สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

S00012

 

๑๒...

               ฉันเช้าเสร็จ ท่านพระครูขึ้นไปเขียนหนังสือยังกุฏิชั้นบน สั่งนายสมชายไว้ว่าจะเขียนสัก ๒ ชั่วโมง หากมีผู้ใดมาขอพบในช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็ขอให้รออยู่ก่อน ท่านขึ้นไปได้สักประเดี๋ยว ชายหนุ่มผู้หนึ่งก็มาขอพบ เขามากับสตรีรูปร่างหน้าตาจัดว่าสวย ท่าทางคงจะเป็นคู่รักกัน

         เมื่อลูกศิษย์วัดแจ้งให้ทราบตามที่ท่านสั่งไว้ ชายหนุ่มผู้นั้นแสดงความไม่พอใจออกมานอกหน้า และทำทีจะขึ้นไปพบด้วยตัวเอง มิใยที่นายสมชายจะห้ามปราม บังเอิญประตูทางขึ้นถูกใส่กลอนเอาไว้ เขาจึงตะโกนขึ้นไปว่า

         “หลวงน้าครับผมมาเยี่ยม เปิดประตูหน่อยครับ” เงียบ ไม่มีเสียงตอบลงมา ลูกศิษย์วัดทราบดีว่าถ้าท่านลงตั้งใจจะทำงานแล้ว ก็จะไม่ยอมรับรู้รับฟังเรื่องอะไรของใคร จะเรียกจะหาอย่างไรท่านก็ไม่ลงมา ชายหนุ่มผู้นั้นจึงตะโกนดังกว่าเดิม

         “หลวงน้าครับ ผมจ่อยไงครับ จ่อยหลานแท้ ๆ ของหลวงน้าจะมาขอพบครับ” เมื่อไม่มีเสียงตอบอนุญาต นายจ่อยรู้สึกเสียหน้า อายทั้งลูกศิษย์ อายทั้งหญิงคู่หมั้นที่ตนหมายพามากราบท่านพระครู

         “ท่านไม่ลงมาหรอกครับ ถึงผมจะเรียกท่านก็ไม่ลงมา เวลาท่านเขียนหนังสือ ท่านไม่ยอมพบใครหรอกครับ” นายสมชายพูดอย่างพยายามผูกมิตรทั้งที่รู้สึกไม่ค่อยจะชอบหน้า ถึงจะเป็นหลานหลวงพ่อจริงตามที่เขาเอ่ยอ้าง ก็ไม่ควรจะมาแสดงอำนาจบาตรใหญ่อย่างนี้

         “ถ้างั้นเราออกไปดูแม่น้ำหลังวัดกันเถอะ แม่น้ำเจ้าพระยายังไงล่ะ” เขาหันไปพูดกับคู่หมั้น ไม่อยากอยู่สู้หน้ากับลูกศิษย์วัด อีกตั้งเกือบ ๒ ชั่วโมงกว่าหลวงน้าจะลงมา

         เมื่อท่านพระครูลงมายังกุฏิชั้นล่าง จึงพบว่าชายหญิงคู่หนึ่งนั่งรออยู่ ขณะทำงานท่านทำจิตให้เป็นสมาธิ ไม่รับรู้ รูป รส กลิ่น เสียงใด ๆ จากภายนอก จึงไม่ทราบว่าหลานมาหา

         “อ้าว เอ็งหรอกหรือเจ้าจ่อย ไปยังไงมายังไงกัน” ท่านทักหลานชายซึ่งเคยมาบวชเณรอยู่วัดนี้เมื่อสิบกว่าปีก่อนโน้น แต่ยังไม่ทันได้บวชพระก็ชิงสึกออกไปทำมาหาเลี้ยงชีพเสียก่อน ส่วนหญิงสาวที่มาด้วยท่านไม่เคยเห็นหน้า แต่ก็คลับคล้ายคลับคลาว่าเหมือนใครสักคน

         “หลวงน้าสบายดีหรือครับ” หลานชายทัก

         “ก็เรื่อย ๆ ว่าแต่เอ็งเถอะ หายหัวไปเลยนะเอ็ง” ท่านต่อว่าหลานชาย เพราะตั้งแต่สิกขาลาเพศแล้ว นายจ่อยไม่เคยไปมาหาสู่ท่านอีกเลย

         “ผมต้องขออภัย งานยุ่งมากเลยครับ พอดีพ่อเขาย้ายไปทำไร่ที่ท่าตะโก หนทางไกลไปมาลำบากก็เลยไม่ได้มา”

         “อ้อ ไม่ได้อยู่ที่โคกสำโรงหรอกหรือ แล้วพ่อเอ็งเขาเป็นยังไงบ้าง” ท่านถามถึงคนเป็นพี่เขย ส่วนพี่สาวซึ่งเป็นมารดาของนายจ่อยนั้นเสียชีวิตตั้งแต่ลูกชายยังเป็นเณร

         “แกก็ไม่เจ็บไม่ไข้อะไร ตอนนี้มีเมียใหม่ มีน้องเล็ก ๆ อีกสามคน” นายจ่อยรายงาน

         “อะไรกัน อายุจะหกสิบแล้วยังมานั่งเลี้ยงลูกอ่อน” ท่านพระครูพูดเหมือนตำหนิคนเป็นสามีของพี่สาว

         “แกไม่ได้เลี้ยงหรอกครับหลวงน้า ผมเห็นเมียเขาเลี้ยงอยู่คนเดียว”

         “อ้าว เอ็งไม่เรียกเขาว่าแม่หรอกหรือ”

         “แม่ เม่อะไรล่ะหลวงน้า ก็มันเป็นเพื่อนผมเอง เคยเลี้ยงควายมาด้วยกันสมัยเด็ก ๆ ผมก็เลยเรียกไม่ลง กรรมของมันที่ต้องมาเป็นเมียพ่อ หลวงน้าไม่รู้อะไร พ่อน่ะแกเมาเช้าเมาเย็น งานการไม่ทำ ผมบอกให้แกมาบวชอยู่กับหลวงน้า แกก็ไม่เอา”

         “เรื่องอะไรเขาจะเอา ก็ทีลูกชายเขายังไม่ยอมบวชเลยนี่นา” ท่านประชดคนเป็นหลาน

         “โธ่ หลวงน้าครับ เรื่องมันแล้วไปแล้ว” หลานชายครวญ

         “แล้วไปแล้วก็แล้วกันไป ว่าแต่ว่าที่มานี่ เอ็งมีธุระอะไรกับข้าหรือเปล่า”

         “ก็มีเหมือนกันครับ คือผมพาคู่หมั้นมากราบหลวงน้า แล้วก็จะนิมนต์หลวงน้าไปงานแต่งงานของผมด้วยครับ”

         “อ้อ นี่คู่หมั้นหรอกเรอะ แล้วหนูเป็นคนที่ไหนล่ะจ๊ะ” ท่านถามคู่หมั้นหลานชาย

         “หลวงน้าจำไม่ได้หรือครับ จุกไงล่ะครับ” หลานชายตอบแทนคนเป็นคู่หมั้น

         “จุกไหน” ท่านพระครูยังนึกไม่ออก

         “ก็จุกที่เคยใส่บาตรหลวงน้ากับผมสมัยที่เราพายเรือบิณฑบาตกันยังไงล่ะครับ” หลานชายช่วยทบทวนความจำ แต่หลวงน้าก็ยังนึกไม่ออกจึงต้องใช้ “เห็นหนอ” เข้าช่วย

         “อ๋อ อีจุกน่ะเอง แม่เจ้าไวยเป็นสาวแล้วสวยจนข้าจำไม่ได้” ท่านอุทานด้วยนึกไม่ถึงว่าจะได้พบกันอีก นางสาวจุกนั่งบิดไปบิดมาเพราะความขวยอาย ท่านพระครูนึกย้อนไปถึงอดีตเมื่อสิบปีก่อนโน้น ครั้งที่ท่านยังเจริญสมถกรรมฐานและเล่นทางไสยศาสตร์ด้วย ท่านมี “กระจกหมอดู” อยู่บานหนึ่งที่ใช้ดูเหตุการณ์ในอนาคต โดยภาพของเหตุการณ์จะมาปรากฏในกระจก แต่หลังจากที่ท่านได้พบ “พระในป่า” จึงได้เปลี่ยนมาเจริญวิปัสสนากรรมฐานและเลิกเล่นไสยศาสตร์ เพราะเห็นว่าไม่ได้ให้ประโยชน์ที่แท้จริงแก่ชีวิต

         สมัยนั้นท่านบิณฑบาตทางเรือ ทุกเช้าท่านกับเณรจ่อยจะช่วยกันพายเรือลัดเลาะไปตามริมน้ำเจ้าพระยาเพื่อโปรดสัตว์ เด็กหญิงผิวขาววัยสิบเอ็ดขวบที่ใคร ๆ เรียกกันว่า “อีจุก” เพราะไว้ผมจุกกลางศีรษะ จะออกมาใส่บาตรที่ท่าน้ำในสภาพขี้หูขี้ตาเกรอะกรัง ขี้มูกไหลยืดเพราะเป็นหวัดทั้งปี บ่อยครั้งที่น้ำมูกของเด็กหญิงหยดลงไปในบาตรโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ใส่ใจ และเมื่อเรือแล่นผ่านพ้นบ้านอีจุกไปแล้ว เณรจ่อยก็มีอันต้องเทข้าวทิ้งน้ำทุกครั้ง เพราะทนสะอิดสะเอียนไม่ไหว ส่วนท่านพระครูนั้นแม้จะผ่านการเจริญ “อาหาเรปฏิกูลสัญญา” มาแล้วก็ยังต้องทำแบบเดียวกับเณรหลานชาย คือ เทข้าวทิ้งจนเกลี้ยงบาตร

         “แหม หลวงน้าเมื่อไหร่อีจุกมันจะตาย ๆ ไปสักทีนะ” เณรจ่อยบ่นอุบ เพราะต้องเทข้าวทิ้งน้ำทุกวัน

         “ไปแช่งเขา ระวังบาปจะกินหัวเอ็ง” หลวงน้าว่าให้

         “ก็มันโมโหนี่หลวงน้า จริง ๆ จะ ผมน่ะโกรธมันจริง ๆ เชียว”

         “คนโกรธคือคนโง่ คนโมโหคือคนบ้า เอ็งอยากโง่อยากบ้าก็ตามใจเอ็ง”

         “หลวงน้า เราไม่รับบิณฑบาตบ้านมันดีกว่านะ” เณรหลานชายแนะ

         “ทำอย่างนั้นไม่ได้ มันผิดวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ เราจะเลือกที่รักมักที่ชังอย่างนั้นไม่ได้”

         “ถ้างั้นก็บอกมันตรง ๆ เลยว่า อย่าให้มันเป็นคนใส่ ให้เปลี่ยนเป็นพ่อหรือแม่มันแทน

         “เอ็งก็บอกเขาเองซิ”

         “ผมมันเป็นเด็ก หลวงน้านั่นแหละดีแล้ว”

         “ข้าไม้เอากับเอ็งด้วยหรอก อยู่ดีไม่ว่าดี จะให้ข้าถูกติเตียนเสียแล้วไหมล่ะ” ท่านพระครูปฏิเสธ เป็นอันว่าท่านจำต้องรับบิณฑบาตจากเด็กหญิงจุกเรื่อยมา กระทั่งมีการตัดถนนเข้าวัด ท่านจึงเลิกบิณฑบาตทางเรือ เณรจ่อยดีใจจนเนื้อเต้น ที่จะได้ไม่ต้องเทข้าวทิ้งน้ำ

         คืนวันหนึ่งไม่รู้ว่าเณรจ่อยนึกยังไงขึ้นมา ถึงได้บอกให้หลวงน้าช่วยดูเนื้อคู่ให้ ท่านพระครูจึงบอกให้เณรจ่อยตั้งจิตอธิษฐานขอให้คนที่จะมาเป็นเนื้อคู่ จงปรากฏเป็นภาพขึ้นกระจกหมอดู อธิษฐานเสร็จ หลวงน้าจึงยื่นกระจกให้เณรหลาน เณรจ่อยมองไปที่กระจกแล้วก็โวยลั่น “อีจุกอีเด็กสกปรก ดูซีขี้มูกไหลยืดเชียว หลวงน้าแกล้งผมใช่ไหม ผมไม่เอา ยกให้หลวงน้าก็แล้วกัน” พูดพลางส่งกระจกคืน ท่านพระครูรับไปดูก็ปรากฏว่าภาพที่เห็นในกระจกนั้นเป็นภาพเด็กหญิงจุก คิดมาถึงตอนนี้ ท่านอดขำไม่ได้จึงพูดขึ้นว่า “ไงล่ะเจ้าจ่อย ก็ไหนเอ็งว่าเกลียดอีจุกนักไง ทำไม่ถึงจะมาร่วมหอลงโลงกันล่ะ”

         “ร่วมหอเฉย ๆ โลงน่ะยังไม่อยากลงหรอกหลวงน้า ขออยู่ไปอีกซักเจ็ดแปดสิบปีก่อนถึงค่อยลง” นายจ่อยรีบชี้แจง

         “นั่นแหละ ๆ นึกยังไงถึงมารักกันได้เล่า” ท่านถามอีก

         “ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาคือ...เอ้อ...คืออีจุกเด็กขี้มูกมากคนนั้น เพราะไม่เคยเจอกันอีกเลยนับตั้งแต่ผมสึก เพิ่งมารู้เอาอีตอนที่มันรักเขาจนถอนตัวไม่ขึ้นแล้ว ก็เลยต้องตกบันไดพลอยโจน”

         “นี่พี่จ่อยอย่ามาพูดดีนะ จะถอนหมั้นกันวันนี้เลยก็ได้ ฉันน่ะไม่ยั่นหรอก คนชอบฉันยังมีอีกเป็นพะเรอเกวียน” สาววัยยี่สิบสองพูดโกรธ ๆ

         “เอ็งจะโกรธจะขึ้งไปทำไม่ล่ะจุก ไหน ๆ ก็จะมาเป็นหลานสะใภ้ข้าแล้ว ข้าล้อเล่นบ้างไม่ได้หรือไง” ท่านพระครูปราม

         “ฉันก็ไม่ได้ว่าอะไรหลวงน้านี่นา ฉันว่าพี่จ่อยเขาต่างหาก” ว่าที่หลานสะใภ้เถียงฉอด ๆ หน้าบึ้งตึงจนหมดสวย

         “เอาละ ๆ เอ็งไม่ต้องมาเถียง ไหนเอ็งจะแต่งกันเมื่อไหร่ เผื่อข้าติดธุระจะได้สับหลีกทัน”

         “ผมคิดกันไว้ว่าวันที่ ๙ ธันวา หลวงน้าช่วยดูอีกทีเถอะว่าฤกษ์นี้ใช้ได้หรือเปล่า ถ้าไม่ดีหลวงน้าก็ช่วยหาให้ใหม่ด้วย”

         “ฤกษ์ยามมันไม่สำคัญเท่าตัวของเราหรอก ถ้าตัวเราดีมันก็ต้องดีวันยังค่ำ เป็นชาวพุทธไม่ต้องไปถือเรื่องฤกษ์ยาม ถ้าเชื่อข้าก็จำเอาไว้ แต่ถ้าไม่เชื่อก็แล้วไป”     

            “ไม่เชื่อหลวงน้าแล้วผมจะไปเชื่อใครเล่าครับ แม่ผมก็ตายไปแล้ว พ่อก็เมาเช้าเมาเย็น เอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ ก็เห็นแต่หลวงน้านี่แหละที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร” หลานชายอ้อน

         “คิดยังงั้นได้มันก็ดี แต่ว่าก็ว่าเถอะ ใจจริงข้าอยากให้เอ็งบวชมากกว่า จะได้ตัดภพตัดชาติให้มันสั้นเข้า ไม่งั้นก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดกันอยู่อย่างนี้ ไม่รู้จักจบสิ้น” ท่านพระครูพูดจากใจจริง หลานชายจึงพูดเอาใจหลวงน้าว่า “ใจผมก็อยากบวชเหมือนกัน แต่ทีนี้สงสารจุกเขา เขาจะอยู่กับใครเพราะพ่อแม่ก็ตายไปหมดแล้ว”

         “จะยากอะไรเล่า ก็มาบวชชีอยู่เสียที่วัดนี่ ต่างคนก็ต่างปฏิบัติ ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกัน” หลวงน้าเสนอทางออกให้

         “ถ้าเป็นอย่างนั้นได้มันก็ดีครับหลวงน้า แต่ผมกลัวจะต้องอาบัติปาราชิก เพราะหักห้ามใจไม่ได้ อีกอย่างดวงผมกับผ้าเหลืองมันก็ไม่ค่อยจะถูกกันซักเท่าไหร่” หลานชายปฏิเสธอย่างนิ่มนวลชนิดบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น

         “ถ้าดวงไม่ถูกกับผ้าเหลืองก็อย่าบวช เดี๋ยวจะบาปเสียเปล่า ๆ การกระทำบางอย่าง ถ้าพระทำถือว่าบาป แต่ถ้าฆราวาสทำไม่ถือเป็นบาป เช่น การร้องรำทำเพลง การเสพเมถุน เป็นต้น แต่ถึงเอ็งจะไม่บวช ข้าก็อยากให้พากันมาเข้ากรรมฐานสักเจ็ดวัน แล้วกลับไปปฏิบัติที่บ้านวันละนิดละหน่อย ลืมบ้างนึกได้บ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้ปฏิบัติเสียเลย” ท่านแนะแนวทางดำเนินชีวิตที่ดีแก่หลาน หากฝ่ายนั้นรีบออกตัวว่า “งานผมยุ่งครับหลวงน้า คงหาเวลามายาก ถึงมาแล้วก็คงเอากลับไปปฏิบัติที่บ้านไม่ได้เพราะต้องทำไร่ไถนา ทำโน่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา เอาไว้แก่ ๆ ผมค่อยพากันมาก็แล้วกันนะครับ” หลานชายผัดผ่อน

         “อ้อ...รอให้แก่เรอะ แล้วถ้าเกิดเอ็งตายไปตอนยังไม่ทันแก่ล่ะ จะว่ายังไง” เป็นเป็นน้าทักท้วง

         “ก็สุดแล้วแต่เวรแต่กรรมเถอะครับ”

         “ถ้าเอ็งปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรมนับว่าเอ็งประมาทมาก คนทุกวันนี้ก็พากันประมาทเหมือนเอ็งนั่นแหละ แล้วคิดหรือว่าแก่แล้วเอ็งจะมาเข้าวัด ข้าว่าจะเมาเช้าเมาเย็นเหมือนพ่อเอ็งน่ะซี” ท่านยกพี่เขยเป็นตัวอย่าง

         “โธ่ หลวงน้าครับ นาน ๆ ผมจะมาสักที หลวงหน้าก็ตั้งหน้าตั้งตาเทศน์อยู่ได้ คุยเรื่องที่มันมีประโยชน์กว่านี้ดีกว่าน่า” นายจ่อยเริ่มหงุดหงิด ข้างนางสาวจุกก็รู้สึกรำคาญไม่แพ้กัน

         “ก็ถ้าเอ็งไม่ใช่หลานข้า ข้าจะไม่ยุ่งเลยเชียว เอ็งก็เหมือนกันจุก อย่าคิดว่าสิ่งที่ข้าแนะนำเอ็งเป็นเรื่องไร้สาระ นี่แหละคือประโยชน์สูงสุดของชีวิตเชียวนา ถ้าอยากให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุขก็หาโอกาสมาเข้ากรรมฐานให้ได้ ไม่ต้องมาพร้อมกันหรอก ผลัดกันมาก็ได้ ไม่ต้องอ้างว่าไม่มีเวลา การอ้างเช่นนั้นแสดงว่าเอ็งยังไม่เข้าใจเรื่องการปฏิบัติ ใช่ว่าเอ็งต้องมาเดิน ขวาย่าง ซ้ายย่าง พองหนอ ยุบหนอ อยู่ตลอดเวลาเมื่อไหร่กัน ถ้าเป็นยังงั้นก็ไม่ต้องทำมาหากินกันแล้ว”

         “ก็นั่นซีครับ ผมถึงมองไม่เห็นประโยชน์ว่าเราจะปฏิบัติไปทำไมกัน เสียเวลาทำมาหากินเปล่า ๆ” นายจ่อยรีบแถลง

         “นั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์เชียวละ โปรดเข้าใจเสียใหม่นะหลานนะ ว่าที่ข้าให้มาอยู่วัดเจ็ดวัน ก็เพื่อมาเอาหลักการและวิธีการเพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ โดยที่ทำงานไปด้วย เอาอย่างนี้ ไหนเอ็งลองบอกข้ามาซิว่า เวลาทำงานเอ็งหายใจหรือเปล่า เอ็งหายใจเข้าออกตลอดเวลาไหมหือจุก” ท่านถามนางสาวจุกด้วย

         “หายใจจ้ะ” สาววัยยี่สิบสองตอบ

         “นั่นแหละ เอ็งก็กำหนดไปซี หายใจเข้าพอง หายใจออกยุบ หรือ กำลังทำอะไรอยู่ก็ให้กำหนดไปตามจริง จะไถนา จะดำนา หว่านข้าว ก็ตั้งสติกำหนดให้รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา นี่ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติแล้ว มันยากเย็นอะไรล่ะ เอ็งไม่ต้องคิดไกลไปถึงขั้นมรรคผลนิพพานหรอก เอาแค่ให้เป็นสุขร่มเย็นในชีวิตนี้ก็พอ เวลาตายจะได้มีสติไม่หลงตาย คนที่ไม่เคยฝึกสติ ข้าเห็นหลงตายทุกราย”

         “แล้วเป็นยังไงครับ หลงตายกับตายอย่างมีสติ มันต่างกันตรงไหน” หลานชายยังไม่เข้าใจ

         “ต่างกันตรงที่ไปนะสิ คนหลงตายก็ต้องไปทุคติ แปลว่าไปไม่ดี ส่วนคนที่ตายอย่างมีสติก็ไปสุคติ คือไปดี” ท่านอธิบาย

         “ไปดีไปไหนครับ แล้วไปไม่ดีไปไหน”

         “ไปดีก็ไปสุคติภูมิ คือ ตั้งแต่ภูมิมนุษย์ไปจนถึงขั้นพรหม ซึ่งขึ้นอยู่กับกรรมที่ทำ ถ้าทำกรรมดี เช่น ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ก็จะไปเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา ถ้าได้รูปฌานก็ไปเกิดเป็นรูปพรหม หรือไดอรูปฌานก็ไปเกิดเป็นอรูปพรหม ถ้าทำชั่วก็ไปทุคติภูมิ หรืออบายภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย และเดรัจฉาน ภูมิมีทั้งหมด ๓๑ ภูมิ ซึ่งล้วนแต่ขึ้นอยู่กับกรรมทั้งสิ้น”

         “งั้นถ้าเราไม่ทำกรรมเลยก็ไม่ต้องเกิดใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว เขาเรียกว่าบรรลุนิพพาน”

         “แปลว่าคนไม่ทำกรรมจะได้ไปนิพพานใช่ไหมครับ”

         “มันเป็นไปไม่ได้ที่คนจะไม่ทำกรรม แล้วจะว่าไปนิพพานก็ไม่ได้ เพราะนิพพานไม่ใช่สถานที่ที่คนจะมาจะไป แต่เป็นความดับกิเลส ถ้าเราปฏิบัติอริยมรรคมีองค์แปดจนถึงขั้นปัญญา สามารถทำลายตัณหาอุปาทานหมดสิ้น นิพพานก็จะปรากฏขึ้นมาเอง เอาละอย่าพูดไปไกลถึงขนาดนั้น มันเข้าใจยากสำหรับปุถุชน”

         “หลวงน้าจ๊ะ แล้วคนที่หลงตายเป็นยังไงจ๊ะ คือเวลาจะตายเราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาหลงหรือไม่หลง” นางสาวจุกถามบ้าง

         “รู้ซี ที่เองถามน่ะมีตัวอย่างมากมายเลย อย่างตาอิ่มบ้านอยู่ติดวัดแต่ไม่เคยมาเข้ากรรมฐาน ข้าชวนทีไรแกก็ผัดวันประกันพรุ่งอยู่เรื่อย พอใกล้ตายก็บอกลูกหลานมานิมนต์ข้า ข้าก็ไป แกก็พะงาบ ๆ จะตายมิตายอยู่รอมร่อ แต่ยังพอพูดได้ ข้าก็บอกให้ว่า พุทโธ พุทโธ ลูก ๆ เขาก็ไปบอกใกล้ ๆ บอกพ่อพนมมือแล้วว่า พุทโธ พุทโธ นะพ่อ แกก็ด่าใส่ลูกเลย ด่าเสียงดังเสียด้วย ขนาดจะตายแล้วนะ ด่าว่า ไอ้พวกเวร กูจะตายอยู่เดี๋ยวนี้แล้วพวกมึงยังมาพุทโธ่ พุทโธ่ ใส่กูอีก ลูกก็บอกไม่ใช่พุทโธ่ พุทโธต่างหากล่ะพ่อ ไหนว่าซิ พุทโธ พุทโธ แกก็ไม่รู้เรื่อง ว่าไม่ได้ เพราะไม่เคยฝึก ก็เลยหลงตาย”

         “แสดงว่าตอนแกตาย แกโกรธลูกด้วยใช่ไหมจ๊ะ”

         “โกรธน่ะซี เมื่อโกรธ จิตก็เศร้าหมอง พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติย่อมเป็นที่หมาย

            อีกรายนึงก็ยายอ่อน รายนี้งมหอยขาย พวกหอยโข่ง หอยขม หอยกาบ อะไรพวกนี้ วัน ๆ แกงมได้เป็นกระแต๋ง ๆ พอจะตายก็เกิดนิมิตเห็นหอยมาลอยตรงหน้าเต็มไปหมด ลูก ๆ ก็บอกแม่พนมมือว่า อะระหัง อะระหัง ยายอ่อนก็ว่า อะระหอย อะระหอย ไม่เป็นอะระหัง เพราะไม่เคยฝึก ท่องอะระหอย ๆ จนขาดใจ” ท่านยกตัวอย่างที่เคยพบมา

         “แล้วที่ตายแบบไม่หลงมีไหมจ๊ะ” ว่าที่หลานสะใภ้ถามอีก

         “มี ยายจันทร์ไง รายนี้มาเข้ากรรมฐานตอนแก่ ลูกหลานพามาเข้าเพราะเริ่มจะหลง สติสตังไม่ค่อยดี แต่ไม่ได้แปลว่าบ้านะ เพราะคนบ้ามาเข้ากรรมฐานไม่ได้ คือยายจันทร์แกขี้หลงขี้ลืม อายุหกสิบกว่า ๆ ก็หลงแล้ว ลูกเต้าเขาก็ให้แกเฝ้าบ้านเลี้ยงหลาน ตักน้ำ ผ่าฟืนไปตามเรื่อง แกแก่แต่ยังแข็งแรง วันหนึ่งแกจะเดินไปหยิบดุ้นฟืนมาก่อไฟต้มข้าวให้หมากิน ไปเห็นหมานอนหลับอยู่ แกก็ไปคว้าเอาขามันเข้า มันตกใจตื่นเลยกัดเอา แกก็อุทานว่า เฮ้อ กุนี่มันแย่จริง ๆ ดูซิอจะไปหยิบดุ้น หมาดันไปคว้าเอาขาฟืน  นี่ขนาดบ่นก็ยังบ่นผิด ๆ ถูก ๆ ลูกเขาก็พามาขอกรรมฐานกับข้า ข้าก็แนะแนวไปให้แกกลับไปทำที่บ้าน แกไม่ยอมมาค้างวัด กลับไปได้สักสามวันแกก็มาอีก บอกเอากรรมฐานมาคืน ปฏิบัติไม่ได้ ไม่มีเวลา ลูกหลานมันกวน ข้าก็บอกให้แล้วไม่รับคืน ก็เลยสอนแกไปว่าเวลาทำอะไรให้ท่องให้กำหนดทุกอย่าง เช่นจะเดินไปหยิบฟืนก็เดินท่องไปว่า หยิบฟืน หยิบฟืน จะได้ไม่ไปคว้าเอาขาหมา สอนจนแก่เข้าใจดี แล้วก็กลับไปปฏิบัติที่บ้าน ไม่ช้ายายจันทร์ก็หายจากโรคหลง ๆ ลืม ๆ เพราะสติดีขี้น”

         เดี๋ยวนี้แกยังอยู่หรือเปล่าครับ หลวงน้า” หลานขายถามขึ้น

         “เข้าเมรุไปแล้ว น่าเสียดายวันที่แกตายนั้นอายุครบแปดสิบพอดี ลูกหลานเขารายงานว่า ตั้งแต่ปฏิบัติกรรมฐาน แกสติดีมาก ไม่หลง ๆ สืม ๆ เหมือนแต่ก่อน จะกินจะถ่ายก็เรียบร้อย คนแก่บางคนใช้ไม่ได้เลย ทั้งกินทั้งถ่ายเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหมด แบบนี้ลูกหหลานเขาก็เบื่อ ไม่อยากเลี้ยง แต่คนที่มาเจริญสติปัฏฐาน ลูกหลานเขาไม่รำคาญ เพราะเลี้ยงง่าย ไม่เลอะเลือนเลื่อนเปื้อน นี่ประโยขน์ของการมาเข้ากรรมฐานอยู่ตรงนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามาเข้าเจ็ดวันแล้วทิ้งเลยไม่เอากลับไปปฏิบัติที่บ้าน อย่างนี้ก็ไม่ได้ผล”

         “ถ้าอย่างนั้นฉันขออยู่เข้ากรรมฐานเลยนะพี่จ่อย พี่ช่วยกลับไปเอาเสื้อผ้ามาให้ฉันด้วยก็แล้วกัน เอ...แต่ฉันไม่มีชุดขาวนี่หลวงน้า” นางสาวจุกเกิดศรัทธา ขณะเดียวกันก็กังวลเรื่องเสื้อผ้า

         “เรื่องนั้นไม่ต้องห่วง มีญาติโยมเขาใจบุญบริจาคให้วัดเอาไว้เป็นของกลาง ใครไปใครมาก็เบิกไปใส่ได้ แล้วซักมาคืน ถ้าเอ็งจะอยู่ก็ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลอะไรทั้งสิ้น ว่าแต่เอ็งจะอยู่พร้อมกันเลยไหมเล่า” ท่านถามหลานชาย นายจ่อยพลอยเกิดศรัทธาตามคนเป็นคู่หมั้น จึงตอบว่า “ก็ดีเหมือนกัน จะได้ไม่ต้องไป ๆ มา ๆ” เห็นคนทั้งสองมีศรัทธาปสาทะเช่นนั้น ท่านพระครูก็พอใจ จึงพูดให้กำลังใจว่า

         “ดีแล้ว เอ็งสองคนเริ่มต้นเดินในทางที่ถูกต้องแล้ว ทางนี้เป็นทางสายเดียวที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น ถ้าเอ็งไม่เปลี่ยนทิศทางเดิน สักวันหนึ่งก็จะถึงจุดหมายจนได้ ไม่ถึงชาตินี้ก็ต้องเป็นชาติหน้า ถ้าชาติหน้ายังไม่ถึงก็จะต้องถึงในชาติต่อ ๆ ไป ขอให้มีความเพียร อย่าท้อถอยเสียก่อนก็แล้วกัน”

         “แล้วเรื่องแต่งงานผม หลวงน้าไม่ลืมนา” นายจ่อยยังห่วงเรื่องทางโลก

         “รับรอง ข้าจะช่วยจัดการให้เรียบร้อย เอาละ เดี๋ยวข้าจะให้สมชายพาจุกมันไปฝากที่สำนักชี ส่วนเอ็งไปอยู่กับพระบัวเฮียว ประเดี๋ยวจะให้สมชายพาไป รอให้จัดการเรื่องคู่หมั้นเอ็งเสร็จก่อน” แล้วท่านพระครูจึงเรียกนายสมชายมาสั่งการ จากนั้นจึงขึ้นไปเขียนหนังสือคู่มือการสอบอารมณ์กรรมฐานยังชั้นบนของกุฏิ

 

มีต่อ........13