หลวงพ่อตอบปัญหาปัญญาชนตะวันตก
ของ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล (จรัญ ฐิตธมฺโม)
กับ
ดร.เจอร์รัลด์ แมกเคนนี่ หัวหน้าภาควิชาศาสนศึกษามหาวิทยาลัยไรซ์
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ดร.เจอร์รัลด์ แมกเคนนี่ หัวหน้าภาควิชาศาสนศึกษามหาวิทยาลัยไรซ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีภรรยาเป็นคนไทยชาวพุทธ แต่ตัวเองเป็นชาวคริสเตียน สนใจศึกษาพุทธศาสนา
มาตั้งแต่ศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยชิคาโก อ่านหนังสือภาษาไทยได้แต่ไม่คล่องดี
ในปัจจุบันกำลังศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพุทธศาสนาโดยเฉพาะในเรื่องกฎแห่งกรรม การปฏิบัติกรรมฐาน และงานสังคมสงเคราะห์ของพระสงฆ์
ในเรื่องกฎแห่งกรรม อาจารย์เจอร์รัลด์
ได้ถามหลวงพ่อว่า :
ใครเป็นผู้สร้างกฎแห่งกรรม ?
ทำไมคำสอนของพุทธศาสนาจึงเน้นเรื่องกฎแห่งกรรมมาก ?
การให้ความสำคัญแก่กฎแห่งกรรมจะเป็นการสอนให้คนไม่มีความกระตือรือร้น และความพยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ หรือไม่ ?
หลวงพ่ออธิบายว่า :
กฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติไม่มีผู้ใดสร้างขึ้นมา มีฐานะเช่นเดียวกับกฎธรรมชาติข้ออื่น เช่น กฎของความเปลี่ยนแปลง พุทธศาสนาเน้นเรื่องกฎแห่งกรรม
เพราะต้องการให้คนทุกคนมีความสุขทั้งในชาตินี้และชาติต่อไป
ทั้งนี้เพราะความสุขหรือทุกข์เป็นผลมาจากการกระทำของเราแต่ละคนเองทั้งนั้น
ไม่ได้เป็นรางวัลหรือการลงโทษของอำนาจศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด
คำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมไม่ได้ต้องการให้ชาวพุทธเป็นคนขาดความกระตือรือร้นหรือความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาต่าง
ๆ ด้วยตนเอง
กฎแห่งกรรมเพียงแต่เน้นความสำคัญว่าการกระทำทุกอย่างมีผลต่อผู้กระทำทั้งในระยะสั้นและระยะยาวนานมากบ้างน้อยบ้างตามประเภทของการกระทำ
ดังนั้นเราจึงควรระมัดระวังทำแต่สิ่งที่ดีงามทุกครั้ง
และถึงแม้ว่าชีวิตปัจจุบันจะเป็นผลมาจากการกระทำของเราในอดีต แต่ก็มิได้หมายความว่า เราไม่มีเสรีภาพที่จะสร้างชีวิตใหม่ ชีวิตมีทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
อดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและสิ้นสุดลงแล้ว ดังนั้น
เราจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้
อนาคตเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงเปิดกว้างไม่มีขอบเขต อนาคตจะมีลักษณะเช่นใด
หรือมีขอบเขตจำกัดเพียงใดนั้น
ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราในปัจจุบันเป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าชีวิตปัจจุบันจะเป็นผลของการกระทำของเราในอดีต
แต่ชีวิตปัจจุบันก็ยังมีช่องว่างหรือเสรีภาพอยู่ทำให้เรามีโอกาสรังสรรค์ปั้นแต่งชีวิตของเราในอนาคตได้
ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาจึงเน้นความสำคัญของการกระทำในปัจจุบันมากเป็นพิเศษ
ศาสนาพุทธไม่ต้องการให้เราไปเศร้าสร้อย หรือดีใจกับอดีตที่ผ่านมาแล้ว และในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้เราเพ้อฝันถึงอนาคต
แต่ต้องการให้เราสนใจปัจจุบันและทำชีวิตปัจจุบันให้ดีที่สุด จะได้เป็นปัจจัยสำหรับอนาคตที่ดีได้
อาจารย์เจอร์รัลด์
เห็นด้วยกับคำอธิบายของหลวงพ่อที่มีเหตุมีผล และขอบคุณหลวงพ่อที่ได้เมตตาช่วยเหลือให้เขาเข้าใจแนวความคิดของพุทธศาสนา เรื่องกฎแห่งกรรมดีขึ้น
หลวงพ่อได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
: กฎแห่งกรรมมีอยู่จริง
และตัวหลวงพ่อเองนอกจากมีประจักษ์พยานจากประสบการณ์โดยตรงเกี่ยวกับผลของกรรมในอดีตที่มีต่อชีวิตของหลวงพ่อในปัจจุบันแล้ว
ยังได้ประจักษ์พยานจากประสบการณ์ของพุทธศาสนิกชนจำนวนมากที่หลวงพ่อรับทราบอีกด้วย
ด้วยเหตุผลนี้ทำให้หลวงพ่อจึงอุทิศตัวเองให้แก่การสอนอบรมคนทุกวัยให้ทำแต่ความดีงามและละเว้นจากความชั่วทั้งปวงเพื่อจะได้สร้างกรรมดีให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตในอนคตทั้งใกล้และไกล
อาจารย์เจอร์รัลด์ ถามต่อมาว่า : พุทธศาสนาสอนวิธีแก้กรรมหรือไม่นั้น
หลวงพ่อตอบว่า เนื่องด้วยอดีตเป็นสิ่งที่เกิดและสิ้นสุดลงแล้ว
ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ สำหรับผลกรรมไม่ดีในอดีตนั้น เราก็คงจะหลีกหนีไม่ได้เด็ดขาดเช่นกัน
แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ยังต้องรับวิบากกรรม สิ่งที่เราควรจะทำก็คือ
เร่งทำความดีให้มากขึ้นเรื่อย ๆ
เพื่อกรรมดีนั้นจะได้ช่วยบรรเทาวิบากกรรมที่ติดตามมาให้มีความรุนแรงน้อยลงไป
อาจารย์เจอร์รัลด์พูดเสริมว่า :
ในศาสนาอื่น เช่น ศาสนาคริสต์ มีความเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าสามารถยกโทษให้แก่ผู้ทำบาปได้ ดังนั้นผู้นั้นจึงไม่จำเป็นต้องรับผลการกระทำที่เป็นบาปเสมอไป
หลวงพ่ออธิบายว่า :
พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เราเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้าแต่ให้คนทุกคนเชื่อในความสามารถของตนเองว่า
ทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาจิตของตนให้เจริญสูงสุดได้ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง พุทธศาสนาเน้นเรื่องกฎแห่งกรรม เพราะต้องการให้เรามีความรับผิดชอบต่อชีวิตของตนเองอย่างเต็มที่
ชีวิตเราจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเอง
เราจะมีความสุขหรือความทุกข์ก็เพราะการกระทำของเราซึ่งมีทั้งทางกาย วาจา และใจ
สำหรับในกรณีของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น พุทธศาสนาสอนว่าตราบใดที่เรายังเป็นปุถุชนอยู่ เราก็ย่อมจะทำอะไรผิดพลาดได้ง่าย ที่สำคัญก็คือ เมื่อทำอะไรผิดพลาดไปแล้ว
เราต้องยอมรับผิดและใช้ความผิดพลาดนั้นเป็นบทเรียนป้องกันไม่ให้ทำความผิดเช่นนั้นอีกต่อไป การยอมรับผิดและความตั้งใจที่จะทำความดีเป็นกุศลอย่างหนึ่ง การเรียนรู้ (สิกขา)
และการมีสติจะช่วยให้เราทำความผิดพลาดน้อยลงทุกทีจนเมื่อจิตเปลี่ยนสภาพเป็นอริยจิต เช่น ในกรณีของพระอรหันต์
แล้วความผิดพลาดต่าง ๆ หรือการกระทำที่ไม่ดีก็จะไม่เกิดขึ้นอีก
นอกจากนั้นหลวงพ่อยังได้เน้นว่า :
สำหรับผู้ที่ต้องการจะรู้สาเหตุของความทุกข์ของตนในปัจจุบันที่เป็นผลของวิบากกรรมที่ไม่ดีในอดีตนั้น
ก็อาจจะใช้การปฏิบัติกรรมฐานเป็นเครื่องมือได้ การปฏิบัติกรรมฐานเป็นวิธีสำคัญในพุทธศาสนาที่จะสร้างกุศลและปัญญาให้เกิดขึ้นในตัวผู้ปฏิบัติ ในขณะเดียวกันก็เป็นวิธีค้นพบสาเหตุและประเภทของวิบากกรรมที่ผู้ปฏิบัติกำลังประสบอยู่ได้
ความรู้นี้อาจเป็นประโยชน์ในการคิดหาการกระทำที่จะให้กรรมนั้นสิ้นสุดลง หรือลดความรุนแรงลง
ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าการปฏิบัติกรรมฐานแก้กรรมได้
พร้อมกันนั้นหลวงพ่อก็ได้ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของผู้มาปฏิบัติกรรมฐานที่วัดอัมพวัน มาประกอบคำอธิบาย
ทำให้อาจารย์เจอร์รัลด์เข้าใจคำสอนของหลวงพ่อได้ดี
หลังจากที่ได้สนทนากับหลวงพ่อเป็นเวลาเกือบ
๒ ชั่วโมง
อาจารย์เจอร์รัลด์กล่าวขอบคุณและยกย่องหลวงพ่อว่าสามารถสอนให้เขาเข้าใจความคิดที่ซับซ้อนของพุทธศาสนา (เช่น เรื่องกรรม และ กรรมฐาน) ได้
ทั้งนี้เพราะหลวงพ่อไม่ได้มีความรู้ในเรื่องต่าง ๆ
เหล่านั้นจากการศึกษาในคัมภีร์ศาสนาเท่านั้น แต่จากการวิเคราะห์ประสบการณ์เป็นพื้นฐาน
ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันในวงวิชาการศาสนาในประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะเชื่อว่าวิธีการเช่นนี้จะช่วยให้เราเข้าใจคำสอนศาสนาได้ลึกซึ้งและกว้างขวาง ไม่จำกัดอยู่ที่ความคิดในคัมภีร์
อาจารย์เจอร์รัลด์ดีใจมากที่มีโอกาสได้สนทนากับหลวงพ่อและสัญญาจะนำความรู้ที่ได้รับจากความเมตตาของหลวงพ่อนี้ไปเผยแพร่แก่นักศึกษาชาวอเมริกันที่ศึกษากับตน
กับ
ศาสตราจารย์
ดร.เจมส์ สจ๊วตท์ เป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาจิตวิทยา
ชาวต่างประเทศคนอื่นที่หลวงพ่อเมตตาอธิบายคำสอนพุทธศาสนาให้เป็นกรณีพิเศษ คือ ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์
สจวตท์ และภรรยา
ศาสตราจารย์ผู้นี้เป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาจิตวิทยาและสอนวิชานี้ในมหาวิทยาลัยต่าง
ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา มาไม่น้อยกว่า ๕๐ ปี ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว และมาช่วยสอนที่ศูนย์ศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.เจมส์ สจ๊วตท์ ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่นักวิชาการชาวตะวันตกเขียนไว้หลายเล่ม และมีข้อสงสัยหลายประการ เมื่อมีโอกาสได้พบหลวงพ่อ จึงขอคำอธิบายจากหลวงพ่อ
เรื่องแรกที่ศาสตราจารย์ผู้นี้สงสัย คือเขาสังเกตเห็นว่าเวลาที่หลวงพ่อสอนญาติโยมทั้งหลาย หลวงพ่อมีกิริยาท่าทางคล่องแคล่ว กล้าหาญและมีกำลังวังชาเช่น นักรบ เขาจึงสงสัยว่าก่อนที่หลวงพ่อจะบวชนั้น หลวงพ่อเคยเป็นทหารหรือเป็นผู้ฝึกทหารหรือไม่
หลวงพ่อตอบว่าอดีตของหลวงพ่อนั้นมีประวัติยาวนานที่ได้เคยเล่าให้ญาติโยมทั้งหลายฟังแล้ว แต่ไม่ต้องการจะเล่าซ้ำอีก
และเป็นเรื่องที่ศาสตราจารย์ผู้นี้จะเข้าใจได้ยาก เพราะไม่ได้เป็นชาวพุทธ
และไม่มีความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่ลึกซึ้งโดยเฉพาะในเรื่องกฎแห่งกรรม
การขาดความรู้นี้อาจทำให้เขามองดูเรื่องราวของหลวงพ่อ
ที่เป็นแม่ทัพในอดีตชาติว่าเป็นเรื่องเหลวไหลได้ หลวงพ่อต้องการที่จะพูดคุยกับเขาเฉพาะในเรื่องที่เขาจะเข้าใจได้เท่านั้น
ด้วยเหตุผลนี้หลวงพ่อจึงไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าวอย่างละเอียด เพียงแต่พูดว่าเคยเป็นทหารมาและเวลานี้ดาบที่เคยใช้ก็เก็บไว้ที่วัดอัมพวันเท่านั้น อย่างไรก็ตามหลวงพ่อก็กล่าวชม ดร.สจ๊วตท์ ว่าเป็นคนช่างสังเกตสมกับที่เป็นนักวิชาการ
การเป็นคนช่างสังเกตนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้รักความรู้
การสังเกตจะทำให้เกิดความสงสัยและความต้องการที่จะเข้าใจสาเหตุต่าง ๆ ความต้องการนี้เป็นบ่อเกิดของความรู้ต่าง
ๆ ของมนุษย์
ถ้าหากพระพุทธเจ้าไม่ทรงสังเกตลักษณะต่าง ๆ
ที่ไม่น่าชื่นชมของชีวิตมนุษย์แล้ว
พระองค์ก็คงจะไม่เสด็จบรรพชาและพุทธศาสนาก็คงจะเกิดมีขึ้นไม่ได้
คำถามต่อมาที่
ดร.สจ๊วตท์ ถามหลวงพ่อคือ : หนังสือที่เขาอ่านเกี่ยวกับพุทธศาสนามักจะเน้นว่าพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ที่ตัดตัวเองออกจากสังคมที่อยู่ และแสวงหาความวิเวกโดยลำพัง ไม่สนใจต่อทุกข์ของชาวโลก
แต่เขาสังเกตเห็นว่าหลวงพ่อมีภาระกิจทางสังคมมาก นอกจากจะอบรมสั่งสอนเยาวชนและศาสนิกชนแล้ว หลวงพ่อยังได้จัดทำโครงการที่ทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนต่าง
ๆ อีกด้วย
หลวงพ่ออธิบายว่า : หนังสือที่ ดร.สจวตท์ อ่านนั้นไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง
ตามความเป็นจริงแล้วพระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้พระสงฆ์ทิ้งสังคมและโลกที่อยู่เพื่อเอาตัวรอด แต่ทรงเน้นให้พระสงฆ์ช่วยเหลือทำประโยชน์ให้แก่สังคม
ดังเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงเตือนให้พระสาวกที่พระองค์ทรงส่งไปเผยแผ่ศาสนาพุทธนั้นเดินทางไปสถานที่ต่าง
ๆ
เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษย์เป็นสำคัญ
การปฏิบัติกรรมฐานเป็นวิธีการหนึ่งที่จะชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์จากกิเลสตัณหาต่าง
ๆ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถช่วยเหลือสังคมได้อย่างแท้จริง
การช่วยเหลือด้วยวิธีนี้จะยังประโยชน์อย่างมากให้แก่สังคม
เพราะเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นแต่อย่างเดียว ไม่มีประโยชน์ตนปนอยู่เลย
ต่อจากนั้นหลวงพ่อก็อธิบายว่า
:
สาเหตุสำคัญที่ทำให้หลวงพ่อถือเป็นภาระหน้าที่ตลอดชีวิตที่จะช่วยเหลือสังคมไทย
เพราะหลังจากหลวงพ่อมีชีวิตรอดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ครั้งสำคัญที่สุดแล้ว
หลวงพ่อก็ตั้งใจที่จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
ดังนั้นจึงได้อุทิศตัวเองเพื่อพัฒนาคนอย่างเต็มที่ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ด้วยการอบรมสั่งสอนชาวพุทธไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก
ให้เป็นคนดีมีศีลธรรมและจริยธรรมไม่หลงผิด และด้วยการนำปัจจัยต่าง ๆ
ที่ได้รับบริจาคไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ตามท้องถิ่นต่าง ๆ รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนต่าง
ๆ ให้ดีขึ้น
สำหรับที่วัดอัมพวันนั้น
นอกจากจะเป็นสถานที่สำหรับฝึกอบรมข้าราชการของหน่วยงานต่าง ๆ แล้วยังมีบริการอาหารฟรี
ให้แก่ทุกคนและมีที่พักให้สำหรับผู้มาปฏิบัติกรรมฐาน สำหรับเงินที่ใช้ในกิจการต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นเงินที่หลวงพ่อได้รับจากการบริจาคทั้งนั้น
อนึ่งในการช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลต่าง
ๆ นั้น
หลวงพ่อไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเฉพาะแก่ชาวพุทธเท่านั้น แต่รวมไปถึงศาสนิกชนของศาสนาอื่น เช่น ชาวมุสลิมและชาวคริสเตียนด้วย ในการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลเหล่านี้
หลวงพ่อไม่ได้ต้องการให้พวกเขาเปลี่ยนศาสนามาเป็นชาวพุทธ หลวงพ่อต้องการให้พวกเขาเป็นชาวมุสลิมหรือชาวคริสเตียนที่ดี คนดีไม่ว่าจะนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ หรือ อิสลาม
ย่อมเป็นประโยชน์แก่สังคมทั้งนั้น
ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ กล่าวเสริมว่า : การกระทำเช่นนั้นแสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อมีจิตใจกว้างขวางโอบอ้อมอารี นับว่ามีความเมตตาอย่างแท้จริง เขาสังเกตเห็นว่ามีผู้คนมาพบหลวงพ่อจำนวนมากมาย
และหลวงพ่อก็ต้อนรับและพูดคุยกับคนทุกคนโดยไม่แสดงท่าทางอิดหนาระอาใจ หรือเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด
นอกจากนั้นเขายังทราบว่าหลวงพ่อนำพลังมาจากไหน จึงสามารถทำงานกิจการงานต่าง ๆ ได้สำเร็จไม่ขาดตกบกพร่อง
หลวงพ่อตอบว่า : การพักผ่อนไม่จำเป็นต้องเป็นการนอนเท่านั้น หลวงพ่อมีวิธีพักผ่อนอยู่หลายวิธี วิธีที่ใช้อยู่เสมอคือ การปฏิบัติกรรมฐาน
คือการให้จิตอยู่ในสมาธิไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม
จิตที่อยู่ในสมาธิเป็นจิตที่สงบและมีพลังมาก
ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ กล่าวว่า : เขาได้ศึกษาทฤษฎีจิตวิทยาเกี่ยวกับสมาธิมาบ้าง
แต่เพิ่งจะเห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากชีวิตการงานของหลวงพ่อ
สำหรับเขาการให้จิตอยู่ในสมาธิตลอดเวลานั้นเป็นสิ่งยากลำบาก ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำได้เช่นนั้น เขาจึงชื่นชอบในหลวงพ่อมาก และดีใจที่หลวงพ่อได้เมตตาฝึกสอนผู้คนให้มีพลังจิตเข้มแข็ง และนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม
คำถามอีกข้อหนึ่งที่ ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ ถามหลวงพ่อ คือ : หลวงพ่อมีความเห็นเช่นไร
เกี่ยวกับสังคมมนุษย์ในสมัยโลกาภิวัตน์ ?
หลวงพ่อตอบว่า :
เมื่อมองดูสังคมมนุษย์เวลานี้รู้สึกเป็นห่วง เพราะคนในสังคมหลงไหลในวัตถุนิยมมาก จนปล่อยให้วัตถุมามีอำนาจเหนือชีวิตตน
ปัจจุบันเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าวัตถุนิยมไม่สามารถให้ความสุขแก่มนุษย์ได้ ปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทุกสังคมกำลังประสบอยู่ ชี้ให้เห็นอันตรายของวัตถุนิยม ถ้าหากมนุษย์เรายังคงยึดถือวัตถุนิยมเป็นสรณะ
โลกก็คงจะถึงกาลอวสานในวันหนึ่งข้างหน้าอย่างแน่นอน และนั่นหมายถึงจุดจบของมนุษยชาติ หลวงพ่อไม่เชื่อว่ายุคโลกาภิวัตน์เป็นยุคของความเจริญรุ่งเรืองของมนุษย์
เราจะอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว
เพราะเทคโนโลยีแต่ละอย่าง
ต่างก็สร้างปัญหาใหม่แทนที่หรือเพิ่มจากปัญหาเก่า
เราจำเป็นต้องนำวิชาการทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า พุทโธโลยี มาใช้จัดการกับวิกฤตทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
พุทธศาสนาเป็นระบบความรู้กว้างขวางมาก หลักธรรมพุทธศาสนาลึกซึ้งและครอบคลุมถึงหมดทุกเรื่อง ถ้าหากเรานำพุทโธโลยีมาใช้ให้เต็มที่ สถานการณ์ปัจจุบันก็จะเปลี่ยนแปลงไป ประโยชน์ของพุทโธโลยีมองเห็นได้ง่าย คือกรณีที่เกี่ยวกับสภาวะจิตใจของคน
หลวงพ่อได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับคนที่มีกลิ่นตัวเหม็น ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะจิตใจไม่ปกติ ในกรณีนี้การปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งเป็นส่วนของพุทโธโลยี
สามารถช่วยให้ผู้นี้ค้นพบความผิดปกติดังกล่าวด้วยตนเอง คือเมื่อจิตของผู้นั้นสงบ ผู้นั้นสามารถขุดลงไปในส่วนลึกของจิตตัวเองได้
และรู้ถึงสาเหตุทางจิตใจที่ทำให้ตนเองมีกลิ่นตัวเหม็นได้
และในขณะเดียวกันก็มองเห็นวิธีที่จะใช้บำบัดรักษาให้จิตของตนกลับคืนมาสู่สภาวะปกติไม่มีความเกลียดอยู่ต่อไป ถึงแม้ว่าตัวอย่างดังกล่าว เป็นเรื่องง่ายไม่สลับซับซ้อน แต่ก็แสดงให้เห็นว่าหลักธรรมและการปฏิบัติของพุทธศาสนา สามารถนำไปใช้บำบัดรักษาทางจิตได้
พุทธศาสนาสอนว่าจิตเป็นบ่อเกิดของปัญหาต่าง ๆ ทั้งทางกาย และทางสังคมสิ่งแวดล้อม
เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น
เราควรพิจารณาสภาวะของจิตของตนก่อนในเรื่องของความซึมเศร้านั้น
การปฏิบัติกรรมฐานจะทำให้ดวงจิตของผู้ปฏิบัติสงบมีสติและมีจุดสนใจอยู่ที่ปัจจุบันเท่านั้น
สิ่งนี้ทำให้จิตใจไม่มีความพัวพันหรือผูกติดกับอดีต ดังนั้นจึงสามารถมองดูอดีตได้ราวกับว่าไม่ได้เป็นอดีตของตน สิ่งนี้ทำให้เขามองเห็นและยอมรับสิ่งต่าง
ๆ
ที่เกิดขึ้นแก่ตัวเองในสภาพความเป็นจริงโดยไม่เศร้าโศกเสียใจ
ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจที่เกิดจากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนได้ ก็จะสามารถทำได้ถ้าหากปฏิบัติกรรมฐาน
ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ ยอมรับว่า จิตใจและร่างกายมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน
ดังนั้นจิตใจที่อยู่ในสภาวะไม่ปกติจึงมีผลต่อการแสดงออกทางร่างกาย
เช่นในกรณีของกลิ่นตัวที่หลวงพ่อยกมาเป็นตัวอย่าง
และบอกว่าวิธีการบำบัดรักษาทางจิตที่ หลวงพ่อยกตัวอย่างนั้นเป็นวิธีการรักษาที่น่าสนใจมาก
และเขาจะพยายามศึกษาการปฏิบัติกรรมฐานให้ลึกซึ้งขึ้น ศาสตราจารย์ สจ๊วตท์ มีปัญหาจะถามหลวงพ่อเกี่ยวกับพุทโธโลยีอีกหลายข้อ
แต่เมื่อทราบว่ามีผู้รอพบหลวงพ่ออีกจำนวนมาก
จึงหยุดและกราบลาหลวงพ่อ
ก่อนที่จะจากกัน หลวงพ่อได้กล่าวว่า
การที่ศาสตราจารย์ผู้นี้และภรรยาใช้ชีวิตหลังเกษียณด้วยการเดินทางไปสอนตามมหาวิทยาลัยต่าง
ๆ ทั้งในประเทศของตนและในประเทศต่าง ๆ
โดยไม่รับเงินค่าตอบแทนนั้น
เป็นการกระทำของคนดีที่ควรยกย่องสรรเสริญ ความสุขที่ลึกซึ้งไม่ได้เกิดจากการไขว่คว้าสิ่งต่าง ๆ มาเป็นสมบัติของตน
แต่เกิดจากการให้การทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น อาชีพครูและอาชีพแพทย์
เป็นอาชีพที่ส่งเสริมให้คนเรามุ่งหาความสุขในทางนี้ .
บันทึกการสนทนาธรรม
ของ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล
(จรัญ ฐิตธมฺโม)
เป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๑
หลวงพ่อได้เมตตาให้
ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ สจ๊วตท์ เข้าพบเป็นครั้งที่สอง ในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๑ เพื่อถามปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับคำสอนของพุทธศาสนา (ตามเอกสารที่ได้ส่งให้หลวงพ่อ) และหลวงพ่อได้เมตตาตอบแต่ละข้อดังนี้ :
ถาม: เป็นความจริงหรือไม่ว่าคนฉลาดเท่านั้น
สามารถบรรลุมรรคผลนิพานได้ ส่วนคนมีสติปัญญาต่ำจะไม่สามารถบรรลุนิพพานได้เลย
ตอบ: คนทุกคนไม่ว่าจะมีสติปัญญาสูงหรือไม่ต่างก็มีศักยภาพที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ทั้งนั้น แต่ส่วนจะบรรลุสิ่งนี้ได้เร็วหรือช้านั้นเป็นเรื่องของปัจจัยต่างๆ
หลายประการและบุญบารมีของแต่ละคนที่สร้างไว้ หลวงพ่อให้สังเกตว่า
คำว่า สติปัญญา
นี้มีความหมายแตกต่างกันในทางโลกและทางธรรม และวิธีการวัด สติปัญญา ก็แตกต่างกันด้วย
คนที่มีสติปัญญา ในทางโลกไม่จำเป็นต้องมีสติปัญญาในทางธรรม
ถาม: การที่ศาสนาพุทธมีคำสอนต่าง
ๆ มากมายที่ต้องการให้คนยึดถือและปฏิบัติตามนั้น
แสดงว่าพระพุทธศาสนาไม่ส่งเสริมคนใช้ปัญญาความคิดขอตนเองเลยใช่หรือไม่
ตอบ: พุทธศาสนาส่งเสริมคนให้ใช้ปัญญาของตนเองในการคิดวิเคราะห์สิ่งต่างๆ
แต่เพื่อที่จะให้ปัญญานี้มองเห็นสัจธรรมอันสูงสุดและเพื่อจะป้องกันไม่ให้ปัญญานี้นำอันตรายมาสู่ตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้อง
พุทธศาสนาจึงเน้นให้เราพัฒนาปัญญาให้สามารถ รู้แจ้ง และอยู่ในกรอบของความดีงาม ดังนั้นสิ่งที่พุทธศาสนาต้องการให้เราทำคือ การพัฒนาปัญญาของคนแต่ละคนให้เป็นปัญญาที่ดีงาม
และในขณะเดียวกันก็เป็นปัญญาที่สามารถมองเห็นสัจธรรมสูงสุดได้
ถาม: พระพุทธศาสนามีแนวความคิดเช่นไรเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน
เช่น เรื่องการผสมเทียม (การนำอสุจิของผู้ชายมาผสมกับไข่ของผู้หญิงในหลอดแก้ว
แล้วนำสิ่งที่ผสมแล้วไปใส่ไว้ในมดลูกของผู้หญิง
วิธีนี้ช่วยให้ผู้หญิงที่ไม่สามารถมีลูกได้ ตั้งท้องและมีลูกได้)
และการปลูกถ่ายพันธุกรรม (การนำเอาเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของสัตว์ เช่น
แกะมาเลี้ยงจนทำให้เกิดสัตว์ตัวใหม่ที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสัตว์ตัวเดิม) การที่มีมนุษย์สามารถใช้วิธีการต่าง
ๆ เหล่านี้สร้างชีวิตขึ้นมาได้นั้นขัดกับคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมหรือไม่
ตอบ: พุทธศาสนาไม่ได้ต่อต้านความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
และเห็นด้วยว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะต้องเจริญก้าวหน้าต่อไป แต่ในขณะเดียวกันพุทธศาสนาก็เตือนให้เราช่วยกันระมัดระวังไม่ให้ความเจริญก้าวหน้านี้นำอันตรายมาสู่มนุษยชาติและโลกที่อยู่
วิธีการสำคัญในการป้องกันอันตรายดังกล่าว คือการนำสิ่งที่อาจเรียกว่า พุทโธโลยี
มาใช้ควบคู่กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้เราใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างระมัดระวังรอบคอบและมีสติอยู่ตลอดเวลา ไม่อยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหาต่างๆ
สำหรับเรื่อง การผสมเทียม นั้น พุทธศาสนาไม่ได้ต่อต้านแต่อย่างใด
ตราบใดที่วิธีการนี้ไม่มีการทำลายชีวิตเกิดขึ้น แต่ปัญหาที่ควรพิจารณาคือในกรณีของการใช้อสุจิหรือไข่จากผู้อื่นที่ไม่ใช่บิดามารดา
การผสมเทียมด้วยวิธีนี้อาจนำความทุกข์ระยะไกลมาสู่จิตใจของเด็กที่เกิดจากวิธีนี้และบิดามารดาได้
ดังนั้นผู้ที่ต้องการมีลูกโดยใช้วิธีนี้จึงควรคิดให้รอบคอบเสียก่อน
โดยเฉพาะผลกระทบต่อความสุขของเด็กและครอบครัว พุทธศาสนาไม่ต้องการให้คนมีความทุกข์
การกระทำใดก็ตามถ้าหากนำความทุกข์มาสู่ผู้กระทำและผู้เกี่ยวข้องแล้วไม่ใช่การกระทำที่ดีงาม
ส่วนเรื่อง การปลูกถ่ายพันธุกรรม นั้นก็เช่นเดียวกัน
พุทธศาสนาไม่ได้ต่อต้านวิธีการนี้
แต่ก็ให้ข้อสังเกตว่า สิ่งที่เราควรคิดก่อนที่จะนำวิธีการนี้มาใช้กับมนุษย์ ก็คือเราต้องยอมรับความจริงว่าวิธีการนี้ไม่สามารถรับประกันได้ว่าคนที่ปลูกถ่ายพันธุกรรมมานั้น
จะสืบทอดนิสัยดีงามของผู้ที่เป็นต้นแบบมาด้วย เพราะบุคลิกลักษณะและสภาพของจิตใจของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรมที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ นอกจากนั้นเรายังควรคิดด้วยว่าเป็นการสมควรหรือไม่ที่เราจะใช้วิธีการนี้ไปยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของธรรมชาติ
ในเมื่อผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำนี้อาจจะร้ายแรงเกินความคาดหมายได้ เราต้องไม่ลืมว่าการถ่ายทอดพันธุกรรมมนุษย์เป็นเรื่องใหญ่โตมาก และจะมีผลกระทบต่อหลักจริยธรรมของสังคมครอบครัวและชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุกคน
ดังนั้นถ้าหากเราทำความผิดพลาดให้เกิดขึ้นในเรื่องนี้แล้ว เราก็จะไม่มีทางที่จะแก้ไขสิ่งต่างๆ
ให้กลับมาสู่สภาพเดิมได้อีก
ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าถึงแม้ว่าพุทธศาสนาจะไม่ต่อต้านเรื่องนี้
พุทธศาสนาก็ยังไม่ต้องการให้เราเดินหน้าในเรื่องการถ่ายทอดพันธุกรรมมนุษย์
ตราบใดที่เราไม่แน่ใจว่าการกระทำดังกล่าวนี้จะไม่นำอันตรายมาสู่มนุษย์
ถาม: นิพพาน
หมายถึงสถานที่ที่อยู่ของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว
หรือหมายถึงสภาวะของจิตที่ปราศจากกิเลสตัณหาต่าง ๆ ในทำนองเดียวกัน สวรรค์ และ นรก
เป็นสิ่งที่มีตัวตนอยู่จริง หรือว่าเป็นเพียงสภาพของจิตใจมนุษย์
ตอบ: เรื่อง สวรรค์-นรก นั้น
จากประสบการณ์ของหลวงพ่อเองและประสบการณ์ของผู้อื่นที่หลวงพ่อรับทราบ
นรกและสวรรค์ไม่ได้เป็นเพียงสภาพของจิตใจมนุษย์เช่นที่พูดว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ
แต่มีสภาวะอยู่จริงๆ
ในมิติที่คนทั่วไปไม่อาจมองเห็นได้
ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาจึงสอนว่า สวรรค์และนรกมีอยู่จริง
เช่นเดียวกับกฎแห่งกรรม
ส่วนสภาพของจิตใจนั้นเป็นเพียงแสดงให้เห็นถึงลักษณะของบาปบุญที่แต่ละคนมีอยู่และเมื่อตายไปแล้ว
ก็จะต้องรับผลของบาปบุญนี้อย่างแน่นอน
ส่วนเรื่อง นิพพาน นั้น
ยังเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ในบรรดานักวิชาการและนักปฏิบัติธรรม แต่สำหรับหลวงพ่อแล้ว นิพพานเป็นสภาวะของจิตที่ปราศจากกิเลสตัณหาต่างๆ
โดยสิ้นเชิง
ผู้ที่มีสภาวะจิตเช่นนี้
เมื่อสิ้นชีวิตลงย่อมไม่ไปเกิดในสังสารวัฏอีก
ถาม: ในคำสอนของพระพุทธศาสนา
สตรีสามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้หรือไม่ ทำไมประเทศไทยจึงไม่มีภิกษุณี
จากประสบการณ์การสอนกรรมฐานของหลวงพ่อ
จำนวนผู้หญิงและผู้ชายที่มาปฏิบัติกรรมฐานที่วัดอัมพวันมีเปอร์เซ็นต์มากน้อยแตกต่างกันอย่างไร
เพศใดมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมมากกว่ากัน
ตอบ: พุทธศาสนาถือว่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีศักยภาพที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานด้วยกันทั้งนั้น
แต่ส่วนเรื่องของภิกษุณีที่ไม่มีในสังคมไทยปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องของการขาดปัจจัยต่างๆ
ตามที่กำหนดไว้ในคำสอนของพุทธศาสนามากกว่าอย่างอื่น
สำหรับในเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้นเพศหญิง-ชายจะเจริญก้าวหน้าเพียงใดนั้น แล้วแต่บุคคลนั้นมีความพร้อม ความอุตสาหะไม่ท้อถอย
แรงจูงใจและความจริงจังในการปฏิบัติมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่หลวงพ่อสังเกตดูทั่วๆ
ไปแล้ว จำนวนผู้ชายที่เจริญก้าวหน้าในเรื่องการปฏิบัติธรรมมีมากกว่า
ที่เป็นเช่นนี้เพราะปัจจัยหลายอย่างตั้งแต่แรงจูงใจไปจนถึงความเพียรพยายามและความตั้งใจ
ถาม: พ่อแม่ที่มีลูกพิการมาแต่กำเนิด
จะถือว่าเป็นผู้ที่ได้ทำบาปไว้มากในอดีตชาติ และการที่เด็กเกิดมาเป็นคนพิกลพิการนั้น
เป็นผลมาจากบาปของพ่อแม่ใช่หรือไม่
ตอบ: เด็กที่เกิดมาพิการนั้นเป็นกรรมร่วมของบิดามารดาและเด็ก
แต่อย่างไรก็ตามพุทธศาสนาเน้นให้บิดามารดาทำตัวให้เป็นคนมีศีลธรรมและสร้างแต่กรรมดีแต่อย่างเดียว เพราะผลของกรรมชั่วนั้นย่อมกระทบต่อบุตรของตนด้วย การที่บิดามารดาทำบาปย่อมเป็นปัจจัยให้วิบากกรรมของลูกที่มีอยู่แล้ว แสดงผลออกมาร้ายแรงเต็มที่ ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากบิดามารดาทำแต่กรรมดีอย่างเดียว
ถึงแม้ว่าลูกจะมีวิบากกรรมไม่ดีติดตัวมา
แต่เกิดความดีนั้นก็จะช่วยให้วิบากกรรมดังกล่าวลดความรุนแรงลงไปได้บ้าง เช่น
ถ้าหากบิดามารดาเลี้ยงดูลูกพิการด้วยความรักเอาใจใส่เป็นอย่างดีและในขณะเดียวกันก็ทำบุญทำกุศลอยู่เสมอ ลูกพิการก็จะมีความทุกข์จากความพิการลดน้อยลง และสามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพได้ตามอัตภาพ
ถาม: การปฏิบัติกรรมฐานสามารถใช้รักษาคนเป็นโรคจิตประเภทย้ำคิดย้ำทำ
และ ซึมเศร้าได้หรือไม่
การที่มีผู้พูดว่าการปฏิบัติกรรมฐานทำให้เป็นบ้านั้นเป็นความจริงหรือไม่
ตอบ: การปฏิบัติกรรมฐานสามารถช่วยให้ผู้ปฏิบัติมีสติมากขึ้น
ผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานได้สำเร็จจะเป็นผู้มีความสุขและสงบไม่มีอารมณ์ฟุ้งซ่านหรือผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคจิต
แต่คนที่เป็นโรคจิตอยู่แล้วยังไม่ควรมาปฏิบัติกรรมฐานเพราะจิตใจยังไม่เป็นปกติ
ถ้าหากมาปฏิบัติกรรมฐานก็อาจเป็นบ้าได้ โดยทั่วไปแล้ว
การปฏิบัติกรรมฐานในระยะแรกควรมีพระอาจารย์คอยช่วยเหลือ
พระอาจารย์ที่สอนกรรมฐานสามารถส่งกระแสจิตไปดูแลระมัดระวังและช่วยตักเตือนไม่ให้จิตหลงไปในทางที่เป็นอันตรายได้.
บันทึกการสนทนาธรรม
ของ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล
(จรัญ ฐิตธมฺโม)
กับ
ศาสตราจารย์ ดร.เจมส์ สจ๊วตท์
ผู้เชี่ยวชาญวิชาจิตวิทยา
เป็นครั้งที่
๓ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๑
(๑) ความเครียด
ปัญหาแรกที่ถามเป็นปัญหาเกี่ยวกับความเครียด
อาจารย์สจ๊วตท์สังเกตเห็นว่าในสังคมไทยในปัจจุบัน บุคคลต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจนักการเมืองและนักเรียนต่างก็มีความเครียดในการทำหน้าที่การงานในความรับผิดชอบของตนทั้งนั้น
ไม่ทราบว่าการปฏิบัติกรรมฐานสามารถแก้ความเครียดในการทำงานได้หรือไม่ ?
หลวงพ่อชี้ให้เห็นว่าผู้ที่มีความเครียดนั้นไม่สมควรมานั่งกรรมฐาน
เพราะการปฏิบัติกรรมฐานไม่อาจทำให้หายเครียดได้ สิ่งที่ควรจะทำในเมื่อมีความเครียดมากก็คือรักษาให้จิตใจอยู่ในสภาพปกติเสียก่อน ซึ่งอาจทำได้ด้วยการใช้ยาของการแพทย์ปัจจุบัน
(ในกรณีที่ต้องใช้ยาระงับประสาทช่วย)
หรือการผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีการต่างๆ (ในกรณีที่เป็นไม่มาก) เช่น
การเล่นกีฬา การฟังดนตรี การเดินเล่น และการพักผ่อนหย่อนใจทั่วไปที่ไม่ใช่อบายมุข การพยายามคลายเครียดโดยใช้อบายมุขต่างๆ
นั้นจะทำให้เกิดความเครียดมากขึ้นเพราะอบายมุขนำสิ่งที่เป็นอันตรายมาสู่ตัวเองแต่อย่างเดียว
การปฏิบัติกรรมฐานเป็นวิธีสำคัญที่จะให้จิตใจไม่เครียดอยู่ในสภาพเป็นปกติตลอดเวลามีสติสัมปชัญญะ
ดังนั้นจึงป้องกันไม่ให้เกิดความเครียดขึ้นมาได้ หลวงพ่อย้ำว่าคนที่มีความเครียดมากยังไม่สมควรมาปฏิบัติกรรมฐาน
ต้องทำให้จิตใจผ่อนคลายจากความเครียดก่อนจึงควรมาปฏิบัติกรรมฐาน
การเชื่อว่าการปฏิบัติกรรมฐานทำให้หายเครียดได้นั้นเป็นความเข้าใจผิดที่จะนำอันตรายมาสู่ผู้ปฏิบัติกรรมฐานได้
(๒) ชีวิตแต่งงานและครอบครัว
ปัญหาที่สองเป็นปัญหาเกี่ยวกับชีวิตแต่งงานและครอบครัว
อาจารย์สจวตท์อยากทราบว่าในความคิดเห็นของหลวงพ่อนั้นทำอย่างไรชีวิตแต่งงานและครอบครัวจึงจะมีความสุข
?
เกี่ยวกับเรื่องนี้หลวงพ่ออธิบายว่าการเลือกคู่ครองเป็นเรื่องสำคัญมากและเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ
ทั้งผู้ชายและผู้หญิงควรจะเลือกคู่ครองด้วยเหตุผล ไม่ใช่ด้วยอารมณ์ความรู้สึกและด้วยวิธีการดูดวง
การใช้เหตุผลจะช่วยให้เราสามารถรู้ว่าผู้ที่เราจะแต่งงานด้วยนั้นเป็นคนที่มีนิสัยใจคอรสนิยม
และฐานะความเป็นอยู่ที่จะเหมาะสมกับตัวเราได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนั้นเมื่อแต่งงานกันแล้วต่างฝ่ายก็ควรจะปรับตัวเองและมีความเอื้ออาทรต่ออีกฝ่ายหนึ่งอย่างสม่ำเสมอ
ความเอื้ออาทรนี้อาจจะเป็นไปในรูปของการเคารพซึ่งกันและกัน ความจริงใจและการไม่เห็นแก่ตัว จากประสบการณ์ของหลวงพ่อ ชีวิตแต่งงานที่ไม่มีความสุขนั้นเกิดจากการที่ทั้งสองฝ่ายไม่เหมาะสมกันในด้านต่างๆ
และไม่มีความเอื้ออาทรต่อกัน
สำหรับเรื่องชีวิตครอบครัวนั้น
หลวงพ่อให้ข้อสังเกตว่าการที่ครอบครัวแตกแยก พ่อ แม่ และลูกเข้ากันไม่ได้นั้นสาเหตุสำคัญ (ที่หลวงพ่อทราบ)
คือพ่อแม่ทำตัวเองเป็นแบบอย่างไม่ดีกล่าวคือ ทำตัวเองไม่สมกับที่เป็นพ่อแม่ เช่น เป็นคนเจ้าอารมณ์และทำตามใจตัวไม่มีเหตุผลที่ดี
ดังนั้นถ้าหากพ่อแม่ต้องการให้ตัวเองและลูกมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
พ่อแม่ก็ต้องทำตัวเองให้เหมาะสมในทุกเรื่องและสามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้ ลูกจึงจะรักและเคารพ สิ่งสำคัญก็คือพ่อแม่จะต้องรู้จักความต้องการของลูกไม่ใช้อำนาจบีบบังคับให้ลูกทำตามความต้องการของพ่อแม่เท่านั้น
หลวงพ่อเน้นว่าความต้องการที่สำคัญที่สุดของลูกคืออิสระเสรีภาพหรือการเป็นตัวของตัวเอง พ่อแม่จะต้องให้สิ่งนี้แก่ลูกแต่ไม่ใช่ด้วยการตามใจลูกไปทุกเรื่อง ในเรื่องที่ไม่สมควรพ่อแม่อาจจะให้คำแนะนำที่มีเหตุผลแก่ลูก
โดยชี้ให้เห็นว่าการกระทำที่ลูกต้องการจะทำนั้นมีผลไม่ดีอย่างไรบ้างแล้วให้ลูกเป็นคนตัดสินใจเอง ถ้าหากได้รับการส่งเสริมที่ดีแล้วความรัก
อิสระเสรีภาพนี้ก็จะทำให้ลูกเป็นคนรักแสวงหาความรู้ไม่ยึดติดกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว
การทำให้ชีวิตครอบครัวมีความสุขนี้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพ่อแม่เป็นสำคัญ
ดังนั้นพ่อแม่จึงไม่ควรจะมุ่งแต่การทำงานและสะสมทรัพย์สมบัติแต่อย่างเดียว แต่ควรจะเอาใจใส่และปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้ดีที่สุดด้วย
อาจารย์สจ๊วตท์เห็นด้วยกับหลวงพ่อในเรื่องวิธีการเลือกคู่ครองและการเลี้ยงดูลูก
แต่ก็สงสัยว่าการปฏิบัติกรรมฐานจะช่วยให้พ่อแม่และลูกดีได้อย่างไร ?
หลวงพ่ออธิบายว่า การปฏิบัติกรรมฐานจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติค้นพบตัวเองได้
กล่าวคือรู้จักส่วนดีและส่วนไม่ดีของตนเองตลอดจนมีสติและรู้สำนึกถึงสิ่งไม่ดีต่างๆ
ที่ตนได้ทำไว้แก่ผู้อื่นจากประสบการณ์แล้วการมีสติและการรู้สำนึกนี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติเป็นคนดีได้ เช่น
พ่อแม่และลูกต่างก็รู้หน้าที่ที่ตนจะต้องปฏิบัติต่อกัน เมื่อทุกคนทำตามหน้าที่ความรับผิดชอบของตนด้วยสติแล้ว ปัญหาต่างๆ
ที่ตนจะทำให้เกิดมีขึ้นก็จะมีน้อยลงหรือไม่มีเลย การปฏิบัติกรรมฐานนอกจากจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติเป็นคนรู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบแล้วยังช่วยให้ผู้นั้นมีความเมตตากรุณาด้วย
ความเมตตากรุณานี้เป็นพลังสำคัญที่จะนำความสุขมาสู่ผู้นั้นและผู้เกี่ยวข้องได้
ด้วยเหตุนี้พ่อแม่และลูกที่ปฏิบัติกรรมฐานจึงจะมีความรักความเมตตาต่อกัน สิ่งนี้จะนำไปสู่การรู้จักให้อภัยกันซึ่งเป็นคุณธรรมสำคัญในคำสอนของพุทธศาสนา
(๓)
มิตรภาพ
สำหรับคำถามต่อไปที่ว่า
ทำอย่างไรในการมีชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันเราจึงจะมีเพื่อนที่ดีได้
?
หลวงพ่อตอบว่า
ปัญหาเรื่องการมีเพื่อนที่ดีนี้เป็นปัญหาสำคัญของสังคมปัจจุบันที่คนทุกอาชีพต้องแข่งขันกันแม้แต่ในการศึกษาเล่าเรียน นักเรียนก็ต้องแข่งขันกัน เช่น
เพื่อจะได้ทุนการศึกษาและรางวัลต่างๆ ในเรื่องของการมีมิตรที่ดีนั้นถึงแม้ว่าเราจะต้องอยู่ในสังคมที่มีการแข่งขันกัน แต่เราก็อาจจะมีมิตรแท้ได้ ในทัศนะของหลวงพ่อมิตรแท้เป็นเพื่อนที่รู้จิตใจกันราวกับว่าเป็นคนคนเดียวกันและมีความเอื้ออาทรต่อกัน
ส่วนมิตรเทียมเป็นคนที่มุ่งยึดถือประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่นแต่อย่างเดียว การที่เราจะมีมิตรแท้ได้นั้น
เราจำเป็นจะต้องเป็นคนดีมีคุณธรรมศาสนาพุทธเองมีคำสอนเรื่องคุณธรรมที่จะทำให้เราสามารถผูกมิตรกับผู้อื่นได้อยู่หลายเรื่องด้วยกัน
การเป็นคนดีมีคุณธรรมนี้จะเป็นเสมือนเสน่ห์ที่ดึงดูดคนอื่นให้สนใจและเอาใจใส่ตัวเรา
นอกจากจะเป็นคนมีคุณธรรมแล้วเรายังควรสร้างบุญกุศลอีกด้วย เพราะบุญกุศลจะช่วยให้เราพบกับคนดีและคุ้มครองป้องกันเราไม่ให้ได้รับอันตรายจากความชั่ว
ศาสตราจารย์สจ๊วตท์เห็นด้วยว่าการเป็นคนดีมีคุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้พบมิตรแท้ได้อย่างไร
?
หลวงพ่ออธิบายเพิ่มเติมว่า
สำหรับชาวพุทธบุญกุศลเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก บุญกุศลที่ทำไว้แต่ก่อนจะเป็นพื้นฐานให้เราพบมิตรแท้และคุณธรรมที่มีอยู่ในตัวเราจะทำให้เรารักษามิตรภาพให้ยั่งยืนต่อไปได้
ดังนั้นผู้ที่ยังไม่มีมิตรแท้จึงควรสร้างบุญกุศลให้มาก
ส่วนผู้ที่มีมิตรแท้อยู่แล้วก็ควรจะสร้างคุณธรรมให้มีอยู่ในตัวเช่นเดียวกันจะได้มีมิตรแท้ตลอดไป
คนเราถ้าหากไม่มีบุญกุศลหนุนแล้วจะทำอย่างไรก็จะประสบปัญหาอยู่เสมอ
บุญกุศลนี้ไม่ใช่สิ่งอื่นนอกจากผลการกระทำของคนแต่ละคนเอง
ดังนั้นก่อนจะทำอะไรเราจึงควรคิดให้รอบคอบ ทำแต่สิ่งที่ดีงามเพื่อจะได้มีบุญกุศลติดตัวตลอดไป หลวงพ่อเองได้ประสบพบเห็นอำนาจของบุญกุศลด้วยตัวเองทั้งจากประสบการณ์ส่วนตัวและประสบการณ์ของผู้อื่นที่หลวงพ่อรับทราบ
ดังนั้นหลวงพ่อจึงสอนเน้นเรื่องความสำคัญของการทำความดีอยู่เสมอ
(๔) การแข่งขันและความสันโดษ
ศาสตราจารย์สจวตท์สงสัยว่า
พุทธศาสนาสอนให้คนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และช่วยเหลือกัน
แต่ในชีวิตจริงแล้วนักเรียนและนักกีฬาจะต้องแข่งขันเอาชนะกัน
ไม่ทราบว่าศาสนาพุทธมองเห็นความสำคัญของการแข่งขันหรือไม่ ?
คนตะวันตกเชื่อว่าการแข่งขันกันทำให้สังคมและชีวิตของคนแต่ละคนเจริญก้าวหน้า
ดังนั้นจึงเน้นให้มีการแข่งขันกันในทุกวงการไม่ว่าจะเป็นการศึกษาหรือธุรกิจการค้า
แต่ดูเหมือนว่าศาสนาพุทธสอนให้ทุกคนมีความสันโดษ
การสอนเช่นนี้ทำให้สงสัยว่าสันโดษจะช่วยให้คนและสังคมเจริญก้าวหน้าได้อย่างไร
?
ในเรื่องนี้หลวงพ่อชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสนาไม่ได้ต่อต้านการแข่งขันกัน โดยเฉพาะในกรณีที่การแข่งขันนั้นไม่ได้เกิดจากโลภ
โกรธ และหลง
การแข่งขันในเรื่องการศึกษาและการกีฬาเป็นเรื่องปกติของชีวิตที่ยังอยู่ในโลก
ที่สำคัญก็คือในการแข่งขันเราต้องไม่โกรธและมีใจเป็นนักกีฬา
การแพ้ชนะเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้แก่คนทุกคน
การปฏิบัติกรรมฐานจะฝึกจิตใจเราให้สงบและมีปัญญามากเพียงพอที่จะแข่งขันกับผู้อื่นได้
มีนักเรียนจำนวนมากที่หลังจากมาปฏิบัติกรรมฐานที่วัดอัมพวันในระยะเวลานานพอสมควรแล้วสามารถสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาต่างๆ
ได้ตามความต้องการ
บางคนสอบชิงทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศและบางคนสามารถชนะการประกวดประเภทต่างๆ
ได้เช่นกัน
หลวงพ่อเองมีความเห็นว่าการแข่งขันกันในกรณีที่กล่าวมาเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบอย่างหนึ่งที่แต่ละคนมีต่อชีวิตของตน แต่ในขณะเดียวกันเราก็ควรจะระวังให้การแข่งขันเป็นไปในครรลองครองธรรมและไม่ให้ความต้องการจะเป็นผู้ชนะมีความรุนแรงมากจนกลายเป็นความโลภ ความโกรธ และความหลง(ผิด)ไป
ผู้ชนะที่แท้จริงคือผู้ชนะกิเลสตัณหาต่างๆ
ในตัวเองเช่นที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง
สำหรับเรื่องสันโดษนั้น
คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่าคำสอนเรื่องสันโดษในพุทธศาสนาขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของบุคคลและสังคม
ตามความเป็นจริงแล้วพุทธศาสนาสอนให้คนเราขยันและปรับปรุงตัวเองให้เจริญก้าวหน้า
สันโดษหมายถึงการยอมรับขอบเขตจำกัดของตนและการไม่มีความโลภ
พุทธศาสนาสอนเน้นเสมอว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ไม่อยู่กับที่
ดังนั้นจึงสามารถพัฒนาตัวเองได้อยู่ตลอดเวลา
ส่วนจะพัฒนาได้มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความอุตสาหะและความตั้งใจจริง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายอย่างด้วย
ที่สำคัญคือเราต้องศึกษาเรียนรู้จากความสำเร็จของผู้อื่นแล้วนำความรู้นั้นมาใช้ปรับปรุงตัวเองให้เจริญก้าวหน้าเท่าหรือเหนือกว่าผู้นั้น พุทธศาสนามองดูสังคมมนุษย์ว่าเป็นสังคมไม่อยู่กับที่ตลอดเวลาแต่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
สิ่งที่ทำให้สังคมมีสภาพเช่นนี้ก็คือมนุษย์ที่ไม่อยู่เฉย การปฏิบัติกรรมฐานทำให้จิตนิ่งและเกิดปีติ
แต่พุทธศาสนาต้องการให้เราใช้จิตนิ่งและใช้ความสุขนั้นในการทำงานเพื่อให้ตัวเองและสังคมที่อยู่เจริญก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ
หลวงพ่อไม่ส่งเสริมให้คนมาปฏิบัติกรรมฐานเพื่อจะได้อยู่เฉยๆ
ไม่ทำการงานแต่ต้องการให้ผู้ปฏิบัติใช้ผลที่ได้รับจากกรรมฐานให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตนและผู้อื่น
(๕)
ความเสื่อมของสังขาร
ศาสตราจารย์สจ๊วตท์ถามต่อไปเรื่องความเสื่อมของสังขาร
ต้องการทราบว่าศาสนาพุทธสอนให้ทำอย่างไรคนเราจึงจะไม่มีความทุกข์เพราะความเสื่อมของสังขารและใช้ความเสื่อมนี้ให้เป็นประโยชน์ในวัยชรา
?
หลวงพ่อชี้ให้เห็นว่าพุทธศาสนาสอนให้เรายอมรับความเป็นจริงของชีวิตทุกด้าน ในเรื่องของความเสื่อมของสังขารก็เช่นเดียวกัน เมื่อสังขารต้องเสื่อมลงตามธรรมชาติ (ทั้งๆ ที่พยายามทำนุบำรุง) เราจำเป็นต้องยอมรับสังขารที่เสื่อมลงนี้
เตือนเราไม่ให้ประมาทในการมีชีวิตอยู่และให้เร่งรัดทำบุญกุศล
วัยชราเป็นวัยของการเตรียมตัวตายให้มากขึ้น เพราะมีเวลาเหลือน้อยลงไปทุกวัน การเตรียมตัวตายที่เหมาะสมคือการฝึกจิตให้มีสติทุกวินาที
เช่นที่พุทธศาสนาสอนไว้ในมหาสติปัฏฐาน ที่จิตมีสติตามคำสอนนี้เป็นจิตที่มีอิสระไม่อยู่ใต้อำนาจของสิ่งหนึ่งสิ่งใดและเมื่อดับไปก็จะหลุดพ้นไปโดยสิ้นเชิง
หลวงพ่อสรุปว่าการมีสังขารอยู่เป็นภาระอย่างหนึ่งของมนุษย์
เราต้องทำนุบำรุงดูแลสังขารให้ดีที่สุด
แต่เมื่อสังขารต้องเสื่อมลงโดยธรรมชาติเราก็ไม่ควรเศร้าโศกเสียใจหรือพยายามดิ้นรนด้วยวิธีการต่างๆ
หยุดยั้งความเสื่อมนั้น
การออกกำลังกาย
อาหารและการมีชีวิตที่ดีงามอาจช่วยให้การเสื่อมของสังขารช้าลง แต่สังขารก็ต้องเสื่อมและดับไปในที่สุดอยู่นั่นเอง
ดังนั้นแทนที่จะพยายามต่อสู้กับความเสื่อมของสังขารเช่นที่บางคนทำอยู่
เราควรให้ความเสื่อมของสังขารเตือนเราให้เร่งทำความดีก่อนที่จะสายเกินไป
ศาสตราจารย์สจ๊วตท์กล่าวชมหลวงพ่อว่า อธิบายคำตอบต่างๆ ได้สมเหตุสมผลดีมากจนเขาไม่สามารถโต้แย้งได้
อย่างไรก็ตามเขามีปัญหาจะขอความเมตตาจากหลวงพ่อให้ตอบอีกหลายเรื่อง
เพราะการค้นคว้าหาหนังสืออ่านเองแล้วยังไม่เข้าใจ
หลวงพ่ออนุญาตให้ศาสตราจารย์สจ๊วตท์ถามต่อไปได้และกล่าวว่า
ความจริงแล้วที่หลวงพ่ออธิบายมาทั้งหมดนั้น หลวงพ่อไม่ได้อธิบายตามหลักของเหตุผล แต่อธิบายจากประสบการณ์
การที่คำอธิบายเหล่านั้นมีเหตุมีผลดีคงจะเป็นเพราะว่าประสบการณ์ของมนุษย์มีเหตุมีผลอยู่ในตัวเองอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องไปหาเหตุผลจากที่อื่นมาอธิบาย
แต่เราจะมองเห็นเหตุผลในประสบการณ์ที่เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อจิตเราเปิดกว้างปราศจากทฤษฎีใดๆ ความรู้ต่างๆ
เกี่ยวกับพุทธศาสนาและชีวิต
หลวงพ่อได้มาจากการปฏิบัติธรรมและการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางคนหลายประเภท
(๖)
พุทธานุภาพ
คำถามต่อมาของศาสตราจารย์สจ๊วตท์เน้นเรื่องเกี่ยวกับพุทธานุภาพ
เขาสงสัยว่าพระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานไปนานหลายพันปีแล้ว จะมีพุทธานุภาพคงอยู่ในโลกได้อย่างไร ?
เกี่ยวกับเรื่องนี้หลวงพ่อตอบด้วยการยกตัวอย่างว่า
ถึงแม้ดวงอาทิตย์จะลับฟ้าไปแล้วแต่ไออุ่นก็ยังค้างในโลกเป็นเวลานานแสนนาน พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่ประเสริฐสุด
มีพุทธานุภาพมากกว่าอำนาจของดวงอาทิตย์มากมายจนเทียบไม่ได้ ทำไมกระแสพุทธานุภาพจะไม่คงอยู่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดวงใจของผู้ที่เปิดรับพุทธานุภาพนั้น ถึงแม้ว่าคนที่คิดค้นเรื่องไฟฟ้าสิ้นชีวิตไปนานแล้วแต่ไฟฟ้าก็ยังคงมีอยู่ให้เราได้ใช้ประโยชน์ทุกวันนี้
ในความหมายหนึ่งแล้วพุทธานุภาพที่แสดงให้เห็นและที่พิสูจน์ได้คือพระธรรมและผลที่ได้จากการปฏิบัติตามพระธรรม
ข้อพิสูจน์อีกอย่างหนึ่งก็คือผลที่เกิดขึ้นแก่ตัวเราจากการมีพุทธานุสติอยู่ตลอดเวลา หลวงพ่อเองมีประสบการณ์เกี่ยวกับพุทธานุภาพอยู่หลายกรณีแต่เกรงว่าศาสตราจารย์สจวตท์จะไม่เข้าใจเพราะเพิ่งเริ่มสนใจศาสนาพุทธ ดังนั้นหลวงพ่อจึงไม่ได้เล่าให้ฟัง
ศาสตราจารย์สจ๊วตท์ยอมรับว่าพุทธานุภาพเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ
โดยเฉพาะสำหรับคนต่างศาสนาเพราะพุทธานุภาพในศาสนาอื่นที่หลวงพ่ออธิบายนั้นไม่มีลักษณะเป็นเช่นการแสดงอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า
แต่แสดงออกมาในรูปของการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ยึดถือในทางที่ดีขึ้น
(๗)
การช่วยเหลือคนจน
คำถามสุดท้ายที่ศาสตราจารย์สจวตท์สงสัยก็คือ
คำถามเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนจนและคนที่อดอยากหิวโหยที่มีอยู่ทั้งในประเทศไทยและส่วนต่างๆ
ของโลก เขาไม่แน่ใจว่าคนไทยที่เป็นชาวพุทธสนใจที่จะช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้บ้างหรือไม่
เพราะเขามองเห็นชาวพุทธไปทำบุญแต่ที่วัดไม่ชอบทำบุญทางด้านสาธารณประโยชน์
ส่วนการช่วยเหลือคนยากจนที่หิวโหยในประเทศต่างๆ
นั้นเขาไม่ทราบว่ามีอยู่หรือไม่ ?
หลวงพ่อตอบว่า คำสอนของพุทธศาสนาเน้นให้ชาวพุทธช่วยเหลือผู้ที่มีความทุกข์โดยไม่คำนึงว่าเป็นคนชาติใดหรือนับถือศาสนาใด
ตามความเป็นจริงแล้วคนไทยชาวพุทธที่ทำสาธารณประโยชน์และช่วยเหลือคนยากจนมีจำนวนมากพอสมควร แต่คนประเภทนี้ไม่ชอบเอาหน้า
ดังนั้นจึงไม่เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ หลวงพ่อยอมรับว่าชาวพุทธชอบทำบุญกับพระสงฆ์มากกว่าที่จะช่วยเหลือคนยากจน
สิ่งนี้เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากเพราะเป็นความเชื่อที่ฝังจิตใจมานาน ในการแก้ไขปัญหานี้พระสงฆ์เช่นหลวงพ่อได้นำวัตถุสิ่งของต่างๆ
ตลอดจนเงินทองที่ได้รับจากพุทธศาสนิกชนไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมและคนยากจนทั่วไป
เมื่อคนมองเห็นว่าเงินที่บริจาคให้แก่หลวงพ่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมเป็นอย่างมาก คนก็ยิ่งบริจาคเงินให้หลวงพ่อมากขึ้น หลวงพ่อจึงชอบพูดเสมอว่า ยิ่งให้
ยิ่งได้ สำหรับการช่วยเหลือคนยากจนที่หิวโหยในประเทศต่างๆ
นั้นคนไทยที่เป็นชาวพุทธก็มีส่วนช่วยเหลือบ้างตามความจำกัดของทรัพยากรที่มีอยู่
แต่การช่วยเหลือนี้ก็ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ ดังนั้นจึงแทบจะไม่มีคนทราบเลย
หลวงพ่อยอมรับจากการช่วยเหลือของคนไทยชาวพุทธส่วนมากแล้วเป็นการช่วยเหลือที่เกิดจากการริเริ่มของคนบางคนที่ไม่หวังผลตอบแทนอะไร
นอกจากช่วยบรรเทาความทุกข์ยากลำบากของคนยากจนเป็นครั้งคราว
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการช่วยเหลือในรูปแบบนี้ก็คือการขาดแผนงานช่วยเหลือ ซึ่งทำให้การช่วยเหลือดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดประโยชน์มากเท่าที่ควร
การช่วยเหลือคนยากจนควรจะมีวัตถุประสงค์มากกว่าการช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของคนเหล่านี้เป็นครั้งคราว
แต่ควรเป็นการช่วยเหลือให้ช่วยตัวเองได้ด้วย
อย่างไรก็ตามหลวงพ่อก็เน้นว่าในขณะที่องค์กรพุทธศาสนายังไม่มีแผนงานที่แน่นอนในเรื่องการทำงานเพื่อสังคม
พุทธศาสนิกชนก็ควรจะช่วยเหลือบรรเทาทุกข์คนที่มีความทุกข์ไม่ว่าจะเกิดจากความยากจนหรือจากปัจจัยอื่น
การมีความเมตตากรุณาต่อกันและการช่วยเหลือจุนเจือกันจะทำให้สังคมอยู่ต่อไปได้ด้วยความสงบ.
ศาสตราจารย์สจ๊วตท์ยังมีปัญหาอื่นๆ
อีก
แต่เพื่อให้ศาสนิกชนคนอื่นได้มีโอกาสกราบและนมัสการกับหลวงพ่อบ้าง
ศาสตราจารย์ผู้นี้จึงกราบนมัสการลาหลวงพ่อและสัญญาว่าจะนำคำอธิบายต่างๆ
ของหลวงพ่อไปเผยแพร่ให้แก่นักศึกษาและชาวอเมริกันทั่วไป
หลวงพ่อตอบปัญหาปัญญาชนตะวันตก
ครั้งที่ ๔
(จรัญ ฐิตธมฺโม)
รองศาสตราจารย์ ดร.พินิจ
รัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลพาศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ลินเบค
ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญและศาสนา มาพบพระราชสุทธิญาณมงคล ที่วัดอัมพวันในวันที่ ๓
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ศาสตราจารย์ผู้นี้จบการศึกษาสขาศาสนจากมหาวิทยาลัยเยล
ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์การสอนวิชาศาสนาที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ
ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา ๔๐ ปี
ได้ศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจากหนังสือและตำราภาษาอังกฤษที่นักวิชาการชาวตะวันตกเป็นผู้เขียน
และ มีข้อสงสัยหลายประการเกี่ยวกับคำสอนและการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
เมื่อมีโอกาสได้มาคารวะพระราชสุทธิญาณมงคล ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกตามบุคคลทั่วไปว่า หลวงพ่อ หรือ หลวงพ่อจรัญ
จึงขอความเมตตาให้หลวงพ่ออธิบายข้อสงสัยต่าง ๆ ให้ โดย ดร.พินิจ รัตนกุล
เป็นผู้แปลและบันทึกการสนทนา
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า ในปัจจุบันชาวอเมริกันที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธสนใจการปฏิบัติสมาธิกันมาก
แต่โดยเหตุที่บุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับการสอนในเรื่องการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนาเลย
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต จึงสงสัยว่าการปฏิบัติสมาธิดังกล่าวจะให้ประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติหรือไม่
เพราะได้อ่านหนังสือวิสุทธิมรรคแล้วเข้าใจว่า
การปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนามีขั้นตอนต่าง ๆ
ที่จะต้องเรียนรู้และฝึกฝนภายใต้การแนะนำของอาจารย์
หลวงพ่ออธิบายว่า
ที่จริงแล้วการปฏิบัติสมาธิมีอยู่ในคำสอนของทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาคริสต์
ศาสนาอิสลาม หรือศาสนาฮินดู ในสมัยพุทธกาล พวกฤาษีโยคีต่าง ๆ
ปฏิบัติสมาธิตามความเชื่อในลัทธิของตนจนมีฤทธิ์เดชต่าง ๆ
การปฏิบัติสมาธิจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในคำสอนของพระพุทธศาสนาแต่อย่างเดียว
ส่วนการปฏิบัติสมาธิจะมีผลอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับระดับของสมาธิที่ผู้ปฏิบัติทำได้
โดยทั่วไปแล้วการปฏิบัติสมาธิ
สามารถทำให้จิตใจของผู้ปฏิบัติสงบสว่างและมีปัญญาเกิดขึ้น
และส่งผลให้ผู้นั้นสามารถทำกิจการต่าง ๆ สำเร็จตามความต้องการได้
การปฏิบัติสมาธิระดับสูง
เช่นที่ฤาษีโยคีต่าง ๆ ปฏิบัติอยู่ในสมัยพุทธกาล
สามารถทำให้เกิดจิตตานุภาพที่มีพลังแข็งแกร่งจนมีฤทธิ์เดช ผลของสมาธิตั้งแต่การมีจิตใจสงบไปจนถึงการมีจิตตานุภาพที่กล่าวมาเป็นผลทางโลกียะเท่านั้น
เพราะเป็นประโยชน์ที่เสริมสร้างอำนาจให้แก่ตัวเอง แต่ในพระพุทธศาสนา
การปฏิบัติสมาธิมีเป้าหมายสูงกว่าประโยชน์ทางโลกียะ คือ
มีเป้าหมายให้จิตของผู้ปฏิบัติหลุดพ้นจากอำนาจกิเลสตัณหาต่าง ๆ มีโลภ โกรธ หลง
เป็นสำคัญ อันจะทำให้ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีกต่อไป
ประโยชน์ประเภทนี้เรียกว่า ประโยชน์ทางโลกุตระ
โดยเหตุที่เป้าหมายการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนาแตกต่างจากเป้าหมายที่มีอยู่ในศาสนาอื่น
ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงเรียกสมาธิที่อยู่เหนือระดับความสงบ หรือ อิทธิฤทธิ์
และที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นว่า วิปัสสนากรรมฐาน เพราะเป็นการทำให้จิตใจสว่างด้วยแสงของปัญญา
ที่เป็นผลจากการวิเคราะห์รูปและนามในลักษณะต่าง ๆ
อย่างละเอียดถี่ถ้วนจนมองเห็นไตรลักษณ์ของสรรพสิ่งทั้งหลาย และ ดับ อัตตา ได้ในที่สุด
พระพุทธศาสนาไม่มีความประสงค์ให้เราพอใจแต่ประโยชน์ทางโลกียะที่ได้จากการปฏิบัติสมาธิ
ไม่ว่าจะเป็นความสงบนิ่งของดวงจิต หรือ การมีจิตตานุภาพประเภทต่าง ๆ
แต่ต้องการให้เราใช้ปัญญาที่เกิดจากสมาธิตัดตัวเราให้หลุดพันจากวัฏสงสาร
ด้วยเหตุนี้ การปฏิบัติสมาธิ หรือ วิปัสสนากรรมฐาน จึงมีขั้นตอนต่าง ๆ
ถ้าหากผู้ปฏิบัติไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ และไม่มีครูอาจารย์คอยแนะนำแล้ว
ผู้ปฏิบัติก็อาจจะไปสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ดังที่อธิบายในหนังสือ วิสุทธิมรรค
นอกจากนั้น การเป็นคนที่พากเพียรพยายามอย่างต่อเนื่อง มีคุณธรรมและรักษาศีลอย่างเคร่งครัดก็มีความสำคัญมาก เมื่อสมาธิมีคุณธรรมและศีลเป็นฐานแล้ว ปัญญาที่เกิดจากสมาธิก็จะมีทั้งพลังและทิศทางที่ถูกต้อง
ความสุข
คนรวย คนจน
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กราบเรียนหลวงพ่อว่า
ในสังคมอเมริกันปัจจุบัน คนอเมริกันเชื่อกันว่า ความสุข คือ การมีชีวิตที่สะดวกสบาย
มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ครบถ้วน พร้อมทั้งมีทรัพย์สมบัติเป็นหลักฐานมั่นคง
ไม่ทราบว่าพระพุทธศาสนาสอนเกี่ยวกับความสุขว่าอย่างไร
ทรัพย์สมบัติเป็นที่มาของความสุขใช่หรือไม่ และคนจนสามารถมีความสุขได้ไหม
หลวงพ่ออธิบายว่า พระพุทธศาสนาก็มองเห็นความสำคัญของวัตถุ และ เชื่อว่าชีวิตต้องอาศัยปัจจัย ๔ จึงจะดำรงอยู่ได้ ผู้ที่ไม่มีปัจจัย ๔ อยู่เลยแม้แต่อย่างเดียว ไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่หรือปฏิบัติธรรมให้ประสบความสำเร็จได้ ในสมัยพุทธกาลพระองค์ทรงสอนสาวกทั้งหลายให้ช่วยเหลือฆราวาสให้มีชีวิตสบายพอสมควร (เช่น มีเสื้อผ้าใส่ และมีอาหารกิน) ก่อนที่จะสอนธรรม
พระพุทธศาสนาถือว่าทรัพย์สมบัติต่าง ๆ นั้นเป็นผลของบุญกุศลที่คนแต่ละคนทำไว้ในอดีต คนที่มีทรัพย์สมบัติมากมาย เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาในสมัยพุทธกาลเป็นผู้ที่ทำบุญกุศลมามาก พระพุทธศาสนาไม่สนใจเรื่องปริมาณหรือจำนวนของทรัพย์สมบัติที่เรามีอยู่มากเท่ากับวิธีที่เราได้ครอบครองเป็นเจ้าของ และวิธีที่ใช้ทรัพย์สมบัติเหล่านั้น การมีทรัพย์สมบัติมากทำให้นางวิสาขามีวัตถุสิ่งของสำหรับทำบุญได้มากกว่าคนทั่วไป เพราะถือว่าทรัพย์สินต่าง ๆ นั้นมีลักษณะเป็นกลาง คือ ไม่ดีไม่เลว แต่จะดีหรือเลวขึ้นอยู่กับวิธีได้มา และวิธีใช้ ถ้าหากเราได้ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ มาด้วยวิธีสุจริตและใช้อย่างฉลาด เช่น ให้ตนเองมีความสุขด้วยการทำบุญและช่วยทำประโยชน์แก่สังคม ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นก็เป็นสิ่งมีคุณค่า แต่ในทางตรงข้าม ถ้าหากเราเป็นคนตระหนี่เห็นแก่ตัว ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ เหล่านั้นก็ไม่อาจนำความสุขมาให้ได้
พระพุทธศาสนาเน้นความสำคัญของการทำบุญ เพราะบุญกุศลที่เกิดจากการทำทานเป็นที่มาของความสุขและเป็นประโยชน์ทั้งแก่ผู้ให้และผู้รับ ความสุขที่เกิดจากการให้ (ซึ่งเป็นผลมาจากการลดความเห็นแก่ตัวลงบ้าง) เป็นความสุขที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญมาก และโดยเหตุที่ความสุขไม่ได้อยู่ที่ปริมาณหรือจำนวนทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ที่เรามีอยู่ แต่เป็นสภาวะจิตใจ พระพุทธศาสนาจึงสอนให้เราขัดเกลาจิตใจให้หลุดพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งหลายที่หุ้มอยู่ เพื่อจิตใจจะได้สงบและสว่างด้วยแสงของปัญญา ด้วยเหตุนี้เวลาพูดถึงความสุขจึงใช้คำว่า สันติสุข หรือ วิมุติสุข เพื่อให้แตกต่างจากความสุขที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเกิดจากการตอบสนองความต้องการต่าง ๆ โดยเหตุที่ความสุขเป็นเรื่องจิตใจไม่มีตัวตน ดังนั้นคนรวยจึงไม่จำเป็นต้องมีความสุขเสมอไป ในทำนองเดียวกัน คนจน ที่มีชีวิตไม่สะดวกสบาย เพราะขาดสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ไม่มีพัดลม ตู้เย็นไฟฟ้า ก็สามารถมีความสุขได้ ถ้าหากรู้จักสันโดษซึ่งทำให้จิตใจสงบ
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
เห็นด้วยกับคำอธิบายเรื่องธรรมชาติของความสุข โดยเฉพาะเมื่อหลวงพ่อเชื่อมโยงความสงบและสันโดษเข้ากับความสุข
ในความคิดเห็นของศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
คนอเมริกันจะมีชีวิตที่สงบสุขได้ถ้าหากมีสันโดษ คือ
รู้จักจำกัดความต้องการและไม่ดิ้นรนไขว่คว้าสิ่งต่าง ๆ มาเป็นของตนโดยไม่หยุดยั้ง
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตเองได้พยายามสอนนักศึกษาที่อเมริกาให้เลิกผูกความสุขเข้ากับปริมาณ
หรือ จำนวนของวัตถุสิ่งของต่าง ๆ และให้หันมาสนใจเรื่องจิตใจให้มากขึ้น
แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการสอนดังกล่าวสวนทางกับกระแสสังคมอเมริกัน
ที่เน้นวัตถุนิยม และต้องการให้คนไขว่คว้าหาสิ่งของต่าง ๆ
มาครอบครองไว้ให้มีจำนวนมากที่สุด สื่อมวลชนต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ
และทีวี มีส่วนสำคัญที่ทำให้กระแสสังคมนี้ไหลเชี่ยวจนต้านทานได้ยากหรือไม่ได้เลย
หลวงพ่ออธิบายเพิ่มเติมว่า หลวงพ่อเองได้พยายามปลุกคนให้ตื่นจากความหลงผิด ให้รู้จักพัฒนาและใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิตประจำวันให้มาก แต่เนื่องด้วยธรรมเป็นสิ่งทวนกระแสโลกที่อยู่ในวงเวียนของวัตถุนิยม ดังนั้นการปฏิบัติธรรมจึงเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับคนทั่วไป หลวงพ่อพยายามสอนกรรมฐาน เพราะเชื่อ และมีประสบการณ์ว่าการปฏิบัติดังกล่าว สามารถช่วยให้ผู้ปฏิบัติได้สัมผัสความสุขที่เกิดจากความสงบ และ การควบคุมตนเองได้ อันจะทำให้ผู้นั้นไม่หลงใหลในวัตถุสิ่งของต่าง ๆ รวมทั้งยศฐาบรรดาศักดิ์ทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติกรรมฐานที่วัดอัมพวันจำนวนไม่น้อย สามารถสัมผัสความสุขประเภทนี้ได้ จึงได้ชักชวนผู้ที่รู้จักมาปฏิบัติกรรมฐานที่วัดอยู่เรื่อย ๆ จนจำนวนผู้ปฏิบัติเพิ่มมากขึ้นทุกที มีคนทุกอาชีพทั้งผู้ที่เคยปฏิบัติมาแล้ว และผู้มาใหม่ การที่เป็นเช่นนี้เพราะบุคคลเหล่านี้ ได้พบเห็นด้วยตนเองว่าการปฏิบัติกรรมฐาน เป็นวิธีการที่นำไปสู่ความสุขที่ประณีตกว่า การทำตามกระแสโลกที่กล่าวมาแล้ว และถึงแม้ว่าผู้ปฏิบัติจะยังไม่สามารถทวนกระแสโลกได้โดยตลอด แต่การมาอยู่ที่วัดระยะเวลาหนึ่ง ก็เป็นการสร้างความสงบสุขให้แก่ดวงจิตชั่วคราว และทำให้จิตของตนมีพลังมากขึ้น การปฏิบัติกรรมฐาน จึงเป็นเสมือนการชาร์จแบตเตอรี่ให้มีไฟพอเพียงแก่การใช้งาน
นอกจากนั้นหลวงพ่อยังได้อธิบายขยายความเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างสันโดษและความสุข เพื่อแก้ความเข้าใจผิดของศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ที่เข้าใจว่าสันโดษ และความสุขเป็นสิ่งเดียวกัน หลวงพ่อชี้ให้เห็นว่าในพระพุทธศาสนา ความสุขมีอยู่หลายระดับและสันโดษเป็นความสุขระดับหนึ่งที่คนทั่วไปสามารถมีได้ ความสุขที่พระพุทธศาสนาเน้นเป็นพิเศษ คือ วิมุติสุข หรือ ความสุขที่เป็นผลจากการที่ดวงจิตมีสภาวะเป็นพุทธะ หรือ ใสสว่างปราศจากความหนาทึบของ อัตตา และความมัวหมองจากกิเลสตัณหาต่าง ๆ ที่ห่อหุ้ม สภาวะเช่นนี้เกิดจากการมีปัญญารู้แจ้ง (หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Enlightenment) ดังเห็นเป็นตัวอย่างจากพุทธประวัติตอนตรัสรู้
เสรีภาพ
ความรับผิดชอบ การควบคุมตนเอง
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
กราบเรียนให้หลวงพ่อทราบว่า เด็กอเมริกันที่ตนเคยสอนมักเข้าใจกันว่า เสรีภาพ
หมายถึง การทำอะไรตามใจชอบ หรือ โดยไม่มีอะไรมาขัดขวาง ความเข้าใจนี้
ทำให้เด็กวัยรุ่นในอเมริกา ไม่มีระเบียบวินัยและไม่มีเป้าหมาย กล่าวคือ
มีชีวิตเปะปะไปตามอารมณ์ความรู้สึก อยากทราบว่าพระพุทธศาสนาสอนเกี่ยวกับเสรีภาพว่าอย่างไร
หลวงพ่ออธิบายว่า
สังคมไทยเวลานี้ก็ดูเหมือนจะมีปัญหาเช่นเดียวกัน ในปัจจุบัน เสรีภาพ เป็นคำที่ใช้กันมาก เพราะเชื่อกันว่า
เป็นลักษณะสำคัญของสังคมประชาธิปไตย คนไทยทั่วไปเข้าใจว่าเสรีภาพ คือ
การมีชีวิตอิสระ ซึ่งได้แก่การทำอะไรตามใจชอบดังที่ชอบพูดกันว่า ทำอะไรตามใจเป็นไทยแท้ (เพราะเข้าใจผิดว่า ไทย หมายถึง อิสรเสรี)
คำสอนของพระพุทธศาสนาก็เน้นความสำคัญของการมีชีวิตอิสระเสรีมากเป็นพิเศษ แต่อธิบายความเป็นอิสระเสรีในความหมายที่ลึกซึ้งกว่าที่เข้าใจกัน
กล่าวคือ อธิบายว่า
ชีวิตอิสระเสรีเป็นชีวิตที่มีการควบคุมตัวเองไม่ให้เป็นไปตามอำนาจของสัญชาตญาณ และ
กิเลสตัณหาต่าง ๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่ชีวิตของการทำอะไรตามใจชอบ การควบคุมตัวเอง
หมายถึง การใช้ปัญญากำหนดทิศทาง และแนวทางของการดำเนินชีวิต
อันมีผลให้ชีวิตไม่เปะปะไปมา เช่นสวะที่ล่อยลอยไปตามกระแสน้ำและแรงลม
ชีวิตที่มีทิศทางมีพลังในตัวเหมือนกับน้ำที่มีขอบเขตกั้นให้ไหลไปในทิศทางเดียว
การที่พระพุทธศาสนาอธิบายชีวิตอิสระเสรีในความหมายนี้ เพราะถือว่าปัญญาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์
ดังนั้นจึงควรนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความเชื่อว่า
ชีวิตอิสระเสรีเป็นชีวิตที่คนแต่ละคนเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตนด้วยต้นเอง
ดังเห็นได้จากคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรม แต่พระพุทธศาสนาเน้นว่า
ในการกำหนดชะตากรรมให้แก่ชีวิตเราแต่ละคนนั้น เราจะต้องใช้ปัญญาของตนเป็นสำคัญ
ไม่ใช่ยอมทำตามสัญชาตญาณ หรือ อารมณ์ความรู้สึกแต่ละครั้ง
ดังนั้นในทัศนะของพระพุทธศาสนา ชีวิตที่มีเสรีภาพ จึงเป็นชีวิตที่มีการควบคุมตัวเอง หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ชีวิตประเภทนี้มีความรับผิดชอบเป็นองค์ประกอบสำคัญ การควบคุมตัวเองทำให้เราไม่ทำอะไรที่เป็นอันตรายแก่ตัวเองและผู้เกี่ยวข้องตลอดจนสังคมโลกที่อยู่ นอกจากนั้น หลวงพ่อยังอธิบายว่า เช่นเดียวกันกับเรื่องความสุข ศาสนาพุทธแบ่งเสรีภาพออกเป็นระดับต่าง ๆ กล่าวคือ
ในระดับธรรมดาทั่วไป เสรีภาพ หมายถึงการกำหนดชีวิตของตนด้วยตนเอง ในระดับนี้เสรีภาพแสดงให้เห็นในรูปของความสามารถที่จะควบคุมตนเองให้มีชีวิตเป็นไปตามเป้าหมายที่ตัวเองวางไว้
ในระดับสูงขึ้นมา เสรีภาพ หมายถึงการไม่อยู่ในอำนาจของ อัตตา หรือ การหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาต่าง ๆ (มีโลภ โกรธ หลง เป็นสำคัญ) ตลอดไปโดยสิ้นเชิง ชีวิตที่มีเสรีภาพระดับนี้ เป็นชีวิตของการปล่อยวาง การไม่ยึดติดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ดังนั้นจึงเป็นชีวิตที่อยู่เหนือ ความดี และ ความชั่ว หรือ กรรมทั้งหลาย หลวงพ่อให้ข้อสังเกตในตอนสุดท้ายว่า ในระดับใดก็ตาม เสรีภาพไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิดเหมือนสัญชาตญาณ เราจะต้องต่อสู้ดิ้นรนเป็นอย่างมาก จึงจะมีเสรีภาพ หรือ ชีวิตอิสระเสรีในความหมายที่กล่าวมา การปฏิบัติกรรมฐานเป็นวิธีสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เรามีชีวิตอิสระเสรีในความหมายของพระพุทธศาสนาได้
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
ยอมรับว่าเวลานี้ตนเข้าใจความหมายของเสรีภาพในทัศนะของพระพุทธศาสนาได้ลึกซึ้งขึ้น
และกล่าวเสริมว่า การที่พระพุทธศาสนาเน้นความรับผิดชอบนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก
เสรีภาพและความรับผิดชอบแยกออกจากกันไม่ได้ ถ้าหากแยกออกจากกันแล้ว
เสรีภาพก็ไม่มีคุณค่าอะไรเหลืออยู่ และจะเป็นอันตรายแก่มนุษย์และสังคมโลก
ดังนั้นคนทุกคนจึงควรใช้เสรีภาพด้วยความรับผิดชอบ
ด้วยเหตุนี้จึงเห็นด้วยกับพระพุทธศาสนา
ที่เน้นให้คนทุกคนทำอะไรด้วยเหตุผลและใช้สติปัญญาให้มาก
การควบคุมตนเองเป็นวิธีการใช้เสรีภาพที่ถูกต้อง
สันติภาพและขันติธรรม
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตสังเกตเห็นว่า
ในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ เช่น อินโดนีเซีย และอินเดีย
ศาสนิกชนต่างศาสนาพากันก่อความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ
และที่ถึงกับจับอาวุธประหัตประหารกันก็มีอยู่ แต่ทราบว่าในประเทศไทย
เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลย จึงต้องการทราบว่า พระพุทธศาสนามีคำสอนอะไรที่ช่วยให้คนนับถือศาสนาต่างกันอยู่กันได้ด้วยความสงบสุข
หลวงพ่อชี้ให้เห็นว่า ตามความเป็นจริงแล้ว การต่อสู้ระหว่างชาวมุสลิมและชาวฮินดูในอินเดีย และ ระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์ในอินโดนีเซียนั้น เป็นผลมาจากสาเหตุหลายประการที่พัวพันกัน ไม่ใช่สาเหตุจากการมีความเชื่อทางศาสนาแตกต่างกันเท่านั้น ศาสนาทุกศาสนาต้องการให้คนทุกคนเป็นคนดี ไม่รบราฆ่าฟันกัน สำหรับพระพุทธศาสนานั้น ได้ชื่อว่าเป็นศาสนาของสันติภาพ มีคำสอนและวิธีการปฏิบัติมากมายหลายอย่างที่จะทำให้คนอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เช่นให้มีความรักความเมตตาและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันและกัน รู้จักให้อภัยกันและไม่ยึดถือตัวเองเป็นใหญ่ ในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาอื่นนั้น พระพุทธศาสนายอมรับความจริงว่าคนแต่ละคนมีสติปัญญาความต้องการและความสามารถไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงมีความเชื่อแตกต่างกันออกไป ด้วยเหตุนี้ในคำสอนของพระพุทธศาสนาจึงไม่มีการบังคับ ไม่ว่าในรูปแบบใด การรักษาศีลและปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องของความสมัครใจ การตัดสินใจของคนแต่ละคน พระพุทธเจ้าทรงเป็นเหมือนแพทย์ที่เมื่อวิเคราะห์อาการของคนไข้อย่างละเอียดถี่ถ้วนและรู้สาเหตุของความเจ็บป่วยแล้ว ก็แนะนำคนไข้ให้กินยารักษาโรคที่เป็นอยู่ แต่ส่วนคนไข้จะกินยาที่แนะนำหรือไม่นั้นเป็นการตัดสินใจของคนไข้เอง
หลวงพ่อเน้นว่า โดยเหตุที่พระพุทธศาสนายอมรับความจำกัดด้านสติปัญญาและความสามารถของแต่ละคน และไม่มีความประสงค์จะบังคับผู้ใดให้มายึดถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ พระพุทธศาสนาจึงสอนชาวพุทธให้มีขันติธรรม กล่าวคือให้ยอมรับความหลากหลายของความเชื่อทางศาสนา และไม่ให้มีโทสะเมื่อเห็นว่าผู้อื่นมีความเชื่อและการปฏับัติแตกต่างไปจากตน เพราะในที่สุดไม่ว่าจะมีความเชื่อแตกต่างกันอย่างไร ทุกคนก็ต้องเป็นไปตามกรรมของแต่ละคนอยู่นั่นเอง ศาสนาพุทธจึงไม่ต้องการให้นำความแตกต่างดังกล่าวมาสร้างความแตกแยกในสังคมหรือเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างศาสนิชนที่นับถือศาสนาต่างกัน
นอกจากศาสนาพุทธจะเน้นความสำคัญของความเมตตากรุณา
และขันติธรรมที่มีต่อการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในประชาคมโลกแล้ว
ศาสนาพุทธยังสอนคนให้ลดความเห็นแก่ตัวให้น้อยลง
เพราะสิ่งนี้เป้นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้จิตใจคนไม่สงบสุขและอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ยากลำบาก
การปฏิบัติกรรมฐานเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้จิตใจสงบและมีอิสระจากอำนาจของกิเลสตัณหาต่าง
ๆ ที่เป็นพื้นฐานของความเห็นแก่ตัว จิตใจที่เป็นอิสระเสรีนี้ย่อมสามารถมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งต่าง
ๆ (ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือธรรมชาติ) ในทางสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าสันติภาพในโลกต้องเริ่มต้นจากการที่มีคนจิตใจสงบก่อนอย่างอื่น
แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าสันติภาพ หมายถึงความสงบหรือการไม่มีสงคราม
หรือการสู้รบเท่านั้น
ความสงบเงียบหรือการไม่มีการสู้รบกันไม่ได้เป็นเครื่องประกันว่าสันติภาพมีอยู่ในโลก
สันติภาพที่แท้จริงมีอยู่ได้ย่อมต้องมีปัจจัยเกื้อกูลหลายอย่าง
ตั้งแต่การมีความเมตตา กรุณา และขันติธรรม ไปจนถึงการมีจิตใจที่สงบและสว่าง
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
กล่าวชมการที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องขันติธรรมนั้น เป็นเรื่องดีงามมาก
เพราะเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ชาวพุทธมีจิตใจเปิดกว้างไม่ยกตนข่มท่าน
และไม่ประณามศาสนาอื่นที่ตนไม่เห็นด้วย ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตเห็นด้วยว่า
สันติภาพที่จีรังยั่งยืนต้องเริ่มต้นจากภายในจิตใจของคนแต่ละคน
ถ้าหากจิตใจของคนยังเป็นจิตใจที่เห็นแก่ตัว ไม่มีความรักความเมตตาต่อผู้อื่นแล้ว
สันติภาพถาวรก็เป็นไปไม่ได้ ปัญหาที่ศาสนาต่าง ๆ ประสบอยู่ในเวลานี้ก็คือ
ทำอย่างไรจึงจะให้คนทุกคนมีจิตใจที่สงบและสว่างได้ สิ่งนี้เป็นไปได้ยากต้องใช้เวลานานหรือไม่มีทางเป็นไปได้เลย
ดังนั้นในขณะที่ศาสนาต่าง ๆ สั่งสอนศาสนิกชนให้มีจิตใจดีงาม
ศาสนิกชนจึงควรร่วมมือกันสร้างปัจจัยต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในประชาคมโลก
เพื่อค้ำจุนสันติภาพให้มีอยู่ตลอดไปด้วย เช่น
ให้มีกฎหมายที่เป็นธรรมทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
และให้ทุกฝ่ายที่มีปัญหามีโอกาสได้พบปะเจรจาต่อรองกัน
พระสงฆ์
ทรัพย์สมบัติ และอามิสทาน
ประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์ในสมัยกลางชี้ให้เห็นว่า
สาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้นักบวชในศาสนานี้เสื่อมความเคารพรับถือจากศาสนิกชน
เพราะศาสนจักรนิยมสะสมเงินทองและทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ไว้มากมาย
และนักบวชในศาสนานี้มักนำทรัพย์สมบัติดังกล่าวที่เป็นของส่วนรวมมาใช้บำรุงบำเรอตนเอง
จึงทำให้มองเห็นไปว่าการที่ศาสนจักรมีทรัพย์สินเงินทาองมากเป็นสิ่งไม่ดี ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
ไม่ทราบว่าพระพุทธศาสนามีระเบียบกฎเกณฑ์ห้ามไม่ให้วัดมีทรัพย์สมบัติต่าง ๆ
มากมาย หรือไม่ให้พระสงฆ์สะสมเงินทองและทรัพย์สมบัติหรือไม่
ในความเห็นของหลวงพ่อ โดยธรรมชาติแล้วทรัพย์สมบัติต่าง ๆ มีลักษณะเป็นกลาง คือในตัวเองไม่มีทั้งความดีหรือความไม่ดี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีนั้น อยู่ที่วิธีที่เราได้สิ่งเหล่านั้นมา และวิธีที่เราใช้สิ่งเหล่านั้น ถ้าหากเราได้ทรัพย์สมบัติมาด้วยวิธีสุจริต และใช้ทรัพย์สมบัติเหล่านี้อย่างฉลาด ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ก็เป็นสิ่งที่ดี ในเรื่องของพระสงฆ์นั้นโดยเหตุที่พระสงฆ์ส่วนมากเป็นสมมติสงฆ์ที่ยังติดกิเลสตัณหาต่าง ๆ ไม่ได้ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินเงินทองจำนวนมากที่มีผู้บริจาคให้ จึงอดไม่ได้ที่จะใช้ทรัพย์สินเหล่านั้นเพื่อประโยชน์ตน เช่นเดียวกับนักบวชในศาสนาคริสต์ที่กล่าวมา พระสงฆ์จึงต้องระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษ เมื่อต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องเงินทอง ที่จริงแล้วการอุปสมบทเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ของผู้อุปสมบท คือละทิ้งชีวิตทางโลกและหันมามีชีวิตทางธรรมตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า ชีวิตของผู้ปฏิบัติธรรมเป็นชีวิตแบบไหน นอกจากนั้นยังได้ทรงกำหนดวินัยต่าง ๆ สำหรับให้พระสงฆ์ยึดถือและปฏิบัติตาม เพื่อจะได้สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้โดยสิ้นเชิงตลอดไป
ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ไม่ควรจะสะสมทรัพย์สินเงินทาองเช่นเดียวกับฆราวาส หลักปฏิบัติที่หลวงพ่อใช้เสมอที่วัด คือ นำปัจจัยและสิ่งของต่าง ๆ ที่ญาติโยมนำมามอบให้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมในรูปแบบต่าง ๆ ไม่เก็บเอาไว้เป็นสมบัติส่วนตัว แต่ปรากฏว่ายิ่งทางวัดให้ส่วนรวมหรือสังคมมากเท่าไร ทางวัดก็ยิ่งมีทรัพย์สินเงินทางเพิ่มมากขึ้น จึงอาจทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่า หลวงพ่อชอบสะสมทรัพย์สมบัติ การที่ทรัพย์สินเงินทองของวัดอัมพวันมีเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อมีผู้บริจาคมองเห็นว่าทางวัดนำเอาสิ่งที่ตนบริจาคไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมจริง บุคคลเหล่านี้ก็ชักชวนคนอื่นให้ร่วมบริจาคเงินทาองและวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ให้วัด ไม่ว่าจะได้รับบริจาคทรัพย์สินเงินทาองมากเพียงใดก็ตาม วัดอัมพวันก็จะนำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไปทำประโยชน์ให้แก่สังคมมากเพียงนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเผยแผ่คำสอนในพระพุทธศาสนา การศึกษา หรือการสังคมสงเคราะห์ทั่วไป
ในตอนสุดท้าย หลวงพ่อให้ข้อสังเกตว่า การที่พระสงฆ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับเงินทาองจำนวนมากมายนั้นเป็นอันตรายแก่พระสงฆ์มาก นักบวชในศาสนาต่าง ๆ ที่เสื่อมเสียความเคารพนับถือจากศาสนิกชน ก็เพราะเรื่องเงินทองเป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับเงินทอง พระสงฆ์ควรมีสติอยู่ตลอดเวลา และไม่ยึดถือว่าสิ่งนี้เป็นทรัพย์สมบัติของตนที่จะต้องเก็บรักษาไว้เช่นเดียวกับฆราวาส พระสงฆ์ไม่อาจห้ามศาสนิกชนไม่ให้บริจาคที่ดินหรือเงินทองให้แก่วัดได้ เพราะชาวพุทธทั่วไปนิยมทำอามิสทาน และเชื่อว่าการบริจาคทรัพย์สินต่าง ๆ ให้แก่พระสงฆ์หรือวัด เป็นบุญกุศลที่จะส่งผลให้ตนเป็นคนร่ำรวยและมีชีวิตที่สบายในชาติต่อไป สิ่งสำคัญที่พระสงฆ์หรือวัดควรทำก็คือการบริหารจัดการทรัพย์สมบัติต่าง ๆ เหล่านั้นตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคและให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมมากที่สุด
เกี่ยวกับเรื่องอามิสทานหรือการทำบุญของชาวพุทธที่หลวงพ่อกล่าวถึงนั้น
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สงสัยว่าการที่วัดต่าง ๆ (ที่ตนสังเกตเห็น)
สอนคนให้ทำแต่อามิสทาน และให้ ติดบุญ หรือ หลงบุญ และชักชวนคนให้มาทำบุญด้วยการบริจาคเงิน (จำนวนมาก)
ให้แก่วัดและบางวัดถึงกับ ขายบุญ ก็มี ไม่ทราบว่าการที่วัดสอนคนให้ติดหรือหลงใหลบุญ และการขายบุญขัดกับคำสอนของพระพุทธศาสนาหรือไม่
บุญกุศลเป็นสิ่งที่ซื้อขายกันได้หรือไม่
หลวงพ่ออธิบายว่า การทำบุญกุศลมีความสำคัญต่อชีวิตชาวพุทธมาก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับกฎแห่งกรรม หลวงพ่อเองมีประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับอำนาจของบุญกุศลมาแล้ว ดังที่ได้เคยเล่าให้ญาติโยมฟังแล้วหลายหน การทำบุญในพระพุทธศาสนามีอยู่หลายวิธีด้วยกัน การให้อามิสทานเป็นการทำบุญวิธีหนึ่งที่ชาวพุทธนิยมกันมาก วัตถุสิ่งของต่าง ๆ รวมทั้งทรัพย์สินเงินทองที่ชาวพุทธบริจาคให้แก่พระสงฆ์หรือวัดมีส่วนสำคัญให้พระสงฆ์มีชีวิตอยู่ด้วยความสะดวกสบายพอสมควร และในขณะเดียวกันก็ทำให้วัดสามารถจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนและส่วนรวมได้ เช่นทำให้วัดอัมพวันมีสถานที่พักสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมและสำหรับฝึกอบรมบุคคลต่าง ๆ ให้มีคุณธรรมและจริยธรรมได้ อย่างไรก็ตามไม่ควรจะมุ่งแต่การชักชวนศาสนิกชนให้บริจาคเงินทองและวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ให้แก่วัด โดยเอาสวรรค์มาเป็นเครื่องล่อ การกระทำเช่นนี้อาจจะตีความว่าเป็นการ ขายบุญ ได้ บุญกุศลเป็นเรื่องเกี่ยกับคุณภาพของจิตใจที่คนแต่ละคนจะต้องสร้างขึ้นมาเอง ไม่ใช่สิ่งของที่ซื้อขายกันได้เหมือนสินค้า การทำบุญมีหลายวิธี การที่ชาวพุทธจะทำบุญด้วยวิธีใดนั้นก็แล้วแต่จริตและความสามารถของคนแต่ละคน อย่างไรก็ตามวัดก็ไม่ควรใช้วิธีต่าง ๆ ล่อ คนให้มาทำบุญด้วยอามิสทาน การกระทำเช่นนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของวัดเสีย คือทำให้มองเห็นกันว่า วัดก็คือบริษัทการค้าแห่งหนึ่ง ที่ต้องการขายสินค้าของตนให้ได้กำไรมากที่สุดโดยใช้บุญกุศลเป็นสินค้า วัดอัมพวันไม่มีการโฆษณาขายสินค้าใด ๆ ทางวัดเน้นที่การปฏิบัติกรรมฐาน เพราะเป็นการทำบุญที่ให้กุศลมากที่สุด เนื่องจากทำให้จิตใจเบาบางจากกิเลสตัณหาต่าง ๆ ได้ ซึ่งเป็นทางนำไปสู่การหลุดพ้นจากสังสารวัฏอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
หลวงพ่อกล่าวเตือนว่า ถึงแม้ว่าการทำบุญมีความสำคัญมากในเรื่องกฎแห่งกรรม ศาสนาพุทธก็ไม่ต้องการให้ชาวพุทธหลงใหลในบุญกุศล เพราะสิ่งนี้เป็นเสมือนเชือกที่ผูกตัวเราให้ติดอยู่กับสังสารวัฏต่อไป และไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ หลวงพ่อเน้นว่าวัตถุประสงค์สูงสุดของการทำบุญ คือ การไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ได้นั้น ต้องทำบุญทำกุศลมากเช่นที่เห็นเป็นตัวอย่างในชาดกต่าง ๆ ในนัยนี้บุญกุศลเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ที่เราสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามความต้องการได้ ดังนั้นเราจึงไม่ควรหลงใหลในเครื่องมือนี้มากจนไม่ยอมนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงส่งแก่ชีวิต ถึงแม้ว่าพระพุทธศาสนาเน้นเช่นนี้ ชาวพุทธส่วนมากก็ยังติดหรือหลงใหลในบุญกุศลอยู่ และนิยมมาวัดเพื่อสร้างบุญกุศลให้แก่ตัวเองด้วยอามิสทาน ไม่ใช่เพื่อเรียนรู้ธรรมและนำไปปฏิบัติตามให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
ในเรื่องหลักของการทำบุญด้วยอามิสทานนั้น หลวงพ่อชี้ให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาใช้หลักจริยธรรมของการไม่เบียดเบียนเป็นบรรทัดฐาน กล่าวคือ ตามหลักจริยธรรมนี้ พุทธศาสนิกชนจะต้องไม่ให้การทำบุญของตนทำให้ตนเองและผู้อื่นที่เกี่ยวข้องเดือดร้อน การที่พระพุทธศาสนาเน้นให้คำนึงถึง ผู้อื่น ที่เกี่ยวข้องด้วย (เช่น สามี หรือ ภรรยา หรือ ลูก) เพราะพระพุทธศาสนาต้องการให้ศาสนิกชนทำบุญด้วยความรับผิดชอบ ไม่ใชทำตามอารมณ์ความรู้สึกวู่วามไปตามคำชักชวนของวัดหรือคนหนึ่งคนใด
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยว่าการทำบุญด้วยความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญมาก
ดังนั้นบิดามารดาที่นำเงินที่เก็บสะสมไว้ทั้งหมดมาทำบุญจนไม่สามารถช่วยเหลือลูกให้ศึกษาเล่าเรียนได้นั้น
จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีจริยธรรมหรือความรับผิดชอบ
การที่จะให้คนทำบุญด้วยความรับผิดชอบ พระสงฆ์ควรอธิบายให้ญาติโยมเข้าใจว่า
การทำบุญมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าคนจนหรือคนรวยก็ทำบุญได้ตามความพร้อมของตน
นอกจากนั้นพระสงฆ์ควรเน้นให้ศาสนิกชนทำบุญแต่พอตัว
ไม่กู้หนี้ยืมสินมาจนทำให้ตัวเองและผู้ที่เกี่ยวข้องเดือดร้อน
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตไม่เห็นด้วยกับการที่นักบวชในศาสนาต่าง ๆ ชักชวนคนให้บริจาคทรัพย์สินเงินทาองให้แก่ตนจนหมดเนื้อหมดตัว
การกระทำเช่นนี้เป็นการนำศาสนามาใช้เพื่อประโยชน์ของนักบวชเหล่านี้
ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของศาสนิกชน
การรักษาศีล
และการทำหมันสุนัข
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่าในวัดต่าง ๆ
มีสุนัขมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และทำให้วัดต้องมีภาระเลี้ยงดูสุนัขเหล่านี้
การมีพันธะเช่นนี้เป็นการสิ้นเปลืองสำหรับวัด
และนับวันจำนวนสุนัขก็เพิ่มมากขึ้นทุกที
เนื่องจากทางวัดไม่ทำหมันสุนัขและไม่สอนคนให้ทำหมันสุนัข ในศาสนาคริสต์เชื่อว่าการทำหมันสุนัขเพื่อให้สุนัขมีจำนวนลดน้อยลง
และมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นไม่บาป เช่นเดียวกับการคุมกำเนิดประชากร ไม่ทราบว่าพระพุทธศาสนามีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร
หลวงพ่ออธิบายว่า พระพุทธศาสนาเองไม่ได้ต่อต้านการวางแผนครอบครัวด้วยการคุมกำเนิด ไม่ได้สอนว่าชีวิตเป็นสิ่งมีคุณค่าเท่านั้น แต่สอนให้เราสนใจเรื่องคุณภาพของชีวิตด้วย พระพุทธเจ้าทรงแจกแจงธรรมไว้เป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ เพื่อให้ศาสนิกชนนำไปใช้ในการสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นตามความรู้ความสามารถของคนแต่ละคน พระพุทธศาสนาไม่ได้มองดูการมีลูกจำนวนมากมายว่าเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ แต่เน้นให้บิดามารดาเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนการที่สามีภรรยาจะมีลูกกี่คนนั้นเป็นเรื่องการตัดสินใจของคู่แต่งงานเอง ไม่มีกำหนดไว้ในคำสอนของศาสนา
สำหรับเรื่องการทำหมันสุนัขนั้น ศาสนิกชนบางคนก็เชื่อว่าตราบใดที่ไม่มีการทำลายชีวิตเกิดขึ้น และไม่ได้ทำให้สุนัขทรมาน ก็อาจถือว่าการทำหมันสุนัขเป็นการกระทำที่ไม่ขัดกับคำสอนของพระพุทธศาสนา แต่หลวงพ่อเองเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้ขัดกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ไม่ให้เบียดเบียนชีวิตหนึ่งชีวิตใด และจะนำการทำหมันสุนัขมาเปรียบเทียบกับการคุมกำเนิดในคนไม่ได้ ในกรณีของสามีภรรยา การคุมกำเนิดเป็นการกระทำด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย กล่าวคือสามีภรรยาเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเองว่าจะคุมกำเนิดหรือไม่ และจะใช้วิธีใด โดยทั้งสองฝ่ายเป็นผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจและผลของการกระทำนั้น แต่กรณีของการทำหมันสุนัขมีลักษณะตรงข้าม
หลวงพ่อสรุปในที่สุดว่า ปัญหาที่ว่าการทำหมันสุนัขเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่นั้น เราอาจพิจารณาในแง่มุมของจริยธรรมทางโลกหรือจริยธรรมแบบพุทธได้ จริยธรรมทางโลกใช้คุณภาพชีวิตเป็นเกณฑ์ของการพิจารณา แต่ คุณภาพชีวิต เป็นเรื่องที่ตกลงกันได้ยากและเกี่ยวพันกับปัญหาว่าการที่คนใดคนหนึ่งจะไปกำหนดคุณภาพชีวิตของคนอื่นนั้น เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ จริยธรรมแบบพุทธเน้นความสำคัญของความรักความเมตตา และการไม่เบียดเบียนกัน การที่จะทำชีวิตทุกชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตเท่ากันนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมของตน ความรักความเมตตาเป็นคุณธรรมสำคัญที่จะช่วยให้ทุกชีวิตมีความสุขตามอัตภาพของตน ที่วัดอัมพวันในปัจจุบันมีสุนัขอาศัยอยู่ประมาณ ๓๐๐ ตัว ทางวัดพยายามช่วยให้สุนัขทุกตัวมีชีวิตที่มีคุณภาพ คือมีความทุกข์น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ การเลี้ยงดูสุนัขจำนวนมากมายเช่นนี้ได้รับความช่วยเหลือจากญาติโยมทั้งหลายโดยตลอด ในพระพุทธศาสนาความรักความเมตตาไม่ได้หยุดอยู่แค่มนุษย์เท่านั้น แต่ขยายวงออกไปไปถึงสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ยอมรับว่า
แม้จะไม่เห็นด้วยกับหลวงพ่อในเรื่องการทำหมันสุนัข
แต่ก็ยอมรับว่าคำอธิบายของหลวงพ่อมีเหตุผลดี ตัวเองคิดว่าการใช้คุณภาพชีวิตเป็นเกณฑ์ของการพิจารณาตัดสินใจไม่ใช่เรื่องง่าย
คุณภาพชีวิต เป็นคำที่มีความหมายกำกวม
และเป็นการยากที่จะให้คนทุกคนเข้าใจความหมายของคำนี้ตรงกัน แต่
การปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแบบพุทธหรือที่เรียกกันว่า การรักษาศีล ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน
โดยเฉพาะศีล ๕ บางคนเข้าใจว่าปฏิบัติตามศีล ๕
ทำให้คนเรามีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันไม่ได้
เพราะสมัยปัจจุบันมีสภาวะสังคมแตกต่างจากสมัยพุทธกาลมาก ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
จึงสงสัยว่าการรักษาศีล ๕ มีประโยชน์อะไรบ้างในปัจจุบัน
และศีลดังกล่าวมีคุณค่าทางปฏิบัติมากน้อยเพียงใด
หลวงพ่ออธิบายว่า ในคำสอนของพระพุทธศาสนาประโยชน์ของการรักษาศีล ๕ มีมากมาย ทั้งที่เกิดแก่ผู้ที่รักษาศีลเอง และผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง ประโยชน์บางอย่างเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นชัดแจ้งและคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ อาจจะถือว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องเหลวไหลได้ ดังนั้นหลวงพ่อจึงจะไม่พูดถึง แต่หวังว่าผู้รักษาศีลสม่ำเสมอคงจะมองเห็นผลดังกล่าวเอง สำหรับประโยชน์ที่คนทั่วไปมองเห็นได้ง่าย ๆ ก็คือ ถ้าหากคนทุกคนรักษาศีล ๕ ได้แล้ว สังคมก็จะมีความสงบสุขมากขึ้น เช่น ไม่มีการลักขโมย การข่มขืน และการหลอกลวง ปัญหาต่าง ๆ ของสังคมเวลานี้เกือบทั้งหมดมีรากเหง้าจากการไม่รักษาศีล ๕ ส่วนในเรื่องคุณค่าทางปฏิบัติมากกว่าอย่างอื่น ธรรมทุกหมวดหมู่ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ ไม่ได้เป็นเพียงอุดมคติเท่านั้น แต่ส่วนจะปฏิบัติได้มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับสติปัญญาความสามารถและความพร้อมของแต่ละคน
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ถามต่อไปอีกว่า
เท่าที่มีความรู้อยู่บ้าง ศีล ๕ ข้อ เช่น ศีลข้อ ๒ และ ข้อ ๕
ไม่ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาอยู่ในสังคมปัจจุบัน เช่น การโกงลูกค้า คอรัปชั่น
และยาเสพย์ติด ดังนั้นจะถือว่า ศีลทั้งสองข้อนี้มีข้อบกพร่องได้หรือไม่
หลวงพ่ออธิบายว่า ในการรักษาศีลนั้น เราต้องเข้าใจเจตนารมณ์ของศีลแต่ข้อให้ดี มิฉะนั้นจะทำให้เข้าใจผิดได้ว่า ศีลทุกข้อมีข้อบกพร่อง ไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่ ที่จริงแล้วศีล ๕ แต่ละข้อมีความละเอียดมาก ศีลข้อ ๒ ที่ห้ามลักทรัพย์ผู้อื่นนั้นมีความประสงค์ที่จะไม่ให้เราได้ทรัพย์สินต่าง ๆ มาโดยไม่ถูกต้องตามครรลองครองธรรม ศีลข้อนี้มีแง่คิดที่ลึกซึ้งมาก เพราะ ทรัพย์ มีหลายประเภททั้งที่เป็นวัตถุสิ่งของและที่ไม่มีตัวตนให้เห็น เช่น เวลา และความคิด ส่วน การลักทรัพย์ นั้นก็มีหลายวิธี มีทั้งวิธีที่มองเห็นได้ง่ายและวิธีแอบแฝง พ่อค้าที่โกงลูกค้าหรือกักตุนสินค้าไว้ ทำให้เกิดการขาดแคลนขึ้นเพื่อจะได้ขายสินค้าได้ในราคาสูงกว่าปกติ ก็ถือว่าเป็นการลักทรัพย์อย่างหนึ่ง เพราะเป็นการได้ทรัพย์ที่ไม่ควรได้ และเป็นเหตุให้คนอื่นที่ควรจะมีโอกาสในการมีทรัพย์นั้นต้องพลาดโอกาสไป ในบางครั้งก็ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากจากการที่พ่อค้ากักตุนสินค้าต่าง ๆ ในทำนองเดียวกัน ข้าราชการหรือพนักงานบริษัทที่ใช้เวลาทำงานไม่เต็มที่แบบเรียกกันว่า ทำงานเช้าชามเย็นชาม ก็ถือว่าเป็นการละเมิดศีลข้อนี้เช่นกัน เพราะการทำงานไม่เต็มที่ทำให้หน่วยงานเสียประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ไป นายธนาคารหรือผู้จัดการกองทุนที่โกงลูกค้า และร่ำรวยได้ทรัพย์สินต่าง ๆ มาจากความหายนะของคนอื่น หรือนายจ้างที่ขยักเงินค่าจ้างไว้ ไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่คนงานตามที่ตกลงกันไว้ก็ทำผิดศีลข้อ ๒ เช่นกัน การลักทรัพย์ประเภทดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่มักจะมองข้ามไป ผู้ที่ลักทรัพย์ประเภทนี้เองก็มักจะไม่สำนึกผิด บางคนกลับชื่นชมความฉลาดและความสามารถของตนที่ทำตัวเป็นโจร โดยไม่มีใครรู้หรือจับได้ คนประเภทนี้เป็นอันตรายต่อความเจริญก้าวหน้าของสังคมไทย ถ้าหากสังคมไทยไม่มีโจรประเภทนี้ ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่เรากลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ก็คงจะร้ายแรงน้อยลง
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยกับคำอธิบายศีลข้อ
๒ ที่หลวงพ่อเมตตาชี้แจงให้ฟัง และยอมรับว่า การที่หลวงพ่ออธิบายเช่นนั้น
ทำให้ศีลข้อ ๒ มีความหมายแก่คนยุคปัจจุบันมากขึ้น
คำอธิบายของหลวงพ่อทำให้มองเห็นว่า
ศีลข้อนี้ครอบคลุมไปถึงทรัพย์สินทางปัญญาและการคอรัปชั่นด้วย
อย่างไรก็ตามศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ก็สงสัยว่าคำอธิบายดังกล่าวเป็นการตีความหมายศีลข้อ
๒ ใหม่หรือไม่
หลวงพ่อ อธิบายเพิ่มเติมว่า ศีลข้อ ๒ มีความละเอียดมากอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องไปตีความหมายใหม่ คำอธิบายศีลข้อนี้ที่ยึดถือกันมาแต่ก่อนไม่ได้พูดถึงรายละเอียดดังกล่าว ได้แต่เน้นเรื่องการลักทรัพย์ที่เป็นวัตถุสิ่งของมากกว่าอย่างอื่น คนจึงเข้าใจผิดว่าศีลข้อนี้แคบเกินไป และไม่เหมาะสมกับสมัยปัจจุบัน หลวงพ่อเตือนว่าในการรักษาศีล ๕ เราจำเป็นต้องเข้าใจเจตนารมณ์ หรือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของศีลแต่ละข้อให้ถ่องแท้เสียก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ผิดศีลข้อนี้ ศีลข้อ ๕ ก็มีรายละเอียดครอบคลุมสิงต้องห้ามมากกว่าสุรา เช่นที่เชื่อกันผิด ๆ กันอยู่ เพราะรวมถึงเครื่องดองของเมาทั้งหลายและยาที่ให้โทษแก่จิตประสาท เช่น ยาบ้าด้วย ดังนั้นถ้าเราต้องการจะรักษาศีลข้อนี้ให้ครบถ้วน เราจำเป็นต้องงดเว้นสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาเพิ่มไปจากการงดเว้นสุราด้วย
หลวงพ่อสรุปว่าการรักษาศีล ๕ เป็นประโยชน์ทุกยุคทุกสมัย พระพุทธเจ้าทรงเป็นสัพพัญญู ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทรงรู้จักเหตุและผลของสิ่งทุกสิ่ง ทรงทราบว่าการรักษาศีล ๕ จะช่วยให้ปัญหาชีวิตของมนุษย์แต่ละคนลดน้อยลงได้มาก เพราะปัญหาที่อาจจะเกิดแก่ชีวิตเขาก็จะเป็นเพียงปัญหาที่มาจากปัจจัยภายนอกเป็นผู้กระทำ เพราะการรักษาศีล ๕ จะปิดกั้นไม่ให้เขาพบความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของตนเอง ส่วนการจะรักษาศีล ๕ อย่างละข้อได้อย่างละเอียดประณีตเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับสติปัญญาและความสามารถของผู้นั้นเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามการที่เรารักษาศีล ๕ ได้ แม้จะไม่ละเอียดลึกซึ้งตามเจตนารมณ์ของศีลแต่ละข้อก็ตาม เราก็ย่อมจะได้รับประโยชน์ของศีล เพราะศีลเปรียบเสมือนราวกั้นไม่ให้ผู้รักษาศีลตกไปอยู่อบายภูมิ
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยกับคำอธิบายของหลวงพ่อ
แต่ไม่เห็นด้วยกับชาวพุทธบางกลุ่มที่อธิบายศีล ๕
ให้สอดคล้องกับความต้องการปัจจุบัน โดยการเพิ่มข้อยกเว้นลงไป เช่น อธิบายศีลข้อ ๑
ว่า ห้ามฆ่าสัตว์ ยกเว้นเพื่อเป็นอาหาร
และเพื่อปกป้องชีวิตมนุษย์ ศีลข้อ ๔ ว่า ห้ามพูดเท็จ ยกเว้นเพื่อป้องกันชีวิตตนเองและผู้อื่น
และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติหรือส่วนรวม และศีลข้อ ๕ ว่า ห้ามดื่มสุรา ยกเว้นดื่มเล็กน้อย หรือดื่มเพื่อสุขภาพ
หรือดื่มในงานสังคม เป็นต้น ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
รู้สึกว่าการเติมข้อความดังกล่าวในทางศีลแต่ละข้อนั้นเป็นการทำให้
ศีลแต่ละข้อมีความหมายผิดเจตนารมณ์ดังเดิมไป ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ไม่สมควร
หลวงพ่อเองก็ไม่เห็นด้วยที่จะเพิ่มเติมข้อยกเว้นให้แก่ศีลแต่ละข้อ การรักษาศีลมากหรือน้อยเพียงใดนั้น เป็นเรื่องความสมัครใจของคนแต่ละคน แต่จะต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้น เพราะกฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติที่ไม่มีการยกเว้นและเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้
หลวงพ่อตอบปัญหาปัญญาชนตะวันตก
ครั้งที่ ๕
(จรัญ ฐิตธมฺโม)
รองศาสตราจารย์ ดร.พินิจ รัตนกุล ผู้อำนวยการศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ลินเบค ผู้เชี่ยวชาญสาขาปรัชญาและศาสนา มาพบพระราชสุทธิญาณมงคล เป็นครั้งที่ ๒ ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ที่วัดอัมพวัน เพื่อเรียนถามปัญหาต่าง ๆ จากพระราชสุทธิญาณมงคล ซึ่งในบันทึกนี้ใช้คำว่า หลวงพ่อ แทน โดยมี ดร.พินิจ รัตนกุล เป็นผู้แปลและเขียนบันทึกการสนทนา
เศรษฐกิจตกต่ำ
ความวิตกกังวล ความหวาดกลัว
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า
ปัจจุบันในสมัยเศรษฐกิจตกต่ำ คนไทยที่รู้จักมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตมาก
เพราะไม่ทราบแน่นอนว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่ และชีวิตตนจะเป็นอย่างไรต่อไป
นอกจากนั้นบางคนก็ไม่รู้จะทำตัวอย่างไร จึงจะไม่ให้คนอื่นวิจารณ์ตนในแง่ลบ
และบางคนที่อายุมากหรือเจ็บป่วยก็หวาดกลัวความตาย ไม่ทราบว่าพระพุทธศาสนามีวิธีกำจัดความวิตกกังวลต่าง
ๆ และความหวาดกลัวความตายอย่างไรหรือไม่
หลวงพ่อตอบว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ตั้งอยู่บนความจริง ไม่ใช่สร้างขึ้นมาจากจินตนาการ คำสอนต่าง ๆ เกี่ยวกับสัจธรรมของชีวิตเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงหยั่งรู้ได้จากปัญญาและประสบการณ์ของพระองค์เอง สัจธรรมดังกล่าวนี้ มีทั้งเรื่องที่อยู่เหนือประสบการณ์ธรรมดาสามัญและสิ่งที่คนทั่วไปสามารถค้นพบได้จากการคิดวิเคราะห์ประสบการณ์ของตนและผู้อื่น ดังนั้นความจริงของชีวิตในพระธรรมคำสอน จึงมีทั้งส่วนที่มองเห็นได้ไม่ยากและส่วนที่ต้องอาศัยสติปัญญา และประสบการณ์ที่สูงขึ้น จึงจะมองเห็นและเข้าใจได้ ในเรื่องของชีวิตในโลกนั้น พระพุทธศาสนาสอนให้เรายอมรับสภาพความเป็นจริงของทุกสิ่ง โดยไม่นำอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะเชื่อว่าไม่มีอะไรที่จะเอาชนะความจริงไปได้ ดังนั้นในเมื่อชีวิตมีความยากลำบากเพราะวิกฤติการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน เราก็ควรรับสภาพความเป็นจริงนี้ก่อน แล้วจึงค่อยพยายามหาทางที่จะแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันเราต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ชีวิตทุกสถานการณ์มีทางออกด้วยกันทั้งนั้น และเราจะต้องใช้สติและปัญญาให้มาก จึงจะมองเห็นทางออกได้ การปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เรามีชีวิตรอดอยู่ได้ท่ามกลางความยากลำบากต่าง ๆ เช่น รู้จักประหยัดมัธยัสถ์ กันอยู่แต่พอสมควร จำกัดความต้องการให้น้อยลง มีความขยันขันแข็งอดทนและไม่ย่อท้อ และที่สำคัญในการมีชีวิตท่ามกลางความยากลำบาก คือ ต้องระวังไม่ให้ความขัดสนฝืดเคืองเป็นสาเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง และความแล้งน้ำใจในครอบครัว ในยามนี้ทุกคนควรมีความรักความเมตตาต่อกัน ช่วยเป็นกำลังใจให้กันและกัน และประคับประคองกันไว้ให้ยืนหยัดอยู่ได้ การช่วยเหลือกันและการปฏิบัติตามคุณธรรมต่าง ๆ ของพระพุทธศาสนาเช่นที่กล่าวมา จะช่วยให้เรามีชีวิตรอดอยู่ได้ในยามลำบาก คุณธรรมเหล่านี้เป็นเสาหลักของคุณงามความดีที่จะค้ำจุนจิตใจไม่ให้เปะปะไปตามแรงผลักดันของสิ่งแวดล้อมและไม่ให้ท้อแท้เมื่อเผชิญกับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ทุกสิ่งเมื่อมีการเกิดก็ย่อมมีการสิ้นสุดตามมาโดยธรรมชาติ ดังนั้นในไม่ช้าความยากลำบากที่เรากำลังประสบอยู่ก็จะสิ้นสุดลง เราจะยอมให้สิ่งนี้สิ้นสุดลงพร้อมกับชีวิตที่ถูกทำลายอย่างยับเยินจนไม่มีศูนย์กลางและความหวังเหลืออยู่เลยหรือ ถ้าหากเราเผชิญกับความยากลำบากต่าง ๆ ด้วยจิตใจเข้มแข็ง มีคุณธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นหลักแล้ว เมื่อพายุผ่านไป ชีวิตก็ย่อมมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น
ในเรื่องอนาคตนั้น เราต้องยอมรับความจริงที่ว่า ไม่มีผู้ใดที่รู้แน่นอนว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร เพราะอนาคตเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงคาดคะเนกันได้ต่าง ๆ นานา ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาจึงสอนให้เราสนใจปัจจุบันและให้มีสติทุกลมหายใจ แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า พระพุทธศาสนาต้องการให้เราปล่อยอนาคตให้มีสภาพอย่างใดก็ได้ หลักกฎแห่งกรรมเน้นว่าคนแต่ละคนเป็นผู้ลิขิตหรือกำหนดอนาคตของตนเอง ชีวิตในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำในปัจจุบันของคนแต่ละคน แบบที่พูดกันว่า หว่านพืชอย่างใด ย่อมได้รับผลอย่างนั้น การมีชีวิตปัจจุบันที่ประกอบด้วยศีล สมาธิ และปัญญา จะเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่จะสร้างอนาคตที่ดีงาม ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าวามเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม หรือกฎธรรมชาติจะทำให้เราไม่เป็นคนวิตกกังวลเรื่องอนาคต เมื่อเราปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนอย่างจริงจังและสม่ำเสมอแล้ว เราก็ควรมั่นใจได้ว่า ชีวิตในอนาคตเราจะมีสภาพดีกว่าในปัจจุบัน พระพุทธศาสนาไม่เชื่อเรื่อง ความบังเอิญ หรือ อุบัติเหตุ ของชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตเราแต่ละคนนั้นย่อมมี สาเหตุ ทั้งสิ้น ความไม่รู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุดังกล่าวทำให้เราเข้าใจผิด ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแก่ตัวเรานั้นเป็นเรื่องของ ความบังเอิญ หรือ เคราะห์ดี เคราะห์ร้าย
สำหรับเรื่องคำวิพากษ์วิจารณ์ตัวเราในทางลบนั้น ไม่มีผู้ใดหนีพ้นคำวิจารณ์ประเภทนี้ไปได้ (แม้แต่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ประเสริฐสุด ก็ยังมีคนวิจารณ์ในทางเสียหาย) เพราะการมีชีวิตอยู่ในโลกร่วมกับคนอื่นที่มีความคิด ความรู้สึก และนิสัยในคอแตกต่างกัน การได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในทางไม่ดีจากคนอื่นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเราจึงควรยอมรับสภาพความเป็นจริงนี้ และไม่ควรวิตกกังวลแต่อย่างใด ทั้งนี้มิได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาสอนเราไม่ให้สนใจคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่นเลย และให้เราหมกมุ่นอยู่กับความคิดเห็นของตัวเองเท่านั้น การหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง หรือ การหลงตัวเองเป็นอันตรายแก่ตัวเรายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด พระพุทธศาสนาต้องการให้เรามีจิตใจเปิดกว้าง สามารถรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่นได้ไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู ผู้เป็นศัตรูที่วิจารณ์ว่าเราอย่างเสียหายนั้น อาจชี้ให้เราเห็นความจริงบางอย่างเกี่ยวกับตัวเราที่เพื่อนใกล้ชิดเราอาจจะไม่กล้วบอกเราได้ ดังนั้นเราจึงควรฟังความคิดเห็นของศัตรูด้วย และนำสิ่งนั้นมาวิเคราะห์ว่ามีความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด และพยายามปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น คนที่ปิดหูปิดตาไม่ยอมฟังและไม่มองเห็นคนอื่นนั้นย่อมเสียประโยชน์ไปโดยไม่จำเป็น จึงอาจสรุปได้ว่าเราควรสนใจคำวิจารณ์ของคนอื่น แต่ไม่ควรวิตกกังวลว่าจะมีคนวิจารณ์เราว่าอย่างไร เพราะไม่ว่าเขาจะวิจารณ์เราในทางบวกหรือทางลบก็ตาม เขาก็ไม่สามารถทำให้เราเป็นคนดีหรือไม่ดีได้ ถ้าหากเราเป็นคนดีอยู่แล้ว ถึงจะมีคนว่าหรือยกย่อยเราอย่างไร เราก็คงเป็นคนดีอยู่เหมือนเดิม ดังนั้นเมื่อมีผู้พูดวิจารณ์เราในทางไม่ดี เราจึงไม่ควรโมโห แต่ควรใช้คำวิจารณ์ของเขา ให้เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น
ในทำนองเดียวกันในเรื่องของความตายนั้น เราจำเป็นต้องยอมรับความจริงเช่นกัน คือยอมรับว่าความตายเป็นสิ่งที่มี่ใครสามารถหลีกหนีได้ ความตายจะเป็นประโยชน์หรือเป็นในทางตรงข้ามนั้นขึ้นอยู่กับวิธีการที่เราเผชิญหน้ากับความตายด้วยความองอาจกล้าหาญ โดยให้เตรียมตัวตายให้ดีก่อนที่วาระสุดท้ายจะมาถึง วิธีการเตรียมตัวตายที่ศาสนาพุทธแนะนำคือ การเจริญสติอยู่ทุกเวลา เพื่อไม่มองข้ามความเป็นจริงเกี่ยวกับพระไตรลักษณ์ (คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ของทุกสิ่งรวมทั้งร่างกายของเรา การเจริญสติจะทำให้เราสามารถชื่นขมในชีวิตที่มีอยู่ได้โดยไม่ยึดติดร่างกายหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นพิเศษ และในขณะเดียวกันก็ช่วยให้เราไม่ประมาทในการมีชีวิตอยู่ คือให้ใช้ชีวิตปัจจุบันให้มีคุณค่ามากที่สุดทั้งเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น และเพื่อเป็นหนทางให้ตนเกิดในภพภูมิที่สูงขึ้นตามกฎแห่งกรรม หรือให้บรรลุความหลุดพันจากกฎแห่งกรรม หรือการเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธศาสนาเชื่อว่า ชีวิตทุกชีวิตไม่มีการเกิดครั้งเดียว ความตายไม่ใช่เป็นการสิ้นสุดของชีวิต แต่เป็นการเริ่มต้นชีวิตในภพภูมิใหม่ตามแรงกรรม ในความหมายนี้สิ่งที่เราเรียกกันว่า ชีวิต หรือ การเกิด และ ความตาย หรือ การดับสลายของร่างกาย นั้น ที่จริงแล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตที่สงสารวัฏอันไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งมี การเกิด และ การดับ สลับกันไปตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งที่เรียกกันว่า ชีวิต และ ความตาย ในความเข้าใจของคนทั่วไปแท้จริงแล้วจึงเป็นสิ่งเดียวกัน เช่นเดียวกับประตูที่ใช้เป็นทางเข้า-ออก สำหรับคนที่อยู่ในห้อง ประตูที่มองเห็นคือทางออก แต่สำหรับคนที่อยู่นอกห้อง ประตูดังกล่าวคือทางเข้า ด้วยเหตุนี้การเตรียมตัวตายด้วยการทำกรรมดีไว้ในชีวิตปัจจุบัน จึงเท่ากับการตระเตรียมชีวิตใหม่ของเราให้มีการเริ่มต้นที่ดี ชีวิตใหม่นี้จะมีคุณภาพมากน้อยเพียงใดนั้นอยู่ที่คุณภาพของการกระทำของเราในปัจจุบัน และถ้าหากมีการเตรียมตัวอย่างดี เช่นการเจริญสติอย่างจริงจังและต่อเนื่องแล้ว เราก็อาจจะบรรลุนิพพานและไม่มี ชีวิต หลังการตายต่อไปได้
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
ยอมรับคว่าการมองชีวิตในแง่มุมของพระพุทธศาสนาที่เน้นเรื่องชีวิตหลังความตาย
ทำให้เห็นว่าความตายไม่ใช่สิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว
เช่นที่ชาวอเมริกันเชื่อกันทั่วไป คำสอนของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับสังสารวัฏ
ทำให้ชีวิตแต่ละชีวิตมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงคุณภาพของชีวิตในแต่ละภพภูมิได้ด้วยการกระทำของตนเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำในปัจจุบัน ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
เห็นด้วยว่าการที่พระพุทธศาสนาสอนให้ยอมรับความตายว่าเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งนั้นเป็นทัศนคติที่สร้างสรรค์
เพราะจะทำให้เรามีจิตสงบในวาระสุดท้ายของชีวิต
และไม่พยายามต่อสู้ดิ้นรนหลีกหนีสิ่งที่หลีกหนีไม่ได้ ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตไม่เข้าใจว่า
ทำไมแพทย์ที่เป็นชาวพุทธจึงไม่ยอมปล่อยให้ผู้ป่วนในมรณวิถีถึงแก่กรรมตามขบวนการทางธรรมชาติ
แต่พยายามยืดชีวิตของคนไข้ให้ยาวนานต่อไปเรื่อย ๆ โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
ทำให้สงสัยว่าการกระทำดังกล่าวสวนทางกับคำสอนของพระพุทธศาสนาหรือไม่
หลวงพ่ออธิบายว่า ปัจจุบันสังคมไทยเองก็มีผู้สงสัยกันว่า การที่แพทย์ใช้เครื่องช่วยยืดชีวิตของคนไข้ในมรณวิถีนั้นเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่ การที่แพทย์ทำเช่นนั้นเพราะได้รับการอบรมสั่งสอนให้มีหน้าที่และความรับผิดชอบช่วยคนไข้ให้มีชีวิตอยู่ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ การทำตามหน้าที่ดังกล่าวไม่ขัดกับคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ถือว่า ชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและควรสงวนรักษาไว้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีดังกล่าวก็คือใช้เครื่องช่วยชีวิตผู้ป่วยในมรณวิถีนั้นไม่ใช่เป็นการ ช่วยชีวิต แต่เป็นการ ยืดชีวิต มากกว่า เพราะในกรณีนี้แพทย์ไม่สามารถจะ รักษา หรือช่วยให้ผู้ป่วยที่อยู่ในมรณะวิถีไม่ให้ ตาย หรือกลับคืนสู่สภาพปกติได้อีกต่อไป ในทางตรงข้ามการพยายาม ยืดชีวิต ดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถตายตามขบวนการทางธรรมชาติได้ ปัญหาจริยธรรมที่น่าคิดก็คือ ในกรณีของผู้ป่วยในมรณวิถี แพทย์ควรจะปล่อยให้ผู้ป่วยตายไปตามวิถีทางธรรมชาติหรือไม่ สำหรับหลวงพ่อเองมีความเห็นว่าในกรณีดังกล่าว แพทย์ไม่ควรจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวิถีของธรรมชาติ ในบางราย การที่แพทย์ใช้เครื่องช่วยชีวิตช่วยยืดชีวิตของผู้ป่วยให้ยาวนานนั้น ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตทางชีวภาพแต่อย่างเดียว ไม่สามารถรับรู้หรือติดต่อสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้ ชีวิตที่มีสภาพดังกล่าวไม่น่าจะเป็น ชีวิต ในความหมายของพระพุทธศาสนาที่ให้ความสำคัญแก่ คุณภาพ ของชีวิตมากเป็นพิเศษ
สำหรับปัญหาที่ว่า การถอดเครื่องช่วยชีวิตออกจากผู้ป่วยในมรณวิถีนั้น เป็นการละเมิดศีลข้อหนึ่งหรือไม่นั้น หลวงพ่อมีความเห็นว่า ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ว่าในคำสอนของพระพุทธศาสนา ชีวิตมนุษย์ หมายความว่าอะไรกันแน่ คนทั่วไปเชื่อว่าตราบใดที่อวัยวะต่าง ๆ ของผู้ป่วยยังไม่หยุดทำงาน เช่น ยังมีลมหายใจอยู่ ตราบนั้น ชีวิต ของผู้นั้นก็ยังมีอยู่ ดังนั้นการถอดเครื่องช่วยชีวิตออกและทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายก็เป็นการละเมิดศีลข้อแรก และมีวิบากกรรมตามมาภายหลังอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้โดยทั่วไปจึงไม่มีพุทธศาสนิกชนคนใดต้องการจะรับผิดชอบในการถอดเครื่องช่วยชีวิตออกจากผู้ป่วยที่สิ้นหวัง แต่ก็มีพุทธศาสนิกชนบางคนที่ยอมทำเช่นนั้น เพราะไม่ต้องการจะยืดชีวิตของผู้ป่วยให้ยาวนานต่อไป เนื่องจากไม่สามารถจะรับภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ได้ และต้องการให้ผู้นั้นพ้นจากความทุกข์ทรมาน
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวเสริมว่า
ในกรณีดังกล่าวนั้น คริสตศาสนิกชนก็มีปัญหาเช่นเดียวกับชาวพุทธคือ ไม่มีความแน่ใจว่าการถอดเครื่องช่วยชีวิตออกจากผู้ป่วยที่สิ้นหวังนั้นเป็นสิ่งสมควรหรือไม่
ในกรณีเช่นนี้ดูเหมือนว่าเส้นแบ่งระหว่างความถูกต้องและความไม่ถูกต้องเลือนลางจนบอกไม่ได้แน่นอนว่า
ทำอย่างไรจึงจะถูกหรือผิด นักบวชในศาสนาคริสต์เองก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันไป
และแต่ละฝ่ายก็ต่างก็มีเหตุผลที่ดีสนับสนุนความคิดเห็นของตน
สำหรับศาสตราจารย์ไวโอเล็ตเองนั้น
มีความเห็นว่าในเรื่องนี้ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของ มโนธรรม
หรือความสำนึกเรื่องผิดชอบชั่วดีของคนแต่ชะคนเองดูเหมือนจะเหมาะสมที่สุด
เพราะในกรณีที่กล่าวมากฎเกณฑ์ทางจริยธรรมมีกว้างไม่ครอบคลุมทุกกรณี
หลวงพ่ออธิบายเพิ่มเติมว่า ในพระพุทธศาสนาถือว่า เจตนามีความสำคัญมาก การกระทำที่เกิดจากเจตนาดีย่อมมีวิบากและผลการกระทำที่ดีตามมา และเจตนาที่ดีย่อมเป็นผลมาจากการที่จิตใจปราศจากกิเลสตัณหาหรือความเห็นแก่ตัวในรูปแบบต่าง ๆ จิตใจเช่นนี้ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้ใด เพราะยึดถือประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้งแต่อย่างเดียว ปัจจุบันมีชาวพุทธจำนวนไม่น้อยที่ต้องการตายตามวิถีทางตามธรรมชาติและไม่มีความประสงค์จะให้แพทย์หรือผู้เกี่ยวข้องใช้เครื่องช่วย ยืด ชีวิตของตนต่อไป ในกรณีที่ตนมีสภาพเป็นผู้ป่วยในมรณวิถี เพราะไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด ส่วนครอบครัวหรือญาติมิตรที่เป็นชาวพุทธจะทำตามเจตนารมณ์นี้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
สิ่งแวดล้อม
ผึ้ง รีไซเคล
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า
ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้
และเข้าใจว่าปัญหานี้มีรากเหง้ามาจากการตัดไม้ทำลายป่าที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญของประเทศ
และการทำให้แม่น้ำลำคลองที่มีอยู่เป็นมลภาวะ ไม่ทราบว่าพระพุทธศาสนามีคำสอนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร
หลวงพ่ออธิบายว่า สาเหตุสำคัญที่เกิดปัญหาภัยแล้ง และการขาดแคลนน้ำ คือ การตัดไม้ทำลายป่า และการไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา ยกตัวอย่างเช่น คำสอนเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งต่าง ๆ ในฐานะเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตจึงต้องพึ่งพาอาศัยกัน สำหรับชีวิตมนุษย์ในโลกนั้น ชีวิตจะมีอยู่ได้ต้องอาศัยทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ในนัยนี้สิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำลำธาร ต้นไม้ และภูเขา จึงมีความสำคัญแก่มนุษย์ไม่น้อยกว่าสัตว์และสิ่งที่มีชีวิตประเภทต่าง ๆ
ในเรื่องของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ พระพุทธศาสนาสอนให้คนใช้ธรรมชาติด้วยความรับผิดชอบ คือใช้โดยไม่ทำลายธรรมชาติ หรือระบบนิเวศวิทยาของธรรมชาติให้เสียหายจนไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้อีกต่อไป วิธใช้ธรรมชาติที่พระพุทธศาสนาต้องการให้เป็นแบบอย่างคือ ให้ใช้ธรรมชาติแบบผึ้ง กล่าวคือ ผึ้งดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติโดยไม่ทำให้เกสรดอกไม้เหล่านั้นเสียหาย และในไม่ช้าดอกไม้ก็สามารถผลิตน้ำหว่านออกมาอีกได้ ถ้าหากมนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในทำนองนี้ ทรัพยากรธรรมชาติก็จะไม่สูญเสียไปโดยสิ้นเชิง เพราะธรรมชาติจะสร้างสิ่งใหม่มาทดแทนสิ่งที่เสียไปได้ในระยะเวลาไม่นาน การที่ทุกแห่งของโลกมีปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นเพราะกรรมหรือการกระทำของคนแต่ละคนที่เมื่อรวมกันเข้าแล้ว มีผลในทางลบต่อะรรมชาติหรือระบบนิเวศที่ค้ำจุนชีวิตในโลกให้มีอยู่ได้ ในความคิดของหลวงพ่อ วิธีแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องแก้ที่ตัวมนุษย์ คือลดความเห็นแก่ตัวให้น้อยลงจะได้ไม่ใช่ธรรมชาติด้วยความโลภ ที่จะทำให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากมายเกินความจำเป็น และไม่คำนึงถึงผลกระทบจากการกระทำของตนทางลบที่จะเกิดขึ้นแก่ธรรมชาติและผู้อื่น นอกจากนั้นพระพุทธศาสนายังเน้นให้เรามีความประหยัดมัธยัสถ์ให้มาก เช่นนำของที่ใช้แล้วเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งมาดัดแปลงให้ใช้เพื่อประโยชน์อีกอย่างหนึ่งได้ การทำเช่นนี้เรียกกันในปัจจุบันว่า เป็นการ รีไซเคิล (Recycle) สิ่งของต่าง ๆ หลวงพ่อมีความเห็นว่าแนวความคิดริเริ่ม รีไซเคิลที่กำลังเน้นกันมากในปัจจุบันและเข้าใจกันว่า เป็นความคิดมาจากสังคมตะวันตกนั้น ที่จริงแล้วเป็นความคิดในพระพุทธศาสนาเมื่อหลายพันปีมาแล้วในคำสอนที่เน้นว่า การเปลี่ยนนามรูปวนเวียนกันไปเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์และสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ คำสอนนี้สนับสนุนความคิดเรื่องรีไซเคิลของคนตะวันตก
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวเสริมว่า
คำสอนของพระพุทธศาสนาที่หลวงพ่ออธิบายนั้น เป็นแนวคิดสำคัญของการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable development) คือการพัฒนาสังคมโดยการสงวนรักษาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติไว้ การพัฒนาในแนวทางนี้
เน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถทดแทนได้ (Renewable
resources)
การประหยัดมัธยัสถ์ และการระมัดระวังไม่ให้เกิดผลเสียหายขึ้นในอนาคตเป็นสำคัญ
การพัฒนาแบบยั่งยืนนี้
ดูเหมือนจะเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยให้มนุษย์ใช้ธรรมชาติได้ตามความเป็นจริงโดยไม่ทำลายธรรมชาติให้สิ้นไป
ซึ่งจะนำภัยอันตรายอย่างใหญ่หลวงมาสู่ตัวมนุษย์เองในที่สุด
ในสมัยหนึ่งมีผู้เข้าใจว่าศาสนาคริสต์สนับสนุนให้มนุษย์ใช้ธรรมชาติตามความต้องการได้เต็มที่
เพราะมนุษย์เป็นสัตว์โลกที่พระเจ้าสร้างขึ้นมาให้เป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติรวมทั้งสัตว์
และทรัพยากรต่าง ๆ ดังนั้นจึงมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะใช้สิ่งต่าง ๆ
เหล่านี้เพื่อประโยชน์ตน แต่ในสมัยปัจจุบันคริสตศาสนิกชนส่วนมากมีความเห็นว่า
มนุษย์มีหน้าที่จะต้องรักษาสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติไว้ เพราะสิ่งต่าง ๆ
เหล่านี้ไม่ใช่เป็นสมบัติของมนุษย์ แต่เป็นสิ่งของที่พระเมอบให้รักษาดูแลไว้ (Stewardship) เท่านั้น ถ้าหากเราทำตามคำสอนของพระพุทธศาสนา
และศาสนาคริสต์ที่กล่าวมา
ปัญหาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การตัดไม้ทำลายป่าจนถึงการสร้างมลภาวะในอากาศและน้ำก็จะไม่เกิดขึ้น
บุญ
บาป กฎแห่งกรรม
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ทราบว่าเวลานี้พระสงฆ์บางรูปประกาศ
ขายบุญ
หรือล้างกรรมชั่วให้แก่คนที่ไม่ต้องการรับผลกรรมชั่วที่ทำไว้ จึงสงสัยว่าศาสนาพุทธสอนเรื่องกฎแห่งกรรมว่าอย่างไร
และคนที่ทำกรรมชั่วไว้จะหนีวิบากกรรมดังกล่าวได้หรือไม่
ในความเห็นหลวงพ่อ กฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เป็นไปตามความต้องการของเราไม่ได้ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นหลักสำคัญของกฎแห่งกรรมในพระพุทธศาสนา พังนั้นพระพุทธศาสนาจึงไม่มีคำสอนเรื่องการ ล้างบาป วิบากกรรมเป็นสิ่งที่คนแต่ละคนที่ทำกรรมไว้จะต้องประสบ แม้แต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ เช่น พระโมคคัลลาน์พระสาวกผู้มีฤทธิ์เดชมาก ยังหลีกหนีวิบากไม่ดีไปไม่ได้ ดังนั้นก่อนทำอะไรลงไปเราจึงจำเป็นต้องคิดพิจารณาให้ดีว่า การกระทำนั้นเป็นกุศลกรรมมากน้อยเพียงใด เพราะเมื่อทำอะไรลงไปแล้ว วิบากกรรมนั้นจะติดตามตัวเราไปโดยตลอด การทำบุญกุศลมีความสำคัญมาก เพราะถึงแม้จะลบล้างวิบากกรรมทั้งหมดไม่ได้ แต่ก็จะช่วยลดวิบากกรรมไม่ดีหลายอย่างให้เบาบางลงได้ การทำให้วิบากกรรมไม่ดีลดความรุนแรงลงหรือไม่ให้แสดงผลเต็มที่มีหลายวิธีด้วยกัน ที่สำคัญก็คือเมื่อทำอะไรไม่ดีไว้เราต้องสำนึกผิด แล้วตั้งใจและพยายามไม่ทำกรรมนั้นต่อไป ความสำนึกผิดและการตั้งใจทำความดีเป็นกุศลจิตอย่างหนึ่ง ที่จะนำไปสู่การกระทำที่ดีงามทั้งหลายต่อไป หลวงพ่อเตือนว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนว่าบาปหรือผลกรรมไม่ดีจะ ล้าง ให้หมดไปด้วยการทำพิธีต่าง ๆ เช่น พิธีสารภาพบาป เช่นที่มีอยู่ในคำสอนของศาสนาอื่น การมีกุศลจิตที่เกิดจากความสำนึกผิดและการตั้งใจทำกรรมดีมีความสำคัญมากกว่าการประกอบพิธีต่าง ๆ พิธีกรรมในพระพุทธศาสนาให้ผลทางจิตวิทยามากกว่าอย่างอื่น พระพุทธศาสนาไม่ต้องการให้คนที่ประกอบกรรมชั่วเศร้าโศกเสียใจมากจนเกินไป กฎแห่งกรรมไม่ได้บังคับผู้นั้นให้รับวิบากกรรมไม่ดีตลอดไปโดยไม่สิ้นสุดหรือ (ในกรณีที่ทำกรรมชั่วร้ายแรง เช่นที่พระเทวทัตทำต่อพระพุทธเจ้า) ให้ตกนรกจนไม่ได้ผุดเกิดอีกต่อไป แม้แต่คนเลวก็มีโอกาสที่จะสร้างกรรมดีให้แก่ตัวเองได้ ดังเช่น องคุลีมาลกับเทวทัต และสามารถชื่นชมผลของกรรมดีได้ในที่สุด
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวว่า
การที่พระพุทธศาสนาให้โอกาสผู้ทำความชั่วนั้นมีความสำคัญมาก
เพราะจะทำให้ผู้นั้นมีความหวังที่จะมีชะตากรรมที่ดีขึ้นได้ในภายหลัง
นอกจากนั้นการที่พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนเรื่อง ล้างบาป ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ในสมัยหนึ่ง นักบวชในคริสตศาสนานิกายคาทอลิกนิยมขาย
ใบไถ่บาป
ให้คนทำบาปที่ไม่ต้องการตกนรก เพื่อนำเงินมาใช้ก่อสร้างวัตถุถาวรต่าง ๆ ในศาสนา
การกระทำเช่นนี้ทำให้ศาสนาคริสต์นิกายนี้เสื่อมความนิยมลง
และเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่กำเนิดของนิกายโปรเตสแตนต์ขึ้นมาภายหลัง
ในปัจจุบันการที่ชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อยหันมานับถือพระพุทธศาสนา
ก็เพราะมองเห็นว่าศาสนานี้สอนให้คนแต่ละคนรับผิดชอบชีวิตของตนเอง
และให้โอกาสแก้ไขความผิดพลาดของตนได้ทุกเวลา
สำหรับในเรื่องของการทำบุญที่หลวงพ่อเน้นว่ามีความสำคัญต่อชีวิตของชาวพุทธนั้น
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตสงสัยว่า การที่คนไทยชาวพุทธนิยมทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น
ขัดกับคำสอนของพระพุทธศาสนาที่สอนว่า บุญ-บาป
เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่คนแต่ละคนต้องทำเองหรือไม่
หลวงพ่ออธิบายว่า การทำบุญแล้วอุทิศผลบุญไปให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วไม่ขัดกับคำสอนของพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด ในคำสอนของพระพุทธศาสนา การที่คนเราจะได้บุญนั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน การอนุโมทนาเมื่อมองเห็นหรือทราบว่าผู้อื่นทำบุญเป็นวิธีหนึ่งที่จะสร้างบุญกุศลให้แก่ตัวเอง พระพุทธเจ้าเองทรงรับสั่งว่า บุญกุศลเป็นสิ่งที่ผู้ทำสามารถจะถ่ายทอดให้แก่ผู้ล่วงลับได้ ถ้าหากว่าผู้นั้นอยู่ในสภาวะที่จะรับบุญกุศลได้และยินดีเต็มใจรับบุญกุศลที่อุทิศให้ตน การอุทิศบุญกุศลให้ผู้อื่นนี้ไม่ได้ทำให้ปริมาณบุญกุศลที่ผู้กรทำลดน้อยลงแต่อย่างใด เหมือนกันการใช้เทียนที่เรามีอยู่จุดเทียนเล่มอื่นไม่ได้ทำให้เปลวไฟในเทียนแท่งแรกลดปริมาณน้อยลงแต่อย่างใด การอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้อื่น (ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก) เพื่อให้ผู้นั้นมีความสุขนี้เป็นวิธีการแผ่เมตตาอย่างหนึ่งที่คนไทยชาวพุทธทำอยู่เป็นประจำ แต่บุญกุศลที่อุทิศให้นี้ไม่มีพลังมากเหมือนบุญกุศลที่เราทำเอง เช่น ไม่สามารถจะช่วยให้เราหนีวิบากกรรมไปได้ตลอดหรือให้เราตัดขาดจากสังสารวัฏได้ ดังนั้นการที่คนไทยนิยมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วที่ไม่อยู่ในสภาวะที่สามารถทำบุญกุศลได้ด้วยตนเอง จึงไม่ถือว่าเป็นการขัดกับคำสอนของพระพุทธศาสนาที่สอนว่าบุญบาปเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวเสริมว่า
การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นประเพณีที่ควรยกย่องชมเชยมาก
เพราะแสดงให้เห็นถึงความรักความห่วงใยของชาวพุทธที่มีต่อญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
ในวัฒนธรรมของศาสนาคริสต์ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลเช่นที่กล่าวมาไม่มีอยู่
ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับน้ำพระทัยของพระเจ้าเท่านั้น
สิ่งที่ชาวคริสต์ทำเพื่อช่วยเหลือคนที่ล่วงลับไปแล้วก็ คือ
สวดอ้อนวอนให้พระเจ้าทรงให้อภัยผู้มีบาปที่ล่วงลับไปแล้ว
การอุปสมบท
วิธีการคัดเลือก ระยะเวลาการบวช
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า
ในประเทศญี่ปุ่น มีวัดในพระพุทธศาสนาหลายวัด ที่พิถีพิถันเรื่องการอนุญาตให้คนมาบวชมาก
เพราะต้องการให้วัดมีแต่พระ-เณรที่ดี
ไม่ต้องการให้ค้นมาใช้ผ้าเหลืองเป็นเครื่องมือทำมาหากิน
บางวัดมีกฎเกณฑ์ให้คนที่ต้องการบวชมาปฏิบัติและทำงานที่วัดเป็นเวลา ๑-๕ ปี
เมื่อเห็นว่าเป็นคนดีเหมาะสมที่จะบวชได้จึงยินยอมให้บวช ไม่ทราบว่าวัดไทยมีกฎเกณฑ์เช่นนี้หรือไม่
หลวงพ่อตอบว่า การพิถีพิถันเรื่องการอนุญาตให้อุปสมบทนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะอาจช่วยให้ได้คนที่เหมาะสมที่สุดมาเป็นพระสงฆ์ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อไป ชีวิตของพระสงฆ์ไม่ใช่ชีวิตที่ง่ายเช่นที่เข้าใจ เพราะนอกจากจะต้องรักษาศีลและวินัยโดยไม่ให้ด่างพร้อยแล้ว ยังต้องทำความเพียรเป็นอย่างมากทั้งในด้านปริยัติ ปฏิบัติ และ ปฏิเวธ จึงจะสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็น ลูกพระพุทธเจ้า การให้ผู้ที่จะบรรพชามาอยู่ที่วัดก่อน จะทำให้ผู้นั้นมีโอกาสได้มองเห็นว่าชีวิตของพระสงฆ์นั้นมีสภาวะเป็นเช่นไร และจะรู้ว่าตนเองสามารถที่จะมีชีวิตดังกล่าวได้หรือไม่ แต่ในปัจจุบันโดยเฉพาะในประเทศไทย วัตถุประสงค์ของการบรรพชาแตกต่างจากสมัยพุทธกาล กล่าวคือ ในสมัยพุทธกาลคนบวชเป็นพระเพราะต้องการที่จะหลุดพ้นจากสังสารวัฏ แต่ในสังคมไทยปัจจุบัน คนที่บวชเป็นพระมีวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กัน คนที่บวชเพราะมุ่งมรรคผลนิพานาก็มีอยู่ แต่คนส่วนมากบวชเพราะต้องการเรียนรู้พระธรรมและวิธีปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนาในบางเรื่องเท่านั้น บุคคลเหล่านี้เป็นข้าราชการหรือนักธุรกิจการค้า ดังนั้นจึงไม่ต้องการจะอยู่ที่วัดถาวรหรือเล่าเรียนพระธรรมทุกเรื่อง ดังนั้นการกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ที่กล่าวมาจึงทำไม่ได้ เพราะจะปิดกั้นไม่ให้คนประเภทนี้มาบวช วัดไทยต้องการให้โอกาสคนได้บวชเรียน ดังนั้นจึงไม่ได้พิถีพิถันเรื่องการอนุญาตให้บวชมาก เมื่อมีผู้ประสงค์จะบวช วัดก็พิจารณาแต่เพียงว่าผู้นั้นมีคุณสมบัติถูกต้องตามกำหนดไว้หรือไม่ แต่วัดที่ให้ผู้ต้องการบวชมานุ่งขาวห่มขาวถือศีล ๘ อยู่ที่วัดก่อน ๑-๒ ปีก็มีอยู่บ้าง สำหรับที่วัดอัมพวันมีระเบียบให้ผู้ขอบวชมาปฏิบัติที่วัด ๗ วัน ส่วนปัญหาที่ว่าเมื่อบวชแล้วผู้นั้นจะเป็นพระที่ดีหรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการอบรมสั่งสอนและการเอาใจใส่ของพระอุปัชฌาย์
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สงสัยว่าการบวชเป็นพระในระยะสั้น
เช่น ๑ สัปดาห์นั้น ผู้บวชจะมีเวลาเพียงพอสำหรับศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมหรือไม่
และวัดควรกำหนดกฎเกณฑ์ให้การบวชเป็นพระมีระยะเวลานานเป็นเดือนหรือไม่
หลวงพ่ออธิบายว่า โดยทั่วไปแล้วในประเพณีไทย ผู้ชายควรบวชเป็นพระอย่างน้อยหนึ่งพรรษา หรือ ๓ เดือน ระยะเวลานี้อาจน้อยไปก็ได้ ถ้าหากเราต้องการเรียนรู้พระธรรมให้แตกฉาน หรือต้องการขัดเกลาจิตใจให้ใสสว่าง ในการบวชระยะสั้นนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับนั้นจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับว่าผู้บวชเป็นพระจะศึกษาเล่าเรียนพระธรรมและปฏิบัติกรรมฐานจริงจังแค่ไหน ถ้าหากว่าสักแต่มาบวชตามประเพณีเท่านั้น เมื่อสึกไปแล้วผู้นั้นก็จะไม่ได้สิ่งดีงามในพระพุทธศาสนาติดตัวไป และจะเป็นแบบที่พูดกันว่า มาบวชก็เสียผ้าเหลือง สึกไปก็เปลืองผ้าลาย เท่าที่หลวงพ่อสังเกตเห็นคนมาบวชเพียงพรรษาเดียวที่เปลี่ยนเป็นคนดีก็มีอยู่มาก เช่น เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ และมีจิตใจเยือกเย็นลง และคนที่ไม่ยอมสึกออกไปตามที่เคยตั้งใจไว้แต่แรกก็มีอยู่เช่นกัน อังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่าการบวชตามประเพณีไทยนั้นเป็นสิ่งดีงาม เพราะทำให้ผู้บวชมีโอกาสได้ศึกษาพระธรรมและมีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติตามคำสอนโดยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับความวุ่นวายทางโลก เวลานี้ประเพณีดังกล่าวมีคนทำตามน้อยลงทุกที คนที่มาบวชในระยะสั้น เช่นเพียง ๑ สัปดาห์ เพื่อแก้บนมีมากขึ้น การเป็นพระในระยะสั้นมากเช่นนี้จะได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับสติปัญญา ความสามารถ อุปนิสัยใจคอ และวาสนาของแต่ละคน ในพระไตรปิฎกคนที่มาบวชเพียงไม่นานแต่สามารถบรรลุธรรมจนถึงมรรคผลนิพพานได้ก็มีอยู่ และคนที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันเพียงสัปดาห์เดียวแล้วมีจิตใจดีงามก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย
สำหรับในเรื่องการกำหนดระยะเวลาของการบวชเป็นพระนั้น หลวงพ่อมีความเห็นว่าควรจะเป็นเรื่องของแต่ละวัดมากกว่าที่จะวางหลักเกณฑ์ตายตัวครอบคลุมไปทุกวัด สิ่งสำคัญก็คือจะต้องไม่ให้กฎเกณฑ์เหล่านั้นเป็นอุปสรรคไม่ให้คนมาบวช ชาวไทยพุทธเชื่อว่าการบวชเป็นบุญกุศลยิ่งใหญ่ที่จะสามารถถ่ายทอดให้แก่บิดามารดาหรือญาติพี่น้องได้ ถ้าหากวัดมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกินไปก็จะเป็นปัญหาแก่ผู้ที่ต้องการมาบวชได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นข้าราชการและผู้มีภาระงานเป็นหลักฐาน สำหรับวัดอัมพวันกำหนดระยะไว้ว่าจะต้องบวชไม่น้อยกว่า ๑ เดือน แต่บางวัดไม่มีกฎเกณฑ์อะไร อนุญาตให้บวชเป็นพระในระยะสั้นกว่านี้ได้ อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมว่าการบวชเป็นพระจะได้บุญกุศลมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะศึกษาเล่าเรียนพระธรรมและปฏิบัติกรรมฐานได้มากน้อยเพียงใด และวิธีตรวจสอบบุญกุศลอย่างง่าย ๆ ก็คือ เมื่อผู้นั้นสึกออกไปแล้วมีคุณงามความดีที่ได้จากการบวชติดตัวไปหรือไม่ ถ้าหากบวชแล้วยังคงมีกิเลสตัณหาและอุปนิสัยเหมือนเดิม เพราะในระหว่างที่บวชไม่ได้ฝึกจิตใจให้สงบและสะอาด ก็แสดงว่าบุญกุศลที่ได้จากการบวชนั้นไม่ได้ติดตัวมาด้วย นับว่าไม่ได้อะไรจากการบวช หรือมีชีวิตเป็นพระเลย ศาสนาพุทธเน้นเรื่องการฝึกจิตมากกว่าเรื่องอื่น เพราะถือว่าจิตเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์ ถ้าหากจิตดีเสียอย่างเดียวทุกสิ่งทุกอย่างก็ดีไปหมด ไม่ว่าจะเป็นความคิด การพูด หรือการกระทำต่าง ๆ วัตถุประสงค์สำคัญของการบวชชั่วคราว คือ การอบรมสั่งสอนจิตให้มีความรู้ในพระธรรม จะได้ใสสว่างด้วยแสงของปัญญาและการฝึกฝนจิตให้สงบและผ่องใส
พระสงฆ์
ธรรม วิชาทางโลก
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า ในปัจจุบันพระสงฆ์ที่เรียนวิชาทางโลกในสถาบันการศึกษาของรัฐมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย
ๆ ไม่ทราบว่าในความคิดเห็นของหลวงพ่อ พระสงฆ์สมควรจะเรียนวิชาทางโลกหรือไม่
หลวงพ่อตอบว่า พระพุทธเจ้าเองนอกจากพระธรรมที่ทรงค้นพบแล้ว ยังทรงมีความรู้วิชาทางโลกมากมายหลายอย่าง จึงทรงได้รับยกย่องให้เป็น โลกวิทู พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่การ เรียนรู้ มาก เพราะถือว่าทำให้เกิดปัญญา ยิ่งมีการเรียนรู้มากขึ้นเท่าไร ปัญญาก็ยิ่งแตกฉานมากขึ้น ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับการที่พระสงฆ์จะไปเรียนวิชาต่าง ๆ ที่จะช่วยให้อยู่ในสังคมปัจจุบันและอนาคตได้ ในเรื่องของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระสงฆ์ที่มีความรู้วิชาทางโลก เช่นในด้านภาษา สังคมศาสตร์ และจิตวิทยา สามารถนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาดังกล่าวไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ในการนำพระธรรมไปเผยแผ่ในชนกลุ่มต่าง ๆ ที่มีภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีแตกต่างกัน ในทำนองเดียวกัน ความรู้สมัยใหม่ด้านการบริหารจัดการเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการบริหารจัดการวัดให้เป็นองค์กรของพระพุทธศาสนาที่มีประสิทธิภาพทั้งในการทำงานให้พระพุทธศาสนาและในการตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ของสังคมไทย ในทำนองเดียวกัน ความรู้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับพระสงฆ์ในการติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศ และในการศึกษาหาความรู้สมัยใหม่ แม้แต่ความรู้ทางคอมพิวเตอร์ก็เป็นประโยชน์ในการศึกษาพระธรรมและการเผยแผ่ธรรมไปทั่วโลกโดยผ่านอินเตอร์เนท แต่อย่างไรก็ตามความรู้ทางพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่พระสงฆ์จะขาดไม่ได้ พระสงฆ์จะต้องมีความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จึงจะสามารถใช้วิทยาการต่าง ๆ ทางโลก ให้เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจของการเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้ เช่นพระสงฆ์ที่ศึกษาวิชาจิตวิทยาสมัยใหม่ ควรจะมีความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งควบคู่ไปด้วย เพื่อจะได้สามารถอธิบายคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นภาษาวิชาการสมัยใหม่ให้นักศึกษาหรือนักวิชาการเข้าใจได้ ส่วนการศึกษาวิชาทางโลกเพื่อไปประกอบอาชีพหลังจากลาสิกขาแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร พระพุทธศาสนาไม่มีข้อห้ามไม่ให้พระสงฆ์สึก หรือไม่ให้ศึกษาวิชาที่จะเป็นประโยชน์ในการประกอบสัมมาอาชีพ
สำหรับพระสงฆ์ที่สนใจศึกษาวิชาทางโลกนั้น หลวงพ่อแนะนำว่าก่อนที่จะศึกษาวิชาทางโลกวิชาใดนั้น พระสงฆ์ควรจะกำหนดเป้าหมายให้แน่นอนว่าต้องการศึกษาวิชานั้นเพื่อประโยชน์อะไร ความรู้ที่ได้จากการศึกษานั้นเป็นประโยชน์ต่อการนำพระธรรมไปเผยแผ่มากน้อยเพียงใด การศึกษาวิชาทางโลกเพื่อใช้ประกอบอาชีพหลังจากลาสิกขาแล้วกับการศึกษาเพื่อนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาพระธรรมและเผยแผ่พระธรรม มีวิธีการศึกษาไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นศาสตร์ที่ลุ่มลึกและกว้างขวางมาก มีหลายสิ่งหลายอย่างในพระธรรมที่ความรู้วิทยาการสมัยใหม่ยังค้นไม่พบ ความรู้วิทยาการสมัยใหม่บางอย่างอาจช่วยให้เราเข้าใจพระธรรมบางส่วนได้ง่ายขึ้น แต่ก็ไม่สามารถให้ความรู้ทดแทนความรู้ที่มีอยู่ในพระธรรมได้ สำหรับหลวงพ่อนั้นมีความเห็นว่า ความรู้วิทยาการสมัยใหม่เป็นประโยชน์ในการอธิบายพระธรรมแก่คนปัจจุบัน โดยการใช้ความคิดและคำศัพท์สมัยใหม่ที่คนสมัยใหม่จะเข้าใจได้
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
เห็นด้วยกับความคิดของหลวงพ่อที่เน้นให้พระสงฆ์มีความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่ไปกับการมีความรู้ทางวิทยาการสมัยใหม่
พระสงฆ์ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับศาสนาพุทธเลยจะเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้อย่างไร
สิ่งนี้สังเกตจากการสอนวิชาทางโลกให้แก่พระสงฆ์หลายรูป ก็คือ
พระสงฆ์ที่เป็นนักศึกษาอยู่มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาน้อยมาก
ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีหรือการปฏิบัติ การที่เป็นเช่นนี้ทำให้เกรงไปว่า
ต่อไปข้างหน้าพระสงฆ์อาจจะสนใจเรียนแต่วิชาทางโลกอย่างเดียว
เพื่อเตรียมตัวไปประกอบอาชีพหลังลาสิกขา และไม่สนใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมเลย
เมื่อเป็นเช่นนี้วิชาการทางพระพุทธศาสนาก็จะไม่เจริญก้าวหน้า
ถ้าหากพระพุทธศาสนาในประเทศไทยไม่มีวิชาการที่แข็งแกร่งแล้ว
พุทธศาสนิกชนคนไทยก็อาจจะหันไปยึดถือความเชื่อและปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนไปจากคำสอนของพระพุทธศาสนามาขึ้นก็ได้
หลวงพ่อกล่าวว่า ปัญหาเรื่องความเจริญก้าวหน้าของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคตเป็นเรื่องที่น่าคิดพิจารณามาก เวลานี้พระสงฆ์ที่มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งนั้นยังมีอยู่ แต่ถ้าหากพระสงฆ์รุ่นใหม่หันไปสนใจศึกษาแต่วิชาทางโลกแต่อย่างเดียวแล้ว ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาที่กล่าวมาได้ ในการป้องกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้น พระสงฆ์จะต้องอุทิศตัวเองให้แก่การศึกษาพระธรรมให้มากขึ้น
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวเสริมว่า
นอกจากพระสงฆ์แล้ว ฆราวาสก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่วิชาการทางพระพุทธศาสนา
ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ก็คือ
พระสงฆ์ส่วนมากขาดสิ่งที่มิชชั่นนารีของศาสนาคริสต์มักจะมีอยู่ คือ
ความเชื่อมั่นว่าตนเองมีหน้าที่จะต้องทำให้แก่พระเจ้า การปฏิบัติหน้าที่ตามความเชื่อนี้ทำให้มิชชันนารีอดทนต่อความยากลำบากต่าง
ๆ โดยไม่ย่นย่อ และบางคนถึงกับยอมสละชีวิตก็มี
แต่จากการพูดคุยกับพระสงฆ์ที่เป็นนักศึกษาและจากการอ่านหนังสือต่าง ๆ
เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ทราบว่าพระสงฆ์ไทยไม่มีความสำนึกทำนองที่กล่าวมา
คนส่วนมากมาบวชเพราะต้องการมีโอกาสทางการศึกษาหรือเพราะต้องการสร้างบุญกุศลให้แก่ตัวเองและบิดามารดา
ไม่ได้มีเจตจำนงที่จะรับใช้หรือสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่พระพุทธศาสนาแต่อย่างใด
เมื่อขาดวัตถุประสงค์นี้ในการบวชแล้ว
พระสงฆ์ก็หันไปใช้พระพุทธศาสนาหรือสมณเพศเป็นเครื่องมือสนองความต้องการส่วนตัวของตนแต่อย่างเดียว
ในศาสนาคริสต์เอง นักบวชที่มีลักษณะเช่นนี้เริ่มจะมีจำนวนมากขึ้น
และผู้ที่อุทิศตัวเองให้แก่พระเจ้าก็มีน้อยลงทุกที
การเป็นนักบวชจึงดูเหมือนจะเป็นอาชีพหรือทางทำมาหากินอย่างหนึ่ง
ส่วนการควบคุมความประพฤติของนักบวชไม่ให้ผิดครรลองคลองธรรมนั้น
ถ้าหากองค์กรของศาสนาไม่ในใจและเอาใจใส่อย่างจริงจังแล้ว
ศาสนิกชนคงจะต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา
หลวงพ่อตอบว่า พระสงฆ์ที่มีลักษณะเช่นที่ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวถึงหรือที่หนังสือที่ชาวตะวันตกเขียนไว้มีอยู่บ้าง แต่ในขณะเดียวกันพระสงฆ์ที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้พระพุทธศาสนาและนำพระธรรมคำสอนไปเผยแผ่เพื่อความผาสุกของชาวบ้านก็มีอยู่จำนวนไม่น้อย พระพุทธศาสนาเป็นเสมือนต้นไม้ใหญ่มีดอกและผลมากมาย ดังนั้นจังเป็นอยู่อาศัยของนกกาจำนวนมาก สำหรับในเรื่องของพระสงฆ์นั้น เราคงจะต้องยอมรับความจริงว่าในปัจจุบัน ผู้ที่มาบวชเพราะต้องการมีโอกาสทางการศึกษาหรือต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมและวิธีฝึกจิตในพระพุทธศาสนาชั่วระยะเวลาหนึ่งของชีวิตมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี บุคคลเหล่านี้เมื่อสึกออกไปก็จะเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ การทำงานให้พระพุทธศาสนามีอยู่หลายวิธีด้วยกัน แล้วแต่ความรู้ความสามารถและโอกาสของศาสนิกชนแต่ละคน พระสงฆ์เป็นหนึ่งในพุทธบริษัท ๔ ที่มีหน้าที่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมคำสอนและนำไปเผยแผ่ที่ถือกันว่า เป็นภารกิจหลักของพระสงฆ์นั้นเป็นวิธีการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาวิธีหนึ่ง การทำตัวให้เป็นคนดีมีศีลธรรมและปฏิบัติตามคำสอนก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง
ความเสมอภาค
ภิกษุณี แม่ชี
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตสงสัยว่า พระพุทธศาสนามีคำสอนเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศชายและเพศหญิงหรือไม่
การที่ประเทศไทยไม่มีภิกษุณีนั้นแสดงว่า พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่คนไทยนับถืออยู่ไม่ให้ความสำคัญแก่สตรีเท่าเทียมกับผู้ชายใช่หรือไม่
หลวงพ่ออธิบายว่า ตามแนวความคิดเรื่องกฎแห่งกรรม คนทุกคนไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่เกิด เพราะมีวิบากกรรมติดตัวมาไม่เหมือนกัน การที่สังคมตะวันตกเน้นความเสมอภาคของมวลมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ถึงแม้ว่าความคิดนี้จะเป็นความจริงไปไม่ได้ เช่นเดียวกัน ในกรณีที่สมมุติว่าทุกคนมีฐานะความเป็นอยู่เท่าเทียมกัน ไม่มีใครเป็นคนรวยหรือคนจนเลย เมื่อเราแจกเงินให้ทุกคนจำนวนเท่ากันในเวลาเช้า ในตอนเย็นก็จะมีคนรวยคนจนเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ความเสมอภาคที่แท้จริงจะเกิดมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนมีกรรมเท่ากัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามในเรื่องของการปฏิบัติธรรมและการบรรลุธรรมนั้น เพศไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด เพราะจิตที่บรรลุธรรมไม่มีเพศหญิงหรือเพศชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ ดังเห็นเป็นตัวอย่างในสมัยพุทธกาลที่พระอรหันต์มีทั้งผู้ชายผู้หญิง เด็กและผู้ใหญ่ ดังนั้นในหลักการแล้วไม่ว่าผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก หรือผู้ใหญ่ ก็สามารถบรรลุธรรมได้ทั้งนั้น แต่ส่วนจะประสบความสำเร็จดังกล่าวได้เมื่อไร และด้วยวิธีใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่นความอุตสาหะและวาสนาบารมีที่สะสมมา สำหรับที่วัดอัมพวันนั้น ทางวัดให้โอกาสแก่ผู้ชาย ผู้หญิง เด็กและผู้ใหญ่ในการมาปฏิบัติธรรมเท่ากัน ไม่ได้กำหนดสัดส่วนว่าผู้มาปฏิบัติกรรมฐานที่วัดจะต้องมีสัดส่วนของผู้ชาย ผู้หญิงเท่าใด ทางวัดจำกัดจำนวนผู้มาปฏิบัติธรรมที่วัดตามจำนวนของห้องพักที่มีอยู่ และก็พยายามขยายจำนวนห้องพักให้มากขึ้นเท่าที่ทำได้เพื่อตอบสนองความต้องการของศาสนิกชนทั้งชายและหญิง ในเวลานี้หลวงพ่อได้จัดตั้งสาขาของวัดอัมพวันที่ ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน จังหวัดขอนแก่น เพื่อประโยชน์ของพุทธศาสนิกชนทั้งสองเพศ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่
ส่วนเรื่องของภิกษุณีนั้น การไม่มีภิกษุณีในประเทศไทยเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์และการขาดปัจจัยต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติที่ยึดถือกันมานานมากกว่าการไม่ให้ความเสมอภาคแก่สตรี การที่ศาสนาพุทธนิกายมหายานที่ไต้หวันหรือในประเทศอื่นมีภิกษุณีนั้นเป็นเรื่องของนิกายนั้น ศาสนาพุทธแต่ละนิกายมีรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับการปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน เราไม่ควรจะนำมากล่าวอ้างเมื่อศาสนิกชนในนิกายหนึ่งทำได้ ศาสนิกชนในอีกนิกายหนึ่งก็คงจะทำได้ด้วย
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต ยอมรับว่า
ความคิดเรื่องความเสมอภาคในพระพุทธศาสนาไปไกลกว่าความคิดของคนตะวันตกมาก
สำหรับในวัฒนธรรมตะวันตกนั้น ในปัจจุบันมีการพูดเรื่องความเสมอภาคระหว่างชาย หญิง มากขึ้น เพราะต้องการให้ผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับผู้ชาย
แม้แต่ในศาสนาคริสต์เอง
ก็มีผู้ตีความหมายคำสอนใหม่ไม่ให้เป็นไปในทำนองดูถูกดูหมิ่นสตรีเพศ
ในปัจจุบันคริสตศาสนานิการคาทอลิกในบางแห่งยอมให้สตรีเป็นนักบวชที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบเท่ากันกับนักบวชชาย
สำหรับพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้นบางทีในอนาคตข้างหน้า
เมื่อการเรียกร้องสิทธิสตรีมีอิทธิพลมากขึ้น พระพุทธศาสนาอาจจะจำเป็นต้องแกไขกฎระเบียบใหม่เพื่อให้สตีสามารถบวชเป็นภิกษุณีได้
สำหรับในเรื่องของแม่ชีนั้น ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต สังเกตเห็นว่า ตามวัดต่าง ๆ
มักจะมีแม่ชีอยู่จำนวนไม่น้อยเพื่อช่วยเหลือกิจการงานของวัด จึงสงสัยว่าในปัจจุบันแม่ชีมีสภาพเช่นใดในสังคมไทย
หลวงพ่อตอบว่า ในปัจจุบันแม่ชีมีสภาพทางสังคมดีขึ้น เนื่องจากสังคมมองเห็นประโยชน์ที่แม่ชีทำให้แก่พระพุทธศาสนาและสังคมมากขึ้นกว่าในสมัยก่อน ในเรื่องของการศึกษานั้น แม่ชีมีโอกาสทางการศึกษามากขึ้นเช่นกัน เวลานี้แม่ชีที่ศึกษาจบเปรียญ ๙ ได้ก็มีอยู่ และสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั้งของรัฐและเอกชนที่รับแม่ชีเข้าเป็นนักศึกษาในหลักสูตรต่าง ๆ ก็มีมากขึ้น ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ในสังคมไทยปัจจุบันมีการยอมรับแม่ชีมากขึ้น สถานภาพของแม่ชีไม่ได้ต่ำต้อยที่เข้าใจกัน ส่วนแม่ชีจะมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับตัวแม่ชีเอง และงานที่ทำให้พระพุทธศาสนาและสังคม
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต กล่าวเสริมว่า
ทราบจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษว่า เวลานี้แม่ชีจัดกิจกรรมต่าง ๆ
ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมมากขึ้น ทั้งในด้านการศึกษาและสังคมสงเคราะห์
แต่แม่ชีที่เป็นนักวิชาการทางพระพุทธศาสนายังมีจำนวนน้อยมาก
อย่างไรก็ตามถ้าหากแม่ชีมุ่งทำงานดังกล่าวต่อไปและไม่ทอดทิ้งงานด้านวิชาการที่กล่าวมา
แม่ชีก็คงจะทำประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาและสังคมได้มากขึ้นเรื่อย ๆ
ในอเมริกางานสังคมสงเคราะห์ที่แม่ชีทำนั้นมีอยู่มากมายหลายอย่าง เช่น
การดูแลผู้สูงอายุและเด็กที่ถูกทอดทิ้ง การพยาบาลผู้ป่วยในโรงพยาบาล
และการสอนหนังสือตามโรงเรียนต่าง ๆ เอกลักษณ์ของแม่ชีในศาสนาคริสต์คืองานสังคมสงเคราะห์
ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นงานที่แสดงความรักที่มีต่อพระเจ้า ดังคำสอนของคริสตศาสนาที่ว่า
ผู้ใดรักพระเจ้าผู้นั้นควรอุทิศตนเพื่อความสุขของผู้อื่น
พระสงฆ์
การพัฒนา ขอบเขตจำกัด
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
ทราบว่า ในปัจจุบันประเทศศรีลังกา พระสงฆ์มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนด้านต่าง
ๆ มาก ไม่ทราบว่าในประเทศไทยพระสงฆ์มีบทบาทดังกล่าวหรือไม่
หลวงพ่ออธิบายว่า ในประเทศไทยการที่พระสงฆ์ช่วยพัฒนาชุมชนนั้นมีมานานหลายสิบปีแล้ว และในปัจจุบันจำนวนพระสงฆ์ที่เรียกกันว่า พระพัฒนา ก็มีจำนวนมากขึ้น การช่วยเหลือพัฒนาชุมชนไม่ได้ขัดกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ต้องการให้พระสงฆ์ช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของคนทั้งหลาย แต่เนื่องจากคำว่า พัฒนา และ ชุมชน มีความหมายกว้างมาก ดังนั้นปัญหาที่พระสงฆ์ควรคิดก่อนที่จะไปร่วมพัฒนาชุมชนก็คือวัตถุประสงค์ วิธีการ สิ่งที่ต้องการพัฒนาและขอบเขตจำกัดของการช่วยเหลือชุมชน สำหรับวัดอัมพวันนั้นการพัฒนาหมายถึง การสร้างคนให้มีคุณธรรมจริยธรรม หรือการปลุกคนให้ตื่นจากความหลงงมงายต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายแก่ตนเองและสังคมที่อยู่ โดยการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โครงการสร้างคนนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่พุทธศาสนิกชนเท่านั้น แต่ให้โอกาสผู้ที่นับถือศาสนาอื่น เช่น ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ได้มาร่วมโครงการด้วย วัดอัมพวันได้พัฒนาชุมชนในแนวทางนี้มาเป็นระยะเวลานานจนได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์พัฒนาวัฒนธรรมและจริยธรรมของบุคคลอาชีพต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้แก่ชุมชนทั่วประเทศ
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยกับความคิดของหลวงพ่อที่มุ่งการพัฒนาไปที่การสร้างคนมากกว่าการสร้างวัตถุ
การสร้างถาวรวัตถุที่ใหญ่โตและใช้เงินจำนวนมากมายนั้น มักจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ
ขึ้นมาได้ภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร
แต่การสร้างคนเช่นที่หลวงพ่อทำอยู่นั้นมีแต่ประโยชน์ทางเดียว ศาสตราจารย์ไวโอเล็ตทราบว่า
มีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยที่ช่วยการพัฒนาชุมชนด้วยการจัดทำกิจกรรมต่าง ๆ
ที่ไม่ใช่การพัฒนาจิตใจ เช่นที่วัดอัมพวันกำลังทำอยู่
ไม่ทราบว่าหลวงพ่อมีความคิดเห็นเช่นไร การที่พระสงฆ์เข้าไปร่วมพัฒนาชุมชนนั้น
ควรมีของเขตจำกัดแค่ไหน
หลวงพ่ออธิบายว่า โดยทั่วไปแล้วพระสงฆ์ควรจะให้ความสำคัญแก่การพัฒนาทางจิตใจของศาสนิกชนมากกว่าด้านอื่น แต่ในบางชุมชน พระสงฆ์จำเป็นต้องช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น ในเรื่องการฝึกอาชีพ และการจัดตั้งสหกรณ์ ปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งในสังคมไทย ไม่ว่าในสมัยใดคือปัญหาความยากจน ชาวบ้านในชนบทส่วนมากอยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารและมีฐานะความเป็นอยู่แร้นแค้น จนต้องการให้พระสงฆ์ช่วยเหลือพวกตนให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นการเทศน์สั่งสอนแต่เพียงอย่างเดียว ในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว พระสงฆ์พยายามให้ชาวบ้านช่วยเหลือกันเองให้มากที่สุด และในขณะเดียวกันก็ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้ชาวบ้านร่วมมือกันทำ เช่น สร้างถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน ขุดบ่อน้ำ และจัดตั้งธนาคารข้าว หลวงพ่อมีความเห็นว่าในระยะแรกนั้น พระสงฆ์จำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือในการดำเนินการต่าง ๆ ในฐานะผู้นำ และต้องให้ความช่วยเหลือในเรื่องที่ไม่ขัดกับพระธรรมวินัยด้วย นอกจากนั้นเมื่อชาวบ้านสามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้เองแล้ว พระสงฆ์ควรจะถอยออกมาและมุ่งพัฒนาชาวบ้านด้านจิตใจ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของพระสงฆ์ในการพัฒนาชุมชน ดังนั้นขอบเขตจำกัดของการช่วยเหลือพัฒนาชุมชนของพระสงฆ์จึงอยู่ที่การไม่ทำอะไรที่ผิดพระธรรมวินัย และการถอนตัวออกมาเมื่อชาวบ้านสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต เห็นด้วยกับความคิดเห็นของหลวงพ่อเกี่ยวกับขอบเขตจำกัดของการช่วยพัฒนาชุมชนของพระสงฆ์ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจิตใจ
พระสงฆ์ไม่ใช่ พัฒนากร หรือ นักสังคมสงเคราะห์ โดยอาชีพ ดังนั้นเมื่อได้ช่วยเหลือชาวบ้านให้สามารถช่วยตัวเองให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นแล้ว
พระสงฆ์จึงควรจะมุ่งมาที่การพัฒนาจิตใจชาวบ้านให้ดีงาม
สัมมาชีพ
เยาวชน ภูมิคุ้มกัน
ศาสตราจารย์ไวโอเล็ต
เข้าใจว่า ศาสนาพุทธเน้นความสำคัญของ สัมมาอาชีวะ มากเป็นพิเศษ
เพราะมีความสัมพันธ์กับจริยธรรมของสังคม ไม่ทราบว่าสังคมไทย
ปัจจุบันนำความคิดเรื่องนี้มาใช้มากน้อยเพียงใด
หลวงพ่อ ยอมรับว่า
สัมมาอาชีพมีส่วนช่วยส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของคนในสังคม
แต่ในปัจจุบันในสังคมชาวพุทธทั่วไป ไม่เฉพาะแต่ในสังคมไทยเท่านั้น
ผู้ประกอบอาชีพที่เป็นภัยแก่ชีวิตจิตใจของคนในสังคมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
และถือกันว่าอาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพสุจริต
ผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ส่วนมากมีแต่ความเห็นแก่ตัวและความโลภ ไม่ได้คำนึงถึงสวัสดิการของคนในสังคมไทยโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย
ดังนั้นการที่จะห้ามไม่ให้มีอาชีพดังกล่าวเลยคงจะเป็นไปไม่ได้
วิธีการสำคัญที่จะป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้ถูกทำลายก็คือ
จะต้องใช้ความรักความเอาใจใส่ให้การศึกษา และให้มีธรรมประจำตัว ซึ่งเป็นเสมือนการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชน
ดังนั้นครอบครัว โรงเรียน และวัด ต่างก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้มากและควรจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด..