“ทางโลก” กับ “ทางธรรม” นำชีวิตเราไปคนละทางจริงหรือ

นาวาเอก ไพโรจน์ แก่นสาร

จากหนังสือ กฎแห่งกรรม – ธรรมปฏิบัติ เล่มที่ ๑๑

พระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)

วัดอัมพวัน สิงห์บุรี

R11013

            เมื่อพูดถึงผู้ถือศีลปฏิบัติธรรม ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยในปัจจุบัน มักจะพากันเข้าใจว่า เป็นเรื่องของคนที่พ้นภาระทางโลกแล้ว เช่น ผู้สูงวัยที่มีอันจะกัน แต่ไม่ค่อยมีอะไรจะทำ หรือชีวิตของข้าราชการหลังเกษียณอายุแล้วโดยที่ไม่มีงานอื่นให้ทำอีก ยิ่งถ้าเป็นคนวัยหนุ่มวัยสาวที่หันมาสนใจทางนี้ตั้งแต่ยังไม่หมดศักยภาพที่จะทำงานทางโลกแล้ว ก็อาจจะถูกมองว่าเป็นผู้ที่จะหลุดโลกไปแล้ว หรือไม่ก็ต้องผ่านพบมรสุมชีวิตอะไรบางอย่างมา จึงหันเข้าหาพุทธธรรมเป็นที่พึ่งทางใจ อะไรทำนองนั้น และมักจะถูกถามทำนองว่า ทำไมจึงฝักใฝ่ธรรมะตั้งแต่อายุยังน้อย มีปัญหาชีวิตอะไรหรือ

            ในความเห็นของผู้เขียนแล้ว ความเข้าใจและข้อสงสัยข้างต้นเป็นเรื่องส่อแสดงถึงการขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงในเรื่องเกี่ยวกับพุทธธรรม ซึ่งมีสารประโยชน์และคุณค่ามหาศาลสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ควรที่จะได้ศึกษาปฏิบัติอย่างจริงจังโดยไม่รั้งรอให้ถึงวันที่คิดว่า หมดภาระทางโลกแล้ว หรือเมื่อเผชิญปัญหาชีวิตแล้วหาทางอื่นแก้ไขไม่ได้ผล เพราะความคิดดังกล่าวนับเป็นความประมาทขาดสติโดยแท้ ท่านกำลังปล่อยให้โอกาสทองของชีวิตผ่านพ้นไปทุกขณะจิตโดยไม่รู้ตัว หากท่านคิดจะเฝ้ารอวันที่ท่านคิดว่าท่านพร้อมแล้วจึงจะลงมือศึกษาปฏิบัติธรรม ท่านอาจจะไม่มีโอกาสพบวันนั้นเลยก็ได้ในชีวิตนี้ด้วยท่านอาจจะลาโลกไปก่อน หรือผลัดผ่อนไปเรื่อย ๆ จน หมดความพร้อมที่จะทำในสิ่งที่ท่านรอคอย ถึงแม้จะมีวันนั้นสำหรับท่านที่มีความมุ่งมั่นอย่างจริงจัง ท่านก็คงพบกับความจริงว่า ศักยภาพของท่านเหลือน้อยเต็มทีแล้วที่จะตักตวงคุณค่าของพุทธธรรมให้กับชีวิตตนตามที่ปรารถนา

            ทำไมผู้เขียนจึงเสนอมุมมองอย่างนี้ คำตอบก็คือ เป็นผลจากประสบการณ์ที่ได้พบปะพูดคุยกับผู้คนจำนวนมาก หลากหลายวุฒิภาวะและฐานะทางสังคม ซึ่งมีทัศนะเกี่ยวกับการประพฤติศีลปฏิบัติธรรมต่าง ๆ กันไป ผิดแผกกันได้มากมายเกินคาด ตั้งแต่ไม่เห็นคุณค่าจึงขาดความเลื่อมใส จนถึงลุ่มหลงงมงายเพราะนับถืออย่างผิด ๆ สรุปโดยรวมได้ว่า มีเพียงคนส่วนน้อยจริง ๆ ที่เข้าเจ้าพุทธธรรมหรือคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างถูกต้องถ่องแท้ แม้แต่ในหลักทั่วไปที่สามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตทางโลกได้โดยตรง ที่กล้ากล่าวอย่างนี้มิได้เจตนาที่จะอวดอ้างว่าตนเองเป็นผู้รอบรู้หรือลึกซึ้งในพระธรรมคำสอนของพุทธองค์อย่างแจ่มแจ้ง ยากที่จะเป็นเช่นนั้นได้ครับ ส่วนที่พอมีความรู้ความเข้าใจอยู่บ้างนั้นยังน้อยนิดเต็มที เทียบกันไม่ได้เลยกับเรื่องที่ยังเข้าไม่ถึง แต่ก็พยายามศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมอยู่เรื่อย ๆ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติเท่าที่โอกาสจะอำนวย รู้เห็นแค่ไหนก็นำมาบอกเล่าสู่กันฟัง ในเชิงของการเสนอมุมมองในบางส่วนที่มีประสบการณ์มากว่าเจตนาที่จะถ่ายทอดคำสอนโดยตรง เพราะผู้เขียนเองตระหนักอยู่เสมอว่า ตนยังอยู่ในสภาวะที่ไกลนักสำหรับการทำหน้าที่ดังกล่าว แต่เชื่อว่าสักวันหนึ่งคงจะมีคุณสมบัติพอที่จะทำได้ในระดับต้น ๆ ดังนั้นขอท่านผู้อ่านโปรดทำใจกลาง ๆ ไว้ก่อนนะครับ ลองค่อย ๆ พิจารณาต่อไปว่า ท่านมีความเห็นอย่างไรต่อข้อคิดที่จะนำเสนอต่อไปนี้ หากจะมีส่วนช่วยให้ท่านเกิดมุมมองที่ถูกต้องชัดเจนขึ้นบางต่อคำว่า “ธรรมะ” ก็น้อมถวายกุศลนี้เป็นเครื่องสักการะบูชาแด่คุณพระศรีรัตนตรัย รวมทั้งครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ที่ได้มีส่วนให้ความรู้ความคิดที่มีประโยชน์เหล่านี้แก่ผู้เขียน แต่หากจะก่อให้เกิดผลในแง่ลบไม่ว่าต่อใคร และด้วยสาเหตุใด ๆ ขอได้โปรดอภัยและอโหสิกรรมให้แก่ผู้เขียนด้วยนะครับ มิได้มีเจตนาร้ายแรงแฝงอยู่เลยจริง ๆ

            คำว่า “ธรรมะ” พวกเราคงตีความต่าง ๆ กันไปหลายทัศนะ โดยภาพรวมแล้วกล่าวได้ว่า คนส่วนใหญ่มีความเห็นไปในทำนองที่ว่า เป็นเรื่องลึกซึ้งซับซ้อนอยู่ไกลตัวไปกันไม่ได้กับวิถีชีวิตทางโลก คำว่า “ทางโลก” กับ “ทางธรรม” ดูคล้ายจะเป็นสายธารคนละเส้นที่เกือบไม่มีวันไหลมาบรรจบกันได้ เราจึงจำเป็นต้องเลือกที่จะดำเนินชีวิตไปบนเส้นทางสายใดสายหนึ่ง จะเคล้าคละปะปนกันไม่ได้ ในมุมมองของผู้เขียนแล้วไม่เห็นด้วยเลยที่เราจะคิดเช่นนั้น เพราะเชื่อว่าแท้ที่จริงแล้ว “ธรรมะ” เป็นเรื่องใกล้ตัว แยกออกจากชีวิตจิตใจเราไม่ได้เลย ไม่ว่าใครจะพอใจใช้ชีวิตแนวทางไหนก็ตาม ด้วย “ธรรมะ” คือกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ แน่ละส่วนที่ลึกซึ้งซับซ้อนยากแก่การเข้าใจในเชิงของเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ย่อมมีอยู่ไม่น้อย แต่ก็นับว่าพวกเราโชคดีนักหนาที่ได้เกิดมาในห้วงแห่งพุทธกาล ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงใช้ความเพียรนานาประการตลอดระยะเวลา ๖ ปี จึงค้นพบกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วเหล่านั้น นำมาสรุปเป็นพุทธธรรมคำสอน แยกแยะหมวดหมู่ไว้อย่างเหมาะสม ง่ายต่อการศึกษาปฏิบัติหรือเลือกมาใช้ประกอบแนวทางในการดำเนินชีวิตทางโลก เสมือนตำหรับตำราอาหารหลากชนิด ที่บอกส่วนผสมและวิธีปรุงไว้อย่างละเอียดชัดเจน สุดแต่ผู้ใดจะพอใจประกอบหรือบริโภคอาหารชนิดไหน

            ในบรรดาพระธรรมคำสอนทั้งหลาย หากสังเกตให้ดี จะพบว่ามีลักษณะคล้ายกฎหมาย หรือระเบียบกติกา ในสังคมของชาวโลกเรานี่เอง คือมีทั้งข้อห้ามปฏิบัติ อันได้แก่ “ศีล” ต่าง ๆ และข้อพึงกระทำ เพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสังคมมนุษย์เป็นไปอย่างปกติสุข มีความสงบเรียบร้อย ราบรื่น รุ่งเรือง ทั้งในชีวิตส่วนตัวและสังคมโดยรวม ส่วนหลังนี้ คือ “พระธรรม” ซึ่งมีอยู่มากมายหลายหมวด เช่น “อิทธิบาท ๔” หรือธรรมะที่นำมาซึ่งความสำเร็จในเรืองทั้งหลายทั้งปวง อันประกอบด้วย “ฉันทะ” (ความพอใจในเรื่องที่ประสงค์นั้น) “วิริยะ” (ความเพียรพยายามที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้) “จิตตะ” (ความเอาใจใส่จดจ่อต่อสิ่งที่มุ่งหวังและงานที่ทำ) และ “วิมังสา” (ความใคร่ครวญถึงความสมเหตุสมผล) หรือธรรมะที่เรียกกันว่าเป็นหัวใจของนักปราชญ์ อันได้แก่ สุตะ (ฟัง) จิตตะ (คิด) ปุจฉา (ถาม) และ ลิขิต (เขียน) ซึ่งเรียกกันสั้นๆ อย่างคุ้นหูกันว่า “สุ จิ ปุ ลิ”

          เมื่อพิจารณาดูด้วยหลักธรรมของเหตุและผลแล้วจะพอเห็นได้ว่า พุทธธรรมทั้งสองข้อข้างต้นนี้ เป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่มีความเป็นสากล ใช้ได้กับทุกคน ไม่ว่าผู้ใดก็ตาม หากนำไปปฏิบัติโดยเคร่งครัดแล้ว ย่อมได้รับผลตามควรแก่กรณีทุกรายไป คำสอนในแง่มุมอื่น ๆ ยังมีอีกมากมายนัก เช่น บิดา มารดากับบุตร และสามีกับภรรยา ควรปฏิบัติต่อกันอย่างไรจึงจะมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองและสุขสงบ สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาในคำสอนของพระพุทธองค์อย่างจริงจังนั้น คงมีความรู้สึกทำนองเดียวกันว่า พระองค์ทรงมีความละเอียดถี่ถ้วน และลึกซึ้งในเรื่องทางโลกอย่างไม่น่าเชื่อ คำสอนของพระองค์แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ได้หลายลักษณะ แต่ละส่วนมีความเหมาะสมสอดคล้องกับภาวะหรือจริตของแต่ละคน มิได้มุ่งในการบรรลุ มรรค ผล นิพพาน เสมอไป เพราะนั่นคือคุณสมบัติสูงสุดที่มนุษย์เพียงส่วนน้อยนั้นจะพึงเข้าถึงได้ “มนุษย์สมบัติ” “สวรรค์สมบัติ” และ “นิพพานสมบัติ”  คือบันไดสามขั้นที่เราต้องเริ่มไต่เต้าตั้งแต่ชั้นต้นก่อน เรียนลัดไม่ได้ หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม หรือพระราชสุทธิญาณมงคล เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน และเจ้าคณะอำเภอพรหมบุรี (จ.สิงห์บุรี) ปัจจุบันคือเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี มักจะกล่าวกับลูกศิษย์ของท่านเสมอว่า ถ้ามนุษย์สมบัติ อันได้แก่ ทานศีล ภาวนา ยังมีไม่ครบ อย่าเพิ่งคิดไกลไปถึงเรื่องสวรรค์ -  นิพพาน เลย ไปไม่ได้แน่ คนที่ขาด ทาน ศีล และภาวนา นั้นมักจะมีนิสัยขี้เกียจ ขี้โกง ขี้อิจฉาริษยา หากละทิ้งนิสัยเลวเหล่านี้ไม่ได้ ชีวิตนี้สงบยาก เจริญยาก ไม่ว่าจะมีทรัพย์สินท่วมท้นสักปานใด ทำบุญสุนทานมากเพียงไหน ก็จะหาความสุขที่แท้จริงให้กับชีวิตตนไม่ได้ มักมีแต่ความร้อนรุ่มกลุ้มใจอยู่เนือง ๆ

            ตามความเห็นของผู้เขียนแล้ว เชื่อว่าธรรมะไม่ว่าในศาสนาใด หากไม่อาจเกื้อกูลให้ชีวิตทางโลกของสังคมมนุษย์ดีขึ้นได้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะศึกษาปฏิบัติธรรมกันไปเพื่ออะไร คุณค่าที่แท้จริงของธรรมะคือการช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้ในสังคมอย่างปกติสุขเป็นเบื้องต้น ไม่ทำผิดคิดร้ายหรือเบียดเบียนกันด้วยวิธีต่าง ๆ โชคดีนักหนาที่เราได้เกิดมาในช่วงที่โลกมีศาสนา แถมยังอยู่ในสภาพที่สามารถศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ได้ ถ้าโชคร้ายไปเกิดในช่วงที่โลกไร้ศาสนา ซึ่งเชื่อกันว่ามีระยะเวลายาวนานกว่าห้วงเวลาที่โลกมีศาสนาอย่างมากมายหลายพันหลายหมื่นเท่า เทียบกันไม่ได้เลย ในสภาวะดังกล่าวครูบาอาจารย์เล่าให้ฟังว่า สังคมของคนเราหาความสุขสงบได้ยากมาก มีการเข่นฆ่าเบียดเบียนกันสารพัดแบบ ความเป็นอยู่ของผู้คนคงไม่แตกต่างจากวิถีชีวิตของสัตว์เดรัจฉานเท่าใดนัก ด้วยเหตุนี้กระมังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงสั่งสอนไม่ให้พวกเราอยู่ในความประมาทขาดสติ ให้ใช้โอกาสทองที่เราได้เกิดมาในช่วงที่สามารถศึกษาปฏิบัติธรรมได้นี้ นำพาชีวิตเราให้ข้ามพ้นห้วงแห่งความทุกข์ของสงสารวัฏไปได้ ถ้ายังหลุดพ้นไม่ได้ก็ขอให้มีชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า จึงเห็นได้ชัดเจนว่าพุทธธรรมของพระองค์นั้นมุ่งที่จะค้ำจุนสังคมมนุษย์ให้มีความสุข ทั้งในระดับ “โลกียะ” (ทางโลก) และ “โลกุตระ” (เหนือโลก) ควรที่เราจะได้เร่งตักตวงกันไว้ให้เต็มที่ก่อนถึงวันลาจากภพภูมินี้ไป

            ถึงตรงนี้ผู้เขียนเชื่อว่า น่าจะมีผู้อ่านหลายท่านเริ่มเห็นคล้อยตามบ้างแล้วว่า แท้ที่จริงแล้วคำว่า “ทางโลก”  กับ “ทางธรรม” นั้น เป็นเรื่องที่แยกขาดจากกันไม่ได้เลย ความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องถ่องแท้เท่านั้นที่ทำให้เราเห็นภาพผิดเพี้ยนไป จึงเกิดความเชื่อถือที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงกันไปมาก จนถึงขั้นมองเห็นผู้ถือศีลปฏิบัติธรรมเป็นคนอีกส่วนหนึ่งของสังคมไปเลย สื่อสารกันได้ค่อนข้างจำกัดกับชาวโลกโดยทั่วไป ที่นับว่าน่าห่วงใยอย่างยิ่งก็คือ เมื่อผู้ใหญ่เห็นผิดในเรื่องเช่นนี้แล้ว ลูกหลานและบริวารที่อยู่ใกล้ตัวก็จะพลอยมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องตามไปด้วย ศาสนาทั้งหลายก็จะค่อย ๆ เรียวลงไปเรื่อย ๆ สวนทางกับความทุกข์ยากสารพัดแบบที่พอกพูนขึ้นในสังคมมนุษย์มาขึ้นทุกที ความลุ่มหลงงมงายในวัตถุ อันเป็นผลิตผลจากความก้าวหน้าทางวิทยาการได้มีส่วนครอบงำวิถีชีวิตของคนเราให้เลวลงทุกขณะ มีการเอารัดเอาเปรียบแก่งแย่งแข่งเลวกันโดยรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้างอย่างมากมายหลายลักษณะ หากหามาตรการใด ๆ มาสกัดกั้นหรือยับยั้งให้กระแสร้ายเช่นนี้ชะลอตัวลงไม่ได้แล้ว สักวันหนึ่งคุณภาพความเป็น “มนุษย์” (ซึ่งแปลว่าผู้มีจิตใจสูง) ก็คงจะต่ำทรามลงใกล้กับสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งถือว่าอยู่ในภูมิที่ต่ำกว่าคน น่าห่วงนะครับ

            วัฏสงสาร แม้จะเป็นห้วงหรือสภาวะที่มนุษย์เราก้าวข้ามพ้นได้ยาก เวียนว่ายตายเกิดกันมาแล้วไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ และคงจะต้องว่ายวนกันต่อไปอีกนานแสนนาน กระนั้นก็ตาม หากเรามีทัศนคติที่ถูกต้องต่อคำว่า พุทธธรรม และเร่งลงมือศึกษาปฏิบัติอย่างเต็มกำลังแล้ว ย่อมอาศัยเป็นที่พึ่งได้ตามควรแก่กรณี วิถีชีวิตที่ยังวนเวียนอยู่ในสงสารวัฏก็จะมีความสุขสงบยิ่งขึ้น ลาโลกนี้ไปก็จะมีภพใหม่ที่สูงกว่าเก่า เช่น ไปเกิดในเทวโลกและพรหมโลก ทั้งนี้สุดแต่คุณภาพของจิตหรือวิญญาณแต่ละดวง หากได้รับการพัฒนาด้วยธรรมะมาก กิเลสอันได้แก่ โลภ โกรธ หลง ก็จะเหลือน้อยลง จิตย่อมมีคุณภาพสูง ชีวิตใหม่ก็จะประเสริฐกว่าเก่า ได้เข้าสังกัดในภพภูมิที่สูงตามไปด้วย

            หากจะมีผู้สงสัยว่าการปฏิบัติธรรมคืออะไร หรือจะช่วยให้เรามีความสุขได้อย่างไร ผู้เขียนขอน้อมอาราธนาคำสอนของหลวงพ่อจรัญ ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าท่านลึกซึ้งในพุทธธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเล่าขานสู่กันฟังว่า การปฏิบัติธรรม คือการพัฒนาจิตให้มีทิศทาง เป็นการแสวง “บุญ”  หรือ “ความสุข” มาใส่ใจของเรา ซึ่งมีระดับการสร้างจากง่ายไปหายากอยู่ ๓ ระดับ คือ “ทาน” “ศีล” และ “ภาวนา” ซึ่งมีสาระสำคัญโดยย่อดังนี้

          “ทาน” คือการให้ หรือ การเสียสละเพื่อผู้อื่นในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สิน เงินทอง แรงกาย แรงใจ เวลาและความคิด หรือแม้แต่การให้อภัย ถ้าเป็นการให้แก่ผู้อื่นแล้วก็นับได้ว่าเป็นทานได้ทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่ทำง่าย โดยเฉพาะถ้าเราเป็นผู้ไม่ขัดสนโภคทรัพย์อยู่แล้ว จึงเห็นการปฏิบัติกันอยู่โดยทั่วไป จนเกือบจะเป็นสัญลักษณ์เดียวของการทำบุญไปแล้ว เช่น การตักบาตร ทอดกฐิน-ผ้าป่า สร้างโบสถ์วิหาร หรือสงเคราะห์คนยากจนด้วยทรัพย์สินต่าง ๆ ผลที่ได้จากทานจริง ๆ นั้นคือช่วยให้เราละความโลภ (ถ้าไม่ใช่การทำบุญเอาหน้า) และมีเมตตาธรรมประจำใจมากยิ่งขึ้น เชื่อกันว่าจะส่งผลให้เราเป็นผู้ที่อุดมไปด้วยโภคทรัพย์ต่อไป การทำบุญในระดับนี้เองที่คนไทยนิยมกันมาจนเกือบจะเหมาเอาว่า มันคือหลักปฏิบัติที่พุทธศาสนิกชนพึงยึดถือ อันอาจน้อมนำไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพานได้ในอนาคต ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมาก เพราะไม่ว่าเราจะทำทานมากมายสักเพียงใด ความโลภจะเหลือน้อยแค่ไหน ถ้าความโกรธความหลงยังมีอยู่ ชีวิตนี้จะหาความสงบสุขได้ยาก อย่าฝันไกลไปถึงเรื่องสวรรค์นิพพานในภพภูมิต่อไปเลย จึงควรได้ทำบุญในระดับที่สูงไปควบคู่กันไปด้วย คือ การรักษาศีล และการเจริญกุศลภาวนา

            “ศีล” ในความหมายที่แท้จริงแปลว่า “ปกติ” การรักษาศีลก็คือการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่าง ๆ ในพุทธบัญญัติ เพื่อสำรวมกายวาจาให้อยู่ในสภาวะปกติ จิตใจก็จะพลอยสุขสงบตามไปด้วย ง่ายหรือหยาบที่สุดก็คือ ศีล ๕ ศีล ๘ ที่ท่านต่างคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วนั้นแหละครับ ลองวิเคราะห์ดูเถิด แต่ละข้อล้วนเป็นมาตรการรักษากายวาจาให้อยู่ในสภาพปกติ คนเราจะรักษาศีลได้อย่างดีก็ต่อเมื่อมี “สติ” หรือความระลึกได้อยู่ตลอดเวลาว่า เรากำลังคิดกำลังพูด หรือกำลังทำอะไรอยู่ เมื่อดำรงสภาพเช่นนี้ได้ โทสจริต หรือความโกรธก็ย่อมจะเข้าครอบงำจิตใจเราได้ยาก กิเลสพวกที่สอง (โทสะ) ก็จะค่อย ๆ จางจากใจเราไป ช่วยให้เราเป็นคนสุขุมเยือกเย็น มีจิตใจหนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหววูบวาบไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบโดยง่ายเช่นแต่ก่อน เชื่อกันว่าอานิสงส์หรือผลที่ได้จากการรักษาศีล จะช่วยให้เรามีความสวยสดงดงาม กิริยามารยาทเรียบร้อย ชวนมอง กระนั้นก็ดี แม้เราจะมุ่งมั่นให้ทานและรักษาศีลอย่างเคร่งครัดเพียงใด ก็ไม่อาจช่วยขจัดขัดเกลา “ความหลง” รู้ไม่จริงในธรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นกิเลสพวกที่สามได้มากนัก ปัจจัยที่จะบรรเทาความเขลา รู้ไม่จริง หรือความหลงนั้น ก็คือ “ปัญญา” ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็นระดับต่าง ๆ ตามความละเอียดลึกซึ้ง สูงสุดคือ “ภาวนามยปัญญา” หรือปัญญาที่เกิดจากการเจริญกุศลภาวนานั่นเอง

            “ภาวนา” คือการกำหนดจิตให้อยู่ในอารมณ์ที่เราต้องการไม่ให้ฟุ้งซ่านแส่ส่ายไปตามกระแสหรืออารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ตลอดจนการปรุงแต่งไปตามความคิดที่ยากแก่การควบคุม ซึ่งในที่สุดก็จะนำไปสู่ความชอบไม่ชอบหรือนำความโลภ โกรธ หลง เข้ามาสู่ชีวิตจิตใจของเราได้ การภาวนาอาจทำได้หลายวิธี เช่น การสวมมนต์ การเดินจงกรม และการนั่งสมาธิ ซึ่งล้วนมุ่งที่จะลดความฟุ้งซ่านแส่ส่ายของจิต ไม่ให้ไปหาความโลภ โกรธ หลง กินตามทวารต่าง ๆ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) การบังคับควบคุมจิตให้เชื่องลงจนถึงขั้นสงบนั้นมิใช่เรื่องง่าย ต้องมีครูบาอาจารย์ที่รู้จริงช่วยชี้นำพร่ำสอนในเบื้องต้น และอาศัยความพากเพียรปฏิบัติอย่างต่อเนื่องยาวนาน วิธีที่ท่านผู้รู้แนะนำให้ปฏิบัติกันอยู่โดยทั่วไปก็คือ การเจริญสติให้มีความระลึกได้อยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังคิด กำลังทำอะไรอยู่ คือการรู้เท่าทันสภาวะปัจจุบันของตนให้ได้มากที่สุดนั่นเอง ในเรื่องนี้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุได้สอนไว้ว่า “จงอยู่เพื่อที่นี่ และเดี๋ยวนี้” หากมัวแต่คิดถึงอดีตมันก็จะดีดความรู้สึกเราให้เจ็บปวดอยู่ร่ำไป ถ้าคิดถึงอนาคตมันก็คดเคี้ยวเรื่อยไป ไม่มีใครรู้จริงว่ามันจะนำพาวิถีชีวิตเราไปทางไหนกันแน่ ทำนองเดียวกันหลวงพ่อจรัญหรือพระราชสุทธิญาณมงคล ท่านก็พร่ำสอนลูกศิษย์อยู่เสมอว่า “อดีตคือความฝัน ปัจจุบันคือความจริง อนาคตไม่แน่นอน” ซึ่งมีนัยยะเดียวกัน คือสอนให้เราอยู่กับปัจจุบัน อดีตคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว จะผิดชอบชั่วดีก็เรียกกลับมาเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อนาคตคือเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ไม่มีใครรู้จริงว่าจะเกิดอะไรขึ้นแน่ จึงมิควรไปจริงจังหรือยึดมั่นกับมันนัก ปัจจุบันคือความจริงที่เรากำลังเผชิญอยู่ และกำลังจะกลายเป็นอดีตต่อไป ถ้าทำปัจจุบันในวันนี้ให้ดี ก็เท่ากับเป็นการสร้างอดีตที่ดีให้กับวันพรุ่งนี้และวันต่อ ๆ ไป นอกจากนี้ หลวงพ่อวิชัย เขมมิโย เจ้าอาวาสวัดถ้ำผาจม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ก็ได้แนะนำหลักการเจริญสติไว้สั้น ๆ ง่ายต่อการจดจำ นำไปปฏิบัติว่า “ตัวอยู่ไหน ใจอยู่นั่น”  ซึ่งมีความหมายชัดเจนอยู่ในตัว มุ่งให้เรามีสติรู้เท่าทันปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา

            เมื่อสติของเรามีความเข้มแข็งมั่นคงแล้ว ก็จะสามารถบังคับควบคุมจิตให้ลดความฟุ้งซ่านแส่ส่ายค่อย ๆ เชื่องลงได้ ควบคุมกันได้อย่างสมบูรณ์ถึงขั้นรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้เมื่อใด ปัญญาอันหมายถึงความรู้จริงในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงก็จะเกิดขึ้นเอง บาปบุญคุณโทษ หรือความผิดชอบชั่วดีทั้งหลายก็จะประจักษ์แจ้งแก่ใจได้เอง โดยไม่ต้องมีใครแนะนำพร่ำสอน รู้เห็นอะไรก็จะมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งแทงตลอด เห็นผลรู้เหตุ เห็นเหตุรู้ผล เห็นคนรู้สภาวะจิต รู้แม้กระทั่งอดีต อนาคตและกฎแห่งกรรมของความเป็นไปต่าง ๆ นี่คือบุญอันสูงสุดแล้วที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ เมื่อเจริญกุศลภาวนาเพื่อให้เกิดปัญญาหรือเข้าถึงพุทธภาวะแล้ว โมหะจริตหรือความหลงรู้ไม่จริงในปรากฏการณ์ทั้งหลาย จะถูกแสงสว่างแห่งปัญญาขับไล่ออกไป ประดุจความมืดที่มลายไปทันทีที่เราเปิดไฟหรือจุดเทียนขึ้นฉะนั้น บุญอันสูงสุดนี้แหละที่พวกเราชาวพุทธทั้งหลายยังไม่ค่อยใส่ใจใฝ่หากัน ทั้งที่ทำได้โดยไม่ต้องเสียทรัพย์ อยู่ที่บ้าน ที่ทำงาน หรือทำอะไรอยู่ที่ไหน ก็สามารถเจริญกุศลภาวนาให้เกิดสติได้ เพียงแต่ต้องมีศรัทธาและวิริยะเป็นเบื้องต้นเท่านั้น ใครไม่เชื่อก็ลองหาโอกาสไปถามหลวงพ่อจรัญดูนะครับ ผมค่อนข้างมั่นใจว่า นำคำสอนของท่านมาถ่ายทอดต่ออย่างไม่ผิดเพี้ยนในสาระสำคัญ ถ้ามีอะไรไม่อยู่กับร่องกับรอย ท่านจะได้เรียกผมไปสอนใหม่

            เรื่องของปัญญามีอยู่มาก เช่น ปัญญาทางโลกอันเกี่ยวเนื่องกับการเสพ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข รวมทั้งคู่แฝดของมันคือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และ ทุกข์ นั้น เราก็เรียกว่า “โลกียะปัญญา” ส่วนปัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่อยู่เหนือกระแสความเป็นไปทางโลกก็คือ “โลกุตระปัญญา” ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยนำพาให้เราก้าวพ้นห่วงแห่งทุกข์แห่งสงสารวัฏได้ ปัญญาเช่นนี้เองที่จะช่วยขจัดอวิชชาหรือความไม่รู้ ตลอดจนอกุศลมูล ๓ หรือรากเหง้าของบาปและความชั่วทั้งหลาย อันได้แก่ โลภ โกรธ หลง ให้หมดไปจากชีวิตจิตใจของเรา การบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ก็เป็นอันหวังได้ แต่มันมีปัญหาอยู่ตรงที่ว่า จะมีใครสักกี่คนที่สามารถเข้าถึงโลกุตระปัญญา หรือพุทธภาวะได้ในชาติเดียว คงอยู่ที่ทุนเดิมที่สั่งสมไว้จากอดีตชาติ รวมทั้งความเพียรในปัจจุบันชาตินะครับ เรื่องเช่นนี้ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ของใครของมัน ทำแทนกันยาก ขโมยกันก็ไม่ได้

            อย่างไรก็ตาม แม้การบรรลุธรรมชั้นสูงจนถึงขั้นหลุดพ้นจากวัฏสงสารจะเป็นไปได้ยาก สำหรับปุถุชนเช่นเรา ท่านทั้งหลาย การศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ก็ยังคุณค่าอย่างอเนกอนันต์ต่อการดำรงชีวิต ตามวิสัยชาวโลกอยู่แล้ว ใครทำใครได้ ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย จึงอยากจะขอยืนยันอย่างหนักแน่นไว้ตรงนี้อีกครั้งว่า ทางโลกกับทางธรรมเป็นเรื่องที่ค้ำจุนหนุนเกื้อกันอยู่ตลอดเวลา เป็นเครื่องช่วยพาชีวิตให้ก้าวไปสู่สภาวะที่ประเสริฐสูงส่งยิ่ง ๆ ขึ้นไป การศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิหรือมีความเห็นถูกต้องนั้น ย่อมนำมาซึ่งชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุขมากขึ้น ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า การเกิดเป็นคนมิใช่ของง่าย ท่านว่าโอกาสที่จะเกิดเป็นอะไร ๆ ที่ต่ำทรามกว่าคนมีมากกว่าถึงล้านเท่า หากไม่มีบุญกุศลดั้งเดิมที่สั่งสมไว้ตั้งแต่อดีตชาติ ก็ไม่อาจนำวิญญาณมาสรวมร่างมนุษย์ได้แน่ โชคดีของการเกิดเป็นมนุษย์ก็คือความมีปัญญาความคิดที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการพัฒนาชีวิตจิตใจของตนให้มีความสุขสงบมากขึ้น เมื่อถึงวาระที่จำต้องอำลาจากโลกนี้ไปก็จะไปเกิดในภพภูมิใหม่ที่สูงยิ่งขึ้น บุญพาวาสนาส่งก็คงหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ของวัฏสงสารกับเขาได้สักชาติหนึ่ง ดังนั้น พระพุทธองค์ท่านจึงทรงสอนเราไม่ให้อยู่ในความประมาท มุ่งใช้โอกาสทองของการเป็นมนุษย์ตักตวงสิ่งที่มีคุณค่าอย่างแท้จริงให้กับชีวิตตนอย่างเต็มที่ หากเราขาดสติไม่ใส่ใจในความจริงเรื่องนี้ ก็อาจใช้ชีวิตมัวเมาไปกับกระแสความเป็นไปทางโลกจนลืมตัว ก่อกรรมทำเข็ญหรือสร้างบาปสร้างเวร ทำความเศร้าหมองมาสู่ชีวิตจิตใจของตนอยู่เนือง ๆ เมื่อถึงวันลาโลกนี้ไปก็จะปฏิสนธิในภพภูมิที่ต่ำกว่าเดิม เช่น ไปเกิดเป็น “สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย และ สัตว์นรก” ซึ่งเท่ากับเสียชาติขาดทุนที่ได้เกิดมาเป็นคน เพราะการมีชีวิตอยู่ในภพภูมิที่ต่ำกว่ามนุษย์นั้น ศึกษาปฏิบัติธรรมได้ยาก โอกาสที่จะสร้างบาปสร้างกรรมชั่วก็มีมากด้วย ดังนั้น จงมาเป็นแนวร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตบนพื้นฐานของพุทธธรรมกันต่อไปเถิดครับ เพื่อช่วยกันยืนยันกับเพื่อนร่วมทุกข์ทั้งหลายว่า “ทางโลก” กับ “ทางธรรม” จะไม่มีวันนำชีวิตเราไปคนละทางอย่างแน่นอน