คำกล่าวถวายรายงาน

ในพิธีเปิด กุฏิบุญถิ่น อัตถากร รับรองพระเถระ

 

พระครูภาวนาวิสุทธิ์

H2001

 

ขอประทานกราบเรียน พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ที่เคารพสักการะอย่างสูงยิ่ง

           

วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ฝ่ายคณะสงฆ์ขึ้นต่อตำบลบ้านแป้ง ฝ่ายบ้านเมืองทางราชการขึ้นต่อตำบลพรหมบุรี เหตุที่ฝ่ายคณะสงฆ์ขึ้นต่อตำบลบ้านแป้ง เนื่องจากวัดในเขตตำบลพรหมบุรี ไม่พอเป็นตำบลสงฆ์ จึงได้รวบรวมตำบลบ้านแป้งกับตำบลพรหมบุรี ขึ้นต่อคณะสงฆ์ ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ฝ่ายอาณาจักรมี ๗ ตำบล ฝ่ายคณะสงฆ์ในเขตอำเภอพรหมบุรีนั้นมีเพียง ๔ ตำบลคณะสงฆ์ เมื่อก่อนมีหลายตำบล

            สมัยท่านอธิบดีชำนาญ ยุวบูรณ์ เป็นอธิบดีกรมการปกครอง ได้ดำเนินงานแยกอำเภอพรหมบุรีไปตั้งเป็นอำเภอท่าช้างขึ้นอีกอำเภอหนึ่ง ก็เนื่องจากพื้นที่และประชาชนชาวพรหมบุรีนั้นกว้างไกลมาก ขยายไปถึงแม่น้ำน้อย ที่เรียกว่าเมืองสิงห์ เมืองสวรรค์ แยกย้ายเข้าไปสู่สุพรรณบุรี บ้านช้าง บ้านตาล บ้านพรานแสวงหา บ้านทุ่มบางบาล หัวตะพาน กบเจา แยกย้ายกันไปไกลทางราชการจึงตั้งอำเภอท่าช้างขึ้น

            คณะสงฆ์อำเภอพรหมบุรี จึงได้แยกออกไปเป็นอำเภอสงฆ์อีกอำเภอหนึ่ง มีหนึ่งตำบลคณะสงฆ์ แต่ตำบลบ้านเมืองมีหลายตำบล ดูเหมือนจะมี ๓ ตำบล ตำบลทางบ้านเมืองของอำเภอพรหมบุรีมี ๗ ตำบล แต่ตำบลคณะสงฆ์มี ๔ ตำบล เพราะวัดไม่พอที่จะจัดตั้งเป็นตำบลคณะสงฆ์ตามรูปแบบของทางราชการได้

            วัดอัมพวันเป็นวัดที่อยู่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานที่มั่นคงอยู่ในตู้พระไตรปิฎก เพราะตู้พระไตรปิฎกตู้หนึ่งนั้น ถวายไว้ในวัดอัมพวัน พ.ศ. ๒๒๐๐ อีกตู้หนึ่งถวายไว้ที่วัดอัมพวัน พ.ศ. ๒๓๑๐ เป็นสองตู้พระไตรปิฎก รุ่นเก่า แบบเก่า ลายรดน้ำ ลายรามเกียรติ์ สวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยของโบราณ สืบเนื่องมาจนบัดนี้

            เกล้ากระผมได้มารักษาการณ์ในตำแหน่งเจ้าอาวาส พ.ศ. ๒๔๙๙ และได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ นับถึงบัดนี้เป็นเวลา ๓๐ ปีเศษ และได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเพื่อช่วยการคณะสงฆ์มาเป็นเวลา ๑๕ ปีจนถึงปัจจุบันนี้

            วัดอัมพวันเป็นวัดเก่าแก่ ภายในอุโบสถมีหลักฐาน มีเอกสารและวัตถุยืนยันว่าเป็นของเก่าเมื่อโบสถ์ชำรุดทรุดโทรมและพังลงไป จึงได้รื้อออกมาพบศิลาจารึกแจ้งชัด มีสตางค์จีนอยู่ในโรงอุโบสถ ๗ ปีบ และจารึกภาษาจีนว่า กิมเหลียง กิมจือ

            สมัยก่อนนั้นมีเรือกำปั่นมาจอดหน้าวัดอัมพวัน มีฝรั่งมาทำการค้ากับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ เมืองละโว้แห่งลพบุรีนั้น และก็มีชาติฝรั่งฮอลันดา ได้นำเรือกำปั่นร่วมกับคนจีน มาจอดหน้าวัดนี้ ในสมัยนั้น โดยท่านเจ้าอาวาสมีนามปรากฏชัดอีก ขอประทานอนุญาตกล่าวในศิลาจารึกว่า “พระครูญาณสังวร” มีอายุพรรษาถึง ๙๙ พรรษา ที่จารึกไว้ในโรงอุโบสถเมื่อสมัยโน้น

            คนจีนมีศรัทธาเลื่อมใสต่อ ท่านพระครูญาณสังวร ที่วัดอัมพวัน จึงได้สร้างโบสถ์ถวายเป็นทรงจีนและคล้ายทรงไทย มีเครื่องลายครามมากมาย ติดช่อฟ้าหน้าบรรณกระทั่งบรรจุไว้ในโรงอุโบสถ มีหยกข้อมือของจีน มีม้าวิ่ง ๙ ตัว เพชรนิลจินดามากมาย มีสตางค์จีน ๗ ปีบ เกล้ากระผมได้เอาบรรจุไว้ในโรงอุโบสถ ที่พระเดชพระคุณได้เข้าไปนมัสการในโรงอุโบสถใหม่แล้วนั้น ซึ่งสร้างคร่อมโบสถ์เก่า ตามความมุ่งหมายของท่าน พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ อธิบดีกรมการศาสนาสมัยนั้น

            วัดอัมพวันเป็นป่าดงพงไพร มีต้นตาลมาก บริเวณหลังวัดปัจจุบันกลายเป็นหน้าวัดไปแม่น้ำเจ้าพระยาลุ่มลึก สมัยนั้นคนจีน ๒ คนมีศรัทธาในพระครูญาณสังวร ซึ่งมีอายุพรรษา ๙๙ พรรษาเชี่ยวชาญทางวิปัสสนาญาณ ตามคำโบราณที่จารึกเป็นภาษาจีนทั้งสิ้น นอกจากนั้น ฝรั่งชาติฮอลันดานั้นถือคริสต์ เป็นสหายกับคนจีนทำการค้าด้วยกันเดินทางมา มีความศรัทธาในพระเดชพระคุณท่านเจ้าอาวาสพระครูญาณสังวร ที่วัดนี้ จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตขอพระนาคปรกหินทั้งสององค์มาประดิษฐานไว้ที่โบสถ์นี้ องค์หนึ่งชื่อว่า นาคปรกหูยาน เป็นหินสีเขียว อีกองค์หนึ่งเรียกว่า นาคปรกคางคนหูตุ้ม เขมรคางคนหูตุ้ม ปรากฏว่า กลีบตอน กลีบดำ เขาจารึกไว้หมด บัดนี้เกล้ากระผมได้นิมนต์จากโรงอุโบสถนั้น พร้อมทั้งจารึกภาษาจีนเอามารักษาไว้ที่กุฏิของเกล้ากระผม ตราบเท่าปัจจุบันนี้

            อุโบสถหลังใหม่ได้สร้างอย่างประหยัดคร่อมที่เดิมไว้ สมัย พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ อธิบดีกรมการศาสนามาช่วยแนะนำการสร้างเสาที่กั้นอยู่ภายในเป็นอุโบสถหลังเก่า และขยายอาณาเขตขึ้นมาโดยท่าน พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ อดีตอธิบดีกรมการศาสนา ได้ขอพระราชทานอนุญาตให้โดยเดินเรื่องเองตลอดมา แค่ ๓ เดือนเสร็จสิ้น การผูกพัทธสีมาใหม่ ใช้เวลาเฉลิมฉลองเพียง ๖ คืนเท่านั้น พล ต.ต.สามารถ ไวยวานนท์ เมื่อสมัยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี และ พ.ต.อ.ประจันต์ พราหมณ์พันธ์ เป็นผู้กำกับการตำรวจจังหวัดลพบุรี ก็ได้มาช่วยเป็นกำลังสำคัญ จนอุโบสถได้สำเร็จตามเป้าหมาย สร้างเพียง ๑ ปี ๑๖ วันเท่านั้น สิ้นทุนทรัพย์จำนวนส่วนน้อย ไม่มีการเดือดร้อนแก่ประชาชน และพระราชทรัพย์แต่ประการใด

            เกล้ากระผมขอประทานกราบเรียนว่า อุโบสถหลังนี้ไม่มีกำแพงกำหนดเขตจำเพาะ เป็นคอนกรีตหรือสิ่งที่สวยงาม แต่มีป่าไม้ไพรวัลย์เป็นกำแพงแทน

            สำหรับพัทธสีมานั้นได้ฝากไว้ในฝาผนังอุโบสถ ถ้าใครไม่สังเกตจะไม่ทราบว่าเป็นอุโบสถที่จริงเป็นอุโบสถที่ประหยัดข้างในสะอาดหมดจด โอ่โถงเป็นที่ทัศนาควรแก่การเคารพบูชา องค์สมเด็จพระชินสีห์ศาสดาเป็นอย่างยิ่ง สามารถจะสาธิตให้นักศึกษาได้เห็นเหตุการณ์ในสังฆกรรมตามพระวินัยนิยมได้อีกด้วย

            หลังจากอุโบสถเสร็จแล้ว วัดนี้ก็ได้รับการยกย่องจากทางราชการให้เป็นวัดพัฒนา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๑ เป็นต้นมา จน พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้พัฒนาวัดและชุมชนโดยใช้หลักของพระพุทธเจ้า คือ พัฒนาจิตเพราะจิตนี้มีความสำคัญมาก ต้องเริ่มพัฒนาจิตก่อน เมื่อจิตดีแล้วก็เริ่มหาสัปปายะ เป็นการพัฒนาจิตร่วมกับการศึกษา และประกอบอาชีพการงานของท้องถิ่นชาววัดอัมพวันตลอดมา

            เมื่อก่อนนี้ชาววัดอัมพวันยากจนหาเช้ากินค่ำ บัดนี้ก็มีอาชีพการงาน มีการศึกษาดี โดยเริ่มการพัฒนาจิตด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้วก็พัฒนาตามลำดับ ใช้แนวพุทธศาสตร์ที่กินต้องสะอาด ที่ถ่ายต้องสะดวก มีความหมายมาก เกล้ากระผมจึงได้สร้างหอประชุมมาเพื่อพัฒนาการศึกษา พัฒนาจิตเพราะจิตดีแล้วก็ได้สำเร็จตามเป้าหมาย ญาติพี่น้องชาววัดอัมพวันและชาวสิงห์บุรี และบ้านใกล้เรือนเคียงก็ดำเนินตามนี้ ตามแนวพุทธศาสตร์ดังกล่าวมา อาชีพการงานก็ไม่ฝืดเคืองแต่ประการใด ทั้งยังสามารถอยู่รวมกันด้วย เมตตาธรรม เอื้ออารี เกิดความสามัคคีในสังคม เรียกว่าพัฒนาสังคมอีกด้วย นอกเหนือจากนั้นอยู่ด้วยความเมตตาธรรม เพราะมีคุณธรรมเป็นบทสำคัญ คือพัฒนาจิตดีแล้ว ท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็มิได้อยู่ด้วยความแตกแยกแปลกอะไรกัน เกล้ากระผมก็ได้ดำเนินงานพัฒนาวัดอัมพวันตามแนวพุทธศาสตร์โดยการสร้างสัปปายะ หาอาวาสที่เป็นสัปปายะเป็นที่อยู่ของสงฆ์ เป็นที่อยู่ของอุบาสก อุบาสิกา เป็นที่รับไว้เพื่อบริการในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานดังกล่าวมา นอกเหนือจากนั้นอำนวยความสะดวกในด้านอาหารโดยสัปปายะ ให้ถูกต้องตามพระวินัยนิยมบรมพุทธานุญาต จัดหาบุคลากรเป็นสัปปายะ หาพวกหาพ้อง ที่มีจิตอาวรณ์ให้อภัยเอื้ออารี เกิดความสามัคคีต่อกัน

            นอกเหนือจากนั้นแล้ว ก็เร่งรัดวิปัสสนากรรมฐานโดยภิกษุสงฆ์ องค์เณรต้องเป็นผู้นำ เป็นตัวอย่าง นับเป็นการพัฒนาที่มุ่งตรงต่อธรรมะสัปปายะ ได้ความสะดวกสบายแก่พุทธศาสนิกชน เข้าในหลักที่ว่า กิจกรรมของพระสงฆ์ต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

            พระภิกษุสงฆ์องค์เณรก็ดี ที่มาอยู่ที่วัดนี้ จะบวชน้อย บวชมากไม่สำคัญ บวชแล้วพัฒนาจิตกิจกรรมของพุทธศาสนา ก็จะได้รับผลดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นทุกประการ ผลนั้นก็ได้ปรากฏชัดแสดงออกเช่นเดียวกัน

            วัดนี้ก็กำลังทำสัปปายะ หาที่อยู่ที่อาศัย สำหรับผู้มาอบรม สี่ปีผ่านมา อบรมไปแล้วสองแสนคนตลอดกระทั่งภิกษุสงฆ์องค์เณร โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชอริยวงศาคตญาณ วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม ได้เสด็จมาที่วัดอัมพวัน ๕ ครั้งผ่านไปแล้ว เนื่องในกิจกรรมของคณะสงฆ์ มีการพัฒนาวัด ทั่วราชอาณาจักร การอบรมพระสังฆาธิการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาครวมกันที่วัดอัมพวันนี้ เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เกล้ากระผมจึงต้องหาสัปปายะเอาไว้สนับสนุนบริการของบุคลากรใหพร้อมทุกประการ จึงมีการสร้างกุฏิวิทยากรเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว เป็นกุฏิครึ่งไม้ครึ่งตึก ซึ่งเดิมใช้พักวิทยากรทั้งฝ่ายหญิงฝ่ายชาย จึงสร้างใหม่แยกฝ่ายบรรพชิตออกไปเป็นส่วนสัด แยกออกไปเป็นส่วนเขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส เขตบำเพ็ญกุศล เขตหอประชุม เพื่ออบรมบ่มนิสัย เขตศาลาบำเพ็ญกุศล เขตภาวนา กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรมาก ไม่รับแขกในเขตภาวนา มีเขตอุบาสิกา เขตแม่ชี เขตหลักฐาน เขตจัดผลประโยชน์ครบถ้วนทุกประการ

            สำหรับกุฏิหลังนี้มุ่งหมายให้เป็นกุฏิรับรองพระเถระ วิทยากรทุกระดับ ที่จะมาพักและได้รับความสะดวกในการสัปปายะ และบริการถวายการเคารพ ถวายการต้อนรับพระเถรานุเถระที่มาจากจตุรทิศทั้งสี่ กุฏิรับรองพระเถระหลังนี้ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ วัดเทพธิดาราม เจ้าคณะภาค ๓ ได้เมตตากรุณามากะกฎเกณฑ์และยกเหตุผลให้สร้าง ณ สถานที่นี้ว่าเหมาะสมดีที่สุด

            ผู้ศรัทธาเจ้าภาพได้แก่ โยมบุญถิ่น อัตถากร พร้อมด้วยคุณโยม ม.ร.ว.คุณหญิงพรรณเรือง อัตถากร และ ดร.กิ่งแก้ว อัตถากร พร้อมด้วยญาติพี่น้อง เห็นพ้องต้องกันรับเป็นเจ้าภาพขึ้นมา เลยให้ชื่อกุฏินี้ว่า “กุฏิบุญถิ่น อัตถากร รับรองพระเถระ” ด้วยความมุ่งหมายเฉพาะเจาะจงให้พระเถระวิทยากรมาพักแล้วจะได้รับความสะดวกสบาย จากการบริการของวัดเป็นสัดส่วน และจะเจริญงานการวิทยากรได้ถูกต้องทุกประการ จะมีการอบรมพระสังฆาธิการ หรือ ระดับโรงเรียนมัธยมประถมศึกษา มหาวิทยาลัยเป็นสัดส่วน ก็ได้รับความสุขความเจริญต่อประชาชนและประชาชนก็ต้องการรับ ความสะดวก หนึ่ง สองความสบาย สาม เข้ามาแล้วปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นอกเหนือจากนั้นกลับไปก็มีที่พึ่งทางใจติดตัวไป ก็ได้สำเร็จตามเป้าหมายทุกประการ

            โดยคุณโยมบุญถิ่น อัตถากร และคุณโยม ม.ร.ว.คุณหญิงพรรณเรือง ดร.กิ่งแก้ว อัตถากร ก็มาตั้งเจตนารมณ์ว่าเป็นเจ้าภาพสร้าง เพื่ออุทิศถวายหม่อมเจ้าจรัสโสม เกษมสันต์ ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณในวงศ์ตระกูลเกษมสันต์สืบต่อไป

            กุฏิหลังนี้ กว้างยาว ๓ วา ๒ ศอก เท่ากัน เป็นสี่เหลี่ยม มี ๓ ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องโถง มีห้องน้ำห้องส้วมบริการพร้อม เย็นสบาย

            ปัจจุบันนี้คุณธนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานฝ่ายของประชาชน พร้อมด้วยท่านนายอำเภอศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการอำเภอได้ร่วมกันให้การอุปถัมภ์บำรุงตลอดมา

            ฝ่ายคณะสงฆ์ก็มีท่านเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ คณะสังฆาธิการเขตสิงห์บุรีได้ให้การอุปการะตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมญาณมุนี ท่านเจ้าคณะจังหวัดลพบุรี วัดกวิศรารามท่านก็มีเมตตาอุปถัมภ์บำรุงวัดนี้เป็นพิเศษ นอกจากให้การช่วยเหลือด้วยเมตตาแล้ว ยังเมตตารับเป็นวิทยากรทุกครั้ง ถึงท่านมีอายุ ๘๔ แล้ว เป็นพระเดชพระคุณแก่วัดอัมพวันเป็นล้นพ้น

            เกล้ากระผมตั้งใจถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เข้าในหลักว่าเกล้ากระผมเป็นภิกษุสงฆ์รูปหนึ่ง ในสังฆมณฑลนี้ขอตั้งสัจจะว่า กิจกรรมของพระสงฆ์ต้องเป็นประโยชน์ของประชาชนสืบไป เพื่อประชาชนได้มาพึ่งพาอาศัย เหมือนร่มไม่ร่มไทร ได้ชื่นอกชื่นใจด้วยธรรมโอสถ ซึ่งเป็นดุจอาหารทิพย์ฉนั้น

            วันนี้เป็นวันมหามงคลชีวิต ที่จะต้องแสดงออกซึ่งการบูชาในการทักษิณาทานอุทิศถวายแก่หม่อมเจ้าจรัสโฉม เกษมสันต์ ณ โอกาสบัดนี้

            เกล้ากระผมรู้สึกซาบซึ้ง ในพระคุณของหลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นอย่างยิ่งที่ได้เมตตามาเป็นองค์ประธานเปิดป้ายกุฏิ บุญถิ่น อัตถากร รับรองพระเถระ เจ้าภาพชื่นใจพร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านศึกษาธิการจังหวัด ศึกษาธิการอำเภอพรหมบุรี พร้อมด้วยญาติโยมชาววัดอัมพวันต่างปลื้มปีติยินดีโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง

            บัดนี้ได้โอกาสอันเป็นมงคลแล้ว ขอพระเดชพระคุณหลวงพ่อได้เมตตาโปรดเปิดป้าย “กุฏิบุญถิ่น อัตถากร รับรองพระเถระ” เพื่อเป็นสิริมงคล แล้วกรุณาให้โอวาทตามสมควรแก่เวลาสืบไป........