สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๓๖

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00036

๓๖...

            ฉันเพลแล้วพระบัวเฮียวก็กลับมาที่กุฏิท่านพระครูอีก ข้าราชการหนุ่มประมาณไม่เกินสามสิบนั่งรออยู่ ท่านเดาว่าบุรุษผู้นี้ต้องเป็นข้าราชการเพราะเขาสวมชุดสีกากีและมี “บั้ง” ติดอยู่บนบ่าทั้งสองข้าง เขากราบท่านสามครั้งแล้วทักขึ้นว่า

         “หลวงพี่อยู่วัดนี้หรือมาจากที่อื่นครับ”

         “อาตมาอยู่วัดนี้ แล้วโยมล่ะมาจากไหน”

         “ผมมาจากอำเภอสองพี่น้องครับ แต่บ้านเดิมอยู่ที่นี่ แล้วก็คุ้นเคยกับหลวงพ่อมานาน”

            “แล้วโยมไปทำอะไรอยู่ที่นั่นล่ะ ที่อำเภออะไรนะ”

         “อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีครับ ผมเป็นปลัดอำเภออยู่ที่นั่น”

         “อ้อ”

         “เถ้าแก่เส็งเสร็จจากรับประทานอาหารก็เดินเข้ามานั่งพร้อมโชเฟอร์แท็กซี่ คนทั้งสองกราบพระบัวเฮียวสามครั้ง พระหนุ่มจึงถือโอกาสแนะนำบุคคลทั้งสามให้รู้จักกัน ทราบว่าชายหนุ่มเป็นปลัดอำเภอ เถ้าแก่เส็งจึงพูดถึงลูกเขย

         “ลูกเขยผมเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนี้ คุณเคยได้ยินชื่อไหม” เขาบอกชื่อคนเป็นสามีของลูกสาว ปลัดหนุ่มจึงว่า

         “ครับ ท่านเคยเป็นผู้บังคับบัญชาของผม คุณนายดวงสุดาเป็นบุตรสาวของท่านหรือครับ”

         “ถูกแล้ว ก็หนูดวงสุดานี่แหละที่พาผมมารู้จักกับหลวงพ่อ แล้วผมก็ได้มาปฏิบัติกรรมฐานที่นี่”

         “โยมเถ้าแก่ปฏิบัติได้ก้าวหน้ามากนะโยมปลัด” พระบัวเฮียวบอกข้าราชการหนุ่ม เพราะต้องการจะยกย่อง “ลูกศิษย์” ท่านคิดว่าปลัดหนุ่มคงจะคุ้นเคยกับการปฏิบัติกรรมฐาน เนื่องจากเป็นคนถิ่นนี้และรู้จักท่านพระครูมานาน ท่านไม่รู้เลยว่าบุคคลผู้นี้อยู่ในประเภท “ใกล้เกลือกินด่าง”

         “โยมปลัดคงปฏิบัติได้สูงแล้วใช่ไหม” ท่านถามอีก

         “หลวงพี่หมายถึงอะไรครับ” คนถูกถามไม่เข้าใจ

         “อาตมาหมายถึงการปฏิบัติธรรม โยมปลัดเคยใกล้ชิดหลวงพ่อคงปฏิบัติไปได้ไกลแล้วใช่ไหม”

         “เปล่าเลยครับหลวงพี่ บอกตามตรงว่าผมไม่สนใจเรื่องอย่างนี้ มันสนุกเสียที่ไหนล่ะครับ กรรมฐานน่ะ” เมื่อเขาตอบมาอย่างนี้ พระบัวเฮียวจึงไม่ซักถามอะไรอีก ด้วยเกรงจะไม่เป็นที่สบอารมณ์ของผู้ถูกถาม พอดีกับท่านพระครูลงมาจากกุฏิชั้นบน ผู้ที่นั่งรออยู่จึงทำความเคารพด้วยการกราบสามครั้ง

         “เจริญพร โยมปลัดมายังไง” ท่านเจ้าของกุฏิทักทาย

         “ผมจะมาขอให้หลวงพ่อช่วยดูฤกษ์แต่งงานครับ” ปลัดหนุ่มตอบ

         “เจ้าสาวเขาเป็นใครล่ะ” ท่านถาม ปลัดวัยสามสิบตอบว่า

         “เป็นนางเอกลิเกครับหลวงพ่อ” น้ำเสียงมีแววภูมิใจในหญิงที่ตนจะแต่งงานด้วย ท่านพระครูเห็นไม่เข้าเรื่อง คนเป็นปลัดอำเภอจะไปแต่งงานกับนางเอกลิเก มันจะเป็นไปได้อย่างไร หรือว่าสองคนนี้เป็นคู่เวรคู่กรรมกันมา ครั้นใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบก็ได้รู้ว่า คนคู่นี้ไปกันไม่ได้และจะอยู่กันชนิดหม้อข้าวไม่ทันดำก็ต้องเลิกร้างกัน จึงพูดขึ้นว่า

         “โยมคิดยังไงถึงจะไปแต่งงานกับนางเอกลิเกล่ะ อาตมาว่ามันไม่คู่ควรกัน ไม่มีอะไรเหมาะสมกันเลย” ปลัดหนุ่มรู้สึกขัดเคืองในคำพูดของท่าน เขากำลังหลงสตรีผู้นั้นจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น จึงบอกท่านพระครูว่า

         “โธ่! หลวงพ่อครับ ก็เรารักกัน เขาสวยมากนะครับหลวงพ่อ รูปร่างหน้าตาสวย รำก็สวย เสียงก็เพราะ หนุ่ม ๆ รุมจีบกันเป็นพรวน แต่เขาก็ไม่เลือกใครนอกจากผม”

         “นั่นแหละ เพราะอย่างนี้แหละที่จะทำให้อยู่กันไม่ได้ พอแต่งงานกัน แล้วโยมก็จะหึงไม่ให้เขาไปเล่นลิเก ตอนแรกเขาก็เชื่อ แต่พออยู่ไป ๆ เขาก็จะเบื่อ ก็จะหนีไปเล่นลิเกอีก แล้วก็ทะเลาะกัน ในที่สุดก็ต้องเลิกกัน อย่าแต่งเลย เชื่ออาตมาเถอะ คนนี้ไม่ใช่เนื้อคู่โยมหรอก อาตมาเห็นกฎแห่งกรรมของโยมแล้ว คนที่จะมาร่วมชีวิตกับโยมต้องเป็นอาจารย์”

         “แต่ผมปักใจเสียแล้วครับหลวงพ่อ ผมรักผู้หญิงคนนี้แล้วก็จะแต่งงานกับเธอให้ได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น” ปลัดหนุ่มยืนยันหนักแน่น เขาเข้าใจว่าความหลงเป็นความรัก

         “แปลว่าโยมไม่เชื่อที่อาตมาพูดใช่ไหม อย่าแต่งเลยนะอาตมาขอร้อง อาตมาหวังดีด้วยใจจริง” ท่านพระครูพยายามพูดทัดทาน

         “ผมก็ขอร้องหลวงพ่อเหมือนกันว่าโปรดอย่าห้ามผมเลย ผมคงไม่มีความสุขไปตลอดชีวิต ถ้าไม่ได้แต่งงานกับเธอ” คนถูกศรรักปักอกว่า

         “ถ้าอย่างนั้นก็ตามใจโยมเถอะ กรรมของใครก็ของคนนั้น อาตมาก็ได้พยายามช่วยแล้ว ในเมื่อโยมไม่เชื่อก็ไม่ว่ากัน แต่จะให้อาตมาหาฤกษ์ให้นั้น อามตาทำไม่ได้เพราะเห็นอยู่ว่าอะไรเป็นอะไร ต้องขอโทษด้วยที่ไม่อาจทำให้โยมสมความมุ่งมาดปรารถนา” ได้ยินดังนั้น บุรุษวัยสามสิบก็หมดความอดทน เขาพูดออกมาด้วยความโกรธว่า

         “ผมเสียใจครับหลวงพ่อ เสียใจที่หลงนับถือหลวงพ่อมาช้านาน เรื่องแค่นี้หลวงพ่อก็ช่วยผมไม่ได้ มิหนำซ้ำยังพูดให้เสียกำลังใจอีก เอาละ ผมขอประกาศ ณ ที่นี้ว่า นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ผมจะเลิกเคารพนับถือหลวงพ่อและจะไม่มาเหยียบวัดนี้อีก” แล้วจึงผลุนผลันลุกออกไปโดยไม่ร่ำลา ท่านพระครูไม่พูดว่ากระไร ไม่โกรธ ไม่ขึ้งบุรุษนั้น เพราะรู้อยู่ว่า “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”

         “เสียดายนะครับ หน้าตาดี ๆ ตำแหน่งหน้าที่ก็ดี แต่กิริยาที่แสดงออกมาไม่ดีเลยสักนิด” โชเฟอร์แท็กซี่วิจารณ์

         “ช่างเขาเถอะโยม เขาทำกรรมมาอย่างนี้ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ในเมื่ออาตมาบอกให้แล้ว แต่เขาไม่ยอมแก้ไข อาตมาก็ช่วยเขาไม่ได้ กรรมบางอย่างมันก็แก้ไขได้ แต่เขาไม่ยอมแก้”

         “ผมเคยคิดนะครับหลวงพ่อ” โชเฟอร์แท็กซี่พูด

         “เคยคิดว่ากรรมนั้นแก้ไม่ได้ อย่างคนที่เป็นโจรก็ต้องเป็นโจรตลอดไป เพราะเขาเกิดใต้ดาวโจร แต่เดี๋ยวนี้ผมรู้ว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป” เขาลังเลใจนิดหนึ่งว่าจะพูดต่อไปดีหรือไม่ ต่อเมื่อนึกได้ว่า คนชั่วที่กลับตัวเป็นคนดีนั้นน่าสรรเสริญ จึงตัดสินใจว่าจะต้องพูด

         “อย่างผมนี่เมื่อก่อนก็หากินทางทุจริต แต่ก็มากลับตัวกลับใจได้เพราะเถ้าแก่ เดี๋ยวนี้ผมกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่าผมเป็นคนดี อย่างน้อยก็ไม่เบียดเบียนใคร แล้วผมก็รู้สึกว่าผมจะมีความสุขกายสบายใจกว่าแต่ก่อนมาก เพราะละชั่วได้”

            “อย่างนั้นหรือ อาตมาขออนุโมทนา ขอประทานโทษ เมื่อก่อนโยมมีอาชีพอะไรล่ะ”

         “ก็ไม่มีอาชีพเป็นหลักเป็นฐานหรอกครับ ผมชอบเล่นการพนันแล้วก็มีหนี้สินล้นพ้นตัว เถ้าแก่ก็เป็นเจ้าหนี้ผม พอแกทวงมาก ๆ เข้า ผมเลยรวบรวมสมัครพรรคพวกไปปล้นบ้านแก ใจคอผมโหดร้ายมาก เพราะผมตั้งใจจะฆ่าแกกับเมียเพื่อปลดหนี้ แต่ไม่ทราบเป็นเพราะอะไร ผมยิงแกไม่ออกครับ แกกับเมียกำลังนั่งหลับตาอยู่ ผมก็ยิงใส่เลย รัวปืนเอ็ม.๑๖ เข้าใส่ แต่ยิงไม่ออก

         ในที่สุดผมก็ถูกจับได้ ก็ติดคุกอยู่สามเดือนเพราะเถ้าแก่อ้างว่าจำตัวคนร้ายไม่ได้ ทีจริงผมรู้ว่าแกจำผมได้ ผมรู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจของแก จึงตั้งสัจจะว่าจะเลิกทำชั่ว แล้วผมก็เลิกได้จริง ๆ ครับ” ผมเล่ามีน้ำตาคลอหน่วยตาเพราะความซาบซึ้ง ท่านพระครูพูดปลอบเขาว่า

         “เอาเถอะ หมดเคราะห์หมดโศกแล้ว ต่อไปนี้ชีวิตโยมก็จะพบกับความเจริญรุ่งเรือง อาตมาขออวยชัยให้พร” ชายวัยสี่สิบเศษกราบท่านสามครั้งด้วยพอใจในพรที่ท่านให้

         “ผมเป็นหนี้บุญคุณเถ้าแก่มากเลยครับ เพราะถ้าแกเอาผมเข้าคุก ผมก็ไม่มีวันที่จะกลับเนื้อกลับตัวได้ นี่ผมก็ตั้งใจจะรับใช้แกเท่าที่เวลาและโอกาสจะอำนวย”

         “นายสุขเขาดีกับผมมากครับหลวงพ่อ นี่เขาก็จะไม่ยอมเอาเงิน ผมต้องขอร้องเขาอยู่นานกว่าจะตกลงกันได้” เถ้าแก่เส็งยกย่องคนที่กลับตัวกลับใจได้

            “เพราะเถ้าแก่ดีกับผมก่อนน่ะครับหลวงพ่อ ผมก็เลยจะตอบแทนความดีแก แต่แกก็ไม่ยอมรับ ขนาดผมคิดค่าน้ำมันสองร้อย แกก็แถมให้อีกหนึ่งร้อยเป็นสามร้อย” นายสุขเล่า

         “สรุปว่าโยมดีทั้งสองคนนั่นแหละ คนดีก็ต้องพบกับคนดี เธอเห็นด้วยไหมบัวเฮียว”

         “เห็นด้วยครับ” พระหนุ่มรับคำแล้วถามขึ้นว่า

         “หลวงพ่อครับ ผมรู้สึกว่าคนที่มาวัดนี้มีทั้งคนไทยและคนจีน คนไทยนั้นมักมาให้หลวงพ่อช่วยดับร้อนผ่อนทุกข์แล้วก็มักจะไม่เอากรรมฐาน บางคนรู้จักหลวงพ่อมานานแต่กลับไปเคยปฏิบัติธรรม ยกตัวอย่างเช่น นายขำหรือปลัดอำเภอคนเมื่อกี้ แล้วตัวผมก็มีความรู้สึกว่า หลวงพ่อรักคนจีนมากกว่าคนไทย เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ”

         “เธอหาว่าฉันลำเอียงว่างั้นเถอะ”

         “ก็หลวงพ่อลำเอียงหรือเปล่าเล่าครับ” ลูกศิษย์ยั่ว

         “ฉันคิดว่าฉันไม่ได้ลำเอียง ใครปฏิบัติดีฉันก็อนุโมทนากับเขา ส่วนคนที่ทำไม่ดีฉันก็สงสารเขา แล้วมันก็น่าแปลกอย่างที่เธอว่านั่นแหละ คือ คนที่ปฏิบัติดีนั้นมักเป็นคนจีน อาตมารักคนจีนมากนะโยมเถ้าแก่ อยากรู้ไหมว่าทำไม่จึงเป็นเช่นนั้น” ท่านถามเถ้าแก่เส็ง

         “อยากทราบครับ หากไม่เป็นการรบกวนจนเกินไปผมอยากให้หลวงพ่อเล่าให้ฟังครับ” บุรุษวัยเลยเจ็ดสิบพูดอย่างเกรงใจ ท่านพระครูจึงเล่าว่า

         “ที่อาตมารักคนจีนมากเพราะชอบที่เขาขยันทำมาหากินประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเพราะอาตมาทำเวรทำกรรมกับคนจีนมามากสมัยทีเป็นเด็ก ๆ ก็เลยต้องมารักเขาเป็นการใช้กรรม แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าฉันเกลียดคนไทยหรอกนะบัวเฮียว เธออย่าเข้าใจผิด”

         “ครับ ผมเข้าใจถูกต้องแล้ว และก็รู้ด้วยว่าหลวงพ่อไม่เกลียดญวนเหมือนกัน” พระบัวเฮียวเย้า

         “ตอนเด็ก ๆ หลวงพ่อทำกรรมอะไรไว้กับคนจีนหรือครับ” นายสุขถาม

         “มากมายหลายประการเชียวแหละโยม สมัยเด็ก ๆ อาตมาชอบทดสอบความอดทนของเขา”

         “ทดสอบยังไงครับ”

         “ก็แกล้งต่อราคาเวลาซื้อของ อย่างตาแป๊ะคนนึงแกขายเสื้อผ้าอยู่ในตลาด อาตมาก็แกล้งต่อ แกก็ไม่โมโห ถ้าเป็นร้านคนไทยรับรองถูกด่าแล้วก็ไล่ออกจากร้านแน่ เพราะคนไทยเขาหยิ่งแล้วก็ไม่มีความอดทน

         ร้านคนไทยเขามักจะมีนางกวักประจำอยู่ในร้าน แต่กลับขายไม่ดี ร้านคนจีนไม่ต้องมีนากกวักแต่ขายดิบขายดีจนหยิบแทบไม่ทัน โยมเชื่อไหม สินค้าอย่างเดียวกันถ้าร้านคนไทยขายห้าบาท คนซื้อเขาก็รู้แต่ก็ยังอุตสาห์ไปซื้อร้านคนจีน ร้านคนไทยขนาดมีนางกวักด้วย ขายถูกว่าด้วย แต่คนกลับไม่ซื้อ” แปลกไหมเล่า

         “ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นล่ะครับ” พระบัวเฮียวถาม

         “ก็คนจีนเขายิ้มแย้มแจ่มใส ส่วนคนไทยหน้าเหมือนมือนางกวัก ใครเข้าจะเข้าร้าน” นายสุขกับเถ้าแก่เส็งหัวเราะชอบใจเพราะท่านพระครูทำท่าประกอบการเล่าด้วย

         “ทีนี้ตาแป๊ะที่ขายเสื้อผ้านี่แกก็ถูกอาตมาแกล้งอยู่บ่อย ๆ แต่แกก็เอาตัวรอดได้ทุกที อย่างเช่น อาตมาซื้อเสื้อไปวันนี้ พอรุ่งเช้าก็เอามาเปลี่ยน บอก “ตาแป๊ะ ขอเปลี่ยนเสื้อหน่อย ใส่ไม่ได้มันคับ” ตาแป๊ะแกก็ว่า” ท่านเลียนเสียงคนจีน

         “ไม่เป็งลาย ไม่เป็งลาย เสื้ออั๊วซักเลี้ยวยืกล่าย” อาตมาก็เลยต้องกลับบ้านเพราะแกไม่ยอมให้เปลี่ยน พอรุ่งเช้าก็มาใหม่ บอกว่า “ตาแป๊ะ อั๊วขอเปลี่ยนเสื้อหน่อย” แกก็ถามว่า “เปี่ยงทำมาย” อาตมาบอก “มันหลวม” แกก็ว่า “ไม่เป็งลาย ไม่เป็งลาย เสื้อล้านอั๊วะ ซักเลี้ยวหกล่าย” ตกลงแกก็ไม่ยอมให้เปลี่ยน อาตมาก็หมดปัญญาที่จะพูดกับแก” ท่านหยุดเว้นระยะนิดหนึ่งแล้วเล่าต่อว่า

         “มีอยู่รายนึงที่อาตมาทำกรรมกับแกไว้หนักว่าคนอื่น ๆ แกชื่อบ๊ก อาตมาก็เรียกแกเจ๊กบ๊ก” เถ้าแก่เส็งสะดุ้งนิดหนึ่ง แต่ท่านพระครูไม่ทันสังเกต ท่านเล่าต่อไปว่า

         “สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง พวกต่างด้าวจะถูกไล่ออกจากเขตที่มีทหาร เจ๊กบ๊กแกก็ถูกไล่มาจากลพบุรี มาอาศัยอยู่ตลาดปากบาง แกก็เที่ยวซื้อขวดซื้อโลหะจากชาวบ้านไปขาย บางทีก็เอาขนมข้าวพองมาแลก อาตมาตอนนั้นอายุสิบเอ็ดหรือสิบสองนี่แหละ ก็ชอบขโมยข้าวพองแกมากิน แล้วก็ด่าแกว่าไอ้เจ๊กบ้า ไอ้เจ๊กบ๊กบ้า บางทีก็ล้อแกเป็นเพลงว่า “เจ๊กบ๊กตกน้ำตาย เมียร้องไห้ เสียดายเจ๊กบ๊ก” แกก็ไม่โกรธยิ้มลูกเดียว แกบอกอาตมาว่า “อาตี๋ ลื้อจาหล่าอั๊วก็หล่าไป อั๊วะไม่โกก แต่อั๊วจาเอาซาตางจากลื้อให้ล่าย” นี่แกว่าของแกอย่างนี้”

         “แล้วได้ไหมครับ” เถ้าแก่เส็งถาม เขากำลังสงสัยว่า “เจ๊กบ๊ก” ที่ท่านพระครูกล่าวถึงนั้นจะเป็นคนเดียวกับน้องชายของเขาหรือไม่ ก็ต้องฟังท่านเล่าให้จบเสียก่อน

         “ได้สิ ก็เวลาแกไม่เผลอให้อาตมาขโมย อาตมาก็จำเป็นต้องซื้อแก แต่กระนั้นก็ซื้อแบบขี้โกง คือขนมข้าวพองแกขายห่อละเฟื้อง อาตมาก็ทำเป็นซื้อห่อนึง แต่ที่แท้หยิบมาสองห่อ ก็โกงแกมาตลอดจนกระทั่ง แกเปลี่ยนจากขายขวดไปขายหมู อาตมาก็ขโมยหมูแกอีก”

         “แล้วเคยถูกแกจับได้ไหมครับ” พระบัวเฮียวถาม

         “ถ้าถูกจับก๊อเสียชื่อมหาโจรน่ะซี คือตาแป๊ะแกมีเข่งอยู่คู่นึง แล้วไม้คานของแกมีลักษณะคล้ายไม้พลองของลูกเสือ แต่สีดำเมี่ยมเลย แกหาบจนไม้คานเป็นมัน แกก็ตัดหมูออกชั่งเป็นกอง ๆ กองละหนึ่งกิโล ยืนขายอยู่ที่ท่าน้ำ พอแกมัวหยิบหมูให้คนอื่น อาตมาก็ย่องไปข้างหลัง คว้าหมูที่แกกองเอาไว้ ก็เอาหนีบรักแร้แล้วโดดน้ำดำมาขึ้นอีกฝั่งนึง ฝั่งที่เป็นบ้านอาตมา เอาหมูไว้ในตู้กับข้าวแล้วดำน้ำไปฟากกะโน้นอีก หวังจะไปเอาอีกซักโล

         พอขึ้นไปยืนบนท่า แกก็บ่นกับคนซื้อว่าหมูแกหายไปโลนึง ตาคนซื้อแกก็เห็นตอนที่อาตมาหยิบแล้วโจนลงน้ำ แต่แกก็พูดเข้าข้างอาตมาว่า หมูมันคงตกลงไปในน้ำ เจ๊กบ๊กแกก็ว่า “เป็งไปไม่ล่าย ต้องมีคงมาคาโมย ถ้าตกน้ำจริงมัก็ต้องลอย” ตาคนนั้นก็พูดอีกว่า “มันไม่ลอยหรอก ถ้าเป็นเนื้อหมูมันไม่ลอย เป็นมันหมูถึงจะลอย” ตาแป๊ะก็เลยตัดมันให้มากหน่อย ตัดเนื้อน้อย ๆ พวกคนซื้อก็เลยได้มันหมูไปมากกว่าเนื้อ เพราะอาตมาเป็นต้นเหตุ”

         “แล้วแกเคยแสดงท่าทางว่าสงสัยหลวงพ่อไหมครับ” นายสุขถาม

         “แกก็คงสงสัยอยู่เหมือนกัน แต่ไม่มีพยานหลักฐาน แกก็เลยเอาผิดอาตมาไม่ได้ อาตมาก็แกล้งแกสารพัด เจอหน้าที่ไรก็ด่า “ไอ้เจ๊กบ้า ไป ไป ให้พ้น” แกก็ยิ้ม บอกว่า “ไอ้ตี๋ วังนี้ลื้อเลียกอั๊วะไอ้เจ๊กบ้า แต่วังหน้าลื้อต้องเลียกอั๊วะว่า เตี่ย จำไว้นะ” อาตมาบอกเรื่องอะไรจะเรียก แกก็ว่า “ต้องเลียก วังนึงลื้อต้องเลียกเพาะอั๊วะมีลูกสาวห้าคง ลื้อจาต้องมาขออั๊วะ เลียกเตี่ยเข้าสักวัง” นี่แกว่าของแกอย่างนี้ แล้วก็จริงอย่างที่แกว่าเสียด้วย อาตมาต้องยอมเรียกแกว่าเตี่ยเพื่อชดใช้กรรม”

         “หลวงพ่อไปชอบลูกสาวแกเข้าหรือครับ” พระบัวเฮียวถาม

         “เปล่าหรอก แต่ลูกสาวแกก็มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้ฉันต้องเรียกเจ๊กบ๊กว่าเตี่ย คือพอลูก ๆ เป็นสาวก็ได้แต่งงานกับคนดีมีฐานะ ก็ช่วยเตี่ยทำมาหากินจนร่ำรวยเป็นลำดับ กระทั่งมีเงินไปตั้งร้านขายทองอยู่ที่เยาวราช”

         เถ้าแก่เส็งแน่ใจเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ตะแป๊ะคนที่ท่านพระครูเล่าให้ฟังนั้นคือน้องชายของเขา ครั้นจะพูดออกมาก็เห็นว่ายังไม่ถึงเวลา ทางที่ดีควรฟังท่านเล่าให้จบเสียก่อน

         “โลกมันกลมนะโยมเถ้าแก่ พอแกย้ายเข้ากรุงเทพฯ อาตมาก็ไม่เจอแกมาเป็นเวลาร่วมสิบปีทั้งที่หลังจากนั้นอาตมาก็เข้าไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ พันตรีหลวงธารา ซึ่งเป็นคุณปู่ของอาตมาได้มารับอาตมาไปกรุงเทพฯ และฝากไว้กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งท่านจะให้อาตมาเรียนตำรวจ

         ระหว่างที่อยู่กับท่าน อาตมาก็เรียนดนตรีไทย เป็นลูกศิษย์หลวงประดิษฐ์ไพเราะ แต่ตอนหลังอาตมาไม่ชอบเรียนตำรวจ มันไม่ถูกกับอัธยาศัย เลยกลับมาอยู่บ้าน พอปี ๒๔๙๑ ก็อุปสมบทที่วัดพรหมบุรี

         บวชได้ห้าพรรษา ท่านสมภารก็บอกให้อาตมาเข้ากรุงเทพฯ ไปเรี่ยไรเงินมาสร้างโบสถ์ อาตมาก็ไปกับลูกศิษย์ไปหาจอมพล ป. ท่านก็ทำบุญมาห้าพัน หลวงประดิษฐ์ไพเราะทำมาสองพัน พันตรีหลวงธาราคุณปู่ของอาตมาทำมาสามพัน แล้วพวกข้าราชการที่ใกล้ชิดจอมพล ป. ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นนายกรัฐมนตรีก็ช่วยกันคนละร้อยสองร้อย ก็ได้เงินมาหลายหมื่น

         วันจะกลับก็มีข้าราชบริพารของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ พาอาตมาเข้าเฝ้า พระองค์ก็พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มาห้าพัน อาตมาก็เตรียมจะกลับ มีลูกศิษย์ไปด้วยหลายคน มีทั้งผู้ชายผู้หญิง ทีนี้ลูกศิษย์เขาก็อยากจะซื้อทองกัน เลยพาอาตมาไปเยาวราชเขาก็พากันเข้าไปซื้อทองในร้าน อาตมาก็ยืนรออยู่หน้าร้าน ก็มีตาแป๊ะเจ้าของร้านออกมานิมนต์ให้เข้าไปฉันน้ำชา แกก็ถามว่าอาตมามาจากไหน

         พอบอกว่าจากวัดพรหมบุรี แกก็เล่าว่าแกเคยอยู่ตลาดปากบาง อาตมาก็เอะใจ แกก็เล่าตั้งแต่หนีมาจากลพบุรีเพราะเขาไล่คนต่างด้าวออกจากเขตทหาร มารับซื้อขวดไปขาย ขายหมู กระทั่งมาขายทอง แกบอกชีวิตสมัยที่อยู่ปากบางนั้นตกระกำลำบากมาก ต้องหาบของขายจนบ่าด้านไปหมด ว่าแล้วแกก็สั่งให้ลูกสาวไปเอาเข่งกับไม้คานลงมาอวด อาตมาเห็นก็จำได้ อาตมาก็ลองถามแกว่าเคยถูกคนแกล้งไหม แกก็ว่ามีเด็กผู้ชายเกเรอยู่คนนึง ชอบด่าแกว่าไอ้เจ๊กบ้า แล้วก็ชอบขโมยขนมข้างพองแก พอแกขายหมูก็แอบขโมยหมูแกอีก

         อาตมาฟังแล้วขนลุก คิดในใจว่าจะบอกแกดีหรือไม่ดี ก็พอดีแกถามว่า “ท่างมากุงเทพฯ ทำไม” อาตมาก็บอกมาเรี่ยไรเงินไปสร้างโบสถ์ แกก็เดินไปที่ลิ้นชักหยิบเงินมาสองพัน บอกว่าร่วมทำบุญด้วย อาตมาก็เก็บเงินใส่ย่ามไว้อย่างมิดชิด กลัวแกจะทวงคืน แล้วก็สารภาพกับแกว่า “เตี่ย อาตมาขออโหสิกรรม เด็กเกเรที่เคยขโมยของเตี่ย เคยด่าเตี่ยน่ะคืออาตมาเอง” แกได้ยินดังนั้นก็ตกใจอ้าปากค้างเลย อาตมารีบพูดต่อว่า “เตี่ยอโหสิกรรมให้อาตมานะ ไหน ๆ อาตมาก็เป็นพระแล้ว และก็คงไม่เอาเงินคืน” พอแกหายตกใจ แกก็บอกอาตมาว่า “ท่างไม่ต้องเลียกอั๊วะว่าเตี่ยก็ล่าย เลียกไอ้เจ๊กบ๊ก หรือไอ้เจ๊กบ้าอย่างเลิมก็ล่าย อั๊วะไม่โกกเลี้ยวก็ไม่เอาเงินคึงล่วย แต่อั๊วะขอท่างอย่างเลียวเท่านั้ง” แกขออะไรอาตมา โยมเถ้าแก่รู้ไหม” ท่านถามเถ้าแก่เส็ง

         “ไม่ทราบครับ บุรุษวัยเจ็ดสิบเศษตอบ

         “ขอให้หลวงพ่อสึกไปแต่งงานกับลูกสาวแกใช่ไหมครับ” พระบัวเฮียวเดา

         “แหม! ถ้าขออย่างนั้นก็ดีน่ะสิ แต่นี่แกไม่ได้ขออย่างที่เธอเดา แกพูดกับฉันว่า “ท่าง บวกก็ลีเลี้ยว อั๊วะจาขอล้องว่าให้ท่างบวกอย่างนี้ตาหลอกไป อย่างล่ายสึกออกไปหล่าเจ๊กอีก” นี่แกว่าอย่างนี้ แหม ฉันงี้เจ็บแสบเข้าไปถึงข้อหัวใจ แทบจะคืนเงินให้แกไปเลยเชียวละ”

         “แล้วคืนหรือเปล่าครับ” นายสุขถาม

         “คืนทำไมล่ะโยม เงินเขาตั้งใจทำบุญ” เงียบกันไปพักหนึ่ง เถ้าแก่เส็งก็พูดขึ้นว่า

         “หลวงพ่ออย่าตกใจนะครับถ้าผมจะกราบเรียนให้ทราบความจริงอะไรบางอย่าง”

         “ความจริงอะไรของเถ้าแก่ล่ะ ว่าไปเถอะ อาตมาจะพยายามไม่ตกใจ” เมื่อท่านอนุญาต บุรุษวัยเจ็ดสิบเศษจึงพูดว่า

         “เจ๊กบ๊กที่หลวงพ่อเล่ามานั้นคือน้องชายแท้ ๆ ของผมที่หอบหิ้วกันมาจากเมืองจีนครับ” ท่านพระครูมีความรู้สึกเหมือนกับวันที่เสาเต๊นท์พุ่งมาปะทะหน้า ท่านร้องเรียกนายสมชายเสียงหลง

            “สมชายอยู่ไหนน่ะ ช่วยชงยาหอมมาให้หลวงพ่อด้วยเถอะ กำลังเป็นลม”..

        

        

มีต่อ........๓๗