สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๒๓

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00023

 

๒๓...

            เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงกำลังฉันภัตตาหารเช้าอยู่ที่ชั้นล่างของกุฏิ ตั้งใจว่าฉันเสร็จจะขึ้นไปเขียนหนังสือยังชั้นบน แต่แล้วก็มีอันต้องเสียความตั้งใจ เมื่อชายหญิงคู่หนึ่งช่วยกันประคองถาดทองเหลืองเดินเข่าเข้ามาหา ในถาดมีก้อนหินสีนวลวางอยู่ เป็นหินรูปทรงไข่ไก่ แต่มีขนาดใหญ่กว่าสักประมาณห้าสิบเท่าตัว

         เมื่อเข้ามาในระยะหัตถบาส คนทั้งสองวางถาดลงแล้วกราบท่านพระครูสามครั้ง ฝ่ายชายถามขึ้นว่า

         “หลวงพ่อ คือ พระครูเจริญใช่ไหมครับ” แทนคำตอบ เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงกลับถามว่า

         “โยมมีธุระอะไรกับอาตมาหรือ”

         “ครับ ผมชื่อมนตรี ภรรยาชื่อสุมาลี บ้านอยู่ช่องแคแต่ไปสอนหนังสืออยู่ตาคลีครับ”

         “อ้อ เป็นครู แล้วไปไหนกันมา ทานข้าวแล้วหรือยัง”

         “ยังไม่หิวค่ะ” ครูสุมาลีตอบ

         “ไม่หิวไม่ได้ซี ถึงเวลากินก็ต้องกิน สมชายพาแขกไปทานอาหารหน่อย ท่านหันไปสั่งลูกศิษย์วัด ครูสองคนจึงต้องลุกขึ้นเดินตามนายสมชายไปยังโรงครัว ครู่ใหญ่ ๆ จึงกลับมาที่กุฏิอีกครั้ง ท่านพระครูแปรงฟันบ้วนปากเสร็จแล้วและกำลังรออยู่

         “จะเอาหินมาถวายอาตมาหรือ จะเอามาให้ปลุกเสก” ท่านถามยิ้ม ๆ คนเดี๋ยวนี้เชื่อถืออะไรต่อมิอะไรกันเปรอะไปหมด พระบางรูปถึงกับยึดอาชีพ “ทำปลัดขิก” จะหน่ายจ่ายแจกประชาชน โดยอ้างว่าเป็นเครื่องรางของขลัง ผัวเมียคู่นี้อาจจะมาทำนองเดียวกัน ท่านคาดการณ์ล่วงหน้า

         “จะเอามาถวายครับ หลวงพ่อกรุณารับไว้ด้วย หินก้อนนี้มีที่มาแปลก ถ้าผมเล่าให้หลวงพ่ออาจจะไม่เชื่อ” ครูมนตรีพูดออกตัวไว้ก่อน

         “ลองเล่าไปสิ แล้วเชื่อหรือไม่เชื่ออาตมาจะบอกทีหลัง” ครูมนตรีจึงเล่าให้ท่านสมภารวัดป่ามะม่วงฟังว่า

         “ผู้ปกครองนักเรียนเขาเอามาให้เพื่อนผม ซึ่งเป็นครูอยู่ที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เรื่องมีอยู่ว่า สองผัวเมียได้ไปทำไร่ที่ตำบลหนึ่งของอำเภอนั้น ไปปลูกกระท่อมอยู่ในป่า เมียเขาก็ไปเก็บหินมาสามก้อน จะเอามาทำเป็นเส้าก่อไฟหุงข้าว พอทำเสร็จก็ก่อไป ปรากฏว่าหินก้อนนี้มันร้อง ร้องว่า “กูร้อน กูร้อน เอากูมาเผาทำไม เดี๋ยวกูจะหักคอมึง” สองผัวเมียจึงเอาก้อนนี้ออก ไปหาก้อนอื่นมาแทน

         รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ก็ลองเอาก้อนนี้มาทำเส้าอีก มันก็ร้องแบบเดียวกับวันวาน เขาจึงเอาไปตั้งไว้หน้าหิ้งพระ ตกกลางคืนก็มาเข้าฝัน ว่าอยากไปปฏิบัติกรรมฐานที่วัดป่ามะม่วง ขอให้พาไปด้วย สองผัวเมียก็ไม่รู้ว่าวัดป่ามะม่วงอยู่ที่ไหน จึงไม่ได้พาไป คืนที่สองก็มาเข้าฝันอีกว่า ช่วยพาไปวัดป่ามะม่วงด้วย จะไปเรียนกรรมฐานกับท่านพระครูเจริญ คืนที่สามก็มาบอกอีก คราวนี้บอกที่ตั้งของวัดด้วย สองผัวเมียจึงมาเล่าให้เพื่อนผมฟัง และขอร้องให้เพื่อนผมช่วยจัดการให้ เพราะเขาไม่มีเงินค่าเดินทาง เพื่อนผมเขาไม่เชื่อเรื่องอย่างนี้ แต่ก็รับไว้เพราะสงสารสองผัวเมีย ซึ่งมีท่าทางทุกข์ร้อนและวิตกกังวลมาก

         คืนแรกที่อยู่บ้านเพื่อนผม ก็เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน เพื่อผมก็ยังไม่เชื่อ คิดว่าฟังสองผัวเมียเล่าแล้วตัวเองเก็บไปฝัน พอคืนที่สองก็มาเข้าฝันอีก เขาก็ชักเอะใจแต่ก็ยังไม่เชื่อ คืนที่สามก็บอกว่า พรุ่งนี้จะมีเพื่อนมาจากตาคลีให้ฝากกับเพื่อน ถ้าไม่ฝากจะหักคอให้ตายหมดบ้าน คราวนี้เพื่อนผมชักจะกลัว ๆ แต่ก็ยังไม่เชื่อและนึกไม่ออกว่าเพื่อนคนไหนจะมาหา เขาไม่เคยมีเพื่อนอยู่ตาคลี คือเขารู้แต่ว่าผมอยู่ช่องแค ทีนี้ช่วงนั้นผมไปเยี่ยมญาติซึ่งเป็นนายอำเภอลำปลายมาศ ผมจึงแวะเยี่ยมเพื่อนด้วย พอเขาเห็นผม เขามีท่าทางประหลาดใจมาก ถามว่าผมมาจากไหน พอผมบอกว่ามาจากตาคลี เขาถึงกับหน้าซีด ก็เลยเล่าเรื่องทั้งหมดให้ผมฟัง และขอร้องให้ผมเอาหินก้อนนี้มาด้วย เรื่องก็มีเท่านี้แหละครับ” ระหว่างที่ครูมนตรีเล่า ท่านพระครูนิ่งฟังโดยไม่ซักถาม ต่อผู้เล่าเล่าจบจึงถามขึ้นว่า

         “หินก้อนนี้มาอยู่บ้านครูได้กี่คืน”

         “คืนเดียวครับ ผมมาถึงเมื่อวานตอนค่ำ รุ่งเช้าก็นำมาที่นี่เลย”

         “แล้วเมื่อคืนมีใครมาเข้าฝันหรือเปล่า”

         “ไม่มีครับ ไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น”

         “แล้วครูเชื่อหรือเปล่า”

         “ผมยังไม่เชื่อครับ แต่ถ้ามีคนมาเข้าฝันเหมือนอย่างที่เพื่อนผมเล่าก็อาจจะเชื่อ แล้วหลวงพ่อเล่าครับ หลวงพ่อเชื่อหรือเปล่า” ก่อนตอบคำถาม ท่านพระครูใช้ “เห็นหนอ” ตรวจสอบเสียก่อนแล้วจึงพูดว่า

         “อาตมาเชื่อ เท่าที่ฟังมาก็พอจะสรุปได้ว่าเป็นเรื่องจริง เพราะอาตมาเชื่อเรื่องจิตวิญญาณอยู่แล้ว” ท่านอธิบายโดยพยายามไม่ให้เป็นการ “อวดอุตริมนุสสธรรม”

         “อาตมาคิดว่าหินก้อนนี้คงจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับที่เขานำมาสร้างปราสาทหินพนมรุ้ง และคงจะมีวิญญาณสิงอยู่”

         “วิญญาณของผู้หญิงหรือผู้ชายคะหลวงพ่อ” ครูสุมาลีถาม พลางมองไปที่ก้อนหินอย่างหวาด ๆ

         “เข้าใจว่าเป็นผู้ชาย เป็นคนหนึ่งที่ช่วยสร้างปราสาทหินพนมรุ้งแล้วก็ถูกหินตกลงมาทับตาย วิญญาณก็เลยสิงอยู่ในก้อนหิน ไม่ยอมไปไหน”

         “แต่เพื่อนผมเขาบอกว่าสองผัวเมียไปพบในป่านะครับ” ครูมนตรีติง

         “ถูกแล้ว มีคนมาขโมยไปจากปราสาทหิน คงเป็นนักท่องเที่ยวเห็นรูปร่างแปลก ๆ เลยขโมยไป แล้วก็คงจะถูกวิญญาณอาละวาด เลยเอามาทิ้งในป่า กระทั่งสองผัวเมียไปพบเข้า”

         “แล้วทำไมเขาถึงอยากมาอยู่วัดนี้ล่ะครับ”

         “เอ อันนี้อาตมาก็ไม่ทราบเหมือนกัน ถ้าครูอยากทราบ อาตมาจะถามเขาให้เอาไหม” ท่านถามทีเล่นทีจริง “บุรุษผู้มากับก้อนหิน” นั่งหมอบอยู่หน้าท่าน ทว่าครูสองคนไม่เห็น แต่ถึงจะเห็นก็เชื่อและกลัว จึงกล่าวปฏิเสธพร้อมกันว่า

         “ไม่ต้องหรอกครับ”

         “ไม่ต้องหรอกค่ะ”

         “อ้าว อาตมาพูดกับเขาได้นะจะบอกให้” ท่านเจ้าของกุฏิพูดยิ้ม ๆ แล้วพูดกับชายที่หมอบอยู่ต่อหน้า หากในสายตาครูสองคนดูเหมือนกำลังพูดกับก้อนหิน

         “เชิญอยู่ตามสบายนะ อยู่ที่กุฏิอาตมานี่แหละ แขกไปใครมาจะได้คอยต้อนรับ แล้วอาตมาจะสอนกรรมฐานให้” แล้วท่านก็พยักหน้าช้า ๆ พลางออกเสียง อ้อ อ้อ เหมือนกำลังฟังก้อนหินพูด ครูสองคนมองหน้ากันพลางนึกในใจว่า “หลวงพ่อองค์นี้ท่าจะเพี้ยน” ท่านพระครูหันมาแก้ว่า

         “อาตมาไม่ได้เพี้ยน อาตมากำลังคุยกับเขาจริง ๆ ไม่เชื่อไปเอาหมอมาตรวจเช็คดูก็ได้ ว่าอาตมาเป็นโรคประสาทหรือเปล่า” คำพูดของท่านพระครูทำให้คนฟังงุนงงนัก แล้วครูมนตรีก็พูดในใจว่า “อ๋อ พระอภิญญา หลวงพ่อองค์นี้ต้องได้อภิญญา”

         “เขาวานอาตมาให้ช่วยขอบใจครู บอกแล้วจะตามไปให้หวยที่บ้าน” คราวนี้ครูสุมาลีตาเป็นประกายเพราะอยากรวย

         “ตกลงผมพาเขามาถูกวัดแล้วใช่ไหมครับ” ครูมนตรีถาม ความข้องใจสงสัยปลาสนาการไปสิ้น

         “ถูกแล้ว เขาพอใจมากทีเดียว น่าอนุโมทนานะ ตายไปแล้วยังอยากทำความดี คนเป็น ๆ เสียอีกกลับประมาทมัวเมาในชีวิต” ท่านนึกไปถึงสมภารวัดฝั่งโน้น แต่ครูมนตรีกลับคิดไปว่าท่านหมายถึงตัวเขา จึงรีบออกตัวว่า “ครับ ต่อไปนี้ผมจะเลิกเที่ยวเตร่ เลิกเป็นคนสำมะเลเทเมาอย่างเด็ดขาด” เพิ่งจะรู้สึกตัวเดี๋ยวนี้เองว่า ที่แล้ว ๆ มาเขาไม่ได้ทำตัวให้เป็นที่ชื่นชอบของลูกเมียเท่าใดนัก “สาธุ ขอให้ทำได้จริง ๆ เถอะ หนูขอนิมนต์หลวงพ่อเป็นพยานด้วยนะคะ” ครูสุมาลียกมือขึ้น สาธุ พร้อมกับอาราธนาท่านพระครูให้เป็นพยาน

         “ตกลง อาตมาจะเป็นสักขีพยานให้ อ้อ! แล้วอาตมาขอบิณฑบาตอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องสูบบุหรี่ อยากให้เลิกเสีย เพราะมันมีแต่โทษ หาประโยชน์มิได้เลย”

         “ครับ ผมสัญญาว่าจะเลิกให้หมด” ครูหนุ่มรับคำด้วยศรัทธาในท่านพระครูยิ่งนัก

         “ดีแล้ว เมื่อเลิกสิ่งไม่ดีได้ ต่อไปก็ให้เคร่งครัดในศีล รักษาศีลให้ได้ทั้งสองคนนั่นแหละ เอาแค่ศีล ๕ ก็พอ เมื่อศีลเพียบพร้อมก็จะได้มาฝึกสมาธิ ชีวิตก็จะได้เจริญรุ่งเรือง”

         “ค่อย ๆ ไปทีละขั้นไม่ดีหรือครับหลวงพ่อ มากเกินไปประเดี๋ยวผมจะรับไม่หมด” ครุมนตรีต่อรอง

         “รับไม่หมดแน่ ถ้าครูไม่ฝืนใจ การทำความดีต้องฝืนใจนะครู ไม่งั้นก็ทำไม่ได้ นี่ครูยังโชคดีนะที่ได้คู่ดี ถ้าเขาไม่ดีคงทิ้งครูไปเสียนานแล้ว อย่าโกรธนะอาตมาพูดตรง ๆ อย่างนี้แหละ” ท่านรู้ว่าบุรุษตรงหน้าอยู่ในข่าย “สอนได้” จึงสอน

         “ไม่โกรธครับ ผมจะโกรธผู้ที่หวังดีต่อผมได้อย่างไร เป็นบุญของผมเหลือเกินที่มารู้จักหลวงพ่อ ปกติผมเป็นคนรั้น พ่อแม่สั่งสอนก็ไม่เคยเชื่อฟัง แต่น่าแปลกที่มาเชื่อหลวงพ่อได้ ก่อนนี้ผมไม่ค่อยนับถือพระสักเท่าไหร่”

         “ทำไมถึงเป็นยังงั้นล่ะ”

         “ก็ท่านทำให้ผมหมดศรัทธาน่ะครับ ขอประทานโทษ หลวงพ่อรู้จักหลวงตาอ้อนไหมครับ” เขาเอ่ยนามภิกษุรูปหนึ่งซึ่งกิตติศัพท์ของท่านเป็นที่รู้จักดี กิตติศัพท์ในทางลบ!

         “รู้จักซี ทำไม่จะไม่รู้จัก ท่านออกดัง”

         “นั่นแหละครับ ผมแทบจะเลิกนับถือพระก็เพราะหลวงตาอ้อนนี่แหละ ผมไม่เล่าดีกว่า ประเดี๋ยวหลวงพ่อจะหาว่าผมว่าพระว่าเจ้า” แต่ถึงครูมนตรีจะไม่เล่า ท่านพระครูก็รู้ เพียงแต่ท่านอยากรู้ท่านก็รู้ได้ หากเรื่องที่อยากรู้นั้นไม่เกินความสามารถของ “เห็นหนอ”

         ท่านรู้ว่าที่ครูมนตรีผิดใจกับหลวงตาอ้อน เพราะถูกฝ่ายนั้นยืมเงินแล้วไม่ใช้คืน เป็นเงินค่อนข้างมากและที่สำคัญกว่านั้นคือ มันไม่ใช่เงินของครูมนตรีเอง แต่เป็นเงินที่เขายืมมาจากมารดาอีกทีหนึ่ง

         “แต่เดี๋ยวนี้ผมนับถือพระแล้วนะครับ อย่างน้อยผมก็รู้ว่าพระดี ๆ ยังมีอยู่ นี่ถ้าไม่ได้มาพบหลวงพ่อ ความคิดเช่นนี้คงยังไม่เกิด” ครูมนตรีพูดด้วยความรู้สึกที่ออกมาจากจิตใจ

         “ดีแล้วที่ครูคิดได้อย่างนี้ เพราะคนที่ไม่นับถือพระนั้นได้ชื่อว่าบาปไปครึ่งหนึ่งแล้ว”

         “บาปอย่างไรคะหลวงพ่อ” ครูสุมาลีถาม

         “บาปในแง่ที่ว่า จิตเป็นอกุศลน่ะซีครู” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงตอบ ครูสุมาลีพยักหน้าช้า ๆ เป็นเชิงเข้าใจเรื่องที่ท่านพูด

         “อาตมาขออนุโมทนาด้วยที่ครูหันมานับถือพระอีก เท่ากับเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเองเหมือนกัน ที่จริงคุณพ่อคุณแม่ครูท่านก็เป็นคนดีนะ ดีมากเสียด้วย ทำไมครูไม่เอาเยี่ยงอย่างท่านล่ะ จริงไหมครู” ท่านถามครูสุมาลี

         “จริงค่ะหลวงพ่อ คุณพ่อคุณแม่เขาแสนจะดี และที่หนูยอมแต่งงานกับเขาก็เพราะคิดว่าเขาคงจะดีเหมือนคุณพ่อคุณแม่” คนเป็นภรรยาถือโอกาส “เล่นงาน” คนเป็นสามี

         “เอาละ ๆ ต่อไปนี้เขาจะเป็นคนดีแล้ว เรื่องเก่าอย่าเอามารื้อฟื้น” ท่านพระครูปรามเมื่อเห็นคนถูกว่าถลึงตาเข้าใส่คนเป็นภรรยา พลางเถียงในใจว่าก็ทำไมไม่แต่งกับพ่อแม่ฉันซะเลยล่ะ “ผมเห็นจะต้องกลับก่อนละครับ วันหลังจะหาโอกาสมากราบหลวงพ่ออีก” คนรำคาญภรรยาพูดขึ้น

         “เจริญพร แล้วไม่ต้องไปทะเลาะกันนะ เลิกทะเลาะกันเมื่อไหร่ เมื่อนั้นจะรวย” ท่านชิงห้ามไว้เสียก่อน ด้วยรู้ว่าคนคู่นี้ทะเลาะกันเป็นประจำ

         “ค่ะ หนูเลิกทะเลาะกับเขาแล้วค่ะ” ครูสุมาลีตอบเพราะอยากรวย

         “อ้อ ขับรถขับราอย่าให้เร็วเกินไป รู้สึกว่าครูชอบขับรถเร็วเป็นวัยรุ่นเชียว” ท่านเตือนอีก ครูมนตรีรู้สึกประหลาดใจนั้น ศรัทธาปสาทะที่มีต่อภิกษุรูปนี้ดูเหมือนยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น

         “นั่นซีคะ หลวงพ่อกรุณาช่วยปรามด้วยเถิดค่ะ หนูพูดหนูบอกเขาไม่เคยฟัง ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุ” ครูสุมาลีถือโอกาสรายงานความประพฤติของสามีอีกครั้ง

         “หลวงพ่อครับ ผมเบื่อคนช่างฟ้องจังเลย ไม่รู้ว่าจะเอาไปทิ้งที่ไหนดี” คนเป็นสามีพูดอย่างรำคาญ

         “ก็ครูอย่าทำให้เขาฟ้องนักซี แล้วก็ไม่ต้องเอาไปทิ้งไหนหรอก ขอให้เก็บไว้ให้ดี ๆ ถ้าทิ้งเขาเรานั่นแหละจะแย่ นี่อาตมาพูดตามข้อเท็จจริงนะ ไม่ได้เข้าข้างครูผู้หญิง” เมื่อเถียงตรง ๆ ไม่ได้คนถูกเตือนจึงต้องไปแบบข้าง ๆ คู ๆ ว่า

         “ไม่แย่หรอกครับหลวงพ่อ ทิ้งคนนี้แล้วผมก็ไม่หาคนใหม่ รับรองว่าจะให้สวยกว่าผอมกว่าคนนี้อีก ผมทำได้จริง ๆ นะครับ” พูดพลางชำเลืองไปทางผู้หญิงร่างท้วมที่นั่งถัดจากตน

         “อาตมารู้ว่าครูทำได้ แต่คุณภาพมันไม่เหมือนกันหรอกน่า ของเก่าน่ะมีค่ามากกว่า เหมือนเครื่องลายครามไง ยิ่งเก่ายิ่งแพง”

         “แต่คนไม่ใช่เครื่องลายครามนี่ครับหลวงพ่อ โดยเฉพาะผู้หญิง ยิ่งเก่าก็ยิ่งแก่ ยิ่งแก่ก็ยิ่งพูดมาก พวกผู้ชายเขาถึงได้ให้สมญาพวกผู้หญิงว่าเป็น พวกแก่ง่ายตายยาก”

        “ใช่ โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นเมียหลวงใช่ไหม” ท่านรู้เท่าทันอีก ครูมนตรีจึงต้องปิดปากเงียบ ขืนเถียงไปก็รังแต่จะเข้าเนื้อ เห็นเขาไม่เถียง ท่านพระครูจึงกล่าวสรุปแบบยาว ๆ ว่า “เอาละไม่ต้องไปหาคนใหม่ให้เหนื่อย คนนี้แหละดีแล้ว คนใหม่เขาจะมารักลูกเราหรือก็เปล่า เชื่ออาตมาเถอะ แล้วก็เลิกทะเลาะกันเสีย เลิกได้เมื่อไหร่รับรองรวยมาหลายคู่แล้ว” ท่านพูดอย่างรู้ใจ เพราะธรรมดาของปุถุชนนั้นเรื่องร่ำรวยต้องมาก่อนเสมอ หลังจากนั้น “ธรรมะ” จึงจะตามมา

         “ค่ะ หนูเลิกทะเลาะกับเขาอย่างเด็ดขาด” ครูสุมาลีรีบตอบ กระบวนอยากรวยไม่มีใครเกินเธอผู้นี้

         “ผมกราบลาละครับ” สามีกับภรรยากราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้งแล้วลุกออกมา เมื่อรถถึงถนนใหญ่ คนขับก็แกล้งขับชนิด “เต่าคลานยังเร็วเสียกว่า” คนเป็นภรรยาคิดว่ารถเสียจึงถามขึ้นว่า “รถเป็นอะไรหรือคุณ”

         “ไม่เป็นอะไรหรอก ก็คุณไม่ชอบให้ขับเร็วก็เลยขับช้า ๆ” คนตอบ “ยวน” อย่างเห็นได้ชัด คนถามไม่พูดอะไรอีก นึกถึงคำของท่านพระครูที่ว่าเลิกทะเลาะได้แล้วจะรวย เธอจึงจำเป็นต้องนิ่ง มีใครบ้างที่ไม่อยากรวย

         เห็นภรรยาไม่ต่อล้อต่อเถียง ครูมนตรีก็จะชักรำคาญตัวเอง จึงเร่งความเร็วขึ้น หากก็ไม่เร็วเหมือนที่เคยขับ ด้วยระลึกถึงคำเตือนของท่านพระครู

         วันพระเป็นวันที่ท่านพระครูไม่รับนิมนต์ไปข้างนอก เนื่องจากผู้คนจำนวนมากจะพากันมาที่วัดด้วยจุดมุ่งหมายต่าง ๆ กัน บ้างมาเพื่อถวายของ อาจเป็นข้าวปลาอาหารหรือปัจจัย บ้างมาเพื่อสนทนาธรรม บ้างก็มาเพื่อธุรกิจการทำมาหากินและบ้างก็มาปรึกษาปัญหาชีวิต โดยเฉพาะเรื่องครอบครัว ซึ่งคนพวกหลังนี้ส่วนใหญ่จะมีอาการของ “โรคประสาท” ติดตัวมาด้วย พระบัวเฮียวให้สมญาคนเหล่านี้ว่า “พวกเอาปัญหามาให้พระ” และทั้งที่งานยุ่งจนแทบหาเวลาว่างมิได้ หากท่านพระครูก็เมตตาพวกเขา ท่านรับฟังทุกเรื่องทุกปัญหาตลอดจนช่วยแก้ไข ช่วยแนะนำไปเท่าที่จะช่วยได้

         ผู้ที่รับคำแนะนำของท่านไปปฏิบัติตามก็สามารถแก้ปัญหาได้ ส่วนผู้ที่ไม่สันทัดเรื่องการปฏิบัติก็เปลี่ยนไปวัดอื่นที่เขาใช้วิธีการอื่นในการแก้ปัญหา เป็นต้นว่ารดน้ำมนต์ ปลุกเสกลงเลขลงยันต์ หรือแม้กระทั่งแจกเครื่องรางของขลัง

         บรรดาคนเจ้าปัญหาทั้งหลายก็มีอันต้องเสียเงินเสียทองเป็นจำนวนมาก หากก็ไม่ได้ผลเพราะเป็นการแก้ที่ไม่ถูกวิธี ดังที่ท่านพระครูพูดอยู่บ่อย ๆ ว่า “แก้ปัญหาไม่ถูกจุด เหมือนกินมังคุดไม่ถูกเม็ด”

         “หลวงพ่อครับ เป็นพระไปรับฟังปัญหาทางโลกได้หรือครับ” พระบัวเฮียวถามเชิงติติง

         “ทำไมจะไม่ได้เล่า เพราะมันก็เป็นธรรมะเหมือนกัน คำว่า “ธรรมะ” นั้นนอกจากจะหมายถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังหมายถึงธรรมชาติได้อีกด้วย เพราะสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนก็คือธรรมชาติ พระองค์ไม่ทรงสอนในสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติ”

         “แล้วธรรมชาติคืออะไรครับ คือ ผมอยากทราบความหมายที่ลึกซึ้งกว่าที่ได้ยินได้ฟังมา”

         “ธรรมชาติก็คือ สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย และเสื่อมสลายไปตามเหตุปัจจัย คือเมื่อมีเหตุปัจจัยมาทำให้มันเกิดมันก็เกิดขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัยมาทำให้มันเสื่อมสลายมันก็เสื่อมสลายไป เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนเป็นธรรมชาติทั้งสิ้น เพราะเกิดจากการปรุงแต่งของเหตุปัจจัย พระพุทธศาสนาไม่เชื่อว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุปัจจัย”

         “อย่างเรื่องกรรมก็เป็นเรื่องธรรมชาติใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว ฉะนั้นคนที่ไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่เชื่อเรื่องผลของกรรม เขาก็ต้องถูกธรรมชาติลงโทษ เธอคงเห็นแล้วใช่หรือไม่ว่าทางโลกกับทางธรรมไม่ได้ขัดแย้งกันแต่ประการใด การที่เราจะให้คนเขาหันมาสนใจทางธรรม ก็ต้องช่วยเขาแก้ปัญหาทางโลกเสียก่อน เพราะถ้าจิตใจเขายังร้อนรนกระวนกระวาย เขาก็รับธรรมะไม่ได้

         สมัยพุทธกาลเวลาที่พระพุทธองค์สั่งสอนเวไนยสัตว์ ก็ทรงช่วยแก้ปัญหาทางโลกให้เขาด้วย จึงไม่ใช่เรื่องผิดวิสัยแต่ประการใดที่พระช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน แต่ก็ต้องแก้ให้ถูกจุด ต้องให้ตัวเองอยู่เหนือปัญหา อย่าลดตัวเองลงไปพัวพันจนกลายเป็นเรื่องเสื่อมเสียขึ้น”

         “คือช่วยได้แต่ต้องช่วยอย่างมีสติ ใช่ไหมครับ”

         “ถูกแล้ว สติมีความสำคัญมาก การฝึกสติให้รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอจึงจำเป็น จะเรียกว่าจำเป็นที่สุดก็ได้ พระพุทธองค์ตรัสสอนว่าธรรมมีอุปการะมากคือ สติสัมปชัญญะ”

        “แต่การฝึกสติก็ทำยากมากนะครับหลวงพ่อ ยิ่งฝึกก็ยิ่งรู้ว่ามันยาก นี่ผมก็ฝึกมาจนเข้าเดือนที่สามแล้ว ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่ก้าวหน้าสักเท่าไหร่”

         “นั่นเธอรู้สึกไปเอง ที่จริงแล้วเธอก้าวหน้า ฉันรู้” ฟังถ้อยคำของผู้เป็นอาจารย์แล้ว พระบัวเฮียวรู้สึกมีกำลังใจขึ้นแต่ก็อดที่จะพูดออกมาจากความรู้สึกของตนมิได้ว่า

         “ดูเหมือนว่าผมยิ่งฝึกกิเลสมันยิ่งเพิ่ม ดูท่าทางมันจะไม่ยอมหมดไปง่าย ๆ เลย”

         “นั่นแหละฉันถึงบอกว่าเธอก้าวหน้า คนที่ไม่ฝึกเขาจะไม่รู้หรอกว่ากิเลสในตัวเขานั้นมีมากมายเพียงไร กิเลสมีทั้งอย่างหยาบและอย่างละเอียด ยิ่งละเอียดก็ยิ่งขจัดออกยาก กิเลสอย่างหยาบเป็นกิเลสทางกายกับวาจา อันนี้ใช้ศีลชำระล้างออกได้ แต่กิเลสอย่างละเอียดต้องใช้การฝึกอบรมจิตเพื่อให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นจึงจะสามารถขจัดกิเลสอย่างละเอียดซึ่งเป็นกิเลสทางใจออกไปได้ และการที่ปัญญาจะเกิดได้ก็ต้องให้จิตสงบเสียก่อน การฝึกสติก็เพื่อให้จิตสงบ ที่เรียกว่าการฝึกสมาธิ การปฏิบัติจึงต้องมีพร้อมทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญา ที่เรียกว่าการฝึกอบรมแบบไตรสิกขา”

         “กิเลสอย่างละเอียดนี่ขจัดยากจังนะครับ”

        “เธอเคยร่อนแป้งไหมเล่า การร่อนแป้งนั้น ร่อนเท่าไหร่ก็ยังมีกากเหลืออยู่ ไม่ว่าจะใช้ตะแกรงถี่ขนาดไหน และจะร่อนสักกี่ครั้งก็ต้องมีกากเหลืออยู่ทุกครั้ง เพราะกากนั้นมันจะละเอียดขึ้น ๆ ตามจำนวนครั้งที่ร่อน การฝึกอบรมทางจิตก็เช่นกัน ยิ่งเราปฏิบัติละเอียดเท่าไหร่กิเลสมันก็ละเอียดตาม การกำจัดกิเลสให้หมดไปโดยสิ้นเชิงจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและต้องใช้ความเพียรสูง แต่ถึงจะยากสักเพียงใดก็ไม่พ้นความสามารถของมนุษย์ผู้มีความเพียรไปได้ ไม่เช่นนั้นก็คงมีมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก จริงไหม”

         “จริงครับและที่วัดป่ามะม่วงก็มีพระอรหันต์แล้ว” พระบัวเฮียวตั้งใจ “หยั่งภูมิธรรม” ของผู้เป็นอาจารย์

         “อย่าพูดล่ามป้ามไปมันไม่ดี แล้วเขาไม่เรียกว่า ออ-ระ-หัน ที่ถูกต้องออกเสียงว่า อะ-นะ-หัน จำไว้ ทีหลังจะได้ไม่เรียกผิด ๆ ให้ผู้รู้เขาติเตียนได้”

         “ครับผม ถ้าอย่างนั้นผมขอกราบลากลับไปกุฏินะครับ”

         “อ้าว จะรีบไปไหนล่ะ ยังไม่ทันมีเรื่องเลยจะกลับเสียแล้ว” ท่านพระครูพูดเย้า ๆ

         “จะรีบไปร่อนแป้งครับผม” ลูกศิษย์ตอบแล้วก้มลงกราบสามครั้งจึงลุกออกไป..

           

มีต่อ........๒๔