สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๔๘

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00048

๔๘...

          วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ รัฐมนตรีและคุณหญิง พร้อมด้วยญาติมิตรและผู้ติดตาม ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ มาทำบุญถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ที่วัดป่ามะม่วง

เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบลง มัคทายกก็นำกล่าวถวายข้าวพระพุทธและถวายสังฆทานตามลำดับ พระสงฆ์ฉันภัตตาหาร ที่เจ้าภาพช่วยกันประเคน

ท่านพระครูเพียงแต่นั่งพิจารณาอาหารเหมือนเช่นเคย เพราะท่านชินเสียแล้วกับการฉันเช้าเพียงมื้อเดียว บังเอิญเจ้าภาพลุกออกไปเดินชมวัด หลังจากประเคนภัตตาหารแล้ว จึงไม่มีผู้ใดมานั่งคะยั้นคะยอให้ท่านฉันเช่นทุกครั้งที่มีผู้มาถวายเพล

กระทั่งพระฉันเสร็จ รัฐมนตรีและคุณหญิงก็ยังไม่กลับเข้ามา ญาติมิตรและผู้ติดตามจึงต้องช่วยกันประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม หลังจากนั้น พระสงฆ์ “ยถา สัพพี” โดยที่เจ้าภาพไม่ได้กรวดน้ำและรับพร เพราะมัวไปเดินชมวัดกันเพลิน ส่วนพวกที่ยังอยู่บนศาลา ก็พากันนั่งประนมมือคุยกันประจ๋อประแจ๋ อย่างคนที่ไม่รู้จักกาลเทศะ

เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงนึกตำหนิในใจว่าไม่ได้เรื่องพอ ๆ กัน ทั้งผู้นำและผู้ตาม แล้วก็เลยคิดไปถึงคนส่วนใหญ่ในสังคมยุคนี้ ว่าต่างพากันห่างเหินศาสนาออกไปทุกที แต่จะว่าคฤหัสถ์ข้างเดียวก็ไม่ถูกนัก เพราะพระสงฆ์องค์เจ้าเองก็มีส่วนทำให้คนไม่เลื่อมใสศรัทธาเท่าที่ควร ส่วนคนที่มีศรัทธาปสาทะ ซึ่งพอจะมีหลงเหลืออยู่บ้างก็กลับขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง เช่นรัฐมนตรีและคุณหญิงคู่นี้ ที่อุตส่าห์ดั้นด้นมาทำบุญ แต่กลับไม่ได้บุญเพราะมัวไปเดินชมนกชมไม้กันเสีย

ท่านพระครูตัดสินใจแล้วว่า ท่านจะต้อง “ผ่าตัด” คนเป็นรัฐมนตรี ด้วยการฝึกให้เขาได้รู้จักกับสิ่งที่ “ถูกต้อง” เสียบ้าง มิใช่จะรู้แต่สิ่งที่ “ถูกใจ” เท่านั้น บุคคลทั้งสองกลับเข้ามานั่งในศาลาอีกครั้งเมื่อพระให้พรจบพอดี สงฆ์รูปอื่น ๆ กราบพระพุทธรูปแล้วลุกออกไป คงเหลือแต่ท่านพระครูรูปเดียว

“ขอเชิญรับประทานอาหารกันก่อน ประเดี๋ยวอาตมาจะเทศน์นอกธรรมาสน์ให้ฟัง” ท่านเชื้อเชิญพวกเขา เพราะคนที่จะฟังเทศน์รู้เรื่องดีนั้นต้องให้ท้องอิ่มเสียก่อน

“วันนี้หลวงพ่อไม่มีธุระไปไหนหรือครับ” รัฐมนตรีถาม

“บ่ายสองอาตมาต้องไปงานเผาศพคนรู้จัก” ท่านตอบ

“ที่ไหนครับหลวงพ่อ”

“ที่จังหวัด แต่ยังไม่รู้เลยว่าวัดไหน คงต้องไปที่บ้านเขาก่อน ตอนแรกเห็นว่าจะเอาศพมาไว้ที่วัดนี้ แล้วยังไงจึงเปลี่ยนใจเสียก็ไม่ทราบ” ท่านหมายถึงศพของเจ๊นวลศรี

“หลวงพ่อทราบหรือครับ” รัฐมนตรีนึกตำหนิเจ้าภาพ

“เขาคงยุ่งกระมัง พอดีอาตมาไม่สนิทสนมกับเจ้าภาพเท่าไหร่ แต่กับคนตาย คุ้นเคยกัน ก็เลยต้องไปเผาเขาหน่อย” ท่านตอบเป็นกลาง ๆ

เมื่อคณะของรัฐมนตรีรับประทานอาหารกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูจึงเริ่มต้น “เทศน์”

“กับข้าววัดป่ามะม่วงรสชาติเป็นอย่างไรบ้าง พอจะทานกันได้หรือเปล่า” ท่านอารัมภบท อาหารคาวหวานมื้อนี้เป็นฝีมือของแม่ครัววัดป่ามะม่วง เจ้าภาพเพียงแต่นำเงินมาจ่ายตามราคาที่ซื้อของมา ซึ่งคนจ่ายกับข้าวก็จะจดรายการมาให้อย่างละเอียดว่าได้จ่ายอะไรไปบ้าง ส่วนปัจจัยไทยธรรม เจ้าภาพเตรียมมาเอง

“อร่อยมากค่ะหลวงพ่อ” คุณหญิงตอบ เธอเองก็นึกไม่ถึงว่าอาหาร “วัดบ้านนอก” จะเอร็ดอร่อยถึงปานนี้ จะว่าเป็นเพราะกำลังหิวก็คงไม่ใช่เพราะอาหารบางอย่าง ต่อให้หิวยังไงก็ยังรู้สึกว่ามันไม่อร่อยอยู่นั่นเอง

“ถ้าอย่างนั้นก็มาทานบ่อย ๆ นะ ใครทานข้าววัดนี้แล้วรวยทุกคน” บรรดาคณะผู้ติดตามต่างพากันหัวเราะคิกคักด้วยรู้สึกขำ

“อ้าว อย่าหัวเราะนา นี่อาตมาพูดจริง ๆ ไม่ได้พูดเล่น ใครมาทานข้าววัดนี้ กลับไปรวยทุกคน” คุณหญิงซึ่งรวยอยู่แล้ว แต่อยากรวยให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้จึงว่า

“ถ้าอย่างนั้นดิฉันเห็นจะต้องมาถวายเพลอีกแล้วละค่ะ” ภรรยาหมายเลขหนึ่งของรัฐมนตรีคิด “ลงทุน” เพื่อหวังกำไร

“ไม่ต้องมาถวายเพลก็ได้ ถ้าอยากจะทานอาหารวัดป่ามะม่วงก็เชิญได้ทุกเวลา อาตมาสั่งพวกแม่ครัวเขาไว้แล้วว่าให้ทำสุดฝีมือทุกวัน กับข้าววัดนี้ก็เลยอร่อยทุกวัน คุณหญิงอยากรู้เคล็ดลับในการทำอาหารให้อร่อยไหมล่ะ อาตมาจะบอกให้”

“อยากค่ะ” คุณหญิงตอบ บรรดาผู้ติดตามที่เป็นสตรีก็พากันอยากรู้ ท่านพระครูจึงบอกเคล็ดลับว่า

“การจะทำอาหารให้อร่อย ก็ต้องตั้งสติให้ดี ทำใจให้ปลอดโปร่ง ถ้าใจดีอย่างเดียว อะไร ๆ มันก็ดีหมด ทำกับข้าวก็อร่อยโดยไม่ต้องใช้ผงชูรส ชื่ออะไรนะที่เขาเรียก โนะ ๆ โต๊ะ ๆ น่ะ”

“อายิโนะโมะโต๊ะค่ะ” คุณหญิงบอกชื่อผงชูรสยี่ห้อหนึ่งที่ผลิตโดยคนญี่ปุ่น แต่ชาวญี่ปุ่นเขาไม่นิยมใช้กัน

“นั่นแหละ ๆ วัดนี้ไม่ต้องใช้โต๊ะที่ว่านั่น ใช้แต่โต๊ะสำหรับนั่งกินข้าว” คนฟังพากันหัวเราะชอบใจที่ท่านช่างมีอารมณ์ขัน

“ท่านรัฐมนตรีเคยผ่าตัดบ้างหรือเปล่า” เห็นทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสกันถ้วนหน้าแล้ว ท่านจึงเริ่มเรื่อง

“ไม่เคยครับหลวงพ่อ” รัฐมนตรีรู้สึกแปลกใจว่าเหตุใดท่านจึงถามอย่างนี้ หรือว่าเขามีเคราะห์

“แล้วอยากไหม อยากให้หมอผ่าตัดไหม”

“ไม่อยากครับ ผมตังความปรารถนาไว้เลยว่าอย่าให้เจอะให้เจอเป็นอันขาด ผมกลัวครับ”

“งั้นหรือ แต่ถ้าสมมุตินะ สมมุติว่าท่านจะต้องถูกผ่าตัด ถ้าไม่ผ่าตัดก็ต้องเสียชีวิต ท่านจะเลือกเอาอย่างไหน”

“ก็คงต้องเลือกผ่าตัดแหละครับ ถ้ามันไม่มีทางอื่นที่ดีกว่าให้เลือก”

“เอาละ ถ้าอย่างนั้นอาตมาก็จะสมมุติต่อนะ สมมุติว่าอาตมาเป็นหมอ ท่านเป็นคนไข้อาการหนักจะต้องผ่าตัดจึงจะหาย มิฉะนั้นก็ต้องเสียชีวิต ท่านจะยอมให้อาตมาผ่าตัดหรือเปล่า”

“ยอมครับ” รัฐมนตรีตอบ หากใจแอบคิดว่า “หลวงพ่อจะมาไม่ไหนกันหนอนี่ ยังไง ๆ ก็คงไม่บอกคุณหญิงต่อหน้าเราเรื่องที่เรามีอีหนูหรอกนะ เพราะมันไม่ใช่เรื่องของพระของเจ้า”

“ไม่ต้องกลัว อาตมาจะไม่พูดเรื่องที่ท่านกำลังคิดอยู่นั่นหรอก เพราะมันเป็นเรื่องของท่านคนเดียว แต่เรื่องที่อาตมาจะพูดนี่มันเกี่ยวกับคนอื่น ๆ ด้วย ท่านสบายใจได้” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง พูดอย่างหยั่งรู้ความคิดของอีกฝ่าย

“ถ้าอย่างนั้นกระผมนิมนต์ท่านลงมือได้เลยครับ” รัฐมนตรีพูดอย่างโล่งใจ ท่านพระครูจึงพูดเป็นงานเป็นการว่า

“เจริญพาท่านรัฐมนตรี คุณหญิงและญาติโยมทุกท่านที่นั่งอยู่ในศาลาแห่งนี้ อาตมาซาบซึ้งใจยิ่งนักที่ท่านรัฐมนตรีและคณะได้มีจิตศรัทธาพากันมาถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสามเณรแห่งวัดป่ามะม่วงในวันนี้ นับว่าทุกท่านมีจิตใจที่เป็นบุญเป็นกุศลน่าสรรเสริญ แต่ก็น่าเสียดายที่พวกท่านอุตส่าห์มาทำบุญแต่กลับไม่ได้บุญ”

“ทำไมถึงเป็นเช่นนี้เล่าครับ” รัฐมนตรีถาม

“อาตมาก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ท่านทั้งหลายต้องถามตัวเอง ไม่ใช่ถามอาตมา” ผู้ติดตามคนหนึ่งอยากทราบเหตุผล จึงพูดขึ้นว่า

“พระเดชพระคุณหลวงพ่อขอรับ กระผมเป็นข้าราชการจึงรู้แต่เรื่องราชการงานเมือง ส่วนเรื่องบุญกุศลไม่ค่อยจะรู้สักเท่าไหร่ จึงขออาราธนาพระเดชพระคุณหลวงพ่อช่วยเมตตาแนะนำสั่งสอนกระผมและพวกพ้องด้วยเถิดครับ” ท่านพระครูนึกในใจว่า “เอ คนนี้พูดเข้าที ท่าทางคงจะไปได้ไกล” แล้วจึงอธิบายให้พวกเขาฟังว่า

“การทำบุญที่ไม่ได้บุญ คือ การทำบุญที่ไม่รู้ตัวเจตนา หรือ ที่เรียกว่า ทำบุญเอาหน้าสักแต่ว่ามีศรัทธา แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง เจตนาก็คือ ความตั้งใจบำเพ็ญบุญ ซึ่งต้องกระทำให้ครบถ้วนกระบวนการ ยกตัวอย่างการทำบุญที่ผ่านไปเมื่อครู่นี้ อาตมามองเห็นแล้วว่า ท่านทั้งหลายมีแต่ศรัทธาเท่านั้น ทว่าไม่มีความตั้งใจบำเพ็ญบุญ ต้องขอตำหนิกันตรง ๆ อย่างนี้แหละ ท่านรัฐมนตรีจะโกรธก็ตามใจ อาตมาพูดด้วยความหวังดี”

“ผมไม่โกรธหลวงพ่อหรอกครับ” รัฐมนตรีพูดออกตัว ไม่โกรธหากก็ไม่พอใจ เพราะตั้งแต่เป็นรัฐมนตรียังไม่เคยมีผู้ใดกล้ามาตำหนิเช่นนี้ มีแต่เขายกย่องสรรเสริญ

“แต่ถึงจะโกรธ อาตมาก็ไม่ว่าหรอกนะ ยอมให้โกรธ เพราะสิ่งที่อาตมาพูดนี้จะไปเป็นประโยชน์ต่อท่านนายภาคหน้า” ท่านหยุดเว้นระยะนิดหนึ่งแล้วจึงพูดต่อ

“การที่ท่านกับคุณหญิงลุกออกไปเดินเล่นทั้งที่พิธีกรรมยังไม่เสร็จสิ้นนั้น นับว่าท่านเสียประโยชน์อย่างมหาศาล ท่านทิ้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาช่วยกันถวายปัจจัยไทยธรรม แทนที่จะประเคนเองในฐานะที่ท่านเป็นเจ้าภาพ และเมื่อพระสงฆ์ “ยถา สัพพี” ท่านจึงไม่ได้กรวดน้ำและรับพร ที่ท่านจะต้องอยู่ เมื่อพระว่า “ยถา” ท่านต้องอุทิศส่วนกุศลไปให้เปตชนหรือพวกเปรตที่เขาพากันมาคอยรับส่วนบุญ”

“เปรตมีจริงหรือครับ” ผู้ติดตามคนหนึ่งถาม

“มีสิโยม คนที่ตายขณะที่จิตมีโลภะ จะไปเกิดเป็นเปรต แล้วคนสมัยนี้ก็ไปเกิดเป็นเปรตกันมาก อย่าว่าแต่คนเลย พระเองก็เถอะ อาตมาเห็นไปเกิดเป็นเปรตหลายรูปแล้ว”

ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายวัดเวฬุวันให้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา พวกญาติ ๆ ของพระองค์ที่ไปเกิดเป็นเปรตก็พากันมาขอส่วนบุญ”

“หรือคะ แหมดิฉันคิดว่า ตัวพระเจ้าพิมพิสารไปเกิดเป็นเปรตเสียอีก” คุณหญิงพูดขึ้น จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า พระรูปหนึ่งเล่าให้ฟังอย่างนี้

“พระองค์ไม่ได้เกิดเป็นเปรตหรอกคุณหญิง ตอนที่พระองค์สวรรคต ทรงได้โสดาปัตติผลแล้ว คนเป็นพระโสดาบัน จะตัดอบายภูมิได้ ไม่ไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน อย่างแน่นอน และเพราะเปรตมีจริง เวลาทำบุญเราจึงต้องอุทิศส่วนกุศลไปให้พวกเขา อาตมามักสอนญาติโยมไว้เสมอ ๆ ว่า “ยถาให้ผี สัพพีให้คน” เพราะเมื่ออุทิศให้พวกเปตชนเสร็จ พระท่านก็จะให้พรคนด้วยการขึ้นว่า “สัพพีติโย วิวัชชันตุ” เมื่อพระว่าดังนี้ เราจะต้องประนมมือขึ้นรับพรจากพระ บางคนพระขึ้นสัพพีแล้วยังกรดน้ำอยู่เลย ทำอย่างนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง คนที่รู้เขาจะตำหนิติเตียนเอาได้ อาตมาเคยเห็นบ่อย โดยเฉพาะพวกคนใหญ่คนโตทั้งหลาย”

“รวมทั้งผมด้วยครับ” รัฐมนตรียอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน เพิ่งรู้ในสิ่งที่ไม่รู้มาก่อน

“ก็นี่แหละ อาตมาก็ตั้งใจจะบอกท่านอยู่นี่ คราวหน้าคราวหลังจะได้ทำให้ถูกต้อง พวกญาติโยมก็เหมือนกัน” ท่านว่าบรรดาญาติมิตรและคณะผู้ติดตาม

“เวลาที่พระให้พร แทนที่จะตั้งใจรับพร กลับนั่งคุยกันเสียงอึงคะนึงแข่งกับเสียงพระสวด แล้วอย่างนี้จะไปได้บุญอะไร จริงไหม” ท่านถามสตรีผู้หนึ่ง

“จริงค่ะ” สตรีผู้นั้นตอบอย่างสำนึกผิด หล่อนคิดว่าต่อแต่นี้ไปจะไม่ทำเช่นนี้อีก นี่หากท่านไม่บอกหล่อนก็คงไม่รู้ จึงนึกขอบคุณท่านอยู่ในใจ คิดว่าจะต้องนำสิ่งดี ๆ เหล่านี้ไปสอนลูก สอนหลานให้รู้บ้าง

“โยมเชื่อไหมว่า คนที่ทำบุญเป็นล้าน ๆ แต่พอตายไปกลับไปตกนรก”

“แบบนี้ก็ทำดีได้ชั่วซีคะหลวงพ่อ” คุณหญิงขัดขึ้น

“ไม่ใช่หรอกคุณหญิง ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว อันนี้เป็นสัจธรรม”

“คนที่ทำบุญเป็นล้าน ๆ ไม่เรียกว่าทำดีหรือคะหลวงพ่อ แหมดิฉันชักงงแล้วนะคะ หลวงพ่อกรุณาอธิบายด้วยเถิดค่ะ”

“อาตมาก็กำลังจะอธิบายอยู่พอดีญาติโยมทั้งหลาย การที่เราทำบุญไม่ได้บุญนั้นเป็นเพราะเราขาดเจตนา คือ ไม่ได้ตั้งใจอย่างแท้จริง สักแต่ว่าทำตาม ๆ คนอื่นเขาที่เรียกว่าทำบุญเอาหน้า บางคนบริจาคเป็นล้านแต่ได้บุญน้อยกว่าคนที่บริจาคสิบบาท เพราะคนหลังเขาเจตนาแรงกว่า ตัวเจตนานี่สำคัญที่สุดนะโยม เจตนาก็คือใจ

พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า เจตนาหรือใจนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการกระทำกรรม ดังมีพุทธพจน์รับรองว่า

“ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลใดมีใจอันโทสะประทุษร้ายแล้วกล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม ทุกข์ย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะทุจริต ๓ อย่างนั้น เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท่าโคผู้ลากเกวียนไปอยู่ฉะนั้น.... ถ้าบุคคลใดมีใจผ่องใส กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม สุขย่อมไปตามบุคคลนั้น เพราะสุจริต ๓ อย่าง เหมือนเงามีปกติไปตามฉะนั้น...”  ญาติโยมเห็นแล้วใช่ไหมว่า เจตนาหรือใจนั้นสำคัญมาก คนทำบุญเป็นล้าน ๆ แล้วตายไปตกนรกก็เพราะขาดเจตนาในการบำเพ็ญบุญ และตัวเขาก็ยังประกอบด้วยทุจริต ๓ อย่าง ไหนโยมผู้ชายลองบอกอาตมามาสักคนหนึ่งซิว่า ทุจริต ๓ อย่าง มีอะไรบ้าง” ท่านไม่ถามรัฐมนตรีตรง ๆ เพราะรู้ว่าฝ่ายนั้นต้อบไม่ได้ บรรดา “โยมผู้ชาย” ที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้นพากันปิดปากเงียบ ท่านจึงถามโยมผู้หญิง หากก็ไม่มีผู้ใดตอบอีกเช่นกัน ท่านจึงตอบเสียเองว่า

“ทุจริต ๓ อย่างคือ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ถ้าใครมีทุจริต ๓ อย่างนี้ ต่อให้ทำบุญอีกร้อยล้านก็ไปตกนรกได้”

“หมายความว่าการทำทานที่ปราศจากศีล ไม่ได้บุญใช่ไหมครับ” รัฐมนตรีเริ่มจะเข้าใจขึ้นมาบ้าง

“ถูกแล้ว ถ้าเรามีเงินมาก ทำทานเป็นล้าน ๆ แต่ไม่มีศีลสักข้อเดียว ท่านที่ทำนั้นก็เป็นหมัน ไม่ได้บุญแล้วก็ยังต้องไปตกนรกอีก สมมุติว่ามีเศรษฐีคนหนึ่ง บริจาคทานทุกวัน วันละหลายหมื่น แต่เขาก็ยังฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด และดื่มสุราเมรัย แบบนี้เขาตายไปต้องไปตกนรก”

บรรดาผู้ที่นั่งอยู่ในศาลาพากันสะดุ้งสะเทือนเมื่อท่านพูดถึง “ศีล” ต่างสำรวจตรวจสอบตัวเองว่าขาดไปกี่ข้อ คนที่มีจิตใจยุติธรรม สำรวจตัวเองอย่างตรงไปตรงมาก็ต้องยอมรับว่าตัวเขานั้นไม่มีศีลเลยสักข้อเดียว คนเป็นรัฐมนตรีสะดุ้งกับข้อ “ประพฤติผิดในกาม” มากที่สุด ท่านพระครูเทศน์ต่อไปอีกว่า

“ศีลเป็นเจตนาเหมือนกัน คือ เราต้องมีเจตนาว่าเราจะต้องไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเรามีศีลครบทั้งห้าข้อ เราก็ได้บุญแล้ว ได้มากว่าการบริจาคทานเสียอีก”

“หลวงพ่อครับ ถ้าอย่างนี้คนที่ถือศีลอย่างเคร่งครัด แต่เขาไม่เคยบริจาคทานก็ได้บุญมากกว่าคนที่บริจาคทานแต่ไม่มีศีลใช่ไหมครับ” ผู้ติดตามที่ท่านพระครูคิดว่า “ท่าทางจะไปได้ไกล” ถามขึ้น

“ถูกแล้ว แต่ถ้าจะให้ได้บุญมากที่สุดต้องให้ได้ครบทั้ง ทาน ศีล ภาวนา ที่เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ ๓ ถ้าใครทำได้อย่างนี้ถือว่าได้บุญมากที่สุด”

“ภาวนาคืออะไรครับ หลวงพ่อพูดถึงทานและศีล ผมพอจะเข้าใจ แต่ภาวนาผมไม่เข้าใจครับว่าคืออะไร” รัฐมนตรีถาม

“ภาวนาคือการฝึกอบรมจิต เช่น การเจริญสมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน เป็นต้น อาตมาเรียกสั้น ๆ ว่า กรรมฐาน” คำอธิบายของท่านพระครูทำให้คนเป็นรัฐมนตรีงุนงงหนักขึ้น เพราะจิตไม่เคยได้ “สัมผัส” สิ่งที่เป็นนามธรรม รู้จัก แต่รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสที่น่าใคร่น่าพอใจเท่านั้น

“กรรมฐานคืออะไรครับหลวงพ่อ” เขาถามอีก

 “ถ้าท่านรัฐมนตรีอยากรู้จักกรรมฐาน ก็ต้องมาอยู่กับอาตมาสักเจ็ดวัน มาเข้ากรรมฐานแล้วท่านจะรู้เองว่า กรรมฐานคืออะไร ถ้าให้อาตมาอธิบายด้วยคำพูด ท่านก็จะยิ่งสงสัยใหญ่ ของอย่างนี้ต้องลงมือปฏิบัติถึงจะซาบซึ้ง มาได้ไหมเล่า เจ็ดวันเท่านั้นเอง”

“คงไม่ได้หรอกครับหลวงพ่อ งานยุ่งมากคงปลีกเวลามาไม่ได้” เขาเอางานบังหน้า หากแท้จริงแล้วห่วงใยสาวน้อยหน้าอ่อนคนนั้นมากกว่า กำลังคลั่งไคล้ใหลหลง ไม่อยากจะพรากหล่อนไปแม้ราตรีเดียว

“แต่ถ้าท่านตั้งใจที่จะมาจริง ๆ อาตมาก็ว่าท่านมาได้ แต่เอาเถอะ ไม่เป็นไรหรอก “ลางเนื้อชอบลางยา” เรื่องอย่างนี้บังคับเคี่ยวเข็ญกันไม่ได้ บางคนนะอาตมาเห็นว่าเขาต้องเสียชีวิต แต่ถ้ามาเข้ากรรมฐานเขามีทางรอดถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์ ก็ชวนเขามาเข้าแต่เขาก็ไม่ยอมมา ก็เลยต้องกลับบ้านเก่า”

“แล้วผมมีเคราะห์หรือเปล่าครับหลวงพ่อ หากผมต้องเป็นอย่างนั้นบ้าง ผมก็จะปลีกเวลามาเข้ากรรมฐาน” รัฐมนตรีพูดอย่างกลัว ๆ หากเขาตายลงในตอนนี้ แม่หนูหน้าหวานเนื้อนุ่มคนนั้นจะอยู่กับใคร

“ไม่มีหรอก ท่านอย่าตกใจ เอาไว้มีอาตมาค่อยบอกให้รู้ นะคุณหญิงนะ” ท่านหันไปพยักพเยิดกับคุณหญิง

“ค่ะหลวงพ่อ” ภรรยารัฐมนตรีเอออวย

“หลวงพ่อคะ เทวดามีจริงไหมคะ” ภรรยาของผู้ติดตามคนหนึ่งถามขึ้น

“ถ้าอยากรู้ว่ามีจริงหรือไม่ วันหน้าต้องมาคุยกันใหม่ ขืนคุยวันนี้อาตมาคงไม่ได้ไปเผาศพเพราะเรื่องมันยาว วันหน้ามาใหม่นะโยมนะ”

“ค่ะ หนูจะมาขอเข้ากรรมฐานด้วยค่ะ” หล่อนพูดด้วยศรัทธาที่เปี่ยมล้น ไปวัดไหน ๆ ก็ไม่เคยศรัทธามากหมายเหมือนมาวัดนี้ “รู้อย่างนี้น่าจะมาเสียตั้งนานแล้ว” หล่อนนึกเสียดายอยู่ในใจ...

 

มีต่อ........๔๙