ความรู้  และความคิด

พระราชสุทธิญาณมงคล

๔ มิถุนายน ๒๕๔๐

P12002

             ขอเจริญพร  ท่านพุทธศาสนิกชนและอุบาสก  อุบาสิกา  ทุกท่าน  ผู้ใคร่บุญกุศล  ในวันนี้เป็นวันธรรมสวนะ  เป็นวันพระ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๖  สิ้นเดือนแล้ว  ก็หมดไปวาระหนึ่งของวันธรรมสวนะหนึ่งสัปดาห์  และวันนี้ก็เป็นวันอุโบสถศีล  และเป็นวันที่ญาติโยมทั้งหลายมาจำศีลภาวนา  เรามาจำศีล  จำตัวนี้แปลว่าอยู่  คำว่าอยู่ตัวนี้แปลว่าอยู่ที่ศีล  ศีลก็อยู่ที่สติสัมปชัญญะที่เราจะแก้ไขปัญหา  เรียกว่าจำศีลภาวนา  เราก็ต้องจำจริงๆ  ภาวนาให้มันเกิดปัญญา  ให้เกิดความรู้  และให้เกิดความคิด  ให้มีสติปัญญาให้จงได้  นั้นก็คือการจำศีลภาวนาเนกขัมมปฏิบัตินั่นเอง  เราท่านทั้งหลายมาบำเพ็ญกุศลกันในวันพระวันธรรมสวนะนี้  ก็ไม่ใช่หมายความว่าเรามาอยู่เฉยๆ ต้องจำศีลตั้งสติเจริญกุศลภาวนาแปลว่า  ภาวนาให้เกิดสติปัญญา  ภาวนาให้มันผุด  ที่อาตมาพูดมานาน  แต่ไม่มีใครทำได้  ให้มันผุดขึ้นมาเรียกว่าความรู้  ในเมื่อความรู้ผุดขึ้นมาเมื่อใดแจ้งใจเมื่อใดความคิดก็เกิดทันที  ถ้าเราแจ้งด้วยความรู้  รู้บาปบุญคุณโทษ  รู้เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์แล้ว  ความคิดมันก็แสดงออกให้เราดำเนินวิถีชีวิตได้ถูกต้องได้  ถ้าเราไม่เจริญสติปัฏฐาน ๔  เจริญพระกรรมฐานจะไม่รู้เรื่องนี้เลย  จะไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้  เข้าใจเขวกันไปหมด  เข้าใจกันไปคนละอย่าง  ปฏิบัติคนละทาง  กำหนดจิตไม่ถูก  แล้วเราก็ไม่ได้อะไรเกิดขึ้นมา  การที่จะกำหนดสติอยู่ได้  จิตตัวนี้สำคัญ  การเจริญสติปัฏฐาน ๔  พระพุทธเจ้าสอนเป็นทางสายเอกก็เนื่องจากว่าให้เรามีสติอยู่ทุกอริยาบถนั่นเอง  ในการยืน  เดิน  นั่ง  นอน  เหลียวซ้าย  แลขวา  คู้เหยียดหรือเหยียดขาตั้งสติไว้  ตรงนี้แปลว่าจำศีล  จำตัวนี้แปลว่าไม่ใช่จอง  แต่จำเป็นตัวกำหนดจิต  ให้มีสติอยู่ที่ภาคกายเรียกว่ารูปธรรม  ให้มีสติอยู่ที่จิตเรียกว่านามธรรม  ทั้งรูปธรรมและนามธรรมทั้งสองประการนี้  จะทำให้เราเกิดความรู้  รู้ตัวนี้แปลว่ารู้แจ้งรู้จริง  เห็นแจ้งเห็นจริงในสัจจะธรรม  เดี๋ยวก็จะเกิดความคิดขึ้นมา  ความคิดนั้นแปลว่าประดิษฐ์สร้างสรรค์ในจิตของท่านให้ดำเนินงานด้วยความถูกต้อง  จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้  เพราะว่าปัญญาตัวนี้ได้มาจากความคิด  จากที่ความรู้จริงรู้แจ้งเห็นจริงเห็นแจ้งแล้วก็ด้วยการเจริญพระกรรมฐาน  ท่านเจริญกรรมฐานกำหนดไม่ได้ท่านจะไม่มีความคิดที่ถูกต้อง  ความคิดท่านจะไม่ดี  ความคิดท่านจะออกนอกลู่นอกทาง  เพราะฉะนั้นคนเราความคิดจึงไม่ตรงกัน  ถ้าใครปฏิบัติได้เข้าขั้น  ความคิดจะไม่มีผิดแผกแตกกัน  จะคิดตรงกัน  มีความคิดสูง  มีความรู้ดี  ความคิดก็ต้องดีและต้องสูงไปตามความดีอันนั้น  เรียกว่าเรืองปัญญา  ในเมื่อปัญญาเกิดขึ้นแก่ท่านทั้งหลายแล้วชีวิตท่านจะแจ่มใส  ทำอะไรก็จะแก้ไขปัญหาได้  จะไม่มีอุปสรรค  จะไม่มีปัญหาชีวิตแต่ประการใด  ปัญหาชีวิตก็หมดไป  ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ  ก็ขอเจริญพรว่าเหมือนกันไม่ได้ทั้งพระสงฆ์องค์เจ้า  ทั้งพระสงฆ์องค์ชี  จิตใจไม่เหมือนกันเพราะความรู้ความคิดไม่เหมือนกัน  มีสติไม่เท่ากัน  สมองที่จะมีปัญญาแก้ไขปัญหาก็ไม่เหมือนกัน  โรคภัยไข้เจ็บก็เบียดเบียนไม่เหมือนกัน  โรคตับ  โรคไต  บางคนก็เป็นโรคมะเร็ง  บางคนก็เป็นโรคลำไส้  บางคนก็เป็นโรคกระเพาะอาหารก็ไม่เหมือนกัน  คนที่จะมีความคิดเหมือนกันตรงกันเป็นไปได้ยากมาก  เกิดมาจากอะไร  มันมาจากความรู้ที่แจ้งและไม่แจ้ง  จริงหรือไม่จริง  รู้แน่นอนหรือไม่แน่นอน  เช่น  กำหนด ปวดหนอ  รู้ไม่แน่นอนรู้ไม่จริง  เป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  แล้วก็ปวดโน่นปวดนี่ตลอดรายการ  ท่านก็ไม่รู้จริง  รู้ไม่เข้าใจ  ถ้ารู้จริงรู้เข้าใจท่านจะเกิดความคิดที่จะมีสติปัญญารอบรู้ในกองการสังขารแก้ไขปัญหา  อ่านออก  บอกได้  ใช้เป็น  มันจะออกมาทำนองนี้เป็นต้น  ถ้าเหนือนอกจากนี้จะงมงาย  ไม่รู้แจ้งเห็นจริงในตัวเอง  เลยก็มีแต่บาปกรรมทับทมไว้ในจิตใจ  จึงมีปัญหากันมากสามีภรรยาคิดไม่ตรงกัน  แตกแยกกันมากมาย  ลูกหลานก็ไม่ตรงกันแย่งสมบัติกัน  เพราะความรู้และความคิดสองประการนี้  ถ้าใครเจริญพระกรรมฐาน  เจริญสติปัฏฐาน ๔  ความรู้จะเข้าใจกันได้  ความรู้และความคิดจะแสดงเหมือนกัน  จะคล้ายคลึงกันมาก  จะพูดกันรู้เรื่อง  จะเข้าใจกันง่าย  แล้วก็จะเห็นอกเห็นใจกันง่าย  จะรักกันง่ายเพราะมีธรรมะ  คนที่รักกันไม่ได้เกลียดกันมีแต่ทะเลาะวิวาทกันนั้น  ก็เนื่องจากความรู้นั้นไม่แน่นอนมันไม่มีความรู้จริง  และก็ไม่มีความคิดจริง  มีแต่ความรู้ที่เรียนหนังสือความรู้ที่ไปจำเขามา  ความรู้ที่เห็นแต่ทิฏฐิของตัวเอง  รู้ตัวเองเข้าใจตัวเองทิฏฐิมานะแก่ตัวเอง  มันจะเกิดอันตรายแก่ตัวเองอย่างนี้เป็นต้น  คนเราจึงมีความคิดความเห็นไม่ตรงกัน  พี่น้องก็ไม่เหมือนกัน  ไม่ไผ่ต่างปล้องพี่น้องต่างใจ  พี่น้องท้องเดียวกันก็เหมือนกันไม่ได้  เรามาจับกลุ่มคุยมานั่งกันอยู่สถานที่กันนุ่งขาวห่มขาวก็จิตใจไม่ตรงกันไม่เหมือนกัน  พระสงฆ์องค์เจ้าต่างถิ่นต่างถานมาบวชเป็นนวกะ  เป็นเถระ  ก็มาจากตระกูลต่างๆ  มาจากญาติพี่น้องไม่เหมือนกัน  เพราะว่าตระกูลไม่เหมือนกัน  ๗ ชั่วบรรพบุรุษก็ไม่เหมือนกัน  แต่มาแล้วปฏิบัติธรรมให้เหมือนกัน  ลงโบสถ์  ลงวัตรให้เหมือนกัน  ทำกิจวัตรเหมือนกัน  และเข้าใจกันได้จะกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  จะไขปัญหาสังคมของสงฆ์ได้  และสงฆ์ก็จะแก้ไขสังคมของคนทั่วไปได้เรียกว่าพัฒนาสังคมอันนั้น  เพราะเราอยู่ร่วมกัน  รวมกันได้  แต่บางแห่งรวมกันไม่ติด  รวมกันไม่ได้  เพราะนิสัยไม่ตรงกัน  บางองค์ท่านก็ชอบสวดมนต์ไหว้พระ  บางองค์ท่านก็ขี้เกียจสวดมนต์ไหว้พระ  ไม่สนใจ  นี่มันไม่ตรงกัน  บางองค์ท่านทำกิจวัตรไม่พัก  เจริญกรรมฐาน  เจริญกุศลภาวนา  บางองค์ท่านก็บอกว่าทำไปทำไม  ไม่เกิดประโยชน์อะไร  นี่บางองค์ก็เป็นอย่างนั้น  ถ้าคนรู้จริงจากการภาวนานี้  ความรู้เกิดจากความคิด  เกิดสติปัญญาแล้ว  จะขยันไม่พัก  จะขยันสร้างความดีไม่พักไม่ย่อหย่อนต่อการปฏิบัติแน่นอน  ญาติโยมเป็นฆราวาสผู้ครองเรือนที่มีภาระจะต้องแบกมากมาย  เลี้ยงลูกเลี้ยงครอบครัวต้องหากินอาบเหงื่อต่างน้ำ  ต้องหาอาหารการบริโภคทุกวัน  หาอาหารเช้าแล้วต้องหาอาหารกลางวันอีก  หาอาหารกลางวันเสร็จแล้วต้องหาอาหารเย็น  แต่แล้วเราไปดูงานเขางานบวชนาค  งานศพ  หรืองานผูกพัทธสีมา  เป็นต้น   แม่ครัวมือเปียกตลอดหาแล้วก็ยังไม่พอก็ต้องหาอีกต่อไป  เป็นเรื่องธรรมดา  คนเราก็เช่นเดียวกันขยันไม่พัก  บางท่านก็ขี้เกียจไม่พัก  ที่อาตมากล่าวข้างต้นว่า  คนเราเกิดด้วยความรู้และความคิด  ถ้าคนเราไม่ได้ปฏิบัติเลยนะมันจะไม่มีความรู้ไม่มีความคิด  จะไม่ประดิษฐ์สร้างสรรค์  จะเป็นคนสั้นๆ  แค่หัวบันได  ไม่มีความเจริญกับเขา  คนที่มีความเจริญรุ่งเรืองในครอบครัวและในหมู่คณะของตน  คนนั้นจะทำงานไม่พัก  จะขยันในหน้าที่การงานทุกอย่างที่จะต้องดำเนินวิถีชีวิตไปด้วยความถูกต้อง  ขอเจริญพรญาติโยมทั้งหลาย  ถ้าคนเห็นแก่ตัวจะกลัวลำบากความยากจะเกิดขึ้นแก่เขา  เขาเหล่านั้นจะไม่เอางานเอาการ  จะไม่อยากจะร่วมงานกับใคร  แยกตัวออกไป  จะมาฟังธรรมะก็ไม่เอา  ข้ารู้แล้วอวดรู้อวดดี  จึงไม่อยากฟัง  นับประสาอะไรกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังให้พระอานนท์ศรีอนุชาแสดงคิริมานสูตร  ถวายตอนอาพาธ  ท่านยังต้องฟังเหมือนกัน  แล้วเราไม่ฟังได้อย่างไร  อันนี้ก็เป็นเหตุผลอันหนึ่งที่เราจะต้องพึงปฏิบัติ  และถึงวันพระวันธรรมสวนะไม่ควรขาด  ควรจะปฏิบัติทำกิจวัตร  โยมก็มารักษาอุโบสถ  เพ่งโทษของตนเองในหนึ่งรอบสัปดาห์  มีผิดมีบกพร่องตรงไหน  เรียกว่าเพ่งโทษตัวเอง  มารักษาศีลจำศีลภาวนาต้องการจะมาเพ่งโทษตัวเอง  ต้องการจะมาวิจัยตัวเอง  ไม่ต้องไปเพ่งโทษคนอื่นเขา  ต้องการเพ่งโทษตัวเองว่าเรามีโทษหนึ่งสัปดาห์ทำอะไรไว้บ้าง  ขาดทุนหรือได้กำไรในรอบสัปดาห์นี้  เราก็จะได้เจริญสติ  ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการเพ่งโทษของตัวเอง  มีโทษมีภัยอยู่ตรงไหนบ้าง  และมันบกพร่องตรงไหนบ้าง  เราก็จะได้แก้ไขบกพร่อง  ที่อาตมากล่าวอยู่เสมอว่า  ขาดก็ต้องเติม  เกินก็ต้องตัด  เพื่อประหยัดเวลา  อยู่มาอายุมากแล้วก็ใกล้จะตายด้วยกันทุกคน  ประหยัดเวลาเข้าไว้บ้าง  ขาดก็ไม่เติม  เกินก็ไม่ตัด  แสดงว่าเราไม่ประหยัดเวลา  เสียเวลาไปก็น่าเสียดาย 

                  ในวันธรรมสวนะนี้เราก็จำศีลภาวนา  เจริญวิปัสสนากรรมฐาน  ขันธ์ ๕  รูปนามเป็นอารมณ์จะเกิดความรู้ที่ไม่เคยรู้  ที่ไม่เคยเข้าใจก็จะได้เข้าใจ  เช่น  กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเราไม่เคยเข้าใจ  จะได้เข้าใจว่ากายานุปัสสนาแปลว่าอะไร    กายในกายนอก  กายนอกกายใน  กายในก็คือมีสติกำหนด  กายจะยืนหนอ ๕ ครั้ง  กำหนดตั้งแต่ศีรษะลงปลายเท้า  ปลายเท้าขึ้นมาบนศีรษะ  ยืน...หนอ  ถ้ายังใหม่ถอนหายใจที่สะดือ  มันจะคล่องขึ้น  พอกำหนดจากปลายเท้าว่า  ยืน...ขึ้นมาถอนหายใจที่สะดือ  แล้ว  หนอ...  ถึงศีรษะ  ถ้าทำอย่างนี้ได้มันจะคล่อง  พอทำได้แล้วไม่จำเป็นต้องถอนลมหายใจตรงนั้น  ถ้าคล่องมันจะลงไปถึงปลายเท้าเลย  ยืน...หนอ... พอดี  จากปลายเท้าขึ้นมาศีรษะ  ยืน...หนอ... พอดี  ได้หนึ่งระยะ  ถ้ายังใหม่ต่อการปฏิบัตินั้นก็ต้องทำอย่างที่อาตมากล่าว  ถ้าไม่ถอนหายใจก็หายใจไม่ออกกำหนดไม่ได้  เพราะเหตุใดเพราะคนเรานี้หายใจสั้นแทบทุกคน  ไม่มีใครหายใจตั้งแต่จมูกถึงสะดือหรอก  หายใจสั้นแทบทุกคน  ถ้าเราหายใจยาวๆ จนคุ้นเคยต่อสภาวธรรม  เช่นจะยืนหนอ ๕ ครั้ง  หรือจะหายใจเข้าพองหนอยุบหนอ  ก็ตาม  หายใจยาวๆ มันจะทำให้เพิ่มความรู้  เพิ่มความดี  เพิ่มความมีปัญญา  ทำให้ความรู้เห็นแจ้งเห็นจริงในสัจจะธรรมชัดเจน  ชัดเจนมาก  แต่แล้วเราก็ไม่ทำอย่างนี้กัน  ทำอะไรสอนกันไปคนละทางสองทานกันไปหมด  อย่างที่เราสอนไม่เอา  ไม่ว่ากัน  ไม่ได้กำหนดตรงนั้น  ถ้ากำหนดตรงนั้นได้ตั้งสติไว้ได้อยู่ในลมหายใจแล้ว  บางคนมานั่ง  นั่งอย่างเดียวไม่ได้มีครูอาจารย์  ทำไปตามอารมณ์ท่านก็ได้ของไปตามอารมณ์  ท่านจะไม่ได้ดีนะ  ไม่มีครูบาอาจารย์  ทำตามอัธยาศัย  ทำส่งเดช  โดยไม่มีเหตุผลท่านทำอีกร้อยปีก็ได้แค่นั้นนะ  ไม่ได้อะไรเกิดขึ้นมา  บางคนอวดรู้อวดดีด้วย  เอาอารมณ์มาใส่กันพูดจาไม่เพราะก็มีมาก  ถ้าเรามาปฏิบัติเราก็อย่าถือเราต้องอดทน  ใครจะว่าอย่างไรต้องอดทนกำหนดให้ได้  ไม่อย่างนั้นจะไม่เกิดความรู้  ถ้าท่านไม่อดทนได้ยินเสียงไม่ดีท่านก็อารมณ์ไม่ดีแล้ว  ท่านจะไม่เกิดความรู้ที่ดี  ท่านจะเกิดความรู้ที่เลว  รู้ในอารมณ์ที่เสียมาอัดเทปเข้าไว้อยู่ในจิตใจของท่าน  สร้างเวรสร้างกรรมให้แก่ตัวเอง  กลับไปแล้วก็มาเปิดเทปฟังว่ากลุ้มอกกลุ้มใจมาวัดอัมพวันไม่ได้เรื่อง  นั่นแหละจะเป็นบาปแก่ตัวท่าน  จะได้ความรู้แบบเลวๆ  ไม่ใช่ความรู้ในปัญญา  ไม่ใช่ความรู้ที่จะแก้ปัญหา  ไม่ใช่ความรู้จริงในสิ่งที่เป็นปัญญา  รอบรู้ในกองการสังขาร  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  อนิจจัง มันไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  ถ้าเรารู้จริงแล้วมันก็เป็นอนิจจังไม่แน่นอน  อย่าไปจะมั่นคั้นให้มันตายผิดหวังจะเสียใจตลอดชีวิต  นี่ความรู้จริง  ที่มันออกมาได้แจ้ง  ก่อนจะรู้จริงต้องแจ้งถึงใจก่อน  ในเมื่อแจ้งถึงใจแล้วความรู้จริงก็จะออกมาเรียกว่าความคิด  มันคอยจะคิดไปในทางดี  ถ้าออกมาอย่างนี้ได้แล้วท่านก็จะพบของจริง  ว่าตัวเรามีความจริงเกิดขึ้นแล้ว  แต่ผู้ปฏิบัติไม่ค่อยดำเนินงานตาม  ไม่ทำตามอันนี้นะ  แล้วมาบอกว่าไม่ได้เรื่อง  ก็ท่านมาไม่เอาเรื่องอะไรเลย  มาก็จิ้มๆ จ้ำๆ  มาแก้บนกันบ้าง  เสแสร้งกล่าววาจาอันเสียสัจจะ  แล้วท่านจะได้อะไรหรือ  ท่านจะไม่ได้ผลอานิสงส์สมความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการขอฝากไว้  แค่ยืนหนอ ๕ ครั้งให้ได้  ถ้าได้ดีแล้วท่านจะหายใจยาว  สติรู้จริงขึ้นมาอันนี้มันบอกกันไม่ได้  มันเป็นตัวหนังสือไม่ได้  ไม่มีอยู่ในตำรา  แต่ถ้าท่านทำได้แล้วท่านจะรู้เองมันเป็นอย่างไร  จิตใจจะคล่องแคล่วว่องไวรวดเร็วเป็นธรรมจะรู้อย่างไร  คำว่ารู้ดีรู้ชอบรู้อย่างไร  รู้ตรงไหน  ท่านจะแจ้งแก่ใจเป็น  ปัจจัตตัง  เวทิตัพโพ  วิญญูหิ  ท่านจะรู้แก่ตัวของท่านเอง  นี่แปลว่าความรู้  ความจริงใจก็เกิด  เรียกว่าความรู้  ก็เกิดเหตุผล  ความจริงนั้นทำให้คิดทำให้ประดิษฐ์สร้างสรรค์  คนที่ไร้ความจริงมันจะไม่มีความคิด  จะไม่ได้ผลเท่าที่ควรมันแล้วจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าไม่ได้  เลยไปหาผีเจ้าเข้าทรง  ไปหาพระหมอดู  เป็นต้น  เลยไม่ได้ผลแต่ประการใดก็ออกมาอย่างนี้ชัด  ในเมื่อออกมาชัดแล้วท่านจะเอาอะไรอีก  ท่านจะหมดโอกาสหาโอกาสที่ดีงามได้ยากมาก  บางคนก็ไม่เอาก็แล้วไปก็มีเหตุผลอย่างนั้น  การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องสำคัญอันหนึ่ง  แต่บางคนก็ไม่สนใจก็ไม่ว่าอะไรกัน  ความคิดที่มันมีกำหนดเราจะรู้กฎแห่งกรรมได้จากความคิด  การที่มีสติจะเกิดความคิด  เกิดปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาได้  เรียกว่ารู้กฎแห่งกรรมจากการกระทำได้  บางคนก็ไม่รู้  ทำอย่างไรก็ไม่เข้าใจ  แก้ไขปัญหาก็ไม่ได้  ก็น่าเสียดาย  เสียใจด้วย  ไม่เกิดประโยชน์แต่ประการใด  คนที่รู้กฎแห่งกรรม  ต้องรู้ตัวปัญญา  เช่น  รู้เวทนาเป็นต้น  มีเวทนาต้องกำหนดตั้งสติที่เวทนานั้น  เรียกว่าจำศีลภาวนาที่เวทนา  ในเมื่อมีเวทนาปวดเมื่อแข้งขา  ปวดศีรษะ  ปวดเมื่อยทั่วสกลกาย  ก็กำหนด  อย่าเลิกไม่ได้  ตั้งสติไว้  เรียกว่าจำศีลคือจำสติ  มีสติสัมปชัญญะอยู่ตรงนั้นเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับลงไป  ประตูเกิด  ประตูตายก็จะบอกแก่เราได้  ตายแล้วมันก็ดับ  ดับแล้วมันก็เกิด  เกิดแล้วก็ดับ  แล้วเวทนามันก็เคลื่อนย้าย  แยกรูปแยกนาม  แล้วเวทนาก็แยกออกไป  ในเมื่อเวทนาแยกออกไปได้แล้วนั้นสติก็ดีขึ้น  เลยก็จิตก็ไม่เป็นอุปาทานที่จะไปยึดเหนี่ยวตรงนั้น  ไม่ออกไปยึดในส่วนนั้นแล้ว  เวทนาก็หายไป  แล้วเวรกรรมก็มาเลย  ว่าเรามีเวรกรรมอะไรบ้าง  จะสะสมหน่วยกิตไว้ที่เรียกว่าความคิด  ความคิดนั้น  มันจะคิดออกมาเอง  มันจะเกิดเองโดย  ปัจจัตตัง  เกิดเป็นญาณทัสสนวิสุทธิ  ความบริสุทธิ์นั้นก็เกิดขึ้นแก่ตัวท่านเอง  คิดไม่ออก  เสียใจก็ลิ้นปี่นั้น  หายใจยาว ๆ  กำหนดให้ได้  ไม่หายก็กำหนดไปจนกว่าจะหายเสียใจ  ถ้าท่านทำได้ตามที่อาตมากล่าวแล้วท่านจะหมดปัญหาไป  จะมีสติปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาของท่านได้แน่นอนที่สุด  มันก็ออกมาอย่างนี้ชัด  โกรธ  ก็กำหนด  ถ้าเรากำหนดได้คืออริยสัจสี่ก็จะเข้ามาในแนวปฏิบัติ  ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  มรรค  มันเกิดทุกข์ที่ความโกรธ  โกรธนี้เป็นทุกข์มาก  มันจะแก้ไขความโกรธนี้แสนจะยากมาก  แต่เราก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุ  มันโกรธก็เป็นต้นเหตุต้องแก้ความโกรธก่อน  ดูซิความโกรธมีพิษสงประการใดทำให้โรคภัยไข้เจ็บอย่างไร  ทำให้โรคแทรกซ้อน  ทำให้อายุสั้น  ทำให้ร่างกายสังขารเสื่อมโทรมไปตามสภาพ  นี่ความโกรธ  ถ้าเรากำหนดได้มันก็จะรู้เอง  ความโกรธก็หายไป  แล้วจะไม่โกรธ  ไม่พยาบาท  กับท่านผู้ใดอีกต่อไปแล้ว  มันก็เกิดขึ้นได้  ในเมื่อเกิดขึ้นได้ที่ลิ้นปี่นี้  แล้วก็ความผ่องใสญาณวิสุทธิก็เกิดขึ้น  ความบริสุทธิ์ก็เกิดขึ้นได้จากตรงนั้น  เรียกว่าตัวปัญญารอบรู้ในกองการสังขาร  เรียกว่ารู้จริง  ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า  อ๋อนี่คือสมุทัย  หาที่มาของทุกข์ได้  นิโรธแจ้งแก่ใจคือมรรค  ได้แก่  มรรค ๘  ได้แก่ตัวปัญญา  มันก็จะเกิดปัญญา  เกิดความคิดขึ้นมา  คิดไปตามลูกโซ่นั้น  จะรู้ว่า ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  มรรค  คือ  มรรค ๘  ได้แก่  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  ที่เราปฏิบัติอยู่ ณ บัดนี้  จะมีประโยชน์แก่ท่านเอง  เสียใจก็อย่าให้เสียใจค้างคืน  ดองไว้ตอนเช้า  ท่านจะอารมณ์ค้าง  เราก็จัดการหาเหตุที่มาของทุกข์ท่านปฏิบัติได้ท่านจะไม่มีความโกรธที่จะผูกพยาบาทเก็บไว้นาน  ถึงจะมีก็เวลาจำกัดไม่มากนัก  บางคนเก็บความโกรธไว้เป็นเวลานานตั้งเป็นปีๆ  กระทั้งที่เขาก็ไม่รู้ว่าเราไปโกรธเขา  เรารู้ตัวว่าเราโกรธเราเป็นบาป  เขาไม่รู้ตัวเขาก็ไม่เป็นบาปแต่ประการใด  นี่มันอยู่ที่ตัวเราทั้งหมด  นี่เวทนาสำคัญอันหนึ่ง  ที่มันเป็นบ่อเกิดอุปสรรคในกรรมฐาน  ปวดเมื่อย  เสียใจ  ดีใจ  ก็ทนไม่ไหว  อันนี้เป็นอุปสรรคอันหนึ่งแต่เราก็ต้องสู้กำหนด  รู้จักประตูเกิด  ประตูตาย  รู้จักเกิดดับให้จงได้  พอเกิดดับได้แล้ว  เราก็รู้จริงขึ้นมาเรียกว่ารู้ในความคิด  ใช้สติปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาได้ทันทีในปัจจุบันนั้น  ก็ได้แน่นอน  จิตตานุปัสสนา  ข้อที่สาม  มันคิดอะไรกำหนด  จิตมันออกก็กำหนดเท่านี้เอง  แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ากำหนดยุบหนอพองหนอกำหนดไม่ได้  กำหนดไม่ได้จังหวะต้องฝึกให้ได้ต้องให้ได้จังหวะ  หายใจยาวๆ  ตั้งสติไว้ให้ได้  ยืนหนอ ๕ ครั้งนี้สำคัญมาก  ไม่ใช่ของทำได้ง่ายเป็นของทำยาก  อาตมากว่าจะทำได้ตั้ง ๑๐ ปี  ยืนหนอ ๕ ครั้งใช้เวลา ๑๐ ปีนะ  ไม่ใช่วันสองวัน  โยมทำวันสองวันคงยังไม่ได้  แต่ก็ต้องพยายามทำต่อไปจะได้เห็นจริงเห็นแจ้งในสัจจะธรรม  ว่าอะไรเป็นอะไร  ว่ากฎแห่งกรรมอยู่ตรงไหน  แล้วเราจะรู้เห็นหนอ...เห็นอะไรสัจจะธรรมตรงไหน  เห็นเข้าไปในปัญญาแล้วจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไรบ้าง  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ในเมื่อกำหนดแล้วมันเกิดปัญญาตรงไหน  มันเกิดความรู้ตรงไหน  เห็นนี้จำแม่น  เสียงได้ยินจำแม่น  แต่ในนามธรรมนั้นมันจะเกิดเองไม่ได้ยินเสียง  ไม่มีรูปคลำในนามธรรมมันก็จำได้ยาก  แต่รูปเห็นลักษณะมันจำได้ง่าย  เสียงดังก็จำได้แม่น  แต่ในด้านนามธรรมไม่มีรูปเสียง  มันมีนามธรรมของเขาจำได้ยาก  แต่แล้วเราก็ได้จากความคิด  ความรู้และความคิดนี้เองจึงจะเห็นนามธรรม  ถ้าเราความรู้แจ้งแก่ตัวเองในจิตใจแจ้งถึงใจแล้ว  ความคิดก็เกิดขึ้นรวมเป็นปัญญา  เรียกว่านามธรรม  เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์แก่ตัวท่านเองในการแก้ไขปัญหาชีวิต  ตาเห็นรูป  กำหนดเห็นหนอ...  ส่งออกจากหน้าผากออกไป  เสียงหนอ...ก็ฟังที่หูตั้งสติไว้ทั้งสองข้าง  นี่เป็นการที่จะต้องเกิดความรู้จากการฟัง  และก็ทำให้ฟังเกิดความคิดเกิดสติปัญญาที่ได้ฟังมาเขาด่า   เขาว่า  มันก็มีปัญญาแก้ไขปัญหาในเสียงเหล่านั้น  แล้วเราก็จะรู้ต่อไปอีกว่า  เสียงนั้นเขาโกหกเราหรือเปล่า  สติบอกความรู้  ความคิดอันนั้นก็ออกมาแสดงให้เราทราบว่าที่เราฟังนั้นใช้ไม่ได้เขาไม่มีความจริงใจกับเรา  นี่มันก็เป็นการแก้ปัญหาไปในตัว  แก้ปัญหาได้ด้วยความรู้แล้วความคิด  เราจะได้มีสติปัญญาของเราเอง  ญาติโยมทั้งหลายที่เราได้มาปฏิบัติกรรมฐานนี้  ต้องการจะรู้ให้เป็นความจริง  การจะแก้ไขปัญหา  ต้องการอยากจะได้ความเป็นอยู่ของชีวิตที่ถูกต้อง  และอยู่ในบ้านในครอบครัวเพื่อปกครองตนปกครองตัวในครอบครัวให้อยู่ดีกินดีมั่งมีศรีสุขได้  และการเจริญกรรมฐานบำเพ็ญศีลภาวนา  ต้องการจะปิดประตูอบาย  นรก  เปรต  อสุรกาย  สัตว์เดรัจฉาน  เราก็จะไม่ต้องไปในภูมินั้นอีกต่อไป  จะไปก็อย่างต่ำมนุษย์สมบัติ  อย่างสูงขึ้นไปก็สวรรค์สมบัติ  สูงขึ้นไปอีกจุดยอดคือนิพพานสมบัติ  ทั้งสามประการนี้แน่นอน  เราก็จะไม่ไปประตู นรก  เปรต  อสุรกาย  สัตว์เดรัจฉาน  ในประตูทั้งสี่นั้นคงไม่ได้ไปอีกต่อไป  ก็ขอแสดงเหตุผลในเรื่องกรรมฐานมาพอสมควรเพื่อเป็นทัศนศึกษาและแก้ไขปัญหาให้ผู้ปฏิบัติธรรม  ก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติ  เดิน ๑ ชั่วโมง  ต้องนั่งให้ได้ ๑ ชั่วโมง  อย่าย่อท้อ  ก็ขอให้มีสัจจะ  เดินจงกรมแล้วก็นั่งแล้วกำหนดอริยาบถต่างๆ ให้ได้เท่านี้เอง  ท่านจะได้แค่ไหนก็เป็นเรื่องของโยมที่มีความเพียร  ถ้าเราตั้งใจปฏิบัติ  กินน้อย  นอนน้อย  พูดน้อย  ทำความเพียรมาก  แล้วไม่ไปสนทนาเท้าความหลังต่อกัน  รับรองได้ผลภายใน ๗ วัน  ท่านจะได้ความรู้ความคิดบ้างพอสมควรแก่อัตภาพที่มากัน  ก็ขออนุโมทนาสาธุการแก่ท่านทั้งหลาย  ผู้ปฏิบัติธรรมโดยทั่วหน้ากันขอให้ตั้งใจทำ  ตั้งใจปฏิบัติ  โดยติดต่อต่อเนื่องต่อไป