ความเสื่อม

 

พระเทพสิงหบุราจารย์

P16013

 

การเจริญกัมมัฏฐานเราจะต้องแยกแยะตัวเองออก  ธาตุทั้งสี่  อาการสามสิบสอง  มันไม่มีอะไรนอกเหนือจากนั้น  หากเราไม่มีโอกาสสร้างความเพียรได้นั้น ขอเจริญพรว่า ดียาก  ชาตินี้ทั้งชาติ  ถ้าเรามีความเพียรสูงแบบพระพุทธเจ้า  ซึ่งต้องบำเพ็ญบารมีมาตั้ง ๘๐ อสงไขย ประลัย      แสนกัป กัปหนึ่งมี  หมื่นปี  ไม่ใช่ของง่าย  แต่เราก็ทำของยากให้เป็นของง่าย   เพราะการปฏิบัติธรรมนี้  ลึกซึ้งมาก  ถ้าจิตใจไม่กวัดแกว่ง สมาธิดี  เราจะรู้ของจริง  ว่าของจริงนั้นคืออะไร  ของจริงนั้นคือ  ความยาก  ความลำบาก  ของปลอมนั้นของง่าย 

เพราะฉะนั้นการปฏิบัตินี้ พูดได้ง่าย  แต่ทำยาก  แต่เวทนาที่มันเกิดกับตัวเรานั้น มันเป็นผลงานของชีวิตเรา ที่เราต้องเกิดมาในสากลพิภพ พระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ต้องการเกิด  ต้องการสอนชาวโลกให้หมดไปจากกองทุกข์นานา ประการ  ความสุขที่แท้จริงที่ไม่มีทุกข์เจือปน คือ ความสุขที่เราไปนิพพาน สมปรารถนาที่เราตั้งใจไว้ทุกประการ 

ฉะนั้น การสร้างความดีต้องยากมาก  ต้องเหนื่อย และเมื่อยล้า  สร้างความชั่ว นั้นสบาย และเข้าใจผิดว่าเป็นความดี  ความเจริญได้มาจากความทุกข์  ต้องเหนื่อย ต้องทำงานแสนสาหัส  เช่น อาตมานี้  กว่าจะทำให้วัดอัมพวันเป็นได้เช่นในปัจจุบันนี้ได้ ซึ่งเมื่อก่อนวัดนี้ มีแต่ป่าดง  กุฏิก็เป็นไม้งิ้ว ไม้ฉำฉา  โบสถ์ก็จะพัง  ศาลาก็จะพัง  นี่แหละของเสีย จะทำให้ดีก็แสนจะยาก จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกว่าจะเจริญรุ่งเรือง  มาจากความเสื่อมอันนี้  เพราะวัดนี้เจริญขึ้น แล้วก็เสื่อมลง  เสื่อมลง แล้วก็เจริญขึ้น  เหมือนคนเรา  เมื่อเจริญแล้วก็ต้องเสื่อม ท่านทั้งหลายอย่าประมาท  เวลาเราเป็นหนุ่มเป็นสาวก็เจริญ  เวลาแก่ชราก็ลำบากกันไป  ไปบ้านใครที่มีลูกหลานมาก จะไม่มีความสุข มีแต่ทุกข์ยากลำบาก ถ้าไปได้ลูกหลานไม่ดี  ไม่มีความสุขที่แท้จริง  ถ้าเราปลดเปลื้องความทุกข์ออกจากตัวเราได้  เราก็สามารถมีความสุข  เราถึงพูดได้ว่าเงินทองซื้อความสุขไม่ได้  ซื้อความดีก็ไม่ได้  ซื้อความสำเร็จก็ไม่ได้ 

ฉะนั้นคนเรานี้  มีเพียง หนึ่งเปอร์เซ็นต์  ที่จะสนใจในความเพียรอันนี้  คนเราที่เพี้ยนไปไม่ว่าพระสงฆ์องค์เจ้า  ก็เพราะรู้ไม่จริง  และเพียรไม่จริงไม่มีบารมีในตัวเอง  มันก็เพียรไปตามสภาพ  เพี้ยนไปตามภาวะของเขาเหล่านั้น  อาตมามาอยู่ที่วัดนี้เป็นเวลา  ๔๐ กว่าปีแล้ว  สร้างไปไม่รู้หมดไปกี่ร้อยล้าน  ไอ้โน่นพัง อันนี้พัง ต้องทำไป  เห็นหรือไม่ว่ามันเสื่อม ไม่มีอะไรเจริญ  มีแต่ทางเสื่อมโทรม  ถ้าสร้างมาก ก็เสื่อมมาก  เหมือนสังขารของเราไม่เที่ยงหนอ  มีแต่เสื่อม  ไม่มีอะไรจะกลับมาที่จะเจริญอีกแล้ว  เพราะฉะนั้นเราต้องทำจิตใจของเราให้เจริญ  สังขารมีแต่หมดไป ไม่เจริญแน่นอน  แต่เราสามารถทำจิตใจให้มั่นคงได้  ทำให้มีสติ  สร้างความอดทนในจิตใจ  ชีวิตนี้จะมั่นคงในโอกาสข้างหน้าแน่นอน 

การเจริญกัมมัฏฐานเป็นการช่วยตัวเองได้แน่นอน  เมื่อทุกข์เราก็แก้ทุกข์ กำหนดทุกข์  เมื่อมีความสุขก็ไม่แน่นอน  เราก็ต้องกำหนดความสุข  ปลงให้ตกถึงความสุขเหล่านั้น  ได้เงินได้ทองมามากมาย อย่าถือว่าเป็นความสุข  นั่นแหละเป็นความทุกข์โดยไม่รู้ตัว  จิตของเรานี้ ที่กำหนดขวาย่างหนอ  ซ้ายย่างหนอ  จิตมันเกิดดับ  เกิดดับ  แต่เรามองไม่เห็น  ถ้าเรามีสติครบวงจรของเขา เราจะเห็นอาการเกิดดับเหล่านั้น  เช่น ขวาย่างหนอ พอหนอจิตมันก็ดับไปเลย  จิตดวงอื่นมันจะเกิดเป็นซ้าย..ย่าง..หนอ แล้วจิตนั้นก็ดับ แล้วจิตเกิดเป็นขวาย่างหนอต่อไป เช่นนี้   ถ้าหากเขาด่าเขาว่า ให้ตั้งสติไว้  เดี๋ยวเสียงมันก็ดับไป  แต่ถ้าเราไปเอาเสียงด่าที่ดับไปแล้วมาใส่ไว้ในหู  ซึ่งหูนี้มันเป็นสื่อไฟฟ้า  ถ้าหูหนวกเราก็จะไม่ได้ยิน  นี่แหละจิตไม่เดิน กระแสไฟไม่เดิน  กระแสไฟก็คือ จิตเรานี้เอง  บางคนบอกว่าจิตอยู่ที่สมองนั้นไม่ใช่  มันเป็นเครื่องกลั่นกรอง  เมื่อจิตเข้าไปแล้วมันถึงจะกลั่นกรอง  แต่ถ้าเครื่องกลั่นกรอง คือสมองนี้มันเสีย  เวลาคิดอะไรมันตื้อ แสดงว่าเครื่องมันเสีย  ไม่ใช่จิต  ถ้าเราทำจิตดี  อารมณ์ดีแล้ว  อวัยวะดีหมด  จิตนี้ช่วยสังขารได้บางส่วน ถ้าจิตดี สังขารก็แข็งแรง  แต่ก็ช่วยได้ไม่ทั้งหมด มันก็ต้องมีเสื่อมกันไป  หมดสภาพไป  แต่จิตไม่หมดสภาพไปด้วย  ถ้าเราไม่ฝึกจิตให้ดีแล้ว มันหมดสภาพจริงๆ  เมื่อสังขารเสื่อม จิตก็เสื่อมไปด้วย

คนที่ไม่รู้ไม่เข้าใจคิดว่า การทำกัมมัฏฐานเพื่อให้ได้ไปสวรรค์ ไปนิพพาน   ข้อเท็จจริงแล้วที่พระพุทธเจ้าไปหามาให้เรานี้  ต้องการให้เราแก้ปัญหาของใครของมัน  ต้องการจะให้พ้นทุกข์ ไม่ต้องการจะให้เอาความทุกข์มาไว้ในใจ  แต่แล้วเราก็ไปสร้างแต่ความทุกข์ความยุ่งยากวุ่นวายตามอารมณ์ของตน  เพราะฉะนั้นอารมณ์ของเรานั้นจึงไม่เหมือนกัน  ทิฐิสามัญตา ไม่เหมือนกัน  คือมีทิฐิ มานะ ไม่เหมือนกัน  มีความเห็นตรงกันข้าม  คนเราจึงมีความเห็นไม่เท่ากัน และนิสัยไม่เหมือนกัน

คำว่านิสัยตัวนี้ เป็นแบบอย่าง  คำว่าแบบอย่างนี้มันติดมาแต่ชาติก่อน  ติดมากับจิตใจ  ไม่ใ่มาหัดเอา  บางคนว่าจะต้องหัดให้เป็นนิสัยแบบโน้น  แบบนี้  ก็จริงเหมือนกัน  แต่หากว่านิสัยเดิมนั้น มันจะติดมาตั้งแต่ชาติก่อน  นิสัยของคนที่ติดในวิญญาณ มาจากชาติก่อนแท้ๆ  มาในชาตินี้เปลี่ยนแปลงได้  ไปเจอในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี  คำว่าที่ว่าเกิดที่บ้านดี  บ้านไม่ดีนั้น  มาจากกฎแห่งกรรม การกระทำของเราเมื่อชาติก่อน  ที่เคยมาเป็นญาติเป็นพี่น้องกัน หรือเคยมาเป็นศัตรูกัน  มาจากชาติก่อนแล้ว  ไม่ใช่จากชาติปัจจุบันนี้  เช่นฆ่ากันตายในวงญาติ     เมื่อชาติก่อนไม่ได้เป็นพี่น้องกัน  ไม่ใช่ท้องเดียวกัน  ต่างคน ต่างมา มาสร้างเวรสร้างกรรมในชาตินี้  เหมือนเจ้านนทุก กับพระนารายณ์  ที่ต้องมารบรากันในพื้นภาคมนุษย์  ก็เพราะกฎแห่งกรรมเมื่อชาติก่อน เจ้านนทุก แต่เดิมไม่ใช่ยักษ์ เป็นลูกไล่ของเทพเจ้าในสรวงสวรรค์  ความดีความชอบที่ นนทุก ได้ทำไว้นั้น  พระอินทร์จึงให้นิ้วเพชร ตอบแทนความดีที่ นนทุก ได้ทำไว้   นิ้วเพชรใช้ชี้เทวดาตายหมดเลย  นนทุก มีความแค้นเคืองเทวดาที่เคยเขกหัว  คิดจะฆ่าเทวดาให้ตาย   จึงเหิมหึกไปด้วยความประมาท  พระอินทร์จะสาบก็ได้   แต่ทำไม่ได้เพราะนิ้วเพชรนั้น ท่านเป็นคนให้มา  แล้วท่านจะมาทำลายของท่านได้อย่างไร 

พระอินทร์ให้นิ้วเพชรแก่ นนทุก เพื่อเป็นอำนาจวาสนาในชาติต่อไป  แต่เจ้านนทุก ไม่ได้คิดอย่างพระอินทร์  คิดแต่จะฆ่าเทวดาอย่างเดียว  พระอินทร์จึงส่งพระนารายณ์มาปราบ แต่พระนารายณ์ก็เกรงกลัว นิ้วเพชร เพราะเป็นพรของพระอินทร์  พระนารายณ์ก็มาคิดพิจารณาดูว่า ถ้าจะไปต่อกรกับนนทุก  ก็จะสู้นนทุกไม่ได้  ถึงจะมีฤทธิ์ มีสี่กร  ก็ต้องแพ้ฤทธิ์ของนนทุก ที่พระอินทร์ให้พรมา 

คำว่า “พร” นี้  เมื่อให้แล้ว จะถอนไม่ได้มันเป็นบาป  พ่อแม่ที่ให้พรลูกให้มีความรุ่งเรือง แล้ว  พอโมโหจะถอนพรก็จะถอนไม่ได้  จะเป็นบาปอย่างร้ายแรง  แต่พ่อแม่สมัยนี้ทำได้  พอโมโหไม่พอใจ ก็แช่งลูก ขับไล่ลูกออกจากบ้านไป  พ่อแม่สมัยนี้ทำได้  แต่พระอินทร์ท่านทำไม่ได้  ให้พรแล้วจะมาถอนไม่ได้  เพราะฉะนั้นกัมมัฏฐาน ก็สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้อีกอันหนึ่ง  เราจะได้รู้ว่าเราได้รับพรมาจากชาติไหนบ้าง  พระอินทร์ท่านจึงเสียใจคิดว่า เขียนด้วยมือ แล้วจะลบด้วยเท้าไม่ได้  ท่านจึงให้ผู้อื่นไปปราบ  พระนารายณ์จึงแปลงเป็นผู้หญิง  เพราะนนทุก  ชอบผู้หญิง  นนทุก มันเป็นยักษ์  เป็นอสูร  จึง โทสะ  โมหะ เต็มตัวมัน  พระนารายณ์ แปลงเป็นผู้หญิง แล้วบอกรักกับ นนทุก  แล้วร่ายรำล่อไปล่อมา ทำให้ นนทุก ชี้ที่อกตัวเองทำให้อกแตก  ก่อนตายจึงเห็นเป็นพระนารายณ์ จึงผูกใจเจ็บ จึงบอกพระนารายณ์ว่า ท่านข่มเหงผู้น้อย  ท่านมีตั้งสี่มือ เราเป็นผู้น้อยแท้ๆ ทำไมต้องฆ่าเรา  คำนี้จึงเป็นการผูกพันกันอย่างเป็นศัตรูกัน พระนารายณ์จึงได้ประกาศไว้ว่า ในชาติต่อไปขอให้ นนทุก ไปเกิดเป็นยักษ์ คือ ทศกัณฐ์ สิบเศียร ยี่สิบกร   เราจะไปเกิดเป็นมนุษย์ที่มีแค่สองมือ(คือพระนารายณ์)  ไปต่อกรกันในสนามรบ 

อสูรมาหลงไหล ผู้หญิงร่างแปลงของพระนารายณ์ ด้วย ราคะ โทสะ  โมหะ เป็นหลักการที่พระพุทธเจ้าสอนนัก สอนหนา ว่า ความรัก ทำให้อกแตก  ตาบอด หูหนวก  บางคนพูดว่าความรักแพ้ใกล้ชิด  ข้อเท็จจริงความรักไม่เป็นเช่นนั้น  ถ้ารักต้องประกอบด้วยเมตตา ปราณี  อารี  เอื้อเฟื้อ ขาดเหลือ คอยดูกัน  นั่นเป็นรักแท้ รักด้วยการให้  ไม่ใช่รักด้วยความเสน่หา แต่ความรักนี้  ธรรมะ เรียกว่า เมตตา  ความปรารถนาดีต่อทุกคน  ไม่มีเจตนาร้าย  ไม่ใช่ความรักด้วยราคะ กามตัณหา  แบบยักษ์  อันนี้เป็นมารร้ายประจำตัวทั้งหญิงและชาย  กัมมัฏฐานบอกได้ชัดเจนมาก  คนโบราณยังกล่าวให้ฟังว่า  ความรักแท้แพ้ใกล้ชิด  หมายว่า ใกล้ชิดตัวนี้คือญาติ  ญาติแปลว่าช่วยเหลือกัน  ไปมาหาสู่กัน  ช่วยเหลือกันได้  บางคนเป็นพี่น้องกันแต่ไม่เคยใกล้ชิดกันเลย  ห่างเหินกันราวกับฟ้าดิน  ความรักนั้นจึงไม่ใช่ญาติ  พี่น้องบางคนต้องฆ่ากัน ก็เพราะไม่ใช่ญาติ 

บางทีเราเป็นญาติกันแท้  แต่กลับมาด่ากัน  มาแช่งกัน  ฆ่ารันฟันแทงแย่งสมบัติพัสถานกัน  ก็ต้องเป็นศัตรูกันในชาติหน้าต่อไป  เหมือนกับพระนารายณ์ กับ นนทุก  ถ้าท่านทำกัมมัฏฐานให้ถึงขั้น  ท่านจะรู้ความลำบากของท่านในอดีตชาติ  พอเข้าถึงขั้นแล้วจะรู้ว่า ความรู้ คือความเมตตาอย่างไร  ตัวศัตรูของชีวิต คืออะไร  มันเป็นศัตรูของเราแน่นอน มันอยู่ในตัวเรานั่นเอง  ไม่ใช่คนอื่นมาเป็นศัตรู  เรานั่นเป็นศัตรูของตัวเอง  ถ้าเราได้สติปัญญาท่านจะรู้ได้เลย แล้วจะไม่เป็นศัตรูกับตนเอง  จะไม่โกหกตัวเอง  และจะไม่โกงตัวเอง  คิดถึงวันตายอยู่ตลอดเวลา  นี้คือกัมมัฏฐาน  ไม่ตัดรอนไม่บ่อนทำลายตัวเอง  ร้ายที่สุดคือโกงตัวเอง กล่าวคือ เราสร้างความดีมานานแล้ว จะสร้างความชั่วในตัวเองอีก  นี่คือการกำหนดจิต  ต้องการตรงนี้  การให้สติทุกลมหายใจเข้าออก

ชีวิตนี้เกิดมาได้ยากมาก  อะไรจะได้มาอย่างง่ายๆ  คนเราเกิดมารูปร่างโสภี  โสภา  ถ้าคิดไม่ดี  จิตใจมันก็ผันแปรเปลี่ยนแปลง  ทำให้รูปร่างของเราในอนาคต  ไปเกิดใหม่ไม่ดีเลย  แน่นอน ถ้าหากเราเกิดมาชาตินี้ไม่สวยเช่นคนอื่น ก็เป็นเพียงรูปธรรม  นามธรรม จะคิดให้มันสวยแบบนั้นแบบนี้ คงเป็นไปไม่ได้  ทำมาอย่างไรได้อย่างนั้น  กัมมัฏฐานทำให้อารมณ์ดี  ทำให้มีสติ  เกิดชาติใดฉันใดก็จะมีรูปร่างสวย  มีทรัพย์  นับวิชา  มีมารยาท  ชาติผู้ดี มีศีลธรรม  ถ้าอารมณ์ร้ายจะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ เป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้  สภาพชีวิตก็หมดไป 

มารซื่อ คือ พิเภก มีอยู่ตัวเดียว  ในตัวเราก็มียักษ์  และในตัวเราก็มียักษ์ซื่อ คือสติ   สติเป็นพิเภก  ได้โปรดถามพิเภก ก่อนที่จะได้ทำอะไรลงไป  อย่าใจร้อน จะทำอะไรถามพิเภกก่อน คือ คิดหนอ  โกรธหนอ   พิเภกตัวสติ ก็จะบอกว่าไปโกรธเขาทำไม  ทำให้เราเป็นบาป เพราะการโกรธเป็นบาปอย่างร้ายแรงมาก  เกลียดก็เป็นบาปร้ายแรงมาก  แต่รักไม่เป็นบาป รักกันด้วยยินดีปรีดาช่วยเหลือกัน  เราคบค้าสมาคมซึ่งกันและกัน เพื่อนรักใคร่  เพื่อนเห็นอกเห็นใจ อย่างนี้ซิถึงจะมีเมตตาต่อกัน  ทำอะไรให้กันได้ทั้งนั้น  เช็ดอะไรให้กันได้ทั้งนั้น  เวลาเจ็บป่วยก็ช่วยกันจนกระทั่งาย  อย่างนี้ไม่ใช่สามีภรรยา  หมายถึงเพื่อนรัก เพื่อนเกลอ  รักแบบธรรมะ  มีธรรมะประจำใจไปไหนก็มีคนรัก 

ท่านทั้งหลายกรรมซ้อนกรรม กล่าวคือ  นนทุก ซ้อนกรรมตายไปเกิดเป็นทศกรรฐ์  บังอาจจะไปเอาเมียพระอินทร์  แต่ไม่ได้ จึงไปเอานางมณโฑ มา   และนนทุกต้องย้อนไปรักนางสีดา  ซึ่งเป็นลูกของทศกรรฐ์เอง นี่แหละกรรมซ้อนกรรม ท่านทั้งหลายอย่าได้ทิ้งมารซื่อคือสติสัมปชัญญะ ตัวสตินี้ฆ่ายักษ์ตายหมด ตัวสติจะเป็นคนบอกให้จิตไปฆ่ายักษ์ในตัวได้  ถ้าท่านมีสติครบวงจรแล้ว  ทำอะไรก็จะสำเร็จหมด  ตัวสติเป็นพิเภก  ตัวจิตเป็นหนุมาน  ซึ่งเป็นลิง จิตคนเรานี้ว่องไวเหมือนลิงอยู่ไม่เป็นสุข 

การกำหนดให้หายใจลึกๆ  เวลากำหนดที่ลิ้นปี่  หายใจให้ลึกๆ  ถ้าเรามีสมาธิดีมีสติดีอยู่แล้วเพียงแต่กำหนดหนอ มันก็หายแล้ว  คำว่า “หนอ”  เป็นการรั้งจิตและสติให้เข้าผนวกบวกกัน  พอเข้าผนวกกันแล้ว  มันจะบอกออกมาเลยว่าเราไปโกรธเขาทำไมมันเสียสมอง  เขาก็ไม่รู้เรื่องว่าเราโกรธ   เราไปโกรธเขานี้เป็นการทำลายตัวเอง  เอาโกรธไว้ในใจ การงานเสียหายหมด  ทำให้โรคภัยไข้เจ็บแทรกซ้อน  เสียใจก็ทำให้โรคแทรกซ้อน  ท่านอย่าทิ้งตัวสติ หรือพิเภก  ถามพิเภกดู  พอกำหนดได้  ตัวปัญญาที่มีอยู่กับตัวเราเอง  ก็จะบอกเองว่าเสียใจเพราะอะไร  เพราะลูกไม่เรียนหนังสือ และจะแก้ไขได้อย่างไร  ถ้าใครไม่มีกัมมัฏฐาน ก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ ไม่ต้องไปหาวิชาการจากที่ใด  เมื่อมีปัญหาเกิดกับตนเองก็ต้องแก้ด้วยตัวเอง  เหตุเกิดที่ไหนตรงแก้ที่ต้นเหตุ  อย่าไปแก้ที่ปลายเหตุ 

เพราะฉะนั้น คนเราจะยากดีมีจนประการใด  ก็ขอให้อย่าจนจิต  อย่าจนปัญญา  ให้ท่านมีสติสัมปชัญญะ  มีหน้าที่ถูกต้อง  รับรองว่าท่านต้องรวยน้ำใจ  รวยจิต  รวยสติปัญญา  จะแก้ไขปัญหาได้สมปรารถนา เพราะมีคุณค่าของชีวิตดีแล้ว  ปัญญาอยู่ในตัวเราแล้วไม่ต้องกลัวจน  รักษาเมตตาไว้ให้ได้  ไปที่ไหนมีแต่คนรักคนชอบ  มนุษย์เราต้องการ คือ

.   ความรัก

.  ความนิยมชมชอบ

.  ความเลื่อมใสศรัทธา

.  ความมีไมตรีจิตมิตรภาพ

.  ความเอาใจใส่

.  ความเคารพนับถือ

.  เมตตา

.  ความเห็นอกเห็นใจ  ซึ่งกันและกัน

.  ถือเป็นกันเองคือญาติ  ถือเป็นธรรมชาติคือส่วนรวม

๑๐.  เสมอต้นเสมอปลาย

ตรงนี้อยู่ในกัมมัฏฐานทั้งหมด  ถ้าเราทำแล้วจะเข้าหลัก ๑๐ ประการนี้ทั้งหมด  ถ้าเราเจริญกัมมัฏฐาน ก็อย่าลืมว่าของดีต้องแพง  ของดีต้องหายาก  ท่านทั้งหลายต้องหาของดีในตัวเราให้ได้  ค้นในตัวเราเอาของดีมาใช้  เพราะของในตัวเรานี้มีทั้งดี และไม่ดี  หมายความรวมถึงตัวอาตมาด้วย  มีทั้งดีและไม่ดี  แต่มองในแง่ดีไว้ก่อน  เก็บของดีของเราเอามาใช้  ของดีของเราไม่ต้องสงวนลิขสิทธิ์  ใครยากได้ก็ให้เขาไป  แต่ของไม่ดีของเราต้องสงวนไว้ไม่ใช้คนอื่นมาใช้  อย่าไปขายให้เขา  เอาความชั่วของเราฝังไว้เลย 

การกำหนดสติให้กำหนดติดต่อกันอย่าให้ขาดสายลมหายใจเข้าออก   หายใจเข้า หายใจออกดี  อารมณ์ท่านก็จะดีด้วย  ท่านจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ  ถ้าท่านหายใจเข้าออก มีแต่อารมณ์ร้าย  ขาดสติในการการกำหนดยุบหนอพองหนอทุกเวลาแล้ว  ความร้ายก็จะเข้ามาแทรก ทำให้อารมณ์เราไม่ดี  ถ้าอารมณ์ร้ายแล้วท่านจะเสียใจในภายหลัง จะคิดแต่เรื่องไม่ดี และมีแนวโน้มที่คิดในทางไม่ดี  แนวโน้มไปในทางที่จะเสียหาย  จะทำอะไรก็ไม่มีการไตร่ตรอง  เลยได้ของไม่ดีมาแทรกในจิตใจ  ของดีก็ทลายหายไปตรงนี้สำคัญมากคนจึงไม่ยากสร้างความดีกัน   คนชั่วมากกว่าคนดี  เพราะเขาทนความลำบากไม่ได้ 

การเรียนหนังสือ หรือเรียนอะไรก็ง่าย   แต่เราเรียนปฏิบัติธรรม ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แสนจะยากมาก  ยากเพราะธรรมะละเอียดอ่อนและลึกซึ้งมาก  เราต้องการบุญแห่งความสุขความเจริญ แต่ความสุขต้องได้มาจากความทุกข์  ถ้าไม่มีความทุกข์  ความสุขไร้ความหมาย   ความดีได้มาจากความชั่ว  ความชั่วร้ายสามาลย์อยู่ในตัวเรา แต่เราไม่รู้  ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตได้มาจากความเสื่อม