เนื้อนาบุญ

ดร. รัตนา โพธิสุวรรณ

R12007

ใน ระหว่างส่งท้ายปีเก่า ๒๕๔๐ และต้อนรับปีใหม่ ๒๕๔๑ ดิฉันมีโอกาสได้ไปร่วมปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี เป็นเวลา ๔ วัน (คืนวันที่ ๓๑ ธ.ค. ถึงเช้าวันที่ ๔ ม.ค. ๔๑) วันแรกที่ไปถึงเป็นเวลาเย็นมากแล้ว แต่ยังโชคดีที่ได้มีโอกาสกราบนมัสการหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล เพื่อถวายปัจจัยร่วมทำบุญและขออนุญาตอยู่ปฏิบัติธรรม ท่ามกลางผู้คนที่คอยจะกราบนมัสการหลวงพ่อมากมายจนล้นกุฏินั้น หลวงพ่อท่านรับแขกด้วยใบหน้ายิ้มละมัย สายตาที่ทอดมองแต่ละคนที่เข้าไปกราบท่าน เต็มไปด้วยความเมตตา เมื่อดิฉันเดินเข่าเข้าไปถวายสิ่งของและปัจจัย หลวงพ่อท่านยิ้มรับอย่างอบอุ่นและบอกว่า “ไปทานข้าวก่อนนะ” ดิฉันตื้นตันใจมากที่เห็นหลวงพ่อห่วงใยผู้อื่นเสมอ แม้ว่าตัวท่านเองจะเหน็ดเหนื่อยจากการต้อนรับและปฏิบัติกิจของสงฆ์จนไม่ได้พักผ่อนก็ตาม

            คืนวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๔๐ หลวงพ่อเทศน์ตั้งแต่ ๒ ทุ่มครึ่งถึงตีหนึ่งครึ่ง มีการสวดธรรมจักรฯ และแผ่เมตตาให้กับสรรพเทวดา มนุษย์ และสัตว์ทั้งหลายด้วย มีผู้คนจากทั่วสารทิศมากกว่า ๒,๐๐๐ คน ไปร่วมปฏิบัติกับหลวงพ่อในคืนนั้น หลังจากให้พรแล้ว อุบาสก อุบาสิกากลับไปที่พัก แต่หลวงพ่อยังต้องนั่งต้อนรับผู้มีจิตศรัทธา บริจาคเงินร่วมทำบุญกับหลวงพ่อ จนเวลาเกือบจะค่อนรุ่ง

            ดิฉันเองซึมซับและประทับใจในความเมตตากรุณาของหลวงพ่อมาก ชื่นชมและยินดีในบุญบารมีของหลวงพ่อที่แผ่ไพศาลช่วยคุ้มภัยพาลให้กับผู้คนจำนวนนับพันนับหมื่น ความซาบซึ้งในบุญคุณและบารมีของหลวงพ่อนี้ ได้ปรากฏเป็นปีติในขณะที่ดิฉันเดินจงกรมตอนเที่ยงของวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๔๑ เพราะหลังจากทานอาหารกลางวันเสร็จ ดิฉันยังอยู่ในอารมณ์ที่เป็นสมาธิ จึงเดินจงกรมต่อในห้องพักที่เรือนทวีบุญ ในขณะที่เดินซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนออยู่นั้น จิตก็ระลึกถึงบุญคุณหลวงพ่อ ของแม่ใหญ่ (คุณแม่สุ่ม ทองยิ่ง) และครูบาอาจารย์ทุกคน รวมทั้งผู้บริจาคและบริการทุกท่าน ว่าช่างเป็นผู้ที่ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยในการสร้างบุญบารมีเลย จิตก็บอกตัวเองว่า “วัดอัมพวันนี่แหละ คือ นาบุญ” หลังจากนั้นน้ำตาก็จะไหล...ไหลและไหลออกมาไม่ขาดสาย พร้อมกับคำอธิษฐานว่านาบุญและเนื้อนาบุญคืออะไร ก็ผุดขึ้นในใจ จนดิฉันตกใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง แต่เมื่อตั้งสติและพิจารณาคิดหนอ แล้วก็ได้คำตอบว่า นี่แหละ คือ สิ่งที่ดิฉันต้องเขียนลงในหนังสือกฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ ของหลวงพ่อ

            พระสงฆ์ที่เป็นเนื้อนาบุญของโลกมีอยู่มากมายในประเทศไทย และหนึ่งในจำนวนเนื้อนาบุญนั้นคือ หลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล วัดที่เป็นนาบุญของชาติก็มีอยู่มากมาย และวัดอัมพวันก็เป็นนาบุญแห่งหนึ่งของ นาบุญทั้งหลาย

            ท่านลองมาดูสิคะว่าทำไมวัดอัมพวันจังเป็น “นาบุญ” และทำไมหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล จึงเป็น “เนื้อนาบุญ”

            ถ้าเราพูดถึง “นา” เรามักจะมองเห็นภาพการทำการเกษตร เช่น ปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกผลไม้ ทำบ่อปลา บ่อกุ้ง หรือแม้แต่การทำไรนาสวนผสม เป็นต้น นา...ที่จะทำการเกษตรได้ผลดีจะต้องเป็นนาที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบไปด้วย ดินดี น้ำดี การคมนาคมสะดวก เกษตรกรผู้ที่ทำการเกษตรบนที่นาแปลงนั้น ถ้าเป็นเกษตรกรที่ดีขยันหมั่นเพียร เขาก็จะได้ผลิตผลดีเต็มเม็ดเต็มหน่วย คุ้มกับการลงทุนลงแรง และประสบความสำเร็จในการทำการเกษตร

            นาบุญก็เช่นกัน จะต้องประกอบด้วย พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติชอบ อุบาสก อุบาสิกา ผู้ปฏิบัติธรรม อาหาร สถานที่ และห้องน้ำห้องส้วมต้องมีเพียงพอและสะดวกสบาย ซึ่งคุณสมบัติอันนี้ วัดอัมพวันมีครบถ้วน

            หลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล เปรียบดัง เนื้อนาบุญ คือ ดินดี น้ำดี

            แม่ใหญ่ (คุณแม่สุ่ม ทองยิ่ง) และพระสงฆ์ในวัด เปรียบดัง พันธุ์พืชที่ดี แม่ชีในวัด ครูผู้ฝึกสอนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน รวมทั้งผู้บริการและผู้บริจาคเครื่องอุปโภคบริโภคทุกท่าน เปรียบดัง การคมนาคมสะดวก

            อุบาสก อุบาสิกา ผู้ใฝ่ธรรมที่เข้าไปร่วมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เปรียบดัง เกษตรกรที่ดี

            เมื่อนาบุญแปลงนี้ (วัดอัมพวัน) มีความสมบูรณ์พร้อมทุกอย่างเช่นนี้แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเกษตรกร (ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย) ที่จะต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวบุญ นั่นก็คือ การสวดมนต์ เดินจงกรม และนั่งสมาธิ เมื่อปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยจิตกับกายที่มี่ศีลและสมาธิครบถ้วนตลอดช่วงเวลาปฏิบัติ (๗ วันจะได้ผลดี) ก็จะทำให้เกิดปัญญา ถ้าเปรียบกับการทำนาก็จะเปรียบได้ดังนี้

            สวดมนต์และรับศีลในวันแรกของการปฏิบัติธรรม เปรียบเสมือน การไถพรวน

            เดินจงกรมและนั่งสมาธิ เปรียบเสมือน การเพาะปลูก การใส่ปุ๋ย การฉีดยาฆ่าแมลง และให้น้ำ

            สวดมนต์เช้า-เย็น แต่ละวัน เปรียบเสมือน การดูแลรักษาน้ำในนา และการกำจัดวัชพืช

            ความมีสติและปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม เปรียบเสมือน ผลผลิตที่ได้จากการเก็บเกี่ยว

            ฉันเองพยายามทำตัวเป็นเกษตรกรที่ดี ที่พยายามลงทุนลงแรงในนาบุญแปลงนี้เสมอ โดยหาเวลาไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันเป็นประจำทุกปี มากครั้งน้อยครั้ง แล้วแต่โอกาสจะอำนวย อยู่ที่บ้านดิฉันจะสวด นะโม พุทธัง ธรรมมัง สังฆัง พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ พาหุงมหากา แล้วต่อด้วย อิติปิโส เท่าเอายุเกินมาอีกหนึ่ง พร้อมทั้งตามด้วยแผ่เมตตาและแผ่ส่วนกุศล ตามที่หลวงพ่อสอนไว้ทุกประการ ความเชื่อมั่นในการปฏิบัติธรรมและสวดมนต์ตามที่หลวงพ่อบอกไว้สอนไว้นั้น ได้ส่งผลให้ดิฉันสามารถเรียนสำเร็จเป็นดอกเตอร์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องของ “ธรรมะจัดสรร” เพราะโดยลำพังตัวดิฉันเองนั้นไม่ใช่คนเรียนเก่ง แต่ที่มีโอกาสสอบเรียนต่อปริญญาเอกและได้ทุน SEAMEO/SEARCA ได้ ก็ด้วย “บุญกุศล” ที่ได้เพียรสร้างสมมาด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่น จึงทำให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า “บุญบันดาล” ดิฉันสามารถยืนยันได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า “ธรรมะ” รักษาผู้ประพฤติธรรมจริง

            การเรียนปริญญาเอก ที่เราถือว่าเป็นการเรียนสูงสุดแล้วในระบบการศึกษา (ยกเว้น Post-Doct) ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับการปฏิบัติธรรมก็คือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อให้เกิดปัญญาญาณนั่นเอง ดิฉันได้ตระหนักว่าแท้จริงแล้ว สิ่งที่นักศึกษาปริญญาโท-เอก ทั้งหลายกำลังทำอยู่หรือได้ทำมาแล้วนั้น เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้สอนชาวโลกมานานกว่าสองพันห้าร้อยสี่สิบปีแล้ว ท่านทราบไหมคะว่า สิ่งนั้นคืออะไร?  อริยสัจ ๔ ไงล่ะ..นั่นคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค ดิฉันขอเปรียบเทียบให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า การทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท-เอก เป็นเรื่องที่นำหลักพระพุทธศาสนาที่ว่าด้วย อริยสัจ ๔ มาใช้อย่างไร ดังต่อไปนี้

            ในทางธรรมะ .. มนุษย์พยายามแสวงหาความสุข และหลีกเลี่ยงความทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า การที่จะเข้าถึงสุขได้ จะต้องเข้าถึงอริยสัจ ๔ เสียก่อน ซึ่งขั้นตอนของการเข้าถึงอริยสัจ ๔ มีดังนี้คือ

            ขั้นตอนแรก คือ ทุกข์ ซึ่งเป็นสภาวะที่อึดอัด รำคาญใจ คับแค้นใจ กดดัน บีบคั้น เป็นสภาพที่ทนได้ยาก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากสิ่งที่รัก ไม่สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา ฯลฯ ซึ่งเป็นสภาวะที่มนุษย์ทุกคนพยายามหลีกเลี่ยง ไม่อยากพบ

            ขั้นตอนที่สอง คือ สมุทัย หมายถึง เหตุแห่งทุกข์ เป็นขั้นตอนของการวินิจฉัยหาปัจจัยที่มาทำให้เกิดทุกข์ นั่นคือ พยายามหาสาเหตุของความทุกข์นั่นเอง

            ขั้นตอนที่สาม คือ นิโรธ หมายถึง ความดับทุกข์ เป็นขั้นตอนที่ชี้บอกภาวะที่ปราศจากปัญหา ชี้ให้เห็นว่าการแก้ปัญหานั้นเป็นไปได้ และทำให้สำเร็จได้

            ขั้นตอนที่สี่ คือ มรรค หมายถึง ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ เป็นการกำหนดวิธีการ ขั้นตอน และรายละเอียดวิธีปฏิบัติในการแก้ไขปัญหา

            สิ่งที่จะใช้ในการตรวจสอบความสำเร็จในการปฏิบัติ ก็คือ “ญาณ ๓ หรือ ญาณทัสสนะ” ซึ่งดิฉันจะไม่ขอกล่าวในรายละเอียด ณ ที่นี้

            ในทางโลก .. หากเราจะทำวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยสักเรื่องหนึ่ง สิ่งที่เป็นรูปแบบของเนื้อหาทั้งหลาย คงหนีไม่พ้น ๔ หัวข้อใหญ่ ๆ ที่เป็นการนำเอาหลักอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้ามาใช้ ดังนี้คือ

๑.     บทนำ ซึ่งจะพูดถึงการมาของเรื่องที่เราจะทำการศึกษา / วิจัย ว่ามีปัญหาอยู่ที่ตรงไหน ทำไมเราจึงอยากทำการศึกษา / วิจัย (วัตถุประสงค์ของการศึกษา) ผลที่ได้จากการศึกษา / วิจัย จะเกิดประโยชน์กับหน่วยงานหรือประเทศชาติอย่างไร ขอบเขตการศึกษา / วิจัยมีแค่ไหน นั่นก็คือ การนำคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่อง “ทุกข์ และ สมุทัย” มาใช้นั่นเอง

๒.    กรอบแนวความคิด ทฤษฎี และผลการศึกษา / วิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรอบแนวความคิดที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาของเราเอง นั่นก็คือ การชี้ให้เห็นถึงผลการศึกษา / วิจัยที่เคยมีคนอื่นทำการศึกษามาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงและเกี่ยวข้องกับที่เรากำลังศึกษา เพื่อจะได้เกิดแรงบันดาลให้ผู้ที่กำลังจะศึกษาหรือศึกษาอยู่ได้รู้ว่า มีใครทำอะไร ทำแล้วได้ผลเป็นอย่างไร นั่นคือนำเอาเรื่อง “นิโรธ” มาใช้นั่นเอง

๓.    วิธีการศึกษาและการรวบรวมข้อมูล จะบอกถึง วิธีการ ขั้นตอน และรายละเอียดที่จะต้องทำการศึกษาว่า จะเริ่มเก็บข้อมูลอย่างไร เช่น ออกไปสำรวจสัมภาษณ์เอง หรือส่งแบบสอบถาม หรือการทดลองในห้อง Lab จะใช้สูตรหรือ Model ใด และใช้โปรแกรมอะไร ในการวิเคราะห์ / วิจัย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์คือตัวไหนบ้าง และมีสมมุติฐานในการวิจัยอย่างไร นั่นก็คือ การนำเอาเรื่อง “มรรค” มาใช้นั่นเอง

๔.    ผลการศึกษา / วิจัย บทสรุปและข้อเสนอแนะ จะเป็นการประมวลผลที่ได้จากการศึกษา / วิจัย ว่าผลทั่วไปเป็นอย่างไร ผลที่ได้จากการทดสอบสมมุติฐานเป็นอย่างไร หลังจากนั้นก็จะสรุปผลของการศึกษา / วิจัยทั้งหมด พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางแก้ไข นั่นก็คือ การนำเอาเครื่องมือตรวจสอบการปฏิบัติที่เรียกว่า “ญาณ ๓ หรือ ญาณทัสสนะ” มาใช้นั่นเอง

เห็นไหมคะว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นของจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่ไม่มีวันล้าสมัย ถ้าผู้ปฏิบัติได้ลงมือทำจริง ๆ แล้ว ย่อมเห็นผลได้ด้วยตนเอง ถ้าจะถามว่า “จำเป็นไหมที่การปฏิบัติธรรมต้องไปทำที่วัดเสมอ” ดิฉันของตอบว่า “จำเป็นมากสำหรับผู้ที่เริ่มศึกษา” เพราะการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จะมีขั้น มีตอน มีวิธีการ และที่สำคัญจะต้องมีการส่งอารมณ์และสอบอารมณ์ ซึ่งจะเหมือนกับเราเรียนหนังสือ ดิฉันเองกว่าจะส่งการบ้าน / ส่งงาน และสอบเพื่อชี้แจงป้องกันผลงาน (Defend) ได้ ก็ต้องทำแล้วทำอีก แก้แล้วแก้เล่า กว่าจะเป็นที่พอใจของคณาจารย์ที่ปรึกษา ..การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน... ต้องส่งอารมณ์กับครูบาอาจารย์ เพื่อเป็นการสอบว่าอารมณ์เราเป็นสมาธิไหม ปฏิบัติได้ดีหรือไม่ สิ่งที่ผ่านมาในอารมณ์ของสมาธิแต่ละขั้นละตอนนั้นคืออะไร ครูบาอาจารย์จะเป็นผู้เฉลยให้ จึงขอย้ำว่า จำเป็นมากแต่ถ้าท่านทั้งหลายปฏิบัติได้แล้ว รู้แล้ว ทำถูกตามระเบียบวิธีการ ขั้นตอนทุกประการแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปปฏิบัติที่วัดทุกครั้ง ทำที่ไหนก็ได้ ขอให้ทำก็แล้วกัน เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องทำซ้ำ ๆ ซาก ๆ อย่างที่หลวงพ่อท่านว่า

ดิฉันขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า “ธรรมะ” รักษาผู้ประพฤติธรรมเสมอ จึงอยากขอให้ท่านได้มั่นใจ...มีศรัทธาในพุทธศาสนา และแสวงหา นาบุญ และเนื้อนาบุญ เพื่อท่านจะได้เริ่มเก็บเกี่ยวสะสมบุญไว้ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ของชาติ ถ้าท่านตัดสินใจจะไปแสวงบุญ ดิฉันก็ขอรับรองว่าวัดอัมพวัน ที่มีหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล คณะสงฆ์ในวัด แม่ใหญ่และครูผู้ฝึกสอน ได้รอท่านอยู่ และพร้อมเสมอ เพื่อให้ท่านได้สะสมบุญ และเพิ่มบารมีธรรม

หากญาติธรรมท่านใด ได้อ่านบทความของดิฉันแล้ว เกิดจิตที่เป็นบุญและคิดอยากปฏิบัติธรรม ดิฉันก็ขออนุโมทนาในบุญของท่าน และยกคุณงามความดีทั้งหลายที่จะพึงมีพึงได้ให้กับเนื้อนาบุญ ที่ดิฉันเคารพบูชา นั่นคือ หลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล แห่งวัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรีค่ะ....