ได้อะไร?
จากวัดอัมพวัน
เสียงสาน
ต้นสา
R10012
จากการที่กองทัพบกได้ดำเนินการเปิดฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรกองทัพบกประจำปี
๓๘ ที่วัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ผ่านมาแล้ว ๓ รุ่น ๆ ละ ๑๕๐ คน
ซึ่งการฝึกเช่นนี้มีมานานหลายรุ่นแล้ว จนท่าน หลวงพ่อจรัญ หรือ
พระราชสุทธิญาณมงคล ได้พูดเสมอว่า กองทัพบกเป็นผู้ริเริ่มก่อนใคร ๆ
และทำมานานหลายปีแล้ว จนเดี๋ยวนี้วัดอัมพวันเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ
มีผู้คนมานั่งวิปัสสนากรรมฐานกันมากมาย
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากจุดเริ่มต้นของกองทัพบก
การฝึกอบรม
ระยะเวลาแตกต่างกันไปตามหมู่คณะ ๒ วัน ๓ วันก็มี ๕ วัน ๗ วันก็มี
ผู้เข้ารับการฝึกไม่ต้องเตรียมอะไรให้ยุ่งยากกังวลใจ
เพียงแต่เตรียมชุดปฏิบัติธรรมสีขาวสักชุดหรือ ๒ ชุดไปก็พอแล้ว นอกนั้นก็เตรียมกายใจไว้รับเอาตามกำลังบุญของเรา
ซึ่งวันหนึ่งจะมีการนั่งสมาธิ ๓-๕ ครั้ง (เช้า สาย บ่าย เย็น กลางคืน)
รวมระยะเวลาก็ประมาณ ๓ ๕ ชั่วโมง ตอนเช้า ๐๕.๐๐ น. กับเวลากลางคืน
๑๙.๐๐ น. สวดมนต์ แผ่เมตตา สลับกับการอบรมแนะนำธรรมะและศาสนพิธี ผู้เข้ารับการฝึกทุกคนรับศีล
๘ รับประทานอาหาร ๒ มื้อ ดื่มน้ำปานะ เสริม ๒ ช่วง ที่ทุกคนจำได้แม่น คือบทแผ่เมตตาบทแผ่ส่วนกุศล
ท่องกันได้ทั้งภาษาบาลีภาษาไทย เพราะหลังจากการเดินจงกรมนั่งสมาธิเสร็จแล้ว
จะต้องแผ่อุทิศส่วนกุศลให้กับบิดามารดา ญาติ ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ เทวดา เปรต
เจ้ากรรมนายเวร สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ทุกครั้ง และได้พิเศษคือคำพิจารณาอาหาร
โดยก่อนรับประทานอาหารจะกล่าวพร้อมกันว่า อาหารและน้ำนี้
ข้าพเจ้าจะรับประทานเพื่อระงับความหิว บำรุงร่างกายให้แข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
เพื่อมีชีวิตอยู่กระทำความดีปฏิบัติธรระ ข้าพเจ้าจะไม่รับประทานเพื่อบำรุงกิเลสตัณหาแต่อย่างใด
ขอให้ท่านที่บริจาคและท่านที่บริการ จงมีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปราศจากโรคภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง
และจงเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ ที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาแล้ว โดยทั่วกันทุกท่านเทอญฯ
ด้วยคำพิจารณาที่จับใจ
ด้วยผู้ปฏิบัติธรรมและพระสงฆ์รักษาศีลอย่างบริสุทธิ์แน่แท้
จึงมีผู้มีจิตศรัทธาขอจองคิวเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารทุกวัน คงเป็นเพราะว่า
การได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระเลี้ยงผู้ปฏิบัติธรรม รักษาศีลนับร้อยนับพันคน
นับว่าได้บุญกุศลมหาศาล ในเรื่องการเลี้ยงอาหารแล้ว ที่วัดอัมพวันเลี้ยงดูผู้ไปเยือนตลอดวัน
ที่ผ่านมา
พอจะส่งกำลังพลไปวัดอัมพวัน บางคนปฏิเสธ เริ่มคิดสำรวจตนเองว่าเรานี่บกพร่องอะไร?
ไปแล้วได้อะไร? อย่าได้สงสัยเลย ไปเถิด ไปแล้วจะรู้แจ้งเอง
ได้ไปนับว่าได้บุญใหญ่แล้ว จึงขอให้มองกันเสียใหม่ว่าผู้ที่ไปเป็นผู้พร้อมที่จะยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น
และไปแล้วขอให้ตั้งใจปฏิบัติจริง ๆ หากไปหลบ ๆ เลี่ยง ๆ
สู้อยู่บ้านดีกว่ายังไม่บาปเท่ากับไป เพราะที่นั่นเป็นดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์
ดินแดนแห่งธรรมะ คนนับร้อย ๆ ทำได้ เราก็ต้องทำได้
ต่อไปคาดว่าจะเป็นหลักสูตรสำคัญหลักสูตรหนึ่ง
ที่จะต้องหมุนเวียนกำลังพลไปพัฒนาจิต
ข้อสำคัญจะเห็นว่านายทหารระดับผู้ใหญ่ไปฝึกกันมิใช่น้อย อย่างรุ่นที่ ๒
ในจำนวนผู้รับการฝึก ๑๕๓ คน มีระดับ พ.ต. พ.ท. จำนวน ๑๔ นาย
พ.อ. พ.อ. (พ.) ๗ นาย บางรุ่นมีระดับนายพล
เพราะการปฏิบัติธรรมไม่ได้แบ่งชั้นยศ
สิ่งที่เราแบกไว้เป็นสิ่งกังวลต้องปล่อยละวางในช่วงนี้ อย่างประธานรุ่นที่ ๒ ท่าน
พ.อ.(พ.) ผดุง นิเวศวรรณ ผอฦกกพ.นปอ.ทบ. และ พ.อ.สัมฤทธิ์ คมขอ รอง ผอ.กอศจ.กร.ทบ.
ถึงกับปวารณาตัวขอล้างห้องสุขา ห้องน้ำ คนละ ๕-๗ ห้อง เพื่อบำเพ็ญทาน
เพื่อชำระล้างจิตวิญญาณให้บริสุทธิ์ และอีกหลายคนปวารณาเก็บกวาดเช็ดถูทำความสะอาดวัด
จะสังเกตเห็นว่าเวลาหลังรับประทานอาหารต่างขอจองล้างถ้วยชามกัน.... นี่อะไรกันหรือ
การไปวัดอัมพวันสามารถเปลี่ยนจิตใจกันได้ถึงขนาดนี้
นี่เป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งว่า การไปวัดอัมพวันได้สิ่งที่ดีงาม
ที่เป็นประโยชน์กลับมาแน่นอน คติกรรมฐานมีอยู่ว่า กินน้อย
นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรมาก...ปิดหูซ้ายขวา
ปิดตาสองข้าง ปิดปากเสียบ้าง แล้วนั่งสบาย
ผู้ปฏิบัติธรรมสวมใส่ชุดขาวสะอาดตาเต็มวัดไปหมด แต่ละคนไม่หลงรูปหลงวัตถุ
ไม่ตบแต่งร่างการอะไรที่เกินความจำเป็น
ทหารอย่างเรา
ๆ ท่าน ๆ เคยผ่านการฝึกหลักสูตรต่าง ๆ กันมามากมาย เช่นหลักสูตรกระโดดร่ม, จู่โจม.
ปจว.ม ปปส.ม สนบ. หลักสูตรของหน่วยของเหล่า แต่ละหลักสูตรแต่ละคนต้องการเอาดี
ให้ได้คะแนนดี ๆ ที่ดี ๆ แต่หลักสูตรนี้ค่อนข้างจะแตกต่าง เพราะไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับใคร
ใครทำใครได้ ไม่ต้องการปมเด่นเป็นยอดเป็นหนึ่งในรุ่น ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา
ท่านมองหมายให้เราคุมคน คนเดียว คนคนนั้นคือ ตัวเรา ทำได้เท่านี้
แล้วปฏิบัติตามที่ท่านวิทยากร พ.ท.วิง รอดเฉย (อดีตท่านก็เป็นทหารพลร่มเช่นกัน
เป็นวิทยากรหลัก) แนะนำ ก็จะได้อะไรดี ๆ ตามมา
นี่เป็นเพียงเกร็ดเล็ก
ๆ น้อย ๆ เท่านั้นที่นำมาเล่าสู่กันฟัง สิ่งที่น่าจะเป็นแก่น
คือได้รู้ได้ฝึกปฏิบัติด้านศาสนพิธี เช่นการสวดมนต์ไหว้พระ การกราบไหว้ที่ทำกันเป็นหมู่คณะมาก
ๆ ทำกันได้อย่างพร้อมเพรียง และประการสำคัญ คือ
การได้รับฟังข้อธรรมะจากหลวงพ่อโดยตรง ซึ่งคงไม่ง่ายนัก เพราะระดับพระอริยสงฆ์เช่นท่านหลวงพ่อ
จรัญ ท่านมีภารกิจธรรมมาก เวลาว่างเว้นมีน้อยเหลือเกิน
ซึ่งสิ่งที่เราได้รู้ได้ยินกับหูได้เห็นกับตาในกิริยาอาการสำรวมของท่าน
ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การนั่ง การกราบไหว้ การเทศนา วิสัชนา
ดูเพียบพร้อมงดงามไพเราะน่าเลื่อมใส สมเป็นพระนักวิปัสสนากรรมฐานโดยแท้
แล้วเมื่อเราได้ใกล้ชิดพระอริยะเช่นนี้ย่อมได้บุญกุศลมหาศาลนักแล
ที่ได้อีกและติดปากแน่
ๆ คือคำว่า หนอ คำ ๆ นี้ใช้มากที่สุด เพราะเวลาจะเดินจงกรมหรือนั่งวิปัสสนา
เช่นยืนหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ กลับหนอ นั่งหนอ พองหนอ ยุบหนอ และอิริยาบถต่าง ๆ
จะใช้ หนอ ลงท้ายเสมอ เพราะคำว่า หนอ นี้เป็นฉนวนป้องกันกิเลส
เป็นคำที่ต้องการให้รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่
อาการ
สำรวม การสำรวมเป็นหลักปฏิบัติลดละกิเลสที่ถูกทาง ยามเดินระมัดระวัง
ยามนั่งพิจารณา ยามกินกินแบบไม่ติดรส สำรวมตาไม่สอดส่ายโน่นนี่
มีการระมัดระวังอยู่เสมอ ทั้งในด้านที่ทำให้เกิดชื่นชอบ หรือไม่ชอบชิงชัง
นี่ก็ได้อีก
สิ่งที่ได้อย่างมากคือ
สติ รู้จักใช้พิจารณายับยั้งชั่งใจ จะคิดจะทำอะไรรู้ตัว
รู้สึกนึกคิดได้ตลอด เช่นโกรธแค้นอย่างรุนแรงถึงกับจะฆ่ากันให้ตาย คนมีสติแล้วจิตจะหยุดคิด
หลวงพ่อท่านสอนว่า ทำใจให้เป็นกลาง ๆ แล้วจะพบความสุข
ให้เอาสติคุมจิตเพราะจิตเป็นตัวเตลิด จิตคิดพอดีแล้วจะทำงานได้ดี
มีอะไรมากระทบรุนแรงก็จะเกิดสติหยุดยั้งคิดได้ ไม่ดีใจหรือเสียใจจนเกินไป
ที่กล่าวมาก็ได้ทั้ง
หนอ ทั้ง สำรวม และทั้ง สติ
ซึ่งความละเอียดกว่านี้ต้องไปศึกษาเอาเอง นอกจากนั้นที่เป็นหัวใจของศาสนาคือ อริยสัจ
๔ อันมี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่นัก ปจว.
นำมาจัดระบบการบรรยายทางวิชาการเป็น ปัญหา สาเหตุของปัญหา แนวทางแก้ปัญหา
การแก้/วิธีแก้ปัญหา ซึ่งก็เป็นหนทางแห่งความสำเร็จอย่างหนึ่งในชีวิตเรา
นอกจากนั้นก็มี ขันธ์ ๕ ซึ่งมี รูป กับ นาม แต่ละอย่างคืออะไร
เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปอย่างไร ที่ว่า อายตนะภายใน หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอกมี
รูป เสียง กลิ่น รส ถูกต้อง-สัมผัส นึกคิดอารมณ์ เป็นอย่างไร
ท่านไปวัดอัมพวัน จะได้รู้ยิ่ง ๆ ขึ้น
จุดสุดยอดของกองทัพบก
คือ ทำการรบให้ประสบชัยชนะ
หน้าที่ของทหาร
คือ ช่วยให้กองทัพประสบผลสำเร็จ
จุดสุดยอดในโครงการพัฒนาบุคลากรกองทัพบก
ที่วัดอัมพวัน เพื่อให้กำลังพลผู้เข้ารับการอบรมมีสติ เพราะมีสติแล้วจิตดี
จิตดีแล้วจะพัฒนาตัวเรา ให้ทำแต่สิ่งที่ดีงามและถูกต้อง
อันจะเป็นผลพวงถึงความสำเร็จของหน่วยงานเราด้วย
---------- จบ
----------