หลวงพ่อของลูก

 

ดร.พจนี เทียมศักดิ์

R15009

 

       นับแต่เริ่มมีโครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ. ๒๕๓๑ มีนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ จำนวนมากในแต่ละปี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวนหลายล้านบาทเพื่อเด็กนักเรียนเหล่านี้ได้เรียนสูงขึ้น โดยไม่ต้องทำสัญญาผูกพันใด ๆ ไม่ต้องทำงานชดใช้ทุน พระองค์ท่านมีพระเมตตาอย่างแท้จริง ทำให้คณะทำงานคิดว่า น่าจะมีวิธีการที่นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ เหล่านี้ แสดงความกตัญญูกตเวทีถวายต่อพระองค์ท่าน ประกอบกับในปี ๒๕๓๘ เป็นปีที่ทรงมีพระชนมายุครบ ๔๐ พรรษา มีเด็กที่จบชั้นประถมปีที่ ๒ ที่จะต้องเดินทางมาเข้ารับการอบรมแนะแนวในกรุงเทพฯ และจะได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอยู่แล้ว ถ้าได้เด็กกลุ่มนี้เข้ามาบรรพชาสามเณร ก็จะเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที แต่ใต้ฝ่าละอองพระบาทได้ทางหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ปรึกษากับท่านที่ปรึกษาโครงการตามพระราชดำริหลายท่าน ท่านให้แนวทางในการจัดการและรวมถึงบุคคลที่จะลืมเสียมิได้คือ นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการสำนักพระราชวัง ที่กรุณาเซ็นหนังสือขอพระราชทานพระราชวโรกาส ให้นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ ๔๓ คน ที่โกนหัวนุ่งขาวห่มขาว เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อกราบถวายบังคมลาบรรพชา และรับพระราชทานผ้าไตรไปถวายพระอุปัชฌาย์

       เนื่องจากเป็นช่วงบุกเบิกโครงการฯ ทำให้มีภาระหนักหลายประการ เช่น จะบวชที่ใด ใครเป็นอุปัชฌาย์ บรรพชาแล้วจะไปอยู่ที่ไหน ใครจะเป็นผู้สอนวิชาความรู้ทางธรรมให้ หลักสูตรจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าได้นำเรื่องไปกราบเรียนปรึกษาหารือกับพระเดชพระคุณธรรมราชานุวัตร (หลวงเตี่ย) รองเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระเดชพระคุณรับทราบปัญหาแล้ว ได้พาข้าจ้าไปพบกับพระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ) เพื่อขอความเมตตาจากท่าน รวมทั้งได้เล่าความเป็นมาให้ฟัง พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคลรับจะช่วยสั่งสอนอบรมเรื่องการปฏิบัติธรรมกรรมฐานให้แก่สามเณร รวมทั้งการให้ที่พักจำพรรษาได้ทั้งหมด เป็นเวลา ๑๕ วัน แม้จะทราบว่าโครงการดังกล่าว ไม่มีเงินค่าอาหารและค่าน้ำปานะก็ตาม พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคลกล่าวตอบรับด้วยใบหน้าเปี่ยมด้วยเมตตาและเอื้ออาทรอย่างสูงยิ่งว่า “วัดอัมพวันยินดีต้อนรับ หลวงพ่อมีแต่ให้กับช่วย วัดอัมพวันนี้มีอาหารเลี้ยงตลอด ๒๔ ชั่วโมงอยู่แล้ว”

       เมื่อได้ฟังคำตอบที่เปี่ยมด้วยความเมตตาเช่นนี้ ทำให้ข้าพเจ้าลิงโลดใจ ว่าโครงการบรรพชาจะต้องสำเร็จแน่นอน เพราะได้พระเดชพระคุณทั้งสองเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ รวมทั้งได้เป็นผู้ร่วมปฏิบัติงานโครงการฯ ที่จะสามารถรับผิดชอบในเรื่องการบรรพชา และการอบรมสั่งสอนอย่างดีเยี่ยม ข้าพเจ้าได้บอกบุญให้ร่วมกันบริจาคเงินในโครงการบรรพชาจากญาติพี่น้อง คนรู้จัก ผ่านกองธุรการที่ประทับ เมื่อถึงเวลาดำเนินงานโครงการฯ ปรากฏว่ามีผู้บริจาคเพียงพอกับที่ต้องการ ไม่ต้องรบกวนพระเดชพระคุณมากนัก ความเมตตาที่ปรากฏอย่างสม่ำเสมอ โดยที่พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ไม่เพียงแต่ไม่เคยรับปัจจัยที่ทางสำนักพระราชวังถวาย เพื่อใช้ในกิจการโครงการบรรพชาสามเณรเป็นค่าอาหารและค่าน้ำปานะเท่านั้น แต่พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ยังมอบปัจจัยดังกล่าวกลับคืน เพื่อถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมทบกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารและกิจกรรมการกุศลอื่น ๆ เป็นประจำทุกปี ดังมีรายละเอียดดังนี้

       วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๓๘ ถวายเงินแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท

       วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๓๙ ถวายเงินแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และถวายเงินสมทบทุนมูลนิธิสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

       วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๙ ถวายเงินแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท

       วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๙ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา เนื่องในพระราชสโรกาสพิธีกาญจนาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน ๗,๕๐๐,๐๐๐ บาท และถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมรถยนต์ยี่ห้อ Jeep รุ่นเชอโรกี เพื่อใช้ในการติดตามงานโครงการตามพระราชดำริ ๑ คัน เป็นเงิน ๑,๐๕๐,๐๐๐ บาท

       วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๑ ถวายเงินแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

       วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๔๑ ถวายเงินแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

       วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๑ พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคลเข้าเฝ้าฯ ถวายเงินแด่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หม่อมเจ้าหญิงสิริวัณวรีมหิดล จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เนื่องในวโรกาสเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ณ วัดอัมพวัน ในโอกาสเดียวกันได้บริจาคเงินแก่มูลนิธิดวงแก้ว ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

       วันที่ ๒๔ พฤษภาคม๒๕๔๑ ถวายเงินแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารีจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท เนื่องในพระราชวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ณ วัดอัมพวัน รวมทั้งชาวบ้านที่ร่วมทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท

       วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๒ ถวายเงินแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท

       วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๒ ถวายเงินแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมทบทุน “หน่วยไตเทียม แพทย์หลวง สำนักพระราชวัง” จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท

       วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๓ ถวายเงินแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท

       วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๓ ถวายเงินแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญา จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท เนื่องในวโรกาสเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ณ วัดอัมพวัน

       วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ถวายเงินแด่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท เนื่องในวโรกาสเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ณ วัดอัมพวัน

       วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๓ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท

       วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๓ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในพระราชวโรกาสพิธีกาญจนาภิเษก จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท

       วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ถวายเงินแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสมทบกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท

       วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ลูกศิษย์พระราชสุทธิญาณมงคล ถวายเพื่อสมทบทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท

       รวมเป็นเงินที่พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ได้ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมราชจักรีวงศ์ จำนวนทั้งสิ้น ๑๘,๘๘๐,๐๐๐ บาท

       ในการนี้ส่วนใหญ่ข้าพเจ้าได้เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคลเข้าเฝ้าฯ ถวายด้วยตัวท่านเอง เพียง ๒-๓ ครั้งเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ทางสำนักพระราชวังและสำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีหนังสือราชการนมัสการนิมนต์พระเดชพระคุณพระธรรมราชานุวัตร และพระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ในฐานะที่ปรึกษาโครงการบรรพชาสามเณร รวมทั้งผู้ร่วมปฏิบัติงานโครงการให้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประจำทุกปี แต่เพราะพระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคลท่านมีภารกิจมาก และไม่ประสงค์จะแสดงตนเทียบพระเดชพระคุณพระธรรมราชานุวัตร พระผู้ใหญ่ที่อาวุโสกว่าทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และสมณศักดิ์ ซึ่งเป็นจริยาวัตรที่งดงามยิ่งของพระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล

       นอกจากนี้ พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ยังเป็นผู้นำลูกศิษย์ลูกหาที่มีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศล ถวายที่ดินในจังหวัดพิจิตร จำนวนประมาณ ๒๔ ไร่ และที่ดินในอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม จำนวน ๑๔ ไร่ ๑ งาน ๒๗๒.๑ ตารางวา แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย

       ด้วยความที่พระราชสุทธิญาณมงคล เป็นพระสงฆ์ที่มีวัตรปฏิบัติงดงามอย่างยิ่ง สำนักพระราชวังได้รับความอนุเคราะห์จากพระราชสุทธิญาณมงคล ในการเป็นพระอาจารย์อบรมสามเณรและเนกขัม ซึ่งเป็นนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการบรรพชาสามเณรและเนกขัม ถวายเป็นพระราชกุศลเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๘ มีรายละเอียดดังนี้

ครั้งที่ ๑      ระหว่างวันที่ ๑-๑๘ เมษายน ๒๕๓๘ มีนักเรียนบรรพชา จำนวน ๕๓ คน

ครั้งที่ ๒      ระหว่างวันที่ ๑๒-๒๖ เมษายน ๒๕๓๙ มีนักเรียนบรรพชา จำนวน ๕๑ คน

ครั้งที่ ๓      ระหว่างวันที่ ๖-๒๐  เมษายน ๒๕๔๐ มีนักเรียนบรรพชา จำนวน ๖๔ คน

ครั้งที่ ๔      ระหว่างวันที่ ๑-๑๙ เมษายน ๒๕๔๑ มีนักเรียนบรรพชา จำนวน ๗๐ คน

ครั้งที่ ๕      ระหว่างวันที่ ๑๐-๒๐ เมษายน ๒๕๔๒ มีนักเรียนบรรพชา จำนวน ๕๑ คน

ครั้งที่ ๖      ระหว่างวันที่ ๑๘ เมษายน-๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๓ มีนักเรียนบรรพชา จำนวน ๘๖ คน

ครั้งที่ ๗      ระหว่างวันที่ ๗-๒๑ เมษายน ๒๕๔๔ มีนักเรียนบรรพชา จำนวน ๙๓ คน

       ส่วนนักเรียนหญิงมีการบวชเป็นเนกขัม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑

ครั้งที่ ๑      ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๙ เมษายน ๒๕๔๑ มีเนกขัม จำนวน ๙๒ คน

ครั้งที่ ๒      ระหว่างวันที่ ๑๒-๒๐ เมษายน ๒๕๔๒ มีเนกขัม จำนวน ๑๑๒ คน

ครั้งที่ ๓      ระหว่างวันที่ ๒๘ เมษายน-๕ พฤษภาคม ๒๕๔๓ มีเนกขัม จำนวน ๑๔๒ คน

ครั้งที่ ๔      ระหว่างวันที่ ๑๗-๒๑ เมษายน ๒๕๔๔ มีเนกขัม จำนวน ๙๘ คน

       เมื่อได้พาเด็กนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ ไปอบรมในครั้งที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘ พระเดชพระคุณได้พูดคุยกับข้าพเจ้าอย่างเป็นกันเองด้วยความเมตตายิ่ง และท่านได้ซักถามเรื่องการศึกษา ข้าพเจ้าได้เล่าประวัติของตนเองว่าจบปริญญาตรี เทอมสุดท้ายของชั้นปีที่ ๔ ก็ได้รับการคัดเลือกจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ไปปฏิบัติงานที่โรงเรียนจิตรลดา ข้าพเจ้าได้คะแนนเกียรตินิยมอันดับ ๒ ได้รับการเลือกเพราะความคล่องตัว เนื่องจากเคยทำกิจกรรมในขณะศึกษาหลายอย่าง เช่น เป็นผู้แทนนิสิตหญิง เป็นสมาชิกสภานิสิต (ส.ส.) ของคณะครุศาสตร์ เป็นนักกีฬายิงปืนยาวหญิงของ สจม. และเป็นนักร้องประสานเสียงจุฬา (CU.Chorus) นอกจากนี้ยังร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ทั้งงานทั่วไปและงานวิชาการ ข้าพเจ้าเริ่มงานที่โรงเรียนจิตรลดาตั้งแต่ยังไม่จบการศึกษา ได้เริ่มก่อตั้งชั้นอนุบาลขึ้นมาใหม่หลังจากปิดไประยะหนึ่ง หลังจากที่พระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกยาเธอทรงสำเร็จการศึกษาไป ข้าพเจ้าซึ่งจบการศึกษาปฐมวัยเป็นรุ่นแรก ที่มีวิชาเอกเดี่ยว สาขาเดียว ขณะปฏิบัติงานก็ได้มีผลงานเขียนหนังสือนิทานและคู่มือครู ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่หลายเล่มในเวลาต่อมา ดังนี้

พ.ศ. ๒๕๓๒ -    คู่มืองานประดิษฐ์-สื่อการสอน พิมพ์ครั้งที่ ๑ สำนักพิมพ์ต้นอ้อ

-      หนังสือสร้างเสริมลักษณะนิสัย ลำดับ ๑ เรื่องครูอ้อมของเรา สำนักพิมพ์เด็กน้อย

-      หนังสือสร้างเสริมลักษณะนิสัย ลำดับ ๓ เรื่องวันหยุดแสนสนุก สำนักพิมพ์เด็กน้อย

-      หนังสือสร้างเสริมลักษณะนิสัย ลำดับ ๖ เรื่องหนูหยกสดใส สำนักพิมพ์เด็กน้อย

-      หนังสือสร้างเสริมลักษณะนิสัย ลำดับ ๙ เรื่องวันเกิดคุณแม่ สำนักพิมพ์เด็กน้อย

พ.ศ. ๒๕๓๓ -   หนังสือสร้างเสริมลักษณะนิสัย เรื่องหนูพิมพ์ไปโรงเรียน สำนักพิมพ์ต้นอ้อ

-      หนังสือสร้างเสริมลักษณะนิสัย เรื่องหมอนรักของก้อย สำนักพิมพ์ต้นอ้อ

พ.ศ. ๒๕๓๔ -   คู่มืองานประดิษฐ์-สื่อการสอน พิมพ์ครั้งที่ ๒ สำนักพิมพ์ต้นอ้อ – แกรมมี่

-      คู่มืองานประดิษฐ์สร้างสรรค์ สำนักพิมพ์ต้นอ้อ – แกรมมี่

พ.ศ. ๒๕๓๒ – ๒๕๔๔    เขียนบทความในจดหมายข่าว โครงการพระราชดำริ จำนวนกว่า ๑๒ ชิ้น

       ข้าพเจ้าปฏิบัติงานที่โรงเรียนจิตรลดาเป็นเวลา ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๒๗ -  ๒๕๓๒) ทำหน้าที่ถวายการสอนพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าอทิตยาทรกิตติคุณ พระราชธิดาในสามเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ต่อมาสำนักพระราชวังได้ขอตัวข้าพเจ้า ให้ไปรับราชการในสำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๒ จนถึงปัจจุบัน เมื่อพระเดชพระคุณเห็นหน้าข้าพเจ้าครั้งแรก ได้บอกข้าพเจ้าว่าต้องเรียนปริญญาเอกและต้องสอบได้ เมื่องานบรรพชาได้สำเร็จลุล่วง เป็นช่วงที่สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ เปิดรับสมัครนักศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตพอดี พอไปสอบพบว่ามีผู้คนไปสอบมากถึง ๔๗๐ คน เพราะรับสมัครปีเว้นปี ข้าพเจ้าสอบผ่านข้อเขียนได้ในปีนั้น มีผู้สอบข้อเขียนผ่านเพียง ๒๐ คน และต้องสอบสัมภาษณ์ ให้เหลือเพียง ๑๐ คน ผลปรากฏว่าข้าพเจ้าสอบได้ เป็นจริงตามคำพูดของหลวงพ่อส่วนหนึ่งแล้ว

       ในวันที่ ๑๕ เมษายน เป็นวันกตัญญู ที่ศิษยานุศิษย์จากทั่วสารทิศ เดินทางมาสักการะพระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล นาฏศิลป์ลพบุรีนำโขนมาแสดง ด้วยความกรุณาของพระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ที่อนุญาตให้สามเณรนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดูโขนเพื่อจะได้เป็นความรู้ เมื่อข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องสามเณรดูโขนถวายให้ทรงทราบ และยังเล่าถวายให้ทรงทราบอีกว่าในกุฏิของพระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล สมัยก่อนบรรพชาเป็นพระสงฆ์ได้เรียนดนตรีไทย เป็นลูกศิษย์หลวงประดิษฐ์ไพเราะ เคยตีระนาดที่ท้องสนามหลวงให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แสดงโขน ทั้งยังเป็นเพื่อนกับ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ และอาจารย์สุดจิต ดุริยประณีต พระอาจารย์ดนตรีไทยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เผอิญช่วงนั้นมีข่าวว่าพระขับรถ พระขับเรือกล้วยที่พัทยา มีพระผิดศีลกันมาก จึงมีรับส่งถามข้าพเจ้าว่า “พระดูมหรสพได้หรือ ไม่ผิดศีลหรือ แล้วบนกุฏิของพระมีเครื่องดนตรีไว้ได้อย่างไร อาจจะอาบัตได้ ระนาดที่พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคลมีเป็นของเก่า หรือเป็นมรดกตกทอดจากท่านหลวงประดิษฐ์ไพเราะหรือไม่” ข้าพเจ้านำคำถามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีสั่งถาม อัญเชิญไปยังพระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล พระเดชพระคุณท่านได้กรุณาตอบเป็นข้อ ๆ ดังนี้

       การดูมหรสพว่าอาบัติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเราดูเพื่อเป็นความรู้หรือดูเพื่อความสนุกสนาน ไม่ได้ดูเพื่อความสนุกสนานจึงไม่อาบัติ

       สำหรับการมีเครื่องดนตรีอยู่ในกุฏิ ก็เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ ทั้งยังเล่าต่ออีกว่า เครื่องดนตรีเกิดขึ้นจากตำนานทางพระพุทธศาสนามาก่อนทั้งสิ้น ในสมัยที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็มีดนตรีธรรมชาติจากต้นไม้ต่าง ๆ ในป่าเสียดสีกัน จนเกิดเป็นเสียงดนตรีแซ่ซ้องสรรเสริญเป็นเพลงสาธุการ พระเดชพระคุณยังบอกถึงความเป็นมาของดนตรีแต่ละชนิด ที่ส่วนใหญ่เกิดจากสภาพธรรมชาติและเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา แม้แต่บทสวดพระมาลัยที่ใช้สวดพระอภิธรรมในงานศพ แต่เดิมสมัยโบราณจะใช้สวนในงานกล่อมหอ พระเดชพระคุณมีเหตุมีผลอ้างอิงด้วยหลักวิชาการเป็นที่น่าทึ่งอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเกี่ยวกับดนตรีไทย ซึ่งพระเดชพระคุณมีความชำนาญเป็นพิเศษ ข้าพเจ้าจึงนำคำตอบกลับไปเล่าถวาย รวมทั้งถวายรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรถึงคำตอบของพระเดชพระคุณ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งว่า “หลวงพ่อมีความรู้มากนะ”

       โดยที่ข้าพเจ้าต้องไปดูแลสามเณร ยามว่างก็จึงไปวัดอัมพวันสม่ำเสมอ เนื่องจากอยู่ในช่วงลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอก เป็นเวลา ๔ ปี ๒ เดือน ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นวัตรปฏิบัติของพระเดชพระคุณ ทำให้ประทับใจในจริยาวัตรของพระคุณเจ้า ที่ขยันและทำงานอยู่ตลอดเวลาไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ยกตัวอย่างในช่วงเข้าพรรษา พระเดชพระคุณจะตื่นจากจำวัดเวลา ๓.๓๐ น. และเริ่มนำสวดมนต์ทำวัตรเช้า ปฏิบัติกิจของสงฆ์และเทศนาสั่งสอนกระจายเสียงไปทั่ววัด เพื่อให้พระนวกะหรือที่เรียกว่าพระบวชใหม่ได้จดจำ รวมทั้งการลงโบสถ์ทำวัตรเย็นที่พระเดชพระคุณปฏิบัติมิเคยขาด ทั้งนี้รวมไปถึงช่วงออกพรรษา ก็ยังปฏิบัติกิจของสงฆ์มิเคยขาด จะมีบ้างถ้ามีธุระสำคัญหรือป่วยจึงงด นอกจากนี้ยังสั่งสอนและสนทนาธรรมกับประชาชนทั่วไป ที่มากราบนมัสการแทบทั้งวันจนถึงค่ำ บางวันมีพิธีเปิดและพิธีการปิดการอบรมปฏิบัติกรรมฐาน พระเดชพระคุณก็ต้องไปเป็นประธานในพิธีเปิดและพิธีปิดการอบรมดังกล่าว ส่วนใหญ่ประมาณเวลา ๒๑.๐๐ – ๒๒.๐๐ น. ถ้าพระเดชพระคุณว่างก็จะทำงานเอกสารในฐานะเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี และเขียนตอบจดหมายที่ประชาชนเขียนมาสนทนาธรรม ปรึกษาปัญหาธรรมะ จนมีคำกล่าวว่า “พระเดชพระคุณ พระราชสุทธิญาณมงคล ท่านสอนทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่พัก”

       วัดอัมพวันได้จัดการทำบุญวันเกิด ครบ ๙๘ ปี ของนางเจิม จรรยารักษ์ โยมมารดาของพระราชสุทธิญาณมงคล ในวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๐ ในงานได้นิมนต์พระคุณเจ้าจากวัดต่าง ๆ มาร่วมงาน พอถึงวันงานท่านเจ้าของวันเกิดกลับมาป่วยหนัก ไม่รู้สึกตัวต้องเข้าห้อง I.C.U. พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ซึมเศร้าไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะเป็นห่วงสุขภาพโยมมารดาที่อายุมากเกือบ ๙๘ ปี เคยแข็งแรงมาตลอด บทจะป่วยก็หนักมากจนน่ากลัว โชคดีที่โรงพยาบาลสิงห์บุรีมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคหัวใจ ที่ดูแลโยมมารดสอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีเครื่องมือที่ทันสมัยไม่แพ้ในกรุงเทพฯ ด้วยค่านิยมบางอย่างทำให้คิดว่าในสิงห์บุรีอาจจะรักษาไม่เก่งไม่ชำนาญ จึงมีลูกศิษย์ลูกหาบางกลุ่มที่พยายามจำนำโยมมารดาของหลวงพ่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช เนื่องจากเป็นคนไข้เก่า เผอิญในช่วงนั้นมีศาสตราจารย์นายแพทย์อนุวัตร ลิ้มสุวรรณ วุฒิสมาชิกและแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ไปกราบสักการะพระเดชพระคุณพอดี และได้ขอให้ข้าพเจ้าร่างจดหมายเพื่อขอเข้าเฝ้าฯ ถวายที่ดินในจังหวัดมหาสารคาม เมื่อทราบว่าโยมมารดาของหลวงพ่อป่วย ศาสตราจารย์นายแพทย์อนุวัตรฯ จึงได้ขอให้ข้าพเจ้าพาไปโรงพยาบาลเพื่อดูอาการ ได้ตรวจดูรายงานของแพทย์ ดูเครื่องมือ ดูยาที่ได้รับจากแพทย์ที่ดูแลใกล้ชิด ท่านบอกว่าโดยรวมแล้วเป็นที่น่าพอใจและอาการที่ปรากฏตอบสนองต่อยาดีมาก แพทย์ผู้ดูแลได้ใช้ความรู้ความสามารถรักษาได้ถูกต้องถูกทาง กราฟต่าง ๆ แสดงผลดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ท่านได้ให้การรับรองและมีความเห็นว่า ไม่ควรเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนโรงพยาบาลอย่างเด็ดขาด เนื่องจากท่านอายุมาก ระยะทางของอีกโรงพยาบาลหนึ่งก็ไกล จะกระทบกระเทือนมากจนอาจทำให้ภาวะหัวใจล้มเหล้วได้ทันดี หลังจากที่ศาสตราจารย์นายแพทย์อนุวัตฯ ซึ่งเป็นแพทย์อยุรกรรมมือหนึ่งของโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่มีอาวุโสและประสบการสูง ได้ให้คำแนะนำและรับประกันด้วยชื่อเสียงที่สั่งสมมาตลอดชีวิต สิทธิ์ขาดนากรตัดสินใจอยู่ที่พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล จะย้ายโยมมารดาของท่านไปยังโรงพยาบาลอื่นหรือไม่ เมื่อได้ฟังคำทัดทานหลายฝ่าย ประกอบกับเหตุผลตามความเป็นจริงที่ปรากฏ จึงไม่ย้ายโรงพยาบาล

       ในการป่วยของโยมมารดาเจิม จรรยารักษ์ ทำให้ข้าพเจ้า ได้เห็นพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีต่อพระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล เป็นความปรานีอย่างลึกซึ้งที่แม้แต่ผู้ปฏิบัติงานใกล้ชิดบางคนยังไม่ได้รับพระราชทานเช่นนี้ สิ่งนี้เป็นเครื่องแสดงออกถึงการพระราชทานขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานโครงการอย่างหาที่เปรียบมิได้ ความทรงทราบเมื่อข้าพเจ้าไปเฝ้าฯ ถวายเงินที่พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคลฝากถวายเช่นเคยทุกปี ข้าพเจ้าได้กราบทูลเรื่องโยมมารดาหลวงพ่อที่ป่วยหนัก รับสั่งซักถามด้วยความสนพระราชหฤทัย ในวันรุ่งขึ้นข้าพเจ้าจึงได้ถวายรายงานเป็นรายลักษณ์อักษรอีกครั้งหนึ่ง ทั้งยังเล่าถวายถึงรายละเอียดดังกล่าวข้างต้น ด้ายพระเมตตาจึงมีพระราชกระแส รับสั่งให้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังอัญเชิญพระเช้าเยี่ยมไข้พระราชทาน รวมทั้งแจกันดอกไม้พระราชทาน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงแก่ครอบครัวจรรยารักษ์เป็นที่ยิ่ง หลังจากนั้นมาประมาณ ๓ สัปดาห์ โยมมารดาเจิมก็แข็งแรงอย่างรวดเร็ว หลังจากหายป่วย ข้าพเจ้าได้ไปถ่ายภาพและถวายรายงานเรื่องการหายป่วยของโยมมารดาด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างแท้จริง นับจากนั้นมาโยมมารดาไม่เจ็บป่วยอีกเลยจนสิ้นอายุขัยเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ สิริอายุรวมได้ ๑๐๑ ปี

       เหตุที่ข้าพเจ้าทราบว่าโยมมารดของพระเดชพระคุณถึงแก่กรรม อาจเป็นเพราะกระแสจิตที่มี คือเมื่อพระเดชพระคุณท่านจะมาแสดงธรรมที่กรุงเทพฯ ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นวันทำบุญครบรอบวันตาย ๗ วันของมารดาของข้าพเจ้า นางเยาวภา เทียมศักดิ์ เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทราบฝ่าละอองพระบาท ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพวงมาลาหน้าศพมารดาของข้าพเจ้า และทรงรับไว้ในพระราชานุเคราะห์ ๗ วัน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่วงศ์ตระกูลเทียมศักดิ์เป็นอย่างสูง เสร็จงานทำบุญแล้วข้าพเจ้าได้โทรศัพท์กราบเรียนพระเดชพระคุณว่ามารดาของข้าพเจ้าได้เสียชีวิตแล้ว ๗ วัน เก็บกระดูกเสร็จแล้ว พระเดชพระคุณรับสายแล้วบอกว่า “แม่อาตมาก็ตายเหมือนกัน” ข้าพเจ้าจึงเดินทางไปวัดอัมพวันในวันนั้น และได้ช่วยดำเนินการนำจดหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดที่ขอพระราชทานเพลิงศพ (เป็นกรณีพิเศษ) รวมทั้งของพระราชทานผ้าไตร จำนวน ๕ ไตร

       แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงรู้จักคุณโยมเจิม จรรยารักษ์ เป็นการส่วนพระองค์ และคุณโยมเจิมฯ ไม่เคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ใด ๆ มาก่อน แต่คุณงามความดีของพระเดชพระคุณที่ได้กระทำมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเรื่องการกระทำคุณงามความดีไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งได้ถวายเงินแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นเงินเกือบ ๒๐ ล้านบาท โดยเฉพาะถ้าพระเดชพระคุณทราบว่ามีกิจที่ต้องใช้เงิน เช่นเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๒ ท่านเลขาธิการพระราชวังเคยฝากข้าพเจ้าไปบอกบุญพระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ในโครงการ “หน่วยไตเทียม แพทย์หลวง สำนักพระราชวัง” วันรุ่งขึ้นพระเดชพระคุณก็ถวายเงินแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมสมทบทุนโครงการดังกล่าว จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท หรือเมื่อครั้งหม่อมบัว กิติยากร ให้ข้าพเจ้าเป็นตัวแทนนำสังฆทานไปถวายพระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล และให้นิมนต์พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ไปเทศนาและแสดงธรรมะโปรด “หม่อมบัว กิติยากร หรือคุณท่าน” ณ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งในวันนั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยม “คุณท่าน” พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล จึงได้เฝ้าฯ และสนทนาธรรม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถซาบซึ่งในการแสดงธรรมอย่างยิ่ง จึงได้ถวายปัจจัยแด่พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อ “คุณท่าน” ถึงแก่พิราลัย พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ซึ่งได้รับนิมนต์ให้เป็นแขกรับเชิญของหม่อมราชวงศ์อดุลย์กิติ์ กิติยากร เพื่อมาร่วมพิธีทำบุญ ๗ วัน โดยได้รับเกียรติอย่างสูง ได้นั่งในที่จัดไว้ด้านหน้าตรงข้ามกับที่ประทับและพระบรมวงศานุวงศ์ระดับสูง ในฐานแขกของเจ้าภาพ

       หลังจากนั้นไม่นาน คือวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ หม่อมราชวงศ์อดุลย์กิติ์ กิติยากร องคมนตรี และท่านผู้หญิงหม่อมราชวงศ์บุษบา สธนพงศ์ และคณะได้ไปร่วมทอดผ้าป่าทำบุญเนื่องในโอกาศครบรอบวันเกิดที่วัดอัมพวัน สิงห์บุรี ได้ถวายปัจจัยที่รวบรวมได้แด่พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล จำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท และยังได้เดินทางไปสนทนาธรรม และถวายสังฆทาน และนำผ้าไตรพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปถวายพระเดชพระคุณ และวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ หม่อมราชวงศ์อดุลย์กิติ์ กิติยากร เดินทางไปเป็นประธานในพิธีสวดธัมมจักกัปปวัตนสูตร ถวายเป็นพระราชกุศล และรายได้จากการทำบุญทั้งหมดสมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา ณ วัดอัมพวัส สิงห์บุรี

       ด้วยเหตุนี้ นางเจิม จรรยารักษ์ โยมมารดาของพระราชสุทธิญาณมงคล จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเพลิง (เป็นกรณีพิเศษ) และได้รับพระราชทานผ้าไตรถึง ๕ ไตร เป็นเกียรติสูงส่งแก่วงศ์ตระกูลจรรยารักษ์ ก็ด้วยคุณงามความดีที่พระเดชพระคุณได้กระทำไว้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอมาเป็นระยะเวลานาน แม้จะใช้คำว่าปิดทองหลังพระ แต่ผลแห่งความดีนั้น ได้มาปรากฏผลในช่วงเวลานี้ ในส่วนของสำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยนายกิตติ ขันธมิตร รองผู้อำนวยการโครงการฯ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อทรงทราบ ฝ่าละออกพระบาทจึงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพวงมาลาหน้าศพ โปรดให้คุณกิตติ ขันธมิตร รองผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้แทนพระองค์นำพวงมาลาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อัญเชิญไปวางหน้าศพ นอกจากนี้หม่อมราชวงศ์สมลาภ กิติยากร ราชเลขานุการของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ยังเป็นผู้แทนพระองค์นำพวงมาลาพระราชทานวางหน้าศพด้วย

       พระราชสุทธิญาณมงคล มีผลงานที่ได้กระทำมาอย่างสม่ำเสมอและเป็นคุณแก่ประเทศชาติอย่างมากมาย สมควรที่จะได้เป็นตัวอย่างแก่บุคคลทั่วไป ที่ข้าพเจ้าเล่ามาทั้งหมดนี้ยังไม่รวมการอบรมสั่งสอนที่กระทำอย่างสม่ำเสมอทางสื่อโทรทัศน์ วีดีทัศน์ หนังสือ และสิ่งพิมพ์ ที่ประชาชนจำนวนนับหมื่นคนในแต่ละปีที่ได้รับการอบรมบ่มนิสัย

       จากการเข้าศึกษาระดับปริญญาเอกได้ในสาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อเริ่มศึกษาในปีการศึกษา ๒๕๓๘ ข้าพเจ้ามีเงินเดือนที่ได้รับทุกเดือนใช้ในการศึกษาต่อ เดือนละ ๙,๐๔๐ บาท และมีเงินเก็บอีกประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท เงินที่มีอยู่ได้ใช้เกี่ยวกับการศึกษาระดับปริญญาเอกทั้งหมด ส่วนหนึ่งที่ใช้จ่ายสูงเพราะสะสมหนังสือไว้อ่าน เนื่องจากไม่มีพื้นฐานการศึกษาทางด้านการพัฒนาประเทศมาก่อน เพราะศึกษามุ่งด้านการศึกษาปฐมวัยทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทเพียงด้านเดียว จึงต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น ๆ พระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคลได้กรุณาช่วยเหลือทุนการศึกษา เป็นเวลา ๕ ปีเต็ม

       ในเรื่องการศึกษาพระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคล ก็เมตตาสนับสนุนข้าพเจ้าอย่างมากมายในทุก ๆ ทาง รวมทั้งพลอยได้อาศัยบารมีท่าน ได้รับความสะดวกอื่น ๆ จากท่านผู้ที่เคารพนับถือพระเดชพระคุณด้วยเช่น มีผู้ให้ยืมคอมพิวเตอร์ ทำให้ข้าพเจ้าไม่ต้องเสียเงินซื้อเครื่องใหม่ จนสำเร็จการศึกษา เป็นต้น หรือการค้นคว้าเพื่อทำวิทยานิพนธ์ ไม่ว่าจะเป็นที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือมหาวิทยาลัยขอนแก่น พระเดชพระคุณท่านก็เมตตาฝากฝังให้ได้รับความสะดวก จนงานสำเร็จลุล่วงอย่างดียิ่ง

       เมื่อสอบเค้าโครงปริญญานิพนธ์ผ่าน เดินทางไปเก็บข้อมูลเขียนวิเคราะห์และประมวลผลความรู้ที่วัดอัมพวัน พระเดชพระคุณช่วยเป็นปรึกษาแนะนำการเขียน พระเดชพระคุณท่านแผ่เมตตาจนลูกสาวคนนี้สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก สำหรับพระเดชพระคุณพระราชสุทธิญาณมงคลนั้น ได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตั้งแต่เดือนแรกที่ข้าพเจ้าเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอกแล้ว

       ตอนสอบเค้าโครงปริญญานิพนธ์ และสอบจบการศึกษาได้ใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรมพาวเวอร์พอยท์ และเครื่องวีซีดีนำเสนอผลงานภาพสี ภาพวิ่ง มีเสียงประกอบ และเป็นผู้เดียวที่สอบโดยใช้เทคโนโลยีสูง ได้รับความอนุเคราะห์ในการจัดทำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนสำเร็จด้วยดี หลังจากจบได้พิมพ์ปริญญานิพนธ์แจกจ่ายให้แก่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเสนอปริญญานิพนธ์เข้าชิงรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นของสภาวิจัยแห่งชาติประจำปี ๒๕๔๔ ผลปรากฏว่าได้รับการคัดเลือกให้เป็น “วิทยานิพนธ์ดีเด่นของสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๔๔ จะได้รับรางวัลเกียรติยศ จาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในเดือนกันยายน ๒๕๔๔”

       “หลวงพ่อเหมือนเป็นพ่อของลูกสาวคนนี้ ถ้าหลวงพ่อไม่ช่วย ลูกสาวคนนี้คงเรียนไม่สำเร็จ เพราะท้อแท้สิ้นหลังไปหลายครั้ง บางครั้งไม่อยากมีชีวิตอยู่ การเรียนหนังสือหนักเหลือเกินสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานเลยอย่างข้าพเจ้า หลวงพ่อช่วยทุก ๆ อย่าง ไม่ใช่เฉพาะลูกสาวคนนี้ แต่เป็นเช่นนี้กับทุกคน ท่านเป็นผู้มีเมตตาสูงส่ง สมดังคำกล่าวว่า อันความกรุณาปราณีจาก “หลวงพ่อของลูก” จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน

       ลูกสาวคนนี้ ขอสัญญาว่าจะทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม มีแต่ให้กับช่วย ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ถ้ากำลังแรงงาน กำลังความคิดของข้าพเจ้าที่มีอยู่จะสามารถทำให้ ก็จะไม่ปฏิเสธ เพื่อจะได้ดำเนินตามแนวทางของหลวงพ่อที่ได้ทำแบบอย่างที่ดีไว้ให้ และจะทำทุกทางเพื่อทดแทนบุญคุณ ที่มากมายเหลือที่จะชดใช้ได้หมดในชาตินี้ ลูกสาวคนนี้จะพยายามทุกทางเพื่อให้หลวงพ่อของลูกได้รับเกียรติยศอย่างสูงสุด ไม่ว่าจะในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่หรือยามเมื่อละสังขารไปแล้ว ลูกสาวคนนี้ขอให้สัญญา”….