรือความเชื่อที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ พุทธศาสนาสอนว่า "ศรัทธา"
ที่แสดงออกมาด้วยการยึดมั่นในพระรัตนตรัยนั้นเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมและในการดำเนินชีวิตประจำวัน
เพราะช่วยให้เรามี "ที่พึ่งทางใจ" แต่การยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งนี้
แตกต่างจากการที่ศาสนิกชนศาสนาอื่นที่ยึดถือ
"พระเจ้า" เพราะองค์ประกอบของพระรัตนตรัยที่มีพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์นั้นมีความสัมพันธ์กันในทางเหตุผล กล่าวคือ พระพุทธ หมายถึงพระพุทธเจ้า
หรือพุทธสภาวะ (ความบริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากความเศร้าหมองทั้งปวง) พระธรรมเป็นคำสอนที่จะนำไปสู่สภาวะนี้ และพระอริยสงฆ์เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของผู้ปฏิบัติตามคำสอนจนประสบความสำเร็จ
การมีศรัทธาหรือการยึดพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่งทางใจจะเป็นผลดลบันดาลใจให้เราปฏิบัติตามพระธรรม เพราะพระอริยสงฆ์เป็น "ข้อพิสจน์" ของพระธรรมและ "พระพุทธ"
ดังนั้น ถ้าหากขาดองค์ประกอบอย่างหนึ่งอย่างใด
เช่น ขาดพระอริยสงฆ์ องค์ประกอบอื่นก็จะมีความสำคัญน้อยลงด้วย
ดังนั้นความเชื่อในพระรัตนตรัยใน พุทธศาสนา
จึงมีทั้งเหตุผลและประสบการณ์เป็นพื้นฐานสำคัญ ไม่ใช่เป็นเรื่องของ
"ศรัทธา" เท่านั้น ศาสนาพุทธยอมรับว่า "ศรัทธา"
เป็นเสมือนพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ
ได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อยหรือท้อถอย แต่ในขณะเดียวกันศาสนาพุทธก็เตือนให้เรามีศรัทธาที่มีเหตุมีผลจะไค้ไม่ตกเป็นทาสของ
"ความหลง" หรือ "ความงมงาย" ในการทำบุญ
การมีแต่ศรัทธาอย่างเดียวไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องมีเหตุผลคือใช้ปัญญาวิเคราะห์ให้รอบคอบก่อนที่จะทำบุญอะไร
มิฉะนั้นจะไม่ได้บุญตามความต้องการ
ถึงแม้ศาสนาพุทธจะได้ชื่อว่าเป็นศาสนาของเหตุผลแต่ก็ไม่ได้มองข้ามความสำคัญของอารมณ์ในชีวิต
เพราะเชื่อว่าอารมณ์และจิต (ความคิดหรือความเชื่อ) มีความสัมพันธ์กันมาก
และอารมณ์เป็นเครื่องชี้วัดว่าจิตของเราดีหรือเลว มีความสุขหรือมีความทุกข์
โตยเหตุที่อารมณ์มีความสำคัญเช่นนี้ เราจึงต้องสนใจเรื่องคุณภาพของอารมณ์ให้มาก
เราจะมีความสุขไม่ได้ถ้าหากเรามีแต่อารมณ์ที่ไม่มีคุณภาพ มีแต่ปริมาณเท่านั้น
ศาสนาพุทธแบ่งอารมณ์ออกเป็น ๒ ประเภทคือ อารมณ์อกุศล (อารมณ์ลบ) และอารมณ์กุศล
(อารมณ์บวก) อารมณ์ประเภทแรกได้แก่อารมณ์ที่เป็นอันตรายแก่ตัวเราและผู้เกี่ยวข้อง
เช่นความเกลียด ความอิจฉาริษยาและความรัก (ที่เห็นแก่ตัวเพราะเกิดจากกิเลสและราคะ) อารมณ์เหล่านี้ทำให้จิตใจมัวหมอง และนำไปสู่พฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรงได้ส่วนอารมณ์กุศลได้แก่พรหมวิหาร ๔
คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ถ้าหากจิตใจเราทรงอารมณ์เหล่านี้ได้ จิตใจก็จะสงบและมีความสุขตลอดเวลา
เมตตาทำให้เรารักคนทุกคนไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรูและรู้จักให้อภัย กรุณาทำให้เราสงสารเห็นอกเห็นใจคนอื่นและช่วยเหลือผู้นั้นให้มีความสุข
มุทิตา ทำให้เรายินดีชื่นชมในคนอื่นที่ได้ดี ไม่มีความอิจฉาริษยา
และอุเบกขาทำให้เราวางเฉยต่ออารมณ์ที่มากระทบไค้ในบรรดาอารมณ์พรหมวิหาร ๔ นี้
อารมณ์ที่คนพูดถึงกันมากคือความเมตตา (กรุณา) ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ทรงอารมณ์นี้มีความสุขแล้ว
ยังทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมีความสุขไปด้วย
ความเมตตามีผลต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายมาก ดังเห็นได้ว่าผู้ทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือผู้อื่นมักเป็นผู้มีสุขภาพทางกายและใจดีกว่าคนที่หมกมุ่นอยู่
กับตัวเอง จนไม่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นเลย
ในคำสอนของพุทธศาสนา อารมณ์อกุศลทั้งหมดที่กล่าวมามีรากเหง้ามาจากอวิชชาคือ
ความไม่รู้แจ้งเกี่ยวกับธรรมชาติแท้จริงของตัวเรา คือเชื่อ (แบบผิด) ว่า
เรามีตัวตนหรือ "อัตตา" และ "อัตตา" นี้แตกต่างจาก "อัตตา" ของผู้อื่นในทุกด้าน ความเชื่อเช่นนี้ทำให้เราเป็นคนเห็นแก่ตัว
เพราะมีศูนย์กลางชีวิตที่ "อัตตา" ของตน
ความเห็นแก่ตัวเป็นรากเหง้าของอารมณ์อกุศลทุกอย่าง
ดังนั้นในการปรับเปลี่ยนอารมณ์อกุศลให้เป็นอารมณ์กุศลเราจึงต้องมี "วิชชา" หรือปัญญารู้แจ้งเกี่ยวกับตัวเอง ไม่หลงผิด เมื่อปัญญาทำให้ความหลงหรืออุปาทานเรื่อง
"อัตตา" หายไป อารมณ์กุศลก็เข้ามาแทนที่อารมณ์อกุศลที่หายไปพร้อม
"อัตตา" เหมือนความสว่างที่เกิดขึ้นเมื่อความมืดหายไปพุทธศาสนาใช้การภาวนาเป็นวิธีสำคัญในการปรับเปลี่ยนอารมณ์
เช่น เมตตาภาวนาที่สามารถปรับเปลี่ยนอารมณ์อกุศล เช่นความเกลียดชังและความมุ่งร้ายให้กลายเป็นอารมณ์เมตตา
ขึ้นมา การภาวนาด้วยวิธีนี้จะทำให้เราสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกิดขึ้นในตัวทีละน้อย
เช่นความรักที่เรามีต่อสามี (ภรรยา) หรือลูกมีเพิ่มมากขึ้น
และเราสามารถเป็นมิตรกับคนที่เราไม่เคยเอาใจใส่มาก่อนเลยได้ ในขณะเดียวกันความเกลียดชังหรือความมุ่งร้ายที่เรามีต่อผู้อื่นก็จะลดน้อยลงและหาย
ไปในที่สุด เมื่อจิตใจเราทรงอารมณ์เมตตา เราก็สามารถแผ่เมตตาไปช่วยให้ผู้อื่นมีความสุขได้ เพราะกระแสจิตที่มีความเมตตามีพลังมาก
จนอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในตัวผู้อื่นได้
นอกจากนี้ศาสนาพุทธยังเป็นศาสนาที่ไม่ขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิวัฒนาการของชีวิตและโลก
หรือเรื่องธรรมชาติของสสาร ศาสนาพุทธอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทั้งทางวัตถุและทางจิตใจในรูปของกฎธรรมชาติ
โดยไม่อ้างอิงอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์
นอกจากนั้นคำสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ
ในธรรมชาติในฐานะเป็นเหตุปัจจัย ซึ่งกันและกัน
ยังสอดคล้องกับความคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า สรรพสิ่งต่าง ๆ ในจักรวาลล้วนแต่พึ่งพาอาศัยกัน
ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต
คงจะไม่เกินความจริงถ้าหากจะกล่าวว่าไม่มีความคิดทางวิทยาศาสตร์อะไร ตั้งแต่ความคิดเรื่องวิวัฒนาการของดาร์วินจนถึงความคิดของไอน์สไตน์ เรื่องสัมพันธภาพที่ขัดแย้งกับคำสอนในพุทธศาสนา
ไอน์สไตน์เองถึงกับกล่าวว่าถ้าหากมีศาสนาใดที่เป็นที่ยอมรับของนักวิทยาศาสตร์ศาสนานั้นคือศาสนาพุทธ ไอน์สไตน์คงไม่รู้ว่าการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ พิสูจน์หรือยืนยัน ฯ
พระธรรมคำสอนว่าเป็นความจริงมากน้อยเพียงใด ความเชื่อของนักวิทยาศาสตร์เรื่องกฎธรรมชาติ
สอดคล้องกับคำสอนของพุทธศาสนาเรื่องนิยามหรือกฎของการเป็นเหตุและผล (law of
causality ) ที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ
ในฐานะเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน แม้แต่ความคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าสสารเป็นพลังงาน ก็เป็นสิ่งที่ศาสนาพุทธกล่าวไว้ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ในทำนองเดียวกัน การค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ที่ว่าจิตมนุษย์ไม่มีดวงวิญญาณ
(soul) อยู่นั้น
เป็นการค้นพบหลังพุทธศาสนา ๒,๕๐๐ กว่าปีเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นการที่ วิทยาศาสตร์มองดูจักรวาลว่าเป็นสิ่งเกิดขึ้นเองตามขบวนการวิวัฒนาการทางธรรมชาติ ไม่มีเป้าหมายอะไรกำหนดล่วงหน้าไว้นั้น เป็นการสะท้อนให้เห็นทัศนะของพุทธศาสนาที่ถือว่าจักรวาลเป็นสิ่งกว้างใหญ่ไพศาล มีวิวัฒนาการยาวนานโดยมีกฎธรรมชาติว่าด้วยแรงดึงดูดและแรงผลักดันเป็นปัจจัยสำคัญ
จักรวาลไม่มีความหมายอะไรอยู่ในตัวเพราะไม่มีผู้ใดสร้างขึ้นมา
เป็นเพียงขบวนการทางธรรมชาติที่สิ่งต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กันในรูปของเหตุ
(เกิดขึ้นก่อน) และ ผล (เกิดภายหลัง) เท่านั้น ไม่สนใจใยดีต่อมนุษย์ว่า จะเป็นอย่างไร
ดังนั้น ในการมีชีวิตอยู่มนุษย์จึงต้องช่วยตัวเองและสร้างความหมายให้แก่ชีวิตของตนและจักรวาลด้วยการกระทำของตนเอง
การเน้นว่าศาสนาพุทธไม่ขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เป็นการยกความสำคัญของวิทยาศาสตร์ให้เหนือศาสนา การชี้ให้เห็นความสอดคล้องในความคิดทางวิทยาศาสตร์และคำสอนในศาสนาพุทธ มีวัตถุประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นถึงลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของศาสนาพุทธที่ศาสนาอื่นขาด
คือ เป็นศาสนาที่มีคำสอนไม่ขัดแย้งกับการค้นพบที่สำคัญทางวิทยาศาสตร์ ความจริงแล้ว
วิทยาศาสตร์และศาสนาพุทธต่างก็มีคุณค่าในตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงเข้าหากัน
ทั้งวิทยาศาสตร์และศาสนาพุทธต่างก็แสวงหาความรู้เกี่ยวกับโลกและชีวิตเหมือนกัน แต่มีวิธีการแสหงหาความรู้แตกต่างกัน
วิทยาศาสตร์สนใจแสวงหาความรู้เกี่ยวกับโลกภายนอก แต่ศาสนาพุทธหาความ รู้เกี่ยวกับโลกภายในตัวของมนุษย์ที่มีฐานอยู่ที่จิต ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ
ทางธรรมชาติมากขึ้น
ดังนั้นจึงไม่เป็นคนงมงาย
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อาจเปลี่ยนทัศนคติของเราที่มีต่อโลกและชีวิตและเปลี่ยนชีวิตเราให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะมีประโยชน์ต่อชีวิตมากเพียงใด
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเปลี่ยนจิตใจของมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากเพียงใด
มนุษย์ก็ยังเป็นคนเห็นแก่ตัวและอยู่ในอำนาจของความโลภ ความโกรธ และความหลงอยู่เหมือนเดิม แต่ความรู้ที่ได้จากศาสนาพุทธสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในจิตใจของมนุษย์ได้
ทำให้จิตเป็นอิสระจากกิเลสตัณหาและอุปาทานอย่างไรก็ตามวิทยาศาสตร์และศาสนาพุทธควรจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเพื่อจะได้ก่อให้เกิดองค์รวมของความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ที่ประกอบด้วยร่างกายและจิตใจ นอกจากนั้นความสัมพันธ์นี้ยังจะช่วยให้ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มีทิศทางที่แน่นอน ไม่นำอันตรายมาสู่มนุษย์และโลกที่อยู่ และในขณะเดียวกันความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะช่วยให้เราเข้าใจคำสอนของพุทธศาสนาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของจักรวาลชีวิต
และธรรมชาติของสรรพสิ่งต่างๆ อย่างเป็นระบบความเข้าใจดังกล่าวจะช่วยเสริมให้เราเห็นคุณค่าคำสอนในศาสนาพุทธมากขึ้นด้วย
ลักษณะประการสุดท้ายของพุทธศาสนาที่ปรากฏในพุทธวิทัศน์ของหลวงพ่อ
คือเป็นศาสนาที่มีหลักจริยธรรมสากลที่สามารถนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานสำหรับวัดความเจริญก้าวหน้าของคนแต่ละคนและสังคมปัจจุบันได้และสำหรับกำหนดทิศทางของการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีในเรื่องต่าง
ๆ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์ สังคม และธรรมชาติ การมีทรัพย์ อำนาจ เกียรติ และชื่อเสียง
จะมีประโยชน์อะไรถ้าหากจิตใจเรายังอยู่ในบงการของโลภ โกรธ หลง
การมีเศรษฐกิจโชติช่วงชัชวาล จะมีประโยชน์อะไรในเมื่อคนในสังคมมีแต่ความวิตกกังวล
ความกระวนกระวายใจและความว้าเหว่อ้างว้าง การพัฒนาประเทศจะมีประโยชน์อย่างไร
ถ้าหากการพัฒนานั้น นำไปสู่การเสียดุลยภาพทางธรรมชาติที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ เทคโนโลยีสมัยใหม่จะประโยชน์อะไร ถ้าหากถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อื่น
สังคม และโลกที่อยู่