สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๑

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00051

๕๑...

            ขณะขับรถกลับจากงานศพของสามีนางเน้ย นายสมชายดูเคร่งขรึม ไม่ช่างเจรจาพาทีเหมือนเช่นเคย จนท่านพระครูรู้สึกผิดสังเกต ความทุกข์อันใหญ่หลวง ที่ชายหนุ่มกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ก็คือทำอย่างไรจึงจะมีเงินแต่งงาน

            ฝ่ายผู้หญิงเขาเรียกค่าสินสอดเป็นเงินถึงสี่หมื่นบาท อีกทองหมั้นหนัก ๕ บาท เบ็ดเสร็จแล้วเขาจะต้องมีเงินถึงสี่หมื่นแปดพันบาท จึงจะมีโอกาสได้เป็นเจ้าบ่าว เงินตั้งเกือบครึ่งแสนจะไปหาได้จากที่ไหน ก็ยืมใครเขาก็คงไม่ให้ เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ครั้นจะเอาวัดป่ามะม่วงไปจำนองกับธนาคาร ก็ไม่รู้ว่าหลวงพ่อท่านจะอนุญาตหรือเปล่า ยิ่งคิดก็ยิ่งร้อนรุ่มกลุ้มทรวง แต่กาลก่อนก็สุขใจสุขกายสบายดีอยู่ พอมาตกห้วงรักเหวลึก ก็มีอันทุกข์ระทบตรมไหม้ไม่เว้นแต่ละวัน “นี่แหละน้า เขาว่าอยู่ดีไม่ว่าดี” ลูกศิษย์กันกุฏินึกสมน้ำหน้าตัวเอง

            “สงสัยว่าพรุ่งนี้พระอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันตกเสียกระมัง” ท่านพระครูเปรยขึ้น คิดว่าฝ่ายนั้นจะโต้ตอบก็เห็นยังเงียบอยู่ นายสมชายกำลังใช้ความคิดอย่างหนัก จึงไม่ได้ยินที่ท่านพูด

            “กำลังเข้าฌานอยู่หรือไง สงสัยจะเข้าจตุตถฌาน” ท่านเย้าอีก ครั้งนี้คนถูกเย้ารู้สึกแค่ว่ามีเสียงผ่านหู หากมิได้สำเหนียกว่าท่านพูดว่ากระไร

            “สมชาย เธอเอาหูมาด้วยหรือเปล่า หรือว่าลืมไว้ที่บ้านงานโน่น จะกลับไปเอาก็ยังทันนะ” ครั้งนี้ท่านพูดดังกว่าเก่า

            “อะไรนะครับ หลวงพ่อว่าอะไร” คนถูกเรียกเพิ่งจะรู้สึกตัว

            “ทำไมเดี๋ยวนี้เธอเหม่อ ๆ ยังไงชอบกล มีอะไรไม่สบายใจหรือเปล่า”

            “ก็...ก็ไม่...ไม่มีอะไรนี่ครับ” ปฏิเสธเสียงอ่อย

            “ไม่ ไม่มี ก็แปลว่ามี เพราะปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ ย่อมกลายเป็นบอกเล่า เธอมีอะไรไม่สบายใจก็บอกมา หรือถ้าไม่บอกมา ฉันจะได้บอกไป” ท่านเริ่มยั่ว นายสมชายไม่มีอารมณ์จะโต้ตอบ จึงระบายความกลุ้มให้ท่านฟังแทน

            “ฝ่ายผู้หญิงเขาเรียกค่าสินสอนทองหมั้นตั้งร่วมห้าหมื่น ผมไม่รู้จะไปหาที่ไหน ก็เลยร้อนรุ่มกลุ้มทรวงอยู่นี่ไงครับ”

            “แหม น่าสงสารจริง เอาเถอะตัวฉันนะ สงสารเธอใจแทบขาด และฉันก็อยากช่วยเธอ ทว่าไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยได้ ก็เลยจะไม่ช่วย”

            “โธ่ หลวงพ่อ พูดเสียดิบดี ที่แท้ก็จะสรุปว่าช่วยไม่ได้ ผมรึอุตส่าห์ตั้งใจฟัง” นายสมชายต่อว่า รู้สึกความทุกข์ค่อยเบาบางลงเมื่อได้ระบายให้ท่านฟัง

            “อ้าว ก็จริง ๆ นี่นา ฉันอยากจะให้เธอสมหวัง แต่ฉันก็ไม่มีเงินเดือน เพราะไม่ได้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ แล้วก็ไม่ได้เป็นพนักงานบริษัท เงินห้าหมื่น ฉันก็พอมีหรอก แต่เป็นเงินที่เขาบริจาค ถ้าเธอจะเอาไป...”

            “โอ๊ะ ไม่ครับหลวงพ่อ ผมทำอย่างนั้นไม่ได้ มันผิดเจตนารมณ์ของญาติโยมเขา เขาเจตนาทำบุญ ไม่ได้ให้ผมเอามาแต่งเมีย” ชายหนุ่มปฏิเสธเป็นพัลวัน

            “ก็ใครว่าฉันจะทำอย่างนั้นล่ะ ฉันยังพูดไม่ทันจบเลย”

            “อ๋อ หรือครับ ขอประทานโทษ ถ้าอย่างนั้นนิมนต์หลวงพ่อพูดต่อให้จบเถิดครับ”

            “ไม่ต้องแล้ว ก็ส่วนที่ฉันจะพูดต่อน่ะ เธอพูดมาหมดแล้ว เอ แต่พอมีทางนะ เธอจะลองดูไหม ลองเอาวัดป่ามะม่วงไปจำนองกับธนาคาร” ท่านตั้งใจจะล้อเล่น หากนายสมชายคิดว่าเป็นจริง จึงรีบสนองว่า

            “แหม ผมก็คิดอยู่ทีเดียว นึกว่าหลวงพ่อจะไม่อนุญาตเสียอีก ต้องขอกราบขอบพระคุณอย่างสูง พรุ่งนี้ผมขออนุญาตเข้าจังหวัดนะครับ” คนตกหลุมรัก มองเห็นทางสมหวัง

            “เธอจะเข้าไปทำอะไร”

            “ก็ไปติดต่อกับผู้จัดการธนาคารซีครับ หลวงพ่อว่าควรจะกู้ธนาคารไหนดี” เขาขอคำปรึกษา

            “ธนาคารไหนก็ดีทั้งนั้นแหละ ถ้าเขายอมให้กู้ แต่เธอไม่ต้องไปให้เสียเวลาหรอก เพราะฉันรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ แล้วก็ไม่มีใครเขาทำกัน ฉันเพียงแต่ล้อเธอเล่นเท่านั้น” ถ้อยคำของท่านพระครู ทำให้ความทุกข์ที่กำลังจะลดน้อยลงนั้น กลับเพิ่มระดับขึ้นอีก นายสมชายจึงพูดอย่างขัดเคืองว่า “เอาเถอะ หลวงพ่อไม่ตกที่นั่งอย่างผมบ้างก็แล้วไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่หลวงพ่อเป็นอย่างผม ผมก็จะไม่ช่วยหลวงพ่อเหมือนที่หลวงพ่อไม่ช่วยผม” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงรู้สึกสมเพชคนเป็นศิษย์เสียนัก จึงพูดให้สติกับเขาว่า

            “สมชายเอ๋ย อายุฉันก็ปูนนี้แล้ว ล่วงกาลผ่านวัยมาก็มากและที่สำคัญที่สุด คือฉันกำลังดำเนินตามมรรคาที่เป็นทางสายเอก จะให้เปลี่ยนไปเดินสายโทสายตรีนั้น ฉันไม่ทำแน่” เธอปัดความคิดเช่นนี้ออกจากสมองไปได้แล้ว” ลูกศิษย์วัดยังไม่หายเคืองขุ่น จึงเถียงไปข้าง ๆ คู ๆ ว่า

            “มันก็ไม่แน่เสมอไปหรอกครับ ผมเคยอ่านข่าวอยู่บ่อย ๆ คนอายุเจ็ดสิบยังแต่งงานกับคนอายุสิบเจ็ด ขนาดถือไม้เท้ายักแย่ยักยัน ก็ยังอุตริมีเมียคราวลูกคราวหลาน นับประสาอะไรกับคนอายุเพิ่งจะห้าสิบอย่างหลวงพ่อ”

            “นั่นเขาเป็นฆราวาส แต่ฉันเป็นบรรพชิต ไม่เหมือนกันหรอกนะ” ท่านพระครูแย้งเสียงเรียบ

            “ถึงบรรชิตก็เถอะ บางรูปขนาดเป็นถึงท่านเจ้าคุณ ก็ยังอุตส่าห์สึกมาแต่งงาน หลวงพ่อจะให้ผมเอ่ยชื่อไหมล่ะ” ท่านพระครูเห็นว่าจะไปกันใหญ่ จึงรีบกล่าวห้าม

            “สมชาย สมชาย อย่าลามปาม เธอพูดอยู่กับฉันสองคนเท่านั้น อย่าลามปามไปถึงคนอื่น ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่างเขา กรรมของเขาทำมาอย่างนั้น แต่ที่ฉันกล้ารับรองกับเธอว่า จะไม่เป็นอย่างเขา ก็เพราะฉันไม่ได้ทำกรรมมาอย่างนั้น ฉันปรารถนาพระนิพพาน ไม่ใช่กามคุณห้า” นายสมชายเห็นว่าถึงอย่างไรก็ไม่สามารถจะเอาชนะท่านได้ จึงนิ่งเสีย ท่านพระครูรู้ว่าเขายังไม่หายหงุดหงิด จึงพูดให้กำลังใจว่า

            “อย่าวิตกทุกข์ร้อนไปเลย อนาคตยังมาไม่ถึง แต่ฉันก็ขอรับรองว่า เธอต้องได้แต่งงานกับผู้หญิงคนนี้อย่างแน่นอน เพียงแต่ต้องรอเวลาหน่อยเท่านั้น” คนฟังรู้สึกใจมาเป็นกอง จึงกลับมาเป็นสมชายคนเดิมอีกครั้ง

            “หน่อยของหลวงพ่อนะ กี่ปีครับ อย่าให้ผมถึงต้องตะบันน้ำกินนะครับ”

            “ก็ไม่แน่ ถ้าเธอปรารถนาเช่นนั้นก็อาจเป็นได้”

            “แต่ถ้าไม่ปรารถนาล่ะครับ” ศิษย์ก้นกุฏิเริ่มมีอารมณ์ยั่วเย้า

            “ไม่ปรารถนาอะไร”

            “ไม่ปรารถนาเช่นนั้นน่ะครับ” ผู้มิใช่ “ญวน” โดยกำเนิด เจตนายวน

            “หายหยุดหงิดแล้วหรือ” ท่านพระครูย้อนถาม

            “ผมน่ะหรือ หงุดหงิดเรื่องอะไรครับ” คนถามแสร้งตีหน้าเหลอ

            “เรื่องไม่มีเงินไปซื้อบ่วงมาผูกคอน่ะสิ”

            “แหม หลวงพ่อพูดอะไรยังงั้น กะเดี๋ยวผมก็เปลี่ยนใจไม่ตบไม่แต่งมันซะเลย” คนพูดปากไม่ตรงกับใจ

            “ดี ฉันขออนุโมทนา ยิ่งบวชได้ตลอดชีวิตได้ยิ่งดี”

            “หลวงพ่อคร้าบ” คนเป็นศิษย์ตั้งใจลากเสียงให้ยาวแล้วว่า

            “ก็ถ้าบวชกันซะหมด แล้วใคร้จะมาขับรถให้หลวงพ่อนั่งล่ะครับ หรือว่าหลวงพ่อคิดจะขับรถเองขอรับ”

            “อยากรู้ก็ลองบวชดีซี”

            “ยังไม่กล้าลองหรอกครับ ยังไม่กล้า เดี๋ยวเกิดติดใจ บวชแล้วไม่ยอมสึกเหมือนหลวงพ่อ แฟนผมก๊อหม้ายขันหมากน่ะซีครับ”

            “แต่ประเพณีโบราณเขาต้องบวชก่อนเบียดนะ นี่เธอคิดจะเบียดก่อนหรือไง”

            “ก็ดวงผมมันเป็นยังงั้นนี่ครับ” คนพูดโยนกลองไปให้ “ดวง”

            “เธออย่าให้ดวงมากำหนดเธอสิ เธอควรจะกำหนดดวง มันถึงจะถูก”

            “จะถูกยังไง ก็ต้องแพงกว่าเผือกอยู่ดีนั่นแหละครับ” ท่านพระครูรู้สึกงงจึงย้อนถามว่า

            “อะไรแพงกว่าเผือก พูดเรื่องดวงอยู่ดี ๆ ไหงเอาเผือกเข้ามาเกี่ยวด้วย”

            “ก็มันซีครับ ที่หลวงพ่อว่า “มันถึงจะถูก” ผมก็ว่าถูกยังไง ก็ยังแพงกว่าเผือกอยู่ดี หรือว่าหลวงพ่อเคยเห็นเผือกแพงกว่ามันครับ”

            “สมชาย เธอเคยไหม ที่อยู่ดี ๆ ก็เห็นดาวระยิบระยับไปหมดทั้งที่ความจริงไม่มีดาวสักดวงบนท้องฟ้าน่ะ เคยหรือเปล่า” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงถามอย่างเหลืออดเหลือทนเต็มที

            “ไม่เค้ยไม่เคยครับหลวงพ่อ แล้วผมก็ไม่อยากจะมีประสบการณ์อย่างนั้นด้วย ก็พอจะรู้ ๆ ว่ามันคงไม่สนุกนักหรอก” นายสมชายว่า

            “ถ้าอย่างนั้น ก็เปลี่ยนเรื่องพูดได้แล้ว ขืนพูดเรื่องนี้ต่อไป ประเดี๋ยวอาจจะได้ประสบการณ์ที่เธอไม่พึงปรารถนา ที่แนะนำนี่เพราะหวังดีหรอกนะ”

            “ใครจะเป็นคนให้ล่ะครับ หรือว่าหลวงพ่อจะให้ อย่านาครับ ผมไม่อยากเป็นต้นเหตุให้หลวงพ่อต้องอาบัติ เกิดผมตายละก็ หลวงพ่อต้องอาบัติปาราชิกเทียวนะครับ”

            “รับรองว่าฉันไม่ต้องอาบัติแน่ เพราะกรณีนี้ไม่มีผู้กระทำ มีแต่ผู้ถูกกระทำเท่านั้น” ท่านพระครูเล่นสำนวนบ้าง

            “มันก็ไม่สมเหตุสมผลตามหลักกรรมที่หลวงพ่อเคยสอนน่ะสิครับ เอ หรือว่ากรรมมันคอรัปชั่น” เขาทำทีครุ่นคิด

            “ใส่ร้ายกรรม ระวังกรรมจะเล่นงานเธอ เดี๋ยวจะมาหาว่าฉันไม่เตือน วจีกรรมนั้น ถึงจะไม่มีผลมากเท่ามโนกรรม แต่มันก็ทำให้คนฟันหักมามากต่อมากแล้ว” ได้ผล เพราะครั้งนี้นายสมชายปิดปากเงียบ มิใช่กลัวว่าท่านพระครูจะทำร้าย ทว่าตัวเขาเริ่มจะมองเห็นทุกข์โทษแห่ง “วจีกรรม” นี่กระมังที่คนโบราณเขาสอนไว้ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง”

            “หลวงพ่อครับ เถ้าแก่ฮิมจะไปเกิดที่ไหนครับ ทุคติหรือสุคติ”

            “อ้าว ทำไมเปลี่ยนเรื่องซะแล้วล่ะ” ท่านพระครูแกล้งยั่ว

            “ก็ผมเคารพนับถือหลวงพ่อ จึงต้องเชื่อฟังหลวงพ่อซีครับ”

            “งั้นหรือ แต่กว่าจะเชื่อฟัง ก็เล่นเอาฉันเหนื่อยเลย เอาเถอะสำหรับเรื่องของเธอ ฉันรับรอง ปีหน้าได้แต่งงานแน่ รอไหวไหม”

            “ไหวครับ แต่ผมขอไม่บวชนะครับ เพราะห่วงว่าจะไม่มีคนขับรถให้หลวงพ่อ”

            “ตามใจ แต่ต้องเข้ากรรมฐาน ๑๕ วัน แล้วก็ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ถ้าทำได้ก็จะได้กุศลแรงกว่าพวกที่บวชจิ้ม ๆ จ้ำ ๆ เสียอีก”

            “ครับ ผมยอมรับข้อเสนอ แต่ใน ๑๕ วัน ที่ผมเข้ากรรมฐาน หลวงพ่อต้องไม่รับนิมนต์ไปข้างนอกนะครับ ผมจะได้ไม่รู้สึกว่าละเลยต่อหน้าที่”

            “ก็ได้ แต่มีเงื่อนไขว่า ถ้าเจ้าภาพเขาอาสารับส่ง ฉันก็รับนิมนต์ได้”

            “ครับ แต่หลวงพ่อต้องไม่รับนิมนต์ติดต่อกันทั้ง ๑๕ วัน นะครับ”

            “แต่วันพระ ฉันก็งดรับนิมนต์อยู่แล้ว”

            “แต่...หลวงพ่อครับ”

            “แต่อะไรอีกล่ะหือสมชาย”

            “คือผมชักจะเวียนหัวกับคำว่า “แต่” เสียแล้วครับ เราเลิกพูด “แต่” กันดีไหมครับ

            “แต่ฉันยังไม่อยากเลิกนี่” ท่านพระครูยั่วอีก

            “ถ้าอย่างนั้นก็นิมนต์หลวงพ่อพูดเถอะครับ แต่ผมไม่พูดแล้ว”

            “นั่นไง ขนาดว่าไม่พูดก็ยังเผลอ “แต่” ออกมาจนได้”

            “ก็มันลืมนี่ครับ แต่ต่อไปนี้ผมจะไม่ลืม”

            “เอาเถอะ ๆ ฉันก็ชักจะเวียนหัวเหมือนกัน สรุปว่าเรื่องของเธอไม่มีปัญหาและอุปสรรคแต่ประการใด และฉันก็ขอบอกว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ฉันจะตั้งเงินเดือนให้เธอเดือนละหนึ่งพันบาท ย้อนหลังไปถึงเดือนที่เธอเริ่มมาทำหน้าที่ขับรถให้ฉัน แต่ก็มีเงื่อนไขว่า”

            “แน่ะ หลวงพ่อ “แต่” อีกแล้ว”

            “เถอะน่า อย่าชักใบให้เรือเสีย เงื่อนไขก็คือ ฉันจะจ่ายให้เธอก็ต่อเมื่อฉันมีเงินส่วนตัวที่ไม่ใช่เงินวัด คืนนี้ฉันจะตั้งจิตอธิษฐานว่า ขอให้มีเงินส่วนตัวใช้ โดยไม่ต้องรับราชการ”

            “ให้ผมอธิษฐานเองไม่ดีกว่าหรือครับ จะได้ไม่ต้องรบกวนหลวงพ่อ” ศิษย์ก้นกุฏิพูดอย่างเกรงใจ

            “คนที่ไม่ได้ทำไว้อธิษฐานไม่ขึ้นหรอกสมชาย ไม่งั้นก็อธิษฐานให้รวยกันหมดทุกคนแล้ว ของอย่างนี้มันต้องทำต้องสร้างไว้ก่อน กรรมไม่เคยคอรัปชั่น” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงอธิบาย

            “หรือครับ ถ้าอย่างนั้น ผมก็ขอกราบขอบพระคุณ ที่หลวงพ่อจะอธิษฐานเผื่อผม เถ้าแก่ฮิมแกไปเกิดที่ไหน”

            “เธออยากรู้ไปทำไมกัน”

            “รู้ไปประดับความรู้น่ะครับ เพื่อสอนตัวเองด้วย”

            “งั้นฉันก็จะบอก แต่ก่อนอื่น ฉันขอถามเธอก่อนว่า คนที่ดับจิตในขณะที่ยังห่วงลูกห่วงเมียน่ะ จิตเขาเป็นอย่างไร

            “จิตมีโลภะครับ”

            “แล้วคนที่ตายขณะที่จิตมีโลภะ จะไปเกิดทุคติหรือสุคติล่ะ”

            “ทุคติครับ ไม่เป็นเปรต ก็ต้องเป็นอสุรกาย อย่างใดอย่างหนึ่ง”

            “ถูกแล้ว ฉันกำลังจะบอกเธอว่า นายฮิมเขาไปเกิดเป็นเปรต”

            “แล้วหลวงพ่อไม่ช่วยเขาหรือครับ”

            “ช่วยไม่ได้ ก็เขาไม่มีทุนเดิมอยู่เลย คนที่ฉันจะช่วยได้นั้นจะต้องมีทุนเดิมอย่างน้อยหกสิบเปอร์เซ็นต์ ทุนที่ว่านี้หมายถึงกุศลกรรม ถ้าใครมีกุศลกรรมอยู่หกสิบเปอร์เซ็นต์ แล้วมาให้ฉันช่วยก็พอจะช่วยได้ แต่เขาก็ต้องช่วยตัวเองด้วย อย่างเช่น ฉันบอกให้มาเจริญกรรมฐานเพื่อเพิ่มทุน ถ้าเขาไม่มาหรือมาแต่ไม่ปฏิบัติจริงจัง ก็ไม่ได้ผล แก้กรรมไม่ได้”

            “เรื่องของกรรมนี่ลึกลับซับซ้อนจังนะครับ หลวงพ่อ คนบางพวกก็ก่อกรรมทำชั่วโดยไม่กลัวบาป ขนาดหลวงพ่อตักเตือน เขาก็ไม่ยอมเชื่อฟัง”

            “เพราะกรรมเขาทำมาอย่างนั้น”

            “ครับ นึก ๆ ดูก็น่าขำเหมือนกัน คนทุกคนตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม แต่บางคนกลับไม่เชื่อกรรม ผมโชคดีที่ได้มาอยู่ใกล้หลวงพ่อ ไม่งั้นก็คงไม่เชื่อเหมือนกัน”

            “เอาละ ๆ จบบทสนทนากันเสียที จะถึงทางแยกเข้าวัดแล้ว ดูซ้ายดูขวาให้ดีล่ะ ประเดี๋ยวจะไม่มีโอกาสได้แต่งานกับเขา” ท่านพระครูเตือน

            “ถึงมีโอกาสก็ไม่แต่งหรอกครับหลวงพ่อ แหม อยู่ดีไม่ว่าดี จะให้ไปแต่งงานกับภูเขาเสียแล้ว แต่งกับคนยังพอว่า” ลูกศิษย์วัดไม่วายเล่นลิ้น เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงไม่โต้ตอบ เพราะต้องทำหน้าที่มองซ้ายขวา ช่วยคนขับซึ่งพูดมาก ปากไม่ค่อยได้พักผ่อนเช่นนายสมชายผู้นี้

            เมื่อรถตู้สีครีมเลี้ยวขวาออกจากถนนสายเอเชีย นายขุนทองซึ่งมานั่งดักรออยู่ที่ศาลาตรงปากทางเข้าวัด ก็วิ่งมาสกัดหน้ารถ นายสมชายจึงจอดรถรับเขาขึ้นมาด้วย

            “ไปไหนมาขุนทอง สามทุ่มกว่าแล้ว ยังไม่หลับอีกหรือ” คนขับตั้งคำถาม

            “หลับได้ไงล่ะพี่ เหม็นอีตาคนนั้นจนอ้วกแตกอ้วกแตน เลยต้องหนีมานั่งที่ศาลา” นายขุนทองตอบ แล้วรายงานท่านพระครูว่า

            “หลวงลุงฮะ มีตาคนนึงมารอหลวงลุงอยู่ที่กุฏิ หนูพาไปห้องพักก็ไม่ยอมไป แกว่าแกป่วยมาก เดินไม่ไหว”

            “เดินไม่ไหวแล้วมาถึงกุฏิข้าได้ยังไง หรือว่ามีคนหามมา”

            “ก็ไม่ทราบเหมือนกันฮะ หนูกำลังจะปิดกุฏิตอนเกือบ ๆ สองทุ่ม แกก็เดินโซซัดโซเซเข้ามาแล้วก็นอนร้องโอย ๆ อยู่หน้าอาสนะหลวงลุงนั่นแหละ”

            “แสดงว่าเขาป่วยมาก แล้วเอ็งทิ้งเขาไว้อย่างนั้นน่ะหรือ ทิ้งแขกของข้าซึ่งกำลังป่วยหนักให้นอนอยู่อย่างนั้นหรือขุนทอง” ท่านเอ็ดหลานชาย

            “โธ่ หลวงลุงฮะ หนูทนไม่ไหวจริง ๆ แกเหม็นอย่างร้ายกาจ ขนาดหนูเข้าไปหลบอยู่ในห้อง กลิ่นเหม็นนั้นก็ยังตามไปราวี หนูอ้วกซะไม่มีดี ทนอยู่ได้สักครึ่งชั่วโมง ก็ยอมแพ้ เลยเดินเล่น ๆ มาจนถึงศาลานั่นแหละฮะ” หลานชายชี้แจง

            “เขาเป็นอะไร ถึงได้เหม็นขนาดนั้น”

            “หนูก็ไม่ทราบฮะ สงสัยคอแกจะเน่า น้ำเหลืองไหลเยิ้มเลย”

            “แล้วเขามาจากไหน เอ็งถามหรือเปล่า”

            “หนูไม่กล้าถามฮะ กลัวกลิ่นเน่าเข้าปาก แค่เข้าจมูกก็เกือบตายแล้ว” นายสมชายอดรนทนไม่ได้ จึงเอ่ยขึ้นว่า

            “เอ็งพูดเกินความจริงแล้วมั้งขุนทอง คนเป็น ๆ อะไรจะเหม็นขนาดนั้น” นายขุนทองชักอารมณ์ไม่ดีด้วยดูเหมือนไม่มีใครเชื่อในสิ่งที่เขาบอกกล่าว จึง “แว้ด” ใส่คนอายุมากกว่า

            “ไม่เชื่อเดี๋ยวพี่ก็ไปดูเองแล้วกัน แล้วจะรู้ว่าหนูไม่ได้โกหก” พอดีกับรถแล่นมาจอดที่ด้านหลังกุฏิ ทันทีที่ก้าวขาลงจากรถ ท่านพระครูก็มีอันต้องกำหนด “กลิ่นหนอ” ข้างฝ่ายนายสมชายถึงกับบ่นอุบ

            “อะไรกันวะขุนทอง รุนแรงถึงขนาดนี้เชียวหรือ”

            “เป็นไง หนูโกหกหรือเปล่า” ฝ่ายนั้นได้ทีจึงย้อนให้ แล้วหันไปพูดกับท่านเจ้าของกุฏิว่า “หลวงลุงฮะ คืนนี้หนูขออนุญาตไปนอนกับหลวงพี่บัวเฮียวนะฮะ ขืนนอนที่นี่มีหลัวอ้วกทั้งคืน” ท่านพระครูรู้นิสัยของหลานชายที่คิดเสมอว่าตัวเองเป็นผู้หญิง จึงไม่อนุญาต ด้วยเกรงพ่อตัวดีจะไปทำให้พรหมจรรย์ของภิกษุหนุ่มต้องมัวหมอง

            “ไปไม่ได้ เอาเถอะ ข้าอนุญาตให้เอ็งขึ้นไปนอนบนห้องนายสมชาย แล้วให้เจ้าของห้องไปนอนที่กุฏิพระบัวเฮียวแทน”

            “ขอบพระคุณครับหลวงพ่อ เดี๋ยวผมเก็บรถแล้วก็จะไปอาบน้ำที่นั่นเลย โอย ขืนอยู่คงต้องอ้วกแข่งกับเจ้าขุนทองมัน” นายสมชายว่า แล้วจึงนำรถเข้าไปเก็บ

            ฝ่ายนายขุนทองก็กระฟัดกระเฟียดเดินเอามืออุดจมูกเข้าไปในกุฏิ แล้วก็ขึ้นไปนอนชั้นบน ท่านพระครูไม่ว่ากระไร เพราะแม้ท่านเอง ก็ยังแทบทนไม่ได้ “เมื่อเดินไปนั่งที่อาสนะ กลิ่นนั้นก็รุนแรงยิ่งขึ้นจนท่านเกือบจะต้องใช้มือปิดจมูก

            เห็นท่านเข้ามา บุรุษวัยหกสิบพยายามยันกายลุกนั่ง แล้วกราบท่านสามครั้ง “หลวงพ่อครับ ช่วยผมด้วย โอย ทรมานเหลือเกิน” เขาพูด พลางส่งเสียงครวญคราง

            “โยมเป็นอะไรมา” ท่านเจ้าของกุฏิถาม

            “โอย...หมอเขาว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองครับ ผ่าตัดมาแล้วสองครั้งก็ไม่หาย มันเหม็นเหลือเกินครับ หลวงพ่อ โอย..ผมกะจะมาตายอยู่กับหลวงพ่อ

            “อ้าว นี่หนีลูกหนีเมียมานี่นา ใช่หรือเปล่า” ท่านจำเป็นต้องใช้ “เห็นหนอ” เข้าตรวจสอบเพื่อช่วยให้คนเจ็บไม่ต้องพูดนาน

            “ครับ” เขาสารภาพ

            “ไม่ได้ ทำอย่างนั้นไม่ได้ เอาละขอให้บอกชื่อและที่อยู่มา ถ้ายังไงอาตมาจะได้ส่งข่าวไปให้ลูกเมียได้ อย่าพูดปดนา อาตมารู้ว่า โยมมาจากเชียงใหม่ เคยเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยเกษตรกรรม ใช่ไหม แล้วภรรยาเป็นเจ้าของร้านขายผ้าไหมอยู่ในเมือง ลูกชายเป็นปลัดอำเภอ ลูกสาวเป็นพยาบาล ถูกหรือเปล่า”

            “ถูกครับ โอย ทำไมหลวงพ่อทราบ” ถามด้วยความสงสัย

            “ก็กฎแห่งกรรมของโยมบอกอาตมาน่ะซี ไหนบอกชื่อและที่อยู่มาก่อน แล้วที่มานี่เพราะเพื่อนบ้านแนะนำมาใช่ไหมเล่า”

            “ถึงผมไม่บอก หลวงพ่อก็ทราบนี่ครับ โอย..” บุรุษนั้นรู้สึกศรัทธาในตัวท่านขึ้นมาทันที มิเสียแรงที่ลงทุนจ้างรถแท็กซี่มาส่งด้วยราคาถึงห้าร้อยบาท

            “แต่อาตมาต้องการให้โยมบอกเอาละ ช่วยจดใส่สมุดเล่มนี้ให้ด้วย อาตมาจะเก็บไว้เป็นหลักฐาน” ท่านส่งสมุดเล่มหนาให้ อดีตอาจารย์วิทยาลัยเกษตรกรรมรับมา หากไม่สามารถเขียนได้ จึงเรียนท่านว่า

            “ผมไม่สามารถเขียนได้ครับหลวงพ่อ” แม้อายุจะแก่กว่าท่านถึงสิบปี หากก็เรียกท่านว่า “หลวงพ่อ” อย่างเต็มอกเต็มใจ รู้สึกเหมือนว่าทุกขเวทนาลดลงเมื่อได้พูดคุยกับท่าน

            “ปวดมากจนเขียนไม่ได้หรือ” ท่านพระครูถาม รู้ว่าเขากำลังต่อสู้กับทุกขเวทนา จึงแผ่เมตตาจิตไปช่วยให้ทุเลาลง

            “ที่เขียนไม่ได้เพราะไม่มีปากกาครับ ผมไม่ได้เอาปากกามา” ตอบโดยไม่ต้องผสมด้วยเสียง “โอย” เพราะได้รับกระแสแห่งเมตตาโดยที่เจ้าตัวไม่รู้

            “อ้าว แล้วก็ไม่บอก อาตมานึกว่าปวดมากจนเขียนไม่ได้เสียอีก” พูดแล้วจึงส่งปากกาให้ บุรุษวัยหกสิบรับมาแล้วเขียนชื่อ นามสกุล พร้อมทั้งที่อยู่ของตนลงในสมุดแล้วส่งคืนให้ท่าน

          “อ้อ ชื่อชิตหรือ”

          “ครับ”

          เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงมองหน้าอาจารย์ชิต และเห็นกฎแห่งกรรมของเขาอย่างทะลุปรุโปร่ง ทว่าบุรุษผู้นี้กลับไม่เห็นกฎแห่งกรรมของตัวเอง!

 

มีต่อ........๕๒