การพัฒนาให้เกิดปัญญาญาณ
พระราชสุทธิญาณมงคล
๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๐
P12008
ขอเจริญพรญาติพี่น้องพุทธบริษัททั้งหลาย ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ วันนี้เป็นวันธรรมสวนะ วันพระแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เดี๋ยวก็จะสิ้นเดือนไปตามลำดับ วันเวลาไวมากรวดเร็วอย่างที่สุด วันธรรมสวนะเราก็ไม่ว่างเว้นในการสร้างความดี การสร้างความดีที่ดีที่สุดก็คือการพัฒนาให้เกิดปัญญาญาณ พัฒนาตัวเอง
สะสมบุญให้แก่ตัวเองเกิดความสุขความสนุกในการทำงานให้แก่ตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
การทำบุญที่เราสงเคราะห์คนอื่นนั้นก็ดีอยู่ แต่ก่อนที่จะไปสงเคราะห์คนอื่นเขา ช่วยเหลือคนอื่นเขา
ต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้ก่อน
การช่วยเหลือตัวเองนั้นเป็นการเอาบุญมาใส่ไว้ที่จิตใจของตัวเอง
ให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาสถาพรก่อน แล้วค่อยจะสงเคราะห์คนอื่นเขา เรียกว่าการพัฒนาให้เกิดปัญญา เพราะปัญญามีอยู่ในตัวเราครบ
แต่เราไม่ใช้ปัญญาในตัวเอามาเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมแต่ประการใด ปัญญาในตัวก็ได้แก่การเจริญกรรมฐาน เจริญสติปัญญา เจริญสมาธิภาวนา
เป็นต้น
อันนี้เป็นการพัฒนาชีวิตให้เกิดมีความสำคัญขึ้น ใช้หลักที่พระพุทธเจ้าสอนมา ๓ ประการ คือ ศีล
สมาธิ ปัญญา เรียกว่าไตรสิกขา ๓ ต้องการให้มีสติ ต้องการให้มีความรู้จริงในสัมปชัญญะ ให้มีความรู้ความคิด ให้เกิดมีสติปัญญา ให้เกิดทักษะในชีวิตของเขา
ให้เกิดความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตเป็นประโยชน์ต่อการงานและหน้าที่ เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติตน และเป็นการที่จะต้องฝึกปฏิบัติให้เกิดผลโดยประสบการณ์แก่ปัญหาชีวิตของท่าน เรียกว่าแกนนำทำให้ความสำเร็จได้ การงานก็จะสำเร็จได้อยู่ตรงนั้น การเจริญสติปัฏฐาน ๔
นี้เป็นทางสายเอกของพระพุทธเจ้า
ก็คือบำเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา
นั่นเอง สติปัฏฐาน ๔ สำคัญในแนวทางของชีวิต ทำให้ชีวิตรุ่งเรืองวัฒนาสถาพรให้เกิดปัญญาแก้ไขปัญหาได้
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะยืน เดิน นั่ง นอน จะเหลียวซ้าย
แลขวา จะคู้เหยียด เหยียดขา เอาสติยัดเข้าไป
ทั้งลมหายใจเข้าออก
เจริญพุทธานุสสติ
ธรรมานุสสติ
สังฆานุสสติ
เจริญภาวนาให้เกิดปัญญา
ก็สติยัดเข้าไปที่ลมหายใจเข้าออกที่เรากำหนดว่า พองหนอ
ยุบหนอ เป็นต้น ตรงนี้เป็นบทบาทสำคัญชีวิตของท่านมากที่จะทำให้เกิดปัญญาในชีวิตนั่นเอง ชีวิตเกิดปัญญา
ดลบันดาลให้แก้ไขปัญหาชีวิตได้สมปรารถนาทุกประการอย่างนั้น จึงมีการเดินจงกรม เช่น ยืนหนอ ๕ ครั้ง
ผู้ปฏิบัติธรรมจงทำให้จงได้
ยืนหนอ ๕ ครั้ง
ก็คือตจปัญจกกรรมฐาน
มูลกรรมฐานที่พระภิกษุจะบวชอุปัชฌาย์จะให้กรรมฐานตรงนั้น ก็คือ ยืนหนอ ๕ ครั้ง
เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงไป
เบื้องบนตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมา
ให้มีสติกลับไปกลับมา
เป็นการทบทวนชีวิตให้จิตมันว่าง
ให้จิตมันวาง
ให้จิตเกิดแสงสว่างไปในตัวด้วย
ตรงนี้เป็นหลักสำคัญแก่ผู้ปฏิบัติธรรม ยืนหนอ ๕ ครั้ง
บางท่านทำไม่ได้
ก็จะแก้ไขปัญหาชีวิตอะไรได้เล่า
เบื้องต่ำก็ปลายผมลงไป เบื้องบนก็ปลายเท้าขึ้น ยืน...หนอ
ลงไปแล้วก็จากเท้ายืนโดยหลับตามโนภาพจากปลายเท้าถึงหนอที่ศีรษะได้จังหวะพอดี
ตรงนี้เป็นบทบาทสำคัญสำหรับกรรมฐานของมูลกรรมฐาน ตจปัญจกกรรมฐาน
เรียกว่ากรรมฐาน ๕
ถ้าใครทำได้จะรู้วาระจิตของตน
รู้อารมณ์ของคนอื่น
รู้วาระจิตที่สัมผัสเกิดจิตรู้นิสัยคนได้ เป็นบทบาทสำคัญที่จะต้องกำหนดจดจำไปปฏิบัติให้จงได้ นี้เรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หลับตาแล้วก็ลืมตาดูที่ปลายเท้า ส่วนมากผู้ปฏิบัติไปมองที่ผืนดิน มองสูง มองต่ำ
ต้องมองดูที่ปลายเท้าของตนเสมอไป
ลืมตา ขวา...ย่าง...หนอ...ให้ได้จังหวะ
ช้าที่สุดเท่าที่จะช้าได้
อย่าเดินให้ยาวอย่าเดินให้สั้น
เดินเฉพาะของใครของมัน ปานกลางของคนที่เดินไปเดินมา อย่าก้าวยาว อย่าก้าวสั้น
แล้วก็ตามองดูที่ ขวา...ย่าง...หนอ... ซ้าย...ย่าง...หนอ... ไปตามลำดับ ย่างไปถึงสุดทางแล้วก็หยุด ชิดเท้าหยุด กำหนดกลับหนอ ๆ ๆ
กลับได้แล้วก็ยืนหนออีก ๕ ครั้ง
ต้องทำติดต่อกันไป ยืนหนอ ๕
ครั้ง หลับตาดูมโนภาพ ตั้งสติไว้ให้มั่น
ในเมื่อทำได้แล้วเราก็ลืมตาดูปลายเท้า ขวา...ย่าง...หนอ... ซ้าย...ย่าง...หนอ... ไปตามลำดับอย่างนั้น มันจะเป็นสมาธิในเมื่อจิตเข้าสู่สมาธิ
ทำให้คุ้นเคยทำให้คล่องแคล่วขึ้นมาในการปฏิบัติ ด้วยการเดินจงกรมก่อนเสมอ เดินได้แล้วก็ย่อตัวนั่งหนอ ๆ ๆ ลงไป ขวาทับซ้าย นั่งสมาธิขัดสมาธิเพชรก็ได้ ๒ ชั้นก็ได้ ชั้นเดียวก็ได้ หรืออาจนั่งไม่ได้ นั่งบนเก้าอีกก็ได้ ได้ทุกวิธีทางที่จะทำได้ด้วยการปฏิบัติ เป็นขึ้นหนึ่ง ขั้นสอง
ขั้นสาม
หนึ่งไม่ได้เอาขั้นสอง
สองไม่ได้เอาขั้นสาม มัชฌิมาปฎิปทาปานกลางที่จะทำได้ก็ทำตามนั้น
นั่งแล้วก็หายใจยาว ๆ
จะเดินจงกรมหรือจะนั่งก็ตาม
มีอะไรก็ต้องกำหนด
ส่วนมากนักปฏิบัติไม่กำหนดปล่อยให้เลยไปเสียให้หมด เราก็ไม่มีสติ ขาดสติมาก
ต้องกำหนดทุกอิริยาบถ
กำหนดให้ละเอียดด้วย
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขณะเดินจงกรมมีเวทนาก็หยุด อย่าเดินต่อ กำหนดเวทนาให้หาย เวทนาจะปวดตรงไหนเราก็ปักจิตไปตรงนั้น กำหนดว่า ปวดหนอ ๆ เป็นต้น กำหนดให้ละเอียด
เดี๋ยวเกิดขึ้น
ตั้งอยู่ ดับไป เดี๋ยวเวทนาก็แยกรูปแยกนามออกไป แล้วเราก็จะได้รู้จริงตรงนั้น ทำให้เกิดปัญญารู้ชัดในเวทนานั้น จะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ดีใจหรือเสียใจ มันก็แจ้งแก่เราเอง เราก็จะได้ทราบด้วยปัจจัตตัง รู้ตัวขึ้นมาชัดเจนอย่างนี้เป็นต้น นี่แหละทำให้เกิดปัญญาตรงนั้น ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่ประการใด
แล้วเรานั่งก็เช่นเดียวกันมีเวทนาก็ต้องกำหนด คิดอะไรไม่ออกก็กำหนดที่ลิ้นปี่หายใจยาวๆ
อยากจะรู้ว่าลิ้นปี่อยู่ตรงไหนเราก็เอาเชือกวัดตั้งแต่จมูกถึงสะดือเราแล้วก็พับครึ่ง มันจะตรงลิ้นปี่ของเราพอดี หายใจลึกๆ ยาวๆ กำหนดเสียใจ กำหนดโกรธ
กำหนดดีใจ
ต้องที่ลิ้นปี่นั่น
เวลาเห็นหนอ
ก็ต้องออกจากหน้าผากส่งกระแสจิตออกไปอย่างนั้น มันจะได้ผลดีขึ้น
ไม่ใช่หลับตาว่าเห็นหนอ
หรือลืมตาว่าเห็นหนอเฉยๆ
ถ้าเราส่งกระแสจิตถูกแล้วมันจะได้ผล
จำความได้แม่น
มันจะได้ปัญญาตรงการดู
ตามีทรัพย์ หูมีทรัพย์ เสียงหนอ หูได้ยินเสียงเขาด่าเขาว่าอะไรก็ตั้งสติไว้ สติปัญญาก็เกิดทางหูคือจิตมันเกิด แล้วเดี๋ยวมันก็ดับไปไม่มีอะไรที่จะเหลืออยู่เลย เราไปเก็บมาเอง
ในเมื่อเราเก็บมาแล้วจะเกิดประโยชน์อันใดเล่า ปัญญาจะขาดตรงไหน
กำไรขาดทุนตรงไหนมันก็จะออกมาอย่างนั้นเป็นต้น อันนี้มีความหมายอย่างนั้น ในเมื่อเป็นเช่นนี้การกำหนดอายตนะธาตุอินทรีย์ก็อยู่ตรงนั้น กำหนด พองหนอ
ยุบหนอ
ก็กำหนดลมหายใจเข้าออกให้มันได้จังหวะ หายใจให้ยาวเข้าไว้อย่าหายใจสั้น หายใจสั้นมันจะกำหนดไม่ได้ พองก็เป็นยุบ ยุบก็เป็นพอง ขวาเป็นซ้าย ซ้ายเป็นขวา
เลยไม่ได้จังหวะ
ไม่เป็นสมาธิ
ในเมื่อไม่เป็นสมาธิแล้วจิตมันก็ไม่ว่าง ฟุ้งซ่านนานาประการ
จิตมันก็ออกไปคิดอะไร ไม่เป็นสมาธิ
จิตใจไม่เป็นกุศล
ปัญญาก็ไม่เกิดขึ้น
ปัญญาไม่เกิดขึ้นแล้วสิ่งนั้นก็ไร้สาระ เรียกว่าฟุ้งซ่านออกไปนอกประเด็นนั้นได้ นี่ต้องกำหนดอย่างนั้น ในเมื่อเรากำหนดได้แล้วมันก็คล่องแคล่วว่องไว จะได้เป็นสมาธิได้ง่าย แต่ท่านผู้ปฏิบัติธรรมไม่ได้กำหนดตรงนั้น บางทีไม่สบายใจ เสียใจ ก็ปล่อยมันเลยไปซะ
ต้องกำหนดที่ลิ้นปี่ไม่สบายใจหนอ
หรือเสียใจ โกรธ
กำหนดเดี๋ยวมันก็จะหายไปอย่าปล่อยให้อารมณ์ค้าง ถ้าอารมณ์ค้างไว้เช้าก็ทำงานไม่สำเร็จ อารมณ์ไม่ดีจะทำอะไรก็ไม่รับผิดชอบแต่ประการใด ก็ออกมาทำนองนี้เป็นต้น เวทนาก็มี ๓ สุข ทุกข์ เสียใจ ดีใจ
ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่เสียใจ ไม่ดีใจ ก็เป็นเวทนา
ต้องตั้งสติกำหนดรู้หนอๆ ๆ
มันจะได้รู้ทั่วถึงเหตุการณ์ของชีวิตนั้น กำหนดที่ลิ้นปี่ให้ได้
คิดอะไรไม่ออกก็กำหนดที่ลิ้นปี่
คิดหนอๆ เดี๋ยวก็คิดออกมาได้ ตรงนี้เป็นหลักปฏิบัติ เราจะได้รู้เรื่องว่าเกิดอะไรขึ้นมา แต่ส่วนมากผู้ปฏิบัติธรรมทำไม่ได้ ปล่อยเลยไปเสียหมด แล้วก็ไม่ได้กำหนดตรงนั้นด้วย แล้วปัญญาก็ไม่เกิด ปัญญาไม่เกิดแล้วการพัฒนาก็ไร้ผล จิตใจไม่เป็นบุญไม่เป็นกุศล ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการพัฒนาตัวปัญญาก็คือการพัฒนาจิตด้วยการเจริญพระกรรมฐาน
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น จิตเป็นธรรมชาติต้องคิดอ่านอารมณ์
รับรู้อารมณ์ไว้ได้เป็นเวลานานเหมือนเทปบันทึกเสียง มันเกิดทางอายตนะธาตุอินทรีย์ ตาเห็นรูปเกิดจิต หูได้ยินเสียงเกิดจิต จมูกได้กลิ่นเกิดจิต ลิ้นรับรสเกิดจิต กายสัมผัสร้อนหนาวเกิดจิต ต้องกำหนด ตั้งสติไว้ทุกอิริยาบถนั้น มันจะเป็นสมาธิ
มันจะเป็นปัญญาในตัวเอง
เรียกว่า ปัญญาติดมากับตัว ความรู้อยู่ในตำรา ใครสนใจศึกษาในตัวเอง มีความหมายมาก ท่านทำแล้วท่านจะรู้กฎแห่งกรรมของท่านเอง ท่านจะรู้ว่าท่านทำเวรทำกรรมอะไรไว้ สติมันจะบอกได้ทุกเวลา
ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมเป็นกุศล ธรรมเป็นอกุศล
เราจะรู้ได้เป็นข้อที่ ๔ ที่เราทำนั้นมันผิดถูกประการใด อยากจะรู้เราก็หายใจยาวๆ กำหนดรู้หนอ เป็นกุศลหรืออกุศล
สติมันจะบอกเรา
ว่าที่ทำไปแล้วใช้ไม่ได้เป็นอกุศลกรรม กายกรรม ๓
วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓
มันก็จะใกล้เข้ามาทำให้เรารู้เหตุการณ์ของกฎแห่งกรรม จากธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ข้อที่ ๔ ถึงร่วมกันเป็นทางสายเอกได้ แล้วเราทำผิดถูกประการใดเราก็ไม่ทราบ เราจะรู้จากการกำหนดจิตโดยมีสติปัญญาของเราเอง ปัญญาติดมากับตัวอย่างนี้เป็นต้น
ก็ขอฝากผู้ปฏิบัติไว้ด้วยไม่สบายก็ต้องกำหนด แต่แล้วมาปฏิบัติกันหลายครั้งก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้จะกำหนดตรงไหน ปวดศีรษะก็ไม่รู้จะกำหนดตรงไหน เครียดเกินไปก็ไม่รู้จะกำหนดตรงไหน การกำหนดนี้เป็นการคลายเครียดไปในตัวด้วย ทำให้จิตสงบ ทำให้จิตนิ่ง
ทำให้จิตว่าง
ทำให้จิตไม่ฟุ้งซ่าน
นั่นแหละถึงจะทำให้เกิดปัญญาได้
จิตมันไม่นิ่ง
จิตไม่ว่าง มันก็ฟุ้งซ่านก็เครียด ทำให้ความดันสูง ความดันต่ำ ทำให้เกิดโรคหัวใจ
ทำให้เป็นโรคอัมพฤกษ์
อัมพาต เป็นกันมากมาย เครียดไปทำให้เกิดเป็นโรคกระเพาะ โรคลำไส้ โรคมะเร็งได้
จะเดินจงกรม ๑ ชั่วโมง
ก็ต้องนั่ง ๑ ชั่วโมง
ให้มันได้จังหวะ
ถ้าเดินยังไม่ถึงเวลาที่กำหนดก็อย่าออกจากการนั่ง ไม่อย่านั้นจะเสียสัจจะ จะทำอะไรก็ไม่ได้ผล ไม่ได้ผลแน่นอน เพราะฉะนั้นการเจริญกรรมฐานทำให้เกิดปัญญาที่จะความคิด
สติปัญญาให้ความสำเร็จเกิดแก่ชีวิตได้
วันนี้ก็จะชี้แจงเรื่องการพัฒนาให้เกิดปัญญาญาณจะได้แก้ปัญหาตามสมควรแก่อัตตภาพของตน
ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น ถ้าไม่เจริญกรรมฐานไม่มีสติปัญญาแน่ เราจะมีปัญญาทางเรียนรู้ตามวิชาการก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาชีวิตที่มันเกิดขึ้นได้ ไม่สามารถจะแก้ปัญหาทุกข์ ที่มันมีทุกข์เกิดขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นก็ขอให้ตั้งใจฟัง
เรื่องการเจริญกรรมฐานให้เกิดปัญญาแก้ไขปัญหา ได้รู้กฎแห่งกรรมจากการกระทำของตนบ้าง มีหลักอย่างไรบ้าง ก็ขอได้ติดตามฟังต่อไป ณ โอกาสบัดนี้
ขอเจริญพร เจริญสุข โดยทั่วกัน ณ โอกาสบัดนี้ ต่อนี้ไปก็จะได้ชี้แจงข้อหลักเกณฑ์ของการเจริญกรรมฐาน อย่างที่กำหนดไว้เบื้องต้น ทำให้เราเกิดปัญญาได้ รอบรู้กองการณ์สังขาร เป็นหัวใจสำคัญของระดับความสำเร็จของชีวิต
คนมีปัญญาน้อยจะประสบความสำเร็จน้อย
คนเจริญกรรมฐานน้อยก็สำเร็จน้อยเพราะทำน้อย คนมีปัญญามาก
จะเจริญสมาธิได้มากก็มีปัญญามากจะประสบความสำเร็จมาก เช่นเดียวกัน
ปัญญาที่แท้จริงนั้นมิใช่แต่ความรู้ที่ร่ำเรียนมา
หรือความเข้าใจที่คิดไปเอง
แต่ปัญญาคือความรู้ที่เที่ยงตรง แจ่มชัด และปัญญาที่ได้รอบด้านในความเป็นจริง
และรู้การบริหารความเป็นจริงนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้ด้วยการเจริญสมาธิภาวนานี้
ดังนั้น ปัญญาจึงมิอาจวัดได้ด้วยปริญญาบัตร
แต่สามารถวัดได้ด้วยความสำเร็จสุขแห่งชีวิต หมายความว่า ผู้มีปัญญานั้นไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาตามระบบสูง และผู้ที่จบการศึกษาตามระบบสูงไม่ได้หมายความว่ามีปัญญาเป็นเลิศเสมอไป แต่ผู้ประสบความสำเร็จโดยสมควร
และมีความสุขอันยิ่งใหญ่นั้น คือผู้มีปัญญายอดเยี่ยมแท้จริง ด้วยการเจริญกรรมฐานที่มีปัญญานั่นเอง เรียกว่าปัญญาในตัว
จากนิยามแห่งปัญญา ย่อมเห็นได้ชัดว่า ความรู้กับปัญญา เป็นคนละสิ่งกัน ปัญญานำมาเพื่อความรู้ แต่ความรู้อาจไม่ก่อให้เกิดปัญญาเสมอไป
บ่อยครั้งที่ความรู้เป็นเพียงขยะข้อมูลที่รกความทรงจำ เช่น รู้ว่าเมื่อคืน
นาย ก. กับ นาง ข. ทะเลาะวิวาทกัน หรือ รู้ว่าเด็กน้อยกำลังถ่ายอุจจาระ
หรือ นางสาวงมงายอยากแต่งงาน
ความรู้เหล่านี้เป็นเพียงข้อมูล
ไม่ก่อให้เกิดปัญญาใด ๆ รู้ก็สักแต่ว่ารู้ ไม่ได้ทำให้ผู้รู้ดีขึ้น หรือผู้ถูกรู้ดีขึ้น
และไม่ได้ทำให้ใครประสบความสำเร็จสุขแต่อย่างใด การเจริญกรรมฐานทำให้มีสติปัญญาและรู้กฎแห่งกรรม รู้การแก้ไขปัญหาได้ทุกขณะ
แต่ความรู้ใดที่ก่อให้เกิดความเข้าใจในสัจจะ
และการบริหารสัจจะให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้
ความรู้นั้นเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ เช่น
รู้ว่าสิ่งใดก็ตามที่มีองค์ประกอบมาประกอบกันเกิดขึ้น ย่อมถูกบีบเค้นด้วยอำนาจของกันและกัน การบีบเค้นทำให้เกิดความแปรปรวน และไม่มีเอกลักษณ์ที่แท้จริง
ความรู้เหล่านี้ทำให้เข้าใจกฎเกณฑ์ของการกำเนิดภาวะในความมี และคุณค่าในความเป็น เมื่อเข้าใจธรรมชาติเหล่านี้แล้ว
จึงสามารถบริหารความมีความเป็นให้เป็นประโยชน์สูงสุดได้ นี่คือ ผลของปัญญา
กระนั้น เนื่องจากความรู้และปัญญา เป็นคนละสิ่งที่เนื่องต่อกัน และเสริมสร้างซึ่งกันและกัน
ดังนั้นเราลองมาพิจารณาการสร้างปัญญากันต่อไป
การสร้างปัญญา
ภาวะของปัญญานั้น คือ
รู้เที่ยงตรง รู้แจ่มชัด รู้รอบ และรู้ประโยชน์สูงสุด เราลองมาดูกันว่า
เราจะสร้างภาวะปัญญาได้อย่างไร
ความรู้เที่ยงตรง การจะมีความรู้เที่ยงตรงได้นั้น ต้องทำจิตให้นิ่ง เพราะจิตที่ไม่นิ่ง
จะก่อให้เกิดความรู้ที่ไม่เที่ยงตรง
ตัวอย่างเช่น เมื่อเราขับรถยนต์อยู่บนถนนด้วยความเร็ว ๖๐ กม./ชม. เห็นรถแล่นสวนทางมาด้วยความเร็ว
๕๐ กม./ชม. เราจะรับรู้ว่ารถคันนั้นแล่นเร็วมาก และอีกไม่นานเราพยายามแซงรถคันหนึ่งซึ่งแล่นด้วยความเร็ว
๕๐ กม./ชม. เราจะรับรู้ว่ารถคันนี้แล่นช้ามาก
ความรู้ในความเร็วของรถทั้งสองคันซึ่งเท่ากันนั้นไม่เท่ากัน
เพราะการรับรู้ในขณะที่เคลื่อนที่ทำให้ความรู้บิดเบือน ในทำนองเดียวกันหากจิตเคลื่อนที่ ฟุ้งซ่าน ไม่นิ่ง
จิตไม่สงบเคลื่อนที่ด้วยอารมณ์ชอบ ชัง อยาก ไม่อยาก การรับรู้ใด ๆ
ในภาวะจิตไม่นิ่งเช่นนี้ย่อมเกิดความรู้ที่บิดเบือนเช่นกัน เช่น ยามชอบแม้เขาชั่วก็เห็นว่าเขาดี ยามชังแม้เขาดีก็เห็นว่าเขาชั่ว
ความรู้ที่เที่ยงตรงนั้นมีลักษณะดังนี้
รู้ความจริงโดยความเป็นจริง
รู้ความเท็จโดยความเป็นเท็จ
รู้ความดีโดยความเป็นความดี
รู้ความชั่วโดยความเป็นความชั่ว
รู้ความมีประโยชน์โดยความเป็นความมีประโยชน์
รู้ความมีโทษโดยความเป็นความมีโทษ
รู้ความเป็นไปได้โดยคงไว้ตามเดิมความเป็นไปได้
รู้ความเหมาะสมโดยความเป็นความเหมาะสม
รู้ความไม่เหมาะสมโดยความเป็นความไม่เหมาะสม
การจะทำจิตให้นิ่งทำได้ยากต้องฝึกบ่อยๆ กำหนดไปเรื่อยๆ เพื่อความรู้ที่เที่ยงตรงนั้น ต้องละวางคู่ทวิลักษณะในธรรมชาติคือ เกิด-ดับ ดี-ชั่ว ชอบ-ชัง ถูก-ผิด เมื่อละบวกและลบได้ ใจจึงสงบมั่นคงในความเป็นกลางแท้จริง
และเห็นภาวะบวกและภาวะลบอย่างเที่ยงตรงตามความเป็นจริง
เมื่อจิตนิ่งในอุเบกขา และรู้สิ่งต่าง ๆ
อย่างเที่ยงตรงนั้น
เป็นคุณสมบัติประการแรกของปัญญา
ผู้ที่มีจิตนิ่งจากสมาธิภาวนาและรู้โลกอย่างเที่ยงตรงนี้
แม้อยู่ในท่ามกลางความเคลื่อนไหวก็ไม่วุ่นวาย แม้อยู่ท่ามกลางความหลากหลายอันมากมายก็ไม่ถูกหลอกหลอนแน่นอน เพราะจิตเขาจะนิ่งตลอดเวลา ความรู้ของเขาจึงเที่ยงตรงเสมอ นี่คือ คนที่มีปัญญา จากการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น
ความรู้แจ่มชัด ลักษณะประการที่สองของปัญญา คือ
มีความรู้แจ่มชัด
การจะมีความรู้แจ่มชัดได้นั้น
ต้องทำจิตให้สว่างในตนเอง
ดังพระพุทธวัจจนะที่ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนั้นปภัสสร
แต่เศร้าหมองเพราะกิเลสจรเข้ามา
คำว่า จิตปภัสสร
นั้น คือจิตมีแสงสว่างในตนเอง
แต่หมองมัวและมืดมนไปเพราะกิเลสครอบงำอยู่ ได้แก่ ความโลภ
ความโกรธ ความหลง ความพยาบาท ความตระหนี่ การถือตัว การดูหมิ่นคนอื่น ความริษยา
การยกตนข่มท่าน ความไร้มารยาท การโอ้อวด ความกระด้าง การแข่งดี ความมัวเมา
และความประมาท เหล่านี้คือกิเลสที่ทำให้จิตเศร้าหมองและมืดมน
ยามจิตมืดมนนั้น จะตกอยู่ในภาวะ คิดไม่ออกบอกไม่ถูก ยามจิตหมองมัวนั้น บางทีก็เหมือนรู้ๆ อยู่แต่นึกไม่ได้ เมื่ออยู่ในภาวะจิตเหล่านี้ จะคิดอะไร ทำอะไร มันตื้อตันไปหมด
มองชีวิตก็ไม่รู้ว่าชีวิตคืออะไร
เกิดมาทำไมหนอ จะไปไหน แม้ชีวิตต้องการอะไรแน่ก็ไม่รู้ ยามทำการงาน ก็ไม่รู้จะจัดการงานอย่างไรจึงจะดี หรือมีความสัมพันธ์กับใคร ก็ไม่รู้จะบริหารความสัมพันธ์อย่างไรจึงจะได้เกื้อกูล และยั่งยืน คนที่จิตมืด
แม้ลืมตาอยู่ก็จิตบอด
ดำเนินชีวิตไปตามกระแส
กำหนดตัวเองไม่ได้
คนที่กำหนดตัวเองไม่ได้
คนที่ตั้งสติไม่ได้เหมือนคนประสาทเจริญกรรมฐานไม่ได้แน่นอน ควบคุมทิศทางไม่ได้ พอมืดมากเข้าไม่รู้แม้กระทั้งตนเองคือใคร ก็ไม่รู้ว่าตัวเองคือใคร
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนี้จิตเรามืดหรือสว่างเพียงใด วิธีการตรวจสอบง่าย ๆ คือ ลองหลับตาดู
หลับตาให้สนิท
กำหนดพองหนอง ยุบหนอ หรือหลับตาให้สนิทเอาจิตปักไว้ที่ลิ้นปี่หายใจยาวๆ
ก็ได้ สำหรับทดสอบตัวเอง
ถ้าหลับตาแล้ว มืดตื้อไปเลย แสดงว่าจิตถูกห่อหุ้มด้วยกิเลส จนเขรอะ
เลอะเทอะ
สูญเสียแสงสว่างในตัวเอง
จนกลายเป็นคนโง่อยู่
ถ้าหลับตาแล้วเห็นแสงสว่างแปลบไปมา นั่นแสดงว่าจิตสว่างเป็นขณะวาบ ๆ
รู้อะไรก็รู้ประเดี๋ยวประด๋าว
รู้ไม่จริงและไม่ลึกซึ้ง
ถ้าหลับตาแล้ว
เห็นสีต่างๆ ต้องวิเคราะห์ว่าเป็นแสงสีอะไร
บางคนนั่งเห็นนิมิตเห็นแสงสีสว่างมากแต่ก็ไม่รู้อะไรเลย
ถ้าเป็นสีเขียว
แสดงว่าจิตกำลังมุ่งมั่นอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือภาวะใดภาวะหนึ่ง
ถ้าเป็นจิตสีส้ม แสดงว่าจิตกำลังเสพปีติ หรือความยินดี หรือความรัก
ถ้าเป็นสีฟ้า แสดงว่าจิตกำลังครุ่นคิด ถ้าเป็นสีขุ่นเหมือนน้ำซาวข้าว แสดงว่าจิตกำลังเศร้าโศก
ถ้าเป็นสีม่วง แสดงว่าจิตกำลังละเอียดอ่อน สุนทรี ถ้าเป็นสีเหลือง แสดงว่าจิตกำลังรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง และโปร่งอยู่ด้วย ความรู้สึกนั้น เป็นต้น
ถ้าหลับตาแล้ว เห็นแสงไร้สี สว่างสนิท นวลไปทั่ว
นั้นคือ แสงจิตตามธรรมชาติที่ปราศจากอารมณ์ พร้อมที่จะรู้สิ่งต่าง ๆ
ได้อย่างชัดเจนและลึกซึ้ง
รู้สึกแม้ในรายละเอียด
ซึ่งสิ่งที่จิตในภาวะนี้สามารถรู้ได้คือ
๑. ความรู้ในตน
๒. ความรู้ในมนุษย์
๓. ความรู้ในองค์กร
๔. ความรู้ในงาน
๕. ความรู้ในสังคม
๖. ความรู้ในระบบเหตุผล
๗. ความรู้ในความเป็นไปได้
๘. ความรู้ในความเหมาะสม
เมื่อจิตสว่างนั้นจะรู้สิ่งเหล่านี้โดยชัดลึก คือทั้งแจ่มชัดและละเอียดละออ เช่น เมื่อเห็นผลก็รู้เหตุ
เมื่อเห็นเหตุก็รู้ผล
เมื่อเห็นคนก็รู้ภาวะจิตใจของเขา
เมื่อมองเข้าไปในตัวเราเองก็เข้าใจแจ่มแจ้งทั้งภาวะ ฐานะ พลัง ข้อด้อย
ข้อเด่น และวิถีการพัฒนาสู่เป้าหมายสูงสุดโดยเหมาะสม เมื่อจะทำงานก็รู้ชัดในกลไกของงานโดยละเอียด เมื่อตั้งองค์กรก็รู้ธรรมชาติขององค์กร
และการบริหารองค์กรให้บรรลุวัตถุประสงค์
เมื่อยู่ในสังคมก็รู้การสร้างสัมพันธ์และการวางตัวโดยเหมาะสม จะคิด จะพูด
จะทำอะไรก็รู้ว่าสิ่งใดเป็นไปได้
สิ่งใดเป็นไปไม่ได้
สิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร
จิตที่สว่างนั้นจะแจ่มจ้าตลอด แม้ในค่ำคืนจิตก็ยังส่องไสวอยู่ และรู้สิ่งต่าง ๆ
ที่ควรรู้เสมออย่างชัดเจน
ความรู้รอบ คุณสมบัติประการที่สามของปัญญา คือ รู้รอบ การจะเกิดปัญญารู้รอบนั้นต้องทำจิตให้สว่าง
จนอยู่เหนือกาละและอวกาศ
เมื่อยู่เหนือกาละและอวกาศจึงรู้รอบตลอดกาละและสถานที่ คือ รู้อดีต ปัจจุบัน
และอนาคตได้ รู้ทั้งในมิติ ธาตุ มิติทิพย์
และมิติธรรมได้
เมื่อจิตสว่างแล้วจึงรอบรู้ภาพรวม คือ
๑. รู้ธรรมชาติ
ทั้งปรากฏการณ์ กฎเกณฑ์ และกลไก
๒. รู้โลก
ทั้งที่มา กระแสและแนวโน้ม
๓. รู้ระบบ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม
และเทคโนโลยีและอื่น ๆ
๔. รู้วงจรชีวิต
ทั้งการกำเนิด
การดำรงอยู่ และการตาย
๕. รู้มิติต่าง ๆ
คือรู้สัมพันธภาพแห่งธาตุ
และพลังต่าง ๆ ในทุกระดับ
แล้วเราจะทำให้จิตว่างได้อย่างไรเล่า
โดยปกติแล้วจิตเกิดขึ้นเพราะการปรุงแต่งประกอบ เมื่อความมีสองสิ่งมาประกอบกันตั้งแต่ระดับละเอียดถึงระดับหยาบ จิตจะกำเนิดขึ้นและรับรู้การปรุงประกอบกันขึ้นเป็นสิ่งใหม่นั้น ตัวอย่างเช่น
ให้ท่านลองเอานิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้จีบเข้าสัมผัสกัน จะมีปฏิกิริยาในระหว่างจิตเกิดและรับรู้ เป็นความรู้สึก เมื่อแยกนิ้วออกจากกัน จิตนี้ดับ และไม่รับรู้การสัมผัส
แต่กระแสความรู้สึกถูกบันทึกในความทรงจำ และประกอบกันเป็นชุดประสบการณ์ และมวลความรู้แล้ว
จะหล่อหลอมเป็นบุคลิกภาพทางใจของบุคคลนั้น
แล้วลองคิดดูเถิด ในร่างกายเรานี้
อนุภาคกี่อนุภาคมารวมกันเป็นอะตอมทั้งหลาย อะตอมกี่อะตอมมารวมกันเป็นโมเลกุลทั้งหลาย โมเลกุลกี่โมเลกุลมารวมกันเป็นธาตุทั้งหลาย
ธาตุกี่ธาตุมารวมกันเป็นสารประกอบทั้งหลาย สารประกอบกี่ตัวมารวมกันเป็นเซลล์ทั้งหลาย เซลล์กี่เซลล์มารวมกันเป็นเนื้อเยื่อทั้งหลาย
เนื้อเยื่อกี่ชุดมารวมกันเป็นอวัยวะทั้งหลาย อวัยวะกี่อวัยวะมารวมกันเป็นร่างกายเรา นั้นเป็นเพียงแค่โครงสร้าง เมื่อมีร่างกายขึ้นแล้ว สารเคมีกี่ชนิดที่มาบำรุงเลี้ยง
พลังกี่ชนิดที่มาขับเคลื่อนร่างกายให้เป็นไป นั้นเป็นเพียงแค่ร่างกาย
แล้วจิตใจเล่าสัมผัสกี่สัมผัสที่ก่อให้เกิดความรู้สึกทั้งหลาย ความรู้สึกและความรู้เท่าใดที่บันทึกอยู่ในความทรงจำ ความทรงจำและความปรารถนา
ความไม่ปรารถนาเท่าใดที่สร้างความนึกคิด
ความนึกคิดเท่าใดที่รวมกันเป็นตัวตนอันจิตเกาะอยู่
จะเห็นได้ว่า ชีวิตเป็นผลรวมของร่างกายและจิตใจ ร่างกายก็เต็มไปด้วยความซับซ้อน จิตใจยิ่งสลับซับซ้อนยิ่งกว่า
การที่จิตยึดถือในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหล่านี้ หรือหลายสิ่งหรือทุกสิ่งนั้นแหละทำให้จิตไม่ว่าง
ดังนั้นการทำจิตว่างคือ การปล่อยวางความมี และการรับรู้ในความมีทั้งหมด ทรงจิตอยู่ในความไร้อันไม่มีขอบเขตจำกัด เมื่อนั้นจิตก็จะว่าง
บุคคลที่จิตว่าง และรู้รอบได้ทุกขณะแล้ว แม้เผชิญภาวะซับซ้อนก็ไม่สับสน
ความรู้ประโยชน์สูงสุด คุณสมบัติสูงสุดของปัญญาคือ
รู้ประโยชน์สูงสุด
เพราะถ้าไม่รู้ประโยชน์สูงสุด
ชีวิตก็จะไม่ถึงที่สุดแห่งวิวัฒนาการ หลงวนเวียนอยู่กับประโยชน์เล็กน้อย โทษมาก
ไม่พบความยิ่งใหญ่แท้จริง เป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุข หรือเป็นสุขเป็นทุกข์สลับกันไปจนจิตใจเศร้าหมอง
เช่น หากปัญญาไม่ถึงที่สุด
ไม่รู้ว่าประโยชน์สูงสุดของการเกิดคืออะไรก็จะหลงการเกิดและไม่ได้ประโยชน์ยิ่งใหญ่จากการเกิด
หากไม่รู้ว่าประโยชน์สูงสุดของการตายคืออะไรก็จะหลงตายและไม่ได้ประโยชน์ยิ่งใหญ่จากความตาย หากไม่รู้ว่าประโยชน์สูงสุดของความร่ำรวยคืออะไรก็จะหลงความร่ำรวยและไม่ได้ประโยชน์ยิ่งใหญ่จากความร่ำรวยนั้น
หากไม่รู้ว่าประโยชน์สูงสุดของการมีอำนาจคืออะไรก็จะหลงอำนาจและไม่ได้ประโยชน์ยิ่งใหญ่จากอำนาจนั้น
หากไม่รู้ว่าประโยชน์สูงสุดของความมีชื่อเสียงคืออะไรก็หลงชื่อเสียงและไม่ได้ประโยชน์ยิ่งใหญ่จากการมีชื่อเสียงนั้น
หากไม่รู้ว่าประโยชน์สูงสุดของความสุขคืออะไรก็จะหลงความสุขและไม่ได้ประโยชน์ยิ่งใหญ่จากความสุขที่มี
หรือ หากไม่รู้ว่าประโยชน์สูงสุดของความทุกข์คืออะไรก็จะหลงเป็นทุกข์และไม่ได้ประโยชน์ยิ่งใหญ่จากการเป็นทุกข์นั้น
คนที่ไม่รู้จักประโยชน์ในธรรมชาติมักดำเนินชีวิตอย่างขาดทุน เช่น ยามเป็นทุกข์ ก็มัวแต่ร่ำรวย โวยวาย
สร้างความเสียหายเพิ่มเติมให้มากขึ้นไปอีก
บ้างกับฆ่าตัวตายไปเลย
เพราะไม่รู้จักใช้ประโยชน์จากความทุกข์ เป็นต้น
อย่าลืมว่าทุกอย่างมีทั้งคุณประโยชน์ มีโทษ และความเป็นกลาง
อยู่ในตัวมันเอง
หรือแม้รู้ประโยชน์สูงสุดของแต่ละสิ่ง
แต่ไม่รู้ว่าประโยชน์สูงสุดของชีวิตคืออะไร
องค์ประกอบที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นมีค่าต่อการสร้างชีวิตให้ถึงที่สุดได้แค่ไหน
ควรจัดสัดส่วนความสำเร็จในแต่ละองค์ประกอบอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์แก่ชีวิตสูงสุด
เสมือนการก่อสร้างอาคารวิศวกรต้องคำนวณแรงและการรับน้ำหนักของวัสดุองค์ประกอบทุกชนิดให้เหมาะสม
หากมากเกินไปก็สิ้นเปลืองและสูญเสียโอกาสในการสร้างประโยชน์อื่น ๆ
หากน้อยเกินไปก็เสี่ยงต่อหายนะ
ดังนั้นการจัดสัดส่วนองค์ประกอบในชีวิตที่เหมาะสม
จะทำให้สามารถสร้างชีวิตแห่งความสำเร็จได้ หากไม่รู้ภาพรวมแห่งชีวิตเช่นนี้ ก็มักจะไปหลงอยู่ในมุมใดมุมหนึ่งของชีวิต และชีวิตก็ไม่ถึงที่สุดสักที เพราะไม่มีปัญญาแทงตลอดในชีวิตนั้นเอง
การจะรู้ประโยชน์สูงสุดได้นั้น ต้องทำจิตให้แทงตลอด เช่น กายในกาย
เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม การที่จิตจะแทงตลอดได้นั้นต้องทำจิตให้เป็นอิสระจากทุกสิ่ง
การที่จิตจะเป็นอิสระจากทุกสิ่งแท้จริงและมีประสิทธิภาพทางปัญญาสูงสุด
จะต้องรวมคุณสมบัติของจิตทั้งสามประการข้างต้น คือ จิตนิ่ง จิตสว่าง และจิตว่างเข้าด้วยกันขณะจิตเดียว ครั้นแล้วพิจารณาว่า แม้ความนิ่ง แสงสว่างและความว่างก็ไม่เป็นตน ไม่ใช่ภาวะแท้จริงของใครคลายการยึดถือในภาวะอันปราณีตนั้นเสีย
จิตก็จะเป็นอิสระแท้จริงแทงตลอดสรรพสิ่งทั้งความว่าง ความมี ในความสว่าง
ในความมืด ในความนิ่ง และในความเคลื่อนไหว สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง จิตอิสระนี้จะต้องมีคุณสมบัติ นิ่ง สว่าง ว่าง ที่สมบูรณ์ก่อน หาไม่แล้วจะไม่อาจแทงตลอดได้ และการไม่ยึดถือความนิ่ง ความสว่าง และความว่าง
มิได้หมายถึงการหวนกลับไปสู่ความไหว
ความมืด
และความหมกมุ่นในความมีอีก
แต่เป็นการก้าวจากความนิ่ง
ความสว่าง และความว่าง
เข้าสู่พุทธภาวะ คือ
ความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อย่างไร้ขอบเขตจำกัด
ดังนั้น ตอนจะเป็นดังนี้ ละความวุ่นเข้าสู่ความนิ่ง แต่ความนิ่งนั้นมีหลายระดับ
นิ่งบางระดับยังมืดตื้อ
บางระดับก็โล่งแต่แคบเป็นอุเบกขัง
ไม่ใช่อุเบกขา
ดังนั้นต้องทำจิตนิ่งนั้นให้สว่างต่อไป แต่ความสว่างนั้นก็มีหลายระดับ สว่างอย่างมีความจำกัดจนกระทั้งถึงไร้ความจำกัด
สว่างเป็นจุดจนกระทั้งถึงสว่างไปทั่ว สว่างอย่างจ้ากระจายจนกระทั้งถึงสว่างสนิทสม่ำเสมอ เราต้องพัฒนาจิตสว่างให้สว่างสนิทสม่ำเสมอไปทั่วทุกอย่างไร้ความจำกัด
ซึ่งการจะทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ได้อย่างรวดเร็ว คือการเข้าสู่จิตว่าง
แต่การอยู่ในความว่างก็ยังมีหลายระดับ ความปราณีต
คือจิตว่างและยึดมั่นความว่างอยู่
จิตแบบนี้จะไม่อยากออกจากความว่างไปไหน ยามมีความเคลื่อนไหวแม้เล็กน้อยก็จะเหนื่อยมากเพราะการยึดถือนั้น
หรือจิตว่างแล้วกำหนดรู้ความว่างอยู่
จิตแบบนี้คลายการยึดมั่นลงไปบ้างแต่ต้องคอยระวังตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อรักษาภาวะว่างไว้ มิฉะนั้นจะหลุดไปสู่ความมี
หรือที่สุดคือจิตที่เคยชินกับความว่างแล้ว และได้เรียนรู้ว่าแม้ความว่างก็ไม่เป็นตนไม่เที่ยงมีความมีเป็นภาวะตรงข้าม
แล้วปล่อยวางการยึดถือในความว่างนั้น จิตก้าวเข้าสู่ภาวะพุทธะที่เบิกบานอย่างไร้ขอบเขต ตื่นตัวสมบูรณ์แบบ และรู้แจ้งแทงตลอดทุกสิ่งได้
ตั้งแต่ต้นจนจบจึงมองเห็นประโยชน์สูงสุดแห่งชีวิต การดำเนินชีวิตจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง
ปัญญาในการใช้ปัญญา
เมื่อสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น จงชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญา คือ รู้ตรง
รู้ชัด รู้รอบ
และรู้ประโยชน์สูงสุดแล้ว
ในขั้นต่อไปคือ
การมีปัญญาในการใช้ปัญญานั้นอีกชั้นหนึ่ง
คนเป็นจำนวนมากรู้ดีว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด อย่างไรควร อย่างไรไม่ควร
แต่ก็ไม่สามารถรักษาตนให้อยู่กับสิ่งที่ดี หรือควบคุมตนให้ทำเฉพาะสิ่งที่ควรได้ เมื่อไม่สามารถเพราะขาดปัญญาในการใช้ปัญญาก็จะหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง
ซึ่งทำให้ปัญญาที่มีอยู่เดิมถูกบิดเบือนหลอกตัวเอง และค่อย ๆ
กลายเป็นคนโง่มากขึ้นทุกทีโดยไม่รู้ตัว
ดังนั้นเมื่อมีปัญญารู้ว่าอะไรควร
อะไรไม่ควรแล้ว
ควรนำปัญญานั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตทันทีด้วยกลไกของปัญญาในการใช้ปัญญา
ปัญญาในการใช้ปัญญานั้นมีสองประการคือ
๑. ปัญญาในการนำความรู้แท้มาปรับชีวิต
๒. ปัญญาในการผสมผสานชีวิตให้เข้ากับสัจจะสูงสุดที่ปัญญาได้รู้แล้ว
ปัญญาในการนำความรู้แท้มาปรับชีวิต สามารถทำได้ โดยการแผ่ญาณอันคือ
ความรู้แท้นั้นสู่จิตใต้สำนึก
จิตสำนึก ความนึกคิด คำพูด อิริยาบถ การกระทำ
พฤติกรรม
และวิถีชีวิตให้ความรู้แท้กำกับชีวิตโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มิเช่นนั้น
จิตใจอาจอิดออดเพราะเคยชินเก่าหรือไหวหวั่นเพราะสิ่งเร้าอันยั่วเย้าภายนอกได้ ปัญญาในขั้นนี้คือปัญญาในการพัฒนาตนโดยปรับตั้งแต่รากฐานของชีวิตออกมา เพราะเมื่อเราจัดการกับรากฐานได้ดี ลำต้น กิ่งก้าน
ใบ ดอก ผล ก็จะดีตามไปด้วย
ดังนั้นเมื่อเราปลูกฝังปัญญาไว้ที่รากแห่งชีวิต ทุกระดับของพฤติแห่งชีวิตก็จะดีตามไปด้วย และเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ
แผ่ญาณนั้นไปในทุกระดับพฤติแห่งชีวิตก็จะยิ่งได้ผลเร็วและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ปัญญาในการผสานชีวิตให้เข้ากับสัจจะสูงสุด เพื่อพบสัจจะอันเป็นประโยชน์สูงสุดที่ชีวิตจะเข้าถึงได้แล้ว
ควรตั้งสภาวะนั้นเป็นเป้าหมายแห่งชีวิต แล้วทุ่มเททุกสิ่งแม้ชีวิตเพื่อสัจจะอันเป็นประโยชน์สูงสุดนั้น
ชีวิตทั้งชีวิตผสานรวมเป็นหนึ่งเดียวกับสัจจะสูงสุด และได้รับประโยชน์สูงสุดในชีวิตได้ ปัญญาในขั้นนี้เป็นปัญญาในการสละสิ่งที่มีประโยชน์น้อยกว่าสู่สิ่งที่มีประโยชน์สูงกว่าจนถึงที่สุด ได้แก่ สมาธิขั้นกลาง
ตัวอย่างเช่น เบื้องต้นตามธรรมชาตินั้น มนุษย์ทั้งหลายต้องการลาภ
อันได้แก่สรรพวัตถุสิ่งของที่จะอำนวยต่อการดำรงอยู่และความพึงพอใจในการดำรงอยู่ เช่น ต้องการอาหาร
ที่อยู่อาศัย
เครื่องนุ่งห่ม
และยาบำบัดโรค
อันคือสิ่งจำเป็นพื้นฐาน
เมื่อความต้องการพื้นฐานถูกปรุงแต่ง ต่อให้วิจิตมากขึ้น
ความต้องการลาภอาจแปรปรวนเป็นความต้องการในอาหารอันอร่อย ที่อยู่อันหรูหรา
เครื่องนุ่งห่มดี ๆ ยาบำบัดโรคดี ๆ และดนตรีเพราะ ๆ
หากความต้องการที่ถูกปรุงแต่งมาแล้ว ถูกตบแต่งต่อให้พิสดารมากขึ้น
ความต้องการลาภอาจแปรปรวนเป็นต้องการอาหารชั้นเลิศ
ที่อยู่อาศัยชั้นเลิศ เครื่องนุ่งห่มชั้นเลิศ ยาบำบัดโรคชั้นเลิศ ดนตรีที่ซาบซึ้งเร้าใจ กลิ่นที่เย้ายวนใจ สัมผัสละมุนละไมชวนให้เคลิบเคลิ้มหลงใหล
ในชั้นลาภนี้เป็นการปรนเปรอความต้องการด้านกามคุณแก่มนุษย์ทั่วไป
ตามแต่ความประหลาดมหัศจรรย์ของกามารมณ์ที่แต่ละคนปรุงแต่งไว้เป็นรสนิยม
เมื่อเสพกามพอแล้ว เห็นว่ายังไม่สาแก่ใจ เพื่อให้รสชาติเพียงชั่ววูบ รู้สึกแค่ตอนสัมผัส ครั้นไม่สัมผัสก็หมดความรู้สึก จึงต้องการความสุขที่ถาวร และยิ่งใหญ่กว่าเดิม
มนุษย์จึงแสวงหาภาวะที่ตนจะอยู่ได้อย่างเป็นสุขมากขึ้น และพบว่าเกียรติยศให้ความสุขได้ลึกซึ้งกว่ากาม ยิ่งใหญ่กว่ากาม
เพราะเกียรติยศเกิดจากการยอมรับของชนจำนวนหนึ่ง จึงเกิดได้
แก่การที่จะได้เกียรติยศบุคคลต้องสละลาภ เพื่อประโยชน์แก่คนอื่น
จึงจะได้รับการยอมรับและปรากฏเกียรติยศขึ้นได้ ทานหรือการสละทรัพย์เพื่อเกื้อกูลผู้อื่นจึงบังเกิดขึ้น เพื่อแลกกับยศ แต่ในเรื่องแปลกเมื่อสละลาภเพื่อยศแล้ว ครั้นครองยศอยู่
ลาภก็หลั่งไหลมาเทมาเป็นไปโดยธรรมชาตินี่เป็นการยกระดับความปรารถนาขั้นแรกของมนุษย์ให้สูงขึ้นอีกลำดับหนึ่ง
เมื่อครองยศอยู่พอประมาณแล้วจะเห็นว่ายศก็แค่นั้นเอง มันมากับภาระและความเสี่ยง พร้อมกับการจับตาดูของผู้คนว่า เราจะใช้ยศทำอะไร อย่างไร เมื่อไรดีหรือไม่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาหรือเปล่า เมื่อใช้ยศกระทำการไม่เป็นไปตามความต้องการของเขา เขาก็จะเรียกร้องนา ๆ ประการ เมื่อแบกยศนาน ๆ จะเห็นว่า
ยศนั้นแม้จะให้ความภาคภูมิแต่ก็นำมาซึ่งภาระความจำกับความวุ่นวาย
ซ้ำยังเป็นที่เรียกร้องหมายปองของคนทั้งหลาย
มนุษย์ผู้มีปัญญาจึงแสวงหาความสุขที่ปราณีต ที่เบาสบายกว่ายศและพบว่า สรรเสริญนั้น เป็นที่ยอมรับของมหาชนด้วยความจริงใจกว่า การที่ผู้คนสรรเสริญนั้น ทั้งเบาสบาย ไร้ภาระผูกพัน
ไม่เหมือนยศที่ทำให้หนักอึ้ง
จึงบังเกิดการสละยศ สละตำแหน่ง
และเจริญคุณธรรมอันมีศีลเป็นเบื้องต้น เพื่อให้ชนชื่นชมยินดีว่าเป็นคนสะอาดไม่ต้องการลาภยศใด ๆ เมื่อดีจริง สะอาดจริง ผู้คนก็จะนับถือด้วยความจริงใจ กล่าวสรรเสริญทั่วไป
ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
ยังความแช่มชื่นบันเทิงใจแก่ผู้ได้รับการสรรเสริญนั้น แต่ก็เป็นเรื่องแปลกยิ่งสละยศแล้ว ลาภยศก็จะยิ่งหลั่งไหลมาเข้ามาตามธรรมชาติ นี่เป็นผลพัฒนาอีกชั้นหนึ่งของความต้องการของมนุษย์
ครั้นได้รับสรรเสริญไปมาก
ๆ นาน ๆ ในที่สุดจะพบว่า
รสของสรรเสริญนั้นจะชืดและเอียน
เพราะคนทั้งหลายมาสรรเสริญคุณสมบัติที่มีอยู่ในตนบ้าง ไม่มีอยู่ในตนบ้าง แม้ที่มีอยู่ในตนจริง เมื่อตนปฏิบัติเป็นปกติ ก็รู้สึกเป็นธรรมดาไปแล้วไม่เห็นแปลกวิเศษ ควรแก่การสรรเสริญ
ในระยะนี้จะเอียนสรรเสริญและพบว่าเรื่องอะไรจะต้องความสุขไปแขวนไว้กับถ้อยคำของผู้อื่น ซึ่งจริงบ้าง เท็จบ้าง โดยจงใจบ้าง
ไม่จงใจบ้าง
มนุษย์จึงแสวงรสอันปราณีตกว่าเดิม
ก็จะพบว่าในสภาวะแห่งความสงบที่มีจิตตั้งมั่นอยู่ในใจอันสะอาด ทรงประสิทธิภาพนั้น มีความสุข มั่นคงถาวรยิ่งกว่า จึงบังเกิดการประพฤติวัตรหยุมหยิมเสีย และหันมาฝึกจิต เจริญสมาธิ มีการแผ่เมตตาเป็นต้น
เมื่อแผ่เมตตาได้ที่
จะพบว่าความสุขที่มอบความปรารถนาดีให้แก่ผู้อื่นด้วยใจอันสะอาดนี้ ยิ่งใหญ่และตั้งมั่นกว่าความสุขที่ต้องอิงการสรรเสริญจากคนอื่นเป็นไหน
ๆ จึงทรงอยู่ในสมาธิระดับต่าง ๆ มีเมตตาเป็นอาทิ ตามสามารถ
แต่มหัศจรรย์นั้น ยิ่งสละสรรเสริญเพียงใด ลาภ ยศ
สรรเสริญ
ก็จะหลั่งไหลเทมาตามธรรมชาติแห่งดุลยภาพ
นี่คือตัวอย่างของการสละสิ่งที่มีคุณน้อยกว่า เพื่อกลมกลืนกับสิ่งที่มีคุณมากกว่าโดยลำดับ
จนถึงที่สุดแห่งวิวัฒนาการเมื่อใจเราสละสิ่งใดได้แสดงว่าอำนาจใจเราอยู่เหนือสิ่งนั้น
เราจึงได้สิ่งนั้นมาโดยง่ายดายไม่ว่าจะปรารถนาหรือไม่ก็ตาม
การพัฒนาปัญญา
จากที่อธิบายมาแล้ว
จะเห็นได้ว่าปัญญาเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้และต้องเพียรพัฒนาโดยลำดับ จึงจะได้ปัญญาที่ยิ่งใหญ่
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการพัฒนาปัญญา คือ ระดับของปัญญา
และการยกระดับปัญญา
ระดับของปัญญา ปัญญามีสามระดับ คือ
๑. ปัญญาจากการอ่าน
ดู ฟัง
๒. ปัญญาจากการคิด
๓. ปัญญาจากการเห็นในสมาธิจิต
ปัญญาจากการอ่าน ดู ฟัง
คือความรู้ที่รับรู้ความเป็นจริงของธรรมชาติ และหรือบทบันทึกหรือคำบอกเล่า การเรียนรู้ธรรมชาติของผู้อื่น เช่น
การรับรู้โลกแห่งความเป็นจริง
การเรียนในสถาบันการศึกษา
และการศึกษาจากตำรา
วีดีโอ และอุปกรณ์อื่น ๆ
ความรู้ระดับนี้เป็นเสมือนข้อมูลดิบสำหรับสร้างปัญญาในระดับต่อไป
ปัญญาจากการคิด
เมื่อจิตทำงานควบกับใจแห่งความทรงจำจะสามารถคิดจินตนาได้มากมายบนพื้นฐานข้อมูลเดิมตามแรงขับของความอยากและความไม่อยาก เมื่อนำความรู้จากระดับการดู อ่าน ฟังมาคิดวิเคราะห์
แยกแยะ เปรียบเทียบ สังเคราะห์ และสรุปแล้ว
จะเกิดความรู้สัมพัทธ์เชิงระบบใหม่ ๆ เกิดขึ้น เสมือนการนำอิฐ หิน ดิน ทราย
อันเป็นวัตถุดิบมาสร้างความสัมพันธ์เชิงระบบจนเกิดเป็นอาคารบ้านเรือน ถนน
เขื่อน ไปตามจินตนาการที่ออกแบบไว้ตามวัตถุประสงค์แห่งปรารถนานั้นเอง ความรู้ในระดับนี้เรียกว่า
ปัญญาจากการคิด จะก่อให้เกิดความรู้และสร้างสรรใหม่
ๆ มากมาย
แต่ความคิดของมนุษย์ก็มีความจำกัดโดยตัวมันเอง
ความรู้ระดับนี้จึงมีความจำกัดตามศักยภาพการคิดของมนุษย์ด้วย เช่น เมื่อเราเห็นรถชนคนตายความคิดที่คิดได้ก็คือ คนขับ ขับรถประมาท หรือคนเดินเท้าประมาท หรือระเบียบจราจรไม่ดี อาจจะไม่มีสัญญาณที่ชัดเจน
หรืออาจจะคิดไปถึงความย่อหย่อนวินัยในสังคม ความไม่ปลูกฝังกันในสถาบันการศึกษา ความไม่เอาใจใส่ของรัฐบาล การขาดแคลนงบประมาณ
การหลีกเลี่ยงภาษีของประชาชน
การคอรัปชั่นของนักการเมือง
เป็นอาทิ
แต่การคิดจะไม่สามารถล้วงลึกไปถึงเหตุแห่งการตายอันเป็นกลไกกรรมสากล
ที่เชื่อมโยงสรรพสัตว์ให้มีปฏิสัมพันธ์กัน
หากความรู้จากการคิดสามารถเห็นสายใยกรรมอันเป็นเหตุอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทั้งหลายได้ จะไม่มีผู้ใด ดีใจหรือเสียใจ
เพราะการเกิดหรือการตายเลยแม้แต่น้อย แต่เพราะความคิดเข้าถึงความรู้ระดับนี้ไม่ได้ จึงยังดีใจ และเสียใจต่อเหตุการณ์ทั้งหลายกันอยู่ แต่การรู้ด้วยสมาธิจิต สามารถรู้สัจจะแม้ในระดับละเอียด ปราณีตซ่อนเร้นทั้งหลายได้ ดังพุทธวัจจนะที่ว่า ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย
จิตที่เป็นสมาธิย่อมเห็นทุกสิ่งตามเป็นจริง
การเห็นในสมาธิจิตนั้น จะเห็นสัจจะแท้ ๆ ที่เป็นหรือเคยเป็น
หรือจะเป็น
และเต็มไปด้วยความเข้าใจ
โดยไม่มีนิยามหรือภาษาเป็นความเข้าใจล้วน ๆ ในความรู้ชัด
ครั้นออกมาสู่ระดับความคิดก็พออนุมานสัจจะเหล่านั้นออกมาถ่ายทอดตามดภาษาสมมติได้บ้าง
ความรู้ในสมาธิจิตนี้เป็นปัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ที่รู้ได้ทุกสิ่ง โดยไม่จำกัดกาลหรือสถานที่
การยกระดับปัญญา
ปัญญาทุกชนิดมีความสัมพันธ์โดยตรงกับสภาวะจิต เพราะจิตคือธาตุรู้
ถ้ารู้ดีก็เกิดปัญญา
ถ้ารู้ไม่ดีหรือรู้ไม่เป็นก็วุ่นวาย
และอาจโง่มากขึ้น
ดังนั้นการยกระดับปัญญา
จึงสามารถกระทำได้โดยการปรับสภาวะจิตเป็นสำคัญ
เมื่อปรับสภาวะจิตดีแล้ว
ต้องเลือกประเด็นหลักในการรับรู้และเรียนรู้ ไม่ใช่รับรู้ไปหมดทุกเรื่อง การรับหมดโดยไม่เลือกนั้นในที่สุดจะเละ จึงเรียกกันว่ารับเละ
เมื่อเลือกรับรู้โดยสมควรแล้ว
ต่อไปจะจัดระบบการรู้ให้มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การรับรู้
การบันทึกความจำ
การระลึกรู้
การวิเคราะห์ การเปรียบเทียบ การสังเคราะห์ และการสรุป
เมื่อสรุปกฎเกณฑ์ได้จากปรากฏการณ์ใด ต่อไปให้พิสูจน์ข้อสรุปนั้นกับ ปรากฏการณ์ต่างๆ จนเหตุสัจจะที่ปราณีตขึ้น ชัดเจนขึ้น แม่นยำขึ้น
ในที่สุดคือการฝึกรู้โดยไม่ต้องคิด รู้ได้ด้วยญาณแห่งสมาธิจิต นั้นคือที่สุดของปัญญาของมนุษย์
ผู้ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ล้วนเป็นผู้เพียรพัฒนาปัญญาอย่างต่อเนื่อง
เพราะเมื่อปัญญาได้รับการพัฒนาความสำเร็จก็ถูกยกระดับด้วยเช่นกัน
การเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นการแก้ไขปัญหา และแก้กรรม ได้ตามสมควร
ตามที่ได้ชี้แจงมาก็พอสมควรแก่เวลา
สุดท้ายนี้
ก็ขอความสุขความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย ขอทุกท่านจงเจริญไปด้วย
อายุ วัณณะ สุขะ พละ
ปฏิภาณธนสารสมบัติ
คิดสิ่งหนึ่งประการใดก็ขอให้สมความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ เทอญ.