สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๒

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00042

๔๒...

          นายสมชายขี่จักรยานกลับมาถึงวัดเวลาประมาณสามทุ่ม เห็นรถเบ๊นซ์สีดำคันหนึ่งจอดอยู่ที่ลานจอดรถด้านหลังของกุฏิ คิดว่าคงจะต้องมีแขกมาหาท่านพระครู อาจเป็นคนสามคนที่กลังเดินเห็นหลังอยู่ไว ๆ ข้างหน้านั่น เขาจะต้องไปให้ถึงกุฏิก่อน เพื่อจะบอกคนทั้งสามว่าหมดเวลารับแขกแล้ว

          วันธรรมดาท่านพระครูจะลงรับแขกเวลาเดียว คือตั้งแต่ ๑๔.๐๐ – ๑๘.๐๐ น. ยกเว้นวันพระ จึงจะลงสองครั้ง ตามที่นายขุนทองจัดตารางให้ ป่านี้เจ้าหนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดคนนั้นคงจะหลับไปนานแล้ว เพราะเป็นคนนอนแต่หัวค่ำ

          ศิษย์ก้นกุฏินำจักรยานเข้าไปเก็บในโรงรถ เมื่อกลับออกมาก็เห็นชายวัยกลางคนกับสตรีวัยหกสิบเศษช่วยกันประคองบุรุษสูงอายุเข้ามานั่ง บุรุษนั้นสวมแว่นตาดำ อายุคงอยู่ในราวเจ็ดสิบเศษ ข้ามานั่งแล้วก็ยังไม่ยอมถอดแว่นตาดำออก เขาจึงเข้าไปถามว่า

          “ลุงมาพบหลวงพ่อหรือครับ”

          “อุ๊ยตาย” สตรีวัยหกสิบเศษอุทานเสียงสูง แล้วบอกบุรุษที่ใส่แว่นตาดำว่า

          “ท่านคะ เขาเรียกท่านว่าลุงแน่ะค่ะ ได้ยินหรือเปล่าคะ” คนถูกเรียกว่าลุงรู้สึกว่า “อัตตา” วิ่งขึ้นสูงจนหากใช้ปรอทวัดก็คงไม่ต่ำกว่าจุดเดือด จึงพูดโกรธ ๆ ว่า

          “เขาคงไม่รู้ละมั้งว่าพี่เป็นใคร คุณหญิงช่วยบอกเขาเอาบุญหน่อยซิ” เขาเรียกสตรีผู้นั้นว่า “คุณหญิง”

            “ให้ตาเอ้บอกดีกว่าค่ะ ตาเอ้บอกพ่อคนนี้ซีว่าอากับคุณพ่อเธอเป็นใครมาจากไหน” หล่อนหันไปพูดกับชายวัยกลางคนด้วยท่าทางหยิ่ง ๆ “นายเอ้” จึงบอกลูกศิษย์วัดว่า

          “น้องชาย นี่คือท่านรัฐมนตรีปลด เป็นคุณพ่อของผม แล้วสตรีผู้นี้คือคุณหญิงอรสา น้องสาวคุณพ่อและเป็นภรรยาของท่านรัฐมนตรีอัครเดช หวังว่าน้องชายคงเคยได้ยินชื่อนะ ท่านเคยเป็นรัฐมนตรีสมัยที่แล้ว” นายสมชายแอบโต้ในใจว่า “อย่าว่าแต่รัฐมนตรีสมัยที่แล้วเลย ถึงเป็นรัฐมนตรีสมัยนี้ผมก็ไม่รู้จักใครสักคน” แต่ปากเขาพูดว่า

          “หรือครับ แล้วคุณพี่ผู้ชายเป็นรัฐมนตรีด้วยหรือเปล่าครับ ผมจะได้ใช้คำพูดให้ถูกกาลเทศะและบุคคล” เข้าตั้งใจประชด หากหนุ่มใหญ่วัยสี่สิบเศษ กลับตอบว่า

          “ตอนนี้ยังไม่ได้เป็น คิดว่าจะขึ้นสมัยหน้า คุณพ่อผมกรุยทางไว้ให้แล้ว” คนตอบค่อนข้างมั่นใจ

          “ถ้าอย่างนั้นท่านก็เป็น ว่าที่รัฐมนตรีใช่ไหมครับ”

          “ก็คงยังงั้น”

          “ทีนี้กระผมขอเรียนถามท่านรัฐมนตรีและคุณหญิงว่า ท่านจะมาพบหลวงพ่อใช่ไหมขอรับ” นายสมชายจำต้องเล่นบทใหม่เพื่อให้ถูกใจคนดู ถูกใจในที่นี้ก็คือถูกกับกิเลสของพวกเขา ท่านพระครูเคยสอนไว้ว่า การที่จะผูกมิตรกับคนนั้นจะต้องเอา “ถูกใจ” นำหน้าเสียก่อน แล้วจึงค่อยตามด้วย “ถูกต้อง”

            “แหม พ่อหนุ่มนี่น่ารักจริง ๆ พูดจามีสัมมาคารวะ” คุณหญิงออกปากชมทั้งที่ว่าไปหยก ๆ

          “น้องชาย ท่านพระครูอยู่หรือเปล่า” ว่าที่รัฐมนตรีถาม

          “อยู่ขอรับ”

          “งันก็ขึ้นไปเรียนท่านด้วยว่าท่านรัฐมนตรีมาขอพบ” นายเอ้ออกคำสั่ง พอดีกับนายขุนทองลงมาจากข้างบน ครั้นเห็นนายสมชายก็ต่อว่าทันที

          “กลับแล้วเหรอ นึกว่าจะนอนบ้านสาวซะอีก คนอะไรหายไปตั้งแต่เที่ยง” คนถูกต่อว่าไม่ได้โต้เถียง หากถามเสียงเรียบว่า

          “ยังไม่นอนอีกหรือ นึกว่าหลับไปซะแล้ว หลวงพ่อกำลังทำอะไรอยู่น่ะ” นายขุนทองไม่ตอบ หากหันไปพูดกับอาคันตุกะทั้งสามว่า

          “มาหาหลวงพ่อหรือฮะ ท่านเพิ่งขึ้นไปเมื่อตอนสองทุ่มเอง วันนี้รับแขกเกินเวลาไปตั้งเกือบสองชั่วโมง พรุ่งนี้เช้าค่อยมาใหม่แล้วกันนะฮะ”

            อารมณ์ที่กำลังจะดีขึ้นของคุณหญิงมีอันต้องบูดอีกครั้ง เมื่อฟังถ้อยคำของเจ้าหนุ่มหน้าหวาน หล่อนแหวใส่ว่า

          “นี่เธอ จะพูดจะจาก็ดูคนมั่ง รู้ไหมว่าฉันเป็นใครมาจากไหน”

          “ไม่รู้ฮะ แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหน หนูก็ไม่สามารถจะให้คุณพบหลวงลุงได้ กฎก็ต้องเป็นกฎฮะ” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดเถียงพร้อมกับแสดงตัวว่าเป็นหลาน ด้วยการเรียกท่านพระครูว่า “หลวงลุง”

          “โอหัง แกนี่โอหังมากนะ นอกจากโอหังแล้วยังพูดจาไม่มีสัมมาคารวะ ดัดจริตดีดดิ้นไม่มีใครเกิน” ดีที่นายขุนทองไม่ใช่คนมักโกรธ หากเป็นกระเทยคนอื่น ก็คงปรี่เข้าไปตบคุณหญิงเข้าให้แล้ว เพราะผู้ชายที่มีจิตใจเป็นผู้หญิงนั้นมักเป็นคนเจ้าโทสะ และยับยั้งสติอารมณ์ไม่ได้ คุณหญิงหันไปบอกนายสมชายว่า

          “นี่เธอบอกเจ้ากระเทยนี่ทีซิ ว่าฉันเป็นใครมาจากไหน” นายสมชายจึงต้องบอกนายขุนทองว่า

          “ขุนทอง นี่ท่านรัฐมนตรีกับคุณหญิงมาขอพบหลวงพ่อนะ แต่กระผมไม่ทราบว่าท่านมาจากไหนขอรับ” ประโยคหลังเขาหันไปพูดกับคุณหญิง

          “แหม เธอนี่ไม่มีคอมมอนเซ้นส์เสียเลย เป็นรัฐมนตรีก็ต้องมาจากกรุงเทพฯ ซียะ” คุณหญิงพาลเอากับนายสมชายเพราะโกรธนายขุนทอง

          “จะเป็นใครมาจากไหนหนูไม่สนทั้งนั้น กฎก็ต้องเป็นกฎ หนูจะไม่ยอมให้ใครเอาอำนาจราชศักดิ์มาทำให้เสียความยุติธรรมหรอก” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดยืนกราน

          “แต่กฎมันก็มีข้อยกเว้นนะขุนทอง ทำไมเธอไม่ดูเยี่ยงอย่างหลวงพ่อล่ะ เห็นไหมว่า บางเรื่องท่านก็โอนอ่อนผ่อนปรนให้ ไม่ได้เอาหัวชนฝาไปเสียทุกเรื่องเหมือนที่เธอทำอยู่หรอก” ลูกศิษย์วัดเตือนด้วยความหวังดีกลับถูก “แว้ด” ใส่ว่

          “ตามใจ ถ้าพี่เห็นว่าหนูไม่ดี หนูก็จะไปนอนละ แล้วถ้าหลวงลุงดุก็อย่าหาว่าหนูไม่เตือนก็แล้วกัน” ว่าแล้วก็เดินฉับ ๆ เข้าห้องไป คุณหญิงพูดตามหลังว่า

          “ดูเอาเถอะ ท่าทางกระฟัดกระเฟียดน่าเกลียดจริ๊ง ทำไม่ท่านพระครูถึงให้คนพรรค์นี้มาอยู่ในวัดนะ” นายสมชายไม่ออกความเห็น เขาพูดกับคนทั้งสามว่า

          “กระผมต้องขอโทษแทนเพื่อนด้วยนะขอรับ แกเป็นคนอย่างนี้เอง แต่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ข้อนี้กระผมขอรับประกัน”

          “ไม่มีอะไรหรอกน้องชาย คุณหญิงอาของผมท่านก็พูดไปอย่างนั้นเอง จริง ๆ แล้วท่านเป็นคนใจดีมีเมตตา” ว่าที่รัฐมนตรีแก้แทนผู้เป็นอา เมื่อหลานชายพูดเช่นนี้ คุณหญิงอรอุษาจึงจำต้องปิดปากเงียบ เพราะหากพูดไปอาจจะทำให้ “เสียฟอร์ม” ของคุณหญิงก็เป็นได้

          “กระผมจะขึ้นไปกราบเรียนหลวงพ่อก่อนนะขอรับ” พูดจบก็หายขึ้นไปข้างบน

          “หลวงพ่อครับ รัฐมนตรีกับคุณหญิงมาขอพบหลวงพ่อครับ” เขารายงานหลังจากทำความเคารพด้วยการกราบ ๓ ครั้ง ท่านพระครู รู้ตั้งแต่รถเบ๊นซ์สีดำวิ่งเข้าประตูวัดมาโน่นแล้ว ท่านพูดกับลูกศิษย์ก้นกุฏิว่า

          “เขากำลังร้อนนะสมชาย ร้อนมากทีเดียว”

          “ผมเปิดพัดลมให้แล้วครับ คงไม่ร้อนเท่าไหร่” นายสมชายว่า

          “ฉันไม่ได้หมายถึงความร้อนภายนอกนะ แต่หมายถึงร้อนภายใน คนทั้งสามนั่นถูกไฟกิเลสแผดเผาจนร้อนรุ่มกลุ้มทรวง หวังจะมาให้ฉันช่วยดับ”

          “แล้วหลวงพ่อจะช่วยเขาไหมครับ”

          “ช่วยไม่ได้หรอกสมชายเอ๋ย ฉันน่ะอยากจะช่วยทุกคนที่มาหา เพราะคนที่มาหาฉันล้วนแต่แบกทุกข์กันมาทั้งนั้น อย่างที่พระบัวเฮียวท่านแอบตั้งสมญาว่า “พวกเอาปัญหามาให้พระ” นั่นแหละ

          “แต่ถ้าเขาไม่มีทุกข์เขาก็ไม่มาหาหลวงพ่อหรอกครับ” นายสมชายแย้งอย่างสุภาพ และข้อโต้แย้งของเขาก็จริงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์!

          “งั้นสิ คนสมัยนี้เขาจะนึกถึงพระก็ตอนมีทุกข์นั่นแหละ ตอนมีอำนาจวาสนาก็หลงมัวเมา ก่อกรรมทำชั่วโดยไม่กลัวบาปกลัวกรรม พอกรรมชั่วมาให้ผลทีนี้ก็จะนึกถึงพระ นึกถึงศาสนา เธอรู้ไหม คนที่อายุมากที่สุดน่ะตาบอด เพราะสั่งสมอกุศลกรรมไว้มาก มีเงินเป็นร้อย ๆ ล้านยังรักษาไม่หาย โรคกรรมนั้นไม่มีหมอที่ไหนรักษาได้ ข้อนี้ขอให้เธอจำใส่ใจเอาไว้ จะได้ไม่ทำชั่ว”

            “แล้วหลวงพ่อรักษาได้ไหมครับ”

          “ฉันไม่ใช่หมอ ก็ขนาดหมอเขายังรักษาไม่ได้ แล้วฉันเป็นผู้วิเศษมาจากไหนล่ะ เธอนี่พูดแปลก ๆ เอาละ เธอไปบอกให้เขารอสักประเดี๋ยว เดี๋ยวฉันจะลงไป” ท่านออกคำสั่ง

          “ให้เขาขึ้นมาข้างบนไม่ดีกว่าหรือครับ เผื่อมีใครมาอีกเดี๋ยวหลวงพ่อก็ไม่ได้พักผ่านกันพอดี” พูดอย่างเป็นห่วง

          “ไม่สำคัญหรอก เรื่องพักผ่อนนั้นไม่สำคัญสำหรับฉันเลย เพียงแต่ห่วงว่าจะเขียนหนังสือไม่เสร็จตามกำหนดเท่านั้นเอง”

          “กำหนดอะไรครับ” ลูกศิษย์ไม่เข้าใจ

          “กำหนดกฎเกณฑ์ของชีวิตน่ะสิ ฉันคิดเอาไว้ว่าจะต้องเขียนและพิมพ์ให้เสร็จก่อนวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑” ท่านตั้งใจจะให้หนังสือเล่มนี้เป็นตัวแทนของท่าน ผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องปฏิบัติสามารถศึกษาได้จากหนังสือที่ท่านเขียนไว้ ก็ว่าจะบอกให้นายสมชายรู้เมื่อเวลานั้นใกล้เข้ามา นอกจากพระบัวเฮียวแล้วยังไม่มีผู้ใดรู้เรื่องท่านจะประสบอุบัติเหตุรถคว่ำคอหักในวันที่ ๑๔ ตุลา

          “ทำไมถึงต้องเป็นอย่างนั้นล่ะครับ” ลูกศิษย์วัดไม่เข้าใจ

          “อย่าเพิ่งซักถาม เอาไว้ถึงเวลาแล้วฉันจะบอกเอง ลงไปได้ แล้วก็ปิดประตูกุฏิเสียให้หมด จะได้ไม่มีใครมารบ กวน” นายสมชายกราบสามครั้งแล้วจึงลงมาบอกคนทั้งสามว่า

          “เดี๋ยวท่านจะลงมาครับ”

          “ลงเดี๋ยวนี้ไม่ได้หรือ แหม เรื่องมากจริง เป็นพระเป็นเจ้าไม่น่าเจ้ายศเจ้าอย่าง” คุณหญิงพูดฉอด ๆ เพราะยังอารมณ์ค้างกับเรื่องนายขุนทอง

          “คุณหญิงใจเย็น ๆ น่า ว่าพระว่าเจ้า บาปกรรมรู้ไหม” อดีตรัฐมนตรีเตือนน้องสาว ฟังหล่อน “พล่าม” มานานเลยต้องเบรค ๆ ไว้เสียบ้าง

          “ก็มันจริง ๆ นี่คะท่าน” คนเป็นคุณหญิงเถียงพี่ชาย แล้วบ่นกระปอดกระแปดว่า

          “นี่ตั้งสามทุ่มกว่าเข้าไปแล้ว กว่าจะถึงบ้านมิสองยามสามยามหรอกหรือ”

          “ถึงเมื่อไหร่ก็ช่างเถอะ ขอให้มันถึงก็แล้วกัน คุณหญิงพูดราวกับว่าไม่เคยกลับบ้านดึก ๆ ยังงั้นแหละ จำไม่ได้แล้วหรือ สมัยที่คุณอัครเดชยังอยู่น่ะ คุณหญิงนั่งจั่วไพ่ตั้งแต่หัวค่ำยันรุ่งสางไม่เห็นบ่นสักคำ แถมบางวันยังไปเต้นรำกับไอ้หนุ่ม กลับบ้านตีสามตีสี่โน่น ทีมาวัดดึกหน่อยทำบ่น” อดีตรัฐมนตรีว่าน้องสาว

          สมัยที่สามียังมีชีวิต คุณหญิงหลงระเริงกับ “อำนาจวาสนา” และทำตัว “ซ่า” จนคนเป็นพี่ชายแท้ ๆ ก็ยังหมั่นไส้ ถูกว่าเช่นนี้คุณหญิงก็มีอารมณ์ จึง “แหว” ใส่พี่ชายว่า

          “แล้วท่านดีกว่าดิฉันนักหรือคะ ท่านหักหลังได้แม้กระทั่งเพื่อนสนิท ท่านมีเมียน้อยอายุคราวลูกคราวหลาน ไปที่ไหนก็มีเมียที่นั้น จนคุณหญิงตรอมใจตาย เพียงแค่นี้ท่านก็ไม่ได้ดีไปกว่าดิฉันแล้วละค่ะ” คุณหญิงพูดโกรธ ๆ แต่คนที่โกรธมากว่าคือ รัฐมนตรีเขาด่าน้องสาวอย่างไม่ไว้หน้าว่า

          “ยายอร...แกมันชั่วช้าสารเลวไม่มีที่เปรียบ ถึงฉันจะเป็นพี่ชายแท้ ๆ ของแก ฉันก็ไม่เข้าข้างแก นึกว่าฉันไม่รู้ความเลยระยำของแกรึไง จะให้บอกไหม ไอ้หนุ่มที่มันนอนกับแกน่ะ ชื่ออะไรบ้าง แกจำชื่อจำหน้ามันได้หมดทุกคนหรือเปล่า แล้วที่เจ้าอัครเดชเป็นอัมพฤกษ์ก่อนตายน่ะ เพราะมันเครียดที่เมียมันมีชู้ใช่ไหม ผู้ชายที่เมียมีชู้น่ะ เป็นโรคเครียดทุกคนแหละ ถึงบางคนจะไปมีเมียใหม่ แต่ความเครียดก็ยังไม่หาย อารมณ์วิปริตผิดมนุษย์มนาเข้ากับใครไม่ค่อยจะได้” อดีตรัฐมนตรี “ร่ายยาว” เพราะอัดอั้นตันใจมานาน ร้อนถึงนายเอ้ หรือ ดร.เอกสิทธิ์ต้องห้ามทัพ

          “คุณพ่อครับ คุณหญิงอาครับ ผมขอร้องเถอะ นี่ในวัดนะครับ ไง ๆ ก็อายลูกศิษย์วัดบ้าง” เขาหันไปทางนายสมชายซึ่งกำลังชงกาแฟร้อน ๆ มาเลี้ยงแขก ส่วนนายขุนทองหลับปุ๋ยไปแล้ว

          “องอายมันทำไม กะอีแค่เด็กวัด” คุณหญิงพูดพาล ๆ นายสมชายฟังแล้วก็ให้นึกปลงสังเวช พวกผู้ลากมากดีเขาช่างไม่มีการสงบสติอารมณ์กันเสียบ้างเลย นึกจะพูดจะว่าใครที่ไหนเมื่อไหร่ก็ว่ากันตามอำเภอใจ ไม่มีบันยะบันยัง น่าอนาถนัก

          รู้สึกโล่งใจเมื่อท่านพระครูเปิดประตูออกมา คู่กรณีหยุดวิวาทกันโดยปริยาย เมื่อท่านนั่งที่อาสนะแล้ว ดร.เอกสิทธิ์จึงกระซิบให้บิดาทำความเคารพ คนทั้งสามกราบท่านพระครู แล้วคุณหญิงอรอุษาก็ร้องไห้กระซิก ๆ

          “เจริญพรท่านรัฐมนตรีและคุณหญิงที่นับถือยิ่ง อาตมภาพในนามของคณะสงฆ์วัดป่ามะม่วงขอต้อนรับท่านรัฐมนตรีและคณะด้วยความเต็มใจ” ท่านใช้คำพูดที่ทำให้คนฟังรูสึกว่า “ถูกใจ” รู้ว่าเขาชอบให้ยกย่องก็ต้องยกย่องเขา ท่านเป็นคนไม่ขวางโลก ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมไหลไปกับโลก เพราะชาวโลกนั้นมักไหลไปตามแรงของกิเลสตัณหา ส่วนท่านเป็นสมณะจะเป็นอย่างชาวโลกนั้นหาควรไม่

            “คุณหญิงร้องไห้มีอะไรไม่สบายใจหรือ อาตมาพอจะช่วยได้บ้างไหม” น้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยเมตตานั้นทำให้คุณหญิงร้องไห้หนักขึ้น เธอพูดด้วยเสียงปนสะอื้นว่า

          “ดิฉันมีทุกข์หนักค่ะท่านพระครู พอหมดอำนาจวาสนาก็ถูกคนเขาเหยียบย่ำ พี่น้องคลานตามกันมาแท้ ๆ ก็ยังดูถูกดูแคลน ลูกเต้าก็เอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ มีแต่หาเรื่องทุกข์เรื่องเดือดร้อนมาให้” คุณหญิงพรรณนาทั้งน้ำหูน้ำตา อดีตรัฐมนตรีรู้สึกคันปากยิบ ๆ เมื่อถูกน้องสาวพูดแขวะ ครั้นจะโต้ตอบออกไปก็จะกลายเป็นว่ามาทะเลาะกันต่อหน้าพระสงฆ์องค์เจ้า จึงสู้นิ่งเอาไว้”

          “แล้วคุณหญิงเคยสงสัยหรือเปล่า ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น”

          “สงสัยค่ะ สงสัยมาก ๆ แล้วก็ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมชะตาชีวิตของดิฉัน จึงได้มากลับตาลปัตรเช่นนี้ ดิฉันทำกรรมอะไรไว้คะท่าน”

          “เรื่องนี้คุณหญิงต้องถามตัวเอง เพราะคนที่รู้ดีที่สุดก็คือคุณหญิง ที่อาตมาพูดมานี่ถูกหรือเปล่า” คุณหญิงอรอุษาใช้ผ้าเช็ดหน้าซับน้ำตาจนแห้งแล้วตอบว่า

          “ถูกค่ะ”

          “ถ้าอย่างนั้นคุณหญิงก็ลองทบทวนดูแล้วกันว่า ทำกรรมอะไรไว้บ้าง” คุณหญิงคิดว่าการสารภาพบาปจะทำให้หมดบาป จึงสารภาพเป็นบางเรื่องและปกปิดบางเรื่องเอาไว้ ท่านพระครูนั่งฟังด้วยอาการสงบ

          “แต่ก่อนดิฉันไม่เชื่อว่าบาปกรรมนั้นมีจริง จึงหลงระเริงกับยศและอำนาจ จนเป็นเหตุให้ก่อกรรมทำชั่วไว้มากมาย นี่ถ้าไม่ประสบกับความทุกข์ ดิฉันก็คงยังไม่เชื่อ เขาพูดกันว่า กรรมสมัยนี้มันติดจรวด จึงให้ผลเร็วโดยไม่ต้องรอให้ถึงชาติหน้า ท่านพระครูเชื่อหรือเปล่าคะ ว่าแต่ก่อนนี้ดิฉันร่ำรวยมาก ขนาดโต๊ะกินข้าวก็ยังฝังมุก ตอนนั้นคุณอัครเดชมีดิฉันเขาเป็นรัฐมนตรี วัน ๆ มีแต่คนเอาเงินมาให้ เราสองคนก็รับไม่อั้น ถ้าหน้าบ้านคุณอัครเดชรับ แต่หลังบ้านดิฉันเป็นคนรับ รู้สึกว่าเงินทองไหลมาเทมาจนนับไม่หวาดไม่ไหว ดิฉันก็ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อเพราะเงินได้มาง่าย เสื้อผ้าแต่ละชิ้นที่ดิฉันสวมใส่ก็ล้วนราคาแพง ชุดหนึ่ง ๆ ราคามากกว่าเงินเดือนข้าราชการชั้นเอกเสียอีก ลูก ๆ ก็ขับรถเก๋งคนละคัน แล้วก็ฟุ้งเฟ้อตามพ่อแม่

          แต่พอคุณอัครเดชเป็นอัมพฤกษ์ทำงานไม่ได้ เราก็ขาดรายได้เพราะไม่มีใครเอาเงินทองมาให้เหมือนแต่ก่อน ดิฉันและลูก ๆ ก็อยู่ในสภาพ “จมไม่ลง” ทรัพย์สินเงินทองที่ได้มาในทางมิชอบก็ร่อยหรอลงไปทุกวัน พอคุณอัครเดชเสียชีวิต ดิฉันก็ต้องช้ำใจหนักขึ้น เพราะลูก ๆ ทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงสมบัติกันต่อหน้าต่อตาดิฉัน ตู้ฝังมุก โต๊ะฝังมุก เขาก็แย่งกัน ขนไปขายทอดตลาด ไม่เกรงใจดิฉันซึ่งเป็นแม่” คนเล่าไม่ได้บอกความจริงแก่ท่านพระครูว่าที่ลูก ๆ เขาไม่เกรงใจเพราะเขากลัวคนเป็นแม่จะเอาเงินทองไปบำเรอพวกหนุ่ม ๆ ที่เป็นคู่นอน

          “แล้วคุณหญิงไปทำอะไรให้ลูก ๆ เขาไม่เกรงใจหรือเปล่า” คำถามของเจ้าของกุฏิแทงใจดำของคนเป็นคุณหญิง เธอกำลังคิดว่าจะตอบหรือไม่ตอบดี ท่านพระครูรู้ว่าจะทำให้เธออึดอัดใจจึงพูดตัดบทว่า

          “เอาละไม่ต้องตอบอาตมาก็ได้ แล้วท่านรัฐมนตรีมีอะไรจะปรึกษากับอาตมาหรือเปล่า” ประโยคหลังท่านถามอดีตรัฐมนตรี

          “เรื่องของผมก็คล้าย ๆ กับของน้องสาวแหละครับท่านพระครู แต่มีข้อดีข้อเสียต่างกันนิดหน่อย คือน้องสาวผมเขาแย่ตรงฐานะทางการเงินทรุดลงและลูก ๆ ก็แย่งสมบัติกัน แต่สำหรับผม เงินทางยังมีมากมายแต่ตาผมมองไม่เห็นเสียแล้ว อุตส่าห์บินไปรักษาถึงเมืองนอกก็ยังไม่หาย ผมจะมาเรียนถามท่านพระครูว่า ท่านพอจะมีทางช่วยผมบ้างไหม ช่วยทำให้ตาผมมองเห็นเหมือนแต่ก่อนน่ะครับ แล้วผมจะทำบุญไม่อั้นทีเดียว” ท่านพระครูตอบทันทีว่า

          “ช่วยไม่ได้หรอกท่าน อาตมาช่วยอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของกรรม ท่านสะสมอกุศลกรรมไว้มาก ถึงคราวที่มันมาให้ผลท่านก็ต้องรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ได้ฟังเช่นนั้นอดีตรัฐมนตรีวัยเจ็ดสิบเศษถึงกับนั่งกอดเข่าร้องไห้ คุณหญิงอรอุษาหยุดร้องไปแล้วก็มีอันต้องร้องอีก ดร.เอกสิทธิ์เองก็ตาแดง ๆ เพราะสมเพชบุคคลทั้งสอง หากความรู้สึกที่ว่านี้ก็เป็นไปชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เพราะเมื่อนึกถึง “ธุระ” ของตนที่จะมาเรียนปรึกษาท่านพระครูแล้ว เรื่องของคนอื่นก็มีอันหมดความหมาย เขาถามท่านเจ้าของกุฏิว่า

          “หลวงพ่อครับ ผมเรียนจบปริญญาเอกจากอเมริกา อยากจะใช้ความรู้มาพัฒนาประเทศ ผมจะมีโอกาสขึ้นเป็นรัฐมนตรีหรือเปล่าครับ คุณพ่อกรุยทางไว้ให้แล้ว” เขา “ปรึกษา” และเรียกท่านพระครูว่า “หลวงพ่อ” เหมือนที่นายสมชายเรียก ท่านเจ้าของกุฏิเห็นกฎแห่งกรรมคนเป็นด็อกเตอร์แล้ว จึงพูดขึ้นว่า

          “ท่านอยากเป็นอย่างที่คุณพ่อเป็นใช่ไหม”

          “ครับ” เขาเข้าใจว่า “เป็นรัฐมนตรี”

          “แปลว่าท่านอยากประสบเคราะห์กรรมแบบเดียวกับที่ท่านรัฐมนตรีประสบอยู่ เป็นอย่างนั้นหรือ”

          “ไม่ครับ ผมไม่ต้องการเช่นนั้น” เขารีบปฏิเสธ

          “ถ้าเช่นนั้นก็เลิกล้มความคิดที่จะเป็นรัฐมนตรีเสีย อาตมาขอบิณฑบาตเถิดนะ ท่านอย่าได้ไปยุ่งกับการเมืองเลย เชื่ออาตมาสักครั้งเถอะ”

          “การเมืองมันไม่ดีอย่างไรหรือครับ หลวงพ่อจึงไม่อยากให้ผมเข้าไปยุ่งเกี่ยว” ถามเพื่อจะ “ลองภูมิ”ท่าน

          “เรื่องนี้ท่านคงทราบดีกว่าอาตมา ท่านเป็นถึงด็อกเตอร์ ลองไปคิดหาคำตอบเอาเองก็แล้วกัน” ท่านพูดเพียงเท่านี้

          “ท่านพระครูช่วยรดน้ำมนต์ตัดเวรตัดกรรมให้ดิฉันด้วยเถิดค่ะ” คุณหญิงอรอุษาพูดขึ้น

          “น้ำมนต์ช่วยตัดเวรตัดกรรมไม่ได้หรอกคุณหญิง แต่ถ้าจะให้รดให้เพื่อเป็นสิริมงคล อาตมาก็จะรดให้” ท่านจำเป็นต้องใช้น้ำมนต์เพื่อให้เขาสบายใจขึ้น เพราะหากจะแนะนำให้เขาสวดมนต์หรือเจริญกรรมฐานเขา “รับไม่ได้” กรรมเขาหนักเกินกว่าที่ท่านจะช่วยได้ ไหน ๆ เขาก็มาขอพึ่งบารมี ก็ต้องช่วยเขาไปตามหน้าที่ในเมื่อเขาไม่สามารถรับ “ของจริง” ได้ ท่านก็ต้องให้ “ของปลอม” แต่ถ้าใครมีอุปนิสัยบารมีพอที่จะรับของจริงได้ ท่านก็จะไม่ยอมให้ของปลอมอย่างเด็ดขาด

          ท่านพระครูรดน้ำมนต์ให้แล้วคนทั้งสามก็ลากลับ นายสมชายเดินตามไปส่งถึงที่จอดรถ ดร.เอกสิทธิ์ทำหน้าที่เป็นคนขับ ชายวัยกลางคนเปิดกระเป๋าสตางค์ดึงธนบัตรใบละร้อยใหม่เอี่ยมส่งให้นายสมชาย

          “น้องชาย ขอบใจมากนะ เอาไว้ซื้อขนมกิน”

          “ขอบคุณครับ ขนมที่วัดมีเยอะ ผมไม่ต้องซื้อหรอกครับ” เขาตอบและไม่ยอมรับเงินนั้น ด็อกเตอร์วัยสี่สิบเศษจึงหยิบขึ้นมาอีกใบหนึ่งด้วยคิดว่าร้อยเดียว มันอาจจะน้อยไป

          “งั้นเอาไปสองใบเอ้า” ครั้นนายสมชายปฏิเสธอีก คนเป็นด็อกเตอร์จึงเก็บมันเข้ากระเป๋าดังเดิม เป็นเรื่องประหลาดที่สุดเท่าที่เขาเคยพบคนที่ปฏิเสธเงินยังมีอยู่ในโลก!

           

มีต่อ........๔๓