สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๑๖

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00016

 

๑๖...

            พระบัวเฮียวใช้พยายามอยู่หลายวัน ก็ยังไม่สบโอกาสที่จะเรียนถามข้อสงสัยจากท่านพระครู เพราะท่านไม่ค่อยมีเวลาว่างพอที่จะมานั่งให้ลูกศิษย์ซักถามได้เหมือนแต่ก่อน ยิ่งกิตติศัพท์ความดีงามของท่านเป็นที่เลื่องลือไป คนก็พากันมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหามากขึ้น มีผู้นิมนต์ท่านไปบรรยายธรรมตามสถาบันต่าง ๆ อยู่เนือง ๆ จนแทบไม่เว้นแต่ละวัน

          นับตั้งแต่ครูสฤษดิ์ซื้อรถตู้มาถวาย ท่านก็ไปไหนมาไหนสะดวกขึ้น โดยมีนายสมชายเป็นพลขับ นายสมชายเล่าว่า แต่ก่อนที่ยังไม่มีรถไว้ใช้ เวลาจะไปไหนท่านจะว่าจ้างนายอู่ให้ขับรถไปให้ แต่นายอู่ก็ทำให้ท่านต้องเสียงานอยู่บ่อย ๆ เป็นต้นว่าคืนไหนฝันร้าย รุ่งเช้าก็จะมาบอกว่าไม่สามารถขับรถไปส่งท่านได้ เพราะกลัวจะเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าท่านพระครูจะอ้อนวอนอย่างไร นายอู่ก็ไม่ยอมไปท่าเดียว ครั้นจะไปว่าจ้างคนอื่นก็ไม่ทันการ เพราะกว่าจะไปก็เลยเวลาที่เขานิมนต์ไปแล้ว

          แต่ถึงนายอู่จะกลัวอย่างไรก็ไม่อาจหนีกฎแห่งกรรมไปได้ เพราะในที่สุดนายอู่ก็ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำเสียชีวิต เนื่องจากไม่รักษาสัจจะ

          เรื่องมีอยู่ว่า สมัยหนุ่ม ๆ นายอู่มีอาชีพล่องเรือค้าขายไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ไปซื้อของกรุงเทพฯ มาขายต่างจังหวัด และอาเของต่างจังหวัดไปขายกรุงเทพฯ กิจการก็รุ่งเรืองดีอยู่ มีเรือของตัวเองหนึ่งลำและทำเป็นเรือโดยสารด้วย

          คืนหนึ่ง ขณะล่องเรือกลับจากกรุงเทพฯ คนขับเกิดหลับในเพราะเป็นเวลาดึกมากแล้ว เรือจึงพุ่งไปชนแก่งกลางแม่น้ำพลิกคว่ำลง คนขับกับผู้โดยสารประมาณห้าหรือหกคนพากันจมน้ำตายหมด

          นายอู่กำลังจะจมน้ำ ก็เกิดห่วงแม่กับเมีย ตอนนั้นเมียกำลังตั้งท้องลูกคนแรก เขาจึงตั้งจิกอธิษฐานว่า ขอให้ตนรอดชีวิตแล้วจะบวชอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรหนึ่งพรรษา

          ปรากฏว่านายอู่รอดจากการจมน้ำตายอย่างปาฏิหาริย์และกลับมาถึงบ้านได้ ไม่นานภรรยาก็คลอดบุตรออกมาเป็นหญิง เขาก็หาเลี้ยงลูกเมียเลี้ยงแม่ ยังไม่ยอมบวช ก็อยู่ต่อมาจนมีลูกอีกหลายคน ภายหลังได้ขายเรือมาซื้อรถเที่ยวรับจ้างส่งคน ส่งของอยู่แถววัด

          มาระยะหลัง ๆ นายอู่ฝันร้ายอยู่บ่อย ๆ คือฝันว่ายมบาลมาต่อว่าต่อขานที่นายอู่เสียสัจจะ หากยังดื้อดึงไม่ยอมบวชจะต้องรถคว่ำคอหักตาย เขาจึงได้มาเล่าให้ท่านพระครูฟัง ท่านก็ขอร้องให้บวช นายอู่ก็ไม่ยอมบวช ทั้งยังขอร้องไม่ให้ท่านเล่าเรื่องความฝันให้แม่และเมียของตนฟัง คืนไหนฝัน รุ่งเช้านายอู่ก็จะไม่ยอมขับรถ

          เวลาผ่านไปอีกหลายปี กระทั่งลูกสาวคนโตอายุ ๒๑ และกำลังจะแต่งงาน นายอู่ก็ฝันร้ายถี่ขึ้น ท่านพระครูก็ขอร้องให้เขาบวช เพราะท่านรู้ว่าถ้าไม่บวช เขาจะต้องตาย นายอู่ก็ดื้อดึงมายอมบวช อ้างว่าถ้าเขาบวชแล้วใครจะหาเลี้ยงแม่เลี้ยงเมีย

          ความจริงเขาจะบวชก็บวชได้ เพราะลูก ๆ ก็โตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันหมดแล้ว นอกจากไม่ยอมบวชแล้ว เขายังขอร้องท่านพระครูให้ปิดเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ

          อยู่ต่อมาไม่นาน นายอู่ก็รถคว่ำคอหักตายจริงดังที่ฝัน ท่านพระครูรู้สึกเศร้าสลดใจทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันเป็นกรรมที่เขาสร้างเองทำเอง เรื่องพอจะแก้ไขได้ เขาก็ไม่ยอมแก้ไข จึงต้องจบชีวิตอย่างน่าเอนจอนาถเช่นนั้น

          “หลวงพี่ครับ หลวงพ่อให้มานิมนต์” นายสมชายมาบอกพระบัวเฮียวในตอนบ่ายวันหนึ่ง หลังจากที่ท่านปฏิบัติกรรมฐานเสร็จ

          “นิมนต์ให้ไปที่กุฏิหลวงพ่อหรือ” พระหนุ่มเชื้อสายญวน ถามอย่างดีใจ เพราะจะได้ถือโอกาสเรียนถามข้อข้องใจสงสัยที่ติดค้างมาหลายวัน

          “เปล่าหรอกครับ ท่านให้มานิมนต์จะพาไปเจริญพระพุทธมนต์เย็นที่บ้านฝั่งโน้น ลูกสาวเขาแต่งงานครับ เขานิมนต์พระวัดเรา ๓ รูป หลวงพ่อให้ผมมานิมนต์หลวงพี่กับพระมหาบุญ บอกให้เอาย่ามกับตาลปัตรไปด้วย” นายสมชายบอกกล่าว

          “ไปเดี๋ยวนี้เลยหรือ” ถามอย่างยินดี

          “สักพักก็ได้ครับ หลวงพ่อจะออกห้าโมง นี่เพิ่งจะบ่ายสาม หลวงพี่ไปรอที่กุฏิท่านก่อนห้าโมงก็แล้วกัน ผมไปนะครับ”

          “แล้วพระมหาบุญท่านทราบหรือยัง”

          “ทราบแล้วครับ ผมไปเรียนท่านก่อนจะมาหากลวงพี่” เสร็จธุระ นายสมชายจึงเดินกลับไปยังกุฏิท่านพระครู

          พระบัวเฮียวจัดแจงสรงน้ำ  ขัดสีฉวีวรรณอย่างพิถีพิถันกว่าทุกวัน สรงน้ำเสร็จก็จัดการนุ่งห่มอย่างเรียบร้อย รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ “ออกงาน” เป็นครั้งแรกของชีวิตการบวช ท่านถือตาลปัตรและย่ามเดินไปที่กุฏิท่านพระครู นั่งอยู่คนเดียวสักยี่สิบนาที พระมหาบุญก็มาถึง ผู้บวชทีหลังทำความเคารพภิกษุผู้เคยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงด้วยการกราบสามครั้ง

          “มานานแล้วหรือบัวเฮียว” พระมหาบุญทักขึ้นก่อน

          “สักครู่ใหญ่ ๆ เห็นจะได้ หลวงพี่มาก็ดีแล้ว ผมอยากจะเรียนถามอะไรสักหน่อย”

          “ถามมาก ๆ ก็ได้ ถ้าผมตอบได้ก็จะตอบ รับรองว่าไม่ปิดบังอำพรางเลยแม้แต่น้อย เป็นไง ปฏิบัติไปถึงไหนแล้ว ข่าวว่าเป็นคนโปรดของท่านพระครูเลยนี่” คนจะถามกลับเป็นฝ่ายถูกถามเสียก่อน

          “ก็ไม่เชิงครับ ท่านเมตตาผมมากกว่า เห็นเป็นคนเซ่อ ๆ ซ่า ๆ ท่านคงจะสงสาร ก็เลยเอาใจใส่มากหน่อย ถ้าฉลาดหลักแหลมเหมือนหลวงพี่ ท่านก็คงปล่อยให้บินเดี่ยวได้แล้ว” พระบัวเฮียวตอบอย่างเอาใจ “หลวงพี่”

          “แต่คุณก็ก้าวหน้าเร็วดีนี่ เมื่อตอนผมบวชใหม่ ๆ ท่านก็ประคับประคองอยู่หลายเดือนกว่าจะปล่อยให้บินเดี่ยวอย่างที่คุณเห็น ท่านพระครูท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่วิเศษที่สุด ผมเคารพนับถือท่านมากจริง ๆ”

          พระมหาบุญพูดจากความรู้สึกลึกซึ้ง หากพระบัวเฮียวก็เข้าใจ เพราะความรู้สึกของท่านที่มีต่อท่านพระครูก็ไม่แตกต่างไปจากนี้

            “หลวงพี่ครับ ผมไม่เคยออกงาน รู้สึกตื่นเต้นจนกลายเป็นความกังวล กลัวว่าจะวางตัวไม่ถูก หลวงพี่พอจะกรุณาแนะนำผมหน่อยจะได้ไหมครับ”

            “ได้ซี ทำไมจะไม่ได้เล่า ไม่ต้องไปกังวลหรอก ให้ทำตามที่หลวงพ่อท่านบอกก็แล้วกัน เป็นต้นว่าเวลานั่งเขาจะเรียงตามอายุพรรษา สงสัยว่าคุณคงจะต้องนั่งท้ายแถว เพราะบวชทีหลังเพื่อน อย่าประหม่าก็แล้วกัน บทเจริญพระพุทธมนต์เย็น คุณก็ท่องได้หมดแล้วไม่ใช่หรือ”

          “ครับ ได้หมดแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเวลาสวดจริง ๆ จะจำผิดจำถูกบ้างหรือเปล่า”

          “จำถูกน่ะไม่เป็นไรหรอก แต่จำผิดคงไม่ดีนัก ประเดี๋ยวจะทำให้ขายหน้าพระวัดเรา เอาอย่างนี้ถ้าตอนไหนไม่แน่ใจก็ให้ออกเสียงเบา ๆ ไม่มีใครเขารู้หรอก เพราะตอนสวดเราจะเอาตาลปัตรบังหน้าไว้” ผู้แก่พรรษากว่าแนะนำ

          “ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะประหม่ามากน้อยแค่ไหน คงจะเขินมากเลยถ้า....”

          “ถ้าอะไร” พระมหาบุญซัก เพราะฝ่ายนั้นไม่ยอมพูดต่อ

          “ถ้า...มีสาว ๆ มานั่งฟังน่ะครับ” พระมหาบุญจึงแถลงว่า

          “ต้องมีแน่ ๆ อย่างน้อยก็เจ้าสาวคนหนึ่งละ แล้วยังจะเพื่อเจ้าสาวอีกคนหรือสองคน และถ้าเขารู้ว่าจะมีพระหนุ่ม ๆ ไป พวกสาว ๆ คงพากันแห่มาเชียวแหละ สงสัยว่าคราวนี้คุณจะต้องสึกเสียละมัง” พระมหาบุญพูดเย้า ๆ

          “สึกน่ะไม่กลัวหรอกครับ กลัวจะประหม่า อย่างหลังนี่แก้อย่างไรครับ”

          “คุณก็กำหนดซี รู้สึกอย่างไร ก็กำหนดไปอย่างนั้น ปฏิบัติแล้วก็ต้องเอามาใช้ประโยชน์ให้ได้ เอาเถอะตั้งสติเข้าไว้แล้วก็จะดีไปเอง จำไว้แล้วกันว่าถ้าคุณขืนแสดงอะไรเปิ่น ๆ ออกไป คราวหน้าคราวหลังหลวงพ่อจะไม่พาคุณไปไหนต่อไหนด้วยอีก”

          “ถ้าอย่างนั้นผมจะพยายามเต็มที่เลยละครับ จะได้ออกไปเปิดหูเปิดตาบ่อย ๆ”

          “แต่การไปไหนมาไหนบ่อยมันก็ไม่ดีสำหรับการปฏิบัตินะบัวเฮียว เพราะจิตมันจะท่องเที่ยวไปรับอารมณ์อื่น ไม่จดจ่อแน่วแน่อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน แต่ก็นั่นแหละถ้าเรากำหนดได้ทันมันก็ไม่เสียหายอะไร นึกเสียว่าเป็นการหาแบบฝึกหัดมาให้จิตทำแล้วกัน” พระมหาบุญแนะนำในฐานะที่เคย “อาบน้ำร้อนมาก่อน”

          ท่านพระครูลงมาจากกุฏิชั้นบน เมื่อเวลาสิบเจ็ดนาฬิกาเศษ พระสองรูปที่นั่งรออยู่ทำความเคารพด้วยการไหว้ แล้วลุกขึ้นเดินตามท่านไปยังรถที่นายสมชายรออยู่

            ท่านพระครูขึ้นไปนั่งตอนหน้าคู่กับคนขับ ส่วนพระมหาบุญกับพระบัวเฮียวนั่งถัดไปทางด้านหลัง นายสมชายปิดประตูเรียบร้อยแล้วจึงออกรถ วิ่งตรงไปออกสายเอเชีย แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตัวจังหวัดซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือของวัด ประมาณยี่สิบนาทีก็ถึงทางแยกเข้าตัวจังหวัด จากนั้นต้องวิ่งย้อนลงมาทางใต้อีกประมาณสองกิโลเมตร จึงถึงท่าเรือที่จะข้ามไปยังบ้านงานที่อยู่ทางฝั่งโน้น

          “สมชายเฝ้ารถรอยู่ฝั่งนี้ ไม่ต้องข้ามไปด้วย” ท่านพระครูสั่งศิษย์วัด แล้วท่านจึงเดินนำลงไปรอเรือจ้างซึ่งมีเพียงลำเดียว ครู่หนึ่งหญิงแจวเรือจ้าง ก็แจวเรือเปล่ากลับมาหลังจากส่งผู้โดยสารขึ้นฝั่งตรงข้ามแล้ว

          “นิมนต์หลวงพ่อจ้ะ จะไปบ้านงานหรือจ๊ะ” หญิงแจงเรือเชื้อเชิญพร้อมกับตั้งคำถาม ในชนบทนั้นบ้านไหนมีงานก็เป็นอันรู้ถึงกันหมดทั้งตำบล

          “ไปทีเดียวสามไหวไหมจ๊ะหนู หรือว่าต้องทีละคน” ท่านพระครูถามคนแจว ซึ่งเป็นหญิงสาวอายุไม่เกินยี่สิบ เกรงว่าจะเกินเรี่ยวแรงของหล่อน เพราะน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาปริ่มขอบตลิ่ง เนื่องจากยังไม่สิ้นเดือนสิบสอง ระยะทางข้ามฟากจึงดูกว้างไกลกว่าปกติ พระบัวเฮียวมีอันต้องกำหนด “เขินหนอ” เมื่อสบตากับหล่อน

          “ไหวจ้ะ นิมนต์ทั้งสามองค์เลยจ้ะ” หญิงสาวตอบ

          “นั่นพายอีกันไม่ใช่หรือ” พระมหาบุญชี้ไปที่ไม้พายซึ่งวางอยู่หัวเรือ

          “เอาอย่างนี้ เดี๋ยวอาตมาจะช่วยพาย จะได้เบาแรงโยมหน่อย” พูดแล้วท่านก็ลงไปนั่งที่หัวเรือ จับไม้พายมาถือด้วยท่าทางทะมัดทะแมง

          เมื่อภิกษุอีกสองรูปขึ้นมานั่งในเรือเรียบร้อยแล้ว หญิงสาวจึงออกเรือ โดยมีพระมหาบุญช่วยแจวอยู่ทางด้านหัว ส่วนหล่อนอยู่ท้าย ท่านพระครูกับพระบัวเฮียวอยู่กลาง

          “สองทุ่มเลิกหรือยังจ๊ะหนู อาตมาต้องกลับประมาณสองทุ่ม” ท่านพระครูถาม ขึ้นจากเรือแล้วต้องเดินไปอีกหลายนาทีกว่าจะถึงบ้านงาน

          “มีจ้ะ หนูจะแจวจนถึงหกโมง ต่อจากนั้นพ่อเด็กเขาจะมาเปลี่ยนและไปเลิกเอาสองทุ่มครึ่ง” หญิงสาวตอบ

          “อ้อ มีลูกมีผัวแล้ว แบบนี้ค่อยหายเขินหน่อย” พระบัวเฮียวพูดในใจ รู้สึกโล่งอกเมื่อทราบว่าหล่อนมีเจ้าของแล้ว

          เมื่อถึงฝั่งท่านพระครูจึงถามว่า “เท่าไหร่จ๊ะหนู”

          “นิมนต์เถิดจ๊ะ ฉันถวาย นึกว่าให้ฉันมีโอกาสได้ทำบุญก็แล้วกัน”

          “อย่าเลยหนู กินแรงคนอื่นมันบาป เท่าที่หนูมีจิตศรัทธาก็ได้บุญแล้ว อาตมาขออนุโมทนา เท่าไหร่จ๊ะ”

          “คนละสองสลึงจ๊ะ หลวงพ่อให้ฉันมาบาทเดียวก็พอ” หญิงสาวลดให้ห้าสิบสตางค์

            ท่านพระครูวางเงินไว้ให้สองบาท แล้วกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นอาตมาฝากซื้อขนมไปให้ลูกหนูอีกหนึ่งบาท ขอบใจนะจ๊ะหนู”

          หญิงสาวยกมือไหว้ พลางกล่าวขอบคุณ แล้วจึงรีบพายเรือเปล่ากลับไปรับผู้โดยสารที่กำลังยืนรออยู่ทางฝั่งโน้น

          ร้าน “ลมโชย” เป็นร้านอาหารที่ขึ้นชื่อของตำบล ตั้งอยู่ริมแม่น้ำติดกับท่าข้ามเรือ ขณะนั้นกำลังขายดิบขายดี มีลูกค้านั่งเต็มทุกโต๊ะ โต๊ะที่ติดกับทางเดินมีแต่ผู้ชายล้วน กำลังตั้งวงเสพสุรากันอย่างครื้นเครง มีจานกับแกล้ม แก้วและขวดเหล้าวางอยู่เต็ม

          เมื่อเดินผ่านโต๊ะนั้น ท่านพระครูกำหนด “เห็นหนอ” แล้วจึงกระซิบกับพระบัวเฮียวว่า “เธอคอยดูนะบัวเฮียว เดี๋ยวคนโต๊ะนี้จะตีกันถึงเลือดตกยางออก รอให้เมาได้ที่เสียก่อน ขากลับเราทันได้เห็นแน่”

          “หลวงพ่อรู้ได้อย่างไรล่ะครับ” พระบัวเฮียวถามตามความเคยชินเสียมากกว่า เพราะรู้คำตอบดีอยู่แล้ว

          “รู้ก็แล้วกัน ไม่เชื่อเธอคอยดูว่าจะเป็นอย่างที่ฉันพูดหรือเปล่า” แล้วภิกษุสามรูปก็เดินผ่านร้านนั้นไปบ้านงาน

          หลังจากการเจริญพระพุทธมนต์เย็น สิ้นสุดลง เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงจึงกล่าวลาเจ้าภาพ แล้วพาภิกษุอีกสองรูปกลับวัด ส่วนพระอีก ๖ รูปมาจากวัดทางฝั่งนี้ จึงไม่ต้องไปข้ามเรือ ขณะเดินกลับ พระมหาบุญถามพระบัวเฮียวว่า “ไงคุณหายตื่นเต้นหรือยัง”

            “จวนแล้วครับ เหลืออีกนิดเดียวก็จะหาย ต้องขอขอบคุณหลวงพี่มาก ๆ เลย ผมพยายามนึกถึงคำแนะนำของหลวงพี่เกือบตลอดเวลา เพื่อเจ้าสาวเขาสวยจนผมประหม่า”

          ฟังแล้วท่านพระครูอดรนทนไม่ได้ จึงขัดขึ้นว่า “รู้สึกว่าเธอจะชื่นชมแต่คนสวย ๆ เท่านั้นนะบัวเฮียวนะ ไม่รู้หรอกหรือว่า สตรีคือศัตรูพรหมจรรย์” พระบัวเฮียวตอบล้อเลียนว่า “รู้ซีครับหลวงพ่อ อาตมารู้หมด แต่อาตมาก็อดไม่ได้”

          “ทำพูดดีไปเถอะ แล้วอย่ามาหาว่าฉันไม่เตือนก็แล้วกัน” ท่าสนพระครูนึกหมั่นไส้

          “ดูท่าทางคุณคงอยากสึกใช่ไหมคุณบัวเฮียว” พระมหาบุญถาม

          “อยากครับ ผมอยากสึกออกไปแต่งงาน เห็นเขาแต่งกันแล้วผมก็อยากแต่งบ้าง” พระบัวเฮียวสารภาพ

          “แล้วคุณคิดว่าจะได้แต่งหรือเปล่า”

          “คิดว่าน่าจะได้ หลวงพี่ไม่เห็นหรือ พระวัดป่ามะม่วงตั้งหลายองค์ที่รูปหล่อน้อยกว่าผมก็ยังสึกออกไปแต่งงาน แล้วทำไมผมจะทำอย่างนั้นบ้างไม่ได้”

          “มันไม่ได้อยู่ที่ดีกรีของความหล่อหรอก แต่มันอยู่ที่กรรม ถ้าเราไม่เคยทำกรรมกับใครไว้ก็ไม่ต้องมาชดใช้ คนที่เขาแต่งงานกันก็เพื่อจะมาร่วมกันใช้กรรม สำหรับเธอเขาเรียกว่าไม่มีคู่กรรม เชื่อสิ ชาตินี้เธอไม่มีโอกาสได้แต่งงานหรอก” ท่านพระครูชี้แจง จำพูดของท่านจึงไปทำให้ใจของพระบัวเฮียวเหี่ยวแห้งหดหู่โดยที่ท่านมิได้เจตนา

          เมื่อเดินมาถึงท่าน้ำก็ต้องรอเรือซึ่งเพิ่งจะบรรทุกผู้โดยสารสองคนออกจากฝั่งไป คงต้องยืนรออีกหลายนาทีกว่าเขาจะพายกลับมารับ

          พระจันทร์ค่อนดวงลอยเด่นอยู่กลางฟ้า พวกผู้ชายที่นั่งกินเหล้าอยู่โต๊ะติดทางเดินยังไม่มีใครลุกไปไหน เสียงที่คุยชักจะดังมากขึ้น เพราะต่างก็กำลัง “ได้ที่” แล้วใครคนหนึ่งก็สบถขึ้นว่า

          “...หมาตัวไหนตดวะ สงสัยแม่มันคงไส้เน่า เหม็นฉิบหายเลย” พูดด้วยความโกรธผสมกับความเมา

          “พูดยังงั้นมันก็ไม่สวยซีวะ  เรื่องขี้เรื่องตดมันอดกันไม่ได้โว๊ย  หรือว่าแม่มึงไม่เคยตด”  ชายที่นั่งติดกันพูดโกรธ ๆ

          ท่านพระครูจึงกระซิบกับพระบัวเฮียวว่า “คอยดูนะ เดี๋ยวได้ตีกัน”

          “หลวงพ่อไปห้ามไว้เสียก่อนไม่ดีหรือครับ” พระบัวเฮียวออกความเห็น เพราะเกรงจะถูกลูกหลง ท่านพระครูตอบว่า

“พูดกับคนเมาจะไปรู้เรื่องอะไร ดีไม่ดีจะเจ็บตัวอีกด้วย ก็คนไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่ว่าหน้าอินทร์หน้าพรหมพ่อซัดได้ทั้งนั้น”

เสียงทะเลาะรุนแรงขึ้น มีการด่าอย่างหยาบคาย ในที่สุดก็แบ่งออกเป็นสองฝ่ายแล้วก็ถึงขั้นตะลุมบอนกัน

          “หลวงพ่อ ทำไงดี ทำไงดี” พระบัวเฮียวกระซิบเสียงลั่น ขาก็สั้นตามไปด้วย

          “เฉยไว้ ไม่ต้องกลัว มากับฉันรับรองว่าปลอดภัย” พระบัวเฮียวชำเลืองไปที่โต๊ะนั้น เห็นคนหนึ่งคว้าขวดเหล้าฟาดลงบนศีรษะของอีกคนหนึ่ง ผู้ถูกฟาดล้มฟุบคาโต๊ะเลือดแดงฉาน

          “หลวงพ่อครับ ผมจะเป็นลมอยู่แล้ว” พระบัวเฮียวรู้สึกใจสั่น ขาสั่นพั่บ ๆ เคยเห็นแต่เลือดวัวควาย ไม่เคยเห็นเลือดคน

          “กำหนดซีบัวเฮียว” พระมหาบุญแนะ

          “กำหนดไม่ไหวครับ มันกลัวจนตั้งสติไม่ได้”

          “งั้นก็แปลว่าวันนี้คุณสอบตก ต้องกลับไปฝึกอีกมาก ๆ โน่นไงเรือมาโน่นแล้ว”

          เมื่อเรือเข้ามาจอดเรียบร้อย สมภารรูปหนึ่งกับลูกวัดสองรูปจึงพากันลงเรือ คราวนี้พระมหาบุญไม่ต้องช่วยแจว เพราฝีพายเป็นชายหนุ่มรูปร่างกำยำล่ำสัน นั่งกันเรียบร้อยแล้วท่านพระครูจึงเอ่ยขึ้นว่า

          “เห็นไหมบัวเฮียว เห็นโทษของการขาดสติหรือยัง นี่ถ้าคนพวกนั้นพากันมาเข้ากรรมฐาน ก็จะไม่มีเรื่องต้องตีกันหัวร้างข้างแตกอย่างนั้น”

            “นั่นซีครับ ถ้าเจ้าหมอนั่น กำหนด “กลิ่นหนอ” เสียก็คงไม่มีเรื่อง นี่จะมีคนตายไหมครับหลวงพ่อ” ถามอย่างเป็นห่วง

          “ไม่หรอก เดี๋ยวตำรวจเขาก็มาจัดการ” ท่านพระครูตอบ

          “ผมว่าสาเหตุของเรื่องมันไม่ได้อยู่ที่การผายลมหรอกครับหลวงพ่อ มันอยู่ที่เหล้าต่างหาก คนพวกนั้นพอเหล้าเข้าปาก ก็เห็นช้างตัวเท่าหมู” พระมหาบุญว่า

          “ไม่ว่าคนพวกนั้น หรือคนพวกไหนหรอก พอเมาขึ้นมาก็ต้องเป็นแบบนี้ทั้งนั้น ไม่งั้นพระพุทธองค์ท่านจะสอนหรือ....สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา สุราเมรัยเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ศีลข้อนี้สำคัญที่สุด เพราะถ้าละเมิดข้อนี้ข้อเดียว ก็สามารถละเมิดข้ออื่น ๆ ได้ทั้งหมด ฉันถึงอยากให้ทุกคนเจริญสติปัฏฐาน ๔ จะได้ไม่ขาดสติ”

          “แต่บางคนเขาก็ชอบที่จะอยู่อย่างไม่มีสตินะครับหลวงพ่อ เพราะถึงเขาจะรู้ว่าสุราทำให้ขาดสติ เขาก็ยังดื่ม  ทั้ง ๆ ที่รู้”

            “คนพวกนี้น่าสงสารนะท่านมหา”

          “สงสารทำไม่ครับหลวงพ่อ ผมว่าเราไม่ควรสงสารคนชั่ว” พระบัวเฮียวขัดขึ้น

          “เธอไม่รู้อะไร คนชั่วนั้นแหละน่าสงสาร เพราะเขาไม่รู้ว่านรกกำลังรอเขาอยู่ ก็เลยประมาทมัวเมาในชีวิต คนทุกวันนี้มักจะตั้งอยู่ในความประมาทกันเสียเป็นส่วนใหญ่ น่าเสียดายที่เกิดมาเป็นมนุษย์ แต่ไม่ได้ใช้ความเป็นมนุษย์ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง”

          ขึ้นจากเรือ ภิกษุทั้งสามรูปจึงเดินไปที่รถซึ่งนายสมชายเตรียมเปิดประตูรอไว้แล้ว

          “เป็นไง รอนานไหม” ท่านพระครูทัก

          “ก็หลับไปตื่นนึงแหละครับ แต่ไม่ไหว ยุงชุมชะมัด อากาศหนาว ๆ อย่างนี้ไม่น่ามียุง” ลูกศิษย์วัดพูดเป็นเชิงบ่น

          ขณะที่นั่งมาในรถ พระมหาบุญเปิดฉากการสนทนาขึ้นว่า

          “ความไม่ประมาทนี้สำคัญนะครับหลวงพ่อ ขนาดพระพุทธองค์จะปรินิพพานอยู่แล้ ยังทรงเตือนภิกษุทั้งหลายให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท”

          “ถูกแล้ว สมัยที่ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็ตรัสสอนเรื่องความไม่ประมาทบ่อยครั้ง ทรงอุปมาอุปไมยว่า

          ....รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลายชนิดใด ๆ ก็ตาม ย่อมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด รอยเท้าช้างเรียกว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้นโดยความใหญ่ ฉันใด กุศลธรรมทั้งหลายย่อมมีความไม่ประมาทเป็นมูล ประชุมลงในความไม่ประมาทได้ทั้งหมด ความไม่ประมาทเรียกได้ว่าเป็นยอดของธรรมเหล่านั้น ฉันนั้น....”

            “แหม หลวงพ่อยังกับเป็นตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่แน่ะ” พระบัวเฮียวออกปากชม แต่แล้วกลับตั้งข้อสงสัยว่า “แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นพุทธพจน์จริง ๆ เพราะพระพุทธเจ้าก็ปรินิพพานไปตั้งสองพันกว่าปีแล้ว”

          “เป็นชาวพุทธ ถ้าไม่เชื่อคัมภีร์พระไตรปิฏก ก็เอวังเท่านั้นเอง จริง ๆ นะบัวเฮียว ฉันไม่ค่อยเข้าใจเธอสักเท่าไร เรื่องที่น่าสงสัย เธอก็ไม่สงสัย แต่เรื่องที่ไม่น่าสงสัยเธอกลับสงสัย รู้สึกว่าเธอชอบ “ทวนกระแส” อยู่เรื่อยเชียวนะ เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน พระธรรมคำสอนเป็นสิ่งท้าทายให้พิสูจน์ ถ้าไม่เชื่อก็ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง แล้วเธอจะรู้ว่า พระธรรมคำสอนเป็นสัจธรรมโดยแท้” ท่านพระครูถือโอกาส “เทศน์นอกธรรมาสน์”

          “ผมเชื่อครับ เชื่อโดยไม่ต้องพิสูจน์ เพราะรู้ว่าหลวงพ่อพิสูจน์มาหมดแล้วนี่ครับ” คนถูกเทศน์ตอบเสียงอ่อย

          นายสมชายขับรถออกจากตัวจังหวัด แล้วเลี้ยวเข้าถนนสายเอเซียประมาณสามสิบหนาที่ก็มาจอดที่หน้ากุฏิท่านพระครู พระบัวเฮียวถือโอกาสถามเจ้าของกุฏิว่า

          “อ้อ ลืมบอกไป พรุ่งนี้เป็นวันแต่ง เราต้องไปถึงบ้านงานเจ็ดโมงเจริญพระพุทธมนต์ ฉันเช้าแล้วก็กลับวัด ประมาณสิบโมงจะมีโยมมาหา จะมาสร้างหอประชุมให้ ต้องใช้เงินเป็นล้านเชียวนาท่านมหา” ประโยคหลังท่านพูดกับพระมหาบุญ

          “เขามีหนังสือมาบอกหลวงพ่อหรือครับ” พระมหาบุญถาม

          “เปล่าหรอก”

          “แล้วทำไมหลวงพ่อทราบเล่าครับ” พระบัวเฮียวถามทั้งที่ไม่น่าจะถาม

          “ก็ “เห็นหนอ” เขาบอกเมื่อตอนเช้ามืดนี่เอง” ท่านพระครูตอบ ท่านรู้ว่าพระบัวเฮียวมีข้อสงสัยอยากจะไต่ถาม จึงพูดตัดบทว่า “เอาเถอะ พรุ่งนี้ฉันจะให้เธอกับท่านมหาอยู่ฟังด้วย หลังจากนั้นเธอมีอะไรจะถามก็ถามได้”

          พระบัวเฮียวดีใจอย่างบอกไม่ถูก ขณะที่พระมหาบุญรู้สึกเฉย ๆ เพราะท่านสามารถปรับตัวความยินดียินร้ายให้สมดุลกันได้แล้ว

 

มีต่อ........๑๗