วันมาฆบูชา
(วันแห่งความรักในพระพุทธศาสนา)
พระราชสุทธิญาณมงคล
๑๑
กุมภาพันธ์
๒๕๔๑
P12004
ในวันนี้เป็นวันพระกรณีพิเศษ เป็นวันมาฆบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เรียกว่าเพ็ญเดือน ๓ ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น แต่เราชาวพุทธทั้งหลายอาจจะทราบดีด้วยกันแต่ทราบโดยไม่ลึกซึ้ง ว่าวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เพ็ญดิถีเพ็ญ พระจันทร์ลอยเด่นนภากาศกลางเดือน ๓ ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ในปีนี้ ก็ไม่ทราบลึกซึ้งไปว่าอย่างไร ทราบแต่ว่าเป็นวันมาฆบูชา แต่วันมาฆบูชาก็ทราบดี
บางคนท่านผู้รู้ก็รู้ดี
แต่โดยเชิงปฏิบัติแล้วให้ซึ้งลงไปกว่านี้ น่าจะแปลเสียใหม่ว่า วันแห่งความรัก ความรักแห่งบริสุทธิ์
ความรักที่บริสุทธิ์และสูงส่งในพระพุทธศาสนานั้น คือวันนี้
เราน่าจะแปลคำว่าผูกพันในพระศาสนานี้จึงจะถูกต้อง แต่พระพุทธเจ้าของเรานั้นผูกพันกับชาวโลกมานาน เรียกว่าความรักชาวโลก ด้วยพระเมตตา พระคุณ
ของพระองค์นั้น
ล้นเหลือที่จะนับคณาได้มากมายหลายประการนั้น ที่พระองค์ต้องเหนื่อยยากพระวรกายตลอดกาลมา ก็เพราะความผูกพันกับชาวโลก
ต้องการให้ชาวโลกพ้นเสียจากกองทุกข์นานาประการ เรียกว่าความรัก
รักโลกมนุษย์นี้
แต่เราท่านทั้งหลายเอ๋ยทำไมไม่รักพระพุทธเจ้า อาตมาจึงให้ชื่อในวันนี้ว่า วันแห่งความรัก
ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ นี้ รักที่บริสุทธิ์ สูงส่งในพระพุทธศาสนานั้น
ไม่เกินความผูกพันแห่งความบริสุทธิ์นี้ ถ้าจะถือว่ามีวันแห่งความรัก ก็ต้องถือวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรักที่สูงส่งและสูงสุดด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ถ้าท่านแปลความหมายอันลึกซึ้งท่านจะเห็นด้วย เรียกว่าความรักบริสุทธิ์และสูงส่งในพระพุทธศาสนา วันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศความรักอันบริสุทธิ์ สูงส่ง แต่ท่านสาธุชนชาวพุทธทั้งหลายอาจจะไม่คิดถึงความรักของพระพุทธเจ้าที่ผูกพันกับเรามาช้านาน ท่านมีพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณ กับชาวโลกมาก แต่เราท่านทั้งหลาย
โลกมนุษย์นี้หนอน่าจะผูกพันกับพระพุทธเจ้าอย่างบริสุทธิ์และลึกซึ้ง สนองพระเดชพระคุณทำตามคำสอนของพระองค์ด้วยความรักและผูกพันนั้นหาได้ยากมาก
ไม่มีโอกาสอันใดแล้วหรือประการใด วันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศ ความรักอันบริสุทธิ์และสูงส่งนี้ คือวันมาฆบูชา
วันแห่งความรัก
วันที่พระจันทร์เต็มดวงเสวยมาฆฤกษ์ในเดือน ๓ ตรงกับวันพุธที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ด้วยมีความรักบริสุทธิ์
สูงส่ง พระพุทธองค์ทรงแผ่พระมหากรุณาธิคุณได้กว้างขวางใหญ่ไพศาล ไม่มีขอบเขต ทั้งแก่พรหมและเทพ
ตลอดทั้งมนุษย์และสัตว์
ปรากฏแจ้งชัดในพระโอวาทปาฏิโมกข์
ที่ทรงแสดงในวันมาฆบูชาแล้ว
ทรงแสดงไว้ชัดเจนอย่างบริสุทธิ์และผูกพันท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายโปรดสำนึกสมัญญาในข้อนี้ไว้ให้มาก ว่าพระองค์ผูกพันกับเราต้องการอะไรหรือ
ต้องการให้ท่านทั้งหลายที่พัวพันอยู่ในโลกมนุษย์นี้นะ
ที่เต็มไปด้วยกิเลสนานาประการของโลกมนุษย์
ต้องการให้ท่านพึงไม่ทำบาปทั้งปวง
พึงทำกุศลให้ถึงพร้อม
พึงรักษาจิตให้ผ่องใส
อย่างที่ท่านมาเจริญพระกรรมฐานนั้นถูกต้องแล้วคือความรัก ท่านรักตัวท่านไหม ท่านกลัวตายไหม
นี่แหละรักตัวก็ต้องพัวพันอย่างที่กล่าวไว้ทั้ง ๓ ประการ
ในความรักอันแนบสนิทติดในหัวใจใสสะอาดบริสุทธิ์อันนี้ทำได้ยากมาก ท่านไม่รักตัวท่านเลย แต่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ชัดเจนอย่างนี้ ให้รักตัวเอง พึ่งตัวเอง สอนตัวเอง พึงไม่ทำบาปทั้งปวง พึงทำกุศลให้ถึงพร้อม พึงรักษาจิตให้ผ่องใส นั่นแหละคือรักบริสุทธิ์ รักตัวเองบริสุทธิ์ สร้างความดีบริสุทธิ์ จิตใจเมตตาปรานีบริสุทธิ์ นี่แหละวันแห่งความรัก
ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายถ้าตีความหมายชัดเจนอย่างนี้แล้ว ท่านจะรู้ซึ้งขึ้นไปจะเห็นน้ำพระทัยใจพระพุทธเจ้าคือ พระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น หาประมาณและหาที่สุดไม่ได้แล้ว ท่านรักชาวโลกมาก รักอย่างบริสุทธิ์อย่างจริงๆ แต่เราหาได้รักพระพุทธเจ้าไม่ เราจะเป็นพระภิกษุสงฆ์ หรือ อุบาสก อุบาสิกา
ก็ตามไม่รักพระพุทธเจ้า ทำไมถึงเรียกว่าไม่รัก ก็เพราะไม่ได้ทำตามคำสอนอันนี้ จึงเรียกว่าไม่รัก ไม่มีการผูกพันแห่งความดี ๓
ประการดังกล่าวแล้ว
ในเมื่อไม่มีการผูกพันเช่นนี้แล้วท่านจะเอาอะไรดีเล่า ท่านจะเอาดีตรงไหนเล่า ท่านไม่มีการผูกพันกับพระพุทธเจ้าหรือ ถึงวันมาฆบูชาแห่งความรัก ก็ยังถอยความรักไปเป็นความเกลียดความดี รักความชั่ว เอาตัวไม่รอดไม่ปลอดภัย
ท่านเกลียดตัวท่านเองใช่หรือไม่
ท่านจะเป็นพระภิกษุสงฆ์ท่านก็เกลียดตัวเอง ท่านเกลียดตัวของท่านเอง ท่านรักตัวของท่านหรือไม่ ท่านไม่ได้รักตัวของท่านบริสุทธิ์อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้นนี้แน่นอนที่สุด ท่านอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายเอ๋ย
ท่านรักตัวท่านไหม จิตใจเป็นประการใดผูกพันกับความดีอันนี้ไหม
ท่านมิได้ผูกพันความดีอันนี้แน่นอนที่สุด ท่านจึงเพลาดพลาดหละหลวมเหลาะแหละเหลวไหลทุกประการ ก็ขอเจริญพรต่อไปเมื่อเร็วๆ นี้ ในรูปภาพของแม่นุ่งขาวห่มขาวมาลักเงินลักทองพอเผลอหน่อยหยิบไปทั้งเครื่องนุ่งขาวเลย เสียใจด้วย นี้แหละรักตัวกลัวตาย
รักอย่างบริสุทธิ์เอาความชั่วเข้ามาใจตัวอย่างนี้
นี่แหละในคราบของคนที่มีความรักที่ผัวพันด้วยความเกลียดชังในชีวิตของท่านเอง มีความหมายในวัดนี้มากมายเหลือเกิน ท่านทั้งหลายจะเป็นพระสงฆ์องค์เจ้า จะเป็นอุบาสก อุบาสิกา
ก็ตามดูเอาเอง ท่านรักตัวท่านไหม รักพระพุทธเจ้าไหม ถ้าท่านรักพระพุทธเจ้าอย่างบริสุทธิ์อย่างที่ท่านกล่าวว่าวันแห่งความรักบริสุทธิ์ สูงส่งในพระพุทธศาสนา
ต้องทำตามสร้างความดีอันยอดชีวิตในจิตใจของท่าน รักตัวท่านไม่กลัวตาย
ถวายชีวิตต่อพระรัตนตรัย
พุทธัง ชีวิตตัง ยาวะนิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัง ชีวิตตัง ยาวะนิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ, สังฆัง ชีวิตตัง ยาวะนิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ. ท่านทั้งหลายถวายชีวิตหรือไม่ ความรักในยอดชีวิตของท่านด้วยความบริสุทธิ์ต้องถวายชีวิตด้วย อย่างนี้ถึงจะถูกต้อง มิฉะนั้นท่านจะเป็นอุบาสก อุบาสิกา ที่ปลอม
เป็นพระก็ปลอม
พระแท้หายาก
ปลอมแปลงกันคือไม่มีความรักนั่นเอง
ไม่มีความรักพรหมจรรย์ที่ท่านถือปฏิบัติธรรมนั่นเอง เนกขัมมะ ก็ไม่มีด้วย ก็ขอเจริญพรอย่างนั้นเห็นจะชัดเจนมาก
นี่แหละวันแห่งความรักไม่มีความผูกพันแห่งความดีเลย
เข้ามาเดินกรรมฐานมาลักข้าวลักของกัน อายุตั้ง ๔๐ กว่าแล้ว
หน้าตาก็ดีแท้
เผลอก็หยิบไปเลย
แสดงความเสียใจด้วย
นี่ความรักหรือความเกลียด
ท่านคิดตีความหมายเอาเองได้
พระภิกษุสงฆ์ในคราบนุ่งเหลืองห่มเหลืองท่านมีความรักไหม รักพรหมจรรย์ไหม รักการปฏิบัติธรรมหรือไม่
ท่านทั้งหลายดูหน้าก็รู้แล้วท่านรักจริงหรือไม่ รักตัวต้องไม่กลัวตายต้องยอมสู้ไหม พระพุทธเจ้าสู้มาตลอดนะ
ท่านทรงบรรพชาไปหาวิชามาด้วยความยาก
นั่นแหละความรัก
ถ้าท่านไม่รักชาวโลกด้วยโลกียปัญญา
โลกุตตระปัญญาแล้ว
ไหนเลยท่านจะต้องทนทุกข์ทรมานลำบากพระวรกายทำไมเล่า แต่เราน่าจะรักพระองค์บ้างด้วยความบริสุทธิ์ด้วยการปฏิบัติตามนี้เอง คนเรานี้จึงหนีชั่วไม่พ้น ทำความชั่วอยู่ในตัวตลอดรายการ หน้าไหว้หลังหลอก เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นความชั่วเป็นความดี แล้วหรือ ถ้ารักตัวท่านต้องไม่กลัวตาย ยอมถวายชีวิตต่อพระรัตนตรัย ถึงจะถูกต้อง
อาตมามองเห็นแล้วน่าเสียดายเวลาของท่านเหลือเกินทั้งภิกษุสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา
ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ด้วยความรักแห่งความบริสุทธิ์อันนี้ พระพุทธเจ้าเหมือนพ่อของเรา เหมือนครู เหมือนพระธรรม
เหมือนพระสงฆ์
พร้อมด้วยรัตนตรัย
นี่เรารักด้วยความผูกพันสร้างความดีให้พ่อให้แม่ เราอุบาสก
อุบาสิกา ผู้ใคร่ธรรมสัมมาปฏิบัติในหน้าที่นี้
ถ้าปฏิบัติได้อย่างที่กล่าวแล้วก็เรียกว่ารักอย่างบริสุทธิ์และผูกพัน ในความดีจะไม่สู่ความชั่วอีกต่อไปแล้ว บาปย่อมก่อทุกข์ภัย นั่นแหละความเกลียดหรือความรัก
ความบาปย่อมก่อทุกข์ภัยให้ผู้ทำและผู้อื่น พระพุทธองค์ทรงเตือนไม่ให้ทำ ท่านเตือนเราไม่ให้ทำ
ยังกุศลย่อมเป็นคุณแก่ผู้ทำและผู้อื่น พระพุทธองค์ทรงเตือนให้ทำจิตผ่องใส คือจิตที่ไกลได้จากกิเลส โลภ โกรธ หลง ที่มีอยู่เต็มโลก
เต็มเปาเต็มกระเป๋าเรา
ย่อมให้ความสุขสงบอย่างยิ่ง
จนถึงเป็นบรมสุข พระพุทธเจ้าจึงทรงเตือนให้รักษาจิต ให้รักษาใจ
คือการเจริญพระกรรมฐานเป็นการรักษาจิตให้ผ่องใสใจสะอาดบริสุทธิ์ เดินจงกรม ยืนหนอ ๕ ครั้ง
ตั้งสติไว้ให้มั่นดำรงศาสตร์ด้วยสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ขันธ์
๕ รูปนามเป็นอารมณ์ มีสติยึดมั่นในสมาธิภาวนา เป็นต้น ท่านจึงกล่าวเตือนให้รักษาจิต รักษาใจให้มั่นดำรงศาสตร์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ให้จงได้ ลูกเอ๋ย รักแม่ ลูกรักพ่อขอบอกกล่าว
แม้หลายคราวลูกจะทำให้ช้ำจิต
แต่แม่พ่อก็เป็นเช่นชีวิต
ที่ลูกคิดถึงอยู่ไม่รู้ลืม อย่างนี้เป็นต้น ก็เช่นเดียวกันพ่อแม่กับลูกนั่นเอง ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย
โปรดพิจารณาข้อนี้ในวันมาฆบูชาที่ท่านควรจะจำคงจะไม่ยาก วันแห่งความรักและผูกพัน รักความดี ผูกพันความดีไว้
เหมือนรักวัวต้องผูก
รักลูกต้องตี อย่างนั้น ผูกพันรักแห่งความดี หนีความชั่ว สร้างตัวให้ดีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จะเป็นพระภิกษุสงฆ์องค์เจ้า หรือจะเป็นฆราวาสผู้ครองเรือน พุทธศาสนิกชน หรือจะเป็นอุบาสก
อุบาสิกาก็ตาม
ท่านจะเข้าสู่ความรักอันมั่นคงและถาวรอยู่ในจิตใจของท่าน จะไม่ลืมกิจวัตร จะไม่ลืมพรหมจรรย์
จะไม่ลืมจุดมุ่งหมายแห่งความดีอันนี้ไปตลอดจนตายจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เห็นจะถูกต้องมาก ว่าวันนี้เป็นวันแห่งความรัก ความสามัคคีคือสงฆ์หมู่เอกภาพ เรียกว่ารักสามัคคีมีปัญญา รักสามัคคีมีวินัย สัจจะ เมตตา
นี่เรียกว่าความรัก
ความดีจะสิงสถิตอยู่ในจิตใจท่านตลอดจนกระทั่งตาย ชีวิตท่านจะอยู่ในส่วนที่เป็นทุกข์ไม่มี วันมาฆปุรณมีเพ็ญเดือน ๓ นี้ บางคนก็ไม่ทราบว่าคืออะไร
เป็นมงคลสมัยที่นิยมว่าตรงกับวันจาตุรงคสันนิบาต สาวกสันนิบาตประชุมตั้งหลักสอนพระพุทธศาสนาโดยย่อใจความและปรงพระชนมายุสังขารแห่งพระบรมศาสดา พระบูรณาจารย์ หากกำหนดไว้สั้นๆ ดังนี้
จาตุรงสาวกสันนิบาตนั้น คือประชุมสาวกสงฆ์ พร้อมด้วยองค์ ๔
ภิกษุซึ่งได้มาประชุมทั้งปวงล้วนเป็นเอหิภิกษุทั้งสิ้นนับเป็นองค์ ๑ ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นอรหันต์ อยู่จบพรหมจรรย์
เสร็จกิจในปหานและภาวนาแล้วนับเป็นองค์ที่ ๒ ท่านเหล่านั้นได้นัดแนะเรียกร้องกัน มายังที่ประชุมโดยตนเองเป็นองค์ที่ ๓ วันประชุมนั้นเป็นดิถีเพ็ญที่ครบ ๓
เดือน แห่งเหมันต์ฤดูเป็นองค์ครบ ๔
การประชุมเช่นนี้แห่งพระพุทธเจ้าบางพระองค์มี ๓ วาระ บางพระองค์มี ๒ วาระ บางพระองค์มีวาระ ๑ เท่านั้น
และนับภิกษุที่มาประชุมมากบ้างน้อยบ้างไม่มีนิยม แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย
มีสาวกสันนิบาตมหัศจรรย์เช่นนี้
วาระเดียวนิยม ภิกษุขีณาสพ
มีกึ่งเป็นที่ครบ ๑๓ คือนับได้ ๑,๒๕๐
รูป นี้หมายถึงภิกษุบริวารของพระอุรุเวลกัสสป นทีกัสสป และคยากัสสป
ซึ่งเรียกว่า ปุราณชฏิลมีประมาณ
๑,๐๐๐
พระภิกษุบริวารของพระสารีบุตร
และพระโมคคัลลานะ
ซึ่งเรียกว่าปุราณปริพาชก
อีก ๒๕๐ จึงรวมเป็น ๑,๒๕๐ รูป
ถ้านับพระเถระผู้เป็นหัวหน้าด้วยก็เป็น ๑,๒๕๕
รูป และสันนิบาตนั้นได้มีแล้ว
ณ เวฬุวนาราม จังหวัดราชคฤห์ เมื่อเวลาตะวันบ่าย ดิถีเพ็ญพระจันทร์เสวยมาฆนักษัตร
ในปีที่ตรัสรู้นั้นเมื่อมีสันนิบาตพร้อมด้วยองค์ ๔
เป็นอัศจรรย์เช่นนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้า
จึงทรงทำวิสุทธิอุโบสถทรงแสดงขึ้นซึ่งโอวาทปาฏิโมกข์ ณ ที่ประชุมนั้น
ครั้งสมัยอื่นจากนั้นมาถึงปีที่
๔๕ ก่อนหน้าเสด็จปรินิพพาน ๓ เดือน
เสด็จจำพรรษา บ้านเวฬุคาม
จังหวัดเวสาลี
จนกาลล่วงไปถึงเดือน ๓
แห่งฤดูเหมันต์
ซึ่งอรรถกถากำหนดไว้ว่า
มาฆบูรณมีสมัย
จึงทรงปรงพระชนมายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์สถาน จังหวัดเวสาลีนั้น
โดย พระพุทธพจน์ที่ตรัสกับมารผู้มีบาปว่า
ท่านจงขวนขวายน้อยเถิด ความปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีในไม่ช้าโดยกาลที่ล่วงไปแล้วแห่ง
๓ เดือน
แต่นี้พระตถาคตจักปรินิพพาน
ดังนี้
ส่วนวันทำมาฆบูชานั้น
กำหนดตามสุริยคติวันเพ็ญในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นวันทำมาฆบูชาจะตกในเดือน ๓ หรือในเดือน ๔ ก็ตาม
แต่ถ้าวันเพ็ญในเดือนกุมภาพันธ์เป็นวันที่ ๑ หรือที่ ๒
มาฆบูชาก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญหลังในเดือนมีนาคม กำหนดตามจันทรคติ
ในปีมีปกติมาศ
ทำกันในวันเพ็ญเดือน ๓
ต่อมีอธิกมาศ คือ มีแปดสองแปดอยู่หน้า จึงทำเพ็ญเดือน ๔
อภิลักขิตกาลเช่นนี้ ก็จัดเป็นสำคัญของพุทธศาสนิกชนอีกเหมือนกัน
พุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตชุมนุมกันสักการบูชาใหญ่ เหมือนอย่างทำในวันวิสาขบูชา และวันถวายพระเพลิง
ต่างแต่หัวหน้ากล่าวคำนำบูชาเปลี่ยนไปโดย อนุรูปแก่อภิลักขิตกาล
ส่วนเทศนานั้น
กัณฑ์ต้นเทศน์เรื่องจาตุรงคสันนิบาต
หรือจะเทศน์อะไรก็ตามแต่เหมาะสม
เทศน์ถึงประชุมตั้งหลักสอนพระพุทธศาสนา แล้วหยุดให้พระสงฆ์สวดโอวาทปาฏิโมกข์ทิปาฐ
แล้วจึงเทศนาอธิบายความในโอวาทปาฏิโมกข์ต่อไป แต่นั้นเทศน์โพธิปักขิยธรรม หรือจะเทศน์อะไรก็ได้
เลือกเรื่องที่เป็นประโยชน์และเวลาจำกัดในที่ประชุมเท่านั้นเอง
ต่อไปนี้จะได้อัญเชิญ โอวาทปาฏิโมกข์ทิปาฐ ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงในที่ประชุมสงฆ์ ในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรก และได้ถือเป็นหลักสำคัญในการสั่งสอนเผยแผ่พระพุทธศาสนาแต่นั้นมา
คำแปลโอวาทปาฏิโมกข์
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้เอง เห็นเอง
ผู้อรหันต์
สัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์นั้น
ทรงแสดงแล้วและซึ่งโอวาทปาฏิโมกข์
ด้วยคาถาทั้งหลาย ๓ ความว่า
ความอด คือความทนทาน เป็นธรรมเผาบาปอย่างยิ่ง ท่านผู้รู้ทั้งหลาย
ย่อมกล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอย่างประเสริฐ ผู้ทำร้ายผู้อื่น
ไม่เชื่อว่าเป็นบรรพชิตทีเดียว
ผู้เบียดเบียนผู้อื่นอยู่
ไม่เชื่อว่าเป็นสมณะ
ความไม่กระทำบาปทั้งสิ้น ความยังกุศลให้ถึงพร้อม ความทำจิตของตนให้ผ่องใส ๓ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ความไม่กล่าวร้าย ๑
ความไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้ประมาณในภัตตาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอันเงียบสงัด ๑ ความประกอบเพียรในอธิจิต ๑ ทั้ง ๖ นี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
และพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้เอง เห็นเอง
ผู้อรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์นั้น ตรัสศีล ตรัสสมาธิ ตรัสปัญญา
ไว้แล้วด้วยดีโดยปริยายเป็นเอนกแล ฯ
พระผู้มีพระภาค ตรัสศีลไว้ด้วยดีอย่างไรเล่า ?
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสศีลไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างต่ำก็มี ตรัสศีลไว้ด้วยดีอย่างสูงก็มี
พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสศีลไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างต่ำอย่างไรเล่า ? (ตรัสไว้ว่า) อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้งดเว้นจากฆ่าสัตว์ เป็นผู้งดเว้นจากลักทรัพย์ เป็นผู้งดเว้นผิดในกาม เป็นผู้งดเว้นจากการพูดปด เป็นผู้งดเว้นที่ตั้งแห่งความประมาท คือดื่มน้ำเมา คือสุราเมรัย
พระผู้มีพระภาคตรัสศีลไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างต่ำอย่างนี้แล ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสศีลไว้ด้วยดีอย่างสูงอย่างไรเล่า
? (ตรัสไว้ว่า) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีลสำรวมแล้วในพระปาฏิโมกข์สังวร ถึงพร้อมแล้วมารยาทและโคจรมีปรกติ เห็นภัยในโทษทั้งหลายมีปริมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสศีลไว้ด้วยดี โดยปริยายอย่างสูงอย่างนี้แล ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสสมาธิไว้ด้วยดีอย่างไรเล่า
?
พระผู้มีพระภาคตรัสสมาธิไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างต่ำก็มี ตรัสสมาธิไว้อย่างสูงก็มี
พระผู้มีพระภาคตรัสสมาธิไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างต่ำอย่างไรเล่า
?
(ตรัสไว้ว่า) อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ทำซึ่งความสละให้เป็นอารมณ์ (แห่งจิต) ย่อมได้ซึ่งสมาธิ
ได้ซึ่งความที่แห่งจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสสมาธิด้วยดีโดยปริยายอย่างต่ำอย่างนี้แล ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสสมาธิไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างสูงอย่างไรเล่า
?
(ตรัสไว้ว่า) ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามทั้งหลาย
สงัดจากธรรมอกุศลทั้งหลายเที่ยวเข้าถึง ปฐมญาณ (ความเพ่งที่ ๑) มีวิตกวิจารณ์ มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
เพราะให้วิตกวิจารณ์ทั้งสองสงัดจึงเข้าถึง ทุติยญาณ (ความเพ่งที่ ๒) ให้จิตผ่องใสในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้นแห่งจิต ไม่มีวิตก ไม่มีวิจารณ์
มีปีติและสุข
อันเกิดแต่สมาธิอยู่ความหน่ายแห่งปีติ จึงเป็นผู้เพิกเฉยอยู่
เพราะเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์
เสวยสุขด้วยกายด้วย
เพราะคุณคืออุเบกขา
สติและสัมปชัญญะและความเสวยสุขไรเล่าเป็นเหตุ พระอริยเจ้าทั้งหลายจึงกล่าวสรรเสริญว่า เป็นผู้เพิกเฉยมีสติอยู่เป็นสุข ดังนี้จึงเข้าถึงตติยญาณ (ความเพ่งที่ ๓) อยู่ เพราะมาละสุขได้ด้วย ละทุกข์ได้ด้วย
เพราะความที่มาแห่งโสมนัสทั้งสองดับสนิทไปในกาลก่อนเทียว จึงเข้าถึงจตุตถญาณ (ความเพ่งที่ ๔) ไม่มีทุกข์และสุข มีความที่แห่งอุเบกขา
และสติเป็นธรรมอันเป็นบริสุทธิ์อยู่
พระผู้มีพระภาคตรัสสมาธิไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างสูงอย่างนี้แล ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสปัญญาไว้ด้วยดีอย่างไรเล่า
?
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปัญญาไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างต่ำก็มี ตรัสปัญญาไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างสูงก็มี
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปัญญาไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างต่ำอย่างไรเล่า
? (ตรัสไว้ว่า)
อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้มีปัญญาประกอบแล้ว
ด้วยปัญญาเครื่องดำเนินถึงความเกิดดับแห่งสังขารเป็นจริงชำแรกกิเลสให้สัตว์ถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปัญญาไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างต่ำอย่างนี้แล
ฯ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปัญญาไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างสูงอย่างไรเล่า
? (ตรัสไว้ว่า)
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี่ทุกข์ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี่เหตุให้ทุกข์เกิด ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี่ข้อปฏิบัติเครื่องดำเนินให้ถึงความดับทุกข์
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปัญญาไว้ด้วยดีโดยปริยายอย่างสูงอย่างนี้แล ฯ
สมาธิอันศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
จิตอันปัญญาอบรมแล้วย่อมพ้นจากอาสวะทั้งหลายด้วยดีนี่อย่างไร ? คือจากกามาสวะ (อาสวะเป็นเหตุอยากได้) จากภวาสวะ (อาสวะเป็นเหตุอยากเป็น) จากอวิชชาสวะ
(อาสวะคือวิชาความเขลา) และในสมัยใกล้ปรินิพพาน
พระผู้มีพระภาคตรัสปัจฉิมวาจานี้ไว้ว่าภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด สมจริง พระผู้มีพระภาคตรัสคำอุปมาข้อนี้ไว้ว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าสัตว์ที่สัญจรไปในแผ่นดินเหล่าหนึ่งเหล่าใด รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมถึงความประชุมลงในรอยเท้าช้าง เขาย่อมเรียกเท้าช้างว่าใหญ่กว่ารอยเท้าของสัตว์นั้น เพราะรอยเท้าช้างเป็นของใหญ่ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมเหล่าใด (มีอยู่) กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งมวลล้วนความไม่ประมาทเป็นมูลรวมลงในความไม่ประมาทสิ้น ท่านจึงกล่าวความไม่ประมาทว่า เลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้นฉันนั้นแล ฯ
เพราะเหตุอย่างนี้แหละเราทั้งหลายควรศึกษาว่า จักเป็นผู้มีความเพ่งอย่างแรงกล้า ในการสมาทานอธิศีลสิกขา ในการสมาทานอธิจิตตสิกขา ในการสมาทานอธิปัญญาสิกขา เราจักยังไตรสิกขา (คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เราทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ)
ใจความพระปาฏิโมกข์ที่จบลงนี้
เป็นหลักแห่งการให้โอวาทในพระพุทธศาสนา เป็นการประกาศหลักพระพุทธศาสนา โดยถือใจความแห่งธรรมที่เป็นประธานหรือเป็นยอดแห่งโอวาททั้งมวล
นับวาระแต่ที่พระองค์ได้ทรงค้นคว้าแสวงโมกขธรรม และเมื่อได้ตรัสรู้ทรงค้นพบโมกข์ธรรมแล้ว เมื่อมีพระสาวกได้บรรลุมรรคผลก็ทรงสั่งบรรดาพระอริยสาวกที่รู้ตามเห็นตามเหล่านั้น
ออกประกาศเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยแยกทางจาริกไปคนละทิศละทาง
และปลายปีที่พระองค์ตรัสรู้ในวันเพ็ญแห่งมาฆมาสนั้นเอง เหตุอัศจรรย์คือ จาตุรงคสันนิบาต ดังที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นก็บังเกิดขึ้น พระองค์จึงได้ทรงประทาน โอวาทปฏิโมกข์ อันเป็นหลักแห่งการให้โอวาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่มวลพระสาวกเป็นอย่างดี
บรรดาพระสาวกผู้ทำหน้าที่ประกาศพระศาสนาได้น้อมรับเอาหลักปฏิบัตินั้น โดยไม่ต้องสงสัยว่า
โอวาทที่ตนกล่าวสอนออกไปจะผิดแนวแห่งพระประสงค์อย่างไร แปลว่าจะสอนอย่างไร ด้วยวิธีใดก็ตามเถิด สาระของโอวาทนั้นต้องอยู่จุดนี้
เรื่องนี้ต่างเป็นที่ชื่นชมแก่มวลพุทธสาวกเป็นอย่างมาก และด้วยหลักอันนี้
พระพุทธศาสนาก็ได้แพร่หลายไพศาลยิ่งขึ้น และมั่นคงดำรงมาจนทุกวันนี้
ในอภิลักขิตกาลแห่งวัน
มาฆบูชา อันเป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งแห่งพระพุทธศาสนา
บรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ต่างก็ได้น้อมนำสักการะเคารพบูชา โดยทำพิธีในวันมาฆบูชา
ตามกำลังศรัทธา
และอัธยาศัย
เพื่อน้อมบูชาต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของแห่งพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งพระองค์ได้ทรงค้นพบหลักธรรม
อันเป็นหลักอบรมจิตใจแก่มวลเวไนยประชากรทุกถ้วนหน้า
และทั้งพระสงฆ์ผู้ทรงศาสนามาจนบัดนี้ เรามุงเทิดบูชาคุณแห่งพระพุทธศาสนา จึงขอน้อมเคารพสักการบูชา พระไตรรัตน์
อันเป็นฉัตรแก้วในความรุ่มเย็นเป็นสุขแก่มวลพุทธศาสนิกชน ในโอกาสนี้ต่อไป
ขอท่านสาธุชนทั้งหลายจงระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
มีพุทธานุภาพ ธรรมมานุภาพ สังฆานุภาพ นำส่งผลจะมีในชีวิตของตน รุ่งโรจน์โชตนการตลอดกาลปาวสาน
ดังที่อาตมาภาพได้ชี้แจงแสดงมาฆะบูชาในความรักแห่งชีวิต ก็ขอจบลงคงไว้แต่เพียงนี้ ขอท่านทั้งหลายจงประสบแต่ความสุข ความเจริญ โดยทั่วหน้ากัน
ขอท่านทั้งหลายจงเจริญด้วย วัณณะ
สุขะ พละ
นึกคิดสิ่งหนึ่งประการใดก็สมความมุ่งมาดปรารถนาด้วยกันทุกรูปทุกนาม ณ
โอกาสบัดนี้ เทอญ.