สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๑๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00017

 

๑๗...

          กลับจากบ้านงาน ท่านพระครูขึ้นไปเขียนหนังสือคู่มือการสอบอารมณ์กรรมฐาน อยู่ที่ชั้นบนของกุฏิ ครู่ใหญ่ ๆ นายสมชายก็ขึ้นไปรายงานว่า อาคันตุกะสี่คนมารอพบอยู่ที่กุฏิชั้นล่าง

          “ไปตามพระมหาบุญกับพระบัวเฮียวมาฟังด้วย” ท่านสั่งแล้วเขียนหนังสือต่อไปอีกพักหนึ่ง รอให้พระบัวเฮียวแบพระมหาบุญมาถึงเสียก่อนจึงค่อยลง

          สักครู่นายสมชายก็เดินตามภิกษุสองรูปเข้ามา เห็นเจ้าของกุฏิยังไม่ลงมาจากชั้นบน จึงขึ้นไปตามอีกครั้ง

          เมื่อท่านพระครูลงมา และนั่งบนอาสนะประจำของท่านแล้ว ภิกษุสองรูปกับฆราวาสสี่คนต่างทำความเคารพ ด้วยการกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง

          “เจริญพร โยมมาจากไหนกันบ้างล่ะนี่” ท่านถามคนนั่งหน้าสุด

          “ผมมาจากเชียงใหม่ครับ”

          “โยมล่ะ” คนที่นั่งถัดไปตอบว่า

          “ผมมาจากภูเก็ตครับ” ถามอีกสองคนก็ได้ความว่ามาจากกาญจนบุรีคนหนึ่ง จากระยองคนหนึ่ง

          “แหม สี่คนมาจากสี่ทิศเลย แล้วไปยังไงมายังไงถึงได้นัดมาเจอกันที่วัดนี่”

          “ไม่ได้นัดครับ พวกเราเจอกันโดยบังเอิญตรงทางเลี้ยวเข้าวัด เป็นเรื่องแปลกครับหลวงพ่อ ถึงจะมาจากคนละทิศ แต่ก็บังเอิญมาเจอกันตรงทางเข้าวัด พอคนขับรถผมเลี้ยวจากสายเอเชียมา ก็เจอรถเบ๊นซ์อีกสามคันเลี้ยวตามมา เป็นเบ๊นซ์รุ่นเดียวกันเสียด้วย แล้วแต่ละคนก็มีคนขับขับมาให้ นี่ถ้าเกิดสีเดียวกันทั้งสี่คัน ผมคงต้องเอาไปลงหนังสือพิมพ์แน่” คนที่มาจากเชียงใหม่รายงาน

          “อาตมาว่ามีเรื่องแปลกกว่านั้นอีก เชื่อไหมว่าโยมสี่คนเกิดวัน เดือน ปี ตรงกัน ไม่เชื่อลองถามกันดูก็ได้”

          “จริงหรือครับหลวงพ่อ งั้นผมต้องพิสูจน์ละ” คนมาจากเชียงใหม่พูดแล้วจึงหันหน้ามาถามคนที่มาจากภูเก็ตว่า “คุณเกิดเมื่อไหร่ ส่วนผมยี่สิบเจ็ดมีนา เจ็ดหนึ่ง”

          “ทำไมวันเดียวกับผมเลย” อีกสามคนร้องขึ้นพร้อมกัน ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมาพบผู้เป็น “สหชาติ” ถึงสี่คนในคราวเดียวกัน คนทั้งสี่ไม่รู้ว่าเหตุใดจึงมีเรื่องบังเอิญเช่นนี้เกิดขึ้น พระมหาบุญแบพระบัวเฮียวก็ไม่รู้ แต่ท่านพระครูรู้ ว่ามันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม บุรุษที่มาจากทิศทั้งสี่ เหนือ ใต้ ตะวันตก ตะวันออก สี่คนนี้จะมาสร้างกรรมร่วมกันที่วัดป่ามะม่วง กรรมที่ร่วมกันสร้างนั้นเป็นกรรมดี!

          “นี่ก็ได้เวลารับประทานอาหารแล้ว เชิญทานข้าวกันก่อนเดี๋ยวค่อยมาคุยต่อ” ท่านพระครูเชื้อเชิญพลางหันไปสั่งนายสมชาย ให้นำอาคันตุกะทั้งสี่ไปที่โรงครัว พระมหาบุญกับพระบัวเฮียวก็ลุกออกไปเพื่อฉันภัตตาหารเพล ท่านพระครูขึ้นไปเขียนหนังสือต่อยังชั้นบนของกุฏิ รอให้พระและฆราวาสทั้งหกกลับมาอีกครั้งท่านจึงจะลง

          ที่โรงครัว มีอาหารที่ถูกจัดเตรียมไว้เพียงโต๊ะเดียว เนื่องจากเป็นช่วงออกพรรษา อุบาสกอุบาสิกาที่มาเข้ากรรมฐานมีน้อยกว่าปกติ แม่ครัวจึงจัดอาหารใส่ปิ่นโตไปส่งให้ถึงกุฏิที่พัก จะได้ไม่ต้องเดินมาที่โรงครัว

          “เชิญเลยค่ะคุณ” แม่ครัวผู้มีอัชฌาสัยเชื้อเชิญ พลางกุลีกุจอตักข้าวใส่จานแจกบุรุษทั้งสี่ นายสมชายช่วยยกน้ำมาบริการ

            “ทานมาก ๆ นะคะคุณ หลวงพ่อท่านจะได้ดีใจ” แม่ครัววัยหกสิบบอกอาคันตุกะ หล่อนยิ้มแย้มแจ่มใสต้อนรับทุกคนด้วยความเต็มใจ บุรุษทั้งสี่เกิดความอบอุ่นอย่างประหลาด นับตั้งแต่รถเลี้ยวเข้ามาในวัด มีความรู้สึกเหมือนดังได้กลับคืนสู่บ้านที่ตนจากไปนานแสนนาน

          “ผมรู้สึกว่าวัดนี้มีอะไรแปลก ๆ นะครับ คุณรู้สึกอย่างนั้นหรือเปล่า” บุรุษที่มาจากภูเก็ตเอ่ยขึ้น เขารู้สึกคุ้นเคยกับคนทั้งสาม ราวกับว่ารู้จักกันมานาน ทั้งที่เพิ่งจะเห็นหน้ากันเป็นครั้งแรก คนทั้งสามก็มีความรู้สึกอย่างเดียวกัน บุรุษที่มาจากเชียงใหม่เสริมว่า “ผมยังนึกว่าฝันอยู่เลยนะครับนี่ ไม่นึกว่าจะมาพบเรื่องมหัศจรรย์อย่างนี้ บอกตามตรงว่า ผมไม่เคยเข้าวัดมาก่อน ไม่เคยทำบุญ ไม่เคยศรัทธาพระ ก็พระสมัยนี้น่าศรัทธาเสียเมื่อไหร่” ประโยคหลังเขาพูดเสียงเบา เพราะเกรงแม่ครัวกับลูกศิษย์วัดจะได้ยิน

          “ส่วนผมเป็นคนชอบทำบุญมาก่อน แต่พอมีเรื่องกับท่านเจ้าคุณก็เลยเลิกทำ” คนมาจากกาญจนบุรีพูด

            “เจ้าคุณอะไรครับ” คนมาจากระยองถาม

          “ก็เจ้าคุณ....” เขาเอ่ยนามเจ้าคุณรูปหนึ่ง ที่กลังเป็นที่เคารพศรัทธาของคนกรุงเทพฯ มีลูกศิษย์ลูกหาเป็นนักการเมืองหลายคน ล้วนแต่เป็นคนเด่นคนดังแทบทั้งสิ้น

          “เรื่องร้ายแรงมากหรือครับคุณถึงกับเลิกนับถือพระ”

          “ก็ไม่ร้ายแรงเท่าไหร่ แต่มันก็เล่นเอาผมหมดศรัทธาไปเลย จะเล่าให้ฟังก็คงได้ คือพี่ชายผมเขาเป็นรัฐมนตรีแล้วก็เป็นลูกศิษย์ท่าน เวลาทำบุญก็นิมนต์ท่านมาที่บ้านเป็นประจำ วันหนึ่งเขาทำบุญวันเกิด นิมนต์ท่านไว้ล่วงหน้าแล้ว พอถึงวันงานก็ให้ผมไปรับ คือผมจะทำหน้าที่รับส่งท่านทุกครั้งที่นิมนต์มา บังเอิญวันนั้นภรรยาผมเอารถเบ๊นซ์ไปร้านเสริมสวย ผมก็เลยขับโตโยต้าของลูกสาวไปรับ คุณเชื่อไหม ท่านถือตาลปัตรกับย่ามเดินตามผมมาถึงรถ พอเห็นเป็นรถโตโยต้า ท่านถามว่า ทำไมไม่เอารถเบ๊นซ์มารับ ผมก็บอกเหตุผลท่านไป ท่านก็ยืนลังเลไม่ยอมขึ้นรถ เสร็จแล้วก็บอกผมว่ารอเดี๋ยวนะ แล้วก็หายเข้ากุฏิไป ประเดี๋ยวหนึ่งก็ส่งพระอีกรูปมาแทน พี่ชายผมโกรธมาก พระรูปนั้นเล่าให้ฟังว่า เจ้าคุณท่านเจ้ายศเจ้าอย่าง ใครไม่เอารถเบ็นซ์มารับท่านก็ไม่ไป พระในวัดรู้กันดีว่าท่านติดในลาภสักการะมาก หากไม่มีผู้ใดกล้าเตือนเพราะท่านเป็นเจ้าอาวาส พวกผมก็เลยเลิกนับถือพระ เลิกทำบุญกันมาตั้งแต่บัดนั้น”

          “เรื่องที่คุณเล่ามาผมจะไม่เชื่อเลยถ้าไม่ประสบกับตัวผมเอง บังเอิญผมก็รู้จักท่าน แล้วก็โดนแบบเดียวกับที่คุณโดน ผมเลยเข็ด แต่ทำไมถึงมาวัดนี้ได้ก็ไม่รู้” บุรุษที่มาจากระยองพูด

          “แต่วัดนี้คงไม่ทำให้พวกเราต้องผิดหวังนะ ผมรู้สึกศรัทธาหลวงพ่อท่านจริง ๆ สงสัยว่าท่านจะเป็นพระวิเศษถึงได้รู้อะไร ๆ เกี่ยวกับพวกเรา ผมอยากมาทำบุญกับท่าน คงเป็นบุญของผมนะ ไม่งั้นคงไม่ดั้นด้นมาถึงที่นี่ เพราะวัดที่ภูเก็ตก็มีตั้งหลายวัด” การสนทนาชะงักลงชั่วครู่ เพราะรสชาติของอาหารไม่เปิดโอกาสให้คุยกัน เสร็จจากการรับประทาน นายสมชายจึงพาบุคคลทั้งสี่กลับมายังกุฏิท่านพระครูและพระอีกสองรูปนั่งรออยู่แล้ว

          คนทั้งสี่นั่งเรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูจึงกล่าวขึ้นว่า “พระวัดนี้ไม่เหมือนที่อื่นหรอกโยม ใครมานิมนต์ถ้าว่างก็ไปทั้งนั้น ไม่ต้องเอารถเบ็นซ์มารับด้วย เดินไปก็ยังเคย” คนทั้งสี่มองหน้ากันเลิ่กลั่ก สงสัยเสียจริงว่า ท่านรู้เรื่องที่พวกเขาคุยกันได้อย่างไร

          “แต่พระในประเทศไทยไม่ได้เป็นอย่างท่านเจ้าคุณหมดหรอกนะ ที่ดี ๆ ก็ยังมีอีกมาก อย่าเพิ่งเข้าใจผิด” ท่านพูดต่อ เมื่อเห็นคนเหล่านั้นทำหน้าสงสัย “ไปตามคนขับรถสี่คนให้ไปกินข้าวเสีย” ท่านหันไปสั่งนายสมชาย “หลวงพ่อทราบได้อย่างไรครับ” คนที่มาจากระยองถาม

          “โยมอย่าได้พากันสงสัยไปเลย หลวงพ่อท่านสามารถรู้ทุกอย่างถ้าท่านอยากจะรู้” พระมหาบุญบอกกล่าว พระบัวเฮียวจึงเสริมอีกว่า “หลวงพ่อท่านได้ “เห็นหนอ” น่ะโยม” บุคคลทั้งสี่พอจะเข้าใจที่พระมหาบุญพูด แต่ไม่มีใครเข้าใจคำพูดของพระบัวเฮียว ไม่มีเลยสักคน!

          “เอาละ อิ่มหมีพีมันกันดีแล้ว ไหนลองบอกมาซิว่านึกยังไงถึงพากันมาที่นี่ได้ ไม่ได้นัดกันไม่ใช่หรือ”

          “ไม่ได้นัดครับ พวกผมเพิ่งมารู้จักกันที่นี่ ผมก็ไม่ทราบว่าคนอื่น ๆ เขามาที่นี่เพราะอะไร สำหรับผม ฝันว่ามีหญิงสาวคนหนึ่งมาบอก ให้มาช่วยสร้างหอประชุมที่วัดป่ามะม่วงจะมีอานิสงส์มาก และจะมีเพื่อนเก่ามาช่วยสร้างอีกสามคน” คนมาจากระยองพูดยังไม่ทันจบ คนมาจากกาญจนบุรีก็พูดขึ้นว่า

            “ผู้หญิงอายุประมาณยี่สิบ ผิวคล้ำ หน้าคม ผมยาว”

          “สวมผ้าซิ่นสีน้ำเงิน เสื้อแขนกระบอกสีขาวใช่ไหม” คนมาจากเชียงใหม่ต่อให้ และคนที่มาจากภูเก็ตก็พูดด้วยเสียงอันดังว่า

          “เธอบอกว่าชื่อ กาหลง ใช่ไหม” เป็นอันว่าคนทั้งสี่ฝันแบบเดียวกัน ท่านพระครูรู้สึกประหลาดใจที่ “แม่กาหลง” มีศรัทธามากมายถึงปานนั้น “เห็นหนอ” บอกเพียงว่าจะมีคนมา แต่ไม่ได้บอกเรื่องแม่กาหลง

          “วัดนี้มีผู้หญิงชื่อ กาหลง ด้วยหรือครับ” คนที่มาจากภูเก็ตถาม ท่านพระครูเห็นว่า หากให้คนทั้งสี่รู้เรื่องแม่กาหลง เขาก็จะไม่ยอมมาวัดกันอีก จึงพูดแบ่งรับแบ่งสู้ว่า

          “มี แต่เขาไม่ค่อยชอบพบปะกับใคร อย่าไปกวนเขาเลย ว่าแต่ว่าคุยกันมาตั้งนาน อาตมายังไม่รู้เลยว่า โยมชื่ออะไรกันบ้าง แนะนำตัวกันสักหน่อยไม่ดีหรือ” ท่านเจ้าของกุฏิพยายามเบนออกจากเรื่องแม่กาหลง พระบัวเฮียวเองก็ยังไม่รู้ว่าแม่กาหลงเป็นใคร

          “ผมชื่อบุญชัยครับ ใคร ๆ เขาเรียกผมว่าพ่อเลี้ยงชัย” คนมาจากเชียงใหม่แนะนำตัวเอง

          “ผมชื่อศักดิ์ชัย คนเมืองกาญจน์ เขาเรียกผมว่า เสี่ยชัย

          “คนระยองเขาเรียกผมว่า เถ้าแก่ชัย ชื่อเต็ม วิชัย ครับ”

          “ส่วนผมเขาเรียกว่า เฮียชัยกันทั้งจังหวัด” คนมาจากภูเก็ตแนะนำตัวเป็นคนสุดท้าย

          “แล้วชื่อเต็มว่าอะไร” พระมหาบุญถาม

          “ชื่อชัยเฉย ๆ ครับ” เขาตอบ

          “ถ้าอย่างนั้น อาตมารู้แล้วว่าจะตั้งชื่อหอประชุมว่าอะไรดี รับรองว่าโยมจะต้องเห็นด้วย” ท่านพระครูพูดขึ้น

          “ชื่ออะไรครับ” เสี่ยชัยถาม

          “หอประชุมจตุรชัย แปลว่าชัยทั้งสี่ หรือสี่ชัย เป็นยังไงโก้ดีไหม” คนตั้งชื่อถามความเห็น ไม่มีผู้ใดให้คำตอบ แล้วพ่อเลี้ยงชัยจึงถามท่านพระครูบ้างว่า

          “พวกผมยังไม่ทราบเลยครับว่าหลวงพ่อชื่ออะไร”

          “แม่กาหลงเขาไม่ได้บอกหรอกหรือ”

          “ไม่ได้บอกครับ บอกแต่ชื่อวัดและที่ตั้ง” เสี่ยชัยเป็นคนตอบ

          “หลวงพ่อชื่อเจริญ ท่านพระครูเจริญ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง” พระมหาบุญเป็นผู้บอก

          “ถ้าอย่างนั้นผมขอเสนอว่า หอประชุมควรจะชื่อ เจริญชัย คือเอาชื่อหลวงพ่อนำ ตามด้วยชื่อพวกผม” เฮียชัยออกความเห็น ซึ่งสมาชิกทั้งสาม รวมพระอีกสองต่างก็เห็นด้วย ชื่อที่ท่านพระครูเสนอจึงต้องตกไปตามมติที่ประชุม

          “เป็นอันว่าเราได้ชื่อแล้ว ทีนี้เรื่องแบบล่ะครับ หลวงพ่อจะออกแบบเองหรือว่าจะให้พวกผมจัดการ” เสี่ยชัยถาม

          “อาตมาจะออกเอง ไหน ๆ เรื่องชื่อก็ตกไปแล้ว ขอแก้ตัวเรื่องแบบอีกสักครั้ง แล้วอาตมาจะให้โยมสี่คนดู ถ้าไม่ชอบใจก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ อาตมาชอบประชาธิปไตย ไม่ชอบเผด็จการ” ฟังคำพูดของท่านแล้ว คนทั้งสี่รู้สึกสบายใจและมีศรัทธาปสาทะมากขึ้น

          “เรื่องแบบผมจะไม่คัดค้าน ขอให้เป็นไปตามความพอใจของหลวงพ่อ ผมได้เสนอชื่อและเป็นที่ยอมรับผมก็ดีใจแล้ว” เฮียชัยกล่าว และได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนอีกสามคน

          “ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย พวกผมสี่คนจะรับผิดชอบทุกบาททุกสตางค์” พ่อเลี้ยงชัยสรุป

          “เรื่องนี้อาตมาขอเสนอให้มีการทอดกฐิน จะได้ให้คนอื่น ๆ เขามีโอกาสร่วมทำบุญด้วย โบราณท่านสอนเอาไว้ว่าทำบุญอย่าหวงบุญ ต้องกระจายกันออกไปมาก ๆ อย่างน้อยก็เป็นการเปิดโอกาสให้คนยากคนจนได้มีส่วนร่วมสร้างกุศล คนละสลึงสองสลึงก็ยังดี เกิดชาติหน้าจะได้มีบริวาร” ท่านพระครูแนะนำ

          “แต่นี่ก็หมดเทศกาลกฐินแล้วนี่ครับหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวท้วง

          “ปีนี้หมดก็ทอดปีหน้าได้ ถึงอย่างไรก็สร้างไม่เสร็จในปีเดียวหรอก หรือโยมว่ายังไง” ท่านถามเถ้าแก่ชัย

          “ครับ แล้วแต่หลวงพ่อจะเห็นสมควรเถิดครับ ส่วนผมคงไม่มีเวลามาที่นี่บ่อยนัก ก็จะขอฝากเงินไว้ก่อน ขาดเหลืออะไรหลวงพ่อช่วยมีหนังสือไปหาตามที่อยู่ในนามบัตรนี่นะครับ” พูดเสร็จจึงเขียนเช็คเงินสดจำนวนสามแสนบาทพร้อมนามบัตรถวายท่านพระครู คนอื่น ๆ ทำตามเพราะเห็นชอบด้วย ท่านพระครูรับไว้แล้วพูดสัพยอกว่า

          “เงินตั้งมากมาย นี่ถ้าเกิดอาตมาเบิกเงินแล้วหนีไปแต่งงาน โยมจะว่ายังไง”

          “ก็แล้วแต่หลวงพ่อเถิดครับ” เสี่ยชัยตอบ หากใจเกิดกลัวขึ้นมาจริง ๆ บุรุษอีกสามคนพลันเกิดความรู้สึกอย่างเดียวกัน ท่านพระครูรู้จึงเสนอว่า

          “อาตมาว่าเราเปิดบัญชีร่วมกันทั้งห้าคนไม่ดีหรือ จะได้สบายใจด้วยกันทุกฝ่าย” เสียชัยจึงตอบว่า

          “ทำอย่างนั้นมันก็ดีอยู่หรอกครับ แต่มันจะยุ่งยากตอนเบิกจ่าย เอาเป็นว่าพวกผมไว้ใจหลวงพ่อก็แล้วกัน”

          “ถ้าอย่างนั้นอาตมาจะตั้งกรรมการวัดขึ้นชุดหนึ่ง สำหรับดำเนินการเรื่องนี้ เรื่องการเบิกจ่ายก็จะให้กรรมการทุกคนรับรู้ อาตมาเป็นคนละเอียด จะทำอะไรก็ต้องให้รอบคอบรัดกุม โดยเฉพาะเรื่องเงินเรื่องทองซึ่งทำให้คนเสียคน พระเสียพระมานักต่อนักแล้ว มีวัดหนึ่งอย่าให้อาตมาเอ่ยชื่อเลย โดยเขาทอดกฐินเพื่อจะเอาเงินสร้างโบสถ์ ปรากฏว่าสมภารเชิดเงินหนีไปแต่งงานอยู่ที่กรุงเทพฯ

          “แบบนี้ตกนรกไหมครับ” พระบัวเฮียวถาม

          “ไม่น่าถาม ก็เท่ากับฉ้อโกง เงินเขาเจตนาจะให้มาสร้างกุศล ไม่ได้ให้สมภารแต่งเมีย” บุคคลทั้งสี่ฟังแล้วรู้สึกใจไม่ดี ท่านพระครูกำหนด “เห็นหนอ” รู้ว่าเขายังคลางแคลงใจจึงพูดตัดบทว่า

          “เอาอย่างนี้ดีไหม กว่าอาตมาจะออกแบบเสร็จก็คงอีกหลายเดือน เพราะไม่ค่อยมีเวลาว่าง ออกแบบแล้วยังจะต้องหาผู้รับเหมาให้มาประกวดราคา มันหลายขั้นตอน ก็คงจะกินเวลาอีกหลายเดือน โยมเอาเงินคืนไปก่อนดีกว่า ได้เรื่องอย่างไรแล้ว อาตมาจะมีหนังสือแจ้งไป อาตมาไม่อยากถือเงินมาก ๆ นึกว่าเห็นใจอาตมาเถอะ” เป็นอันว่าคนทั้งสี่ยอมรับเช็คคืนไป แต่ก็ได้ตั้งสัจจะว่าจะไม่เลิกล้มความตั้งใจที่จะช่วยสร้างหอประชุม

          เมื่อพวกเขากราบลา ท่านพระครูให้ศีลให้พรว่า “ขอให้โยมทุกคนจงมีความสุขความเจริญ และขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ ทีสำคัญคือ ขอให้หาเลี้ยงชีพในทางสุจริต การหากินในทางทุจริตนั้น แม้จะรวยเร็ว แต่ก็วิบัติเร็วเช่นกัน จำไว้นะโยมนะ”

          “หลวงพ่อคืนเขาไปทำไมครับ น่าเสียดายเงินตั้งเป็นล้าน” พระบัวเฮียวพูดขึ้นเมื่อคนทั้งสี่ลุกออกไปแล้ว

          “ก็ฉันสำรวจดูแล้ว เห็นว่าเขายังไม่เชื่อใจ ก็เลยต้องทำให้เขาเชื่อ และไม่ต้องห่วงหรอก พวกเขาจะต้องกลับมาที่นี่อีก”

          “ครับ ถ้าอย่างนั้นผมก็หมดห่วง เอ...หลวงพ่อครับ ที่หลวงพ่อพูดถึงท่านเจ้าคุณนั้นท่านอยู่วัดไหน ชื่ออะไร แล้วท่านเป็นอย่างไรหรือครับ”

          “เธอจะรู้ไปทำไมล่ะ ถึงบอกไปเธอก็คงไม่รู้จัก”

          “ถึงไม่รู้จักผมก็ว่ามันมีประโยชน์นะครับ คือว่าท่านทำดีผมจะได้เอาเป็นตัวอย่าง ถ้าไม่ดีผมก็จะได้ไม่ทำตาม”

          “เหตุผลของเธอฟังเข้าท่าดี แต่ฉันจะไม่บอกเธอหรอก ท่านจะดีหรือไม่ดีมันก็เรื่องของท่าน”

          “เอาไว้ให้เป็นหน้าที่ของกฎแห่งกรรมใช่ไหมครับ” พระหนุ่มล้อเลียนมาอยู่วัดนี้ได้ยินแต่คำว่า “กฎแห่งกรรม” จนชินหู

          “ทำเป็นพูดเล่นไปเถอะ แล้ววันหนึ่งเธอจะรู้ คอยดูไปก็แล้วกัน อีกหน่อยพระที่ทำผิดวินัย ประพฤตินอกลู่นอกทางจะต้องเดือดร้อน จะถูกจับสึกบ้าง ติดคุกบ้าง ฆ่าตัวตายบ้าง แล้วอย่างนี้ไม่เรียกว่ากฎแห่งกรรมแล้วจะให้เรียกอะไร”

          “ครับ ก็ต้องเรียกว่ากฎแห่งกรรมนั้นแหละครับ” พระญวนเริ่มยวน” หากท่านพระครูไม่ใส่ใจ คงพูดต่อไปว่า

          “อันที่จริงฉันก็ไม่อยากจะพูดเรื่องนี้ มันไม่สบายใจเพราะแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ฉันก็ตั้งปณิธานไว้ว่า จะไม่เป็นอย่างนั้น และจะสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาไม่ให้ประพฤติชั่ว ถ้า หอประชุมเสร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก ฉันตั้งใจจะเลิกสร้างวัตถุ จะสร้างคนแทน เพราะถ้าเราทำให้คนเปลี่ยนจากมิจฉาทิฐิมาเป็นสัมมาทิฐิได้ นับว่าได้บุญกว่าการสร้างวัตถุหลายเท่านัก ต่อไปข้างหน้าถ้าเธอไปเป็นครูบาอาจารย์ใคร ฉันก็ขอฝากเรื่องนี้ไว้ด้วย”

          “ครับ ผมจะดำเนินรอยตามหลวงพ่อทุกประการ” คนเป็นศิษย์รับสนองเจตนารมณ์ของอาจารย์

          “หลวงพ่อครับ เมื่อวานหลวงพ่ออนุญาตผมให้เรียนถามข้อข้องใจได้” พระบัวเฮียวทวงสัญญา พระมหาบุญซึ่งเป็นฝ่ายฟังมานานจึงพูดขึ้นว่า

          “ถ้าอย่างนั้น ผมเห็นจะต้องขอตัว เพราะผมไม่มีข้อสงสัยอะไร จะกลับไปปฏิบัติที่กุฏิ” พูดจบจึงกราบท่านเจ้าอาวาสสามครั้งแล้วลุกออกไป...

 

มีต่อ........๑๘