P14009

รายการ “ชีวิต……ไม่สิ้นหวัง   เติมพลังคนรุ่นใหม่”

ทางไทยทีวีสีช่อง ๓

ออกอากาศ  วันที่  ๙ มกราคม  ๒๕๔๓

เรื่อง

ให้ทานอย่างไรจึงจะได้ผล

พิธีกร

.  รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์  กบิลสิงห์

 

พิธีกร                  อาทิตย์นี้เราจะคุยกันถึงเรื่องนิสัยการทำบุญของคนไทย กราบนมัสการหลวงพ่ออีกครั้งหนึ่งว่า การทำบุญของคนไทย เขามักจะทำและคาดหวังที่จะได้ในชาติหน้า เป็นความคิดที่ถูกต้องหรือเปล่าคะ

 

หลวงพ่อ              เป็นความคิดของเขาเองโดยเฉพาะ เขาคิดว่าทำบุญแล้วต้องได้บุญ อาตมาก็คิดว่าจะต้องได้ แต่จะเห็นได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ เจตนาเป็นตัวกรรมจากการกระทำนั้น การกระทำเป็นการทำบุญ ยกตัวอย่างง่าย ๆ บุญจากการถวายสังฆทาน ถวายผ้าป่า ก็อยากได้บุญทั้งนั้น แต่เจตนาเป็นบุญไหม มันอยู่ที่ตัวเจตนา ถ้าเขาเจตนาตั้งใจทำบุญ เขาก็ได้ของเขา แต่ได้มากได้น้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง บางทีได้ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ บางที่ได้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็มี เพราะบุญมันอยู่ที่ใจ เขาทำนี่บางทีหวังผลตอบแทน อันนี้พูดเฉพาะเนื้อหาที่จะไปสวรรค์ แต่ที่นี้เจตนาของเขาว่าเขาทำบุญเขาต้องได้เพราะมีเจตนา ถ้าทำอย่างเสียไม่ได้ ทำบุญโดยคนอื่นมาชักจูง และ ทำอย่างเสียไม่ได้ ก็ได้เฉพาะที่ทำ ไม่มีงอก เช่นทำ ๕ บาท ก็ได้ ๕ บาท ไม่มีงอก บุญมันงอกที่ใจ ถ้าทำแล้วใจสบาย ทำแล้วชื่นอกชื่นใจ กำลังทำก็ชื่นใจ และ กลับมาแล้วก็ชื่นใจ นี่เป็นบุญแท้ ๆ ของเขา เขาต้องได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เขาทำอย่างไหน ก็ได้อย่างนั้น

 

พิธีกร                   หลวงพ่อคะ จำนวนเงิน กับ บุญ มันจะเท่ากันไหมคะ

 

หลวงพ่อ              จำนวนเงินกับตัวบุญไม่เท่ากันหรอก บางคนพูดหลายนัย บอกทอดกฐินได้บุญน้อย ทอดผ้าป่าได้บุญมาก ทอดผ้าป่าได้บุญเหลือหลายได้ไปสวรรค์นิพพาน เขาลือกันอย่างนั้นเลย ลองมาคำนวณกันดูซิ ทอดกฐินไป ๑๐ ล้าน ทอดผ้าปาไป ๑๐ บาท มันต่างกันแล้ว นี่ ๑๐ บาท มันจะได้มากกว่าล้านหนึ่ง หรือ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรอก แต่เจตนาอย่างหนึ่ง บุญทานที่เราทำ ทำไปแล้วเงินเป็นล้าน ๆ แต่จิตใจไม่สมัครที่จะทำ ทำโดยเสียมิได้ก็มี มันมีหลายอย่าง มันอยู่ที่ใจเขา ดังนั้นขอข้อต่อไปว่า บางคนไม่มีสตางค์ ทำบุญได้ไหม ได้เลย เอากำลังกายไปช่วย เอากำลังใจไปช่วยกัน เอาสติปัญญาไปช่วย เขาเรียกว่า ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนาสาธุการ ได้บุญเท่ากันหมด บางคนลงทุนไปเป็นล้าน ๆ ไม่ได้อะไรเลย ทำแบบเสียไม่ได้ ทำสงเดชไปแล้ว ไม่ได้จบศีลจบทาน ทำไปแล้วไม่ได้นึกถึง ปัตตานุโมทนามัยแต่ประการใด ทำเหมือนการช่วยกันไป แต่ไม่ได้นึกถึงบุญแห่งความสุขในใจเขา เจตนาไม่เป็นบุญเลย เขาจะได้บุญหรือ ก็เรียกว่าเอาเงินไปช่วยเขาเท่านั้น แต่อีกคนหนึ่งยากจนเหลือเกิน ลูกหลานก็ยากจน ไปกันหมดเลย ไปช่วยงานวัดด้วยกำลังกาย เอากำลังใจไปช่วย ใช้สติปัญญาที่จะช่วยเหลือวัดได้ ใครมีกฐินก็ไปช่วย ใครทอดผ้าป่าก็ไปช่วย ใครบวชนาคก็ไปช่วย ใครทำอะไรก็ไปช่วย ในกาลต่อมาหลาน ๆ เป็นดอกเตอร์หลายคน มีตัวอย่างที่สิงห์บุรีนี่ ลูกหลานเป็นดอกเตอร์หลายคน เกิดปัญญาได้ บุญที่เกิดจากความสุขที่เขาไปช่วยมา  มีลูกหลาน เขาก็เลยฝากไปเรียนให้ นี่แหละ บุญสะท้อนย้อนมา บุญสะท้อนย้อนสังคมไปช่วยคนโน้น ไปช่วยคนนี้ เลยเขาก็ช่วยมั่ง ช่วยลูกหลานเข้าโรงเรียน จบจุฬาฯบ้าง ไปอเมริกาบ้าง นี่ทำบุญโดยไม่ต้องใช้สตางค์เลย บุญอย่างนี้เป็นความสุขที่แน่นอน ที่ เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ สรุป ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา สะท้อนย้อนเป็นอานิสงส์ ทำให้ลูกเรียนหนังสือเก่ง เร่งก้าวหน้า กล้า ประหยัด ได้สมปรารถนาทุกประการ ขอเจริญพรอย่างนั้น

 

พิธีกร                   ตั้งคำถามกับหลวงพ่ออีกคำถามนะคะ สมมุติว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งสามีตาย สามีของเขาชอบกินแกงมะเขือมากเลย เขาก็แกงมะเขือมาถวายหลวงพ่อ แต่ว่าหลวงพ่อแพ้แกงมะเขือ หลวงพ่อก็ฉันมะเขือไม่ได้ การที่หลวงพ่อไม่ฉันมะเขือ จะทำให้ผู้หญิงคนนั้นเขาไม่ได้บุญหรือเปล่าคะ

 

หลวงพ่อ              อาตมายังเคยโดนเลย เขาเอาเหล้ามาถวาย เอามาทำไม เขาบอกสามีฉันชอบ ช่วยกรุณาฉันเหล้าให้สามีหน่อย เขาก็ได้ของเขา ได้ตรงไหน แต่ขอเจริญพรว่าจะได้บุญไหม เอาเหล้ามา เอาแกงมะเขือมา อาตมาก็ฉันไม่ได้ แล้วก็ยำไก่ เราไม่ฉันไก่ ฉันเนื้อ เขาจะได้อะไรกลับไป ก็ขอย้อนถามมั่ง ว่าจะได้ไหม เขาจะได้บุญไหม

 

พิธีกร                   เขาได้ตรงเจตนาที่เขามาถวาย

 

หลวงพ่อ              ได้ที่กตัญญูกตเวที เขานึกถึงสามีเขา เขารักสามี เขากตัญญูกตเวทิตาธรรม เป็นผู้มีบุญวาสนาด้วยไม่ลืมสามีเขา ได้ตรงนั้น

 

พิธีกร                   ท่านผู้ชมทางบ้านเคยสังเกตไหม เวลาที่เราถวายอะไรพระ เราต้องเลือกของดีที่สุดมาถวายพระเสมอ แต่บางครั้งของดีที่สุด มันก็ไม่ได้ถูกกับสมณวิสัยนัก ในลักษณะนี้ขอคำอธิบายจากหลวงพ่อว่า เขาเอาของดีประเสริฐ เลอเลิศมาถวาย แต่ว่าจริง ๆ แล้วเป็นพระก็ใช้ไม่ได้ หลวงพ่อจะรับหรือไม่คะ

 

หลวงพ่อ              คืออย่างนี้ ต้องพูดอย่างนี้ก่อน คนที่จะเอาของมาถวายพระนั้น ต้องเป็นของดีของเขา แต่ไม่ใช่ของดีของพระ ของดีของเขาเอง ขาทนียะ โภชนียะ อันประณีต พระพุทธเจ้าสอน เช่น พราหมณ์เอาภัตตาหารมาถวายพระพุทธเจ้า โดยจัดขาทนียะ โภชนียะ อันประณีต มาถวาย พระองค์ก็ฉลองศรัทธา แต่ของดีของเขานั้น เฉพาะในบ้านเขา แต่ไม่ใช่ภัตตาคาร มันของดีในบ้าน บางคนเขาอาจทำน้ำพริกดีของเขา หรือ ทำน้ำปลาร้าแบบคนไทย หรือ คนลาวที่เขาชอบปลาร้า อย่างดีของเขาเอามา นี่เรียกว่า ขาทนียะ โภชนียะ อันประณีต สำหรับทายก แปลว่าอะไร ทายกแปลว่า ผู้ถวายเป็นผู้ศรัทธา อาตมาเป็นพระภิกษุเรียกว่าอะไร เรียกว่า ปฏิคาหก รับทานของทายกโดยเคารพ เขาก็ได้บุญ เรียกว่า ถวายขาทนียะ โภชนียะ โดยประณีตแล้ว พระสงฆ์ก็รับของทายกโดยเคารพ แต่ฉันไม่ได้ อาตมานี่ไม่ฉันเป็ด ไก่ หรือ เนื้อ แต่เขามาถวายก็ต้องรับโดยเคารพ แต่ฉันไม่ได้ แต่เขาก็ได้ของเขา โดยเขาทำอย่างประณีต ทำด้วยความตั้งใจ และ เราก็รับด้วยความตั้งใจ แต่เราก็ฉันไม่ได้ เรามีสัจจะเราจะไม่ฉันเนื้อสัตว์ อย่างนั้น เราก็ไม่ฉัน เราก็ไม่เสียหาย ขอเจริญพรอย่างนั้น

 

พิธีกร                   พระบางรูปนะคะ ถือมังสวิรัติ หากมีคนเอาเนื้อสัตว์มาถวาย จะทำตัวอย่างไร

 

หลวงพ่อ              ถ้าหากเขาไม่ทราบก็มีปัญหาแล้วนี่ เพร่า เนื้อสัตว์พระพุทธเจ้ามิได้ห้าม เพราะเทวทัตไปขอพระ ๕ ประการ ซึ่งได้แก่

๑.     พระต้องอยู่ป่าตลอดชีวิต

๒.    พระต้องบิณฑบาตตลอดชีวิต

๓.    พระต้องถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต

๔.    พระต้องอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต

๕.     พระต้องฉันมังสวิรัติตลอดชีวิต

พระพุทธเจ้าบอกว่าแล้วแต่ จะอยู่บ้านก็ได้ อยู่ป่าก็ได้ ปฏิบัติให้อยู่ในพระธรรมวินัยที่พระองค์บัญญัติไว้เท่านั้น แต่ถ้าหากเขาเอาพวกเนื้อ ไก่ หรือ เนื้ออะไรมาถวาย มียังไงก็ฉันอย่างนั้น เป็นการดำรงชีวิตของพระภิกษุ ภิกษุแปลว่าอะไร แปลว่าฝากชีวิตไว้กับผู้อื่น ภิกษุแปลว่า อยู่ง่ายกินง่าย โยมมีเกลือฉันเกลือ มีมะเขือฉันมะเขือ ไม่มีไม่ต้องฉัน นี่พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ เลยก็มีแนวความคิดว่า ภิกษุว่านอนสอนง่ายมีอะไรก็ฉัน ไม่มีก็ไม่ฉัน จะมีอะไรมาก็ได้ โยมเขามีประเพณีบ้านไม่เหมือนกัน บางทีเขามีเนื้อสัตว์มา เรานี่มังสวิรัติไม่ฉันเนื้อสัตว์ เราก็รับได้ แล้วไม่ฉัน แต่เขาก็ได้บุญเหมือนกัน เขาไม่รู้นี่ แต่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าห้ามว่าพระไม่ฉันเนื้อสัตว์ มีวินัยอยู่ในข้อไหน มีแต่พระเทวทัตมาบอกไม่ให้ฉัน เพื่อจะเอาอิทธิปาฏิหาริย์เพื่อจะเอาเหนือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าต้องไม่ให้แน่นอน พระพุทธเจ้าก็อยู่ง่ายกินง่าย ว่านอนสอนง่าย เสด็จไปบ้านใคร เขามีอย่างไรก็ฉันอย่างนั้น เกลือก็ได้ มะเขือก็ได้ หรือเขามีเนื้อย่าง ซึ่งมันมีอยู่แล้ว เขาไม่ได้ไปฆ่าสัตว์ หรือพระภิกษุไปโปรดที่บ้าน ไม่รู้จะทำอะไรก็เอาไก่มาฆ่า มองเห็นปั๊บ ฉันไม่ได้เลย ฉันเป็นอาบัติโทษอย่างร้ายแรง ก็ไปส่งเสริมให้เขาฆ่าไก่ เพราะเราหรือเป็นบาปอย่างร้ายแรง จึงฉันไม่ได้ ขอเจริญพรอย่างนี้

 

พิธีกร                   ท่านผู้ชมคะ ทานคือการให้ มันมีหลายรูปแบบ ทั้งหมดที่เราพูดมาเป็นวัตถุทานทั้งหมดเลย ขอเรียนถามหลวงพ่อว่า ยังมีทานอะไรอื่นอีกที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับสั่งว่าเป็นทานที่ประเสริฐที่สุด ทานที่ประเสริฐที่สุดมีอะไรบ้าง

 

หลวงพ่อ              ทานมีหลายทาน การให้ทานกับคนที่ต้องการ คนที่ไม่มีเราเอาไปให้เขา ยกตัวอย่างคนกำลังจมน้ำ เราช่วยเขาเราได้บุญ นี่เป็นทาน ประการที่สอง เขาไม่มีข้าวปลาอาหารรับประทาน เราเอาไปให้เขา นี่ก็เป็นทานอีกอันหนึ่ง ทานทั้งนั้น แต่คนที่ยากไร้ยากจน ไม่มีผ้าผ่อนห่ม เราก็เอาผ้าห่มไปให้ ก็เป็นทานอันหนึ่ง ก็ช่วยเหลือกันไป ตามตำราเรายิ่งให้ยิ่งได้ หวงอดหมดไม่มา ทานอะไรไม่ล้ำเลิศประเสริฐเท่ากับให้ความดีเป็นทาน หรือ ให้ธรรมเป็นทาน เราช่วยให้เขาเป็นคนดี ดีที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นทานอะไรหนอ ทานน้ำใจใสสะอาด ปราศจากมลทินที่เราให้จะประเสริฐเท่ากับให้ธรรมะ ให้ธรรมะเป็นทาน นี่ประเสริฐที่สุด ทำคนให้เป็นคนดี ให้ละชั่วประพฤติดี รักษาจิตผ่องใส ใจสะอาดหมดจด นั่นแหละทานชั้นสูง การปฏิบัติธรรมก็เป็นทานชั้นสูง ถ้าเรามีโอกาสชี้แจงให้เขาปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาได้ ก็เป็นทานที่ดีกว่าการแจกหนังสือ ถ้าเขาปฏิบัติได้ก็เป็นทานอันประเสริฐจริง ให้โจรเป็นคนดีได้ ให้คนชั่วเป็นคนดีได้ และให้คนไม่มีความรู้มีความรู้มีวิชาได้ เป็นทานที่ประเสริฐ

 

พิธีกร                   ท่านผู้ชมทางบ้านเคยตั้งคำถามอย่างนี้ว่า เราเป็นเจ้าภาพบวช นาย ก. เป็นพระ เสร็จแล้วพระก็ไม่ได้ทำตัวดี ไม่ได้เป็นพระที่ดี เราจะได้บาปไหมคะหลวงพ่อ

 

หลวงพ่อ              ไม่บาป เราไม่ได้บาป เราบวชพระเราได้บุญ เราตั้งใจเจตนาบวชพระ แต่เราก็ไม่รู้นี่ว่าพระท่านปฏิบัติอย่างไร และพระดีชั่วเราไม่รู้เราต้องได้ สาธุก็ได้แล้ว สุทินนัง วตะ เม ทานัง ปริสุทธิทานัง อาสวักขยาวหัง นิพพานังโหตุ เราได้แล้ว จบผ้าไตรได้เลย ได้เดี๋ยวนี้ด้วย แต่ยังไม่บวชก็ได้แล้ว เจตนาที่จะบวชพระสักองค์ได้แล้ว มันใจสบาย มีความสุข ถ้าเราตายเดี๋ยวนี้ไปสวรรค์แน่นอน ไม่ไปนรกหรอก แต่บวชแล้ว พระไปทำไม่ดี ก็เป็นเรื่องของท่าน อย่าไปคิดมัน ยกตัวอย่างอีกอันหนึ่ง พระมาบิณฑบาตที่หน้าบ้าน เป็นพระที่เราเข้าใจว่าประพฤติปฏิบัติไม่ดี ไม่ใส่บาตร อย่างนี้เราไม่ต้องหาพระที่จะทำบุญแล้ว อย่าไปคิดมัน นุ่งเหลืองมาก็สาธุ สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ สังฆัง นมามิ แล้วใส่บาตร ข้าพเจ้าทำบุญใส่บาตรกับพระสุปฏิปันโนผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบแล้ว เราก็สาธุ เราได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พระ ท่านจะเอาไปอย่างไร ช่างท่านเถอะ แม้บางคนจะทำบุญสักทีทำยาก พระองค์นี้ก็ไม่เอา องค์นั้นก็ไม่เอา แล้วจะไปหาพระที่วัดไหน พระที่ไหน พระเมืองไหน ไปหาพระที่เมืองศรีลังกาหรือ ค่าเครื่องบินก็ไม่พอ จะพระองค์ไหนมาก็ใส่บาตรไปเถอะ ก็เราตั้งใจแล้ว ขอเจริญพร พี่น้องชาวไทยใส่บาตรไป มาหน้าบ้านก็ใส่บาตรไปเถอะ พอเห็นเหลือง ๆ ก็ สาธุ อย่าไปว่าพระได้ไหม ไม่อย่างนั้นก็ไม่ได้ทำบุญ ไปจนกระทั่งตาย เห็นเณรก็ใส่ไปเถอะ เห็นเดินมาก็สาธุ เป็นสุปฏิปันโน ทั้งนั้น เราได้บุญ

 

พิธีกร                  ท่านผู้ชมคะ ตรงนี้เป็นปัญหาในภาคปฏิบัติของเราจริง ๆ นะคะ เราจะคิดอย่างนั้น ว่าหลวงพี่องค์นี้เดินเวียนเทียน หมายความว่าอาหารที่ใส่บาตรนำไปขายต่อ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ทำบุญด้วย แต่ทีนี้หลวงพ่อก็ให้หลักของการทำบุญ ว่ามันอยู่ที่ใจ เราสนับสนุนพระสุปฏิปันโน พระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ถ้าหากท่านปฏิบัติไม่ดี ไม่ชอบก็เป็นเรื่องของพระไปนะคะ คำถามสุดท้าย ขอกราบเรียนถามอีกคำถามหนึ่ง คือ เรามักจะทำบุญด้วยอาหารที่คนตายชอบกิน เป็นการปฏิบัติถูกต้องหรือเปล่าคะ

 

หลวงพ่อ              มันก็ถูกบ้าง ไม่ถูกบ้าง มีทั้งถูกและไม่ถูก ถ้าของที่คนที่ตายชอบกิน    แล้วหาไม่ได้จะทำอย่างไร เผื่อคนตายชอบในสิ่งที่ในประเทศไม่มี ก็ตายนะซิ ถ้ามีก็ถวายพระไป ถ้าไม่มีจะเอาที่ไหน ไม่มีก็เอาอาหารที่เราชอบหรือเรามีก็แล้วกัน การทำนี่ ขอเจริญพร สามีตายไป หรือ ภรรยาตายไป เราก็ไม่แน่ใจว่าจะได้หรือเปล่า ถ้าสามีภรรยาไปเกิดบนสวรรค์ ได้แต่รับทราบเฉย ๆ ภรรยาทำบุญมาให้ ก็อนุโมทนาให้พรมาเท่านั้น แต่สามีภรรยาของเราตายไปลงโลกันต์ ไปนรกเลย ห้ามสวรรค์นิพพาน ทำบุญไปให้ก็ไม่ได้ ไม่ได้รับเลยนะ

 

พิธีกร                   ท่านผู้ชมคะ ในการทำบุญนั้น เราต้องคิดถึงหลักทางสายกลาง ไม่ใช่ไปยึดมั่นถือมั่นสุดกู่ เรายังปฏิบัติผิดพลาดกันอยู่ หรือ ว่าคิดในการทำบุญผิดพลาดกันอยู่ ต้องขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง ที่ให้แนวที่ชาวพุทธควรปฏิบัติให้ถูกต้อง