สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๑๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00015

 

๑๕...

          “หลวงพ่อครับ ผมมีข้อข้องใจสงสัยหลายอย่าง อยากจะเรียนถามแต่ก็เกรงว่าหลวงพ่อจะไม่ตอบ เพราะมันไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ ครั้นจะเก็บเอามาไว้มันก็ข้องใจอยู่นั่นแล้ว หลวงพ่อว่าผมควรจะทำอย่างไรดีครับ” เป็นคำถามค่อนข้างยาว ที่ท่านพระครูได้รับจากพระบัวเฮียวในเช้าวันนี้

          “เอาอย่างนี้ ไหนเธอตอบฉันมาก่อนซิว่า เธอจะถึงกับท้องแตกตายหรือเปล่า ถ้าหากว่าฉันไม่ตอบน่ะ” ท่านพระครูเปิดฉากกระแนะกระแหน พระบัวเฮียวใจชื้นขึ้นมานิดหนึ่ง ลองท่านตอบอย่างนี้ แสดงว่ากำลังอารมณ์ดี พระหนุ่มจึงตอบไปว่า

          “ก็ไม่แน่นะครับหลวงพ่อ ถ้าขืนเก็บไว้นาน ๆ ก็อาจจะต้องตายในลักษณะนั้น หลวงพ่อคงไม่อยากเห็นใช่ไหมครับ มันคงอุจาดตานาดูเชียวละ ผมเองก็ไม่อยากตายตั้งแต่อายุยังน้อย อีกอย่างนึงหลวงพ่อก็เป็นคนมีเมตตากรุณา ใคร ๆ ก็รู้ นึกว่าสงสารลูกนกลูกกา ช่วยตอบให้หายสงสัยหน่อยเถอะครับ แล้วผมจะไม่ลืมพระคุณหลวงพ่อเลย” พระบัวเฮียย “ร่ายยาว” จนท่านพระครูคร้านที่จะฟัง จึงออกปากอนุญาตว่า

          “เอาเถอะ ๆ ไม่ต้องยกแม่น้ำทั้งห้า เธออยากจะให้ฉันตอบเรื่องอะไรก็ถามมา ถ้าตอบได้ก็จะตอบ ตอบไม่ได้ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ว่าไง จะถามอะไรก็ถาม”

          “แหม! หลวงพ่อน่าจะรู้ว่าผมจะถามอะไร ทุกทีก็เห็นหลวงพ่อรู้ทำไมวันนี้เกิดไม่รู้เสียล่ะครับ” พระบัวเฮียวไม่วายกระเซ้า

          “ฉันจะรู้ก็ต่อเมื่ออยากจะรู้ แต่นี่ไม่อยากรู้ ก็เลยไม่รู้ อย่ามัวพูดมากประเดี๋ยวฉันก็ไม่เปิดโอกาสให้ถามเสียหรอก” ท่านสมภารวัดป่ามะม่วงถือโอกาสเล่นตัว

          “ครับ ครับ ถาม ถาม” คนถามละล่ำละลัก ถ้วยเกรงว่าท่านจะเปลี่ยนใจไม่อนุญาต

          “คือว่า นายจ่อยเขามาเล่าให้ผมฟังเรื่องความประพฤติของพระ เขาว่าพระที่วัดแถวบ้านเขาทำตัวไม่เหมาะสม เป็นต้นว่า เสพสุรายาเมาบ้าง เสพเมถุนบ้าง บงการฆ่าคนบ้าง อย่างนี้มันก็ต้องอาบัติปาราชิกน่ะซีครับ พระแบบนี้มีอยู่จริงหรือครับหลวงพ่อ ผมว่านายจ่อยคงไม่พูดปดนะครับ”

          “ยิ่งกว่าที่เธอพูดมายังมีเลย บัวเฮียวเอ๋ย”

          “แล้วไม่ต้องอาบัติปาราชิกหรือครับ” ถามซ้ำ

          “มันจะไปอาบ่งอาบัติอะไร ในเมื่อคนพวกนี้ไม่ใช่พระ แต่เป็นพวก มารศาสนา”

            “ศาสนาน่ะไม่เสื่อมหรอก แต่คนเสื่อมจากศาสนา คือคนบางกลุ่มบางพวก เมื่อเห็นพระทำตัวไม่ดี ก็เลยไปโทษว่าศาสนาเสื่อม นี่คนด้อยปัญญาจะคิดอย่างนี้ เพราะขาดโยนิโสมนสิการ”

          “ขาดอะไรนะครับ” พระบัวเฮียวรู้สึกไม่คุ้นหูกับ “ศัพท์ใหม่” ที่ท่านพระครูใช้

          “ขาดโยนิโสมนสิการ คือไม่รู้จักคิด ไม่มองสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญา เลยทำให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ โยนิโสมนสิการมีความสำคัญมาก เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ และเป็นต้นทางของความดีทั้งปวง คนที่มีโยนิโสมนสิการเขาจะแยกแยะได้ว่า ใครเป็นพระ ใครเป็นมารศาสนา เพราะฉะนั้นถึงเขาจะเห็นพระทำตัวไม่ดี เขาก็จะไม่เสื่อมจากศาสนา เพราะเขารู้ว่านั้นคือมาร ไม่ใช่พระ”

          “หมายความว่าคนที่ขาดโยนิโสมนสิการ เป็นคนโง่ใช่ไหมครับ”

          จะว่าโง่ก็ไม่เชิงหรอกนะ เพราะคนพวกนี้ส่วนใหญ่จะมีการศึกษาสูง เป็นครูบาอาจารย์ เป็นแพทย์ เป็นวิศวกร เรียกว่าเป็นคนมีปัญญา แต่เป็นปัญญาทางโลก เธอคอยดูไปก็แล้วกัน อีกสิบปียี่สิบปีข้างหน้า พวกมารศาสนาจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ แล้วคนฉลาดบางพวกก็จะไปฝักใฝ่กับพวกนี้ ประชาชนทั้งหลาย ก็จะเกิดความสับสนทางความคิด ไม่รู้แน่ว่า อันไหนผิดอันไหนถูก เพราะนอกจากจะประพฤติวิปริตผิดวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว พวกมารศาสนาเหล่านี้ยังพยายามจ้วงจาบบิดเบือนพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย คนก็จะพากันเสื่อมจากศาสนา นับว่าเป็นเรื่องอันตรายมาก”

            “แล้วเราจะแก้ไขอย่างไรครับ”

          “อะไรนะ เธอพูดว่า “เรา” งั้นหรือ เราแก้ไขไม่ได้หรอกบัวเฮียวเอ๋ย อย่าว่าแต่เราซึ่งเป็นเพียงหยดน้ำหนึ่งในมหาสมุทรเลย คนที่เขามีอำนาจวาสนา มีบารมีมากกว่าเราหลายร้อยหลายพันเท่า ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ มันต้องปล่อยให้เป็นไปตามกรรม” ท่านพระครูพูดปลง ๆ

          “หลวงพ่อครับ ผมชักงง ๆ แล้วนะครับ”

          “งงเรื่องอะไรอีกละ รู้สึกจะงงบ่อยเหลือเกินนะ”

            “ก็เรื่องกรรมน่ะครับ ประเดี๋ยวหลวงพ่อก็สอนว่า ไม่ควรปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามกรรม ประเดี๋ยวก็บอกว่าปล่อยให้เป็นไปตามกรรม จะไม่ให้ผมงงยังไงไหว” พระหนุ่มชี้แจง

          “ก็ไม่เห็นจะต้องงงเลย ฉันเคยบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือว่า เรื่องของกรรมมันสลับซับซ้อน ยากที่คนธรรมดาจะรู้จะเข้าใจได้ มันเป็นอจินไตย”

          “อะไรไตนะครับ” พระบัวเฮียวมีอันต้องงงหนักขึ้น

          “อจินไตย เธอไม่เคยได้ยินหรอกหรือ ฉันจำได้ว่าเคยอธิบายให้เธอฟังมาครั้งหนึ่งแล้ว เอ! ก็เป็นคนช่างจำไหงลืมเสียได้ล่ะ” ท่านตำหนิกราย ๆ

          “ครับ แต่ก่อนผมช่างจำ แต่เมื่อมาเจออะไร ๆ ที่ทำให้งงอยู่เรื่อย ความจำมันก็เลยเสื่อม หลวงพ่อกรุณาขยายความอีกสักครั้งเถิดครับ” ท่านพระครูนิ่ง ตามองไปที่ตู้พระคัมภีร์ พูดว่า

          “ฟังอย่างเดียวมันจำยาก ต้องให้เห็นด้วย นั่นไงอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ นั่น ไปเปิดดูเสีย” พระใหม่จึงต้องลุกขึ้นเดินไปที่ตู้พระคัมภีร์หาอยู่นานกว่าจะได้เล่มที่ต้องการ ได้คัมภีร์แล้วจึงกลับมานั่งที่เดิม

          “อยู่หน้าอะไรครับหลวงพ่อ” ถามเพราะใช้ไม่เป็น

          “หน้าโง่มั้ง” ท่านพระครูตอบหน้าตาเฉย

          “โธ่หลวงพ่อก็ ถามดี ๆ ต้องด่ากันด้วย”

          “ใครว่าด่า คนดี ๆ อย่างเธอใครเขาจะด่า”

          “แหม! หลวงพ่อนี่เข้าใจ ใช้ได้ ใช้ได้” พูดพลางพยักหน้าหงึก ๆ

          “เข้าใจอะไร” คราวนี้ท่านพระครูเป็นฝ่ายงงบ้าง

          “ก็เข้าใจตบหัวแล้วลูบหลังน่ะซีครับ มีอย่างที่ไหน ด่าว่าผมโง่อยู่หยก ๆ ก็มาชมว่าผมดีอีกแล้ว อย่างนี้ไม่เรียกว่าตบหัวแล้วลูกหลัง จะให้เรียกว่าอะไร”

          “โง่แต่ดี กับฉลาดแต่เลว เธอจะเลือกอย่างไหนล่ะ”

          “เอาดีด้วยฉลาดด้วยครับ” ตอบเสียงหนักแน่น

          “อันนั้นมันไม่ได้อยู่ในเงื่อนไข ฉันให้เธอเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่าง ว่าไงจะเอาอย่างไหน”

          “งั้นก็เอาโง่แต่ดีแล้วกันครับ ผมไม่อยากฉลาดแล้วตกนรก แล้วหลวงพ่อล่ะครับจะเลือกอย่างไหน” พระหนุ่มเป็นฝ่ายถามบ้าง

          “สำหรับฉันไม่ว่าจะเลือกอย่างไหน มันก็เป็นไปไม่ได้ทั้งสองอย่าง เพราะฉันอยู่นอกเงื่อนไขที่ว่านี้”

          “แปลว่า หลวงพ่อหลุดพ้นแล้วใช่ไหมครับ พ้นจากนรกสวรรค์ พ้นจากความดีความชั่ว” พระบัวเฮียวถือโอกาสสรุป

          “ไหนเธอจะดูเรื่องอจินไตยไม่ใช่หรือ ดูที่สารบัญเรื่องอจินติสูตรก่อนว่าอยู่หน้าที่เท่าไร แล้วช่วยอ่านให้ฉันฟังด้วย” ท่านพระครูพูดตัดบทด้วยไม่ต้องการ “อวดอุตริมนุสสธรรม” เพราะการกระทำเช่นนั้น จะต้องอาบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง คือถ้าอวดอุตริมนุสสธรรมที่มีในตน ก็จะต้องอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าอวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน ก็จะต้องอาบัติปาราชิก ท่านจึงหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องเช่นนี้ ด้วยมันเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง พระบัวเฮียวไม่ต่อล้อต่อเถียง ตั้งหน้าตั้งตาหา “อจินติสูตร” จากสารบัญ พบแล้วจึงเปิดไปหน้านั้น อ่านให้ท่านพระครูฟังว่า

          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความบ้า เดือดร้อน อจิตไตย ๔ ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑ อจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความบ้า เดือดร้อน....

          “ไง ยังสงสัยเรื่องกรรมอยู่อีกหรือเปล่า” ท่านพระครูถาม เมื่อพระบัวเฮียวอ่านจบ

          “ไม่สงสัยแล้วครับ ไม่อยากคิดด้วย ผมกลัวเป็นบ้า กลัวเดือดร้อนครับ” พระบัวเฮียวตอบจริงจัง

          “ดีแล้ว คิดอย่างนั้นได้ก็ดีจะได้สบายใจ แต่เธอเชื่อเถอะ ใครทำกรรมไว้อย่างไร ก็ต้องได้รับผลอย่างนั้น เราไม่ต้องไปวิเคราะห์วิจัยแต่ประการใด พวกมารศาสนาเหล่านี้ในที่สุดก็ต้องรับกรรมที่ตนกระทำ กรรมมันมีผล มีวิบาก ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม”

          “หลวงพ่อครับ ผมสังสัยอีกนิดหนึ่ง ทำไมในคัมภีร์เขาถึงกล่าวว่า “พระพุทธเจ้าทั้งหลาย” พระพุทธเจ้าไม่ได้มีพระองค์เดียวหรือครับ” คนช่างสงสัยถามอีก

          “มีหลายพระองค์ ในกัปป์หนึ่ง ๆ ก็จะมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ อย่างกัปป์ที่เราอยู่นี้เรียกว่า ภัทรกัปป์ มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ ๕ พระองค์ พระพุทธเจ้าของเราเป็นพระองค์ที่ ๔ ท่านพระครูอธิบาย

          “แล้วอีก ๔ พระองค์มีพระนามว่าอะไรบ้างครับ”

          “อันนี้ฉันก็ไม่ค่อยแน่ใจ คือมันเป็นเรื่องเหลือวิสัยที่ฉันจะรู้ได้ แต่เท่าที่ฉันรู้ พระนามของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ในภัทรกัปป์มี พระกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระกัสสปะ พระสมณโคดม ส่วนองค์สุดท้ายคือ พระศรีอาริยเมตตไตรย”

          “ที่เรียกว่าพระศรีอาริย์ใช่ไหมครับ”

          “นั่นแหละ ในคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เขาเชื่อว่าพระพุทธศาสนาคือ ศาสนาของพระสมณโคดมนั้นจะมีอายุห้าพันปี ต่อจากนั้นก็จะเป็นศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรย นี่เราก็ผ่านมาถึง ๒๕๑๖ ปีแล้ว ก็เหลืออีกสองพันสี่ร้อยกว่าปีก็สิ้นอายุ กล่าวกันว่า ยิ่งใกล้จะถึงห้าพันปี คนก็ยิ่งเสื่อมจากศาสนาลงไปเรื่อย ๆ และพวกมารศาสนาก็จะทวีจำนวนมากขึ้น”

          “หลวงพ่อครับ แล้วระยะเวลา ๑ กัปป์ นานแค่ไหนครับ”

            “เขาว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก ท่านอุปมาว่าเปรียบเหมือนมีภูเขาหินล้วน กว้างยาวสูงด้านละ ๑ โยชน์ ทุก ๆ ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป แต่กัปป์หนึ่งก็ยังยาวนานกว่านั้นอีก”

          “ช่างยาวนานจนดูเหมือนว่าไม่มีวันสิ้นสุดเลยนะครับ ถ้าอย่างนั้นการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ชั่วกัปป์ชั่วกัลป์ก็เบื่อกันแย่ซีครับ”

          “นั้นซี ฉันถึงได้พยายามที่จะตัดออกจากวัฏสงสารให้ได้ ถึงเธอเองก็เหมือนกัน”

          “วัฏสงสารนี่มันเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ และจะไปสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ครับ”

          “ไม่มีใครรู้ว่ามันเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ และมันก็ไม่มีวันที่จะสิ้นสุดลงได้ ตราบใดที่สัตว์โลกยังทำกรรมกันอยู่”

          “แต่ถ้าสัตว์โลกหยุดทำกรรมเมื่อนั้นมันก็จะสิ้นสุดลง เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ”

          “มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ในทางปฏิบัติ มันเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ที่สัตว์โลกจะหยุดทำกรรม อิมพอสซิเบิ้ล” คราวนี้ท่านพระครูใช้ภาษาอังกฤษ

          “ฮั่นแน่ หลวงพ่อพูดภาษาปะกิดก็เป็นด้วย” พระลูกวัดล้อเลียน แล้วจึงถามต่อไปว่า

          “พระจ้างฆ่าคนนี่ตกนรกไหมครับ แล้วทำไมท่านถึงต้องทำอย่างนั้น”

          “เธอว่าตกหรือเปล่าเล่า อย่าลืม พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า เราทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะต้องรับผลของกรรมนั้น”

          “ก็ท่านไม่ได้ลงมือฆ่าเอง ก็ไม่น่าจะบาปนี่ครับ”

          “ทำไม่จะไม่บาป ถึงจะไม่ได้ลงมือเอง แต่วจีกรรม และมโนกรรมก็เป็นของท่าน แม้กายกรรมจะเป็นของคนอื่นก็ตาม กรณีที่ว่านี้ ถ้าเขาสอบสวนได้ความว่าทำผิดจริง ก็ต้องถูกให้สึก เพราะเป็นอาบัติปาราชิก มันก็น่าสลดใจนะ อุตส่าห์เข้ามาสู่ร่มกาสาวพัสตร์ แต่ก็เอาตัวไปลงนรกจนได้ กรณีรองเจ้าคณะจังหวัดจ้างฆ่าเจ้าคณะจังหวัดก็เหมือนกัน ขนาดเป็นครูบาอาจารย์ของตัวก็ยังทำได้ลงคอ”

          “ทำไมถึงต้องฆ่าเล่าครับ”

          “ก็หวังตำแหน่งน่ะซี อาจารย์ไม่ตายสักที ลูกศิษย์อยากจะเป็นเจ้าคณะจังหวัด ก็เลยจ้างฆ่าเสียเลย ฉันยังไปงานเผาศพท่าน เพราะคุ้นเคยกันมาก่อน เธอไม่เคยได้ยินเรื่องนี้หรอกหรือ ดังทั่วประเทศเชียวละ น่าสลดใจเหลือเกิน”

          “แล้วรองเจ้าคณะจังหวัดถูกจับหรือเปล่าครับ”

          “ก็เพราะถูกจับน่ะซี เรื่องถึงแดงขึ้นมา ไม่น่าทำเย เพราะลาภสักการะเป็นเหตุแท้ ๆ เป็นพระเป็นเจ้ามาหลงติดอยู่กับลาภสักการะก็เจ๊งทุกราย คราวนี้ท่านใช้ภาษาจีน

          “แหมหลวงพ่อเก่งจังนะครับ พูดได้ตั้งหลายภาษา จีนก็ได้ ปะกิดก็ได้” พระบัวเฮียวออกปากชม

          “ก็ฉันทำกรรมมาดี” ท่านพระครูถือโอกาสคุยทับ

          “กรรมที่ทำให้เก่งเป็นอย่างไรครับ ผมอยากเก่งบ้าง”

          “อยากรู้ก็ไปอ่าน จูฬกัมมวิภังคสูตร เอาเอง ที่ สุภมาณเพโตเทยยบุตร ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ทำไมคนเราถึงเกิดมาไม่เหมือนกัน บางคนโง่ บางคนฉลาด บางคนรวย บางคนจน พระพุทธเจ้าท่านอธิบายไว้ละเอียดมาก มีโอกาสก็ไปอ่านเสีย อยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ นั่น อ่านแล้วจะได้เลือกทำแต่กรรมดี ฉันเองยังเสียดาย ตอนเด็ก ๆ เกเรชะมัด สร้างเวรสร้างกรรมเอาไว้มาก นี่ก็ทยอยใช้ไปเรื่อย ๆ จะพยายามชดใช้เสียให้หมด ๆ ไปในชาตินี้

          “แปลว่าหลวงพ่อจะไม่เกิดอีกแล้วใช่ไหมครับ”

          “ด้วยใจจริงแล้ว ฉันไม่ปรารถนาจะเกิดอีกเลยแม้แต่ชาติเดียว แต่มันก็ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้ายังใช้กรรมไม่หมด ก็ต้องเกิดอีก ไม่ว่าจะปรารถนาหรือไม่ปรารถนาก็ตาม”

          “แล้วตอนนี้หลวงพ่อใช้จวนหมดหรือยังครับ” พระบัวเฮียวพยายาม “ตะล่อม”

          “หมดหรือไม่หมด มันก็ไม่ใช่เรื่องของเธอ อย่ามาถามเซ้าซี้อยู่เลย ฉันไม่หลงกลเธอง่าย ๆ หรอก” คนเป็นศิษย์ทำหน้าปั้นยาก เมื่อคนเป็นอาจารย์รู้เท่าทัน แต่แล้วก็ถามขึ้นอีกว่า

          “หลวงพ่อครับ ผมยังสงสัยเรื่องที่หลวงพ่อเล่ามา”

          “เรื่องอะไรอีกล่ะ” คนถูกถามชักจะรำคาญ

          “ก็เรื่องที่รองเจ้าคณะจังหวัดจ้างฆ่าเจ้าคณะจังหวัด เพราะหวังครองตำแหน่งแทนน่ะครับ ผมว่าไม่น่าจะบาปมากมายอะไร เพราะท่านไม่ได้ลงมือฆ่าเอง” พระใหม่ไม่วายสงกา

          “ช่างสงสัยจริงนะ เอาละฉันจะอธิบายให้ฟัง การฆ่านั้นจะบาปมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องดูว่ามันครบองค์ ๕ หรือเปล่า ถ้าครบก็บาปมาก ถ้าไม่ครบก็บาปน้อยลดหลั่นกันลงไป องค์ ๕ นั้นได้แก่ สัตว์มีชีวิต ๑ รู้ว่าสัตว์มีชีวิต ๑ มีจิตคิดจะฆ่า ๑ ใช้ความพยายามในการฆ่า ๑ สัตว์ตายเพราะความพยายามนั้น ๑ ฉันจะเล่าเป็นตัวอย่างให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง แล้วเธอวิเคราะห์เอาเองก็แล้วกัน ว่าครบองค์ ๕ หรือเปล่า เรื่องนี้เขาเล่าสืบกันมา เขาว่าเป็นเรื่องจริงด้วย”

          “แล้วหลวงพ่อว่าหรือเปล่าครับ”

          “ว่าอะไร”

          “ก็ว่าเป็นเรื่องจริงน่ะซีครับ ผมไม่เคยได้ยินว่า “หลวงพ่อว่า” สักครั้งมีแต่ “เขาว่า เขาว่า” อยากให้หลวงพ่อว่าบ้าง” พระญวน “ยวน”

          “พูดอย่างนี้แปลว่าไม่ฟังใช่ไหม ก็ดี ฉันจะได้ไม่เล่า” คนเป็นอาจารย์ถือโอกาสเล่นตัว

          “ฟังครับฟัง นิมนต์เล่าเถอะครับ” พูดพร้อมกับประนมมือขึ้น “นิมนต์” ท่านพระครูจึงเริ่มเล่า

          “กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว...”

          “นานแค่ไหนครับ” ผู้ฟังไม่วายล้อเลียน

          “จะนานแค่ไหนมันก็นานแล้วกัน”

          “หลวงพ่อนี่ความจำดีจังนะครับ เรื่องนานมาแล้วยังอุตส่าห์จำได้” คราวนี้ท่านพระครูหมดความอดทนอย่างแท้จริง จึงยื่นคำขาดว่า “นี่บัวเฮี้ยว ถ้าเธอเฮี้ยวอีก รับรองว่าฉันไม่เล่าแน่”

          “ครับ ๆ ผมไม่ขัดคอแล้ว ผมบัวเฮียวครับ ไม่ใช่บัวเฮี้ยว นิมนต์เล่าเถิดครับ” ท่านพระครูจึงเริ่มต้นใหม่ว่า

          “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหลวงตาองค์หนึ่ง อาศัยอยู่ในวัดวัดหนึ่ง เช้าตรู่วันหนึ่ง ท่านก็เห็นเต่าใหญ่ตัวหนึ่ง กำลังเดินต้วมเตี้ยมอยู่บนทางที่จะไปถาน หลวงตากำลังจะไปถานเพื่อปลดทุกข์ ครั้นเห็นเต่าทุกข์นั้นก็พลันหาย เพราะความอยากฉันแกงเต่า ก็เลยหันหลังเดินกลับไปที่กุฏิ คว้าคัมภีร์ใบลานมานั่งเทศน์ ทำเสียงอ่อนหวานว่า “เมื่อกี้ข้าไปถานเห็นเต่าคลาน ตัวมันออกใหญ่ ๆ เมื่อกี้ข้าไปถานเห็นเต่าคลาน ตัวมันออกใหญ่ ๆ เทศน์ซ้ำ ๆ อยู่อย่างนี้ เพราะต้องการจะให้ลูกศิษย์ได้ยิน ข้างฝ่ายลูกศิษย์ก็นึกว่าหลวงตาเทศน์ ก็ไม่ได้ใส่ใจ หลวงตาโมโห เลยตะโกนดัง ๆ ว่า ”เมื่อกี้ข้าไปถาน เห็นเต่าคลานตัวมันออกใหญ่ ๆ โว๊ย” คราวนี้มีโว๊ยติดมาด้วย หลวงตาท่านโว๊ยนะ ไม่ใช่พระครูเจริญโว๊ย เดี๋ยวจะมาหาว่าฉันพูดไม่สุภาพ” ท่านพระครูออกตัวไว้ก่อน พระบัวเฮียวเลยถือโอกาสสนองว่า

          “ผมยังไม่ได้ว่าหลวงพ่อสักหน่อย ไม่เห็นจะต้องร้อนตัวไปเลย นิมนต์เล่าต่อเถิดครับ กำลังสนุก”

          “พอหลวงตาโว๊ย ลูกศิษย์ก็เลยเข้าใจ รู้ว่า อ้อนี่หลวงตาคงอยากจะฉันแกงเต่า จึงเดินไปทางที่จะไปยังส้วมพระ ก็เห็นเต่าตัวหนึ่งคลานต้วมเตี้ยมอยู่ เลยจับเอามา วิธีแกงเต่าสมัยนั้นจะต้องต้มให้มันตายเสียก่อน ลูกศิษย์จึงจัดแจงก่อไฟ เอาหม้อข้าวใส่น้ำยกขึ้นตั้งไฟ พอน้ำเดือดก็จับเต่าใส่ลงไป บังเอิญเต่าตัวมันใหญ่กว่าหม้อข้าว มันก็เลยร่วงลงมา ลูกศิษย์ก็จับใส่ลงไปใหม่ มันก็ร่วงลงมาอีกเป็นสองครั้งสามครั้ง ข้างฝ่ายหลวงตาชำเลืองดูอยู่ เห็นท่าจะไม่ได้ฉันแกงเต่าเป็นแน่แท้ ก็เลยหยิบคัมภีร์ใบลานขึ้นมาอีก เดี๋ยวกอ่นเธอรู้จักหมอต้มกรักไหมล่ะ” ท่านถามคนฟัง

          “ไม่รู้จักครับ”

          “หม้อต้มกรัก เป็นภาชนะรูปทรงกระบอก มีขนาดใหญ่กว่าหม้อข้าว เขาเอาไว้สำหรับย้อมจีวร เพราะสมัยนั้นยังไม่มีจีวรขายเหมือนอย่างสมัยนี้” คนเล่าอธิบาย

          “ครับ แล้วอย่างไรต่อไปครับ”

          “หลวงตาก็กางคัมภีร์ออก แล้วเทศน์ด้วยเสียงอันดังว่า เมื่อกี้ข้าไปถานเห็นเต่าคลานตัวมันออกใหญ่ ๆ หม้อข้าวมันเล็กนัก หม้อต้มกรักนั่นประไร ลูกศิษย์ก็จัดแจงไปหยิบหม้อต้มกรักมา เอาน้ำในหม้อข้าวเทใส่ ยกขึ้นตั้งไฟ แล้วจับเต่าใส่ลงไป ในที่สุดหลวงตาก็ได้ฉันแกงเต่าสมใจ ก็เป็นอันจบเรื่อง เอาละทีนี้เธอวิเคราะห์มาซิว่า ในองค์ ๕ ที่กล่าวมาข้างต้น หลวงตาถูกองค์ไหนบ้าง”

          “ครบองค์ ๕ เลยครับ” คราวนี้พระบัวเฮียวตอบโดยไม่ต้องเสียเวลาคิด

          “อ้าว ก็ท่านไม่ได้ลงมือเอง แล้วจะครบได้ยังไง” ท่านพระครูลองใจ

          “ครบซีครับ เพราะเต่าเป็นสัตว์มีชีวิต หลวงตาท่านก็รู้ว่ามันมีชีวิต แต่ก็ยังจะอยากกินมัน ก็แสดงว่ามีจิตคิดจะฆ่า ใช้ความพยายามในการฆ่า ก็ตรงที่เทศน์ว่า หม้อข้าวมันเล็กนัก หม้อต้มกรักนั้นเป็นไร แล้วเต่าก็ตายเพราะความพยายามนั้น อย่างนี้ไม่เรียกว่าครบองค์ ๕ หรือครับ”

          “แหม! เธอนี่ฉลาดเสียจริง ๆ” พระบัวเฮียวหน้าบานเมื่อถูกชม แต่ก็หุบลงทันที เมื่อท่านพระครูพูดต่อว่า

          “แต่นาน ๆ จะฉลาดสักครั้ง อย่างเรื่องเมื่อกี้น่าจะฉลาด ก็ไม่ฉลาด”

          “เรื่องอะไรหรือครับ”

          “ก็เรื่องรองเจ้าคณะจังหวัดนั้นไง เธอคิดว่าไม่บาปหรือไง ถึงท่านจะไม่ได้ลงมือเอง แต่มันก็ครบองค์ ๕ หรือเธอว่าไม่ครบ” พระหนุ่มครุ่นคิดอยู่ประเดี๋ยวหนึ่งแล้วก็ยิ้มแหย ๆ พูดเสียงอ่อย ๆ ว่า

          “จริงครับ ผมไม่น่าโง่เลย”

          “นั้นซี หน้าเธอดูฉลาดออก” ท่านพระครูเริ่ม “รุก” แต่พระบัวเฮียวอยากจะรู้เรื่องอื่น ๆ อีก จึงไม่ยอมต่อกลอนด้วย

          “หลวงพ่อครับ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสงสัยก็คือ...” ศิษย์พูดยังไม่ทันจบ อาจารย์ก็รีบโบกมือห้าม

            “ช้าก่อน ช้าก่อน วันนี้เราคุยกันมาพอสมควรแล้ว ฉันรู้ว่าเธอจะถามเรื่องอะไร เอาไว้ต่อวันหลังก็แล้วกัน วันนี้หมดเวลา เธอกลับไปปฏิบัติที่กุฏิของเธอได้แล้ว ตั้งอกตั้งใจเข้า จะได้ใช้หนี้ให้หมด ๆ ไปเสีย” ประโยคหลังท่านทิ้งท้ายเอาไว้ให้คนฟังไปคิดเอาเอง

 

มีต่อ........๑๖