คติกรรมฐาน

พระราชสุทธิญาณมงคล

๒๐ เม.ย. ๓๖

P7006

 

          ในวันนี้จะให้โอวาท คติกรรมฐาน โยมโปรดตั้งใจฟัง ณ บัดนี้

ทุกข์ที่น่ากลัว

ความทุกข์ในโลกมนุษย์นี้มีหลากหลาย ท่านมีแต่ความทุกข์ มีเงินทองมากมายก็หาความสุขไม่ได้แต่ซื้อความสะดวกได้ อยากได้รถกี่คันไปซื้อมา แต่ความสุขมันอยู่ที่ซื้อรถแล่นไหม สามีภรรยาทะเลาะกันมีความสุขไหม นี่แหละทุกข์ที่น่ากลัว จะอธิบายให้ฟัง

          คนที่ไม่มีธรรมะชอบขี้เกียจ ขี้โกง ขี้อิจฉาริษยา ชอบประทุษร้ายเขา จะมีแต่ความทุกข์ที่น่ากลัวมาก ที่หาเรื่องประทุษร้ายใส่ความผู้บริสุทธิ์ไม่มีความผิดจนได้รับโทษทัณฑ์ ผู้นั้นต้องถึงความพินาศ 4 ประการ ทราบได้จากการเจริญพระกรรมฐาน

          1. เกิดความทุกขเวทนาเร่าร้อนอย่างแรงกล้า  ต้องพบข้อนี้ก่อน เกิดความทุกขเวทนาเร่าร้อนใจ ปวดอย่างทนไม่ไหว เกิดทุกข์กายเข้ามาหาทุกข์ใจ นักกรรมฐานต้องกำหนดเวทนาว่า “ปวดหนอ ปวดหนอ” ตายให้ตาย

          อยากรู้ความจริงของชีวิต ต้องเข้าวัดปฏิบัติและน้อมถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา ด้วยการปฏิบัติธรรม ขอยอมตายตามคำสอนของพระพุทธเจ้า “ปวดหนอ ปวดหนอ” นี่ทุกข์อย่างร้ายแรง

          ทุกข์นี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตจะพบพระ ใจไม่กังวลต่อทุกขเวทนา เวทนาจะหายไป ทุกข์ออกไปความสุขมาแทนที่ สร้างความดีกันต่อไป

          2. ถึงความเสื่อมความตาย  ถ้าใครถวายชีวิตต่อพระรัตนตรัยได้ จะได้ผล คนที่ยังกลัวตายจะมีแต่ความทุกข์ระทมขมขื่นตลอดรายการ ต้องอดทนต่อสู้ ตายให้ตาย คนที่ไม่สู้จะถึงความเสื่อมความตายทันที ความเสื่อมคืออะไร จิตใจของท่านเสื่อม ท่านจะตายด้วยความประมาท อันนี้กรรมฐานนะ

          คนไหนไม่รักตัวยังกลัวลำบากอยู่ คนนั้นยากที่จะได้ธรรมะ รักตัวอย่ากลัวลำบาก ต้องทนทุกข์ผ่านความเสื่อมความตายให้ได้

          ปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 กำหนดจิตใจ เมื่อใดเข้มแข็ง จิตใจท่านจะไม่เสื่อมต่อพระรัตนตรัย ความตายจะเกิดขึ้นอย่างไร อมตะจิตท่านจะไม่ตาย ถึงท่านจำเป็นต้องจากสังขาร แต่อมตะจิตท่านจะไปสู่ความดี ท่านจะมีปัญญา ท่านจะไม่ปวดอย่างทรมาน โทษที่น่ากลัวคืออิจฉา จะเกิดอาพาธเจ็บป่วยอย่างหนัก ต้องทนทุกข์ทรมาน สำหรับคนที่ใส่ร้ายป้ายสีเขา จิตใจถึงธรรมะจะไม่อิจฉาใครจะไม่มีโทษที่น่ากลัวกับเราเลย

          3. จิตฟุ้งซ่านกระวนกระวายเสมอ  คนที่อิจฉาริษยาเขานั้น จิตจะกระวนกระวายและฟุ้งซ่านตลอดชีวิต ถ้าท่านเจริญสติปัฏฐาน 4 กำหนด “ปวดหนอ ปวดหนอ” จิตก็ไม่ฟุ้งซ่าน จิตก็เป็นกุศล จะไม่ใส่ร้ายป้ายสีใคร ให้ทุกข์ทรมานถึงขนาดนี้เลย

          คนที่จิตฟุ้งซ่านกระวนกระวายใส่ร้ายป้ายสีเขาตลอดมา และไม่ได้เจริญกรรมฐาน จะเข้าหลักว่าถูกผู้ใหญ่เพ่งโทษ ข้าราชการถูกผู้ใหญ่สอบสวน ถูกไล่ออก และถูกใส่ความอย่างร้ายแรงที่เราไปใส่ความเขามา ถ้าท่านเจริญสติได้ ท่านจะแผ่เมตตา อโหสิกรรม ไม่ใส่ร้ายป้ายสีใคร ผู้ใหญ่ก็ไม่ใส่โทษให้แก่เราอย่างร้ายแรงเหมือนแต่ก่อนมา

          4. ญาติมิตรทอดทิ้ง  เนื่องจากไปทอดทิ้งคนอื่น ไปใส่ร้ายเขาเอาแต่ตัวลอยลม ในอนาคตท่านจะถูกญาติมิตรทอดทิ้ง ไปรับราชการผู้ใหญ่จะทอดทิ้ง ลูกของเราจะต้องถูกออกจากราชการ นี่เป็นกฎแห่งกรรมนะ

          ถ้าคนไหนแผ่เมตตาในพระกรรมฐาน ญาติมิตรไม่ทอดทิ้ง กฎแห่งกรรมที่เราไปทิ้งเขามา ไปใส่ร้ายป้ายสีเขา เมื่อแก่แล้วต้องถูกทอดทิ้ง ถึงจะมีสมบัติกี่พันล้านก็ต้องถูกทอดทิ้ง ถ้าเราตายไปก่อน ลูกหลานก็ทอดทิ้งตัวเอง ทรัพย์สินที่มีอยู่จะพินาศตลอดไป ลูกหลานจะแย่งกัน

          ความทุกข์ในโลกมนุษย์เป็นแบบนี้เองหนอ ถ้าท่านเจริญกรรมฐานจะผ่านข้อนี้ ทรัพย์สินที่มีอยู่จะไม่พินาศมีแต่เงินไหลนองทองไหลมา จิตเป็นกุศล แผ่เมตตา ไฟไม่ไหม้บ้านแน่ บางแห่งสร้างใหม่ๆ ไฟไหม้หมดแล้ว จิตไม่ดีไฟก็มาไหม้บ้านโดยไม่น่าเชื่อ ถ้าท่านเจริญกรรมฐานจะผ่านคำว่า ทุกข์ จะไม่มีใครมาใส่ร้ายป้ายสีแต่ประการใด

ชนิดของทุกข์

            ทุกข์จำแนกตามลักษณะการเกิดได้ 10 ประการดังนี้

            1. สภาวทุกข์  เกิดก็เป็นทุกข์ แก่ก็เป็นทุกข์ ตายก็เป็นทุกข์

          2. ปกิณณกทุกข์  ทุกข์จรเข้ามาในใจ เศร้าโศกเสียใจแทนเขา เจ็บปวดร้าวทั่วสกลกาย เรากำหนดจิต จะหายไปได้

          3. นิพัทธทุกข์  มีทั้งร้อน หนาว หิว กระหาย เป็นทุกข์เหลือเกิน ถ้ามีสติสัมปชัญญะดีมีปัญญา ท่านจะไม่มีความหนาวร้อย หนาวก็สู้ ร้อนก็ต้องทน หิวก็ต้องทน กระหายก็ต้องทน หมดทุกข์แน่ๆ

          4. พยาธิทุกข์  ทุกข์เกิดตามร่างกาย พยาธิโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน โรคกายเกิดทั่วสกลกายไปหมด ปวดโน่นปวดนี่

          เราเจริญกรรมฐานแก้ได้ กำหนด “ปวดหนอ ปวดหนอ” ตายให้ตาย จะขาดใจตายแล้วเพื่อนเอ๋ยมาช่วยหน่อย เพื่อนตายก็คือกรรมฐาน สติอันหนึ่ง สัมปชัญญะอันหนึ่งเป็นเพื่อนตายแน่ๆ เมื่อกำหนดได้จะได้จากพยาธิทุกข์ จะไม่มีทุกข์ทางร่างกาย

          5. สันตาปทุกข์  ทุกข์เกิดจากกิเลสเผา เกิดโลภะอยากได้ของเขา ไม่ได้ก็เป็นทุกข์ โทสะโกรธเขา แก้แค้นไม่ได้ก็มีแต่ความทุกข์ โมหะทุกข์เกิดจากกิเลสเผากายเผาใจ เราก็ตั้งสติปัฏฐาน 4 กำหนดจิตให้ได้ ตั้งสติสัมปชัญญะไว้ให้ดี จะเผาใจเราก็แก้ได้ นี่สิจะพ้นทุกข์

          6. วิบากทุกข์  ทุกข์เกิดจากผลบาปกรรม จากกฎแห่งกรรมที่ได้ทำมา เงาบุญ เงาบาป ของใครของมัน ถ้าเจริญสติปัฏฐาน 4 ท่านจะรู้ว่ากฎแห่งกรรมเป็นประการใด

          อาตมาเคยพูดมานานว่า ผลจากการเจริญสติปัฏฐาน 4 ในขั้นแรกคือ รำลึกชาติได้ รู้กฎแห่งกรรม และแก้ปัญหาได้  ถ้าท่านเจริญสติปัฏฐาน 4 อโหสิกรรมต่อบาปกรรมแล้วไม่ปฏิเสธทุกข้อหา รับรองรับใช้กรรม เหมือนอาตมารู้ล่วงหน้าว่าคอจะหัก รีบใช้กรรมนกเสีย ที่เราไปหักคอมัน ผลบาปเกิดจากการกระทำของอาตมาเอง อาตมารับทุกข์แต่เพียงผู้เดียว คอหัก แขนหัก ขาหัก ฟ้าผ่า ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หมดแล้วที่เคยไปรับจ้างต้มเต่า เห็นชัดหรือไม่

            7. สหคตทุกข์  ทุกข์เกิดจากโลกธรรม 8 ประการ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ นินทา เสื่อมลาภ เสื่อมยศ เขามาเยินยอสรรเสริญเราก็ชื่นใจ เดี๋ยวก็ทุกข์มาแทนที่แล้ว มันก็ไม่จริงตามที่เขาสรรเสริญเยินยอ เขานินทาว่าร้ายเรากลับไปเสียใจ มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น

          ขอให้ธรรมะในตอนนี้ว่า ถ้าวันไหนมีใครมาด่าอาตมา อาตมาได้บุญมากได้กำไรเยอะ จะไม่ฟังเสียงคำด่าแต่จะฟังเสียเหตุผลว่าเราเป็นจริงตามคำด่าไหม ถ้าไม่จริงคำด่านั้นกลับไปหาเขา ถ้าเป็นดังคำด่าเราก็แก้ตัวเสียใหม่ทำดีให้รุ่งเรืองเจริญต่อไป ไม่หวั่นไหว ตั้งสติสัมปชัญญะไว้

          8. อาหารปริเยฏฐิทุกข์  ทุกข์เกิดจากการเลี้ยงชีพ ท่านหาอาชีพการงานไม่ดี รับประทานอาหารบาปลงไปในท้อง อาหารไปเลี้ยงร่างกาย ร่างกายของท่านก็เป็นบาปเป็นทุกข์

          ถ้าอาหารได้มาด้วยความบริสุทธิ์ใจ เงินทองได้มาด้วยความบริสุทธิ์ใจ นำมาเลี้ยงชีพ เลี้ยงลูกหลานท่านก็มีแต่ความสุข รับประทานอาหารกำหนดจิต เคี้ยวช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด กลืนหนอ กลืนด้วยสติสัมปชัญญะ อาหารเป็นบุญ อาหารไปเลี้ยงร่างกาย ท่านจะเกิดความสุข

          9. วิวาทมูลกทุกข์  ทุกข์เกิดจากการหนักใจมาก เกิดจากการวิวาทกัน ภรรยาไม่ดี สามีไม่ดี ลูกไม่ดี ผู้เป็นพ่อบ้านแม่เรือนเป็นทุกข์หนักใจไหม ท่านว่าพี่ว่าน้องไม่ได้ก็หนักใจ น้องมาสู้พี่ พี่ก็หนักใจ

          ถ้าท่านมีสติสัมปชัญญะ มีปัญญาแก้ไขปัญหาในครอบครัวได้จะไม่มีความหนักใจ ไม่เอาความหนักใจไว้ในใจ อย่าแบกหามไว้บนบ่าเลย หนักมากนักก็วางเสียบ้างสิ ท่านจะแก้ตัวได้หรือไม่ ถ้าท่านหนักแล้วยังขืนแบกต่อไป ท่านก็โง่ต่อไป

          10. ทุกขขันธ์  ทุกข์เกิดจากขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ มีแต่ความทุกข์ ถ้าท่านมีสติปัฏฐาน 4 เข้าไปยันไว้ รูปนามเป็นอารมณ์ ก็หมดทุกข์ ถึงบรมสุขคือนิพพาน

บุญเกิดจากการเจริญกรรมฐาน

          การเจริญกรรมฐานเป็นการกระทำที่ทำให้จิตใจของท่านเป็นบุญ ท่านเจริญกรรมฐานได้จะเกิดบุญ 10 ประการดังนี้

          1. การบริจาค การให้วัตถุ ทั้งความรู้ และการให้อภัย จะเกิดขึ้นในใจของนักกรรมฐานคือ เป็นบุญ

          2. การรักษาศีล คือ งดเว้นจากความชั่วต่างๆ ได้

          3. การเจริญภาวนา เจริญสติปัฏฐาน 4 เพื่ออบรมจิตให้มั่นคงในความดี

          4. การอ่อนน้อมถ่อมตนและการกราบไหว้บูชา จะมีต่อนักกรรมฐาน ผู้อ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ บูชาต่อพระรัตนตรัย ไม่ถือผีถือเจ้า ไม่ไปไหว้ผีไหว้เจ้า แต่ผีปู่ย่าตายายไหว้ได้ เจ้าที่เป็นเจ้าของเรา เป็นผู้มีพระคุณก็ไหว้ได้ ไม่ใช่ผีเจ้าเข้าทรงนั่นคนละเรื่องกัน พูดตีความให้มันแตก อย่านำมารวมกันจะเสียหาย

          5. การช่วยขวนขวายในการทำความดีของผู้อื่น จะเกิดขึ้นจากนักกรรมฐาน จิตใจจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ผู้ที่ขวนขวายในการทำความดีของผู้อื่นได้ จะไม่มีอิจฉาใครแน่

          6. การแผ่ส่วนบุญหรืออุทิศส่วนบุญแก่ผู้อื่นได้อย่างตรงใจใม่มีตะขิดตะขวงใจแต่ประการใด

          7. การชื่นชมยินดีต่อการทำความดีของผู้อื่นได้อย่างจริงใจ จะออกมาเป็นบุญ สำหรับนักกรรมฐานที่ทำได้จะยินดี มุทิตาจิตกับบุคคลที่สร้างความดี จะเป็นลูกหลานหรือไม่ใช่ก็ตาม

          8. การฟังเทศน์ ฟังสิ่งที่มีคติธรรม สิ่งที่ไร้สาระจะไม่อยากฟัง ฟังสิ่งที่มีประโยชน์เสมอไป

          9.การเทศน์จะสอนชี้แจงให้ความดีเท่านั้น

          10.การตั้งความคิดเห็นให้ตรงตามหลักของกรรมจากการกระทำกฎแห่งกรรมจะยอมรับ มีความรู้ซึ้งตื้นลึกหนาบางด้วยความถูกต้อง จะไม่มีขี้เกียจ ไม่มีขี้โกง ไม่มีริษยา แต่ประการใด

โทษของการริษยา

          ท่านที่ปฏิบัติกรรมฐานจะได้ทราบว่า โทษจากการริษยามีอยู่ 5 ประการดังต่อไปนี้

          1.เป็นสาเหตุทำให้เกิดการแตกความสามัคคี

          2. เป็นอุปสรรคของการประสานงานที่ดี จะประสานงานกับใครไม่ได้ เพราะท่านไปอิจฉาเขา

          3.เป็นเครื่องทำลายขวัญและกำลังใจผู้ปฏิบัติงานร่วมกัน

          4. เป็นการสร้างศัตรูให้กับตัวเอง ไม่มีเมตตาต่อใคร

          5. ขาดความจริงใจ คนที่ริษยาเขาไม่มีจิตใจตรง ขาดความจริงใจจริงจังต่อกัน ต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อกิจการของตน คนที่ไม่มีความจริงใจต่อตัวเอง โกหกตัวเองเสมอ คนนั้นจะอิจฉาเรื่อยไป เห็นคนอื่นได้ดีไม่ได้แค้นใจแทน เห็นคนอื่นได้ชั่วซ้ำมันเลย คนประเภทนี้ไม่มีกรรมฐาน

          ถ้าท่านเจริญกรรมฐาน 7 วัน เข้าถึงธรรมะเมื่อใด ท่านจะเข้าใจเรื่องนี้ จะไม่อยากอิจฉาใคร อยากจะสร้างความดีในครอบครัวให้มากที่สุด อยากจะช่วยสังคมด้วยมนุษยสัมพันธ์ จะไม่มีการสร้างศัตรูกับใคร มีแต่สร้างความดีให้ลูกหลานเป็นใหญ่เป็นโตให้จงได้

          อันที่จริงเขาก็อยากให้เราดี แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้ จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน แต่ทางธรรมไม่ใช่อย่างนั้น สร้างความดีให้เด่นจะเห็นไกลเขาจะได้มาดูความดีที่เด่น

          ท่านทั้งหลาย ถ้าท่านเจริญกรรมฐาน ท่านจะพบข้อนี้ ท่านจะไม่ริษยาใคร คนที่มีจิตเป็นธรรมะ มีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ประทับอยู่ที่ใจ จะเห็นศัตรูเป็นมิตรเรา เขาก็จะเป็นมิตรกับเราต่อไป จะเห็นคนทำชั่วเป็นคนที่น่าสงสาร อยากจะให้เขาเป็นคนดีจะทำอย่างไร จะไม่เกลียดคนชั่ว

ผลงานจากการเจริญกรรมฐาน

          การเจริญกรรมฐานได้ผลงานดังนี้

1. มีวินัยในตัวเอง 3 ประการคือ

1.1 รู้จักระวังตัว

1.2 รู้จัดควบคุมตัวได้

1.3 รู้จักเชื่อฟังผู้ใหญ่ ถ้าเป็นเด็กจะไม่เถียงผู้ใหญ่

2. มีกิจนิสัย 4 ประการ

2.1 ขยันไม่จับจด รักงาน สู้งาน

2.2 ประหยัด รู้จักใช้ชีวิตและทรัพย์สินอย่างถูกต้องและคุ้มค่า

2.3 พัฒนา รู้จักพัฒนาตัวเอง และอาชีพให้ดีขึ้น

2.4 สามัคคี รักครอบครัว รักหมู่คณะ และรักประเทศชาติ

3. มีลักษณะนิสัย 4 ประการ

3.1 มีสัมมาคารวะ

3.2 อุตสาหะพยายาม

3.3 ปฏิบัติตามระเบียบวินัย

3.4 รู้จักเด็ก รู้จักผู้ใหญ่ วางตัวได้เหมาะสม

4. มีความรู้คู่กับคุณธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต 4 ประการได้

4.1 รู้จักคิด

4.2 รู้จักปรับตัว

4.3 รู้จักแก้ปัญหา

4.4 มีทักษะในการทำงานและค่านิยมที่ดีงามในอนาคต เจ้านายทิ้งลูกน้องไม่ได้ ลูกน้องทิ้งเจ้านายไม่ได้ เข้าหลักที่ว่า ผู้ใหญ่ดึง ผู้น้อยดัน คนเสมอกันจะได้อุปถัมภ์ค้ำจุนต่อไป

          ขอฝากท่านไปปฏิบัติ “ยืนหนอ” ให้ได้ ยืนหนอได้เมื่อใด จิตกับสติมีควบคู่กันไปจะ “เห็นหนอ” รู้นิสัยทันที ส่งกระแสจิตทางหน้าผากชาร์ทไฟเข้าหม้อที่ลิ้นปี่ จำตรงนี้เป็นหลักปฏิบัติ 7 วัน “ยืนหนอ” ให้ได้ “เห็นหนอ” ให้ได้ “พองหนอ ยุบหนอ” กำหนดให้ได้เท่านี้ เดี๋ยวอย่างอื่นจะไหลมาเองเหมือนไข่งู

          ต้องเดินจงกรมด้วย ยืน เดิน นั่ง นอน เหลียวซ้ายแลขวามีสติสัมปชัญญะ กำหนดจิต กิริยาจะสวยงาม จะเดินไปไหนก็น่ารัก จะพูดจาก็เพราะพริ้ง แต่งกายก็เรียบร้อยสะอาดหมดจดทุกประการ นั่นคือศีล

          เดินก็มีสติ นั่งก็มีสติ นอนก็มีสติ จะพูดจาก็มีสติ ตั้งสติไว้ทุกอิริยาบถ เดิน 1 ชั่วโมง  ต้องนั่ง 1 ชั่วโมง โปรดจำไว้

อานิสงส์จากการเดินจงกรม

          การเดินจงกรมมีอานิสงส์ 5 ประการ

1. ย่อมอดทนต่อการเดินทางไกล จะไม่เหนื่อย

2. ย่อมอดทนต่อการบำเพ็ญเพียร

3. ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคจะหายไปเลย

4. อาหารจะย่อยง่ายไปเลี้ยงร่างกายสะดวกสบาย

5. สมาธิที่เกิดจากการเดินจงกรม จะตั้งได้นานกว่านั่งและขณะนั่งจิตจะมีสมาธิเร็วขึ้น

         

วันนี้อาตมภาพขออนุโมทนาสาธุการ ที่ญาติโยมทั้งหลาย ได้มาบำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา มีการถวายสังฆทาน เป็นต้น ขออานิสงส์สะท้อนย้อนกลับให้ทุกท่านมีความสุขความเจริญ คิดสิ่งใดสมความมุ่งมาดปรารถนา ข้ามเกาะแก่งทุรกันดารถึงฝั่งฟากคือพระนิพพานโดยทั่วกันทุกท่านเทอญ

 

----------- จบ -----------