ความสามัคคี
พระราชสุทธิญาณมงคล
เราจะกำลังเข้าสู่กลางเดือน ๑๒ ฤดูฝนจะสิ้นสุดลงในวันพระหน้าแล้ว หมดเวลาการใช้ผ้าอาบน้ำฝน วัสสิกะสาฏิกัง ที่โยมได้ถวายมาให้ใช้รวม ๔ เดือนเต็ม นับแต่เริ่มวันเข้าพรรษามา
ในวันธรรมสวนะก็จะมีอุบาสก อุบาสิกา ญาติโยมและพุทธบริษัททั้งหลาย มาใคร่ธรรมนำปฏิบัติกรรมฐาน เจริญกุศลภาวนา เพื่อเป็นการสร้างชีวิตให้แจ่มใส ทำใจให้สะอาด ทำใจให้หมดจด สามัคคีกาย สามัคคีจิต กายกับจิตสามัคคีกัน โดยกำหนด กาย เวทนา จิต ธรรม ให้เกิดสามัคคีธรรม กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายต้องสามัคคีกับจิต จิตต้องสามัคคีกัน เรียกว่า กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา ก็ต้องสามัคคีกัน ต้องแก้ไขปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตออกไปฟุ้งซ่านนานาประการ ก็ต้องปรับปรุงสามัคคีจิต เอาสติมาสามัคคีกับจิตให้มีสติ จิตมีสติปัญญาก็สามัคคีกันได้ ในจิตตานุปัสสนา จะได้รู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องเวทนา และจิตเรามีความเข้าใจดีแล้วก็มาสติปัฏฐาน สามัคคีธรรม มาทำบุญกุศล เรียกว่า มาปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรม เป็นการรับผิดชอบตัวเอง
การใช้ชีวิตของตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและครอบครัวและส่วนรวมทั่วไป ก็เรียกว่า
สามัคคี ต้องการจะสร้างความดีแก่ชีวิตของเรานั่นเอง ชีวิตเราก็จะแจ่มใส
ทำใจสะอาดหมดจด นั่นก็คือการเจริญกรรมฐาน
การเจริญกรรมฐาน ต้องการให้จิตสามัคคีกับกาย กายสามัคคีกับจิต ต้องการให้สติสามัคคีกับจิต เป็นเรื่องสำคัญด้วยสติ ปัญญาก็จะแสดงออกบอกให้ทราบว่า เรารู้ทันเหตุการณ์ของอารมณ์เราได้ เช่น อารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี เป็นต้น การเจริญกรรมฐานจึงมีประโยชน์มาก การเจริญกรรมฐาน ท่านต้องรับผิดชอบตัวเอง ด้วยความสามัคคีอันนี้ คือกายต้องสามัคคีกับจิต จิตสั่งงานอย่างไรกายก็ต้องทำตาม แต่จิตก็ต้องทำตามสติ บอกสติระลึกได้ก็คือ กรรมฐานทำให้จิตใจเบิกบาน ทำให้จิตใจหรรษา ทำให้จิตใจใสสะอาดบริสุทธิ์เกิดขึ้นแก่ตัวเอง นั่นแหละคือตัวปัญญาความสะอาด ความบริสุทธิ์นั้นผุดขึ้นมาจากดวงจิต ทำจิตสะอาดหมดจดแล้ว ปัญญาก็เกิดขึ้น แก้ไขปัญหาชีวิตได้ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนี่เอง
การเจริญวิปัสสนา ทำให้แจ้งแก่ปัญญา ต้องการให้มีสติ ในเมื่อเรามีสติ รักษาจิตได้ จิตท่านจะไม่เลเพลาดพาดออกไปนอกประเด็นนี้ จิตท่านจะเข้าสู่ภาวะที่ดีได้ โดยไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่ลงโทษผูกพยาบาทคาดพยาเวร ไม่มีอิจฉาริษยาต่อท่านผู้ใด เพราะมีเมตตา ถ้าเรามีเมตตาแล้ว จิตมันก็ไม่อาฆาตเคียดแค้นกับใคร จิตก็ดี ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่เบียดเบียนทรัพย์ ไม่ล่วงประเวณี จิตใจไม่หลอกลวงโลกหวังเอาลาภเขา
ถ้าเราไม่ปฏิบัติ จิตจะยับยั้งชั่งคิดหาสติปัญญาไม่ได้ ปัญญาก็จะไม่เกิดขึ้น ในทางปฏิบัตินั้น ถ้าเราปฏิบัติได้ถูกต้องตามวิธีการของพระพุทธเจ้า การเจริญสติปัฏฐาน ๔ กายานุปัสสนา การยืน เดิน นั่ง นอน เหลียวซ้าย แลขวา มีสติกำหนดให้ได้ ในเมื่อสติกำหนด ตัวกำหนดเป็นตัวสามัคคี ต้องการให้จิตกับกายสามัคคี เวทนาสามัคคี จะได้รู้ดีว่าอะไรเวทนา คือ เครื่องป้องกันแก้ไข บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปแล้ว เดี๋ยวก็สูญเป็นอนัตตา สามัคคีธรรม เกิดขึ้นกับบุคคลใด บุคคลนั้นจะรู้ว่าเวทนาเป็นอย่างไร กำหนดให้มันได้ ปวดหนอ... ปวดหนอ... เป็นต้น คำว่าปวดก็ต้องไม่เป็นตัวสรรพนาม ตัวนามของเขามันปวดคืออะไร ปวด จิตปวดหรือ แต่จิตไม่รู้เรื่อง เอาจิตไปพัวพันในการปวด มันก็ปวดหนัก เรียกว่า กำหนดปวดหนอ... ปวดหนอ... การต้องรู้อย่างนี้ก็เพราะจะศึกษาให้มีความเข้าใจในเวทนาเหล่านั้น เมื่อเข้าใจเวทนาแล้ว เวทนาก็จะบ่งบอกให้เราได้ เราจะทราบเป็นอนัตตาได้ มันไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เปลี่ยนแปลงแล้วดับไป ไม่มีอะไรแน่นอนแต่ประการใด ตรงนี้เป็นจุดสำคัญต่อผู้ปฏิบัติไม่น้อย ขอให้กำหนดได้ เราจะไม่แพ้ เราจะชนะตลอดรายการ ชนะจิต จิตมีสติดีนั้นแหละคือไม่แพ้ ปัญญาก็เกิดขึ้น เราแก้ไขปรับปรุงจิตใจให้ดี
การมีสติสัมปชัญญะด้วยการกำหนดจิต จะเป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย ด้วยความสามัคคีของธรรมนี้ มีความหมายเกิดขึ้นกับท่านเอง ท่านปวดท่านทนไม่ไหวท่านก็แพ้ ท่านไม่สามัคคี ถ้าเราสามัคคีกัน เรื่องจิตเรื่องกายมีอะไรก็กำหนดนั่นแหละ เป็นตัวกำหนดเป็นตัวสามัคคี เป็นตัวรู้แจ้งเห็นจริง รู้เห็นชัดเจนด้วยรูปธรรมและนามธรรมด้วย รูปธรรมก็ชัด นามธรรมก็ชัด เกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว นั่นแหละ ท่านก็จะได้รับรู้อันนั้นไปด้วยความรู้จริงอย่างนั้นเป็นต้น จิตออกไปก็ไม่รู้เรื่อง ตั้งสติไว้ จิตมันก็กลับมา จะมาสามัคคี จิตมันก็ไม่ออกไปนอกประเด็น ที่บอกสามัคคีนี้ จิตจะเข้ามาสู่ความสามัคคีและเอกีภาพ จิตจะมีสมาธิ มีพลังผลักดันให้ไปในทางดี ทำให้จิตใจใสสะอาดบริสุทธิ์ ออกมาได้ทำนองนี้ เป็นต้น จะมีประโยชน์มากในเรื่องกรรมฐาน เพราะสติเป็นงานนำจิต จิตก็นำร่างกายสังขารให้คิดออก บอกได้ ใช้เป็น จะทำอะไรก็มีประโยชน์แก่ชีวิตประจำวันของเรา ตัวกำหนดเป็นตัวบอกความสามัคคีของชีวิต ถ้าเราอยู่ในครอบครัว อยู่คนเดียว จิตกับกายมันไม่เข้ากัน มันแตกกันตลอด ไม่สามัคคีกันท่านก็จะอยู่ไม่ได้
จิตสั่งงานแต่ไม่ทำ จิตคิดว่าเราจะต้องปลูกต้นหมากรากไม้ เราจะต้องทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่แล้วก็คิดเฉย ๆ แต่ไม่ทำ ก็เกิดความสามัคคีไม่ได้ จิตก็เกียจคร้านออกไป ไม่อยากทำ คิดว่ามันเหนื่อยกาย ก็เห็นดีด้วยว่า เออจะได้ไม่ต้องเหนื่อยกาย นอนจะดีกว่า ออกมาทำนองนี้เป็นต้น มันก็ไม่ได้ผลขึ้นมาเพราะไม่สามัคคีกัน จิตคิดก็ไม่ได้กำหนด เพราะไม่ได้สามัคคี เสียใจก็ไม่ได้กำหนด เพราะไม่ได้ตั้งหน้าสามัคคี ทิ้งหมดไม่อยากจะดูหน้าดูตากัน และไม่อยากจะสนใจซึ่งกันและกัน งานจะเดินไปไม่ได้ งานจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยพวกพ้องพี่น้องมากด้วยความสามัคคีนี้ทั้งนั้น การจะทำงานทางโลกทางธรรม การเจริญกรรมฐาน ต้องมีสามัคคีอย่างนี้
ถ้าเรามีแนวโน้มไปในทางสามัคคีกัน กายกับจิตสามัคคีผนึกให้แน่น รูปกับนาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ กายเห็นรูป กำหนดสามัคคี ตาสามัคคีรูป รูปกับตาสามัคคีกัน เห็นหนอ... เห็นหนอ... เป็นต้น หูได้ยินเสียงเขาด่าเขาว่าเสียงเขาพูดจา เราก็รู้ว่าเขาพูดว่ากระไรเท่านี้ มันก็หายไปกลับไปหาเขา กายฟังแล้วก็ตั้งสติไว้อย่างนั้น กำหนดจิตโดยมีสติฟังด้วยปัญญานั่นเอง สามัคคีกัน เห็นด้วยปัญญา ตามีสติไหม มีก็ดูด้วยปัญญาเรียกว่า สามัคคีธรรมนำสันติสุข ทำให้คนนั้นอยู่เย็นเป็นสุข สามัคคีธรรมะ สามัคคีตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตเป็นสามัคคีธรรม ในเมื่อได้เห็น ตั้งสติเห็น ตั้งสติกำหนดเห็น คิดก็ตั้งกำหนดว่า คิดหนอ... เป็นต้น ในเมื่อเราทำได้เช่นนี้แล้ว ก็ไม่มีผลอื่นมาแทรกแซง เพราะเราสามัคคีกันและจะทำอะไรก็รอบคอบ ชอบระวัง ตั้งใจตรง ทรงศีลธรรม นำทางก็ถูก ปลูกสติ จะได้ดำริชอบ ประกอบกุศล ได้ผลงาน เป็นหลักฐานสำคัญ ก็เกิดขึ้นด้วยสมาธิของสามัคคี
ศีล สมาธิ ปัญญา สามัคคีกัน ก็มีสติสัมปชัญญะ เกิดศีล เป็นปกติได้ ภาวะสู่ความเป็นปกติได้ก็เพราะสามัคคีศีล สมาธิคือสามัคคีงาน ไม่ทิ้งงานและหน้าที่ สมาธิเกิดขึ้นแล้ว ปฏิบัติตามแล้วก็เกิดปัญญาแก้ไขปัญหาได้สมปรารถนาทุกประการ
สามัคคีธรรมะ แปลว่า ธรรมชาติก็สามัคคี กายก็ดี วาจาก็ดี เวลาพูดจาก็เพราะ จะทำอะไรก็เหมาะเจาะ นี่แหละ เรียกว่า สามัคคีกรรมฐาน ถ้าเราไม่มีกรรมฐาน ปฏิบัติไม่ได้ ไม่ต้องพูดกัน เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็เคือง เดี๋ยวจิตก็บอก เดี๋ยวก็ลิงโลดลิงลาน ไปตามสภาพของกิเลส เป็นเหตุทำลายตัวเองตลอดรายการ ไหนเลยเล่าจะเข้าสู่ภาวะอันเป็นปกติได้ ก็ขอท่านทั้งหลายโปรดพิจารณาตนให้มากที่สุด เพราะฉะนั้นก็จะขอชี้แจงแสดงเรื่องสามัคคีให้ท่านเข้าใจถึงเหตุผลเบื้องต้นว่า กรรมฐานเป็นการสามัคคีชีวิต รับรองชีวิตท่านจะเป็นแก่นสาร ชีวิตท่านจะได้ผลงานในกาย เวลาแก่ ๆ มันจะไม่เป็นอัมพาตลงไปเหมือนที่เขาเป็นกัน นี่เรียกว่าสามัคคีมาตั้งแต่เด็กและหนุ่มสาว ถึงเวลาเฒ่าชะแรแก่ชราก็สามัคคีกันต่อไป ร่างกายก็สมบูรณ์แบบ สติไม่วิปลาสผิดหวังแต่ประการใด เพราะสามัคคีมาแต่ดั้งเดิม
คนที่ขาดความสามัคคีกันในตัวเอง ไม่มีสามัคคีกัน มือก็ไม่อยากจะหยิบข้าวเข้าปาก ปากก็ไม่อยากจะเคี้ยวข้าว ข้างในมันก็หิว ท้องมันก็หิว แต่ปากมันไม่รับ มันก็ไม่สามัคคีกับท้อง มันจะเข้าลงท้องไปก็ไม่ได้ ไม่สามัคคีกัน พระพุทธเจ้าท่านได้ทรงแสดง พระท่านเอามาเทศน์ เห็นไม่เอา เอาแล้วไม่กิน กินแล้วไม่อิ่ม อิ่มแล้วไม่ถ่าย ถ่ายแล้วไม่เหม็น นี่ชัดเจนแล้ว เห็นเอาไม่ได้ คือ ตา ตามันเอาไม่ได้ ถ้ามือไม่หยิบมา ให้เห็นอยากได้เหลือเกิน ตามันเห็นจิตมันอยากได้ อยากได้น้ำอยากได้ข้าวแต่มือมันขี้เกียจ ไม่หยิบข้าวหยิบน้ำมาให้ มันจะได้กินไม่ได้ มีบอกเหตุผลความสามัคคีทั้งนั้น เห็นแล้วก็ทำอะไรไม่ได้เลยคือ ตา ไม่รู้จะทำอะไร เอาได้แล้วก็ไม่กิน กินแล้วก็ไม่อิ่มปาก ปากไม่รู้จักอิ่ม กินเข้าไปตะพึด อิ่มแล้วแม่ถ่ายคือท้อง ถ่ายแล้วไม่เหม็นคือก้น บอกไว้ชัดเจนเลย มันสามัคคีกันหรือประการใด นี่แหละกรรมฐาน เห็นชัดเจนมาก ขอเจริญพรอย่างนี้ เห็นแล้วอยากตัวสั่น แต่มือมันหยิบไม่ได้ มือมันเป็นอัมพาต เท้าก็เป็นอัมพาต เดินไปเอาไม่ได้ จะทำอย่างไร มันไม่มีความสามัคคีเสียแล้ว มันเฒ่าชะแรแก่ชรา
ท่านสาธุชนทั้งหลาย ท่านอย่าประมาทนะ ท่านคิดว่า ท่านยังหนุ่มยังสาว เป็นอัมพาตไปไหนไม่ได้ อาตมาไปขอนแก่นวันก่อน เขาก็ร้องไห้ สามีเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ต้องป้อนข้าว ร้องแงแงเหมือนเด็ก ภรรยาบอกหลวงพ่อ ตั้งแต่สามีเป็นอัมพาตมานี่ ฉันไปไหนไม่ได้เลย ฉันอายุก็ตั้ง ๕๒ แล้ว ลูก ๆ ก็สำเร็จปริญญาโทหมดทุกคน แต่สามีมาเป็นเช่นนี้แล้ว ฉันก็ต้องมานั่งเฝ้าเช็ดก้นเช็ดอุจจาระให้ทุกวัน อีกบ้านหนึ่งอยู่ใกล้เรือนเคียงกับดิฉัน พอเมียเป็นอัมพาต ผัวหนีไปมีเมียใหม่ เห็นแล้วก็ท้อใจ นี่เรื่องจริง นี่มันไม่สามัคคีกัน อีกเจ้าหนึ่งผัวถูกรถชนตัดขาก็เดินเขย่ง ๆ ขาเดี้ยงไปข้างหนึ่ง โดนตัดถึงหัวเข่าใส่ขาปลอมเดินไม่ได้ก็ต้องเขย่งไปกับไม้เท้า เมียหนีเลย นี่เขาเล่าที่ขอนแก่น ฟังแล้วเราก็ท้อใจเหลือเกิน นี่หรือสามัคคี รักกันอันใดเล่า
ขอฝากญาติโยม ถ้าโยมสามัคคีนั่งกรรมฐาน เสียงหนอ... ตั้งสติไว้ที่หู สามัคคีกันหน่อยได้ไหม ได้ยินอะไรเข้าก็ไม่กำหนด เพราะเราขาดสามัคคีในตัวเอง ไม่ได้สนใจตัวเองเลย เราไม่พึ่งตัวเองนั่นแหละ ท่านญาติโยมพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ถ้าเราพึ่งตัวได้ ช่วยตัวเองได้ เราจะกำหนดตลอดไป เรายังช่วยตัวเองกันไม่ได้เลย นี่ขนาดเป็นหนุ่มเป็นสาว แล้วท่านจะไปช่วยตัวเองตอนแก่ได้หรือ แก่แล้วเอาไม้สักกะเท้ายันเตยันตังยันหน้ายันหลังคลาน ๔ เท้าดู ท่านจะช่วยตัวเอง พยุงตัวเองไปก็จะไม่รอด ก็จะไม่ไหว ท่านหนุ่มท่านสาวทั้งหลายเอ๋ย อย่าไปหัวเราะคนแก่จะยกให้เรา อาตมาเมื่อก่อนเคยดูถูกคนแก่ เออคลานกินข้าวก็มูมมามเหมือนเด็ก บัดนี้เราก็มูมมามเหมือนเด็ก ต้องระวังนะ ต้องสำรวม ต้องสังวรระวัง กินข้าวก็หก รับประทานอาหารก็หกและมูมมาม กินก็สกปรก เด็กมันรังเกียจ ระวังตอนนั้นนะ ถ้าท่านสำรวมสังวรระวังหน้าที่การงานให้กรรมฐานในสามัคคีไว้ ท่านจะไม่เป็นอย่างนั้น เฒ่าชะแรแก่ชราจนอายุ ๙๐ กว่าก็ยังไม่ลืม ทำอะไรก็จะพร้อมมูลบริบูรณ์ด้วยสามัคคีธรรม ด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ลดละภาวนาตลอดรายการ นี่แหละกายสามัคคี กายเดินจงกรม ยืนหนอ ๕ ครั้ง ตั้งแต่ศีรษะลงไปเท้า ยืนหนอ... ถ้าโยมสามัคคีกับสติดี จิตก็จะอยู่กับสติ ยืนหนอ... ก็จะรู้ดีขึ้น ถ้าไม่สามัคคีเลย ปากก็ว่า ยืนหนอ... ยืนหนอ... หนอ ๆ อะไรก็ไม่รู้ ไม่สามัคคีกันท่านจะรู้เรื่องไหม เลยก็รู้ของปลอมติดตัวไปเป็นที่น่าเสียดายเวลา รู้ไม่จริงและทำไม่ได้ เพราะไม่สามัคคีกัน
คนที่สามัคคีกันเจริญรุ่งเรืองทุกประการ งานสำเร็จทุกประการ โยมคนเดียวก็สามัคคีได้ โยมทำงานก็เสร็จ แต่ถ้าจิตกับกายมันขัดคอกัน โยมกำลังเหนื่อย จิตบอกเหนื่อยจัง หนาวก็ทนไม่ไหว ร้อนก็ทนไม่ไหว ร้อนเกินไป หนาวเกินไป กายทนไม่ไหว ไม่อยากทำงานก็เลิกไปนี่ขาดความสามัคคีในตัวเอง งานนั้นจะสำเร็จได้อย่างไร ขอฝากญาติโยมไว้อย่างนี้ อย่างที่ขอนแก่นเมื่อวานซืนนี้ เขาสามัคคีกันมาก เริ่มตั้งแต่ความรับผิดชอบของแต่ละคน อย่างโยมเป็นแม่ครัวก็รับผิดชอบ โยมเป็นพ่อบ้านก็รับผิดชอบในการปกครองบริหารงานบ้าน ต่างคนต่างรับผิดชอบสูง บ้านนั้นก็จะมีความสุข แม่บ้านไม่รับผิดชอบเลย ลูกตั้งหลายคน ไม่ดูแล ไม่ดูแลผัว ฝ่ายสามีก็ไม่ดูแลภรรยา ไม่ดูแลลูก ก็ใช้ไม่ได้ ไม่รับผิดชอบ ก็อย่าไปว่าเขาเลยญาติโยมทั้งหลาย แค่ตัวเขาก็ยังช่วยตัวเองไม่ได้ เขาไม่รับผิดชอบตัวเขาเลยและไหนเลยจะรับผิดชอบคนอื่นเขาได้ อย่าไปว่าใคร ขอเสนอแนะว่า ว่าตัวเองดีกว่า บางคนมันดีแค่นั้นเอง มันดีกว่านั้นไม่ได้ไปไม่รอดไม่ปลอดภัย เป็นใหญ่เป็นโตไม่ได้ ดีแค่นั้น บางคนดีที่สุดเลย ดีจนเหลือดี ดีจนเกินดี บางคนก็ขาดดี ไม่มีดีเลย นี่แหละมันไม่เหมือนกันแต่ละคน ไม่งั้นเจริญเหมือนกันหมด ไม่งั้นเป็นเจ้านายกันหมดไม่ต้องเป็นขี้ข้าใครเขา คนที่เจริญเดินไปข้างหน้า คนขาดความสามัคคีจะเป็นขี้ข้าเขาต่อไป
การเจริญกรรมฐานเป็นการรับผิดชอบชีวิต เป็นการรับผิดชอบในครอบครัว
เป็นการรับผิดชอบถึงลูกหลาน เป็นการรับผิดชอบภารกิจหน้าที่การงานโดยถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว
นี่คือกรรมฐานเรียกว่าสามัคคีธรรม ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายโปรดนำคติธรรมวันนี้
ไปชี้แจงให้เข้าใจถึงภายนอกและภายใน ทั้งทางโลกทางธรรม
มาเปรียบเทียบกับความสามัคคี ถ้าทางธรรมะก็กายกับจิตสามัคคีกัน โยมสำเร็จในเรื่องชีวิต
สำเร็จมรรคผลนิพพานแน่ ทางโลก กายสามัคคีจิต จิตสามัคคีกายแล้ว
ก็ไปช่วยคนอื่นสามัคคี สร้างความดีในส่วนรวม
ก็ทำให้โลกเจริญรุ่งเรืองวัฒนาสถาพรได้ทุกประการ
ดังนั้นวันนี้พูดถึงเรื่องความสามัคคีที่ทำงานสำเร็จที่ขอนแก่น สำเร็จแล้วศาลาราคา
๕ ล้านเศษไม่ถึงปี แปดเดือนเสร็จ นี่เพราะสามัคคี เงินทองก็สามัคคีกันได้แน่นอน
ก็จะอธิบายให้ฟังต่อภายหลัง ต่อนี้ไปตั้งใจฟังโอวาท
อันนี้พูดถึงทางโลกให้ท่านฟังบ้าง นี่ใช้ทางธรรมที่พูดคือกรรมฐาน สามัคคีจิตใจดี
จิตใจบริสุทธิ์ จิตใจมีปัญญานั่นคือต้องเอาทางธรรมสามัคคี ทำให้สอนตัวเองได้
ทำให้ตัวเองเดินในสังคม ฉลาดเฉลียว สามารถจะเห็นเหตุการณ์ไกลได้
ถ้าโยมเคยขี้เกียจทำงาน ทางโลกก็ค้าขายขาดทุน ซื้อที่ดินก็ขาดทุน ทำอะไรไม่เจริญในหน้าที่การงาน
ถ้าเจริญกรรมฐานแล้วมันเจริญไปหมด ดีไปหมดทั้งทางโลกทางธรรม
เพราะฉะนั้นจะแสดงถึงเหตุผลให้ฟังง่าย ๆ
ถึงเรื่องอานุภาพของความสามัคคีเพื่อเป็นการส่งเสริม ให้ประชาชนสนใจ
ในความสามัคคีมากยิ่งขึ้น คือทางโลก ไม่ว่าผู้ใด คณะใด ครอบครัวไหนก็ตาม
ถ้ามีความสามัคคีกันแล้วก็เจริญก้าวหน้า สามีภรรยารักกัน
สามัคคีกันไม่ทะเลาะวิวาทกัน นี่สิตรงนี้ต้องการมาก สามีภรรยาที่โง่ชอบทะเลาะกัน
ชอบขัดแย้งกันตลอดรายการ ท่านจะเจริญไม่ได้ในครอบครัวนั้น นี่ทางโลกเห็นได้ชัด
ถ้านั่งกรรมฐานเอาทางธรรมไปข่มตั้งสติไว้ สามีภรรยาจะรักกันดี จะมีปัญญากัน
ในยามแก่ ถึงคราวแย่มันจะไม่แย่ลงไป นี่เรียกกรรมฐาน ดังพระคาถาที่กล่าวไว้แล้ว สัพเพสัง
สังฆภูตานัง สามัคคี วุฒฑิสาธิกา แปลความว่า หมู่คนที่มีความรักสามัคคีกัน
ก็ประสบความเจริญรุ่งเรือง เรื่องนี้อย่าดูอื่นไกล เพียงในร่างกายของเรานี้ที่อธิบายแล้วข้างต้น
สามารถทำอะไรได้ก็เพราะอวัยวะส่วนต่าง ๆ สามัคคีกัน มือสามัคคี ปากสามัคคี เท้าสามัคคีก็เดินกันไป
อวัยวะส่วนใด ๆ ส่วนหนึ่งมีอันเป็นไปต้องเจ็บระทวยป่วยไข้ จะรู้สึกว่าจิตที่จะทำคำที่จะพูดเกิดขัดข้องขึ้นมาทันที
นี่ป่วยแล้ว นอกจากนี้ในด้านความสำคัญของสามัคคีก็มีมาก ท่านผู้หนึ่งรำพันไว้ว่า สามัคคีนี่แหละล้ำเลิศ
จักชูชาติเชิดพระศาสนา...ทุกสิ่งประสงค์จงใจ จักเสร็จสมได้ด้วยสามัคคี
เพื่อสนับสนุนความสำคัญของธรรมข้อนี้ ขอยกตัวอย่างธงไตรรงค์ที่เราเห็นเป็นผ้าต่างสีที่มีความหมาย สีแดง คือ ชาติ สีขาว คือ ศาสนา สีน้ำเงินนั้น หมายถึง พระมหากษัตริย์ สีแดงหมายถึงชาติไทยที่คนไทยได้พลีเลือดเนื้อเพื่อชาติไทย ด้วยจงรักภักดี สีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ ที่ถือวันว่า ทรงอวตารจากสรวงสวรรค์ชั้นฟ้ามาสู่แดนมนุษย์ ทั้งหมดนี้ ตรงกับบทประพันธ์ที่ว่า ไตรรงค์ธงไทยสะบัดพริ้ว ห้าริ้วสีแดงน้ำเงินขาว ดังดวงเดือนลอยเด่นในหมู่ดาว เป็นมิ่งขวัญของชาวประชาไทย น้ำเงินคือสีประจำชาติ ขาวคือพุทธศาสน์อันผ่องใส สีแดงคือเลือดของชาวไทย จะเทิดไตรรงค์ไว้ตลอดกาล บอกไว้ชัด เมื่อแผ่นผ้าเหล่านี้ได้ถูกนำมาผนึกติดกันเข้า ก็จะมีความหมายอันศักดิ์สิทธิ์เท่ากับเป็นชีวิตจิตใจของประชาชนคนไทยทั้งชาติทีเดียว แผ่นผ้าต่างสีนั้นแม้จะมีความหมายแทนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็จริงแต่ถ้าอยู่กันคนละส่วนมิได้ผนึกรวมกันเป็นผืนอันเดียวกันแล้ว ก็จะกลายเป็นแผ่นผ้าธรรมดา หามีความศักดิ์สิทธิ์ไม่
ในคัมภีร์พระธรรมบท พระพุทธเจ้าทรงสอนภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่วิวาทกัน จนพระศาสดาต้องเสด็จหลีกไปประทับอยู่ที่ป่ารักขิตวัน แดนบ้านปาริเลยยกะ ได้ช้างกับลิงเฝ้าปฏิบัติพระพุทธเจ้าอยู่ เราจะเห็นพุทธานุสาวรีย์ที่เรียกันว่า พระปางปาเรไลย์ ที่วัดป่าเลไลย์ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เราจะเห็นมีลิงถวายน้ำผึ้ง ช้างถวายน้ำ
พระปางปาเรไลย์นี้ทำให้เห็นตัวอย่างว่า ลิงสัตว์เดรัจฉานแท้ ๆ ยังรู้จักดีรู้จักชั่ว รู้จักสามัคคีช่วยกันปฏิบัติพระพุทธเจ้า หลังจากพระเหล่านั้นได้สำนึก จึงทูลอาราธนาให้พระบรมศาสดาเสด็จกลับกรุงโกสัมพีดังเดิม พระองค์ทรงประชุมพระสงฆ์ ทรงชี้โทษของการแตกความสามัคคี และอานิสงส์ของความสามัคคี โดยยกเรื่องนกกระจาบฝูงหนึ่งพากันไปหากิน บังเอิญไปติดตาข่ายของนายพราน ซึ่งขึงดักไว้ นกกระจาบหัวหน้าประกาศให้นกทุกตัวร่วมกันออกแรงบินเอาตาข่ายขึ้นไปค้างไว้บนต้นไม้แล้วปลีกตัวบินออกมา เพื่อนนกทุกตัวปฏิบัติตาม ก็พากันรอดพ้นชีวิตปลอดภัย แต่มาภายหลังนกฝูงนั้น เกิดประมาทแตกความสามัคคีกัน ไม่เชื่อนกหัวหน้า บินไปหากินจนไปติดตาข่ายของนายพรานอีก ตอนนั้นต่างเกี่ยงกัน ไม่ร่วมมือกัน ผลสุดท้ายเลยตกเป็นอาหารของนายพรานหมดทั้งฝูง
ความจริงของบางอย่างเพียงคนสองคนแบกหามไม่ไหว แต่ถ้ารวมแรงกันหลาย ๆ คน ก็จะกลายเป็นของเบาไป ไม้กวาดที่ใช้กวาดอะไรได้นั้น เพราะเรารวมเข้าเป็นกำเดียวกัน แต่ถ้าแยกกันออกไปแล้วก็ใช้งานไม่ได้ พระสงฆ์ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นแก้วหนึ่งที่เรียกว่า สังฆรัตนะ ก็เพราะว่าท่านมีทิฏฐิสามัญญตา คือมีความเห็นร่วม ไม่ทะเลาะวิวาทกัน ไม่แตกความสามัคคีกันนั่นเอง ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า ความสามัคคีมีความสำคัญเพียงใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับเรื่องสามัคคีไว้มาก เช่นคำว่า สุขา สังฆัสสะ สามัคคี เป็นต้น ความพร้อมเพรียงของหมู่ให้เกิดสุข สมัคคานัง ตโป สุโข ความเพียรของหมู่ของผู้พร้อมเพรียงกันให้เกิดสุข ดังนี้เป็นต้น อันนี้คือความสามัคคีธรรม เริ่มตั้งแต่เข้ากรรมฐาน โยมสามัคคีได้ รับรองไปรอดสู่ทางสร้างความสามัคคีนั้น ซึ่งมีอยู่หลายทางด้วยกัน ฉะนั้นทุกคนจึงควรเพิ่มพูนความสามัคคีให้เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้พระบรมศาสดา ตรัสถึงทางเกิดของสามัคคีไว้ ในสังคหวัตถุมี ๔ ข้อ คือ
๑. ทาน คือ การให้ปัน การให้ทานซึ่งกันและกันไม่หวงกัน
๒. ปิยวาจา พูดให้เขารัก ไม่พูดให้เขาเกลียด ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ต้องพูดให้เขารักเรียกว่า ปิยวาจา ปิโย เทว มนุสสานัง
๓. อัตถจริยา บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์
๔. สมานัตตตา วางตนให้เหมาะสม เรียกว่า ไม่ถือตัวตนว่า เราดีกว่าเขา
ทาน การให้ ท่านว่า การให้เป็นยารัก ตระหนี่นักเป็นยาชัง แล้วว่า
ความรักมาเพราะน้ำใจมี ความรักหนีเพราะน้ำใจหมด ความรักหดเพราะน้ำใจแห้ง น้ำใจในที่นี้ก็หมายถึงการโอบอ้อมอารีนั่นเอง
เมื่อความรักเกิดขึ้นแล้ว ความสามัคคีก็ตามมา อย่างที่ว่า ความรักมีความสามัคคีมา
ความรักโรยราเพราะไม่มาของสามัคคี
ท่านทั้งหลาย ดินทุกก้อนเป็นแผ่นนั้นก็เพราะมีน้ำเป็นเครื่องประสานไว้ หาไม่ก็จะกลายเป็นขี้ฝุ่นโดยไม่ต้องสงสัย คนเราก็เหมือนกันที่จะสามัคคีกัน ก็เพราะมีความรักคอยประสานอยู่ ถ้าลองได้เกลียดกันแล้วก็ไม่อยากร่วมกัน แม้แต่หน้าก็ไม่อยากจะมอง ประเภทของการให้แบ่งออกเป็น ๓ ประเภทอีก
๑. ให้เพื่อบูชาคุณ เพราะปรารภความกตัญญูกตเวทิตาธรรมเป็นเหตุ เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ท่านมีบุญคุณต่อเรามาก สมควรที่เราผู้เป็นศิษย์จะต้องรำลึกถึงพระคุณของท่านไว้เสมอ บางโอกาสควรนำข้าวของเครื่องใช้ไปสักการะบูชาท่าน ถึงท่านจะไม่อดอยากอะไร ก็ควรนำไปบูชาคุณท่าน เช่นให้ข้าวปลาอาหาร เป็นต้น เดี๋ยวนี้คำว่าพระคุณ กตัญญูกตเวที จะหายาก ดูยากแล้ว
๒. ให้เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจผู้อื่นไว้ ให้เพื่อยึดเหนี่ยวน้ำใจ ตัวอย่าง เพื่อบ้านใกล้เรือนเคียงกัน ขาดเหลืออะไรก็ช่วยกัน เพื่อเชื่อมไมตรีจิตมิตรภาพจะได้พึ่งพาอาศัยกัน ยามเจ็บไข้ได้ป่วยหรือยามฉุกเฉิน เป็นมิตรก็ดีกว่าเป็นศัตรูกัน แผ่เมตตาให้ศัตรูเป็นมิตรกัน คนมีศัตรูก็เหมือนร่างกายเป็นโรค ฉะนั้นคนฉลาดจึงไม่โกรธกับใคร
๓. ให้เพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม ตัวอย่างเช่น ช่วยเหลือคนจน คนพิการทำมาหากินไม่ได้ หรือคนเจ็บป่วย คนชรา คนที่มีน้ำใจเปี่ยมด้วยเมตตาปรานี การให้ทั้ง ๓ ประเภทนี้ ล้วนเกิดสามัคคีทั้งสิ้น
ปิยวาจา การพูดให้ผู้อื่นรัก บางทีพูดเกินขอบเขต พูดให้เขาเกลียดชัง พูดให้รักนี่พูดไม่ยาก แต่นิสัยเคยเป็นอย่างไร นิสัยไม่ดีมันก็พูดทางไม่ดี นิสัยดีก็พูดทางดีเป็นต้น บางคนสวย แต่พูดจาหยาบคายมาก พูดจาไม่เหมาะสม ก็มีมากในสังคมทั่วไป คำพูดของคนเรานี้สำคัญมาก เรียกกันว่าลมปาก ร้ายแรงกว่าลมภายนอก จะพูดให้เขาโกรธกันก็ได้ พูดให้เขารักกันก็ได้ พูดให้เขาดีใจเสียใจได้ทั้งนั้น ของร้อน ๆ เช่นน้ำร้อน เอาปากมาเป่าเดี๋ยวมันก็เย็น เทียนแข็ง ๆ เอาไฟลนเดี๋ยวก็นิ่ม ปิยวาจา คือ พูดโดยเหตุผล พูดเพราะ พูดจาไม่ข่มคน ไม่ข้ามคนล้ม อย่าไปข่มคนรู้ อย่าไปขู่คนกล้า อย่าไปท้าคนพาล อย่าไปวานคนร้าย อย่าไปขายคนรัก อย่าไปกักคนรีบ อย่าไปบีบคนบอบ อย่าไปชอบคนชั่ว อย่าไปยั่วคนดี และก็อย่าไปตีคนตาย เป็นต้น
ในหนังสือนิทานสุภาษิตเล่าถึงโคนันทวิศาล ที่อาตมาเคยเล่าให้ฟังอยู่เสมอ ที่ได้ฟังเจ้าของพูดจาไม่เพราะเลยหมดกำลังใจ ไม่ยอมลากเกวียน ๕๐ เล่มไป เช่นพูดว่า ไอ้โคขี้เกียจมึงจงลากเอาเกวียนนี่ไปให้ได้ โคได้ยินก็เสียใจ ไม่ลากเกวียนเลย นี่แหละเขาไม่ได้ขี้เกียจซักหน่อย แต่ไปด่าเขาว่าขี้เกียจ นี่ปากมันเลว เจ้าของเลยต้องแพ้พนันแก่เศรษฐี แต่ภายหลัง เมื่อเจ้าของพูดจาไพเราะ โคนันทวิศาลก็บอกให้ไปพนันใหม่ พ่อมหาจำเริญ พ่อโคนันทวิศาล พ่อมหาจำเริญจงลากเกวียนนี่ไปเถิดนะ เท่านี้เองก็ลากเกวียนไปได้สมความมุ่งมาดปรารถนา เจ้าของโคจึงกลับชนะเศรษฐีได้ทรัพย์มากกว่าเดิมอีก
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า พูดดีเป็นเงินเป็นทอง พูดไม่ดีเสียข้าวเสียของ จงจำไว้ว่า คนที่อาภัพคือคนที่พูดดีไม่เป็น
อัตถจริยา การบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็ช่วยเป็นธุระหาหมอหายา อย่านิ่งดูดาย เวลาใครป่วยไข้ ถึงเขาจะไม่เรียกก็ขาน ถึงเขาจะไม่วานก็ทำ เขามีงานอะไรก็ช่วยเขาทำ อย่าเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เพราะความเหน็ดเหนื่อยนั้นไม่ช้าก็หายไปหมดสิ้น แต่ไมตรีจิตที่เราหยิบยื่นให้เขานั้น จะเป็นตราประทับใจ ไม่รู้ลืมจนวันตาย นอกจากนี้ในส่วนรวมอันเกี่ยวกับประเทศชาติ ศาสนา ควรร่วมมือกันส่งเสริมชาติ ส่งเสริมศาสนาของเรา รับใช้ชาติด้วยการเป็นทหารป้องกันประเทศชาติบ้านเมือง เสียภาษีอากรตามหน้าที่ ในด้านศาสนาก็สนใจช่วยกันบำรุง ทั้งด้านปฏิบัติทั้งปฏิสังขรณ์ ก่อสร้างและปฏิบัติตามประเพณีนิยม เช่น ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันวิสาขบูชา วันพระก็รักษาอุโบสถกำหนดเจริญพระกรรมฐาน เป็นต้น ถ้าคนส่วนมากร่วมมือช่วยกันเช่นนี้แล้ว ชาติไทยของเราก็จะเจริญก้าวหน้า ศาสนาของเราก็เจริญรุ่งเรือง ความสามัคคีก็จะเกิดเป็นเงาตามตัวไป
สมานัตตา การวางตนให้เหมาะสม ได้แก่วางตนให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ เหมาะกับฐานะ เหมาะกับกาลเทศะ ที่ว่าเหมาะกับตำแหน่งหน้าที่นั้น หมายความว่า เรามีหน้าที่อย่างไร ก็ปฏิบัติไปตามหน้าที่ ที่ว่าเหมาะกับฐานะนั้นคือ ใช้จ่ายทรัพย์ให้เหมาะกับฐานะก็คือเข้าใจใช้จ่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อสุรุ่ยสุร่ายเกินไป แต่ก็ไม่ตระหนี่เกินไปจนเข้าขั้นทรมานตัวเอง ที่ว่าเหมาะสมกับกาลเทศะนั้นหมายความว่า ปฏิบัติกิจให้เหมาะกับเวลาและสถานที่ สถานที่เช่นนี้จะปฏิบัติอย่างไร แล้วดำเนินงานให้เหมาะ มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ อย่างสมัยพุทธกาล พระสาวกรูปหนึ่ง ชาวบ้านเขานิมนต์ท่านไปสวดในงานแต่งงานที่ท่านควรจะสวดมงคลสูตร ท่านกลับไปสวดกุสลาธรรมา แต่พอนิมนต์ท่านไปสวดงานศพ ท่านกลับไปสวดมงคลสูตรอย่างนี้เป็นต้น ชาวบ้านจึงพากันติเตียน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ ก็ทรงตำหนิเหมือนกัน เรื่องกาลเทศะนี้สำคัญมาก สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงยกว่า เป็นธรรมของสัตบุรุษ ด้วยหมายความว่า ผู้ที่จะเป็นคนดีได้นั้น จะต้องเป็นคนมีคุณสมบัติ ๔ ประการคือ
๑.
โอบอ้อมอารี
๒.
วจีไพเราะ
๓.
สงเคราะห์ประชาชน
๔.
วางตนพอดี
หรือที่บางท่านก็ตั้งเป็นหัวใจไว้ว่า ทาปิอะสะ นั้นย่อมมีอานุภาพสร้างความสามัคคีได้อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นท่านที่หวังความเจริญรุ่งเรืองแก่ตัวและส่วนรวม จงละความเห็นแก่ตัว ละทิฏฐิมานะ เลิกริษยาอาฆาตกันเสีย แล้วเพิ่มพูนความสามัคคีให้มากขึ้น ภายในโรงเรียนและภายในวัดวาอาราม ในบ้านของตนเอง ในหมู่บ้าน ทุกตำบล
เมื่อทุกคนต่างสามัคคี ก็จะอยู่ร่วมกันด้วยความร่มรื่นชื่นใจ ชาติดี ศาสนาก็ดี ประชาชนดี ใครมีหน้าที่อย่างไร ปฏิบัติไปตามหน้าที่ มีความเห็นอกเห็นใจกัน ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ต่างช่วยกันส่งเสริมชาติและศาสนาของตัวเองด้วยความรัก เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาติไทยก็เจริญก้าวหน้า ศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองต่อไป ตามพระเถราภาษิตขั้นต้นว่า สัพเพสัง สังฆภูตานัง วุฒฑิสาธิกา เป็นต้น ด้วยความพร้อมเพรียงของประชาชนผู้เป็นใหญ่ ยังความเจริญให้สำเร็จ
วันนี้ชี้แจงเรื่องสามัคคีธรรม สรุปว่า สามัคคีกายกับจิต คือ กรรมฐาน สามัคคีธรรมฝ่ายโลกก็มี ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา เป็นต้น ก็ขอความเจริญรุ่งเรืองในธรรม จงมีแก่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วกันในวันพระนี้ และทุกท่านจงเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณธนสารสมบัติ นึกคิดสิ่งหนึ่งประการใด สมความมุ่งมาดปรารถนาด้วยกันทุกรูปทุกนาม ณ โอกาสบัดนี้เทอญ....
------------ จบ ------------