สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๕

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00045

๔๕...

          ท่านพระครูฉันภัตตาหารเช้าเสร็จแล้ว นายขุนทองกับนายสมชายก็ช่วยกันยกสำรับกับข้าวลงมารับประทานกันที่กุฏิชั้นล่าง กำลังทานกันอยู่ เด็กส่งหนังสือพิมพ์ก็นำหนังสือพิมพ์รายวันมาส่งให้ นายสมชายเห็นหัวข้อข่าวและภาพถ่ายในหน้าหนึ่งแล้วก็มีอันทานข้าวไม่ลง

          “ยิงอาจารย์นักเรียนนอกดับคารถเก๋ง” ภาพสตรีวัยสี่สิบที่นอนพับคาพวงมาลัย ข้างล่างมีภาพถ่ายเล็ก ๆ เพื่อให้เห็นหน้าชัดเจน บอกชื่อและนามสกุลไว้ชัดแจ้ง เขาอ่านข่าวนั้นแล้วถือหนังสือพิมพ์วิ่งขึ้นไปหาท่านพระครู

          “หลวงพ่อครับ คุณนายราศีถูกยิงตายเสียแล้วละครับ” พูดพร้อมกับส่งหนังสือพิมพ์รายวันฉบับประจำวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ให้

          “ไม่ต้องหรอกสมชาย ฉันรู้แล้วถูกยิงตอนสองทุ่มเมื่อคืนนี้ใช่ไหมล่ะ เขาบอกฉันเมื่อคืนก่อน”

          “ที่แกว่ามาลาตายนั้นมันก็เรื่องจริงซีครับหลวงพ่อ ผมนึกว่าแกเพี้ยนซะอีก แล้วแกรู้ไหมครับว่าใครยิงแก เพราะในข่าวยังไม่รู้ตัวคนยิง”

          “รู้ซี ฉันก็รู้”

          “ทำไมแกไม่ไปแจ้งความไว้ก่อนล่ะครับ แล้วหลวงพ่อจะไปให้ข่าวกับหนังสือพิมพ์หรือเปล่า” “ลูกคุณช่างซัก” ถามอย่างอยากรู้

          “ก็คนถูกยิงแท้ ๆ เขายังไม่ยอมแจ้ง แล้วฉันจะไปวุ่นวายทำไม มันเป็นเรื่องของกรรมน่ะสมชาย ไป ลงไปทำงานต่อได้แล้ว ฉันไม่เคยอ่านหนังสือพิมพ์ ที่ต้องรับทุกวันก็เพื่อเอาไว้ให้พวกเธอและแขกอ่าน” เมื่อท่านไม่สนใจ ไม่ตื่นเต้นกับข่าวนั้น นายสมชายจึงลงมาวิพากษ์วิจารณ์กับนายขุนทองที่กุฏิชั้นล่าง

          “มีอะไรตื่นเต้นหรือพี่ ถึงต้องวิ่งขึ้นไปหาหลวงลุง” นายขุนทองถามตัวเขาก็อยากรู้ ทว่าห่วงกินมากกว่า กินกับนอนต้องมาก่อนเสมอ

          “แล้วจะกินข้าวต่อไหมนี่ ไม่กินหนูจะได้เก็บ”

          “อยากเก็บก็เก็บได้เลย ข้ากินไม่ลงแล้ว นี่เอ็งดูผู้หญิงคนนี้ซี เขามาบอกหลวงพ่อเมื่อคืนก่อนว่าจะถูกยิงตาย แล้วเขาก็ถูกยิงตายจริง ๆ ตายเมื่อคืนนี้ตอนสองทุ่ม”

          “อ้าว มาหาหลวงลุงแล้วทำไมหนูไม่เห็นล่ะ”

          “ก็เอ็งเอาแต่นอน จะรู้นะรู้โมอะไร้ เขามาตอนเอ็งหลับปุ๋ยไปแล้วน่ะ” ลูกศิษย์วัดแถลงไข

          “แล้วพี่ให้เขาพบหลวงลุงหรือเปล่า ละเมิดกฎอีกตามเคยล่ะซี” คนเคร่งครัดในกฎเกณฑ์ว่า

          “ถึงไม่ให้พบ เขาก็ต้องไปพบจนได้แหละน่า หลวงพ่อบอกว่าเขามาแบบ “เจตภูต” คนมาวัยกว่าอธิยาย

          “อีกแล้วเหรอ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วมีคนแก่คนนึงมาแบบเดียวกันนี้ หลวงลุงก็บอกว่าเป็นเจตภูตเหมือนกัน”

          “งั้นหรือ แล้วทำไมข้าไม่เห็นล่ะ” นายสมชายเป็นฝ่ายถามบ้าง นายขุนทองได้โอกาสแก้เค้นจึงว่า

          “ก็พี่มัวไปจีบสาวซะน่ะซี ตอนพี่กลับมาน่ะแกไปแล้ว หนูอุตส่าห์เดินตามจะไปต่อว่าที่แกละเมิดกฎ ปรากฏว่าตามแกไม่ทัน ตอนหลังถึงได้รู้ว่าแกมาแบบเจตภูต หลวงลุงเป็นคนบอก”

          “แล้วเอ็งว่ามันประหลาดไหมล่ะที่วิญญาณออกจาร่างได้ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ตาย ข้านึกว่าต้องตายเสียก่อนถึงจะออกได้ ที่วัดนี้มีอะไรแปลก ๆ นะ ไม่รู้วัดอื่นเขาเป็นยังงี้บ้างหรือเปล่า”

          “พี่ก็ลองไปอยู่วัดอื่นดูซี ไม่งั้นก็ไม่รู้”

          “อ้อ นี่คิดจะไล่ข้าเหรอ แล้วเอ็งขับรถให้หลวงพ่อได้ว่างั้นเถอะ” ลูกศิษย์วัดคิดไปอีกทาง

          “เปล่านี่ ก็พี่อยากรู้ก็ต้องลอง ไม่ลองก็ไม่รู้ หนูไม่ได้คิดจะไล่พี่เล้ยให้ตายซี พี่ไปแล้วใคร้จะมาเป็นคู่ทุกข์คู่ยากของหนู” นายขุนทองพูดเสียงอ่อนเสียงหวาน

          “แต่ข้าอยากรู้โดยไม่ต้องลองนี่นา” นายสมชายว่า

          “ถ้าอย่างนั้นหนูก็ไม่รู้จะแนะนำยังไง หรือพี่ว่าหนูควรจะแนะนำพี่ยังไงก็กรุณาแนะนำหนูด้วย นึกว่าเอาบุญเถอะนะพี่นะ”

          “นี่หยุด หยุดได้แล้วขุนทอง เอ็งยิ่งพูดก็ยิ่งวกวนจนข้าชักจะเวียนหัวแล้วนะ” นายสมชายพูดอย่างอดรนทนไม่ได้”

          “เวียนหัวเหรอ เดี๋ยวรอเดี๋ยวหนูจะไปละลายยาลมมาให้” ยังไม่ทันที่นายสมชายจะออกปากห้าม นายขุนทองก็หายเข้าไปในห้อง ครู่หนึ่งก็ถือถ้วยยาลมอกมาส่งให้ลูกศิษย์วัด

          “เอ้า ดื่มซะจะได้หายเวียนหัว” นายสมชายไม่รับถ้วยยา หากใช้มือทั้งสองกุมขมับ พูดว่า

          “ขุนทอง ข้าขอร้องเถิดนะ เอ็งอย่ายั่วข้าเลย ไป เก็บสำรับไปล้างแล้วกวาดถูกุฏิให้เรียบร้อย ส่วนข้าจะไปล้างรถ พรุ่งนี้หลวงพ่อจะไปจันทบุรีแต่เช้ามืด”

          “ให้หนูไปด้วยคนได้ไหม เดี๋ยวหนูจะขึ้นไปขออนุญาตหลวงลุง” นายขุนทองว่าเพราะอยากไปเปิดหูเปิดตากับเขาบ้าง”

            “คงไม่ได้มั้ง เอ็งต้องอยู่ดูแลเรื่องงานศพ พรุ่งนี้จะมีคนเอาศพมาสวดอภิธรรมตอนทุ่ม” เขาหมายถึงศพเจ๊นวลศรี

          “ศพใคร แล้วทำไมพี่ถึงรู้ล่ะ”

          “ก็เมื่อวันก่อนข้าไปเยี่ยมเขา เขาบอกว่าพรุ่งนี้ตอนตีสี่สิบนาทีเขาจะตาย ตอนเย็นจะให้ลูกหลานเอาศพมาไว้ที่นี่”

          “ใครหนอ หนูรู้จักมั้ย”

          “ป้านวลศรีที่ขายอาหารอยู่ในตัวเมืองจังหวัดน่ะ ดูเหมือนจะชื่อร้าน “เน้ยโภชนา” ข้าไม่รู้หรอกว่าเอ็งรู้จักเขาหรือเปล่า”

            “อ๋อเหรอ เอ หนูก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหนูรู้จักหรือเปล่า” นายขุนทองล้อเลียน

          “นี่พอที พอที ข้าถามอะไรซักอย่างเถอะนะขุนทอง”

          “พี่จะถามอะไรก็ถามมาเล้ย”

          “ข้าอยากถามว่าเอ็งเคยไหมที่อยู่ดี ๆ ก็ฟันร่วงสองซี่น่ะเคยไหม”

          “อุ๊ย ถามหวาดเสียว ไม่เคยหรอกฮ่ะ เคยแต่ทำให้ฟันคนอื่นร่วงน่ะ พี่จะลองไหม ลองไหม” นายสมชายไม่ตอบหากเดินไปที่โรงรถเพื่อทำหน้าที่ ขืนคุยกับเจ้าหนุ่มที่ชื่อขุนทองนานกว่านี้อาจจะยั้งโทสะไม่ไหว ก็มันกวนโทสะเสียเหลือเกิน เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็น

          วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ ท่านพระครูออกจากวัดป่ามะม่วงตั้งแต่ตีสี่ เข้ามาในรถแล้วก็ “นั่งหลับตา” ทันที นายสมชายรู้สึกเหงาปากเพราะไม่มีคนคุยด้วย เขาขับรถอย่างตั้งใจ หากขับไปได้ชั่วโมงเศษ ๆ ก็รู้สึกง่วงเพราะเมื่อคืนกลับจาก “บ้านเหนือ” ดึกไปหน่อย ชายหนุ่มชะลอความเร็วลง ใช้ฟันขบริมฝีปากล่างจนรู้สึกเจ็บหากก็ยังไม่หายง่วง รถกำลังวิ่งอยู่บนถนนสายเอเชีย ใกล้ปากทางที่จะแยกเข้าถนนพหลโยธิน คิดจะขออนุญาตจอดรถงีบสักประเดี๋ยวก็พอดีกับท่านพระครูพูดขึ้นว่า

          “เข้าพหลโยธินแล้วจอดข้างทาง อนุญาตให้หลับสิบนาที” ชายหนุ่มปฏิบัติตามอย่างแสนจะยินดี เวลาง่วงแล้วไม่ได้นอนนั้นมันทรมานอย่าบอกใคร ท่านพระครูก็ช่างรู้ใจหาใครเหมือน “แสนดีมีเมตตาอย่างนี้ สามชายขอรับใช้ไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่เลยแหละครับหลวงพ่อ” เขาแอบขอบคุณในใจ ครั้นจะพูดออกมาก็กลัวจะหายง่วง ก็ในเมื่อท่านอนุญาตให้งีบ มาหายง่วงเสียก็หมดสนุกกัน

          เข้าถนนพหลโยธินแล้วนายสมชายก็แอบรถไว้ข้างทาง เปิดไฟฉุกเฉินเอาไว้แล้วเอนกายพิงพนักเก้าอี้ หลับปุ๋ยไปในทันที เขาไม่ห่วงว่าจะหลับเกินเวลาที่กำหนด เพราะเมื่อถึงเวลา ท่านพระครูก็จะปลุกเองโดยที่ท่านไม่ต้องดูนาฬิกา ท่านเคยพูดให้เขาฟังบ่อย ๆ ว่า ผู้ที่ฝึกสติไว้ดีแล้วสามารถใช้สติแทนนาฬิกาปลุกได้

            รถวิ่งเข้าเขตอำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เมื่อเวลาเก้านาฬิกาสี่สิบนาที หากไม่เสียเวลาจอดข้างทางก็จะถึงเก้าโมงครึ่งพอดิบพอดีตามที่ท่านพระครูกำหนดไว้

          “สมชายเดี๋ยวแวะที่ร้านอาหารข้างหน้านั่น หิวหรือยัง” ถามอย่างอาทร

          “นิดหน่อยครับ เดี๋ยวนิมนต์เหลวงพ่อฉันกาแฟสักถ้วย คงทันนะครับ”

          “ทันแน่นอน อีกสักห้านาทีก็ถึงแล้ว ต้องไปถึงให้ตรงเวลา เร็วไป ช้าไป เจ้าภาพเขาจะอึดอัดเป็นกังวล” ท่านสอนลูกศิษย์วัดไปในตัว นายสมชายจอดรถหน้าร้านข้าวมันไก่ ซึ่งมีรถยนต์จอดอยู่หลายคัน แล้วจึงลงมาเปิดประตูให้เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง จากนั้นจึงเดินตามท่านเข้าไปในร้าน ซึ่งมีโต๊ะว่างอยู่เพียงโต๊ะเดียว เถ้าแก่เจ้าของร้านกุลีกุจอเข้ามาต้อนรับ

          “นิมนต์ครับ” เขาพูดไทยชัดเจนแม้สำเนียงจะออกไปทาง “คนจันท์” นายสมชายต้องแยกไปนั่งอีกโต๊ะหนึ่ง ซึ่งมีลูกค้านั่งรับประทานอยู่เพราะจะนั่งรวมกับท่านพระครูไม่ได้

          “เถ้าแก่ขอกาแฟถวายหลวงพ่อ ส่วนของผมขอข้าวมันไก่” เขาเดินมาบอกเถ้าแก่แล้วกลับไปนั่งที่เดิม เจ้าของร้านเรียกลูกจ้างมาสั่งอีกทีหนึ่ง ตัวเขายืนอย่างสำรวมอยู่ตรงหน้าท่านพระครู

          “หลวงพ่อมาจากไหนหรือครับ” เขาถาม

          “อาตมามาจากวัดป่ามะม่วง จังหวัดสิงห์บุรี เถ้าแก่รู้จักวัดนี้หรือเปล่า เคยได้ยินชื่อไหม”

          “ไม่รู้จักครับแต่เคยได้ยินชื่อ เห็นเขาว่าเจ้าอาวาสวัดนี้ดูหมอแม่นมาก” เจ้าของร้านพูดตาม “เสียงลือเสียงเล่าอ้าง” ได้ยินมาว่านอกจากดูหมอแม่นแล้วท่านยังให้หวยเก่งด้วย”

          “อาตมาไม่เคยให้หวยใคร ส่วนเรื่องหมอดูก็เคยมาบ้างสมัยที่มีกระจกหมอดู แต่ก็ได้โยนทิ้งน้ำไปร่วมยี่สิบปีแล้ว” ท่านตอบตามจริง

          “หรือครับ แหม ผมนึกว่าจะได้เลขสักตัวสองตัว” เจ้าของร้านรู้สึกผิดหวัง ที่จริงเขารวยอยู่แล้วหากก็อยากรวยขึ้นไปอีก วิสัยของปุถุชนนั้นคำว่า “พอ” ย่อมไม่มี

          “ขยันทำมาหากินก็รวยเองนั่นแหละ ก็มีรายได้ทุกวันไม่ใช่หรือ”

          “ครับ แต่มันน้อย อยากได้ทีละมาก ๆ น่ะครับหลวงพ่อ” คนมีนิสัยงกมาแต่กำเนิดว่า

          “มากมันก็มาจากน้อยนะโยมนะ โบราณเขาสอนว่า “อย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่านอนคอยวาสนา” อาตมาว่าเขามีเหตุผลนะคนโบราณน่ะ” พอดีกับลูกจ้างนำกาแฟมาให้ เจ้าของร้านจึงรับมาประเคนด้วยตัวเอง เสร็จแล้วจึงขอตัวไปดูแลลูกค้าโต๊ะอื่น ๆ เพราะคิดว่ายังไงเสียคงไม่ได้ “เลข” แน่ในความรู้สึกของเขา หลวงพ่อองค์นี้ไม่น่าศรัทธา “พระที่ดูหมอไม่เป็น ให้หวยไม่ได้ ใครจะไปศรัทธาเลื่อมใส”  เจ้าของร้านคิด

          ออกจากร้านอาหาร นายสมชายก็ขับรถตามแผนผังที่คุณนายโสภิตส่งผ่านมาทางท่านพระครูและก็ไปถึงบ้านงานตรงเวลา คุณนายโสภิตออกมาต้อนรับถึงรถ

          “นิมนต์ค่ะหลวงพ่อ กำลังกลัวว่าสมชายจะพาหลวงพ่อหลงทางอยู่เชียว ที่ไหนได้มาก่อนองค์อื่น ๆ เสียอีก” คุณนายพูดอย่างยินดี นิมนต์ท่านเข้าไปนั่งยังอาสนะที่จัดเตรียมไว้สำหรับพระสงฆ์ ๙ รูป ท่านพระครูเลือกนั่งเป็นลำดับที่สองเพราะทราบว่าท่านเจ้าคุณรูปหนึ่งก็ได้รับนิมนต์มางานนี้เช่นกัน “เห็นหนอ” มีประโยชน์อย่างนี้

          ท่านสังเกตการจัดอาสนะสงฆ์ที่เจ้าภาพจัดไว้ เห็นว่าไม่ถูกต้องตามประเพณีนิยม พระพุทธรูปควรจะไว้ทางขวามือของพระสงฆ์ก็ไปอยู่ทางซ้ายมือ ครั้นมองไปทางขวาก็เห็นว่าเป็นห้องน้ำ จึงเข้าใจเหตุผลและความจำเป็นที่เจ้าภาพต้องจัดพระพุทธรูปไว้ทางซ้ายมือ ประเดี๋ยวหนึ่งท่านเจ้าคุณกับพระสงฆ์อีก ๗ รูปก็มาถึง สงฆ์ ๗ รูปนั่งต่อจากท่าน ส่วนท่านเจ้าคุณนั่งอาสนะที่ติดกับพระพุทธรูปซึ่งเป็น “หัวแถว”

          ท่านพระครูทำความเคารพท่านเจ้าคุณด้วยการไหว้ รับไหว้แล้วผู้มาใหม่ก็เริ่มรายการตำหนิเจ้าภาพด้วยเสียงที่ค่อนข้างดังว่า “โยมทำไมเอาพระพุทธรูปมาไว้ทางซ้ายมือของพระสงฆ์ ทำไมไม่เอาไว้ขวามือ โยมทำผิดรู้ไหม”

          “เจ้าค่ะ” คุณนายโสภิตรับผิดโดยไม่ได้แก้ตัว

          “ทีหน้าทีหลังอย่าได้ทำอย่างนี้อีกนะ แขกไปใครมาอายเขา คนที่ไม่รู้ธรรมเนียมก็ไม่ว่าอะไร แต่คนที่รู้เขาจะตำหนิเอา” ท่าน “ว่า” อีก

          “เจ้าค่ะ” คุณนายเจ้าของบ้านรับผิดอีก

          “อะไร เป็นถึงคุณนายนายอำเภอ ทำไมไม่รู้จักขนบธรรมเนียมเสียบ้างเลย” คราวนี้คุณนายหน้าสลดลงนิดหนึ่ง อธิบายช้า ๆ หากชัดถ้อยชัดคำว่า

          “ท่านเจ้าคุณเจ้าคะ ดิฉันพอจะรู้ธรรมเนียมเจ้าค่ะ แต่ที่ต้องทำอย่างนั้นเพราะเห็นว่าการเอาพระพุทธรูปไปตั้งติดกับห้องน้ำ มันไม่เหมาะ ดิฉันก็เลยต้องยอมผิดธรรมเนียมเจ้าค่ะ”

          ฟังคำอธิบายของคนเป็นเจ้าภาพแล้ว ท่านเจ้าคุณถึงกับหน้าเสียคิดในใจว่าไม่น่า “ปากไว” เช่นนี้เลย อายพระลูกวัด ๗ รูปนั้นก็อาย ไหนจะรูปที่นั่งติดกับท่านนี่อีกเล่า มาจากวัดไหนก็ไม่รู้แต่ดูท่าทางจะเป็น “พระภูธร” เสียมากกว่า

          เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงนั่งนิ่งดูเหตุการณ์อยู่ แล้วท่านก็ได้บทเรียนอีกบทหนึ่งโดยที่ไม่ต้องไปโรงเรียน บทเรียนนั้นสอนท่านว่า “ไปที่ไหน อย่าเอาปากไปก่อน ขอให้ถือคติว่า ตาดู หูฟัง ปากนิ่ง จะได้ไม่ต้องอับอายขายหน้าคนอื่นเขา”

          ทักทายปราศรัยกับเจ้าของบ้านพอสมควรแก่เวลาแล้ว พระสงฆ์ทั้ง ๙ รูปก็เริ่มเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นคุณนายโสภิตและญาติ ๆ จึงช่วยกันถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์

          ท่านพระครูเจริญคิดว่างานนี้ หากท่านเพียงนั่งพิจารณาอาหารโดยไม่ฉันก็คงจะต้องถูกท่านเจ้าคุณช่างเจรจารูปนี้ตำหนิติเตียนเอาเป็นแน่ เผลอ ๆ คุณนายโสภิตก็จะถูกเอ็ดอีกว่าไปนิมนต์พระบ้า ๆ บอ ๆ จากที่ไหนมาก็ไม่รู้

          ครั้นพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณนายโสภิตจึงถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ทั้ง ๙ รูป เมื่อพระสงฆ์ “ยถาสัพพี” เธอจึงกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้นายอำเภอสิทธิศักดิ์ สามีผู้ล่วงลับ ท่านพระครูเคยสอนไว้ว่า “ยถาให้ผี สัพพีให้คน” ดังนั้นเมื่อพระขึ้น “ยถา วาริ วหา...” เธอจึงเริ่มรินน้ำลงในภาชนะกระทั่งท่านว่าถึง “มณิ โชติ รโส ยถา” แล้วประนมมือรับพรเมื่อท่านขึ้น “สัพพีติโย วิวัชชันตุ”

          เมื่อพิธีทำบุญอายุครบ ๕ รอบของคุณนายโสภิตเสร็จสิ้นลง ท่านเจ้าคุณและพระลูกวัดอีก ๗ รูป จึงลากลับ คุณนายโสภิตไปส่งท่านถึงรถ

          “คุณนาย พระที่นั่งติดกับอาตมาเป็นใครกัน” ท่านเจ้าคุณถาม รู้สึกไม่ถูกชะตากับ “พระภูธร” รูปนั้น คงเป็นพระภูธรแน่ ๆ ก็ท่าทางเชย ๆ ออกอย่างนั้น แต่จะเป็น “พระภูธร” หรือ “พระนครบาล” ท่านก็รู้สึกไม่ถูกชะตาตั้งแต่แรกเห็น ไม่ถูกชะตาเอามาก ๆ คุณนายโสภิตไม่ตอบในทันที เธอกำลังคิดหาคำตอบที่เหมาะสม ดูเหมือนท่านท่านเจ้าคุณจะมี “จิตริษยา” ท่านพระครูอยู่ในใจ ตัวเธอเองนั้นเคารพนับถือท่านพระครูมากกว่า เพราะท่านเป็น “พระปฏิบัติ” ส่วนท่านเจ้าคุณนั้นเคยนับถือกันสมัยที่คุณสิทธิศักดิ์ยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่เลื่อมใสใน “จริยาวัตร” ของท่านสักเท่าไหร่ ขนาดลูกศิษย์ใกล้ชิดของท่านยังมาแอบนินทาให้คุณนายฟังถึงสรรพคุณของเจ้าคุณรูปนี้ว่า “เช้าเอน เพลนอน เย็นพักผ่อน ค่ำจำวัด ดึกซัดมาม่า ตีห้าคิดดอกเบี้ย” เขาบอกว่าท่านมีเงินเป็นล้าน ๆ ให้คนกู้ ยิ่งกว่านั้นลูกศิษย์คนเดียวกันนี้ยังมาเล่าอีก จะจริงหรือไม่จริงก็อยู่ที่ลูกศิษย์คนนั้น เขาเล่าให้คุณนายฟังว่า

          “คุณนายครับ ผมน่ะแสนจะอึดอัดพูดไม่ออก บอกไม่ได้ ครั้นจะไม่พูดไม่บอก มันก็อึดอัดแน่นอก ผมก็ขอบอกคุณนายคนเดียวก็แล้วกัน รู้แล้วก็เหยียบเสียนะครับ เหยียบให้แน่น ๆ เพราะถ้าเรื่องนี้รู้ถึงหูท่านเจ้าคุณเมื่อไหร่ ผมต้องตายเมื่อนั้น “ตายหยังเขียด” เชียวนาครับ” เขาอารัมภบทยืดยาวก่อนเล่าว่า

            “คุณนายทราบไหมครับ ที่ท่านเจ้าคุณท่านคุยว่าสามารถเข้า “นิโรธสมาบัติ” ได้ถึงเจ็ดวันนั้น ความจริงเป็นอย่างไร” เขายกมือท่วมหัวพร้อมกล่าวคำสาบาน “เจ้าประคู้ณ ถ้าลูกช้างใส่ร้ายพระสงฆ์องค์เจ้า ขอให้ลูกช้างตายไปตกนรกเถิด” แล้วจึงเล่าวิธีการเข้านิโรธสมาบัติของท่านเจ้าคุณว่าท่านจะปิดกุฏิ ๗ วัน ห้ามลูกศิษย์ลูกหาเยี่ยมเยียน โดยสั่งเขาให้บอกคนเหล่านั้นว่าท่านจะเข้านิโรธสมาบัติเป็นเวลาเจ็ดคืนเจ็ดวันติดต่อกันโดยไม่ฉันและไม่จำวัด ตัวเขาเท่านั้นที่รู้ว่าท่าน “ตุน” อาหารการกินไว้เต็มตู้เย็นแล้วสั่งให้เขาทำขึ้นมาถวาย

          กิน ๆ นอน ๆ อยู่ในกุฏิครบตามเวลาที่กำหนดแล้วก็ให้เขาประกาศแก่ลูกศิษย์ลูกหาว่าท่านออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ใครอยากได้บุญก็ให้รีบเอาอาหารตลอดจนข้าวของเงินทองมาถวาย เพราะการถวายของกับพระที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัตินั้นมีอานิสงส์แรงกล้า

          บรรดาผู้งกบุญแต่ไร้ปัญญาทั้งหลายก็พากันมาถวายของและกล่าวชื่นชมว่า ผิวพรรณท่านเจ้าคุณผ่องใสเพราะอำนาจสมาธิ มีเขาคนเดียวเท่านั้นที่รู้ว่าท่านผ่องใสเพราะกิน ๆ นอน ๆ อยู่ในกุฏิถึงเจ็ดคืนเจ็ดวัน ไม่รู้ว่าท่านจะ  หลอกลวงชาวบ้านไปทำไม ช่างไม่กลัวบาปกลัวกรรมเสียบ้างเลย

          ส่งท่านเจ้าคุณและพระลูกวัดกลับกรุงเทพฯ แล้ว คุณนายโสภิตจึงกลับมาคุยกับท่านพระครูเพื่อ “รายงานผลการปฏิบัติธรรม” ให้ท่านทราบ คุณนายเคยไปเข้ากรรมฐานที่วัดป่ามะม่วงหลายครั้งและนำมาปฏิบัติต่อที่บ้านทุกวัน มีปัญหาอะไรก็ไปเรียนถามท่านพระครูเพราะตอนนั้นสามีของคุณนายเป็นนายอำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี การไปมาจึงไม่ลำบาก ต่อเมื่อนายอำเภอเสียชีวิต คุณนายจึงย้ายกลับมาอยู่ภูมิลำเนาเดิมที่จังหวัดจันทบุรี แล้วก็เลยไม่ได้ไปหาท่านพระครูอีก

          “หลวงพ่อคะ เมื่ออาทิตย์ก่อนเกิดเรื่องอัศจรรย์ค่ะ” คุณนายพูดขึ้น เมื่อกลับมานั่งเรียบร้อยแล้ว

          “อัศจรรย์ยังไงหรือคุณนาย” ท่านถาม

          “ก็ดิฉันนั่งกรรมฐานอยู่ในห้องพระดี ๆ เกิดตัวลอยออกไปนอกหน้าต่าง กิ่งทับทิมเกือบแทงตาแน่ะค่ะ พวกคนใช้เขาเห็นเลยพากันคิดว่าดิฉันได้คุณวิเศษ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ แหม! ลอยออกไปตกดังตุ๊บ ยังหาว่าเหาะได้” คุณนายเล่า ยังนึกขำตัวเองไม่หาย

          “ก่อนจะลอยคุณนายรู้สึกอย่างไร”

          “รู้สึกตัวมันเบาค่ะ ดิฉันก็กำหนด “เบาหนอ” พอกำหนดอย่างนั้นตัวมันก็ลอยขึ้น ไม่ทราบลอยได้ยังไง น้ำหนักร่วมแปดสิบ” เธอพูดอย่างกังขา

          “แล้วคุณนายกำหนดว่าอย่างไร ตอนตัวลอยน่ะ”

          “ดิฉันกำหนด “ลอยหนอ” ค่ะ

          “แล้วกัน กำหนดอย่างนั้นจะไปได้เรื่องอะไร บอกให้ลอยมันก็ลอยน่ะซี ดีนะที่ไม่ลอยไปถึงวัดป่ามะม่วงโน่น” ท่านพระครูพูดยิ้ม ๆ คุณนายจึงเอออวยว่า

          “แหม ถ้าไปถึงโน่นก็ดีซีคะหลวงพ่อ ดิฉันจะได้เลิกจ้างคนขับรถ อยากไปไหนมาไหนก็ลอยไป แบบนี้เขาเรียกว่าอะไรคะหลวงพ่อ ดิฉันได้ญาณอะไร” คนถามอยากรู้

          “ไม่ใช่ญาณหรอกคุณนาย เป็นอำนาจของปีติน่ะ ปีติที่ทำให้ตัวเบาลอยขึ้นได้นั้นเขาเรียกว่า อุพเพงคาปีติ การเกิดปีติขึ้นเพราะองค์ธรรม ขณะที่ปฏิบัติไม่สมดุลกัน กล่าวคือ สติ วิริยะ และสมาธิ มันไม่เสมอกัน สมาธิมันเกินสติและวิริยะ จึงทำให้ออกนอกลู่นอกทาง ฉะนั้นคุณนายต้องเพิ่มสติให้มากขึ้นอีก ให้มันเสมอกับวิริยะและสมาธิ การปฏิบัติจึงจะก้าวหน้า”

          “แต่ดิฉันก็มีสตินะคะหลวงพ่อ เพราะขณะที่ตัวลอยดิฉันก็รู้” คุณนายพูดอย่างแคลงใจ

          “อาตมาก็ไม่ได้ว่าคุณนายไม่มีสติ เพียงแต่บอกว่ากำลังของมันด้วยกว่าสมาธิกับวิริยะ แล้วเวลากำหนดขณะเมื่อตัวลอย คุณนายต้องกำหนดว่า “รู้หนอ รู้หนอ” คือเอาสติไปรู้ว่าตัวกำลังลอย ถ้ากำหนดอย่างนี้แล้วมันยังลอย คุณนายต้องกำหนดว่า “หยุดหนอ หยุดหนอ” เข้าใจหรือยัง อย่าไปกำหนด “ลอยหนอ” เพราะเดี๋ยวเกิดลอยไปตกน้ำตกท่าเดี๋ยวจะหาว่าอาตมาสอนไม่ดี”

            “แหม ดิฉันนึกว่าตัวเองได้ญาณสูงถึงกับเหาะเหินเดินอากาศได้เสียอีก ถ้าเป็นเช่นนั้นดิฉันจะได้ขายรถเลิกใช้รถไปเลย” คุณนายโสภิตพูดติดตลก บรรดาญาติมิตรที่นั่งฟังการสนทนาระหว่างคุณนายวัยหกสิบกับพระภิกษุวัยห้าสิบอยู่นั้น ไม่มีสักคนที่เข้าใจ ด้วยไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องเช่นนี้มาก่อนเลยในชีวิต...

 

มีต่อ........๔๖