ช้างดอกไม้ในงานเวิลด์แบงค์

ผู้จัดการฝ่ายจัดเลี้ยงโรงแรมดุสิตธานี

H6003

            โรงแรมดุสิตธานี ได้รับเกียรติให้จัดงานเลี้ยงต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมเวิลด์แบงค์ ซึ่งได้มีการจัดประชุมขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ ๗-๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๔ มีนายแบงค์จากชาติต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม ๑๑๕ ชาติ จำนวน ๕,๐๐๐ คน

            ผมเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดเลี้ยงของโรงแรม ซึ่งจะต้องรับผิดชอบในการจัดงานดังกล่าว เมื่อไปเห็นห้อง ผมก็รู้สึกหนักใจเพราะห้องใหญ่มาก ผมคิดไม่ออกว่าจะใช้อะไรมาจัดจึงจะดูเหมาะสมกับห้องที่ใหญ่ขนาดนี้ เมื่อเสร็จจากการดูสถานที่แล้ว ผมจึงได้ติดต่อกับอาจารย์ธีรวัลย์ วรรธโนทัย ซึ่งท่านเคยทำงานอยู่ที่กรมศิลปากร และปัจจุบันท่านประจำอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตอุเทนถวาย ผมปรึกษาท่านว่าให้ท่านช่วยหาอะไรสักอย่างมาแต่งห้องงานเลี้ยงนี้ และที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องเป็นเอกลักษณ์แบบไทย ๆ เมื่อผมปรึกษาท่าน ๆ เองก็ยังคิดไม่ออก ในขณะนั้น แต่ผมก็ยังใจเย็นว่ายังมีเวลาเหลืออีกเดือนหนึ่ง อาจารย์ธีรวัลย์ท่านก็รับปากกับผมว่าท่านจะช่วยคิด แต่ต้องขอเวลาสักหน่อย เมื่อเวลาใกล้เข้ามา ผมก็ได้โทรไปถามท่านอีกครั้ง วันนั้นเป็นวันศุกร์ท่านก็บอกกับผมว่าวันจันทร์ท่านจะให้คำตอบ แต่ผมมาทราบในภายหลังว่า ท่านตั้งใจที่จะปฏิเสธเพราะท่านเองไม่ทราบว่าจะทำอะไรดี

            ในคืนวันอาทิตย์นั้นเอง ท่านอาจารย์ท่านก็ฝันเพราะก่อนนอน ท่านได้จุดธูปบอกพระพิฆเนศวร ปรากฏว่าท่านได้ฝันเห็น ช้างตัวใหญ่อยู่กลางห้องประชุม ท่านสะดุ้งตื่นขึ้นในตอนตี ๓ และรีบลุกขึ้นมาร่างภาพที่ฝันเห็นเก็บไว้ทันที เช้าวันจันทร์ท่านก็โทรมาหาผมทันที และบอกกับผมว่าท่านคิดออกแล้ว ท่านจะทำเป็นช้างตัวใหญ่ ซึ่งทางผมเองก็เห็นด้วยกับท่าน

            ผมได้นำความคิดนี้ไปเสนอกับนายโดยตรงของผมคือ คุณชูพงษ์ บุนนาค ซึ่งทางคุณชูพงษ์ท่านก็บอกว่าดี เพราะโรงแรมดุสิตทำอะไรมักจะต้องเกี่ยวกับช้างอยู่เสมอ

            ผมจึงทำเรื่องขออนุมัติงบประมาณในการจัดสร้างซึ่งเป็นงบประมาณที่สูงมาก ซึ่งต่อมาเราก็ได้รับความร่วมมือจากบริษัทโค้กและบริษัทบุญรอดในการจัดสร้างครั้งนี้ด้วย ทำให้การจัดสร้างได้เริ่มขึ้น

            เมื่อเริ่มจัดทำ ก็เริ่มปรึกษากัน อีกว่าจะใช้ช้างแบบไหนดี เพราะลักษณะของช้างนั้นมีหลายแบบ ท่านอาจารย์ธีรวัลย์จึงได้ไปถามโรงหล่อ ไปพบกับคนที่เคยทำโรงหล่อของทางกรมศิลปากร ช่างหล่อคนนี้คือ คุณ มานพ อมรวุฒิโรจน์ เขาเคยเห็นแบบช้างของพระนเรศวร ซึ่งท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ปั้นไว้ ตอนที่ท่านสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เราได้เห็นแบบหนึ่งเป็น ช้างเอี้ยวตัว ชูงวง ยกขาเล็กน้อยคล้าย ๆ เป็นช้างกำลังใจดี กำลังเล่น ทักทายผู้คน ซึ่งเห็นเป็นท่าที่เหมาะสมเข้ากับงานที่เราจะต้องใช้ต้อนรับแขกพอดี เพราะเราต้องการช้างที่เป็นตัวแทนของคนไทย เราจึงตกลงเลือกแบบนี้

            เมื่อสร้างเสร็จและนำไปตั้งแสดงอยู่ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผมได้ตั้งช้างนี้บนแท่นไม้ ซึ่งได้ทำมอเตอร์สำหรับให้ช้างหมุนตัวโชว์รอบ ๆ งานและท่านอาจารย์ธีรวัลย์ก็ได้ ใช้ดอกกล้วยไม้มาติดที่ช้างทั้งตัว เต็มไปหมด ซึ่งมองดูแล้วสวยงามมาก มอเตอร์ที่ใช้จะหมุนช้างโชว์นั้น เราได้ทดลองกันแล้วอย่างเรียบร้อย หากแต่พอเริ่มงานจริง ๆ มอเตอร์สำหรับหมุนแป้นกลับขาด ไม่ทำงาน

            ผมเองไม่ได้คิดอะไร นอกจากโทษว่าเป็นความบกพร่องของตัวเอง เพราะช้างคงจะมีน้ำหนักมากเกินไป ทางฝ่ายเทคนิคได้พยายามแก้ไข แต่ทำอย่างไรก็แก้ไม่ได้ หากในส่วยของผู้รู้เขาก็บอกว่า เทพเบื้องบนลงประทับ เนื่องจากเป็นของสูง ฉะนั้นฝรั่งต้องเป็นฝ่ายเดินดูเองรอบ ๆ ไม่ใช่ให้ช้างหมุนโชว์ ผมเองก็ยังเฉย ๆ ในฐานะที่ผมเป็นผู้คุมงาน ผมจะไม่ฟังเรื่องเทพ ผมควรจะแก้ไขในความบกพร่องของงานมากกว่า

            เมื่องานเลิกและจะนำช้างกลับมาที่โรงแรมดุสิตธานี เราใช้พนักงานยกถึง ๕๐ คน เมื่อจะยกช้างลงจากแท่น แต่ยกลงมากันไม่ได้เพราะรู้สึกว่าช้างหนักมาก ทีแรกผมไม่เชื่อ แต่ก็นึกถึงว่าในตอนสร้างช้างนั้นมีการบวงสรวง เพราะท่านอาจารย์ธีรวัลย์กลัวว่าจะเสร็จไม่ทัน ซึ่งผมก็ไปไหว้พระพิฆเนศวรด้วย เพื่อความสบายใจของอาจารย์ธีรวัลย์ที่ต้องการให้ผมทำ แต่เมื่อมาถึงเวลานี้ ผมเริ่มคิดและเมื่อคิดแล้วผมจึงนำธูปที่ท่านอาจารย์ธีรวัลย์ทิ้งไว้ให้ไปจุดไหว้ แต่ผมไม่กล้าให้พวกลูกน้องเห็น เพราะกลัวพวกเขาจะคิดว่าผมเป็นอะไร ผมอายเขา แต่ในที่สุดผมก็ต้องยอมรับกับตัวเอง เพราะเมื่อผมจุดธูป ๙ ดอกปักลงกลางแจ้งและบอกว่า “ขอเชิญท่านกลับดุสิต” จะมีอะไรหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่พอผมเชิญเสร็จ ปรากฏว่ายกขึ้นได้สบายเลย และเมื่อนำกลับมาที่ดุสิต ผมก็ไปไหว้ที่ศาลดุสิต ว่าขอฝากช้างไว้ที่นี่ชั่วคราว เพราะยังไม่รู้จะทำอย่างไรกับช้างนี้ต่อไป

            ผมพยายามคิดว่าจะนำช้างนี้ไปไว้ที่ไหน เพราะผมไม่ต้องการที่จะทำลาย พอดีกับผมเคยอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับช้าง พบชื่อหลวงพ่อ ทราบว่าท่านเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ และท่านเรียนวิชาคชสาร ผมจึงคิดว่าถ้าผมจะให้วัดก็ควรจะเป็นวัดที่เขารู้คุณค่า ผมก็เลยลองดูว่า จะเป็นของท่านหรือไม่ หรือจะต้องไปอยู่ที่ใด ผมก็เลยมาที่วัดอัมพวัน สิงห์บุรี ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จัก ผมก็เข้าไปหา นำช้างหล่อตัวเล็ก ๆ ที่ทำเป็นที่ระลึกในงานประชุม ถวายหลวงพ่อ ๓ เชือก ผมก้มลงกราบท่าน ท่านมองหน้าผมแล้วถามว่าอะไร ผมก็บอกว่าช้างครับ หลวงพ่อท่านแกะออกดู ผมจึงเรียนท่านว่า ผมจะนำช้างตัวใหญ่มาถวายหลวงพ่อ ท่านไม่ว่าอะไร แต่สั่งลุงปุ่น เชยโฉม ซึ่งเป็นมรรคทายกวัด พาไปดูสถานที่ ตอนแรกผมคิดว่าจะตั้งไว้หน้าศาลา แต่ลุงปุ่นชี้ให้อยู่ข้างโบสถ์ ผมจึงกับไปเรียนหลวงพ่อท่านว่าได้ที่แล้ว ท่านก็ว่าถ้ามีที่ก็อยู่ก็จะรับไว้ ผมจึงเรียนท่านว่าผมจะนำช้างมาในวันอาทิตย์หน้าคือ วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๔ เพราะจะต้องใช้พนักงานช่วยขน ท่านก็รับทราบตามนั้น

            เมื่อผมกลับมาที่โรงแรมสั่งเรื่องรถและพนักงานที่จะขนช้างไปถวายท่าน ปรากฏว่าพนักงานไม่ว่างในวันอาทิตย์ จะไปได้ก็คือวันพฤหัสฯ ถ้าไม่ไปในวันพฤหัสฯ ก็จะต้องเลื่อนไปอีกหลายวัน ผมจึงตัดสินใจว่าจะไปวันพฤหัสฯ ทั้ง ๆ ที่ในใจรู้สึกกังวลว่านัดกับหลวงพ่อท่านวันอาทิตย์ ไม่ทราบว่าจะแจ้งให้ท่านทราบได้อย่างไรว่าจะต้องเลื่อนมาเป็นวันพฤหัสฯ กลัวว่าท่านจะตำหนิว่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่ก็ต้องไปวันพฤหัสฯ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๓๔

            บ่ายวันพฤหัสฯ เมื่อรถที่บรรทุกช้างแล่นเข้าเขตวัด ก็ปรากฏว่าหลวงพ่อนั่งรถของวัดกลับมาจากฉันเพลพอดี เมื่อคณะเราเข้าไปในวัดก็ได้เห็นว่าทางวัดทำบายศรีไว้ต้อนรับและคนในวัดต่างก็คอยรับช้างกันตามคำสั่งของหลวงพ่อที่บอกว่าช้างจะมาถึงวันนี้

            ผมเองเมื่อไปถึง ผมก็บอกว่าไม่ได้นัดไว้ว่าจะมาวันนี้ มันบังเอิญทุกคนก็บอกว่าหลวงพ่อท่านสั่งให้ทำบายศรีรับวันนี้ ทั้ง ๆ ที่คนในวัดก็ค้านกับแล้วว่าผมนัดไว้วันอาทิตย์ แต่หลวงพ่อท่านยืนยันว่าวันนี้

            เมื่อท่านมาถึงก็ทำพิธีรับ ผมถามท่านว่าท่านทราบได้อย่างไรว่าจะมาวันนี้ ท่านก็หัวเราะเฉย ไม่ตอบว่าอะไร ต่อมาผมจึงทราบจากท่านว่า ท่านอธิษฐาน เสี่ยงทายว่า ถ้าเป็นช้างของสมเด็จพระนเรศวร ให้มาในวันพฤหัสบดี

            ลุงปุ่นได้เล่าให้ผมฟังก่อนที่ผมจะพบท่านในครั้งแรก หลวงพ่อท่านฝันว่า ช้างจะเข้ามาในวัด ผมเองตัดสินใจมาหาท่านกะทันหัน ทำไมท่านฝันได้และเมื่อแจ้งท่านว่าจะนำมาวันอาทิตย์และเลื่อนมาเป็นวันพฤหัสฯ ท่านก็สั่งทำบายศรีรอรับไว้อีก ผมเองรู้สึกประหลาดใจมาก ในวันที่ผมนำช้างมาถวายนั้นผมมากัน ๑๙ คน แต่ผมนับเองที่นับผิดว่ามา ๑๖ คน หลวงพ่อท่านถามผมว่ามากันกี่คน ผมตอบว่า ๑๖ คน ท่านทำหน้ายิ้มเหมือนไม่เชื่อ แต่ก็ไม่ค้านว่าอะไร ท่านถามย้ำว่า ๑๖ คนแน่หรือ แล้วท่านก็นำเหรียญสมเด็จพระนเรศวรมาให้ผม ๑๖ เหรียญ ให้แจกกันทุกคนที่มา พอแจกเหรียญแล้ว ผมถึงได้รู้ว่าผมนับผิด ขาดไป ๓ เหรียญ และเมื่อผมมาวัดอีกครั้งในวันอาทิตย์ ลูกศิษย์หลวงพ่อได้นำเหรียญมาให้ผมอีก ๓ เหรียญ และบอกว่า หลวงพ่อท่านสั่งไว้ว่า ถ้าผู้จัดการมาให้เอาเหรียญนี้ให้!

            ได้มีผู้ที่รับอาสาจะหล่อช้างนี้ให้กับทางวัด โดยที่จะขอหล่อเป็นสองเชือก โดยผู้หล่อเองจะเก็บไว้ ๑ เชือก และให้กับทางวัด ๑ เชือก ผมจึงได้มาถามหลวงพ่อว่าต้องการที่จะให้หล่อหรือไม่ ผมรู้ว่าถ้าจะหล่อก็คือจะต้องเอาช้างตัวนี้เป็นแบบ เท่ากับล้มเขา แต่หลวงพ่อท่านไม่ต้องการ ท่านบอกว่าไม่สนใจว่าช้างตัวนี้จะทำจากอะไร ท่านสนใจในสิ่งที่อยู่ข้างในนั้นมากกว่า ท่านพูดตั้งแต่ตอนแรกแล้วว่าใครจะมาขอหล่ออย่าให้หล่อนะ ท่านไม่อนุญาต เพราะท่านคิดว่าของดีต้องมีชิ้นเดียว เราจึงปรึกษากันว่าจะตกแต่งช้างตัวเดิมนี้ให้สวยขึ้น โดยการเอาปูนมาพอกและตกแต่งเครื่องทรงให้สวย ซึ่งเราจะมาทำกันภายหลัง

            ผมเองนึกดีใจที่ตัดสินใจถูก ในการนำช้างนี้มาถวายแก่หลวงพ่อท่าน และอยากที่จะให้ทุกคนคิดว่า ช้างนี้เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ระลึกถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพราะช้างนี้เป็นช้างคู่บารมีกับพระองค์ท่าน ที่ช่วยกอบกู้บ้านเมือง

          ผู้ที่รักชาติ กู้เอกราชของชาติไม่ใช่แค่คนนะ ช้างก็มีความกตัญญูมากเช่นเดียวกัน

          ในการนำช้างมาถวายที่วัดนี้นั้น กระผมได้รับอนุญาตจาก คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย กรรมการผู้จัดการโรงแรมดุสิตธานี ผมใคร่ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้ด้วย

 

----------- จบ -----------