สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๕๗

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00057

๕๗...

          หากเป็นปุถุชนคนทั่วไป คงจะรู้สึกเหนื่อยหน่ายและหงุดหงิดรำคาญใจที่ต้องถูกรบกวนครั้งแล้วครั้งเล่า จนแทบจะหาเวลาเป็นของตัวเองไม่ได้

          แต่สำหรับท่านพระครูผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมรูปนี้ ความรู้สึกดังกล่าวไม่เคยบังเกิดขึ้น เพราะท่านยึดหลักว่าการสงเคราะห์ญาติโยมเป็นหน้าที่โดยตรงของท่าน ซึ่งแม้จะเหนื่อยยากสักปานใดก็ไม่คิดทดถอย ดังนั้นเมื่อนายสมชายบอกกล่าวเรื่องที่แม่ชีเจียนมารายงาน ท่านจึงออกคำสั่งว่า “ไปตามตัวมา บอกฉันให้มาพบที่กุฏิโดยด่วน” ครั้นนึกถึงภาพที่ศิษย์หนุ่มจ้องอกสาวเมื่อตอนสายจึงสั่งอีกว่า “ปลุกเจ้าขุนทองไปเป็นเพื่อนด้วย”

          “ไม่ต้องหรอกครับ ผมไปคนเดียวดีกว่า ขี้เกียจฟังมันบ่นในยามวิกาล” เขาว่า เพราะเคยรู้ฤทธิ์กันมาแล้ว

          “งันก็ชวนแม่ชีไปด้วยสองคน จะได้ไม่น่าเกลียด”

          “ครับ” ชายหนุ่มรับคำแล้วลงมาบอกให้แม่ชีเจียนทราบ

          “งั้นฉันจะเดินไปเป็นเพื่อนอีกคน” แม่ชีพูดพลางหันไปมองอาจารย์ชิต แม้ฝ่ายนั้นจะกำลังนั่งสมาธิอยู่ หากก็คงไม่เหมาะถ้าเธอจะนั่ง ณ ที่นั้นโดยไม่มีคนที่สามอยู่ด้วย

          เมื่อคนทั้งสี่เดินไปถึงสำนักชี ก็ได้ยินเสียงร้องไห้คร่ำครวญสลับกับเสียงก่นด่า เสียงสาปแช่งที่ออกมาจากปากของนางสาวส้มป่อย

          “ได้ยินไหม เห็นฤทธิ์แม่เจ้าประคุณหรือยัง ฉันเอาไม่ไหวจริง ๆ ถึงต้องไปเรียนให้หลวงพ่อท่านทราบ ทั้งที่แสนที่จะเกรงใจ” แม่ชีเจียนว่านายสมชาย ทั้งขำทั้งนึกสมเพชเมื่อได้ยินได้ฟัง

          “โอ๊ย ปวดโว้ย ปวดจะตายอยู่แล้ว โธ่เว้ย ไม่มีใครเห็นใจอีกส้มป่อยเลย แม่ชีโว้ย ไปตามหลวงพ่อมาหน่อย ฮือ ๆ โธ่เอ๋ย กูนะกู เกิดมาอาภัพ ฮือ ๆ พ่อแม่พี่น้องก็พากันหายหัวไปหมด...ฮือ ๆ อีแม่ ..อีแม่นั่นแหละทำกรรมให้กู เสือกใช้ให้กูเอาลูกหมาไปปล่อย กูก็เลยต้องมาเป็นอย่างนี้ ฮือ ๆ อีแม่เฮงซวย แม่หมา ๆ ยังงี้ก็มีด้วย...” หล่อนก่นด่าแม่บังเกิดเกล้า

          “ส้มป่อย หลวงพ่อให้มาตามไปพบด่วน” ชายหนุ่มบอก ได้ยินว่าท่านพระครูให้ไปพบ หญิงสาวก็ได้สติและหยุดร้องครวญคร่ำรำพัน

          “จริงหรือ ไปเดี๋ยวนี้เลยหรือ” หล่อนถามด้วยหวังใจว่า การได้พบท่านจะทำให้ความเจ็บปวดที่กำลังได้รับอยู่นั้นบรรเทาลง

          “เขาจะมาโกหกเอ็งทำไมกัน ไปรีบไปเดี๋ยวนี้แหละ เดินไหวหรือเปล่า หรือจะต้องให้หาม” แม่ชีเจียนพูดอย่างรำคาญ

          “ไหวจ้ะไหว” หญิงสาวว่า ออกเสียในที่ “แผลงฤทธิ์” จนทำให้คนเขาเดือดร้อน ทั้งที่ท่านพระครูกำชับนักหนาว่าให้อดทน

          “งั้นก็ไปกันเดี๋ยวนี้แหละ” นายสมชายพูดพลางออกเดินนำหน้านางสาวส้มป่อย กับชีอีกสามคนเดินตาม ต่างพากันเดินไปเงียบ ๆ โดยไม่มีผู้ใดปริปากพูด ชีสาวสองคนที่มาเป็นเพื่อนแม่ชีเจียนนั้นไม่ผิดกับคนใบ้ เพราะไม่พูดไม่จาทั้งตอนไปและตอนกลับ

          เมื่อคนทั้งห้าเดินมาถึงกุฏิ ท่านสมภารวัดป่ามะม่วงนั่งรออยู่ที่อาสนะแล้ว อาจารย์ชิดยังคงนั่งสมาธิอยู่ที่เดิม เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าท่านเจ้าของกุฏิลงมาข้างล่าง คนทั้งห้าทำความเคารพด้วยการกราบสามครั้ง แล้วท่านพระครูจึงพูดกับนางสาวส้มป่อยว่า

          “ไง อาละวาดใหญ่เลยหรือ ข้าเพิ่งเตือนไปหยก ๆ ทำไมลืมเสียได้” ท่านมิได้แผ่เมตตาให้หล่อนด้วยเหตุผลที่ว่า “เดี๋ยวจะเคยตัว” กระนั้นหญิงสาวก็ยังรู้สึกว่าความเจ็บปวดทุเลาลง เมื่อได้มานั่งต่อหน้าท่าน เป็นอุปาทานที่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวบุคคล เวลานี้ หล่อนเสมือนคนไร้ที่พึ่ง จึง “ยึด” เอาท่านพระครูเป็นสรณะ

            “ฉันปวดจ้ะหลวงพ่อ มันทนไม่ไหวจริง ๆ”

          “ก็เลยอาละวาดงั้นหรือ การทำเช่นนั้นทำให้เอ็งหายปวดใช่ไหม”

          “ไม่หายจ้ะ มันก็ยังปวดเหมือนเดิม แต่มันแปลกนะหลวงพ่อ เวลาฉันมานั่งต่อหน้าหลวงพ่อ ฉันรู้สึกสบายขึ้น”

          “นั่นเป็นอุปาทานของเอ็งต่างหาก เอ็งดูโยมเขาซิ เขาก็ปวดไม่แพ้เอ็งเหมือนกัน แต่ทำไมเขาไม่โวยวายอย่างเอ็ง” หญิงสาวมองดูอาจารย์ชิต เห็นเขานั่งนิ่งเหมือนไม่มีความรู้สึกใด ๆ จึงเถียงว่า

          “เขาไม่ปวดอย่างฉันน่ะซี ถ้าปวดเขาต้องทำอย่างที่ฉันทำนั่นแหละ”

          “งั้นเดี๋ยวเอ็งลองถามเขาดูก็ได้ รอให้หมดเวลาเสียก่อน”

          “เกิดเขานั่งอยู่อย่างนี้ทั้งคืน ฉันมิรอแย่หรือ” หล่อนพูดอย่างวิตก

          “ถ้าเอ็งอยากรู้จริง ๆ ก็น่าจะรอได้”

          “งั้นฉันไม่อยากรู้ดีกว่า” หล่อนเปลี่ยนใจ พอดีกับเสียงนาฬิกาปลุกดังกังวานขึ้น อาจารย์ชิตถอนจิตออกจากสมาธิ แล้วลืมตาช้า ๆ เขาก้มลงกราบท่านพระครูสามครั้งแล้ว อุทธรณ์ว่า

          “ปวดเหลือเกินครับหลวงพ่อ ปวดมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา”

          “ได้ยินหรือยังส้มป่อย ไหนเอ็งว่าเขาไม่ปวดไงล่ะ” ท่านพระครูหันไปพูดกับสาวคนป่วย

          “ปวดแล้วทำไมลุงนั่งเฉยราวกับไม่ปวดล่ะจ้ะ” หล่อนถามอาจารย์ชิต

          “ก็ลุงพยายามใช้สมาธิข่มเวทนา แล้วลุงก็คิดว่ากำลังใช้หนี้กรรม ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าลุงทำกรรมอะไรไว้ ถึงอย่างไรหนูก็ยังดีกว่าลุงตรงที่รู้กรรมของตัวเองแล้ว อีกประการหนึ่งหนูก็ปวดอย่างเดียว ไม่มีกลิ่นน่ารังเกียจเหมือนของลุง เพราะฉะนั้นหากจะเปรียบเทียบกันแล้ว ลุงอยู่ในสภาพที่แย่กว่าหนูมากนัก แต่ลุงก็พยายามอดทนสู้กับมัน” ฟังอาจารย์ชิตพูดแล้ว นางสาวส้มป่อยก็เถียงไม่ออก ท่านพระครูจึงพูดเสริมอีกว่า

          “ฟังข้านะส้มป่อย ฟังแล้วก็เก็บไปคิดเป็นการบ้าน ปราชญ์เขาสอนไว้ว่า “หัสดินย่อมไม่ทิ้งลีลาแม้ออกศึก ไม้จันทน์ย่อมไม่ทิ้งความหอมแม้แห้ง อ้อยย่อมไม่ทิ้งความหวานแม้ผ่านหีบ...บัณฑิตแม้มีความทุกข์ย่อมไม่ทิ้งธรรม” โยมชิตเขาเป็นบัณฑิตนะ แม้เขาจะมีความทุกข์ก็ยังรักษาธรรมไว้ได้ ส่วนเอ็งทำตัวเยี่ยงคนพาล พอประสบทุกข์ก็ทิ้งธรรม มีอย่างที่ไหน แม้แต่แม่บังเกิดเกล้าของตัวเอง ก็ยังด่าได้” ท่านตำหนิติเตียน

          “หลวงพ่อได้ยินหรือจ๊ะ” คนถามมองหน้านายสมชาย ด้วยคิดว่าเขามาฟ้อง

          “ก็ถ้าไม่ได้ยินแล้วข้าจะพูดถูกหรือ เอ็งไม่ต้องไปสงสัยว่าจะมีใครมาบอกข้าหรอก ข้ารู้ของข้าเองโดยไม่ต้องมีคนบอก ขอให้เอ็งรู้ไว้เสียด้วยว่า ข้ารู้ได้หากอยากจะรู้ ฉะนั้นก็อย่าพูด อย่าคิดอะไร ๆ ที่มันไม่ดี ขอให้สำเหนียกไว้ว่า อย่างน้อยข้าก็รู้ ถึงคนอื่นจะไม่รู้แต่ข้ารู้” ท่านพระครูย้ำ มิใช่จะอวดอุตริมนุสสธรรม หากต้องการจะสอนบุคคลผู้สอนยากเช่นนางสาวส้มป่อยผู้นี้

          “ฟังหลวงพ่อท่านสอนแล้วก็เก็บไปคิดทบทวนนะส้มป่อย คิดแล้วก็ต้องทำให้ได้ ขืนเอ็งอาละวาดอีก ข้าคงถูกคนอื่น ๆ เขาเล่นงานแน่” แม่ชีเจียนพูดเสริม ชีสาวสองคนไม่ปริปากพูดเช่นเคย

            “หลวงพ่อจ๊ะ ฉันไม่ชอบชื่อส้มป่อยเลย มันทำให้ฉันนึกถึงกรรมที่ปล่อยลูกหมา หลวงพ่อช่วยเปลี่ยนชื่อใหม่ให้ฉันด้วยได้ไหมจ๊ะ” หญิงสาวเปลี่ยนเรื่องเสียทันใด ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะไม่อยากฟังคำตำหนิติเตียน

          “ไม่ชอบชื่อส้มป่อยหรือ งั้นก็เปลี่ยนเป็นส้มแป้น เอาไหมเล่า หรือ จะเอาส้มเช้ง” คราวนี้ทั้งแม่ชีทั้งฆราวาสต่างพากันหัวเราะ คนป่วยจึงว่า

          “ไม่เอาจ้ะ ฉันไม่อยากได้คำว่า “ส้ม” ด้วย หลวงพ่อช่วยเปลี่ยนให้ใหม่ ไม่เอาทั้ง “ส้ม” ทั้ง “ป่อย” แล้วก็ไม่เอาอักษร ป. ด้วยนะจ๊ะ

          “งั้นชื่อเพชราก็แล้วกัน เผื่อได้เป็นนางเอกหนังกะเขาบ้าง ชอบไหมล่ะ ชื่อเพชราน่ะ” คราวนี้คนป่วยยิ้มหน้าบาน รีบสนองว่า

          “ดีจ้ะ ฉันก็เคยคิดไว้เหมือนกัน” แล้วพูดกับทุกคนในที่นั้นว่า “ต่อไปนี้อย่าเรียกฉันว่าส้มป่อยนะจ๊ะ ฉันเปลี่ยนชื่อเป็นเพชราแล้ว หลวงพ่อท่านเปลี่ยนให้ นี่ฉันต้องไปแจ้งอำเภอไหนจ๊ะ” ประโยคหลัง หล่อนถามท่านพระครู

          “ถ้าเอ็งจะเปลี่ยนจริง ๆ ก็คงต้องแจ้ง แต่เอาเถอะ ให้หายป่วยเสียก่อนค่อยดำเนินการ อันที่จริงมันก็ไม่เกี่ยวกับชื่อหรอกนะ คนเราจะดีหรือเลว จะสุขหรือทุกข์ไม่เกี่ยวกับชื่อ แต่อยู่ที่กรรม จะชื่อไพเราะเพราะพริ้งแค่ไหน หากทำกรรมชั่วก็ชื่อว่าเป็นคนชั่ววันยังค่ำ จริงไหมโยม” ท่านถามอาจารย์ชิต

          “จริงครับ” บุรุษวัยหกสิบรับคำ

          “แล้วเอ็งละ ที่ข้าพูดมานี่เอ็งเห็นด้วยไหมเพชรา” คนถูกถามยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ก่อนตอบว่า

          “จริงจ้ะ” เห็นชีสาวสองคนนั่งยิ้มหากไม่ยอมพูดจา ท่านพระครูจึงถามแม่ชีเจียนว่า

          “แม่ชีสองคนนี้เขาถือ “วจีวิรัติ” หรือยังไง ถึงไม่ยอมพูดจา”

          “ถูกแล้วจ้ะหลวงพ่อ เขาถือมาสามวันเข้านี่แล้ว”

          “ดีจริง อาตมาขออนุโมทนา การปฏิบัติธรรมนั้นหากจะให้ได้ผลจะต้องไม่พูดไม่คุยกับใครเลย เอาละกลับที่พักกันได้แล้ว หวังว่าเอ็งคงไม่ทำฤทธิ์อีกนะจ๊ะแม่เพชรา” ท่านกำชับนางสาวเพชรา คนได้ชื่อใหม่รับคำหนักแน่น แล้วก็เหมือนนึกอะไรขึ้นมาได้ จึงถามท่านเจ้าของกุฏิว่า

          “หลวงพ่อจ๊ะ ด่าพ่อแม่นี่ต้องตกนรกใช่ไหมจ๊ะ ฉันกลัวตกนรกจังเลยจ้ะ”

          “กลัวก็ต้องรีบเจริญกรรมฐานเข้า หากเอ็งปฏิบัติได้ถึงขั้นบรรลุญาณ ๑๖ เอ็งก็จะสามารถตัดอบายภูมิได้ ตายไปก็ไม่ต้องไปตกนรก” ท่านพระครูตอบ

          “แล้วฉันต้องปฏิบัติอยู่นานสักกี่ปีจ๊ะถึงจะบรรลุ”

            “อันนี้ข้าตอบไม่ได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับความเพียรพยายามของเอ็ง คนอื่นจะมากะเกณฑ์ให้ไม่ได้”

          “ด่าพ่อแม่ที่บาปกว่าเอาลูกหมาไปปล่อยอีกใช่ไหมจ๊ะ” หล่อนถามอีก

          “ถูกแล้ว ทั้งนี้เพราะพ่อแม่นั้นมีบุญคุณต่อเรามาก ในมาตาปิตุคุณสูตร พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ลูกจะให้แม่นั่งบนบ่าขวา ให้พ่อนั่งบนบ่าซ้าย ถ่ายอุจจาระปัสสาวะรดลงไปบนบ่าลูก ลูกเป็นผู้เช็ดให้ หาอาหารมาป้อนให้ กระทั่งจนท่านตายหรือกระทั่งลูกตายไป ก็ไม่สามารถจะตอบแทนพระคุณค่าป้อนข้าว ป้อนน้ำนมที่ท่านได้ถนอมกล่อมเกลี้ยงบำรุงเลี้ยงมาอย่างดีได้” พุทธวจนะที่ท่านพระครูหยิบยกมากล่าวอ้าง ทำให้คนฟังต่างระลึกนึกถึงบิดามารดาของตน โดยเฉพาะคนที่ชื่อยังใหม่เอี่ยมอ่องอยู่นั้นถึงกับน้ำตาซึม

          “แล้วทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าได้ทดแทนบุญคุณพ่อแม่อย่างเลิศที่สุดครับ” อาจารย์ชิตถาม

          “กล่าวโดยสรุปก็คือ ถ้าพ่อแม่เป็นมิจฉาทิฐิแล้วลูกสามารถชักจูงพ่อแม่ให้กลับเป็นสัมมาทิฐิได้ นั่นถือว่าได้ทดแทนบุญคุณอย่างเลิศ”

          “อันนี้ฉันไม่เข้าใจจ้ะ” คนจบชั้นประถมปีที่สี่ว่า อาจารย์ชิตจึงช่วยอธิบายให้หล่อนฟังเป็นการ “ผ่อนแรง” ท่านพระครู

          “หมายความว่า ถ้าพ่อแม่ของหนูมีความเห็นผิดเป็นต้นว่า ไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ แล้วหนูสามารถชักจูงชี้แจ้งให้ท่านมีความเห็นที่ถูกต้อง เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บุญบาปมีจริง ถ้าทำอย่างนี้ได้ถือว่าทดแทนบุญคุณอย่างเลิศที่สุด”

          “แล้วถ้าฉันพาพ่อแม่มาเข้ากรรมฐานล่ะจ๊ะ”

          “ถ้าทำเช่นนั้นก็ถือว่า เอ็งได้ทดแทนบุญคุณพ่อแม่อย่างเลิศที่สุด แต่ก็มีข้อแม้ว่าพ่อแม่เอ็งจะต้องตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ ไม่ใช่มานั่งกิน นอนกิน เปลืองข้าวสุกวัด คนประเภทนี้มีมากเหมือนกัน โดยเฉพาะที่วัดนี้ พอออกจากวัดเลยไม่ได้อะไรกลับไป แล้วก็เที่ยวไปพูดว่ามานั่งหลับหูหลับตาเสียเวลาทำมาหากิน”

            “หลวงพ่อจ๊ะ ฉันอยากพาพ่อกะแม่มาเข้ากรรมฐาน แต่ก็จนใจ เพราะไม่รู้ว่าเขาไปอยู่กันที่ไหน จะยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้” นางสาวเพชราพูดน่าสงสาร ท่านพระครูจึงจำต้อง “ช่วย” โดยบอกหล่อนว่า

          “ยังอยู่ทั้งสองคนนั่นแหละ เอาเถอะ เอ็งช่วยตัวเองเสียก่อน ขอให้ตั้งใจปฏิบัติ หายป่วยเมื่อใดค่อยคิดช่วยพ่อแม่”

          “ช่วยยังไงจ๊ะ”

          “ข้ายังไม่บอกเอ็งตอนนี้หรอก เอาไว้เวลานั้นมาถึงแล้วค่อยว่ากันใหม่ เอาละ กลับไปได้แล้ว แม่ชีสองคนที่ถือ “วจีวิรัติ” นั้น อาตมาขออนุโมทนา ขอให้ปฏิบัติก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น” คนทั้งสี่กราบลาท่านพระครูแล้วจึงลุกออกมา นายสมชายจัดการปิดประตูด้านหน้าและด้านหลัง แล้วเตรียมขึ้นนอนเพราะใกล้สองยามแล้ว

          “หลวงพ่อง่วงหรือยังครับ” อาจารย์ชิตถาม เขายังอยากคุยกับท่านพระครูต่อ เนื่องจากมีข้อข้องใจสงสัยที่อยากจะเรียนถาม

          “อาตมาไม่เคยง่วงหรอกโยม จิตมันเป็นอัตโนมัติเสียแล้ว ปกติอาตมานอนตอนตีสอง พอนอนปุ๊บก็หลับปั๊บโดยไม่รู้สึกง่วง พอตีสี่ก็ตื่นเองโดยอัตโนมัติ”

          “ถ้าเช่นนั้นผมขออนุญาตเรียนถามเรื่องฌานต่อได้ไหมครับ เพราะมันค้างใจผมอยู่ จนเกิดเป็นความกังวลเวลานั่งสมาธิ”

          “งั้นก็ถามมาเถอะ อาตมาจะได้ตอบให้หายข้องใจสงสัย แต่ต้องบอกไว้ก่อนนะว่า ถ้าเข้าใจเรื่องนี้แล้วก็อย่าไปสงสัยเรื่องอื่นต่อไปอีก ประเดี๋ยวจะกลายเป็นวิจิกิจฉา ทำให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้า”

          “ครับ ผมจะพยายาม สิ่งที่ผมจะเรียนถามหลวงพ่อคือ ผมอยากทราบว่า ฌานที่จะนำมาเป็นบาทฐานของวิปัสสนานั้น เป็นฌานขั้นไหน และถ้าเราไม่ได้ฌานก็จะไม่สามารถเจริญวิปัสสนาได้ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ”

            “เอาละ อาตมาจะตอบคำถามหลังก่อน ที่โยมถามมานี้แสดงว่ายังแยกไม่ออก ระหว่างฌานกับสมาธิ อาตมาจะอธิบายคำหลังก่อน คำว่า “สมาธิ” แปลว่า ความตั้งมั่นของจิต หรือ ภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด จึงเป็นภาวะจิตที่มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านหรือส่ายไป สมาธิมี สามระดับคือ ขณิกสมาธิ เป็นสมาธิชั่วขณะ อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิจวนแน่วแน่ และอัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิแน่วแน่อันเป็นสมาธิระดับสูงสุดซึ่งมีในฌานทั้งหลาย

          ดังนั้น ภาวะจิตที่มีสมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้วจึงจะเรียกว่าฌาน ฌานมีหลายขั้น ยิ่งเป็นขั้นสูงขึ้นไปเท่าใด องค์ธรรมต่าง ๆ ที่เป็นคุณสมบัติของจิตก็ยิ่งลดน้อยลงไปเท่านั้น ฌานโดยทั่วไปแบ่งเป็น ๒ ระดับใหญ่ ๆ คือ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ รูปฌาน ๔ ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ส่วนอรูปฌาน ๔ ได้แก่ อากาสานัญจายตนฌาน วิญญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน และ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน”

          ท่านพระครูอธิบายช้าและชัดเจน คนฟังกำหนด “ฟังหนอ” แล้วตั้งอกตั้งใจฟัง ใจจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ฟัง จึงเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งแม้เป็นเรื่องยาก

          “ที่อาตมาพูดมาทั้งหมดนี้ โยมเข้าใจใช่ไหม”

          “ครับ ผมเข้าใจแจ่มแจ้งเลยครับ”

          “ถ้าอย่างนั้นลองอธิบายให้อาตมาฟังหน่อยซิว่า ฌานคืออะไร”

          “คือ ภาวะจิตขั้นอัปปนาสมาธิครับ ขั้นขณิกสมาธิกับอุปจารสมาธิ ยังไม่เรียกว่าฌาน”

          “ดีมาก ทีนี้อาตมาก็จะได้อธิบายถึงสมาธิที่ใช้เป็นบาทฐานของวิปัสสนาหรือจะเรียกว่า วิปัสสนาสมาธิก็ได้ วิปัสสนาสมาธิ ได้แก่ สมาธิในระดับระหว่างขณิกสมาธิ กับ อุปจารสมาธิ ทีนี้โยมตอบมาซิว่า การที่จะเจริญวิปัสสนานั้นจำเป็นต้องได้ฌานหรือไม่”

          “ไม่จำเป็นครับ”

          “เอาละ ทีนี้ก็มาถึงคำถามแรกที่โยมถามว่า ฌานที่จะนำมาเป็นบาทฐานของวิปัสสนา เป็นฌานขั้นไหน โยมพอจะมองเห็นคำตอบไหม”

          “เป็นขั้นไหนก็ได้ใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว เพราะเมื่อจะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนา จะต้องถอนจิตออกจากฌานเสียก่อน หรือถ้าหากไม่ได้ฌาน ก็ต้องถอนจิตออกจากสมาธิเสียก่อน

          ในสมัยพุทธกาล ภิกษุรูปหนึ่งชื่อ พระมหาติสสเถระ ท่านเจริญอัฏฐิกรรมฐาน จนบรรลุปฐมฌาน แล้วใช้ปฐมฌานนั้นเป็นบาทฐาน เจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์”

          “ถ้าอย่างนั้นฌานก็ไม่มีความสำคัญมากนัก สำหรับผู้ที่มุ่งในทางวิปัสสนากรรมฐานใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว แต่ถ้าผู้ปฏิบัติมุ่งในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ ฌานมีความสำคัญมากและต้องเจริญให้ถึงจตุตถฌาน แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าผู้ที่ได้จตุตถฌานทุกคนจะมีอิทธิปาฏิหาริย์ จะได้เฉพาะบางคนที่มีสมาธิแก่กล้าเท่านั้น ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคยังระบุไว้ด้วยว่า ผู้ที่จะได้อิทธิปาฏิหาริย์นั้น ต้องมีบุญบารมีอันสำเร็จมากแต่ชาติก่อน มิใช่ได้เพราะความเชี่ยวชาญในสมาบัติ”

            “อย่างพระอาจารย์สุวินท่านก็ต้องเคยสร้างบารมีมาจากชาติก่อน ๆ ใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้ว”

          “แต่ท่านก็ไม่สามารถฝืนกฎแห่งกรรมไปได้ แสดงว่าอิทธิปาฏิหาริย์ก็ยังอยู่ใต้กฎแห่งกรรม ใช่ไหมครับ”

            “แน่นอน บางคนไม่เข้าใจ คิดว่า ถ้าได้อิทธิปาฏิหาริย์แล้วจะพ้นเวรพ้นกรรม มันพ้นไม่ได้หรอกโยม เอาละ นี่ก็ดึกมากแล้ว โยมควรจะพักผ่อนเสียที อาตมาก็จะขึ้นไปเขียนหนังสือต่อ” เมื่อท่านบอกจะขึ้นข้างบน อาจารย์ชิตก็รู้สึกปวดแผลขึ้นมาทันที จึงพยายามประวิงเวลาการสนทนาด้วยการถามว่า

          “หลวงพ่อเคยเจริญฌานหรือเปล่าครับ”

          “เคยโยม อาตมาเคยปฏิบัติเตโชกสิณ กับ อาโปกสิณ อยู่หลายปี”

          “แล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ หลวงพ่อกรุณาเล่าประสบการณ์ที่ได้จากการเจริญฌานให้ผมฟังเป็นธรรมทานได้ไหมครับ” ท่านพระครูไม่ตอบ หากลุกขึ้นไปหยิบคัมภีร์พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ มาจากตู้ เปิดตรงหน้า ๗๗ แล้วส่งให้ผู้สูงอายุ

          “โยมช่วยอ่าน อจินติสูตร ให้อาตมาฟังหน่อยซิ” อาจารย์ชิตจึงอ่านตามที่ท่านสั่ง ในสูตรนั้นมีข้อความว่า

          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิดพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการเป็นไฉน

            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑

            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้แลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิดพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความบ้า เดือดร้อน

            เมื่อบุรุษนั้นอ่านจบ ท่านเจ้าของกุฏิ จึงถามขึ้นว่า

          “เป็นยังไง อยากรู้เรื่องฌานอีกไหม”

          “ไม่อยากแล้วครับหลวงพ่อ ผมยังไม่อยากเป็นบ้า และก็ไม่อยากเดือดร้อนมากกว่านี้ เท่าที่เดือดร้อนเพราะโรคภัยไข้เจ็บก็หนักแทบจะรับไม่ไหว ผมไม่อยากรู้เรื่องนี้อีกแล้วครับ”

          เสียงเคาะประตูตามด้วยเสียงเรียกท่านพระครูดังขึ้นอีก เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงเดินไปหยิบลูกกุญแจ

          “ผมเปิดเองครับ” อาจารย์ชิตขันอาสา แล้วรับลูกกุญแจจากท่านไปไขประตู ท่านเจ้าของกุฏิกลับไปนั่งยังอาสนะเพื่อรอรับการร้องทุกข์ บุรุษวัยห้าสิบ เข้ามากราบท่าน ตามด้วยเพื่อนบ้านวัยไล่เลี่ยกันอีกสองคน

          “หลวงพ่อครับ อีเช้าเมียผมถูกผีเข้า หลวงพ่อช่วยไปดูมันหน่อยเถิดครับ” บุรุษนั้นรายงาน

          “ผีที่ไหนมาเข้าล่ะ”

          “ไม่ทราบเหมือนกันครับ แหมมันด่าเป็นไฟลามทุ่งเลย หลวงพ่อช่วยไปไล่มันออกหน่อยเถอะครับ”

          “ตกลง ไปก็ไป เดี๋ยวนะ ขอขึ้นไปเอาของหน่อย” ท่านขึ้นไปปลุกนายสมชาย แล้วหยิบย่ามพร้อมไฟฉายหนึ่งกระบอก ก่อนออกจากวัดท่านสั่งอาจารย์ชิตว่า

          “โยมพักผ่อนตามสบายนะ ไม่ต้องกังวลเรื่องเปิดประตู อาตมาจะเอาลูกกุญแจไปด้วย”

 

มีต่อ........๕๘