สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๑๙

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00019

 

๑๙...

          ตอนสายของวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๑๖ ท่านพระครูกำลังสอบอารมณ์ให้อุบาสิกาทองริน โดยมีนายสมชายนั่งคอยรับใช้อยู่ห่าง ๆ

            ทุกครั้งที่มีการสนทนากับสตรีชนิดตัวต่อตัว ท่านจะต้องมีบุคคลที่สามอยู่ด้วยเสมอ จึงเป็นที่รู้กันดีในหมู่ผู้ใกล้ชิดว่า

            สมภารวัดป่ามะม่วงท่านเคร่งวินัยนัก โดยเฉพาะเรื่องเพศตรงข้าม ท่านจะระมัดระวังเป็นพิเศษ สงฆ์หลายรูปที่ตั้งใจมาบวชเพื่อหวังความหลุดพ้น แต่เพราะไม่สำรวมระวังในการปฏิบัติต่ออิสตรี จึงถูกสึกออกไปเป็นผู้ครองเรือนเสียมากต่อมาก

            แม้ในสมัยพุทธกาล เรื่องเช่นนี้ก็เคยปรากฏ ดังกรณีของพระอานนท์เถระ ซึ่งถูกนางภิกษุณีชื่อวสิกา วางแผนล่อลวงจะให้สึก ด้วยนางสนิทเสน่หาหลงใหลในรูปโฉมของพระอานนท์ยิ่งนัก หากเพราะมีการตั้งสติไว้เฉพาะหน้า ระวังใจมิให้แปรปรวน ท่านพระอานนท์จึงรอดพ้นจากกลลวงของภิกษุณีรูปนั้นได้ ทั้งยังเทศนาโปรดนางให้สำนึกรู้ในผิดชอบชั่วดีอีกด้วย

            “ไงโยม มีอาการอย่างไรบ้าง พอง – ยุบ ชัดเจนดีไหม” ท่านถามอุบาสิกาวัยสี่สิบเศษ ซึ่งอุตส่าห์เดินทางจากกรุงเทพฯ มาเข้ากรรมฐาน หล่อนตั้งใจมาอยู่วัดเจ็ดวัน แต่ท่านให้อยู่สิบห้าวันเพราะ “เห็นหนอ” บอกว่าหล่อนกำลังมีเคราะห์ เจ้ากรรมนายเวรเขาตามมาเอาชีวิต ภายในสิบห้าวัน หากหล่อนปฏิบัติกรรมฐานอยู่แต่ในวัด ก็จะพ้นเคราะห์ออกไปนอกวัดเมื่อใด จะต้องถูกรถชนตายทันที เพราะดวงของหล่อนจะต้องตายโดยอุบัติเหตุอย่างที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ตายโหง” ท่านจึงกำชับนักกำชับหนา ไม่ให้หล่อนออกไปไหน

            “บางทีก็ชัด บางทีก็ไม่ชัดค่ะ” นางทองรินตอบ

            พระบัวเฮียวจะมาให้ท่านสอบอารมณ์เช่นกัน ครั้นเห็นท่านกำลังมีแขกจึงหันหลังกลับแต่ท่านพระครูเรียกเอาไว้

            “มีอะไรหรือบัวเฮียว เข้ามาคุยกันก่อนซิ” พระหนุ่มจึงเดินเข้ามานั่งในที่อันสมควร แล้วจึงทำความเคารพพระอุปัชฌาย์ นางทองรินทำความเคารพท่าสนด้วยการกราบสามครั้ง

            “ฉันกำลังสอบอารมณ์ให้โยมเขา เธอฟังด้วยก็ได้ ฝึกเอาไว้ ในวันข้างหน้าเมื่อไปเป็นครูบาอาจารย์เขา จะได้สอบอารมณ์เป็น”

            “ครับ” พระหนุ่มรับคำ เห็นท่านพระครูได้เพื่อนแล้ว นายสมชายจึงลุกออกไปทำธุระของตน

            “หลวงพ่อคะ สองสามวันมานี่ ดิฉันปฏิบัติไม่ค่อยได้ผลเลยค่ะ

            “ทำไมล่ะ คิดถึงบ้านหรือไง”

            “ไม่คิดถึงค่ะ แต่มันง่วงเหงาหาวนอนตลอดเวลา เดินจงกรมก็ง่วง นั่งสมาธิก็ง่วง”

            “นั่งสัปหงกน้ำลายไหลยืดเลยใช่ไหม” ท่านถามเพราะทราบดีว่าอาการเช่นนี้เกิดจากอะไร

            “ค่ะ แหม หลวงพ่อพูดราวกับเคยเห็น” หล่อนพูดเขิน ๆ

            “ทั้งเคยเห็นทั้งเคยเป็นเชียวแหละโยม ที่มีอาการอย่างนี้เพราะถูกถีนมิทธนิวรณ์ครอบงำ โยมกำลังผจญมาร เจ้ามารตัวนี้ชื่อ ถีนมิทธะเป็นนิวรณ์ตัวที่ทำให้จิตหดหู่ เซื่องซึม เกียจคร้าน ง่วงเหงาหาวนอนอยู่ตลอดเวลา”

            “แล้วเราจะกำจัดมันได้อย่างไรครับ” พระบัวเฮียวถามเพราะกำลังประสบปัญหาแบบเดียวกัน

            “วิธีกำจัดถีนมิทธนิวรณ์ทำได้โดยบริโภคอาหารให้น้อยลง ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เช่น ยืนบ้าง เดินบ้าง นั่งบ้าง สลับกันไป อีกวิธีหนึ่งคืออยู่ในที่โล่งแจ้งและที่สำคัญที่สุดก็คือต้องมีความเพียร ตั้งจิตแน่วแน่ว่าจะต้องเอาชนะมันให้ได้”

            “การทำความดีนี่ยากจังเลยนะคะหลวงพ่อ ดิฉันชักท้อใจเสียแล้ว” สตรีวัยสี่สิบเศษเผยความรู้สึก

            “ท้อไม่ได้ซี โดยเฉพาะเวลานี้ โยมกำลังมีเคราะห์ ถ้าโยมท้อถอยต้องลำบากแน่ อย่าลืม พุทธภาษิตที่ว่า บุคคลล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร โยมจำข้อนี้ไว้ให้ดีแล้วก็เร่งปฏิบัติเขาจะพ้นทุกข์ได้” ท่านให้กำลังใจ

            สตรีวัยกลางคนผู้หนึ่งคลานเข้ามากราบท่านพระครู แล้วพูดขึ้นว่า

            “หลวงพี่จำฉันได้หรือเปล่า”

            “ใครจะจำแม่ครัวฝีมือเอกที่ชื่อบุญรับไม่ได้ล่ะ วัดนี้เป็นยังไงถึงได้ไม่อยากมา” ท่านพระครูต่อว่าต่อขาน นางบุญรับเคยมาช่วยทำกับข้าวอยู่โรงครัวหลายปี ภายหลังได้โยกย้ายไปอยู่ที่พิจิตร จึงหายหน้าหายตาไป

            “ไม่เป็นยังไงหรอกจ้ะ ฉันน่ะอยากมาทุกวันนั่นแหละ แต่จนใจด้วยหนทางมันไกลปาลำบาก คิดถึงหลวงพี่ทุกเวลานาทีเลย” นางพูดพลางชำเลืองไปทางอุบาสิกาที่นุ่งขาวห่มขาว นั่งสงบเสงี่ยมอยู่ต่อหน้าท่านพระครู ครั้นเห็นหน้าหล่อนชัดเจน นางบุญรับให้นึกเกลียดขึ้นมาทันที ก็หน้าของหล่อนช่างเหมือนเมียใหม่ของผัวเก่านางเสียนี่กระไร นางบุญรับเลิกกับผัวเก่าไปมีผัวใหม่ ข้างผัวเก่าของนางก็มีเมียใหม่เช่นกัน อันที่จริงต่างคนต่างมีใหม่ ก็น่าจะหายกัน นางไม่น่าจะมาเกลียดชังผู้หญิงคนนี้ แต่ทำไมถึงต้องเกลียดเพียงเพราะแม่นี่หน้าเหมือนนังนั่น หาเหตุผลให้ตัวเองไม่ได้ เลยนั่งค้อนขวับ ๆ โดยที่อีกฝ่ายไม่ทันรู้ตัว ท่านพระครูนึกขำ สงสารอุบาสิกาก็สงสารที่หล่อนช่างมีเจ้ากรรมนายเวรมากมายเสียจริง ๆ

            “โยมมีอะไรจะถามอีกไหม ถ้าไม่มีก็กลับไปปฏิบัติที่กุฏิได้ พรุ่งนี้อาตมาไม่อยู่ จะไปงานแต่งงานหลานที่โคกสำโรง โยมมีอะไรข้องใจก็เก็บไว้ถามช่วงบ่ายก็แล้วกัน อย่าลืมว่าห้ามออกนอกบริเวณวัดโดยเด็ดขาด เอาละไปได้แล้ว” นางทองรินกราบภิกษุทั้งสอง แล้วจึงลุกออกมา นางบุญรับมองตามพลาง “ขว้างค้อน” ใส่

            “หมั่นไส้” นางขบเขี้ยวเคี้ยวฟันพูด

            “ไปหมั่นไส้อะไรเขาเล่า ข้าไม่เห็นเขาไปทำอะไรให้แกสักหน่อย” กับคนคุ้นเคยท่านจะใช้คำว่า “ข้า” และ “แก”

            “ก็ฉันเกลียดมัน ดูมันเดินเข้านั่นตูดบิดไปบิดมาน่าทุเรศจริงจริ๊ง” นางบุญรับไม่ฟังเสียง

            “เอ้า ไหนแกลองลุกขึ้นแล้วเดินออกไปซิ โน่นเดินไปทางโน้น” ท่านพระครูสั่ง นางบุญรับทำตาม เดินไปได้สักสี่ห้าเมตร ท่านพระครูจึงเรียกให้กลับมานั่งตามเดิม

            “นี่แน่ะแม่บุญรับนับวิชา รู้ตัวหรือเปล่า แกน่ะเดินตูดบิดน่าเกลียดยิ่งกว่าเขาเสียอีก แล้วยังจะมีหน้าไปว่าคนอื่นเขา” ท่านตั้งใจสอนนางบุญรับทางอ้อม หากฝ่ายนั้นหารู้ตัวไม่

            “ก็มันเกี่ยวอะไรกับหลวงพี่ล่ะ ฉันจะเดินยังไงมันก็เรื่องของฉัน” อดีตแม่ครัวฝีมือเอกพูดงอน ๆ

            “มันก็เหมือนกันนั่นแหละ โยมคนนั้นเขาจะเดินยังไงมันก็เรื่องของเขา แล้วแกไปหมั่นไส้เขาทำไมเล่า”

            “ก็ฉันเกลียดมัน” นางไม่กล้าบอกว่าเพราะผู้หญิงคนนั้นหน้าเหมือนภรรยาใหม่ของสามีเก่า แต่ท่านพระครูก็รู้ จึงพูดขึ้นว่า

            “ข้ารู้นะว่าแกเกลียดเขาทำไม่ เขาหน้าเหมือนเมียใหม่ของผัวเก่าแกใช่ไหมล่ะ” คราวนี้นางบุญรับรับเสียงอ่อยว่า

            “ถูกแล้วจ้ะ แหม หลวงพี่นี่แสนรู้จริง ๆ รู้ไปหมดทุกเรื่องเลยพับผ่าซี”

            “โยม พูดกับพระกับเจ้าให้มันดี ๆ หน่อย เดี๋ยวจะบาปจะกรรมเปล่า ๆ” พระบัวเฮียวเตือนอย่างหวังดี นางบุญรับเลยพาลเกลียดท่านไปอีกคน

            “ฉันไม่ถือสาหรอกบัวเฮียว แม่คนนี้เขาทำกรรมาอย่างนี้ วจีทุจริต ท่านเน้นตรง วจีทุจริต

            “แต่ผมว่าถ้าพอจะแก้ไขได้ ก็ควรจะแก้ไข ไม่ใช่ปล่อยไปตามบุญตามกรรม” ลูกศิษย์ยืมคำพูดอาจารย์มากล่าว แล้วก็เลยกลายเป็นการสร้างศัตรูไปโดยไม่รู้ตัว

            “นี่ไปยังไงมายังไงไม่ทันบอกกันเลย มาถึงก็แช็ด ๆ ๆ ว่าคนโน้นเกลียดคนนี้ นิสัยไม่เปลี่ยนเลยนะเราน่ะ” ท่านพระครูว่าตรง ๆ แต่นางบุญรับไม่โกรธ ท่าสนจะดุจะว่าอย่างไรนางไม่เคยถือสา เหมือนกับท่านไม่ถือสานาง สมัยที่มาช่วยทำครัว หล่อนเที่ยวทะเลาะกับคนโน้นคนนี้ ถือตัวว่าทำอาหารอร่อย เลยเที่ยวดูถูกฝีมือคนอื่นเขาไปทั่ว หลายคนจึงแอบนินทานางลับหลังว่า “อุตส่าห์เข้าวัด แต่ไม่ยอมละยอมวางสักอย่างเดียว”

            “ฉันจะมาช่วยทำครัวสักเจ็ดแปดวัน ก็คิดถึงหลวงพี่หรอกนะถึงได้มาเนี่ย” นางไม่วาย “หยอดยาหอม”

            “งั้นก็ดีแล้ว จะได้ให้ไปอยู่กับโยมคนนั้น เผื่อจะหายเกลียดกัน” สมภารวัยห้าสิบแกล้งยั่ว

            “โอ๊ย ไม่เอาหรอก เรื่องอะไรจะให้ไปอยู่กับคนที่เกลียด” นางปฏิเสธ

            “อ้อ ต้องให้อยู่กับคนที่รักใช่ไหม งั้นก็มาอยู่ที่กุฏิข้าเสียเลยดีไหมเล่า” ท่านประชด ทำไมจะไม่รู้ว่า สมัยสาว ๆ นางบุญรับหลงรักท่านยังกับอะไรดี ถึงขนาดหายใจเป็น “หลวงพี่เจริญ” นั่นเทียว

            “แหม ถ้าได้ยังงั้นก้อแจ๋วซี” แทนที่จะอายนางกลับว่าไปโน่น ท่านเจ้าของกุฏิรู้สึกสังเวชที่ผู้หญิงอายุร่วมห้าสิบแล้ว แต่ยังไม่รู้จักปล่อยวาง

            “เออ ทำพูดดีไปเถอะ นรกจะกินหัวแกโดยไม่รู้ตัว หนอย จะวอนให้ข้าเดือดร้อนแล้วไหมล่ะ ประเดี๋ยวผัวเก่าผัวใหม่แกได้มาช่วยกันรุมข้าหรอก” ฟังนางบุญรับพูดจาโต้ตอบกับท่านพระครูแล้ว พระบัวเฮียวรู้สึกไม่ชอบหน้าผู้หญิงคนนี้เอามาก ๆ ท่านมิรู้ตัวดอกว่า “มาร” ที่ท่านจะต้องผจญเป็นลำดับต่อไปคือ พยาบาทนิวรณ์

            “ตกลงหลวงพี่จะให้ฉันพักที่ไหนล่ะ” นางถาม

            “ก็ไปเลือกดูเอาเองก็แล้วกัน ที่ไหนว่างก็พักได้ หรือจะพักที่เมรุนั่นก็ได้ ตอนนี้ยังว่างอยู่” ท่านพูดประชด

            “แหม หลวงพี่แช่งอีบุญรับเสียแล้วไหมล่ะ ฉันยังไม่ยอมตายง่าย ๆ หรอก ต้องรอเผาคนที่ฉันเกลียดเสียก่อน” นางหมายถึงพระบัวเฮียวและอุบาสิกาคนนั้น

            “อ้อ นี่แกกำหนดวันตายได้งั้นซี ข้าเห็นมานักต่อนักแล้วบุญรับเอ๋ย ไอ้ที่เที่ยวแช่งคนโน้นคนนี้ ตัวเองตายก่อนเขาทุกราย”

            “แช่งอีกแล้ว แหม มาคราวนี้ซวยจัง ถูกหลวงพี่แช่งอยู่เรื่อย” นางบ่นกระปอดกระแปด

            ชายอายุประมาณหกสิบ รูปร่างอ้วนเตี้ย ศีรษะล้าน เดินเข้ามาในกุฏิ พนมมือพูดกับท่านพระครูว่า

            “หลวงพ่อ ผมมาขอยาแก้หืดหอบ อีปุกลูกสาวผมหอบใหญ่แล้ว” นายป่วนซึ่งมีบ้านอยู่ติดวัด บอกท่านพระครูด้วยท่าทางกังวล

            “ใครเขาบอกให้มาเอาล่ะ” ท่านย้อนถาม

            “ก็ไอ้ปองลูกชายผมมันบอกว่าเพื่อนเคยเป็น มันขอยาหลวงพ่อไปกินแล้วหาย ผมก็เลยมาขอมั่ง” นายป่วนชี้แจงพลางนั่งลง

            “ข้าไม่มีหยูกมียาอะไรหรอก แต่ถ้าจะให้หายหืดหอบก็ไปเอาต้นตำแยแมวมาโขลกแล้วแช่กับน้ำซาวข้าวให้มันกิน เขาว่าชะงัดนัก มีคนหายมาหลายคนแล้ว รู้จักไหมล่ะต้นตำแยแมวน่ะ ที่หลังวัดก็มี”

            “รู้จักครับ”

            “ดีแล้ว ถ้าไม่รู้จักก็เอาแมวไปด้วยตัวนึง”

            “เอาไปทำไมครับ”

            “อ้าว ก็เอาไปพิสูจน์น่ะซี ลองถอนสักต้นให้แมวมันกิน ถ้าไม่ใช่ตำยาแมว แมวจะไม่กิน ถ้ามันกินก็แปลว่าใช่” ท่านอธิบาย

            “แล้วเอาส่วนไหนของมันมาโขลกแช่น้ำซาวข้าวครับ”

            “เอาทั้งต้นเลย รากด้วย ก่อนโขลกก็ล้างให้สะอาดเสียก่อน เอาให้คนไข้ดื่ม รับรองว่าหาย”

            “แล้วไม่คันหรือครับหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวถาม ขึ้นชื่อว่าต้นตำแยมันก็ต้องคัน

            “ไม่คัน ตำแยถึงจะคัน แต่ตำแยแมวไม่คัน เป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง” ท่านตอบ

            “ฉันไปหาที่พักก่อนนะหลวงพี่” นางบุญรับกราบสามครั้งแล้วลุกออกไป ไม่วายพูดเสียดสีนายป่วนว่า “แม่เจ้าโว๊ย วันนี้มันวันอะไรวุ๊ย ถึงได้มาเจอพระอาทิตย์ขึ้นบนไหกระเทียม”

            “แกว่าใคร” นายป่วนถามเสียงตะคอก นางบุญรับไม่ตอบ ก้าวฉับ ๆ ออกจากกุฏิไป นายป่วนจึงหันมาถามท่านพระครูว่า

            “อีนี่มันเป็นใครครับหลวงพ่อ ปากหมา ๆ อย่างนี้ประเดี๋ยวผมก็ตบล้างน้ำเสียเท่านั้น ไม่รู้จักอ้ายป่วนซะแล้ว” ชายวัยหกสิบแสดงอาการโกรธเกรี้ยว แม้บ้านจะอยู่ติดวัด แต่นายป่วนก็ไม่เคยมาเข้ากรรมฐาน จึงไม่รู้จักนางบุญรับ และกำหนด “โกรธหนอ” ไม่เป็น ท่านพระครูว่านายป่วนนั้น “ใกล้เกลือกินด่าง”

            “อย่าไปถือสาแกเลยตาป่วน ไปเถอะ กลับไปหาตำแยแมวไปปรุงยาให้ลูกกินซะ อย่าได้มีเรื่องมีราวกันในวัดเลย นึกว่าเห็นแก่ข้าเถอะ” นายป่วนจึงกราบปะหลก ๆ สามครั้ง แล้วลุกออกไปเดินหาต้นตำแยแมวทางหลังวัด คิดว่าถ้าเจอยายคนปากเสียก็จะด่าให้สักสองสามชุด โทษฐานที่มาวิจารณ์รูปโฉมโนมพรรณของแก

            “เธอมีข้อสงสัยข้องใจอะไรจะถามหรือเปล่า” ท่านถามพระบัวเฮียวหลังจากที่คนอื่น ๆ ลุกออกไปหมดแล้ว

            “ก็มีเหมือนกันครับ เรื่องถีนิทธนิวรณ์ผมเข้าใจแล้ว ตอนที่หลวงพ่ออธิบายให้โยมทองรินฟัง แต่ทีนี้ผมมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ที่จะเรียนถามหลวงพ่อ คือหมู่นี้ไม่รู้เป็นอะไร เวลาฉันอาหารผมรู้สึกว่ามันอร่อยไปหมด แม้แต่น้ำที่ดื่มลงไปก็ยังรู้สึกว่ามันอร่อย”

            “นั่นเป็นเพราะเธอติดในรส กามฉันทนิวรณ์ กำลังครอบงำเธอ เพราะรสจุดเป็นกามคุณอย่างหนึ่งใน ๕ อย่าง”

            “แบบนี้ผิดไหมครับ”

            “ผิดสิ ถ้าเป็นคนทั่วไปก็ไม่ถือว่าผิด แต่เป็นนักปฏิบัติถือว่าผิด เพราะถ้ามัวติดในรูป รส กลิ่น เสียง หรือ สัมผัส การปฏิบัติมันก็ไม่ก้าวหน้า นี่มันผิดในแง่นี้”

            “แล้วจะแก้ได้อย่างไรครับ”

          “ก็ตั้งสติพิจารณาเสียก่อนจึงค่อยฉัน พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า “กายนี้เกิดขึ้นด้วยอาหาร อาศัยอาหารแล้ว พึงละอาหารเสีย” อันนี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า....” ท่านถามเองตอบเองเสร็จ “ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ทุกครั้งที่บริโภคอาหารต้องพิจารณาโดยถ่องแท้เสียก่อน ว่าจะไม่บริโภคเพื่อเล่น ไม่บริโภคเพื่อมัวเมา ไม่บริโภคเพื่อประเทืองผิว ไม่บริโภคเพื่อตกแต่งร่างกายให้งดงาม แต่บริโภคเพื่อธงรงไว้เพื่อกายนี้ พอให้อัตภาพนี้ดำเนินไปได้ กับเพียงเพื่อระงับความหิวกระหาย เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ โดยคิดว่า บริโภคนี้จะเป็นเครื่องระงับเวทนาใหม่มิให้เกิดขึ้น จะได้ประพฤติธรรมสืบไป ได้ความสะดวก ได้ความผาสุกพอสมควร เริ่มแต่ภิกษุนั้นอุปสมบท ก็เริ่มละอาหาร ไม่บริโภคในเวลาที่เขาบริโภคกัน วันละหนึ่งเวลาบ้างสองเวลาบ้าง ละอาหารที่พระวินัยห้ามบ้าง บริโภคอาหารตามมีตามได้ โดยบริโภคเพียงแต่ว่าเป็นธาตุ เพื่อเป็นที่ดำรงอยู่ของธาตุในกายนี้เป็นอยู่ นี่ เป็นภิกษุในพระธรรมวินัย ต้องปฏิบัติอย่างนี้ ไม่ใช่ไปติดในรสอาหาร”

          “กล่าวโดยสรุปก็คือ ต้องมีโยนิโสมนสิการใช่ไหมครับ”

            “ถูกแล้ว โยนิโสมนสิการมีความสำคัญมากในการละนิวรณ์ทั้ง ๕ ขาดโยนิโสมนสิการเสียแล้วก็ละไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ หรือ วิจิกิจฉา”

          “หมายความว่า นิวรณ์แต่ละอย่าง ๆ นั้นจะละไม่ได้เลย ถ้าไม่มีโยนิโสมนสิการ ใช่หรือเปล่าครับ”

          “ถูกแล้ว เอาเถอะเมื่อเธอปฏิบัติสูงขึ้นไปก็จะเข้าใจ” พระอุปัชฌาย์แนะนำ เนื่องจากมีประสบการณ์มาก่อน

          “หลวงพ่อครับ ทำไมคนเข้าวัดถึงยังเอาดีไม่ได้ล่ะครับ อย่างโยมบุญรับนั้น หลวงพ่อบอกเข้าวัดมาหลายปี ผมก็เห็นแกยังละอะไรไม่ได้สักอย่างเดียว รู้สึกแกเที่ยวขวางเขาไปหมด คนเข้าวัดเข้าวาน่าจะเป็นคนดี” พระหนุ่มตำหนิกราย ๆ

          “ก็พระอยู่ในวัดแท้ ๆ ยังเอาดีไม่ได้ก็ยังมีนี่นา บางคนบวชตั้งแต่เณร อายุพรรษาตั้งหกสิบเจ็ดสิบยังไม่ได้เรื่อง นับประสาอะไรกับคนอย่างยายบุญรับเล้า” ท่านออกเสียง “เล่า” เป็น “เล้า”

          “นินทาอะไรฉันอีกล่ะ” นางบุญรับเข้ามาทันได้ยินชื่อตนเข้าพอดี เลยถามพาล ๆ

          “มาก็ดีแล้ว ไงได้ที่พักเป็นที่พอพระราชหฤทัยหรือยัง” ท่านพระครูถามประชด หากนางบุญรับก็ตอบว่า

          “ได้แล้วเพคะเสด็จพี่ หม่อมฉันกำลังจะมากราบทูลให้ทรงทราบอยู่พอดี”

          “พอแล้ว ๆ แม่บุญรับไม่ไหว” ท่านพระครูรีบโบกมือห้าม

          “บุญรับเฉย ๆ จ้ะ แหม กำลังเล่นลิเกสนุก ๆ ไม่น่ามาห้าม ถึงจะเป็นลิเกหลงโรงก็เถอะ ฉันจะมาบอกหลวงพี่ว่าได้ที่พักตรงข้ามกุฏิแม่นั้น ประเดี๋ยวเถอะแม่จะแกล้งให้สะเด็ดไปเลย” นางพูดอย่างหมายมั่น

          “ขอที ๆ แม่คุณแม่มหาจำเริญ คนเขาจะมาสร้างบุญสร้างกุศล อย่าไปเป็นมารขัดขวางเขาเลย นี่ฉันจะถือโอกาสเทศน์แกสักหน่อย แกนะมันแย่นาบุญรับนา กรรมฐานก็เคยเข้ามาแล้ว ไหงถึงไม่ดีขึ้นเลย”

          “แย่ยังไงล่ะหลวงพี่ ฉันอุตส่าห์หวังดีจะเข้ามาช่วยทำครัว หลวงพี่ยังมาว่าฉันอีก” นางเถียงฉอด ๆ

          “ยัง ยังไม่รู้ตัวอีก เอาเถอะ ๆ นั่งลงเสียให้เรียบร้อย ยืนพูดกับพระมันไม่สวย” หญิงวัยเกือบห้าสิบจึงนั่งลง ท่านพระครูพูดต่อไปว่า “ฟังให้ดี ฉันจะสอนให้เอาบุญ การที่แกตั้งใจมาช่วยทำครัวนั่นก็ดีแล้ว ถือว่ามาสร้างกุศล ก็ในเมื่อตั้งใจมาทำบุญและจะมาทำบาปเสียทำไมล่ะ”

          “ฉันไปทำบาปอะไรที่ไหน” นางบุญรับไม่วายเถียง

          “ทำไมจะไม่ทำบาป ก็วจีทุจริตนั้นยังไง ทั้งพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ครบเลยในตัวแก เสียงแรงที่อุตส่าห์มาเข้าวัด สู้บางคนที่เขาอยู่บ้านก็ยังไม่ได้” นางบุญรับรู้สึกรำคาญเนื่องจากไม่ชอบให้ใครมาติ จึงแกล้งปดท่านว่า

          “จ้ะหลวงพี่ ฉันก็จะพยายามแก้ไข ให้เวลาฉันบ้าง ฉันขอตัวไปช่วยเขาทำครัวละนะ” กราบประหลก ๆ สามครั้งแล้วลุกออกไป ท่านพระครูส่ายหน้าอย่างระอา พูดกับพระบัวเฮียวว่า “ไม่ไหว ไม่ซึมซับสิ่งดี ๆ เลย คนอย่างยายบุญรับนับวันก็จะมีมากขึ้น ประเภทเข้าวัดแล้วมานั่งนินทาคนโน้นคนนี้ ที่เขาว่า มือถือสากปากถือศีล มันก็เป็นวิบากของเขา”

          “คนที่มาเข้ากรรมฐานน่าจะละกิเลสได้นะครับหลวงพ่อ”

            “มันก็ละได้ แต่เป็นการละได้ชั่วคราว คือตอนเจริญกรรมฐานจิตเป็นสมาธิ มันก็บริสุทธิ์ผ่องใส เพราะกิเลสมันถูกข่ม ถูกกดเอาไว้ แต่พอออกจากรรมฐาน กิเลสมันก็ฟุ้งขึ้นมาอีก เหมือนน้ำใสที่มีตะกอนนอนก้น เอามือไปกวน มันก็ขุ่น การจะขจัดกิเลสให้หมดไปโดยสิ้นเชิงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติที่ละเอียดลึกซึ้ง ที่สำคัญที่สุดคือผู้ปฏิบัติจะต้องมีความเพียรอย่างยิ่งยวด จึงจะประสบความสำเร็จ ก็กิเลสตัณหามันอยู่กับเรามาตั้งนมนานหลายภพหลายชาติ มีหรือที่มันจะยอมออกไปง่าย ๆ”

          “ถึงต้องปฏิบัติกันข้ามภพข้ามชาติเลยใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว แต่บางคนก็ท้อถอย ใจไม่สู้ เลยไม่อาจตัดออกจากสงสารวัฏไปได้ ความเพียรนี่สำคัญมากนะบัวเฮียว แล้วก็ต้องเป็นความเพียรที่ถูกต้องที่เรียกว่า สัมมาวายามะ ถ้าเป็น มิจฉาวายามะ แทนที่จะทำให้หลุดพ้น กลับทำให้ติดแน่นอยู่ในสงสารวัฏหนักเข้าไปอีก”

          “เรียกว่า การทำความเพียรก็ต้องมีโยนิโสมนสิการใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว แหม รู้สึกว่าเธอจะเก่งขึ้นมาเชียวนะ สงสัยว่าจะหลุดพ้นในชาตินี้เสียละมัง” พระอุปัชฌาย์สัพยอก

          “สาธุ สมพรปาก” พูดพร้อมกับยกมือขึ้น “สาธุ”

          “ถ้าอย่างนั้นก็กลับไปปฏิบัติที่กุฏิของเธอได้ อ้อ พรุ่งนี้ออกตีสี่ครึ่งฉันเปลี่ยนเวลาแล้ว เลื่อนออกไปอีกครึ่งชั่งโมง ประเดี๋ยวจะให้สมชายไปบอกคนอื่น ๆ พระบัวเฮียวกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้งแล้วลุกออกมา ขณะเดินกลับกุฏิแทนที่จะกำหนด “ซ้าย – ขวา ซ้าย – ขวา” เหมือนเช่นเคย ก็เปลี่ยนมากำหนดว่า “โยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการ... ไปจนถึงที่พัก

 

 

มีต่อ........๒๐