สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๒๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00027

๒๗...

            เมื่อนายสมชายนำรถเข้ามาจอดหน้าเรือนปั้นหยาหลังใหญ่ ฝูงสุนัขก็วิ่งกรูกันเข้ามา ส่งเสียงเห่าอึงคะนึง

               ไม่มีผู้ใดลงมาไล่ฝูงสุนัขฝูงนั้น ท่านพระครูจึงแผ่เมตตาไปยังพวกมัน แล้วบอกนายสมชายว่า “ไป ลงจากรถได้แล้ว รับรองว่าปลอดภัย” ชายหนุ่มจึงเปิดประตูลงจากรถอย่างหวาด ๆ แล้วอ้อมมาเปิดประตูให้ท่านลงอีกด้านหนึ่ง ฝูงสุนัขวิ่งกระดิกหางเข้ามาต้อนรับพลางส่งเสียงงี้ดง้าด

         ท่านพระครูเดินนำนายสมชายขึ้นไปบนบ้าน พบนางปั่นนอนแบ็บอยู่บนเตียงนอกชาน ที่นอนเปียกชื้นด้วยน้ำปัสสาวะคละเคล้ากั้บน้ำเหลืองส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง

         “โยมปั่น อาตมามาเยี่ยม” ท่านเอ่ยทัก นายสมชายยกเก้าอี้มาให้ท่านนั่งข้างเตียง

         “หลวงพ่อหรือจ๊ะ โถ อุตส่าห์มาเยี่ยม ขอบคุณมากจ้ะ” นางพูดพลางยกมือขึ้นประนมทั้งที่นอนแบ็บอยู่อย่างนั้น เนื่องจากป่วยเป็นอัมพาตเดินไม่ได้มาห้าหกปีแล้ว

         “สมขาย ไหนล่ะของเยี่ยม” ท่านถามหาของซึ่งเตรียมมาจากวัดป่ามะม่วง

         “อยู่ในรถครับ เดี๋ยวผมลงไปเอามาให้” พูดจบก็ลงบันไดไป สักครู่จึงขึ้นมาพร้อมกับถาดทรงกลม ในถาดบรรจุโอวัลติน นมสด และนมข้น เขาวางลงข้าง ๆ เตียงแล้วถอยออกมานั่งเสียไกล เพราะทนกลิ่นเหม็นไม่ไหว

         “หลวงพ่อมาเยี่ยมฉันก็เป็นพระคุณแล้ว ไม่ต้องเอาอะไรมาให้ก็ได้” นางปั่นพูดอย่างเกรงใจ

         “ไม่เป็นไรหรอกโยม อะไรที่พอจะช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยกันไป อย่าไปคิดมากเลยนะ นี่โยมอยู่คนเดียวหรือ โยมผู้ชายไปไหนเสียล่ะ” ท่านถามหาสามีของนางปั่น

         “ไปนาจ้ะ ไปดูเขาเกี่ยวข้าว จ้างเขาคนละยี่สิบห้าบาทต่อวัน ก็เลยต้องไปคุม เห็นว่าวันนี้มากันตั้งสิบคน”

         “แล้วโยมกินข้าวกินปลายังไงล่ะ ช่วยตัวเองได้บ้างไหม” ท่านถามอย่างเป็นห่วง

         “ไม่ได้เลยจ้ะหลวงพ่อ เมื่อเช้าทิดเขาป้อนข้าวแล้วก็ออกไปนา กลางวันก็กลับมาป้อนอีก เรื่องกินก็เลยไม่ลำบากเท่าไหร่ จะลำบากก็ตอนหนักตอนเบานี่แหละ เหม็นคลุ้งเลย” นางพูดอย่างเกรงใจท่านพระครู รู้ว่าท่านจะต้องเหม็น ขนาดลูกศิษย์ยังเลี่ยงไปนั่งเสียไกล

         ท่านพระครูมีอันต้องกำหนด “กลิ่นหนอ” เพราะเป็นคนรักความสะอาดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

         “ลูกเต้าเขาไปไหนกันหมดล่ะ โยมมีลูกหลายคนไม่ใช่หรือ” ท่านถามพลางนึกตำหนิลูก ๆ ของนางที่ปล่อยให้แม่ต้องมานอนป่วยอยู่เดียวดายเช่นนี้

         “เขามีครอบครัวแยกย้ายกันไปหมดแล้ว ตั้งแต่แบ่งนาให้ไปคนละสามร้อยไร่ ก็ไม่มีใครมาให้เห็นหน้าอีกเลย เหลือแต่ลูกสาวคนสุดท้องที่กำลังเรียนปริญญาโทอยู่ เมื่อสองสามวันก่อนเขามาบอกให้ฉันหาเงินไว้ให้สักสองหมื่น เขาว่าเขาจะเอาไปพิมพ์หนังสือ”

         เสียงแตรรถดังอยู่หน้าบ้าน ท่านพระครูหันไปมองก็เห็นรถ บีเอ็มดับบลิว สีตะกั่วตัด วิ่งมาจอดคู่กับรถตู้ของท่าน คนขับเป็นผู้หญิงอายุในราวยี่สิบห้า มีผู้หญิงวัยเดียวกันตามมาอีกสี่ห้าคน ฝูงสุนัขวิ่งกรูเข้ามา แต่ถูกคนที่ขับรถไล่ตะเพิดออกไป

         “ขึ้นบ้านก่อน เดี๋ยวไปเอาเงินกับแม่เดี๋ยว ไม่รู้ว่าหาให้ได้หรือยัง” หล่อนพูดพลางเดินนำขึ้นไปบนบ้านเห็นพระนั่งอยู่ข้าง ๆ มารดาจึงยกมือไหว้

         “หนูมาหาใครจ๊ะ” ท่านทักขึ้นก่อน

         “มาหาแม่จ้ะ ฉันเป็นลูกสาวคนที่นอนอยู่บนเตียงนี่” หล่อนชี้ที่มารดา ส่วนเพื่อน ๆ ของหล่อนนั่งรออยู่ห่าง ๆ

         “หนูมาก็ดีแล้ว ช่วยซักผ้านุ่งและผ้าปูที่นอนให้แม่เขาด้วย กลิ่นอุจจาระปัสสาวะคลุ้งไปหมด” ท่านถือโอกาสใช้

         “ไม่ได้หรอกหลวงพ่อ หนูจะรีบไป” พูดพลางหันไปมองเพื่อน ๆ ซึ่งขยิบหูขยิบตาใส่ทำนองว่า “อย่าซัก”

         “จะรีบไปไหนล่ะจ๊ะ”

         “ไปเผาศพญาติของเพื่อนที่อยุธยาค่ะ” หล่อนตอบ รู้สึกไม่พอใจที่ถูกซักไซ้ไล่เลียง

         “ก็ซักผ้าให้แม่ก่อนแล้วค่อยไป คงกินเวลาไม่ถึงยี่สิบนาทีหรอกน่า” หญิงสาวหันไปมองเพื่อน ๆ อย่างเกรงใจ เห็นพวกเขาทำบุ้ยใบ้ว่าไม่ให้ซัก จึงบอกท่านพระครูว่า

         “ไม่ได้หรอกหลวงพ่อ เดี๋ยวเพื่อน ๆ เขาจะรอ”

         “ก็ให้เขารอสักประเดี๋ยวจะเป็นไรไป”

         “เดี๋ยวไปไม่ทันงานศพ” หล่อนตอบเสียงห้วน รู้สึกรำคาญขึ้นมาตะหงิด ๆ เป็นพระเป็นเจ้ามายุ่งอะไรกับเรื่องของหล่อน ขนาดแม่หล่อนแท้ ๆ ยังไม่กล้าใช้

            ท่านพระครูล่วงรู้ความคิดของหญิงสาว การที่ท่านเซ้าซี้ให้หล่อนซักผ้าให้มารดาก็เพื่อจะช่วย “ตัดกรรม” ให้ แต่หล่อนกลับแสดงอาการไม่พอใจจนออกนอกหน้า ท่านจึงพูดเสียงค่อนข้าดังว่า “ขอโทษเถอะหนู อาตมาขอถามตรง ๆ ว่า คนที่ตายน่ะเขามีความสำคัญต่อหนูมากกว่าแม่ของหนูหรือไง แล้วถ้าหนูไม่ไปเผาศพเขา จะทำให้งานต้องล้มเลิกไปเลยใช่ไหม” ท่านประชดหากหล่อนไม่สนใจ หันไปพูดกับมารดาว่า “แม่ เงินสองหมื่นหาได้หรือยัง ที่หนูขอไว้ไปพิมพ์วิทยานิพนธ์น่ะ”

         “ยังหาไม่ได้หรอกอีหนูเอ๊ย พ่อเอ็งเขามัวยุ่งอยู่กับเรื่องเกี่ยวข้าว เลยยังไม่มีเวลาไปหยิบไปยืมใคร” นางปั่นพูดอย่างเกรงใจลูกสาว

         “แล้วเมื่อไหร่จะได้ล่ะ บอกตั้งหลายวันแล้ว” ลูกสาวพูดเกือบเป็นตะคอก ท่านพระครูจึงถือโอกาสถามขึ้นว่า

         “หนูเรียนอยู่ที่ไหนล่ะจ๊ะ”

         “หนูเรียนปริญญาโทอยู่กรุงเทพฯ ค่ะ กำลังทำวิทยานิพนธ์ จะมาขอเงินแม่เขาไปพิมพ์” หล่อนพูดอย่างภาคภูมิใจ รู้สึกอารมณ์ดีขึ้น เมื่อท่านถามเรื่องเรียน

         “อ้อ เรียนปริญญาโทเชียวหรือ อยู่สถาบันไหนล่ะ” หญิงสาวเอ่ยนามมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดของเมืองไทย ท่านพระครูกลับลงความเห็นว่า “ไม่น่า คนอย่างหนูนี่ไม่น่าจะได้เรียนในมหาวิทยาลัยดี ๆ อย่างนี้”

         “ทำไมหรือคะ”

         “ก็ทำให้เสียชื่อเสียงสถาบันเขาหมดน่ะซี” ท่านว่าเอาตรง ๆ

         “เสียชื่อยังไงคะ หนูเสียหายตรงไหน” ถามโกรธ ๆ

         “เสียหายตรงที่หนูไม่มีกตัญญูกตเวทิตาธรรมอยู่ในจิตใจนะซี แม่นอนป่วยแทนที่จะมาพยาบาลรักษา กลับเห็นญาติของเพื่อนสำคัญกว่า อาตมาขอว่าหนูตรง ๆ อย่างนี้แหละ น่าเสียดายที่มีความรู้สูง แต่คุณธรรมไม่มีเลย หนูจำไว้ด้วยว่า ความรู้นั้นต้องคู่กับคุณธรรม ถ้ามีแต่ความรู้อย่างเดียวก็เป็นคนดีไม่ได้” ท่านพระครูเทศน์ยืดยาวโดยไม่ต้องมีการอาราธนา ท่านรู้ว่าหญิงสาวผู้นี้จะต้องรับกรรมอย่างหนัก อยากจะช่วยให้กรรมนั้นเบาบางลง จึงต้องลงทุนเทศนาหล่อน ทั้งที่รู้ว่ามันทำให้หล่อนขัดเคือง

         ด้วยความเมตตาสงสารไม่อยากให้เขาประสบเคราะห์กรรม ท่านจึงพูดกับเขาอย่างอ่อนโยนว่า

         “หนู อาตมาขอร้องเถอะ หนูช่วยเอาผ้าแม่ไปซักหน่อย แล้วหนูจะเจริญรุ่งเรืองเชียวละ นี่ถ้าอาตมาไหว้หนูได้ก็จะไหว้เดี๋ยวนี้เลย นะหนูนะ”

         “ไม่ซ้งไม่ซักหรอก คนจะรีบ หลวงพ่ออยากซักก็ไปซักเองสิ” นิสิตปริญญาโทกล่าวจ้วงจาบพระสงฆ์

         “หนู นี่ถ้าโยมปั่นเป็นแม่อาตมา อาตมาจะซักให้หนูดูอย่างไม่รังเกียจเลย แต่จนใจที่ทำไม่ได้ เพราะมันผิดวินัย พระวินัยอนุญาตให้ทำให้แม่ได้เท่านั้น ทำให้คนอื่นไม่ได้”

         “วินงวินัยอะไรหนูไม่สนใจหรอก หนูไปละ แม่ไปก่อนนะ อย่าลืมหาเงินไว้ให้ด้วยล่ะ” พูดแล้วก็ชวนเพื่อน ๆ ลงเรือนไป ไม่สนใจที่จะไหว้ลาท่านพระครูด้วยซ้ำ

         เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงมองตามรถบีเอ็มดับบลิว ด้วยความรู้สึกสลดหดหู่ ท่านหันไปพูดกับนางปั่นว่า

         “ไม่ไหว นี่โยมเลี้ยงลูกยังไงถึงได้เป็นแบบนี้”

         “มันเวรกรรมของฉันจ้ะหลวงพ่อ” นางปั่นพูดไปร้องไห้ไป

         “นี่เขาก็มาข่มขู่จะเอาเงินไปพิมพ์หนังสือ ฉันก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหนให้เขา สมบัติอะไรก็แบ่งให้ไปหมดแล้ว นาสามร้อยไร่นั่นเขาก็ขายหมด เอาไปแลกรถคันนั้นได้คันเดียว บอกเขาก็ไม่เชื่อ ห้ามเขาก็ไม่ฟัง” นางร้องไห้สะอึกสะอื้น

         “นี่ดีนะที่เป็นลูกโยม ถ้าเป็นลูกอาตมาละก็ คงตัดหางปล่อยวัดไปแล้ว”

         “อย่าไปว่าเขาเลยจ้ะหลวงพ่อ มันเป็นกรรมของฉันเอง” นางปั่นไม่วายเข้าข้างลูก

         “ขอถามหน่อยเถอะโยม ตั้งแต่โยมนอนป่วยมานี่ ลูกสาวเขาเคยซักผ้าให้ไหม ผ้าที่เปื้อนอุจจาระปัสสาวะของโยมน่ะ”

         “ไม่เคยจ้ะ เขารังเกียจ มีแต่ทิดนั่นแหละเขาซักให้” นางหมายถึงผู้เป็นสามี พูดยังไม่ทันขาดคำนายขำก็ขึ้นเรือนมา ครั้นเห็นท่านพระครูจึงเข้ามานั่งยอง ๆ ยกมือไหว้

         “หลวงพ่อมานานแล้วหรือครับ”

         “สักพักหนึ่งเห็นจะได้ เป็นไงวันนี้เกี่ยวข้าวได้กี่ไร่”

         “สักสามสี่ไร่เห็นจะได้ครับ วันนี้จ้างคนมาเกี่ยวสิบคน เดี๋ยวนะครับ ผมขอตัวไปหาน้ำมาถวายหลวงพ่อก่อน” พูดพลางตั้งท่าจะลุกขึ้น แต่ท่านพระครูห้ามไว้

         “ไม่ต้องหรอกโยม อาตมาเรียบร้อยมาแล้ว โยมมาเหนื่อย ๆ นั่งพักเสียก่อน เดี๋ยวอาตมาก็จะกลับแล้ว”

         “ทิด เมื่อกี้อีหนูมันมาเอาเงินแน่ะ” นางปั่นบอกสามี

         “แล้วแกทำยังไงล่ะ บอกมันว่ายังไง”

         “ก็บอกไปว่ายังหาไม่ได้ ท่าทางมันโกรธเชียว”

         “ลูกสาวโยมนี่ไม่ไหวเลยนะ อาตมาให้ช่วยซักผ้าให้โยมปั่น เขาก็ไม่ยอมซัก” ท่านพระครู “ฟ้อง”

         “เหลือเกินเลยแหละครับหลวงพ่อ เขาถือว่าเรียนสูงกว่าพ่อกว่าแม่ จะสอนจะสั่งยังไงเขาก็ไม่ฟัง ดูถูกพ่อแม่ว่าจบแค่ ป.๔ ผมว่าเขาคงไปไม่ถึงไหน อย่าหาว่าแช่งลูกเลย” นายขำพูดอย่างอ่อนล้า รู้สึกผิดหวังที่มีลูกไม่ได้ดังใจสักคนเดียว

         “อย่าไปโทษลูกมันเลยทิดเอ๊ย มันเป็นกรรมของข้าเอง” นางปั่นปรามสามีพลางขยับตัวอย่างลำบาก การนอนแบ็บอยู่กับที่เป็นเวลาแรมปี ทำให้เนื้อบริเวณหลังเปื่อยกลายเป็นแผลเรื้อรัง น้ำเหลืองไหลเยิ้ม

         “แกก็เข้าข้างมันทุกที มันถึงได้เป็นยังงี้ไงล่ะ” นายขำว่าภรรยา

         “ก็มันจริง ๆ นี่นา หลวงพ่อเชื่อฉันเถิดจ้ะ ว่ามันเป็นกรรมของฉันเอง ฉันทำกรรมไว้กับแม่ ลูกก็เลยทำกับฉันเหมือนกับที่ฉันเคยทำกับแม่ ฉันจะเล่าให้หลวงพ่อฟัง” นางหยุดหายใจลึก ๆ สองสามครั้งแล้วจึงเริ่มต้นเล่าด้วยเสียงแหบเครือ

         “แม่ฉันก็เป็นอัมพาตนอนป่วยอยู่เป็นปี ฉันไม่เคยซักผ้าให้แก ตอนนั้นฉันอยู่กับยาย ไม่ได้อยู่กับแม่ เวลายายให้เอาข้าวมาส่งให้แม่ ฉันก็เอามาส่งแล้วก็รีบกลับไปบ้านยาย แม่เคยขอร้องฉันว่า อีหนูช่วยซักผ้าให้แม่หน่อย ฉันก็ไม่ยอมซัก พ่อกลับจากนาก็ต้องมาซักผ้าให้แม่

         ฉันอยู่กับยายไม่เคยไปพยาบาลแม่เลย อยู่กันคนละบ้าน ยายเป็นคนทำกับข้าวให้ฉันเอาไปส่งแม่ทุกวัน ส่งเสร็จฉันก็กลับ ไม่เคยซักผ้าให้แม่สักครั้งเดียว ฉันถึงไม่โกรธลูกที่เขาไม่ซักผ้าให้ฉัน” นางปั่นเล่าเรื่องราวแต่หนหลังให้ท่านพระครูฟัง

         “อ้อ อย่างนี้เอง” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงเพิ่งจะเข้าใจเดี๋ยวนั้นว่า เหตุใดท่านจึงมองเห็น “กฎแห่งกรรม” ของลูกสาวนางปั่น ครั้นจะเล่าให้สองผัวเมียฟังก็เกรงเขาจะไม่สบายใจ จึงนิ่งเสีย

         อาตมาเห็นจะต้องลากลับเสียที โยมจะได้พักผ่อนกัน” รู้ว่าท่านจะกลับ นางปั่นก็มีอันเจ็บปวดตามเนื้อตัวขึ้นมาทันที ตอนคุยกับท่านรู้สึกเพลินจนลืมความเจ็บปวด นางร้องครวญครางขึ้นว่า “หลวงพ่อ ฉันทรมานเหลือเกิน ช่วยฉันด้วย”

         “โยมเคยเข้ากรรมฐานมาแล้วไม่ใช่หรือ อาตมาจำได้นะ จำได้ว่าโยมเคยไปอยู่วัดป่ามะม่วงหลายวัน”

         “จ้ะ ฉันเคยไปเข้ามาสองครั้งตอนก่อนจะล้มป่วย ครั้งแรกอยู่เจ็ดวัน ครั้งที่สองสิบห้าวัน”

         “นั่นแหละ โยมก็เอาวิชานั้นนั่นแหละมาใช้”

         “ใช้ยังไงจ๊ะหลวงพ่อ ฉันลืมหมดแล้ว เพราะตั้งแต่กลับจากวัด ก็ไม่ได้ปฏิบัติอีก ยิ่งพอมาล้มป่วยก็เลยเลิกพูดถึงไปเลย

         “เอาเถอะลืมก็ไม่เป็นไร อาตมาจะช่วยทบทวนให้ ก็ยังดีกว่าเริ่มใหม่ทั้งหมด คนที่เคยปฏิบัติแล้วอย่างน้อยก็ต้องมีเชื้อหลงเหลืออยู่บ้าง ฟังนะ โยมเจ็บตรงไหน หรือที่เรียกว่าเอาความเจ็บปวดมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน แล้วก็กำหนด “ปวดหนอ” หรือ “เจ็บหนอ” ไปตามที่เป็นจริง ถ้ามันทั้งเจ็บทั้งปวดก็กำหนดว่า “เจ็บปวดหนอ เจ็บปวดหนอ” กำหนดไปเรื่อย ๆ จนกว่าจิตจะเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิเราก็จะรู้สึกว่าความเจ็บปวดนั้นมันคลายลง โยมทำได้ไหมล่ะ”

         “จ้ะ คิดว่าคงทำได้”

         “ต้องทำได้ซี อย่าไปคิดว่าคงทำได้ ให้ตั้งใจให้แน่วแน่ลงไปเลยว่าต้องทำได้ โยมต้องใช้สติข่มทุกขเวทนาให้ได้ เข้าใจหรือยัง”

         “เข้าใจจ้ะ ขอบพระคุณหลวงพ่อมาก ถ้าหลวงพ่อมีเวลา กรุณามาเยี่ยมฉันอีกนะจ๊ะ ฉันคงอยู่ไปอีกไม่นาน อย่างน้อยหลวงพ่อก็จะได้มาช่วยส่งวิญญาณฉันให้ไปสุคติ” นางปั่นพูดอย่างคนที่เห็นการเวียนว่ายตายเกิดเป็นเรื่องปกติธรรมดา

         “ไม่ต้องให้อาตมาส่งหรอก โยมส่งเองก็ได้ เราเคยปฏิบัติแล้วเราก็รู้แล้วนี่ว่าทางไหนเป็นยังไง ถ้าเราอยากจะไปทางสายนั้น เราจะต้องปฏิบัติอย่างไร”

         “รู้จ้ะ แต่เวลาปฏิบัติมันทำไม่ได้อย่างที่รู้”

         “นั่นแสดงว่าโยมรู้ไม่จริง ถ้ารู้จริงต้องปฏิบัติได้ จำไว้นะโยม วันนี้ อาตมามาให้สติโยมหลายเรื่องด้วยกัน และถ้าโยมปฏิบัติตามได้ โยมก็จะพ้นทุกข์ได้ อาตมาลาละ” นายขำกุลีกุจอตามมาส่งท่านที่รถ ซึ่งนายสมชายลงมารูอยู่ตั้งแต่ได้ยินว่าท่านจะกลับ ท่านพูดให้กำลังใจนายขำว่า

         “อดทนเอาหน่อยนะโยมนะ คิดเสียว่าเคยทำกรรมร่วมกันมา โยมปั่นเขาคงจะเคยปรนนิบัติโยมมาแต่ครั้งอดีต โยมก็เลยต้องมาทำให้เขาบ้าง ก็ใช้ ๆ หนี้กันเสียให้หมดจะได้ไม่ต้องมีเวรมีกรรมต่อกัน”

         “ครับหลวงพ่อ” ชาตินี้ผมเกิดมาใช้หนี้ลูกใช้หนี้เมีย ก็จะตั้งหน้ารับกรรมไปจนกว่าจะตาย ชาติหน้าชาติไหนผมจะไม่เกิดเป็นไอ้ขำอีกแล้ว ขอเกิดเป็นพระอย่างหลวงพ่อดีกว่า จะได้ตัดภพตัดชาติให้สิ้นไป” พูดอย่างคนที่เข็ดหลาบกับชีวิต

         “ดีแล้ว อาตมาขออนุโมทนา ถ้าโยมต้องการอย่างนั้น ก็ขอให้อธิษฐานจิตแล้วหมั่นสวดมนต์ภาวนา ถ้าจิตถึง โยมก็จะได้เป็นดังที่อธิษฐาน อาตมาลาละนะโยมนะ”

         “ครับ ขอบพระคุณมากครับหลวงพ่อ ขอบพระคุณที่ได้เตือนสติ ทำให้ผมมีกำลังใจต่อสู้กับชีวิตต่อไป ขอให้หลวงพ่อได้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยเร็วนะครับ” เป็นคำอวยพรที่ถูกใจท่านพระครูยิ่งนัก แม้จะตระหนักดีว่า การจะบรรลุถึงจุดหมายได้เร็วหรือช้านั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความเพียรของตนเองเป็นสำคัญก็ตาม

         รถเคลื่อนออกพ้นบริเวณบ้านมาแล้ว นายสมชายจึงเอ่ยขึ้นว่า

         “หลวงพ่อนั่งคุยอยู่ได้ตั้งนมตั้งนาน ไม่รู้สึกเหม็นบ้างหรือไง ขนาดผมนั่งอยู่ห่าง ๆ ยังแทบอ้วก” ท่านพระครูไม่ตอบแต่กลับถามขึ้นว่า “เธอเห็นลูกสาวเขาไหม คนที่ขับรถบีเอ็ม น่ะ ช่างน่าเกลียดเสียเหลือเกิน”

         “น่าเกลียดอะไรกัน เขาสวยออกเสียดายที่ผมเกิดช้าไปหน่อย ไม่งั้นผมจีบแล้ว ทั้งรูปสวย รวยทรัพย์ นับวิชา”

         “เธอก็เห็นแต่รูปภายนอก ทรัพย์ภายนอกเท่านั้นแหละ แต่รูปภายในทรัพย์ภายในเธอไม่เห็น”

         “ก็ไม่จำเป็นจะต้องเห็นนี่ครับหลวงพ่อ”

         “จำเป็นสิสมชาย ทำไม่จะไม่จำเป็น เพราะคนเขาคิดอย่างเธอนี่แหละ ชีวิตคู่สมัยนี้มันถึงหาความสุขไม่ได้ เพราะดูกันแค่ภายนอกนี่เอง”

         “ผมไม่เถียงหลวงพ่อดีกว่า ชักปวดหัวตะหงิด ๆ แล้ว วันนี้เจอแต่เรื่องหนัก ๆ ทั้งนั้น ทำไม่ผมจะต้องมาเจอเรื่องหนัก ๆ ในวันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันที่ผมเกิด”

         “เอาละ ไหน ๆ ก็เจอแต่เรื่องหนัก ๆ มาแล้ว ก็มาเจออีกเรื่องหนึ่งก็แล้วกัน เอาหนังเสียวันเดียว วันอื่นจะได้ไม่หนัก เธอรู้หรือเปล่า ฉันเห็นกฎแห่งกรรมแม่หนูที่ขับบีเอ็ม นั่นแล้ว ในอนาคตเขาจะต้องเป็นอัมพาตเหมือนแม่เขา แล้วลูกเขาก็จะไม่มาปรนนิบัติ ยิ่งร้ายไปกว่านั้นคือ สามีเขาก็จะทิ้งเขาไปมีเมียใหม่ จะไม่มาคอยดูแลเหมือนที่พ่อเขาดูแลแม่เขา”

         “ถึงว่าซี หลวงพ่อถึงได้คาดคั้นเขานัก ให้เขาซักผ้าให้แม่ หลวงพ่อต้องการจะช่วยเขานี่เอง แต่เขาก็ไม่ยอมรับความหวังดีของหลวงพ่อ น่าสงสารจริง ๆ นี่ถ้าผมอายุเท่าเขาก็คงไม่คิดจะจีบแล้ว ผมขี้เกียจมานั่งซักผ้าขี้ผ้าเยี่ยวให้ คงเหม็นตายแน่ ๆ” นายสมชายทำท่าสะอิดสะเอียน

         “ฉันถึงว่ามันเป็นกรรมไงล่ะ กรรมที่ไม่มีผู้ใดจะช่วยได้ ฉันก็พยายามแล้วแต่มันไม่สัมฤทธิผล ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกรรมดังพุทธพจน์ที่ว่า  ..กมฺมุนา วตฺตตี โลโก – สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”

มีต่อ........๒๘