สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๖๑

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00061

๖๑...

            ส่งท่านพระครูแล้ว พันโทวิชญ์ก็กลับไปทำงาน เพราะลามาครึ่งวัน

          ที่กุฏิ นายขุนทองกำลังนั่งคุยประจ๋อประแจ๋กับชายหญิงคู่หนึ่ง ครั้นเห็นหน้าชัดเจน จึงได้รู้ว่า คนคู่นั้นคือหลานชายและหลานสะใภ้ของท่านนั่นเอง

          เมื่อคนทั้งสองก้มลงกราบท่านเรียบร้อยแล้ว นายจ่อยก็เอ่ยทักขึ้นว่า “หลวงน้าสบายดีหรือครับ เห็นเจ้าขุนทองมันว่าหลวงน้าตกกระไดขาหัก จริงหรือเปล่าครับ”

          “เอ็งว่าจริงหรือเปล่าเล่า” ท่านย้อนถามคนเป็นหลาน

          “ไม่รู้ซีครับ ก็เห็นหลวงน้าเดินปกติดีอยู่” นายจ่อยตอบ

          “แต่ก็ปวดนะครับ หลวงพ่อท่านบอกผมว่า ท่านปวดเกือบตลอดเวลา แต่ที่พี่เห็นว่าปกติเพราะท่านใช้คาถา “พระโมคคัลลาน์ประสานกระดูก” นายสมชายบอกกล่าว หลังจากที่ได้ทักทายคนทั้งสองด้วยการ “ไหว้” แล้ว

          “อ้อ ยังงั้นหรอกหรือ แล้วหลวงน้าไม่ไปหาหมอหรือครับ”

          “ผู้พันจะพาไป แต่หลวงพ่อท่านไม่ยอม ท่านบอกว่า ต้องการจะชดใช้กรรม อีกเดือนเดียวก็จะหายเป็นปกติ” ศิษย์วัดตอบอีก นายจ่อยรู้สึกไม่พอในที่นายสมชายตอบคำถามแทนท่านพระครู เขาอุตส่าห์ลงท้ายด้วย “ครับ” ก็เพราะต้องการจะให้ท่านตอบ

          “คุณรู้ได้ยังไงว่า อีกเดือนเดียวจะหาย” คราวนี้เขาถามชายหนุ่มและไม่มี “ครับ” ลงท้าย

          “หลวงพ่อท่านบอก” คนตอบไม่ยอมลง “ครับ” เช่นกัน

          “อ้าว โยมเขาไปไหนเสียล่ะ ท่านเจ้าของกุฏิถามหาอาจารย์ชิต เมื่อไม่เห็นเขาอยู่ ณ ที่นั้น

          “ไปเดินจงกรมอยู่หน้าโบสถ์ฮ่ะ เขากระซิบบอกหนูว่ารู้สึกเกรงใจจมูกของพี่จ่อยกับพี่จุก” นายขุนทองเป็นคนตอบ

          “แล้วเอ็งจัดการให้เขากินข้าวกินปลาหรือยัง”

          “เรียบร้อยแล้วฮ่ะ พอเขาอิ่ม พี่จุกกับพี่จ่อยก็มาถึง เขาก็ไปหน้าโบสถ์”

          “ลมอะไรหอบเอ็งสองคนมาล่ะ แล้วนี่กินข้าวกินปลาแล้วหรือยัง” ท่านถามสองสามีภรรยา

          “ยังเลยจ้ะหลวงน้า ฉันก็รู้สึกหิวอยู่เหมือนกัน พี่จ่อย เราไปกินข้าวกันก่อนดีไหม” นางจุกชวนสามี ท่านพระครูจึงว่า

          “พากันไปกินให้อิ่มท้องเสียก่อน เรื่องอื่นไว้ค่อยคุยกันทีหลัง จะค้างไหมเล่า”

          “คงไม่ค้างหรอกหลวงน้า ผมจะเอารถมาให้หลวงน้าช่วยเจิม ผมออกรถใหม่แล้วครับ” คนเป็นหลานบอกอย่างภาคภูมิใจ

          “ยังงั้นหรือ ไปรวยอะไรมาล่ะ”

          “ผมไม่ได้รวยหรอกครับ เงินจุกเขา”

          “เอ็งถูกรางวัลที่หนึ่งหรือไงจุก” ท่านสัพยอกคนเป็นหลานสะใภ้ หากหล่อนกลับยอมรับหน้าตาเฉยว่า

          “จ้ะหลวงน้า เรื่องมันประหลาดมาก เดี๋ยวกินข้าวอิ่มแล้ว ฉันจะเล่าให้หลวงน้าฟัง ไปกันเถอะพี่จ่อย” คนทั้งสองลุกออกไปแล้ว ท่านพระครูจึงถามนายขุนทองว่า

          “แล้วเอ็งล่ะ กินแล้วหรือยัง”

          “เรียบร้อยแล้วฮ่ะหลวงลุง ตอนหนูไปเอามาให้อาจารย์เขา หนูก็อัดใส่ท้องตัวเองให้เต็มเสียก่อน” หลานชายตอบ

          “การกินการอยู่ ใครไม่สู้พ่อ” นายสมชายเปรยขึ้น

          “การพายการถ่อ พ่อไม่สู้ใคร” นายขุนทองต่อให้ แล้วอรรถาธิบายว่า “พ่อ” ในที่นี้หมายถึงพี่นะ เพราะพี่เป็นผู้ชาย ถ้าพี่จะว่าหนู ต้องใช้คำว่า “แม่” ถึงจะถูก”

            “ขนาดนั้นเชียว” นายสมชายเย้า

          “ใช่สิ ว่าแต่ว่าพี่ไม่หิวเหรอ น่าจะไปกินพร้อมกับพี่จ่อยกะพี่จุกเขา”

          “ข้ายังอิ่มแปล้อยู่เลย อาหารบ้านงานเขาอร่อย ๆ ทั้งนั้น แล้วข้าก็หิวด้วย เลยว่าซะท้องกางไปเลย”

          “เอาละ เป็นอันว่าเอ็งสองคนอิ่มหมีพีมันกันดีแล้ว ทีนี้ฟังข้า ตั้งใจฟังให้ดีนะ”

            “ครับ”

          “ฮ่ะ” คนทั้งสองรับปาก ท่านพระครูจึงว่า

          “เอาละ ประเดี๋ยวข้าจะขึ้นข้างบน ถ้าสองคนนั่นมา ก็ให้ขึ้นไปคุยกับข้าข้างบน แล้วขุนทอง เอ็งไปตามโยมเขามาปฏิบัติข้างในนี้ ส่วนสมชาย เธอจัดการทำความสะอาดกุฏิชั้นบนให้เรียบร้อย จัดข้าวของเสียใหม่ ฉันคงจะอยู่แต่ข้างบนจนกว่าขาจะหายเป็นปกติ จะไม่ลงมาข้างล่าง ยกเว้นเวลาถ่ายหนักถ่ายเบา”

            “แล้วเวลาสรงน้ำล่ะครับ”

          “ฉันก็จะงด จะใช้เช็ดตัวแทน หรือไม่ก็สรงตอนลงมาถ่าย”

          “งั้นก็เหม็นแย่ซิฮะหลวงลุง ไม่อาบน้ำตั้งเดือน อยู่ได้ไง”

          “ก็ทน ๆ อยู่มันไปงั้นแหละ ทำยังไงได้ล่ะ ในเมื่อเกิดมาแล้ว หรือเอ็งจะให้ข้าทำยังไงก็ลองว่ามา” แม้จะปวดขา หากก็ยังมีแก่ใจยั่วเย้า

          “หนูก็ว่าทนอยู่ไปนั่นแหละดีแล้วดีกว่าฆ่าตัวตาย จริงไหมพี่” คนมากวัยกว่า จึงย้อนว่า

          “นี่ถ้าเป็นเอง คงฆ่าใช่ไหม ใช่ไหม”

          “เรื่องอะไร กว่าจะได้เกิดเป็นคนนั้นแสนยาก จริงไหมฮะหลวงลุง” ท่านพระครูจึงตัดสินอย่างรำคาญ ๆ ว่า

          “เอาเถอะ ๆ เลิกต่อล้อต่อเถียงกันได้แล้ว ฟังข้าพูดคนเดียวก็พอ เอ็งสองคนไม่ต้องพูด ห้ามพูดห้ามเถียง”

          “แล้วหลวงพ่อจะออกบิณฑบาตไหมครับ” เมื่อท่านไม่ให้เถียง นายสมชายจึงเปลี่ยนเป็นถาม

          “นี่สมชาย ถ้ามีเวลาก็ลองไปวัด ไอ. คิว. ดูเสียบ้าง รู้สึกว่า มันจะต่ำเกินพิกัดไปแล้วนะ”

          “ครับ ถ้าผมมีเวลาจะทำตามที่หลวงพ่อแนะนำครับ” ศิษย์วัดตอบหน้าตาเฉย ท่านพระครูมิรู้ว่าจะยอกย้อนประการใด จึงนิ่งเสีย

          “หลวงพ่อยังไม่ตอบคำถามของผมเลยครับ” ชายหนุ่มทวง

          “เอาละ เมื่ออยากรู้ ฉันก็จะตอบ แต่ถ้าคน ไอ. คิว. สูงหน่อย เขาจะรู้เอง แล้วก็จะไม่ถามอย่างที่เธอถามมานี่หรอก” ท่านถือโอกาสเหน็บแนมก่อนตอบว่า

          “ฉันจะไม่ออกบิณฑบาต เพราะแม้จะลงไปสรงน้ำ ฉันยังไม่ลง แล้วทำไมจะต้องไปเดินเป็นกิโล ๆ การทำเช่นนั้นเป็นการทรมานตัวเองมากเกินไป เข้าข่าย “อัตตกิลมถานุโยค” ที่พระพุทธองค์ทรงติเตียนว่าเป็นทางปฏิบัติที่สุดโต่ง ฉันเป็นศิษย์พระตถาคต จึงต้องดำเนินรอยตามพระพุทธองค์ เข้าใจหรือยัง”

          “เข้าใจแล้วครับ เป็นอันว่า ผมจะไปนำอาหารจากโรงครัวมาถวายหลวงพ่อทุกเช้า ส่วนเรื่องหนักเรื่องเบา ผมว่าหลวงพ่อไม่ต้องลงมาก็ได้ ผมจะเป็นคนเทกระโถนเอง นะครับ”

          “ขอบใจเธอมาก แต่ฉันคงจะไม่รบกวนเธอถึงขนาดนั้น เท่าที่มาคอยปรนนิบัติรับใช้ ก็ขอบใจเหลือเกินแล้ว”

          “ไม่เป็นไรครับ ถึงคราวผมบ้าง หลวงพ่อจะได้ช่วย หลวงพ่ออย่าลืมสัญญานะครับ ปีหน้าฟ้าใหม่ หลวงพ่อบอกว่าผมจะได้แต่งงาน” คำบอกกล่าวนั้นกินความไปถึง “ค่าสินสอด-ทองหมั้น” ที่ท่านพระครูจะช่วยอนุเคราะห์

          “ผมเห็นพี่จุกเขาถือถุงสีน้ำตาลมาด้วย สงสัยจะนำปัจจัยมาถวายหลวงพ่อ ยังไงก็อย่าลืมผมนะครับ” เขาเกริ่น

          “หนูด้วยฮ่ะหลวงลุง แล้วหนูก็เป็นญาติกะพี่จ่อยเขาด้วย เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรจะได้น้อยกว่าพี่สมชายเขา” คนทั้งสองต่างตั้งความหวัง

          “เอ็งจะเอาเงินไปทำอะไร” ท่านถามคนเป็นหลาน

          “ดัดผมแล้วก็ซื้อเสื้อ กระโปรง รองเท้าส้นสูง” นายขุนทองตอบด้วยใฝ่ฝันอยากได้มานาน

          “น้อย ๆ หน่อย ถ้าเอ็งจะเอาไปซื้อสิ่งเหล่านี้ ข้าไม่ให้เอ็งหรอก ที่ให้มาอยู่ด้วย ก็เพื่อจะให้เอ็งเป็นผู้ชายเต็มตัว” ท่านพระครูว่า

          “แต่หนูอยากเป็นผู้หญิงเต็มตัวมากกว่า” หลานชายทำกระเง้ากระงอด

          “เจ้าขุนทอง” ท่านพระครูเรียกชื่อหลาน ด้วยเสียงหนัก ๆ

          “ขา” หลานชายตัวดีขานรับเสียงใส

          “นี่ข้าขอร้องเถอะนะ ข้ากำลังปวดขา อย่าให้ต้องมาปวดหัวอีกเลย เธออีกคน” ท่านหันไปเล่นงานนายสมชาย

          “ร่วมมือกันทำให้ฉันปวดหัวดีนัก จะไปไหนก็ไปเถอะไป๊ ฉันไม่อยากเห็นหน้าพวกเธอ”

          “ก็หลวงพ่อให้ผมทำความสะอาดกุฏิชั้นบน แล้วผมจะไปไหนได้ล่ะครับ” นายสมชายยังยั่ว

          “หนูก็เหมือนกัน หลวงลุงให้คอยดูว่า ถ้าพี่สองคนเขามา ให้เขาขึ้นไปหาหลวงลุงข้างบน แล้วก็ให้ไปตามอาจารย์เขามาปฏิบัติข้างในนี้ แล้วหนูจะไปไหนได้ล่ะฮะ” ประโยคท้ายเขาเลียนแบบนายสมชาย

          “งั้นก็ทำหน้าที่กันไป หยุดพูดได้แล้ว ข้าชักจะเวียนหัวเต็มแก่แล้ว ข้าจะขึ้นข้างบนละ” แล้วท่านจึงค่อย ๆ ลุกจากอาสนะ รู้สึกปวดที่ขาข้างขวาเป็นกำลัง นายสมชายกับนายขุนทองจะช่วยพยุง ท่านก็ว่า “ไม่ต้อง ข้าไปเองได้” แล้วท่านก็เดินขึ้นชั้นบนอย่างเชื่องช้า ในใจนั้นกำหนด “ปวดหนอ ปวดหนอ” เกือบตลอดเวลา

          เรื่องที่ท่านพระครูตกบันไดขาหักแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว โดยนายขุนทองเป็นผู้กระจายข่าว พระสงฆ์องค์เณรตลอดจนอุบาสกอุบาสิกาที่อาศัยอยู่ในวัดป่ามะม่วง ต่างพากันห่วงใยท่าน

          ครั้นทราบจากคนกระจายข่าวว่า ท่านยังคงปฏิบัติกิจนิมนต์ได้ พวกเขาก็โล่งใจและคอยหาโอกาสมากราบเยี่ยม เมื่อเห็นท่านกลับมา จึงพากันมาที่กุฏิ ด้วยความเป็นห่วงคนกระจ่ายข่าวจึงต้องขึ้นไปรายงานให้ท่านทราบ

          “ลงไปบอกเขาว่า ข้าขอบใจที่เป็นห่วง ข้าไม่เป็นอะไรมาก แล้วก็ขอโทษที่ไม่ได้ลงไปให้พบ ครั้นจะให้มาพบข้างบน ก็ไม่มีที่จะให้นั่ง ขอให้ทำหน้าที่ของตัวเองไป ใครมีปัญหาอะไร ก็ให้ไปปรึกษาพระมหาบุญหรือพระบัวเฮียวก็ได้” ท่านเจ้าของกุฏิสั่งการ

          “แล้วถ้าหลวงพี่สององค์นี้ท่านไม่สามารถแก้ปัญหาให้เขาได้ล่ะฮะ”

          “ก็ให้เขารอถามข้า ถ้าไม่ด่วนมาก ก็บอกเขาว่าให้ข้าหายเสียก่อน แต่ถ้าเป็นเรื่องด่วน ข้าก็อนุญาตให้เขาขึ้นมาพบเป็นกรณีพิเศษ เข้าใจหรือยัง”

          “เข้าใจแล้วฮะ”

          “งั้นก็ลงไปบอกเขาได้แล้ว” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดจึงลงมาแจ้งแก่ภิกษุสามเณร และอุบาสก อุบาสิกา ที่นั่งรออยู่เต็มกุฏิชั้นล่าง คนทั้งหมดรับทราบ และพากันกลับ ยกเว้นพระบัวเฮียวซึ่งลุกขึ้นไปจด ๆ จ้อง ๆ อยู่ที่ตู้พระไตรปิฎก ครั้นเห็นคนอื่น ๆ ไปกันหมดแล้ว จึงบอกนายขุนทองว่า

          “อาตมามีเรื่องด่วน ช่วยไปบอกหลวงพ่อว่า อาตมาขอเข้าพบเป็นกรณีพิเศษ” นายขุนทองจึงต้องขึ้นไปรายงานอีกครั้ง

          “ถ้าอย่างนั้น ก็ลงไปบอกให้ขึ้นมาได้” ท่านพระครูกล่าวอนุญาตประเดี๋ยวหนึ่ง ภิกษุวัยย่างยี่สิบเจ็ดก็เดินเข่าเข้ามากราบท่านสามครั้ง แล้วนั่งในที่อันสมควร ประนมมือกล่าวว่า

          “พระเดชพระคุณหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง กระผมพระบัวเฮียวขอกราบขอบพระคุณที่ท่านอนุญาตให้เข้าพบเป็นกรณีพิเศษขอรับ” แล้วจึงเอามือลง ท่านพระครูนึกขำ ทั้งรู้สึกว่าความเจ็บปวดนั้นลดลงไปเกือบครึ่ง จึงถามยิ้ม ๆ ว่า

          “ไม่ได้เจอกันหลายวัน เธอพูดเก่งขึ้นเยอะ ไปเรียนมาจากใครล่ะ”

          “จากพระมหาบุญครึ่งหนึ่ง แล้วก็เรียนรู้ด้วยตนเองอีกครึ่งหนึ่งขอรับ” คนถูกชมยิ้มหน้าบานก่อนตอบ

          “ดีมาก แสดงว่าเธอเป็นคนชอบขวนขวายหาความรู้ ทั้งจากผู้อื่นและค้นคว้าด้วยตนเอง เรียกว่าดีทั้งขึ้นทั้งล่อง” ท่านพระครูชมอีก คราวนี้ภิกษุหนุ่มยิ้มแก้มแทบปริ เพราะปีติยินดีในคำชมนั้น

          “แต่ในด้านการปฏิบัติ รู้สึกว่าจะย่อหย่อนลงไปนะ มีอย่างที่ไหน พอฉันชม ก็ดีอกดีใจ ยิ้มแย้มแจ่มใสจนลืมกำหนด “ดีใจหนอ” แสดงว่า “จิตยังหวั่นไหวในโลกธรรม” ชมอยู่หยก ๆ ท่านก็เปลี่ยนเป็นติเสียแล้ว พระบัวเฮียวหุบยิ้มลงทันใด พร้อมต่อว่าต่อขานพระอุปัชฌาย์

          “แหม หลวงพ่อ ผมเคยได้ยินคำพังเพยเขาว่า “ตบหัวแล้วลูบหลัง” แต่หลวงพ่อเล่นลูบหลังแล้วตบหัว จนผมตั้งตัวไม่ติด นึกแล้วเชียวว่าจะต้องมีอะไรผิดปกติ แล้วก็มีจริง ๆ” นายสมชายกำลังทำความสะอาดพื้น และจัดข้าวของอยู่ ได้ยินการสนทนามาตั้งแต่ต้น เลยอมยิ้มไปทำงานไป ชายหนุ่มนึกขำในใจ “ดูเอาเถอะ เราแซวหลวงพ่อ หลวงพ่อกลับไปแก้แค้นเอากับหลวงพี่ แล้วนี่หลวงพี่จะไปแก้แค้นใครต่อก็ไม่รู้” ชายหนุ่มเฝ้าพะวงสงสัย

          “แล้วตอนนี้ตั้งตัวติดหรือยัง จะต้องใช้เวลาซักกี่นาที กี่ชั่วโมง” พระอุปัชฌาย์ยั่วอีก ตั้งแต่ตู้ว่าพระบัวเฮียวเคยเป็นน้องชายของท่านในอดีตชาติ ความรู้สึกอยากยั่วเย้าก็มีมากขึ้น ภิกษุหนุ่มไม่ตอบ หากตั้งจิตกำหนด “ตั้งตัวหนอ ตั้งตัวหนอ” สักครู่ก็รายงานว่า

          “เอาละครับ ผมพร้อมแล้ว ขอกราบเรียนเชิญพระเดชพระคุณหลวงพ่อสอบอารมณ์ได้เลย” พระบัวเฮียวประชด ความจริงท่านมิได้มาเพื่อการนี้

          “เรื่องสอบอารมณ์พักไว้ก่อน แต่ฉันอยากรู้ว่า เธอมีธุระอยากพบฉันเรื่องอะไร” คำถามของพระอุปัชฌาย์ ทำให้พระบัวเฮียวนึกขึ้นได้ จึงว่า

          “แหม ผมมัวแต่พูดเรื่องอื่นเสียเพลิน เกือบลืมเรื่องสำคัญที่จะมาเรียนถาม คือผมอยากทราบว่า หลวงพ่อขาหักแล้วทำไมยังปฏิบัติกิจนิมนต์ได้ ผมเป็นห่วงมาก แล้วหลวงพ่อไปหาหมอหรือเปล่าครับ” ท่านพระครูจึงต้องเล่าเรื่องทั้งหมดให้ภิกษุหนุ่มฟังแล้วสรุปแบบยาว ๆ ว่า

            “กรรมเก่าต้องใช้หนี้ทั้งนั้น แต่กรรมใหม่อย่าไปสร้าง กรรมที่ฉันพูดถึงนี่ หมายเฉพาะอกุศลกรรมเท่านั้นนะ คนที่สร้างกรรมไว้แล้ว เมื่อสำนึกได้ก็ต้องยอมรับใช้ ยอมรับผิด กรรมเก่านั้นไม่มีอะไรที่จะแก้ได้ เพราะมันทำไปแล้ว ผ่านไปแล้ว หน้าที่ของเราคือต้องชดใช้ ต้องใช้กรรมนะ”

          “เราทำบุญเพื่อล้างบาปไม่ได้หรือครับ เช่นเราเคยทำบาปไว้ในอดีต ปัจจุบันเราก็ทำบุญลบล้าง” ภิกษุหนุ่มถาม

          “อะไรกันบัวเฮียว นี่เธอบวชมาตั้งหลายเดือนแล้วนะ ทำไมถึงถามอะไรเปิ่น ๆ ยังงี้ ฉันก็นึกว่าเธอก้าวหน้าไปถึงไหน ๆ แล้ว ที่แท้ก็ยังเหมือนเดิม”

          “เหมือนเดิมอย่างไรครับ” ผู้อ่อนวัยกว่าถามกลับ

          “ก็ไม่ก้าวหน้าน่ะซี ยังอยู่กับที่ตามเดิม”

          “แหม หลวงพ่อครับ การปฏิบัติธรรมให้ได้ผลนั้น มันต้องตั้งหลักให้ดี ๆ ที่ผมไม่ก้าวหน้าเพราะยังไม่มั่นใจน่ะครับ ขอเวลาตั้งหลักอีกหน่อยเถอะครับ ผมให้สัญญาว่า จะไม่ทำให้หลวงพ่อต้องเสียชื่อในฐานะที่เป็นพระอุปัชฌาย์ของผม”

          “ตกลง ฉันจะยอมเชื่อเธออีกสักครั้ง อีกครั้งเดียวเท่านั้นนะ”

          “ครับผม และเมื่อหลวงพ่อเชื่อผมแล้ว ก็โปรดตอบคำถามผมด้วยว่า เราทำบุญเพื่อล้างบาปได้หรือไม่”

          “ดูเหมือนฉันจะเคยพูดเรื่องนี้กับเธอไปแล้วนะ แต่เอาเถอะ ไม่เป็นไร ฉันจะอธิบายซ้ำอีกก็ได้ว่า เราทำบุญล้างบาปไม่ได้ นี่เป็นกฎตายตัวเลยนะ บุญก็ไปตามบุญ บาปก็ไปตามบาป เหมือนน้ำกับน้ำมัน ย่อมเข้ากันไม่ได้ฉะนั้น”

            “ถ้าอย่างนั้น ผมก็คงต้องชดใช้กรรมที่ฆ่าวัวฆ่าควาย ที่ผมมาปฏิบัติกรรมฐานนี่ ผมนึกว่าจะล้างบาปได้” พระภิกษุหนุ่มพูดเสียงเศร้า และรู้สึก “จิตตก” ขึ้นมาทันที

          “อย่าให้จิตตก ตั้งสติไว้ ดูฉันเป็นตัวอย่าง ฉันก็กำลังใช้กรรมอยู่นี่ไง ฉันเคยบอกเธอแล้วใช่ไหมว่า กรรมของฉันนั้นหนักกว่าของเธอหลายเท่านัก ของเธอน่ะไม่ถึงกับตาย แต่ของฉันตายหยังเขียดเลยแหละ” ท่านตั้งใจจะให้คนฟังรู้สึกขำ หากพระบัวเฮียวก็ขำไม่ออก ท่านพระครูจึงปลอบอีกว่า “ไม่ดีหรือ เธอใช้กรรมให้หมด ๆ ไปเสียในชาตินี้ ดีกว่าไปใช้ในนรกอเวจี ถ้าเธอปฏิบัติกรรมฐานอย่างเคร่งครัด เธอจะไม่ต้องไปเกิดในอเวจีนรกอย่างแน่นอน ไฟนรกนั้นท่านว่าร้อนแรงกว่าไผในโลกมนุษย์หลายเท่านัก”

          “หลวงพ่อไปเห็นมาหรือครับ”

          “ฉันไม่ตอบดีกว่า เอาไว้ให้เธอรู้เอาเองจากการปฏิบัติ แต่ก็จะขอยกตัวอย่างให้ฟังนะ แล้วเธอไปเปรียบเทียบเอาเอง อยากฟังไหม”

          “อยากครับ” พระหนุ่มตอบ นายสมชายเองก็เงี่ยหูฟังด้วยความสนใจ ท่านเจ้าของกุฏิจึงหยิบยกเรื่องราวของพระเถระรูปหนึ่ง มาเล่าว่า

          “ในครั้งพุทธกาล พระโลมสนาคเถระ ท่านนั่งเจริญกรรมฐานอยู่ภายนอกที่จงกรม อากาศขณะนั้นร้อนอบอ้าวเพราะเป็นฤดูร้อน ท่านนั่งอยู่ ณ ที่ตรงนั้น จนเหงื่อไหลออกมาจากรักแร้ทั้งสองข้าง ก็ไม่ยอมลุกไปไหน พวกลูกศิษย์ได้มาอาราธนาให้ไปนั่งในที่ร่ม ซึ่งอากาศร้อนน้อยกว่า ท่านบอกลูกศิษย์ว่าที่ต้องนั่ง ณ ที่นั้น เพราะกลัวความร้อน แล้วนั่งพิจารณาอเวจีนรกอยู่ ท่านเคยตกนรกอเวจีมาแล้วหลายชาติ จึงเห็นว่า ความร้อนของแดดนั้นยังน้อยกว่าความร้อนของอเวจีนรก ซึ่งร้อนแรงกว่าหลายร้อยเท่า ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงไม่ลุกไปไหนและตั้งใจเจริญกรรมฐานต่อไป” พระบัวเฮียวฟังแล้วถึงกับขนลุก จนต้องกำหนด “ขนลุกหนอ” อยู่ชั่วครู่ แล้วจึงบอกพระอุปัชฌาย์ว่า

          “หลวงพ่อครับ ถ้าผมระลึกชาติได้ ผมคงรู้ว่าตัวเองเคยตกนรกอเวจีมาแล้วเช่นกัน เพราะแค่ได้ยินชื่อก็ขนลุกเสียแล้ว หลวงพ่อช่วยตรวจสอบได้ไหมครับว่า ผมตกนรกอเวจีมากี่ครั้งแล้ว”

          “เหลวไหลน่าบัวเฮียว เธอจะอยากรู้ไปทำไม อดีตเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว และจะไม่คืนกลับมาอีก ส่วนอนาคตก็ยังมาไม่ถึง ฉะนั้นเธอไม่ต้องไปพะวงทั้งอดีตและอนาคต ให้มีสติตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันเป็นพอ เข้าใจหรือยัง”

          “เข้าใจแล้วครับ”

          “เข้าใจแล้ว ก็ต้องทำให้ได้ ต้องทำให้ได้นะ”

          “ครับผม” ภิกษุวัยย่างยี่สิบเจ็ดรับคำหนักแน่น

          อิ่มข้าวแล้ว นายจ่อยกับภรรยาก็กลับมาที่กุฏิ เห็นอาจารย์ชิตกำลังนั่งสมาธิอยู่ จึงถามนายขุนทองด้วยเสียงที่ค่อนข้างเบาว่า “หลวงน้าจะลงมากี่โมง”

          “ไม่ลงหรอกพี่จ่อย ขาท่านหัก ขึ้น ๆ ลง ๆ จะทำให้หายช้า”

          “อ้าว ก็พี่บอกแล้วว่า จะเอารถมาเจิม ท่านน่าจะรอก่อน” นายจ่อยพูดอย่างผิดหวัง

          “ขอขึ้นไปข้างบนได้ไหม ขุนทองช่วยไปบอกท่านว่า พี่ขออนุญาตขึ้นไปพบข้างบน นะน้องนะ” นางจุกปะเหลาะญาติสามี

          “พี่จะเอาของในถุงนั่นไปถวายหลวงลุงหรือ” นายขุนทองถามด้วยคิดว่า สิ่งที่อยู่ในนั้นเป็นเงิน

          “ถูกแล้ว พี่ตั้งใจมาถวายท่านเทียวแหละ” ภรรยานายจ่อยตอบ

          “งั้นก็ขึ้นไปได้เลยพี่ ขึ้นไปเถอะหนูอนุญาต” หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดพูดเอาบุญเอาคุณ ด้วยได้โอกาส เขามั่นใจว่า จะต้องได้ส่วนแบ่งไม่มากก็น้อย..

 

มีต่อ........๖๒