สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๒๑

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00021

 

๒๑...

          เสียงด่าหมาแมวดังลั่นวัดแต่เช้าหลังจากวันที่นางบุญรับเข้ามาช่วยทำครัว บรรดาอุบาสกอุบาสิกาตลอดจนพระสงฆ์องค์เณรที่ปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดป่ามะม่วง มีอันต้องกำหนด “เสียงหนอ” กันวันละหลาย ๆ ครั้ง เพราะนางบุญรับแกสามารถด่าได้หลายเวลาต่อวัน

          พระบัวเฮียวกำลังนั่งสมาธิอยู่ก็มีอันต้องกำหนด “เสียงหนอ” แทนการกำหนด พอง – ยุบ กำหนดอยู่นานก็ไม่อาจระงับความฟุ้งซ่านรำคาญใจลงได้ ไม่ชอบหน้าแม่ครัวผู้นั้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ครั้นมาได้ยินเสียงเกรี้ยวกราดแสบแก้วหูเช่นนี้เข้าอีก ความไม่ชอบซึ่งเป็นโทสะอ่อน ๆ นั้นก็เพิ่มระดับขึ้นจนกลายเป็นความเกลียดชังและอาฆาตมาดร้าย พระหนุ่มรู้สึกเกลียดผู้หญิงที่ชื่อบุญรับ ไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากได้ยินเสียง เกลียด เกลียดเหลือเกินแล้ว

          ในที่สุดก็เลยนั่งกำหนด “เกลียดหนอ” ไปจนถึงเวลาหกโมงเช้า ออกจากสมาธิแล้วจึงเตรียมตัวออกบิณฑบาต แม้จะเดินห่างวัดออกไปจนเสียงด่าตามมาไม่ถึง หากก็ยังรู้สึกว่ามันก้องอยู่ในโสตประสาทตลอดเวลา จิตของท่านจึงถูกพยาบาทนิวรณ์ เข้ากลุ้มรุมโดยที่เจ้าตัวมิได้ทันระแวดระวัง คิดเคียดแค้นชิงชังนางบุญรับไปตลอดทางจนลืมกำหนด “ขวา – ซ้าย  ขวา – ซ้าย” ยามเยื้องย่าง

          เวลาเจ็ดนาฬิกาเศษ ท่านพระครูกลับจากบิณฑบาต กำลังเดินเข้าประตูวัดมา รถกระบะสีน้ำตาลคันหนึ่งวิ่งแซงหน้าท่านมาจอดที่ลานวัด ยังไม่ทันได้ดับเครื่อง เด็กหนุ่มผิวคล้ำหน้าตาคมสันก็ลงจากที่นั่งคนขับ ปีนขึ้นไปที่ด้านหลังรถ เปิดท้ายแล้ว “ผลักด้วยเท้า” สุนัขสิบกว่าตัวที่ยืนหน้าสลอนอยู่ท้ายรถลงมาจนหมด ปิดท้ายรถเรียบร้อยจึงกระโดยลงมา ก้าวเข้าไปนั่งประจำที่คนขับแล้วออกรถ ท่านพระครูรีบโบกมือเรียก

          “ช้าก่อนพ่อหนุ่ม เดี๋ยวหยุดคุยกันก่อน “ “พ่อหนุ่ม” เบรครถดังพรืด โผล่หน้าคมคายออกมาถามว่า       

          “มีอะไรหรือครับ” เขาไม่ทำความเคารพซึ่งท่านพระครูก็เข้าใจและรู้ว่าเป็นธรรมเนียมของคนมุสลิมที่จะไม่เคารพผู้ใดหรือสิ่งใดนอกจากพระเจ้าสูงสุดคืออัลลอฮ์เท่านั้น “มาจากไหนล่ะเธอน่ะ” ทำไมถึงได้ขนหมามาปล่อยที่วัดนี้” ท่านถามยิ้ม ๆ

          “ผมมาจากชะไว มะให้ใช้เอามาปล่อยเพราะกันกัดแพะ เจ้าหมาพวกนี้เราไม่ได้เลี้ยง มันมากันเอง มะเลยให้เอามาปล่อย ผมเป็นมุสลิม คนมุสลิมเขาไม่เลี้ยงหมาครับ” เด็กหนุ่มอธิบาย “มะ” เป็นคำที่มุสลิมใช้เรียกมารดาของตน “อ้อ แล้วทำไม่มาไกลถึงที่นี่ จากชะไวมานี่ก็ผ่านวัดมาเป็นร้อย ต้องมาถึงที่นี่ให้เปลืองน้ำมันทำไมเล่า”

          “มะกำชับมาครับ บอกว่าให้เอามาปล่อยที่วัดป่ามะม่วง มันจะได้ไม่ถูกคนรังแก มะว่าเจ้าของวัดนี้เขาใจดี มันจะมีความสุขกว่าอยู่ที่อื่น ถึงมะจะเกลียดพวกมัน แต่ก็ไม่อยากเห็นมันถูกรังแกครับ”

          “อ้อ ยังงั้นหรอกหรือ งั้นกลับไปบอกมะเธอด้วยว่า หลวงพ่อวัดนี้สั่งให้เอามาปล่อยอีกหลาย ๆ คนรถ รับรองว่าอยู่วัดนี้แล้วปลอดภัย” ท่านตั้งใจประชดแต่ชายหนุ่มไม่รู้จึงตอบไปว่า “ครับแล้วผมจะบอกมะตามนี้” พูดจบก็ออกรถอย่างเร็วโดยมิร่ำลา

          ท่านพระครูมองตามรถพลางส่ายหน้าช้า ๆ วัดนี้ไม่รู้เป็นอะไร แมวมาหา หมามาสู่มิได้ขาด เมื่อวันก่อนก็มีคนเอาแมวใส่กระสอบซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์มาปล่อย จนวัดแทบจะกลายเป็นที่อยู่ของสัตว์สาราสิ่งไปแล้ว

          นายสมชายซึ่งหิ้วปิ่นโตเดินมาทันท่านที่ลาดวัดพูดขึ้นว่า “เขาเอาหมามาปล่อยอีกแล้วหรือครับหลวงพ่อ ทำไมถึงต้องมาปล่อยที่วัดนี้ก็ไม่รู้ วัดอื่นมีถมเถไปไม่ปล่อย” เด็กหนุ่มตำหนิกราย ๆ

          “เขาว่ามันจะได้ไม่ถูกรังแก” ท่านพระครูอ้าง “เขาว่า”

          “ไม่ถูกยังไงได้ ยายบุญรับตีมันทุกวัน ผมงี้หนวกหูจะแย่อยู่แล้ว เมื่อไหร่ยายนี่จะไป ๆ เสียทีก็ไม่รู้” เขาบ่น

          ถึงกุฏิแล้วจึงเข้าไปล้างมือล้างเท้าจนสะอาดหมดจด เช็ดให้แห้งก่อนลงมือฉันอาหารที่ลูกศิษย์จัดสำรับไวรอท่า ฉันเสร็จจึงเข้าไปล้างปากแปรงฟัน ซึ่งหมายความว่า “สิ้นสุดการบริโภคอาหารสำหรับวันนี้” จากนั้นจึงมานั่งยังอาสนะประจำของท่าน รู้ว่าพระบัวเฮียวจะต้องมาให้สอบอารมณ์

          “หลวงพ่อครับผมแย่แล้ว” ลูกศิษย์รายงานทันทีที่มาถึงและกราบอาจารย์แล้ว ทั้งที่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับศิษย์ หากท่านพระครูก็ต้องถามไปตามมารยาทว่า “แย่ยังไง ไหนว่าไปซิ”

          “ผมเกลียดยายบุญรับจนปฏิบัติไม่ได้ จิตมันตกจนดึงไม่ขึ้น ทำยังไงดีล่ะครับหลวงพ่อ” ถามอย่างรู้สึกทุกข์ร้อน

          “นั่นแหละ พยาบาทนิวรณ์ กำลังครอบงำเธอ ทำไมไม่ใช้โยนิโสมนสิการขจัดมันเสีย ปล่อยให้ระรานอยู่ทำไม” คนเป็นศิษย์ไม่ตอบด้วยมิรู้จะตอบอย่างไร อาจารย์จึงขยายความต่อไปว่า

          “การละพยาบาทนิวรณ์ ต้องใช้ โยนิโสมนสิการ ในเมตตาเจโตวิมุตติ ดั่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ....ภิกษุทั้งหลาย เจโตวิมุติมีอยู่ การทำให้มากซึ่งโยนิโสมนสิการในเจโตวิมุตินั้น นี้ไม่เป็นอาหารให้พยาบาทที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น...วิธีปฏิบัติก็เช่น การกำหนดนิมิตในเมตตาเป็นอารมณ์การประกอบเนือง ๆ ซึ่งเมตตาภาวนา การพิจารณาถึงความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นต้น” ท่านมองหน้าลูกศิษย์ รู้ว่าฝ่ายนั้นยังไม่เข้าใจ จึงถามขึ้นว่า

          “จะต้องให้แจกแจงในรายละเอียดไหม”

          “ก็ดีเหมือนกันครับ เพราะผมรู้แต่หลักการ ส่วนรายละเอียดยังทราบไม่ซึ้งนัก”

          “ถ้าอย่างนั้นก็ตั้งใจฟังให้ดี การเจริญเมตตาหรือการแผ่เมตตานั้น ลำดับแรกจะต้องแผ่ให้ตัวเองก่อน”

          “ทำไมต้องให้ตัวเองก่อนล่ะครับ ก็เราไม่ได้เกลียดตัวเอง เราเกลียดคนอื่นก็ควรจะแผ่เมตตาให้คนที่เราเกลียด” พระบัวเฮียวแย้ง ท่านพระครูจึงแถลงว่า “การที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้แผ่เมตตาแก่ตัวเองก่อน เพราะเท่ากับทำตัวเราให้เป็นพยานว่า ตัวเราเป็นผู้รักสุข เกลียดทุกข์ อยากอยู่ ไม่อยากตาย ฉันใด คนอื่น ๆ หรือสัตว์อื่น ๆ ก็ฉันนั้น”

            “แต่ถ้าเราอยากตาย ไม่อยากอยู่ล่ะครับ” พระญวนเริ่มยวน ท่านพระครูต้องปรามว่า

          “ขอที ๆ อย่าชักใบให้เรือเสีย เธอละก็ ชอบออกนอกลู่นอกทางเสียเรื่อย”

          “ครับ ๆ ไม่ออกก็ได้ครับ นิมนต์หลวงพ่อเทศน์ต่อ ผมไม่ขัดแล้วครับ” เมื่อลูกศิษย์นิมนต์ อาจารย์จึงแสดงธรรมต่อไปว่า “โดยธรรมชาติแล้วไม่ว่าคนหรือสัตว์ ต่างก็รักตัวเองด้วยกันทั้งนั้น ดังมีพุทธพจน์แสดงไว้...บุคคลตามค้นไปด้วยใจตลอดทุกทิศ ก็มิได้พบผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าตนที่ไหนเลย ฉันใด ตนของคนอื่น ๆ ก็ย่อมเป็นที่รักของเขามาก ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น...นี่แหละถึงต้องให้แผ่เมตตาในตนเองก่อน ไหนเธอแผ่เมตตาให้ตัวเองเป็นหรือเปล่า ลองว่าให้ฟังสักหน่อยซิ”

          “หลวงพ่อจะเอาแบบบาลีหรือแบบไทยล่ะครับ”

            “เอาทั้งสอบแบบนั่นแหละ”

          “งั้นก็เอาบาลีก่อนแล้วตามด้วยไทยนะครับ ฮะแอ้ม” พระหนุ่มกระแอมแก้เขินแล้วจึงท่องด้วยเสียงค่อนข้างดังว่า “อะหัง สุขิโต โหมิ, นิททุโข โหมิ, อะเวโร โหมิ, อัพยาปัชโฌ โหมิ, อะนีโฆ โหมิ, สุขี อัตตานัง ปะระหะรามิ – ขอข้าพเจ้าจงถึงซึ่งความสุขเถิด ขอข้าพเจ้าจงอย่าได้มีเวรมีภัยเลย ขอข้าพเจ้าอย่าได้มีความเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ขอข้าพเจ้าจงอย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้มีความสุข รักษาตนอยู่เถิด...”

          “ดีมาก จำแม่นดี เอาละเมื่อแผ่เมตตาในตัวเองเป็นอันดับแรกแล้ว จากนั้นจึงแผ่ไปในผู้อื่นตั้งแต่บุคคลที่รักมาก บุคคลกลาง ๆ คือไม่รักไม่ชังไปจนถึงบุคคลที่เป็นศัตรู แต่ถ้าแผ่เมตตาให้ศัตรูแล้วเกิดโทสะขึ้น ให้ปฏิบัติตามวิธีระงับความโกรธที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ซึ่งมีถึง ๙ วิธี”

          “แต่ถ้าใช้ทั้ง ๙ วิธีแล้วยังไม่หายโกรธล่ะครับ”

          “ก็แสดงว่าคน ๆ นั้นกิเลสหนาตัณหามากจนไม่อาจรับฟังคำสั่งสอนได้ ก็ตัดหางปล่อยวัดไป ถือว่าเป็นพวกบัวติดโคลนตมที่เรียกว่า ปทปรมะ”

            “แล้วคนที่ไม่มีหางจะให้ตัด จะทำอย่างไรดีครับ อย่างผมนี่ ตอนเกิดแม่ไม่ได้ให้หางมาด้วย” พระญวนอดยวนมิได้

          “บัวเฮียว รู้สึกว่าเธอจะถนัดเถลไถลจริงเชียวนะ ฉันจะว่าเธอยังไงถึงจะเจ็บแสบ จะได้จดได้จำเสียที ท่านพระครูว่าให้

          “ถ้าจะว่าใครให้เจ็บให้แสบก็ต้องว่า...เดี๋ยวเอามีดโกนปาดแล้วราดด้วยทิงเจอร์...รับรองทั้งเจ็บทั้งแสบเชียวครับ” พระบัวเฮียวเสนอแนะ ความสุขของท่านคือการได้ยั่วพระอุปัชฌาย์ อยากเห็นท่านโกรธ เพราะท่านไม่เคยโกรธให้เห็น เขาว่ากันว่า คนเป็นพระอรหันต์จะไม่โกรธ หรือ ว่าท่านเป็นพระอรหันต์

          “ถ้างั้นฉันก็จะขึ้นไปเขียนหนังสือละนะ จะไม่บอกเธอหรอกว่าวิธีระงับความโกรธที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้มีอะไรบ้าง จะปล่อยให้เธอเกลียดยายบุญรับ ให้เธอถูกไฟโทสะแผดเผาให้ไหม้เกรียมกรอบเป็นปลาย่างไปเลย” ท่านต่อว่าต่อขานยืดยาว แต่คนเป็นศิษย์ก็รู้ว่าอาจารย์ไม่ได้โกรธ เพราะหน้าท่านไม่บึ้ง เสียงที่พูดก็ไม่เกรี้ยวกราดอย่างเสียงยายบุญรับ

          “แหมหลวงพ่อก็ ผมพูดเล่น ๆ ก็ทำใจน้อยไปได้ นิมนต์สาธยายต่อเถิดครับ ผมไม่ยั่วแล้ว”

          “แน่นะ เอาละ งั้นก็ตั้งใจฟังให้ดี การปฏิบัติเพื่อระงับความโกรธวิธีแรก คือ ให้ระลึกถึงโทษของความโกรธ ว่า ความโกรธนั้นให้โทษด้วยประการต่าง ๆ หาคุณมิได้เลย ถ้าคนเขามาโกรธเราแล้วเราโกรธตอบ เราก็ได้ชื่อว่าเป็นคนเลวเสียยิ่งกว่าคนที่โกรธก่อนนั้นอีก ผู้ไม่โกรธตอบคนที่โกรธตนก่อน ผู้นั้นได้ชื่อว่า ชนะสงครามที่ชนะยาก ฉะนั้นถ้าเธอโกรธตอบยายบุญรับ ก็แปลว่าเธอเลวกว่ายายบุญรับเสียอีก

          ถ้าลองวิธีนี้แล้วยังไม่ได้ผลก็ให้ใช้วิธีที่สองคือ ให้ระลึกถึงความดีของเขา ธรรมดาคนเรานั้นว่าโดยทั่วไป แต่ละคน ๆ ก็ต้องมีทั้งส่วนดีและส่วนไม่ดีอยู่ในตัว เราก็คิดถึงแต่ในส่วนดีของเขา ส่วนที่ไม่ดีอย่าไปคิด ถ้าหาส่วนดีของเขาไม่ได้จริง ๆ ก็ให้นึกสงสารเขา คิดเสียว่า...โธ่! น่าสงสาร ต่อไปคน ๆ นี้จะต้องประสบผลร้ายต่าง ๆ เพราะความประพฤติไม่ดีอย่างนี้ นรกอาจรอเขาอยู่...เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็จะระงับความโกรธเสียได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ก็ให้ลองวิธีที่สาม คือ ให้คิดถึงความจริงที่ว่า การโกรธคือการทำให้ตัวเองทุกข์ คนที่โกรธแล้วเป็นสุขนั้นไม่มีในโลก เมื่อเราคิดได้อย่างนี้เราก็ต้องไม่โกรธ เพราะเรื่องอะไรจะไปทำให้ตัวเองทุกข์ จริงไหม”

          “จริงครับ แล้วถ้ายังไม่หายโกรธ จะทำอย่างไรครับ”

          “ก็ใช้วิธีที่สี่ คือให้พิจารณาสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน กรรมที่มีความโกรธเป็นเหตุนั้นมันรังแต่จะทำความเสื่อมเสียให้กับตัวเรา เพราะทั้งเราทั้งคนอื่น ๆ ต่างก็มีกรรมเป็นของ ๆ ตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ก็จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น และ กรรมที่เกิดจากความโกรธนั้นจะทำให้บรรลุความหลุดพ้นก็หาไม่ จะช่วยให้ได้ทิพยสมบัติหรือมนุษย์สมบัติก็หาไม่ มีแต่จะทำให้ตัวเองตกต่ำลงไปจนถึงกับตกนรกหมดไหม้  เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ควรให้ความโกรธเกิดขึ้นในตัวเรา แต่ถ้ายังไม่หายโกรธอีกก็ให้ลองวิธีที่ห้าคือ ให้พิจารณาพระจริยาวัตรในปางก่อนของพระศาสดาว่า พระพุทธเจ้าของเรานั้น กว่าจะตรัสรู้ก็ได้ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายมาตลอดเวลายาวนาน ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยยอมเสียสละแม้แต่พระชนม์ชีพของพระองค์เอง เมื่อทรงถูกข่มเหงกลั่นแกล้งเบียดเบียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็ไม่ทรงแค้นเคืองทรงเอาดีเข้าตอบ ถึงเขาจะตั้งตัวเป็นศัตรู ขนาดพยายามปลงประชนม์ก็ไม่ทรงมีจิตประทุษร้าย ซึ่งเรื่องราว  ต่าง ๆ เหล่านี้มีปรากฏในชาดก เช่น เรื่องมหาสีลวชาดก มหากปิชาดก เป็นต้น เธอสามารถไปอ่านเองได้ หัดอ่านเสียบ้างจะได้หูกว้างตากว้างขึ้น ไม่ใช่ดีแต่ปากกว้าง เอาแต่กินอย่างเดียว” ท่านแกล้งเหน็บแนม ด้วยรู้ว่าคนเป็นศิษย์ ”ติดในรส”

          “ครับแล้วผมจะไปหาอ่าน ต่อวิธีที่หกเถอะครับ” พระบัวเฮียวไม่ต่อกลอนเพราะกลัวจะ “เข้าเนื้อ” มากขึ้น

          วิธีที่หก ให้พิจารณาถึงความที่เคยเกี่ยวข้องกันในวัฏสงสาร ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ...ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้ไม่เคยเป็นมารดา ไม่เคยเป็นบิดา ไม่เคยเป็นพี่น้องชาย ไม่เคยเป็นพี่น้องหญิง ไม่เคยเป็นบุตร ไม่เคยเป็นธิดาของเรา มิใช่หาได้ง่าย...อันนี้ก็หมายความว่า มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ จะต้องเคยเกี่ยวข้องกันมาในอดีตชาติ อย่างยายบุญรับก็อาจจะเคยเป็นแม่หรือพี่สาวหรือน้องสาวเธอในอดีตชาติ ชาตินี้ถึงได้มาเจอกันอีก เพราะฉะนั้นเธอก็ไม่ควรใจร้ายต่อเขา”

          “แต่ถ้าเขาใจร้ายต่อผมล่ะครับ”

          “อันนั้นมันเรื่องของเขา ถ้าตัวเราไม่ผูกเวร เวรมันก็ระงับลงได้ในส่วนของเรา ถ้าเขาโกรธเขาก็ทุกข์ ส่วนเราไม่โกรธเราก็ไม่ทุกข์”

          “ที่เรียกว่าตบมือข้างเดียวไม่ดังใช่ไหมครับ”

          “เอ อันนี้ฉันก็ไม่ค่อยแน่ใจเพราะไม่เคยตบ ตั้งแต่บวชมานี่ยังไม่เคยตบมือ ไม่ว่าจะข้างเดียวหรือสองข้างก็ไม่เคย” ท่านพระครูนึกสนุกจึงพูดยวนกับคนญวน

          “ดีแล้วครับ หลวงพ่อทำถูกแล้ว เป็นพระเป็นเจ้าขึ้นตบมือตบไม้ ประเดี๋ยวศีลก็เปื่อยหมดเท่านั้น” คนญวนยวนตอบ

          “เอาละ ๆ พอแล้ว พูดเลอะเลือนล่ามป้ามไปมันจะไม่ดี ทีนี้ก็มาว่ากันถึง วิธีที่เจ็ด คือพิจารณาอานิสงส์ของเมตตา

          ความโกรธมีโทษ ก่อผลร้ายมากมายฉันใด เมตตาก็มีคุณก่อให้เกิดผลดีมาก ฉันนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรจะระงับความโกรธเสีย แล้วตั้งจิตเมตตาขึ้นมาแทน ให้เมตตานั่นแหละช่วยกำจัดและป้องกันความโกรธไปในตัว ผู้มีเมตตาย่อมสามารถเอาชนะใจคนอื่นซึ่งเป็นชัยชนะที่เด็ดขาด ไม่กลับแพ้ ผู้ตั้งอยู่ในเมตตาชื่อว่าทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

          พระพุทธองค์ทรงแสดงอานิสงส์ของเมตตาไว้ ๑๑ ประการคือ หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดารักษา ไฟ พิษ หรือศัสตราไม่กล้ำกราย จิตเป็นสมาธิเร็ว ผิดหน้าผ่องใส ไม่หลงตาย และประการสุดท้ายคือ เมื่อยังไม่บรรลุธรรมเบื้องสูง ก็จะได้ไปเกิดในพรหมโลกเป็นอย่างต่ำ”

          “แล้วถ้ายังไม่หายโกรธล่ะครับ”

          “ก็ให้ลอง วิธีที่แปด คือพิจารณาโดยวิธีแยกธาตุ วิธีนี้เป็นการพิจารณาระดับปรมัตถ์ เข้าใจยาก ฉันจะยังไม่อธิบายให้เธอฟังในตอนนี้ ให้เธอปฏิบัติได้สูงพอสมควรเสียก่อน แล้วค่อยมาว่ากันใหม่ ตอนนี้พูดไปเธอก็ไม่เข้าใจ

          เอาละ ฉันจะรวบรัดไปถึงวิธีสุดท้ายเลย คือพิจารณาทำทานสังวิภาค

          การทำทานสังวิภาค ก็คือการให้ของ ๆ ตนแก่ศัตรูและรับของ ๆ เขามาเพื่อตน แต่ถ้าของ ๆ เขาไม่บริสุทธิ์ก็พึงให้แต่ของ ๆ ตนฝ่ายเดียว ไม่รับของเขา เมื่อทำอย่างนี้ความอาฆาตในบุคคลนั้นจะระงับไป การให้เป็นวิธีแก้ความโกรธที่ได้ผลชะงัด สามารถระงับเวรที่ผูกกันมายาวนานให้สงบลงได้ เป็นเมตตากรุณาที่แสดงออกในการกระทำ พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงอานุภาพยิ่งใหญ่ของทาน คือการให้นั้นว่า ...การให้เป็นเครื่องฝึกคนที่ยังฝึกไม่ได้ การให้ยังสิ่งประสงค์ทั้งปวงให้สำเร็จได้ ผู้ให้ก็เบิกบานขึ้นมาด้วยการให้ ฝ่ายผู้รับก็น้อมลงมาพบด้วยปิยวาจา...นี่แหละการระงับความโกรธวิธีสุดท้าย เธอเห็นแล้วใช่ไหมว่า เสด็จพ่อของพวกเรา ท่านทรงสอนไว้ละเอียดลออลึกซึ้งยิ่งนัก เธออยากจะฟังเรื่องของพระสาวกรูปหนึ่งที่ไม่เคยผูกโกรธต่อผู้ใดเลย อยากฟังไหมล่ะ ฉันจะได้เล่า” ท่านถามคนฟัง

          “หลวงพ่ออยากเล่าหรือเปล่าล่ะครับ ถ้าอยากเล่าผมก็อยากฟัง” คนฟังมานานเริ่มยั่ว

          “ถ้าฉันไม่อยากเล่าล่ะ เธอจะว่ายังไง” คนเล่ายั่วตอบ

          “ถึงหลวงพ่อไม่อยากเล่า แต่ผมก็อยากฟัง เพราะฉะนั้นหลวงพ่อเล่าเถิดครับ นิมนต์” พูดพร้อมกับประนมมือขึ้น “นิมนต์” คนเล่าจึงเล่าแต่โดยดี

          “เรื่องมีว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ เชตวนาราม พระสาวกชื่อ ปุณณะ ได้เข้าไปเฝ้ากราบทูลขอให้ประทานโอวาท พระศาสดาจึงทรงแสดงธรรมสอนให้ไม่เพลิดเพลินยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เมื่อดับความเพลิดเพลินได้ ทุกข์ก็ดับ

          พระปุณณะกราบทูลว่าท่านจะไปอยู่ชนบทชื่อ สุนาปรันตะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชาวสุนาปรันตะดุร้าย ถ้าเขาด่าว่าเธอจะทำอย่างไร พระปุณณะ กราบทูลว่า ข้าพระองค์คิดว่าด่าก็ยังดีกว่าทำร้ายด้วยมือ ตรัสถามว่าถ้าเขาทำร้ายด้วยมือจะทำอย่างไร กราบทูลว่า  ยังดีกว่าใช้ก้อนดินทำร้าย ตรัสถามว่าถ้าเขาใช้ก้อนดินทำร้ายจะทำอย่างไร กราบทูลว่า ยังดีกว่าใช้ท่อนไม้ทำร้าย ตรัสถามว่าถ้าเขาใช้ท่อนไม้ทำร้ายจะทำอย่างไร กราบทูลว่า ยังดีกว่าทำร้ายด้วยศัสตรา ตรัสถามว่าถ้าเขาทำร้ายด้วยศัสตราจะทำอย่างไร กราบทูลว่า ยังดีกว่าฆ่าด้วยศัสตราที่คม ตรัสถามว่าถ้าเขาฆ่าด้วยศัสตราที่คมจะทำอย่างไร กราบทูลว่าบุคคลบางคนยังต้องหาคนมาฆ่า แต่นี่ดีไม่ต้องหา เขามาฆ่าให้เอง

          พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาและตรัสอนุญาตให้พระปุณณะไปอยู่ชนบทชื่อสุนาปรันตะได้ พระปุณณะไปอยู่ ณ ที่นั้น ได้แสดงธรรมให้พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตะชนบทกลับใจแสดงตนเป็นอุบาสกอุบาสิกาเป็นจำนวนมาก ภายในพรรษานั้นเอง และตัวท่านก็ได้วิชชา ๓ ภายในพรรษานั้นเองเหมือนกัน” ท่านพระครูเล่าจบ คนเป็นศิษย์จึงพูดขึ้นว่า

          “ผมจะจดจำเรื่องราวของพระสาวกรูปนี้ไว้เป็นอุทาหรณ์ จะพยายามทำให้ได้อย่างท่าน” พูดอย่างมุ่งมั่น

          “ดีแล้ว ฉันขออนุโมทนาแล้วก็เชื่อว่าเธอต้องทำได้” เงียบกันไปครูหนึ่ง พระบัวเฮียวจึงถามว่า

          “หลวงพ่อครับ การแผ่เมตตานั้น เราจะแผ่ให้สัตว์ด้วยจะได้ไหมครับ”

          “ทำไมจะไม่ได้เล่า อย่าว่าแต่สัตว์เลย แม้แต่พืชก็แผ่ให้ได้ มีคนเขาทดลองทำมาแล้ว ได้ผลเกินคาดเชียวละ อย่างยายบุญรับนั่น ถ้าแก้เปลี่ยนจากด่ามาเป็นแผ่เมตตา แกก็ไม่ต้องไปทะเลาะกับหมากับแมวอย่างนั้น แกโกรธว่ามันขี้เรี่ยราดสกปรกก็เลยไปด่าไปตีมัน หมาแมวมันก็มีจิตใจ ไปทำอย่างนั้นมันก็โกรธเลยแกล้งขี้เลอะเทอะใหญ่ ขี้ตัวเดียวไม่พอ มันยังเที่ยวไปชวนเพื่อนมันมาขี้ ถ้ายายบุญรับแผ่เมตตาให้มัน มันก็เลิกแล้วก็บอกให้เพื่อนมันเลิกอีกด้วย”

          “มันเลิกขี้มันก็ตายซีครับหลวงพ่อ”

          “ไม่ตายหรอก ฉันหมายถึงว่า มันเลิกขี้เรี่ยราด แต่จะขี้เป็นที่เป็นทางไม่ให้สกปรกเหมือนที่เป็นอยู่น่ะ” ท่านพระครูตอบทั้งที่รู้ว่าพระญวนตั้งใจยวน

          “ถ้าอย่างนั้นหลวงพ่อน่าจะสอนให้แกแผ่เมตตา ผมจะได้ไม่ต้องได้ยินเสียงด่าของแก”

          “ทำไม่จะไม่สอน สอนจนไม่รู้จะสอนยังไงแล้ว แต่แกรับไม่ได้ อุตส่าห์ชื่อบุญรับ แต่ไม่ยักกะรับสิ่งดี ๆ ฉันจัดแกไว้ในพวก “ทวนกระแส” คนบางคนก็สอนยากนะบัวเฮียว คนที่มาวัดนี้ไม่ได้แปลว่าจะสอนง่ายหมดทุกคน”

            “มันเป็นไปตามกรรมที่เขาทำมาน่ะครับ” พระบัวเฮียวว่า

          “ทั้งทำมาทั้งทำไปนั่นแหละ ถึงกรรมที่ทำมาจะไม่ดี แต่กรรมที่จะทำต่อไปก็สามารถแก้ไขให้มันดีได้ แต่เขาก็ไม่ยอมแก้ไข คนประเภทนี้นับวันจะมีมากขึ้น”

          “ต้องปล่อยไปตามเวรตามกรรมของเขาใช่ไหมครับ”

          “ก็คงต้องเป็นอย่างนั้น เอาละถึงเวลาที่เธอจะต้องกลับไปปฏิบัติแล้ว ฉันเองก็จะขึ้นไปเขียนหนังสือเหมือนกัน อย่าลืมแผ่เมตตาให้ยายบุญรับล่ะ” ท่านเตือน

          “ไม่ลืมครับ ฟังหลวงพ่อพูดผมก็หายโกรธแกไปตั้งครึ่งแล้ว ผมรับรองว่าจะต้องกำจัดพยาบาทนิวรณ์ออกไปจากจิตให้ได้ ขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อเป็นอย่างสูงที่ได้ชี้ทางสว่างให้ ผมไปละครับ” พระหนุ่มก้มลงกราบพระอุปัชฌาย์สามครั้งแล้วจึงลุกออกมา..

 

 มีต่อ........๒๒