สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๖๒

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00062

๖๒...

          เห็นพระบัวเฮียวนั่งคุยอยู่กับท่านพระครู นายจ่อยให้ดีใจยิ่งนัก กราบท่านสามครั้งแล้ว ชายหนุ่มจึงว่า

          “ผมคิดถึงหลวงพี่เหลือเกิน นี่ก็ว่าเสร็จธุระแล้วจะแวะไปกราบเยี่ยม ดีใจจริง ๆ ที่ได้พบ”

          “โยมจ่อยมาตั้งแต่เมื่อไหร่ โยมจุกล่ะ สบายดีหรือ หายไปหลายเดือนเลยนะ” พระหนุ่มทักทายสองสามีภรรยา

          “หลวงพี่ดูอ้วนขึ้นนะจ๊ะ จวนสำเร็จหรือยังจ๊ะ”

          “สำเร็จอะไรล่ะโยม”

          “สำเร็จมรรคผลน่ะจ้ะ หลวงพี่จวนสำเร็จหรือยัง”

          “ยังหรอกโยม ยังอีกไกลเชียวแหละ นี่ก็ถูกหลวงพ่อท่านตำหนิว่า ปฏิบัติไม่ก้าวหน้า” ท่านชิงบอกเสียก่อน ก็ยังดีกว่าให้ท่านพระครูเป็นผู้บอก เพราะจะทำให้ท่านต้อง “เสียหน้า” มากกว่านี้

          “เธอจะน้อยอกน้อยใจไปใยนะบัวเฮียว ฉันติเพื่อก่อต่างหาก ฉันรู้ว่าเธอเป็นคนบ้ายอ ถ้าฉันชมเธอ เธอก็คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ดีแล้ว ก็เลยไม่ขวนขวายทำความเพียร จริงไหมล่ะ” ท่านเจ้าของกุฏิชี้แจง พระบัวเฮียวรู้สึกใจชื้นขึ้นเป็นกอง จึงถือโอกาสยั่วพระอุปัชฌาย์ว่า

          “ผมเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่าที่หลวงพ่อติผมเป็นเพียงอุบายเท่านั้นเองใช่ไหมครับ ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า หลวงพ่อเป็นบุคคลผู้มากด้วยอุบาย”

          “เธอจะว่าฉันมากเล่ห์เพทุบายใช่ไหมล่ะ” ท่านเจ้าของกุฏิรู้เท่าทัน

          “หามิได้ครับ ผมจะบังอาจว่าพระอุปัชฌาย์ยังงั้นได้ยังไง หลวงพ่อเห็นผมเป็นคนเนรคุณไปแล้วหรือครับ พระบัวเฮียวได้ชื่อว่า เนรคุณพระอุปัชฌายาจารย์หรือครับ”

          “นี่หลวงน้ากะหลวงพี่จะโต้คารมกันอีกนานไหมครับ ถ้านานผมจะได้ขออนุญาตหลับรอ” นายจ่อยขัดขึ้น เมื่อเห็นว่าภิกษุสองรูปต่างก็มีคุณสมบัติ “ช่างเจรจา” ไม่ย่อหย่อนกว่ากัน

            “พอหนังท้องตึง หนังตาก็หย่อนหรือไง เอ็งนี่ไม่ไหวเลยนะ แบบนี้เขาเรียกว่าคนขี้เกียจ ใช่ไหมจุก” ท่านพระครูหันมา “เล่นงาน” ลูกชายของพี่สาว

          “พี่จ่อยเขาไม่ขี้เกียจหรอกจ้ะหลวงน้า เขาขยันทำมาหากิน ใคร ๆ ก็ออกปากชมกันทั้งนั้น” นางจุกแก้ต่างให้สามี

          “แสดงว่ามันเพิ่งจะขยันตอนมีเมีย สมัยที่อยู่กะข้า มันขี้เกียจยังกะอะไรดี” ท่านเจ้าของกุฏิไม่ยอมแพ้ เห็นหลานสะใภ้ไม่เข้าข้าง ท่านจึงถือโอกาสเล่าเรื่องในอดีตที่พาดพิงไปถึงหล่อนว่า

          “คิดถึงตอนนั้นแล้วข้ายังนึกขำไม่หาย สองคนน้าหลานเทข้าวทิ้งน้ำทุกวัน เพราะรังเกียจขี้มูกเอ็ง เอ็งทำให้ข้าต้องผิดวินัยข้อไม่เคารพบิณฑบาต”

          “ใช่ หลวงน้า เรื่องมันผ่านไปเป็นสิบปีแล้วยังจะขุดขึ้นมาเล่าอีก” นางจุกชักโมโหโกรธา พระบัวเฮียวได้โอกาสแก้แค้นจึงว่า

          “นั่นสิโยม หลวงพ่อเพิ่งสอนอาตมาอยู่หยก ๆ ว่าไม่ให้พะวงถึงอดีตและอนาคต ให้อยู่กับปัจจุบันเท่านั้น ยังไม่ทันไรหลวงพ่อลืมซะแล้ว

          “โอ้โฮ สนุกกันใหญ่ ช่วยกันตะลุมบอนฉันอยู่คนเดียว วันนี้วันอะไรนะ ฉันถึงได้ดวงตกขนาดนี้ ขาหักแล้วยังมาถูกคนเขารุมว่า” ท่านเจ้าของกุฏิโอดครวญ ใจจริงนั้นรู้สึกอบอุ่นที่คนใกล้ชิดทั้งในอดีตและปัจจุบันมาชุมนุมกันพร้อมหน้า

          “วันพฤหัสบดี ขึ้นเจ็ดค่ำ เดือนสี่ ปีขาลครับ” นายสมชายหันไปอ่านปฏิทินที่แขวนอยู่ข้างฝา ท่านเจ้าของกุฏิหันไปมองลูกศิษย์ แล้วค้อนงาม ๆ หนึ่งวง นายจ่อยโวยวายว่า

          “ต๊าย หลวงน้าค้อนก็เป็นด้วย นี่เพราะอยู่ใกล้เจ้าขุนทองใช่ไหมครับ” นายสมชายรีบสนับสนุนว่า

          “นั่นซีครับพี่จ่อย หลวงพ่อพูดเสมอ ๆ ว่า นายขุนทองมาอยู่รับใช้ใกล้ชิดท่าน จะได้หายเป็นกระเทย ไป ๆ มา ๆ หลวงพ่อกลับจะมาเอาเยี่ยงอย่างเจ้าขุนทองเสียแล้ว”

          “อะไร ๆ ใครเอาเยี่ยงอย่างใคร” นายขุนทองเข้ามาได้ยินพอดี เขาเลือกนั่งตรงหัวบันไดด้วยไม่มีที่จะนั่ง เพราะความคับแคบของห้อง

          “ดีจริง ๆ มากันพร้อมหน้าพร้อมตาดีจริง เอาเลย พากันเล่นงานข้าเสียให้สมแค้น” ท่านพระครูประชด

          “หลวงลุงกำลังถูกเล่นงานหรือฮะ”

          “แน่ละซี เอ็งจะช่วยข้าหรือเปล่าล่ะ” ท่านหาพวก

          “ช่วยซี้ ไม่ช่วยหลวงลุงแล้วหนูจะช่วยใครล่ะ” หลานชายว่า ครั้นมองไปที่ถุงกระดาษสีน้ำตาลซึ่งวางอยู่บนตักนางจุก จึงพูดใหม่ “หนูอยู่ฝ่ายพี่จุกดีกว่า เพราะเป็นผู้หญิงเหมือนกัน พี่จุกอยู่ฝ่ายไหน หนูก็อยู่ฝ่ายนั้น”

          “อ้าว ไหงเปลี่ยนใจเร็วนักล่ะ ว่าแต่ว่าที่ขึ้นมานี่มีธุระอะไรกับข้าหรือเปล่า” ท่านพระครูถาม

          “ไม่มีหรอกฮ่ะ หนูนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ในห้อง รู้สึกเซ็ง เลยลองขึ้นมาฟังดูซิว่าคุยเรื่องอะไรกันบ้าง และที่สำคัญคือ อยากจะรู้ว่าพี่จุกทำยังไงถึงได้ถูกรางวัลที่หนึ่ง”

          “โยมจุกถูกรางวัลที่หนึ่งหรือ” พระบัวเฮียวถาม

          “จ้ะหลวงพี่ เรื่องมันประหลาดมาก ฉันว่าจะมาเล่าให้หลวงน้าฟัง” นางจุกตอบ ท่านพระครูจึงว่า

          “งั้นเล่าได้เลย อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาแล้วนี่ หรือว่าจะไปตามโยมเขามาฟังอีกคน” ท่านหมายถึงอาจารย์ชิต

          “อย่าเลยจ้ะหลวงน้า ตัวแกเหม็นยังไงก็ไม่รู้ เหมือนกลิ่นหนูตาย ฉันคงทนไม่ได้ ยิ่งห้องแคบ ๆ ยังงี้ ฉันคงเป็นลมเสียก่อนที่จะเล่าจบ” ภรรยานายจ่อยว่า

          “หลวงลุงค่อยเล่าให้เขาฟังทีหลังก็ได้นี่ฮะ” นายขุนทองตัดสิน เขาเองแม้จะชินกับกลิ่นนั้น แต่หากเลี่ยงได้ ก็อยากจะเลี่ยง

          “ตกลง เมื่อจะเอายังงั้นก็ตกลง เอาละ เอ็งเล่าไปเลยจุก”

          “เรื่องมันประหลาดมากจ๊ะหลวงน้า” นางจุกอารัมภบท

          “นี่เอ็งพูดยังงี้สามครั้งแล้วนะ” ท่านพระครูขัดขึ้น

          “พูดยังไงจ๊ะ” นางจุกชักงง

          “ก็พูดว่า “เรื่องมันประหลาดมาก” น่ะซี

          “โธ่ หลวงน้า ก็มันประหลาดจริง ๆ นี่นา” หล่อนเถียง

          “งั้นก็เล่าไปเลย เล่าไปเสียก่อนที่ข้าจะเปลี่ยนใจ”

          “เปลี่ยนใจเรื่องอะไรหรือหลวงน้า”

          “ก็เปลี่ยนใจไม่ฟังเอ็งเล่าไงล่ะ” ท่านเล่นตัว

          “งั้นฉันก็เปลี่ยนใจไม่เล่า” หล่อนถือโอกาสเล่นตัวบ้าง นายขุนทองต้องคะยั้นคะยอว่า

          “เล่าเถอะฮ่ะพี่จุก หนูอยากฟัง ใครไม่อยากฟังก็เอามืออุดหูไว้” เขาประชดผู้เป็นลุง

          “อาตมาขอฟังด้วยคน” พระบัวเฮียว “เว้าซื่อ ๆ”

          “ผมด้วยครับ” นายสมชายพูดบ้าง

          “ข้าในฐานะเจ้าของห้อง ถึงจะไม่อยากฟังก็ต้องฟัง” ท่านเจ้าของกุฏิพูดเลี่ยงไปอีกทางหนึ่ง

          “ถ้างั้นเราลงไปเล่ากันข้างล่างดีไหม” นายจ่อยชวน

          “อย่าเลย ฉันเหม็นลุงคนนั้น” คนเป็นเมียว่า

          “พวกเอ็งเป็นอะไรกันไปแล้วนี่ พูดจาเลอะเลือนล่ามป้ามกันอยู่ได้ เอาละ ๆ จะเล่าก็เล่าไป อย่ามัวโอ้เอ้” ท่านพระครูตัดบทอย่างรำคาญ นางจุกจึงตั้งต้นเล่า

          “เรื่องมันประหลาดมากจ้ะหลวงน้า”

          “รู้แล้ว ๆ เอ็งพูดยังงี้มาสี่หนแล้ว” ท่านพระครูขัดขึ้น

          “เอาอีกแล้วหลวงน้าขัดคอฉันอีกแล้ว เป็นยังงี้ทุกที แล้วก็มาหาว่า พวกฉันพูดจาเลอะเลือนล่ามป้าม” นางจุกต่อว่าและได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้ที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้นทุกคน ยกเว้นพระบัวเฮียว ผู้ซึ่งเพิ่งจะรู้สึกสงสารพระอุปัชฌายาจารย์

          “เอาเถอะ ๆ ทีนี้ข้าไม่ขัดคอเอ็งแล้ว เล่าต่อไปซิว่ามันประหลาดยังไง”

          “เรื่องมันประหลาดมากจ้ะหลวงน้า” หล่อนพูดประโยคเดิมอีก คราวนี้คนฟังต่างพากันเห็นคล้อยตามท่านพระครู ว่าคนเล่าพูดจาซ้ำ ๆ ซาก ๆ น่ารำคาญ แล้วก็น่าขัดคอจริง ๆ นั่นแหละ ครั้นไม่มีผู้ใดขัดคอ คนเล่าจึงพูดต่อ

          “เมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง ขณะที่ฉันนั่งเย็บเสื้อโหลส่งเขาอยู่ในร้านของฉัน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับร้านขายกาแฟ ฉันก็เห็นตัวเงินตัวทองคลานมาที่หน้าร้านกาแฟ...”

          “เป็นยังไง ตัวเงินตัวทองที่ว่าน่ะ” นายสมชายถาม นายจ่อยจึงอธิบายแทนคนเป็นเมียว่า

          “ตัวคล้าย ๆ กิ้งก่า แต่ใหญ่กว่าหลายสิบเท่า ดูเผิน ๆ คล้ายน้องจระเข้ จะเรียกว่าพี่กิ้งก่าหรือน้องจระเข้ก็ได้”

          “อ๋อ ตัวเหี้ย” นายขุนทองโพล่งออกมา นางจุกจึงว่า

          “ถูกแล้ว แต่พ่อแม่ปู่ย่าตายายฉันสอนไว้ว่า ให้เรียก “ตัวเงินตัวทอง” ทีนี้คนขายแกแฟนั่นก็ไล่ใหญ่ ตาผัวก็ไล่ ยายเมียก็ไล่เสียง “ไป๊ ไอ้ตัวเหี้ย ไปให้พ้น” ตัวเงินตัวทองเขาก็ไม่ไป แล้วยังคลานเข้าไปในร้าน เสียงเมียร้องว่า “ตายแล้ว ซวยตายเลยกู ตัวเหี้ยเข้ามาในร้าน” ส่วนผัวก็เอาน้ำร้อนในหม้อที่ใช้สำหรับชงกาแฟขาย ราดลงบนตัวเขา เขาคงร้อนเลยวิ่งหนีมาเข้าร้านฉัน ฉันกลัวก็กลัว เขามาชะเง้ออยู่ตัวหน้าฉัน ฉันก็ปลดสายสร้อยหนักสองสลึงโยนใส่เขา ปากก็ว่า “เงินไหลนองทองไหลมา” พร่ำอยู่อย่างนี้ ยกมือไหว้เขาด้วย เขาก็ยังไม่ไป ฉันก็มีเงินอยู่ห้าบาท เป็นแบงค์ ๔ ใบ เหรียญห้าสิบสตางค์ ๒ เหรียญ ฉันก็โยนใส่เขาและว่า “เงินไหลนอง ทองไหลมา” เขาก็ผงกหัวแล้วแลบลิ้นออกมา

          สักครู่ก็คลานไปที่หลังร้าน ฉันก็มองตาม ก่อนออกไป เขายังเอี้ยวตัวมาดูฉัน แลบลิ้นแผล็บ ๆ แล้วก็ไป สักพักนึงก็มียายซิ้มเอาล็อตเตอรี่มาขายให้ แกบอกเหลือใบเดียว ช่วยซื้อแกหน่อย ฉันก็บอกมีเงินอยู่แค่ ๕ บาท ถ้าจะช่วยซื้อได้เสี้ยวเดียว แกบอกเอาไว้ทั้งใบแล้วกัน แกก็ยัดเยียดให้ฉันจนได้ ฉันก็เลยต้องเป็นหนี้แกอีกห้าบาท ปกติฉันไม่เคยเล่นหวยนะหลวงน้า ไม่เคยซื้อแกเลย เพราะหลวงน้าเคยสอนว่ามันเป็นการพนัน เป็นสิ่งไม่ดี แต่วันนั้นยายซิ้มแกมายัดเยียด ฉันสงสารแกเลยซื้อไว้ โดยไม่ได้คิดไม่ได้หวังอะไร แล้วฉันก็ไม่รู้ด้วยว่าฉันถูก ยายซิ้มแกเป็นคนมาบอก พี่จ่อยเขาก็เลยเอไปซื้อรถโดยสารมาขับรับคน เขาเคยรับจ้างขับรถอยู่กับเถ้าแก่ ทีนี้เลยมีรถของเราเอง เรื่องมันประหลาดมาก ใช่ไหมจ๊ะหลวงน้า” หล่อนพูดประโยคเดิมอีก

          “เออ มันก็ประหลาดเหมือนกันแต่ไม่มาก เป็นเรื่องของกฎแห่งกรรมนั่นแหละ แล้วสองผัวเมียที่ขายกาแฟเป็นยังไงบ้าง” ท่านถามด้วยต้องการตรวจสอบ “ทฤษฎี” ของท่าน

          “ก็แปลกอีกนั่นแหละหลวงน้า ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เขาก็ขายไม่ค่อยดี แถมทะเลาะเบาะแว้งกันทุกวัน ในที่สุดก็เลิกกัน ผัวไปทาง เมียไปทาง” ภรรยานายจ่อยเล่า

          “นั่นไง ตรงกับทฤษฎีของข้าทุกประการเลย เห็นไหม นี่ กรรม สองผัวเมียได้รับกรรมทันตาเห็น เขาทำอกุศลกรรม ก็เลยต้องมีอันเป็นไป ทำครบสามเลย กาย วาจา ใจ กายก็คือเอาน้ำร้อนไปราดเขา วาจาก็ไปด่าเขา ใจก็โหดร้ายต่อเขา ส่วนเอ็งก็ครบสามเหมือนกัน แต่เป็นกุศลกรรม เอ็งก็เลยถูกล็อตเตอรี่ แต่ถ้าจะดูให้ลึกซึ้งลงไปกว่านั้น ข้าก็เห็นว่า เพราะเอ็งทำบุญมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย เอ็งใส่บาตรทุกวัน ถึงจะขี้มูกย้อยลงไปในบาตร แต่ก็ชื่อว่าเอ็งได้ทำบุญ” ท่านพูดถึงอดีตหลานสะใภ้

          “เอาอีกแล้ว หลวงน้าเอาเรื่องขี้มูกฉันมาประจานอีกแล้ว เมื่อไหร่จะลืม ๆ เสียทีก็ไม่รู้” หล่อนบ่น

          “เถอะน่า พอข้าตายข้าก็ลืมเองแหละ” ท่านพระครูว่า

          “งั้นฉันคงถูกหลวงน้าประจานไปอีกหลายสิบปี เผลอ ๆ ฉันอาจจะตายก่อนก็ได้”

          “ไม่ถึงขนาดนั้นหรอก ยังไง ๆ เอ็งก็ไม่มีวันที่จะตายก่อนข้า เอ็งเกิดทีหลังก็ต้องตายทีหลังสิ”

          “มันก็ไม่แน่เสมอไปหรอกหลวงน้า มีออกถมเถไปที่พ่อแม่ไปงานเผาศพลูก” หล่อนว่า ท่านพระครูเห็นสมควรแก่เวลาที่จะบอกความลับเรื่องการมรณภาพของท่านให้ผู้เป็นหลานทราบ จึงออกอุบายว่า

          “ขุนทอง เอ็งขึ้นมานานแล้ว ลงไปดูโยมเขาซิ เผื่อขาดเผื่อเหลืออะไรจะได้หามาให้เขา” นายขุนทองกราบสามครั้ง แล้วลุกออกไป หลานชายออกไปแล้ว ท่านจึงพูดกับนายจ่อยและภรรยาว่า

          “ข้ามีความลับจะบอกเอ็งสองคน แต่ยังไม่อยากให้เจ้าขุนทองมันรู้ เดี๋ยวก็จะไปบอกคนหมดวัด ยิ่งปากสว่างอยู่ด้วย”

          “หลวงน้ามีอะไรจะบอกผมกับจุกหรือครับ”

          “มีสิ ฟังให้ดีนะ เอ็งสองคนไม่ค่อยจะมาให้ข้าเห็นหน้าเห็นตา ยิ่งมีรถใหม่ ก็จะไม่มีเวลามา ข้อนั้นข้าไม่ว่าหรอก เพราะเอ็งต้องทำมาหากิน แต่จำไว้นะ วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑ ให้มาหาข้าหน่อย”

            “มาตอนไหนครับ เช้าหรือบ่าย”

          “ถ้าอยากเห็นข้าตอนเป็นก็มาแต่เช้า แต่ถ้าอยากเห็นตอนตายแล้วจะมาตอนบ่ายก็ได้”

          “หมายความว่าอย่างไรจ๊ะหลวงน้า” นางจุกถาม

          “ก็หมายความว่า วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๑ ข้าจะได้รับอุบัติเหตุรถคว่ำคอหัก เวลาเที่ยงสี่สิบห้า”

          “จริงหรือครับ” นายจ่อยถาม

          “จริงหรือไม่จริง พอถึงวันนั้น เอ็งอย่าลืมมาก็แล้วกัน” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงตอบด้วยสีหน้าปกติ

          “แต่ผมว่าหลวงพ่อต้องไม่ตาย เอ๊ย ไม่มรณภาพครับ ผมมั่นใจว่า หลวงพ่อจะต้องไม่เป็นเช่นนั้น” พระบัวเฮียวขัดขึ้นด้วยความรู้สึกแสนรันทด แสนเสียดาย ผู้มีเมตตาธรรมสูงส่งเช่นนี้จะหาได้ที่ไหนอีก

          “มันเป็นกฎแห่งกรรมนะบัวเฮียว ใครเลยจะฝืนได้”

          “แต่ ผมไม่อยากให้หลวงพ่อมรณภาพนี่ครับ” พระหนุ่มแย้ง

          “จะอยากหรือไม่อยาก ฉันก็ต้องตาย เอาเถอะ แล้วคอยดูกันไปว่าจะจริงอย่างที่เขาเตือนมาหรือเปล่า”

          “เขาน่ะใครครับ” นายจ่อยถาม

          “เจ้ากรรมนายเวรน่ะซี เอาละ เลิกพูดเรื่องนี้กันได้แล้ว ขอให้เอ็งจำไว้อย่างเดียวว่าข้าจะต้องตายในวันนั้น” นางจุกร้องไห้กระซิก ๆ ข้างฝ่ายนายจ่อยก็ตาแดงก่ำ ท่านเจ้าของกุฏิจึงว่า

          “เอ็งสองคนไม่ต้องมาแสดงความโศกเศร้าล่วงหน้าไว้ก่อนหรอก อีกตั้งสี่ปีข้าถึงจะตาย”

          “หลวงน้าไม่ตายไม่ได้หรือจ๊ะ” นางจุกอ้อนวอน

          “ฟังเมียเอ็งพูดนะเจ้าจ่อย ฟังเอาไว้” ท่านบอกหลานชาย

          “ครับ ผมกำลังฟังอยู่ แล้วก็อยากจะพูดแบบเดียวกับเขา หลวงน้าไม่ตายไม่ได้หรือครับ”

          “เอ็งสองคนนี่พอกันเลย ไอ.คิว. พอกัน อย่างนี้นี่เอง ถึงอยู่ด้วยกันได้”

          “ไอ.คิว. คืออะไรครับหลวงน้า” หลานชายถาม

          “คือภูมิปัญญา เอ็งกับเมียเอ็งมีภูมิปัญญาเสมอกัน ไม่มีใครสูงกว่าใคร” ท่านพระครูอธิบายแกมประชด

          “แล้วดีไหมครับ” นายจ่อยถามอีก

          “ดี แต่ดีสำหรับเองนะ ไม่ใช่สำหรับข้า”

          “งั้นก็ดีไม่จริงน่ะซีครับหลวงน้า เพราะถ้าดีจริงจะต้องดีสำหรับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนใดคนหนึ่ง” นายจ่อยพูดเหมือนนักปรัชญา ทั้งที่ไม่เคยเรียนปรัชญา

          “คิดเอาเอง” ท่านเจ้าของกุฏิตอบด้วยคร้านที่จะต่อนัดต่อแนงด้วย

          “ผมคงไม่คิดแล้วละครับ ชักปวดหัวแล้ว ว่าแต่ว่าหลวงน้าจะลงไปเจิมรถให้ผมได้ไหมครับ” เขาพูด “ธุระ”

          “อย่าเลยครับพี่จ่อย หลวงพ่อท่านตั้งใจว่าจะไม่ลงไปไหน จนกว่าขาท่านจะหายเป็นปกติ หลวงพ่อเสกแป้ง แล้วให้หลวงพี่เป็นคนไปเจิมก็ได้นี่ครับ” ศิษย์วัดแนะนำด้วยความเป็นห่วงท่านพระครู

          “ดีเหมือนกัน เพราะสองย่อมดีกว่าหนึ่ง หลวงพ่อก็ขลัง หลวงพี่ก็ขลัง ก็เป็นขลังกำลังสอง” นายจ่อยว่า

          “ถ้าเอ็งอยากจะให้ขลังกำลังสามเอ็งก็ต้องอยู่ในศีลในธรรม หากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และหมั่นปฏิบัติกรรมฐาน” เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วง “อบรม” ลูกชายของพี่สาว

          “ครับ” คนเป็นหลานรับคำ นายสมชายจัดการหาวัสดุอุปกรณ์มาให้ มีขันจอกทำด้วยทองเหลือง ดินสอพอง และน้ำมันจันทน์ ท่านพระครูหยิบดินสอพองใส่ลงในขันจอก ใช้นิ้วบดจนเป็นผง แล้วเทน้ำมันจันทน์ลงไป ผสมเสร็จแล้วจึง “เสก” ด้วยคาถามหานิยม

          “เอาละ เรียบร้อยแล้ว อย่าลืมนะ คาถาจะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นอยู่กับพลังจิตของผู้ใช้ อันที่จริงข้าไม่อยากยุ่งกับเรื่องเสกเรื่องเป่านักหรอก แต่ในเมื่อเอ็งมาขอให้ทำก็ไม่อยากขัดใจ เพราะอะไร ๆ ก็สู้กรรมฐานไม่ได้ เอาละ พระบัวเฮียวช่วยไปเจิมให้เขาหน่อย” นายจ่อยถือขันจอกบรรจุแป้งเสกลงบันไดไป ตามด้วยพระบัวเฮียวและนางจุก ครู่ใหญ่ ๆ ภิกษุรูปหนึ่งกับฆราวาสสองคนก็ขึ้นมา นายขุนทองถือโอกาสตามขึ้นมาด้วย

          “เสร็จธุระแล้ว ผมเห็นจะต้องกราบลา” นายจ่อยเอ่ย อดใจหายไม่ได้ เมื่อคิดไปว่าอีกสี่ปีเขาจะไม่มี “หลวงน้า” อีกแล้ว

          “หลวงน้าจ๊ะ ฉันมีของมาถวายจ้ะ” นางจุกพูด พร้อมกับหยิบถุงกระดาษสีน้ำตาลส่งให้สามี

          “พี่จ่อยช่วยประเคนแทนฉันด้วย” นายจ่อยจึงประเคนสิ่งนั้นให้ท่านพระครู

          “อะไรของเอ็งล่ะ”

          “หลวงน้าเปิดดูเองก็แล้วกัน” หล่อนว่า นายสมชายกับนายขุนทองจ้องเขม็ง ขณะที่ท่านเจ้าของกุฏิหยิบสิ่งนั้นออกมาจากถุง เป็นรองเท้าหนังสีน้ำตาลหนึ่งคู่!

          “เอ็งถูกรางวัลที่หนึ่งตั้งห้าแสน ซื้อรองเท้าแตะมาให้ข้าคู่เดียวเองหรือจุก” ท่านสัพยอกหลานสะใภ้ด้วยความรู้สึก “ซาบซึ้ง” ในความตระหนี่ถี่เหนียวของหล่อน

          “คู่เดียวก็ตั้งแปดสิบบาทนะหลวงน้า แพงกว่าของฉันตั้งสิบเท่า ฉันใช้คู่ละแปดบาทเอง” คนขี้เหนียวว่า

          “ของผมก็คู่ละแปดบาทเหมือนกันครับหลวงน้า” นายจ่อยเข้าข้างภรรยา

          “เอาเถอะ ๆ ข้าไม่ว่าอะไร จะกลับก็กลับได้แล้ว ข้าจะได้พักผ่อน” สองสามีภรรยาจึงกราบท่านสามครั้ง แล้วลุกออกมา นายสมชายกับนายขุนทองรู้สึกผิดหวังจนไม่มีเรี่ยวแรงที่จะลุกออกไปส่ง

          “เอาซี เอาไปแบ่งกันคนละครึ่ง” ท่านพระครูพูดพลางส่งถุงกระดาษสีน้ำตาลให้นายสมชาย

          “โธ่ หลวงพ่อ ใครเขาจะใส่รองเท้าข้างเดียว” ศิษย์วัดว่า

          “หนูก็ไม่เอา นั่นมันรองเท้าสำหรับผู้ชาย หนูอยากได้รองเท้าส้นสูง” นายขุนทองว่า

          “งั้นก็ถวายพระบัวเฮียวก็แล้วกัน” ท่านพระครูตัดสิน

          “อย่าเลยครับหลวงพ่อ โยมจุกเขาตั้งใจถวายหลวงพ่อ” พระบัวเฮียวปฏิเสธ

          “ก็ในเมื่อเขาให้ฉัน ก็เป็นของฉัน แล้วฉันจะให้ใครมันก็เป็นสิทธิ์ของฉันใช่ไหมล่ะ”

          “ใช่ครับ”

          “งั้นฉันให้เธอ รองเท้าฉันยังดีอยู่ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ของใหม่” ผู้พูดถือสันโดษ

          “แต่คู่นี้ราคาตั้งแปดสิบนะครับ คู่ของหลวงพ่อแค่สามสิบเท่านั้น” นายสมชายแย้ง ที่จำได้เพราะเขาเป็นคนไปซื้อ

          “ก็เพราะมันแพงน่ะซี แล้วฉันก็คิดว่าของแพงคงจะเป็นของดี เมื่อจะให้อะไรใครก็ต้องให้แต่ของดี ๆ ดังนั้นฉันจึงให้เธอไงล่ะบัวเฮียว” ประโยคหลัง ท่านพูดกับภิกษุหนุ่ม

          “แล้วคนให้เขาจะได้บุญหรือครับ เขาตั้งใจให้หลวงพ่อ แต่หลวงพ่อกลับมาให้ผม” พระบัวเฮียวพูดเพราะจิตของท่านไม่ถูกครอบงำด้วย “โลภะ”

          “ได้สิ ได้สองต่อเลยแหละ สมมุติว่าเขาให้ฉัน เข้าได้บุญห้าสิบ ฉันเอาให้เธอ ฉันก็ได้บุญห้าสิบ คนให้คนแรกได้บุญสองต่อ เขาได้บุญร้อยนะ ฉันได้ห้าสิบ เขาได้ร้อย”

          “งั้นถ้าผมเอาไปถวายพระมหาบุญ ผมก็จะได้บุญห้าสิบ หลวงพ่อก็ได้ร้อย โยมจุกก็ได้ร้อยห้าสิบใช่ไหมครับ”

          “ก็คงจะเป็นยังงั้น แต่ฉันว่าเธอเก็บไว้เป็นที่ระลึกดีกว่า อีกสี่ปีฉันก็ไม่อยู่ให้เธอเห็นหน้าอีกแล้ว เวลาเธอใส่รองเท้าจะได้คิดถึงฉันไง”

          “ครับ ถ้าเช่นนั้นผมจะเก็บไวอย่างดีที่สุด อีกสี่ปีค่อยเอาออกมาใช้” ภิกษุวัยยี่สิบหกตอบ แล้วกราบลาเพื่อกลับไปปฏิบัติกรรมฐานยังกุฏิ...

 

 

 

มีต่อ........๖๓