สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

S00011

 

๑๑...

         พระบัวเฮียวมองตามรถเก๋งคนงามที่กำลังเคลื่อนตัวช้า ๆ ออกจากลานวัด มุ่งสู่ถนนสายเอเชีย โดยมีผ่องพรรณทำหน้าที่เป็นคนขับ

         “จ้องตาไม่กระพริบเชียวนะ” เสียงพระอุปัชฌาย์ค่อนขอด

         “โธ่...หลวงพ่อ ก็ผมสงสารเขานี่ครับ” คนเป็นศิษย์ว่า

         “อ้อ...สงสารเลยมองตามตาละห้อยเลย”

         “ไม่สงสารได้ไงล่ะครับหลวงพ่อ ผู้หญิงหน้าตาสวย รวยความรู้ แต่ต้องมามีเวรมีกรรม” พระใหม่พูดจากใจจริง

         “เธอเลือกสงสารแต่คนสวย ๆ งั้นหรือ” ท่านพระครูไม่วายยั่ว

         “ก็ไม่เชิงหรอกครับ หรือว่าหลวงพ่อไม่สงสารเขา”

         “ทำไมจะไม่สงสาร ก็ที่ฉันยอมตรากตรำทำงานจนลืมกินลืมนอนอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะความสงสารหรอกหรือ เธอจำไว้นะบัวเฮียว ว่าทั้งคนทั้งสัตว์ที่เกิดมาในโลกนี้ ล้วนน่าสงสารด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเขามีทุกข์เราพอจะช่วยได้ก็ต้องช่วยไม่ว่าเขาจะเป็นใคร มาจากไหน จะสวยหรือไม่สวยก็ตาม เข้าใจหรือยัง”

         “หมายความว่า เราต้องเป็นกัลยาณมิตรสำหรับทุกคนใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว ต้องอย่างนี้ถึงจะเป็นศากยบุตรขนานแท้ เธอรู้ไหม เสด็จพ่อของพวกเรา ทรงเรียกพระองค์เองว่า เป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย เพราะพระองค์ทรงเมตตาต่อสรรพสัตว์อย่างเสมอหน้ากัน มิได้เลือกที่รักมักที่ชังแต่ประการใด”

            “หลวงพ่อครับ ที่ผมสงสารสองพี่น้องนั้นไม่ได้แปลว่าผมเลือกที่รักมักที่ชังอะไร เพียงแต่ผมคิดว่าคนที่มีบุญแล้วไม่น่าจะต้องมีกรรม” พระบัวเฮียวชี้แจง

         “นั่นเพราะเธอยังไม่เข้าใจความหมายของกรรมอย่างถ่องแท้ ฟังให้ดีนะฉันจะอธิบายให้ฟัง คำว่า กรรม หมายถึง การกระทำที่มีเจตนาเป็นพื้นฐาน ถ้าเจตนาดีกรรมนั้นก็เป็นกรรมดี ถ้าเจตนาชั่วกรรมนั้นก็เป็นกรรมชั่ว ดังนั้นกรรมจึงมีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว แต่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจกรรมไปในทางลบ คือไปเข้าใจว่า คือ บาป หรือ ความชั่ว และที่ว่า...สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม...ก็หมายความว่า ใครทำกรรมดีก็ย่อมได้รับผลดี ทำกรรมชั่วก็ย่อมได้รับผลชั่ว เพราะกรรมย่อมเกิดจากผู้กระทำ เหมือนสนิมเหล็กเกิดจากเหล็ก ฉะนั้นถ้าไม่มีผู้กระทำ กรรมก็ไม่มี อย่างแม่หนูสองคนนั้น ถ้าเขาไม่ทำกรรมเขาก็ไม่ต้องรับผลของมัน” ท่านพระครูอธิบายละเอียดชัดเจน

         “หลวงพ่อพูดราวกับว่าคนเราเลือกที่จะทำกรรมได้อย่างนั้นแหละครับ”

         “ก็ทำไมจะเลือกไม่ได้เล่า จริงอยู่ กรรมในอดีตเราเลือกไม่ได้ เพราะมันผ่านพ้นไปแล้ว เราต้องชดใช้ไปตามหน้าที่ แต่กรรมในปัจจุบันเราเลือกได้ บางคนไม่เข้าใจเรื่องนี้ จึงปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรมโดยไม่แก้ไขปรับปรุง อย่างเช่นคนขี้เหล้าเมายาก็ไปโทษว่า เพราะเป็นกรรมจึงเลิกไม่ได้ อันนี้เป็นข้อแก้ตัวเสียมากกว่า เพราะถ้าเขาตั้งใจที่จะเลิกจริง ๆ เขาก็เลิกได้ หรืออย่างคนที่เกิดมาจน เพราะกรรมเก่าส่งผล เนื่องจากชาติก่อน ๆ เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น ไม่ทำบุญบริจาคทาน เมื่อทำเหตุไว้ไม่ดีก็ต้องรับผลไม่ดี ถ้าเขาคิดว่าเพราะกรรมจึงทำให้เกิดมายากจนแล้วเลยงอมืองอเท้าเกียจคร้าน ไม่ขวนขวายทำมาหากิน เขาก็ต้องจนอยู่อย่างนั้น”

         “แปลว่าเขาต้องฝืนดวงใช่ไหมครับ คือต้องขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ เป็นการสร้างกรรมใหม่ในทางที่ดี ที่เป็นกรรมเก่าก็ชดใช้ไปแล้ว คือการเกิดมายากจนขัดสน อย่างนั้นใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว แต่ถ้าเขาขยันหมั่นเพียรจนร่ำรวยขึ้นมา ก็ยังตระหนี่ถี่เหนียว ไม่ทำบุญบริจาคทาน ชาติต่อไปเขาก็ต้องยากจนขัดสนอีก” เงียบกันไปครู่หนึ่ง พระบัวเฮียวจึงถามขึ้นว่า

         “หลวงพ่อครับ แล้วเรื่องคุณโยมสองคนนั่นมีทางจะแก้กรรมไหมครับ”

         “มี แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า เขามีความอดทนพอไหม มีความเพียรถึงขึ้นหรือเปล่า วิธีแก้กรรมที่ดีที่สุดคือการเจริญสติปัฏฐาน ๔ เช่นที่เธอปฏิบัติอยู่นั่นแหละ แต่ตอนนี้เขายังไม่สนใจเพราะยังไม่เห็นทุกข์ อีกแปดปีคนน้องจะแต่งงานแล้วก็จะเห็นทุกข์ ถึงตอนนั้นเขาจะนึกถึงฉันและมาให้ฉันช่วย คนพี่ก็เหมือนกัน”

         “แต่คนน้องเขาบอกจะมาปิดเทอมหน้า ไม่ใช่หรือครับ” พระบัวเฮียวติง

         “เขาตั้งใจอย่างนั้นจริง แต่เชื่อสิว่าเขามาไม่ได้หรอก เพราะยังไม่ถึงเวลาของเขา ต้องรออีกแปดปีถึงมาได้”

         “หลวงพ่อครับ คุณโยมคนน้องทำกรรมอะไรไว้ครับถึงต้องมาเป็นอย่างนี้” ถึงอย่างไรพระใหม่ก็ยังไม่วายสงสัย เดี๋ยวนี้ท่านบอกตัวเองได้แล้วว่า คนน้องน่าสนใจกว่าคนพี่ด้วยเหตุว่าเธอยังโสด หน้าตาของเธอสะสวย สดใส ไม่ช้าไม่นานจะต้องเปลี่ยนเป็นเศร้าสร้อยเพราะโศกศัลย์ น่าสงสารแท้

         “มันพูดยาก ถ้าจะว่าไปแล้วมันมาจากทั้งกรรมเก่าและกรรมใหม่ กรรมเก่านั้นแก้ไขไม่ได้ คือ แม่หนูวรรณวิไลกับผู้ชายคนนั้น เคยทำกรรมร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน ยังไงเสียชาตินี้จะต้องมาอยู่ด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนกรรมใหม่ก็คือเรื่องโรคหึงกับเรื่องลูกเลี้ยง แม่หนูคนนี้เขามาแปลกตรงที่อยากแต่งงาน แต่ไม่อยากมีลูก เลยคิดจะเลี้ยงลูกเขาให้เหมือนลูกตัว แต่ทีนี้มันไม่เป็นยังงั้น เพราะเด็กคนนี้แกก็มีกรรมของแกคือแกอยากดีแต่ไม่ยอมฝืนใจตัวเอง อย่าลืมนะบัวเฮียว การทำความดีจะต้องฝืนใจ ถ้าฝืนใจไม่ได้ทำความดีไม่ได้ เพราะธรรมชาติของคนนั้นมักจะตามใจตัวเอง ซึ่งก็คือตามใจกิเลสตัณหา แล้วเธอคิดว่ากิเลสตัณหามันพาเราไปทางดีหรือทางชั่ว” ท่านถาม

         “ทางชั่วครับ”

         “นั่นแหละ ถ้าใครฝืนใจตัวเองไม่ได้ก็เป็นคนดีไม่ได้ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เอาเรื่องใกล้ ๆ ตัวเรานี่แหละ ไหนบอกมาซิว่าตอนตี ๔ เธออยากนอนต่อหรืออยากลุกขึ้นมาปฏิบัติกรรมฐาน”

         “อยากนอนต่อครับ”

         “แล้วนอนหรือเปล่า”

         “ไม่นอนครับ ผมฝืนใจลุกขึ้นมาปฏิบัติกรรมฐาน เพราะผมอยากเป็นคนดีครับ การทำความดีต้องฝืนใจ” พระใหม่ตอบฉะฉาน เงียบกันไปครู่หนึ่ง พระบัวเฮียวก็ถามขึ้นอีกว่า

         “หลวงพ่อครับ แล้วคุณโยมคนน้องทำกรรมอะไรไว้อีกครับ”

         “ปกติคนเราก็ทำกรรมอยู่ตลอดเวลานั่นแหละบัวเฮียว สุดแล้วแต่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว นี่เรายังไม่พูดลึกเข้าไปถึงกรรมอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่ากรรมกลาง ๆ คือกรรมไม่ดีไม่ชั่วหรอกนะ เรื่องนั้นมันลึกซึ้ง เอาเป็นว่าขณะนี้เรารู้จักแต่กรรมดีกับกรรมชั่วก็พอ การทำกรรมนั้นไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ถ้ามันแรงมันก็จะให้ผลทันตาเห็นในชาตินี้ อย่างหนูวรรณวิไลเขาเป็นโรคหึงรุนแรงมากก็เลยทุกข์มาก ซึ่งข้อนี้เขาแก้ไขได้แต่ไม่ยอมแก้ไข จะโทษฝ่ายหญิงข้างเดียวก็ไม่ถูกนัก เพราะผู้ชายที่จะมาแต่งงานกับเขานั้นเป็นคนชอบทำให้เมียหึง เห็นเมียหึงแล้วเขามีความสุข คือเป็นความสุขของผัว แต่เป็นความทุกข์ของเมีย”

         “แปลว่าถ้าคุณโยมเขาไม่หึง เขาก็ไม่มีความทุกข์ใช่ไหมครับ”

         “แน่นอน”

         “ถ้าผมเป็นเขา จ้างผมก็ไม่หึง เรื่องอะไรจะทำให้ตัวเองทุกข์”

         “เธอไม่ได้เป็นเขา เธอก็พูดได้ ลองเธอไปเป็นเขาดูบ้าง ก็ต้องทำอย่างที่เขาทำ เชื่อไหมล่ะ”

         “เชื่อก็ได้ครับ”

         “ไม่เชื่อก็ไม่ว่าอะไรนะ”

         “เชื่อดีกว่าไม่เชื่อครับ เป็นลูกศิษย์ไม่เชื่ออาจารย์ แล้วจะไปเชื่อใครที่ไหน ผมไม่อยากเป็นคนอกตัญญูหรอกครับหลวงพ่อ”

         “ดี คิดอย่างนั้นได้ก็ดี”

         “ขอบคุณครับ”

         “ขอบคุณเรื่องอะไร” ท่านพระครูไม่เข้าใจ

         “ก็ขอบคุณที่หลวงพ่อชมว่าผมดีน่ะซีครับ”

         “ฉันไปชมเธอตั้งแต่เมื่อไหร่” ท่านนึกไม่ออกจริง ๆ

         “เมื่อกี้นี้เอง แหม...หลวงพ่อไม่น่าลืมง่ายอย่างนี้เลย ก็ที่...ที่หลวงพ่อพูดว่า ดี คิดอย่างนั้นได้ก็ดี หลวงพ่อว่าดีน่ะไม่ใช่ชมผมหรือครับ” คราวนี้ท่านพระครูถึงรูว่าตกหลุมพรางของพระบัวเฮียวเข้าแล้ว ครั้นจะพูดโต้ตอบไปก็เกรงจะขายหน้า เพราะเดี๋ยวนี้ลูกศิษย์ของท่านชักมีเล่ห์เหลี่ยมมาขึ้นทุกวัน จนท่านตามไม่ทัน ทางที่ดีที่สุดคือนิ่งเสีย

         “แต่เอ...หลวงพ่อครับ” พระใหม่เพิ่งจะนึกได้ว่าเรื่องที่ตนกำลังพูดถึงอยู่นั้น ไม่เกี่ยวกับกาย เวทนา จิต ธรรม ดังที่พระอุปัชฌาย์เคยสอน

         “นี่เรากำลังเผลอสติหรือเปล่าครับ ที่พูดเรื่องของคนอื่น เพราะมันไม่เกี่ยวกับสติปัฏฐานข้อใดเลย”

         “ทำไม่จะไม่เกี่ยว นี่แหละจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานละ เพราะถ้าเรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ว่าเรากำลังพูดเรื่องอะไรก็เท่ากับเรารู้ในขณะนั้น ๆ ว่าจิตของเราปราศจากโมหะ เธอรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาในขณะที่คุยหรือเปล่าเล่า”

         “บางครั้งก็รู้ แต่บางครั้งก็เผลอไปเหมือนกันครับ” พระบัวเฮียวตอบตามตรง

         “แสดงว่าเธอยังฝึกสติไม่ถึงขั้น จะต้องใช้ความเพียรอีกมาก เรื่องที่เรากำลังคุยอยู่นี้ไม่เรื่องเหลวไหลไร้สาระ เพราะฉันกำลังจะบอกเธอว่า หนูวรรณวิไลนี่แหละจะมาเป็นกำลังสำคัญช่วยฉันเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์ ฉันกับเขาเคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาแต่ชาติปางก่อน ชาตินี้ก็ต้องมาช่วยเหลือกันอีก” พระใหม่ทำตาลุก พูดตะกุกตะกักว่า “หมาย...หมายความว่า...หลวงพ่อ...กับ...เอ้อ...โยมวรรณวิไลเคย...เคยเป็น....”

         “ไม่ใช่ ไม่ใช่ยังงั้น อย่าเข้าใจผิด” ท่านพระครูรีบปฏิเสธ ด้วยรู้ว่าพระบัวเฮียวเข้าใจไปอีกทางหนึ่ง

         “เอาละ เมื่ออยากจะรู้ก็จะบอก แต่เธอต้องไม่เอาไปพูดต่อนะ ใครเขาไม่เชื่อจะเป็นบาปเป็นกรรมของเขาเปล่า ๆ เรื่องนี้ฉันยังไม่เคยเล่าให้ใครฟังมาก่อน เธอรับปากได้ไหมล่ะว่าจะไม่ไปเล่าต่อ”

         “ได้ครับ คนอยากรู้รับคำหนักแน่น ท่านพระครูหลับตาเพื่อลำดับเรื่องราวแล้วจึงเริ่มต้นเล่า

         “ชาติที่แล้ว ฉันเป็นแม่ทัพสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หนูวรรณวิไลเป็นทหารคนสนิทของฉัน ในชาตินั้นเขาชื่อนายจันสม”

         “แล้วหลวงพ่อชื่ออะไรครับ”

         “อ้าว...ก็ชื่อเจริญน่ะซี นี่เธอยังไม่รู้จักชื่อฉันหรอกหรือ” ถึงคราวที่ต้องแก้เผ็ด ท่านพระครูก็ต้องทำไปตามหน้าที่

         “ผมหมายถึงชื่อของหลวงพ่อเมื่อชาติที่แล้วน่ะครับ” พระใหม่อดคิดไม่ได้ว่า “กรรมช่างให้ผลรวดเร็วเหลือเกิน หลวงพ่อท่านฉลาดหลักแหลมไปเสียทุกด้าน เราอยู่ใกล้ท่าน ยังรู้ตัวเองว่าฉลาดขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้เศษธุลีของท่าน ดูสิ...เมื่อกี้เราหลงลำพองคะนองใจ ว่าเถียงชนะท่าน ยังไม่ทันถึงห้านาทีลับแพ้อย่างไม่เป็นท่า”

         “อันนี้บอกเธอไม่ได้จริง ๆ ที่บอกไม่ได้เพราะมันถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ฉันไปพิสูจน์มาแล้วที่หอสมุดแห่งชาติ มีชื่อฉันอยู่ด้วยในฐานะเป็นแม่ทัพก่อนกรุงแตก”

         “ถ้าอย่างนั้นนิมนต์เล่าต่อเถิดครับ”

         “ฉันกับนายจันสม เคยออกรบด้วยกันหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อปี ๒๓๑๐ ก่อนหน้ากรุงแตกเล็กน้อย กองทัพของฉันพ่ายแพ้แก่พม่า เพราะขาดขวัญและกำลังใจ ฉันบอกให้นายจันสมหนีเอาตัวรอด ครั้งแรกเขาจะไม่หนี ฉันก็ให้เหตุผลว่าถ้าไม่หนีก็ต้องตาย แต่ถ้าหนีอาจจะไปรวบรวมสมัครพรรคพวกมากู้ชาติบ้านเมืองได้ในภายหลัง เขาก็เลยหนีขึ้นไปทางนครสวรรค์ ต้องตกระกำลำบากมาก จึงรำพึงกับตัวเองว่าเกิดเป็นชายชาติทหารต้องทุกข์ยากลำบากแสนสาหัส ชาติหน้าขอให้เกิดเป็นผู้หญิง เขาเลยไปตายที่นครสวรรค์แล้วก็ได้เกิดเป็นผู้หญิงสมใจ เนื่องจากเขากับฉันยังมีจิตผูกพันห่วงหากัน ก็ต้องได้มาพบกันอีก มาช่วยเหลือเกื้อกูลกันอีก”

         “แล้วหลวงพ่อหนีมาที่นี่หรือครับ”

         “ฉันเป็นถึงแม่ทัพ ถ้าหนีก็เสียชื่อหมด ฉันรบกับพม่ากระทั่งขาดใจตายแต่ฉันก็ตายอย่างมีสติ ขออโหสิกรรมกับคนที่ฉันฆ่า และอโหสิกรรมให้คนที่ฆ่าฉัน เพราะถือว่าเราต่างทำตามหน้าที่ ไม่ได้มีความอาฆาตมาดร้ายกันเป็นการส่วนตัวก็เลยไม่บาปมาก ฉันไปชดใช้กรรมอยู่ ๑๖๑ ปี จึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก เธออย่าถามนะว่าไปใช้กรรมอยู่ที่ไหนอย่างไร มันเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง รู้ไปก็ไม่มีประโยชน์ ฉันจึงไม่บอกเธอ”

         “แล้วคุณโยมเขาทราบไหมครับ ว่าเคยเกิดร่วมชาติมากับหลวงพ่อ”

         “ไม่ทราบ แล้วเธอก็ไม่ต้องไปบอกเขาล่ะ”

         “ครับ ผมรับรองว่าไม่บอก แล้วเนื้อคู่ของคุณโยมเมื่อชาติที่แล้วเป็นอะไรครับ”

         “ก็เป็นเมียนายจันสม ถูกผัวซ้อมเป็นประจำ แกก็อาฆาต บอกชาติหน้าขอให้เกิดเป็นผู้ชาย จะได้แก้แค้น ก็มาตามล้างตามแค้นกันจนได้ ยังกะเรื่องนวนิยายนะเธอนะ”

         “ครับ ผมว่านวนิยายก็คงมาจากเรื่องจริงนั่นแหละครับ”

         “คงงั้นมั้ง เธอเห็นหรือยังล่ะว่า ชีวิตคนเราต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ ฉันถึงเบื่อหน่ายการเกิด ไม่อยากเกิดอีกเลยแม้แต่ชาติเดียว”

        “การที่พระพุทธเจ้ามาบวชก็เพราะท่านเบื่อหน่ายการเกิดใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว เมื่อพระองค์ตรัสรู้และได้ญาณ ๓ แต่ไหนเธอตอบมาก่อนว่า ญาณ ๓ มีอะไรบ้าง”

         “ญาณ ๓ หรือ วิชชา ๓ หรือ เตวิชชา ใช่ไหมครับ”

         “นั่นแหละ จำได้หรือเปล่าว่ามีอะไรบ้าง ฉันเพิ่งสอนเธอไปเมื่อวานนี้เอง”

         “จำได้ครับ ญาณ ๓ ได้แก่ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ และ อาสวักขยญาณ ครับ”

        “ดีมาก ลองแปลให้ฟังซิว่า แต่ละญาณ มีความหมายอย่างไร”

         “แปลไม่ได้ครับ”

         “ทำไมถึงไม่ได้ล่ะ”

         “ก็หลวงพ่อยังไม่ได้สอนแปลนี่ครับ”

         “อ้าว...ก็เห็นเธอไม่ถาม ฉันก็นึกว่าเธอรู้”

         “บางทีไม่รู้ แต่ผมก็ไม่ถามครับ”

         “ก็ดี งั้นฉันก็จะไม่บอก เอาไวเธอไปศึกษาเอาเอง”

         “โธ่...บอกเถอะครับหลวงพ่อ ผมไหว้ล่ะ” แล้วทำไหว้ประหลก ๆ

         “ไม่บอกแน่นอน ฉันบอกว่าไม่บอกก็ไม่บอก ทำไมฉันจะไม่รู้ว่าเมื่อบอกเธอแล้ว เธอก็ต้องย้อนว่า...ไหนหลวงพ่อว่าจะไม่บอกไงละครับ แล้วบอกทำไม่...จริงไหม” คนเป็นศิษย์เลยได้แต่ยิ้มแหย ๆ เพราะตั้งใจไว้อย่างนั้นจริง ๆ

         “เอาละ ทีนี้ก็มาต่อเรื่องที่พูดค้างเอาไว้ คือเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้และได้ญาณ ๓ ทรงเห็นทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิดอย่างแจ่มแจ้ง ทั้งของพระองค์เองและของสรรพสัตว์ เวลาพระองค์สอนก็ย้ำเสมอ โดยทรงอุปมาอุปไมยว่า...ในพื้นปฐพีนี้ไม่ว่าจะเอาเข็มแทงลงไป ณ ที่ใด ก็ไม่พ้นหลุมศพของตถาคต หากเอากระดูกในแต่ละชาติมากองรวมกัน ก็จะสูงกว่าเขาพระสุเมรุ และน้ำตาที่ร้องไห้คร่ำครวญเพราะความทุกข์ความพลัดพรากก็ยังมากกว่าน้ำในมหาสมุทรมารวมกัน ตถาคตเบื่อหน่ายการเกิดเสียนัก ตถาคตจะไม่เกิดอีก...พระองค์ตรัสเช่นนี้บ่อยครั้ง เพื่อให้สรรพสัตว์ ได้เห็นโทษเห็นภัยในวัฏสงสาร ถึงกระนั้นก็ยังมีคนอีกมากที่ไม่เชื่อฟัง จึงต้องเวียนเกิดเวียนตายกันอยู่อย่างนี้มิรู้จักจบสิ้น”

         “แล้วหลวงพ่อจะเกิดอีกไหมครับ” พระลูกวัดถาม

         “ก็ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย” ท่านสมภารตอบ

         “เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดมีอะไรบ้างครับ”

         “มี ๓ อย่างคือ

กมฺมํ เขตฺตํ-มีกรรมเป็นนา

วิญญาณํ พีชํ-มีวิญญาณเป็นพืช และ

ตณฺหา สิเนหํ-มีตัณหาเป็นยางเหนียวที่จะสามารถนำพืชไปเพาะให้งอกงาม

ถ้าเหตุปัจจัย ๓ อย่างนี้มาประจวบกันเข้า การเกิดก็จะต้องมีขึ้น”

“แล้วหลวงพ่อดับเหตุปัจจัยเหล่านี้หมดหรือยังครับ” คนเป็นศิษย์พยายามที่จะหยั่งรู้ภูมิธรรมของอาจารย์

“เรื่องอย่างนี้จะไปพูดสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ ฉะนั้นฉันจะไม่ตอบเธอ ถ้าเธออยากรู้ต้องปฏิบัติให้มาก ๆ ของอย่างนี้จะต้องรู้ด้วยตัวเอง บอกเล่ากันไม่ได้ อย่าลืมว่า คติกรรมฐาน คือ กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรมาก จำเอาไว้แล้วปฏิบัติให้ได้ตามนี้”

ถ้าอย่างนั้นผมขออนุญาตถามเรื่องเดียว เรื่องเดียวจริง ๆ และผมเชื่อว่าหลวงพ่อต้องตอบได้”

“ไม่ต้องถาม เอาละอยากรู้ก็จะบอกให้” ท่านรู้สึกขัดเขินด้วยรู้ว่าพระบัวเฮียวจะถามเรื่องอะไร เป็นเรื่องที่ท่านรู้แต่ผู้เดียวและยังไม่เคยบอกใคร พระบัวเฮียวเป็นคนแรกและคนสุดท้ายที่รู้เรื่องนี้

“ภรรยาของฉันเมื่อชาติที่แล้วก็จะมาร่วมสร้างกุศลที่วัดนี้ เขาจะมาสร้างหอระฆังให้ ตอนนี้เขาแต่งงานกับนายแพทย์ เขาสวยยังกะนางฟ้าแน่ะเธอ สวยกว่าเมื่อชาติที่แล้วเสียอีก”

“สวยเท่าอาภัสราไหมครับ” พระบัวเฮียวหมายถึงนางสาวไทยที่ชนะการประกวดนางงามจักรวาลเมื่อห้าหกปีที่แล้ว

“สวยกว่า สวยกว่าหลายเท่าเลยแหละ แล้วยังใจบุญใจกุศลอีกด้วย”

“แล้วหลวงพ่อไม่เสียดายหรือครับที่คุณหมอเขามาแย่งไปเสียได้” คนเป็นศิษย์ยั่วเย้า

“เสียดงเสียดายอะไรกัน ก็มันคนละภพละชาติ ถ้าเสียดายฉันก็คงไม่มาบวชอย่างนี้ เอาละไม่ต้องถามอะไรอีก เราคุยกันมานานพอสมควรแล้ว เธอกลับไปปฏิบัติต่อที่กุฏิของเธอได้แล้ว มีอะไรสงสัยก็มาถาม อย่าลืม กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ทำความเพียรมาก แล้วจะได้ไม่ต้องเกิดอีก” พระบัวเฮียวกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง แล้วจึงลุกออกมา ความรู้สึกของพระใหม่ ขณะเดินกลับกุฏินั้นเป็นสิ่งที่บรรยายไม่ถูก มันหดหู่ ขัดข้องและหวิวโหวงในอารมณ์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้จะพยายามใช้สติกำหนดอิริยาบถอยู่ตลอดเวลา หากก็ไม่อาจสลัดความรู้สึกเช่นนั้นออกไปได้ จะว่าสงสารสองพี่น้องก็คงไม่ใช่ เพราะรู้แล้วว่ามันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ท่านจะต้องค้นให้พบว่า ความรู้สึกที่เป็นอยู่นี้ มันมีเหตุมาจากอะไร

ถึงกุฏิ ท่านจัดการสรงน้ำชำระร่างกายจนสะอาดสะอ้าน รู้สึกสดชื่นขึ้น หากความหวิวโหวงในอารมณ์ก็ยังไม่เหือดหาย ท่านเริ่มต้นเดินจงกรมตั้งแต่ระยะที่ ๑ ไล่ไปจนถึงระยะที่ ๖ ซึ่งกินเวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง จากนั้นจึงกำหนดนั่ง เมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิดีแล้ว จึงใช้ปัญญาพิจารณาหาสาเหตุของความอึดอัดขัดข้องในหัวใจ ก็ได้ความว่า คำพูดของท่านพระครูที่ว่า ท่านไม่มีเนื้อคู่นั้น ทำให้เกิดความรู้สึกแปลก ๆ นี้ขึ้น สัญชาตญาณของมนุษย์ปุถุชนย่อมต้องการมีความรัก มีคู่ครอง และชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น มีทายาทไว้สืบสกุล เมื่อรู้ว่าดวงชะตาของท่านไม่อาจมีในสิ่งเหล่านี้ จึงเกิดความรู้สึกเก็บกดอยู่ภายใต้จิตสำนึก จนกลายเป็นความหงุดหงิดงุ่นง่านอยู่ในจิตใจ เออหนอ...ขนาดท่านเป็นชายอกสามศอก ทั้งยังดำรงเพศเป็นบรรพชิต เจ้าความรู้สึกนี้มันยังทำร้ายท่านได้ถึงเพียงนี้ แล้วพวกผู้หญิงซึ่งเป็นเพศอ่อนแอนั้นเล่า หากหล่อนรู้ว่าตัวเองไร้เนื้อคู่ จะต้องอยู่เดียวเปลี่ยวดายไปจนตลอดชีวิต หล่อนจะทุกข์ทรมานสักเพียงใดเล่าหนอ...

 

มีต่อ........๑๒