สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๒๐

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00020

 

๒๐...

          ก่อนออกจากวัด ท่านพระครูอุตส่าห์เดินไปหานางทองรินถึงกุฏิที่นางพัก โดยมีพระบัวเฮียวกับนายสมชายไปเป็นเพื่อน นางทองรินซึ่งตื่นตั้งแต่ตีสี่ ล้างหน้าล้างตาเสร็จแล้วและกำลังจะเดินจงกรม เมื่อได้ยินเสียงนายสมชายเรียกอยู่ข้างนอก จึงเปิดประตูออกมา ออกตกใจที่พบท่านพระครูและพระบัวเฮียว จึงรีบนิมนต์ท่านเข้ามาข้างใน

          “ไม่เข้าหรอกโยม อาตมาจะรีบไป แวะมาบอกโยมเท่านั้นเอง อย่าลืมว่าโยมกำลังมีเคราะห์ ถ้าโยมไม่เชื่อฟัง อาตมาก็ช่วยอะไรโยมไม่ได้ อาตมาไปละนะ”

          “ขอบพระคุณหลวงพ่อมากค่ะ ดิฉันจะทำตามคำสั่งของหลวงพ่อทุกอย่าง” นางทองรินรับคำหนักแน่น พร้อมกับไหว้ภิกษุทั้งสอง

          ขณะเดินไปขึ้นรถ ท่านพระครูพูดกับพระบัวเฮียวว่า “ฉันช่วยเขาได้แค่นี้แหละบัวเฮียว เจ้ากรรมนายเวรเขาตามมาทวงชีวิต วันนี้ถ้าเขาออกนอกบริเวณวัด จะต้องตายอย่างแน่นอน แต่ถ้าเขาเชื่อฉัน ก็จะไม่ตาย” พระบัวเฮียวไม่ออกความเห็น รู้สักสังหรณ์ใจพิกลว่าจะต้องมีอะไรเกิดขึ้นกับหล่อน

          นายสมชายขับรถพาท่านพระครูและลูกวัดอีก ๘ รูปมาถึงบ้านงานเมื่อเวลาหกโมงครึ่ง เหลือเวลาอีกครึ่งชั่วโมงจึงจะเริ่มพิธี เจ้าบ่าวซึ่งอยู่ในชุดกางเกงขายาวสีเทาฟ้า เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีชมพู ออกมาต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เห็นนายจ่อยท่าทางมีความสุข จิตของพระบัวเฮียวก็ถูก “กามฉันทนิวรณ์” กลุ้มรุมอีกจนเจ้าตัวต้องใช้ “โยนิโสมนสิการ” เข้าปราบปราม มันจึงสงบลงได้ “เจ้าสาวไปไหนเสียล่ะ” ท่านถามถึงคนเป็นเจ้าสาว

          “ยังไม่กลับจากร้านเสริมสวยครับ” เจ้าบ่าวตอบ แขกเหรื่อยังมากันไม่มาก เจ้าบ่าวจึงมีเวลาพูดคุยกับพระสงฆ์ ท่านพระครูถามหาบิดาของนายจ่อย ก็ได้รับคำตอบว่ายังไม่สร่างเมา จึงไม่กล้าอกมาสู้หน้า

          พวกแม่ครัวกำลังสาละวนอยู่กับการจัดอาหารเลี้ยงพระ ท่านพระครูนั่งหลับตากำหนด “เห็นหนอ” เพราะอยากรู้ว่าพวกแม่ครัวเขากำลังคุยกันเรื่องอะไร

          “เอ้าแก ชิมอยู่นั้นแหละ ระวังจะเกิดเป็นเปรตนะ กินก่อนพระก่อนเจ้า” แม่ครัวนางหนึ่งว่าเพื่อน

          “ก็มันอร่อยนี่หว่า” คนชิมตอบ

          “เออ อร่อย ๆ นี่แหละ ข้าเห็นเป็นเปรตมาเสียนักต่อนักแล้ว”

          “แกเห็นได้ยังไง” คนชิมย้อน

          “ก็ปู่ย่าตายายข้าสอนไว้อย่างนี้ ถึงข้าไม่เห็นแต่ข้าก็เชื่อ”

          “นั่นมันสมัยปู่ย่าตายายแกโว้ย สมัยนั้นน่ะพระท่านน่าเคารพนับถือ กินก่อนท่านถึงได้บาป แต่สมัยนี้มันใช่พระเสียที่ไหน  แค่พวกหัวโล้นห่มผ้าเหลือง  ไปไหน ๆ ก็เที่ยวแต่จะกินของดี ๆ แล้วยังจะเอาเงินอีก  ที่เขาว่า     “ข้าวก็ยัด อัฐก็เอา” นั้นแหละ” แม่ครัวอีกคนเถียงแทนเพื่อน

          “ตายละอีแป้น มึงนะมึง นรกจะกินหัวกบาลมึงเข้าสักวัน” แม่ครัวคนแรกว่า ท่านพระครูกำหนดลืมตาไม่อยากรู้ไม่อยากเห็นอีกต่อไป นี่ขนาดคนชนบทยังดูถูกดูแคลนพระถึงปานนี้ มันความผิดของใครกันนี่ ท่านรู้สึกรันทดใจนัก เห็นนายจ่อยกำลังซุบซิบกับพระบัวเฮียวอยู่ทางปลายแถว ท่านจึงกำหนด “เห็นหนอ” ไปที่บุคคลทั้งสอง

          “ทำไมนิมนต์พระวัดป่ามะม่วงทั้งหมดล่ะ ไม่กลัววัดเจ้าถิ่นเขาเขม่นเอาหรือ” พระบัวเฮียวถาม เพราะตามธรรมเนียมหากจะนิมนต์พระต่างถิ่นมา ก็ต้องให้มีพระในท้องถิ่นอยู่ด้วย การนิมนต์พระจากที่อื่นมาทั้งหมด ถือว่าเป็นการกระทำที่ข้ามหน้าข้ามตาพระเจ้าถิ่น

          “ก็อย่างที่เคยเล่าให้หลวงพี่ฟังนั้นแหละ ผมไม่นับถือพระแถวนี้ แต่พูดก็พูดเถอะหลวงพี่ กฎแห่งกรรมมันทำหน้าที่ได้รวดเร็วดีจริง ๆ สมภารตายแล้ว” นายจ่อยจงใจใช้คำว่า “ตาย” แทน “มรณภาพ”

          “อ้าว เป็นอะไรตายล่ะ”

          “ถูกจามด้วยขวานหัวแบะเลย นอนตายอยู่ข้างระเบียงโบสถ์ ป่านนี้คลทะเลาะกับยมบาลอยู่ในนรกนั่น”

          “แล้วหลวงตาทองขี้เมานั่นล่ะ”

          “แหม หลวงพี่จำแม่นจัง แกสึกแล้ว เห็นว่ากลัวตกนรกเพราะไม่อาจเลิกเหล้าได้ เป็นพระกินเหล้ามันบาปมาก แกเลยสึกออกมาเสียหมดเรื่องหมดราว จะได้ตกนรกน้อยหน่อย แกว่าของแกยังงี้ ไม่ใช่ผมว่านา” ฟังแล้วพระครูจึงสรุปในใจว่า “อ้อ มันอย่างนี้เองนี่เล่า ยายแม่ครัวถึงได้ไม่ศรัทธาพระ หนอยแน่มาเรียกเราว่า พวกหัวโล้นห่มผ้าเหลือง ข้าวก็ยัด อัฐก็เอา ยายคนนี้สำมะคัญ” ถึงตอนนี้ท่านรู้สึกขำยายนั่น คำพูดของนางเท่ากับเป็นกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นภาพของผู้ที่เรียกตัวเองว่า “นักบวช”

            เสียงรถมอเตอร์ไซค์วิ่งเข้ามาจอดใต้ถุนเรือน แล้วนางจุกก็เดินนวยนาดเข้ามากราบท่านพระครูและภิกษุอีก ๘ รูป หล่อนอยู่ในชุดไทยเรือนต้นสีชมพูอ่อน ตัดเย็บด้วยผ้าไหมเนื้อดี ผมเกล้าทรง “ลูกจันทน์” ไว้กลางศีรษะ ใบหน้าถูกตกแต่งไว้อย่างสวยงามโดยฝีมือของช่างเสริมสวยประจำตำบล

          “หลวงน้ามาถึงนานแล้วหรือจ๊ะ” หล่อนทักทาย

          “นานหรือไม่นานก็ถึงก่อนคนเป็นเจ้าสาวแล้วกัน” หลวงน้าพูดแหย่

          “แหม หลวงน้าเนี่ย เจอหน้าก็ว่ากันเลยเชียว” หล่อนพ้อ

            ขณะนั้นเวลาเจ็ดนาฬิกาตรง พิธีจึงเริ่มด้วยการให้ทายกซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวนำกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย และอาราธนาศีล ท่านพระครูให้ศีลเสร็จแล้วพระสงฆ์ทั้ง ๙ รูปเจริญพระพุทธมนต์ คู่บ่าวสาวนั่งพับเพียบประนมมือฟังพระสวด มีหมอนสีชมพูรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส สำหรับวางแขนกันเมื่อยคนละใบ

          เสร็จจากการเจริญพระพุทธมนต์ ทายกนำกล่าวถวายสังฆทาน แล้วจึงช่วยกันประเคนอาหารคาวหวาน พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จ เจ้าภาพถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแล้ว พระสงฆ์ทั้ง ๙ รูปกล่าวอนุโมทนาคาถา คู่บ่าวสาวกรวดน้ำและรับพรตามลำดับ พวกแม่ครัวก็พากันออกมารับพรจากพระด้วย ท่านพระครูจำคนที่ว่าพระได้ จึงพูดสัพยอกนางว่า

          “พวกหัวโล้นห่มผ้าเหลืองนี่ไม่ไหวเลยนะโยมนะ กินข้าวเขาแล้วยังจะเอาเงินอีก” แม่ครัวหน้าเหรอ ไม่นึกไม่ฝันว่าท่านจะรู้ในสิ่งที่พวกตนแอบนินทา แต่อย่างน้อยก็ยังดีใจที่ท่านไม่โกรธ

          “หลวงพ่อมาจากวัดไหนจ๊ะ” นางถาม รู้สึกศรัทธาท่านขึ้นมานิดหนึ่ง

          “วัดป่ามะม่วง เคยได้ยินไหมเล่า”

          “ไม่เคยจ้ะ อยู่ที่ไหนจ๊ะ”

          “อยู่ไม่ไกลหรอก ถ้าอยากจะไปก็ให้เจ้าบ่าวเขาพาไปก็ได้ เขามีสอนกรรมฐานด้วยนะ อยากไปเรียนไหมเล่า”

          “ก็อยากเหมือนกัน ว่าแต่ว่าหลวงพ่อไม่โกรธฉันนา” นางยังกลัวความผิด

          “โกรธเรื่องอะไรเล่า”

          “ก็ที่ฉันว่าหลวงพ่อ”

          “อาตมาจะไปโกรธทำไม ก็อาตมาไม่ได้เป็นอย่างที่โยมว่า แต่ถึงเป็นก็ไม่ควรจะโกรธ เพราะเท่ากับโยมพูดความจริง ใช่ไหมล่ะ”

          “ใช่จ้ะใช่ ว่าแต่ว่าทำไมหลวงพ่อถึงรู้ล่ะว่าฉันเป็นคนพูด” นางไม่วายสงสัย

          “เอาเถอะไว้ไปเข้ากรรมฐานแล้วจะบอก อย่าลืมไปก็แล้วกัน”

          “จ้ะ ๆ ฉันไปแน่ รอให้เกี่ยวข้าวเสร็จก่อน” นางรับคำเป็นมั่นเป็นเหมาะ

          เมื่อท่านพระครูไม่อยู่ในวัด นางทองรินให้รู้สึกเร่าร้อนใจยิ่งนัก เป็นอย่างนี้ทุกครั้งที่รู้ว่าท่านไม่อยู่ โดยเฉพาะวันนี้รู้สึกว่ามันเร่าร้อนกว่าทุกวัน แม้อากาศภายนอกจะหนาวเหน็บ หากมันก็ไม่ช่วยให้ความเร่าร้อนในใจบรรเทาเบาบางลงได้ ไม่ว่าหล่อนจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ ก็ไม่อาจทำให้จิตสงบได้เลย หล่อนเริ่มฟุ้งซ่าน คิดไปต่าง ๆ นา ๆ ป่านนี้ลูกเต้าจะกินอยู่กันอย่างไร สามีหล่อนเล่า จากกันมาตั้งเจ็ดแปดวัน ป่านนี้มิมีอะไรกับสาวใช้แล้วหรือ เพราะเห็นแม่นั่นทำท่าระริกระรี้ให้ท่าอยู่บ่อย ๆ ข้างสามีหล่อนก็ใช่ย่อย ยิ่งเมาแอ๋กลับบ้านทุกวันอย่างนั้นมีหรือที่จะพ้นเงื้อมมือแม่สาวใช้วัยรุ่น จริงอยู่แม้หล่อนจะไปขอร้องให้มารดามาช่วยดูแล แต่แม่หล่อนก็ต้องมีวันเผลอ ยิ่งถ้าสองคนนั้นมีจิตกระสันต่อกัน แม่หล่อนหรือใคร ๆ ก็ห้ามความกระสันของคนคู่นั้นไม่ได้ อย่ากระนั้นเลย เราควรจะไปดูสักหน่อยเป็นไร นั่งรถไปสองชั่วโมงก็ถึง ดูให้เห็นกับตาแล้วจะรีบมา หลวงพ่อคงยังไม่กลับ นี่ก็เพิ่งจะหกโมงเช้าเท่านั้นเอง แล้วหล่อนก็รีบจัดแจงแต่งกาย ออกจากที่พักเดินฝ่าความหนาวเหน็บตรงไปยังถนนสายเอเชีย “คอยดูนะตาแก่ ถ้าจับได้คาหนังคาเขา แม่จะฆ่าทิ้งเสียเลย” หล่อนคิดเรื่อยเปื่อยไปตลอดทาง สิ่งที่คิดล้วนแต่ร้าย ๆ ทั้งนั้น

          ถึงถนนสายเอเชีย หล่อนต้องข้ามไปรอรถทางฝั่งโน้น มีรถประจำทางหลายสายที่วิ่งมาจากทางเหนือเพื่อจะเข้ากรุงเทพฯ หล่อนมองซ้ายมองขวา เห็นไม่มีรถวิ่งมาสักคัน จึงก้าวเท้าออกไปโดยเร็วแล้วก็ต้องจบชีวิตลง เพราะถูกรถบรรทุกชนกระเด็นไปตกอยู่ริมถนนฝั่งตรงข้ามล

          รถบรรทุกคันนั้นวิ่งตะบึงแข่งกับลมหนาวมาตามถนนสายเอเชีย เห็นคนเดินตัดหน้าในระยะกระชั้นชิดจะเบรคก็ไม่ทัน คนขับก็เลยไม่ยอมเบรค ทั้งไม่สนใจที่จะหยุดรถดูให้เสียเวลาทำมาหากิน ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจทางหลวง ที่จะเรียกป่อเต็กตึ้งมาเก็บศพ

          บรรดารถยนต์ที่วิ่งผ่านไปมา ไม่มีคันใดหยุดดูร่างบอบบางที่นอนจมกองเลือดอยู่ริมถนน อย่างดีก็แค่ชะลอรถให้ช้าลง เพราะมีตัวอย่างมานักแล้ว ที่คนชนหนีไป แล้วคนหยุดดูกลับกลายเป็นจำเลยแทน

          รถสายตรวจของตำรวจทางหลวงมาพบศพเมื่อเวลาแปดนาฬิกา จึงวิทยุไปเรียกป่อเต็กตึ้ง ชาวบ้านแถวนั้นเริ่มทยอยกันมาดูศพ เนื่องจากอากาศคลายความหนาวเย็นลงมากแล้ว แม่ครัววัดป่ามะม่วงก็มาดูกับเขาด้วย เห็นหน้าผู้ตายถนัด “นางบุญรับ” ถึงกับขวัญเสีย ความเกลียดชังที่มีต่อหล่อนกลับกลายเป็นความเวทนาสงสาร นางยกมือท่วมหัวพูดเบา ๆ ว่า

          “ไปสู่ที่ชอบ ๆ เถิดแม่คุณ ขออย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย”

            แม่ครัวที่มาด้วยอีกสองคนก็รู้สึกใจหายเพราะเห็นกันทุกวัน เคยเอาปิ่นโตไปส่งให้ที่ห้องพักวันละสองเวลา เช้านี้ก็เอาไปส่ง เห็นไม่อยู่ห้องก็นึกว่าไปทางไหน มาพบอีกทีก็กลายเป็นศพไปเสียแล้ว ช่างน่าอนาถใจแท้ ๆ

          นายละอองขับรถมาจากกรุงเทพฯ กับบุตรสาววัยรุ่นอีกสองคน เข้าตั้งใจมาเยี่ยมภรรยาซึ่งมาปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดป่ามะม่วง เคยขับรถมาส่งเหล่อนเมื่อวันที่ ๑ ธันวา หล่อนบอกว่าจะมาอยู่สักเจ็ดวัน พอมาถึงท่านพระครูกลับบอกให้อยู่ตั้งสิบห้าวัน ด้วยเหตุผลว่าหล่อนกำลังมีเคราะห์ ลูกสาวสองคนรบเร้าให้เขาพามาด้วยทนคิดถึงมารดาไม่ไหว เขาเองก็คิดถึงหล่อนเช่นกัน 

          รถวิ่งมาถึงทางเลี้ยวเข้าวัด เห็นคนมุงดูอะไรกันอยู่ที่ฝั่งตรงข้าม ชายวัยกลางคนมิได้สนใจจะหยุดดู ด้วยใจจดจ่ออยู่ที่ภรรยา อยากเห็นหน้าหล่อนเร็ว ๆ

          ครั้นถึงวัด เขาตรงไปยังกุฏิที่หล่อนพักพร้อมลูกสาวทั้งสอง เมื่อเดินไปถึงปรากฏว่าหล่อนไม่ได้อยู่ที่นั้น ที่ประตูมีกุญแจดอกเล็ก ๆ คล้องไว้ หน้าต่างทุกบานถูกปิด เขาจึงไปที่กุฏิท่านพระครู คิดว่าหล่อนอาจจะอยู่ที่นั่น คนที่กุฏิท่านพระครูบอกเขาว่า ท่านไม่อยู่และยังบอกเรื่องมีคนถูกรถชนตายเป็นคนที่มาเข้ากรรมฐาน

          เขารู้สึกสังหรณ์ใจพิกลจึงขับรถออกไปดู แล้วก็ได้พบกับความจริงที่เศร้าสลด ภาพของลูกสาวสองคนร่ำไห้กอดศพแม่ ทำให้เขาสะเทือนใจยิ่งนัก ยังลูกชายคนเล็กที่อยู่กับแม่ยายที่บ้านอีกคน แกจะทำอย่างไร เมื่อรู้ว่าผู้เป็นแม่ได้จากโลกนี้ไปเสียแล้ว

          เมื่อรถของมูลนิธิป่อเต็กตึ้งมาถึงที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่จึงให้นำศพไปตั้ง ณ วัดป่ามะม่วงตามคำขอร้องของสามีผู้ตาย ซึ่งต้องการจะรอถามท่านพระครูก่อน ว่าจะให้นำศพไปเผาที่กรุงเทพฯ หรือว่าเผาเสียที่วัดป่ามะม่วง แล้วเขากับลูกก็มานั่งรอท่านที่กุฏิ

          ทันทีที่ท่านพระครูก้าวลงจากรถ สามีนางทองรินแทบจะโผเข้าหา เขาคุกเข่าลงกับพื้นกราบแทบเท้าของท่าน ร้องไห้สะอึกสะอื้นแข่งกับลูกสาวทั้งสอง ตอนเห็นศพภรรยาเขากลั้นความรู้สึกทั้งมวลไว้ แต่เมื่อมาพบผู้ที่เห็นอกเห็นใจที่เขาจะยึดเป็นที่พึ่งได้ ความรู้สึกที่อดกลั้นเอาไว้ก็กลั้นไม่ไหวอีกต่อไป

          “ทำใจดี ๆ เอาไว้โยม เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดาโลก ไม่มีใครหลีกหนีพ้น โยมทองรินเขาไปสบายแล้ว เขานั่งรออาตมาอยู่ตรงทางเลี้ยว เล่าให้ฟังหมดว่าเกิดอะไรขึ้น ไป ไปคุยกันที่กุฏิดีกว่า” ท่านเดินนำสามพ่อลูกไปยังกุฏิ ภิกษุอีกเจ็ดรูปต่างแยกย้ายกันไปยังกุฏิของตน คงมีแต่พระบัวเฮียวที่เดินตามท่านพระครูมาเพราะอยากรู้เรื่องราว

          เมื่อทุกคนมาถึงกุฏิและนั่งลงเรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูจึงเล่าเรื่องที่ “วิญญาณ” มาบอกกล่าว

          “เมื่อเช้าก่อนออกจากวัด อาตมาก็ไปกำชับเขาว่า ไม่ให้ออกไปไหน ขาก็รับคำเป็นมั่นเป็นเหมาะ แต่พออาตมาออกจากวัดไป เขารู้สึกร้อนอกร้อนใจ ไม่อาจปฏิบัติได้ เกิดห่วงโยม ห่วงลูก ๆ” ท่านไม่ได้เล่าทั้งหมดที่วิญญาณบอก เพราะอย่างน้อยก็เห็นแก่คนที่ตายไปแล้ว แต่คนฟังกลับเป็นคนเล่าเสียเองว่า

          “เขาคงเห็นผมดื่มเหล้าทุกวัน เลยกลัวว่าจะพลาดพลั้งไปมีอะไร ๆ กับคนใช้ ทั้งที่ผมไม่เคยคิดอกุศลเช่นนั้น ตั้งแต่เขามาอยู่วัด ผมก็ไม่เคยดื่มอีกเลย และก็ตั้งจะว่าจะไม่ดื่มไปจนตลอดชีวิต อาจเป็นเพราะเขาเผื่อแผ่บุญมาให้ผม จึงทำให้ผมกลับเนื้อกลับตัวได้” นายละอองเล่า แม้จะหยุดร้องไห้แล้ว แต่ก็ยังมีน้ำคลออยู่ที่หน่วยตาทั้งสอง

          “ดีแล้ อาตมาขออนุโมทนาด้วย โยมทองรินเขาก็คงดีใจ ส่วนเรื่องศพเขาบอกให้เผาที่นี่ เขาอยากจะปฏิบัติกรรมฐานต่อแล้วจึงจะไปเกิดในภพภูมิใหม่”

          “วิญญาณปฏิบัติธรรมได้หรือครับหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวถาม

          “ทำไมจะไม่ได้เล่า อย่างวิญญาณแม่กาหลงก็มาปฏิบัติที่วัดนี้ตั้งแต่ยังเป็นเปรต จนเดี๋ยวนี้เป็นเทพธิดาไปแล้ว รูปร่างสวยงามเชียว เคยมาปรากฏให้คนเห็นบ่อย ๆ เคยสอนเดินจงกรมให้แม่ชีเขียวด้วย” แม่ชีเขียวเป็นผู้อาวุโสที่สุดของสำนักชี เดี๋ยวนี้อายุแปดสิบ ไปไหนมาไหนไม่ค่อยไหวแต่ก็ยังปฏิบัติอยู่ที่สำนัก

          “แล้วแม่ชีเขียวแกรู้ไหมครับว่า แม่กาหลงไม่ใช่มนุษย์”

          “รู้ แต่แกเป็นคนไม่กลัวผี แกก็เดินจงกรมอยู่กับแม่กาหลงสองคน คนอื่น ๆ ไม่มีใครกล้า นี่รู้เรื่องแม่กาหลงแล้วอย่าไปเล่าให้เศรษฐีเจริญชัยนั่นฟังนะ เดี๋ยวเขาจะพากันกลัวไม่ยอมมาวัดอีก” ท่านกำชับพระบัวเฮียว ซึ่งฝ่ายนั้นก็รับคำหนักแน่น

          “แล้วภรรยาผมล่ะครับหลวงพ่อ ทำไมเขาต้องอายุสั้น” นายละอองถาม

            “ตามหลักของกรรม คนที่อายุสั้นเพราะเคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิต โยมทองรินเคยไปฆ่าเขาไว้ เจ้ากรรมนายเวรก็เลยตามมาทวง นี่เขาเล่าให้อาตมาฟังนะ”

          “ถ้าเขาไม่ออกไปนอกวัดก็ไม่ต้องตายใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว เจ้ากรรมนายเวรเขามาดักรออยู่ ตอนโยมเขาข้ามถนนก็บังตาเอาไว้ ไม่ให้เห็นรถบรรทุก”

          “ไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่า จิตวิญญาณจะมีอยู่จริง นี่ถ้าไม่ใช่หลวงพ่อเล่า ผมคงไม่เชื่อ”

          “ถึงจะเป็นอาตมา โยมก็อย่าเพิ่งเชื่อจนกว่าจะได้พิสูจน์ด้วยตัวเองเสียก่อน”

          “พิสูจน์อย่างไรครับ” ถามอย่างสนใจ

          “มาเข้ากรรมฐานสักเจ็ดวัน พอมีเวลาไหมเล่า”

          “ครับ ผมจะหาเวลามา รอให้ลูก ๆ ปิดเทอมเสียก่อน”

          “ดีแล้ว โยมทองรินจะได้ดีใจ โยมจะได้คุยกับเขา โดยไม่ต้องผ่านทางอาตมา”

          “หนูจะมากับคุณพ่อได้ไหมคะหลวงตา หนูอยากคุยกับคุณแม่ค่ะ” เด็กสาววัยสิบสี่ถามขึ้น

          “ได้จ้ะ ถ้าหนูตั้งใจปฏิบัติก็จะสามารถคุยกับคุณแม่ได้ แล้วหนูจะมาไหมละจ๊ะ” ท่านถามคนน้อง

          “ถ้าคุณพ่อกับพี่เขามาหนูก็มาค่ะ” เด็กหญิงวัยสิบสองตอบ

          “หลวงพ่อครับ ศพของทองริน จะเผาเมื่อไหร่ครับ” นายละออกถามขึ้น

          “สวดพระอภิธรรมสักสามคืนแล้วค่อยเผา เจ้าตัวเขาไม่สนใจหรอก ร่างกายนั้น เมื่อวิญญาณทิ้งเสียแล้วก็ไม่ต่างกับท่อนไม้หรือท่อนฟืน”

            “ถ้าอย่างนั้นก็เผาเสียวันนี้เลยดีไหมครับ” พระบัวเฮียวออกความเห็น เป็นความเห็นที่เชยที่สุดในความคิดของท่านพระครู

          “จะเร็วขนาดนั้นไม่ได้หรอกบัวเฮียว อย่าลืมว่าโยมเขามีญาติพี่น้องจะต้องแจ้งให้ญาติรู้เสียก่อน ให้เขาจัดการกันตามประเพณีนิยม คนที่เขาไม่เข้าใจเรื่องการเกิดการตายก็มีอยู่

          “ถ้าเช่นนั้นผมจะเข้ากรุงเทพฯ ไปบอกญาติ ๆ เลยนะครับ” นายละอองบอก

          “อย่าเลย โยมกำลังเครียด ไม่ควรขับรถขับลา อาตมาคิดว่าโยมไม่ต้องไปก็ได้ เดี๋ยวให้สมชายพาไปโทรศัพท์ทางไกลที่ในตัวจังหวัด โยมจะได้เตรียมงานอยู่ทางนี้ ห้าโมงเย็นจะมีพิธีรดน้ำศพ ญาติทางกรุงเทพฯ คงมาทัน เดี๋ยวพาลูกไปเข้าที่พักเสียก่อน พักที่กุฏิโยมทองรินได้ไหม กลัวกันหรือเปล่า”

          “ไม่กลัวครับ”

          “ไม่กลัวค่ะ” สามพ่อลูกตอบพร้อมกัน

          “ดีแล้ว ถ้าอย่างนั้นสมชายช่วยพาไปส่งด้วย เสร็จแล้วพาโยมผู้ชายเข้าไปโทรศัพท์ที่ตัวจังหวัด บอกญาติทางกรุงเทพฯ ให้รู้ เขาจะได้พากันมาทันอาบน้ำศพ”

          เมื่อสามพ่อลูกลุกออกไปแล้ว นางบุญรับก็ร้องไห้กระเซอะกระเซิงเข้ามา

          “หลวงพี่ ฉันกลัวผียายทองริน”

          “ก็ดีแล้วนี่ อยากไปเกลียดเขา แบบนี้ต้อบอกให้หลอกเสียให้เข็ด” ท่านพระครูขู่

          “ไม่เกลียดแล้วจ้ะหลวงพี่ ฉันไม่เกลียดเขาแล้ว เห็นเขาตายแล้วสงสาร” นางบุญรับรีบบอก

          “อ้อ ถ้าเขายังไม่ตายก็ยังไม่หายเกลียดใช่ไหมเล่า” ท่านพระครูย้อน

          “ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ตอนนี้ฉันสงสารเขาจริง ๆ ขอให้ไปที่ชอบ ๆ เถอะ แม่คู้ณ อย่าได้มาจองเวรจองกรรมกันเลย”

          “ใครเขาอยากจะจองเวรจองกรรมกับคนอย่างแกเล่ายายบุญรับเอ๊ย อย่าสำคัญตัวผิดไปหน่อยเลย คนอย่างแกน่ะ แม้แต่ผีก็ยังเมิน” ท่านพระครูว่าให้

          “เมินก็ดี จะได้ไม่มาหลอกฉัน เดี๋ยวตอนอาบน้ำศพ ฉันจะไปกราบขอขมาเขา”

          “ดีแล้ว แล้วข้าจะช่วยบอกเขาให้ไป ช่วยไปตามลูกสาวเขามากินข้าวกินปลาเสีย นี่ก็เที่ยงกว่าแล้ว บริการเขาดี ๆ นะแม่เขาจะได้ไม่มาหลอก” ท่านแกล้งแหย่

          “แหม หลวงพี่ชอบพูดให้ฉันหวาดเสียวอยู่เรื่อย” นางต่อว่าแล้วจึงลุกออกไป ท่านพระครูพูดกับพระบัวเฮียวว่า “วันนี้เธอก็เลยอดฉันเพล”

          “ไม่เป็นไรครับ ผมอิ่มมาจากบ้านนายจ่อยแล้ว อาหารเขาอร่อย ๆ ทั้งนั้น ผมเลยว่าเสียอิ่มแปล้ ถึงไม่ได้ฉันอีกสามวันก็คงไม่หิว”

          “ถึงขนาดนั้นเชียวหรือ รู้สึกว่าเธอจะติดในรสอีกแล้วนะ ทำไมถึงไม่กำหนด “รสหนอ” ล่ะ”

            “กำหนดไม่ทันครับ ก็มันอร่อยผมก็เลยฉันเพลินจนลืมกำหนด”

          “นั่นแสดงว่าเธอยังต้องฝึกอีกมาก”

          “ครับผมก็ว่าอย่างนั้น หลวงพ่อครับ ยายบุญรับแกจะหายโกรธโยมทองรินจริงอย่างที่แกพูดหรือเปล่าครับ”

          “จริงสิ โบราณเขาถึงสอนว่า งามอยู่ที่ผี ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่ใจ  ไงล่ะ”

          “หมายความว่าอย่างไรครับ”

          “ก็หมายความว่า คนเราถึงจะจงเกลียดจงชังกันปานใด พออีกฝ่ายหนึ่งตายลง ความเกลียดก็หายไป จะมีแต่ความเมตตา สงสารเขา อะไรที่เขาเคยทำไว้กับตนก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งดีงามไปหมด แล้วก็จะนึกถึงเขาแต่ในทางที่ดีที่งาม จึงเรียกว่างามอยู่ที่ผี ดีอยู่ที่ละ ก็หมายความว่า คนเราจะดีได้ก็ต้องละชั่วให้ได้ ถ้าละชั่วไม่ได้ก็ดีไม่ได้ ส่วนพระอยู่ที่ใจอันนี้ คงไม่ต้องอธิบายหรอกนะเพราะเธอก็เป็นพระ ฉันก็เป็นพระ ไม่ใช่คนหัวโล้นห่มผ้าเหลืองอย่างที่แม่ครัวบ้านงานว่า”

          “ครับ แล้วผมก็ขอตั้งปณิธานว่า จะรักษาศักดิ์ศรีของพระไว้ด้วยชีวิต จะไม่ยอมให้ใครมาตราหน้าว่า เป็นพวกหัวโล้นห่มผ้าเหลืองอย่างเด็ดขาด” พระบัวเฮียวให้คำปฏิญาณต่อหน้าพระอุปัชฌาย์..

         

มีต่อ........๒๑