ธรรมะจัดสรร
R8021
เมื่อข้าพเจ้าได้มีโอกาสดูแลโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ปี ๒๕๓๗ ของยุวพุทธฯ ถวายหลวงพ่อฯ
ข้าพเจ้ารู้จักวัดอัมพวันเมื่อเดือนมีนาคม
๒๕๓๖
เนื่องจากข้าพเจ้าได้ลาออกจากงานเพราะความอึดอัดใจผู้ร่วมงานเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
๘ วันแห่งการตกงาน
ข้าพเจ้าได้งานใหม่ที่ได้เงินเดือนเท่าเก่าและยังได้อิสระในการทำงาน
คือจะเข้างานเวลาใดก็ได้ จะกลับเวลาใดก็ได้ เพราะข้าพเจ้าบอกนายจ้างใหม่ว่า
จะต้องไปเรียนปริญญาโทต่อตอนค่ำ ซึ่งท่านก็ยอมรับเงื่อนไขได้
ก็นับเป็นความโชคดีที่มีผู้จ้างข้าพเจ้าด้วยเงินเดือนสูงถึง ๖๕,๐๐๐
บาทในเงื่อนไขที่ช่างเหมาะสมกับข้าพเจ้าในยามนี้เสียเหลือเกิน
หลังจากได้งานแล้ว
ข้าพเจ้าตัดสินใจจะขอพักผ่อนสัก ๒ เดือน หลังจากที่ทำงานมา ๑๓
ปีโดยแทบจะไม่ได้พักผ่อนยาว ๆ เลย เพราะตั้งใจจะไปเที่ยวสหรัฐอเมริกา
เนื่องจากตอนที่ข้าพเจ้าลาออกนั้น
เจ้านายที่บริษัทเก่าคงเห็นว่าข้าพเจ้าตัดสินใจลาออกโดยมิได้มีความผิดอะไร
และผลงานของข้าพเจ้าก็ดี จึงได้แถมเงินเดือนให้กับข้าพเจ้าอีก ๖ เดือน ทั้ง ๆ
ที่ข้าพเจ้ายังทำงานไม่ครบ ๓ ปีเลย ข้าพเจ้าจึงคิดจะไปเที่ยวและใช้ชีวิตสบาย ๆ
สักพัก เพราะงานใหม่ก็ได้แล้ว ยังมีเงินเดือนเหลืออีกตั้งเยอะ
และแล้ววันหนึ่งภรรยาของข้าพเจ้าไดพาข้าพเจ้าไปที่โรงพิมพ์กุลสตรีเพื่อซื้อหนังสือ
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ชุดหนึ่ง ๒ เล่ม
เนื่องจากภรรยาของข้าพเจ้าเป็นแฟนคอลัมน์นี้ของ คุณสุทัสสา อ่อนค้อม
และได้เคยพูดถึงหลวงพ่ออยู่บ่อย ๆ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยสนใจเลย ข้าพเจ้าอยู่ว่าง ๆ
เลยหยิบหนังสือมาอ่านฆ่าเวลา ...แต่ยิ่งอ่านก็ยิ่งติด จนวันรุ่งขึ้นตอนเที่ยง ๆ
ข้าพเจ้าอ่านจบทั้งสองเล่ม จึงบอกภรรยาว่า ข้าพเจ้าจะไปวัดอัมพวัน
(หรือวัดป่ามะม่วง) นะ และอาจจะไปเข้ากรรมฐานสัก ๓ วัน แล้วข้าพเจ้าก็หอบเสื้อผ้าใส่รถ
ซื้อผ้าไตรอย่างดี ๑ ชุด พร้อมธูปเทียนแพและสังฆทาน ๑ ถัง ขับรถไปที่วัดทันที
เมื่อถึงวัด
ข้าพเจ้าก็ได้ทันถวายผ้าไตรหลวงพ่อพอดี เพราะท่านกำลังจะขึ้นรถออกไปงานศพ
ท่านให้พรเสร็จแล้วก็ไปเลย ข้าพเจ้าจึงไม่ได้คุยอะไรกับท่าน ออกมาพบ พระธีรวัฒน์
ฐานุตฺตโร ที่ท่านคอยต้อนรับญาติโยมอยู่
จึงได้สนทนากับท่านว่าอยากมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต้องทำอย่างไร
ท่านจึงแนะนำให้มาอยู่ที่วัดสัก ๗ วัน ที่กุฏิกรรมฐานของฆราวาส
ข้าพเจ้าลาท่านแล้วรีบกลับไปจัดการธุระต่าง ๆ
ให้เรียบร้อยพร้อมเตรียมสัมภาระมาให้พออยู่วัด ๗ วัน
ข้าพเจ้ากลับมาเข้ากรรมฐานที่วัดในอาทิตย์ต่อมา
โดยมี แม่ชีสมคิด เป็นผู้ดูแลเรื่องที่พักให้อย่างดี และมี แม่ชีซูง้อ
ช่วยสอนกรรมฐานเรื่องการยืน เดิน นั่ง นอน ให้ ซึ่งข้าพเจ้าก็ทำตามอย่างว่าง่าย
เพราะไม่มีความรู้เลย คือ เรียนกรรมฐานแบบเด็กเลี้ยงควาย เขาบอกให้ทำอะไรก็ทำ
วันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าได้พบกับ พอง-ยุบ ในตอนบ่าย ซึ่งเป็นการพบที่ประหลาดมาก เหมือนกับการค้นพบสิ่งอัศจรรย์ในชีวิตเป็นครั้งแรก ปีติและน้ำตาของข้าพเจ้าไหลอาบแก้มอย่างดีใจที่เหมือนพบกับดวงกรรมฐานอันวิเศษ
หลังกรรมฐานแล้ว
ข้าพเจ้าพยายามดู พอง-ยุบ ที่ได้มานี้ว่ายังอยู่หรือเปล่า
ก็ปรากฏว่ายังอยู่กับข้าพเจ้าตลอดและเคลื่อนไหวให้กำหนดได้อย่างช้า ๆ เป็นอัศจรรย์
หลังจากที่ข้าพเจ้าพบพอง-ยุบแล้ว ข้าพเจ้าก็เริ่มรู้จักกฎแห่งกรรม
ที่ไม่มีใครสอน เพราะข้าพเจ้านั่งปวดขาข้างเดียวอย่างมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
พอใกล้จะหมดเวลาข้าพเจ้าก็เห็นหน้าสุนัขที่ข้าพเจ้าเคยเลี้ยง ๒ ตัวโผล่ออกมา
ในจิตตอนนั้นบอกว่า ข้าพเจ้าเคยไปเตะมันไว้จึงทำให้ข้าพเจ้าปวดขามาก
ข้าพเจ้าเสียใจมาก ในวินาทีนั้น ข้าพเจ้านึกขออโหสิกรรมต่อกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้
ทันใดนั้นก็เกิดปีติขนลุกซู่ และเกิดอาการซ่าที่ขาข้าพเจ้าปวดแทบตายนั้นและความปวดก็หายไปในบัดดล
หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็รับกรรมในรูปแบบต่าง ๆ กันอีกกว่า ๑๐ รอบ
รวมไปถึงกรรมของการขับรถทับลูกแมวที่วิ่งตัดหน้ารถโดยไม่ตั้งใจ ทำให้รู้ว่าถึงแม้ไม่ได้ตั้งใจก็ต้องชดใช้แต่เบากว่ากรรมที่ตั้งใจทำ
แทบทุกรอบของการปฏิบัติกรรมฐาน
ข้าพเจ้าได้เสียน้ำตาให้กับความเจ็บปวดและความเสียใจในกรรมทั้งหลายที่ข้าพเจ้าได้ก่อขึ้นในรอบก่อนเพลของวันที่
๕ ของการปฏิบัติกรรมฐาน
ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนั่งอยู่ต่อหน้าหลวงพ่ออยู่นั้นก็มีกำลังมหาศาลมากดที่ศีรษะข้าพเจ้าลงติดพื้น
ข้าพเจ้าเจ็บปวดทรมานกว่าทุกรอบของเวทนาที่พบและตกใจมากคิดว่าต้องแย่แน่เพราะขยับตัวไม่ได้
จะทำอย่างไรดี?
ขณะที่เจ็บปวดแทบตายอยู่นั้น
ก็มีเสียงก้องออกมาว่า ฟังอาญาสวรรค์
แล้วก็มีนิมิตให้ข้าพเจ้าเห็นผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งข้าพเจ้ารู้จักดีโผล่ขึ้นมา
แล้วก็มีการแจ้งข้อหาที่ข้าพเจ้าเคยกระทำผิดไว้ ข้าพเจ้าเจ็บปวดแทบตาย
น้ำตาไหลพราก เลยคิดถามไปว่า แล้วจะให้ข้าพเจ้าชดใช้อย่างไรเล่า?
อีกครู่ต่อมาก็มีนิมิตเป็นรูปพระโผล่ขึ้นมาในบรรยากาศของวัดอัมพวัน
ด้วยความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส ข้าพเจ้าจึงได้รีบตกปากรับคำว่า ตกลง
ข้าพเจ้าจะบวชและจะมาปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดนี้ ๑๕ วันเพื่อชดใช้หนี้กรรมนั้น
พอสิ้นเสียงอธิษฐาน
แรงมหาศาลที่กดข้าพเจ้าอยู่ก็ได้อันตรธานไปจนหมดสิ้นและตัวข้าพเจ้าก็ดีดกลับมาอยู่ในท่านั่งอย่างเดิมโดยอัตโนมัติ
ข้าพเจ้าทั้งตกใจและกลัวมาก
ไม่นึกว่าจะพบสถานการณ์แบบนี้และคิดว่าข้าพเจ้าจะทำอย่างไรต่อไปถ้าพบกับสถานการณ์แบบนี้อีก?
และแล้ว...
ช่วงบ่ายก็มาถึง ข้าพเจ้าเริ่มปฏิบัติอีกและก็กลับมานั่งที่เดิมหน้าหลวงพ่อดำ
พอนั่งไปได้สักพัก อาการเดิมก็เริ่มอีก คือค่อย ๆ มีแรงกดข้าพเจ้าลงไป
ข้าพเจ้าเกร็งตัวฝืนทันทีโดยสัญชาตญาณเพราะความเจ็บปวดและความกลัวที่ยังไม่หายไปจากใจ
ทันใดนั้นข้าพเจ้ารู้สึกเจ็บแปลบที่หลัง
มีความรู้สึกเหมือนกับใครเอาหอกแหลม ๆ มาทิ่มข้างหลัง แล้วมีเสียงสำทับว่า ฟังอาญานรก
ข้าพเจ้าไม่มีทางเลี่ยงเพราะเจ็บปวดมาก
จึงต้องถูกกดศีรษะติดพื้นอีกเป็นครั้งที่สอง และแล้วก็มีรูปภาพและเสียงในฟิล์มแจ้งข้อหาข้าพเจ้าอีก
ข้าพเจ้าได้เสนอวิธีชดใช้กรรมของข้าพเจ้าออกไปแรงกดก็ทุเลาลง
หลังจากนั้นก็เป็นการสอนเรื่องกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณต่าง
ๆ ในชีวิตนี้ข้าพเจ้าจำไดว่าได้ทำกรรมต่อบุพการีน้อยมาก
เพราะข้าพเจ้าได้ถูกส่งไปให้คุณยายเลี้ยงตั้งแต่เกิดจนถึง ๑๐ กว่าขวบ ข้าพเจ้าจำความด่าแทบจะไม่เคยเถียงพ่อแม่เลย
ไม่ว่าจะผิดหรือถูก เพราะคิดว่าเวลาท่านว่าเราแล้ว
เราไม่เถียงไม่นานท่านก็เลิก พอเถียงแล้แทนที่จะถูกอบรมสั้น ๆ ก็เลยกลายเป็นยาวไป
ข้าพเจ้าใช้หลักอดทนนี้มาโดยตลอด แต่ก็ยังเคยพลาด
ปิดประตูดังปังใส่แม่ครั้งหนึ่งเพราะท่านว่าผิดคน ซึ่งกรรมอันนี้เกิดขึ้นมา ๒๐
กว่าปีแล้ว ได้กลับมาให้ข้าพเจ้าเห็นชัด ๆ อีกครั้งหนึ่ง
ข้าพเจ้าร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรเสียใจอย่างสุดซึ้ง
อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
หลังจากนั้นก็มีเสียงมาสอนข้าพเจ้าเรื่องความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณต่าง ๆ ตั้งแต่
แม่ พ่อ ครู อุปัชฌาย์ อาจารย์ โรงเรียน ศาสนา ประเทศชาติ ฯลฯ
ว่าต้องทำอย่างไรกับบุคคลและสถาบันต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อทดแทนพระคุณของท่าน
เรื่องกตัญญูนี้สอนข้าพเจ้าได้อย่างซาบซึ้ง ลึกเข้าไปในหัวใจ
ข้าพเจ้าเรียนรู้ด้วยน้ำตาไหลนองหน้าอย่างซาบซึ้ง เสร็จแล้วก็มีนิมิตให้ข้าพเจ้าเห็นพระอริยสงฆ์ที่ข้าพเจ้านับถือมากหลายองค์เหมือนมายิ้มอวยพรข้าพเจ้า
หลังจากนั้นก็เห็นท่านสมเด็จโต มาบอกให้ข้าพเจ้ากลับบ้านเถอะ
เพราะที่บ้านกำลังวุ่นวายที่ข้าพเจ้าอยู่ดี ๆ ก็หายไปอยู่วัด
(หลังจากข้าพเจ้ากลับไปแล้วตรวจสอบดูก็เป็นความจริง เพราะที่บ้านกำลังจะยกครอบครัวมาเยี่ยมในวันรุ่งขึ้น
ซึ่งถ้ามาจริง ๆ อารมณ์กรรมฐานของข้าพเจ้าคงต้องกระเจิงเป็นแน่)
ท่านยังบอกอีกว่าอย่างไรเสีย
ข้าพเจ้าก็ต้องกลับมาทำกรรมฐานใช้หนี้กรรมที่นี่อยู่แล้วตั้ง ๑๕ วัน
แล้วค่อยมาปฏิบัติต่อก็ได้ (เพราะข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะอยู่ให้ครบ ๗ วัน
นี่เพิ่งถึงวันที่ ๕ เอง)
พอหมดชั่วโมง ข้าพเจ้าจึงเดินออกไปถามผู้ปฏิบัติธรรมว่า
ที่นี่มีสมเด็จโตด้วยหรือ? เพราะข้าพเจ้าไม่เคยสังเกตเลย
เขาเลยชี้ให้ให้ข้าพเจ้าดูที่ศาลาใกล้ ๆ อาคารภาวนา-กรศรีทิพา
ซึ่งข้าพเจ้าปฏิบัติธรรมอยู่ ข้าพเจ้าจึงคิดว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นความจริงก็ได้
จึงตัดสินใจกลับบ้านก่อนกำหนดในคืนนั้น
หลังจากที่ตัดสินใจกลับบ้านแล้ว
ข้าพเจ้าได้ไปกราบเรียนหลวงพ่อเรื่องขอบวชใช้หนี้กรรม
ซึ่งท่านได้บอกให้ไปปรึกษาพระครูปัญญา ประสิทธิคุณ รองเจ้าอาวาส
ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบตารางการบวชของวัด ปรากฏว่าไม่สามารถบวชได้เนื่องจากเวลากระชั้นชิดเกินไป
หลวงพี่ธีรวัฒน์จึงแนะนำให้ข้าพเจ้าไปบวชที่กรุงเทพฯ
แล้วทำหนังสือมาขอปฏิบัติธรรมที่วัดแทน เมื่อข้าพเจ้าบวชแล้ว
ข้าพเจ้าก็ได้กลับมาที่วัดอัมพวันเพื่อชดใช้หนี้กรรมตามสัญญา
ขณะนั้นเป็นเวลาเดียวกับโครงการบรรพชา-อุปสมบทของภิกษุ-สามเณรภาคฤดูร้อนของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ
ทำให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมร่วมกับภิกษุ-สามเณรในโครงการนี้ด้วย
ด้วยความเมตตาของท่านพระครูสังฆรักษ์ (ชูชัย อริโย)
ข้าพเจ้าจึงได้มีโอกาสเล่าประสบการณ์กฎแห่งกรรมของข้าพเจ้าแก่ภิกษุ-สามเณรของโครงการฯ
และยังได้มีโอกาสแนะนำสามเณรถึงวิธีการที่ข้าพเจ้าได้เคยปฏิบัติมา
ซึ่งในช่วงเวลานี้ได้เกิดสิ่งอัศจรรย์แก่ข้าพเจ้ามากมาย เป็นต้นว่าบางคืนอยู่ดี ๆ
ก็เหมือนถูกปลุกมาเรียนกรรมฐาน เช่น วิธีการแก้ง่วง วิธีการทำพองยุบให้ชัด
(พร้อมคำอธิบายว่าลมหายใจของคนปฏิบัติกรรมฐานและคนทั่วไปจะไม่เหมือนกันอย่างไร?)
บางทีขณะที่ข้าพเจ้านั่งอยู่ในโบสถ์ ก็มีสภาวธรรมบางอย่างมาให้ข้าพเจ้าทราบ
พอข้าพเจ้าเดินออกไปยังไม่ทันพ้นประตูโบสถ์ก็มีเณรมาถามในเรื่องเดียวกับที่ข้าพเจ้าเพิ่งทราบมาพอดี
เสมือนสอนข้าพเจ้าเพื่อให้ไปสอนเณรอีกที บางครั้งก็มาสอนเรื่องแปลก ๆ
เช่นการนั่งหลับสมาธิ
ที่กายเหมือนหลับไปทั้งตัวเห็นแต่พอง-ยุบชัดอยู่ที่ท้องอย่างเดียว
ซึ่งข้าพเจ้ามั่นใจว่าไม่ใช่สมถกรรมฐาน
เพราะสามารถกำหนดรูป-นามได้ตลอดและที่สำคัญก็คือสติยังสมบูรณ์อยู่ไม่ง่วงเลย
แต่พอกำหนดคลายแล้วจะสดชื่นแจ่มใสมาก
นอกจากนี้
ข้าพเจ้ายังได้มีโอกาสเรียนธรรมะที่เรียกว่าเกิดขึ้นมาเอง
มาสอนให้ข้าพเจ้าเข้าใจเรื่องการทำงานของใจ สติ อารมณ์ การเกิดของกิเลส อริยสัจ ๔
อย่างง่าย ๆ เหมือนสอนเด็กเลี้ยงควาย ซึ่งไม่เคยเห็นในตำราใด ๆ มาก่อน
ทำให้ข้าพเจ้าได้ซาบซึ้งกับพระธรรม
ว่าที่จริงแล้วธรรมะนั้นไม่เห็นยากเหมือนอย่างที่ข้าพเจ้าเคยเรียนเลย
ถ้าสอนธรรมะที่ข้าพเจ้าเคยเรียน ข้าพเจ้าคงไม่มีปัญญาจะเข้าใจพระธรรมเป็นแน่แท้
เพราะข้าพเจ้าโง่มาก ๆ ในเรื่องนี้
นอกจากนี้ยังมีคำถามหนึ่งที่ได้ถามข้าพเจ้าในระหว่างทำกรรมฐานซึ่ง ข้าพเจ้าขอฝากท่านเป็นการบ้านว่า
นิพพานเป็นกิเลสหรือเปล่า?
ระยะเวลากว่า ๑๐ วัน ข้าพเจ้ารู้สึกผูกพันกับโครงการนี้อย่างอธิบายไม่ถูก คิดว่าจะดีสักเพียงไหนที่เยาวชนของชาติจะได้มีโอกาสเรียนรู้ของดีที่ข้าพเจ้าได้รับจากวัดนี้ จะได้ไม่ทำอะไรผิด ๆ อย่างที่ข้าพเจ้าเคยกระทำมาก่อน ซึ่งกว่าจะรู้ผิดชอบชั่วดีจริง ๆ ก็ต้องรอจนถึงอายุ ๓๓ ปี ข้าพเจ้าคิดว่าถ้ามาวัดนี้เร็วกว่านี้ คงจะทำกรรมน้อยกว่านี้มาก โดยเฉพาะช่วงที่ทำงานแล้ว ข้าพเจ้าทำกรรมอะไร ๆ ไว้มากทีเดียว แต่นั้นก็เป็นแค่เพียงความคิด เพราะว่าข้าพเจ้าไม่รู้จักใครที่ยุวพุทธฯ เลย
ในวันสุดท้ายขณะที่ข้าพเจ้านั่งอยู่ในโบสถ์ก็มีเสียงมาบอกข้าพเจ้าถึงสามเณรรูปหนึ่ง
ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกรักและผูกพันตั้งแต่วันแรกที่พบกันเหมือนกับน้องชาย
ว่าให้ข้าพเจ้ารับเขาเป็นน้องเสีย
เพราะเขาเป็นน้องชายในอดีตชาติที่เคยทำบุญร่วมกันมา ข้าพเจ้าใจหนึ่งก็คิดว่าเป็นเรื่องประหลาดที่อยู่ดี
ๆ ก็จะไปตู่ใครมาเป็นน้อง กลัวเขาว่าจะบ้า แต่อีกใจหนึ่งก็อยากจะบอกเขาอย่างนั้น
เพราะคิดอย่างนั้นจริง ๆ จึงตัดสินใจบอกเขาว่า ตอนนั่งในโบสถ์มีเสียงมาบอกให้หลวงพี่รับเธอเป็นน้องนะ
ส่วนเธอจะรับหลวงพี่เป็นพี่หรือไม่ก็ตามใจนะ... เขาฟังก็คงดูแล้วรู้สึกแปลก
ๆ เหมือนกัน แต่เห็นว่าคงจะไม่เสียหายอะไร จึงไม่ปฏิเสธอะไร
หลังจากนั้น
ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปกราบลาหลวงพ่อ
และได้กราบเรียนท่านว่าข้าพเจ้าได้ของดีจากวัดนี้มากมาย
ข้าพเจ้าขอกราบฝากตัวเป็นลูกศิษย์ถวายตัวรับใช้ ท่านกลับตอบว่า เราไม่เคยคิดอยากได้ของใคร
ชีวิตเรามีแต่ให้ บาทเดียวเราก็ไม่เคยคิดจะเอาของใคร... ซึ่งกินใจข้าพเจ้าเหลือเกิน
และอีกประโยคหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าอยากทำโครงการนี้ยิ่งขึ้นคือ เราน่ะอยากจะสอนเด็กมาก
เพราะผู้ใหญ่นั้นสอนยาก ข้าพเจ้าได้กราบเรียนท่านถึงความรู้ที่ข้าพเจ้าได้รับว่าจะเชื่อถือได้เพียงไร
เพราะข้าพเจ้าไม่เคยเห็นหลวงพ่อสอนอย่างนี้เลย ท่านตอบอย่างมีเมตตาว่า
เห็นไหมว่าธรรมะนั้นเป็นปัจจัตตังฯ ผู้รู้ก็รู้ได้ด้วยตนเอง ข้าพเจ้าประทับใจในความดีของหลวงพ่อมาก
และคิดว่าอย่างไรเสียต้องหาโอกาสทดแทนพระคุณของท่านและวัดอัมพวันที่ได้ให้ชีวิตใหม่แก่ข้าพเจ้าให้จงได้
และแล้วธรรมะก็เริ่มทำหน้าที่จัดสรร...ในช่วงที่ข้าพเจ้าบวชใหม่
ๆ ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังนั่งกรรมฐานอยู่นั้นมีเสียงมาบอกข้าพเจ้าว่า
คุณยายซึ่งเปรียบเสมือนมารดาคนที่สองของข้าพเจ้า เพราะเลี้ยงข้าพเจ้ามาตั้งแต่เกิดจนถึง
๑๐ ขวบจะอยู่อีกไม่นาน ข้าพเจ้าฟังแล้วไม่สบายใจมาก
เพราะเพิ่งได้เรียนคำว่ากตัญญูจากวัดอัมพวัน
ยังไม่มีโอกาสได้ตอบแทนพระคุณคุณยายท่านเลย ท่านก็จะมาด่วนจากไปเสียแล้ว
ในขณะนั้นข้าพเจ้าตั้งจิตอธิษฐานขอให้กุศลผลบุญที่ข้าพเจ้าได้เคยกระทำมาได้ปกปักรักษาคุณยายด้วย
และได้เล่าเรื่องนี้ให้คุณแม่ของข้าพเจ้าฟัง
สองวันหลังจากที่ข้าพเจ้าลาสิกขาแล้ว
คุณแม่ก็โทรมาบอกว่าคุณยายป่วยหนักมากต้องเข้าห้องไอ.ซี.ยู. ข้าพเจ้าฟังแล้วเข่าอ่อนเพราะไม่นึกว่าสิ่งที่ตนรู้ในกรรมฐานจะเป็นเรื่องจริง
จึงรีบตั้งหน้าตั้งตาขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วย แต่ก็ไม่มีความมั่นใจใด ๆ
ที่คิดว่าจะช่วยคุณยายได้ จนในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังขับรถไปเยี่ยมท่านนั้น
ข้าพเจ้าจึงทวนนึกถึงการบวช
คิดว่าถ้าตั้งใจบวชทำกรรมฐานก็คงจะมีอานิสงส์เพียงพอที่จะช่วยคุณยายได้ จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานออกไปว่าคุณยายอาการดีขึ้นข้าพเจ้าจะบวช
๑ เดือน เพราะข้าพเจ้าตั้งใจจะบวชให้ท่านในช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีหน้า
พออธิษฐานเสร็จ สักครู่ก็มีคำตอบว่าที่ข้าพเจ้าได้อธิษฐานจิตไปนั้นตกลงว่าได้
ข้าพเจ้าจึงเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้คุณแม่ฟังอีกและบอกท่านว่าคุณยายคงจะรอด
สิ่งอัศจรรย์ก็ได้เกิดขึ้น....คุณยายอาการดีขึ้นเป็นลำดับ
จากที่คุณแม่บอกว่า ตอนเข้าโรงพยาบาลตัวเย็นเหมือนคนตายแล้วกลับมาเป็นปกติ เช่นคนทั่วไปในเวลาต่อมา
ท่านกลับมาเป็นคนอายุเกือบ ๙๐ ปีที่มีสุขภาพดีกว่าตอนที่จะป่วยเสียอีก
เมื่ออธิษฐานแล้วในวินาทีที่รู้ว่าคุณยายท่านคงจะรอดนั้น ในใจก็บอกกับตนเองว่าที่จริงก็อยากจะมาบวชอยู่แล้วในช่วงที่มีโครงการบรรพชาฯ
ปีหน้า แต่หาสาเหตุเป็นข้ออ้างกับคุณแม่ คุณพ่อ เพื่อจะบวชครั้งที่ ๒ คงจะลำบาก
เพราะท่านจะหาว่าข้าพเจ้างมงายหาเรื่องไปบวช ไม่ยอมทำมาหากิน ถ้าคุณยายรอดจริง ๆ
ท่านก็คงอนุญาตให้บวชโดยไม่ว่าอะไรมาก ข้าพเจ้าจึงมีข้ออ้างที่จะบวชอีกครั้งหนึ่งได้เป็นอย่างดี...
ในวันอาทิตย์ต่อจากนั้น
ยุวพุทธฯ ได้ทำหนังสือขอเชิญผู้ร่วมโครงการบรรพชาฯ
ทุกคนมาร่วมพบปะเพื่อประเมินผลโครงการฯ
ข้าพเจ้าทราบว่าน้องชายคนใหม่จะไปด้วยจึงรับอาสาไปส่งที่ยุวพุทธฯให้
ในใจก็คิดว่าอยากได้มีโอกาสเขียนจดหมายไปเล่าสิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นปัญหาต่าง
ๆ ระหว่างที่อยู่วัดแก่นายกยุวพุทธฯ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักใครเลย
ก็เลยคิดอีกว่าถ้าส่งไปแล้วจะมีใครสนใจจดหมายข้าพเจ้าไหมนะ?
แต่ก็ตั้งใจว่าจะเขียนแน่ ๆ เพราะอยากให้เขาทำโครงการให้ดีขึ้น
เมื่อข้าพเจ้าถึงยุวพุทธฯ
ทิดเณรหลาย ๆ คนก็เข้ามาทักทาย ก็ได้สนทนาไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกันพอสมควร
เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่ของยุวพุทธฯ ก็เรียกประชุม ข้าพเจ้าจึงนั่งรออยู่ข้างนอก
เพราะไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรกับเขา ทันใดนั้นก็มีบุรุษหนุ่มร่างขาวท้วมท่าทางเหมือนอาเสี่ยมานั่งข้าง
ๆ ข้าพเจ้า เขาทักข้าพเจ้าก่อนด้วยกิริยาอันสุภาพ แล้วสอบถามความเป็นมาของข้าพเจ้า
เพราะตอนนั้นข้าพเจ้าก็ยังเป็นทิดสึกใหม่ ๆ อยู่ ข้าพเจ้าบอกว่าข้าพเจ้ามาส่งน้องมาที่ยุวพุทธฯ
ไม่ได้มาประชุมอะไรเพราะไม่ได้บวชในโครงการฯ แต่ตอนอยู่วัดก็ไปปฏิบัติธรรมร่วมกับพระ-เณรยุวพุทธฯ
ด้วย เลยมีคำถามต่อว่าข้าพเจ้ามีความเห็นเป็นอย่างไรบ้าง?
ข้าพเจ้าจึงร่ายยาวเป็นชุดเลยถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าทราบมา
เขานั่งรับฟังด้วยความสนใจยิ่ง จนถึงที่สุดข้าพเจ้าเริ่มเอะใจจึงถามว่า ขอโทษครับ
ไม่ทราบว่าผมกำลังสนทนากับใครอยู่?
เขาหยิบเอานามบัตรมาให้ข้าพเจ้าพร้อมแนะนำตัวว่า ผม...อนุรุธครับ
เป็นนายกของยุวพุทธฯ... ข้าพเจ้าจึงตอบไปว่า แหม...ผมกำลังจะเขียนจดหมายถึงนายกยุวพุทธฯ
พอดีเกี่ยวกับสิ่งที่ผมเพิ่งเล่าให้คุณฟังนี้
ดีแล้ว...เมื่อผมเล่าแล้วผมก็ไม่ต้องเขียนแล้วซิ เขาบอกว่า ช่วยเขียนให้ผมด้วยซิครับ
เพราะผมอยากจะเอาไปให้กรรมการท่านอื่น ๆ ดูด้วย
ข้าพเจ้าเลยได้ทีแนะนำต่อเลยว่า
โครงการนี้ควรทำอย่างไรเพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
คุณอนุรุธนั่งฟังแล้วจึงสวนข้าพเจ้ามาว่า ที่จริงปัญหาของท่านก็มีอยู่ว่ามีแต่คนให้ความเห็นแต่ไม่ค่อยมีคนทำ
แล้วจึงถามข้าพเจ้าว่า แล้วคุณจะมาช่วยผมทำไหมล่ะ?
ข้าพเจ้าอึ้งไปครู่หนึ่งแล้วตอบไปว่า ตกลงครับ
ผมจะช่วย...
และนี่คือสัญญาของข้าพเจ้าที่จะทำโครงการนี้ทั้ง ๆ ที่ข้าพเจ้ายังไม่ได้รู้เลยว่าทางข้างหน้าจะเป็นเช่นไร
ตุลาคม
๒๕๓๖... ข้าพเจ้ารู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเริ่มโครงการนี้เสียที
จึงโทรไปหาคุณอนุรุธอีกครั้งหนึ่ง
ท่านใช้เวลาทบทวนความจำถึงเรื่องของข้าพเจ้าสักพัก ข้าพเจ้าก็เริ่มเล่าถึงวิธีทำโครงการ
นั้นคือการเน้นคัดเลือกตัวผู้สมัครบวช และเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุด เพื่อให้สามารถอดทนต่อสภาพการเป็นสามเณรที่เพียบพร้อมด้วยระเบียบวินัยและจริยาวัตรอันงดงามสมกับมีหลวงพ่อเป็นองค์อุปัชฌาย์ให้
เพราะผู้ที่ถูกผู้ปกครองบังคับมา
หรือมีความอดทนต่ำจะไม่สามารถทนต่อระเบียบที่เข้มงวดของวัด และที่สำคัญที่สุดคือจะไม่สามารถอดทนทำกรรมฐาน
ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาจิตใจตามที่โครงการได้วางไว้ได้
คุณอนุรุธและข้าพเจ้าใช้เวลาปรับความคิดให้ตรงกันพอควร
และแล้วคุณอนุรุธจึงได้แนะนำข้าพเจ้าต่อคณะกรรมการสมาคม เพื่ออนุมัติให้ข้าพเจ้าได้ดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้
ข้าพเจ้าได้รับความเมตตาจากคณะกรรมการทุกท่านเป็นอย่างดี
จนงานได้ดำเนินมาจนถึงวันปฐมนิเทศ ในวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๓๗
มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการสูงเป็นประวัติการณ์กว่า ๑๔๐ คน
ข้าพเจ้าได้เริ่มทดสอบความอดทน
โดยการให้ผู้สมัครปฏิบัติแบบเดียวกับที่จะต้องพบเมื่อไปถึงวัดอัมพวัน
เช่นต้องนั่งคุกเข่าได้ ๑๕ นาทีโดยไม่ขยับ นั่งพับเพียบได้นาน ๓๐
นาทีโดยไม่เปลี่ยนข้าง และทำกรรมฐานวันละ ๘ ชั่วโมง กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย
ทำความเพียรมาก
ผลปรากฏว่า
ผู้สมัครค่อย ๆ หายไป ๆ จนเหลือไปบวชเพียง ๗๐ คน ซึ่งทำให้ปัญหาต่าง ๆ
ที่เคยมีมาในอดีตลดลงมาก สามเณรภาคฤดูร้อนปีนี้ ส่วนใหญ่ปฏิบัติกรรมฐานได้ดีและได้พบสภาวธรรมต่าง
ๆ มากมาย มีเกินกว่าครึ่งที่ได้เห็นกรรมที่ทำไว้กับบุพการีและเกิดความสำนึกในความกตัญญูกตเวทีขึ้นมาด้วยตนเอง
อีกร่วม ๓๐ ที่สามารถเรียนรู้กฎแห่งกรรมที่ทำไว้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย สามเณรรุ่นนี้ปฏิบัติได้ดีจนได้คำชมเชยจากหลวงพ่อเป็นอย่างมาก
และยังประพฤติตนให้เป็นที่รักของครูบาอาจารย์ พระพี่เลี้ยงในวัด จนหลวงพ่อได้มอบเหรียญที่ระลึกของการทำความดีให้เป็นพิเศษด้วย
สามเณรรุ่นนี้นับว่าโชคดีมาก เพราะได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อมากกว่ารุ่นใด ๆ
ท่านได้ลงมาให้โอวาทสั่งสอนอย่างใกล้ชิดหลายครั้ง
และยังได้ติดตามสอบถามให้ข้อแนะนำในการปฏิบัติที่เป็นประโยชน์มากมาย เช่น
การสอนกรรมฐานโดยใช้หลักง่าย ๆ ว่าจะต้องทำยืนหนอ ๕ ครั้งให้ได้ดีเสียก่อน
ให้เริ่มทำช้า ๆ กำหนดให้ทัน ตอนแรกหัดใหม่ ๆ ให้กำหนดเป็น ๒ ช่วง คือ
จากศีรษะมาหยุดที่สะดือก่อนกำหนด ยืน
แล้วถอนหายใจ กำหนด หนอ
จากสะดือถึงปลายเท้า ทำกลับไปมา ๕ ครั้ง เพราะตรงกับกรรมฐาน ๕ อย่างที่องค์อุปัชฌาย์สอนพระ-เณร
ตอนบวช ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ ท่านสอนว่าถ้าทำยืนหนอได้
อย่างอื่นจะทำได้หมด ท่านสอนวิธีเดินว่า เวลาหัดเดินใหม่ ๆ ให้หยุดเป็นจังหวะก่อน
เพื่อตั้งสติกำหนดให้ทัน เช่น ขวา-ย่าง-หนอ ให้หยุดกำหนดเป็นช่วง ๆ ก่อน
แล้วให้เดินช้าที่สุดเหมือนคนจะตาย เมื่อยืนดี เดินดี พอง-ยุบก็จะชัดเอง
หลวงพ่อยังให้แบ่งกลุ่มผู้ปฏิบัติออกเป็น ๓ กลุ่ม ตามความสามารถในการปฏิบัติ
เนื่องจากท่านบอกว่าคนเรานั้นมีปัจจัยมาไม่เท่ากัน บางคนอาจจะมีบุญมากปฏิบัติได้ก้าวหน้าเร็ว
ก็ให้ไปอยู่กลุ่มที่ปฏิบัตินานกว่า ท่านยังให้คำแนะนำอีกว่าความอดทน
หรือขันติบารมีเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของความสำเร็จ ผู้ที่มีปัจจัยมาน้อยแต่มีความอดทนตั้งใจปฏิบัติ
ก็จะพบความสำเร็จได้ อุปมาดังนิทานเรื่องกระต่ายกับเต่า
ในปีหน้า
ถ้าข้าพเจ้าได้มีโอกาสมาทำโครงการนี้อีก ข้าพเจ้าจะได้นำหลักความอดทนนี้เป็นข้อคัดเลือกคุณสมบัติของผู้สมัคร
เนื่องจากว่าจำนวนผู้สมัครคงจะต้องเพิ่มขึ้นอีกมาก
เพราะโครงการนี้เป็นโครงการเดียวที่จะสามารถบวชเณรที่วัดอัมพวัน
โดยมีเหลวงพ่อเป็นองค์อุปัชฌาย์ให้ เพราะที่วัดไม่รับบวชได้จึงต้องเป็นผู้ที่อดทนที่สุดเท่านั้น
จึงไม่แนะนำให้ผู้ปกครองบังคับลูกหลานมาบวช เพราะในปีที่ผ่าน ๆ มา ผู้ที่ถูกบังคับมามักจะสร้างปัญหาเนื่องจากไม่สามารถอดทนต่อการปฏิบัติกรรมฐานได้
นอกจากนี้
ผู้ปกครองที่มุ่งหวังจะให้โครงการนี้เปลี่ยนแปลงนิสัยที่ไม่ดีของบุตรหลานนั้น
ขออย่าได้คาดหวังมากนัก
เพราะส่วนใหญ่เด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมมักจะเป็นคนที่มีความอดทนต่ำ
อาจจะไม่ผ่านการคัดเลือกที่เข้มข้นได้ และขอให้ท่านผู้ปกครองที่เคี่ยวเข็ญบุตรหลานของท่านมาบวช
เพราะหวังว่าจะได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ ได้โปรดเข้าใจว่าโครงการนี้เป็นการพัฒนาคุณภาพจิตใจให้มีความอดทน
มีระเบียบวินัย รู้รักสามัคคี เป็นคนดีของครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
เพื่อให้กุลบุตรผู้บวชแล้ว เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติความอดทน
มีปัญญาสามารถเรียนหนังสือได้ถึงชั้นสูงสุด
ผลทางด้านบุญนั้นจะถือเป็นผลพลอยได้เนื่องจากวัดผลได้ยาก และเป็น ปัจจัตตัง
เวทิตัพโพ วิญญูหิ หรือ ผู้รู้ก็ย่อมรู้ได้ด้วยตนเอง กุศลใด ๆ
ที่สามเณรจะได้กระทำมากหรือน้อยจึงขึ้นอยู่กับความพากเพียรเป็นหลัก
ถ้าสามเณรสร้างความดีน้อย ผิดศีลธรรม บาปกรรมจะต้องตกอยู่ที่ผู้ปกครองผู้เคี่ยวเข็ญบุตรหลานมาบวชเช่นกัน
ขอให้ท่านดูทั้งประตูบุญและบาปด้วย
ผู้ที่สามารถผ่านการคัดเลือกครั้งนี้
จะต้องเป็นผู้มีความอดทนอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้มีความอดทนอย่างยิ่ง
ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายที่จะต้องตื่นนอนเช้าตี ๓ ครึ่ง นอนไม่เกิน ๓ ทุ่มครึ่ง
รับประทานอาหารอย่างสำรวมในปริมาณไม่มาก วันละ ๒ มื้อ มีน้ำปานะวันละ ๒
ครั้งเพื่อยังชีพเพราะถ้ารับประทานมากไปจะทำให้หลับเวลาทำกรรมฐาน ส่วนทางด้านจิตใจ
ต้องอดทนกับระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด รักษาศีลมิให้ด่างพร้อย
คอยระวังจริยาวัตรโดยถือตามพระวินัยของพระภิกษุ คือ เสขิยวัตร ๗๕ ข้อ ต้องพิจารณาปัจจัยสี่ตั้งแต่รับประเคนและก่อนบริโภคทุกครั้ง
ห้ามรับประเคนเงินและของรับประทานต่าง ๆ รวมทั้งนม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการผิดศีล
เป็นต้น
ส่วนทางด้านพิธีการ
ต้องสามารถท่องคำขอบรรพชาและองค์ศีล ๑๐ ให้ได้ก้อนวันเข้าร่วมโครงการ
เพราะจะมีการสอบข้อเขียน ผู้ที่ไม่ผ่านสอบข้อเขียนจะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้
ข้าพเจ้าหวังว่ากุลบุตรผู้สามารถผ่านเข้าไปบวชเป็นสามเณรในปี
๒๕๓๘ จะเป็นบุคคลที่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ในชีวิต ดังที่หลวงพ่อได้เคยสอนไว้ว่า
ธรรมะคือการฝืนใจ ต้องรู้จักอดทน อดกลั้น อดออม จึงจะประสบความสำเร็จได้
สำหรับผู้ที่ตั้งใจจะบวชเณรที่วัดอัมพวันในปี ๒๕๓๘ ที่จะถึงนี้
ขอได้โปรดเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมที่จะผ่านการคัดเลือกเข้าไปในรุ่น สามเณรใจเพชร
นี้ให้ได้
จากประสบการณ์ปี
๒๕๓๗ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและปฏิบัติได้ดีมักจะมีอายุน้อย ๆ ระหว่าง ๑๒-๑๔ ปี
บางคนตัวเล็กนิดเดียวแต่อดทนเสียใจเด็กโต ๆ ต้องอาย
จึงสรุปได้ว่าอายุน้อยไม่ใช่อุปสรรคต่อความอดทน
ใจเท่านั้นที่เป็นตัวบอกธาตุทรหดของแต่ละคน
ขออวยพรให้ผู้ที่มีศรัทธาแรงกล้าที่จะบวชเป็นสามเณรในโครงการของยุวพุทธฯ ณ
วัดอัมพวันนี้ ได้พัฒนาความอดทนให้สามารถผ่านการคัดเลือกทุก ๆ ท่านเทอญ
--------------- จบ
----------------