สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม – ๒๒

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00022

 

๒๒...

            อาคันตุกะคนสุดท้ายลากลับไปเมื่อเวลาบ่ายคล้อย ท่านพระครูกำลังจะขึ้นไปเขียนหนังสือ ก็พอดีนายสมชายนำพระภิกษุรูปหนึ่งเข้ามาในกุฏิ ผู้มาใหม่ทำความเคารพด้วยการกราบสามครั้ง ท่านพระครูรับไหว้แล้วทักขึ้นว่า

                ”ท่านสมภารเองหรอกหรือ ไปยังไงมายังไงกันนี่”

          “ผมว่าจ้างเรือเขามาส่งครับ มีเรื่องร้อนใจจะมาปรึกษาท่านพระครู” คนพูดมีท่าทางอมทุกข์ หน้าตาดูหมองคล้ำไร้สง่าราศี ผิดกับผู้ที่อยู่ในสมณเพศทั่ว ๆ ไป นายสมชายรินน้ำชาใส่ถ้วยมาประเคนแล้วจึงลุกออกไป ท่านสมภารคงไม่อยากให้เขาอยู่รับฟังเรื่องร้อนใจของท่านเป็นแน่

          “มีเรื่องหนักอกหนักใจอะไรหรือ ดูท่าทางท่านไม่มีความสุขเลยนี่”

          “เรื่องคอขาดบาดตายเชียวละครับ” สมภารวัดฝั่งตรงกันข้ามตอบ พลางหยิบธนบัตรสองปึกใหญ่ออกมาจากย่าม วางไว้ตรงหน้าท่านเจ้าของกุฏิ ตั้งใจจะใช้เงินเป็นเครื่องล่อให้ธุระของตนบรรลุจุดมุ่งหมาย ท่านพระครูเห็นไม่ชอบมาพากลจึงกล่าวเตือนว่า “ท่านสมภารอย่าเอาเงินออกมาวางทำไมตั้งมากมายถึงปานนั้น ผมว่าเก็บใส่ย่ามไว้ก่อนดีกว่า ใครมาเห็นเข้ามันจะไม่ดี”

          “ผมจะถวายท่านพระครู เงินสองหมื่นนี่ผมเก็บมาทั้งชีวิตเลย แต่ก็จะตัดใจถวายถ้าท่านช่วยผมได้สำเร็จ บอกตามตรงว่าเสียดายใจแทบขาด” คนพูดมีเจตนาจะให้ค่าของเงินสองหมื่นนั้นดูมากมายมหาศาล หากคนฟังกลับกล่าวเสียงเรียบว่า “เสียดายก็เก็บไว้เสียเถอะ รับรองว่าถ้าช่วยได้ผมก็จะช่วยจนสุดความสามารถ โดยไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น ถึงผมจะไม่เคยมีเงินมากมายเท่านี้ แต่ผมก็ไม่คิดอยากได้ พูดไปท่านคงไม่เชื่อแต่มันก็เป็นความจริง

          โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่สะสมเงินทอง ใครมาถวายผมก็ปัดเข้าเป็นเงินวัด เพราะต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟและค่าอาหารเลี้ยงผู้คนที่มาปฏิบัติธรรม”

          “ผมว่าท่านคิดผิดแล้ว เพราะสมัยนี้ใคร ๆ เขาก็สะสมเงินทองกันทั้งนั้น สำหรับผม เงินสำคัญมาก เวลามีเรื่องเดือดร้อนมันสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ท่านพระครูเชื่อผมเถอะ ลองไม่มีเงินเสียอย่างเดียว เรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องง่ายก็กลายเป็นเรื่องยาก”

          “แต่ผมกลับคิดตรงกันข้าม ผมถือคติว่านักบวชต้องดำเนินชีวิตอย่างสันโดษ การสะสมเงินทองเป็นเรื่องของฆราวาสเขา”

          “ถ้าเช่นนั้นก็นิมนต์ท่านสันโดษต่อไปแล้วกัน ส่วนผมทำอย่างท่านไม่ได้ เพราะผมไม่ชอบตั้งอยู่ในความประมาท” ท่านพระครูอยากจะย้อนว่า การกระทำของท่านสมภารนั่นแปละที่เรียกว่าตั้งอยู่ในความประมาท คือประมาทมัวเมาในลาภสักการะ แต่ท่านก็ไม่พูดเพราะรู้ว่าพูดกับคนมิจฉาทิฐินั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร ยิ่งคน ๆ นั้นเป็นพระด้วยแล้วก็พึงนึกถึงคำพังเพยที่ว่า “ทิฐิพระ มานะครู” ให้มาก ๆ

          “ท่านว่ามีเรื่องจะปรึกษาไม่ใช่หรือ” ท่านพระครูเปลี่ยนเรื่องคุย

          “ครับ ผมขอความกรุณาท่านโปรดช่วยผมด้วย ผมก็เห็นว่ามีท่านคนเดียวนี่แหละที่จะช่วยได้ นึกว่าเอาบุญเถอะ”

          “ก็ผมยังไม่รู้เรื่องราว แล้วจะไปช่วยท่านได้ยังไง เล่าให้ผมฟังก่อนสิ” สมภารวัยเดียวกับท่านพระครูจึงเล่าว่า

          “พวกชาวบ้านเขาจะจับผมสึก เขาหาว่าผมต้องอาบัติปาราชิก”

          “แล้วท่านเป็นอย่างที่เขากล่าวหาหรือเปล่าเล่า”

          “ปละ...เปล่าครับ” ตอบไม่เต็มเสียงนัก

          “อ้าว ก็ในเมื่อท่านไม่เป็นแล้ว จะต้องไปเดือดร้อนทำไมกัน ไหนเรื่องราวมันไปยังไงมายังไง ทำไมเขาถึงมากล่าวหากันง่าย ๆ อย่างนี้” ท่านสมภารรีบคล้อยตามว่า

          “นั่นซีครับ อยู่ดี ๆ เขาก็มากล่าวหาผม เรื่องไม่มีมูลความจริงก็มากล่าวหากันได้” ประโยคหลังบ่นเสียงอ่อย ๆ

          “เอ แต่โบราณเขาว่า ไม่มีมูลฝอยหมามันไม่ขี้ ท่านอย่าปดผมดีกว่า เล่าไปตามตรงว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าช่วยได้ผมก็จะช่วย ขอให้พูดความจริงก็แล้วกัน” เมื่อท่านพระครูพูดอย่างนี้ คนฟังก็เลยต้องเล่าไปตามความจริงแต่ไม่ทั้งหมดว่า

          “เขาหาว่าผมเสพเมถุน คือว่า ผู้หญิงเขามาปรึกษาปัญหาส่วนตัวกับผม เขาก็มากับแม่ทุกครั้ง แต่วันนั้นแม่เขาป่วยมาไม่ได้ เขาเลยต้องมาคนเดียว”

          “แล้วยังไง” ท่านพระครูซักเพราะเห็นเรื่องกำลังจะเข้าเค้า ท่าทางคนเล่าก็มีพิรุธชวนให้สงสัยนัก

          “เขาก็มาปรึกษาผมโดยไม่มีแม่มาเป็นเพื่อน”

          “แล้วปรึกษากันที่ไหน” ท่านพระครูสวมบทอัยการ

          “ก็ปรึกษากันที่กุฏิผม”

          “มีบุคคลที่สามอยู่ด้วยหรือเปล่า”

          “ไม่มี”

          “เขามาเวลาเท่าไหร่”

          “ประมาณสองทุ่ม”

          “แล้วปรึกษากันถึงกี่ทุ่ม”

          “ประมาณสี่ทุ่ม ก็ยังไม่ดึกเท่าไหร่” พูดแบบเข้าข้างตัวเอง

          “แล้วตอนปรึกษานั้น ปิดไฟหรือเปิดไฟปรึกษากัน”

          “เปิดครับ แต่ไฟมันหรี่ไปหน่อย เลยออกจะมืด ๆ”

          “แล้วยังไงต่อไปอีก”

          “ผมก็ไม่รู้ว่าชาวบ้านเขามาแอบดูอยู่ แล้วก็มีคนไปบอกผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านก็สั่งคนให้มาล้อมกุฏิไว้”

          “แล้วท่านรู้ตัวตอนไหน”

          “ตอนที่เขาตะโกนเข้ามาบอกแล้ว...ผู้หญิงเขาตกใจเลยกระโดดขึ้นมานั่งบนตักผม”

          “ก็ตอนที่เขาตะโกนเข้ามา ทำไมท่านถึงไม่กระโดดหน้าต่างหนีไปก่อนล่ะ อยู่ให้เขาจับได้คาหนังคาเขา แล้วใครเขาจะเชื่อ”

          “ผมก็คิดจะหนี แต่ผู้หญิงเขาจับไว้แน่นเลย” ท่านเลี่ยงมาใช้คำว่า “จับไว้แน่น” แต่ความจริงคือ “กอดไว้แน่น” เพราะกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม

          “แล้วยังไงต่อไป” ท่านพระครูซัก

          “พวกเขาก็พากันบุกขึ้นมาบนกุฏิแล้วก็เห็นเข้า”

          “เห็นอะไร”

          “เห็นผู้หญิงนั่งอยู่บนตักผม แล้วก็จับผมไว้แน่น เขาก็ตั้งข้อหาว่าผมเสพเมถุน จะจับผมสึก”

          “ท่านพระครูไม่แน่ใจ ว่าเรื่องที่สมภารเล่ามาจะเป็นความจริงทั้งหมดจึงใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบเล้วก็ให้รู้สึกเศร้าสลดใจที่เห็นผู้อยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ประพฤตินอกรีตนอกรอยเช่นนี้

          “แล้วท่านจะให้ผมช่วยอะไร” ถามเพราะมองไม่เห็นทางเลยว่าจะช่วยได้อย่างไร คนถูกถามมีสีหน้าดีขึ้นพูดตอบว่า

          “ผมขอความกรุณา ท่านช่วยพูดกับเขาด้วย อย่าให้เขาจับผมสึก แล้วก็อย่าให้เขาถอดผมออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส” ท่านพระครูทนฟังไม่ได้ จึงพูดขัดขึ้นว่า

          “อย่าพูดเอาแต่ได้อย่างนั้นสิท่านสมภาร ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราดูบ้างเป็นไร ถ้าท่านเป็นชาวบ้านเห็นพระทำอย่างนี้ ท่านจะคิดยังไง ท่านจะยังศรัทธา ยังเคารพพระรูปนั้นอยู่หรือ ผมขอตำหนิท่านตรง ๆ ว่า ท่านทำร้ายจิตใจชาวบ้านมากเกินไป แล้วยังทำลายความเคารพนับถือที่พวกเขามีต่อท่าน รู้ตัวหรือเปล่าว่าท่านทำให้พระศาสนาต้องมัวหมอง ผมรู้สึกเสียใจมาก เสียใจจริง ๆ” คนฟังก้มหน้างุด อยากจะยอมรับผิด หากเจ้าทิฐิมานะก็ยุยงว่า “อย่ายอมแพ้ อย่ายอม ท่านเป็นสมภาร จะยอมแพ้ไม่ได้” ได้กำลังใจจากทิฐิมานะเช่นนี้ ท่านสมภารจึงเถียงไปข้าง ๆ คู ๆ ว่า “ท่านพระครูพูดยังกับว่าผมเป็นคนผิด”

          “ใครผิดใครถูกท่านก็รู้อยู่แก่ใจดีแล้ว ผมขอถามหน่อยเถอะ ศีล ๒๒๗ ข้อน่ะ ท่านเหลืออยู่กี่ข้อ เอาละ ไหน ๆ ก็ตั้งใจมาขอคำปรึกษา ผมก็ขอถือโอกาสแนะนำว่า ท่านสึกเสียเถอะ สึกออกไปเป็นผู้ครองเรือนเสียให้สิ้นเรื่องสิ้นราว ขืนอยู่ต่อไปก็รังแต่จะให้พระศาสนาต้องมัวหมองหนักขึ้น ท่านจะมาติดอยู่กับตำแหน่งสมภารได้ยังไง ในเมื่อชาวบ้านเขาไม่ต้องการท่านแล้ว อย่าเหยียบเรือสองแคมเลยนะ”

          “ท่านไม่ช่วยผมจริงหรือ ผมรู้ว่าท่านช่วยได้ เสียแรงที่เรารู้จักกันมานาน” อีกฝ่ายตัดพ้อ

          “ก็ในเมื่อรู้จักกันมานาน ท่านก็น่าจะรู้นิสัยผมดี อย่าให้ผมต้องทำผิดไปอีกคนหนึ่งเลย รู้ตัวหรือเปล่า ผมผิดหวังที่ท่านเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นความชั่วเป็นความดี ไม่น่าเลย”

          “ท่านจะติว่ายังไง ผมยอมทั้งนั้น ขออย่างเดียวให้ช่วยผมด้วย ที่ผมบากหน้ามาพึ่งก็เพราะเห็นว่าท่านเป็นคนมีเมตตา แล้วท่านจะไม่เมตตาผมเลยเชียวหรือ” สมภารวัดฝั่งตรงข้ามยังคงรบเร้า

          “เมตตามันก็มีขอบเขตของมันนะท่าน ถ้าเราเมตตาคนในทางที่ผิด ก็เท่ากับช่วยฉุดให้เขาลงนรกเร็วขึ้น ท่านเชื่อผมสักครั้ง สึกเสียดีกว่าจะมาคาราคาซังอยู่อย่างนี้”

          “ผมจะสึกได้ยังไง ท่านคิดดูก็แล้วกัน อายุผมปาเข้าไปตั้งห้าสิบแล้ว จะไปทำมาหากินอะไรได้ เคยชินแต่กับการเป็นผู้รับ สึกออกไปแล้วใครเขาจะเอาเงินเอาทองมาถวาย ข้างผู้หญิงเขาก็อายุเพิ่งจะสิบเจ็ด งานการก็ยังไม่ได้ทำเพรายังเรียนไม่จบ ที่สำคัญกว่านั้นคือการเป็นเจ้าอาวาส ใช่จะเป็นกันได้ง่าย ๆ เมื่อไหร่กัน”

          “ก็ในเมื่อท่านยังหวงยังห่วงตำแหน่ง แล้วทำไม่ถึงไม่รักษาไว้ให้ดีล่ะ มีประโยชน์อะไรที่จะมานึกเสียดายเอาตอนนี้ มันแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ท่านยิ่งพูดผมก็ยิ่งเศร้าใจหนักขึ้นเพราะมันแสดงให้เห็นชัดแจ้ง ว่าท่านมาบวชนี่ก็เพื่อหาเลี้ยงชีวิตเท่านั้น ผมคิดว่าท่านมาบวชเพื่อสละกิเลสเสียอีก ที่แท้ท่านก็เป็น อุปชีวิกา บวชเพื่อเลี้ยงชีพ”

            “จะอะไรก็แล้วแต่ มันเรื่องของผม ว่าแต่ว่าท่านจะไม่ช่วยผมจริง ๆ หรือ นี่เงินตั้งสองหมื่นเชียวนะ” พูดพลางชี้ธนบัตรสองปึกตรงหน้า คิดว่าท่านพระครูจะต้องใจอ่อนเพราะเงินทำให้คนใจอ่อนมานักต่อนักแล้ว ทว่าท่านเจ้าของกุฏิกลับพูดเสียงหนักแน่นว่า

          “ท่านสมภารคงจะเคยดูถูกตัวเองมาจนชิน ก็เลยพลอยดูถูกผมไปด้วย คนอย่างผมเงินซื้อไม่ได้แน่ ผมจะไม่ยอมจำนนต่อเงิน แต่จะยอมจำนนต่อความถูกต้อง เก็บเงินของท่านไปเสียเถิด ผมไม่อยากได้มันหรอก” สมภารวัดป่ามะม่วงรู้สึกไม่พอใจในการกระทำของอีกฝ่าย ต่อเมื่อระลึกรู้ว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ความไม่พอใจนั้นก็เปลี่ยนเป็นเมตตาสงสาร จึงพูดปลอบใจผู้เป็นอาคันตุกะว่า

          “ท่านสมภาร เคยอ่านพบพุทธวจนะที่เกี่ยวกับเรื่องกรรมไหม พุทธวจนะที่ว่า หญิง ชาย คฤหัสถ์ บรรพชิต ควรพิจารณาเนือง ๆ ว่าเรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย เราทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะได้รับผลของกรรมนั้น เคยอ่านไหม ถ้าผมจำไม่ผิด รู้สึกจะอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔”

          “เคยครับ ผมจำได้ด้วย”

          “งั้นก็ดีแล้ว ท่านลองพิจารณาไปตามพุทธวจนะที่ว่ามานี้ บางทีท่านอาจจะสบายใจขึ้น คิดเสียว่ามันเป็นกรรมของท่าน ท่านเป็นผู้กระทำก็ต้องรับผลด้วยตัวท่านเอง ไม่มีใครหนีกรรมไปได้ ดูอย่างพระโมคคัลลานะซึ่งเป็นถึงพระอรหันต์ ทั้งยังมีอิทธิฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศได้ แต่ก็ต้องมาถูกโจรฆ่าตาย เพราะกรรมที่ทำไว้กับมารดาในอดีตชาติ ถ้าท่านสมภารเชื่อผมก็ขอให้ทำตามที่ผมแนะนำ”

          “ผมจะเชื่อท่านได้ยังไง ถ้าผมเชื่อท่านก็แปลว่าผมเป็นผู้แพ้ แล้วผมเป็นใคร ผมน่ะเป็นถึงสมภาร เรื่องอะไรจะไปยอมแพ้พวกชาวบ้าน” คนพูดพูดด้วยทิฐิ ท่านพระครูรู้สึกระอา หากก็ใจเย็นพอที่จะพูดต่อไปว่า

          “ท่านลืมแล้วหรือ คนที่เป็นพระนั้นจะต้องรู้จักแพ้ พระต้องเป็นผู้แพ้อยู่วันยังค่ำ ไม่งั้นโบราณคงไม่สอนไว้ว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร ท่านอยากเป็นพระหรือเป็นมารล่ะ

          “แต่ผมไม่เชื่อโบราณ ผมถือคติว่า เชื่อโบราณบานบุรี ฉะนั้นผมไม่เชื่อเด็ดขาด แล้วผมก็จะไม่ยอมแพ้ด้วย”

          เมื่อเห็นว่าท่านพระครูไม่ช่วยแน่แล้ว สมภารวัดฝั่งตรงข้ามก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะมาอดกลั้นความโกรธเอาไว้ ท่านจึงพูดด้วยความโกรธแค้นว่า “ดีแล้ว ท่านจำไว้นะว่าวันพระไม่ได้มีหนเดียว แล้วผมจะคอยดูว่าคนอย่างท่านจะไม่ตกที่นั่งลำบากอย่างผมบ้าง”

          “รับรองได้ คนอย่างผมมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นแน่ ผมสำรวมระวังในเรื่องนี้ที่สุด แล้วก็อบรมพระลูกวัดด้วย ท่านอย่าได้ห่วงไปเลย”

            “เถอะ ถึงยังไงมันก็อาจจะพลาดพลั้งเข้าสักวัน ผมเห็นมานักต่อนักแล้ว วัดที่มีชีอยู่ วันดีคืนดีแม่ชีก็ตั้งท้อง”

          “แต่ต้องไม่ใช่ชีวัดป่ามะม่วง จริงอยู่ถึงวัดผมจะมีชี แต่ผมก็สร้างสำนักชีให้อยู่เป็นสัดเป็นส่วน ไม่ให้มาจุ้นจ้านวุ่นวายกับพระ แล้วก็ห้ามพระเณรเข้าไปในเขตสำนักชี ใครไม่เชื่อฟังผมก็ให้ไปอยู่วัดอื่น แล้วตัวผมก็ทำตามกฎเช่นกับคนอื่น ๆ ไม่เคยถืออภิสิทธิ์ใด ๆ ไม่ได้ทำเลอะเลือนล่ามป้ามเหมือนท่านหรอก” เมื่อฝ่ายนั้นว่ามา ท่านก็เลยว่าตอบเอาบ้าง อยากจะสอนอาคันตุกะทางอ้อมด้วย

          ถ้อยคำของสมภารวัดป่ามะม่วงทำให้สมภารวัดฝั่งตรงข้ามร้อนรุ่มคลุ้มคลั่งราวกับนั่งอยู่บนกองเพลิง ถึงจะรู้อยู่เต็มอก ว่าตนเป็นฝ่ายผิด แต่ก็ไม่ต้องการให้ใครมาว่า

          กำลังนึกหาถ้อยคำเผ็ดร้อนมาโต้ตอบก็ให้รู้สึกเย็นวูบวาบชุ่มฉ่ำขึ้นในหัวใจ ไฟโทสะดับลงด้วยอำนาจเมตตาที่ท่านพระครูแผ่มาให้ สำนึกผิดชอบชั่วดีกลับมาอีกครั้ง สมภารวัยห้าสิบจึงพูดเสียงอ่อย ๆ ว่า

          “ผมเสียใจ นี่ถ้าผมไม่ประมาทก็คงจะไม่พลาดพลั้งถึงปานนี้ ผมขอสารภาพว่าผมต้องอาบัติปาราชิก ไม่รู้ผีป่าซาตานที่ไหนมาดลใจให้ผมเห็นกงจักรเป็นดอกบัว” อดโยนความผิดให้พ้นตัวไม่ได้

          “อย่าไปโทษผีที่ไหนเลยท่าน โทษตัวของเรานั่นแหละ เพราะเราขาดสติถึงได้เป็นเช่นนี้”

          “อาจจะจริงอย่างที่ท่านว่า ตกลงผมจะยอมสึก เงินจำนวนนี้คงจะเป็นประโยชน์สำหรับผมในการก่อร่างสร้างตัว” พูดพลางเก็บเงินเข้าในย่ามดังเดิม รู้สึกอัดอั้นตันใจจนพูดไม่ออก ได้แต่นั่งคอตกนิ่งอยู่

          “ท่านเลิกคิดเรื่องนี้ได้แล้ว เอาสมองไว้คิดเรื่องการทำมาหากินดีกว่า ท่านสร้างบุญบารมีมาเพียงแค่นี้ ถึงคราวจะต้องจุติก็ต้องจุติ” ท่านหมายถึงการเคลื่อนจากเพศพรหมจรรย์

          “แต่ผมเสียใจ เสียใจและเสียดายที่ไม่สามารถรักษาเพศพรหมจรรย์ไว้ได้ ถึงอย่างไรผมก็ยังอยากเป็นพระมากกว่าเป็นฆราวาส นี่ถ้าสึกออกไปก็ต้องไปอยู่ที่อื่น คงทนไม่ได้ที่จะต้องถูกเยาะเย้ยถากถางจากคนที่เคยกราบเคยไหว้ผม มันเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต” พูดเสียงเครือและท่านพระครูก็ได้เห็นน้ำตาของลูกผู้ชายวัยเดียวกับท่าน รู้สึกสงสารเห็นใจ หากก็ช่วยอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้เพราะมันเป็นเรื่องของ “กรรมใดใครก่อ” เมื่อเขาก่อกรรม สร้างกรรม เขาก็ต้องรับผลของมัน ไม่ว่าผลนั้นจะดีหรือร้าย หวานหรือขมก็ต้องอมต้องกลืนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          “แล้วท่านคิดจะไปอยู่ที่ไหน ท่านมีญาติพี่น้อยที่ไหนบ้าง”

          “ไม่มีเลย พ่อแม่ญาติพี่น้องผมตายหมด เหลือก็แต่หลาน ๆ ซึ่งไม่ได้ไปมาหาสู่กันนาน คงจำกันไม่ได้แล้ว แต่ถึงจำได้เขาก็คงไม่อยากคบหาสมาคมกับคนต้องอาบัติปาราชิกอย่างผม” คราวนี้ท่านถึงกับสะอึกสะอื้นออกมา รู้สึกอัปยศอดสูเป็นที่สุด ท่านพระครูเองก็รู้สึกรันทดใจจนมิรู้ที่จะกล่าวปลอบว่าอย่างไร ต่างนั่งนิ่งกันไปพักหนึ่ง แล้วอาคันตุกะ จึงพูดขึ้นว่า

          “ผมเห็นจะต้องขอตัวกลับก่อน ขอบคุณที่ท่านพระครูให้สติ ผมเพิ่งประจักษ์เดี๋ยวนี้เองว่าท่านมีเมตตาอย่างแท้จริง เพราะถ้าท่านช่วยผมในทางที่ผิดก็เท่ากับฉุดให้ผมดิ่งลงนรกเร็วขึ้น ต้องขอโทษที่รู้สึกโกรธท่านในตอนแรก ผมลาละครับ” พูดจบจึงก้มลงกราบเจ้าของกุฏิสามครั้ง ท่านพระครูรับไหว้แล้วพูดด้วยความเห็นอกเห็นใจว่า

          “ขอให้ท่านโชคดี มีอะไรที่ผมพอจะช่วยได้ก็บอกมา ไม่ต้องเกรงใจ ผมยินดีจะช่วยทุกเรื่องที่ไม่ผิดทำนองคลองธรรม ขอให้นึกถึงผมบ้าง”

          “ครับ ผมจะนึกถึงท่านพระครูเป็นคนแรก ผมไปละครับ”

          “แล้วกลับยังไงล่ะ” ถามอย่างเป็นห่วง

          “เรือเขารออยู่ครับ ผมเหมาเรือมา”

          “งั้นผมจะเดินไปส่งที่ท่าน้ำ”

          “อย่าเลยครับ เห็นว่างานท่านยุ่งมากไม่ใช่หรือ” อาคันตุกะพูดอย่างเกรงใจ

          “ไม่เป็นไรหรอก ไหน ๆ ก็ตังใจจะไปส่งแล้ว เสียเวลาแค่ห้านาทีสิบนาทีจะเป็นไรไป” แล้วจึงเดินไปส่งอาคันตุกะถึงท่าน้ำหลังวัด ก่อนลงเรือท่านสมภารหันมาขอบคุณและกล่าวว่า

          “ขอบคุณท่านพระครูเหลือเกิน ผมสบายใจแล้ว จริงอย่างท่านพระครูว่า...เราทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่ว เราต้องรับผลของกรรมนั้น..”

          “ผมไม่ได้ว่า ท่านอย่าเข้าใจผิด ผมเพียงแต่ยกพุทธพจน์มาอ้างเท่านั้น” ท่านพระครูรีบออกตัว

          “นั่นแหละ ถ้าท่านไม่พูดอย่างนี้ ผมก็ยังคงมืดบอดอยู่ เดี๋ยวนี้ผมตาสว่างแล้ว ตาสว่างใจสว่าง ผมขอชดใช้กรรมจนกว่าจะหมด ท่านพระครูเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ขอให้ท่านเจริญในธรรมมากขึ้น และขอให้ท่านบรรลุธรรมสูงสุดภายในชาตินี้ ผมขออนุโมทนา”

          พูดพร้อมกับยกมือประนมไหว้อย่างนอบน้อม ท่านพระครูยกมือขึ้นรับไหว้แล้วยืนรอกระทั่งเรือลำน้อยเคลื่อนออกจากฝั่ง

          ตะวันรอนอ่อนแสงลงมากแล้ว เงาของพระกับคนแจวเรือที่ทอดลงบนพื้นน้ำนั้นเห็นได้ชัดเจน ท่านพระครูรู้สึกตกใจ ที่เงาของท่านสมภารไม่มีศีรษะ! รู้ได้ในทันทีว่าภิกษุรูปนั้นชะตาขาด ท่านจึงหาทางช่วยเหลือด้วยการรีบกลับมาแผ่เมตตาให้ อย่างน้อยก็ช่วยให้วิญญาณดวงนั้นไปสู่ทุคติในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่ต้องตกไปอยู่ที่นั่นชั่วกัปป์ชั่วกัลป์ ท่านช่วยได้มากที่สุดเพียงเท่านี้

          ขึ้นจากเรือแล้ว ท่านสมภารต้องเดินต่อไปอีกประมาณสองกิโลเมตรจึงจะถึงวัด ดวงตะวันเคลื่อนตัวต่ำลงเข้าไปทุกขณะ หนทางแคบ ๆ ที่สองฟากข้างเป็นป่ารกเรื้อจึงดูมืดครึ้มกว่าปกติ ท่านเร่งฝีเท้าเร็วขึ้นเพราะอยากถึงวัดก่อนเวลาที่งูเงี้ยวมันออกหากิน เหลืออีกไปกี่สิบก้าวจะพ้นแนวป่า แล้วท่านก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นใกล้ตัวหลายนัด รู้สึกเจ็บแปลบที่ขั้วหัวใจ แล้วความรู้สึกทั้งมวลก็ดับวูบลง ขณะที่นึกถึงท่านเจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงเป็นสำนึกสุดท้าย

          ข่าวการมรณภาพของท่านสมภารเพราะถูกลอบยิง เป็นที่โจษจันกันไปทั่วทั้งหมู่บ้าน แล้วก็เลยเป็นที่รู้กันทั้งตำบลและอำเภอ

          นอกจากท่านพระครูแล้ว ไม่มีผู้ใดรู้ว่ามือปืนเป็นใคร เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงเท่านั้นที่รู้ว่า คนยิงคือคู่รักของผู้หญิงที่ท่านสมภารไปพัวพันด้วยความหึงหวงกลายเป็นเคียดแค้นชิงชัง จึงมาดักยิงเสียให้สมแค้น

          แต่สาเหตุที่ลึกลงไปกว่านั้นก็คือ มันเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ชาติก่อนท่านสมภารไปฆ่าเขาไว้ มาชาตินี้เขาจึงตามมาฆ่า แม้ท่านจะอยู่ในเพศบรรพชิต แต่เมื่อกระทำกรรมชั่ว กรรมดีที่สั่งสมไว้จึงหมดลง เปิดโอกาสให้กรรมชั่วมาให้ผล ท่านสมภารได้ชดใช้เวรกรรมที่ท่านก่อแล้ว...

 

 มีต่อ........๒๓