สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๒

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00002

 

๒...

          นายบัวเฮียวนั่งพับเพียบมานานจนรู้สึกเมื่อย จึงเปลี่ยนเป็นนั่งชันเข่า รู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงที่ท่านพระครูปฏิเสธที่จะบวชให้ เขามองท่านตาละห้อย คิดหาถ้อยคำที่จะพูดอ้อนวอนท่าน หากก็คิดไม่ออก จึงไม่มีคำพูดใด ๆ เล็ดลอดออกมาจากริมฝีปากค่อนข้างหนาคู่นั้น เห็นท่าทางผิดหวังของเขา ท่านพระครูได้นึกสงสาร จึงพูดขึ้นว่า

          “ฉันพูดเล่นหรอกนะ เอาเถอะในเมื่ออยากบวชก็จะบวชให้  เธออ่านหนังสือออกไม่ใช่หรือ จบประถมสี่นี่นะ” ใจที่ฟุบแฟบกลับฟูฟ่องขึ้นอีกครั้ง จึงตอบท่านว่า “ครับ พออ่านออกเขียนได้”

          “ดีแล้ว ต้องหัดท่องคำบาลีที่เรียกกันว่า “ขานนาค” ให้คล่อง ท่องได้เมื่อไหร่ก็บวชให้เมื่อนั้น”

          “ใช้เวลาสักกี่วันครับหลวงพ่อกว่าจะท่องได้”  ถามอย่างปีติ

          “ก็ต้องแล้วแต่เธอ ถ้าความจำดีก็ได้เร็ว ไม่เกินสามวันเจ็ดวันก็ได้ แต่ถ้าความจำไม่ดีก็อาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน เอาละ เดี๋ยวจะหาพระให้มาเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลบอกกล่าว ฉันไม่ค่อยมีเวลา ไหนจะต้องคอยรับแขกที่มาเข้ากรรมฐาน บางวันเขาก็นิมนต์ไปบรรยายธรรมต่างที่ต่าง ๆ ครั้นจะไม่รับนิมนต์เขาก็จะติฉินนินทาเอาได้ ว่าไม่ทำหน้าที่พระ” ประโยคหลังท่านบ่นกราย ๆ

          “พระที่หลวงพ่ออยู่ที่ไหนครับ”

          “อยู่วัดนี้แหละ สมชายมานี่หน่อยซิ” ท่านเรียกลูกศิษย์วัดซึ่งกำลังทำความสะอาดกุฏิอยู่ชั้นบน เด็กหนุ่มคลานเข้ามาหาท่าน แล้วจึงถาม

          “หลวงพ่อมีอะไรจะใช้ผมหรือครับ”

          “ช่วยไปดูซิว่าพระมหาบุญอยู่หรือเปล่า ถ้าอยู่บอกให้มาพบฉันหน่อย มีธุระจะพูดด้วย” เด็กหนุ่มคลานออกไปจนถึงประตูแล้วจึงลุกขึ้นเดิน สักครู่ก็กลับมาพร้อมพระรูปหนึ่งอายุประมาณสี่สิบปี เมื่อมาถึงภิกษุรูปนั้นนั่งกราบเบญจางคประดิษฐ์ แล้วจึงถามขึ้นว่า

          “หลวงพ่อมีอะไรจะให้ผมรับใช้หรือครับ”

          “มีสิท่านมหา นี่เขาจะมาขอบวช จะให้ท่านมหาช่วยสอนเรื่องการเตรียมตัวบวช รู้จักท่านมหาเสียสิ บัวเฮียว” นายบัวเฮียวยกมือไหว้แบบเดียวกับที่ไหว้ท่านพระครู พร้อมกับยิ้มให้ท่านมหา

          “คงต้องสอนเรื่องการกราบการไหว้ให้ด้วย คงหนักหน่อยนะ นึกว่าเอาบุญก็แล้วกัน” ท่านพระครูพูดอย่างเกรงใจ

          “ไม่เป็นไรครับ ผมจะช่วยดูแลให้ดีที่สุด หลวงพ่อวางใจได้ แล้วจะให้เขาพักที่ไหนครับ”

          “คงต้องให้อยู่กุฏิเดียวกับท่านมหาไปก่อน ออกพรรษามีกุฏิว่างแล้วค่อยให้แยก อีกสองวันพระ ก็จะออกพรรษาแล้วนะ ทนอึดอัดไปก่อนนะบัวเฮียวนะ”

          “ไม่เป็นไรครับ ผมต้องขอบคุณหลวงพ่อและท่านมหาที่ช่วยเหลือผมมาก”

          คำพูดนั้นไม่ไพเราะนัก ทว่าก็ออกมาจากใจจริง

          “เอาละ เป็นอันว่าเสร็จธุระแล้ว ท่านมหาพาไปที่กุฏิเลย มีอะไรขัดข้องก็มาบอกฉันได้ ขอให้เชื่อฟังท่านมหาเขานะบัวเฮียวนะ” ท่านหันไปสั่งนายบัวเฮียว ซึ่งชายหนุ่มก็รับคำแข็งขัน พระมหาบุญกราบท่านพระครูสามครั้ง แล้วจึงบอกให้นายบัวเฮียวกราบบ้าง หนุ่มญวนทำตามอย่างว่าง่ายแม้ท่าทางจะดูเก้ ๆ กัง ๆ ด้วยไม่เคยทำมาก่อน

          นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา หากผู้ใดเดินผ่านกุฏิของพระมหาบุญก็จะได้ยินเสียง “เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา...” หรือไม่ก็เป็น “....อุกาสะ วันทามิ ภันเต, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะเม ภันเต...” ดังออกมาจากกุฏิ บางครั้งก็เป็นเสียงสวดยถาสัพพี บางวันก็เป็นเสียงสวดธรรมจักร แล้วแต่ใครจะผ่านไปได้ยินตอนใด

          พระมหาบุญลงความเห็นว่า แม้นายบัวเฮียวจะดูเป็นคนเซ่อ ๆ ซ่า ๆ แต่ก็ว่านอนสอนง่าย และมีความจำเป็นเลิศ ชั่วเวลาเพียงสี่วัน เขาก็สามารถท่อง “ขานนาค” ได้อย่างคล่องแคล่วและถูกต้องแม่นยำ การไหว้การกราบก็ทำได้สวยงามดูไม่เคอะเขินขัดหูขัดตาเหมือนตอนที่มาใหม่ ๆ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงรับฟังรายงานจากพระมหาบุญด้วยความยินดี

          ก่อนออกพรรษาห้าวัน นายบัวเฮียวก็เขาพิธีอุปสมบท โดยมีท่านพระครูเจริญเป็นพระอุปัชฌาย์ พระคู่สวดได้แก่ พระมหาบุญซึ่งรับหน้าที่เป็นพระกรรมวาจาจารย์ กับพระมหาเปล่งเป็นพระอนุสาวนาจารย์ อีก ๒๕ รูปเป็นพระอันดับ ทุกรูปล้วนเป็นพระวัดป่ามะม่วงทั้งสิ้น

          วันที่นายบัวเฮียวบวช ท่านพระครูงดออกบิณฑบาตโปรดสัตว์หนึ่งวัน เมื่อออกจากกรรมฐานในตอนเช้าแล้ว จึงจัดการให้ช่างตัดผมมาโกนผมให้นายบัวเฮียว โดยท่านนั่งดูอยู่ใกล้ ๆ ช่างตัดผมใช้กรรไกรตัดผมให้สั้นเสียก่อน แล้วจึงใช้มีดโกน ทันทีที่ใบมีดโกนสัมผัสหนังศีรษะ นายบัวเฮียวรู้สึกเสียบวาบไปทั่วร่างกาย พลันก็ระลึกนึกถึงบิดามารดา อยากให้บุคคลทั้งสองมาร่วมงานด้วย โดยเฉพาะบิดานั้นเขาคิดถึงมาก ไม่รู้ว่าป่านฉะนี้จะไปเกิด ณ ที่ใด แต่ก็คงไม่พ้นอบายภูมิ เพราะท่านพระครูบอกว่า คนที่ทำกรรมชั่วจะต้องไปเกิดที่นั่น คิดแล้วชายหนุ่มก็ร้องไห้ แรก ๆ ก็น้ำตาไหลเฉย ๆ หนักเข้าก็ถึงกับสะอื้นฮัก ๆ จนท่านพระครูสังเกตรู้ ส่วนช่างตัดผมไม่พูดว่ากระไร คงทำหน้าที่ของตนต่อไป “เธอร้องไห้ทำไมหรือบัวเฮียว” ว่าที่อุปัชฌาย์ถาม

          “ผม...ผมคิดถึงพ่อกับแม่ครับ” ตอบปนสะอื้น ท่านพระครูเข้าใจความรู้สึกของเขา จึงพูดปลอบว่า

          “คิดถึงทำไม ก็แม่เธอเขามีความสุขไปแล้ว ไหนเธอบอกว่าพ่อเลี้ยงเขาเป็นคนดียังไงล่ะ”

          “ครับ แต่ผมก็อยากให้แม่มาร่วมงานในวันนี้ อยากให้แกมาเห็นชายผ้าเหลือง” พูดพลางใช้มือปาดน้ำตา

          “ยังไง ๆ เสียเขาก็ต้องได้เห็น แก้กรรมแล้วก็กลับไปเยี่ยมเขาได้ จะมานั่งเสียอกเสียใจทำไม”

          “ครับ” เขารับคำและหยุดร้องไห้ แต่ยังสะอึกสะอื้น พระครูท่านหยิบกระดาษเช็ดหน้าส่งให้เขาเช็ดน้ำมูกและน้ำตา เงียบกันไปครู่หนึ่ง หนุ่มวัยเกือบสามสิบก็เอ่ยขึ้นว่า

          “หลวงพ่อครับ แล้ว...พ่อ...พ่อ...ผมไปเกิดที่ไหนก็ไม่รู้” พูดแล้วก็ร้องไห้อีก ท่านพระครูจึงพูดตัดบทว่า

          “อย่าเพิ่งไปคิดอะไรมาก ทำใจให้สบาย วันนี้เป็นวันมงคลของเธอนะ ขอให้ห่วงตัวเอง ช่วยตัวเองให้ได้เสียก่อน แล้วจึงค่อยคิดช่วยคนอื่น ผู้อื่นจะกระโจนลงไปช่วยคนตกน้ำ จะต้องว่ายน้ำเป็นเสียก่อน มิฉะนั้นก็จะพากันจบน้ำตายทั้งสองคน เรื่องพ่อของเธอนั้น หากเธอหมั่นทำกรรมฐานแล้วแผ่เมตตาไปให้ ก็อาจจะช่วยแกได้บ้าง” พูดแล้วก็หยิบกระดาษเช็ดหน้าส่งให้เขาอีกครั้ง

          “จริงหรือครับหลวงพ่อ” ถามพลางรับกระดาษไปเช็ดน้ำตาและน้ำมูก ไม่ลืมที่จะประนมมือไหว้และกล่าวคำขอบคุณทุกครั้งก่อนรับของ

          “ฉันจะโกหกเธอทำไมกันเล่า” นายบัวเฮียวเกรงท่านจะโกรธ จึงพูดขึ้นว่า “ขอโทษครับ ถ้าอย่างนั้นผมจะตั้งใจปฏิบัติให้ดีที่สุด”

          “ดีแล้ว ฉันขออนุโมทนาด้วย จำไว้เถิดว่า อะไร ๆ ก็ไม่เหลือวิสัยของบุคคลที่มีความเพียรไปได้” เจ้าอาวาสพูดให้กำลังใจ

          เสร็จจากโกนผม ท่านพระครูจึงบอกให้นายบัวเฮียวไปอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดหมดจน เพื่อเตรียมเข้าพิธีในพระอุโบสถ พิธีจะเริ่มในเวลา ๙.๐๙ นาฬิกา

          ค่ำวันเดียวกันนั้น พระบัวเฮียวได้นำพานดอกไม้ธูปเทียนมาขอขึ้นกรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์อีกครั้งหนึ่ง ท่านพระครูเจริญอธิบายให้พระใหม่เข้าใจว่า การขอกรรมฐานในพิธีซึ่งทำกันในพระอุโบสถเมื่อเช้านี้ เป็นการทำตามประเพณีเท่านั้น เพราะหลังจากบวชแล้ว พระส่วนใหญ่ก็มิได้นำไปปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจึงเป็นกฎสำหรับพระวัดนี้ว่า พระบวชใหม่จะต้องมาขอกรรมฐานอีกครั้งเพื่อเป็นการยืนยันว่า จะตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง ตลอดระยะเวลาที่ดำรงเพศเป็นบรรพชิต

          เมื่อพระบัวเฮียวกล่าวคำขอสมาทานกรรมฐานแล้ว ท่านพระครูจึงลงมือสอนด้วยตนเอง

          เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง ท่านมีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติมามาก สมัยที่บวชใหม่ ๆ ท่านเจริญสมถกรรมฐาน โดยการกำหนด “พุทโธ” เป็นองค์บริกรรม ปฏิบัติสมถกรรมฐานอยู่หลายปี จนได้อภิญญา แต่ก็เป็นโลกียอภิญญา ซึ่งเมื่อมีได้ก็เสื่อมได้ ไม่แน่นอนและไม่นำไปสู่ความหลุดพ้น

          เมื่ออายุได้ ๔๕ ปี ท่านได้ธุดงค์ไปในป่าดงพระยาเย็น เพื่อแสวงหาครูบาอาจารย์ที่จะแนะนำเรื่องการปฏิบัติได้ ป่าดงพระยาเย็นนี้ แต่เดิมมีชื่อว่า ป่าดงพระยาไฟ ครั้นถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงเปลี่ยนมาเป็น ดงพระยาเย็น เพื่อให้ฟังดูไพเราะและไม่น่ากลัวเหมือนชื่อเดิม

          ที่ป่าดงพระยาเย็น ท่านพระครูเจริญวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ จาก “พระในป่า” แล้วท่านก็ได้พบว่า ไม่มีทางสายใดที่จะประเสริฐเท่ากับทางสายนี้อีกแล้ว ท่านเพิ่งจะเข้าใจซาบซึ้งในพุทธวจนะที่เคยอ่านพบในพระไตรปิฎก ความว่า “....ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเอก เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อข้ามพ้นความโศกแลปริเทวะ เพื่อความอัสดงแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุโลกุตตรมรรค เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน นี่คือ สติปัฏฐาน ๔...”

          นับเป็นโชคอันดี เป็นลาภอันประเสริฐของท่านพระครูที่ได้ไปพบกัลยาณมิตร ด้วย “พระในป่า” รูปนั้นท่านประกอบด้วยกัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการครบบริบูรณ์คือ น่ารัก น่าเคารพ น่าเจริญใจ รู้จักว่ารู้จักพูด ยอมให้พูดยอมให้ว่า แถลงเรื่องลึกซึ้งได้ และไม่ชักนำในเรื่องที่ไม่ควร เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่กับ “พระในป่า” เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม

          การดำเนินมรรคาที่ถูกต้องหนึ่ง การพบกัลยาณมิตรหนึ่ง ความไม่ย่อหย่อนในการประกอบความเพียรหนึ่ง และบุญบารมีที่ได้สะสมมาแล้วแต่ชาติปางก่อนหนึ่ง องค์ประกอบทั้ง ๔ ประการนี้เป็นเหตุปัจจัยให้การปฏิบัติของท่านก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว กระทั่งได้บรรลุโลกุตตรธรรมในที่สุด

          นับแต่บัดนั้นจนบัดนี้ ท่านได้สัมผัสกับความสุขที่แท้จริง และได้ตระหนักชัดแล้วว่า “นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ – สุขอื่นที่ยิ่งกว่าความสงบไม่มี

          ด้วยจิตที่เปี่ยมด้วยเมตตา ปรารถนาจะให้เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้เข้าสู่ภาวะอันประเสริฐบริสุทธิ์นั้นบ้าง ท่านจึงทำวัดให้เป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐาน ฝึกอบรมพระเณรในวัดให้รู้วิธีปฏิบัติ เช่น การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ ตลอดจนการกำหนดรู้ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น

          วัดป่ามะม่วงจึงหลายเป็นสถานที่ดับร้อนผ่อนทุกข์ของชนเป็นอันมาก เพราะเป็นที่สัปปายะ คือความสะดวก ๔ ประการ ได้แก่ เสนา – สนสัปปายะ – มีที่พักอาศัยสะดวก อาหารสัปปายะ – มีอาหารการบริโภคสะดวก บุคคลสัปปายะ – มีบุคคลที่เกี่ยวข้องทำให้สบายใจ เพราะธรรมสัปปายะ – มีหลักปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะแก่จริตของผู้ปฏิบัติธรรม ความสะดวก ๔ ประการนี้มีอยู่พร้อมมูลในวัดป่ามะม่วงที่ท่านพระครูเจริญเป็นเจ้าอาวาส

          เมื่อพระบัวเฮียวกล่าวคำขอสมาทานกรรมฐานเรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูจึงซักถามพระบวชใหม่เพื่อต้องการทราบพื้นฐานความรู้

          “พระมหาบุญท่านสอนอะไรมาบ้างหรือยัง” ท่านหมายถึงเรื่องการปฏิบัติ

          “สอนแล้วครับ” พระบวชใหม่ตอบ

          “ท่านสอนอะไรบ้าง”

          “ท่านอนเมือนกับหลวงพ่อสอนนั่นแหละครับ พระบัวเฮียวตอบซื่อ ๆ       

          “ฉันยังไม่ได้สอนเธอนี่นา ก็กำลังจะสอนอยู่นี่ไง” พระอุปัชณาย์ท้วง

          “สอนครับ ก็หลวงพ่อเคยสอนให้ผมเชื่อฟังท่านมหา ท่านมหาก็สอนให้ผมเชื่อฟังพลวงพ่อ” พระใหม่ขยายความ

          “อ้อ...แต่ที่ฉันถามนั้น หมายถึงการปฏิบัติกรรมฐานต่างหากล่ะ พระมหาบุญท่านสอบการเดินจงกรม การนั่งสมาธิให้บ้างหรือยัง” ผู้อาวุโสกว่าเริ่มจะรู้สึกถึงความซื่อที่มีระดับใกล้เคียงกับ “เซ่อ” ของพระผู้เป็นลูกศิษย์

          “ยังครับ” คราวนี้พระบัวเฮียวตอบแข็งขัน

          “ถ้าอย่างนั้นก็เริ่มต้นกันเลย เอาละ ยืนขึ้น ฉันจะสอนเดินจงกรมระยะที่หนึ่งให้” แล้วท่านก็ลุกขึ้น ผู้บวชใหม่ลุกตาม แต่ตั้งใจว่าจะปฏิบัติให้ดีที่สุด เพราะศรัทธาปสาทะที่มีต่อท่านพระครูนั้น เป็นเสมือนโอสถขนาดเอกที่จะทำให้ตนหายจากโรคได้

          “การเดินจงกรม มีทั้งหมด ๖ ระยะ ระยะที่หนึ่งมีหนึ่ง “หนอ” ระยะที่สองก็มีสอง “หนอ” แล้วก็เพิ่มขึ้นระยะละหนึ่ง “หนอ”ไปเรื่อย ๆ จนถึงระยะที่หก ก็มีหก “หนอ” ผู้เป็นอุปัชฌาย์อธิบาย

          “หนอ แปลว่าอะไรครับหลวงพ่อ” ถามอย่างใคร่รู้ หากในใจนั้นคิดเล่น ๆ ว่า “หนอ ๆ แหน ๆ อะไรกันวุ้ย หลวงพ่อนี่พิกลจริง ๆ”

          “ถ้าจะเอาคำแปลกันจริง ๆ มันก็ไม่มี เพราะมันเป็นคำอุทาน เหมือนเวลาเราพูดว่า สุขจริงหนอ ดีใจหนอ อะไรพวกนี้ แต่ในการปฏิบัติธรรม เราเอา “หนอ” มาใช้เป็นองค์บริกรรม เช่น ขวา – ย่าง – หนอ   ซ้าย – ย่าง – หนอ “หนอ” ในที่นี้แปลว่า “กำลัง” หรือจะแปลว่า “รู้” ก็ได้เหมือนกัน คือ รู้ปัจจุบัน เช่นรู้ว่าเรากำลังเดิน รู้ว่ากำลังกิน สรุปก็คือ “หนอ” เป็นตัวบอกให้เรามีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลานั่นเอง เข้าใจหรือยังล่ะ” ท่านพระครูอธิบาย ท่านไม่รู้สึกแปลกใจว่า เหตุใดพระบวชใหม่ทุกรูปก็เคยถามท่านแบบเดียวกันนี้มานักต่อนักแล้ว

          “เข้าใจแล้วครับ ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อสอนผมเดินทั้งหกระยะเลยได้ไหมครับ วันหลังจะได้ไม่ต้องมารบกวนหลวงพ่อ” พระใหม่พูดด้วยความเกรงใจ

          “ไม่ได้หรอก ต้องเดินวันละหนึ่งระยะแล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน อย่าใจร้อน ปฏิบัติธรรมต้องใจเย็น ๆ จึงจะได้ผล เอาละฉันจะเดินระยะที่หนึ่งให้ดู ลำดับแรก ยืนตัวตรง เอามือไขว้หลัง นี่อย่างนี้” พระบัวเฮียวทำตาม หากมือที่ไขว้นั้นเอามือซ้ายทับมือขวาและแขนห้อยลงแบบสบาย ๆ

          “ทำอย่างนั้นไม่ได้ นี่ต้องเอามือขวาทับมือซ้าย แล้วยกมือที่ไขว้ขึ้นมาไว้บริเวณกระเบนเหน็บ ไม่ใช่ห้อยสบาย ๆ แบบนั้น” ท่านจับมือทั้งสองของพระใหม่ และจัดให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง

          “เอาละ เสร็จแล้วกำหนด “ยืนหนอ” ห้าครั้ง หายใจยาว ๆ เอาสติไว้ที่ศีรษะ พอบอก “ยืน....ค่อย ๆ ลากสติลงมาช้า ๆ พอถึงคำว่า “หนอ” สติก็จะมาอยู่ที่เท้าพอดี แล้วจึงลากขึ้นด้วยวิธีเดียวกัน เพราะฉะนั้น “ยืน....หนอ” ห้าครั้ง เราก็จะลากสติ ลง...ขึ้น ลง...ขึ้น ลง ลองทำซิ” พระใหม่ทำตามคำบอก และก็ทำได้โดยไม่ข้องขัด ท่านพระครูพอใจที่เขาเป็นคนสอนง่าย

          “หลวงพ่อครับ ทำไมต้องพูดว่า “ยืน...หนอ” ตั้งห้าครั้งเล่าครับ” ถึงจะสอนง่ายแต่ก็ชอบซัก

          “ที่ต้องบริกรรมห้าครั้งก็เอามาจาก ตจปัญจกกรรมฐาน นั่นไง ไหนบอกมาซิว่า ตจปัญจกกรรมฐานมีอะไรบ้าง”

          “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ครับ” พระบัวเฮียวว่าเร็วปรื๋อ เพราะเป็นคนจำแม่น

          “แปลด้วย”

          “เกสา – ผม โลมา – ขน นขา – เล็บ ทันตา – ฟัน ตโจ – หนัง ครับ”

          “ดีมาก นี่แหละการให้ ยืน...หนอ ห้าครั้ง ก็เพื่อจะให้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แต่บางสำนักเขาก็ให้ “ยืน...หนอ” สามครั้ง โดยลากสติขึ้นลงเฉย ๆ อันนี้ก็แล้วแต่ใครจะถนัดอย่างไร เพราะถึงจะปฏิบัติแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ก็มีจุดหมายอันเดียวกัน คือ ความหลุดพ้นจากทุกข์ เอาละ เมื่อ ยืน...หนอ ห้าครั้งแล้วก็จะเริ่มต้น ไหนบอกมาก่อนซิว่า ตอนนี้สติอยู่ที่ไหน”

          “ที่เท้าครับ”

          “ดีมาก เอาละ ทีนี้ก็ย้ายสติมาไว้ที่เท้าขวา เพราะเราจะก้าวเท้าขวาก่อน นี่ก้าวที่หนึ่งบริกรรมว่าอย่างนี้ “ขวา – ย่าง – หนอ” ต้องก้าวช้า ๆ แล้วการบริกรรมที่ต้องให้ทันปัจจุบันด้วย นี่เห็นไหม เดินหนึ่งก้าวก็หนึ่ง “หนอ” เอาละ ทีนี้จะก้าวเท้าซ้ายก็ย้ายสติมาไว้ที่เท้าซ้าย บริกรรมว่า “ซ้าย – ย่าง – หนอ” พร้อมกับก้าวไปด้วย” ท่านลองเดินให้ดูสี่ห้าก้าว แล้วจึงให้พระใหม่ลองทำให้ดู พระบัวเฮียวก็เดินอย่างรวดเร็ว

          “หยุดก่อน หยุดก่อน เดินเร็วอย่างนั้นไม่ได้ ต้องเดินช้า ๆ เหมือนอย่างที่ฉันเดินให้ดูนั่งไง”

          “ทำไมต้องเดินช้า ๆ ด้วยครับหลวงพ่อ” ถามเพราะไม่เข้าใจ

          “ที่ต้องเดินช้า ๆ ก็เพื่อจะได้เห็นสัจธรรม เดินเร็ว อิริยาบถไปบังสัจธรรม เดินเร็ว อิริยาบถไปบังสัจธรรมหมด รู้หรือยัง”

          “สัจธรรมคืออะไรครับ” คนช่างสงสัยถามอีก

          “ถ้าอยากรู้ก็ต้องเร่งทำความเพียร หมั่นเดินจงกรมนั่งสมาธิ ฝึกสติให้มาก ๆ สติดีเมื่อไหร่ก็จะรู้เอง”

          “งั้นก็แปลว่า ตอนนี้ผมสติไม่ดีน่ะซี เปล่านะครับหลวงพ่อ ผมไม่ได้บ้านะครับ” พระใหม่ร้อนตัวด้วยเข้าใจความหมายไม่ตรงกับผู้พูด

          “ฉันก็ไม่ได้ว่าเธอบ้านี่นา จำไว้นะ เมื่อเธอจะไปสอนคนอื่นต่อไปในวันข้างหน้า คนบ้าอย่าเอามาเข้ากรรมฐานเด็ดขาด บางคนไม่เข้าใจ คิดว่าเอาคนบ้ามาเข้ากรรมฐานจะทำให้หายได้ ไม่จริงเลย มีแต่จะทำให้บ้าหนักขึ้น ก็อย่างเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่สติไม่ค่อยดี ญาติเลยพามาเข้ากรรมฐาน ฉันก็ไม่รู้ เพราะพระมหาบุญท่านเป็นคนสอน แหม พอเดินจงกรมได้สามวันก็ออกฤทธิ์เลย ลุกขึ้นรำป้อ ใครห้ามก็ไม่ฟัง คนเขามาตามฉันไปดู ฉันเลยให้ญาติมาพาส่งปากคลองสาน”

          “แล้วเขายอมไปแต่โดยดีหรือครับ”

          “อ้าว ถ้ายอมก็ไม่ใช่คนบ้าซี”

          “แล้วทำยังไงถึงไปได้ล่ะครับ”

          “พระมหาบุญท่านใช้อุบายให้ญาติหลอกว่าสำนักนี้สอนไม่ดี รำก็ไม่สวยสู้สำนักโน้นไม่ได้ เขาก็ต้อนขึ้นรถบอกจะพาไปสำนักโน้น ก็เลยพาไปได้”

          “ทำไมคนบ้าถึงปฏิบัติไม่ได้เล่าครับ” พระใหม่ถามอีก

          “เอาละ ฉันจะยังไม่ตอบเธอ ให้เธอรู้เอาเองเมื่อได้ปฏิบัติถึงระดับหนึ่งแล้ว อยากเตือนสักนิดว่า ความลังเลสงสัยจนเกินขอบเขต มันจะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ เก็บความสงสัยไว้ก่อน ปฏิบัติมาก ๆ เข้าก็จะหายสงสัยไปเอง” ผู้เป็นอุปัชฌาย์แนะแนว

          “ครับหลวงพ่อ ถ้าอย่างนั้นผมจะตั้งใจปฏิบัติให้ก้าวหน้าโดยเร็ว” ว่าแล้วก็เดินจงกรมอย่างตั้งอกตั้งใจ

          “เอาละ ทีนี้พอเดินสุดทางซึ่งไม่ควรจะมากว่าสามเมตร ก็กำหนดกลับโดยบริกรรมว่า “กลับ – หนอ” อย่างนี้” ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พระบัวเฮียวทำตามโดยไม่ยากนัก

          “เอาละ เมื่อเดินเป็น กลับเป็นแล้ว พรุ่งนี้ฉันจะสอนการนั่งให้ สำหรับวันนี้เดี๋ยวเธอกลับไปเดินจงกรมต่อที่กุฏิของเธอให้ได้หนึ่งชั่วโมง จากนั้น ก็ให้นอนหงายเอามือขวาวางบนท้อง สังเกตอาการ พอง – ยุบ ของท้อง เมื่อท้องพองให้บริกรรมว่า “พอง – หนอ” เมื่อยุบก็ให้บริกรรมว่า “ยุบ – หนอ” ไปจนกว่าจะหลับ พยายามจับให้ได้ว่า หลับไปตอนพองหรือตอนยุบ เอาละ กลับไปได้แล้ว”

          “ผมต้องอขกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูง ที่ได้เมตตาสอนให้” พูดพร้อมกับก้มลงกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง แล้วจึงค่อย ๆ คลานถอยหลังออกมา ครั้นถึงประตูจึงหันหลังกลับ ลุกขึ้นเดินไปยังกุฏิของตน ซึ่งอยู่รวมกับพระมหาบุญ ขณะเดินท่านก็กำหนด ซ้าย – ขวา ไปตลอดทาง กระนั้นเสียง “หนอ ๆๆ” และ “เอาละ ๆๆ” ก็ยังก้องอยู่ในโสตประสาท วันนี้ พระอุปัชฌาย์ของท่านใช้คำว่า “หนอ” กับ “เอาละ” มากที่สุด

 

มีต่อ.....๓