ความสุขที่ควรใฝ่หาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

พระราชสุทธิญาณมงคล

P13004

                                                                                                       

          ขอเจริญพรพุทธบริษัท  อุบาสก  อุบาสิกา  ทุกท่าน  ตลอดกระทั่งบรรพชิตและคฤหัสถ์  ในวันนี้เป็นวันธรรมสวนะ  เป็นวันพระขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕  เวลากาลก็ล่วงเลยมามากแล้ว  และก็จะหมดไปในที่สุด  ท่านพุทธบริษัททั้งหลายโปรดพิจารณาตัวเองทุกคนว่า  เราเกิดมานี้มีความยากลำบากอย่างไร  ในอดีตที่ผ่านมาเป็นอย่างไร  ขณะปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร  และอนาคตจะแค่ไหน

            ในขณะที่อดีตเราผ่านมาด้วยความระหกระเหิน  หาความสุขกาย  สบายใจได้น้อยมาก  ถ้าเราไม่หาความสุขที่ควรใฝ่หา  เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแล้วนั้น  เราก็คงจะหมดโอกาสที่ดีได้  เพราะว่าขณะนี้เป็นเช่นนี้แล้ว  ขณะหน้าจะเป็นอย่างไร  ชาตินี้เกิดขึ้นอย่างนี้  ชาติหน้าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร  เราได้สร้างกรรมทั้งดีทั้งชั่วมาก็มากมาย  แต่ก็ยังไม่ได้คำนวณการในชีวิตของเราที่ใฝ่หาให้ดีกว่านี้  ไหนเลยล่ะในชาติหน้าจะเป็นอย่างไร  ชาติที่ผ่านมามีจริง  ชาตินี้จึงเป็นอย่างนี้

            วันนี้เกิดได้จากเมื่อวาน  เมื่อวานนี้ก็ผ่านไปแล้ว  วันนี้คือปัจจุบัน  วันนี้ผ่านไปแล้ว  วันพรุ่งนี้เป็นอนาคต  ก็จะเกิดเป็นปัจจุบันเช่นเดียวกับวันนี้  วันนี้ก็ถอยหลังกลายเป็นอดีตต่อไป  อนาคตหาความแน่นอนไม่ได้

            ท่านพุทธบริษัททั้งหลาย  ท่านอยู่ในวัยไหนกัน  ท่านได้อะไรเป็นอยู่ในชีวิตของท่าน  เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้าง  ในสัปดาห์หนึ่งเราควรจะพบพระ  ในวันพระสักวันหนึ่ง  หรือชั่วโมงหนึ่งได้ไหม  ท่านพบพระเมื่อใด  จิตใจจะแจ่มใสคือความสุขในชีวิต

            ขอฝากพี่น้องไทยชาวพุทธไว้ด้วย  ท่านควรจะเตรียมการในวันโกน  เพื่อปฏิบัติการในวันพระ  ท่านจะได้รู้ว่าสิ่งใดสำคัญควรทำก่อนหรือทำหลัง  งานของท่านจึงจะไม่บกพร่อง  นี่คือกรรมฐาน

            การเจริญกรรมฐาน  ไม่ใช่ทำจิ้ม ๆ จ้ำ ๆ สักแต่ว่าทำกันแล้วก็กลับไปนะ  ต่อไปจะเปลี่ยนนโยบายแล้ว  ต้องสอบอารมณ์ทุกคน  คนไหนสอบแล้วไม่ได้เรื่อง  มิได้มีศรัทธา  ขอให้หยุดทันที  ไม่ให้มาอีก  คนไหนมีศรัทธา  แต่ทำยังไม่ได้  มันเป็นกฎแห่งกรรมหรือไม่  ทำไมทำไม่ได้  สภาพชีวิตเป็นอย่างไร  สอบอารมณ์แล้วจะรู้เลยว่า  คนนี้มีกรรม  เคยด่าพ่อ  ด่าแม่มา  จะได้จับจุดให้ไปอโหสิกรรมกับพ่อแม่  เจริญกรรมฐานต่อไปจะรุ่งโรจน์แน่

            บางคนด่าสามีทุกวัน  มานั่งกรรมฐานไม่ได้เลยนะ  บางคนลักสตางค์ของสามีมาทำบุญ  มานั่งกรรมฐานก็ไม่ได้  โยมผู้ชายลักสตางค์ของภรรยาใหญ่  ไปให้ภรรยาน้อย  รับรองนั่งกรรมฐานไม่ได้เลย ไม่ใช่ของง่าย  ไม่ใช่ของเล่น ๆ กัน

            บางคนไปบวชชีพราหมณ์วัดโน้น  วัดนี้  ไปนั่งเฉย ๆ แล้วคิดว่าได้บุญ  ความจริงแล้วเป็นบาป  อย่าคิดว่านุ่งขาวห่มขาวแล้วเป็นบุญเลย  ท่านนั่งเฉย ๆ แล้วไม่ทำอะไรเลย  ท่านจะได้บาป  เหมือนเรือแล่นไปแล่นมาไม่มีสินค้าเลย  ท่านจะขาดทุนอย่างย่อยยับ  ขาดทุนค่าน้ำมัน  ขาดทุนเรื่องเรือคือตัวเอง  สังขารเสื่อมไปตามสภาพ  เหมือนเรือก็ต้องผุไป  ในไม่ช้าก็ต้องล่มกลางทะเลคือตัวเราต้องตายจากโลกสู่สัมปรายภพ  เป็นเรื่องสำคัญมาก

            ความสุขที่ควรใฝ่หาด้วยการเจริญกรรมฐาน  เป็นความสุขที่แน่นอนและถูกต้อง  แก้ไขปัญหาชีวิตได้  เรามาปฏิบัติกรรมฐานเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้มีสติปัญญา  เป็นชีวิตที่มีคุณภาพด้วยการกำหนดจิตทุกอิริยาบถ  กำหนดให้ละเอียดจะทำให้ใจสะอาด  ที่อยู่อาศัยก็สะอาดด้วย  การกำหนดจิตทุกอิริยาบถเป็นการกวาดสิ่งที่สกปรกออกจากจิตใจ  เหมือนกวาดผงใส่ถัง  กวาดผงใส่กองขยะฉะนั้น  ถ้าท่านไม่กวาดจิตใจที่สกปรกแล้ว  ท่านจะมีใจหยาบช้าสามานย์  ไม่มีโอกาสจะลุล่วงความสุขที่แน่นอนของชีวิตได้  สิ่งนี้เป็นคุณภาพของชีวิต 

            การกำหนดพองหนอ  ยุบหนอ  เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องกำหนดให้ทันกับสภาวะปัจจุบันที่เกิดขึ้น  จึงจะเกิดอานิสงส์  บางคนคิดว่าการกำหนดพองหนอ  ยุบหนอ  เป็นเรื่องเล็ก  แต่ก็ทำไม่ได้  กำหนดพองหนอ  ยังไม่ทันพองเลย  ท้องยุบแล้ว  กำหนดยุบหนอ  ยังไม่ทันกำหนดเลย  ท้องพองเสียก่อนแล้ว  อย่างนี้กำหนดไม่ถูกวิธี  หาผลงานไม่ได้  และไม่เกิดอานิสงส์แต่ประการใด

            การที่จิตไม่มีสมาธิกำหนดไม่ได้เช่นนี้  อาจเนื่องมาจากสาเหตุต่อไปนี้

                                    ๑.   นั่งไม่ถูกวิธี

                                   ๒.   จิตตกกังวล  จิตตกใต้สำนึก  รับรองนั่งสมาธิไม่ขึ้น

                                   ๓.   เหนื่อยมาก  เหนื่อยคำนี้  ไม่หมายถึงไปแบกหามมา  แต่หมายถึง  เหนื่อยใจ  กังวลใจมาก  เหนื่อยแบกหาม  เรานั่งพักสัก ๑๐ นาทีก็หาย  แต่เหนื่อยใจไม่มีทางหาย  สมาธิไม่เกิด  ต้องแก้ด้วยการนั่งสมาธิให้ถูกต้อง

                                   ๔.   อาพาธ  ป่วยหนัก  เป็นโรคร้าย  แต่ไม่เคยฝึก  สมาธิจะไม่เกิด

            คนเราควรจะเริ่มสร้างความดีตั้งแต่เดี๋ยวนี้  อย่าผัดวันประกันพรุ่ง  ไม่ต้องรอให้เจ็บเป็นมะเร็งวาระสุดท้ายก่อน  รอให้แก่ก่อน  ถึงจะเข้าวัด  รอให้เป็นคุณย่า  คุณยายก่อนแล้วถึงจะไปค้าขายในตลาดให้ได้กำไรอย่างนั้นหรือ  น่าเสียดายเวลาที่มีประโยชน์ของท่านมาก

            ถ้าท่านทำได้ตามที่อาตมากล่าว  จิตผนวกบวกสติ  ท่านจะรู้อายตนะ  ธาตุอินทรีย์  ท่านจะแยกรูปแยกนามได้ทันที  ว่าอายตนะภายในคืออะไร  ได้แก่  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  และใจ  อายตนะภายนอกืออะไร  ได้แก่  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  และธรรมารมณ์  ผนวกบวกกันสัมผัสก็เกิดจิตทันที

            ท่านจะรู้ต่อไปเลยนะว่า  พองหนอ  ยุบหนอนั้น  พองมีกี่ระยะ  ยุบมีกี่ระยะ  ถ้าท่านสอบได้  แสดงว่าท่านทำได้  สติอยู่กับจิตแล้ว  ถ้าท่านตอบไม่ได้  แสดงว่าท่านทำไม่ได้เลยทั้ง ๗ วัน  ที่อาตมาพูดมานี้เพื่อต้องการกระตุ้นเตือนจิตของผู้ปฏิบัติธรรม  ให้เร่งงานเอง  เร่งเดินจงกรมต่อไป  จะได้มีคำตอบ  เมื่อถูกมาสอบอารมณ์

            เมื่อ ๓๐ ปีมาแล้ว  มีอยู่คนหนึ่ง  ทำอย่างไรก็ไม่ได้  กำหนดพองหนอ  ยุบหนอ  เป็นลมไปเลย  เดินกำหนด  ขวาย่างหนอ  ซ้ายย่างหนอ  เป็นลมล้มลงไปเลย  อายุแค่ ๔๐ ปีเท่านั้น  อาตมาสอบอารมณ์ดู  ได้ความว่า  โยมคนนี้มีอกุศลกรรม  มีโทสจริตติดอยู่ในหัวใจ

            อาตมาถามว่า  “ขอให้บอกความจริง  เมื่อ ๕ ปีมานี้  เคยตบสามีตกบันไดใช่ไหม”

            เขาตอบว่า  “ฉันไม่ได้ตั้งใจตบ  บังเอิญมือไปโดนที่ศีรษะของเขาเอง  สามีเมามากำลังขึ้นบันได  ก็ตกบันไดไปเลย”

            อาตมาเลยให้กลับบ้านไปก่อน  เพราะทำไม่ได้  กลับไปขออโหสิกรรมกับสามีก่อน  สามีก็จำไม่ได้  เพราะรักภรรยา  ขอฝากเรื่องนี้ไว้  ถ้าเกลียดจะจำแม่น  ถ้ารักจะจำไม่ได้  อาตมาได้แง่คิดตรงนี้ว่า  ศัตรูที่ตำหนิติเตียนเรา  ควรจะนำมาเป็นบทเรียน  ศัตรูที่นินทาเรา  ด่าเรา  อย่าไปโกรธ  ศัตรูมักจะบอกเรื่องจริงให้แก่เราโดยที่เราไม่รู้  ควรจะปรับปรุงตัวเอง  คนที่รักกันมักจะไม่บอกความจริง  บอกของจริงว่าเราไม่ดี  กลัวเราจะโกรธ  จุดตรงนี้สำคัญ

            ขอสรุปใจความว่า  วันไหนถ้ามีคนมาด่าเรามาก  ถือว่าได้กำไรชีวิต  เราจะได้ไปไตร่ตรอง  โยนิโสมนสิการให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  ถ้าวันไหนมีคนมาสรรเสริญเจริญพรเรา  เขาอยากได้ของเราเขาก็มาว่าเราดีทั้งนั้น  เราก็กลับไปพิจารณาอีก

            การเจริญกรรมฐาน  ถ้าทำได้ตามที่กล่าวจะได้ประโยชน์มาก  โยมจะได้ตั้งใจทำ  ไม่นั่งคุยกัน  เดี๋ยวครูมาสอบอารมณ์  จะไม่มีอารมณ์มาส่งครู  สอบอารมณ์  คือสอบความรู้จากการปฏิบัติกรรมฐาน  ไม่ได้สอบข้อเขียนเหมือนนักเรียน  แต่อาจจะแจกแบบประเมินผลว่าโยมมา ๗ วัน  ไปสวดมนต์ประจำไหม  ก่อนมามีอารมณ์อย่างไร  ตอนกลับมีอารมณ์อย่างไร  ได้ผลกี่เปอร์เซ็นต์  โยมประเมินตนเองได้  ไม่ต้องให้คนอื่นประเมิน

            การประเมินตนเองคือกรรมฐาน  ทำได้หรือไม่ได้  เราก็จะรู้ด้วยตนเอง  เรียกว่าพฤตินัยของชีวิต  เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง  ที่ควรใฝ่หาที่สุด  เรียกว่า  พัฒนาสภาพชีวิตด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน  มีความอดทนกี่เปอร์เซ็นต์  กำหนดเวทนาได้กี่เปอร์เซ็นต์  จะออกบอกมาให้เราอดทน

            เวทนาคืออะไร  สุขก็เป็นเวทนา  ทุกข์ก็เป็นเวทนา  เสียใจ  ดีใจ  ก็เป็นเวทนาทั้งนั้น  ไม่สุข  ไมุ่กข์  เป็นอุเบกขาเวทนา  กำหนดจิตตั้งสติไว้ทุกประการ  มันจะได้กี่เปอร์เซ็นต์ออกมา  ปวดหนอ ๆ ๆ  เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  ดับไป  จะแยกรูปแยกนามได้  อะไรเป็นรูป  อะไรเป็นนาม  ปวดมีตัวตนไหม  อะไรปวด  ที่จี้นี่ขา  ขาเป็นรูป  ความรู้สึกนึกคิดว่าปวดมากปวดน้อยเป็นนาม  จิตเป็นผู้รู้ว่าปวดอย่างไร  เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  ดับไป  เป็นประการใด  สติดีบอกได้ชัดเจน  แยกเวทนาออกได้  มันก็หายไป  จิตไม่กังวล  จิตไม่พะวงสงสัยอีกต่อไป  ชัดเจน  นี่เรียกว่ากรรมฐาน  มีความสำคัญต่อชีวิตของท่านมาก

            ยืนหนอ ๕ ครั้ง  เพื่อทบทวนชีวิต  ถ้าจิตผนวกบวกกับสติได้  ท่านจะรู้วาระจิตของท่าน  เหมือนอย่างอาจารย์จูรี่  ยืนหนอ ๕ ครั้ง  พอสติอยู่กับจิต  เห็นตัวเองเป็นโครงกระดูก  กำหนดยืนหนอ  กลับไปกลับมาอีกเห็นหนอนกินเนื้อหนังหลุดหมดในตัวของเขาเอง  อย่างนี้เรียกว่ากายทิพยอำนาจอยู่ในจิต  มองเห็นร่างกายของตัวเองเป็น  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  นี่เป็นวิปัสสนา  ขันธ์ห้า  รูปนาม  เป็นอารมณ์  เมื่อทำได้เกิดเทพเจ้ามารำอวยพร  บอกลักษณะการแต่งกายได้ถูกต้อง  ฝรั่งไม่เคยรู้  ก็รู้ได้  บอกได้  ถ้าคนไหนทำได้เข้าขั้น ๖๐ เปอร์เซ็นต์  เทพเทวดาที่อารักขาจะมาอวยพร  และจะรู้กฎแห่งกรรมในระยะต่อมา

            อาจารย์จูรี่ระลึกกฎแห่งกรรมได้ที่วัดนี้  ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เขาลืมไปแล้วเมื่อสมัยอายุยังไม่ถึง ๕๐ ปี  ได้เดินทางท่องเที่ยวไปคนเดียว  ที่ประเทศเลบานอน  เขาถูกชาวเลบานอนคนหนึ่งจี้จะข่มขืน  แต่เขามีสติบอกว่า  “ข้าพเจ้ายอมตาย  ยินดีรับใช้กรรม  ถ้าท่านกับเรามีเวรกรรมมาแต่ชาติปางก่อน  ขอให้ท่านฆ่าข้าพเจ้าก่อน  จะข่มขืนข้าพเจ้าไม่เป็นไร  ขอให้ข้าพเจ้าตายก่อน  ถ้าข้าพเจ้ายังไม่ตาย  ข้าพเจ้าจะไม่ยอม  เป็นตายร้ายดีต้องสู้กัน”  แล้วแผ่เมตตาให้  ชาวเลบานอนคนนั้นวางปืน  ยกมือไหว้  ขอจับมือและขอขมา  พาไปปฏิญาณต่อพระเยซูในโบสถ์

            ยืนหนอ ๕ ครั้งเท่านั้น  สามารถรู้กฎแห่งกรรมได้  เป็นการทบทวนชีวิต  โยมรู้ตัวของโยมเอง  หลับตาเห็นตัวเอง  ลืมตาเห็นข้างนอก  เห็นหนอ…  ปลายเท้าถึงศีรษะ  จากศีรษะลงปลายเท้า  จะได้ความว่า  คนนี้นิสัยไม่ดี  อย่าไปคบค้าสมาคม  เป็นความจริงของกฎแห่งกรรม  ขอให้ทำให้ได้ทุกคน

            มีโยมคนหนึ่งเขียนจดหมายมาเล่าว่า  มีลูกสาวคนหนึ่งกำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย  ไปชอบผู้ชายที่มีเมียแล้ว  และชอบดื่มสุรา  ไปอยู่หอพักไม่กลับบ้าน  ลูกชายติดยาเสพย์ติด  และไม่ไปโรงเรียน  แต่เขาและภรรยาไม่เคยด่าลูก  ไม่เคยว่าลูก  และได้ชวนกันมานั่งกรรมฐาน  สวดพาหุงมหากา  อย่างจริงจัง  เคยมาที่วัดอัมพวัน ๓ ครั้ง ๆ ละ ๓ วัน  ต่อมาลูกสาวกลับบ้านทันที  และบอกว่าจะไปเรียนหนังสือให้จบในปีนี้  ลูกชายก็เลิกเที่ยว  เลิกคบเพื่อน  กลับมาช่วยพ่อแม่ทันที  ด้วยอานิสงส์ของพ่อแม่  นี่ชัดเจนมาก  ขอให้บอกกันต่อ ๆ ไป  ไม่ใช่ของปลอม  แต่ปัญหามีอยู่ว่า  ไม่ใช่ซื้อของแลกเปลี่ยนกันในตลาด  คนละอย่างกัน  ต้องทำจริง ๆ เพื่อนบ้านมาถามกันเป็นแถวว่า  ลูกกลับดีได้อย่างไร  ลูกสาวกลับมาช่วยพ่อแม่ได้อย่างไร  เคยเถียงพ่อเถียงแม่คำไม่ตกฟาก  กลับมาสยบ  มายกมือไหว้ขออโหสิกรรม  จะไม่เถียงพ่อ  เถียงแม่  อีกต่อไป  น่าชื่นใจไหม

            การแผ่เมตตาเป็นเรื่องสำคัญ  ถ้าเป็นสายโลหิตเดียวกัน  แผ่ถึงทันทีไม่ต้องเอ่ยชื่อ  บางคนมาบอกให้อาตมาแผ่เมตตาให้แม่ของเพื่อนของลูกศิษย์หน่อย  อาตมาบอกว่าช่วยได้ ๒๐ เปอร์เซ็นต์  เพราะแม่ของเพื่อนนั้นเขาไม่รู้จักอาตมา  เขาก็ไม่สนใจกับอาตมา  ถ้าเป็นคนที่รู้จักกัน  เขามีเรื่องให้แผ่เมตตา  แผ่ได้ง่ายมาก  เขารำลึกถึงเรา  เราก็รำลึกถึงเขา  เท่านี้เองนะ  ได้ผล ๘๐ เปอร์เซ็นต์  แล้วหายด้วย

            งานสำคัญเพื่อชีวิตของทุกคนอย่างหนึ่ง  ซึ่งทำด้วยตัวเองชั่วชีวิต  เพราะเป็นงานกำหนดชะตาชีวิต  ก็คือ  งานพัฒนาตัวเอง  ได้แก่การเจริญพระกรรมฐาน  นั่นเอง

          งานพัฒนาตัวเอง  ได้แก่

                                  (๑)    การสร้างสรรค์สิ่งที่ตัวจำเป็นต้องมี  คือกรรมฐาน  หรือสิ่งที่ตัวควรจะมี  แต่ยังไม่มี  ให้มีขึ้น  คือกรรมฐาน  ให้มีสติสัมปชัญญะขึ้นประจำตัวให้จงได้

                                 (๒)    การปรับปรุงสิ่งที่ตัวมีอยู่แล้วทั้งโดยการกระทำ  ทั้งโดยธรรมชาติ  แต่ไม่เหมาะสม  ด้วยสภาพปัจจุบัน  ให้มีความเหมาะสม  ด้วยการกำหนดจิต  ปรับตัวเองให้เข้ากับเขาได้  นี่คือกรรมฐาน

                                  (๓)    การแก้ไขสิ่งที่ตัวทำผิดพลาด  ไม่ถูกต้อง  ให้มีความถูกต้องตามสภาพที่พึงประสงค์

            งานพัฒนาตัวเอง  เป็นสิ่งที่ทุกคน  ต้องทำด้วยตัวเอง  เพราะไม่มีใครสามารถจะทำให้ใครได้  เหมือนการรับประทานอาหาร  คนที่ต้องการอาหาร  ต้องรับประทานด้วยตนเอง  ไม่มีทางที่จะให้ใครรับประทานแทนได้  การรับการรักษาพยาบาล  เมื่อเวลาป่วยไข้  คนป่วยต้องรับเอง  คนป่วยต้องรับประทานยาเอง  ต้องรับการฉีดยาด้วยตนเอง  แม้มีความจำเป็นจะต้องผ่าตัด  ก็ต้องรับการผ่าตัดเอง  จะลำบากจะเจ็บปวดประการใด  ก็จำต้องทนรับ  จะให้ใครรับแทนไม่ได้  เพราะตนป่วย  คนอื่นไม่ได้ป่วยด้วย

            นอกจากนี้  งานพัฒนาตัวเอง  อย่างการเจริญกรรมฐานเป็นการแก้ปัญหาชีวิต  ทำชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิม  ยังเป็นงานที่ต้องทำตลอดชีวิต  ไม่มีใครทำสำเร็จ  ไม่มีใครทำเสร็จ  จะหยุดพักก็ไม่ได้ต้องทำเรื่อยไป  เพราะเราอยู่กับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  อยู่กับกฎแห่งกรรม  อยู่กับการกระทำ  ไม่มีอะไรแน่นอน  ความเป็นอยู่เมื่อวานนี้หลายอย่างไม่เหมือนความเป็นอยู่ในวันนี้  ในเดือนนี้ปีนี้  ก็มีหลายอย่างที่ไม่เหมือนกับเดือนที่แล้ว  ปีที่แล้ว

            ความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น  ที่ทำให้คนเราและสิ่งทั้งหลายอยู่ได้  ถ้าหยุดเปลี่ยนแปลงเมื่อใด  จะไม่มีใครหรือมีสิ่งใดอยู่ได้ทั้งหมดจะต้องสิ้นสุดยุติทันที  ชีวิตนี้อยู่ได้ด้วยความเปลี่ยนแปลง

            การรู้จักควบคุมการเปลี่ยนแปลง  ให้อยู่ในภาวะที่พึงปรารถนาเป็นลักษณะของการพัฒนา  ได้แก่การพัฒนาจิต  ทำให้จิตเจริญรุ่งเรืองวัฒนาสถาพร  ถ้าจิตไม่ดี  ไม่เป็นการพัฒนาจิตแล้ว  ความเสื่อมเกิดขึ้น  ความเจริญจะไม่เกิดขึ้นแต่ประการใด

            พัฒนา  จึงแปลว่า  เจริญ  คือ สนองความปรารถนาที่พึงประสงค์  การพัฒนาตัวเอง  คือ การเจริญกรรมฐาน  หมายถึง  การปฏิบัติตัวเพื่อให้เกิดส่วนประกอบที่สำคัญของคน ๔ ประการ คือ

                                  (๑)    ธรรมะ  หรือ  คุณธรรม

                                 (๒)    อาชีพ  สุจริต  ยุติธรรม  ซื่อสัตย์  สุจริตด้วยการงานและหน้าที่

                                  (๓)    หน้าที่  มีหน้าที่การงานด้วยความถูกต้อง

                                  (๔)    สังคม  อยู่ด้วยเมตตา  ปรานีอารีเอื้อเฟื้อ  ขาดเหลือคอยดูกัน

   ส่วนประกอบของคนมี ๔ ประการ  เหมือนการเจริญสติปัฏฐาน ๔  ดังที่กล่าวมาได้แก่

                  . กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

                  . เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

                  . จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

                  . ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

            คน  เป็นคนตามความหมาย  เพราะส่วนประกอบสี่ประการนี้  นำไปสู่ชีวิตคนตามวิถีทางของความเป็นคน  เหมือนเรือนมีความเป็นเรือน  สำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้สบาย  เพราะมีส่วนประกอบเรือนครบ  คือมี

                  ๑. เสา   

                  . หลังคา   

                  . ฝา   

                  . พื้น 

            ส่วนประกอบของเรือนทั้งสี่นี้  เป็นประโยชน์ในการอยู่อาศัย  ก็มีเพียง ๓ คือ  หลังคา  ฝา  และพื้น  อีกส่วนหนึ่งคือ เสา  ไม่มีประโยชน์ในการอยู่อาศัยเลย  เพราะไม่มีใครไปทำอะไรได้ที่เสา  นั่งนอนก็ไม่ได้  เก็บวางอะไรก็ไม่ได้  จะทำธุรกิจอะไรก็ไม่ได้

            เมื่อเป็นเช่นนี้  ถ้าจะถามว่า  เรือนไม่ต้องมีเสาจะได้หรือไม่  ทุกคนก็ต้องตอบว่าไม่ได้  เพราะถ้าไม่มีเสาแล้ว  หลังคา  ฝา  และพื้น  จะอยู่กับอะไร  หลังคาก็ดี  ฝาก็ดี  พื้นก็ดี  ต้องอยู่กับเสาทั้งนั้น  ถ้าเสาดี  ส่วนอื่นอยู่ได้  ส่วนไหนชำรุดก็ซ่อมแซมบูรณะได้  ถ้าเสาไม่ดี  ส่วนอื่นจะดีก็อยู่ไม่ได้

            การปลูกเรือนต้องฝังเสาก่อน  คือหลักของคน  และต้องฝังให้ถูกต้องเหมาะสม  จึงจะทำส่วนอื่นต่อไปได้  ไม่มีเสา  หรือมีแต่ไม่ถูกต้อง  ก็ทำส่วนอื่นไม่ได้  เสาจึงเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งของเรือน  ทั้งในการปลูกสร้าง  ทั้งในความมั่นคง  ทั้งในการอยู่อาศัย

            ข้อเท็จจริง  เรื่องเรือนเป็นฉันใด  ข้อเท็จจริงเรื่องคนก็เป็นฉันนั้นแหละ

            ส่วนประกอบของคนที่คนได้พึงอาศัยก็มีเพียง ๓ คือ อาชีพ  หน้าที่ และสังคม  ถ้าเราไม่มีอาชีพเราก็อยู่ไม่ได้  ไม่มีสังคม  เราจะอยู่ได้ไหม  ต้องพึ่งพาอาศัยกัน  ส่วนธรรมหรือคุณธรรมนั้น  คนไม่ได้อาศัยโดยตรง  ประการใด ๆ คือ  ไม่ได้กิน  ไม่ได้ใช้ธรรมะหรือคุณธรรมเลย  แต่ธรรมะหรือคุณธรรม  ก็เป็นหลักสำคัญ  หรือส่วนสำคัญที่สุดของคน ซึ่งจะขาดไม่ได้ จะบกพร่องไม่ได้  เพราะคนที่มีธรรมะหรือมีคุณธรรมเท่านั้น จะสามารถประกอบอาชีพได้สำเร็จ  มีความเจริญมั่นคง  สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เรียบร้อย  และสามารถเข้าสังคมได้  สร้างสังคมสำเร็จ  บริหารสังคมได้ราบรื่น

            คนขาดคุณธรรม  หรือ  มีคุณธรรมไม่พอ  เป็นคนไร้โอกาส  ไร้ความสามารถในทุกกรณี  เรื่องของคนจึงขาดคุณธรรมไม่ได้  ปัญหาเรื่องคน  เรื่องสังคม  ที่สำคัญอยู่ตรงนี้

            การปลูกเรือนจะทำสำเร็จเป็นที่อยู่ที่อาศัยได้  ต้องเริ่มด้วยการทำเสาให้มีลักษณะสมควร  จะเป็นที่รองรับหลังคา  ฝา  พื้น  อย่างมั่นคงก่อน  ถ้าไม่เช่นนั้น  ก็ไม่อาจจะปลูกสำเร็จเป็นที่อยู่อาศัยได้

            การพัฒนาตัวเองด้วยการเจริญกรรมฐาน  ให้มีความเจริญก้าวหน้าพอที่จะเป็นที่พึ่งของตนได้  ต้องเริ่มปลูกฝังธรรมะคือคุณธรรม  ด้วยการเจริญสติปัฏฐานสี่  ให้เกิดผลในตน  โดยมีสติสัมปชัญญะ  เรียกว่า

๑)     ศีลธรรม

๒)    ภูมิธรรม

๓)    จริยธรรม  ตลอดถึงวินัย  ให้มีขึ้นในตน  พอที่จะกำกับอาชีพ  หน้าที่  และสังคมได้  ถ้าไม่เช่นนั้น  ก็ไม่มีทางจะพัฒนาตัวเองสำเร็จได้เช่นเดียวกัน

            ขอทุกท่านได้โปรดยอมรับสัจธรรมอันนี้เกิดด้วยการเจริญกรรมฐาน  จึงจะพบความสำเร็จแห่งความหวังได้  คำว่า “ธรรม”  หมายถึง  พฤติกรรม  หรือ สิ่งที่ให้เกิดอานุภาพคุ้มครองผู้ปฏิบัติให้อยู่ในสถานะที่ดีงามด้วยความมั่นคง  ถ้าหมายถึง  สิ่งที่ให้เกิดความดีงามแก่ชีวิต  เรียกว่าคุณธรรม  ถ้าหมายถึง  พื้นฐานสำคัญของชีวิต  เรียกว่าภูมิธรรม  ถ้าหมายถึง  เครื่องควบคุมวงจรของชีวิต  เรียกว่าศีลธรรม  ถ้าหมายถึง  ระเบียบเพื่อความราบรื่นของสังคม  ซึ่งเป็นที่ยอมรับ  เรียกว่าวัฒนธรรม 

            ธรรมที่จำเป็นพื้นฐาน  ได้แก่

                  . ความรับผิดชอบ  ซึ่งประกอบด้วย

                                                 (๑)    ความรู้จักตน - รู้จักตำแหน่งของตน

                                                (๒)    รู้จักหน้าที่ของตน มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

                                                 (๓)    ความสำนึกว่า  การละเลยต่อการปฏิบัติตามตำแหน่งหน้าที่เป็นความผิดความเสียหาย  ยกตัวอย่าง  เป็นพ่อเป็นแม่  ไม่รับผิดชอบในครอบครัว  จะเกิดความเสียหาย

                  . ความมีวินัย  ได้แก่ 

                                                 (๑)    ระเบียบแบบแผน

                                                (๒)    มารยาท

                                                 (๓)    ประเพณี

            ซึ่งจะทำให้สามารถก้าวหน้าไปตามวิถีทางที่ถูกต้อง  บรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์ได้ทุกประการ

            ชีวิตเริ่มต้นถูก  ดำเนินไปถูก  เพราะความรับผิดชอบ กับความมีวินัย         ถ้าไม่มีทั้งสองนี้  เป็นพื้นฐาน  สิ่งอื่นทั้งหลายจะมีไม่ได้  ซึ่งมีตัวอย่างในปัจจุบันนี้มากมาย  ผู้ที่พัฒนาตัวเองเจริญจิตได้ตามแนวนี้  ย่อมได้รับผลดี  ตามที่ปรารถนา ๔ ประการ ดังต่อไปนี้

                                  (๑)    มีทรัพย์สมควรแก่ฐานะ เพื่อความสะดวกในความเป็นอยู่ ถ้ามีน้อยอาจไม่สะดวก  ถ้ามีมากก็อาจเกิดปัญหา  เป็นที่มาของความเดือดร้อนได้

                                 (๒)    มีเกียรติ  เป็นที่ยอมรับของคนทั้งหลาย  ทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน  การปฏิบัติหน้าที่   ทั้งเพื่อตัวเองและเพื่อส่วนรวมได้  มีประโยชน์มาก

                                  (๓)    มีไมตรี  เป็นที่รักใคร่ของคนทั้งปวง  ทำให้เกิดความราบรื่น  จะอยู่ที่ไหนก็สบาย  จะไปที่ไหนก็สะดวก  จะทำอะไรก็สำเร็จง่าย  มีคนคอยต้อนรับ  ให้ความช่วยเหลือ  ด้วยความศรัทธาเลื่อมใส

                                  (๔)    มีความสบายใจ  ให้เกิดความสดชื่นตลอดเวลา  เป็นยอดปรารถนาชั่วนิรันดรของคนทั่วไป

            ถ้าท่านทั้งหลายเจริญกรรมฐานได้ดังกล่าว  ท่านจะเป็นรูปนี้แน่นอน

            ความสบายใจเป็นจุดมุ่งหมายสุดยอดของคนทั่วไป เมื่อถึงความสบายใจ  ก็เป็นอันถึงหลักชัยของชีวิต  เพราะชีวิตประสบความสำเร็จความสมหวังที่ตรงนี้

            ความสบายใจ คือ  ความปลอดโปร่ง  แจ่มใสของความคิด  มีสติปัญญามองเห็นสิ่งทั้งหลาย  ทั้งที่เป็นสัจธรรม  ทั้งที่เป็นมายาทุกประการ

            ความสบายใจ  จึงเป็นสิ่งที่ควรใฝ่หาของคนทั่วไป  คือการเจริญกรรมฐาน  เพราะเมื่อได้ความสบายแล้ว  ก็เป็นอันได้สิ่งที่ดีที่พึงได้ครบทุกประการ

            ความสบายใจ  เกิดจากทางเดียวคือ  “ความสงบ”  ด้วยการเจริญกรรมฐาน  นตฺถิ สนฺติ  ปรํ สุขํ  ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี  ความสงบมีลักษณะ

                  () เป็นความถูกต้อง

                  () เป็นความปรกติ

            ความถูกต้อง  คือภาวะอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเหมาะสม  ใช้ได้  ก่อให้เกิดความเจริญและ   งอกงาม  ความคงทน  ความสะดวกสบาย  ความไม่มีปัญหา  เป็นธรรมะประการหนึ่ง

            ความถูกต้อง  คือ  ปฏิบัติการที่เป็นไปตาม

                                     (๑) ตำแหน่งหน้าที่  สภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริง

                                    (๒) ระเบียบแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณี

                                     (๓) คุณธรรมที่จำเป็น

                                     (๔) เหตุผล  คือ ภาวะที่ควรจะเป็น

                                     (๕) ข้อเท็จจริง  คือ ภาวะที่กำลังเป็น 

ปฏิบัติการใดที่ไม่เป็นไปตามนี้  ปฏิบัติการนั้นไม่ใช่ความถูกต้องของการเจริญกรรมฐาน  อาจเป็นความถูกใจ  ซึ่งเป็นกิเลสที่เลวร้าย

            ความปรกติ คือ  ความเป็นไปตามกฎธรรมดา  เป็นไปตามวาระตามโอกาส  ตามกาลเทศะ  และตามสภาพ  ซึ่งแต่ละอย่างมีระยะมีอายุมีกฎเกณฑ์ในตัวของมันเอง  ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของมันก็ไม่เป็นไร

            ควรแก้ในสิ่งที่จำเป็นต้องแก้  และสามารถจะแก้ได้  อย่าพยายามแก้ในสิ่งที่แก้ไม่ได้  สิ่งที่แก้ไม่ได้ทิ้งเอาไว้  เอาที่แก้ได้ก่อน  ท่านอย่าไปแก้สิ่งที่แก้ไม่ได้  จะเสียใจต่อภายหลัง

            อย่าเอาสัจธรรมไปปนกับมายาสาไถย  คนเดี๋ยวนี้มีมายาเหลือเกิน  สัจธรรมต้องเป็นสัจธรรม  มายาต้องเป็นมายา

            ทำตนให้เป็นมิตรกับสัจธรรม  เป็นปรปักษ์กับมายา  อยู่กับสัจธรรมเพื่อความยึดถือ  อยู่กับมายาเพื่อความปล่อยวาง  จงรู้สึกว่า  เพราะสัจธรรม  จึงมีมายา  และก็เพราะมีมายา  จึงมีสัจธรรมขึ้นมาแก้

            ชีวิตที่อยู่กับความสงบ  เป็นชีวิตที่มีแต่ความสบายใจ  บริสุทธิ์ใจแจ่มใส  เป็นบ่อเกิดแห่งสติปัญญา  สามารถป้องกันและระงับปัญหาทั้งปวงได้  พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า  จึงให้ทรงชักชวนพุทธบริษัทว่า สตฺติมคฺคเมวพรูหย  ท่านจงเพิ่มพูนทางแห่งความสงบด้วยการเจริญกรรมฐาน  สติปัฏฐานสี่เท่านั้น  ทางอื่นไม่ต้องเพิ่มพูนก็ได้  และทรงยืนยันว่า  นตฺถิ สนฺติ  ปรํ สุขํ  ความสุขที่นอกจากความสงบหามีไม่เพราะมีแต่ความสุขประสมเท่านั้น

            ความสงบตามที่กล่าวนี้  โดยนัยหนึ่ง  แบ่งได้เป็น ๓ ประการ  ได้แก่

                  () ความสงบส่วนตัวคนแต่ละคน  ซึ่งทุกคนควรทำเป็นอันดับแรก

                  () ความสงบส่วนหมู่คณะ  ที่ทุกคนในหมู่คณะควรทำเป็นอันดับต่อมา

                  () ความสงบขั้นสุดยอด  ที่ผู้ปรารถนาควรทำเป็นอันดับสุดท้าย

            การจะไปสู่ความสงบได้นั้น  ต้องปฏิบัติธรรม  ที่อาตมาเสนอในโอกาสนี้ ๖ ประการ คือ

                                     (๑) อัตตัญญุตา  ความรู้จักตนเอง คือ รู้จักสภาพของตนทุกด้าน  ทั้งสภาพความเป็นอยู่ ทั้งสภาพเศรษฐกิจ ทั้งสภาพสังคม ทั้งเพศ ทั้งวัย การงาน หน้าที่ อาชีพ วงศ์ตระกูล สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ ทุกประการว่า  เป็นอย่างไรแน่

                                    (๒) มัตตัญญุตา  ความรู้จักความเหมาะสม  ความพอดีตามฐานะและอัตภาพของตน

                                     (๓) สัจจะ  ความซื่อตรง  ความจริงใจ

                                     (๔) เมตตา  ความรัก  ความปรารถนาดีต่อคนทั่วไป

                                     (๕) สามัคคี  ความปรองดองในระหว่างกันและกัน

                                     (๖) อุเบกขา  ความวางเฉย ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น 

โดยมีหลักเกณฑ์การปฏิบัติ  ดังนี้

                  () ใช้  อัตตัญญุตา  มัตตัญญุตา  เป็นเครื่องสร้างความสงบในตนเอง

                  () ใช้  สัจจะ  เมตตา  สามัคคี เป็นเครื่องสร้างความสงบให้หมู่คณะของตน

                  () ใช้  อุเบกขา  เป็นเครื่องสร้างความสงบชั้นสุดยอดให้แก่ตน  คนที่รู้จักตัวเอง  และรู้จักความพอเหมาะ  เป็นคนไม่มีปัญหาหรือแม้อาจมีปัญหา  ปัญหาก็รบกวนได้ยาก  เพราะเป็นคนไม่ค่อยมีความผิดพลาด  ไม่เสียความปรกติได้ง่าย  แต่ถ้าขาดความรู้จักตนเอง  ขาดความรู้จักพอเหมาะเมื่อไร  ความไม่ถูกต้อง  ความผิดพลาด  บกพร่อง  ความเสียปกติจะเกิดขึ้นทันที  ทำให้มีปัญหา  แม้ไม่มากมาย  แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ปัญหาง่าย ๆ นี่เป็นสัจธรรมที่เห็นกันในปัจจุบัน

                  ความพอใจในสภาพปัจจุบันของตนเป็นแดนแห่งความสงบภายในตนที่ประเสริฐสุด คือกรรมฐาน

            ความรู้จักตนเอง  เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความแจ่มใสของชีวิต  และเป็นมัคคุเทศก์แห่งชีวิตที่ราบรื่นตลอดเวลา  พระพุทธเจ้าเข้าสู่ระบบแห่งความตรัสรู้ที่ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ  คือความรู้จักตนเองอย่างครบถ้วนนั่นเอง  ความรู้จักพอเหมาะให้เกิดประโยชน์ทุกเมื่อ  มัตตัญญุตา  สาธุ ๆ เป็นความจริงที่ใคร ๆ ก็คัดค้านไม่ได้

            อยู่ด้วยกันทำงานด้วยกัน  มีความจริงใจต่อกัน  ซื่อตรงต่อกัน  จะไม่มีปัญหา  ไม่มีความวุ่นวาย  มีแต่ความสงบ  เรียบร้อย

            ความซื่อสัตย์  คือ ความจริง  ความซื่อตรงเป็นรสชีวิตที่ประเสริฐ  ตามพระพุทธดำรัส ที่ว่า  สจฺจํหเว  สาธุตรํ  รสานํ  ความซื่อสัตย์เท่านั้น  เป็นรสประเสริฐกว่ารสใด

            ความเป็นที่เชื่อถือ  เป็นที่ไว้วางใจ  ซึ่งเป็นคุณธรรมสำคัญ  ของคนในสังคม  ก็มาจากความซื่อสัตย์

            ความซื่อสัตย์  ก็คือ  จริงใจ  ซื่อตรงนั้นปรากฏโดยอาการ ๔ อย่าง คือ

                                     (๑) ซื่อตรงต่อหน้าที่

                                    (๒) ซื่อตรงต่อคนทั้งหลาย  มีความเป็นธรรมต่อคนทั่วไป

                                     (๓) จงรักภักดีต่อผู้ใหญ่

                                     (๔) กตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ไม่ว่าใคร ซึ่งเป็นทางประเสริฐของชีวิตชั่วนิรันดร

            ความเมตตา  ปรารถนาดีต่อกัน  เป็นสิ่งสำคัญของสังคมประการหนึ่ง  เพราะ

                                     (๑) ก่อให้เกิดความนับถือกัน

                                    (๒) ทำให้เกิดความช่วยเหลือกัน

            ชีวิตคนในโลกเป็นชีวิตคู่ คือ  เราคู่กับเขา  เขาคู่กับเรา  มีแต่เรา  ไม่มีเขา  เราอยู่ไม่ได้  หรือมีแต่เขา  ไม่มีเรา  เขาก็อยู่ไม่ได้  เราจะสบายได้  ก็เพราะเขาสบายด้วย  เขาไม่สบาย  เราจะสบายคนเดียวเป็นไปไม่ได้  แม้เขาก็เหมือนกัน

            โปรดนึกถึงความเป็นอยู่ที่แท้จริงในครอบครัว ก็จะทราบข้อเท็จจริงนี้ได้

            ความรักกันนับถือกัน ช่วยเหลือกัน เป็นสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ

            สิ่งดีที่สุด  คือการช่วยเหลือกัน  เพราะที่ไหนมีการช่วยเหลือกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ  ที่นั้นคือ  สวรรค์สุขาวดี  มีแต่

                                     (๑) ความสะดวก

                                    (๒) ความสบาย

                                     (๓) ความปลอดภัย

                                     (๔) ความอบอุ่นใจ

            การให้ที่มีคุณมากยิ่งคือ

                                     (๑) ให้เกียรติ

                                    (๒) ให้อภัย

            ฝังอยู่ในจิตใจตลอดนิตยกาล  การเห็นใจผู้ที่ทำผิด  จะทำให้สามารถลดคนทำผิด  และลดปริมาณความผิดลงได้

            ความสามัคคีปรองดอง  เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการสร้างและรักษาความสงบของสังคม

            คนที่อยู่ร่วมกัน  หรือทำงานด้วยกัน  สามัคคีกันไว้จะไม่มีปัญหาเลย  ถ้าสามัคคีกันไม่ได้  มีปัญหาแน่ ๆ คำว่าสามัคคี  หมายถึงมีความคิดถึงประโยชน์ของหมู่คณะ  ซึ่งเป็นประโยชน์ใหญ่ร่วมกัน  เอาประโยชน์ของหมู่คณะเป็นจุดรวมกัน

            ความสามัคคี  ย่อมเกิดจาก

                                     (๑) ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน

                                    (๒) พูดจาอ่อนน้อมอ่อนหวานต่อกัน

                                     (๓) ช่วยเหลือกันในยามยาก

                                     (๔) วางตนเสมอกันในความเป็นอยู่

                                     (๕) ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน

                                     (๖) ไม่ถือความขัดแย้งกันทางความคิด  เป็นเรื่องสำคัญ

                                    (๗) ไม่เอาแพ้เอาชนะกัน  ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด  เพราะชนะเขาก็ต้องได้รับการจองเวร  แพ้เขาก็ช้ำใจ  ไม่แพ้ไม่ชนะใคร  สงบ  สบาย  ไม่วุ่นวายประการใด  ความชนะที่มีคุณค่าคือ  ความชนะใจของตัวเองเป็นคุณค่ามหาศาล

            การที่คนเรา  มีความคิดเห็นไม่ตรงกันหรือขัดแย้งกัน  เป็นเรื่องธรรมดา  เพราะคนเราย่อมมีความคิดเห็นต่างกันได้  ตามสภาพของจิตใจของใครของมัน  ถ้ามีความปรารถนาดีต่อการงานของหมู่คณะ  มีความรักหมู่คณะ  ก็สามารถทำงานด้วยกันได้  ไม่มีปัญหา  เหมือนชอบรสอาหารไม่เหมือนกัน  เป็นเรื่องธรรมดา  มีความรักกันก็สามารถรับประทานร่วมกันได้ด้วยดี  เพลิดเพลินสนุกสนาน  โปรดเข้าใจว่า  คนที่มีความคิดเห็นไม่เหมือนเรา  ไม่ใช่คนเลวทรามเสียหาย  เป็นคนดีเหมือนเรานั่นเอง  การทำให้คนที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน  ทำงานด้วยกันได้  มีความสามัคคีปรองดองกัน  เป็นความสามารถของการปกครอง  และการบังคับบัญชาบุคคลของนักบริหาร  เครื่องวัดความคิดเห็นว่าจะตรงจุดหมายหรือไม่นั้น  ได้แก่

                                     (๑) ระเบียบแบบแผน

                                    (๒) ขนบธรรมเนียมประเพณี

                                     (๓) เหตุผล

                                     (๔) ข้อเท็จจริง

                                     (๕) กฎธรรมดา

                                     (๖) ความยอมรับของมหาชน

            ความสงบชั้นสุดยอด  หมายถึง  ความสงบของจิตใจจากการเจริญกรรมฐาน  คือ  ใจอยู่ในปรกติภาพตลอดเวลา  และอิสรภาพตามธรรมชาติของมัน  เวลามีอารมณ์มากระทบก็ไม่หวั่นไหว  ไม่กระเทือนประการใด  ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  มาถึงก็ไม่ดีใจ  ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์  มาถึงก็ไม่เสียใจมีอุเบกขา  คือ ความวางเฉย หรือความรู้สึกเฉย ๆ  เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาถึง  เมื่อไม่มีอารมณ์เป็นอย่างไร  มีอารมณ์มาถึง  ก็เป็นอย่างนั้น  เป็นเครื่องบังคับ  คือ  สติสัมปชัญญะ

            ท่านสาธุชนทั้งหลาย  การเจริญกรรมฐานจึงมีประโยชน์ในชีวิตของเรา  ทำให้อายุยืนยาวต่อไปได้  และสามารถใช้ชีวิตต่อการงานและหน้าที่ที่ถูกต้อง  ไม่เอาถูกใจเหมือนแต่ก่อนมา  และสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตนี้ของท่านจะเจริญรุ่งเรืองวัฒนาสถาพรต่อไปได้อย่างสมปรารถนาทุกประการ

                        อาตมาได้ชี้แจงมาพอสมควรแล้วด้วยชีวิตต้องการอะไร  เรามาวัดเพื่อต้องการอะไร  ต้องการให้สงบ  ต้องการให้เกิดปัญญา  ต้องการจะแก้ปัญหา  สรุปได้ว่า  กรรมฐานแก้ไขปัญหาได้  ไม่ใช่กรรมฐานแก้กรรมได้  มันแก้กรรมไม่ได้หรอก  ต้องกระทำ  ต้องใช้หนี้กรรมทั้งนั้น  ถ้าเรารู้จริงต้องยอมรับกรรมไม่ปฏิเสธทุกข้อหา  เพราะเราทำกรรมมาก็ต้องรับใช้  อย่าย้อนว่าต้องแก้ได้  เหมือนเขาบอกพอใจกันแล้วไม่ต้องใช้หนี้  นั่นเป็นอโหสิกรรมอีกประการหนึ่ง  ไม่ใช่เรื่องนี้  กรรมฐานจึงเป็นเรื่องการแก้ปัญหาชีวิต  ึงเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในปัจจุบัน

            ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย  อำนาจบุญกุศลทั้งหลาย  โปรดประทานพรให้พุทธบริษัท  ขอให้ท่านจงเจริญด้วยคุณธรรม  สัมมาปฏิบัติในหน้าที่  ตลอดการแก้ปัญหาชีวิตในครอบครัวและในสังคมต่อไป  ขอทุกท่านจงเจริญด้วยอายุ  วรรณะ  สุขะ  พละ  ปฏิภาณ  ธนสาร  สมบัติ  นึกคิดสิ่งหนึ่งประการใด  สมความมุ่งมาดปรารถนาด้วยกันทุกรูปทุกนาม  ณ โอกาสบัดนี้เทอญ  ขอเจริญพรทุกท่าน.

 

 

------------------------------