สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๖

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00056

๕๖...

          “หลวงพ่อครับ เป็นไปได้หรือครับ ที่คนเราจะอยู่ได้ตั้งสามเดือนโดยไม่ต้องกินอาหาร ผมว่ามันขัดกับหลักวิทยาศาสตร์นะครับ” อาจารย์ชิตเอ่ยถามหลังจากนายจรินทร์ลุกออกไปแล้ว

          “ขัดสิโยม ถ้าโยมเอาหลักวิทยาศาสตร์มาตัดสิน มันขันแน่ ๆ แต่สำหรับอาตมาไม่ได้คิดอย่างนั้น อาตมาไม่ได้ยกย่องวิทยาศาสตร์ว่าสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างให้มนุษย์ได้ ทั้งนี้เพราะยังมีอีกหลายอย่างหลายเรื่องที่วิทยาศาสตร์ยังเข้าไม่ถึง เช่น เรื่องของกรรมและเรื่องของจิตวิญญาณเป็นต้น ยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ ในกรณีของโยม การที่หมอเขาไม่สามารถรักษาโรคให้โยมได้ เพราะเขาใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ แต่อาตมาจะใช้วิธีการทางจิตรักษาให้หาย อย่าลืมว่าจิตวิญญาณนั้นมีพลังมากว่าสสารหลายเท่านัก การที่ร่างของท่านสุวินไม่เน่าเปื่อยเพราะอาศัยพลังจิตซึ่งตามหลักวิทยาศาสตร์ มันเป็นไปไม่ได้ ใช่ไหม”

          “ครับ เป็นไปไม่ได้”

          “นั่นแหละ อาตมาถึงไม่ยึดเอาวิทยาศาสตร์มาเป็นเกณฑ์ตัดสินในทุกกรณี เพราะมีบางกรณีที่วิทยาศาสตร์ตัดสินไม่ได้ แต่มนุษย์ทุกวันนี้ เขายึดวิทยาศาสตร์เป็นสรณะ เพราะเขาให้ความสำคัญกับร่างกายมากกว่าจิตใจ อะไรที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เขาก็ถือว่าเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ เช่น เรื่องจิตวิญญาณเป็นต้น” ท่านกล่าวถึงความเชื่อพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบัน

          “เรื่องฌานสมาบัติที่หลวงพ่อพูดถึงเมื่อตะกี้ ก็เป็นเรืองของจิตใช่ไหมครับ” ผู้อาวุโสถามอีก นายขุนทองรู้สึกว่าฟังไม่รู้เรื่อง จึงขอตัวไปนอน

          “ถูกแล้ว เป็นเรื่องของจิตโดยตรงทีเดียว”

          “คนธรรมดาจะสามารถเข้าฌานได้หรือเปล่าครับ”

          “ได้ หากมีการฝึกจิต”

          “ถ้าเช่นนั้น ถ้าหากผมฝึกจิต ผมก็สามารถจะเข้านิโรธสมาบัติได้ใช่ไหมครับ”

          “ไม่ได้หรอกโยม บุคคลที่สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้นั้น มีเพียงสองประเภท คือ พระอนาคามีที่ได้สมาบัติ ๘ กับพระอรหันต์ประเภทอุภโตภาควิมุตตะ นอกนั้นเข้าไม่ได้”

            “พระโสดาบันและพระสกทาคามี ก็เข้าไม่ได้หรือครับ”

          “ไม่ได้ ถึงแม้ท่านจะได้สมาบัติ ๘ แต่ก็ยังเข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ เอาละ อาตมาว่า โยมปฏิบัติไปดีกว่า เรื่องเหล่านี้ยังไกลตัว เอาเรื่องใกล้ตัวก่อน เรื่องไกลเอาไว้ทีหลัง” ท่านพระครูพูดตัดบท

          “ครับ แต่...หลวงพ่อครับ หลวงพ่อบอกผมตอนก่อนไปว่า กลับมาจะเล่าอะไรให้ฟัง” เขาถือโอกาสทวงสัญญา

          “ตกลง เล่าก็เล่า ความลับนะ ห้ามเอาไปพูดต่อ สัญญาได้ไหม”

          “ได้ครับ ผมให้สัญญา” คนอยากฟังรับคำหนักแน่น

          “เอาละ ถ้าอย่างนั้นอาตมาก็จะเล่าให้ฟัง” แล้วท่านจึงเล่าว่า

          “ที่อาตมาถามถึงตาวนน่ะ เพราะเคยทำกรรมกับแกไว้สมัยที่อาตมาเป็นเด็ก นี่ก็ไปจัดการชดใช้มาเรียบร้อยแล้ว”

          “กรรมอะไรครับ” อาจารย์ชิตถาม

          “โกงค่าเรือจ้าง สมัยก่อนแกมีอาชีพพายเรือข้ามฟาก เก็บค่าโดยสารเที่ยวละหนึ่งสตางค์ อาตมาตอนนั้นเป็นนักเรียน ต้องข้ามฟากไปเรียนหนังสือฝั่งโน้น ก็ใช้บริการแกทุกวัน พอขึ้นทำก็แกล้งโยนหินก้อนเล็ก ๆ ลงไปที่ท้ายเรือ ทำเป็นว่าจ่ายค่าโดยสาร แกก็ไม่ติดใจสงสัย เพราะผู้โดยสารคนอื่น ๆ เขาก็ทำอย่างนี้”

          “โยนก้อนหินลงไปน่ะหรือครับ”

          “เปล่า โยนสตางค์จริง ๆ คือพอขึ้นท่า เขาก็จะโยนสตางค์ลงไปที่ท้ายเรือ มีอาตมาคนเดียวที่ใช้ก้อนหิน”

          “แกเคยจับได้บ้างไหมครับ” ผู้สูงอายุถามอีก

          “มือชั้นนี้แล้ว ถ้าถูกจับได้ก๊อเสียชื่อหมดน่ะซี” ท่านถือโอกาส “คุย”

          “หลวงพ่อเก่งจังนะครับ” คนฟังแกล้งชม

          “อ้าวเก่งซี ไม่เก่งได้หรือ แต่ขอโทษเถอะ เก่งในทางเลวทั้งนั้น” แล้วท่านก็หัวเราะ คนฟังพลอยหัวเราะตาม จากนั้นท่านเจ้าของกุฏิจึงเล่าอีกว่า

          “อาตมาก็โกงแกทุกวัน กระทั่งย้ายโรงเรียน พูดแล้วอย่าหาว่าคุยนะ อาตมานี่ย้ายโรงเรียนเป็นว่าเล่น จังหวัดสิงห์บุรีสมัยนั้นมีโรงเรียนมัธยมอยู่ ๘ แห่ง อาตมาเรียนมาหมดทุกแห่ง แห่งละเดือนบ้าง สองเดือนบ้าง อย่างเก่งไม่เกินหกเดือน เสร็จแล้วก็ย้ายไปอีก”

          “ทำไมย้ายบ่อยจังครับ” ถามอย่างสนใจ ท่านพระครูตอบอย่างภาคภูมิว่า

          “ก็เขาเชิญออก เรียนได้เดือนสองเดือนเขาก็เชิญออก เพราะอาตมาเก่งเกินไป พวกครูเขาปวดหัว เพราะตามความเก่งกาจของลูกศิษย์ไม่ทัน ก็เลยเชิญให้ออก อาตมาก็ต้องย้ายไปหาที่เรียนใหม่”

          “พอครับ ๘ แห่งแล้ว หลวงพ่อทำอย่างไรครับ วนรอบสองหรือเปล่า” คนเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองถามอย่างนึกสนุก

          “วนสิ วนรอบสอง แต่เขาไม่รับสักแห่งเดียว เขาบอกแค่รอบเดียว ครูก็จะพากันลาออกหมดโรงเรียนแล้ว ถ้าขืนรับอาตมาเข้าเรียนรอบสอง มีหวังภารโรงก็ต้องขอลาออก อาตมาก็เลยต้องไปเรียนที่บางกอกโน่น เอาละ จบเรื่องโรงเรียนก่อนมาเล่าเรื่องตาวนต่อ”

          “ครับ ตกลงแกรู้เรื่องที่หลวงพ่อโกงค่าจ้างหรือยังครับ” คนฟังถาม รู้สึกสนุกจนลืมปวดแผล

          “รู้แล้ว อาตมาบอกแกเมื่อกี้เอง แต่เชื่อเถอะ แกไม่บอกใครหรอก อาตมารับรองได้

          “หลวงพ่อจะแน่ใจได้อย่างไรครับ พอหลวงพ่อลงเรือนมา แกอาจจะบอกลูกเมียแกก็ได้” ผู้อาวุโสคาดการณ์

          “แกไม่บอกหรอกโยม เพราะแกนอนพะงาบ ๆ จะไปอยู่แล้ว อาตมาดูแล้วว่า สี่ทุ่มคืนนี้แกไปแน่ เห็นไหมนโยบายของอาตมาใช้ได้หรือเปล่า เลือกสารภาพตอนที่แกพูดไม่ได้แล้ว” ท่านหัวเราะอีก

          “แล้วนายขุนทองทราบเรื่องนี้หรือเปล่าครับ” ถามเสียงเบา

          “ให้รู้ไม่ได้ซี เจ้าหมอนี่เก็บความลับได้ที่ไหนล่ะ” ท่านวิจารณ์คนมีศักดิ์เป็นหลาน

          “พออาตมาไปถึง พวกลูก ๆ เขาดีใจใหญ่ บอก “แหม หลวงพ่อใจดีจัง อุตส่าห์มาเยี่ยม แถมเอาทั้งของทั้งเงินมาให้ พระวัดอื่นเขามีแต่จะเอาของญาติโยม แต่หลวงพ่อวัดนี้กลับเอามาให้ญาติโยม” อาตมาก็นึกขำที่เขาชมต่อหน้า ที่แท้เปล่าหรอก อาตมามาใช้หนี้ต่างหาก เขาก็พาอาตมาเข้าไปหาพ่อเขา อาตมาก็เข้าไปใกล้ ๆ กระซิบข้างหูแก ว่า “ตาวน จำอาตมาได้ไหม ที่เคยโดยสารเรือจ้างโยม เมื่อสามสิบปีก่อนน่ะ” แกก็พยักหน้า อาตมาก็พูดต่ออีกว่า

          “โยมรู้หรือเปล่า อาตมาโกงค่าเรือจ้างโยมทุกวัน ไม่เคยให้สตางค์เลย แต่โยนก้อนหินไปแทน นี่นะโยมก็ป่วยหนัก ถ้าอยากได้บุญก็อโหสิกรรมให้อาตมานะ เพราะตอนนี้อาตมาเป็นพระแล้ว และก็นี่เงินสองร้อยบาท อาตมาใช้หนี้ค่าเรือจ้าง ส่วนพวกเครื่องดื่มนี่คิดว่าเป็นดอกเบี้ย แต่โยมห้ามไปบอกลูกหลานนะ สัญญาได้ไหมเล่า ขืนบอกเขาก็จะพากันเลิกนับถืออาตมา” แกก็พยักหน้าอีก

          อาตมาก็โล่งใจที่ได้ใช้หนี้ไปอีกหนึ่งราย เสร็จแล้วอาตมาก็เทศน์โปรดแกเรื่อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย แกก็ฟังอย่างสงบ ก่อนกลับอาตมาก็สอนกรรมฐานให้ บอกว่าให้แกนอนกำหนดพอง-ยุบ ไปเท่าที่จะทำได้ ไม่ต้องไปห่วงลูกหลานหรือสมบัติ ให้เอาสติไว้ที่ท้องเท่านั้น แกก็พยายามทำตามที่อาตมาสอน ตกลงเรื่องนี้มีแกกับอาตมารู้กันสองคนเท่านั้น” ท่านสรุป รู้สึกโล่งอกโล่งใจเสียนัก

          “แต่ตอนนี้สามแล้วนะครับหลวงพ่อ เพราะเพิ่มผมเข้ามาอีกคนหนึ่ง” คนฟังแย้ง

          “ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็เหลือสองเท่าเดิม หลังสี่ทุ่มไปแล้วก็เหลือสองเท่าเดิม” ท่านพระครูพูดยิ้ม ๆ อดีตอาจารย์จึงประเมินผลว่า

          “ผมว่าเรื่องนี้ นายวนแกได้กำไรนะครับ ที่หลวงพ่อเทศน์โปรดแก แถมยังสอนกรรมฐานให้ กำไรหลายสิบเท่าตัวเชียวแหละ ไม่เหมือนเรื่องเจ๊ลี้ รายนั้นขาดทุนอานไปเลย” พูดแล้วก็หัวเราะ

          “เจ๊ลั้งโยม ไม่ใช่เจ๊ลี้ แล้วกันไปเปลี่ยนชื่อให้เขาเสียแล้ว เอาละ ทีนี้โยมก็ปฏิบัติต่อได้แล้ว อย่าลืมดื่มยาบ่อย ๆ นะ ดื่มต่างน้ำเลย จะได้หายเร็ว ๆ เอาละ ให้เดินจงกรมหนึ่งชั่วโมง นั่งหนึ่งชั่วโมง วันนี้จะมีทุกขเวทนามากกว่าทุกวัน อย่าตกใจ ให้ตั้งสติกำหนด “ปวดหนอ ปวดหนอ” ถ้าไม่หายก็ให้กำหนดว่า “อดทนหนอ อดทนหนอ” แล้วก็หันมากำหนด พอง-ยุบ ต่อไป จนกว่าจะครบหนึ่งชั่วโมง อาตมาเห็นจะต้องขึ้นไปทำงานต่อข้างบนละนะ” พูดจบท่านก็ลุกออกไปปิดประตูด้านหน้าและด้านหลังของกุฏิ แล้วจึงขึ้นไปข้างบน นายสมชายมีกุญแจอีกดอกหนึ่ง ที่จะไขเข้ามาเองได้ โดยไม่ต้องตะโกนเรียกคนขี้เซาอย่างนายขุนทองมาเปิดให้เช่นที่แล้ว ๆ มา

          เมื่ออยู่คนเดียว อาจารย์ชิตจึงเริ่มเดินจงกรม รู้สึกปวดหนึบ ๆ ที่แผล หากเขาไม่สนใจ พยายามเอาสติจดจ่อกับอาการเคลื่อนไหวของเท้า เหลือบมองนาฬิกาที่แขวนอยู่ข้างฝา ขณะนั้นเป็นเวลาสองทุ่มครึ่ง จากนั้นก็จะนั่งไปจนกว่าจะครบหนึ่งชั่วโมง ตามที่หลวงพ่อท่านสั่ง แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าหมดเวลา คงจะต้องลืมตาขึ้นดูนาฬิกาเป็นครั้งเป็นคราว ทว่าการกระทำเช่นนั้น จะทำให้สมาธิไม่ต่อเนื่อง บุรุษวัยหากสิบรู้สึกสับสนทางความคิด จนต้องหยุดเดินแล้วตั้งสติกำหนด “สับสนหนอ สับสนหนอ” ยังไม่ทันจะหายสับสน ก็ได้ยินเสียงทุบประตูปัง ๆ พร้อมกับเสียงเรียกเข้ามาว่า

          “ท่านพระครูอยู่หรือเปล่าครับ ช่วยเปิดประตูหน่อย” อาจารย์ชิตจึงจำต้องเดินไปที่ประดูเพื่อจะเปิด หากก็ไม่สามารถเปิดได้ เพราะไม่มีลูกกุญแจ จึงหันกลับ เพื่อจะไปปลุกนายขุนทอง พอดีกับนายสมชายไขกุญแจเข้ามาทางประตูด้านหลัง

          “มีคนมาเรียกหาหลวงพ่อแน่ะ” เขาบอกศิษย์วัด

          “ครับ เดี๋ยวผมเปิดให้เอง” ชายหนุ่มเดินไปหยิบพวงกุญแจที่ห้อยอยู่ตรงบันไดทางขึ้น แล้วจึงไขประตูเปิดให้ผู้ที่อยู่ข้างนอกเข้ามา

          “ท่านพระครูจำวัดหรือยัง” ภิกษุวัยเดียวกับเจ้าของกุฏิถาม ท่านมากับฆราวาสสองคน เป็นชายหนึ่งหญิงหนึ่ง

          “ยังหรอกครับ นิมนต์หลวงพ่อนั่งรอก่อน ประเดี๋ยวผมจะขึ้นไปตามให้” ภิกษุรูปนั้น จึงไปนั่งรอที่หน้าอาสนะ ส่วนผู้ติดตามทั้งสองก็เข้ามานั่งในกุฏิ นายสมชายจัดการชงน้ำชามาประเคนท่าน สำหรับฆราวาสสองคน เขาแถมขนมปังกรอบชิ้นเล็ก ๆ มาให้ด้วย ปริการแขกเสร็จจึงขึ้นไปตามท่านพระครู

          อาจารย์ชิตหลบออกไปเดินจงกรมที่ด้านหลังโรงรถ เขาไม่ต้องการนั่งอยู่ ณ ที่นั้น ด้วยเหตุผลสองประการ คือ อาคันตุกะของท่านพระครูจะได้ไม่เหม็นกลิ่นเน่าจากแผลของเขาประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง เขาจะได้ไม่เสียเวลาปฏิบัติกรรมฐาน

          เมื่อท่านพระครูเปิดประตูหน้าบันไดออกมา ภิกษุอาคันตุกะยกมือไหว้ทำความเคารพ ท่านรับไหว้ ผู้ติดตามทั้งสองก้มลงกราบท่านเจ้าของกุฏิสามครั้ง

          “ผมต้องขอโทษที่มารบกวนท่านพระครูในยามวิกาลเช่นนี้” ภิกษุวัยห้าสิบ เอ่ยขึ้นก่อน

          “อย่าถือว่าเป็นการรบกวนเลยครับ วัดป่ามะม่วงยินดีต้อนรับท่านพระครูทุกเวลา” ท่านเจ้าของกุฏิพูดกับภิกษุผู้มีวัยและสมณศักดิ์เสมอกับท่าน

          “ผมมีเรื่องด่วนจะมาเรียนปรึกษาท่านพระครู รอให้ถึงพรุ่งนี้ไม่ได้ เลยชวนญาติโยมเขามา คือ เณรลูกวัดผมก่อปัญหาเสียแล้ว”

          “ลูกชายผมเองครับ นี่แม่เขา” ฆราวาสที่มาด้วยพูดขึ้น ทั้งเขาและภรรยามีท่าทางทุกข์ร้อน โดยเฉพาะภรรยานั้นมีดวงตาแดงช้ำ แสดงว่าเพิ่งผ่านการร้องไห้มา

          “เกิดอะไรขึ้นกับเณรลูกชายของโยมหรือ” ท่านถามสองสามีภรรยา

          “นิมนต์หลวงพ่อเล่าดีกว่าครับ” บุรุษวัยสี่สิบบอกภิกษุผู้เป็นอุปัชฌาย์ของเณรลูกชาย

          “คืออย่างนี้ครับท่านพระครู โยมสองคนนี่เขาพาลูกชายมาบวชเณรที่วัดผม ก็บวชมาตั้งแต่อายุสิบสี่จนอายุจะครบบวชพระเข้าปีนี้แล้ว เณรรูปนี้ขยันนั่งสมาธิมาก พอฉันเสร็จก็นั่งสมาธิ ไม่พูดไม่คุยกับใคร เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่บวชใหม่ ๆ นี่สั่งสมาธิข้ามวันข้ามคืนเลย ข้าวปลาอาหารก็ไม่ยอมฉัน” ภิกษุผู้มาเยือนเล่าความ

          “ก็ดีแล้วนี่ มีลูกศิษย์ขยันปฏิบัติอย่างนี้ ท่านน่าจะภูมิใจ” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงพูดขัดขึ้น

          “ครับ ผมภูมิใจ โยมพ่อโยมแม่เขาก็ภูมิใจ แต่ตอนนี้มันเกิดเรื่องยุ่งแล้วละครับ ท่านพระครู”

          “ยุ่งยังไงล่ะ” ท่านเจ้าของกุฏิซัก

          “คือตอนหกโมงเย็น เณรเขาออกจากสมาธิ แล้วก็ถือบาตรเดินออกจากวัด จะไปบิณฑบาต”

          “บิณฑบาตตอนหกโมงเย็นน่ะหรือ”

          “ครับ”

          “ทำไมเป็นยังงั้นไปได้”

          “นั่นสิครับ เขาถือบาตรออกมาแถมสบงจีวรก็ไม่มี เดินตัวล่อนจ้อนออกมาจากห้อง พระเณรก็พากันตกใจ ถามว่า “เณรจะไปไหน” เขาก็ว่า “ผมไม่ใช่เณรนะ ผมสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว พวกคุณต้องกราบผมสิ” พูดจบก็ถือบาตรเดินโทง ๆ ไปทางประตูหน้าวัด ผมก็เลยสั่งให้พระเณรช่วยกันจับ เขาก็วิ่งหนี ก็เกิดการไล่จับกันขึ้น ญาติโยมที่บ้านอยู่ใกล้วัดก็พากันมาดู แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าเณรบ้า ผมก็เลยบอกให้โยมผู้ชายช่วยกันจับ กว่าจะได้ก็เล่นหอบไปตาม ๆ กัน”

          “แล้วตอนนี้อยู่ที่ไหนล่ะ”

          “อยู่ที่วัดครับ ผมให้เขามัดไว้แล้วไปตามโยมพ่อโยมแม่เขามา เขาก็จำอะไรไม่ได้ พูดแต่ว่า “ผมเป็นพระอรหันต์ ผมเป็นพระอรหันต์ คุณมาจับพระอรหันต์มัดไว้อย่างนี้ จะต้องตกนรก”

            “ลูกดิฉันเป็นอะไรไปคะหลวงพ่อ” ผู้เป็นแม่ถามเสียงเครือ

          “เท่าที่ฟังเล่ามา อาตมาขอลงความเห็นว่า เขาหลงทางเสียแล้ว แบบนี้ลำบาก แก้ยาก” ท่านส่ายหน้าช้า ๆ

          “แล้วจะทำยังไงดีคะ” คราวนี้หล่อนร้องไห้

          “ต้องให้สึก เอาเถอะ พอสึกออกมา อีกหน่อยเขาก็มีลูกมีเมีย แล้วก็จะหายไปเอง” ท่านพระครูบอกหนทางแก้ไข

          “แต่ดิฉันอยากให้ลูกบวชตลอดชีวิตค่ะ อยากให้เขาบรรลุมรรค ผล นิพพาน” สตรีวัยสี่สิบรำพัน ภิกษุอาคันตุกะ จึงถามขึ้นว่า

          “บวชต่อไปไม่ได้หรือครับท่านพระครู โยมแม่เขาอยากให้ลูกบวชตลอดชีวิต”

          “ไม่ได้แน่ เขาสร้างบุญบารมีมาแค่นี้ ถ้าไม่ให้สึก รับรองว่ากู่ไม่กลับ เชื่ออาตมาเถอะ”

          “แต่ดิฉันทำใจไม่ได้ค่ะหลวงพ่อ ดิฉันมีลูกชายคนเดียว แล้วก็หวังมากว่าเขาจะได้เป็นพระอรหันต์” คนเป็นแม่รำพัน

          “มนุษย์เราไม่ได้อย่างที่ใจหวังไปทุกคนหรอกโยม อาตมาว่า โยมจะต้องทำใจให้ได้ เอาเถอะ อีกหน่อยพอมีหลานมาให้อุ้ม โยมก็จะทำใจได้เองนะโยมนะ” เมื่อพูดถึงหลาน สตรีวัยสี่สิบ รู้สึกอบอุ่นเล็ก ๆ ด้วยสัญชาตญาณของการดำรงเผ่าพันธุ์

          “จริงสินะ หากคนบรรลุนิพพานเป็นพระอรหันต์กันหมด เผ่าพันธุ์ของมนุษย์ก็จะต้องสูญสิ้นไปจากโลกเป็นแน่แท้” หล่อนคิด หารู้ไม่ว่าสิ่งที่คิดนั้นมันเป็นไปไม่ได้

          “ต้องพาส่งโรงพยาบาลปากคลองสานหรือเปล่าคะ” หล่อนถามอีก คราวนี้ด้วยความรู้สึกห่วงลูกมากกว่าห่วงมรรค ผล นิพพาน

          “ไม่ต้องหรอกโยม ถ้าให้สึก ไม่ต้องส่งโรงพยาบาล แต่ถ้าไม่สึก ถึงจะส่งโรงพยาบาล ก็ไม่มีโอกาสหาย” ท่านพระครูพูดตามที่ “เห็น”

          “แต่ถ้าเขาไม่ยอมสึกเล่าครับ” ท่านพระครูผู้เป็นอาคันตุกะยังวิตก

          “ท่านก็ต้องเลือกโอกาสพูดกับเขาซีครับ คือเลือกพูดตอนที่เขาสงบแล้ว ตอนกำลังคลั่งอย่าเพิ่งพูด” ท่านเจ้าของกุฏิแนะนำ

          “จริงของท่าน แหม ผมก็ลืมข้อนี้ไปเสียสนิทเลย ถ้าอย่างนั้นเห็นจะต้องลาละ ของพระคุณที่ท่านกรุณาแนะนำ” แล้วภิกษุอาคันตุกะหนึ่งรูปกับฆราวาสสองคน ก็ลาท่านเจ้าของกุฏิกลับ ท่านพระครูให้นายสมชายไปเรียกอาจารย์ชิตมาปฏิบัติภายในกุฏิ แล้วจึงขึ้นไปเขียนหนังสือต่อ

          เมื่อเดินจงกรมครบหนึ่งชั่วโมง บุรุษวัยหกสิบจึงกำหนดนั่ง เขาไม่ต้องกังวลเรื่องเวลา เพราะนายสมชายเกิดใจดี นำนาฬิกาปลุกมาให้ยืมพร้อมทั้งตั้งเวลาให้เสร็จสรรพ อาการพองยุบชัดเจนในตอนแรก ๆ ครั้นเวลาผ่านไปชั่วครู่ ความรู้สึกปวดที่แผลทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และน้ำเหลืองก็ออกมามากผิดปกติ จนเสื้อกล้ามเปียกชื้น นึกถึงถ้อยคำของท่านพระครูที่ว่า “วันนี้จะมีทุกขเวทนามากกว่าทุกวัน” จึงไม่ใส่ใจกับมัน เพราะรู้ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องเป็นเช่นนี้

          ขณะเผชิญกับเวทนากล้า บุรุษสูงอายุปลุกปลอบใจตนเองด้วยการนึกไปถึงนางสาวส้มป่อย ป่านฉะนี้หล่อนก็คงกำลังทุกข์ทรมานไม่แพ้เขา ความรู้สึกว่า “มีเพื่อน” ทำให้เกิดกำลังใจมาต่อสู้กับทุกขเวทนาที่ได้รับ ถึงอย่างไรก็จะทนนั่งอย่างนี้ตอไปจนกว่าจะหมดเวลา ทั้งจะไม่ยอมเปลี่ยนอิริยาบถเป็นอันขาด

          เสียงเคาะประตูดังขึ้นอีก หากคราวนี้คนเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั่งเฉย เพราะได้ตั้งใจไว้แล้วว่า จะไม่ขยับลุกไปไหนจนกว่าจะหมดเวลา เสียงนั้นดังขึ้นกว่าเดิม ตามด้วยเสียงเรียกชื่อนายสมชาย คนถูกเรียกอาบน้ำเสร็จพอดี จึงเดินออกมาเปิดประตู

          “สมชาย ช่วยไปเรียนหลวงพ่อให้ไปดูส้มป่อยด้วย อาละวาดใหญ่แล้ว ฉันห้ามยังไงก็ไม่ฟัง เล่นเอาคนอื่นไม่เป็นอันได้ปฏิบัติกันละ” แม่ชีเจียนบอกลูกศิษย์วัด เธอมากับเพื่อนชีอีกสองคน เพราะท่านเจ้าของกุฏิเคยสั่งไว้ว่า หากมีธุระด่วน และจำเป็นต้องมาพบท่านในยามวิกาล จะต้องมีเพื่อนมาด้วยสองคนเป็นอย่างน้อย

          แม้จะมิได้ลืมตาขึ้นดู หากหูของคนที่กำลังนั่งสมาธิก็ได้ยินเรื่องที่แม่ชีบอกนายสมชาย แล้วใจก็เลยนึกสงสารท่านพระครูที่ต้องถูกผู้คนรบกวนทั้งกลางวันกลางคืน โดยไม่เลือกข้างขึ้นหรือข้างแรม...

 

มีต่อ........๕๗