สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
- ๔
สุทัสสา อ่อนค้อม
ธันวาคม ๒๕๓๗
S00004
๔...
ในความรู้สึกของพระบัวเฮียว
เวลาสี่สิบนาทีช่างดูยาวนานเสียหนักหนา ท่านจับ พอง ยุบ ได้ในช่วงแรก ๆ
กระนั้นก็ยังลง หนอ
ไม่ค่อยจะทัน เพราะมันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก
นั่งไปสักครู่ให้รู้สึกอึดอัดขัดข้อง ลมในท้องเริ่มปั่นป่วนอีกครั้ง
ท่านพยายามกลั้นเอาไว้ หากปล่อยปู้ดป้าดออกมาเกรงจะต้องอับอายขายหน้า
เมื่ออั้นไว้หนักเข้าก็กลายเป็นความกังวลจนจับ พอง ยุบ ไม่ได้
อย่าไปกังวลแล้วก็ไม่ต้องไปกลั้น
เขาอยากจะออกมาก็ให้เขาออกอย่าไปฝืนเขา มันเป็นการปรากฏของสภาวธรรม ให้กำหนด เสียงหนอ หรือ กลิ่นหนอ ไปตามความเป็นจริง
ท่านพระครูซึ่งนั่งควบคุมอยู่ห่าง ๆ พูดขึ้น พระใหม่จึงหมดกังวลเรื่องลม
ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ หันมาจับ พอง ยุบต่อ หากก็จับได้ไม่นานเพราะอาการปวดเมื่อยเริ่มปรากฏ
ท่านรู้สึกปวดขาเป็นกำลัง คิดอยากจะถามพระอุปัชฌาย์ว่าจะเปลี่ยนท่านั่งได้หรือไม่
ฝ่ายนั้นก็พูดขึ้นทันทีว่า
อย่าเปลี่ยน
นี่แหละเขาเรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ต้องให้เห็นของจริงถึงจะเข้าใจ
เอาสติไปเพ่งตรงที่ปวดแล้วกำหนดว่า ปวดหนอ ปวดหนอ
จากนั้นก็ไม่ต้องไปในใจ ให้กลับมากำหนด พอง ยุบ อีก
เมื่อมีคนคอยช่วยเหลืออยู่เช่นนี้ทั้งยังสามารถ
อ่านใจ ผู้อื่นได้ด้วย
พระบัวเฮียวจึงหายกังวล ท่านพระครูอยากให้การนั่งของพระใหม่เป็นไปตามธรรมชาติ
ครั้นเห็นว่าได้แนะนำพอสมควรแล้ว จึงลุกจากที่นั้นไปอย่างเงียบ ๆ
ปล่อยผู้เป็นศิษย์ให้นั่งอยู่ตามลำพัง
พระบัวเฮียวไม่รู้ว่าพระอุปัชฌาย์ลุกออกไป
ท่านพยายามจับ พอง
ยุบ อย่างเคร่งครัด ต่อเมื่ออาการปวดขาทวีความรุนแรงขึ้น พระใหม่ก็หมดความอดทน ค่อย
ๆ เปลี่ยนท่านั่งจากขาขวาทับขาซ้าย มาเป็นขาซ้ายทับขาขวา รู้สึกค่อยยังชั่วขึ้น
ทั้งอุปัชฌาย์ก็มิได้ว่ากระไร จึงกระหยิ่มยิ้มย่องว่าตนปฏิบัติถูกต้องแล้ว
อหังการ ก็เกิดขึ้น
ท่านเริ่มคิดฟุ้งซ่าน จิตซึ่งโดยธรรมชาติไม่อยู่นิ่งอยู่แล้วก็ซัดส่ายหนักขึ้น
คิดเรื่องโน้นไปเรื่องนี้ เตลิดเปิดเปิงไปยกใหญ่
ชั่วเวลาไม่กี่นาทีที่ท่านพระครูลุกออกไป พระบัวเฮียวก็คิดอะไรต่อมิอะไรไปร้อยแปด
เมื่อจิตฟุ้งซ่าน สติก็จับ พอง
ยุบ ไม่ได้ สมาธิไม่เกิด
อีกสิบนาทีจะครบกำหนดเวลา
ท่านพระครูก็กลับมา ท่าน ตรวจสอบ คนที่กำลังนั่งสมาธิอยู่ก็รู้วาระจิตของเขา จึงพูดขึ้นว่า
สนุกใหญ่เลยนะบัวเฮียวนะ
ทำไมถึงไม่กำหนด ฟุ้งซ่านหนอ ล่ะ
พระใหม่จึงตั้งสติกำหนด
ฟุ้งซ่านหนอ ฟุ้งซ่านหนอ แล้วกลับมากำหนด พอง ยุบ
ประเดี๋ยวหนึ่งอาการปวดขาก็ประดังขึ้นมาอีก ปวดราวกับว่ามันจะแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ คิดที่จะเปลี่ยนท่านั่ง
ท่านพระครูก็กำชับขึ้นว่า
อย่าเปลี่ยน ให้กำหนด อดทนหนอ พากเพียรหนอ แล้วกลับไปที่ พอง ยุบ อีก
มันไม่ไหวแล้วครับหลวงพ่อ
พระบัวเฮียวคร่ำครวญอยู่ในใจ คราวนี้รู้แล้วว่าท่านต้องรู้ อะไร ๆ ในใจของท่าน
พระอุปัชฌาย์รู้หมด
ต้องไหวซี ตั้งใจไว้เลยว่า
ตายเป็นตาย
ผมยังไม่อยากตายที่ครับ พระใหม่แอบเถียงในใจ
ยังไม่อยากตาย
แต่ถ้าถึงที่มันก็ต้องตาย แต่ถ้าตายในขณะปฏิบัติก็จะไปเกิดในสุคติภูมิ
ไม่ต้องไปอบายภูมิ เลือกเอาว่าจะเอาอย่างไหน
งั้นก็เอาอย่างหลังครับ ตอบในใจเช่นเคย
ดีแล้ว ต้องกล้าหาญอย่างนี้ถึงจะเรียกว่า
ศากยบุตร นี่แหละ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา
เวทนาที่แปลว่าสงสารใช่ไหมครับ คนถามถามในใจ
แต่คนตอบตอบออกมาดัง ๆ เพราะคลื่นใน เครื่องรับ กับ เครื่องส่ง ไม่ตรงกัน
คนตอบสามารถเข้าใจในความในใจของคนถาม หากคนถามไม่สามารถ อ่านใจ ของคนตอบได้
ไม่ใช่ เวทนา
แปลว่า ความรู้สึก มี ๓ อย่างคือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และ อทุกขมสุขเวทนา
หมายถึง ความ รู้สึกสุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์ หรือที่เรียกว่า เฉย ๆ
รู้สึกอย่างไรก็กำหนดไปอย่างนั้น เช่นขณะที่เธอปวด เธอเป็นทุกข์ ก็กำหนด ปวดหนอ ถ้าสุข ก็กำหนด สุขหนอ ถ้ารู้สึกเฉย ๆ
ไม่สุขไม่ทุกข์ก็กำหนด เฉยหนอ คือ ต้องตามรู้ความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา แล้วก็กำหนดรู้เท่านั้น
ห้ามไปจับไปยึด
ภิกษุหนุ่มตั้งสติข่มทุกขเวทนาไว้อย่างยากเย็น
พยายามทำตามที่พระอุปัชฌาย์สอน หากอาการปวดก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นราวกับชีวิตจะแตกดับลงเสียเดี๋ยวนั้น
ท่านจึงฮึดสู้ด้วยการกำหนดว่า ตายเป็นตาย
แล้วก็นั่งต่อไปอย่างไม่สะทกสะท้าน พยายามให้สติจับอยู่ที่อาการ พอง ยุบ ของท้อง
เอาละ ได้เวลาแล้ว
กำหนด อยากพักหนอ สามครั้งแล้วค่อย ๆ
ลืมตา เห็นอะไรก็กำหนดเห็นหนอ
ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ทรมานนั้น
เสียงของท่านพระครูจึงประดุจเสียงสวรรค์ที่ล่องลอยมาจากนภากาศ
การต่อสู้กับทุกขเวทนาสิ้นสุดลง พระบัวเฮียวกำหนดตามที่ท่านสอน
เมื่อลืมตาขึ้น สิ่งแรกที่เห็นก็คือ
ใบหน้าที่เปี่ยมด้วยเมตตาของผู้เป็นอาจารย์
รู้สึกร้อนวูบทั่วร่างแล้วเปลี่ยเป็นเย็นซาบซ่านไปทั่วทุกขุมขน น้ำตาไหลพราก ๆ
ด้วยความปีติ
ท่านก้มลงกราบพระอุปัชฌาย์ด้วยความรู้สึกสำนึกในพระคุณอย่างหาที่สุดมิได้
ศีล สมาธิ ปัญญา
ได้ซักฟอก และ ขัดเกลาจิตใจที่เคยหยาบกระด้างของท่านให้ละเอียดประณีตขึ้น
กตัญญูกตเวทิตาธรรม จึงเกิดเองโดยมิต้องมีผู้ใดมาบอกกล่าว
เอาละ
ทีนี้ก็มาสอบอารมณ์กัน ประเดี๋ยวจะได้กลับไปพักผ่อน
คืนนี้จะได้สอนการเดินระยะที่สองให้
ครับ เอ้อ...
ผมอยากจะเรียนถามหลวงพ่อว่า ทำไมจิตของเรามันจึงอยู่นิ่งไม่ได้ ชั่วเวลาที่ผมนั่ง
ผมคิดอะไรต่อมิอะไรไปร้อยแปด มันไม่สงบเลยครับ ที่แปลกก็คือ
เวลาที่ไม่ได้นั่งสมาธิกลับไม่คิดอะไร
นั่นแหละธรรมชาติของจิตละ
พระพุทธองค์จึงได้ตรัสเปรียบเทียบจิตว่า ไม่อยู่นิ่งเหมือนลิง
ปกติลิงจะไม่อยู่เป็นสุข ต้องหลุกหลิกวางนี่จับโน่น ทำท่านั้นท่านี้อยู่ตลอดเวลา
นอกจากจะหลับเสียเท่านั้น แม้แต่หลับก็ยังหานอนหลับนานไม่
เพราะฉะนั้นถึงต้องมาฝึกจิตกันยังไงล่ะ
ทำไมจิตมันถึงฟุ้งซ่านเฉพาะเวลานั่งสมาธิเล่าครับ
ในเวลาปกติทำไมมันจึงไม่ฟุ้งซ่าน ภิกษุหนุ่มถามอีก
จิตมันฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ
ไม่ว่าจะตอนนั่งหรือไม่นั่ง เพราะจิตมันมีหน้าที่รู้อารมณ์
แต่ตอนนั่งเรารู้สึกว่ามันฟุ้งซ่าน เพราะเราเอาสติไปกำกับมัน
บังคับมันให้จดจ่ออยู่กับอารมณ์เดียว มันเลยต่อต้าน
แต่ในเวลาปกติราไม่ได้เอาสติไปกำกับมัน เราจึงไม่รู้ว่ามันฟุ้งซ่าน พูดง่าย ๆ
ก็คือจิตมันฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่ค่อยจะรู้ เมื่อใดที่เอาสติไปกำกับมัน
เราจึงจะรู้ชัด เข้าใจหรือยังล่ะ
ท่านพระครูนึกชมพระมหาบุญที่สามารถอบรมบ่มนิสัย
จนกระทั่งพระบัวเฮียวเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ทั้งกิริยามารยาท
ตลอดจนการพูดการจาดูดีขึ้น ผิดกับเมื่อตอนมาใหม่ ๆ ราวกับเป็นคนละคน
หลวงพ่อครับ
แล้วเรื่องเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่หลวงพ่อสอนตอนผมนั่งสมาธิ
มีบางตอนที่ผมยังไม่เข้าใจครับ เช่นที่หลวงพ่อบอกไม่ให้ยึด สุขก็ไม่ให้ยึด
ทุกข์ก็ไม่ให้ยึด หมายความว่าอย่างไรครับ
หมายความว่า
เวทนามันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นเดียวกับสรรพสิ่งทั้งหลาย
นั่นคือมันไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และปราศจากตัวตนที่เที่ยงแท้
พูดให้เข้าใจง่ายเข้าก็คือ มันมีลักษณะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
จึงไม่มีอะไรให้ยึด ฉะนั้นเวทนานุปัสสนาสติปัฏบาน ก็คือ การใช้สติตามดูเวทนา
และ กำหนดรู้ในขณะนั้น ๆ ว่า มันสุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ
แล้วก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของมันเหมือนกับเวลาเธอนั่ง เมื่อปวดก็เป็นทุกขเวทนา
เธอก็กำหนด ปวดหนอ แล้วก็วางมันเสีย ไม่ไปจับไปยึด ประเดี๋ยวมันก็หายไปเอง
การกำหนดว่า ปวดหนอ
ก็เพื่อให้หายปวดใช่ไหมครับ
ไม่ใช่
บางคนไปเข้าใจผิดคิดว่า การกำหนดเช่นนี้ จะทำให้หายปวด
ซึ่งความจริงแล้วจะกำหนดหรือไม่กำหนด มันก็ต้องหายปวดตามสภาพของมันอยู่แล้ว
เพราะเวทนามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุปัจจัย
เราไม่สามารถไปบังคับบัญชามันได้ เราทำได้ก็เพียงกำหนดรู้มันเท่านั้น
ท่านพระครูอธิบาย
พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นลูกศิษย์วัดยืนลับ ๆ ล่อ อยู่ตรงประตู จึงถามออกไปว่า
มีอะไรหรือสมชาย เด็กหนุ่มคลานเข้ามา
กราบสามครั้งแล้วรายงานว่า มีคนจากนครสวรรค์เขามาขอขึ้นกรรมฐานกับหลวงพ่อครับ
บอกให้เขาเข้ามาได้เลย
พระบัวเฮียวตั้งท่าจะลา แต่ท่านพระครูห้ามไว้
สักครู่ชายวัยกลางคนก็ประคองพานดอกไม้ธูปเทียนเดินเข่าเข้ามาหาท่านพระครู
พร้อมกับเพื่อนวัยเดียวกันอีกสองคน เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงสั่งให้พระบัวเฮียว
นำคนทั้งสามกล่าวคำขอสมาทานกรรมฐาน แล้วให้สอนการเดินจงกรมและนั่งสมาธิด้วย
พระใหม่รู้สึกขัดเขินเพราะตัวท่านเองก็เพิ่งจะหัดมาได้สองวันเข้าวันนี้
หากท่านก็สอนอย่างตั้งอกตั้งใจที่สุด
จนชายทั้งสามสามารถเดินจงกรมระยะที่หนึ่งได้และรู้วิธีนั่งสมาธิ
เอาละ
เดี๋ยวไปทานข้าวทานปลา แล้วกลับไปปฏิบัติยังกุฏิของตน สองทุ่มค่อยมาสอบอารมณ์
ได้ที่พักหรือยัง ท่านถามคนที่ถือพานเมื่อตอนเข้ามา
เพราะเขามีลักษณะเป็นผู้นำมากกว่าอีกสองคน
ยังครับ
พวกผมเพิ่งมาถึงครับ
เขาตอบอย่างนอบน้อม
สมชายไปดูซิว่ามีกุฏิกรรมฐานหลังไหนว่างอยู่บ้าง
ไม่มีเลยครับหลวงพ่อ
ผมไปสำรวจมาแล้ว เด็กหนุ่มตอบ
ถ้าอย่างนั้นไปพักบนศาลาก็แล้วกัน
เดี๋ยวจะให้เขาจัดมุ้งจัดหมอนไปให้ บนศาลาไม่มีมุ้งลวด แล้วจึงถามอีกว่า
จะอยู่ปฏิบัติกันกี่วันล่ะ
สามวันครับ
พอรู้วิธีก็จะกลับไปปฏิบัติต่อที่บ้าน
ทำไม่ไม่อยู่สักเจ็ดวันล่ะ
สามวันมันน้อยไป
อยู่ไม่ได้ครับหลวงพ่อ
พวกผมเป็นครูต้องกลับไปสอนนักเรียน ช่วงนี้หยุดเทอมจึงมาได้
หยุดแค่สามวันเองหรือ
หยุดมาสิบกว่าวันแล้วครับ
แต่พวกผมเกิดนึกอยากมาเอาเมื่อตอนใกล้จะเปิด
อ้อ... เอาละ
ถึงจะอยู่แค่สามวัน ถ้าตั้งใจปฏิบัติจริง ๆ จัง ๆ ก็จะได้ผลพอสมควร
ไหนชื่ออะไรกันบ้าง เผื่อวันหลังเจอกันจะได้ทักทายได้ถูกต้อง
ผมชื่อสฤษดิ์ครับ
เป็นครูใหญ่
ผมชื่อบุญมี
อีกคนชื่ออรุณ เป็นครูน้อย มาเป็นเพื่อนครูใหญ่ครับ ครูบุญมีพูดเป็นครั้งแรก
ส่วนครูอรุณยังไม่ยอมพูด
อ้อ...
มาเป็นเพื่อนเท่านั้นหรอกหรือ อาตมานึกว่าตั้งใจมาปฏิบัติ ที่แท้ก็มาเป็นเพื่อน แต่เอาเถอะไหน
ๆ ก็ชื่อว่าได้มาแล้ว ตั้งใจปฏิบัติให้เต็มที่ก็แล้วกัน
เดี๋ยวสมชายพาแขกไปทานอาหารด้วยนะ
ประโยคหลังท่านพูดกับลูกศิษย์วัด
แล้วหันมาบอกคนเป็นครูใหญ่ว่า ตามเด็กวัดไป
ทานข้าวทานปลาให้อิ่มหนำสำราญเสียก่อน แล้วค่อยปฏิบัติ มีปัญหาอะไรก็มาถามอาตมาได้ทุกเวลา
คนทั้งสามกราบท่านแล้วจึงลุกตามเด็กวัดออกไป
คนเป็นครูใหญ่เดินนำหน้า
นี่บัวเฮียว
เธอจำไว้นะ คนที่เดินออกหน้าจะต้องถูกรางวัลที่หนึ่ง เชื่อฉันไหมล่ะ
หลวงพ่อทราบได้อย่างไรครับ
ก็ เห็นหนอ บอก คอยดูก็แล้วกัน
เขาจะต้องกลับมาที่วัดนี้อีกภายในเจ็ดวันนับแต่วันกลับไป
แล้วหลวงพ่อจะบอกเขาก่อนไหมครับว่า
เขาจะถูกรางวัลที่หนึ่ง
บอกไม่ได้ซี
เดี๋ยวก็ไม่เป็นอันปฏิบัติ
หลวงพ่อครับ
แล้วผมจะได้ เห็นหนอ อย่างหลวงพ่อไหมครับ ถามอย่างสนใจ
ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย
ถ้าเธอหมั่นประกอบความเพียรอย่างสม่ำเสมอ ก็พอจะมีทาง
ท่านตอบแบ่งรับแบ่งสู้
นอกจากหลวงพ่อแล้วมีคนอื่นได้อีกไหมครับ
มีหลายคนเหมือนกัน
มันไม่ยากอะไรนี่ อย่างคุณนานลำไยแกก็ได้ ขนาดแกอ่านหนังสือไม่ออก
เดินจงกรมนั่งสมาธิก็ไม่เป็น แต่แกมีความเพียรดี เรื่องมันยาว
ถ้าอยากรู้วันหลังจะเล่าให้ฟัง อย่าลืมว่าจุดประสงค์สำคัญที่เธอมาที่นี่ก็เพื่อมาแก้กรรม
ส่วนอย่างอื่นถือว่าเป็นผลพลอยได้ เอาละ ไปได้แล้วเดี๋ยวคนอื่นเขาจะรอ
สิบเอ็ดโมงกว่าแล้ว
รับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ชายทั้งสามจึงตามเด็กวัดไปยังศาลา พวกเขามีกระเป๋าเดินทางใบเล็กมาคนละใบ
เด็กหนุ่มนำเครื่องนอนมาแจกให้คนละชุดแล้วจึงลงมา
ปล่อยให้เขาได้พักผ่อนกันตามลำพัง ครูสฤษดิ์เตรียมตัวเดินจงกรม
ขณะที่ครูบุญมีและครูอรุณ จัดแจงปูเสื่อพร้อมกับพูดออกตัวว่า
ของีบเอาแรงสักพัก
ครูใหญ่ปฏิบัติไปคนเดียวก่อนนะครับ
คนเป็นครูใหญ่จึงพูดขึ้นด้วยเสียงปกติว่า
คุณจะนอนกันผมก็ไม่ว่าอะไรหรอกนะ
เท่าที่อุตส่าห์มาเป็นเพื่อนผมก็ดีถมไปแล้ว แต่คุณจะไม่ลองดูสักหน่อยหรือ
ว่าที่นี่มีดีอะไรคนถึงพากันหลั่งไหลมาจนกุฏิไม่พอให้พัก เวลานอนเรายังมีอีกมาก
น่าจะตักตวงวิชาความรู้เอาไว้ ไหน ๆ ก็เสียเวลามาแล้ว
พูดจบก็เริ่มเดินจงกรมอย่างขะมักเขม้น
ครูน้อยสองคนมองตากันแล้วต่างก็ได้คิด จึงพากันลุกขึ้นเดินจงกรมบ้าง
ช่วงเวลานั้น
หากใครมองขึ้นไปบนศาลา ก็จะเห็นคนสามคนกำลังเดิน ขวา ย่าง หนอ ซ้าย ย่าง หนอ อยู่อย่างเพลิดเพลินตั้งแต่เที่ยงไปจนถึงหกโมงเย็นโดยมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย
ท่านพระครูใช้ เห็นหนอ
ตรวจสอบดูก็รู้ว่าพวกเขา รื่นเริงในธรรม เสียจนไม่สามารถกำหนดนั่งได้
จึงเดินไปยังศาลาเพื่ออนุเคราะห์ คนทั้งสามเห็นเจ้าอาวาสเดินขึ้นมาก็รู้สึกตัว
รีบนั่งลงกราบท่านพร้อมกันราวกับนัด
ไงโยม
เดินกันตั้งหกชั่วโมงไม่รู้สึกเมื่อยกันบ้างหรือ
หกชั่วโมงเชียวหรือครับ
ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน รู้แต่ว่ามันเพลินจนลืมกำหนดนั่ง นี่ถ้าหลวงพ่อไม่ขึ้นมา
สงสัยพวกผมคงเดินกันจนถึงเช้า
คนเป็นครูใหญ่พูด
แน่นอน
แบบนี้เขาเรียกว่า รื่นเริงในธรรม
แล้วดีไหมครับ
ครูอรุณเพิ่งจะพูดเป็นครั้งแรก
ไม่ดีแน่ เพราะสมาธิกับวิริยะมีมากจนสติตามไม่ทัน
การปฏิบัติธรรมที่จะได้ผลดีจะต้องให้ สมาธิ วิริยะ และสติ สมดุลกัน
ไม่ให้อันหนึ่งอันใดล้ำหน้าอันอื่น เอาละ ทีนี้ก็กำหนดนั่ง
ให้นั่งคนละหนึ่งชั่วโมง เสร็จแล้วอาบน้ำอาบท่าให้เรียบร้อย
สองทุ่มไปหาอาตมาที่กุฏิ
คนทั้งสามก้มลงกราบท่านสามครั้ง
แล้วจึงกำหนดนั่งสมาธิ ท่านพระครูนั่งอยู่อีกครู่หนึ่ง
เห็นเขาปฏิบัติกันถูกต้องดีแล้ว จึงเดินกลับกุฏิของท่าน
เมื่อพระบัวเฮียวมาสอบอารมณ์ที่กุฏิของพระอุปัชฌาย์
ก็พบว่าครูทั้งสามคนนั่งคุยกับท่านพระครูอยู่ก่อนแล้ว พวกเขาทำความเคารพเมื่อท่านไปถึง
แล้วเจ้าอาวาสก็ถามคนเป็นครูใหญ่ขึ้นว่า
มีอาการอย่างไรบ้าง
กำหนด พอง
ยุบ
ชัดไหม
ชัดครับ
แต่รู้สึกอึดอัด มีลมอัดอยู่ในท้องมากจนทำให้ปั่นป่วน ครูใหญ่รายงาน
แล้วโยมทำยังไง
ก็ปล่อยให้มันออกมาโดยวิธีธรรมชาติครับ
กำหนดหรือเปล่า
กำหนดครับ ผมก็กำหนดไปตามจริง
เสียงหนอ บ้าง กลิ่นหนอ บ้าง
ครูใหญ่ตอบอย่างฉะฉาน
แล้วโยมล่ะ ท่านหันไปถามครูบุญมี
เหมือนครูใหญ่ครับ ครูบุญมีตอบ
ท่านจึงหันไปทางครูอรุณ ผมนั่งหลับน้ำลายไหลยืดเลยครับ ครูอรุณตอบ คนอื่น ๆ
พากันหัวเราะ รวมทั้งท่านพระครูและพระบัวเฮียว
ที่เจ้าอาวาสสอบอารมณ์คนทั้งสามต่อหน้าพระบัวเฮียว
ก็เพื่อต้องการสอนพระบวชใหม่ทางอ้อม ท่านมองหน้าผู้เป็นศิษย์เหมือนจะพูดว่า เห็นไหมบัวเฮียว
คนอื่น ๆ เขาไม่เห็นเรื่องมากอย่างเธอเลย
ชะรอยพระบวชใหม่จะเดาความคิดของท่านออก
จึงแอบเถียงในใจว่า โธ่ หลวงพ่อครับ ก็พวกเขาเป็นครู ผมมันแค่ ป.๔
จะให้เก่งกาจเท่าเขาได้ยังไง
พระอุปัชฌาย์นึกขำที่คนเป็นลูกศิษย์ชักจะอ่านความคิดของท่านออก จึงสัพยอกขึ้นว่า
รู้สึกว่าเธอจะได้ เห็นหนอ แล้วนะบัวเฮียว
มีต่อ.....๕