สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม - ๖๓

 

สุทัสสา อ่อนค้อม

ธันวาคม ๒๕๓๗

S00063

๖๓...

            นับตั้งแต่อาจารย์ชิตเข้ามาพักรักษาตัวที่วัดป่ามะม่วง แขกของท่านพระครูก็ร่อยหรอลงไป ไม่มีการมานั่งรอคิวตั้งแต่เช้ามืดเหมือนเช่นแต่ก่อน ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพราะพวกเขาไม่อาจทานทนต่อ “กลิ่น” ที่มาจากแผลของบุรุษวัยหกสิบได้

          ครั้นเจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงได้รับอุบัติเหตุตกบันไดขาหัก นายขุนทองก็ประกาศงดรับแขกเป็นเวลาหนึ่งเดือน นอกจากผู้ที่มีธุระสำคัญเร่งด่วนเท่านั้น จึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าพบ

          บรรดาผู้ประสบทุกข์ทั้งหลาย เมื่อมาด้วยตนเองไม่ได้ ก็ใช้วิธีเขียนจดหมายมา ดังนั้นแทนที่จะได้พักผ่อน ท่านพระครูก็ต้องมานั่งตอบจดหมาย ซึ่งแรก ๆ ก็มาวันละ ๙-๑๐ ฉบับ ต่อมาก็เพิ่มจำนวนขึ้น จนท่านต้องขอให้นายสมชายและอาจารย์ชิตมาช่วยตอบ คนทั้งสองยินดีปรีดาที่ได้ช่วยแบ่งเบาภาระของท่าน

          ส่วนนายขุนทองไม่ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่นี้ ท่านเจ้าของกุฏิให้เหตุผลว่า “เจ้าหมอนี่มันปากสว่าง เดี๋ยวก็ได้เอาความลับของเขาไปเปิดเผย เสียชื่อวัดป่ามะม่วงหมด”

          “เช้าวันที่ ๕ มีนาคม หลังจากรับประทานอาหารกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อาจารย์ชิตกับนายสมชายก็ขึ้นไปช่วยงานท่านพระครูเป็นวันที่สอง ส่วนนายขุนทองก็รับหน้าที่เก็บล้างถ้วยชามลามไหและทำความสะอาดกุฏิชั้นล่าง

          ทำงานเสร็จก็จับเจ้าหมี เจ้าโฮม และเจ้าขาวมาอาบน้ำอาบท่าแถมโรงแป้งฝุ่นให้เสร็จสรรพ เป็นแป้งยี่ห้อเดียวและกระป๋องเดียวกับที่ตัวเขาใช้ แม้ตัวเองจะอาบน้ำวันละสองครั้ง เช้า-เย็น แต่สำหรับสุนัขสามตัวนี้ เขาอาบน้ำและโรยแป้งให้มันอาทิตย์ละครั้งเท่านั้น

          เมื่อขึ้นไปถึง อาจารย์ชิตก็ทำหน้าที่เปิดผนึกจดหมายแล้วอ่านให้ท่านพระครูฟัง จากนั้นก็จะเขียนตอบ โดยท่านพระครูจะเป็นผู้บอกว่าตอบอย่างไร เขียนเสร็จก็เป็นน้าที่ของนายสมชายที่จะพับใส่ซองปิดผนึก ติดแสตมป์ และจ่าหน้าซองถึงผู้รับ

          บางร้าย เจ้าของจดหมายก็สองซองติดแสตมป์ และจ่าหน้าซองถึงตัวเองไว้เสร็จสรรพ นายสมชายจึงเพียงแต่พับจดหมายตอบใส่ซองและปิดผนึกเท่านั้น

          จดหมายฉบับแรกมาจากเด็กชายหาญกล้า บุญเสริมส่ง อาจารย์ชิตอ่านให้ท่านพระครูฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ความว่า

          เขียนที่บ้านเลขที่ ๖๗/๘ หมู่ ๑ ถนนเพชรบุรี อ.พญาไท กรุงเทพฯ

          กราบนมัสการหลวงตา ที่เคารพอย่างสูง

          กระผมเด็กชายหาญกล้า นามสกุลบุญเสริมส่ง อายุ ๑๔ ปี กำลังเรียนอยู่ ชั้น ม.ศ. ๒ ผมไม่เคยรู้จักหลวงตามาก่อน แต่คุณลุงข้างบ้านเขารู้จักและให้ที่อยู่ผมมา ผมจึงเขียนมาขอความเมตตาให้ช่วยแก้ปัญหาให้ผมด้วย

          ผมอยู่กับแม่สองคนครับ แม่ผมอายุ ๓๖ ปี แม่บอกว่าพ่อทิ้งเราไปตั้งแต่ผมยังแบเบาะ แล้วผมก็ไม่เคยเห็นหน้าพ่อเลยตั้งแต่จำความได้ แม่ไม่ยอมบอกว่าพ่อผมชื่ออะไร อยู่ที่ไหน แม้นามสกุลที่ผมใช้อยู่ก็เป็นนามสกุลของแม่ ผมจึงไม่มีโอกาสได้รู้จักพ่อเลย ผมพยายามสืบถามจากเพื่อนบ้าน ก็ไม่มีใครให้ความกระจ่างแก่ผม จนผมหมดหวังที่จะได้พบพ่อ ผมอยู่กับแม่สองคนก็มีความสุขตามอัตภาพ แม่ทำงานบริษัท เงินเดือนสองพันบาท ก็มากพอสมควร สำหรับเราสองคนแม่ลูก

          มาเมื่อต้นปีที่แล้ว แม่เริ่มประพฤติตัวเหลวไหล ด้วยการกลับบ้านดึกทุกคืนและมีกลิ่นเหล้าติดตัวมาด้วย หนักเข้าก็เมาแอ๋มาเลย แล้วก็เป็นอย่างนี้เกือบทุกวัน เงินทองก็เริ่มไม่พอใช้ ผมก็คิดมากจนเรียนไม่รู้เรื่อง เมื่อเงินไม่พอใช้ แม่ก็เที่ยวไปหยิบยืมจากเพื่อนบ้าน กระทั่งกลายเป็นคนมีหนี้สินรุงรัง

          วันไหน ไม่มีเงินซื้อเหล้ากิน แม่จะอารมณ์เสีย พาลด่าผมอย่างหยาบ ๆ คาย ๆ ผมกลัวว่าแม่จะกลายเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง และกลัวถูกไล่ออกจากงานจึงต้องเขียนจดหมายมารบกวนหลวงตาให้ช่วยแนะนะผมด้วยว่า ผมจะสอนแม่อย่างไรดี จึงจะทำให้เขาเกิดความสำนึกและกลับตัวเป็นคนดีเหมือนแต่ก่อน ขอหลวงตาโปรดตอบผมด้วย ผมจะรอคำตอบพร้อมกันนี้ ผมได้ส่งซองติดแสตมป์มาด้วยครับ

                                                นมัสการมาด้วยความเคารพอย่างสูง

                                                                   หาญกล้า บุญเสริมส่ง

ป.ล. ผมเคยเป็นเด็กเรียนดี สอบได้ไม่เคยต่ำว่า ๘๐% แต่เดี๋ยวนี้ผมกลายเป็นคนคิดมาก การเรียนตกต่ำลง และคงจะสอบตก ถ้าแม่ยังเป็นอย่างนี้

          “น่าสงสารแกนะครับ” อาจารย์ชิตเอ่ยเมื่ออ่านจบ

          “คนเราต่างก็มีกรรมต่าง ๆ กันไป ตัวเองทำเองทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ทำไว้แต่ครั้งอดีตชาติบ้าง มาทำในปัจจุบันบ้าง พอกรรมมาให้ผล จึงสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ตามชนิดของกรรมที่ทำ แต่ทั้งสุขและทุกข์ มันก็ไม่เที่ยงหรอกโยม ประเดี๋ยวก็เปลี่ยนแปลงผันแปรไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีใครทำแต่กรรมชั่วอย่างเดียว แล้วก็ไม่มีใครทำแต่กรรมดีอย่างเดียว หากจะทำดีบ้างทำชั่วบ้าง คละเคล้ากันไป”

          “เว้นแต่คนที่เป็นพระอรหันต์เท่านั้น จึงจะทำแต่กรรมดีอย่างเดียว ไม่ทำกรรมชั่วเลยใช่ไหมครับ” นายสมชายถาม

          “นั่นเป็นความเข้าใจผิดของเธอ พระอรหันต์ท่านเป็นผู้อยู่เหนือกรรม การกระทำของท่าน เราไม่เรียกว่า กรรม แต่เรียกว่า กิริยา เพราะถ้าเป็นกรรม ก็ยังมีผลต่อการเวียนว่ายตายเกิด เช่น กรรมดีทำให้ไปเกิดในสุคติ กรรมชั่วทำให้ไปเกิดในทุคติ แต่พระอรหันต์ท่านตัดขาดจากสงสารวัฏแล้ว จึงไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสงสารสาครเฉกเช่นปุถุชนทั้งหลาย” ท่านพระครูอธิบายทั้งที่รู้ว่า คนถามไม่เข้าใจ แต่คนที่เข้าใจกลับเป็นอาจารย์ชิตผู้ซึ่งมิได้ถาม

          “ยังข้องใจสงสัยอะไรอีกหรือเปล่า ฉันให้โอกาสซักถาม”

          “มีครับ แต่คงจะไม่ถาม เพราะที่หลวงพ่ออธิบายมานั้น ผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ไม่อยากให้หลวงพ่อต้องเป่าปี่ให้ควายฟังครับ” ชายหนุ่มว่า

          “ก็ดีที่รู้ตัว แต่คำถามของเธอก็มิใช่จะไม่มีประโยชน์เสียเลย เพราะคนที่เข้าใจก็มีอยู่”

          “หลวงพ่อหมายถึงอาจารย์หรือครับ”

          “ก็จะมีใครเสียอีกล่ะ มีกันแค่สองคน ไม่น่าถาม”

          “แล้วรายนี้ หลวงพ่อจะให้ตอบว่าอย่างไรครับ คนสูงวัยถาม ท่านเจ้าของกุฏิจึงบอก

          “ตอบไปว่า ให้อดทน แล้วก็ไม่ต้องไปคิดสอนแม่เขา ลูกไม่ได้มีหน้าที่สั่งสอนพ่อแม่ เขาจะดีจะชั่วยังไง ก็เป็นผู้ให้กำเนิดเรามา ใส่แผ่นปลิวบทสวดมนต์ไปให้ด้วย บอกให้สวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และพาหุงมหากาฯ อย่างละหนึ่งจบ จากนั้นก็สวดพุทธคุณอย่างเดียวอีก ๑๕ จบ เขาอายุ ๑๔ ใช่ไหม”

          “ครับ”

          “อายุ ๑๔ ก็สวด ๑๕ จบ บอกหลวงตาให้สวดทุกคืน เสร็จแล้วแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้แม่เขา ปฏิบัติสม่ำเสมอจนจิตถึงขึ้นเมื่อไหร่ แม่เขาก็จะกลับตัวได้เอง แต่ถ้าไม่ทำตาม หลวงตาก็ไม่รู้จะช่วยได้ยังไง บอกเขาไปอย่างนี้ก็แล้วกัน” อาจารย์ชิตจัดการเขียนตามที่พระครูบอก นายสมชายหยิบแผ่นปลิวบทสวดมนต์พับใส่ซองลงไปก่อน เมื่ออาจารย์ชิตเขียนเสร็จ ท่านพระครูให้เขาอ่านทวนให้ฟังอีกครั้ง แล้วท่านจึงลงนาม จากนั้นนายสมชายก็จะพับจัดหมายใส่ซองปิดผนึก

          ฉบับที่สองมาจากนางนนทรี จันทร์กระพริบ เขียนเล่ามาว่า

          หนูมาที่วัดเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม แต่ลูกศิษย์บอกว่า หลวงพ่องดรับแขกหนึ่งเดือน เพื่อพักรักษาตัว เนื่องจากได้รับอุบัติเหตุตกบันได แต่หนูคงรอไม่ได้ เพราะมีเรื่องร้อนใจมาก จึงเขียนจดหมายมาขอคำปรึกษาหลวงพ่อค่ะ ปัญหาของหนูมีดังนี้คือ

          เมื่อประมาณปีที่แล้ว หนูได้รู้จักกับเพื่อนใหม่คนหนึ่ง เรารู้จักกันที่วัดแห่งหนึ่ง เขามาทำบุญเช่นเดียวกับหนู ผู้หญิงคนนี้ชื่อ สุธาวดี เป็นคนสวย น่ารัก พูดจาไพเราะ เราก็คบกันมาเรื่อย ๆ เพราะหนูเห็นเขาเป็นคนดีและชอบทำบุญทำทาน เพื่อน ๆ ของเขาได้มาเตือนหนูว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นคนไม่ดี อย่าไปคบ หนูก็ไม่เชื่อ เพราะเชื่อว่าตัวเองคงดูคนไม่ผิด แต่ก็แปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ สุธาวดีเขาไม่ค่อยมีเพื่อน ดังนั้นเขาจึงมาสนิทกับหนู

          อยู่มาวันหนึ่งก็มีสุภาพสตรีคนหนึ่งมาที่วัด และมาเล่าให้เจ้าอาวาสฟังว่า ผู้หญิงคนชื่อสุธาวดี ได้เที่ยวไปพูดกับคนอื่น ๆ ว่า เจ้าอาวาสมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหนู เจ้าอาวาสท่านโกรธมาก จะให้หนูไปตามเพื่อนคนนี้มาพูกันต่อหน้าท่าน และสุภาพสตรีผู้นั้น ซึ่งยินดีจะเป็นพยานให้ หนูได้นำเรื่องนี้มาให้สามีฟัง สามีบอกว่าคนเช่นนี้เป็นคนพาล ฉะนั้นไม่ต้องไปคบหาสมาคม แล้วก็ไม่ต้องไปชี้แจงอะไรกับเขา เพราะคนพาลย่อมไม่ยอมรับในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นการเสียวเวลาเปล่า หนูไม่ทราบจะเชื่อใครดี เจ้าอาวาสหรือสามี จึงคิดถึงหลวงพ่อ และมั่นใจว่าหลวงพ่อจะช่วยแก้ปัญหาให้หนูได้ค่ะ

          หนูขอสาบานว่า ไม่เคยคิดสกปรกลามก อย่างที่ผู้หญิงคนนี้กล่าวหา หนูไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมเขาใส่ร้ายหนูได้ ทั้งที่ไม่มีมูลความจริง เวลาไปวัดหนูก็ไปกับเขาทุกครั้ง เพราะตอนหลัง ๆ เขาน่าสงสารมาก สามีก็ขอหย่า เพื่อนฝูงซึ่งมีอยู่ไม่กี่คนก็พากันเลิกคบเขา ธุรกิจการค้าก็ขาดทุน หนูสงสารเขา ก็พยายามปลอบใจเขา

          มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาชวนหนูไปวัดและขอร้องให้หนูช่วยพูดกับเจ้าอาวาส ขอยืมเงินท่านมาลงทุน (ตอนแรกเขาขอยืมหนู แต่หนูไม่มีเงินมากขนาดนั้น เขาจึงขอให้หนูไปพูดกับเจ้าอาวาส) เป็นการขอร้องที่หนูลำบากใจมาก แต่เพราะสงสารเขาจึงช่วยพูดให้ เจ้าอาวาสท่านก็บอกว่า เงินที่มีอยู่นั้นเป็นเงินวัด ไม่ใช่เงินส่วนตัวของท่าน จึงไม่สามารถให้ยืมได้ เขาแสดงอาการไม่พอใจออกมา โดยว่าประชดท่านว่าเป็นพระแต่ไม่มีเมตตา แล้วก็ชวนหนูกลับ

          นี่แหละค่ะ เรื่องกลุ้มใจของหนู ตอนนี้เขาก็หลบหน้าหลบตาไม่มาหาหนูอีกเลย หนูอยากโทรศัพท์ไปว่าเขาเหมือนกันว่า คนอย่างหนูนั้นไม่จนปัญญา ถึงขนาดจะเอาพระมาเป็นผัวหรอก แล้วหนูก็กลัวตกนรกอเวจี เพราะในพระวินัยระบุไว้ว่าหญิงที่เสพเมถุนกับพระจะต้องตกนรกอเวจี ที่สำคัญคือ หนูก็มีสามีแล้ว ถ้าไปทำอย่างนั้น ก็ตกนรกสองต่อ หนูไม่ทำแน่นอนค่ะ

          ขอความกรุณาหลวงพ่อช่วยตอบหนูด่วนนะคะ หนูควรจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร พร้อมจดหมายนี้ หนูได้แนบซองติดแสตมป์และจ่าหน้าซองถึงตัวเองมาด้วยค่ะ ขอกราบขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

          อาจารย์ชิตอ่านจบ ท่านพระครูจึงพูดขึ้นว่า

          “คนทุกวันนี้ ใจบาปหยาบช้าจังเลยนะโยม แค่พระไม่ให้ยืมเงินก็ลงทุนใส่ร้ายป้ายสี ไม่กลับบาปกลัวกรรม”

          “หลวงพ่อจะให้ตอบเขาว่าอย่างไรครับ”

          “บอกให้ทำตามที่สามีเขาแนะนำนั่นแหละ โยมเห็นหรือยังว่า โทษของการคบคนพาลนั้นเป็นอย่างไร ไม่งั้น พระพุทธองค์จะทรงสอนหรือว่า “อะเสวะนา จะ พาลานัง บัณฑิตานัญจะ เสวะนา – ไม่คบคนพาล คบบัณฑิต นี้ปรากฏอยู่ในมงคลสูตร ซึ่งบรรดามนุษย์และเทวดาทั้งหลายต่างพากันถกเถียงกันว่าอะไรเป็นมงคล เถียงกันอยู่ ๑๒ ปี ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ จึงพากันมาเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อทูลถาม

          พระพุทธองค์ได้ตรัสมงคล ๓๘ ประการ ดังนี้คือ ไม่คบคนพาล ๑ คบบัณฑิต ๑ บูชาคนที่ควรบูชา ๑ อยู่ในถิ่นที่มีสิ่งแวดล้อมดี ๑ ได้ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อน ๑ ตั้งตนไว้ชอบ ๑ เล่าเรียนศึกษามาก ๑ มีศิลปวิทยา ๑ มีระเบียบวินัย ๑ วาจาสุภาษิต ๑ บำรุงบิดามารดา ๑ สงเคราะห์บุตร ๑ สงเคราะห์ภรรยา ๑ ทำการงานไม่คั่งค้าง ๑ บำเพ็ญทาน ๑ ประพฤติธรรม ๑ สงเคราะห์ญาติ  ๑ ทำงานไม่มีโทษ ๑ เว้นจากความชั่ว ๑ เว้นจากการดื่มน้ำเมา ๑ ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ มีสัมมาคารวะ ๑ อ่อนน้อมถ่อมตน ๑ สันโดษ ๑ กตัญญู ๑ ฟังธรรมตามกาล ๑ มีความอดทน ๑ เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ๑ พบเห็นสมณะ ๑ สนทนาธรรมตามกาล ๑ มีความเพียรเผากิเลส ๑ ประพฤติพรหมจรรย์ ๑ เห็นอริยสัจ ๑ ทำพระนิพพานให้แจ้ง ๑ จิตไม่หวั่นไหว ๑ จิตไม่เศร้าโศก ๑ จิตปราศจากกิเลส ๑ จิตเกษม ๑ ทั้ง ๓๘ ประการนี้ จัดเป็นมงคลอันสูงสุด มงคลก็คือ สิ่งที่ทำให้มีโชคดี หรือธรรมอันนำมาซึ่งความสุขความเจริญ”

          “เหมือนเวลาที่พระท่านสวดในงานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ท่านมักจะสวดมงคล ๓๘ ประการ นี้ใช่ไหมครับ”

          “ถูกแล้วโยม แต่ถ้าว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้ว มงคลนั้นไม่ใช่สิ่งที่ใครจะให้แก่ใคร เช่นไม่ใช่สิ่งที่พระท่านจะนำมาให้ญาติโยม เพราะไม่ใช่สิ่งของที่จะนำมาหยิบยื่นให้กันและกัน แต่มงคลจะเกิดขึ้นได้ บุคคลนั้น ๆ ต้องสร้างเองทำเอง เช่นเดียวกับการทำกรรม เราทำกรรมแทนกันไม่ได้ มงคลจัดเป็นกุศลกรรม ถ้าเราอยากให้มงคลเกิดแก่ตัวเรา เราก็ต้องทำ ต้องสร้างของเราเอง ไม่ใช่เที่ยวไปขอจากคนโน้นคนนี้ เช่นไปขอจากพระเป็นต้น ที่ถูกจะต้องทำเอง เกี่ยวกับเรื่องนี้ ยังมีคนเข้าใจผิดกันอยู่มาก หรือโยมคิดว่ายังไง”

          “ผมก็คิดเหมือนหลวงพ่อครับ” บุรุษสูงวัยคล้อยตาม

          “ดีแล้ว เอาละ ทีนี้ก็ตอบจดหมายโยมนนทรีเขาได้แล้ว ตอบอย่างที่อาตมาแนะนำนั่นแหละ”

          “ต้องเขียนมงคล ๓๘ ลงไปด้วยหรือเปล่าครับ” อาจารย์ชิตถาม หากต้องเขียน เขาก็คงจะต้องให้ท่านทวนให้ใหม่ทีละข้อ เพราะไม่สามารถจดจำได้ทั้งหมด

          “ไม่ต้อง เอาเฉพาะสองข้อแรกเท่านั้น แล้วลอกโอวาทของท่านเจ้าคุณนรรัตน์ วัดเทพศิรินทราวาส ลงไปด้วย สมชายเธอไปหยิบรูปท่านเจ้าคุณนรรัตน์ มาให้อาจารย์เขาด้วย” นายสมชายลุกขึ้นไปหยิบภาพถ่ายซึ่งวางอยู่บนหิ้งพระ มาส่งให้อาจารย์ชิต เป็นภาพพระภิกษุร่างผอมบาง นั่งพับเพียบอยู่กลางใบโพธิ์ ใต้ภาพมีข้อความที่เขียนด้วยลายมือของท่าน มีความยาวถึง ๑๓ บรรทัด แล้วลงนาม “นรรัตน” ไว้ใต้ข้อความนั้น

          “ลอกลงไปทั้งหมดนี่แหละ บอกโยมนนทรีเขาว่า เมื่ออ่านแล้วก็นำไปให้เจ้าอาวาสท่านอ่านด้วย ท่านจะได้หายโกรธโยมคนนั้น แล้วก็เลิกล้มความคิดที่จะเรียกเขามาต่อว่า

          อันที่จริง โยมคนนั้นแกคิดสั้นนะ ถ้าแกทำดีกับเจ้าอาวาสและโยมนนทรี อีกหน่อยกิจการค้าของแกก็จะดีขึ้นเพราะอำนาจของบุญกุศล แต่ในเมื่อแกมาทำอย่างนี้ แกก็ไม่กล้ามาวัดอีกก็เลยหมดโอกาสสร้างบุญสร้างกุศล เขาเรียกว่า ฆ่าตัวเองทางอ้อม เอาละ โยมลอกโอวาทของท่านเจ้าคุณนรรัตน ลงไปก่อน แล้วค่อยตอบจดหมายทีหลัง เสร็จแล้วจะได้ให้นายสมชายเขานำไปไว้บนหิ้งพระตามเดิม” บุรุษสูงอายุจึงลงมือลอกข้อความนั้นลงในแผ่นกระดาษโอวาทของท่านเจ้าคุณนรรัตน มีใจความดังนี้

          คนเราเมื่อมีลาภก็มีเสื่อมลาภ เมื่อมียศก็เสื่อมยศ เมื่อมีสุขก็มีทุกข์ เมื่อมีสรรเสริญก็มีนินทา เป็นของคู่กันมาเช่นนี้ จะไปถืออะไรกับปากมนุษย์ ถึงจะดีแสนดีมันก็ติ จะชั่วแสนชั่วมันก็ชม นับประสาอะไร พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเลิศยิ่งกว่ามนุษย์และเทวดายังมีคนนินทาติเตียน ปุถุชนอย่างเราจะรอดพ้นจากโลกธรรมดังกล่าวแล้วไม่ได้ ต้องคิดเสียว่าเขาจะติก็ช่าง ชมก็ช่าง เราไม่ได้ทำอะไรให้เขาเดือดเนื้อร้อนใจ ก่อนที่เราจะทำอะไร เราคิดแล้วว่าไม่เดือดร้อนแก่ตนเองแลคนอื่นเราจึงทำ เขาจะนินทาว่าร้ายอย่างไรก็ช่างเขา บุญเราทำกรรมเราไม่สร้าง พยายามสงบกาย สงบวาจา สงบใจ จะต้องไปกังวงกลัวใครติเตียนทำไม ไม่เห็นมีประโยชน์ เปลืองความคิดเปล่า ๆ

                                                                                                                                                นรรัตน

          ลอกเสร็จแล้วนายสมชายจึงนำภาพถ่ายนั้นไปวางไว้ที่เดิม อาจารย์ชิตจัดการตอบจดหมายแล้วอ่านให้ท่านพระครูฟัง เพื่อตรวจสอบอีกครั้งก่อนลงนาม จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของนายสมชาย ที่จะพับใส่ซองและปิดผนึก

          ฉบับที่สามเป็นของนายทหารยศพันเอก เขียนมา ๕ หน้ากระดาษฟุลสแก๊ป แถมลายมือก็ขยุกขยิกยุ่งเหยิงพอ ๆ กับใจความใจจดหมายซึ่งเขียนวกไปวนมา บ่งบอกถึงสภาวะทางจิตใจของเข้าของในขณะที่เขียน กว่าจะอ่านจบทั้งผู้ฟังและผู้อ่านต่างอ่อนเปลี้ยเพลียแรงไปตาม ๆ กัน คนเป็นฆราวาสนั้นยังฝึกสติไม่ถึงขั้น จึงรู้สึกเครียดกว่าคนเป็นพระ ท่านเจ้าของกุฏิมีอันต้องกำหนด “เครียดหนอ เครียดหนอ” อยู่ชั่วครู่จึงหายเครียด ท่านบอกคนเป็นฆราวาสว่า

          “เอาละ โยมพักได้แล้ว พักสักยี่สิบนาที จากนั้นให้เดินจงกรมสามสิบนาที นั่งสมาธิอีกครึ่งชั่วโมง ก็ได้เวลารับประทานอาหารกลางวันพอดี” ท่านพูดราวกับรู้ว่าขณะนั้นเป็นเวลา ๙.๔๐ นาฬิกา อาจารย์ชิตกราบท่านสามครั้งแล้วจึงลงมาข้างล่าง เหลือบดูนาฬิกาที่แขวนอยู่ข้างฝา ปรากฏว่าเหลืออีก ๒๐ นาทีจะสิบโมง แสดงว่าท่านเจ้าของกุฏิรู้เวลาโดยไม่ต้องใช้นาฬิกา....

 

มีต่อ........๖๔