หลวงพ่อจรัญ
วัดอัมพวัน
พระผู้ยิ่งด้วยเมตตาธรรม
จาก
หนังสือพุทโธโลยี
P10012
ปัจจุบันนี้ ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการมีมากขึ้น และนำมาปรับปรุงความเป็นอยู่ของคนเราให้มีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ความผาสุกที่แท้จริงของคนเรา แทนที่จะทวีเพิ่มขึ้น แต่กลับลดลงอย่างน่าเป็นห่วง จะเห็นได้ว่าวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างให้มนุษย์ได้ ทั้งนี้เพราะยังมีอีกหลายอย่าง หลายเรื่องที่วิทยาศาสตร์ยังเข้าไม่ถึง เช่น เรื่องของกรรม และเรื่องของจิตวิญญาณ เป็นต้น
พระพุทธศาสนายกย่องว่า
จิตประเสริฐกว่ากาย เพราะกายเป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของจิต จิตเป็นผู้นำ
ฉะนั้นความสุขทางใจดีกว่าความสุขทุกชนิด ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความสุขอย่างอื่นที่จะยิ่งไปกว่าความสงบไม่มี การฝึกจิตในพระพุทธศาสนาเรียกว่า จิตภาวนา คือ การอบรมจิต
หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กรรมฐาน
จากกรุงเทพฯ ไปตามเส้นทางสายเอเซีย ตรงหลัก กม.ที่ ๑๓๐ เป็นที่ตั้งของวัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี วัดที่เป็นศูนย์วิปัสสนากรรมฐาน และ แหล่งฝึกฝนทางจิตอันเป็นที่รู้จักขจรขจายไปทั่วแคว้นแดนไทย ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปนมัสการพระสงฆ์ที่มีศีลาจารวัตรปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นผู้หยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าของแต่ละบุคคลได้ หาบุคคลที่จะเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้น้อยมากในสังคมปัจจุบัน ท่านคือ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม) ท่านเป็นพระอาจารย์ที่มีความเมตตาธรรมอย่างสูง มุ่งมั่นทำงาน สร้างคนด้วยธรรมะ เป็นที่รู้จักเลื่อมใสแก่พุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เมตตาบารมีของหลวงพ่อจรัญแห่งวัดอัมพวัน ซึ่งมีต่อบรรดาศิษยานุศิษย์ ทั้งฆราวาสและสงฆ์แผ่ไพศาลทุกวันนี้ เป็นที่พึ่งพิงของศิษยานุศิษย์ เป็นเนื้อนาบุญอันไพศาล หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม หรือพระราชสุทธิญาณมงคล ในฐานะผู้พัฒนาทั้งจิตใจและชีวิตของผู้คนมากหน้าหลายตา ที่ต่างก็พากันไปพึ่งบารมีธรรมของท่าน บรรพชิตก็เข้าไปสู่การอบรมสั่งสอนอันนำไปสู่ทางอันถูกต้องตามแนวแห่งวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อการบริหารงานวัดให้เจริญก้าวหน้า สร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชน ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา จุดที่เน้นคือ ประชาชนอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ด้วยปัจจัย ๔ เป็นการให้วัตถุ หลวงพ่อท่านก็ตอบแทนด้วยการให้ธรรม เช่น การแสดงธรรม สอนปฏิบัติธรรมให้ประชาชนเห็นเป็นตัวอย่าง อำนวยความสะดวกให้เหมาะสมกับกาลสมัย สิ่งที่เป็นลักษณะพิเศษของท่านที่ทุกคนยอมรับ คือ การหยั่งรู้จิตใจของคน เข้าถึงจิตใจ รู้ว่าคนนี้มีกิเลสอย่างนี้ ก็ต้องเทศน์ตามกิเลสของเขา ท่านเป็นนักเทศน์ที่สามารถตรึงใจแก่ผู้ได้ฟังธรรม ซึ่งแนวคำสอนของท่านเป็นจริงสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง โดยการปฏิบัติธรรม และท่านยังเป็นนักแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าต่าง ๆ ได้ดี ด้วยเหตุนี้ ทำให้ชื่อเสียงของท่านได้แพร่ขยายออกไป ประชาชนส่วนใหญ่รู้จักท่านในฐานะพระนักพัฒนา พระนักเทศน์ พระปฏิบัติวิปัสสนาฯ ท่านจึงมีผลงานในทุกปีมากมายจนเป็นรู้จักกันโดยทั่วไป
วัดอัมพวัน วัดนี้แม้จะอยู่ในชนบท แต่ก็มีความเจริญทั้งด้านถาวรวัตถุและการศึกษา เป็นวัดสำนักวิปัสสนากรรมฐาน มีความสะอาด ร่มรื่น ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมจะได้รับความสะดวกทุกอย่าง ดังนั้น วัดอัมพวันจึงเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ถาวรวัตถุ กุฏิกรรมฐาน เครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มีครบครัน มีโรงทานตลอดเวลา โรงครัวที่ไม่เคยคำนึงถึงฐานะของผู้ที่มารับประทาน ขอทานผู้ยากไร้หรือมหาเศรษฐีร้อยล้าน สามารถใช้โรงทานนี้ในการบำบัดความทุกข์จากความหิวได้เท่าเทียมกันด้วยอาหารที่เหมือนกัน เพราะที่นี่หลวงพ่อจรัญท่านจัดไว้เป็นทานที่บริสุทธิ์ และเท่าเทียมกัน
ผู้ที่มาใช้โรงทานวัดบำบัดทุกข์จากความหิว จะใช้ได้อย่างสะดวกและพร้อมทุกเมื่อ ไม่มีการตั้งตู้รับบริจาค เพราะหลวงพ่อนำเอาของบริจาคส่วนหนึ่งที่ญาติโยมบริจาคเข้ามาใช้ในโรงทาน ใครจะบริจาคหรือไม่หลวงพ่อไม่เคยคำนึง
เจ้าหน้าที่ภายในวัดหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส
บริการด้วยน้ำใจอันมีไมตรี น้ำแข็ง น้ำชา กาแฟร้อน โอวัลติน มีให้พร้อม
น่าทึ่งในบารมีของหลวงพ่อจรัญเป็นอย่างยิ่ง โดยหลวงพ่อจัดไว้ให้แขกได้รับประทานให้อิ่ม
เพราะโรงทานนี้ญาติโยมเขาบริจาคข้าวสารและอาหารแห้งไว้ไม่ต้องกังวล มาเวลาไหนโรงครัวก็มีไว้ให้เสมอ
ถ้ากลับไม่ทันก็มีกุฏิกรรมฐานให้พักพิง เขาเดินทางไกลมาเขามีทุกข์
เราก็บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้เขา ต้องบริการให้เขามีความสุขความเจริญกลับไป
เข้าวัดเดี๋ยวนี้ไม่ได้อะไรจากวัด จะเข้ามาทำไม เข้ามาแล้วต้องได้ซิ มีทุกข์มีสุขขึ้นมาก็บำบัดทุกข์
บำรุงสุขให้เขา แก้ปัญหาให้เขา เขาจึงอยากจะเข้ามา
ก็ต้องบริการเลี้ยงอาหารการบริโภคแต่ประการใด
อาตมาจึงบอกแขกว่ารับประทานข้าวหรือยัง อย่างนี้เป็นต้น
...ถ้าคนไหนรับประทานอาหารที่วัดนี้แล้ว
กลับไปร่ำรวยมั่งมีศรีสุข เงินไหลนองทองไหลมา ข้าวสุกของอาตมา ๑ เมล็ด
ข้าวสุกงอกได้ ๑๐๐ ยูเอสดอลล่าร์ รับประทานเข้าไปงอกได้ มีข้าวสุกวัดนี้งอกได้
จริงเท็จประการใด มารับประทานอาหารที่นี่ กลับไปเป็นเศรษฐีไปหลายคนแล้ว
มีเงินมากมายเหลือเกินนะ
หลวงพ่อจรัญท่านได้ให้ข้อคิดว่า ทุกวันนี้คนมักเจริญทางด้านวัตถุ เรามักจะเสาะแสวงหาวิชาความรู้ต่าง ๆ นอกตัว เพื่อเอามาทำมาหาเลี้ยงกาย ต่างแข่งขันกันในด้านการศึกษา มีปริญญาตรี โท และเอก ไปจนถึงศาสตร์ในด้านต่าง ๆ เรียกกันโก้หรูว่า เทคโนโลยี
ความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัญญานอกกาย เสาะแสวงหาเอาได้ทุกหนทุกแห่ง น่าอนาถเป็นที่สุด เทคโนโลยีเจริญถึงขีดสุด แต่จิตใจต่ำทรามและเลวลงจนถึงขีดสุดเช่นกัน ทั้งนี้เพราะละเลยปัญญาภายใน คือ การรู้ถูก รู้ผิด รู้เมตตา รู้จักรักใคร่เพื่อนมนุษย์ร่วมโลก รู้จักละอายต่อบาปและรู้จักประมาณ
สิ่งที่เรียกว่า
ปัญญาภายใน เรียกให้ทันสมัยก็คือ พุทโธโลยี ซึ่งจะกำกับเทคโนโลยีให้เป็นไปอย่างถูกต้อง
และเป็นไปเพื่อให้สังคมโดยรวมดีขึ้น ไม่แก่งแย่งกัน ไม่เบียดเบียนทายกันจนเกิดกลียุค
ปัญญาภายใน หรือ พุทโธโลยี ใช้สำรวจความถูกต้องของตน
พิสูจน์ความถูกต้องของตนเองได้ ประพฤติปฏิบัติตนเป็นอย่างไร
มนุษย์สมัยใหม่นี้ไม่ถือความ ถูกต้อง
ของจิตใจ แต่เอาแต่ขอให้ ถูกใจ
ของตนเองเป็นใหญ่ เรียนสูงแต่ไม่มีรากฐานของจิตใจที่ดี จึงเอารัดเอาเปรียบและข่มเหง
ทำให้คนที่ด้อยกว่าเกิดความกดดัน และในที่สุดก็ปะทุขึ้นกลายเป็น กลียุค
เป็นยุคที่ไม่มีการมองเห็นความสำคัญของศีลธรรมอีกต่อไป ต่างฝ่ายต่างเข้าประหัตประหารกันจนล้มตายเป็นเบือ
เพราะคำว่า ศีลธรรมหมดไปจากใจของเหล่ามนุษย์นั้นโดยสิ้นเชิง
เทคโนโลยีเดี๋ยวนี้นะที่สำเร็จปริญญาโท ปริญญาเอกหน้าตาดี ๆ ทั้งนั้นแหละ ทางโลกเขาว่างาม แต่ที่ไหนได้ ภายในใจนะไม่งามเลย ทรามกันเป็นแถว ๆ เพราะขาดพุทโธโลยี ที่จะควบคุมเทคโนโลยีให้เป็นไปเพื่อความเจริญทั้งวัตถุและจิตใจ คนดูถูกบรรพบุรุษ ดูถูกวัฒนธรรมอันดีงามของปู่ย่าตายาย ว่าเป็นเรื่องคร่ำครึ ไม่ทันสมัย เป็นเต่าล้านปี บางคนหนักกว่านั้น ลืมพ่อลืมแม่เสียซ้ำเลยนี่ มันเป็นอย่างนี้เพราะเทคโนโลยีมันสอนให้แข่งขัน เบียดเบียนกัน เอาชนะกันให้มันเห็นน้ำเห็นเนื้อกัน แม่อย่ามายุ่งกับผม อย่ามายุ่งกับฉัน ฉันเรียนได้ดอกเตอร์ เรียนได้ปริญญา แล้วแม่มีอะไร ความรู้ ป.๔ จะมาสู้ฉันได้อย่างไร มาสอนฉันได้หรือ พวกที่พูดอย่างนี้อาตมาเห็นมามาก วิบัติหมดทุกคน เพราะลบหลู่ดูถูกผู้มีพระคุณ พ่อแม่ปู่ย่าตายายนี่มันพังทุกคน ทุกวันนี้คนที่ฆ่ากันตาย ทะเลาะ ด่ากัน เถียงกัน พวกเทคโนโลยีสูงทั้งนั้น กลับเอาหูกับเสียงเป็นอันเดียวกัน ร้อยทั้งร้อยพังเรียบร้อยไปเลยทีเดียวเชียว ก็ลองดูซิ ถ้าเอาหูกับเสียงมาเป็นอันเดียวกันเมื่อไหร่ล่ะก็ อาตมาชอบพูดแบบไทย ๆ ว่า เอ็งด่าใคร, ด่ามึงนั่นแหละ อ้อ! ด่ามึงแล้วไป นึกว่าด่ากูเสียอีก นี่แหละจิตที่ฝึกไว้ดีแล้ว พอได้ยินเสียงด่าจะรับไว้ด้วยการตั้งสติว่า เสียงหนอ ความโกรธมันก็จะไม่ทวีขึ้นมาจนหน้ามืด ตัวสั่น หายใจถี่สั้น และเข้าเข่นฆ่ากัน
ท่านเจ้าคุณหลวงพ่อจรัญท่านมีความสามารถเป็นเยี่ยมในด้านการสอน
กล่าวคือ ท่านมีกลวิธีในการอธิบายสิ่งที่เข้าใจยากให้กลายเป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย
และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
ท่านยกเอาเรื่องนิทานวรรณคดีมาเป็นตัวอย่าง เคยอ่านกันไหมเรื่องสังข์ทองนะ เออ
หกเขยมันหน้าโง่ สู้สังข์ทองไม่ได้ ก็เลยถูกตัดจมูก ตัดหู เอาไปเสียจนด้วนกุดไง่ละ
ตาโง่ หูโง่ จมูกโง่ ลิ้นโง่ กายโง่ ใจโง่ สังข์ทองจึงชนะหกเขย สังข์ทองสวมรูปเงาะ
ภายนอกดูไม่ได้เลย แต่กายภายในโสภา กายใน ก็คือ ความมีสติสัมปชัญญะ ไงล่ะ
หกเขยมันสวยงามแต่งกายดี รูปนอกงามหมดจด แต่รูปในคือ จิตใจเน่าไม่มีสติสัมปชัญญะ
มันจึงสู้อ้ายเงาะที่รูปนอกชั่ว แต่รูปกายในงามไม่ได้ นี่ไงล่ะ พุทโธโลยี
กับ เทคโนโลยี
ตราบใดที่มีแต่เทคโนโลยี แต่ขาดพุทโธโลยี คอยควบคุม มันก็เหมือนเจ้าหกเขย คือเสียทีเขาร่ำไป แต่ถ้ามีเทคโนโลยีแล้วมีพุทโธโลยีข้างในด้วย ก็เหมือนสังข์ทอง แม้รูปกายจะไม่งาม แต่งามใจและมีความเจริญ มีปัญญาดี พุทโธโลยี คือ อะไร คือ ความหยั่งรู้ทั้งปวง รู้ผิด รู้ถูก รู้ว่าผลกรรมเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าทรงรอบรู้จริง รู้ทุกอย่าง รู้โดยปราศจากสิ่งปิดบัง ท่านจึงทรงประกาศสิ่งที่พระองค์ทรงรู้ ทำให้โลกร่มเย็น ทำให้ผู้ปฏิบัติได้มองเห็นผล ทั้งเมื่อมีชีวิตอยู่และเมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว ดังนั้นเขาจึงแบ่งคนออกเป็น ๒ ประเภทด้วยกัน ที่เขาเรียกเป็นกลอนว่า รู้จริงจึงทำหายาก พวกรู้มากมันหาง่าย พวกรู้มากนี่รู้หมดเพราะเล่าเรียนมาเป็นดอกเตอร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี แต่ไม่รู้จริง เพราะปัญญาภายในไม่มีเลย รู้มากไปหมด จิตเป็นกระแสไฟฟ้าเป็นได้ไงล่ะ อธิบายในด้านเทคโนโลยีสูงมันก็เลยเกิดความเบียดเบียนไม่รู้ผิดรู้ถูก กิเลสมันก็บานตะเกียง แล้วก็เลยถึงต้องไปปลูกบ้านใหม่ในสลัม แต่เนื่องจากไม่รู้ว่าพุทโธโลยีเป็นอย่างไรก็เลยหลงผิด กว่าจะรู้ก็สายแล้ว แก้อะไรไม่ได้
กฎแห่งกรรมมีจริง แต่กฎแห่งกรรมที่อาตมาประเมินผลและได้ประสบมารู้ล่วงหน้าได้ เพราะมีสติระลึกก่อนเป็นตัวรู้ล่วงหน้าตัวสัมปชัญญะ ตัวผลักดันทำให้แก้ไขเหตุการณ์ได้ทันเฉพาะหน้า เรียกว่า ตัวสัมปชัญญะ ที่อาตมารู้นี่ก็เนื่องจากว่าเราเจริญสมาธิ เจริญสติอยู่ตลอดเวลา โปรดจำไว้นะ เหนือฟ้ายังมีฟ้า แต่เหนือฟ้าไปก็ยังมีกฎแห่งกรรม
วัดอัมพวันที่นี่ต้อนรับพวกเทคโนโลยีมามาก เป็นดอกเตอร์ก็มี การศึกษาสูง สอนหนังสือให้นักศึกษาปริญญาตรี เขียนตำรับตำรามาก แต่ขาดพุทโธโลยี ที่มานั่งตรงนี้ เอ่ยชื่อไม่ได้ มันผิดจรรยาบรรณ มานั่งร้องไห้สอนคนอื่นเพลินไป ลูกอิฉันติดยาเสพย์ติดงอมแงม ทำไงดี อีกคนออกจากบ้านไปเที่ยวกับเพื่อนยังไม่กลับ ทำไงดีหลวงพ่อ เห็นไหมล่ะ พุทโธโลยีรู้ว่าจะทำอย่างไร จะแก้อย่างไร แต่เทคโนโลยีไม่รู้ เพราะมันเป็นปัญญานอกกายไม่ใช่ปัญญาในกาย
...วิปัสสนากรรมฐานมิใช่เรื่องของการนั่งหลับตา เพื่อให้เห็นภาพวิจิตรพิสดาร หรือเพื่ออิทธิฤทธิ์ใด ๆ วิปัสสนากรรมฐานเป็นเรื่องของการศึกษาชีวิตที่จะปลดเปลื้องความทุกข์นานาประการ ออกเสียจากชีวิตหรือปลดเปลื้องชีวิตออกเสียจากความทุกข์ เป็นเรื่องของการค้นหาความจริง ชีวิตนี้มันคืออะไรกันแน่ เหตุไฉนคนเราต้องรู้สึกเหนื่อยหน่ายในชีวิตที่ผ่านมา ในความเหี่ยวแห้งใจและคับแค้นใจ ที่ผ่านมาในความสมหวังแล้วก็ผิดหวัง หัวเราะแล้วก็ร้องไห้ ด้วยหน้าชื่นและกลับบูดบึ้ง เหตุไฉนจึงไปลุ่มหลงกับการกระใจนขึ้นกระโจนลงของชีวิตที่ได้ผ่านมาในวิธีอันยืดยาว โดยไม่เคยสำนึกว่า มันมีอาการประดุจคนบ้า เหตุไฉนตัวเราจึงได้พลอยเห็นดิบเห็นดีไปกับเขาด้วย อะไรเล่าที่ผลักดันให้ชีวิตโลดแล่นไปอย่างน่าสมเพชเช่นนั้น แล้วก็ยังทำให้เจ้าของชีวิตชื่นชมไปด้วยกับอาการที่คล้ายกับคนบ้าเช่นนั้น อะไรเล่าที่มาทำให้ดวงหน้าที่หัวเราะร่าเริงอยู่เมื่อวานนี้กลับนองน้ำตาไปในวันนี้ อะไรเล่าที่มาทำให้ลิ้นกล่าววาจาอ่อนหวานอยู่เมื่อชั่วโมงก่อน กลับมากล่าววาจาหยาบคายในชั่วโมงนี้ อะไรเล่าที่มาคอยแต่งความคิดของเราให้แปรเปลี่ยนไปมาในระหว่างบาปบุญคุณโทษ ไม่มียุติลงได้ อะไรเล่าคือตัวการที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
...ตามปกติเราอาจไม่เคยตั้งปัญหาเหล่านี้ขึ้นถามตนเองเลย ตามปกติเราปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามที่มันเคยดดำเนินมาอย่างไรก็อย่างนั้น เราปล่อยให้ความเคยชินนำชีวิตของเราไปตามที่มันได้นำมา ปีแล้วปีเล่าจากวัยเด็กไปสู่วัยชรา และเราก็เต็มใจที่จะปล่อยให้มันนำไปจนกระทั่งถึงเชิงตะกอน ก็เป็นการเคราะห์ร้ายอยู่ที่เจ้าความเคยชินอันเรามอบหมายให้เป็นผู้นำชีวิตของเรานั้น โดยทั่วไปแล้วมันมิได้ทำหน้าที่เป็นดวงประทีปให้เลย มันเป็นแต่ความมืดบอด และดังนั้นก็ไม่เป็นที่น่าประหลาดใจที่มันได้นำชีวิตของเรากระหืดกระหอบไปตามเรื่องของมัน เราได้ปล่อยให้มันไปโดยที่เราไม่เคยสำนึกตัว ว่าเราได้ตกเป็นทาสของมันอย่างโงหัวไม่ขึ้น
...การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เป็นเรื่องของการตีปัญหาซับซ้อนของชีวิตให้แตกกระจายออกไป จนมองเห็นความจริงในสิ่งต่าง ๆ ที่แตกกระจายออกไปนั้น เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงของชีวิตตามวิธีการที่พระพุทธเจ้าได้กระทำมาคือ เพ่งมองเข้าไปในชีวิตตนเอง เฝ้าดูการเคลื่อนไหวทั้งมวลภายในตัวของเราเอง เฝ้าสังเกตการณ์ แต่กุศลและอกุศลธรรมที่ดำเนินไปในตัวของเราเองด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยใช้เวลาของการปฏิบัติทั้งหมดเพ่งมองเข้าไป แต่ในชีวิตของตนเองดังนี้ ปัญหาต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น จะผุดขึ้นมาในความนึกคิดของเราและเราก็จะพบคำตอบปัญหาเล่านั้นอย่างครบถ้วนและแจ่มแจ้ง เราจะพบชีวิตที่ปล่อยให้ความเคยชิน หรือใจที่ปราศจากสติที่นำไปนั้นช่างแตกต่างกันอย่างลิบลับกับชีวิตที่ผูกไว้กับสติ และปล่อยให้สติเป็นผู้นำวิปัสสนากรรมฐาน เริ่มต้นด้วยการปลดแอกตัวเรา เริ่มต้นด้วยการปลดปล่อยตัวเราจากความเป็นทาสของความเคยชิน หรือใจที่ไม่อยู่ในความควบคุมของสติ นับตั้งแต่เริ่มการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ชีวิตของคนเราจะได้รับความเป็นไท และเราจะทราบได้เองว่าตั้งแต่มีชีวิตมาเราไม่เคยได้รับความเป็นไทเช่นนี้มาก่อนเลย นับตั้งแต่เวลานั้นแทนความมืดบอด เราก็ได้จุดดวงประทีปให้แก่ชีวิตของเรา ดวงประทีปนั้น แท้จริงก็มีประจำอยู่กับชีวิตของเรานั้นเอง แต่เราไม่ได้จุดมันขึ้น บางทีอาจเป็นด้วยเราไม่ทราบว่ามีดวงประทีปติดอยู่กับตัวเรา เราพูดเสมอถึงคำว่า สติปัญญา เราใช้ปัญญาอยู่เสมอก็จริง แต่สตินั้นแท้จริงแล้ว เรานำออกใช้น้อยนัก ทั้งที่สตินั้นมีคุณค่าแก่ชีวิตและจำเป็นแก่ชีวิตที่มีคุณค่าอย่างเหลือที่ประมาณได้ ประทีปนั้นคือสติ นับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติวิปัสสนาเราก็ได้จุดประทีปดวงนั้นขึ้น แสงสว่างจะค่อยกล้าขึ้น และโพลงขึ้นเป็นลำดับ จนถึงขั้นที่เราสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่แฝงอยู่ในความมืดและที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
...ตามปกติเราไม่ทราบดอกว่า ความทุกข์ความเดือดเนื้อร้อนใจนานาประการที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตเรานั้น มันมีต้นเหตุมาจากอะไร และมันผ่านเข้ามาสู่ชีวิตโดยทางไหน โดยทั่วไปเรามิได้เคยสนใจค้นคว้าหาเหตุผลในเรื่องนี้ และเราก็มักจะต้อนรับมันโดยถือเสียว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต อันคนเราไม่สามารถจะเลี่ยงได้ แต่เมื่อเราเอาใจผูกกับสติ โดยไม่ปล่อยให้ใจท่องเที่ยวไปไหนต่อไหนตามความเคยชินของมันแล้ว ความจริงบางอย่างก็จะปรากฏแจ่มแจ้งขึ้นมาในใจของเรา และเราก็จะตระหนักว่าความทุกข์ร้อนใจต่าง ๆ นานานั้น มันมีต้นเหตุมาจากอะไร และมันผ่านเข้าสู่ชีวิตของเราโดยทางไหน
...การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานคือ การระดมเอาสติทั้งหมด ที่มีอยู่ในตัวเราออกมาใช้ประโยชน์ในการดับทุกข์ให้ได้ผลดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เราจะตระหนักในคุณค่าอันอัศจรรย์ของสติที่เราไม่เคยคิดเห็นเช่นนั้นมาก่อน ใจที่ลำพองมีพยศและมีความตะกละตะกลาม เหมือนกับไฟอันไม่รู้จักอิ่มด้วยเชื้อ จะเชื่องลง และรู้จักจำกัดความต้องการของมัน เมื่อถูกสติเข้าถือบังเหียนไว้หน้า การปฏิบัติวิปัสสนา คือ การอัญเชิญเอาสติที่ถูกทอดทิ้งไว้ในความต่ำต้อย ขึ้นมานั่งบัลลังก์ของชีวิต และเมื่อสติขึ้นสู่บัลลังก์แล้ว ใจก็จะคลานเข้ามาหมอบถวายบังคมอยู่เบื้องสติ สติจะบังคับมิให้ใจแส่ออกไปคบหาอารมณ์ต่าง ๆ ภายนอก และใจก็จะค่อยคุ้นกับการสงบอยู่กับอารมณ์อันเดียวที่สติคอยบังคับให้สงบอยู่ เมื่อใจตั้งมั่นดีแล้ว การรู้ตามความเป็นจริงก็จะเป็นผลติดตามมา และเมื่อนั้นแหละเราก็จะทราบได้ว่า ความทุกข์มันมาจากไหน และจะสกัดกั้นมันได้อย่างไร นั่นแหละคืออานิสงส์ของวิปัสสนากรรมฐาน
...สติปัฏฐาน ๔ จึงเป็นการสอนคนให้มีสติปัญญาเพื่อจะได้รู้เท่าทันชีวิตและความเป็นไปในโลก เพื่อจะได้เดินทางไปในเส้นทางชีวิตได้อย่างราบรื่น และไปสู่จุดหมายปลายทาง เมื่อสิ้นชีวิตจากโลกนี้ไปแล้ว นั่นก็คือสุคติภูมิเป็นที่ตั้ง สติปัฏฐาน ๔ จึงถือเป็นทางสายเอก อาตมาจะขอเปรียบเทียบไว้อย่างนี้
ทางสายจัตวา คือ ทางพอเดินได้ แต่มีหลุมมีบ่อ
ทางสายตรี พอไปพอมาได้
ทางสายโท ก็พอมาได้ .....แต่
ทางสายเอก นั้นราบรื่น สะดวกตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ไม่มีอะไรที่จะมาเป็นอุปสรรค
พระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกทางสายเอกนี้ว่า สติปัฏฐาน ๔
...ประโยชน์ของการปฏิบัติกรรมฐานนั้นมีมากมาย เท่าที่รู้จากประสบการณ์ของอาตมาเอง และจากการสอบอารมณ์ของผู้ปฏิบัติคนอื่น ๆ พอสรุปได้ ๓ ประการใหญ่ ๆ คือ
๑.
ระลึกชาติได้
๒.
เห็นกฎแห่งกรรม
๓.
เกิดปัญญา
แก้ปัญหาชีวิตได้
ซึ่งประการสุดท้ายนี้สำคัญที่สุด เพราะถ้าเราสามารถแก้ปัญหาของตัวเราเองได้ ก็ไม่ต้องไปวิ่งหาพระให้รดน้ำมนต์ หรือวิ่งไปหาหมอดู เราต้องเป็นหมอดูให้ตัวเองมันถึงจะถูก นี่แหละประโยชน์ของกรรมฐานอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่มานั่งหลับหูหลับตาเพื่อจะไปสวรรค์นิพพานอย่างที่ชาวบ้านเขาพูดกัน เมื่อใดที่ยังไม่เกิดปัญหายังแก้ปัญหาชีวิตให้ตัวเองไม่ได้ แล้วจะไปสวรรค์นิพพานได้อย่างไร
...เอาละคราวนี้สติสัมปชัญญะ หรือ ปัญญาภายในทำให้เกิดศีล เออถ้ามีใครถามว่า ศีลคืออะไร อย่าไปตอบนะว่าศีล คือ ข้อห้ามไม่ให้ทำบาปห้าประการ แล้วก็อธิบายยืดยาวไป อาตมาขอให้ตอบสั้น ๆ ว่า ศีล คือ ปกติ พวกเทคโนโลยีหัวเราะก๊ากเลย หนอยพูดเรื่องพุทโธโลยีมากมายหลายอย่าง แต่พอมาถึงศีลบอกว่าศีลคือความปกติ ไม่รู้เรื่องเลย ไม่เคยพบเคยเห็นที่ไหนกับ ศีลคือความปกติ คำอธิบายง่ายหัวเราะกันไม่ออกล่ะ ทีนี้สติสัมปชัญญะทำให้คนเราเป็นคนปกติ เออ คนบ้าคือคนอะไรล่ะ ก็ตอบได้ว่า คนบ้า คือคนไร้สติสัมปชัญญะ คนที่จะถือศีลได้ต้องมีสติสัมปชัญญะที่เกิดจากการฝึกจิตไว้เป็นอย่างดี คนมีสติสัมปชัญญะแล้วไม่ละเมิดศีลเด็ดขาด
...ทุกอย่างจะสำเร็จได้ต้องด้วยความเพียร ก็คือการฝืน คือไม่ยอมแพ้ มันจะปวด จะร้อน จะหนาว ทำไปฝืนใจไปมันก็สำเร็จ ดูตัวอย่างง่าย ๆ การชักว่าวแล้ว ปล่อยมันเฉย ๆ ให้ลมหอบไป มันขึ้นไหม ไม่ขึ้น ต้องดึงต้องกระตุก ต้องกระชากมันจึงจะเล่นลม แล้วพุ่งขึ้นไปติดลมบนไงล่ะ มันต้องฝืนใจตัว ตามใจตัวเอาดีไม่ได้จำไว้นะ อยากได้ดีต้องฝืนใจตัว มิฉะนั้นไม่ได้ดีถ้าตามใจตัว
การช่วยคนให้พ้นจากความทุกข์เป็นการสร้างบารมีอย่างหนึ่ง หากเป็นปุถุชนคนทั่วไปคงจะรู้สึกเหนื่อยหน่าย และหงุดหงิดรำคาญใจที่ต้องถูกรบกวนครั้งแล้วครั้งเล่า จนแทบจะหาเวลาเป็นของตัวเองไม่ได้ แต่สำหรับ หลวงพ่อจรัญ ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมรูปนี้ ความรู้สึกดังกล่าวไม่เคยบังเกิดขึ้น เพราะท่านยึดหลักว่าการสงเคราะห์ญาติโยมเป็นหน้าที่โดยตรงของท่าน ซึ่งแม้จะเหนื่อยยากสักปานใดก็ไม่คิดท้อถอย ไม่รู้ว่าหลวงพ่อท่านทนได้อย่างไร หากรู้กิจวัตรประจำวันของท่านในแต่ละวันแล้ว เห็นจะต้องสงสารท่านที่ต้องสงเคราะห์คนทุกประเภทโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ตั้งแต่เกิดมาก็ยังไม่เคยเห็นใครมีชีวิตลำบากลำบนเหมือนท่าน ในโลกนี้จะมีอีกสักกี่คนที่เป็นอย่างท่าน วิธีของหลวงพ่อนั้นต้องใช้ปัญญาแก้ปัญหา คนที่มีปัญหาจะต้องมาเข้ากรรมฐาน ฝึกจิตให้สงบ เมื่อจิตสงบปัญญาก็เกิด ก็ใช้ปัญญานั้นแก้ปัญหาได้ วิธีนี้ดีที่สุดไม่เป็นพิษเป็นภัย และไม่ต้องเสียเงินเสียทอง แต่การปฏิบัติก็ไม่ง่ายนัก ผู้ปฏิบัติต้องอดทน ต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด ต้องตั้งจิตให้แน่วแน่ว่าเราจะทำไห้ได้ จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จขึ้นอยู่กับความเพียรพยายามของตัวเรา
...หลวงพ่อจรัญ ท่านเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
เป็นพระนักเทศน์ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธุชนทั่วไป
ท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอชั้นเจ้าคุณ ท่านบำเพ็ญธรรมทาน คือ
การให้ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญว่าเป็นยอดทานอันชนะการให้ทั้งปวง
ดังคำบาลีว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ แปลว่า การให้ธรรมชนะการให้ทั้งปวง
ในการสั่งสอนอบรมประชาชน ท่านได้ยึดหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธเจ้าอันเป็น หัวใจของพระพุทธศาสนา เพื่อให้ประชาชนยึดหลักปฏิบัติ ๓ ประการ คือ
การไม่ทำชั่วทั้งปวง
การบำเพ็ญความดี
การทำจิตของตนให้ผ่องใส
อาตมาขอเจริญพรญาติพี่น้องทั้งหลาย ที่ท่านได้มาร่วมสนับสนุนอาตมา ในฐานะมาช่วยกันปลุกคนให้ตื่น เสกคนให้เป็นงาน ให้รู้จักเอกลักษณ์ของไทย รู้จักมารยาทไทย ไม่ลืมแผ่นดินทวด แผ่นดินปู่ย่าตายายที่หาไว้ โปรดมาสร้างกิจการให้แก่พ่อแม่เถิด ลูกหลานเอ๋ย อย่าทิ้งกิจการของเราเสียเลย พ่อแม่ที่สร้างมา วงศ์ตระกูลของเราเคยทำการค้า อย่าทิ้งการค้า วงศ์ตระกูลทำนา อย่าทิ้งทำนา เดี๋ยวนี้นาทิ้งหมดแล้ว ทำไม่เป็นแล้ว การค้าก็ค้าไม่เป็น ขนาดลูกสำเร็จปริญญาโท เตี่ยแม่ค้าขาย ลูกค้าขายไม่เป็นเลย แล้วกิจการจะทำอย่างไร ก็ไปเป็นลูกจ้างคนอื่นเขา เป็นลูกจ้างบริษัทอื่นต่อไป อาตมาขอฝากไว้ด้วยนะ ญาติโยมพี่น้องทั้งหลาย นึกว่ามาสร้างคนกันเถอะ
อาตมากำลังปลุกเสกเป็นการใหญ่ ไม่ใช่ปลุกเสกเครื่องรางของขลังนะ ปลุกคนให้ตื่น เสกคนให้เป็นงาน โยมจะใช้ลูกหลาน ปลุกให้ตื่นก่อนนะ ให้มีศรัทธาก่อน ให้รู้เรื่องรู้ราวก่อน ลูกยังหลับอยู่เสกให้เป็นงานจะไปรู้เรื่องรู้ราวอะไร ช่วยกันปลุกเสกลูกหลานหน่อยเถอะ ปลุกให้ตื่นเสกให้เป็นงาน อย่าอยู่ว่างห่างผู้ใหญ่จะหลงทางได้ง่าย อาตมากำลังปลุกเสก หลับตาเสกทั้งกลางวันกลางคืน ไม่ได้หลับไม่ได้นอน อาตมาไปอยู่บ้านใคร รับรองไม่เปลืองข้าวนะ ฉันไม่จุหรอก คำเดียวอิ่มแล้ว ทำงานวันยังค่ำ คืนยันรุ่ง วัดนี้ไม่มีหยุดเสาร์อาทิตย์ ราชการวันเสาร์อาทิตย์หยุดแล้ว ที่นี่ทำงานทั้งกลางวันกลางคืน แต่บางเดือนเสียใจเหลือเกินมี ๒๘ วัน ไม่พอ ๓๐ วัน นี่แหละชีวิตคืองานบันดาลสุข ทำงานให้สนุก มีความสุขในการทำงาน บางคนเลี่ยงงานเก่งนัก เรียนสูงแล้ว เลี่ยงงานเก่ง ชีวิตมักจะอาภัพ
พระราชสุทธิญาณมงคล หรือ หลวงพ่อจรัญ ของบรรดาศิษยานุศิษย์ เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน เป็นพระเถระที่รักงาน ขยันทำงาน สนใจทำงาน ค้นคว้าเหตุผลในงาน ติดตามผลงาน เหมือนกับว่างานเป็นชีวิตจิตใจของท่าน ความสุขของท่านอยู่ที่การทำงาน จัดว่าเป็นกำลังของคณะสงฆ์และพระศาสนา ตลอดถึงประเทศชาติ เคยมีคนคิดว่า หลวงพ่อจรัญ ท่านเป็นพระอรหันต์ประเภท ฉฬภิญญา ได้อภิญญา ๖ ท่านบอกว่าอย่าคิดอย่างนี้ ท่านเป็นพระอรเหต่างหาก เพราะใครมีทุกข์ ก็จะเหเข้ามาหาเพื่อให้ท่านช่วย หากผู้ใดอยากพบท่าน ก็ต้องฝากคำกลอนทิ้งไว้ว่า
กำหนดจิต ทำใจ ให้สงบ
ถ้าอยากพบ หลวงพ่อ คงรอได้
แสวงหา ธรรมทาน อาหารใจ
ต้องทนได้ รอได้ จึงได้ธรรม
คงทนได้ รอได้ ไม่ลำบาก
มีทุกข์มาก ดั้นด้นมา หากุศล
ท่านถึงแล้ว เชิญพักผ่อน อย่าร้อนรน
น้อมใจตน ให้เยือกเย็น จะเห็นธรรม
ซึ่งตรงกับคติธรรมของหลวงพ่อที่ติดไว้ที่
ที่นั่งรับญาติโยมของท่านว่า มาได้ ทนได้ รอได้ ดีได้
**********************************