ประสบการณ์จากการปฏิบัติธรรมของข้าพเจ้า
การที่ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้
มิได้หมายความว่าข้าพเจ้าชำนาญ หรือเชี่ยวชาญในการปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด
หากเพียงแต่เป็นเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ข้าพเจ้าได้ประสบมาด้วยตนเองในระหว่างไปปฏิบัติธรรมเท่านั้น
และเพื่อเป็นการเชิญชวนท่านที่ยังลังเลใจอยู่ว่า จะไปปฏิบัติธรรมดีหรือไม่
จะมีประโยชน์แก่การดำรงชีวิตของบุคคลที่เป็นปุถุชนธรรมดา ๆ อย่างเรา ๆ หรือไม่
เพียงใด
ข้าพเจ้าอายุ
๖๖ ปี เป็นข้าราชการบำนาญ มีบุตร ๓ คน
แต่ละคนสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยของรัฐ รับราชการทุกคน
มีครอบครัวและแยกไปอยู่ต่างหากแล้ว ๒ คน ยังคงอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ๑ คน
มีบ้านส่วนตัว มีรถยนต์ใช้ มีรายได้โดยไม่ต้องรบกวนลูก ๆ
แม้จะไม่ร่ำรวยแต่ก็ไม่เดือดร้อน ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่มีปัญหาในด้านครอบครัวและค่าครองชีพแต่อย่างใด
คงมีแต่ปัญหาในด้านชีวิตของตนเองเท่านั้น
ข้าพเจ้าเกิดในครอบครัวชาวพุทธในชนบท
พ่อของข้าพเจ้าค่อนข้างจะเคร่งครัดในพุทธศาสนา
ไปรักษาอุโบสถศีลที่วัดเกือบทุกวันพระ และจะไหว้พระสวดมนต์เช้า-เย็นทุกวัน
ส่วนแม่จะไปวัดเป็นครั้งคราว ตอนข้าพเจ้าเป็นเด็กก็จะตามแม่ไปวัดด้วย
แต่มิได้ไปกราบพระ หากแต่ไปเล่นกันระหว่างเด็ก ๆ ด้วยกัน
เพราะลานวัดกว้างขวางและสะอาด จึงกลายเป็นสนามเด็กเล่นไปโดยปริยาย
บางวันพระท่านต้องลงมาไล่ให้กลับบ้าน เนื่องจากส่งเสียงดังจนพระท่านหนวกหูและรำคาญ
ข้าพเจ้าขอสารภาพว่า
เป็นชาวพุทธเฉพาะในทะเบียนบ้าน (ชาวพูด)
มาแต่กำเนิด เนื่องจากไม่ได้ไหว้พระสวดมนต์เลย หากจะมีบ้างก็เฉพาะการกราบพระ
(อะระหังฯ สวากขาโตฯ สุปะฏิปันโนฯ) เท่านั้น ซึ่งก็ต้องรีบ ๆ ทำ
เพราะเกรงว่าคนอื่นจะมาพบเข้า การทำบุญใส่บาตรก็จะนาน ๆ ครั้ง บางคราว ๒-๓ ปี
ไม่ได้ใส่บาตร สำหรับการนำอาหารไปถวายพระที่วัดนั้นไม่เคยกระทำเลย
ส่วนการบริจาคเงินทำบุญนั้นก็จะทำเฉพาะเมื่อมีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเชิญชวนให้ทำบุญกฐิน
หรือผ้าป่าสามัคคี แต่ก็ทำด้วยความเกรงใจ จำใจ บางครั้งก็ทำไปบ่นไป
ถ้าหากไปงานบังเอิญมีพระเทศน์ก็ไม่สนใจที่จะฟัง มักจะคุยกันเสียมากกว่า
บางครั้งยังวิจารณ์เสียอีก เช่น เมื่อพระท่านเทศน์เกี่ยวกับชีวิตการครองเรือน
ก็จะวิจารณ์ว่า พระท่านจะไปรู้เรื่องการครองเรือนดีกว่าเราได้อย่างไร
ในเมื่อท่านไม่เคยได้ครองเรือน (แต่งงาน) เลย เป็นต้น (สำหรับเรื่องนี้ข้าพเจ้ามารู้ตัวในภายหลังว่า
ตัวเองโง่และบาปมาก ที่ไปวิจารณ์ท่านเช่นนั้น
เพราะพระท่านได้นำเอาพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเทศน์สั่งสอนพุทธศาสนิกชน
ซึ่งหากผู้ครองเรือนหรือครอบครัวใดได้นำคำสั่งสอนนี้ไปปฏิบัติแล้ว
ครอบครัวนั้นก็จะประสบแต่ความสงบสุข จะไม่พบกับคำว่า ครอบครัวแตกแยก หรือ ครอบครัวล้มเหลว เลย) สำหรับศีล ๕
ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่จำเป็นมากสำหรับฆราวาสนั้น
ข้าพเจ้าก็จะละเมิดเสียเกือบจะทุกข้อ จะมียกเว้นบ้างก็เฉพาะศีลข้อ ๒ และ ข้อ ๓
(อทินนาฯ และ กาเมฯ) เท่านั้น แต่อย่างไรก็ดีถึงแม้ข้าพเจ้าไม่ได้ทำบุญสุนทาน
และไหว้พระสวดมนต์ก็ตาม แต่ก็มิได้มีพฤติการณ์ไปในทางเสื่อมเสียแต่อย่างใด
หากแต่ได้ประพฤติและปฏิบัติในหน้าที่พลเมืองดีอย่างเต็มที่
ให้ความเอาใจใส่ต่อครอบครัวเป็นอย่างดี
เพียงแต่ไม่ได้นำภรรยาและบุตรเข้าวัดและปฏิบัติธรรมเท่านั้น
นอกจากนั้นข้าพเจ้ายังเคยอุปสมบท ๑ พรรษา เนื่องในงานฉลอง ๒๕ พุทธศักราช เมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๐๐ แต่ก็คงไม่ได้รับอานิสงส์เท่าใด เพราะเป็นการบวชตามพระเพณี
และเมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้วก็มิได้ปฏิบัติกิจของสงฆ์เป็นกรณีพิเศษ
เพียงแต่การทำวัตรเช้า-เย็น ลงอุโบสถ และออกบิณฑบาต ตามวัตรของสงฆ์เท่านั้น
หลังจากที่ข้าพเจ้าเกษียณอายุการงานจากรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งเมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๓๕ แล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่ได้หางานอื่นทำ ทำให้มีเวลาว่างมาก จึงฆ่า (บริหาร)
เวลาด้วยการอ่านหนังสือ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นหนังสือจำพวกนวนิยายสารคดี และมีเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแทรกบ้าง
จนวันหนึ่งได้อ่านบทความในหนังสือ ทำอย่างไรชีวิตจะยืนยาวและมีความสุข
(ฉบับพิสดาร) ของ คุณหมอเฉก ธนะสิริ
(ขอถือโอกาสนี้แนะนำท่านที่ยังไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้ว่า
ท่านควรจะได้อ่าน เพราะเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่ามาก
ท่านจะได้รับความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม
เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับมนุษย์ตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์มารดา จนกระทั่งถึงแก่กรรม มีทั้งเรื่องสุขภาพ
อาหารของร่างกาย อาหารของจิต ตลอดจนความรู้ในแขนงต่าง ๆ มากมาย
ท่านอ่านหนังสือนี้เพียงเล่มเดียว แต่ท่านจะได้รับความรู้อย่างมหาศาล)
ซึ่งตอนหนึ่งในบทความ เรื่องของจิต กล่าวว่า
...การทำสมาธิภาวนา
มิใช่การตัดตัวเองออกจากโลก แต่เป็นการชำระความสกปรกประจำวัน
อันเป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกับเมื่อตื่นเช้าขึ้นมา จะต้องทำความสะอาดร่างกาย
ที่อยู่อาศัย และเครื่องนุ่งห่ม การทำสมาธิก็มิได้ยุ่งยากเสียวเวลาแต่อย่างใด
ท่านอาจนั่งในห้องเขียนหนังสือ หรือห้องพระ หายใจเข้า พุท
หายใจออก โธ วันละ ๕
นาที ก็ยังดี อีกหน่อยก็จะทำได้ดีขึ้นถึง ๑๐-๓๐ นาที ยิ่งทำบ่อย ๆ
จิตใจก็จะเป็นระเบียบยิ่งขึ้น และเมื่อความคิดเป็นระเบียบแล้ว การพูด
การทำอะไรทุกอย่างจะเป็นระเบียบไปหมด สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้
มองเห็นปัญหาใหญ่เป็นปัญหาเล็ก ปัญหาเล็กเป็นปัญหาขี้ผง หรือไม่มีปัญหาเลย
จิตใจจะหายทดท้อ หายเบื่อหน่าย สุขุมเยือกเย็นยิ่งขึ้น การที่มนุษย์จะมีชีวิตยืนยาวและมีความสุขนั้น
นอกจากจะมีสุขภาพและอนามัยแข็งแรงดีแล้ว จิตจะต้องดีด้วย
จิตจะดีได้นั้นจะต้องมีการบริหาร ซึ่งจะทำได้อย่างเดียวคือการ พักจิต หรือ
การบริหารจิตด้วย วิธีสมาธิ
นั้นเอง....
เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านบทความดังกล่าวแล้ว
ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความสนใจในการทำ สมาธิภาวนา
มาก แต่ในหนังสือดังกล่าวก็มิได้แนะนำวิธีปฏิบัติมากนัก จะมีก็เพียงในเรื่อง ความรู้สึกของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตอนท้ายเล่ม
และคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย เท่านั้น
หลังจากนั้นข้าพเจ้าเกิดความรู้สึกอยากจะศึกษาเรื่องของพระพุทธศาสนามากขึ้น
จึงได้หาหนังสือมาอ่าน และหาโอกาสสนทนากับผู้ที่ปฏิบัติธรรมค่อนข้างจริงจัง
ทำให้ได้ทราบว่า หลังจากที่ท่านเหล่านั้นได้ปฏิบัติธรรมแล้ว ทำให้สภาพของครอบครัวดีขึ้นมาก
จึงใคร่ขอยกตัวอย่างมาสัก ๒ ครอบครัว ดังนี้
ครอบครัวที่
๑ ขณะนี้ท่านเป็นผู้บริหารระดับผู้อำนวยการกอง ในรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ท่านเล่าให้ฟังว่า
เคยไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
เมื่อก่อนที่ยังไม่ได้ไปปฏิบัติธรรม จะทำงานอะไรก็มักจะมีอุปสรรค
แต่หลังจากไปปฏิบัติธรรมแล้ว สภาพทางครอบครัวและหน้าที่การงานดีขึ้น
ตัวท่านเองได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้อำนวยการกอง ภรรยาได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการของสถานศึกษาแห่งหนึ่ง
ส่วนลูกชายสองคนก็มีความประพฤติดี และเรียนดีขึ้น จนสำเร็จเป็นนายแพทย์ ๑ คน
และนายทหารอีก ๑ คน
ครอบครัวที่
๒ ครอบครัวนี้ ภรรยาไปปฏิบัติธรรม เมื่อก่อนนี้ฐานะทางครอบครัวไม่ค่อยดี
การเงินขาดแคลน ลูกชายสองคนมีความประพฤติไม่ค่อยเรียบร้อย
เป็นที่หนักใจของพ่อแม่มาก
หลังจากที่แม่ไปปฏิบัติธรรมค่อนข้างจะจริงจังที่วัดในท้องถิ่น ก็ปรากฏว่าลูกชายทั้งสองคนมีความประพฤติดีขึ้น
เรียนสำเร็จระดับ ปวส. เมื่อเรียนจบแล้วก็ขอให้พ่อแม่จัดบวชให้ คนละ ๑ พรรษา
ขณะนี้มีงานทำและมีครอบครัวเป็นหลักฐานไปแล้ว ส่วนฐานะพ่อแม่ก็ดีขึ้น
ไม่เดือดร้อนเหมือนแต่ก่อน
เมื่อข้าพเจ้ามีความสนใจที่จะปฏิบัติธรรม
(วิปัสสนากรรมฐาน) ก็ไม่ทราบว่าจะเริ่มปฏิบัติอย่างไรดี เพราะไม่ทราบวิธีปฏิบัติ
และก็ไม่ทราบว่ามีวัดไหนท่านสอนวิปัสสนากรรมฐานบ้าง (ความจริงมีอยู่หลายวัด
แต่ข้าพเจ้าไม่ได้เสาะแสวงหาเอง)
แต่ก็อาจเป็นเพราะข้าพเจ้ามีบุญเก่าเมื่อชาติก่อนเป็นทุนเดิมอยู่
จึงทำให้นึกอยากจะเข้าวัดปฏิบัติธรรม ดังที่ท่านหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล
ได้กรุณาเขียนไว้ในเรื่อง โยมอุบาสิกาสุ่ม
ทองยิ่ง ในหนังสือ
กฎแห่งกรรม ธรรมปฏิบัติ เล่ม ๑๒
ว่า คนเราที่จะมาปฏิบัติธรรมนั้นแสนจะยาก
เอารถไปลาก เอาช้างไปฉุดก็ไม่สำเร็จ เพราะเมื่อชาติก่อนนี้ เขามิได้มีนิสัยแบบนี้
เขามีนิสัยห่างเหินจากความดีจึงไม่ได้สนใจมา สร้างความดีในชาตินี้...ฯลฯ
...ไม่ใช่ผู้ที่จะมาปฏิบัติธรรมนี้มาได้ง่าย หรือนึก ๆ ว่าจะมา ก็มาตามเขา
ก็คงไม่ใช่ ถ้าท่านขาดนิสัยจากชาติก่อน ท่านไม่ได้ศรัทธามา ไม่มีความเชื่อ
ขาดความเลื่อมใสในจิตใจแล้ว ท่านจะหาโอกาสได้ยาก เพราะผัดวันประกันพรุ่งกระทั่งตาย
จะชวนมาอย่างไรก็ไม่มีทาง อาตมาจึงไม่ชวนบางคนเลย จะไม่ขอชวน เพราะดูหน้ารู้
ชาติก่อนไม่มีนิสัยมา ชวนอย่างไรก็เสียเวลาเปล่า...ฯลฯ
เมื่อเดือนกันยายน
๒๕๓๗ ลูกสาวของข้าพเจ้าซึ่งเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน (๓)
ได้นำหนังสือมาให้ข้าพเจ้า ๓ เล่ม คือ
๑. ระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติกรรมฐาน
วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
๒. อานิสงส์ของการสวดพุทธคุณ
และ
๓. กฎแห่งกรรม
ธรรมปฏิบัติเล่ม ๘
ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือดังกล่าวด้วยความสนใจ
และทำให้นึกอยากไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันมาก แต่ก็ไม่ทราบจะไปอย่างไร
จึงถามลูกสาวว่า ได้หนังสือนี้มาจากไหน
และหากจะไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน จะไปขอคำแนะนำจากใคร จึงได้ทราบจากลูกสาวว่า
มีสำนักสงฆ์ซึ่งเป็นสาขาของวัดอัมพวัน อยู่ที่บ้านเนินทอง ตำบลบ้านค้อ
อำเภอเมืองขอนแก่น อยู่ห่างจากโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน (๓) ประมาณ ๓ กม.
ต่อมาอีก ๒ ๓ วัน
ข้าพเจ้าพร้อมด้วยภรรยา ลูกสาว และญาติอีก ๑ คน จึงได้ไปที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน
ขอนแก่น ซึ่งก็ได้พบกับท่าน อาจารย์ธีรวัฒน์
ฐานุตตโร (พระครูสมุห์ธีรวัฒน์ ฐานุตตโร)
ซึ่งท่านเป็นหัวหน้าศูนย์ดังกล่าว ท่านได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี
ข้าพเจ้าได้นมัสการถามปัญหาจากท่านหลายปัญหา
ทั้งปัญหาธรรมะและการปฏิบัติของผู้มาปฏิบัติธรรม นอกจากนั้นยังได้เสนอความเห็นว่า น่าจะได้จัดอบรมเป็นรุ่น
ๆ เพื่อที่ท่านจะได้มีเวลาพักผ่อน ซึ่งท่านก็บอกว่า การปฏิบัติธรรมนั้น
ไม่เหมือนกับการอบรมทางวิชาการโดยทั่วไป จะทำการอบรมเป็นรุ่น ๆ ไม่ได้
เพราะคนมาปฏิบัติธรรมไม่เหมือนกัน (ท่านคงจะหมายถึงสติปัญญา
บุญกุศล และกิเลส ไม่เท่ากัน) คนที่มาปฏิบัติธรรมพร้อมกัน บางคนอาจได้อะไร ๆ
กลับไปบ้าง แต่บางคนกลับไม่ได้อะไรเลย หลังจากที่สนทนาธรรมและนมัสการถามปัญหาต่าง
ๆ กับท่านอาจารย์ธีรวัฒน์ฯ ประมาณ ๒ ชั่วโมง ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเลื่อมใส ศรัทธาในวัตรปฏิบัติของท่านอาจารย์ธีรวัฒน์ฯ
มาก ทั้ง ๆ ที่ท่านยังหนุ่ม และคงจะบวชได้ไม่นาน
(ต่อมาข้าพเจ้าได้พบกับโยมแม่ของท่านโดยบังเอิญ จึงได้ทราบว่า
ในขณะนั้นท่านอาจารย์ธีรวัฒน์ฯ อายุเพียง ๒๕ ปี และเพิ่งจะบวชได้ ๓ พรรษา)
หลังจากที่ได้สนทนาธรรมกับท่านอาจารย์ธีรวัฒน์ฯ
ในวันนั้นแล้ว ทำให้ข้าพเจ้าตัดสินใจว่า จะต้องไปปฏิบัติที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวันให้ได้
จึงได้เตรียมตัวโดยจัดซื้อชุดปฏิบัติธรรม (ชุดขาว) ๒ ชุด ทั้ง ๆ ที่ทางศูนย์ฯ
ก็มีสำรองไว้อยู่แล้ว และก่อนจะถึงกำหนดที่จะไปจริง ๆ กลับมีคนมาทักท้วงว่า การไปนั่งภาวนาสมาธินั้นอาจกลายเป็นบ้าได้นะ
(ทางภาคอีสานเรียกว่า ธรรมแตก)
แต่ข้าพเจ้าก็ไม่กลัว เพราะเห็นว่าการไปปฏิบัติธรรมนั้นเป็นสิริมงคล
จึงไม่น่าที่จะกลายเป็นบ้าไปได้ และในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๗ ข้าพเจ้าก็ได้ไปปฏิบัติธรรมที่ศูนย์ฯ
สวนเวฬุวัน ซึ่งขณะนั้นมีผู้ไปปฏิบัติธรรมอยู่แล้วประมาณ ๒๐ คน ผู้ชาย ๑ คน
นอกนั้นเป็นผู้หญิง ข้าพเจ้าตั้งใจฝ่าจะอยู่ปฏิบัติธรรมเพียง ๗ วัน
แต่ท่านอาจารย์ธีรวัฒน์ฯ แนะนำให้อยู่ต่ออีก ๓ วัน รวมเป็น ๑๐ วัน การปฏิบัติใน
๒-๓ วันแรกนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกได้รับความทุกข์ทรมานมาก ปวดเข่า ปวดเอว ปวดศีรษะ
และมีอาการคันทั้งตัวคล้าย ๆ กับมีมดไต่ เมื่อใช้ความพยายามมาก ๆ
เข้าตามที่ท่านอาจารย์แนะนำก็เกิดอาการลมออกหู และปัสสาวะเป็นสีเหลือง
ทำให้ข้าพเจ้านึกย้อนไปถึงอกุศลกรรมที่ตนได้ทำมาตั้งแต่เด็กจนถึงแก่ เช่น
การหักขากบ เขียด ทุบหัวปลา เชือดคอไก่ เป็นต้น
เมื่อได้ใช้ความพยายามมากขึ้นก็ปรากฏว่า อาการเจ็บปวดต่าง ๆ ลดลงบ้าง
การไปปฏิบัติธรรมครั้งนั้นของข้าพเจ้า
ไม่ได้ผลในทางตรงเท่าใดนัก เนื่องจากจิตของข้าพเจ้าไม่สงบพ่อ (จิตไม่นิ่ง)
มักจะเผลอคิดไปถึงเรื่องอื่น ๆ อยู่เสมอ และยังอดทนต่ออาการเจ็บปวดดังกล่าวไม่ได้
แต่ก็ได้ผลในทางอ้อมมากมาย เพราะเมื่อกลับจากปฏิบัติธรรมแล้ว
ข้าพเจ้าได้นำเอาความรู้ที่ได้รับจากศูนย์ฯ มาปฏิบัติต่อที่บ้าน เช่น การไหว้พระสวดมนต์เช้า-เย็น
การนั่งสมาธิ การแผ่เมตตา การสมาทานศีล ๕ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฆ่าสัตว์ ได้งดเว้นโดยเด็ดขาด แม้กระทั่งการฆ่าสัตว์เล็ก ๆ
เช่น มด และยุง นอกจากนั้นยังทำให้ข้าพเจ้ารู้จักบาป บุญ คุณ โทษ
สนใจที่จะศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากขึ้น
ทั้งยังได้ตั้งปณิธานไว้ว่า จะต้องหาเวลาไปปฏิบัติธรรมที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน
จ.ขอนแก่น หรือ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้ปฏิบัติตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้แล้วดังนี้
วันที่ ๑๐-๑๗
พฤษภาคม ๒๕๓๘ ไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา
มีโอกาสได้กราบและฟังธรรมเทศนา จากท่านหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคลด้วย
วันที่ ๑๐-๑๓
กรกฎาคม ๒๕๓๘, วันที่ ๒๙-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๙, วันที่ ๑๘-๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๐ และวันที่ ๒๐-๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๑ ได้ไปปฏิบัติธรรม
ณ ศูนย์ฯ สวนเวฬุวัน จ.ขอนแก่น เป็นต้น
นอกจากนั้นข้าพเจ้ายังได้กราบนมัสการท่านหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล
และร่วมทำบุญกับท่านทุกครั้งที่ท่านไปทอดกฐิน ผ้าป่า หรืองานพุทธพิธีต่าง ๆ ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน
จ.ขอนแก่น
นับตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เริ่มไปปฏิบัติธรรม
และรู้จักกับท่านหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล
ปรากฏว่าได้ประสบกับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง และแสนจะประทับใจอยู่ ๒ เรื่อง คือ
เรื่องที่หนึ่ง
เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๘ หลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคลได้ไปทอดผ้าป่า ณ
ศูนย์สวนเวฬุวัน จ.ขอนแก่น ข้าพเจ้าได้ชวนญาติ ๆ สองครอบครัว
ไปร่วมทำบุญกับหลวงพ่อ แต่ครอบครัวหนึ่งสามีนั่งนานไม่ได้ เพราะมีอาการป่วย
หลังจากได้กราบหลวงพ่อและบริจาคเงินทำบุญกับท่านแล้ว สามีก็พูดกับข้าพเจ้าว่า พี่นั่งนานไม่ได้
พี่จะกลับก่อน ถ้าหลวงพ่อจะแจกพระเครื่องช่วยขอไปให้พี่ด้วยนะ
ข้าพเจ้าจึงบอกว่า คงจะไม่ได้หรอกพี่
เพราะหลวงพ่อแจกให้คนละองค์เท่านั้น หลังจากนั้นเขาก็เดินทางกลับ
และหลังจากพิธีทอดผ้าป่าเสร็จแล้ว หลวงพ่อก็มอบ พระพุทธนฤมิตโชค
(ประวัติการสร้างอยู่ในหนังสือกฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ เล่ม ๓)
ให้แก่ผู้ที่ไปร่วมงานประมาณ ๓๐๐ คน คนละองค์
โดยทยอยคลานเข้าไปรับกับมือท่านในศาลา พอถึงคิดของข้าพเจ้า
ท่านได้มองหน้านิ่งสักครู่ และหยิบพระเครื่องซึ่งอยู่ในพานใส่มือให้ข้าพเจ้า ๒
องค์ โดยที่ข้าพเจ้าก็ไม่ได้พูดอะไร
ทำให้เป็นที่แปลกใจแก่ข้าพเจ้าและผู้ที่อยู่ใกล้เคียงมาก
หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็กลับบ้าน และตั้งใจว่าจะเอาพระเครื่องไว้เองทั้ง ๒ องค์
เพราะญาติเขาก็ไม่ได้ทวงถามแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่แปลกมาก
เพราะตอนกลางคืนข้าพเจ้าได้ฝันเห็นหลวงพ่อ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยฝันเห็นท่านมาก่อน
พอรู้สึกตัวตื่นขึ้น ข้าพเจ้าจึงนึกทบทวนว่าเหตุที่ฝันเห็นหลวงพ่อนั้น
ท่านคงจะมาเตือนให้มอบพระเครื่องให้แก่ญาติคนนั้น ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงกราบขออภัยหลวงพ่อ
และรีบนำพระเครื่องดังกล่าวไปมอบให้แก่ญาติในวันรุ่งขึ้น
เรื่องที่สอง
ก่อนที่จะขับรถทุกครั้ง ข้าพเจ้าจะท่อง คาถาก่อนขับรถ (เมตตัญจะ
สัพพะ โลกัสมิง มานะ สัมภาวะเย อะปะริมาณัง) ซึ่งหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคลได้เขียนไว้ในเรื่อง
สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ในหนังสือกฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ
เล่ม ๖ ที่ท่องคาถานั้นก็เพื่อเป็นการเตือนสติตนเองว่า ขณะนี้เรากำลังขับรถนะ
ให้ใช้ความระมัดระวัง อย่าประมาท มิได้หมายความว่า หากท่องคาถานั้นแล้ว
เราจะขับรถเร็วและประมาทอย่างไรก็ปลอดภัย มีอยู่วันหนึ่งข้าพเจ้าขับรถออกนอกเมืองเพื่อจะไปยังจังหวัดหนึ่ง
ขณะที่ขับรถผ่านทุ่งนา ถนนลาดยางค่อนข้างแคบ แต่มีรถไม่มากนัก นาน ๆ จะสวนมาสักคัน
ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกง่วงนอนและงีบไป แต่ก็สะดุ้งและรู้สึกตัวขึ้นมาเอง ปรากฏว่ารถของข้าพเจ้าวิ่งกินเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนไปเล็กน้อย
จึงรีบหมุนพวงมาลัยกลับเข้าสู่ทางด้านซ้าย และในขณะเดียวกันก็มีรถคันหนึ่งวิ่งสวนมา
ซึ่งหากข้าพเจ้าไม่รู้สึกตัวและยังวิ่งกินทางด้านขวาอยู่ก็อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
ข้าพเจ้าจึงได้นึกของพระคุณหลวงพ่อที่ท่านได้กรุณามาเตือน ก่อนที่จะมีอะไรเกิดขึ้น
นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของข้าพเจ้าอยู่
๒ เรื่องคือ
๑. ก่อนที่ข้าพเจ้าจะได้เริ่มปฏิบัติธรรม
และสวดพระพุทธคุณ ตามคำแนะนำของหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคลนั้น
ข้าพเจ้ามีอาการเวียนหัว และอาเจียนเป็นครั้งคราว มีอาการหนัก
จึงไปปรึกษาหมอที่คลีนิค ซึ่งมีความชำนาญเกี่ยวกับโรคนี้
หลังจากคุณหมอตรวจแล้วก็ไม่พบสาเหตุ ความดันก็ปรกติ โรคเบาหวานก็ไม่มี
หมอได้สั่งยาให้ไปกินที่บ้านหลายครั้งก็ไม่หาย (คงจะเกิดจากอกุศลกรรมที่ข้าพเจ้าเคยฆ่าปลา
กบ เขียด เป็ด ไก่ ฯลฯ โดยการทุบหัว ตามธรรมเทศนาของหลวงพ่อก็ได้)
แต่หลังจากที่ข้าพเจ้าไปปฏิบัติธรรมที่ศูนย์ฯ เวฬุวันแล้ว และกลับมาบ้านได้ไหว้พระสวดมนต์เช้า-เย็น
สวดพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ สวดบทพาหุงมหาการุณิโก นั่งสมาธิ และแผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวร
ตามที่ได้รับคำแนะนำจากศูนย์ฯแล้ว ก็ปรากฏว่าอาการเวียนหัวดังกล่าวหายไป
โดยมิได้ไปปรึกษาหมออีกเลย
๒. ข้าพเจ้าป่วยมีอาการปัสสาวะไม่ออก
หรือออกก็กะปริบกะปรอย มีอาการทรมานมาก จึงไปพบหมอที่โรงพยาบาล
หมอสั่งให้ตรวจเลือดและปัสสาวะ ผลปรากฏว่า อาจเป็นมะเร็งในต่อมลูกหมาก
และอาจต้องผ่าตัด แต่เพื่อความแน่ใจ คุณหมอได้เจาะเอาเนื้อไปตรวจอีกครั้ง ผลการตรวจครั้งหลัง
ปรากฏว่าไม่มีเชื้อมะเร็ง จึงไม่ต้องผ่าตัด เพียงแต่ให้กินยาเท่านั้น
ซึ่งอาการดังกล่าวก็หายเกือบจะเป็นปกติแล้ว
เรื่องนี้อาจเป็นเพราะข้าพเจ้าสวดพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และบทพาหุงมหาการุณิโก
ตามคำแนะนำของหลวงพ่อก็ได้
อนึ่ง
หลังจากที่ข้าพเจ้ามีความสนใจในการปฏิบัติธรรมแล้ว ทำให้นิสัยเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
คือ เปลี่ยนจากที่ไม่เคยสนใจที่จะศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไม่อยากทำบุญบริจาคทาน ไม่เคยไหว้พระสวดมนต์ ไม่ชอบฟังพระธรรมเทศนา
กลายมาเป็นผู้มีความสนใจที่จะศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค่อนข้างจะเคร่งครัด
สนใจที่จะฟังพระธรรมเทศนาทั้งจากวัด และสถานีวิทยุกระจายเสียง
ตลอดจนสถานีวิทยุโทรทัศน์ ทำบุญใส่บาตรและนำภัตตาหารไปถวายพระที่วัดทุกวันพระ สมาทานศีล
๕ อย่างเคร่งครัด ไปรักษาอุโบสถศีลที่วัดตลอดเทศกาลเข้าพรรษา
และถึงแม้จะมิใช่เทศกาลเข้าพรรษาก็ยังคงสมาทานศีล ๘ อยู่ที่บ้านด้วย
ส่วนการไหว้พระสวดมนต์เช้า-เย็น นั้นก็ต้องปฏิบัติทุกวัน และเห็นว่มีความจำเป็นเช่นเดียวกับที่คนเราจะต้องรับประทานอาหารทุกวันนั่นเอง
เมื่อได้ลองเปรียบเทียบสภาพของการดำเนินชีวิตโดยทั่วไป
หลังจากปฏิบัติธรรมแล้ว กับที่ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมนั้นจะแตกต่างกันมาก เพราะเมื่อข้าพเจ้าได้ปฏิบัติธรรมแล้ว
ทำให้สภาพจิตใจมีความสงบมากขึ้น อารมณ์ฉุนเฉียวค่อนข้างจะหมดไป
สภาวะทางครอบครัวดีขึ้น ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ หมดไป และการติดต่อสมาคมกับบุคคลอื่นราบรื่นขึ้น
ได้พบกับกัลยาณมิตรมากขึ้น และที่สำคัญคือ มีสุขภาพจิตดีขึ้น
เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้อยู่ในวัยสูงอายุ จนทำให้ข้าพเจ้านึกเสียดายที่ได้สนใจปฏิบัติธรรมช้าไป
เพราะถ้าหากสนใจที่จะปฏิบัติตั้งแต่อายุยังน้อยก็คาดว่าชีวิตคงจะดีกว่านี้เป็นแน่
แต่ก็ยังอดภูมิใจในตัวเองไม่ได้ว่า ดีแล้ว ที่เรามีบุญได้มาปฏิบัติธรรม
แม้จะสายไปหน่อยก็ตาม ยังดีกว่าเพื่อน ๆ อีกมากมายที่ยังหลงระเริงอยู่ในโลกีย์วิสัย
ดื่มเหล้าเมายา เที่ยวคลับเที่ยวบาร์ เล่นการพนัน ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อยู่เหมือนเดิม
ก่อนที่จะจบบทความนี้
ข้าพเจ้าใคร่ขอเชิญชวนท่านที่ยังลังเลในว่า จะปฏิบัติธรรมดีไหม
เพราะยังมีความสงสัยในข้อที่ว่า บาป-บุญมีจริงไหม,
นรก-สวรรค์มีจริงไหม, วิญญาณมีจริงไหม, ตายแล้วเกิดจริงไหม ฯลฯ
ซึ่งข้าพเจ้าก็เคยมีความสงสัยเช่นนี้เหมือนกัน แต่หลังจากได้ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาค่อนข้างจะจริงจังแล้ว
จึงหายสงสัยและเชื่อว่าสิ่งดังกล่าวมีจริง
แต่ถ้าหากท่านยังลังเลใจอยู่ก็ขอแนะนำให้อ่าน
พระธรรมเทศนาของหลวงพ่อพระราชสุทธิญาณมงคล ในหนังสือกฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ เล่ม
๑-๑๒ ซึ่งก็จะได้รับความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมากมาย
และหากท่านยังไม่หายสงสัยอีก ท่านจะลองอ่านบทความของท่าน ฐิตวัณโณภิกขุ
(พิจิตร ป.ธ.๙) วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ พิมพ์ไว้ในหนังสือ ตายแล้วไปไหน
ซึ่งเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าศึกษาว่า
เรื่องที่ตายแล้วเกิดใหม่นี้เป็นกฎธรรมชาติ
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเชื่อและความไม่เชื่อของคนเรา เช่น ไฟเป็นของร้อน
หรือดวงดาวในจักรวาลอื่น ๆ มีอยู่จริง ใครจะเห็นหรือไม่ก็ตาม
สิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่เหมือนเดิมตามธรรมชาติของมัน ไม่ได้หายไปเพราะความไม่เชื่อ
และมิได้ปรากฏมีขึ้นเพราะความเชื่อของคนเรา
แม้คนเราเมื่อตายแล้วจะไม่อยากเกิดก็ต้องเกิดอยู่นั่นเอง ถ้ายังมีกิเลสอยู่
เหมือนอย่างคนไม่อยากตาย แต่ก็ต้องตายในที่สุด เพราะความตายเป็นกฎธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม
คนที่เชื่อว่าตายแล้วเกิดจริง บาปบุญมีจริง นรกสวรรค์มีอยู่จริง คนทีดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริง
ย่อมดีกว่าหรือย่อมได้รับประโยชน์กว่าคนที่ไม่เชื่อเป็นอันมาก
สวรรค์และนรกนั้นมีจริงแน่ เพราะเมื่อสวรรค์นรกมีจริงแล้ว เขาไม่ทำชั่ว
ทำแต่ความดี ก็ย่อมไปเกิดในที่ดีไม่ตกนรกแน่ ถ้าสมมุติว่าสวรรค์และนรกไม่มีจริง
เขาก็มีความสุขในปัจจุบันไม่ต้องเดือดร้อน แต่คนที่ไม่เชื่อ แล้วไม่ยอมทำดี แต่กลับทำชั่ว
ย่อมมีแต่ขาดทุน หรือเดือดร้อนในปัจจุบัน ตายไปก็ตกนรก ไม่มีโอกาสขึ้นสวรรค์ได้
ในชาตินี้ก็ขาดทุน ชาติหน้าก็ขาดทุน เพราะทำชั่วไม่ยอมทำดี
ย่อมมีความทุกข์ความเดือดร้อน ส่วนคนที่เชื่อแล้วทำดีนั้น
ย่อมมีแต่ทางได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ทั้งชาตินี้และชาติหน้า ยิ่งเราผู้นับถือพระพุทธศาสนา
ยึดมั่นในพระพุทธเจ้าด้วยแล้ว แม้เรายังพิสูจน์ไม่ได้ หรือยังไม่เห็นประจักษ์ด้วยตัวเอง
ก็ควรเชื่อพระพุทธเจ้าไว้ก่อน เหมือนคนทั่วไปที่ยังไม่เห็นเชื้อโรคด้วยตัวเองก็ควรเชื่อหมอไว้ก่อน
มันจะดีกว่าไม่เชื่อ เพราะว่าการที่จะให้คนเรารู้เห็นหมดทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้
และในจักรวาลอื่น ๆ นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ บางอย่างซึ่งสุดความสามารถของเรา
ก็ต้องเชื่อผู้รู้ไว้ก่อน และเมื่อเราเชื่ออย่างมีเหตุผล
ตั้งอยู่บนรากฐานของปัญญาแล้ว แม้จะไปไม่เห็นประจักษ์ด้วยตา
หรือไม่สามารถสัมผัสรับรู้ด้วยประสาททั้งห้า แต่เมื่อได้ปฏิบัติกรรมฐาน
ฝึกอบรมจิตของเราแล้ว หรือค้นคว้าหาเหตุผลหรือการใช้ปัญญาใคร่ครวญ
หรือได้ประสบพบเห็นด้วยตนเอง ในที่สุดสิ่งเหล่านี้ สภาพเหล่านี้
ก็จะปรากฏแก่เราชัดขึ้น เพราะพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ดีแล้วนั้น
ย่อมพิสูจน์ด้วยเหตุผลและด้วยการปฏิบัติ
เมื่อท่านได้อ่านมาถึงตรงนี้
ท่านหายสงสัยและสนใจที่จะปฏิบัติธรรมบ้างหรือยัง อย่าได้ลังเลสงสัยเลย
มาละบาปสร้างบุญกันเถิด เพราะการปฏิบัติธรรมนั้นไม่มีอะไรเสีย มีแต่ได้ไม่มีขาดทุน
คงมีแต่กำไร ทรัพย์สินเงินทองที่ท่านมีอยู่นั้นจะใช้แต่เพียงในชาตินี้
เมื่อท่านตายไปก็ไม่สามารถจะนำติดตัวไปได้เลย (แม้แต่ทองเลี่ยมฟัน)
บุญกุศลเท่านั้นที่จะติดตามท่านไป และบุญกุศลนั้นก็ไม่อาจซื้อได้ด้วยเงินเพราะ บุญกุศลไม่มีขาย
ใครอยากได้ต้องทำเอง