กฎแห่งกรรม - รู้ได้จากเวทนา

(กฎแห่งกรรมของโยมอ่อน)

พระภาวนาวิสุทธิคุณ

P4002

          สำหรับผู้ปฏิบัติซึ่งจะได้ผลภายใน ๗ วันนั้น ต้องก้าวหน้าอย่างนี้ หูได้ยินเสียง เกิดสัมผัส ก็ตั้งสติไว้ที่หู เอาจิตปักไว้ที่มันสัมผัส จิตเกิดขึ้นแล้ว เสียงนั้นเป็นเสียงด่า เสียงว่า หรือเสียงที่เขาพูดกัน คุยกันตามไปสนใจฟังในเรื่องนั้น จึงกำหนดว่า เสียงหนอ ๆ เป็นต้น

     ในเมื่อสติควบคุมจิตเข้าไว้ได้ตามสัมผัสนี้ คืออินทรีย์ทางหู สติดีศีลก็มา เป็นต้น มารยาทก็เกิดขึ้นในจิตใจ จิตใจก็ดี พะพูดออกมาพาทีก็มีปัญญา มันเกิดขึ้นเป็นอานิสงส์ของตนเอง สำหรับผู้ปฏิบัติเท่านั้น ผู้ไม่ปฏิบัติจะไม่เกิดประโยชน์เลย

      ผู้ปฏิบัติจะต้องมีสติอยู่ทางนั้น จมูกก็ดี เมื่อได้กลิ่นจะเหม็นหรือหอมไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ มีสติควบคุมในการดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรสอาหาร ก็ตั้งสติไว้ทำได้ รับรองเลยว่าต้องได้ผล สำหรับผู้ปฏิบัติธรรม

      สำคัญผู้ปฏิบัติธรรมที่ไม่กำหนด ไม่ใช้สติ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติเลย ว่างเปล่า ไม่ได้ผล คนเรามีสติอยู่ตรงนั้น มีหน้าที่การงานต้องสัมผัสอยู่ตลอดรายการ ลิ้นรับรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ต้องปฏิบัติกำหนด ตักอาหารก็ต้องกำหนด เคี้ยวก็ต้องให้ละเอียด กำหนดกลืนด้วย ก็ได้ใจความออกมาว่า ต้องมีสติทุกอิริยาบถ ต้องกำหนดทั้งนั้น

      อิริยาบถคู้เหยียด เหยียดขา ก็ต้องกำหนด เราจะได้รู้อิริยาบถของเรามีกี่ระยะ คู้มามีกี่ระยะ เหยียดออกไป มีกี่ระยะ ถ้าท่านทำช้า ๆ ท่านจะเห็นสภาวธรรม ถ้าทำเร็ว ๆ จะจับไม่ได้ว่ามีกี่ระยะ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องจับจุดนี้ไว้ก่อน ต้องทำจุดนี้เป็นเบื้องตน จึงจะกำหนดได้

      ขางคนนั่งกรรมฐานเป็นปี ๆ ไม่ได้ผลเลย มีแต่เรื่องราวไม่เข้าเรื่อง สิ่งที่เปลืองเวลา ถ้าปฏิบัติกำหนดอิริยาบถอย่างนี้ มันจะสำรวม ระวัง หน้าที่การงานของตน มันจะไม่มีความขยันสำหรับตน ไม่ใช่ขยันนอกหน้าที่การงานของตน ไม่ใช่ตนไปรับผิดชอบคนอื่นได้

      คนเราต้องรับผิดชอบตัวเองให้ได้โดยวิธีนี้ เรียกว่า พระกรรมฐาน ตั้งสติควบคุมจิตไว้ ไม่ให้จิตต้องหลั่งไหลไปสู่ที่ต่ำ ต้องฝืน การกำหนดนี่เป็นตัวฝืนใจ เป็นตัวธรรม เป็นตัวปฏิบัติ มันอยู่ตรงนี้ ถ้าเราทั้งหลายไม่สนใจในเรื่องนี้แล้ว ช่วยไม่ได้ ก็ยากอยู่

      ผู้ปฏิบัติแล้วจะมีมารยาททางกายออกมา จะนั่งเรียบร้อย จะพูดจาก็เรียบร้อย ก็เกิดปกติคือ ศีล ได้แล้วข้อหนึ่ง ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ก็ต้องกำหนดในภาคกาย มีสติอยู่ตลอดรายการ อันนี้มันก็เกิดผลด้วยปัญญาของตนเอง ห้องน้ำ เว็จกุฎี เป็นข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการกำหนดสติทั้งนั้น จะได้ไม่ประมาทในห้องน้ำ อาจจะล้มไปเป็นอัมพาตก็ได้ นี่ด้วยความประมาทของตน

      ในห้องน้ำมันลื่น เพราะน้ำต้องใช้กับพื้นตลอดเวลา เช่น ห้องอาบน้ำ เป็นต้น เข้าไปแล้วก็ย่องด้วยการกำหนดจิต มีสติเป็นการฝึกหัด ทำให้จิตเราเข้าสู่ภาวะด้วยการไม่ประมาทของชีวิต การพลาดผิดจะน้อยลงไป ถึงจะมีผิดบ้างถูกบ้าง ก็น้อยลง ด้วยความไม่ประมาท จิตก็เกิดละเอียดอ่อน ทำอะไรก็เรียบร้อย ทำอะไรก็คล่องแคล่วว่องไว จิตใจก็เป็นธรรม เป็นกิจกรรมของพระกรรมฐาน

      ผู้ใดปฏิบัติได้ปัจจุบัน รับรองคนนั้นเรียบร้อยทั้งกาย ทั้งวาจา จะมีจิตแสดงออกทางด้านวาจาก็ดี มารยาทก็ดี ศีลควบคุมอยู่ เป็นปกติแน่ จิตใจก็มีมารยาทดีอีกด้วย นักปฏิบัติอย่าทิ้งข้อนี้ไม่ได้ ในด้านกายานุปัสสนสติปัฏฐาน อยู่ตรงจุดนี้

      อิริยาบถทั้ง ๔ ในการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ต้องมี ๔ อย่าง กาย ยืน ก็ทำได้ เดิน ก็ทำได้ นั่ง ก็ทำได้ นอน ก็ยังทำได้ ต้องมี ๔ อิริยาบถ เป็นบทบัญญัติของสติปัฏฐาน ๔ คือทางสายเอกบอกไว้ชัด

      คนที่หุนหันพลันแล่นนั่นไม่ได้ควบคุมจิต ไม่ได้ปฏิบัติเลย สติจึงไร้ผล คนเราจึงขาดสติในข้อนี้ ดังนั้น ตัวกำหนด คือตัวฝืนใจ เป็นตัวธรรมะ คนเราถ้าปล่อยไปตามอารมณ์ของตนแล้ว มันจะเป็นแก่ความถูกใจ แต่ไม่ถูกต้อง อยู่ตรงนี้นะ

      นักปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติเลย ตั้งแต่นาทีนี้เป็นต้นไป ไม่เดินพรึ่บพรั่บ ๆ อย่างนั้นเดินโดยขาดสติ จะรีบร้อนอย่างไรไม่ได้ เพราะจิตมันเร็วต้องยับยั้ง ต้องใช้สติ จะเดินไปห้องน้ำ ห้องอาหาร ก็ต้องเดินจงกรมไป นี่คือวิธีสำหรับนักปฏิบัติกรรมฐาน เราจะพรึ่บพรั่บ หุนหันพลันแล่นไม่ค่อยดี มันก็เกิดมารยาทไม่ดีเกิดขึ้นทางกาย และวาจาด้วย

      อันนี้ผู้ปฏิบัติต้องสนใจในตัวเอง ไม่มีใครทำให้ใครได้ ต่างคนต่างทำจึงจะได้ ของใครของมัน ต้องสำรวมวาจา สำรวมจิต สำรวมกาย อินทรีย์นี่แหละตัวสำคัญ จึงต้องมีการกำหนดสำรวมอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้พลาด ไม่ให้ประมาทของจิต มันก็เกิดเป็นข้อคิด คือ ปัญญา

     ทำอะไรช้า ๆ โบราณท่านว่า ได้พร้าเล่มงาม กามคุณ ๕ ต้องกำหนดทางช่องทวาร ๖ ปรารภในกามคุณนี้ชัดเจน จึงต้องปฏิบัติในข้อนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ยากนัก พอจะปฏิบัติได้ แต่เราไม่ทำ ไม่เป็นธรรมะ เลยก็มาปฏิบัติธรรมไม่เกิดประโยชน์แต่ประการใด มีแต่โทษ หาประโยชน์ไม่ได้

      เพราะฉะนั้น การปฏิบัติต้องมีเวรมีกรรม มีมารผจญ เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเขาลองดู เราก็ไม่ยั่นต้องตั้งสติไว้ สำรวมไว้ ระวังไว้ ตั้งใจให้ตรงทรงที่หมายในสติของตน อย่างนี้เป็นผลปฏิบัติ

      ถ้าเรามาอยู่ในห้องกรรมฐานเดินพรึ่บพรั่บ แล้วไปเดินจงกรมช้า ไม่ได้ผล ต้องเริ่มเดิน ยืน นั่ง นอน ทั้ง ๔ อิริยาบถ ต้องช้าหมด ทั้งนอกและในห้องกรรมฐาน มาอยู่ห้องกรรมฐานมาคุยกันก็ไม่ไผล แล้วจะว่ามานั่งปฏิบัติไม่ได้อะไร เพราะตัวเราไม่สนใจในตัวปฏิบัติ เลยไม่ได้อะไรกลับบ้าน เพราะธรรมะอยู่ที่ตัวเรา ต้องฝืน คือตัวกำหนด เป็นตัวฝืนใจ ให้รู้สึกนึกคิดในสัมปชัญญะ เรียกกำหนดว่า รู้หนอ เป็นต้น

      นักปฏิบัติธรรมต้องเอาจุดนี้เป็นจุดแรก ด้วยการเจริญสติทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน นี่สำคัญมาก อิริยาบถ ๔ มีความหมายอย่างนั้น

      เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีหลักอยู่ ๓ แต่ใช้อิริยาบถ ๔ ยืน มีเวทนา เดิน ก็มีเวทนา นั่ง ก็มีเวทนา นอน ก็ยังมีเวทนา (ถ้าเรานอนตลอดวันตลอดคืน มันก็ใช้ไม่ได้) เป็นโรคกายโรคใจตลอดรายการ นี่ความหมายของเวทนา

      เราจะยืนหนอ ๕ ครั้งก็มีเวทนาแทรก เดินจงกรมก็มีเวทนาแทรก นั่งเจริญกรรมฐานก็มีเวทนา นอนลงไป ถ้าไม่พลิกตัวมันก็ย่อมจะมีเวทนาเป็นธรรมดา ต้องกำหนด ๔ อิริยาบถแท้ ๆ แต่ข้อปฏิบัติมี ๓ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา

      เวทนา แปลว่า ทนไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ มันจะเกิดก็ต้องเกิด มันจะดับก็ต้องดับ มันเกิดขึ้นอย่างนี้ เราก็ตั้งสติไว้ จะได้รู้ว่าเวทนานั่นเป็นอย่างไร มีน้ำหนักมากแค่ไหน ประการใด มันเป็นปัจจัตตังสำหรับผู้ปฏิบัติเท่านั้น เราต้องรู้อย่างนี้จึงจะได้ชัดเจน ไม่ใช่ทำจิ้ม ๆ จ้ำ ๆ แล้วจะได้อะไร ไม่เกิดประโยชน์เลย แยกรูปแยกนามก็ไม่ได้ ขันธ์ ๕ รูปนามก็ไม่เป็นอารมณ์ ไหนเลยจะข่มจิตใช้สติปัญญาได้ ไม่เกิดประโยชน์

     ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนสุขเจือปนด้วยความทุกข์ ก็กำหนดเสีย ทุกอิริยาบถ เป็นทุกอย่างมี ๔ บท ทั้งหมด บางคนไม่เข้าใจ ๔ บทคืออะไร ไม่ทราบเพราะไม่เคยปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วก็ยังไม่รู้ เพราะไม่ได้ปฏิบัติจริง ๆ เพียงแต่รู้แต่ไม่ทำ ไม่ได้ทำเลยนะ แล้วมันจะรู้ได้อย่างไร จะรู้แต่ของปลอมย้อมในใจ จิตใจก็จอมปลอม จิตใจเก๊ เล่ห์ออกนอกประเด็นนี้ จึงขยันนอกหน้าที่การงาน ในหน้าที่การงานของตนไม่ขยัน คนประเภทนี้มีมากหลายทั่วไป

     ทุกขเวทนา สุขเวทนา = สุขกายสุขใจ เดี๋ยวก็ ทุกข์กายทุกข์ใจ ตลอดรายการ ต้องกำหนดจะได้รู้ว่าเป็นสุขไม่แท้ กายมีโรค ใจมีโรค นี่เรียกว่า สุขกาย สุขใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ ก็ต้องกำหนด ตั้งสติไว้ให้ดีในเวทนาทั้ง ๔ นี้

     เวทนาในอิริยาบถ ๔ ต้องเป็นแน่ เสียใจดีใจก็กำหนด เราจะได้รู้วิธีการของมัน เราจะได้ปฏิบัติได้ แก้ไขปัญหาได้ เวทนาทำให้เรารู้กฎแห่งกรรมได้ดีมาก เราจะเห็นกรรมของตนเอง คือ เวทนาหนัก ขอฝากญาติโยมไว้ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ผู้ปฏิบัติธรรมต้องท่องไว้ก่อน ว่าเป็นขั้นตอนที่ ๒ ต้องมีเวทนาอย่างนี้เป็นประจำทุกอิริยาบถ

     หมายความว่าเรามีสติดี สัมปชัญญะดี ต้องกำหนดเวทนาก็เป็นเรื่องเล็กไป ขันธ์ ๕ รูปนามก็เป็นอารมณ์ เวทนาก็แยกออกเป็นสัดส่วนได้ โดยทำนองนี้

     คำว่าตัวกรรมเห็นชัด คือ เวทนา ถ้าเรานั่งเมื่อยแล้วเลิก เดินจงกรมเมื่อยเล็ก รับรองทำอีกหมื่นปีก็ไม่พบกฎแห่งกรรม จากการกระทำของตนเอง ไม่พบแน่ ทำอย่างไรก็ไม่พบ ขอฝากปรารภธรรมไว้ในข้อนี้

     มีหลายคนที่พบกฎแห่งกรรมจากเวทนา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก ในมรรคมี องค์ ๘ ชัดเจน

๑.  รำลึกชาติได้   เพราะสติดี ก็รำลึกเหตุการณ์ของชีวิตได้ สะสมเข้าไว้

๒.  เวทนาหนัก  เราจะรู้กฎแห่งกรรมได้จากตัวเวทนาเท่านั้น ว่าเราทำกรรมอะไรไว้ มันจะเกิดโผล่ขึ้นมา

      ยกตัวอย่าง หมอชลอ ปวดศีรษะจะแตก ทานยาก็ไม่หาย ทำอย่างไรก็ไม่หาย ทนตายให้ตาย นั่งตลอด ๒๔ ชั่วโมง เวลาเลิกนั่งกรรมฐานหายปวด นั่งทีไรปวดศีรษะแทบแตก เลยแตกโป้งออกไปเลย รำลึกชาติได้ ที่เมื่ออดีตชาติ ไปฆ่าเขาที่น้ำตกเอราวัณ จังหวัดกาญจนบุรี และตัวเองจะต้องไปตายที่นั่นด้วย นี่รู้กรรมอย่างนี้ ถึงอย่างไรก็ต้องตาย ถูกเขาฆ่าตาย เพราะครั้งอดีตชาติไปฆ่าเขามา เท่านั้นแหละหายปวดศีรษะแล้ว นี่รู้กฎแห่งกรรม มาทำจิ้ม ๆ จ้ำ ๆ กันอย่างนี้นะ ไม่รู้หรอก จะรู้กรรมอะไร เพียงแต่ไปรู้ของคนอื่นเขา ตัวเองไม่รู้ ไปทายกรรมให้คนอื่นเขาถูกที่ไหน ต้องรู้ตัวเองก่อน

     ตัว เวทนา เป็นตัวรู้ชีวิต สติปัฏฐาน ๔ ด้านกาย ยืน เดิน นั่ง นอน เหลียวซ้ายแลขวา มีสติไว้ จะรู้รำลึกชาติได้ในข้อหนึ่ง รำลึกเหตุการณ์ของคุณแม่ คุณพ่อ จะไม่ลืมในบุพการีแน่นอน นี่คนนี้จึงรู้จริง คือตัวธรรมะ

     เวทนาเกิดขึ้นก็ต้องกำหนดให้ได้ เท่าที่อาตมาสังเกตมา กระทั่งครูบาอาจารย์บางรูป เวทนาเกิดก็เลิกแล้ว ทำไม่ได้แล้ว กำหนดส่งเดชไป น่าเสียดายนะ ไม่รู้จริง ไม่รู้จริงอย่าสอนเขานะ สอนเขาไม่เกิดผล มันไม่ขลัง

      ยกตัวอย่างอีกสักตัวอย่าง......นี่สมัย ๓๐ ปีก่อนนั้น พ.ศ. ๒๔๙๖-๒๔๙๗ ที่วัดพรหมบุรี ใครมาเจริญกรรมฐานต้องอยู่ศาลาการเปรียญ มีประสบการณ์จากกรรมฐานจากโยมผู้หนึ่ง ชื่อ โยมอ่อน และโยมที่อยู่บ้างองครักษ์ แม่สุ่มอาจจะจำได้ เสียชีวิตไปแล้ว ตอนนั้นอายูตั้ง ๗๐ กว่าแล้ว ปวดหัวไม่พัก ปวดหัวจะแตก อาตมาบอก “โยมกำหนดไปตายให้ตาย จะได้รู้กฎแห่งกรรมของเราเอง” ปวดศีรษะจะแตก จะแยกออกเป็นสองส่วนแล้ว ไปขอยามาทานก็ไม่หาย เลิกนั่งเมื่อใดหายเมื่อนั้น ถ้าไปนั่งเมื่อใด ปวดน้ำตาไหลพราก ๆ น้ำตาไหลเลย อย่างนี้เป็นต้น

     โยมผู้นี้กลับปฏิบัติได้ เดี๋ยวแตกโป้ง แยกเป็นรูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ นี่ต้องแยกอย่างนี้ ไม่ใช่ฟังเทศน์ลำดับญาณ แค่พองยุบ ยังทำไม่ได้ อย่างที่เขาปฏิบัติกัน เลยก็ไม่รู้ว่าญาณอะไรกันแน่อย่างนี้ พอระเบิดศีรษะโป้งออกไป จิตใจก็เข้าสู่ภาวะเป็นปัญญา รำลึกกฎแห่งกรรมได้ ก็มาถวายรายงานสอบอารมณ์ บอกว่า “หลวงพ่อครับ ผมรำลึกได้แล้ว บัดนี้หายปวดหัวแล้ว”

      “เมื่อก่อนนี้นานมาแล้ว อำเภอพรหมบุรีนี่เอง เด็กวัดสมัยก่อนเรียนหนังสือกับพระ อยู่กระทั่งโตเป็นหนุ่ม จนกว่าจะบวชในพระศาสนา ขณะนี้อายุ ๗๘ แล้ว รำลึกกฎแห่งกรรมไม่ได้ว่าทำอะไรไว้ ลืมไปแล้ว ปวดหัวแตกโป้งออกมาปัญญาเกิด นี่คือเวทนา ปัญญาเกิดต้องรำลึกชาติได้ คือ “กฎแห่งกรรม”

      เมื่อก่อนนี้มีโรงยาฝิ่นอยู่ข้างวัดเตย เขาเรียกบ้านพลู ไปไทร คนสูบยาฝิ่นกันมากมาย มีอาแป๊ะแกคนหนึ่งอยู่ใกล้วัด ขโมยมาลักของมากมาย จึงจ้างเด็กวัดไปยิงใช้ปืนแก๊ป ใส่ลูกโดดเป็นเงินกลม เอาดินปืนใส่

     เวลาประมาณ ๔ ทุ่ม ขโมยคนที่ไปลีกของอาแป๊ะ กำลังนอนสูบยาฝิ่น ในโรงยาฝิ่นสมัยก่อนนี้เป็นสังกะสีผุ ๆ และแฝก เด็กวัดก็เอาปืนไปจ่อที่ศีรษะ สับไกยิงทันที หัวระเบิดตายคาที่ จนบัดนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นคนยิง ตายฟรีไป

     คนที่ตายเป็นขโมยลักเล็กขโมยน้อย จนคนเอือมละอา ก็จ้างเด็กวัดเก้าชั่งไปยิง แล้วนำปืนไปคืนอาแป๊ะ ได้ค่ายิง ๑๒ บาท เด็กวัดคือโยมอ่อนและพวก พอระลึกได้แล้ว โยมอ่อนก็แผ่เมตตา ขออโหสิกรรม ตั้งแต่นั้นมาก็หายปวดศีรษะ นี่ได้จากเวทนา...

     ...กรรมซัดทันตาเห็นจากการเจริญวิปัสสนากรรมฐานแน่นอน ขอฝากไว้ด้วยนะ เวลามีเวทนานิดหน่อยเลิก รับรองไม่รู้กฎแห่งกรรมที่ตัวทำอะไรไว้

     โยมอ่อนก็แผ่เมตตาขออโหสิกรรม อย่าเอาเวรเอากรรมแก่ข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้าขอยกกุศลจากกรรมฐานอุทิศให้ท่าน ดวงวิญญาณจะสิงสถิตอยู่คติภพใด ขอให้รับทราบการอุทิศส่วนกุศลนี้

     ถึงแม้ว่าคนที่ตายสูบยาฝิ่น ตายไปแล้วมีคนชอบมากมาย เพราะจะได้ไม่ไปลักขโมยอีก และอนุโมทนาที่ไปฆ่าเขาตาย แต่ก็ต้องเป็นบาปเพราะไปฆ่าเขา

     จะฆ่าแมว ฆ่าสุนัข ฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ขายก็ต้องบาป เพราะปลิดชีวิตเขาตาย เอาชีวิตเขาเป็นเดิมพันในการค้าขาย มันต้องบาปทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่จะกางกั้นไม่ให้บาป ฆ่าเขามันก็ต้องบาป ฆ่ายุง ฆ่าเลือด ฆ่ามด ฆ่าหนูก็ต้องบาป ไม่มีอะไรที่ว่าไม่บาปนะ ขอฝากท่านทั้งหลายไว้ด้วย

     มีข้าราชการทหารนายหนึ่ง เคยเผามด มาเจริญกรรมฐาน รู้สึกมดมากัดเป็นแถว ต้องกำหนด ต้องใช้กรรมเสียให้ได้ จึงจะสำนึกได้ว่า เมื่อเป็นเด็กเคยเผามดเป็นรัง ๆ มดแดงมะม่วง เอาไฟใส่เผาเลย ถึงเวลาเข้ามันมากัดคนนี้คนเดียว ก็คือเวทนานั่นเอง ก็กำหนด มดแดงกัดหนอ มดแดงกัด สติดีปัญญาเกิด เราจะรำลึกได้ว่า ไปเผามดแดงมาก่อน อย่างนี้เป็นบาปเหลือเกิน เราจะทราบได้จากกรรมฐาน

     บางคนทำเป็นปี ๆ ยังไม่รู้จักกรรมของตัวเอง ทำไมไม่รู้ ตอบได้ทันทีว่า เพราะทำไม่จิรง ทำจิ้ม ๆ จ้ำ ๆ พอปวดเมื่อยเห็นแก่ตัวก็เลิกไป มันจะรู้เรื่องอะไรเล่า จะไม่รู้กรรมอดีตของตนแต่ประการใด

     ตั้งแต่นั้นมา โยมอ่อนก็ทำบุญ ถวายสังฆทานเพิ่มขึ้น แล้วนั่งเจริญวิปัสสนากรรมฐาน อุทิศส่วนกุศลให้แก่คนตายที่ไปทำเขาไว้ เวรกรรมก็อโหสิได้เหมือนกันนะ เขาได้รับบุญกุศลเข้า เขาจะอโหสิกรรมให้พรเราทั้ง ๆ ที่ฆ่าเขาตาย อันนี้เป็นบทอันสำคัญ มีความสำคัญมาก ต้องกำหนดใช้สติ หน่อย เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนาจับจุดกฎแห่งกรรมได้อย่างนี้

     บางคนไม่รู้กรรมเลย สร้างแต่กรรมทำเข็ญตลอดรายการ นั่นแหละเพิ่มกรรม เพิ่มบาปไว้ในใจ ตัวเองก็ไม่รู้ว่าตัวทำบาปหยาบช้า ตัวยุยง ตัวเสียดสี ก็หาได้รู้ดีไม่ ต้องได้จากกรรมฐาน เห็นเวทนาหนัก กำหนดเข้า ปัญญาเกิด จะได้รู้ว่า เราไปเสียดสี เราไปอิจฉาเขา อย่าทำเลย มันจะแจ้งในจิตใจของเรา จากเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานข้อนี้

     ขอฝากนักกรรมฐานไว้ด้วย อย่าคิดว่าเวรกรรมไม่มีนะ บุญทำกรรมแต่ง สนองเวรกรรมตลอดรายการ สะสางหน่วยกิตเข้าไว้ ม้วนเทปเข้ามาด้วยกรรม บาปกรรมจะต้องเปิดออกไปในเทปนั้น ต้องรับกรรมในปัจจุบันนี้ ไม่ต้องไปเอาชาติหน้า ชาตินี้แสนจืดแล้ว และจะเห็นกันต่อไปเมื่อเทปกรรมนั้นเปิดขึ้นมา ต้องรับใช้กรรมแน่นอน ไม่ว่าใครที่ไหน พระสงฆ์องค์เจ้าเหมือนกัน อาตมายังต้องไปรับกรรม จะลบล้างกันไม่ได้ แต่หนักเป็นเบา เบาก็หายไป อย่างนี้ขอฝากไว้ นี่ได้จากเวทนาเชียวนะ

     แต่เรามาทำเล่น ๆ มานั่งหัวเราะกัน มานั่งคุยกัน เลยก็เจอบาปทุกวัน ได้บาปเป็นกิจกรรมทุกวัน เสียเวลาทางบ้านมามิใช่น้อย

     คนเราต้องหาความสงบ ถ้าความสงบไม่มีแล้ว จะรำลึกเหตุการณ์ไม่ได้เลย มันอยู่ตรงนี้นะ

      ญาติโยมทั้งหลาย อาตมาขออนุโมทนาที่อุตส่าห์มาทุกวันพระ ผลัดกันเข้าผลัดกันออก มาปฏิบัติธรรมเป็นที่น่าซึ้งใจ อุตส่าห์ตั้งใจ เอาของดีไปให้ได้นะ ต้องปฏิบัติ ของดีอยู่ที่ไหน ไม่ใช่อยู่ที่อาตมา อยู่ที่ตัวโยม คนให้พบ เรามีของดีของชั่วกันทุกคน แต่จะค้นเอาของดีไปหรือของชั่วไป ก็ตามใจ

     บางคนจิตใจบาปหยาบช้า ก็เข้าเป็นพวกหมู่อันธพาลกันได้ คนที่ใจบุญสุนทานจะเข้าหมู่อันธพาลไม่ได้ อันธพาลอยู่ที่ตัวเรา อย่าไปค้นคนอื่น อย่าไปมองคนอื่นเขา บางครั้งจิตใจเรามันก็พาลด้วยกัน บางครั้งจิตก็ชั่ว บางครั้งจิตก็ดี ความดีก็เป็นบัณฑิต จิตอ่อนโยน ไม่แข็งกระด้าง

     ในเมื่อจิตสงบใจเยือกเย็น จิตประกอบกรรมดีมีปัญญา ต้องเป็นบัณฑิต ใจฟุ้งซ่าน ใจร้อน จะเป็นอันธพาล อยู่ตรงนี้เป็นข้อปฏิบัติ

     ตัวเวทนาเป็นตัวรำลึกกรรมได้ ขอให้ทำจริง ๆ เถอะ ตายให้ตาย แตกให้แตก เกิดขึ้น เดี๋ยวตั้งอยู่ดับวูบ พระไตรลักษณ์เห็นชัด ปัญญาก็บอกเราเองว่า อ๋อ เราทำกรรมอะไรไว้ เราจะได้รู้ล่วงหน้า เหมือนอาตมารู้ว่าคอจะหัก วันที่ ๑๔ ตุลาคม อาตมาถวายสังฆทานให้เจ้ากรรมนายเวรทุกปีไม่เคยขาด เจ้ากรรมนาวเวรมาทวงทุกปี บอกวาถึงเวลาท่านแล้ว ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม จะไปหรือไม่ไปอย่างนี้นะ

     แต่เราไม่รู้ว่าใครเขามาทวงกรรม เพราะเราไม่มีจิตเป็นกุศล จึงรู้ไม่ได้ มัวแต่แส่หาเรื่องที่ไม่ดี จิตที่ไม่มีปัญญา ไหนเลยล่ะจะรู้กฎแห่งกรรมของตน ที่เราจะต้องแผ่ส่วนกุศลไปให้

      การเดินจงกรมยืนหนอ ๕ ครั้ง ให้ครูอาจารย์สาธิต ให้ปฏิบัติทีละราย แต่ละรูป อย่าไปบอกเพียงวาจา เขาจะทำไม่ได้ บางคนก็รู้ดี แต่สอนไม่ถูกต้องตามขึ้นตอน ขอพระเถรานุเถระโปรดจำเอาไว้ นำไปชี้แจ้งให้ถูกต้อง ชั้นประถมยังไม่ได้ จะขึ้นชั้นมัธยมได้อย่างไร รูปนามขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ แยกรูปแยกนามยังไม่ออก จะไปบอกโสฬสญาณได้อย่างไร ยังฟังไม่ได้

      วันนี้ไปลำดับที่กองทัพภาคที่ ๓ มาแล้ว ลำดับเหตุการณ์ของชีวิตนั่นแหละ มีความหมายเรียกว่า ลำดับญาณ ลำดับความรู้ในปัญญาของเรา แยกรูปแยกนามขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์

     ขั้นที่ ๑ นี้ สามารถจะต่อถึงญาณ ๑๒ ได้ เกิดอัตโนมัติ ยิ่งทำยิ่งเกิด ๆ แยกรูปแยกนามได้ ทำไมจะแยกกายกับจิตไม่ได้ แยกเวทนาไม่ได้ ต้องได้ แยกเวทนาได้เมื่อใด รู้กฎแห่งกรรมเมื่อนั้น เท่านี้เหลือกินเหลือใช้เฉพาะภาคพื้นมนุษย์

     จิตใจใสสะอาดบริสุทธิ์ จะรู้กฎแห่งกรรมของตนได้ คนดีต้องมีปัญญาไตร่ตรอง รู้กฎแห่งกรรม กลัวบาป กลัวกรรมเหลือเกิน คนประเภทนี้จะไม่ยุแยงตะแคงแซะแต่ประการใด

     ยืนหนอ ๕ ครั้ง สอนให้ถูกต้อง ตั้งสติตั้งแต่กระหม่อม ถึงสะดือ หยุดหายใจ หนอ....ลงไป สติจะได้ตามได้ทันที ต้องสอนให้มันถูกระเบียบ ยืนสำรวมจากปลายเท้า ยืน....หยุดที่สะดือ แล้วก็ตั้งสติใหม่ เหมือนเราจะยันอะไร พอสุดมือแล้วก็ต้องถอยหลัง ดันใหม่จึงจะมีแรง หายใจแล้วก็กำหนดหนอ.... ไปถึงที่กระหม่อม ๕ ครั้ง ลืมตาเดินจงกรมต่อไป

     ขอให้สาธิตและปฐมนิเทศแต่ละคน แต่ละรายให้เขาได้ไปเลย ไม่ใช่พูดแต่ปากใช้ไม่ได้ ขอฝากไว้

     จุดมุ่งหมายอันหนึ่ง คือ พองหนอ ยุบหนอ บางคนทำไม่ได้เลย มาอยู่หลายครั้งแล้ว ถามว่า พองหนอ ยุบหนอ ทำอย่างไร ทำให้ดูซิ ทำไม่ได้เลยนะ น่าเสียดายมาก

     หายใจยาว ๆ พอง....แล้วลงหนอ....ให้ได้จังหวะ หายใจออกยาว ๆ  หายใจเข้ายาว ๆ ท้องมันจะพองยุบเหมือนลูกโป่ง เอาลมออกมันก็แฟบ ใส่ลมเข้าไปมันก็โป่งอย่างนั้นแหละ ให้ได้จังหวะ ให้รู้สึกนึกคิด ให้รู้ว่าพองหรือยุบ ไม่ใช่กำหนดแต่ปากใช้ไม่ได้ ทำอีก ๑๐๐ ปีก็ไม่เกิดประโยชน์มันอยู่ตรงนี้นะ นักปฏิบัติโปรดจำไว้ด้วย ถามครูอาจารย์ด้วย เอามือคลำดูบ้างซิ นอนจับพองยุบได้ชัด

     อิริยาบถ ๔ ต้องทำให้พอ ๆ กัน ยืน เดิน นั่ง กับนอนดูอิริยาบถ ไม่ใช่นอนหลับ หรือนอนคุยกันนะ ไม่ได้ผล คุยกันก็สะสมบาปตลอดรายการ ไม่เกิดประโยชน์แต่ประการใด กินน้อย นอนน้อย พูดให้น้อย ทำความเพียรให้มาก อย่าไปมองกุฏิโน้น กุฏินี้ อย่าไปเที่ยวเปิดกุฏิโน้น กุฏินี้เขาไม่ได้ ขอให้อยู่ในโอวาทนี้ด้วย

      อย่าไปวุ่นวายเดินเถลไถล ไปห้องโน้นห้องนี้ ต้องปฏิบัติ ต้องสงบ ทุกคนที่อยู่ในวัดต้องปฏิบัติให้ได้ ต้องอยู่ในโอวาทของเจ้าสำนัก อยู่ในโอวาทของครูอาจารย์ อยู่ในโอวาทของผู้ควบคุมดูแลด้วย จะได้ความสะดวกในการบริการด้วย

     การเจริญวิปัสสนากรรมฐานสำคัญที่ยืน เดิน นั่ง นอน สำคัญที่ธาตุ อินทรีย์ อายตนะ สรุปเหลือหนึ่ง คือกายกับจิต รูปกับนาม มีเท่านี้ ต้องทำให้ได้

     แยกรูปแยกนามได้ เหลือกินเหลือใช้ แล้วญาณอื่น ๆ มันก็ตามมาเอง ข้อนี้สำคัญ บางทีไม่จำต้องกล่าวว่าเดินระยะ ๖ แค่ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เป็นหลักปฏิบัติ หนักเข้ามันก็ยกย่างไปเอง มันจะมีความละเอียดอ่อนสำหรับจิตที่มีความละเอียดแล้ว มันก็เกิดขึ้นโดยทำนองนี้ เป็นต้น ขอท่านสาธุชนโปรดจำข้อนี้ไว้

     บางทีเดินจงกรมได้สำเร็จมรรคผล บางคนไปสำเร็จตอนนอน ถ้าโยมนั่งไม่ได้อย่านั่ง นอนกำหนดพองหนอ...ยุบหนอ... นอนได้ไหม...ได้ บางทีอาจจะสำเร็จตอนนอน

      ขอเจริญพรญาติโยมว่า มีพระเถรานุเถระองค์ใดที่สำเร็จตอนตอน เดินจงกรมวันยันค่ำ คืนยันรุ่งไม่สำเร็จ นั่งภาวนาวันยังค่ำ คืนยันรุ่งไม่สำเร็จ พอพักผ่อนร่างกาย มัชฌิมาปฏิปทา ปานกลาง ก็เอนกายลง สำเร็จเป็นพระอรหันต์เลย ท่านผู้นี้คือ พระอานนท์ ศรีอนุชา

     ทำไมไม่สำเร็จเสียก่อนเล่า เพราะอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า เป็นปัจฉาสมณะ เป็นมัคคุเทศก์ รับใช้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าจึงไม่สำเร็จ ไม่มีโอกาสจะเจริญวิปัสสนากับเขา แต่เป็นตู้พระธรรม จะทำปฐมสังคายนา ก็ต้องรอท่าพระอานนท์ พระอานนท์มีความรู้สูง แต่ไม่เป็นพระอรหันต์ จึงสังคายนาไม่ได้

     พระอานนท์รู้ตัวอยู่ ตอนพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ก็ว่างงาน จึงปฏิบัติกรรมฐานเป็นการใหญ่ ปฏิบัติมาตั้ง ๒๔ ชั่วโมง วันยันค่ำ คืนยันรุ่ง ไม่นอน ก็ยังไม่บรรลุ ไปได้บรรลุตอนนอนเอนลงไปกำหนด เอนหนอ สติเข้าภวังค์ ปัญญาเกิด สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในขณะที่จะนอน

     ขออนุโมทนาสาธุการส่วนกุศล ในที่ประชุมนี้ อยากรู้กฎแห่งกรรม ก็ปฏิบัติเวทนา กำหนดให้ได้ จึงจะรู้ว่าเราทำกรรมอะไรไว้ เราอยากจะให้มีปัญญา ก็สงบจิตให้ลึกลงไป แล้วพยายาม ความเพียรเกิดขึ้น

     ขอความสุขสวัสดี จงมีแก่ผู้ใคร่ธรรม ผู้ปฏิบัติกรรมฐานทุกท่าน ที่ได้สร้างกุศลจิต ให้ชีวิตของท่านเรืองด้วยปัญญา สามารถแก้ปัญญาได้สมปรารถนา ทุกท่านจงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ นึกคิดสิ่งหนึ่งประการใด สมความมุ่งมาดปรารถนา ด้วยกันทุกรูปทุกนาม เทอญ...

 

-------------------