ชีวิตกับความสวัสดี

โดย...พระเทพสิงหบุราจารย์

P17001

            ในปัจจุบันนี้ มีคำไทยอยู่คำหนึ่ง  ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายใหญ่ยิ่ง  ในชีวิตคนทั้งหลาย  และคนไทยเกือบทุกคน  ได้พูดได้ฟังกันอยู่เป็นประจำตามประเพณี  โดยไม่ค่อยได้ทราบความมุ่งหมายของมัน คำว่าสวัสดี

            คนไทยเรา  เมื่อแรกพบกันในวันหนึ่งๆ  ก็กล่าวคำว่า สวัสดี ต่อกันเป็นการแสดงอัธยาศัยไมตรี  ในระหว่างกัน  ว่า “สวัสดีครับ” แม้ศิษย์พบครูก็พูดว่า  “สวัสดีครับคุณครู” สวัสดีค่ะ คุณครู จะจากกันก็พูดว่า สวัสดีค่ะ อีกโดยถือเป็นคำอำลา

            ในเทศกาลขึ้นปีใหม่  เมื่อพบกันเป็นครั้งแรก  ก็พูดว่า "สวัสดีปีใหม่  ครับ" สวัสดีปีใหม่ ค่ะ”

จะเริ่มต้นปราศรัย ในที่ประชุมทั้งหลายก็เริ่มคำว่า “สวัสดี”  ท่านสุภาพบุรุษ  สุภาพสตรีทั้งหลาย หรือ สวัสดีสุภาพสตรี   สุภาพบุรุษทั้งหลาย หรือสวัสดี ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย  ตามแต่อัธยาศัย  ที่พึงประสงค์  และเมื่อจะจบก็จบลงด้วยคำว่า  สวัสดี

            แม้ในการปราศรัย หรือการพูดจาทางวิทยุกระจายเสียงก็เป็นอย่างนี้

            ในวันหนึ่งๆ ในที่ทั่วๆ  ไป จึงได้ยินคำว่า สวัสดี ได้ใช้คำว่า “สวัสดี” กันอยู่ตลอดเวลาจนเป็นความเคยชิน หรือเป็นธรรมดา ไม่รู้สึกแปลกประหลาดประการใด

            ซึ่งส่วนมากก็มักเข้าใจกันว่า  เป็นคำเตือนให้เขาทราบว่า  เราจะพูดด้วยเขาจะได้สนใจฟัง  ในทำนองเป็นคำ   “อาลปนะ”      หรือเป็นคำทักทาย คำปราศรัย   ตามประเพณี

            บางทีก็เข้าใจว่า เป็นคำพูดหรือคำกล่าว   เพื่อแสดงอัธยาศัยอันดีงาม

            ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการสมควร   หรือเป็นการกระทำที่ดีงาม  ชอบด้วยเหตุผลและความเป็นจริงทุกประการ

            สำหรับผู้เขียนเองยังมีความคิดเห็นต่อไปอีกประการหนึ่งว่า  การกล่าว คำว่า “สวัสดี” ต่อกันในโอกาสต่าง ที่ว่ามานับ เป็นการ เตือนความสำนึกที่ชอบหรือเป็นการ เสนอความสำนึกที่ถูกต้องต่อกัน คือเพื่อให้ เกิดความรำลึกทีทางชีวิตที่ประเสริฐ   ซึ่งจัดได้ว่า เป็นการสมควรยิ่งนัก

            ชีวิตคนเหมือนร่างกายอยู่ประการหนึ่ง  ในประการที่ว่า

            ร่างกายจะไปไหนมาไหนตามที่ปรารถนาได้  จะต้องอาศัยมี “หนทาง” หรือ “ทาง”

            ถ้าได้ทางตรง ทางดี ก็ไปได้สะดวก  ได้รวดเร็ว

            ถ้าไม่มีทางบางทีก็ไปไม่ได้   หรือไปก็ล่าช้าเสียเวลามาก ต้องประสบความยาก ความลำบาก ฟันฝ่าภัยอันตรายมาก

            ทางไม่ดี ก็ไม่สะดวก ทางอ้อมก็ล่าช้า

            ชีวิตคนก็เป็นเช่นนั้น

            ทุกคนจะสามารถดำเนินชีวิตไปสู่สถานะต่างๆ ที่พึงประสงค์ได้  ก็ต้องอาศัยทาง

            ทางชีวิต “สายแรก”    คือ สายโลก ก็คือ “สวัสดี” หรือความสวัสดี  อันเป็นทางที่ประเสริฐอย่างยิ่ง

            คำว่า “สวัสดี”  เป็นคำไทยที่ได้นำมาจากภาษาสันสกฤต แต่เดิม และบัดนี้ได้โอนเข้าสังกัดคำไทย สมบูรณ์ แล้ว

            แปลตามความหมายที่ประสงค์สำคัญได้ ๒ ประการคือ

               ความสะดวก

              ความปลอดโปร่ง

            ความสะดวก คือความไม่มีอุปสรรค  ไม่มีปัญหา ไม่มีอุบัติเหตุ ประการใดๆ ในการปฏิบัติภารกิจทังหลาย ซึ่งทำให้การปฏิบัติถึงเป้าหมายที่พึงประสงค์ได้ด้วยดี

            ความปลอดโป่รง หมายถึงการมีแนวความคิดที่ราบรื่น จะคิดสิ่งใด  ก็ทะลุปรุโปร่งตลอดเวลา  เป็นความคิดที่ถูกต้องยั่งยืนมั่นคง  จนสามารถ ปฏิบัติจัดทำสำเร็จผลด้วยดี  ตามที่ปรารถนา  ไม่ติดขัดประการใด  และไม่ล้มเลิกในระหว่างนั้น   ชีวิตทุกชีวิตจะไปได้ดี  จำเป็นต้องมี  ความสะดวกกับความปลอดโปร่ง  ถ้าไม่เช่นนั้น  ก็จะไปไม่ตลอด  ไปไม่รอด ล่มจมย่อยยับ   ในระหว่างนั้นได้

            เพราะฉะนั้น ความสะดวก ความปลอดโป่รง จึงเป็นทางสายเอก ของชีวิต  ชีวิตจะสำเร็จเป้าหมาย  ต้องอาศัยลักษณะ    ประการนี้   คือต้องมีทั้งความสะดวก   ทั้งความปลอดโปร่งพร้อมกัน

            เรากล่าวคำว่า สวัสดี ต่อกัน  ก็พอเตือนกันหรือเสนอความสำนึกต่อกัน  ไม่ให้ลืมสัจธรรม  สำคัญของชีวิต  สำคัญของชีวิตอันนี้  จะจากกันไปก็ยังอุตส่าห์เตือนกันอีกครั้งหนึ่ง  นับได้ว่า เป็นเครื่องวัดความรักที่แท้จริงที่มีต่อกัน

            รักกันจริง  ก็ต้องเตือนกันได้  แม้ในสิ่งที่สำคัญขนาดนั้น

            คำพูดที่ว่า “สวัสดีครับ”  “สวัสดีค่ะ” เป็นคำที่มีความมุ่งหมายว่า อย่าลืม ความสะดวก  ความปลอดโปร่งนะ

            คำว่าสวัสดี ปีใหม่ ก็มีความมุ่งหมายว่า  ชีวิตปีใหม่จะไปดี  ก็เพราะมีความสวัสดี  จึงไม่ควรลืมความสวัสดี

            นี่คือ  ความเมตตา  ปราณี  ที่มีคุณค่าต่อกัน    ในสังคมที่มีความหมาย  ความสวัสดีมิได้เกิดเพราะเสียงพูดที่พูดต่อกัน  คือ  มอบความสวัสดีให้กัน ด้วยเสียงไม่ได้

            ความสวัสดี ย่อมเกิดจากการปฏิบัติชอบของตนเอง ใครปฏิบัติถูกแห่งสวัสดี ก็เกิดความสวัสดี สมประสงค์

            คำพูดว่า "สวัสดี" เป็นเพียง  คำเสนอ หรือ คำเตือนเท่านั้น

            พระพุทธศาสนาได้แสดง ข้อปฏิบัติเพื่อความ สวัสดีไว้ ๔ ประการ  คือ

              ปัญญา  ความรู้ชัดเจนว่า อะไรเป็นอย่างไร ได้แก่

            รู้ดี รู้ชั่ว รู้ถูก รู้ผิด รู้ความเจริญ  รู้ความเสื่อม .

                        รู้จักตัวเอง รู้จักเด็ก รู้จักผู้ไหญ่

                        รู้จักกาลเทศะ

            รู้จักความพอเหมาะ  ตามฐานะ  สภาวะ  และความสามารถของตน

            รู้จักได้   รู้จัก เสีย

            รู้จักเหตุ รู้จักผล

            ที่สำคัญที่สุด คือ รู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่ ของตน ซึ่งเป็นสิ่งศักดิสิทธิ์ เบื้องต้นของชีวิต

            คนมีความรู้เหล่านี้  จะทำอะไร จะคิดอะไร    ย่อมสะดวก  และปลอดโปร่งทุกประการทุกเวลา

                        อยู่ที่ไหนก็สะดวก และปลอดโปร่ง

            จะไปไหน ก็สะดวก   และปลอดโปร่ง

            จะทำอะไร  ก็สะดวก และปลอดโปร่ง             สำเร็จเรียบร้อยทันเหตุการณ์ ทัน เวลา ทันความปรารถนา ทุกสิ่งทุกประการ

              พยายามทำลายล้างสิ่งที่เป็นความชั่วช้าทั้งหลายให้หมดสิ้น

            โดยเฉพาะก็คือ ความเบียดเบียน ซึ่งกันและกัน ต้องทำลายให้หมดจงได้  เพราะการเบียดเบียนกัน เป็นความชั่วช้า  แสนสาหัส ทำลายทั้งเราทั้งเขา  ทั้งทุกคนให้ย่อยยับไปด้วยกัน

            คนเราต้องอยู่ด้วยกัน  ได้ด้วยกัน  เสียด้วยกัน  สบายด้วยกัน ลำบากด้วยกัน  เจริญด้วยกัน  เสื่อมด้วยกัน

            ทำลายเขา  จึงเท่ากับทำลายตัวเรา  ในขณะเดียวกัน

            ช่วยเขาก็เหมือช่วยเรา

            โลกเดือดร้อน เพราะเบียดเบียนกัน

            โลกร่มเย็น เพราะช่วยกัน

            ทำลายการเบียดเบียนกันลงได้ เท่าใด              ความสะดวก  ความสบาย ความปลอดโปร่งก็จะมีมากเท่านั้น  เพราะการเบียดเบียนเขา  ย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญที่ยิ่งใหญ่ ของตัวเราเอง

            ๓. มีความระวังตัวเป็นประจำ

            คนเราย่อมมีศัตรูของชีวิต  หรือสนิมของชีวิต อยู่รอบด้าน  จากตัวเองเพราะความมักได้ ความมักโกรธ ความมักหลวงก็มี  จากความเลว ทราบของคนอื่น  ก็มี จากสิ่งแวดล้อมที่ยั่วยุให้เกิดความคิดชั่วก็มี

            สิ่งทุกทางทุกประการ เป็นเคราะห์ร้ายทั้งนั้น

            เคราะห์ร้ายก็เหมือนคนร้าย

            คนร้ายถ้าใครระวังตัวอยู่เป็นประจำ  ก็ทำร้ายเขาไม่ได้  ถ้าใครขาดความระวัง   ตัวก็ทำร้ายได้ง่าย

             เคราะห์ร้าย ก็เช่นเดียวกัน

            จะทำร้ายคนที่ระวังตัวได้ยาก แต่จะทำร้ายคนที่ไม่ระวังตัวได้ทุกเมื่อ

            ความปลอดภัย จากเคราะห์ร้าย  จึงอยู่ที่ความรู้จักระวังตัว

            ระวังความคิด

            ระวังการพูด

            ระวังทั่วไป

            ตามที่ท่านสอนไว้ว่า

            อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด

            อยู่กับญาติมิตร ให้ระวังปาก

            อยู่กับคนหมู่มาก ให้ระวังทุกด้าน

 

สาธุ สพฺพตฺถ สํวโร

ระวังทุกด้านดีทุกเมื่อ (พระพุทธภาษิต)

            ความรู้จักระวังตัว  จึงสร้างความสะดวก  และความปลอดโปร่งได้แน่

      ความยอมเสียสละทุกอย่าง

เสียสละสิ่งที่ไม่เหมาะสมแก่ตัว

เสียสละความชั่วเพื่อความดี

เสียสละความสบายส่วนตัว เพื่อความสบายของส่วนรวม

เสียสละสิ่งน้อย เพื่อสิ่งมาก  ในที่สุด

เสียสละทรัพย์ เพื่ออวัยวะ

เสียสละอวัยวะเพื่อชีวิต

เสียสละชีวิต เพื่อหน้าที่ และความถูกต้อง

            เราเกิดมาเพื่อให้  และอยู่เพื่อให้  ถ้าไม่เกิดมาเพื่อให้  ไม่อยู่เพื่อให้  ก็ไม่ทราบว่าจะเกิดมาทำไม จะอยู่ต่อไปทำไม

            จะได้ต้องให้    ยิ่งให้เท่าใด ก็ยิ่งได้เท่านั้น

            คนให้  คนเสียสละ จะมีลักษณะ  แห่งความสะดวก  และความปลอดโปร่งตลอดเวลา

            เพราะฉะนั้น  ขอท่านผู้รักตน  จงดำเนินตนอยู่บนเส้นทางแห่งความสะดวก และความปลอดโปร่ง ตามพระพุทธดำรัสที่กล่าวมา

            ซึ่งเป็นทางชีวิตสายเอก สายเดียวเท่านั้น

            เพื่อสันติสุขแห่งสังคมของเรา  โดยทั่วกัน