สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00007

 

๗...

          ลูกศิษย์วัดนำรัฐมนตรีและคณะไปยังโรงครัว ซึ่งอุบาสกอุบาสิกากำลังนั่งรับประทานอาหารกันเป็นโต๊ะ ๆ ละประมาณ ๑๐ คน

                พวกเขาพากันมานั่งกรรมฐาน โดยมาส่วนตัวบ้าง มาเป็นคณะบ้าง บางคนก็มาเข้าสามวัน เจ็ดวัน บางคนก็มาอยู่เป็นเดือน และก็มีไม่น้อยที่ตั้งใจมาอยู่ ๗ วัน แต่พอครบกำหนดแล้วก็ไม่ยอมกลับ เพราะซาบซึ้งในรสพระธรรม ร้อนถึงสามีหรือภรรยาต้องมาอ้อนวอนขอให้กลับไปช่วยกันเลี้ยงลูก

            ส่วนประเภทที่มาแล้วอยู่ไม่ได้เพราะไม่ถูกชะตากับ พอง – หนอ ยุบ – หนอ ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไปก็พอมีบ้าง แต่พวกที่มาแล้วไม่ยอมกลับนั้นมีมากกว่า

            รสชาติของอาหารมื้อนั้น ช่างอร่อยถูกปากคุณหญิงเสียนัก แม้จะเป็นอาหารพื้น ๆ ที่ดูแล้วไม่เชิญชวนให้รับประทาน แต่เมื่อได้ลิ้มลองเข้าไปแล้ว จึงรู้ว่าฝีมือระดับนี้ หาตัวจับยาก

            “แกงหน่อไม้อร่อยจัง ก่อนแกงต้องเอาหน่อไม่มาต้มก่อนหรือเปล่าจ๊ะ” คุณหญิงถามแม่ครัว

            “ไม่ใช่หน่อไม้หรอกค่ะคุณ นั่นแกงยอดมะพร้าวค่ะ ดูแล้วเหมือนหน่อไม้ รสชาติก็คล้าย ๆ กัน ใคร ๆ ก็คิดว่าเป็นหน่อไม้” แม่ครัวไม่รู้ว่าคนที่ตนกำลังพูดด้วยเป็นคุณหญิง นายตำรวจผู้ทำหน้าที่หิ้วกระเป๋าถือราคาแพงจึงต้องบอกว่า “ป้า นี่คุณหญิงนะป้า”

            “ขอโทษเจ้าค่ะคุณหญิง อีฉันไม่ทราบจริง ๆ อย่าถือสาคนบ้านนอกคอกนาเลยนะเจ้าค่ะ” แม่ครัวพูดพร้อมกับยกมือไหว้ประหลก ๆ

            “ไม่เป็นไรจ้ะ แหมกับข้าวอร่อยทุกอย่างเลย ปลาเกลือทอด เค็มกำลังพอดี แกงส้มผักกาดดองก็รสกลมกล่อม ใส่ผงชูรสหรือเปล่าจ๊ะ”

            “ไม่ได้ใส่เจ้าค่ะ หลวงพ่อท่านให้ใส่สติแทน บอกว่าผงชูรสก็สู้ไม่ได้”

            “เป็นยังไงจ๊ะ ใส่สติ” คุณหญิงไม่เข้าใจ

            “คือท่านให้แม่ครัวเข้ากรรมฐานเจริญสติปัฏฐาน ๔ คนละเจ็ดวัน เวลาทำกับข้าว ก็ให้กำหนดสติเจ้าค่ะ” ถึงตอนนี้ คุณหญิงไม่ค่อยเข้าใจ ได้ยิน “สติปัฏฐาน ๔” เป็นครั้งที่สองแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าคืออะไร อิ่มข้าวแล้วจะต้องไปเรียนถามท่านพระครูสักหน่อย เรื่องอะไร จะต้องมาถามแม่ครัวให้เสียชื่อคุณหญิงท่านรัฐมนตรี

            “คนมากจริง นี่ค่ากับข้าววันหนึ่ง ๆ คงตกหลายพันบาทซีนะ” คุณหญิงพูดพลาง หันไปมองโต๊ะอื่น ๆ ที่คนนุ่งขาวห่มขาวทั้งชายหญิงกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่

            “เจ้าค่ะ แล้วแต่แขกมากแขกน้อย ก็เลี้ยงคนทั้งวัดนี่เจ้าคะ บางวันมีคนถึงห้าร้อย คากับข้าวก็ตกสามพันบาท เฉลี่ยหัวละหกบาทต่อวัน นี่ขนาดวันละสองมื้อนะเจ้าคะ หลวงพ่อท่านให้ถือศีลแปดทุกคน”

            “แล้ววัดเอาเงินที่ไหนมาจ่ายล่ะจ๊ะ”

            “ก็มีคนมาบริจาคเรื่อย ๆ เจ้าค่ะ แต่ถ้าไม่มีจริง ๆ หลวงพ่อท่านก็...

            “ก็ทำไมจ๊ะ” คนเป็นคุณหญิงอยากรู้ แม่ครัวค้อมตัวลง เอามือป้องปากกระซิบว่า “หลวงพ่อท่านก็เชื่อเขามาเจ้าค่ะ พอมีเงิน ท่านก็เอาไปใช้เขา”

            “ตายจริง แล้วพวกที่มาอยู่วัดหลาย ๆ วัน ทางวัดไม่เก็บเงินเขาหรือ”

            “ไม่เก็บเจ้าค่ะ หลวงพ่อท่านไม่ให้เก็บ ท่านบอกว่า เขามาสร้างฟามดี เราต้องสนับสนุนเขา แต่ว่าบางคนเขาก็ทำบุญให้วัดบ้างเหมือนกัน ก็พลอยได้ประสมประเสกันไป ว่าก็ว่าเถอะนะคะคุณหญิง คนสมัยนี้ จะทำฟามดีทั้งที ก็ต้องให้จ้างกัน” แม่ครัวออกเสียง “ความ” เป็น “ฟาม”

            นายตำรวจที่ติดตามรัฐมนตรีแอบสังเกตว่า คณะอุบาสกอุบาสิกาที่มาบำเพ็ญศีลภาวนา ต่างพากันรับประทานอย่างสงบเสงี่ยม ไม่มีเสียงพูดคุยกันเลย พวกเขาซึ่งคุยกันเสียงดังเมื่อตอนเดินเข้ามา จึงต้องหยุดไปโดยปริยาย

            อีกประการหนึ่ง รสชาติของอาหารซึ่งแม้จะมีเพียงสามอย่างหากก็อร่อยถูกปากไปเสียทุกอย่าง ทำไมปากไม่ว่างพอที่จะคุยได้

            เสร็จจากอาหารคาว ก็เป็นอาหารหวาน ซึ่งมีเพียงอย่างเดียว คือ ข้าวเม่าพล่ารสเลิศ ที่ว่ารสเลิศเพราะหวาน มัน เค็ม พอดิบพอดี คุณหญิงมีอันต้องเรียกแม่ครัวคนเดิมมาถามอีกว่า

            “ป้าจ๊ะ ข้าวเม่าพล่าอร่อยจัง ทำยังไงจ๊ะ ฉันจะได้ไปบอกแม่ครัวที่บ้านให้ทำบ้าง” แม่ครัวหน้าบานอีกครั้ง สาธยายว่า ทำไม่ยากหรอกเจ้าค่ะคุณหญิง แต่ถ้าจะให้อร่อย มันต้ออาศัยแท้คติก”

            “อะไรจ๊ะ แท้คติค” คุณหญิง “เป็นงง”

            “เป็นภาษาฝาหรั่งน่ะเจ้าค่ะ คุณหญิงไม่เคยได้ยินหรือเจ้าคะ หล่อนออกเสียง ฝรั่ง ไม่ได้ เลยเป็น “ฝาหรั่ง” ไป

            “ไหน ลองสะกดให้ฟังหน่อยซิ มีตัวอะไรบ้าง เผื่อฉันจะรู้จัก”

            “โอ๊ย ไม่ได้หรอกเจ้าค่ะ อีฉันไม่ได้เรียนหนังสือ อย่าว่าแต่ภาษาฝาหรั่งเลย ภาษาไทยก็ยังไม่กระดิกหู”

            “อ้าว แล้วทำไมใช้คำภาษาฝรั่งได้ล่ะจะ”

            “อีฉันจำเขามาเจ้าค่ะ” แม่ครัวสารภาพ

            “สงสัยคงจะเป็น “เทคนิค” มั้งป้า” คนเป็นรัฐมนตรีท้วง

            “เออ เออ ใช่ ใช่ ค่ะ” แกหันไปพยักพเยิดกับรัฐมนตรี แล้วจึงหันไปพูดกับคุณหญิงว่า “มันต้องอาศัยเทคนิคเจ้าค่ะ คุณหญิง”

            “เทคนิคอะไรบ้าง ป้าบอกหน่อยได้ไหม”

            “อุ๊ย ทำไมจะไม่ได้ล่ะเจ้าคะ เทคนิคขั้นแรกก็คือ การเลือกข้าวเม่าที่จะนำมาพล่านั้น ต้องเลือกชนิดนิ่ม ๆ วิธีที่จะได้ข้าวเม่านิ่ม ๆ ก็ต้องอาศัยเทคนิคอีกเหมือนกัน คือข้าวที่จะเอามาคั่วนั้น จะต้องเกี่ยวมาตอนมันสด ๆ ที่เม็ดยังไม่ทันเหลือง แต่ถ้าเขียวเกินไปก็แสดงว่า ยังเป็นน้ำนมอยู่ ใช้ไม่ได้ ต้องให้สีอมเขียวอมเหลือง ถึงจะกำลังดี

            เสร็จแล้ว ก็เอามานวด ให้เหลือแต่เม็ด แล้วคั่ว คั่วเสร็จ ก็ใส่ครกตำทั้งที่ยังร้อน ๆ อย่าปล่อยให้เย็น เพราะข้าวเม่าที่ได้จะแข็ง ต้องตำร้อน ๆ ถึงจะนิ่ม เห็นมั๊ยคะว่าเวลาตำก็ต้องใช้เทคนิค พอตำเสร็จ ก็เอามาฝัดอย่างมีเทคนิค คือต้องเก็บกากออกให้หมด”

            “แหม เทคนิคแยะจังนะป้านะ” รัฐมนตรีขัดขึ้น

            “เจ้าค่ะ ไม่งั้นก็ไม่อร่อยซะเจ้าคะ”

            “จ้ะ ๆ แล้วยังไงอีกจ๊ะ” คุณหญิงอยากรู้

            “เมื่อฝัดเสร็จ ก็เอาเกลือมาละลายกับน้ำฝนที่อบด้วยดอกมะลิ ชิมพอให้เค็มปะแล่ม ๆ อย่าให้เค็มหรือจืดเกิน เสร็จแล้ว จึงเอาน้ำเกลือพรมข้าวเม่าให้ทั่ว เวลาพรมต้องใช้เทคนิคนะเจ้าคะ คือพรมให้พอหมาด ๆ ถ้าแฉะเกินไป ข้าวเม่าจะติดกันเป็นก้อน ถ้าพรมน้อยเกินไป ข้าวเม่าก็จะนิ่มไม่เสมอกัน

            เมื่อพรมน้ำเกลือทั่วแล้ว ก็หากาละมัง หรือ ฝาหม้อมาครอบหมักเอาไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง ระหว่างที่รอก็เอามะพร้าวมาขูด มะพร้าวก็ต้องเลือกที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป เวลาขูดก็ต้องใช้กระต่ายขูด ไม่ใช้เครื่องเพราะจะทำให้บูดเร็ว แล้วก็ไม่ต้องขูดให้ถึงก้นกะลา เดี๋ยวจะดูดำไม่น่ากิน

            เสร็จแล้ว จึงเอาไปคลุกกับข้าวเม่าที่หมักไว้ คลุกให้ทั่ว ๆ นะเจ้าคะ เวลาจะรับทาน ก็เอาน้ำตาลโรงหน้า บางคนก็นิยมรับทานกับกล้วยไข่ ไม่มีกล้วยไข่ จะใช้กล้วยน้ำว้าแทนก็พอได้

            อ้อ...น้ำตาลที่จะใช้ก็ต้องมีเทคนิคนะเจ้าคะ คือต้องเลือกชนิดที่เม็ดเล็ก ๆ ถ้าเม็ดใหญ่ต้องนำมาป่นเสียก่อน เวลาป่นต้องใช้ครกที่สะอาด เพราะหากมีกลิ่นพริกหรือกลิ่นกระเทียมปน มันก็เสียฟามอร่อยได้เจ้าค่ะ” สาธยายจบก็หอบฮั่ก ๆ เพราะเสียงที่ใช้ดังเกินพิกัดไปหน่อย

            “ขอบใจจ้ะป้า นี่ได้ความรู้อีกแยะเลย” พูดพลางยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม เพิ่งจะสังเกตว่า แม้แต่น้ำก็ยังอร่อย จึงออกปากชมว่า

            “น้ำนี่ดื่มแล้วชื่นใจจัง น้ำฝนหรือจ๊ะป้า”

            “เจ้าค่ะ หลวงพ่อท่านให้รองไว้ในแท้งค์ การรองน้ำฝนก็ต้องมีเทคนิคนะเจ้าคะ” คนเทคนิคมากอธิบายเห็นคนฟังไม่ซัก จึงพูดต่อไปว่า “คือตกหนแรกหนสอง อย่าเพิ่งไปรอง เพราะฝุ่นละอองยังไม่หมด ต้องหนสามหนสี่ถึงจะใช้ได้”

            ดังนั้น นอกจากจะอิ่มท้องแล้ว คุณหญิงยังได้เทคนิคการทำข้าวเม่าพล่าเป็นของแถมอีกด้วย อารมณ์เธอจึงดีขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ขัดข้องที่สามีจะกลับไปคุยกับท่านพระครูอีก เธอเองก็เริ่มจะสนใจ ท่านพระครูมีอะไร ๆ ที่พิเศษไปกว่าพระที่เธอเคยรู้จัก

            หลังอาหารเพล คณะของครูสฤษดิ์กลับไปปฏิบัติต่อยังศาลาที่พัก เวลาสองทุ่มท่านพระครูนัดให้ไปสอบอารมณ์และจะสอนเดินจงกรมระยะที่สี่ให้ วันพรุ่งนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ท่านก็จะสอนเดินระยะที่ห้าและที่หก พวกเขาจะรู้จักวิธีเดินจงกรมทั้งหกระยะภายในสามวัน ท่านพระครูท่านยืดหยุ่นได้เสมอ กระนั้นท่านก็ต้องดูพื้นฐานและความสนใจของผู้เรียนด้วยว่า จะรับไหวหรือไม่

            รับประทานอาหารกันเป็นที่อิ่มหนำสำราญแล้ว รัฐมนตรีนำคณะของตนกลับมายังกุฏิเจ้าอาวาสอีกครั้ง ท่านพระครูรู้ว่า วันนี้จะต้องเล่าเรื่องคุณนายลำไย จึงให้ลูกศิษย์วัดไปตามพระบัวเฮียวมาฟังด้วย

            “พระคุณเจ้าไม่รู้สึกหิวหรือครับ” นายตำรวจถาม เพราะตัวเขาแม้จะรับประทานวันละสามมื้อ ก็ยังต้องหาอะไรรองท้องแทบทุกครั้งก่อนเข้านอน

            “ไม่หิว อาตมาชินแล้ว สมัยเดินธุดงค์ในป่าดงพระยาเย็น เคยอดเจ็ดวันเจ็ดคืนติด ๆ กัน ยังอยู่ได้” ท่านพระครูตอบ

            “พระคุณเจ้าคะ ดิฉัน เอ้อ...สงสัยจังค่ะว่า พระคุณเจ้ารู้ได้อย่างไรว่าคนนี้คิดอะไร หรือมีความเป็นมาอย่างไร” คุณหญิงถามขึ้น

            “อาตมาก็ใช้ “เห็นหนอ” น่ะซี คุณหญิงสนใจไหมเล่า”

            “สนใจค่ะ ทำยังไงคะ”

            “ไม่ยากหรอกคุณหญิง วิธีง่าย ๆ ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่ต้องทำจริง ๆ ทำไม่จริงก็ไม่ได้ วิธีที่ว่าก็คือให้เจริญสติปัฏฐาน ๔ พอสติดีถึงขึ้น “เห็นหนอ” ก็เกิดเอง อย่าลืมว่า “เห็นหนอ” นี่มีค่ามหาศาลทีเดียว ใช้ดูกฎแห่งกรรมได้ชัดแจ๋วเลย

            ดิฉันขอเรียนวิชาที่ว่านี้ได้ไหมคะ หรือว่าผู้หญิงเรียนไม่ได้”

            “ทำไมจะไม่ได้ ผู้หญิงผู้ชายเรียนได้ทั้งนั้น ขอให้มีจิตกับกายก็แล้วกัน ถ้าคุณหญิงอยากเรียน ต้องมาเข้าชั้นเรียนที่วัดนี้อย่างน้อยเจ็ดวัน แล้วกลับไปฝึกต่อที่บ้านจนกว่าจะได้ อาตมาจะเล่าเรื่องคนที่ได้ “เห็นหนอ” ให้ฟัง อยากฟังไหมเล่า”

            “อยากฟังครับ” “อยากฟังค่ะ” ทุกคนตอบขึ้นพร้อมกัน

            “เอาละ อยากฟังก็จะเล่าให้ฟัง คุณนายลำไยแกเป็นเมียครูวงษ์ บ้านอยู่อ่างทอง ครูวงษ์เป็นครูประชาบาลจังหวัดอ่างทอง สอนวิชาศีลธรรม แต่กินเหล้าเมาทุกวัน นอกจากกินเหล้าแล้ว ยังเจ้าชู้อีกด้วย ส่วนคุณนายลำไยก็ปากจัด ด่าไฟแลบเลย แกอ่านหนังสือไม่ออก เพราะไม่เคยเรียน

            วันหนึ่ง แกมาหาอาตมา มาฟ้องเรื่องผัวเจ้าชู้ อาตมากับครูวงษ์รู้จักกันดี แกมาที่วัดนี้บ่อย ๆ พอคุณนายลำไยมาฟ้อง อาตมาเลยบอกแกว่า ถ้าอยากให้ผัวเลิกเจ้าชู้ ต้องมาเข้ากรรมฐานที่วัดเจ็ดวัน คุณนายลำไยก็มา อาตมาก็สอนให้แกเจริญสติปัฏฐาน ๔ ปรากฏว่า แกทำไม่ได้เลย เดินจงกรมก็ไม่ได้ ขวาย่างเป็นซ้ายย่าง ซ้ายย่างเป็นขวาย่าง เพราะแกไม่รู้กระทั่งว่าข้างไหนเท้าซ้าย ข้างไหนเท้าขวา

            อาตมาก็ลองให้แก่นั่งสมาธิด้วย การกำหนดว่า “พอง – หนอ  ยุบ – หนอ” แกก็ว่า ทำได้สบายมาก แล้วแกก็นั่งขัดสมาธิ ปากก็ว่า “พอง – หนอ  ยุบ – หนอ  พอง – หนอ  ยุบ – หนอ” ว่าเสียงดังเชียว แต่พออาตามาถามว่า พองท้องเป็นยังไง ยุบท้องเป็นยังไง แกก็ไม่รู้เรื่อง อาตมาก็จนปัญญา จึงถามแกว่าท่องพุทธคุณได้ไหม แกก็ว่าไม่ได้อีก เลยบอกให้แกกลับบ้าน วันรุ่งขึ้นให้มาใหม่ เอาลูกมาด้วยคนหนึ่ง แกก็กลับไป

            รุ่งขึ้น ก็มากับลูกชายคนหนึ่งเป็นหนุ่มแล้ว อาตมาก็ให้ลูกแกจดบทสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และพาหุงมหากาฯ แล้วบอกไปสอนให้แม่ท่อง ท่องได้แล้วให้มาหา ลูกแกก็ไปสอนแม่ท่องวันละตัวสองตัว หายไปเดือนนึง แกก็กลับมา มาท่องให้อาตมาฟังได้อย่างถูกต้องคล่องแคล่ว อาตมาก็บอกว่าดีแล้ว

            ทีนี้ เวลาไหว้พระสวดมนต์ให้ท่องพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และพาหุงมหากาฯ หนึ่งจบ แล้วท่องพุทธคุณอย่างเดียวเท่าอายุบวกหนึ่ง อายุแก ๕๒ ก็ให้ท่องวันละ ๕๓ แรก ๆ แกใช้นับเม็ดมะขามเวลาท่อง พอสติดีขึ้น ก็จำได้ไม่ต้องนับเม็ดมะขาม พอดีขึ้นอีก แกบอกแกท่องได้วันละ ๑๐๘ จบโดยไม่ต้องนับเม็ดมะขาม เพราะสติมันบอกเอง รู้เอง เหมือนกับที่เราตั้งนาฬิกาปลุกไว้จับเวลาตอนนั่งสมาธิ พอสติดี รู้เอง ไม่ต้องใช้นาฬิกา

            เมื่อสติดีขึ้น ๆ แกก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยอัตโนมัติ คือ แกมีอาชีพเลี้ยงหมูเลี้ยงวัวส่งขายโรงฆ่าสัตว์ แกก็เลิก เพราะสติมันบอกว่าเป็นมิจฉาอาชีวะ ที่เคยด่าเป็นไฟแลบก็เลิก

            ต่อมา แกก็เดินจงกรมนั่งสมาธิเป็น โดยไม่ต้องมีใครบอกใครสอน มันเป็นเองโดยอัตโนมัติ เพราะสติดีถึงขั้น แกเดินจงกรมวันละสองชั่วโมง นั่งสมาธิวันละสองชั่วโมง ทำอย่างนี้เป็นประจำทุกวัน อย่าลืม พอสติดีเสียอย่าง อะไร ๆ มันก็ดีหมด”

            ท่านพระครูเน้น แล้วจึงเล่าต่อไปว่า

            “วันหนึ่ง ครูวงษ์ ผัวแกโกหกว่า จะไปเก็บค่าเช่านาที่ชัยนาท แต่ที่แท้ไปหาเมียน้อย ซึ่งเป็นแม่หม้ายอยู่ที่ปากน้ำโพ หายไป ๔ วัน ขากลับให้เงินแม่หม้ายไว้สามร้อย คุณนายลำไยแกอยากจะรู้ว่าผัวไปไหน แกก็ไหว้พระสวดมนต์ แล้วเดินจงกรม นั่งสมาธิอย่างละสองชั่วโมง

            ขณะที่จิตเป็นสมาธิ แกก็อธิษฐานว่า ขอให้แกได้ตาทิพย์ แกอยากจะรู้ว่านายวงษ์ไปทำอะไร อยู่ที่ไหน อธิษฐานจิตเสร็จ แกก็กำหนด “เห็นหนอ เห็นหนอ” แล้วแกก็เห็นหมดว่า ผัวไปทำอะไรที่ไหน คุณหญิงว่าดีไหม เรียน “เห็นหนอ” ไว้คอยตรวจดูว่าท่านรัฐมนตรีไปไหน” ท่านพระครูถามคุณหญิง

            “ดีค่ะ ดิฉันสงสัยอยู่บ่อย ๆ เหมือนกันว่า ที่เขากลับบ้านดึกดื่นอยู่บ่อย ๆ นั้น แอบไปจุ๋งจิ๋งกับอีหนูบ้างหรือเปล่า” คุณหญิงได้ทีเลยขี่แพะไล่เสีย

            “ผมไม่มีหรอกครับพระคุณเจ้า คุณหญิงตามแจไม่ยอมให้คลาดสายตาออกอย่างนี้” คนเป็นรัฐมนตรีกล่าวแก้ เลยถูกภรรยาขว้างค้อนเข้าให้

            “เอาละ มาฟังเรื่องคุณนายลำไยกันต่อ เป็นอันว่าแกรู้หมด เพราะ “เห็นหนอ” บอก เมื่อครูวงษ์กลับมา แกก็ชี้หน้า แต่ไม่ด่าเพราะเลิกด่าแล้ว ถ้าเป็นเมื่อก่อนละก็ด่าแหลกเลย เดี๋ยวนี้แกไม่ด่า แต่ก็เท้าสะเอวชี้หน้า

            “แกไปไหนมา”

            “ครูวงษ์ตอบว่า “อ้าว ก็ไปเก็บค่าเช่านาที่ชัยนาทไง”

            “แล้วที่ไหนล่ะค่าเช่า” ครูวงษ์ก็ตอบอึก ๆ อัก ๆ ว่า

            “เขา...เอ้อ...เขาขอผลัดไปเดือนหน้า”

            คราวนี้คุณนายลำไยก็เลยสั่งสอนผัวเสียเลยว่า

            “ตาวงษ์ แกน่ะเป็นครูสอนศีลธรรมเสียเปล่า แต่ตัวแกไม่มีศีลธรรมเอาเสียเลย ทั้งขี้เหล้าเมายา เจ้าชู้ประตูดิน หมูหมาเกี้ยวสิ้นไม่เลือกหน้า แถมยังโกหกพกลมอีก ข้ารู้นะ แกไม่ได้ไปเก็บค่าเช่านา แต่แกไปหาเมียน้อยที่ปากน้ำโพ ให้เงินมันไปสามร้อย จริงไหม”

          ครูวงษ์ก็นึกในใจว่า “เอ...เมียเรารู้ได้ยังไงนะ สงสัยท่านพระครูวัดป่ามะม่วงบอกมา พรุ่งนี้จะต้องไปต่อว่าสักหน่อย”

            นี่ ครูวงษ์คิดอย่างนี้ หนอยแน่ะมาโทษอาตมาได้” ท่านพระครูพูดขัน ๆ

            “พอครูวงษ์คิดจะมาต่อว่าอาตมา คุณนายลำไยก็รู้เสียอีก เลยดุเอาว่า “นี่แกไม่ต้องไปโทษหลวงพ่อนะ ท่านไม่ได้บอกข้า ข้ารู้เอง” ครูวงษ์ก็ไม่เชื่อ รุ่งเช้าก็มาถามอาตมา อาตมาก็ปฏิเสธ ผลสุดท้าย ครูวงษ์ต้องยอมจำนน เลิกกินเหล้า เลิกเจ้าชู้ หันมาถือศีลกินเพล เลยกลายเป็นคนดีไปเลย ท่านรัฐมนตรีเห็นด้วยหรือยังว่า “เห็นหนอ” นั้นมีค่ามหาศาลทีเดียว”

            “เห็นด้วยครับ”

            “ดี เห็นด้วยน่ะดีแล้ว จะได้เล่าต่อ ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร” แล้วท่านจึงเล่าต่อไปว่า

            “ในกาลต่อมา คุณนายลำไยก็ป่วยเป็นมะเร็งที่ลำไส้ หมอบอกว่า แกจะต้องตายภายในหนึ่งเดือน รักษาไม่ได้เพราะเป็นมาก อาเจียนและถ่ายเป็นเลือด แกก็มานอนป่วยที่บ้าน นอนเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพราะเดินไม่ไหว นั่งไม่ไหว แกนอนกำหนด “ปวดหนอ ๆ” เพราะมะเร็งนี่ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ก็ปวดทั้งนั้น

            คุณนายลำไยแกก็ใช้สติสู้กับทุกขเวทนา แกตั้งสติอธิษฐานจิตว่า ยังไม่อยากตาย เป็นห่วงลูก ขอให้ลูกเรียนจบได้งานการทำก่อนค่อยตาย ที่บ้านแกมีผึ้งหลวงมาอาศัยทำรังอยู่บนหลังคา รังใหญ่เท่ากระด้ง

            วันหนึ่ง ลูก ๆ ห้าคนก็มากันพร้อมหน้า แกก็บอกลูกว่า “ลูกดูนะ แม่จะแผ่เมตตาให้ผึ้ง และบอกให้เขามาช่วยดูดพิษมะเร็งให้แม่” แล้วแกก็หลับตา สักพักก็ลืมตาพูดดัง ๆ ว่า “ผึ้งจ๋า ช่วยข้าหน่อย ข้าปวดเหลือเกิน ช่วยมาดูดพิษมะเร็งออกให้ข้าด้วย” พอแกพูดจบ ผึ้งก็บินมาฝูงหนึ่ง มาเกาะที่ท้องแก ช่วยดูดพิษให้ ดูดเสร็จก็ร่วงลงมาตายเกลื่อนพื้นเลย

            วันต่อมา ก็มีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยเข้ามา ขณะที่แกนอนอยู่บนแคร่ใต้ถุนบ้าน ลูก ๆ แกนึกว่าจะมากัดแม่ก็เตรียมจะฆ่า แต่แกห้ามไม่ให้ฆ่า แกแผ่เมตตาให้งูแล้วพูดว่า “งูเอ๋ย ช่วยมาดูดพิษมะเร็งให้ข้าหน่อย” งูตัวนั้นก็เลื้อยมาบนท้องแก ทำท่าเหมือนกัด ที่แท้ไม่ได้กัด แต่ดูดมะเร็งให้

            เสร็จแล้วก็เลื้อยออกไปได้สักสามสี่วา ก็นอนตายอยู่ตรงนั้น ลูก ๆ แกก็เอาไปฝัง เป็นเรื่องอัศจรรย์มาก

            พวกนักข่าวจะมาขอเอาไปลงหนังสือพิมพ์ แต่อาตมาไม่อนุญาต เพราะถ้าคนอ่านเขาเกิดไม่เชื่อก็จะเป็นบาปเป็นกรรมเปล่า ๆ ปรากฏว่า คุณนายลำไยอยู่มาได้อีกสามปี กระทั่งลูก ๆ เรียนจบ เข้าทำงานได้หมด แกก็ตาย นี่ศพยังมาเผาที่วัดนี้” พูดพลางชี้ให้ดูเมรุซึ่งอยู่หลังวัด

            วันเผาศพแกยังแสดงฤทธิ์อีกนะ คือวันนั้น อาตมาไปธุระ กำหนดเขาจะเผาห้าโมงเย็น อาตมามาไม่ทันเขาก็ไม่รอ พอห้าโมงตรงเขาก็จุดไฟ ปรากฏว่าเผาเท่าไหร่ ๆ ก็ไม่ยอมไหม้ ไฟก็ไม่ยอมติด อาตมากลับมาถึงประมาณทุ่มนึง ก็เลยไปจุดไฟ ปรากฏว่าไหม้เรียบร้อย

            อาตมาก็นึกถึงคำพูดของแกตอนก่อนตายว่า “หลวงพ่อต้องเป็นคนจุดไฟนะ ไม่งั้นฉันไม่ยอมไหม้เด็ดขาด” นี่แหละเรื่องของคุณนายลำไย อาตมาเล่าย่อ ๆ นะนี่ ถ้าเล่าละเอียดวันนี้ไม่จบหรอก” ทั้งผู้เล่าและผู้ฟังต่างเงียบกันไปพักหนึ่ง แล้วคุณหญิงจึงถามว่า

            “พระคุณเจ้าคะ สมมุติมีคนด่าพระคุณเจ้า พระคุณเจ้าจะโกรธเขาไหมคะ”

            “โกรธทำไม เขาด่าเขาก็บาปอยู่แล้ว ถ้าอาตมาโกรธ ก็ต้องบาปไปด้วยอีกคนนะซี”

            “แล้วถ้าเขาขอขมาลาโทษ จะยังบาปอยู่ไหมคะ”

            “ถ้าคนถูกด่าเขาอโหสิให้ ก็ไม่บาป แต่กรรมบางอย่างก็อโหสิให้กันไม่ได้ เช่น กรรมที่เป็นครุกรรม หรือที่เรียกว่า อนันตริยกรรม ซึ่งมี ๕ อย่าง คือ มาตุฆาต – ฆ่าแม่   ปิตุฆาต – ฆ่าพ่อ   อรหันตฆาต – ฆ่าพระอรหันต์       โลหิตุปบาท – ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต    และ สังฆเภท – การยุยงสงฆ์ให้แตกกัน

            ห้าอย่างนี้ อโหสิให้กันไม่ได้ เพราะเป็นกรรมหนัก และไม่เปิดโอกาสให้กรรมอื่นมาแทนที่ เหมือนที่พระเทวทัตทำร้ายพระพุทธเจ้า ๆ ไม่ถือโกรธแต่พระเทวทัตก็ต้องตกนรก เพราะทำกรรมหนักไว้ถึงสองอย่างคือ นอกจากทำร้ายพระพุทธเจ้าแล้ว ยังทำสังฆเภทอีกด้วย หรือเหมือนกับที่ลูกฆ่าแม่ แม่อโหสิให้ แต่ลูกก็ต้องตกนรก เพราะเป็นกรรมหนัก อโหสิให้แล้ว ผู้กระทำก็ยังไม่หมดบาป”

            คุณหญิงเกิดกลัวบาปกลัวกรรม เพราะแอบด่าท่านในใจเมื่อตอนเช้า จึงตัดสินใจสารภาพผิด

            “พระคุณเจ้าที่เคารพ ดิฉันแอบด่าพระคุณเจ้าในใจเมื่อตอนเช้า ดิฉันขออโหสิค่ะ” พูดจบก็ก้มลงกราบสามครั้ง

            “อาตมาอโหสิให้คุณหญิงตั้งแต่คุณหญิงด่านั่นแล้ว อย่างไรก็ตาม อาตมาขอชมเชยในความกล้าหาญของคุณหญิง คนที่ทำผิดแล้วยอมรับผิดนั้น หาได้ยาก อาตมาขอชมเชยคุณหญิงด้วยใจจริง” คุณหญิงปลาบปลื้มเสียจนน้ำตาไหล ท่านพระครูจึงชักชวนคุยเรื่องอื่นเสีย

            วันนั้น รัฐมนตรีและคณะออกจากกุฏิท่านพระครูเอาเมื่อตอนพลบค่ำ คุณหญิงถวายเช็คเงินสดแก่ท่านพระครูเป็นค่าอาหารพระเณรและผู้มาเข้ากรรมฐาน จำนวนเงินที่ระบุในเช็คค่อนข้างมาก ซึ่งถ้าหากนำไปซื้อทอง ก็จะได้ทองหนักถึงสิบสองบาทสองสลึง!

 

มีต่อ.......๘